Thursday, April 16, 2009

ลำดับ๕๔๙.เจรจารวมลาว(๑)

บทที่ ๑

การเอ่ยปากขอเคนเนดี้ที่จะทำให้ลาวเป็นกลาง นับเป็นความกล้าหาญเพราะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอเมริกันในโดยเฉพาะ ซีไอเอที่มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับลาวนับแต่ปี ๒๔๙๗ เป็นต้นมา ล้วนแต่มีความเห็นและมีความเชื่อตามดัลเลสที่ว่า นโยบายเป็นกลางเป็นอันตรายและผิดศีลธรรมอย่างร้ายแรง จึงได้ต่อต้านขัดขวางความเป็นกลางตลอดมา

ต่อมาเคนเนดี้ ได้บินไปพบนายแม็คมิลแลน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้แลกเปลี่ยนสถานการณ์ในลาว และได้มีความเห็นร่วมกันว่า ถ้าไม่ส่งกำลังจำนวนมากเข้าไปจัดการในลาวอย่างเด็ดขาด ก็จำจะต้องเร่งให้มีการหยุดยิงโดยเร็วไว มิฉะนั้นแล้วภูมี หน่อสวันก็จะต้องลงนรกอย่างแน่นอน นายดีนรัสค์จึงได้ซาวเสียงในที่ประชุมสมาชิกซีอาโต้ แต่ข้อเสนอของดีนรัสค์ต้องตกไปอีกเช่นที่เคยเสนอมาแล้ว เพราะฝรั่งเศสผู้มากไปด้วยประสบการณ์บอกปฏิเสธ

เมื่อเป็นเช่นนี้เคนเนดี้จึงจำใจต้องแสดงกำลังโดยลำพัง เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการทูตที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยส่งกองทัพเรือที่๗ เข้าสู่น่านน้ำไทย ส่งหน่วยทหารเฮลิคอปเตอร์ต่างๆ ไปยังภาคอีสานของไทย และกองกำลังนาวิกโยธินของสหรัฐในญี่ปุ่นก็ได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อม อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกาจะส่งกำลังมหึมาเข้าไปในลาวอย่างแน่นอน ซึ่งสถานการณ์ในลาวขณะนั้นปรากฏว่าพื้นที่ประมาณ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ของราชอาณาจักรลาวกับประชาชนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสองของทั้งหมดที่อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลลาวต่อต้านหรือแนวลาวรักชาติ

เพื่อแสดงให้เห็นว่าเคนเนดี้เอาจริงในเรื่องนี้ ต่อมาในวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๐๔ เขาได้มีคำสั่งให้เปลี่ยนคณะที่ปรึกษาทางการทหารในลาวซึ่งสวมเครื่องแบบพลเรือนเป็น “คณะที่ปรึกษาและให้ความช่วยเหลือทางทหาร” และให้สวมเครื่องแบบทหารประจำอยู่กับกองทัพลาวอย่างเปิดเผย และต่อมาอีก ๔ วันคือในวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๐๔ โซเวียตและอังกฤษในฐานะประธานร่วมของที่ประชุมสงบศึกอินโดจีน ๒๔๙๗ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการหยุดยิงเพื่อเจรจาปรองดองชาติในทางสันติวิธี ซึ่งทางฝ่ายรัฐบาลลาวต่อต้านหรือขบวนการปเทดลาวได้ประกาศขานรับทันที และการหยุดยิงได้มีผลในอีก ๑๐ วันต่อมา

การประชุมสากลปัญหาการวมลาวและกำหนดให้ลาวเป็นประเทศเป็นกลาง ได้กำหนดให้เปิดขึ้นในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๐๔ โดยมีผู้แทนจาก ๑๓ ประเทศค้ำประกันความเป็นกลางของลาว คือสหภาพโซเวียต สาธารณรัฐประชาชนจีน โปแลนด์ เวียดนามเหนือ เชคโกสโลวาเกีย เขมร เวียดนามใต้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศสและออสเตรเลีย

แต่การประชุมจริงๆ ได้เริ่มขึ้นในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๐๔ เพราะการถ่วงเวลาของสหรัฐอเมริกา และได้มีการลงนามกันในวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๐๔ สาระของข้อตกลงคือให้จัดตั้งรัฐบาลผสมชั่วคราว ๓ ฝ่ายขึ้น มีฝ่ายขวาซึ่งมีเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์และภูมี หน่อสวันเป็นผู้นำ ฝ่ายเป็นกลางมีเจ้าสุวรรณภูมาและฝ่ายแนวลาวรักชาติมีเจ้าสุภานุวงศ์

ในรัฐบาล ๓ ฝ่ายที่จัดตั้งขึ้นนี้ให้เจ้าสุวรรณภูมา เป็นนายกรัฐมนตรี และดำเนินนโยบายต่างประเทศเป็นกลาง ส่วนรายละเอียดอื่นๆในการประกอบขึ้นเป็นคณะรัฐมนตรีนั้นให้ลาว ๓ ฝ่ายไปปรึกษาตกลงกันเอง

ต่อมาได้มีการประชุมลาว ๓ ฝ่ายขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๐๔ ณ ทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง เพื่อตกลงในรายละเอียดของคณะรัฐมนตรีว่าแต่ละฝ่ายจะได้กี่กระทรวง มีกระทรวงใดบ้าง และมีใครบ้างที่เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรี แต่การประชุมครั้งนี้ไม่อาจตกลงในรายละเอียดต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน แต่ตกลงกันได้ในหลักการแบ่งกระทรวงกันว่าฝ่ายไหนจะได้กี่กระทรวง และได้มีการตกลงกันว่าให้ฝ่ายเป็นกลาง ๘ กระทรวง ให้ฝ่ายขวาเจ้าบุญอุ้ม-ภูมี ๔ กระทรวง และฝ่ายแนวลาวรักชาติ ๔ กระทรวง

ส่วนรายละเอียดว่าฝ่ายไหนจะได้กระทรวงใด และมีใครเป็นรัฐมนตรียังตกลงกันไม่ได้ จึงได้เปิดประชุมกันอีกหลายรอบทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่นที่หินเหิบ นามอน ซูริค พนมเปญ ร่างกุ้งและปารีส

No comments: