Saturday, August 20, 2011

ลำดับ๖๓๑.เส้นทางสู่รัฐประหาร ๒๕๔๙

เส้นทางสู่รัฐประหาร ๒๕๔๙

แม้จะได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมานานแล้ว แต่ประเทศไทยกลับมีลักษณะความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอยู่น้อยมาก ตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ การเปลี่ยนผ่านอำนาจส่วนใหญ่มักจะไม่เป็นไปตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านโดยการรัฐประหาร นอกจากในช่วงระยะเวลาสั้นๆสามช่วงที่อาจเรียกว่าเป็นประชาธิปไตย “ที่แท้จริง”(พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๔๙๐, ๒๕๑๖-๒๕๑๙, ๒๕๓๑-๒๕๓๕) ซึ่งล้วนถูกปิดฉากโดยการแทรกแซงของทหารแล้ว ประเทศไทยนับแต่ปี ๒๔๗๕ ถูกปกครองโดยระบอบที่มีส่วนผสมทั้งประชาธิปไตยและอำนาจนิยมในระดับที่แตกต่างกันไป โดยระบอบเหล่านี้มีสิ่งคล้ายกันคือ อำนาจของกลุ่ม “อำมาตย์” ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (อันเป็นเครือข่ายของข้าราชการพลเรือนและทหาร รวมถึงกลุ่มธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่...) ที่ครอบงำเหนือฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

รูปแบบการปกครองดังกล่าวนี้มีอันต้องสะดุดไปด้วยเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕(หรือพฤษภาทมิฬ) ที่เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างทหารกับประชาชน และได้ปูทางให้เกิดกระบวนการปฏิรูปเป็นระยะเวลาห้าปี จนเกิดการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ นี้ได้สร้างเสถียรภาพทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งทำให้ประเทศไทยอยู่บนเส้นทางที่จะมุ่งไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง


การขึ้นสู่อำนาจของทักษิณ ชินวัตร

ทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่การเมืองเมื่อปี ๒๕๓๗ โดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเป็นระยะเวลาสั้นๆ และหลังจากนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีสองครั้งในรัฐบาลสองชุด เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ทักษิณจัดตั้งพรรคไทยรักไทยซึ่งชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี ๒๕๔๔ ด้วยคะแนนท่วมท้น หลังจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนครบวาระ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ทักษิณและพรรคไทยรักไทยยังคงได้รับเสียงข้างมากอีกครั้งในการเลือกตั้งปี ๒๕๔๘ ด้วยจุดแข็งจากความสำเร็จในการบริหารประเทศ พรรคไทยรักไทยครองจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรถึงสามในสี่ ทำให้ทักษิณสามารถกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สอง

รัฐบาลทักษิณที่มาจากการเลือกตั้งได้พยายามควบคุมกระบวนการกำหนดนโยบายและจัดให้ทหารอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือน ซึ่งล้วนเป็นอำนาจที่ถูกสงวนภายใต้การควบคุมของสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมาช้านาน ทำให้กลุ่มอำมาตย์ส่วนหนึ่งให้การสนับสนุนการประท้วงบนท้องถนนที่เรียกร้องให้กษัตริย์และทหารเข้ามาปลดรัฐบาลไทยรักไทยออกไป ทักษิณถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่มักถูกนำมาใช้ทำลายชื่อเสียงของบุคคลที่เป็นภัยต่อผลประโยชน์ของกลุ่มอำมาตย์

ลำดับ๖๓๐.คำร้องเพื่อให้มีการสอบสวนสถานการณ์การกระทำอันเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในราชอาณาจักรไทย ๐๒

คำร้องนี้ยังมีรายงานของผู้เชี่ยวชาญ จ่าสิบโทโจ เรย์ วิทตี้(เกษียณ) จากกองรบพิเศษของกองทัพสหรัฐฯ จ.ส.ท.วิทตี้เป็นพลซุ่มยิงทหารที่ผ่านการฝึกมาอย่างดี และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิด เขาเคยร่วมปฏิบัติการสู้รบของทหารในอัฟกานิสถานและอิรัก ปัจจุบันเขาทำงานกับหน่วยสวาทของกรมตำรวจนครลอสแองเจลิส โดยเป็นพลซุ่มยิงและเป็นฝ่ายทำลายสิ่งกีดขวาง นอกจากนี้ยังเป็นผู้ฝึกสอนด้านการควบคุมและการจัดการฝูงชนให้แก่กรมตำรวจลอสแองเจลิส โดยมีหน้าที่ในการวางแผนและการปฏิบัติการของฝ่ายบังคับใช้กฎหมายในการจัดการกับการชุมนุมในเขตนครหลวงลอสแองเจลิสด้วย

จ.ส.ท. วิทตี้ได้ศึกษาและประเมินการตอบโต้ของกองทัพไทยต่อการชุมนุมของคนเสื้อแดงในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม ๒๕๕๓ หลังจากการศึกษาคลิปวีดีโอยาวหลายชั่วโมงและหลักฐานภาพถ่ายที่บันทึกการชุมนุม และจากการไปตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติการของทหารด้วยตนเอง และการสัมภาษณ์พยานจำนวนมาก จ.ส.ท.วิทตี้ได้จัดทำรายงานผู้เชี่ยวชาญที่มีบทสรุปดังต่อไปนี้

*เมื่อวันที่ ๑๐ เมษาน ๒๕๕๓ กองทัพบกของไทยไม่ได้ดำเนินปฏิบัติการจัดการฝูงชนอย่างมีเหตุผลหรือสมเหตุสมผล ซึ่งจะต้องมีความพยายามอย่างแท้จริงที่จะสลายการชุมนุมโดยไม่ก่อให้เกิดการได้รับบาดเจ็บ ในทางตรงข้าม กองทัพไทยกลับตั้งใจปิดกั้นทางออก ล้อมฝูงชนเข้าไปอยู่ในบริเวณจำกัด และกระทำการผิดกฎหมายต่างๆ เพื่อยั่วยุให้ฝูงชนกระทำการรุนแรง เพื่อที่ทางกองทัพจะได้มีความชอบธรรมในการใช้กำลังรุนแรงถึงแก่ชีวิตกับผู้ชุมนุม การกระทำที่ผิดกฎหมายดังกล่าวมีตัวอย่างดังต่อไปนี้
๑) การใช้พลซุ่มยิงทหารที่ได้รับการฝึกมาอย่างดีไปยิงผู้ชุมนุมไร้อาวุธ โดยใช้กระสุนจริงยิงจากบริเวณที่สูงโดยไม่ปรากฏตัว โดยที่ไม่มีการยั่วยุก่อนหรือมีเหตุผลรองรับที่ชอบธรรม

๒) การใช้อาวุธทางการทหาร รวมถึงการใช้ปืนไรเฟิลเอ็ม-๑๖ และอาวุธออโต้อื่นๆยิงกระสุนจริงเข้าใส่ผู้ชุมนุมไร้อาวุธที่อยู่รวมกันหนาแน่นโดยตรงอย่างตั้งใจและไม่เลือกหน้า โดยที่ไม่มีการยั่วยุก่อนหรือมีเหตุผลรองรับที่ชอบธรรม

๓)การจุดวัตถุระเบิดระดับที่ใช้ในการทหารหลายลูกอย่างตั้งใจภายในบริเวณติดกับจุดที่ตั้งของกองทหาร ในลักษณะที่เป็นการยิงกันเองอย่างร้ายแรงมาก เพื่อสร้างความเข้าใจผิดว่ากองทัพถูกผู้ชุมนุมโจมตี

*กองทัพไทยได้ออกกฎการใช้กำลังที่เป็นไปตามหลักการจัดการฝูงชนที่เป็นที่ยอมรับกัน เพื่อสร้างความเข้าใจผิดว่ามีการปฏิบัติที่สมเหตุสมผล แต่แท้จริงแล้วกองทัพได้ละเมิดกฎการใช้กำลังของตนเองอย่างเป็นระบบในลักษณะที่เป็นการกระทำความผิดทางอาญา

*ปฏิบัติการของกองทัพไทยเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ นั้นเป็นปฏิบัติการทางการทหาร ที่มีเป้าหมายเพื่อสังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์ โดยที่ไม่ได้มีการยั่วยุก่อน หรือมีเหตุผลชอบธรรมรองรับ เพื่อปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง

*กองทัพไทยพุ่งเป้าไปที่พลเรือนไม่มีอาวุธซ้ำแล้วซ้ำอีกในช่วงระหว่างวันที่ ๑๐ เมษายน ถึง ๑๙ เมษายน ๒๕๕๓ โดยใช้กำลังรุนแรงถึงแก่ชีวิตในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมายที่สมเหตุสมผลเลย แต่เป็นไปอย่างมีเจตนา โดยไม่มีการยั่วยุเกิดขึ้นก่อน ไม่มีเหตุผลรองรับและเป็นการผิดทางอาญา

*ปฏิบัติการของกองทัพไทยในช่วงระหว่างวันที่ ๑๓-๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๓ นั้นเป็นปฏิบัติการทางการทหาร การปฏิบัติการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วไปเรื่องการจัดการฝูงชนหรือกับกฎการใช้กำลังของกองทัพไทยเอง และยังเป็นการกระทำที่มีความผิดทางอาญาอีกด้วย

*ปฏิบัติการของกองทัพไทยในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ นั้นเป็นปฏิบัติการทางการทหาร การปฏิบัติการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วไปเรื่องการจัดการฝูงชนหรือกับกฎการใช้กำลังของกองทัพไทยเอง และยังเป็นการกระทำที่มีความผิดทางอาญาอีกด้วย การปฏิบัติการนั้นถูกออกแบบมาเพื่อสังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์ โดยที่ไม่ได้มีการยั่วยุก่อนหรือมีเหตุผลชอบธรรมรองรับ เพื่อปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง

คำร้องฉบับนี้ยังมีหลักฐานที่เป็นการรวบรวมข้อมูลที่ได้มาจากเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจำนวนหนึ่งในประเทศไทย ที่มีความรู้เกี่ยวกับสถานะและความคืบหน้าของการสืบสวนอย่างเป็นทางการโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีการสังหารในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้ให้การแบบเป็นกลุ่มโดยใช้ชื่อว่า พยานที่ไม่เปิดเผยชื่อ ลำดับที่ ๒๐ ว่าไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่ดีเอสไอจะยินดีทำการสืบสวนอย่างถูกต้องเหมาะสมกรณีการเสียชีวิตของพลเรือนและทหารในระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดง เนื่องจาก

*รัฐบาลมีนโยบายอย่างเป็นทางการที่จะปกปิดและ/หรือทำลายหลักฐานการกระทำผิดทางอาญาของรัฐบาลหรือผู้นำกองทัพทั้งหมดที่เกี่ยวกับการสังหารพลเรือน

*หลังจากการสังหารเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ได้ให้อำนาจดีเอสไอในการสืบสวนเพื่อที่จะควบคุมผลของการสืบสวนได้ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ผู้อำนวยการดีเอสไอ เป็นสมาชิกของ ศอฉ.ด้วย การมอบหมายหน้าที่นี้ให้ดีเอสไอเป็นการไม่เหมาะสมเพราะตัว ศอฉ. เองควรจะเป็นเป้าของการสืบสวนกรณีความผิดอาญาด้วย

*นายธาริต ผู้อำนวยการดีเอสไอ ได้มอบหมายการสืบสวนให้แก่ พันตำรวจโท วีรวัชร์ เดชบุญภา เจ้าหน้าที่สืบสวนของดีเอสไอ ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดกับนายธาริต พ.ต.ท.วีรวัชร์ไม่ได้ทำการสอบสวนคดีดังกล่าวเลย หลังจากที่มีการฆ่าขึ้นอีกในเดือนพฤษภาคม ก็มีการมอบหมายให้ พ.ต.ท.วีรวัชร์สืบสวนการเสียชีวิตรวมทั้งหมด ๘๙ ราย จนถึงปัจจุบันนี้ พ.ต.ท.วีรวัชร์ยังไม่ได้ทำการสืบสวนการเสียชีวิตของพลเรือนผู้บริสุทธิ์อย่างจริงจัง แต่กลับพยายามโยนความผิดให้กับแกนนำเสื้อแดงที่กำลังถูกคุมขังอยู่ เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวการก่อการร้ายที่รัฐบาลป้ายสีให้แก่แกนนำเสื้อแดงที่กำลังถูกคุมขังอยู่ เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวการก่อการร้ายที่รัฐบาลป้ายสีให้แก่แกนนำเสื้อแดงอย่างเห็นได้ชัด

*วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๓ นายธาริตต้องยอมทำตามเสียงเรียกร้องของประชาชนและมอบหมายหน้าที่การสืบสวนให้แก่เจ้าหน้าที่สืบสวนคนอื่นของดีเอสไอ ซึ่งมีหลายคนที่ทำหน้าที่สืบสวนอย่างถูกต้องเหมาะสม การสืบสวนหลายกรณีสรุปในขั้นต้นเป็นอย่างน้อยว่า การสังหารเป็นผลจากการกระทำของทหารบางนายในกองทัพตามคำสั่งของรัฐบาลและ ศอฉ. เจ้าหน้าที่สืบสวนดีเอสไอบางคนที่มีข้อสรุปเช่นนี้ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้เปลี่ยนข้อสรุปของตน

*เจ้าหน้าที่ ดีเอสไอบางคนไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้การสืบสวนคืนหน้าเลย นอกจากนี้พวกเขายังหวังจะได้รับเลื่อนตำแหน่งที่นายธาริตกำลังขอจากรัฐบาลให้เป็นแบบพิเศษอีกด้วย

*เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ทำรายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับการเสียชีวิตของประชาชนอย่างน้อยสี่รายเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ เสร็จสิ้นแล้ว โดยสรุปว่าทหารบางนายจากกองทัพภายใต้คำสั่งจากรัฐบาลเป็นผู้ทำให้เสียชีวิต ปกติแล้วในขั้นตอนนี้ดีเอสไอจะต้องปรึกษากับสำนักงานอัยการเพื่อขอให้มีอัยการมาทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สอบสวนของดีเอสไอ เพื่อประเมินว่าการฆ่านั้นกระทำโดยเจตนา หรือเป็นการป้องกันตัว ทว่านายธาริตไม่ได้ดำเนินการใดๆเพื่อเริ่มการสอบสวนถึงเจตนาของการกระทำนั้น นี่เป็นการขัดระเบียบวิธีปฏิบัติปกติของดีเอสไอและขัดกฎหมายไทย และเป็นความพยายามทำให้คดีล่าช้า

*นายธาริต ผู้อำนวยการดีเอสไอ ยังได้ออกคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่สอบสวนของดีเอสไอเรียกทหารจากกองทัพมาสอบสวน การกระทำเช่นนี้ขัดกับหลักปฏิบัติปกติของดีเอสไอที่ควรจะสอบสวนบุคคลใดก็ตามที่ดีเอสไอสรุปว่ามีส่วนรับผิดชอบกับการฆาตกรรมไปนานแล้ว

*หลังจากรายงานทางการของดีเอสไอกรณีการฆาตกรรมบางรายได้รั่วไหลออกมายังสื่อมวลชน รองนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ได้เรียกให้นายธาริต ผู้อำนวยการดีเอสไอ เข้าพบ และยินยอมให้นายธาริตรักษาตำแหน่งไว้แลกกับการที่เขาจะต้องไม่ดำเนินคดีกับผู้นำทหารหรือรัฐบาล โดยการออกผลการสืบสวนว่าทางทหารและรัฐบาลไม่ได้ตั้งใจจะกระทำความผิดทางอาญา

*ไม่นานหลังจากการเข้าพบรองนายกรัฐมนตรีสุเทพ เทือกสุบรรณ นายธาริตได้ออกคำสั่งภายในดีเอสไอกำหนดให้ตนเป็นผู้มีอำนาจตัดสินว่าการสังหารแต่ละกรณีเกิดขึ้นโดยมีเจตนาหรือไม่เพียงคนเดียว หากไม่พบว่ามีเจตนา ผู้นำกองทัพ สมาชิก ศอฉ. หรือรัฐบาลไทย ก็ไม่ต้องรับผิดชอบทางอาญาต่อการกระทำดังกล่าว

*นอกจากนี้ หลังจากการเข้าพบรองนายกรัฐมนตรีสุเทพ เทือกสุบรรณ นายธาริตยังได้แจ้งทีมเจ้าหน้าที่สอบสวนของตนว่า หากพวกเขาไม่สามารถระบุรายชื่อของบุคคลที่ลั่นไกปืนในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดงได้ พวกเขาจะต้องสรุปว่าคนเสื้อแดงเป็นคนยิง

คำร้องนี้เป็นรายงานล่าสุดที่พัฒนาต่อจากรายงานเบื้องต้นของสำนักกฎหมายอัมสเตอร์ดัม แอนด์ เปรอฟ ที่ได้เสนอต่ออัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศไปเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๓ รายงานฉบับนั้นมีหลักฐานที่เสนอมูลเหตุอันสมควรให้เชื่อได้ว่ารัฐบาลไทยและกองทัพไทยมีความผิดทางอาญาตามกฎหมายระหว่างประเทศในอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ตามมาตรา ๕ ของธรรมนูญกรุงโรม (ได้รับการนิยามในมาตรา ๖,๗ และ๘) คำร้องนี้กล่าวถึงพื้นฐานทางการพิจารณาคดีเพื่อให้เริ่มมีการสืบสวน และเพื่อเสนอหลักฐานที่ถูกค้นพบใหม่ที่สนับสนุนว่ามีการก่ออาชญากรรมตามที่ได้กล่าวมา คำร้องฉบับนี้ยังให้รายละเอียดเรื่องความรับผิดทางอาญาส่วนบุคคลและความรับผิดของผู้บังคับบัญชาบนฐานของหลักฐานที่ค้นพบใหม่นี้ ประการสุดท้ายก็คือ รายงานเบื้องต้นได้เพียงขอให้อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศรับข้อมูลโดยหวังว่าจะมีการสืบสวนในอนาคต ส่วนคำร้องนี้ได้สรุปโดยเสนอมาตรการที่ขอให้อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศดำเนินการไว้อย่างชัดเจน.

ลำดับ๖๒๙.คำร้องเพื่อให้มีการสอบสวนสถานการณ์การกระทำอันเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในราชอาณาจักรไทย ๐๑

คัดลอกจากหนังสือ "คำร้องเพื่อขอให้มีการสอบสวนสถานการณ์เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในราชอาณาจักรไทย" ในนามแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ต่อสำนักงานอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๔

ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๓ “คนเสื้อแดง” จากแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ได้ร่วมการชุมนุมครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ เพื่อต่อต้านการรัฐประหารเมื่อปี ๒๕๔๙ ที่ได้ปลดนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ผู้มาจากการเลือกตั้งอย่างถูกต้องออกจากตำแหน่ง และริดรอนสิทธิคนไทยหลายล้านคน ตลอดช่วงสองเดือนหลังจากนั้น กลุ่มคนเสื้อแดงปักหลักกำบังตัวอยู่หลังแนวค่ายที่สร้างขึ้นในพื้นที่ยุทธศาสตร์และมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ในใจกลางกรุงเทพฯ พวกเขาเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่และให้ยุบรัฐบาลนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ซึ่งคนเสื้อแดงเห็นว่าเป็นรัฐบาลที่ผิดกฎหมายและได้รับการหนุนหลังจากทหาร

ในการรับมือกับการชุมนุม กองทัพไทยภายใต้การชี้นำและการอนุมัติของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์และคนอื่นๆในรัฐบาล ได้เข่นฆ่าพลเรือนกว่า ๘๐ คนและทำให้อีกสองพันกว่าคนได้รับบาดเจ็บ รวมถึงนักข่าวที่บันทึกเหตุการณ์และอาสาสมัครหน่วยกู้ชีพที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บด้วย

คำร้องนี้เสนอต่ออัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court-ICC) เพื่อขอให้ดำเนินการสืบสวนเบื้องต้นกรณีสถานการณ์ในประเทศไทย ศาลอาญาระหว่างประเทศมีเขตอำนาจในการสืบสวนสถานการณ์ในประเทศหากมีการส่งเรื่องจากสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ตามมาตรา ๑๓(ข) ของธรรมนูญกรุงโรม นอกจากนี้ ศาลฯยังอาจมีเขตอำนาจเหนือตัวบุคคลในกรณีนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตามมาตรา ๑๒.๒ข ของธรรมนูญกรุงโรม เนื่องจากเขาถือสัญชาติอังกฤษ ซึ่งเป็นรัฐภาคของศาลอาญาระหว่างประเทศ

คำร้องนี้มีหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่า มีมูลมากพอให้เชื่อได้ว่ามีอาชญกรรมระหว่างประเทศภายในเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ต่อไปนี้เกิดขึ้นในการปราบปรามการชุมนุมของคนเสื้อแดงคือ ๑)การฆาตกรรม ๒)การกักขังและการพรากเสรีภาพทางกายอย่างรุนแรง ๓)การกระทำไร้มนุษยธรรมอื่นๆและ ๔)การประหัตประหาร ผู้นำทางทหารและทางการเมืองของไทยรวมถึงตัวนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีความผิดทางอาญาจากการกระทำที่ได้กล่าวมา

หลักฐานที่นำเสนอในคำร้องนี้มีการรวบรวมข้อมูลที่ได้มาจากเจ้าหน้าที่ของกองทัพไทยซึ่งยังปฏิบัติหน้าที่อยู่จำนวนหนึ่ง เกี่ยวกับการวางแผนและการปฏิบัติการตอบโต้ทางการทหารต่อกลุ่มคนเสื้อแดง คนเหล่านี้ให้การแบบกลุ่มภายใต้ชื่อ พยานที่ไม่เปิดเผยชื่อ ลำดับที่ ๒๒ ว่า

*กลุ่มอำนาจเก่าของไทยตระหนักว่าผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร จะลุกขึ้นประท้วงการทำลายหลักการประชาธิปไตย และการออกนโยบายปราบปรามการประท้วงด้วยการใช้กำลังทางทหาร โดยมีเป้าหมายเพื่อการทำลายขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย

*นโยบายนี้ส่วนหนึ่งมีการใช้ยุทธศาสตร์ประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้นเพื่อสร้างความเข้าใจผิดๆว่าคนเสื้อแดงใช้ความรุนแรงและควรถูกปราบปรามไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ยุทธศาสตร์นี้รวมถึง ๑)การทำลายและ/หรือการปกปิดหลักฐานที่จะทำให้กองทัพและรัฐบาลไทยต้องรับผิดทางอาญา ๒)การสร้าง “หลักฐาน” เพื่อป้ายความผิดให้คนเสื้อแดง ๓)การแอบใช้อาวุธ รวมถึงพลซุ่มยิงและวัตถุระเบิดโดยสร้างภาพว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อความรุนแรง และ ๔)การโฆษณาชวนเชื่อทางสื่อเพื่อสร้างภาพว่าคนเสื้อแดงใช้ความรุนแรง เป็นอันตราย และเป็นภัยต่อสถาบันกษัตริย์

*ปฏิบัติการปราบปรามของทหารเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ช่วงแรก ไม่ได้เป็นไปเพื่อสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงบนถนนราชดำเนิน(สะพานผ่านฟ้า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และสี่แยกคอกวัว) ตามที่คนส่วนใหญ่เชื่อกัน แต่เพื่อไล่ต้อนผู้ชุมนุมเข้าไปอยู่ในบริเวณจำกัดที่สะพานผ่านฟ้า สร้างความโกลาหลขึ้น และเพื่อลอบสังหารแกนนำคนเสื้อแดงบนเวที ในส่วนหนึ่งของปฏิบัติการนี้ ทหารใช้กลุ่มพลซุ่มยิงมืออาชีพมากกว่า ๑๕๐ นายจากหลายหน่วยในกองทัพ โดยพลซุ่มยิงเหล่านี้กระจายตัวไปยิงผู้ชุมนุมจากดาดฟ้าอาคารโดยใช้กระสุนที่มีความแรงต่ำเพื่อเป็นการยั่วยุ แผนนี้ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากกองทหารม้าที่ ๙ ติดอยู่บนสะพานปิ่นเกล้า และไม่สามารถกดดันผู้ชุมนุมจากฝั่งทางทิศตะวันตกได้

*ทหารได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่ง และโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้ใช้ทหารเสือราชินีจากกองพลทหารราบที่ ๒ ภายใต้การบัญชาการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำเนินการปราบปรามในเวลากลางคืน หน่วยทหารได้เข้าประจำตำแหน่งประจันหน้ากับกลุ่มคนเสื้อแดงในบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและสี่แยกคอกวัว และมีการตรึงกำลังกันอยู่นานกว่าหนึ่งชั่วโมง ทหารได้ยิงกระสุนจริงขึ้นเหนือศีรษะผู้ชุมนุม และมีการใช้ปืนกล .๕๐ แคลิเบอร์ไปพร้อมๆกับการยิงกระสุนจริงเข้าใส่ผู้ชุมนุมโดยตรงเป็นช่วงๆ เพื่อพยายามยั่วยุผู้ชุมนุมให้กระทำการตอบโต้ เพื่อสร้างภาพว่าทหารมีความจำเป็นต้องปกป้องตนเอง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

*เมื่อเวลาประมาณ ๑๙.๔๕ น. เกิดเหตุระเบิดสองครั้งใกล้ๆ กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยทำให้ทหารมีข้ออ้างในการยิงเข้าใส่ฝูงชนโดยไม่ยั้ง ทหารที่อยู่บริเวณสี่แยกคอกวัวก็เปิดฉากยิงโดยไม่ยั้งเช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้มีการระเบิดเกิดขึ้นในบริเวณนั้นก็ตาม

*หลังจากปฏิบัติการทางการทหารในถนนราชดำเนินเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ไม่สามารถทำให้การชุมนุมของคนเสื้อแดงยุติได้ ทหารก็หันไปพยายามปราบปรามการชุมนุมที่ไปรวมอยู่ที่แยกราชประสงค์แทน โดยวางแผนที่จะกั้นเขตแดนบริเวณรอบๆ แยกราชประสงค์เพื่อกันคนเข้าออก จากนั้นก็ฝ่าแนวกั้นของคนเสื้อแดงเข้าไปแล้วลอบสังหารแกนนำ

*ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๙ พฤษภาคม กองทัได้ส่งทหารจากกองพลทหารม้าที่ ๒ และกองพลทหารราบที่ ๑ ไปปิดกั้นบริเวณบ่อนไก่ ทางตอนใต้ของราชประสงค์ และบริเวณดินแดงและราชปรารภทางตอนเหนือของราชประสงค์ แม้ว่าคำสั่งทางการจะสั่งให้ยิงเป้าที่กระทำการคุกคามเท่านั้น แต่คำสั่งแท้จริงที่สั่งไปยังเจ้าหน้าที่ระดับบังคับบัญชานั้น เป็นคำสั่งที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ให้ ๑)ยิงเป้าเคลื่อนที่ทุกคน ไม่ว่าจะมีระดับการคุกคามเท่าใด ๒)ป้องกันไม่ให้มีหลักฐานทางภาพถ่ายหรือวีดีโอ และ ๓)ป้องกันไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายศพ

*คำสั่งเหล่านี้ทำให้ทหารพุ่งเป้าไปยังนักข่าวในบริเวณบ่อนไก่ ดินแดง และราชปรารภ และยังพุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่พยายามเข้าไปช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บอีกด้วย

*กองทัพไทยได้ฝ่าแนวกั้นของคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม โดยมีคำสั่งให้ ๑)สังหารแกนนำคนเสื้อแดง ๒)ยิงใครก็ตามที่ต้องสงสัยว่ามีอาวุธ โดยไม่ต้องตรวจสอบก่อนว่าคนนั้นมีอาวุธจริงหรือไม่ ๓)ถือว่าคนที่ถือหนังสติ๊กเป็นคนติดอาวุธและเป็นอันตราย และ ๔)ยิงการ์ดคนเสื้อแดงทุกคน รวมถึงคนที่ไม่ได้ถืออาวุธด้วย แกนนำคนเสื้อแดงได้ข่าวเกี่ยวกับคำสั่งเช่นนี้ล่วงหน้า จึงยอมมอบตัวก่อนที่ทหารจะเข้าไปฆ่าตนได้

*คำสั่งเหล่านี้แปลว่าทหารสามารถฆ่าใครก็ได้ตามใจในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม และเป็นการอนุญาตให้มีการยิงสังหารที่วัดปทุมวนารามในเย็นวันนั้นด้วย

*เหตุเพลิงไหม้ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์นั้นถูกก่อขึ้นโดยมือลอบวางเพลิงที่ทางกองทัพได้ว่าจ้างมาหลายสัปดาห์ก่อนหน้าเหตุการณ์ ปฏิบัติการนี้มีขึ้นเพื่อฝังความเชื่อในใจของประชาชนทั่วไปว่าการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงนั้นรุนแรงและเป็นอันตราย และเพื่อสร้างความเข้าใจว่าการกระทำของทหารชอบธรรมแล้ว คนเสื้อแดงไม่ได้เป็นผู้วางเพลิงห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์

*หลังการชุมนุมสิ้นสุดลง มีคนจากกองทัพรวบรวมเอาปืนไรเฟิลเอเค-๔๗ และวัตถุระเบิดไปไว้ในวัดปทุมวนารามและสวนลุมพินี เพื่อจัดฉากว่าเป็นอาวุธของคนเสื้อแดง