Saturday, December 27, 2008

บทความที่ ๔๓๑.อุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตยของท่านปรีดี พนมยงค์

อุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตยของท่านปรีดี พนมยงค์

อุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตยของ นายปรีดี พนมยงค์ ประกอบด้วยหลักการ ๓ ประการ คือ ปรัชญาสสารธรรมทางสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์สังคม สหกรณ์สังคมนิยม และ ประชาธิปไตยสมบูรณ์

นายปรีดี เป็นผู้ที่ยึดมั่นในปรัชญาสสารธรรมทางสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์สังคม ซึ่งมีทัศนะว่า สภาวะทางสังคมเกิดขึ้นและมีการเคลื่อนไหวตามกฎธรรมชาติของมวลราษฎร ในข้อเขียนชื่อ “อนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปใด” (พ.ศ.๒๕๑๖) นายปรีดียืนยันว่า “ระบบเพื่อประโยชน์ของชนจำนวนน้อยจะคงอยู่ชั่วกัลปาวสานไม่ได้ คือ อนาคตจะต้องเป็นของราษฎรซึ่งเป็นพลเมืองส่วนข้างมาก” ได้แก่ “ผู้ไร้สมบัติ ชาวนายากจน ผู้มีทุนน้อย รวมทั้งนายทุนที่รักชาติ ซึ่งมิได้คิดเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัวหรือส่วนของวรรณะพวกตัวเป็นที่ตั้ง แล้วก็ต้องการระบบสังคมใหม่ที่จะช่วยความเป็นอยู่ของพลเมืองส่วนข้างมากให้ดีขึ้น คือ มีระบบการเมืองที่สอดคล้อง สมานกับพลังการผลิตทางเศรษฐกิจของสังคม เพื่อให้การเบียดเบียนหมดไปหรือน้อยลงไปมากที่สุดเท่าที่จะมากได้”

ในด้านการบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจนั้น นายปรีดีเห็นว่า ควรจัดให้มีสหกรณ์ทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์แก่มวลสมาชิก แนวความคิดดังกล่าวนี้ได้ปรากฏเป็นรูปธรรมอยู่ในหมวดที่ ๘ แห่งร่างเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติที่นายปรีดีได้เป็นผู้จัดทำขึ้น แต่เกิดอุปสรรคขัดขวางจึงไม่ได้นำมาใช้ แต่ออกมาเป็น พ.ร.บ.สหกรณ์

ในด้านประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้น นายปรีดีมีความเชื่อมั่นอยู่ว่า “สังคมจะดำรงอยู่ได้ก็โดยมวลราษฎร ดังนั้นระบบของสังคมที่ทำให้มวลราษฎรมีพลังผลักดันให้สังคมก้าวหน้าก็คือระบบประชาธิปไตย” นายปรีดีให้อรรถกถาธิบายด้วยว่า “รูปของสังคมใดๆ นั้นย่อมประกอบด้วย ระบบเศรษฐกิจการเมือง ทัศนะสังคม ดังนั้นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จึงต้องประกอบด้วย ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยทางการเมือง ทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยซึ่งเป็นหลักนำทางจิตใจ” รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ เป็นตัวอย่างอันดีถึงความเพียรพยายามของนายปรีดี ในการสถาปนาระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้นในสังคมไทย เพราะมีบทบัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกพฤตสภา เป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้บัญญัติให้ประชาชนมีสิทธิมนุษยชนอย่างสมบูรณ์ ดังปรากฏอยู่ในมาตรา ๑๓ ๑๔ และ ๑๕ ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

สรุปแล้ว สังคมไทยในอุดมทัศนะของนายปรีดี เป็นสังคมประชาธิปไตยสมบูรณ์ กล่าวคือ เป็นสังคมที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของเขาด้วยตัวของเขาเอง มีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง โดยการจัดให้มีสหกรณ์ทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่มวลสมาชิก มีเทศบาลที่ได้รับเลือกจากราษฎรในท้องถิ่นเพื่อปกครองตนเอง สังคมเช่นนี้ย่อมเป็นสังคมที่ทุกคนมีงานทำ ปราศจากความอดอยาก มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และเป็นสังคมที่บุคคลสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

Thursday, December 18, 2008

บทความที่ ๔๓๐. หวนอาลัย

หวนอาลัยจากใจท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ถึงท่านปรีดี พนมยงค์ เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490

หวนอาลัยหัวใจคร่ำครวญ 
ทุกวันเหงาใจให้หวนคร่ำครวญจำคะนึง
กรรมเอ๋ยกรรมต้องจำคิดรำพึง
ครวญถึงคนหนึ่งโศกซึ้งไม่คลายคลา

บางเวลาน้ำตาไหลหลั่ง
โถกรรมชักนำจากไปเศร้าใจเต็มประดา
คอยทุกวันตื้นตันทุกวันมา
ยังหลงคอยท่าอย่าร้างอย่าราไป

หมองใจตรมระทมไร้ร่มโพธิ์ทอง
สุดปองหมองหม่นไหม้
ยามพร้อมบุญยังอุ่นใจ
ครั้นบุญมาขาดไปดั่งใจขาดคลา

ยามแรมไกลเหงาใจเยือกเย็น
ฉันปองทุกข์ครองยากเข็ญเยือกเย็นในอุรา
ไกลแสนไกลเมื่อไหร่ถึงจะมา
ยังหลงคอยท่าอย่าร้างอย่าราเลย

Monday, November 3, 2008

บทความที่๔๒๙.รบทำไมและรบเพื่อใคร?ตอนที่๗

รบทำไม?และรบเพื่อใคร?

บทความของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล

ตอนที่ ๗.

ในขณะที่การเศรษฐกิจได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง พร้อมกับการกดขี่ขูดรีดที่ทารุณโหดร้ายนั้น นายทุนทั้งหลายก็ต้องประสบกับปัญหาวัตถุดิบที่จะมาป้อนโรงงาน และปัญหาตลาดในการระบายสินค้าที่ผลิตขึ้น เพราะวัตถุดิบภายในประเทศมีไม่เพียงพอเสียแล้ว และผลิตผลก็เกินความต้องการของตลาดภายในประเทศ นายทุนจึงเสาะแสวงหาแหล่งวัตถุดิบจากภายนอกประเทศ และพร้อมกับหาตลาดระบายสินค้า ซึ่งนับเป็นบาทก้าวของลัทธิล่าอาณานิคมของระบบทุนนิยมที่สืบต่อจากระบบศักดินา บริษัทตัวแทนของกลุ่มนายทุน ได้เดินทางออไปแสวงหาแหล่งวัตถุดิบ และตลาดระบายสินค้าในประเทศที่ล้าหลังทั้งหลาย ทั้งในเอเซีย อาฟริกา และลาตินอเมริกา และโดยบริษัทนายทุนเหล่านั้นพยายามที่จะกดราคาวัตถุดิบให้ต่ำที่สุด และโก่งราคาสินค้าของตนให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ และประกอบกับเล่ห์โกงต่างๆ ของพวกเขา จึงทำให้เกิดความบาดหมางกันขึ้นระหว่างบริษัทตัวแทนกลุ่มนายทุนกับพ่อค้าหรือรัฐบาลท้องถิ่นที่ล้าหลังเหล่านั้น จนในที่สุดรัฐบาลของบริษัทนายทุนได้ส่งกำลังทหารเข้าไปยึดครองประเทศล้าหลัง และทำให้ประเทศเหล่านั้นกลายเป็นประเทศเมืองขึ้นหรืออาณานิคม ประเทศในอาฟริกาทั้งทวีป เอเซียค่อนทวีป และลาตินอเมริกาเกือบทั้งหมดจึงกลายเป็นอาณานิคมของประเทศนายทุนตะวันตกและอเมริกา ทั้งทางตรงและทางอ้อม ประเทศอาณานิคมทั้งหลายจึงกลายเป็นแหล่งวัตถุดิบราคาถูกๆ แหล่งแรงงานราคาถูกๆ และแหล่งระบายสินค้าหรือตลาดสินค้าราคาแพงของเหล่าประเทศนายทุน ประเทศอาณานิคมทั้งหลายจึงกลายเป็นแหล่งของการกดขี่ขูดรีดของประเทศทุนนิยมโดยตรง ประเทศทุนนิยมเหล่านั้น จึงนอกจากจะกดขี่ขูดรีดชนชั้นคนงานภายในประเทศของตนแล้ว ก็ยังแผ่การกดขี่ขูดรีดครอบคลุมไปทั่วทุกมุมโลก

 

แต่เนื่องจากแหล่งวัตถุดิบและตลาดระบายสินค้าโดยทั่วไปมีอยู่จำกัด ไม่พอที่จะสนองความต้องการทะยานอยากอย่างไม่มีขอบเขตของนานาประเทศทุนนิยมได้ ประเทศทุนนิยมเหล่านั้นจึงขัดแย้งกันเองในการแสวงหาผลประโยชน์ แต่ก็ได้พยายามประนีประนอม เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธ อย่างเช่นการประนีประนอมระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ในการเข้าครอบครองเอเซียอาคเนย์ โดยอังกฤษเข้าครอบครองทางตะวันตกและทางใต้ของประเทศไทย คือ พม่าและมลายูส่วนฝรั่งเศสเข้าครอบครองทางตะวันออก คือ อินโดจีน(ญวน,ลาว,เขมร) โดยเอาประเทศไทยเป็นประเทศกันชนของประเทศทุนนิยมทั้งสอง ประเทศไทยจึงรอดจากการเป็นเมืองขึ้นโดยตรงของประเทศเหล่านั้น แต่ได้กลายเป็นเมืองขึ้นทางอ้อมของประเทศนายทุนทั้งหลาย โดยการถูกบีบบังคับจำกัดสิทธิ์ทั้งในทางการเมือง การเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยพึ่งจะมาสลัดแอกของประเทศทุนนิยมออกไปได้ เมื่อภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นี้เอง

บทความที่๔๒๘.รบทำไมและรบเพื่อใคร?ตอนที่๖

รบทำไม?และรบเพื่อใคร?

บทความของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล

ตอนที่ ๖.

ภายใต้ระบบทุนนิยม ซึ่งเบิกโรงด้วยการใช้เครื่องจักรไอน้ำในงามอุตสาหกรรมและเครื่องจักรไฟฟ้าในเวลาต่อมา โรงงานอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ ได้ถูกจัดตั้งขึ้นโรงแล้วโรงเล่า พร้อมกันนั้นก็ได้กวาดต้อนเอาพวกไพร่เข้ามาสู่โรงงาน และกลายเป็นชนชั้นใหม่ขึ้นมาเรียกว่า ชนชั้นกรรมาชีพ การเพิ่มผลผลิตทางอุตสาหกรรมได้ทำมากขึ้นๆ ซึ่งนั่นก็หมายถึงความมั่งคั่งร่ำรวยของบรรดาเหล่านายทุนทั้งหลาย แต่ในขณะเดียวกัน ความยากจนค่นแค้นก็ยังแผ่ปกคลุมไปทั่วชนชั้นกรรมาชีพที่ได้พัฒนามาจากไพร่โดยทั่วไป เช่นเดียวกับความยากจนค่นแค้นแสนสาหัส ที่บรรพบุรุษพวกเขาเคยได้พบมาในยุคศักดินาและยุคทาสนั้นเอง

 

นั่นก็คือในสังคมทุนนิยม ก็เช่นเดียวกับสังคมศักดินาและสังคมครองทาส ที่ได้แบ่งคนในสังคมเดียวกันออกเป็นสองชนชั้น คือชนชั้นผู้กดขี่ขูดรีดกับชนชั้นผู้ถูกกดขี่ขูดรีด


ในสังคมครองทาส เป็นการกดขี่ขูดรีดระหว่างชนชั้นนายทาสกับชนชั้นทาส ในสังคมศักดินา เป็นการกดขี่ขูดรีดระหว่างชนชั้นเจ้าศักดินากับชนชั้นไพร่

 

ในสังคมทุนนิยม เป็นการกดขี่ขูดรีดระหว่างชนชั้นนายทุนกับชนชั้นผู้ใช้แรงงานทั่วไป โดยเฉพาะกับชนชั้นกรรมาชีพนอกโรงงาน กสิกร และผู้ขายแรงงานทางสมอง เช่น ข้าราชการ นักวิชาการ และเสมียนพนักงาน เป็นต้น

 

ถึงแม้ว่ารูปแบบในการกดขี่ขูดรีด จะแตกต่างกันไปตามรูปแบบของระบบสังคม แต่เนื้อหาของมันก็อย่างเดียวกัน คือ การกดขี่ร่างกายจิตใจและขูดรีดแรงงาน ในสังคมครองทาสและศักดินา การกดขี่ร่างกายจิตใจและขูดรีดแรงงานเป็นไปอย่างซึ่งหน้าตรงไปตรงมาเห็นได้ง่าย แต่การกดขี่และขูดรีดในยุคทุนนิยมเป็นไปอย่างสลับซับซ้อนและมีเงื่อนงำเห็นได้ยาก แต่ก็ไม่สามารถที่จะซ่อนเร้นปิดบังได้ตลอดไป โดยเฉพาะไม่สามารถซ่อนเร้นปิดบังชนชั้นกรรมาชีพได้อย่างแน่นอน เพราะชนชั้นกรรมาชีพเป็นผู้รับผลกระทบกระเทือนจากการขูดรีดของระบบทุนนิยมโดยตรง กล่าวคือ พวกเขาต้องทำงานมากชั่วโมงเกินไปกว่าความจำเป็นที่เขาจะต้องทำเพื่อการดำรงชีพ แล้วนายจ้างก็ฮุบเอาค่าที่เขาได้ใช้เวลาทำงานเกินไปจากส่วนอันจำเป็นแก่การดำรงชีพ ซึ่งเรียกว่า มูลค่าส่วนเกิน ไปเป็นของนายจ้างเสียเอง มูลค่าส่วนเกิน ก็คือแรงงานของคนงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน ซึ่งผู้ขายแรงงานตามโรงงานทั้งหลายได้ประจักษ์กับตัวเขาเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

 

นายทุนได้ใช้ส่วนหนึ่งของมูลค่าส่วนเกินที่คนงานทั้งหมดผลิตได้ เป็นค่าครองชีพอันฟุ่มเฟือยสุขสำราญของเขา และใช้ส่วนที่เหลือเป็นทุนก้อนใหม่ผนวกเข้ากับเงินทุนเดิม กล่าวคือ เขาได้ผลักส่วนที่เหลือนี้สมทบเข้ากับกองทุนเดิม ผลจากการเพิ่มทุนนี้จะปรากฏออกมาในรูปที่ว่า นายทุนสามารถจะขยายงานและจ้างคนงานมาทำงานได้มากขึ้น และคนงานจำนวนมากขึ้นจะผลิต มูลค่าส่วนเกิน ให้แก่นายทุนมากขึ้น ซึ่งนายทุนก็จะนำไปเพิ่มพูนกองทุนของเขาให้ทับทวียิ่งขึ้นเป็นลำดับ

บทความที่๔๒๗.รบทำไมและรบเพื่อใคร?ตอนที่๕

รบทำไม?และรบเพื่อใคร? 

บทความของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล

ตอนที่ ๕.

และในที่สุด การต่อสู้ของนายทุนสมัยใหม่แห่งจักรวรรดิ์ศักดินาอังกฤษ อันเริ่มต้นจากการต่อสู้ของรัฐอาณานิคมในทวีปอเมริกา ๑๓ อาณานิคมที่เป็นของอังกฤษ ก็ได้ประสบชัยชนะ โดยประกาศเอกราชไม่ยอมอยู่ใต้อาณานิคมอังกฤษ แล้วสถาปนาประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ค.ศ.๑๗๗๖ (พ.ศ.๒๓๑๙)อันเป็นเหตุให้อาณานิคมอื่นๆ ของอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปญ ต้องล้มตามๆกันไป และเข้าร่วมอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เกิดใหม่นั้น

 

การล้มเลิกระบบศักดินาแห่งลัทธิอาณานิคมในทวีปอเมริกาครั้งนั้น ได้ส่งผลสะเทือนมาถึงยุโรป โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศแรก และได้ก่อให้เกิดการอภิวัฒน์ใหญ่ในประเทศนั้นในปี ค.ศ.๑๗๘๙ หลังจากการประกาศอิสภาพของสหรัฐอเมริกา ๑๓ ปี

 

การอภิวัฒน์ใหญ่ในฝรั่งเศส ได้ก่อผลสะเทือนให้ศักดินาในยุโรปทั้งทวีปถึงสั่นคลอน เพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งระบบศักดินาให้คงอยู่ตลอดไปชั่วกัลปาวสานต์ พระจักรพรรดิ์และพระราชาธิบดีของหลายประเทศในยุโรป มีออสเตรีย ปรัสเซีย อังกฤษ สเปญ โปรตุเกส ฮอลแลนด์ ชาดิเนีย เนเปิล และประเทศใน สันตะจักรวรรดิ์ ได้ร่วมกันยกกองทัพไปประชิดฝรั่งเศสและแทรกแซงกิจการภายในของประเทศนั้น เพื่อขัดขวางการอภิวัฒน์ของระบบทุนนิยม แต่ก็หาประสบผลสำเร็จไม่ ระบบศักดินาของยุโรปก็ค่อยๆ ล้มลงไปตามลำดับจนหมดสิ้น และครั้นแล้วระบบศักดินาก็ได้ทิ้งยุโรปเอาไว้เบื้องหลังเช่นเดียวกับระบบอื่นๆ ทีผ่านพ้นแล้ว อันเป็นไปตามกฏวิวัฒนาการของสังคม ซึ่งไม่มีอำนาจใดสามารถยับยั้งเอาไว้ได้

บทความที่๔๒๖.รบทำไมและรบเพื่อใคร? ตอนที่๔

ตอนที่ ๔

จากพระราชนิพนธ์ที่ยกมานี้ เป็นการชี้ให้เห็นว่าสงครามในยุคศักดินานั้น ล้วนแต่เป็นสงครามเพื่อสนองตัณหาหรือความทะยานอยากของกษัตริย์และเจ้าศักดินาทั้งหลาย การตีชิงปล้นสดมภ์และเอาประเทศที่อ่อนแอกว่าเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิ์ศักดินานั้น ก็เป็นผลประโยชน์เฉพาะตัวของเจ้าศักดินาใหญ่และสมุนบริวารที่เป็นชนชั้นกดขี่ขูดรีดด้วยกันเท่านั้น ส่วนประชาชนส่วนใหญ่ของสังคม ที่เรียกว่า พวกไพร่ อันเป็นชนชั้นที่ถูกกดขี่ขูดรีด ที่ถูกเกณฑ์บังคับให้ไปทำศึกสงครามตีบ้านเมืองต่างๆนั้น หาได้รับผลประโยชน์อะไรจากสงครามอันหฤโหดครั้งนั้นไม่ นอกจากความตายหรือทุพพลภาพ เมื่อเสร็จศึกสงครามแล้วหรือเมื่อได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทหารแล้ว พวกเขาก็ต้องกลับไปรับใช้เจ้าขุนมูลนายในงานกสิกรรมหรือหัตถกรรม ให้เจ้าขุนมูลนายกดขี่ขูดรีดเช่นเดิม ก็เช่นเดียวกับพวกทาสในยุคครองทาสนั้นแหละ

 

แต่จากการคลี่คลายขยายตัวทางเศรษฐกิจ ได้ก่อให้เกิดนายทุนสมัยใหม่(กฎุมพี)ขึ้นจำนวนหนึ่ง และวิถีทางเศรษฐกิจของนายทุนสมัยใหม่นี้ เป็นปฏิปักษ์กับวิถีทางเศรษฐกิจระบบศักดินา ทั้งนี้เนื่องด้วยข้อจำกัดสิทธิต่างๆ ของระบบศักดินาได้เหนี่ยวรั้งขัดขวางการขยายตัวของการผลิตแบบนายทุนสมัยใหม่ โดยเฉพาะนายทุนสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในอาณานิคมของอังกฤษในทวีปอเมริกา เป็นครั้งแรก

 

พวกเขาได้ทำคำร้องทุกข์ถวายฎีกาต่อพระเจ้าแผ่นดินโดยแสดงไว้ในคำร้องทุกข์ว่า พวกเขาปฏิเสธการเสียภาษีและปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามข้อบังคับอื่นๆ อีก ที่พวกเขาเห็นว่าไม่เป็นธรรม แต่วิธีการร้องทุกข์ดังกล่าวนั้น หาอำนวยความสำเร็จที่เป็นแก่นสารอันใดไม่

 

ดังนั้น พวกนายทุนสมัยใหม่จึงจำต้องหันเข้าหาวิธีการใช้กำลังเผชิญกำลัง และจำต้องปลุกเร้าประชาชนให้ขัดแข็งกับระบบศักดินา ขัดแข็งต่อการเก็บภาษีโดยพลการและการจำกัดสิทธิ์ในการค้าขาย ขัดแข็งต่อการจับกุมและลงโทษซึ่งตุลาการของระบบนั้นเป็นผู้ลงโทษ

 

พวกนายทุนสมัยใหม่ได้ใช้ความพยายามทุกอย่าง ในอันที่จะทำลายเครื่องกีดขวางต่างๆของสังคมศักดินา พวกเขาจำต้องดำเนินการรวบรวมกำลังเพื่อทำการอภิวัฒน์โดยใช้กำลังอาวุธ จำต้องนำประชาชนให้จับอาวุธขึ้นขัดแข็งกับกษัตริย์และระบบการกดขี่ที่มีอยู่ในเวลานั้น จำต้องทำให้เหล่าผู้ปกครองศักดินาต้องปราชัยโดยวิธีการทหาร ต่อเมื่อได้จัดการให้ชนชั้นสูงที่ถืออำนาจปกครองอยู่ในเวลานั้นปราชัยลงได้แล้ว จึงจะเป็นการอยู่ในวิสัยที่ชนชั้นนายทุนสมัยใหม่จะได้เปลี่ยนฐานะเป็นชนชั้นปกครอง และจึงจะสามารถทำลายเครื่องกีดขวางต่างๆที่ระบบศักดินาได้ตั้งตรึงไว้ อันเป็นการกีดกั้นมิให้เศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้คลี่คลายขยายตัว

Thursday, October 30, 2008

บทความที่๔๒๕.รบทำไมและรบเพื่อใคร? ตอนที่๓

รบทำไมและรบเพื่อใคร?

จากบทความของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล


สงครามในยุคของศักดินา เป็นการรบเพื่อชาติ (คือประชาชนส่วนใหญ่ของสังคม)หรือรบเพื่อเจ้าศักดินาและบริวาร? พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อง พระราชพิธี ๑๒ เดือน (ตอนว่าด้วยพระราชพิธีสัจจปานกาล คือ ถือน้ำพิพัฒสัจจา)ได้ให้คำตอบไว้อย่างแจ่มชัดดังนี้

 

เมื่อจะคิดหาต้นเหตุการถือน้ำให้ได้ความว่า เหตุใดเมื่อให้คนอ่านคำสาบานทำสัตย์แล้ว จึงต้องให้ดื่มน้ำชำระพระแสงอีกด้วยเล่า ก็เห็นว่าลัทธิที่ใช้น้ำล้างอาวุธเป็นน้ำสาบานนี้ ต้นแรกที่จะเกิดขึ้นด้วยการทหารเป็นวิธีขัตติยฤากระษัตริย์ ที่นับว่าเป็นชาติทหารในจำพวกที่หนึ่งของชาติ ซึ่งแบ่งกันอยู่ในประเทศอินเดียคล้ายกันกับไนต์ของอังกฤษ ฤาสุมุไรของญี่ปุ่นชาติขัตติยเป็นชาติที่ไม่ได้หากินด้วยการค้าขาย ไถ หว่าน ปลูกเพาะ ฤารับไทยทานผู้หนึ่งผู้ใดให้ ย่อมหาเลี้ยงชีวิตด้วยคมอาวุธ แต่มิใช่ผู้ร้ายเที่ยวลอบลักทำโจรกรรม ใช้ปราบปรามโดยตรงซึ่งหน้า ให้ตกอยู่ในอำนาจแล้วแลได้ทรัพย์สมบัติโดยผู้ซึ่งกลัวเกรงอำนาจยกยอให้ แต่การที่ประพฤติเช่นนี้เมื่อว่าโดยอย่างยิ่งแล้วก็อยูในเป็นผู้ร้ายนั่นเอง แต่เป็นผู้ร้ายที่มีความสัตย์ แลคิดแบ่งการที่ตัวประพฤติ (ถึงแม้ว่าไม่เป็นธรรมแท้ของโลกย์) ออกเป็น ๒ ภาค ภาคหนึ่งถือว่าการซึ่งตนจะกระทำเช่นนั้นไม่เป็นการผิดธรรม ภาคหนึ่งถ้าตนจะกระทำเช่นนั้นเป็นการผิดธรรม คำว่าธรรมในที่นี้เป็นธรรมของขัตติย มิใช่ธรรมของโลกย์ เมื่อว่าเท่านี้ยังจะเข้าใจยาก จะต้องยกตัวอย่างให้เห็นหน่อยหนึ่ง

 

ว่าตามลัทธิความประพฤติของชาติขัตติยโบราณ คือเหมือนหนึ่งว่าผู้มีอำนาจเป็นชาติขัตติยได้ปกครองแผ่นดิน ทราบว่าลูกสาวของขัตติยเมืองอื่นมีอยู่สมควรแก่ตนๆ ตนยังมีคู่ซึ่งจะได้อภิเศก เมื่อไปสู่ขอ บิดามารดาของหญิงนั้นไม่ยอมให้ ขัตติยผู้ที่ไปสู่ขอถือว่าการที่ตัวคิดนั้นเป็นการชอบธรรม ด้วยใช่ว่าจะเอามาทำอันตรายอย่างหนึ่งอย่างใด ประสงค์มายกย่องให้เป็นใหญ่เป็นโต บิดามารดาของหญิงที่ไม่ยอมให้นั้นหมิ่นประมาทผู้ซึ่งไปขอ เป็นการประพฤติผิดธรรมประเพณี เพราะไม่รักษากิริยาอันดีต่อกัน ผู้ซึ่งไปสู่ขอสามารถที่จะประกาศแก่ทหารของตัว ว่าการซึ่งตัวประพฤตินั้นเป็นการชอบธรรม แต่บิดามารดาของหญิงประพฤติไม่ชอบธรรม จะต้องยกไปรบชิงเอานางให้จงได้ แล้วก็ยกกองทัพไปทำลายบ้านเมืองนั้นเสียได้ โดยมิได้ถือเป็นการผิดธรรม

 

ฤาเมื่ออยู่ดีๆ เชื่อว่าตัวมีวิชาความรู้กำลังวังชาแข็งแรง ยกไปชวนพระราชาที่เป็นชาติขัตติยอื่นซี่งเสมอๆกัน ให้มาลองฝีมือ เมื่อผู้ใดแพ้บ้านเมืองก็เป็นสินพนัน ก็ถือว่าการซึ่งขัตติยผู้ไปชวนนั้นไม่ได้ประพฤติผิดธรรมเหมือนกัน

 

ถ้าขัตติยนั้นไปพบลูกสาวชาวบ้าน ซึ่งมีชาติต่ำกำลังน้อยไม่สามารถจะต่อสู้ ฉุดชิงมาด้วยกำลังพวกมากฤาเห็นคนยากไร้เดินอยู่ตามถนน เอาศาสตราวุธประหารให้ถึงแก่ความตาย ฤาป่วยลำบาก ขัตติยผู้ซึ่งประพฤติการทั้งสองอย่างนี้ เป็นประพฤติผิดธรรม การยุติธรรมและไม่ยุติธรรมฤาต้องด้วยธรรมและไม่ต้องด้วยของพวกขัตติยนั้นเป็นดังนี้ จึงกล่าวว่ามิใช่ยุติธรรมของโลกีย์

Wednesday, October 29, 2008

บทความที่๔๒๔. รบทำไมและรบเพื่อใคร?ตอนที่๒

รบทำไมและรบเพื่อใคร?

 

จากบทความของคุณสุพจน์  ด่านตระกูล

 

สงครามรุกรานในยุคศักดินานั้น ล้วนแต่เป็นสงครามเพื่อสนองตัณหาหรือความทะยานอยากของกษัตริย์และเจ้าศักดินาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสงครามปล้นสดมภ์ล่าเมืองขึ้น หรือสงครามเผยแพร่ลัทธิศาสนา และไม่ว่าจะเป็นสงครามชิงนางหรือสงครามชิงช้างก็ตาม พวกไพร่ทั้งหลายหาได้รับประโยชน์แต่ประการใดไม่

 

แต่อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางสงครามสนองตัณหาของกษัตริย์หรือขัตติยนี้ ซึ่งเป็นสงครามรุกรานและเป็นสงครามที่ไม่ชอบธรรมนั้น ก็มีสงครามที่ชอบธรรมเป็นฝาแฝดอยู่ด้วย คือ สงครามป้องกันตัวเองของกษัตริย์หรือขัตติยอีกฝ่ายหนึ่ง ก็ได้ชื่อว่าเป็นการรบเพื่อชาติที่แท้จริง อย่างเช่นที่บรรพบุรุษของพวกเราชาวไทยรบกับข้าศึกผู้รุกรานเพื่อป้องกันเอกราชของชาติมาแล้วมากครั้งหลายหนในอดีต หรืออย่างเช่นที่บรรพบุรุษของเราเคยทำสงครามปลดปล่อยชาติ ให้พ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหรือสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือสมัยขบวนการเสรีไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ล้วนแต่เป็นสงครามที่ชอบธรรม และสงครามที่ชอบธรรมก็คือสงครามที่เป็นไปเพื่อรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและผลประโยชน์ของชาติ (คือคนทั้งชาติ)ที่แท้จริง

 

สังคมไม่หยุดนิ่ง ย่อมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติที่เรียกตามภาษาพุทธปรัชญาว่า อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา หรือเรียกตามภาษาปรัชญามาร์กซิสม์แห่งวิทยาศาสตร์สังคมว่า สสารธรรมประติการ (Dialectic)

 

ดังนั้น การคลี่คลายขยายตัวทางเศรษฐกิจของยุคนี้จึงได้เป็นไปอย่างกว้างขวาง ทั้งด้านกสิกรรม หัตถกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม และต่อมาเมื่ออังกฤษได้นำเครื่องจักรไอน้ำเข้ามาใช้ในงานอุตสาหกรรม ก็ได้ทำให้งานอุตสาหกรรมเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างชนิดที่เรียกว่าก้าวกระโดด นักประวัติศาสตร์เรียกสถานการณ์ของความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมครั้งนั้นว่า อุตสาหกรรมอภิวัฒน์และพร้อมกับความเจริญก้าวหน้าของการเศรษฐกิจทุกๆ สาขาดังกล่าวนี้ การล่าเมืองขึ้นของเจ้าศักดินาตะวันตก ซึ่งบัดนี้ได้กลายมาเป็นจักรวรรดิ์ศักดินาก็ได้เป็นไปอย่างกว้างขวางเช่นกัน วัตถุโบราณทางประวัติศาสตร์อันล้ำค่า ที่ตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานของอังกฤษและของฝรั่งเศสในเวลานี้ ส่วนหนึ่งก็คือที่จักรวรรดิ์ศักดินาอังกฤษและฝรั่งเศส ตีชิงปล้นสดมภ์เอาไปจากประเทศอาณานิคมในแถบเอเซียและอาฟริกา

บทความที่๔๒๓. รบทำไม?และรบเพื่อใคร? ตอนที่๑

รบทำไมและรบเพื่อใคร?

 

สงครามในยุคครองทาส เป็นสงครามแย่งทาสเพื่อเอาแรงงานมาใช้ในการผลิตเป็นกรรมสิทธิส่วนตัวของนายทาส การผลิตและผลิตผลทั้งหมดจึงเป็นของนายทาส การสงครามในยุคนี้ จึงเป็นสงครามเพื่อผลประโยชน์ของนายทาสโดยเฉพาะเท่านั้น คนส่วนใหญ่ของสังคม อันได้แก่บรรดาทาสทั้งหลาย หาได้รับผลประโยชน์ร่วมด้วยไม่ และดังนั้น ผู้ที่เป็นต้นเหตุก่อสงครามขึ้นในยุคนี้ ก็คือบรรดานายทาสทั้งหลายนั้นเอง

 

ในยุคศักดินาก็เช่นเดียวกับยุคทาส คือสงครามที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง(หมายถึงสงครามรุกราน,ตรงกันข้ามกับสงครามป้องกันตัว) ก็เพื่อผลประโยชน์และรับใช้ผลประโยชน์ของบรรดาพวกเจ้าศักดินาและบริวารเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสงครามเพื่อขยายอิทธิพลอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองหรือสงครามเพื่อสนองตัณหาความยิ่งใหญ่ของเจ้าศักดินาเองโดยตรงก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ของสังคมที่มีฐานะเป็นไพร่หาได้รับผลประโยชน์อะไรจากสงครามแม้แต่น้อยไม่

 

ตรงกันข้าม พวกเขานอกจากจะถูกบังคับให้เป็นทหารออกไปทำสงครามแล้ว พ่อแม่ลูกเมียและญาติพี่น้องของเขาที่บางคนไม่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ก็ต้องถูกเกณฑ์แรงงานหรือถูกกดขี่ขูดรีดหนักยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิตไปเลี้ยงกองทัพ และเพื่อจัดซื้อหาเครื่องศาสตราวุธต่างๆ กองทัพใหญ่โตมากขึ้นเท่าใด ยิ่งจัดซื้อจัดหาเครื่องศาสตราวุธมากเท่าใด นั่น,ก็หมายความถึงการกดขี่ขูดรีดยิ่งทารุณมากขึ้นเท่านั้น และนั่นก็หมายความถึงความแร้นแค้นแสนเข็ญของพวกไพร่ อันเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของสังคมมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

 

แน่นอน,ในการยกทัพโยธาไปตีบ้านชิงเมืองหรืออาณาจักรศักดินาอื่นๆ พวกไพร่ทั้งหลายจะถูกปลุกระดมด้วยคำว่า รบเพื่อชาติเพื่อแผ่นดิน และ ตายเพื่อชาติ ซึ่งเป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของคนในชาติทุกคน และพวกไพร่เองก็ยอมรับหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์นี้อย่างเหนียวแน่นเช่นกัน โดยที่พวกเขาไม่เคยเฉียวใจและตั้งคำถามว่า ชาติคืออะไร? และแผ่นดินที่ว่านั้นพวกเขามีกันคนละกี่ไร่

 

แน่นอน, ถ้าพวกไพร่ทั้งหลายอันเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของสังคม รู้ความจริงว่า ชาติคือเผ่าชนที่มีภาษาขนบธรรมเนียมประเพณี หรือรวมเรียกว่า วัฒนธรรม อย่างเดียวกัน (แม้ว่าจะไม่มีประเทศอย่างเช่นชาติยิวในอดีต)พวกไพร่ทั้งหลายก็จะได้รู้ทันทีว่าพวกเขาถูกหลอกลวงเสียแล้ว เพราะพวกเขาทั้งหลายนั้นเองที่มีภาษาขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเดียวกัน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม(หรือนัยหนึ่งคือชาติ)หาได้รับผลประโยชน์แต่ประการใดจากการสงครามแม้แต่น้อยไม่ แต่พวกศักดินาและบริวารผู้กระหายสงคราม กลับมาบอกว่ารบเพื่อชาติ รบเพื่อชาติจึงเป็นการโกหกหลอกลวงกันชัดๆ

Monday, June 2, 2008

บทความที่๔๒๒.อภิวัฒน์ฝรั่งเศส

อภิวัฒน์ฝรั่งเศส
พ.อ.สมัคร บุราวาศ

การปฏิวัติกู้เอกราชของอเมริกัน มีผลสะท้อนไปถึงประเทศต่างๆในยุโรปโดยทั่วไป ลัทธิประชาธิปไตยถูกกล่าวขวัญถึงกันเกร่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝรั่งเศส บัดนี้ได้มีคำตอบต่อปัญหาแก้ความเดือดร้อนของมหาชนแล้ว นั่นคือการปฏิวัติของประชาชน!

การปกครองแบบของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศสตามคำประกาศอย่างกึกก้องว่า “รัฐคือตัวข้า” นั้น, ก่อนให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง ทั้งยังสะกัดกั้นความก้าวหน้าของพวกพ่อค้าและนายทุนด้วย

ในศตวรรษที่ ๑๘ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงเก็บภาษีจากชาวไร่ชาวนาอย่างหนัก แต่ทรงงดเว้นภาษีจากเจ้าเมืองขึ้นและพวกบาทหลวง ชาวไร่ชาวนาคราวนี้จึงไม่ได้อยู่ในแอกของเจ้าที่ดินอย่างแต่ก่อน หากอยู่ในเงื้อมมือของพวกเก็บภาษีที่ดิน และเงินภาษีนี้ อาณาประชาราษฎร์ก็มองเห็นกันอยู่ว่าได้ถูกใช้ไปในราชสำนักของราชวงศ์บรูบ็องอันเต็มไปด้วยความหรูหราฟุ่มเฟือย

กษัตริย์และบรรดาเจ้าในราชวงศ์ รวมทั้งขุนนางผู้ใหญ่ได้เข้าสังสรรค์กับพ่อค้าและนายทุนที่เกิดใหม่และสร้างสมาคมชั้นสูงขึ้นในขณะนั้น คนยากจนไม่ได้รับการเหลียวแล ความอดอยากหิวโหย ปรากฏขึ้นทั่วไปในฝรั่งเศส ทั้งๆที่ยุโรปได้ย่างเข้าสู่สมัยใหม่, สมัยแห่งความมั่งคั่งทางอุตสาหกรรมแล้ว

จึงเกิดมีนักเขียนและนักปรัชญาขึ้นในฝรั่งเศสมากมาย พวกนี้ได้เขียนบทความวิจารณ์สังคมในขณะนั้นในหมู่นี้ก็มีรู้ซโซ,วอลแตร์และม็องเต๊สกิเออ นักคิดอีกพวกหนึ่งมีดีเดอโรท์ ดาเล็มแบร์และตูรโก ได้ร่วมมือกันเขียน เอนไซโคละพี’เดีย Encyclopaedia ขึ้น ๒๖ เล่มโดยทำการรวบรวม “บรรดาความคิดใหม่ๆ ทั้งปวงกับวิทยาศาสตร์ใหม่และความรู้ใหม่ไว้” หนังสือชุดนี้มีผู้นิยมซื้ออ่านกันมากมาย

ดีเดอโรท์เองเป็นนักปรัชญาฝ่ายปฏิวัติ เขาเป็นคนแรกที่วางหลักปรัชญาสสารนิยมไว้อย่างค่อนข้างถูกต้องยิ่งกว่าใครๆ ในสมัยนั้น เอ็นไซโคละพี’เดียชุดนี้จึงเท่ากับเป็นการเสนอทรรศนะใหม่อย่างสิ้นเชิงแก่ประชาชนเพื่อเตรียมจิตใจไว้สำหรับการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส!

ในการปฏิวัติคราวนี้ ประชาชนฝรั่งเศสเป็นกำลังปฏิวัติ แต่ชนชั้นกลางเป็นฝ่ายนำในการปฏิวัติ ฉะนั้นจึงเป็นการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นกลาง ในการนี้ได้มีผู้เสนอให้ใช้ประชาธิปไตยที่มีประมุขเป็นกษัตริย์แบบอังกฤษ แต่ก็มีการกล่าวขวัญถึงปฏิวัติอเมริกาเพื่อเป็นกำลังใจกันอย่างแพร่หลาย ต้นเหตุของการปฏิวัติฝรั่งเศส อยู่ที่ความเดือดร้อน อย่างจริงจังของประชาชนโดยเฉพาะอย่งยิ่งของพวกกรรมกร และคนยากจนในเมือง

จากปี ค.ศ.๑๗๘๙-๑๗๙๑ ได้เกิดความพยายามที่จะสถาปนาระบอบกษัตริยใต้รัฐธรรมนูญขึ้น แต่กษัตริย์บรูบ็องได้เข้าขัดขวางไว้ ระหว่าง ค.ศ.๑๗๙๒ – ๑๗๙๙ ฝรั่งเศสจึงทำการปฏิวัติและปรับปรุงระบบการปกครองเลยเถิดไปถึงระบบสาธารณรัฐ ในการปฏิวัติคราวนี้ได้มีการฆ่าฟันกันมากมายด้วยกิโยติน! ทั้งนี้เพราะชาวฝรั่งเศสขาดทฤษฎีปฏิวัติและขาดการปกครองที่ถูกต้อง พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ผู้ทรงเป็นเป้าหมายแห่งการปฏิวัติเป็นกษัตริย์ที่ได้แต่จ่ายพระราชทรัพย์ให้สิ้นเปลืองไปชั่ววันหนึ่งๆ

ตูรโกและเน็คเกอร์เสนาบดีคลังของพระองค์ ถูกปลดจากตำแหน่งหน้าที่ไปตามๆ กัน เพราะหาเงินให้พระองค์ใช้ไม่ทัน พระองค์ทรงช่วยพวกอเมริกันรบกู้เอกราชและอิสรภาพจากพวกอังกฤษ ทั้งนี้เพราะทรงกลัวจะเกิดการผูกขาดของอังกฤษขึ้นในอเมริกา

ต่อมาพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงได้ แคโลนน์ Calonne นักหมุนเงินตัวลือมาเป็นเสนาบดี จึงทรงดำเนินพระราชกิจต่อไปได้ ในปี ค.ศ.๑๗๘๙ พระองค์ทรงต้องการเงินจากภาษีอากร จึงทรงยอนุมัติให้สภาผู้แทนราษฎรรวบรวมกันเข้า เป็นคณะปฏิวัติที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติขึ้นพร้อมๆ กับการแย่งชิงอำนาจกลับไปกลับมาระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ความระส่ำระสายในการนี้ได้สิ้นุสดลงเมื่อนายทหารของคณะปฏิวัติคนหนึ่งชื่อนโปเลียน โบนาปาต ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของฝรั่งเศสในปี ค.ศ.๑๗๙๙ นโปเลียน โบนาปาตอยู่ในพรรคซ้ายสุดในขณะนั้น

ระหว่างที่เกิดการปฏิวัติขึ้นในฝรั่งเศสจาก ค.ศ.๑๗๘๙ ถึง ๑๗๙๙ ประเทศในยุโรปซึ่งปกครองด้วยกษัตริย์ได้พยายามเข้าช่วยกันทำลายพลังของฝ่ายประชาธิปไตยในประเทศฝรั่งเศส ทั้งนี้เพราะกลัวลัทธิประชาธิปไตยจะลุกลามไปทั่วยุโรป ประเทศแอนตี้ประชาธิปไตยเหล่านี้ได้เข้าช่วยราชวงศ์บรูบ็องให้ได้กลับมาครองราชย์ตามระบบเก่าอีก

อ๊อสเตรีย,อิตาลี,รัสเซียและที่น่าประหลาดก็คืออังกฤษประชาธิปไตย ได้เข้ามาบุกสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่เกิดใหม่ แต่นโปเลียน โบนาปาตกับทหารฝ่ายประชาชนที่ยินดีสละชีวิตเพื่อ “เสรีภาพ,ภราดรภาพและสมภาพ” ได้มีชัยชนะต่อกองทัพของผู้รุกรานทุกครั้งไป นี่ทำให้ฝรั่งเศสยิ่งใหญ่ขึ้นในยุโรปแล้ว นโปเลียนก็ฉวยเอาความยิ่งใหญ่นี้ไปไว้ในมือแต่ผู้เดียว

นโปเลียน โบนาปาตเป็นชาวนาจนๆในเกาะ คอสิก้า ในทางการเมืองก็เป็นฝ่ายซ้าย แต่เขาเป็นผู้มองแต่อดีต จึงเกิดใฝ่อำนาจเป็นส่วนตัวขึ้นมา ในปี ค.ศ.๑๘๐๔ เขาถึงสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นมหาจักรพรรดิแห่งประเทศฝรั่งเศส ยิ่งไปกว่านี้อีกเขาได้เข้าลบหลู่อำนาจศาสนจักรโดยได้เรียกโป๊ปไปอุสที่ ๗ มาจากกรุงโรม ที่วิหารโนเตอดามในปารีส เขาได้เรียกโป๊ปไปคอยดูแลเขาอยู่ใกล้ๆ แล้วเขาก็ยกมงกุฎกษัตริย์ขึ้นสวมให้แก่ตนเอง ตั้งแต่นั้นมาประเพณีที่โป๊ปสวมมุงกุฏให้แก่พระมหากษัตริย์ก็สิ้นสุดลง.

Thursday, April 24, 2008

บทความที่๔๒๑.การครองโลกของสหรัฐอเมริกา(จบ)

การครองโลกของสหรัฐอเมริกา ตอนที่ ๓ (จบ)
“นับตั้งแต่การอภิวัฒน์ฝรั่งเศสในปี พ.ศ.๒๓๓๒ ปารีสกลายเป็นต้นกำเนิดแห่งการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยในหลายๆ ประเทศในยุโรปและเอเซีย การอภิวัฒน์ทั้งในทางทฤษฎีและในทางปฏิวัติยังคงสืบทอดอยู่ในสมัยที่ข้าพเจ้าเป็นนักศึกษาที่อยู่นั่น มาร์กซ์ เองเกลส์ และเลนิน นักอภัวฒน์ผู้ยิ่งใหญ่ เคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ที่นั่น ชาวเอเซียหลายคนที่ปรารถนาเอกราชที่สมบูรณ์ของชาติ และต้องการนำชาติของตนให้พ้นจากการปกครองแบบอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคม ต่างอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสในยุคสมัยนั้น โดยเฉพาะเหงียน ไอ ก็อค (โฮจิมินห์) โจวเอินไหล เฉินยี่ และนักปฏิวัติชาติอื่นๆ”

“สำหรับตัวข้าพเจ้านั้น นอกจากข้าพเจ้าจะรู้จักมักคุ้นกับเพื่อนๆ ชาวไทยด้วยกันและกับเพื่อนชาวฝรั่งเศสแล้ว ข้าพเจ้ายังได้รู้จักนักอภิวัฒน์เอเซียกลุ่มและต่อมาพวกเราได้ก่อตั้งสมาคมเพื่อความสมานฉันท์และพันธมิตรแห่งเอเซีย”

“ขอให้นึก ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศสยามเป็นประเทศเดียวในบรรดาประเทศในเอเซียอาคเนย์ที่เป็นเอกราช และเป็นสมาชิกดั้งเดิมของสันนิบาติชาติ ซึ่งก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขณะนั้นเวียดนาม กัมพูชา และลาวเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส พม่า มาลายู และสิงคโปร์เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ อินโดนีเซียเป็นเมืองขึ้นของเนเธอร์แลนด์ ส่วนฟิลิปปินส์เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกา”

“ผู้รักชาติจำนวนหนึ่งในประเทศเหล่านี้ ซึ่งมีแนวคิดทางการเมืองและอุดมการณ์ต่างกัน ก็ได้ลี้ภัยหลบซ่อนเข้ามาอยู่ในสยาม ในบรรดาผู้ลี้ภัยเหล่านี้ เหงียน ไอ ก็อค เป็นผู้หนึ่งที่เข้ามาเป็นครั้งคราว ชื่อของเขามีความหมายว่า “เหงียนผู้รักชาติ” เขาเป็นผู้รักชาติที่ยิ่งใหญ่ของเวียดนาม โดยใช้นามแฝงหลายชื่อก่อนใช้ชื่อว่า “โฮจิมินห์” ในที่สุด เขาได้ลค้ยภัยเข้ามาในสยาม ๒ ครั้ง และพำนักอยู่ระยะหนึ่งโดยใช้ชื่ออีกหลายชื่อ”

“ข้าพเจ้ามีความเห็นใจผู้รักชาติลี้ภัยทุกคนที่ข้าพเจ้ารู้จัก โดยไม่แบ่งแยกอุดมการณ์ เพราะแต่ละคนมีเสรีภาพที่จะเลือกทางของตน”

“ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นได้ยึดครองทั่วเอเซียอาคเนย์ ญี่ปุ่นหวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในประเทศอาณานิคมเหล่านี้ จึงได้ช่วยบรรดาผู้รักชาติจัดตั้งรัฐบาลที่ตนเรียกว่า “รัฐบาลเอกราช” เช่น รัฐบาลเอกราชพม่า ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบามอ ต่อจากนั้นญี่ปุ่นก็ได้สนับสนุนจักพรรดิเวียดนาม กษัตริย์กัมพูชา และกษัตริย์ลาวเพื่อประกาศอิสรภาพ ผู้รักชาติส่วนใหญ่รู้ดีว่า การกระทำของญี่ปุ่นมีจุดหมายเพื่อเปลี่ยนเจ้าอาณานิคมเก่าไปเป็นเจ้าอาณานิคมใหม่ โดยมีญี่ปุ่นเป็นนาย เพราะทุกประเทศที่ถือว่าได้รับเอกราชใหม่ จะต้องเข้าไปเป็นอาณษนิคมแบบใหม่ของญี่ปุ่น ซึ่งรู้จักกันในนาม “การร่วมวงไพบูลย์แห่งเอเซียบูรพา” มีการตั้งกระทรวง “กิจการมหาเอเซียบูรพา” ขึ้นเป็นกระทรวงใหม่ของญี่ปุ่น เพื่อรับผิดชอบกิจการเกวี่ยวกับประเทศเหล่านี้ รวมทั้งประเทศที่อยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น และรัฐหุ่นเชิดแมนจูกัว รัฐวังจิงไวของจีนและรัฐสยาม”

“จากการที่ข้าพเจ้าได้สนทนากับผู้รักชาติเหล่านี้ เราได้ลงความเห็นกันว่า ในอนาคตอันใกลนี้ทุกประเทศในเอเซี๊อาคเนย์จะได้รับเอกราช อันเป็นผลจากความพยายามของพวกเขาเองแต่เราจะต้องเผชิญหน้ากับยักษ์ใหญ่สองประเทศ ได้แก่ จีนคณะชาติ ซึ่งโดดเด่นขึ้นมาหลังชัยชนะญี่ปุ่น อกีประเทศหนึ่งคืออินเดียซึ่งได้เอกราชจากอังกฤษ ฉะนั้นหากพวกเราแต่ละประเทศต่างคนต่างอยู่ภายหลังทุกประเทศในภูมิภาคนี้ได้เอกราชแล้ว ก็จะเป็นการยากที่จะป้องกันตนเองในกรณีที่ยักษ์ใหญ่สองประเทศรุกรานเรา”

“ด้วยเหตุนี้ เราจึงก่อตั้งสมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์ขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการป้องกันประเทศ องค์การนี้มิได้เป็นสหภาพหรือสมาพันธรัฐ เนื่องจากแต่ละประเทศมีอิสระทั้งกิจการภายในและกิจการต่างประเทศของตนอย่างสมบูรณ์ องค์การนี้เป็นเพียง “ความเข้าใจกันอย่างฉันท์มิตร” ระหว่างรัฐสมาชิกด้วยกันเท่านั้น เพื่อที่จะทำให้ประชาชนในภูมิภาคนี้ยอมรับสมาคมดังกล่าว จึงจำเป็นต้องเติ่มก่อตั้งสมาคมให้เป็นองค์การของประชาชน เนื่องจากประเทศสยามตั้งอยู่ในใจกลางภูมิภาคนี้ ข้าพเจ้าจึงรับที่จะให้กรุงเทพฯ เป็นที่ตั้งของศูนย์กลางแห่งแรกขององค์การ ด้วยการให้สร้างที่ทำการและจัดสรรเงินช่วยเหลือตามความจำเป็น”

ท่านปรีดี พนมยงค์ได้บันทึกไว้ว่า

“ผู้รักชาติในประเทศเอเซียอาคเนย์จำนวนหนึ่งได้เข้าร่วมสมาคมนี้ นักล่าอาณานิคมทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ได้กล่าวหาข้าพเจ้าว่า เป็นผู้นำเหล่าขบถในการต่อต้านรัฐบาลอาณานิคม และเป็นศูนย์กลางของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้”

“รัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๐ ซึ่งกระทำขึ้นเพื่อเอาใจบรรดานักล่าอณานิคม ได้ยุบสมาคมดังกล่าวและแยกสลายบรรดาสมาชิก”

“สมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์มิได้เป็นสันนิบาตคอมมิวนิสต์เพราะสมาชิกประกอบด้วยผู้รักชาติทุกแนวทาง รวมทั้งเจ้าเพ็ดชะลาด อดีตมหาอุปราชลาวด้วย จากการสนทนากับเจ้าเพ็ดชะลาดเกี่ยวกับผู้รักชาติบางคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมนิวนสิต์ พระองค์ได้ตอบด้วยการตั้งคำถามว่า คนที่กำลังจมน้ำนั้น จะมีเวลาพอหรือที่จะดูว่า มือที่ยื่นมานั้นมีสีขาวหรือสีแดง?

เมื่อพิจารณาถึงแนวคิดของ “สมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาเนย์” จะเห็นว่า วัตถุประสงค์หลักของสมาคมนี้ คือการร่วมมือกันเพื่อสรรค์สร้างความเป็นเอกราช อธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชนในอินโดจีน ซึ่งเป็นแนวคิดชาตินิยม (Nationalism)สอดคล้องกับหลักแนวคิดอการอภิวัฒน์ฝรั่งเศสในปี พ.ศ.๒๓๓๒ ที่มุ่งเน้นอิสรภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ

หากพิจารณาในเลิงเปรียบเทียบจะเห็ฯว่า สาระสำคัญในแนวคิด “สมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์” ของนายปีดี พนมยงค์ มีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับแนวคิดโครงการ “มหาอาณาจักรไทย” ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มุ่งขยายดินแดนของไทยให้ครอบคลุมทุกพื้นๆที่มีคนเชื้อสายไทยอาศัยอยู่ อันเป็นแนวคิดคลั่งชาติ (Chauvinism) แบบเดีวกับการเน้นสายเลือดอารยันของฮิตเลอร์ และแนวคิด “การร่วมวงไพบูลย์มหาเอเซียบูรพา” ของญี่ปุ่น

แนวคิดคลั่งชาติ “มหาอาณาจักรไทย” ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่กองทัพญี่ปุ่นให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และมีการลงนามร่วมกันในข้อตกลงระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในปี .ศ.๒๔๘๒ สาระสำคัญของข้อตกลงดังกล่าว ฝ่ายญี่ปุ่นจะสนับสนุน “มหาอาณาจักรไทย” ในการผนวกดินแดนประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นของไทย คือยึดครองเชียงตุงแล้วเปลี่ยนเป็นสหรัฐไทเดิม ยึดครองดินแดนภาคตะวันตกและภาคเหนือของลาว สิบสองเจ้าไทย รวมทั้งภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน คือมณฑลยูนนานและภาคใต้ของมณฑลเสฉวน ส่วนทางภาคใต้นั้นญี่ปุ่นได้มอบดินแดนรัฐกลันตัน ตรังกานู ปะลิส และไทรบุรีให้ไทยครอบครอง

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมืออันใกล้ชิดระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีนและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้หลักการ “สมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์” ได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์โลกว่า แนวคิดในหลักการดังกล่าวเป็นพลวัตของพัฒนการทางการเมืองและพัฒนาการทางสังคมในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

ที่สำคัญ เกียรติคุณของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำขวนการเสรีไทย ได้รับการยอมรับเชิดชูจากประชาคมโลกอย่างกว้างขวางว่า เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมการอภิวัฒน์สังคม รวมทั้งมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อขบวนการกู้เอกราชในภูมิภาคอินโดจีน กระทั่งประเทศเหล่านี้บรรลุซึ่งการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ เป็นประเทศเอกราช และมีอธิปไตยโดยสมบูรณ์
เรียบเรียงจากหนังสือ "ปรีดี พนมยงค์ กับ ขบวนการกู้เอกราชในลาว" ของอุดร วงษ์ทับทิม

บทความที่๔๒๐.การครองโลกของสหรัฐอเมริกา(๒)

การครองโลกของสหรัฐอเมริกา ตอนที่ ๒
ในการทำรัฐประหารของทหารครั้งนั้น มีการจัดกำลังทหารไปจับกุมบุคคลสำคัญของรัฐบาล ๓ สายด้วยกัน สายแรกคือทำเนียบท่าช้าง ซึ่งเป็นสถานที่พำนักของนายปรีดี พนมยงค์ พันโท ก้าน จำนงภูมิเวท ได้ออกคำสั่งให้ทหารยิงปืนประจำรถถังใส่ทำเนียบท่าช้าง และให้รถวิ่งเข้าทำลายประตู ทว่านายปรีดีฯได้หลบหนีออกไปก่อนแล้ว สายที่สองไปที่บ้านของพลเรือตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ที่ถนนราชวิถี ข้างสวนจิตรลดา แต่ว่าไม่พบตัว สายที่สามคือบ้านของพลเรือตรีสังวร สุวรรณชีพ อธิบดีกรมตำรวจ ทว่าได้หลบหนีไปอยู่ในอารักขาของทหารเรือที่บางนา

เหตุการณ์ในครั้งนั้น ดุษฎี พนมยงค์ ได้บันทึกไว้ว่า

“คณะรัฐประหารที่นำโดยพลโทผิน ชุณหวัณ ได้สั่งการให้พันโท ละม้าย อุทยานนท์ นำขบวนรถถังบุกมาที่ทำเนียบท่าช้างและยิงถล่มไปที่เป้าหมายคือห้องนอนของนายปรีดีฯ กระสุนปืนหลายนัดเจาะทะลวงตึก รอยกระสุนใหญ่ขนาดนกกระจอกมาทำรังในเวลาต่อมา แต่ไม่มีกระสุนนัดใดยิงถูกห้องนอนของนายปรีดีฯเลย.. ทำเนียบท่าช้างที่เราอาศัยอยู่มี ๓ ชั้น คุณพ่อและคุณแม่นอนอยู่ชั้น ๓ ด้านติดกับห้องพระ ส่วนลูกๆ นอนอยู่อีกด้านหนึ่ง คืนนั้นพอเขายิงปืนเข้ามา คุณแม่ก็มาอยู่ที่ห้องลูกๆ ดิฉันจำได้แม่นว่า คุณแม่ร้องตะโกนสวนออกไปว่า อย่ายิง อย่ายิง ที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก.. เป็นการทำสงครามโดยไม่มีการประกาศให้ทราบ และฝ่ายที่ถูกประหัตประหารคือผู้หญิงและเด็กๆ ที่มีแต่มือเปล่าปราศจากอาวุธ นี่เขาเล่นหวังชีวิตเลย เป็นการกระทำที่โหดเหี้ยมยิ่งกว่าสงครามที่มีการประกาศ...สายวันนั้น ร้อยเอก สมบูรณ์ ชุณหวัณ(ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นชาติชาย)ได้นำกำลังทหารพร้อมรถถังบุกเข้าทำเนียบท่าช้างทางประตูหน้า และพยายามที่จะตรวจค้นบ้าน ครูฉลบฉลัยย์ พลางกูร ภรรยาของคุณจำกัด พลางกูร เสรีไทยที่ได้พลีชีพเพื่อชาติที่ประเทศจีน ซึ่งอยู่ในที่นั้นด้วย ได้เข้าไปเอะอะห้ามปรามอย่างกล้าหาญโดยไม่เกรงกลัวกระบอกปืนเลย...”(ดุษฎี พนมยงค์ ๒๕๔๑:๑๙-๒๑)

เพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหาร ฝ่ายทหารได้ออกแถลงการณ์โจมมีรัฐบาลว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้ และมีการทุจริตคอรัปชั่น จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้นำคณะรัฐประหารได้เปิดเจรจากับนายควง อภัยวงศ์ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และเห็นควรให้นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากนั้นคณะรัฐประหารได้มีคำสั่งยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๙ ที่ประกาศใช้ในสมัยรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ แล้วบังคับใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” ซึ่งพลโท หลวงกาจ กาจสงคราม ร่างขึ้นแทน

ก่อนหน้าที่จะลงมือกระทำรัฐประหาร ฝ่ายทหารได้วางแผนปฏิบัติการทางจิตวิทยา ปลุกเร้าทหารในสังกัดกองทัพบกทั้งในและนอกประจำการโดยยกกรณีการออกคำสั่งปลดทหารในกองทัพพายัพที่เข้าไปปฏิบัติภารกิจในรัฐฉานหรือ “สหรัฐไทเดิม” ช่วงสงครามมหาเอเซียบูรพาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๘ และให้ทหารเหล่านั้นเดินเท้ากลับจากเชียงตุงมาถึงกรุงเทพฯ

สำหรับคณะนายทหารประจำการของกองทัพบกที่เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจภาคสนามในเชียงตุง ในช่วงเวลานั้น พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ท.ถนอม กิติตขจร พ.ท.ประภาส จารุเสถียร พ.ท.กฤช ปุญญกันต์ พ.ต.พงษ์ ปุณณกันต์ พ.ท.บัญญัติ เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา พ.ต.ประมาณ อดิเรกสาร พ.ต.จิตต์ สุนทานนท์ พ.ต.ผาด ตุงคสมิต ร.อ.สมบูรณ์ ชุณหวัณ (ชาติชาย)และ ร.อ.อนันต์ พิบูลสงคราม ฯลฯ

เป็นหมายหลักของการโฆษณาชวนเชื่อดังกล่าว มุ่งโจมตีนายปรีดี พนมยงค์ โดยตรงว่าหมิ่นศักดิ์ศรีกองทัพบก และในช่วงต่อมานายปรีดี ได้มีจดหมายชี้แจงไปยัง่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ดังมีใจความตอนหนึ่งว่า

“รัฐบาลก่อนที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรี มิได้ปล่อยให้ทหารที่เกณฑ์มาสำหรับทำสงครามอยู่เฉยๆ คือรัฐบาลก่อนนั้นได้ทำการปลดทหารที่เกณฑ์ไปทำสงครามนั้นแล้ว และขอได้โปรดสังเกตุด้วยว่า ระยะเวลา ๖ เดือนก่อนผมเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ก็เป็นเวลานานพอสำหรับรัฐบาลก่อนที่จะทำการปลดทหารเหล่านั้น”

รัฐบาลก่อนหน้านั้นคือรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งลาออกเนื่องจากแพ้มติที่ประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน และต่อมาได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีแทนในวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๙

หลังจากมีการทำรัฐประหารแล้ว การปฏิบัติการด้านจิตวิทยาของกองทัพบกยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง มีการกล่าวหาจากทหารในกองทัพบกและจากฝ่ายแนวคิดสายอนุรักษ์นิยมว่า “สมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์” เป็นองค์กรสันนิบาติคอมมิวนิสต์ในเอเซียอาคเนย์ การพุ่งเป้าโจมตีใส่ร้ายป้ายสีดังกล่าว ยังผลให้ “สมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์” ที่ก่อตั้งขึ้นโดยปรีดี พนมยงค์ โฮจิมินห์ และเจ้าอุปราชเพ็ดชะลาด มีอันต้องลดบทบาทและยุบเลิกไปโดยปริยาย

หลังจากนั้น มีการจับกุมบรรดาผู้นำขบวนการเสรีไทยสายอีสาน อันได้แก่นายเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง นายทองอินทร์ ภูริทัต นายทองเปลว ชลภูมิ และคนอื่นๆในข้อหากระทำการแบ่งแยกดินแดนอีสานให้เป็นอิสระ

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับสมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์ เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ ย้ายจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาพำนักในกรุงปารีสได้สองปี ได้เขียนหนังสือ MA VIE MOUVEMENTEE ET MES 21 AND D’ EXIL EN CHINE POPULAIRE พิมพ์ครั้งแรกที่กรุงปารีสเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ และจำนงค์ ภาควรวุฒิ-พรทิพย์ โตใหญ่ ได้แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน” กล่าวถึงชีวประวัติช่วงที่ศึกษาอยู่ในฝรั่งเศสและที่มาแห่งการก่อตั้ง “สมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์” ไว้ว่า

บทความที่๔๑๙.การครองโลกของสหรัฐอเมริกา(๑)

การครองโลกของสหรัฐอเมริกา

หลังการยอมจำนนของฝ่ายอักษะ คือ เยอรมันและอิตาลีในยุโรป ตามด้วยการยอมจำนนของญี่ปุ่นในเอเซีย สหรัฐอเมริกาได้ขยายบทบาทของตนเองออกไปกว้างขวางยิ่งขึ้น บทบาทดังกล่าวมิใช่ปฏิบัติเพียงเฉพาะประเทศฝ่ายศัตรูที่พ่ายแพ้สงครามเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงพันธมิตรของประเทศเหล่านั้นด้วย พร้อมกันนี้สหรัฐอเมริกาได้ปรับเปลี่ยนนโยบายมามุ่งเน้นต่อต้านการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยถือว่า “พรรคคอมมิวนิสต์สากล” นั้นศัตรูอันดับหนึ่ง

วัตถุประสงค์หลักของสหรัฐอเมริกาคือ “การสร้างศตวรรษใหม่และการครอบโลก” ในเชิงปฏิบัติ สหรัฐอเมริกาได้เข้าไปดำเนินการครอบงำประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเข้าไปผูกขาดและยึดกุมครอบครอง เป็นเจ้าของแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของโลกไว้จดหมดสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งน้ำมันซึ่งเป็นยุทธปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด อีกทั้งผูกโยงกับอุตสาหกรรมการผลิตและภาวะเศรษฐกิจอย่างแนบแน่น

พร้อมกันนี้ได้เข้าไปเสริมสร้าความแข็งแกร่งและเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารรวมทั้งสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจให้แก่บรรดาประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจริงจัง หลังสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีจากแฟรงคลิน ดี.รูสเวลท์ มาเป็นเฮนรี่ เอช.ทรูแมน ได้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งสำคัญ

เอกสารรายงานของทางสหรัฐอเมริกา ในช่วงปลายปี พ.ศ.๒๔๘๙ ระบุว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทบทวนแนวนโยบายเกี่ยวกับจุดยืนในเรื่องชาตินิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์เสียใหม่ ช่วงสมัยประธานาธิบดีรูสเวลท์ได้ให้ความเห็นอกเห็นใจต่อขบวนการชาตินิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ต่อสู้เพื่อเอกราชจากการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส แต่ประธานาธิบดีทรูแมนได้พิจารณาเห็นว่า สมาชิกในขบวนการชาตินิยมบางคนมีแนวคิดอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโฮจิมินห์ผู้ซึ่งในรายงานของหน่วย โอ เอส เอส ระบุว่าเป็น “สมาชิก” ของพรรคคอมมิวนิสต์สากล

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ เอกสารคำรองขอรับการสนับสนุนช่วยเหลือของโฮจิมินห์ในการต่อสู้เพื่อเอกราชจากอาณานิคมฝรั่งเศส ที่ยื่นเสนอต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ถึงเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๘๙ จึงมิได้รับการพิจารณาเลยแม้แต่ฉบับเดียว

สถานการณ์ของสหรัฐในช่วงเวลานั้นได้เริ่มแปรเปลี่ยนอย่างมากเรียกได้ว่าเป็นยุค “หมอผีครองเมือง” ก็ว่าได้ เนื่องจากประธานาธิบดี เฮ็นรี่ เอช.ทรูแมน มีแนวคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์อ่างรุนแรง และมีการปลุกผีคอมมิวนิสต์อย่างขนาดใหญ่ ผู้นำสหภาพแรงงาน ผู้นำกรรมกร นักเขียน ศิลปิน ดาราภาพยนตร์ จำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อของขบวนการปลุกผีกดังกล่าว คต้องหนีไปหลบซ่อนต้วอยู่ในซอกเหลือของเมือหญ่ หรือในพื้นที่ชนทบทห่างไกล และมีบางคนที่จำต้องอพยพหนีภัยออกไปอยู่ในต่างประเทศ หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ ชาลี แชปลิน ที่หลบหนีไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอังกฤษ และต่อมาได้รับบรรดศักดิ์เป็น “เซอร์ ชาร์ล แชปลิน”

หลังพรรคคอมมิวนิสต์จีนและกองทัพประชาชนจีน (กองทัพแดง)ภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุง โจวเอินไหล และนายพล จูเต๋อ ได้รับชัยชนะเหนือรัฐบาลและกองทัพก๊กมินตั๋ง ได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๒ สหรัฐฯมองว่า จีนจะขยายอำนาจอิทธิพลลงมาทางใต้ สถานการณ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เป็นประเด็นปัญหาที่สหรัฐฯให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

กระแสปฏิวัติโลกของรัสเซียและจีนทำให้สหรัฐฯกำหนดนโยบาย “การร่วมมือต่อสู้เพื่อปกป้องโลกเสรีจากภัยพิบัติของลัทธิคอมมิวนิสต์” และกำหนดยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน ในการปฏิบัตินโยบายตามยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีนดังกล่าว รัฐบาลสหรัฐฯและหน่วยข่าวกรองได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์สากล ด้วยการรวบรวมบรรดาชาติอิสระมารวมกันเป็นกลุ่มแล้วก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีอาโต้)ขึ้นมาปิดล้อมคอมมิวนิสต์

กรณีของลาว รัฐบาลสหรัฐฯทุ่มเงินช่วยเหลือรัฐบาลลาวฝ่ายขวาในลาว ผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงเวียงจันทน์ หน่วยงานที่ปรึกษาทางทหารและองค์กรข่าวกรองกลางที่มีเจ้าหน้าที่ดำเนินงานอยูจำนวนหนึ่ง ภารกิจในช่วงนั้นคือการเข้าไปเสริมสร้าความแข็งแกร่งทางทหาร ติดอาวุธยุทธโปกรณ์อันทันสมัยและฝึกอบทการใช้อาวุธดังกล่าวให้แก่ทหารผ่ายขวา พร้อมกันนี้ยังได้ให้การสนับสนุนทางด้นการเงินและอาวุธยุทธโธปกรณ์แก่กองทัพก๊กมินตั่งในพม่า เพื่อทำหน้าที่เป็นแนวกันชนป้องบกันการแพร่ขยายลงมายังภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ของลัทธิคอมมิวนิสต์

ส่วนในกรณีของไทย รัฐบาลสหรัฐฯและหน่วยข่าวกรองกลางได้สนับสนุนนายทหารกองทัพบกทั้งในและนอกประจำการ ภายใต้การนำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และพลโท ผิน ชุนหะวัน อย่างลับๆ ให้กระทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่มีนายปรีดี พนมยงค์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๐

คณะนายทหารดังกล่าวประกอบด้วยนายทหารกองทัพบก ตำรวจ และกองทัพอากาศ ๓๖ นาย ได้แก่

๑. จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้นำการทำรัฐประหาร
๒. พลโท ผิน ชุณหวัณ
๓. พันเอก กาจ กาจสงคราม
๔.พันเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์
๕. พันเอก สวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัย
๖. พันเอก หลวงสถิตยุทธการ
๗.พันเอก น้อม เกตุนุติ
๘.พันเอก ศิลป รัตนวิบูลชัย
๙.พันเอก เผ่า ศรียานนท์
๑๐.พันเอก ไสว ไสวแสนยากร
๑๑.พันเอก ก้าน จำนงภูมิเวท
๑๒.พันเอก หลวงสวัสดิ์สรยุทธ
๑๓.พันโท ถนอม กิตติขจร
๑๔.พันโท ประภาส จารุเสถียร
๑๕.พันโท เล็ก สงวนชาติสรไกร
๑๖.พันโท ปรุง รังสิยานนท์
๑๗.พันโท บัญญัติ เทพหัสดินทร์
๑๘.พันโท สุรใจ พูนทรัพย์
๑๙.พันโท ชลอ จารุกลัส
๒๐.พันโท กฤษณ์ ปุณณกันต์
๒๑.พันโท ประเสริฐ รุจิรวงศ์
๒๒.พันโท เผชิญ นิมิบุตร
๒๓.พันโท เฉลิม วงศ์สวัสดิ์
๒๔.พันโท ละม้าย อุทยานนท์
๒๕.พันโท ตรี บุษยกนิษฐ์
๒๖.พันตรี จิตต์ สุทรานนท์
๒๗.พันตรี พงศ์ ปุณณกันต์
๒๘.ร้อยเอก ชาติชาย ชุณหวัณ
๒๙.ร้อยเอก ประจวบ สุนทรางกูร
๓๐.ร้อยเอก ทม จิตต์วิมล
๓๑.ร้อยเอก ขุนปรีชารณเสฏฐ์
๓๒.ร้อยเอก ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค
๓๓.ร้อยเอก ทองคำ ยิ้มกำพู
๓๔.นาวาอากาศโท เฉลิม วัฒนากูล
๓๕.นาวาอากาศตรี นักรบ มีศรี
๓๖.ร้อยตำรวจเอก เกษียร ศรุตานนท์

บทความที่๔๑๘.คุณูปการของท่านปรีดีฯต่อขบวนการกู้ชาติในอินโดจีน

คุณูปการของท่านปรีดี พนมยงค์ต่อขบวนการกู้เอกราชในกลุ่มประเทศอินโดจีน

ในช่วงเวลาปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนมีการเคลื่อนไหวและขยายตัวอยู่ในพื้นที่ชนบทภาคใต้ของลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองท่าแขกมีเครือข่ายสมาชิกเข้มแข็งมาก โดยมีเจ้าฟั่นหรือเจ้าสุพานุวง ผู้ซึ่งต่อมาได้รับการเรียกขานว่า “เจ้าแดง” เป็นผู้นำคนสำคัญร่วมกับไกสอน พมวิหาน สิงกะโป สีโคตจุนนะมาลี และหนูฮัก พูมสะหวัน

เจ้าสุพานุวงและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนส่วนหนึ่งได้เข้าร่วมอยู่ในขบวนการลาวอิสระและคณธกรรมการราษฎร ในการต่อสู้เรียกร้องเอกราชและอิสรภาพของลาว เดือนกันยายน ๒๔๘๘ หนึ่งเดือนก่อนหน้าที่จะมีการประกาศเอกราชจากฝรั่งเศสและเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ ๑๒ ตุลาคม เจ้าสุพานุวงได้เปิดประชุมบรรดาสมาชิกและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ภาคกลางของประเทศเพื่อกำหนดแนวทางการต่อต้านฝรั่งเศส ปลายเดือนตุลาคมได้เปิดประชุมบรรดาสมาชิกและผู้ปฏิบัติงานในประเด็นเดียวกันที่ภาคใต้ จากนั้นเดินทางมาประชุมเคลื่อนไหวศูนย์กลางที่เวียงจันทน์ในวันที่ ๒๙ ตุลาคม ในวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๘ เจ้าสุพานุวงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศและผู้บัญชาการทหารสูงสุด

แนวคิดมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ขยายตัวอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ของลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนชนบทป่าเขา ที่มีชนชาติส่วนน้อยตั้งถิ่นฐานอยู่หลากหลายชาติพันธุ์ ทั้งนี้อาศัยประเด็นปัญหาการถูกกดขี่เป็นทาสแรงงานและการถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม เป็นพลเมืองที่ต่ำต้อยด้อยกว่ามาแต่โบราณเป็นเงื่อนไขหลัก ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวนี้ พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนได้มีการจัดตั้งแกนนำหมู่บ้านขึ้นในพื้นที่เมืองท่าแขกและชนบทรอบนอก รวมทั้งเมืองต่างๆแถบภาคใต้

รายงานของเพนตากอนระบุว่า โฮจิมินห์และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนส่วนหนึ่งได้ใช้กระแสชาตินิยมและกระแสการเรียกร้องเอกราช-อิสรภาพมาเป็นเงื่อนไขในการปฏิวัติสังคม เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศในอินโดจีนไปสู่การเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ จึงได้ระงับให้การช่วยเหลือ พร้อมกันนี้ก็แสวงหาแนวทางในการสะกัดกั้นหยุดยั้งการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในดินแดนอินโดจีนและภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

มีการสรุปผลการศึกษาออกมาว่า โฮจิมินห์ใช้วิธีสร้างสามัคคีประชาชาติและหลอมรวมความคิดของคนในชาติให้ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องเอกราช ปลดปล่อยตนเองจากการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส โดยผ่านทางแนวคิดชาตินิยมเช่นเดียวกับที่นายพล ตีโต้แห่งยูโกสลาเวียได้นำมาใช้จนประสบความสำเร็จมาแล้ว ดังจะเห็นได้จากกรณีของลาว มีการเรียกขานลัทธิชาตินิยมว่า “ลัทธิฮักชาติ”

ข้อมูลหลักฐานที่เพนตากอนนำมาสนับสนุนข้อกล่าวหาข้างต้นคือโทรเลขของเจ้าสุพานุวงในนามของรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลลาวอิสระ ฉบับลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๘ ที่มีไปถึงรัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนามที่ฮานอยและหัวหน้าลาวอิสระในหลวงพระบาง ซำเหนือ สะหวันนะเขด และตัวแทนประจำเมืองนาเปและเซโปน แจ้งให้ทราบว่า ได้มีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการลาวอิสระขึ้นที่ถนนบาเตรียงในฮานอย เพื่อทำหน้าที่ประสานงานระหว่างรัฐบาลลาวอิสระกับเวียดมินห์พร้อมกับกล่าวในนามของรัฐบาลและประชาชนว่า มุ่งมั่นที่จะแจ้งให้ชาวโลกประจักษ์ว่า “ประชาชนลาวพร้อมจะสละทุกสิ่งทุกอย่าง กระทั่งเลือดหยดสุดท้าย เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชและอิสภาพ โดยจะร่วมต่อสู้กับเวียดนามและมิตรประเทศอื่นๆ”

ด้วยเหตุผลข้างต้น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงได้ร่วมมือกับรัฐบาลฝรั่งเศสอย่างใกล้ชิด ในการแสวงหาแนวทางการป้องกันการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในการนี้ ได้มการศึกษาถึงยุทธวิธีของโฮจิมินห์ที่ใช้ในการเผยแพร่แนวคิดอุดมการณ์มาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ รวมทั้งการขยายฐานมวลชนในเวียดนาม ลาวและกัมพูชา

แผนการร่วมือของประชาชนในเอเซียอาคเนย์ หรือ “สมาคสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์” ของนายปรีดี พนมยงค์ และความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายปรีดี พนมยงค์กับโฮจิมินห์ รวมทั้งความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีต่อ “ขบวนการเวียดนาม ดอคแล็บ ดองมินห์” หรือ “เวียดมินห์” และบรรดามิต ประเทศในอินโดจีน เช่น การก่อตั้ง “ขบวนการเสรีลาว” หรือ “องค์กรลาวอิสระ” ได้เป็นประเด็นสำคัญในรายงานข่าวกรองของหน่วย โอ เอส เอส ว่า “สมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์” ของนายปรีดี พนมยงค์ นั้นเป็นองค์กรของพวกคอมมิวนิสต์

นอกจากนี้สหรัฐอเมริกายังได้เพ่งเล็งถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างนายปรีดี พนมยงค์กับบรรดาผู้นำขบวนการชาตินิยมในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา พร้องกับดึงมาเป็นประเด็นปัญหาที่สร้างความกังวลให้แก่สหรัฐอเมริกาเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเกรงว่า นายปรีดี พนมยงค์ และโฮจิมินห์จะนำบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ไปสู่ระบบสังคมนิยม

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๖ ช่วงนายปรีดี พนมยงค์เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจเพื่อให้พิจารณาใช้เป็นนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ แต่ถูกบรรดานักการเมืองฝ่ายตรงข้ามวิพากษ์วิจารณ์โจมตีว่า เป็นการนำเอาแนวความคิดคอมมิวนิสต์มาใช้และเตรียมการปฏิวัติแบบเลนิน

ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งกรรมาธิการสอบสวนหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(ปรีดี พนมยงค์) เป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ ในที่สุดเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๔๗๖ ประธานสภาได้สรุปผลการสอบสวน หลวงประดิษฐ์ฯไม่มีมลทินในเรื่องคำกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์เลย

ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ภายในประเทศไทยเองก็อยู่ในสภาวะตึงเครียด การปฏิวัติบอลเชวิคในรัสเซียได้สร้างความวิตกกังวลให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่๗)ได้กล่าวหาว่า เค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ เป็นการนำเอาโครงการแบบคอมมิวนิสต์รัสเซียมาใข้ และหวาดกลัวว่าจะมีการนำเอาการปกครองแบบมหาชนรัฐมาปกครองประเทศ

สำหรับความร่วมมือและความช่วยที่นายปรีดีและขบวนการเสรีไทยมีให้ต่อขบวนการกู้ชาติลาวนั้น โชติ เพชราสี รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและวางแผน หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายลาวรักชาติประจำนครเวียงจันทน์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

“ความจริงแท้อันหนึ่งก็คือ ตอนที่ขบวนแนวลาวอิสระกำลังต่อต้านฝรั่งเศสทางผู้ครองอำนาจของไทยตอนนั้นคือขบวนการเสรีไทย พร้อมทั้งมวลประชาชนไทยได้ให้ความสนับสนุนดูแลอย่างดียิ่ง การสนับสนุนของไทยในครั้งนั้นได้เป็นบุญคุณแก่ขบวนการลาวอิสระและประวัติศาสตร์ลาว พวกข้าพเจ้าในขบวนการกู้ชาติขอจารึกคุณงามความดีของประชาชนไทย และบรรดาท่านที่ครองอำนาจในสมัยนั้นไว้อย่างสูงเสมอ”

Wednesday, April 23, 2008

บทความที่๔๑๗.สมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์ (จบ)

สมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์ ตอนที่ ๒ (จบ)
นอกเหนือจากอาวุธยุทโธปกรณ์ที่หน่วยบริการทางยุทธศาสตร์ของกองทัพสหรัฐอเมริกา (OSS)มอบให้ขบวนการเสรีไทย และนายปรีดี พนมยงค์ได้จัดส่วนหนึ่งส่งไปช่วยโฮจิมินห์ในการตั้งกองกำลังกู้ชาติจากการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสแล้ว หน่วยงาน โอ.เอส.เอส.ยังได้ให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์แก่ขบวนการพันธมิตรเพื่อเอกราชของเวียดนาม “ขบวนการเวียดมินห์” ในการต่อสู้ขับไล่ญี่ปุ่นให้ออกไปจากอินโดจีน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการขอให้ขบวนการเวียดมินห์ช่วยเหลือนักบินชาวอเมริกัน ๓ นายที่ถูกทหารญี่ปุ่นคุมขังไว้ในเวียดนามหลังเครื่องบินถูกยิงตก

ในการนี้ ปอล อี.เฮลลิเวลล์ หัวหน้าสำนักงานของหน่วย โอ เอส เอส ภาคพื้นแปซิฟิค ประจำเมืองคุนหมิง ในมณฑลยูนนาน ได้ขอให้โฮจิมินห์รับเงื่อนไขว่าหลังจากที่ได้ขับไล่ญี่ปุ่นออกไปอินโดจีนแล้ว จะไม่ใช้อาวุธที่ได้รับความช่วยเหลือเหล่านี้ไปรบกับฝรั่งเศส ทั้งนี้เนื่องจากสหรัฐอเมริกาถือว่า ดินแดนอินโดจีนยังคงเป็นของฝรั่งเศส ทว่าโฮจิมินห์ไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว อย่างไรก็ตามโฮจิมินห์ได้ให้คำมั่นว่า ยินดีให้ความช่วยเหลือทหารอเมริกันที่เข้าไปปฏิบัติภารกิจในเวียดนามเหนืออย่างเต็มที่ และได้ส่งกำลังบุกเข้าไปช่วยนักบินทั้ง ๓ นายซึ่งถูกทหารญี่ปุ่นควบคุมตัวไว้ ออกมาจากที่คุมขังได้อย่างปลอดภัย

ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม ๒๔๘๘ กองกำลังติดอาวุธของโฮจิมินห์โจมตีที่ตั้งขนาดกองร้อยของทหารญี่ปุ่นที่ “ตันเตา” และในเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน กองกำลังติดอาวุธของโฮจิมินห์ได้โจมตีที่ตั้งของกองทหารญี่ปุ่นที่ “ตำดาว” จากนั้นวันที่ ๑๗ สิงหาคม ปฏิบัติการ “Deer Team” ของ โอ เอส เอส คณะทหารอเมริกันนำโดย พ.ต.อาร์คีมีดิส แพตตี ก็ได้กระโดดร่มลงในดินแดนอินโดจีน และได้ติดต่อกับวัน ซุน ผู้บัญชการทหารของเวียดมินห์ ซึ่งก็คือ นายพล โว เหงียน เกี๊ยบ ที่ช่วงนั้นยังไม่เปิดเผยนามจริงต่อทหาร โอ เอส เอส

ต่อมามีคณะทหาร โอ เอส เอส อีกคณะหนึ่งนำโดย พ.ต.แอลลิสัน โธมัส พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์หลายชนิดซึ่งมากพอสำหรับทหาร ๓๐๐ กว่าคน ได้เข้าไปช่วยฝึกสอนการใช้อาวุธสมัยใหม่ให้แก่ทหารเวียดมินห์ประมาณ ๓๕๐ คน จากนั้นทหารเวียดมินห์ซึ่งมีทหาร โอ เอส เอส ร่วมด้วย ได้ปฏิบัติการโจมตีที่ตั้งของทหารญี่ปุ่นหลายแห่ง

นอกเหนือจากความช่วยเหลือของขบวนการเสรีไทยและ โอ เอส เอส ที่มีต่อขบวนการเวียดมินห์แล้ว เวียดมินห์ยังได้รับความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และเวชภัณฑ์ที่ฝ่ายอังกฤษทิ้งร่มให้

ต่อมาพันตรี Archimedes L.A.Patti ซึ่งเคยปฏิบัติการรบร่วมกับกองทหารเวียดมินห์ ภายใต้การบัญชาการของนายพล โว เหงียน เกี๊ยบ ได้เขียนหนังสือ “Why Veitnam? Prelude to America’s Albatross” จัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียที่เบิร์คเล่ย์ ในปี พ.ศ.๒๕๒๔ ระบุว่า โฮจิมินห์ได้ช่วย โอ เอส เอส วางเครือข่ายข่าวกรองของ โอ เอส เอส ทั่วเวียดนาม และในปี พ.ศ.๒๔๘๘ โฮจิมินห์และนายทหาร โอ เอส เอส ผุ้หนึ่งได้ร่วมกันร่างข้อตกลงร่วมมือกันระหว่างโฮจิมินห์และสหรัฐฯ จากนั้นยื่นเสนอไปยังรัฐบาลสหรัฐฯ

ทว่าทางการสหรัฐฯ เพิกเฉย ไม่มีคำตอบใดๆ โฮจิมินห์จึงหันไปขอรับความช่วยเหลือจากจีนคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุงแทน และในทางตรงกันข้าม สหรัฐฯ ได้หันไปให้ความช่วยเหลือกองทหารฝรั่งเศสในการสู้รบกับทหารเวียดมินห์

วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๔๘๘ กองทหารเวียดมินห์ ราว ๕,๐๐๐ คนได้เข้าโจมตีกรุงฮานอย โดยทหารญีปุ่นซึ่งมีกำลังราว ๓๐,๐๐๐ คน ไม่ได้ทำการต่อต้านทหารฝรั่งเศสที่ญี่ปุ่นควบคุมตัวไว้ รวมทั้งพลเรือนชาวฝรั่งเศสได้หลบหนีเข้าสู่ประเทศจีน

สำหรับขบวนการเขมรอิสระ ภายใต้การนำของ ดร.เซิน ง็อก ทันห์ ขบวนการเสรีไทยได้มอบหมายให้นายผล แสนสระดี ส.ส.ขอนแก่น เป็นผู้ดำเนินการจัดอาวุธของเสรีไทยอีกส่วนหนึ่งมอบให้ผ่านทางนายสอนและนายทัน อดีต ส.ส.พระตะบอง ส่วนขบวนการกู้เอกราชของอินโดนีเซียได้มอบหมายให้นายแช่ม พรหมยงค์ ขนอาวุธและข้าวสารไปช่วยเหลือซูการ์โนต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมฮอลันดา

ส่วนการสนับสนุนช่วยเหลือที่มีต่อขบวนการกู้ชาติของลาวอิสระ ภายใต้การนำของเจ้าเพ็ดชะลาดและเจ้าสุพานุวงนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบหมายให้อยู่ในความรับผิดของกลุ่มผู้นำเสรีไทยสายอีสาน อันได้แก่ นายเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายทิม ภูริพัฒน์ และนายฟอง สิทธิธรรม

บทความที่๔๑๖.สมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์ (๑)

สมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์

ประเทศในอินโดจีนซึ่งเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส มีขบวนการทางการเมืองหรือขบวนการกู้เอกราชก่อตัวขึ้นหลายขบวนการด้วยกัน ขบวนการกู้เอกราชในประเทศลาวคือ “ขบวนการลาวอิสระ” หรือที่เรียกว่า “คณะกู้ออิสระพาบ” (ก.อ.พ.) อยู่ภายใต้การนำของเจ้าเพ็ดชะลาด

ในเวียดนาม คือ “ขบวนการพันธมิตรเพื่อเอกราชของเวียดนาม” (ขบวนการเวียดนาม ดอคแล็บ ดองมินห์) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อสั้นๆว่า “เวียดมินห์” อยู่ภายใต้การนำของโฮจิมินห์ ในกัมพูชา คือ “ขบวนการเขมรอิสระ” อยู่ภายใต้การนำของ เซิน ง็อก ทันห์ และคณะ

บรรดาผู้นำคนสำคัญในขบวนการกู้ชาติดังกล่าว หลายคนเคยเดินทางไปศึกษาและใช้ชีวิตอยู่ในฝรั่งเศส ได้ซึมซับรับอิทธิพลของแนวคิดการอภิวัฒน์สังคมประชาธิปไตย มุ่งสร้างสรรค์สังคมให้มีอิสรภาพ เสมอภาค และภราดรภาพแล้วนำแนวความคิดดังกล่าวมาอภิวัฒน์สังคมในประเทศของตน อาทิ เจ้าเพ็ดชะลาด เจ้าสุพานุวง และโฮจิมินห์

ขบวนการต่อสู้ทางการเมืองของประเทศแถบอินโดจีนในช่วงนั้น ล้วนมีวัตถุประสงค์หลักร่วมกันคือต่อสู้เพื่อเอกราช อธิปไตย และสิทธิเสรีภาพในการปกครองตนเอง อันเป็นหลักการที่สอดคล้องกับแนวคิดการอภิวัฒน์ฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.๒๓๓๒ และเพื่อให้ความมุ่งมั่นดังกล่าวบรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ แต่ละประเทศต่างเห็นพ้องต้องกันว่า มีเพียงหนทางเดียวเท่านั้นคือ ต้องต่อสู้ล้มล้างอำนาจการปกครองของฝรั่งเศส ขับไล่กองทหารฝรั่งเศสออกไปจากดินแดนอินโดจีน แล้วสถาปนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนขึ้นมา

ที่สำคัญ บรรดาผู้นำขบวนการต่อสู้ทางการเมืองของประเทศในอินโดจีนล้วนมีความสัมพันธ์อันดีกับนายปรีดี พนมยงค์ นอกเหนือจากอิทธิพลแห่งแนวความคิดการอภิวัฒน์สังคมของฝรั่งเศสแล้ว พื้นฐานทางความคิดที่สำคัญของนายปรีดีมีแนวคิดเชิงอุดมคติของแซซินี ปฏิภาณของคาวูร์ และเลือดนักสู้อย่างการิบัลดี

ในการก่อตั้งสมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์ นายปรีดี พนมยงค์ ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับวัตถุประสงค์หลักของเรื่องนี้ไว้ว่า ในอนาคต หากประเทศเมืองขึ้นได้เอกราชและอิสรภาพและรวมผนึกกำลังกัน ก็จะสามารถทำให้ประเทศไทยและประเทศเหล่านั้นสามารถกำหนดชะตากรรมของตนได้โดยอิสระ หลุดพ้นจากการตกอยู่ภายใต้อิทธิพลการบีบบังคับและการชักจูงทางการเมือง เศรษฐกิจและการทหารจากประเทศมหาอำนาจดังเช่นในอดีต

หากพิจารณาถึงแนวคิดหลักของบรรดาประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมในช่วงสงครามโลกครั้งที่๒ จะเห็นว่า แนวคิดการมุ่งสถาปนารัฐอิสระและการรวมตัวต่อสู้เพื่อความเป็นเอกราชโดยอาศัยพื้นฐานความสัมพันธ์ของประชาชนแต่ละประเทศเป็นสำคัญ ได้พัฒนาไปสู่แผนการร่วมมือของประชาชนในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้หรือที่รู้จักกันในชื่อ “สมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์” ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์เป็นต้นคิด และได้รับการขานรับอย่างดียิ่งจากโฮจิมินห์และเจ้าเพ็ดชะลาด ผู้มีอิทธิพลทางความคิดด้านการอภิวัฒน์สังคมของฝรั่งเศสเช่นกัน “สมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์” ตั้งขึ้นภายหลังจากที่เจ้าเพ็ดชะลาดและคณะได้เข้ามาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในกรุงเทพฯ ภายใต้การสนับสนุนช่วยเหลือของนายปรีดี พนมยงค์ และเหล่าสมาชิกในขบวนการเสรีไทย

แนวคิดของนายปรีดี พนมยงค์ ที่แสดงให้ประจักษ์ถึงการยึดกรอบการอภิวัฒน์สังคม มุ่งให้มีเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ ก็คือการเป็นผู้นำฝ่ายพลเรือนในคณะราษฎรทำการอภิวัฒน์สังคมและเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเสนอหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร สำหรับใช้เป็นหลักในการดำเนินนโยบายของประเทศ (อ่านแถลงการคณะราษฎรฉบับที่๑ และหลัก ๖ ประการได้ที่ http://socialitywisdom.blogspot.com/2008/04/blog-post_16.html)

ในด้านการปฏิบัติตามหลัก ๖ ประการของคณะราษฎรดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินความพยายามที่จะสร้างความเสมอภาคกับต่างประเทศ ในปี พ.ศ.๒๔๘๐ นายปรีดี พนมยงค์ได้เริ่มแก้ไขสนธิสัญญาต่างๆ ที่ฝ่ายไทยเสียเปรียบให้เท่าเทียมกัน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของลัทธิการพึ่งพากัน ประเทศไทยจึงได้รับอธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบจากต่างประเทศ แต่ว่าภายในประเทศนั้นนายปรีดียังไม่สามารถกุมอำนาจได้อย่างแท้จริง

ในการดำเนินการสรรสร้างเอกภาพในหมู่ประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ตามแผนการร่วมมือของ “สมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์” นายปรีดี พนมยงค์ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ได้ติดต่อผู้นำขบวนการกู้เอกราชในภูมิภาคนี้เป็นการส่วนตัว และสนับสนุนให้จัดประชุมขึ้นที่กรุงเทพฯ ในเดือนกรกฎาคม ๒๔๙๐ โดยมีผู้นำขบวนการกู้ชาติในเวียดนาม ลาว กัมพูชา และอินโดนีเซีย ฯลฯ เข้าร่วมประชุม หลังเสร็จสิ้นการประชุมมีการประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ พ.ศ.๒๔๙๐ สาระสำคัญที่ตกลงกันคือ จะผนึกกำลังกันต่อสู้เพื่อต่อต้านการกลับคืนมาของประเทศล่าเมืองขึ้น

ต่อมาในเดือนกันยายน ๒๔๙๐ ได้มีการจัดประชุมผู้นำขบวนการกู้เอกราชขึ้นในกรุงเทพฯ อีกครั้งและได้มีการประกาศก่อตั้ง “สมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์” (Union of Southeast Asia)อย่างเป็นทางการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผนึกกำลังกันต่อต้านการกลับคืนมาของลัทธิอาณานิคม และช่วยเหลือกันในการต่อสู้เพื่อเอกราช ในการนี้ได้มีการเลือกคณะกรรมการ นายเตียง ศิริขันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร เป็นประธาน นายตรัน วัน เกียว เป็นรองประธาน นายเลอ ฮี เป็นเหรัญญิก นายถวิล อุดล วุฒิสมาชิก อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นประชาสัมพันธ์ และมีเจ้าสุพานุวงเป็นเลขาธิการ

สำหรับการดำเนินความพยายามเพื่อกอบกู้เอกราชของประเทศในอินโดจีนในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์กลางสมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์ นายปรีดี พนมยงค์หัวหน้าขบวนการเสรีไทยได้ให้ความเห็นใจ สนับสนุนช่วยเหลือทั้งในทางตรงและทางอ้อม โดยมอบหมายให้ พล.ร.ต. หลวงสังวรยุทธ (สังวร สุวรรณชีพ)และ ร.อ.พงศ์เลิศ ศรีสุขนันท์ เป็นผู้ดำเนินการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ของขบวนการเสรีไทยที่ได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพสหรัฐอเมริกา (OSS)และฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไปช่วยเหลือขบวนการกู้ชาติของเวียดนามภายใต้การนำของโฮจิมินห์ซึ่งก็คือ “ขบวนการเวียดมินห์” ผ่านทางเสรีไทยสายอีสาน

อาวุธดังกล่าวมีจำนวนมากพอที่จะตั้งกองทัพได้ถึงสองกองพัน ความช่วยเหลือดังกล่าวนี้ถือเป็นความช่วยเหลือจากเสรีไทยในนามของประชาชนไทยทั้งมวล เพื่อเป็นเกียรติและเป็นการรำลึกถึงคุณูปการของนายปรีดี พนมยงค์และประชาชนไทย โฮจิมินห์ได้ตั้งชื่อกองพันพิเศษของกองทัพเวียดมินห์ทั้งสองกองพันนั้นว่า “กองพันสยาม๑” และ “กองพันสยาม๒”

บทความที่๔๑๕.ท่านปรีดีฯกับขบวนการกู้ชาติลาว(จบ)

รัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่น ตอนที่๖ (จบ)


ก่อนเดินทางกลับคืนประเทศ เจ้าเพ็ดชะลาดได้แจ้งให้บรรดาเจ้าหนี้ทุกคนที่กู้ยืมเงินมาใช้จ่ายในการกู้ชาติทราบว่า ผู้แทนรัฐบาลและผู้แทนรัฐสภารับปากว่าจะชดใช้หนี้สินดังกล่าวให้ ทั้งในส่วนของกองทหารลาวอิสระตามแนวชายแดน การเลี้ยงดูชาวลาวอพยพ และครอบครัวสมาชิกของคณะรัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่น

จากนั้นเจ้าเพ็ดชะลาดได้ไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทยชั้นทวีติยาภรณ์ พร้อมสายสะพาย แล้วไปอำลาจอมพล ป.พิบูลสงคราม รวมทั้งผู้สนิทชิดชอบในช่วง ๑๐ ปีที่ลี้ภัยอยู่ในเมืองไทย

เจ้าเพ็ดชะลาดเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดหนองคาย ในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๐๐ โดยรถไฟขบวนพิเศษที่รัฐบาลไทยจัดให้ พร้อมด้วยวิรัตน์ บุพพะสิริ และคณะผู้ลี้ภัยอีกจำนวนหนึ่ง หลังข้ามแม่น้ำโขงไปยังท่าเดื่อรัฐบาลลาว ในช่วงนั้นมีเจ้าสุวันนะพูมาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้จัดพิธีต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ที่เวียงจันทน์

เจ้าเพ็ดชะลาดเดินทางต่อไปยังหลวงพระบาง เข้ากราบบังคมทูลเจ้ามหาชีวิตสว่างวงในวันสงกรานต์ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เจ้ามหาอุปราชคืนดังเดิม ตามที่ฝ่ายฝรั่งเศสและรัฐบาลได้ประกาศไว้ จากนั้นเดินทางไปเยี่ยมเยียนเจ้าแขวง เจ้าเมือง ตาแสง นายบ้าน และราษฎรตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ที่สำคัญคือ ได้ไปเยี่ยมเจ้าสุพานุวงยังฐานที่มั่นสำคัญของ “ขบวนการประเทดลาว” ที่ซำเหนือในวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๐๐ และได้รับการต้อนรับอย่างดีจากทหารและประชาชน

ในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๐๒ รัฐบาลและหน่วยงานด้านข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาได้เข้าไปแทรกแซงการเมืองในลาว พยายามจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายขวาขึ้นในประเทศ โดยสนับสนุนให้นักการเมืองฝ่ายขวา คือ ผุย ชะนะนิกอน ผู้เป็นญาติกับอุ่น ชะนะนิกอน ให้โค่นล้มรัฐบาลผสมของเจ้าสุวันนะพูมา แล้วขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทน

รัฐบาลฝ่ายขวาภายใต้การนำของ ผุย ชะนะนิกอน ชุดนี้มีอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่นบางคนเข้าร่วม เช่น คำม้าว วิไล กระต่าย โตนสะโสลิด ต่อมาได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลฝ่ายขวายึดบ้านของเจ้าเพ็ดชะลาดในเวียงจันทน์แล้วใช้เป็นสำนักนายกรัฐมนตรี และมีคำสั่งให้จับเจ้าสุพานุวง สิงกะโปฯ สมาชิกขบวนการประเทศลาวในรัฐสภาไปคุมขัง รวมทั้งสมาชิก “ขบวนการประเทดลาว” ในรัฐสภาอีกหลายคน หลังจากนั้นในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๐๒ เจ้าเพ็ดชะลาดได้ถึงแก่มรณกรรมที่วังเชียงแก้วด้วยเส้นโลหิตในสมองแตก ขณะอายุได้ ๗๐ ปี
เรียบเรียงจากหนังสือ "ปรีดี พนมยงค์ กับ ขบวนการกู้เอกราชในลาว" ของอุดร วงษ์ทับทิม

บทความที่๔๑๔.ท่านปรีดีฯกับขบวนการกู้ชาติลาว(๒๕)

รัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่น ตอนที่๕

จอมพล ป.พิบูลสงครามได้ประกาศรับรองรัฐบาลของบุญอุ้ม ณ จำปาสัก และมีคำสั่งให้เจ้าเพ็ดชะลาดรวมทั้งสมาชิกรัฐบาลพลัดถิ่นเดินทางกลับคืนประเทศยังผลให้รัฐบาลพลัดถิ่นของขบวนการลาวอิสระพลัดถิ่นปั่นป่วน ดังที่โชติ เพชราสี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและวางแผน และหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายแนวลาวรักชาติประจำนครเวียงจันทน์ได้กล่าวไว้ว่า

“ขบวนลาวอิสระได้รับความเดือดร้อน อยู่ไม่ได้ ข้าพเจ้าเองก็อยู่ไม่ได้ ต้องเร่ร่อนไปหลายแห่ง มาสกลนคร นครพนม ลงไปบางกอก ขึ้นไปเชียงแสน เชียงรายข้ามมาบ้านต้นผึ้ง ในที่สุดเมื่อเดือดร้อนหลาย ก็พากันเสี่ยงภัยข้ามมาอยู่ตามป่าตามดงทางฝั่งลาว ทำการต่อสู้แบบกองโจร”

แม้ว่าฝรั่งเศสจะล้มเหลวในการเชิญเจ้าเพ็ดชะลาดกลับคืนมาประเทศโดยผ่านทางเจ้ากรมสุวันนะราช แต่ก็มิได้ละความพยายาม ในช่วงต่อมารัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสได้ให้ทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ เชิญเจ้าเพ็ดชะลาดไปเป็นแขกที่ปารีส ทว่าเจ้าเพ็ดชะลาดปฏิเสธ ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสประจำอินโดจีนจึงส่งดูกัดเยต์ ทูตที่ปรึกษา ไปเชิญกลับคืนประเทศอีกครั้ง แต่ก็ไร้ผลเช่นกัน

ด้านเจ้าสุพานุวงมีความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ว่าวิธีเดียวที่จะบงคับให้ฝรั่งเศสมอบเอกราชอันแท้จริงให้แก่ลาวก็คือการต่อสู้ในสมรภูมิเท่านั้น และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว เจ้าสุพานุวง สิงกะโป สีโคตจุนนะมาลี และคณะจึงได้เดินทางไปยังชายแดนลาว-เวียดนามที่ตูเยนกวงซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ขณะนั้นเป็นกองบัญชาการใหญ่ของเวียดมินห์ แล้วจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้นมาต่อสู้ พร้อมกับมีการรวมตัวกันเป็นองค์การภายใต้การกำกับชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนในนาม “คณะกรรมการลาวผ่ายต่อต้านภาคตะวันออก” ซึ่งมีแกนนำคนสำคัญคือหนูฮัก พูมสะหวัน ซึ่งมีเชื้อสายลาว ไกสอน พมวิหาน ซึ่งมีเชื้อสายลาว-เวียดนาม และผู้นำชุมชนเผ่าลาวเทิงและลาวสูงที่มีประวัติศาสตร์ต่อต้านอำนาจของฝรั่งเศสมายาวนานคือ สีทน กมมะดัน ผู้นำชนเผ่าข่าทางภาคใต้และเฟยดาง เลาเบยยือ ผู้นำชนเผ่าม้งทางภาคเหนือ ตามนโยบายสามัคคีประชาชาติต่อต้านอำนาจจักรวรรดินิยม

เจ้าสุพานุวงได้ปรึกษากับโฮจิมินห์และโว เหงียน เกี๊ยบ จากนั้นในวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๓ ก็ได้เปิดประชุมสมัชชาผู้แทนประชาชนของแนวร่วมต่อต้านขึ้นเป็นครั้งแรก

ต่อจากนั้นที่ประชุมสมัชชาก็ได้จัดตั้งรัฐบาล “ผ่ายประเทดลาว” โดยเจ้าสุพานุวง ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ พูมี วงวิจิตเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงภายใน(เทียบได้กับกระทรวงมหาดไทย) หนูฮัก พูมสะหวัน เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ไกสอน พมวิหาน เป็นรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันประเทศ พร้อมกับแต่งตั้งเจ้าเพ็ดชะลาดเป็นที่ปรึกษา

ส่วนเจ้าสุวันนะพูมา หลังกลับไปเวียงจันทน์ ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากฝ่ายกลาง ได้จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น แล้วได้ออกดำรัสเลขที่ ๑๗๖/๙๙ ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๙ แต่งตั้งให้ท้าวโง่น ชะนะนิกอน เป็นหัวหน้าคณะนำเจ้าสมสนิท วงกตรัตนะ พญาคำม้าว และท้าวทง สุทิวงนะราช ไปเชิญเจ้าเพ็ดชะลาดกลับคืนประเทศ

พร้อมกันนี้พญาเพ็ง พงสะหวัน ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือเลขที่ ๑๑/๙๙ ลงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๙๙ แต่งตั้งให้พระยาบริหารศึกษา(ท้าว บง สุวันนะวงส์)เป็นหัวหน้า นำคณะอีกชุดหนึ่งซึ่งประกอบด้วย คำหัส จุลมะนี จำปา พรมมาจันทร์ ปาว วันทานุวง และมหากุ สุวันนะเมที เดินทางไปเชิญเจ้าเพ็ดชะลาดกลับคืนประเทศ

ขณะเดียวกันองค์สังฆนายก คือพระครูคูนมนีวงส์ ก็ได้มีเอกสารเลขที่ ๒๑๓/๒๔๙๙ ลงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๙๙ แจ้งความประสงค์ของพระภิกษุสามเณรในการเชิญให้เจ้าเพ็ดชะลาดกลับคืนมาทนุบำรุงพระพุทธศาสนาของลาวสืบไป

ต่อมาวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๙ คณะผู้แทนฝ่ายรัฐบาลซึ่งมีท้าวโง่น ชะนะนิกอน เป็นหัวหน้าคณะและคณะผู้แทนฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีท้าวบง สุวันนะวงส์ เป็นหัวหน้าคณะ ได้เข้าพบกับเจ้าเพ็ดชะลาดที่บ้านพักเลขที่ ๑๑๐ ถนนวิทยุ เพื่อมอบหนังสือเชิญกลับประเทศ เจ้าเพ็ดชะลาดตอบรับคำเชิญ แต่มีเงื่อนไขว่า จะกลับคืนประเทศก็ต่อเมื่อมีการเจรจากตกลงกับ “ฝ่ายประเทดลาว” ภายใต้การนำของเจ้าสุพานุวง และหลังจากเจ้ามหาชีวิตสว่างวงกลับมมาจากประเทศฝรั่งเศสแล้ว

วันที่ ๑-๕ สิงหาคม ๒๔๙๙ ฝ่ายรัฐบาลราชอาณาจักรลาว ซึ่งมีเจ้าสุวันนะพูมา นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะ มีสมาชิกประกอบด้วย โง่น ชะนะนิกอน บง สุวันนะวงส์ ทง สุทินวงนราช หนูอิ้ง รัตนวงส์ พันตรี กุประสิทธิ์ อภัย พันเอกด้วน ราทิกุล พันโทพูมี หน่อสวรรค์ และสีสุก ได้เปิดเจรจากับ “ฝ่ายประเทดลาว” ขึ้นในกรุงเวียงจันทน์ โดยมีเจ้าสุพานุวงเป็นหัวหน้า ส่วนสมาชิกคนอื่นๆ ประกอบด้วยพูมี วงวิจิต หนูฮัก พูมสะหวัน และท้าวมา การเจรจาของทั้งสองฝ่ายมุ่งแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งตามสนธิสัญญาเจนีวา เพื่อให้ประเทศลาวมีสันติภาพ ประชาธิปไตย เอกภาพและเอกราชอย่างแท้จริง

บทความที่๔๑๓.ท่านปรีดีฯกับขบวนการกู้ชาติลาว(๒๔)

รัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่น ตอนที่๔

นอกเหนือจากการดำเนินความพยายามดังกล่าวแล้ว ฝรั่งเศสยังได้เอกเอกราชมาเป็นกลลวง ด้วการผ่อนผันให้ลาวเป็นเอกราช แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้อาณัติของฝรั่งเศส โดยเจ้าชีวิตสว่างวงได้ลงพระมรมาภิไธยในสนธิสัญญาฝรั่งเศส-ลาว ร่วมกับนายวังชอง โอริโอน(M.Vincent Auriol)ประธานนาธิบดีฝรั่งเศสในวันที่๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๒ มีข้อความสำคัญว่า “ประเทศลาวเป็นประเทศเอกราชพอใจร่มอยู่ในสหพันธ์ฝรั่งเศส (Union Francaise) โดยสมัครใจ”

ต่อมาในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พงศ.๒๔๙๓ นายอลัชชิน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา แจ้งต่อประธานาธิบดี เฮนี เอช.ทรูแมน ว่ารัฐสภาของฝรั่งเศสมีมติให้สัตยาบันในอนุสัญญาให้สถาปนาเวียดนาม ลาว และกัมพูชาเป็น “รัฐอิสระ (Autonomous State)ภายใต้การกำกับดูแลของฝรั่งเศส พร้อมทั้งแนะนำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริการับรองรัฐบาลหุ่นที่จัดตั้งขึ้นในเวียงจันทน์ พนมเปญและไซ่ง่อน ด้วยเหตุผล ๔ ประการ ดังนี้คือ

๑.สนับสนุนส่งเสริม “ความเป็นชาติ” ตามที่ประชาชนในดินแดนอาณานิคมอินโดจีนเรียกร้อง ทั้งนี้อยู่ภายใต้ผู้นำที่มิใช่คอมมิวนิสต์

๒.ก่อตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและไม่เป็นคอมมิวนิสต์ขึ้นมาในพื้นที่ติดต่อกับจีน

๓.ให้การสนับสนุนฝรั่งเศสในฐานะเป็นชาติพันธมิตรนาโต้ และ

๔.เพื่อแสดงความไม่พอใจฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่ใช้ยุทธวิธีโน้นน้าวชาติในเอเซียไปเป็นพวก โดยใช้ลัทธิชาตินิยมในหมู่ชนชาติส่วนน้อยเป็นเครื่องบังหน้า

ประธานาธิบดีทรูแมนได้พิจารณาข้อเสนอดังกล่าวของรัฐมนตรีต่างประเทศในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๓ และได้ประกาศรับรองรัฐบาลหุ่นที่ฝรั่งเศสสนับสนุน ทั้งที่เวียงจันทน์ พนมเปญ และไซ่ง่อนอย่างเป็นทางการ

ในช่วงเวลานั้นความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจต่อขบวนการชาตินิยมในอินโดจีนมีขึ้นหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงในจีน กองทัพก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้แก่กองทัพแดงภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุง โจวเอินไหล และนายพล จูเต๋อ ต้องถอนตัวถอยร่นออกจากผืนแผ่นดินใหญ่ลงมายังพม่า ลาวและไทย ประธานาธิบดีเฮนรี เอช.ทูรแมน และคณะที่ปรึกษาได้พิจารณาว่า การขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ลงมายังดินแดนอินโดจีนนั้นเปรียบเสมือน “การแพร่ตัวของเชื้อโรคร้าย” ต้องหาทางยับยั้งการแพร่ระบาดเสียแต่แรก เพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์ร้ายแรงเกินกว่าจะควบคุมได้

หลังจากมีการเผยแพร่สมมติฐานแห่งตรรกะของทฤษฎีโดมิโน กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาได้ปรับเปลี่ยนแนวนโยบายต่างประเทศเสียใหม่ ขณะเดียวกันเพนตากอนหรือกระทรวงกลาโหมก็ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายด้านความมั่นคงในภูมิภาคนี้เช่นกัน ดังระบุไว้ในรายงานของเพนตากอน เสนอให้ช่วยเหลือรัฐบาลหุ่นเชิดทั้งในเวียดนามใต้ เวียงจันทน์ และพนมเปญ ที่ฝรั่งเศสให้การสนับสนุนในการต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายขบวนการชาตินิยมในอินโดจีน และมุ่งสร้างเสริมความเข้มแข็งมีเสถียรภาพของรัฐบาลที่สหรัฐฯ เข้าไปให้การสนับสนุนโดยถือว่าเป็น “การทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์”

ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐอเมริกาได้เข้าไปผลักดันสนับสนุนฝ่ายทหารในกองทัพบกของไทย ให้กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลที่มีพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นผู้นำ และมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีคลัง อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไทย และเป็นจุดหักเหครั้งสำคัญของการเมืองในลาว รวมทั้งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

ทางด้านฝรั่งเศสได้แต่งตั้งเจ้าบุนอุ้ม ณ จำปาสัก ที่เคยช่วยกองทหารฝรั่งเศสหลบหนีการปราบปรามของกองทหารญี่ปุ่น ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ให้การรับรอง การให้การรับรองดังกล่าวมีผลให้รัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่นในกรุงเทพฯ ซึ่งมีเจ้าเพ็ดชะลาดเป็นนายกรัฐมนตรี มีฐานะเป็นรัฐบาลที่ผิดกฎหมายไปทันที

รัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่นในประเทศไทย ภายใต้การนำของเจ้าเพ็ดชะลาดเผชิญกับปัญหาครั้งใหญ่ ต้องยุติบทบาทและปิดฉากลงโดยสิ้นเชิง เมื่อฝ่ายกองทัพไทยยึดอำนาจการปกครองประเทศไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ และต่อมาจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายควง อภัยวงศ์ การก้าวเข้ามามีบทบาททางการเมืองของฝ่ายทหารได้พลิกโฉมการเมืองไทยให้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยที่เรียกว่า “ยุคทมิฬ”


บทความที่๔๑๒.ท่านปรีดีฯกับขบวนการกู้ชาติลาว(๒๓)

รัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่น ตอนที่ ๓

สหรัฐอเมริกาได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายจากการร่วมมือสนับสนุนขบวนการกู้ชาติในอินโดจีน ช่วงที่ทำสงครามต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่นมาเป็นการร่วมมือกับฝรั่งเศสเพื่อป้องกันการแผ่ขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในดินแดนอินโดจีน ส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองระดับประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มแปรเปลี่ยน

สมาชิกกองกำลังต่อต้านฝรั่งเศสหรือกองกำลังติดอาวุธขบวนการกู้ชาติลาวได้ข้ามแม่น้ำโขงจากฝั่งไทย เข้าไปปฏิบัติการทางทหารในฝั่งลาวช่วงปี พ.ศ.๒๔๘๙ และ ๒๔๙๐ ทว่าไม่ได้ก่อความเสียหายร้ายแรงเท่าใดนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการปฏิบัติการของฝ่ายเวียดมินห์บริเวณชายแดนลาว-เวียดนาม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณภาคใต้ของลาวได้มีการก่อตั้ง “คณะกรรมการลาวฝ่ายต่อต้านภาคตะวันออก” ขึ้นมาทำการต่อต้านฝรั่งเศส โดยมีแกนนำคนสำคัญ คือ หนูฮัก พูมสะหวันและไกสอน พมวิหาน ดำเนินการภายใต้ทิศทางของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน และมีผู้นำชนชาติส่วนน้อยลาวเทิงหรือข่าในพื้นที่ภาคใต้ที่มีประวัติการต่อสู้กับฝรั่งเศสมายาวนาน คือสีทน กมมะดัน และผู้นำชนเผ่าลาวสูงหรือชนเผ่าม้งคือเฝยดาง เลาเบยยือ เข้าร่วมเป็นแกนนำด้วย

ความเคลื่อนไหวของขบวนการกู้ชาติลาวถูกติดตามตรวจสอบทุกระยะ จากรายงานด้านการข่าว ฝรั่งเศสรู้ดีว่า ในช่วงเวลานั้นมีเพียงไม่กี่คนที่มุ่งมั่นต่อต้านอำนาจของฝรั่งเศส และยืนกรานต่อสู้เพื่อเอกราชของลาวอย่างไม่สั่นไหวคลอนแคลน กอปรกับช่วงเวลานั้นรัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่นมีปัญหาในเรื่องการเงินอย่างมาก จำต้องดิ้นรนหารายได้มาใช้ในการดำรงชีพ เจ้าสุวันะพูมาใช้ความรู้และทักษะในด้านวิศวกรรม สมัครเข้าทำงานที่โรงไฟฟ้าของไทย ส่วนทหารที่กระจายกันอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ ในบริเวณเมืองต่างๆ ตลอดแนวน้ำโขงในฝั่งไทย หาเงินด้วยการขายแรงงานรับจ้างทำงานสุจริตทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นคนงาน คนสวน แม้กระทั่งชกมวยตามงานวัด ฯลฯ โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่า เงินที่หามาได้ให้แบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งใช้ส่วนตัว อีกสองส่วนมอบให้กองกลางเพื่อนำไปจัดซื้อหาอาวุธต่อสู้เพื่อเอกราช

นอกจากปัญหาด้านการเงินแล้ว ยังมีความแตกต่างและขาดความเป็นเอกภาพทางความคิดค่อนข้างมาก จนนำไปสู่ปัญหาขัดแย้งกันเองในช่วงต่อมา

ปัญหาดังกล่าวเป็นประเด็นที่ฝรั่งเศสนำมาใช้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตน ด้วยการตอกลิ่มให้ปัญหาความขัดแย้งและความแตกต่างทางความคิดมีช่องว่างห่างยิ่งขึ้น วิธีการหนึ่งที่ฝรั่งเศสใช้ก็คือส่งชายาของเจ้าสุวันนะพูมา ซึ่งเป็นสตรีเชื้อสายฝรั่งเศส ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจา ยื่นข้อเสนอให้บรรดาเหล่าสมาชิกและรัฐมนตรีในรัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่นพิจารณา

ข้อเสนอดังกล่าวก็คือ ให้คำมั่นสัญญาว่า จะให้นิรโทษกรรมไม่เอาผิดใดๆ ทั้งสิ้น จ่ายเงินเดือนย้อนหลังให้ทั้งหมด คืนยศและบรรดาศักดิ์ให้ดังเดิม อีกทั้งยังจ่ายค่าเดินทางให้อีก ๘๐๐,๐๐๐ เปียสต้า

การเผชิญปัญหาด้านการเงินและปัญหาความแตกต่างในแนวคิดส่งผลให้คนสำคัญในคณะรัฐบาลพลัดถิ่น คือ เจ้าสุวันนะพูมา คำม้าว วิไล และกระต่าย โตนสะโสลิด ตลอดจนสมาชิกในรัฐบาลหลายคน รวมทั้งทหารลาวอิสระส่วนหนึ่ง ตัดสินใจรับข้อเสนอการนิรโทษกรรมของฝรั่งเศส ยกเลิกการต่อสู้ ยุติการต่อต้าน แล้วเดินทางกลับคืนประเทศในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๒

ทว่าเจ้าเพ็ดชะลาด เจ้าสุพานุวง สิงกะโป สีโคตจุนนะมาลี ลุตุลาน จุงคำหมื่น ลุงเสิม และสีทน กมมะดำ ผู้นำของชนชาติขมุ รวมทั้งคนอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งไม่ยอมกลับ มุ่งมั่นยืนกรานที่จะต่อสู้เพื่อเอกราชและอธิปไตยของประเทศต่อไปให้ถึงที่สุด

กระนั้นฝรั่งเศสก็ไม่ละความพยายาม ใช้วิธีเอาผลประโยชน์เข้าล่อในลักษณะขุดบ่อล่อปลาเหมือนเช่นเดิม โดยยืมมือเจ้ากรมแสงสุวันนะราช อนุชาของเจ้าเพ็ดชะลาด ซึ่งยอมรับนโยบายของฝรั่งเศสและยินยอมทำงานให้ ฝรั่งเศสจึงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือเชิญเจ้าเพ็ดชะลาดและเหล่าบรรดาสมาชิกในคณะรัฐบาลพลัดถิ่น รวมทั้งชักจูงให้กองกำลังทหารลาวอิสระที่กระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี สกลนคร อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย อำเภอเชียงคานจังหวัดเลย และในบริเวณแนวตะเข็บชายแดนไทย-ลาวด้านริมฝั่งแม่น้ำโขง วางอาวุธยุติการต่อสู้ แล้วเดินทางกลับคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอน

Tuesday, April 22, 2008

บทความที่๔๑๑.ท่านปรีดีฯกับขบวนการกู้ชาติลาว(๒๒)

รัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่น ตอนที่๒

ด้านอุ่น ชะนะนิกอน ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นหัวหน้าลาวอิสระประจำเมืองสะหวันนะเขด เรียนมาทางด้านสัตวแพทย์ และเคยทำงานในกรมโฆษณาการของไทย ได้ใช้สายสัมพันธ์อันดีที่มีกับพันตรี เจมส์ ธอมสัน แห่งหน่วยบริการยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา (O.S.S.) ร่วมเป็นหุ้นส่วนในการทำธุรกิจการค้าผ้าไหม(คือต่อมาเป็นบริษัทจิม ธอมสัน)ขณะเดียวกันก็ติดต่อขอรับการสนับสนุนด้านการเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์จากทางนายเตียง ศิริขันธ์ โดยได้รับคำแนะนำจากพันตรี เจมส์ ธอมสัน

ในช่วงที่ลี้ภัยเข้ามาอยู่ในประเทศไทยนั้น กองกำลังลาวอิสระภายใต้การบัญชาการของอุ่น ชะนะนิกอน มีฐานบัญชาการอยู่ที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคายและพันตรี เจมส์ ธอมสันได้แนะนำให้อุ่น ชะนะนิกอน ย้ายฐานบัญชาการมาอยู่จังหวัดอุดรธานีและสกลนครเพื่อติดต่อขอรับการช่วยเหลือจากเสรีไทยได้สะดวก อีกทั้งการที่เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนในธุรกิจค้าผ้าไหมกับพันตรี เจมส์ฯ ได้เอื้ออำนวยให้อุ่นเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ ในภาคอิสานบ่อยครั้ง และได้พบปะเจรจาขอรับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากนายเตียง ศิริขันธ์ ผู้นำขบวนการเสรีไทยสายอีสาน

นายเตียง ศิริขันธ์ได้ส่งมอบเงินช่วยเหลือจำนวนมากผ่านทางโง่น ชะนะนิกอน ไปให้ผู้ปฏิบัติงานกู้ชาติในเมืองต่างๆ ตามที่ลาวอิสระได้มอบหมายหน้าที่ไว้แล้ว คือ เมืองสะหวันนะเขด โดบมี พูมี หน่อสะหวัน เกื้อ วงวงส์ เป็นผู้รับผิดชอบ และ ดร.พูวง หน่อสะหวัน (น้องพูมี) เป็นผู้ติดต่อประสานงาน เมืองท่าแขกมีโง่น ชะนะนิกอน และพง ชะนะนิกอนเป็นผู้รับผิดชอบ

ภารกิจสำคัญประการหนึ่งของรัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่นคือ การแสวงหาแหล่งขายอาวุธและหาเงินมาจัดซื้ออาวุธสำหรับกองทหารเพื่อกลับไปกอบกู้เอกราชจากฝรั่งเศส การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ในช่วงนั้นมีการแย่งกันซื้อถึง ๕ ชาติ คือ เวียดนาม กัมพูชา พม่า อินโดนีเซีย และลาว สมาชิกในขบวนการกู้เอกราชทั้ง ๕ ชาติได้มีการประชุมตกลงกันเป็นการลับในกรุงเทพฯ และมีข้อตกลงร่วมกัน ๒ ข้อคือ

๑.การสืบแหล่งค้าปืนเถื่อน หากชาติใดสืบพบ ให้ชาตินั้นซื้อจนพอแก่ความต้องการ จากนั้นชาติอื่นจึงซื้อได้ ถ้าชาติที่สืบพบไม่มีเงิน ชาติอื่นควรยื่นมือให้ความช่วยเหลือ และ

๒. เนื่องจากขบวนการกู้ชาติทั้ง ๕ ชาติต่างทำงานโดยอิสระไม่มีการร่วมมือกันมาแต่แรกเป็นเหตุให้ฝ่ายศัตรูได้เปรียบ จึงมีมติร่วมกันระหว่างเวียดนาม กัมพูชา และลาวว่า ต่างมีศัตรูร่วมกันคือ ฝรั่งเศส

พร้อมกันนี้ยังมีข้อตกลงย่อยอีก ๒ ประการ คือ


๑.แต่ละชาติจะเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในอาณาจักรของฝ่ายใดก็ได้ ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของฝ่ายนั้น เช่น ญวนเข้ามาอยู่ในลาวก็ต้องขึ้นกับลาว

๒.ลาวและกัมพูชามีพลเมืองน้อย ไม่ให้ทำการรบใหญ่ในสนาม ให้ปฏิบัติการแบบกองโจรรบกวนทุกแห่งทุกโอกาส เพื่อหน่วงกำลังฝรั่งเศสให้อยู่ในกัมพูชาและลาวให้มากที่สุด อย่าให้รวมกำลังไปเล่นงานเวียดนามได้ ส่วนเวียดนามมีพลเมืองมาก เมื่อมีโอกาสให้ใช้กำลังโจมตีเพื่อทำลายฝรั่งเศสในเวียดนามให้ละลายไปทีละน้อย ขณะที่เวียดนามเปิดการรบใหญ่คราวใด ให้กัมพูชาและลาวเปิดการรบแบบกองโจร ประวิงไว้ให้นานเท่านานเท่าที่จะทำได้

การรวมตัวกันเป็นสมาคมสหชาติแห่งเอเชียอาคเนย์เพื่อร่วมมือกันช่วยเหลือการกอบกู้เอกราช ภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์,โฮจิมินห์ และเจ้าเพ็ดชะลาดได้เป็นประเด็นปัญหาที่กระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นกังวลอย่างมาก ทั้งนี้ภายหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรงในสหภาพโซเวียต สาธารณรัฐประชาชนจีนและเวียดนาม กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาหวั่นเกรงว่า บรรดาประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อันได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมทั้งในแถบอินโดจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลาวและกัมพูชาจะถูกครอบงำโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงเริ่มเพ่งความสนใจในประเด็นปัญหานี้อย่างจริงจัง และเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของขบวนการกู้เอกราชในอินโดจีนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีการรายงานสถานการณ์ในไทย พม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซียไปยังกระทรวงการต่างประเทศที่กรุงวอชิงตันอย่างต่อเนื่อง

บทความที่๔๑๐.ท่านปรีดีฯกับขบวนการกู้ชาติลาว (๒๑)

ท่านปรีดี พนมยงค์กับขบวนการกู้เอกราชในลาว ตอน รัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่น ตอนที่ ๑

ในการเดินทางจากลาวเข้ามาลี้ภัยและจัดตั้รัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในประเทศไทยนั้น ช่วงแรกเริ่ม บรรดาผู้มีแนวคิดชาตินิยมมุ่งสรรค์สร้างสังคมลาวให้มีความเป็นเอกราชและเพื่ออธิปไตยโดยสมบูรณ์ ที่อยู่ในเวียงจันทน์ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดได้เดินทางขามแม่น้ำโขงมารวมตัวกันที่จังหวัดหนองคาย จากนั้นเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ ในช่วงนั้นมีการใช้เส้นทาง ๓ เส้นทางด้วยกันคือ เส้นทางน้ำโขงจากหลวงพระบางไปยังอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย, เส้นทางจากเวียงจันทน์มายังหนองคายและกรุงเทพฯ และเส้นทางบกจากหลวงพระบางไปยังเมืองไชยะบุลีและเมืองปากลาย จากนั้นเข้าสู่ชายแดนไทยที่อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์

คณะที่ข้ามทางทางด้านจังหวัดหนองคายคือคณะของอุ่น ชะนะนิกอน สีลา วีระวงส์ อำพอน พลราช เจ้าสุวันนะพูมา ฯลฯ

สำหรับเจ้าเพ็ดชะลาดและคณะอันประกอบด้วย เจ้าคำตัน เจ้าคำผาย และผู้ติดตามอีกประมาณ ๔๐ คน ได้ขี่ม้าออกจากเมืองหลวงพระบางในวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๙ ฝรั่งเศสได้ส่งทหารกระโดดร่มลงที่ทุ่งนาบ้านเมืองขาย แล้วบุกค้นวังเชียงแก้ว ทว่าไม่พบตัวเจ้าเพ็ดชะลาด จึงให้เครื่องบินออกไล่ล่าสังหาร

เจ้าเพ็ดชะลาดชอบเดินป่าและเคยดินทางตรวจราชการในพื้นที่ชนบท จึงรู้จักเส้นทางซับซ้อนแถบนั้นเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางที่ชาวม้งใช้ในการลำเลียงฝิ่นเข้าสู่ประเทศไทย บางช่วงเดินป่าไต่สันเขาไปตามเส้นทางที่ทอดเชื่อมระหว่างหมู่บ้านม้ง บางช่วงใช้เส้นทางน้ำกระทั่งเข้าสู่เมืองไชยะบุลี มีผู้เดินทางมาร่วมสมบทคือเจ้าบุนยะวัด เจ้าแขวงเมืองหลวงพระบาง และพัตรี อ้วน ราทิกุล จากนั้นเข้าสู่เมืองปากลาย และเข้าสู่เขตแดนไทยที่อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ในวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๘๙ ในเวลาเดินป่าถึง ๑ เดือนเต็ม

เมื่อเข้าสู่ดินแดนไทย เจ้าเพ็ดชะลาดได้พักที่บ้านข้าราชการฝ่ายปกครอง คือบ้านนายอำเภอฟากท่า นายอำเภอลับแล นายอำเภอแสนตอ กำนันสบน้ำปาด และกำนันบ้านด่าน ก่อนจะพบกับพันเอก ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีมหาดไทยในรัฐบาลของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่เดินทางขึ้นไปตรวจราชการที่จังหวัดอุตรดิตถ์ จากนั้นเจ้าเพ็ดชะลาดได้ขอยืมเงินข้าหลวงจังหวัดอุตรดิตถ์เดินทางลงมายังกรุงเทพฯ

เจ้าเพ็ดชะลาดได้ให้เจ้าคำตันย้อนขึ้นไปทางหนองคาย เจ้าสมสนิทได้หลบจากเวียงจันทน์เอาเสื้อผ้ามาส่งให้ แล้วเดินทางพร้อมกับทหารและผู้ติดตามไปยังจังหวัดพิษณุโลก เข้าพักที่บ้านข้าหลวงนายพรมสูตรสุคนธ์ ก่อนจะเดินทางเข้ามาสมบทกันที่กรุงเทพฯ

นอกจากนั้นยังมีผู้ติดตามมาสมบทในภายหลังอีกจำนวนหนึ่ง คือคณะของท้าวคำเหล็กและสมาชิกลาวอิสระจากหลวงพระบาง ที่ถ่อเรือทวนแม่น้ำโขงมายังเชียงแสน จังหวัดเชียงราย อีกส่วนหนึ่งล่องเรือจากหลวงพระบางมายังอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ซึ่งอยู่ตรงข้ามเมืองสานะคาม แขวงเวียงจันทน์ในปัจจุบัน จากนั้นเดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ

เมื่อเจ้าเพ็ดชะลาดมาถึงกรุงเทพฯ นายปรีดี พนมยงค์ ได้ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี โดยให้พันเอก ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีมหาดไทย จัดบ้านพักให้หลังหนึ่งที่ตำบลบางกะปิ ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในเขตอำเภอพระโขนง และต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่ซอยงามดูพลี พร้อมกันนี้ท่านผู้หญิงพูนศูข พนมยงค์ ได้ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยให้หม่อมอภิณพร บุตรสาวของนายเชื้อ ยงใจยุทธไปช่วยทำหน้าที่ติดต่อประสานทั้งเป็นแม่บ้านคอยดูแล และต่อมาได้เป็นชายาของเจ้าเพ็ดชะลาด

นอกจากนี้ นายปรีดี พนมยงค์ ยังได้จัดที่พักให้สมาชิกลาวอิสระอีกหลายคนได้พักอาศัยคือ บ้านคิงส์ดอนที่ปากซอยสาธร๑ สำหรับเป็นที่พำนักของเจ้าสุวันนะพูมาและคณะผู้ติดตาม อีกหลังหนึ่งคือบ้านไม้สองชั้นในซอยพิกุล สาธร ๙ สำหรับเป็นที่พำนักของเจ้าสุพานุวงและสมาชิกอิสระจำนวนหนึ่ง

ส่วนครอบครัวกระต่าย โตนสะโสลิด รองนายกรัฐมนตรีรัฐบาลลาวอิสระ ผู้ซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม ได้เช่าบ้านของ ร.ต.อ.เชื้อ สุวรรณศร คือบ้านไชโย ที่หัวลำโพงให้เป็นที่พำนัก

ในช่วงเวลานั้นมีบรรดานักกู้เอกราชของลาวเข้ามาลี้ภัยอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก ต่มามีการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๙ โดยมีเจ้าเพ็ดชะลาดเป็นนายกรัฐมนตรี เจ้าสุวันนะพูมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีโยธา ฯลฯ สำหรับเจ้าสุพานุวง นอกเหนือจากดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศแล้ว ยังมีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกตำแหน่งหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากเจ้าสุพานุวงได้ก่อตั้งกองกำลังผสมลาว-เวียดนามขึ้นที่เมืองท่าแขก ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๘ และมีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหาร

ส่วนในด้านงบประมาณ รัฐบาลลาวพลัดถิ่นในกรุงเทพฯ ต้องพึ่งตนเอง ทุนรอนในการดำเนินการกู้ชาติได้มาจากการจำนำทรัพย์สินตามโรงจำนำต่างๆ โดยทรัพย์สินเหล่านี้เจ้าเพ็ดชะลาดนำติดตัวมา ส่วนเงินที่นำมาใช้ซื้ออาวุธนั้นหม่อมอภิณพรได้กู้ยืมเงินจากหลวงเสรีเริงฤทธิ์เป็นจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมกันนี้ก็แสวงหาการสนับสนุนช่วยเหลือจากแหล่งต่างๆ

แม้จะได้รับเงินช่วยเหลือส่วนหนึ่งจากนายปรีดี พนมยงค์ และพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แต่ก็เป็นเพียงจำนวนน้อยเพราะมิใช่เป็นการช่วยเหลือในนามรัฐบาล กอปรกับการที่มีสมาชิกอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากทำให้มีรายจ่ายมาก ต้องดิ้นรนแสวงหาทุนทรัพย์จากแหล่งต่างๆ อีกทั้งต้องเก็บออมเงินส่วนหนึ่งไว้ซื้อหาอาวุธเพื่อกู้ชาติ สมาชิกในรัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่นหลายคนต้องออกไปทำงาน