Wednesday, April 23, 2008

บทความที่๔๑๖.สมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์ (๑)

สมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์

ประเทศในอินโดจีนซึ่งเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส มีขบวนการทางการเมืองหรือขบวนการกู้เอกราชก่อตัวขึ้นหลายขบวนการด้วยกัน ขบวนการกู้เอกราชในประเทศลาวคือ “ขบวนการลาวอิสระ” หรือที่เรียกว่า “คณะกู้ออิสระพาบ” (ก.อ.พ.) อยู่ภายใต้การนำของเจ้าเพ็ดชะลาด

ในเวียดนาม คือ “ขบวนการพันธมิตรเพื่อเอกราชของเวียดนาม” (ขบวนการเวียดนาม ดอคแล็บ ดองมินห์) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อสั้นๆว่า “เวียดมินห์” อยู่ภายใต้การนำของโฮจิมินห์ ในกัมพูชา คือ “ขบวนการเขมรอิสระ” อยู่ภายใต้การนำของ เซิน ง็อก ทันห์ และคณะ

บรรดาผู้นำคนสำคัญในขบวนการกู้ชาติดังกล่าว หลายคนเคยเดินทางไปศึกษาและใช้ชีวิตอยู่ในฝรั่งเศส ได้ซึมซับรับอิทธิพลของแนวคิดการอภิวัฒน์สังคมประชาธิปไตย มุ่งสร้างสรรค์สังคมให้มีอิสรภาพ เสมอภาค และภราดรภาพแล้วนำแนวความคิดดังกล่าวมาอภิวัฒน์สังคมในประเทศของตน อาทิ เจ้าเพ็ดชะลาด เจ้าสุพานุวง และโฮจิมินห์

ขบวนการต่อสู้ทางการเมืองของประเทศแถบอินโดจีนในช่วงนั้น ล้วนมีวัตถุประสงค์หลักร่วมกันคือต่อสู้เพื่อเอกราช อธิปไตย และสิทธิเสรีภาพในการปกครองตนเอง อันเป็นหลักการที่สอดคล้องกับแนวคิดการอภิวัฒน์ฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.๒๓๓๒ และเพื่อให้ความมุ่งมั่นดังกล่าวบรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ แต่ละประเทศต่างเห็นพ้องต้องกันว่า มีเพียงหนทางเดียวเท่านั้นคือ ต้องต่อสู้ล้มล้างอำนาจการปกครองของฝรั่งเศส ขับไล่กองทหารฝรั่งเศสออกไปจากดินแดนอินโดจีน แล้วสถาปนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนขึ้นมา

ที่สำคัญ บรรดาผู้นำขบวนการต่อสู้ทางการเมืองของประเทศในอินโดจีนล้วนมีความสัมพันธ์อันดีกับนายปรีดี พนมยงค์ นอกเหนือจากอิทธิพลแห่งแนวความคิดการอภิวัฒน์สังคมของฝรั่งเศสแล้ว พื้นฐานทางความคิดที่สำคัญของนายปรีดีมีแนวคิดเชิงอุดมคติของแซซินี ปฏิภาณของคาวูร์ และเลือดนักสู้อย่างการิบัลดี

ในการก่อตั้งสมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์ นายปรีดี พนมยงค์ ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับวัตถุประสงค์หลักของเรื่องนี้ไว้ว่า ในอนาคต หากประเทศเมืองขึ้นได้เอกราชและอิสรภาพและรวมผนึกกำลังกัน ก็จะสามารถทำให้ประเทศไทยและประเทศเหล่านั้นสามารถกำหนดชะตากรรมของตนได้โดยอิสระ หลุดพ้นจากการตกอยู่ภายใต้อิทธิพลการบีบบังคับและการชักจูงทางการเมือง เศรษฐกิจและการทหารจากประเทศมหาอำนาจดังเช่นในอดีต

หากพิจารณาถึงแนวคิดหลักของบรรดาประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมในช่วงสงครามโลกครั้งที่๒ จะเห็นว่า แนวคิดการมุ่งสถาปนารัฐอิสระและการรวมตัวต่อสู้เพื่อความเป็นเอกราชโดยอาศัยพื้นฐานความสัมพันธ์ของประชาชนแต่ละประเทศเป็นสำคัญ ได้พัฒนาไปสู่แผนการร่วมมือของประชาชนในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้หรือที่รู้จักกันในชื่อ “สมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์” ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์เป็นต้นคิด และได้รับการขานรับอย่างดียิ่งจากโฮจิมินห์และเจ้าเพ็ดชะลาด ผู้มีอิทธิพลทางความคิดด้านการอภิวัฒน์สังคมของฝรั่งเศสเช่นกัน “สมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์” ตั้งขึ้นภายหลังจากที่เจ้าเพ็ดชะลาดและคณะได้เข้ามาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในกรุงเทพฯ ภายใต้การสนับสนุนช่วยเหลือของนายปรีดี พนมยงค์ และเหล่าสมาชิกในขบวนการเสรีไทย

แนวคิดของนายปรีดี พนมยงค์ ที่แสดงให้ประจักษ์ถึงการยึดกรอบการอภิวัฒน์สังคม มุ่งให้มีเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ ก็คือการเป็นผู้นำฝ่ายพลเรือนในคณะราษฎรทำการอภิวัฒน์สังคมและเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเสนอหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร สำหรับใช้เป็นหลักในการดำเนินนโยบายของประเทศ (อ่านแถลงการคณะราษฎรฉบับที่๑ และหลัก ๖ ประการได้ที่ http://socialitywisdom.blogspot.com/2008/04/blog-post_16.html)

ในด้านการปฏิบัติตามหลัก ๖ ประการของคณะราษฎรดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินความพยายามที่จะสร้างความเสมอภาคกับต่างประเทศ ในปี พ.ศ.๒๔๘๐ นายปรีดี พนมยงค์ได้เริ่มแก้ไขสนธิสัญญาต่างๆ ที่ฝ่ายไทยเสียเปรียบให้เท่าเทียมกัน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของลัทธิการพึ่งพากัน ประเทศไทยจึงได้รับอธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบจากต่างประเทศ แต่ว่าภายในประเทศนั้นนายปรีดียังไม่สามารถกุมอำนาจได้อย่างแท้จริง

ในการดำเนินการสรรสร้างเอกภาพในหมู่ประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ตามแผนการร่วมมือของ “สมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์” นายปรีดี พนมยงค์ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ได้ติดต่อผู้นำขบวนการกู้เอกราชในภูมิภาคนี้เป็นการส่วนตัว และสนับสนุนให้จัดประชุมขึ้นที่กรุงเทพฯ ในเดือนกรกฎาคม ๒๔๙๐ โดยมีผู้นำขบวนการกู้ชาติในเวียดนาม ลาว กัมพูชา และอินโดนีเซีย ฯลฯ เข้าร่วมประชุม หลังเสร็จสิ้นการประชุมมีการประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ พ.ศ.๒๔๙๐ สาระสำคัญที่ตกลงกันคือ จะผนึกกำลังกันต่อสู้เพื่อต่อต้านการกลับคืนมาของประเทศล่าเมืองขึ้น

ต่อมาในเดือนกันยายน ๒๔๙๐ ได้มีการจัดประชุมผู้นำขบวนการกู้เอกราชขึ้นในกรุงเทพฯ อีกครั้งและได้มีการประกาศก่อตั้ง “สมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์” (Union of Southeast Asia)อย่างเป็นทางการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผนึกกำลังกันต่อต้านการกลับคืนมาของลัทธิอาณานิคม และช่วยเหลือกันในการต่อสู้เพื่อเอกราช ในการนี้ได้มีการเลือกคณะกรรมการ นายเตียง ศิริขันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร เป็นประธาน นายตรัน วัน เกียว เป็นรองประธาน นายเลอ ฮี เป็นเหรัญญิก นายถวิล อุดล วุฒิสมาชิก อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นประชาสัมพันธ์ และมีเจ้าสุพานุวงเป็นเลขาธิการ

สำหรับการดำเนินความพยายามเพื่อกอบกู้เอกราชของประเทศในอินโดจีนในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์กลางสมาคมสหชาติแห่งเอเซียอาคเนย์ นายปรีดี พนมยงค์หัวหน้าขบวนการเสรีไทยได้ให้ความเห็นใจ สนับสนุนช่วยเหลือทั้งในทางตรงและทางอ้อม โดยมอบหมายให้ พล.ร.ต. หลวงสังวรยุทธ (สังวร สุวรรณชีพ)และ ร.อ.พงศ์เลิศ ศรีสุขนันท์ เป็นผู้ดำเนินการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ของขบวนการเสรีไทยที่ได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพสหรัฐอเมริกา (OSS)และฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไปช่วยเหลือขบวนการกู้ชาติของเวียดนามภายใต้การนำของโฮจิมินห์ซึ่งก็คือ “ขบวนการเวียดมินห์” ผ่านทางเสรีไทยสายอีสาน

อาวุธดังกล่าวมีจำนวนมากพอที่จะตั้งกองทัพได้ถึงสองกองพัน ความช่วยเหลือดังกล่าวนี้ถือเป็นความช่วยเหลือจากเสรีไทยในนามของประชาชนไทยทั้งมวล เพื่อเป็นเกียรติและเป็นการรำลึกถึงคุณูปการของนายปรีดี พนมยงค์และประชาชนไทย โฮจิมินห์ได้ตั้งชื่อกองพันพิเศษของกองทัพเวียดมินห์ทั้งสองกองพันนั้นว่า “กองพันสยาม๑” และ “กองพันสยาม๒”

No comments: