Friday, April 4, 2008

บทความที่๓๙๑.ท่านปรีดีฯกับขบวนการกู้ชาติในลาว(๙)

ท่านปรีดี พนมยงค์กับขบวนการกู้เอกราชในลาว ตอน ญี่ปุ่นยึดครองลาว (จบ)
ในการเข้ายึดหลวงพระบาง มีข้าราชการพลเรือนชาวฝรั่งเศสจำนวน ๖๐ คนถูกทหารญี่ปุ่นควบคุมตัวไว้ในฐานะเป็นเชลยศึก มีการรื้อค้นเอกสารการเมืองของประเทศลาวออกมาสำรวจพบเอกสารชิ้นหนึ่งที่ผู้สำเร็จราชการประจำอินโดจีนส่งไปถึงผู้สำเร็จราชการหัวเมืองลาว มีข้อความว่า

“เจ้าเพ็ดชะลาดจะกู้เอกราช ให้ระมัดระวังเจ้าพระองค์นี้ สิ้นสงครามแล้วเจ้าเพ็ดชะลาดจะร่วมมือกับประเทศไทยกู้เอกราช”

วันที่ ๘เมษายน พ.ศ.๒๔๘๘ หลังเสร็จสิ้นการปฏิบัติการในรหัส “มา-โกะ” ผู้บัญชาการกองพันที่๑ แห่งกองพลที่ ๒๘ คือ ซาโกะ มาซาโนริ ได้ประกาศการยึดครองลาวอย่างเป็นทางการ ที่บริเวณหน้าสำนักงานผู้สำเร็จราชการหัวเมืองลาวประจำเวียงจันทน์ ไว้ดังนี้

“นับแต่นี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะทำหน้าที่แทนผู้สำเร็จราชการประจำหัวเมืองลาว เป้าหมายของเรามิใช่การยึดครองลาว หากแต่ญี่ปุ่นเป็นมิตรกับพวกท่าน เราเห็นอกเห็นใจต่อการต่อสู้เพื่อเอกราชของพวกท่าน เราต่างล้วนนับถือพุทธศาสนาเหมือนกัน มีผิวเหลืองเหมือนกัน จงมาร่วมมือกันเพื่อก้าวไปสู่การเป็นเอกราชของลาว ข้าพเจ้าจะขอรับผิดชอบในด้านการป้องกันรักษาสันติสุขและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง และในการที่ลาวได้รับเอกราช เราได้ให้ชาวลาวเป็นผู้บริหารประเทศของตน ขอให้ประชาชนชาวลาวทุกคนอย่าได้ตื่นตกใจ จงกลับไปประกอบอาชีพเหมือนเช่นปกติ และขอให้เข้าใจการปฏิบัติการของเราในครั้งนี้ว่า มิใช่เป็นการกระทำเพื่อประเทศญี่ปุ่น หากแต่กระทำเพื่อประเทศชาติของพวกท่าน ขอให้ช่วยกันบอกต่อคำประกาศนี้ไปยังเพื่อร่วมชาติของท่าน ที่ไม่ได้มาร่วมในวันนี้ด้วย”

ในวันเดียวกันนี้ เจ้าชีวิตสว่างวงได้มีพระราชโองการประกาศเอกราชของอาณาจักรหลวงพระบาง และร่วมสร้างความเจริญก้าวหน้ากับญี่ปุ่น ตามคำประกาศร่วมวงไพบูลย์ในเอเชียอาคเนย์

“พิจารณาตามสถานการณ์โลกปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออก เราขอประกาศอย่างเปดเผยว่า นับแต่วันนี้เป็นต้นไป ราชอาณาจักรของเรา ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส บัดนี้ได้กลับมาเป็นเอกราชและจะพยายามป้องกันรักษาเอกราชไว้เหมือนกับประเทศอื่นๆ พร้อมกันนี้จะร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายสร้างวามเจริญก้าวหน้าตามคำประกาศสร้างวงไพบูลย์ร่วมกันของมหาอำนาจในเอเชียตะวันออก ฉะนั้น เพื่อความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นอันดีกับจักรพรรดิญี่ปุ่น เราขอประกาศว่า ราชอาณาจักรได้ตกลงใจร่วมได้ร่วมเสียทุกกรณีกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างความสำเร็จร่วมกันดังกล่าวข้างต้น”

ญี่ปุ่นยึดครองดินแดนลาวและอินโดจีนไว้ได้ตามแผนปฏิบัติการที่มีชื่อรหัสว่า “มา โกะ” (Ma-Go) ในการยึดเมืองหลวงพระบาง ซึ่งมีฐานะเป็นเมืองหลวงของประเทศและเป็นเมืองที่ประทับของเจ้าชีวิต ใช้กำลังทหารเพียงแค่ ๒ กองพันเท่านั้น คือกองพันที่ ๑ ในสังกัดกองพลที่ ๒๘ ภายใต้การบังคับบัญชาของนายทหารนามว่า ซาโกะ มาซาโนริ ส่วนอีกหนึ่งกองพันอยู่ภายใต้การบัญชาการของไทโช วาตานาเบ้ ผู้มีตำแหน่งเป็นกงสุลญี่ปุ่นประจำเวียดนาม ที่เคลื่อนพลเข้ามาทางด้านเมืองวินห์และผ่านเชียงขวางลงมายังหลวงพระบาง

ส่วนกองทหารราบจากกองพันที่ ๒๒ และกองพันที่ ๘๕ ที่เคลื่อนพลผ่านตองกินเข้ามายังลาว ต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างเหนียวแน่นและเด็ดเดี่ยวจากชาวม้งในไลเจาและตรานนินท์

ต่อมาไทโช วาตานาเบ้ ได้รัมอบหมายให้เป็นกงสุลญี่ปุ่นประจำลาวอีกตำแหน่ง ได้พาเจ้าสว่างวัฒนา รัชทายาทของเจ้าสีสว่างวงเดินทางไปยังไซ่ง่อนเพื่อพบเจรจากับพลเอก ทุรชิบาชิ ผู้บัญการกองพลที่ ๒๘ และออกประกาศเอกราชร่วมกับญี่ปุ่นทางวิทยุที่เมืองไซ่ง่อน

หลังจากนั้นญี่ปุ่นได้ก่อตั้งสำนักงานเพื่อเตรียมการสู่เอกราช (Laosu Dokoritsu Junbi Jimusho) พร้อมทั้งร่วมือกับปัญญาชนลาวที่สนับสนุนฝ่ายญี่ปุ่น อันได้แก่ หนู อภัย, กระต่าย โตนสะโสลิด และ พูวง พิมมะสอน ออกหนังสือพิมพ์ในชื่อ “ลาวเจริญ” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อให้ชาวลาวร่วมวงไพบูลย์มหาเอเซียบูรพา

ขณะที่กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ามายึดเวียงจันทน์และหลวงพระบาง ฝรั่งเศสได้สร้างปัญหาร้ายแรงเสมือนเป็นระเบิดเวลาทิ้งไว้ นั่นคือทำลายระบบเศรษฐกิจการเงินของลาวให้ขาดสภาพคล่อง วิธีที่ฝรั่งเศสใช้ก็คือ ก่อนหน้าที่กองทหารฝรั่งเศสจะถอนตัวออกไปจากดินแดนลาว ได้ถอนเงินในคลังออกไปจนเกือบหมด เหลือเงินหมุนเวียนอยู่ในตลาดไม่มากนัก ส่งผลให้เศรษฐกิจของลาวตกอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างร้ายแรง

การที่ฝรั่งเศสสามารถทำลายระบบเศรษฐกิจของลาวทั้งระบบได้โดยง่าย ก็เนื่องจากช่วงที่ปกครองลาว เวียดนาม และกัมพูชา ในฐานะเป็นดินแดนอาณานิคมฝรั่งเศสได้บัญญัติเงินเปียสต้าสำหรับใช้ในอาณานิคมทั้งสามประเทศ และได้จัดสรรเงินงบประมาณให้แก่ลาวสำหรับใช้หมุนเวียนในประเทศจำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การเข้ามายึดครองของญี่ปุ่นในอีกด้านหนึ่งนับได้ว่ามีส่วนช่วยอย่างสำคัญในการผลักดันให้บรรดาผู้รักชาติที่กระจายอยู่ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเวียงจันทน์ หลวงพระบาง เชียงขวาง สะหวันนะเขด คำม่วน และท่าแขกได้เข้ามารวมตัวกันอย่างเป็นเอกภาพ ภายใต้แนวคิดของการรวมพลังกันต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราช เสรีภาพ ความเสมอภาค และอธิปไตย

No comments: