Wednesday, April 9, 2008

บทความที่๓๙๓.ท่านปรีดีฯกับขบวนการกู้ชาติลาว(๑๐)

ท่านปรีดี พนมยงค์กับขบวนการกู้เอกราชในลาว ตอน ขบวนการชาตินิม
ในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ประเทศไทยได้ยื่นคำขาดเรียกร้องเอาอินแดนบางส่วนของลาวและกัมพูชาจากฝรั่งเศส และต่อมาในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ปีเดียวกัน ได้เกิดการปะทะกันระหว่างกองทหารไทยกับกองทหารฝรั่งเศสในดินแดนอินโดจีน การสู้รบมีขึ้นบริเวณพรมแดนในหลายจุด

ช่วงเดียวกันนี้ ได้มีการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลผู้รักชาติ กลุ่มนักศึกษาวิทยาลัยปาวีที่มีแนวคิดชาตินิยมอย่างแรงกล้า ออกรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อเอกราชลาวอยู่ในเวียงจันทน์ ขบวนการชาตินิยมได้ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ ทั้งในกรุงเวียงจันทน์ หลวงพระบาง สะหวันนะเขด ท่าแขก และเมืองอื่นๆ มีการเรียกชื่อกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชเหล่านี้ว่า “คณะกู้อิสระพาบ”

บรรดาผู้รักชาติที่ต้องกรให้ลาวเป็นอิสระจากการปกครองของฝรั่งเศสกระจายอยู่ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ การรวมตัวกันเคลื่อนไหวดังกล่าวตกเป็นเป้าของแผนใช้กำลังทหารและหน่วยคอมมานโดที่ประจำการอยู่ในเมืองต่างๆ เข้ากวาดบ้างจับกุม

บรรดาสมาชิกระดับนำขบวนการชาตินิยมกว่า ๕๐ คน ที่เคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจของฝรั่งเศสอยู่ในกรุงเวียงจันทน์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นนักศึกษาวิทยาลัยปาวี หวั่นภัยจากการปราบปรามของฝรั่งเศส จึงจำต้องหนีตายข้ามแม่น้ำโขงลี้ภัยมาอยู่ในปรเทศไทย โดยกระจายกันอยู่ทั้งที่จังหวัดหนองคาย ลพบุรี และกรุงเทพฯ

ในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ กองทหารญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังเข้ามายังตะวันออกเฉียงใต้ โดยยกพลขึ้นบกที่บริเวณชายฝั่งทะเลฟากตะวันออกของมาลายา เช่น พื้นที่ชายฝั่งรัฐกลันตันและชายฝั่งทะเลทางภาคใต้ของไทย เช่น พื้นที่นครศรีธรรมราชและสงขลา โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือเคลื่อนกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าสู่พม่าทางภาคใต้ด้านมะริด-ทะวาย และเข้าสู่มะละแหม่ง

การปฏิบัติการยกพลขึ้นบกและการสู้รบเพื่อยึดครองอินแดนมาลายา(มาเลเซีย)และสิงคโปร์ของกองทหารกองทหารญี่ปุ่นดำเนินไปภายใต้การบัญชาการของนายพล ยามาชิตะ ผู้ได้รับฉายาว่า “เสือป่าแห่งมาลายา” หลังจากยึดครองพื้นที่ยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้แล้ว ในช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ก็ได้ลำเลียงเชบยศึกจากกองกำลังเอ (A Force) ซึ่งเป็นทหารจากสหราชอาณาจักร เข้าสู่ประเทศไทยโดยเส้นทางรถไฟเพื่อใช้เป็นแรงงานในการสร้างเส้นทางรถไฟจากหนองปลาดุกไปยังธานบูซายาร์ (Thanbyuzayar) อันเป็นจุดที่เชื่อมต่อเส้นางรถไฟสายเย-มะละแหม่งที่มีอยู่แล้ว

สำหรับการสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์ดังกล่าว ฝ่ายญี่ปุ่นเห็นว่าจะเป็นเส้นทางลำเลียงกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าไปยังพม่าได้สะดวกและปลอดภัยกว่าการลำเลียงผ่านช่องแคบมะละกาไปยังกรุงร่างกุ้ง อีกทั้งยังร่นระยะทางช่วยให้การเคลื่อนกำลังพลสนับสนุนมีความรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม จึงได้ตัดสินใจสร้างทางรถไฟยาว ๒๕๐ ไมล์ โดยลำเลียงเชลยศึกสัมพันธมิตรจากชางกี (Changi) ในสิงคโปร์ มายังแคมป์ที่บ้านโป่งและกาญจนบุรี จำนวน ๓,๐๐๐ นาย และนำเชลยศึกจากเนเธอร์แลนด์ เวสท์อินดิส เข้ามาร่วมสมทบ การก่อสร้างเริ่มขึ้นในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๕

ก่อนหน้านี้ เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพเข้าสู่ประเทศไทย รัฐบาลไทยในขณะนั้นซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ และในทันทีทันใดที่ญี่ปุ่นยาตราทัพเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ท่านปรีดี พนมยงค์ ก็ได้จัดตั้งขบวนการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาขบวนการนี้ได้รับการขนานนามจากสัมพันธมิตรว่า “ขบวนการเสรีไทย” ท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งรับการขณะนั้นดำรงฐานะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นหัวหน้าขบวนการและมีชื่อภายใต้รหัส “รู้ธ” ได้พยายามรวบรวมผู้รักชาติให้มาร่วมกันต่อสู้เพื่อให้ชาติไทยได้รับเอกราชและมีอธิปไตยสมบูรณ์

มีการส่งตัวแทนไปติดต่อฝ่ายสัมพันธมิตรที่มีกองบัญชาการอยู่ที่จุงกิงในประเทศจีนคือนายจำกัด พลางกูร และคณะ และต่อมากองกำลังสัมพันธมิตร คือ กองกำลัง-๑๓๖ ของสหราชอาณาจักรได้ร่วมกับหน่วยบริการทางยุทธศาสตร์ (โอ.เอส.เอส.) ของสหรัฐอเมริกา ให้การช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และการฝึกอบรมด้านการทหารในพื้นที่เทือกเขาภูพาน

นายพล ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบทเตน ผู้บังชาการกองกำลังสัมพันธมิตรที่แคนดี ได้มีการติตด่อกับ “รู้ธ” และจัดวางกำลังในแผนยุทธศาสตร์ให้กองพลที่ ๑๒ รับผิดชอบพื้นที่ด้านไทยและอินโดจีน โดยในไทยประกอบด้วยกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรหน่วยที่ ๗ หน่วยที่ ๒๖ และหน่วยกองทัพเสรีไทย ที่มีนายเตียง ศิริขันธ์ เป็นผู้บัญชาการกองทัพ ส่วนในอินโดจีนได้มอบหมายให้กองกำลังหน่วยที่ ๒๐ และกองทหารฝรั่งเศส เป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่

กรณีของไทย กองทัพเสรีไทยได้ปฏิบัติการภายใต้การสนับสนุนของหน่วยอี กองกำลัง-๑๓๖ และหน่วยบริการทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา โดยมีกองกำลังหน่วยที่ ๗ ร่วมปฏิบัติการในพื้นที่ของไทยโดยตรง ส่วนกองกำลังที่ ๒๖ นั้นมิได้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยแต่อย่างใด หากแต่เดินทางจากมัทราสไปยังสุมาตราในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๘

ในการนี้นายเตียง ศิริขันธ์ และกลุ่มผู้นำเสรีไทยสายอีสาน ได้ติดต่อกับบรรดานักกู้ชาติลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิก “คณะกู้อิสระพาบ” ที่เข้ามาลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย เป็นต้นว่า บง สรีรัตนะกุน อดีตอัยการศาลทหารในเวียงจันทน์ ผู้เคยมารับการฝึกในกองทัพเสรีไทยที่ภูพาน และทัม ไชยะสิดเสนา ฯลฯ แล้วชักชวนให้เข้ามาร่วมงานกับเสรีไทยในการต่อต้านญี่ปุ่น

พันตรี จอห์น เอช.ฮอลิเดย์ เจ้าหน้าที่ของหน่วยบริการด้านยุทธศาสตร์ของอเมริกา (โอ.เอส.เอส.) ซึ่งพูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว เนื่องจากเป็นมิชชั่นนารีนิกายโปรเตสแตนท์อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของไทยเป็นเวลานาน ได้พบกันอุ่น ชะนะนิกอน พร้อมด้วยบง สรีรัตนะกุน และนายทัม ไชยะสิดเสนา ที่เข้าร่วมในขบวนการเสรีไทยกับนายเตียง ศิริขันธ์ รวมทั้งผู้ทนำลาวอิสระอีกจำนวนหนึ่งแล้วแจ้งให้ทราบว่า เดอโกลได้ตั้งกองทัพฝรั่งเศสเสรีขึ้นในอังกฤษ เพื่อต่อสู้กับกองทัพเยอรมันที่ยึดครองฝรั่งเศสอยู่ และมีการก่อตั้งกองกำลังฝรั่งเศสเสรีขึ้นในลาวเพื่อต่อสู้กับญี่ปุ่น ในการนี้ต้องการความช่วยเหลือจากคนลาว โดยฝรั่งเศสได้ให้คำมั่นว่า ภายหลังจากขับไล่ญี่ปุ่นออกไปจากลาวแล้วจะคืนเอกราชให้แก่ประชาชนลาว ซึ่งบุนอุ้ม ณ จำปาสัก กับเกื้อ วรสงศ์เจ้าเมืองปากเซได้ให้การสนับสนุน

ทว่าอุ่น ชะนะนิกอน ไม่เห็นด้วยที่จะไปร่วมมือกับฝรั่งเศสต่อต้านญี่ปุ่นและให้ความเห็นว่า ลาวอิสระอาจจะเผชิญกับศัตรูทั้งสองด้านในคราวเดียวกันคือ ฝรั่งเศสและญี่ปุ่น จึงเห็นควรติดต่อรับความช่วยเหลือจากเสรีไทย และ พ.ต.เจมส์ ธอมสัน แห่งหน่วยบริการด้านยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา (โอ.เอส.เอส.)ได้แนะนำให้ติดต่อกับนายเตียง ศิริขันธ์ ผู้นำขบวนการเสรีไทยสายอินาน เพื่อขอรับความสนับสนุนนช่วยเหลือทางด้านการทหาร

บรรดาผู้ที่มุ่งกอบกู้เอกราชของลาวล้วนตระหนักดีว่า การที่กองทหารญี่ปุ่นกดดันให้กองทหารฝรั่งเศสหลบเร้นหนีออกไปจากดินแดนลาว แล้วเข้ายึดครองแทนในรูปของการร่วมวงไพบูลย์มหาเอเซียบรูพานั้น ไม่ต่างอะไรกับกระท่อมหลังน้อยที่เสื่ออกไปทางประตูหน้าแล้วหมาป่าเข้ามาทางประตูหลัง

อุ่น ชะนะนิกอน ผู้นี้มีความรู้ภาษาฝรั่งเศสในขั้นดี ด้วยเคยเรียนหนังสือในสถาบันเดียวกับเจ้าสุพานุวง คือ โรงเรียนอัลแบรต์ ซาโรท์ในกรุงฮานอย และได้เข้าทำงานในกรมโฆษณาการที่มีนายไพโรจน์ ชัยนาม เป็นอธิบดี ทำหน้าที่เป็นผู้ฟังข่าวต่างประเทศจากสถานีวิทยุทั่วโลกที่ส่งเป็นภาษาฝรั่งเศส แล้วเสนอเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบภาคข่าวต่างประเทศภาษาไทย เพื่อนำเสนอข่าวที่สำคัญๆ ในภาคภาษาไทยเป็นประจำวันต่อไป

อุ่นได้เขียนบันทึกถึงช่วงนี้ไว้ว่า เขาไดรับการติดต่อจากนายไพโรจน์ ชัยนาม ชวนให้เข้าร่วมงานกับเสรีไทย และได้แนะนำให้รู้จักกับนายเตียง ศิริขันธ์ นายจำลอง ดาวเรือง ผู้นำขบวนการเสรีไทยสายอีสาน ซึ่งสายสัมพันธ์อันดีกับผู้รักชาติชาวลาวโดยเฉพาะนายจำลอง ดาวเรือง มีความสนิทสนมเป็น “เสี่ยวฮักเสี่ยวแพง” กับสิงกะโป สีโคตจุนนะมาลี ซึ่งต่อมามีบทบาทนำในกองทัพปลอดปล่อยประชาชนลาว นายเตียง ศิริขันธ์ แนะนำให้อุ่นติดต่อบรรดาสมัครพรรคพวกผู้รักชาติชาวลาวที่มุ่งมั่นในการต่อสู้เพื่อความเป็นเอกราชและอธิปไตยโดยสมบูรณ์ ซึ่งข้ามมาลี้ภัยอยู่ในประเทศไทยแล้วรวมตัวกันก่อตั้ง “คณะลาวอิสระ” ขึ้น

อุ่น ชะนะนิกอน เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายเตียง ศิริขันธ์ และนายจำลอง ดาวเรือง และได้แสดงทัศนะว่า ในสถานการณ์ช่วงนั้นต้องร่วมมือกับเสรีไทยและชาติพันธมิตรในการต่อต้านญี่ปุ่น จากนั้นได้ไปติดต่อกับพญาคำม้าว วิไล เจ้าแขวงเวียงจันทน์ และคำผุย ปัญญา รอเจ้าแขวง ชี้ให้เห็นว่า ญี่ปุ่นกำลังใช้เวียงจันทน์เป็นฐานบัญชาการในการยึดครองลาวทั้งประเทศ

อุ่น ชะนะนิกอน ผ่านงานในราชการไทยมาหลายตำแหน่ง รวมทั้งเป็นผู้อำนวยการสวนสัตว์ลพบุรี และนายทหารประจำอยู่ที่ค่ายทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรี ก่อนที่จะมาอยู่กรมโฆษณาการกับนายไพโรจน์ ชัยนาม และต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๘ อุ่นก็ได้ก่อตั้งกองกำลังลาวอิสระ มีฐานบัญชาการอยู่ที่จังหวัดหนองคาย โดยมีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการ จากนั้นส่งผู้รักชาติลาวที่สมัครเข้าเป็นทหารในกองกำลังลาวอิสระจำนวนหนึ่งมารับการฝึกอาวุธร่วมกับทหารอาสาสมัครของกองทัพเสรีไทยที่ค่ายฝึกในเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร

No comments: