Friday, September 21, 2007

บทความที่๓๑๖.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๑๙

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พยมยงค์
บทที่ ๔ สยาม ราชอาณาจักรใต้ดิน
-๗-
ภายหลังที่ญี่ปุ่นยอมจำนนในวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘ แล้ว ข้าพเจ้าได้เปิดเผยขบวนการใต้ดิน และได้ประกาศในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ว่า การประกาศสงครามของจอมพลพิบูลฯ ต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ ตลอดจนการผนวกเอาดินแดนบางส่วนของพม่าและมลายูของอังกฤษในระหว่างสงครามนั้นเป็นโมฆะ ข้าพเจ้าได้แถลงเช่นเดียวกันว่า ให้ถือเอาวันที่ ๑๖ สิงหาคม เป็น “วันสันติภาพ” และจะมีการฉลองในวันนี้ของทุกๆปี แต่รัฐบาลภายหลังรัฐประหาร ๒๔๙๐ ได้ยกเลิก “วันสันติภาพ” นี้เสีย

รัฐบาลอเมริกันได้ส่งนักการทูตมาเพื่อสถาปนาฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศสยามดังที่ได้ให้สัญญาไว้ รัฐบาลอเมริกันมิได้มีเงื่อนไขใดๆ นอกจากขอให้เราคืนเงินจำนวนหนึ่งให้กับบริษัทอเมริกัน เพราะรัฐบาลจอมพลพิบูลฯ และญี่ปุ่นได้ยึดทรัพย์สินของบริษัทนั้นไป และขอให้จับตัวจอมพลพิบูลฯและผู้สมรู้ร่วมคิดฟ้องศาลฐานเป็นอาชญากรสงคราม

ฝ่ายรัฐบาลอังกฤษเรียกร้องให้ส่งคณะผู้แทนไปพบลอร์ดเมานท์แบทเตนที่กองบัญชาการทหารในประเทศซีลอน เพื่อเจรจากับผู้แทนฝ่ายรัฐบาลอังกฤษ โดยให้สยามยอมรับเงื่อนไขในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับอังกฤษ

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง เราได้ตกลงให้กองทหารอังกฤษเข้ามาในประเทศไทยเพียงเพื่อปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นเท่านั้น และให้ถอนกำลังทหารนี้ออกไปโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือ ในทันทีที่ปฏิบัติภารกิจในการปลดอาวุธเสร็จสิ้นแล้ว

ในระหว่างนั้น ลอร์ดเมาน์ทแบทเตนและภรรยาได้เดินทางมากรุงเทพฯ ๒ ครั้ง และได้พบปะกับข้าพเจ้า ซึ่งได้กระชับมิตรภาพระหว่างเราให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ลอร์ดเมาน์ทแบทเตนในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์ได้จัดพิธีสวนสนามของกองทหารอาสาสมัครอังกฤษที่เดินทางมาประเทศไทยเพื่อปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น เฉพาะพรพักตร์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพในความเป็นเอกราชของชาติไทยและองค์พระประมุข
ส่วนเงื่อนไขทางการเมืองที่รัฐบาลอังกฤษยื่นข้อเรียกร้องมานั้น เราพิจารณาแล้วเห็นว่า เงื่อนไขดังกล่าวเท่ากับเป็นการยอมจำนนกลายๆนั่นเอง แตกต่างกันแต่ในเรื่องวิธีการและคำพูดเท่านั้น ดังนั้น เราจึงไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว การเจรจากันในเรื่องนี้ใช้เวลา ๑ ปีโดยไม่บรรลุผลใดๆ ช่วงเวลานี้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลสยามตามวิถีทางรัฐธรรมนูญถึง ๓ ครั้ง ในที่สุดรัฐบาลสยามจำเป็นต้องส่งมอบข้าวให้รัฐบาลอังกฤษจำนวน ๑,๕๐๐,๐๐๐ ตัน และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทอังกฤษที่ตั้งขึ้นในสยามก่อนสงคราม และที่ถูกญี่ปุ่นและรัฐบาลพิบูลฯยึดไป ตลอดจนความเสียหายที่เกิดจากภัยทางอากาศในระหว่างสงครามที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผู้กระทำเอง อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่ยุติธรรมต่อประเทศเล็กๆอย่างสยามในการที่ต้องรับผิดชอบความเสียหายต่างๆที่เกิดขึ้น ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นและฝ่ายสัมพันธมิตรเองเป็นผู้ก่อ แต่เราจำต้องยอมลงนามในความตกลงดังกล่าวนั้น เพื่อที่จะสามารถฟื้นฟูประเทศหลังสงครามได้เร็วที่สุดและเพื่อหาโอกาสอันสมควรในการเจรจาอย่างสันติอีกครั้งหนึ่งกับรัฐบาลพรรคแรงงานของอังกฤษ เพื่อแก้ไขข้อความต่างๆที่ไม่ยุติธรรมสำหรับเรา

ความตกลงดังกล่าวกำหนดให้รัฐบาลสยามจับกุมและลงโทษบุคคลที่ต้องหาว่าเป็นอาชญากรสงคราม ข้อความนี้ตรงกับความต้องการของรัฐบาลฝ่ายสัมพันธมิตรที่สำคัญๆ ทุกประเทศ เมื่อข้าพเจ้าเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ.๒๔๘๙ ข้าพเจ้าได้เจรจากับรัฐบาลอังกฤษให้ยอมจ่ายเงินค่าข้าวที่เราต้องชดใช้ให้เป็นค่าเสียหาย ฝ่ายรัฐบาลอังกฤษตกลงยินยอมที่จะจ่ายเงินค่าข้าวด้วยราคาที่ต่ำกว่าราคาในตลาดโลก นับว่ายังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

ส่วนเรื่องความเสียหายของบริษัทห้างร้านอังกฤษที่เราต้องชดใช้นั้น เราเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมต่อสยามเช่นกัน เพราะในปี พ.ศ.๒๔๙๔ ฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งรวมทั้งรัฐบาลอังกฤษด้วย ได้ลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกกับรัฐบาลญี่ปุ่นที่ซานฟรานซิสโก ตามสนธิสัญญาฉบับนี้ รัฐบาลอังกฤษเองได้ยกเลิกข้อเรียกร้องค่าปฏิกรรมสงครามจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญในสงคราม

บทความที่ ๓๑๕.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๑๘

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พยมยงค์

บทที่ ๔ สยาม ราชอาณาจักรใต้ดิน
-๖-
สำหรับรัฐบาลจีนโดยการนำของจอมพลเจียงไคเช็ค ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายคอมมิวนิสต์เองรับรองว่า เป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศจีนในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ขบวนการเสรีไทยได้ส่งผู้แทนไปเจรจา ๓ ครั้ง เรื่องความเป็นเอกราชของสยาม และขอให้คณะผู้แทนของขบวนการฯ ผ่านประเทศจีน เพื่อไปติดต่อกับประเทศสัมพันธมิตรอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น

รัฐบาลจีนได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่จีนชื่อ เหลียง (เกิดในเมืองไทย)เป็นผู้ดำเนินการเจรจากับคณะผู้แทนของขบวนการฯ เจ้าหน้าที่ผู้นี้ทำงานในหน่วยสืบราชการลับของรัฐบาลจีนและเป็นที่ไว้วางใจมาก อันที่จริงแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้นี้สนับสนุนฝ่ายคอมมิวนิสต์และได้เปิดเผยรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับจุดประสงค์ของข้ารัฐการชั้นสูงของจีนที่มีต่อสยาม(ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ เจ้าหน้าที่ผู้นี้ได้เดินทางไปยังกรุงปักกิ่งเพื่อเข้าร่วมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์และเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ข้าพเจ้าในการเตรียมการเดินทางไปยังสาธารณรัฐราษฎรจีน)

รัฐบาลจีนไม่พอใจประเทศไทยมาก เพราะรัฐบาลจอมพลพิบูลฯ ไม่เพียงแต่จะส่งกองทหารไปยึดพื้นที่บริเวณตลอดชายแดนจีน-พม่า ที่ขึ้นกับอังกฤษเท่านั้น แต่ยังรับรองรัฐบาลหุ่นของมานจูกั๊วะ ที่ตั้งขึ้นภายใต้การบงการของญี่ปุ่นในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน (อดีตจักรพรรดิปูยี PU YI ซึ่งได้ถูกถอดจากราชบัลลังก์จีนโดยการอภิวัฒน์ชนชั้นเจ้าสมบัติในปี พ.ศ.๒๔๕๔ ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นจักรพรรดิในรัฐใหม่แห่งนี้) นอกจากนี้ จอมพลพิบูลฯ ยังรองรับรัฐบาลวังจิงไว WANG Ching-wei ว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศจีนด้วย

รัฐบาลจีนได้ออกข่าวผ่านทางวิทยุกระจายเสียงและหนังสือพิมพ์ขู่ว่า จะบุกเข้าประเทศไทยจับตัวจอมพลพิบูลฯ และผู้สมรู้ร่วมคิดมาชำระคดีฐานเป็นอาชญากรสงคราม การเจรจาของเรากับรัฐบาลจีนจึงลำบากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะต้องพยายามให้รัฐบาลจีนไม่ถือว่าประเทศสยามเป็นศัตรูและเคารพความเป็นเอกราชของสยามภายหลังที่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัยชนะ

การเดินทางของผู้แทนคนแรกของขบวนการฯ คือนายจำกัด พลางกูร ไม่อาจผ่านประเทศจีน เพื่อไปยังประเทศสัมพันธมิตรได้ เพราะติดขัดทางฝ่ายรัฐบาลจีน จึงทำให้เขาไม่สามารถปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงไปได้ การเดินทางครั้งนี้ประสบความลำบากมากมาย นายจำกัดฯ ได้เสียชีวิตลงที่นครจุงกิง ผู้แทนคนที่ ๒คือนายสงวน ตุลารักษ์ ได้รับความสะดวกขึ้นบ้างในการเดินทางไปอังกฤษและ ส.ร.อ.

คณะผู้แทนชุดที่ ๓ นำโดยนายถวิล อุดล สามารถประสานการทำงานระหว่างขบวนการฯของเรากับรัฐบาลจีนได้จนสิ้นสงคราม

ด้วยความพยายามของเราและด้วยความช่วยเหลือของรัฐบาล ส.ร.อ.โดยประธานาธิบดีรูสเวลท์ รัฐบาลจีนยอมถือตามนโยบายของรัฐบาลอเมริกันในการเคารพความเป็นเอกราชของสยามภายหลังที่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัยชนะ

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์ในปี พ.ศ.๒๔๘๖ นั้น จอมพลเจียงไคเช็คได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อบัญชาการสู้รบในประเทศจีนและในอินโดจีน หลังปี พ.ศ.๒๔๘๖ เจียงไคเช็คจึงได้รับผิดชอบการสู้รบเฉพาะในประเทศจีนเท่านั้น

แต่เนื่องจากเส้นแบ่งเขตทางภาคเหนือของเอเชียอาคเนย์ยังไม่แน่นอน เจียงไคเช็คพยายามขอให้สัมพันธมิตรยอมให้เขตแดนสยาม และอินโดจีนฝรั่งเศสเหนือเส้นขนานที่ ๑๖ อยู่ในเขตยุทธภูมิจีนที่เจียงไคเช็ครับผิดชอบอยู่ ข้าพเจ้าได้แสดงความวิตกกังวลในเรื่องนี้ต่อรัฐบาลอเมริกัน เนื่องจากถ้าฝ่ายสัมพันธมิตรยินยอมตามเจียงไคเช็ค กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลที่คลั่งชาติที่มีอยู่จำนวนมากในสยามย่อมฉวยโอกาสในขณะที่กองทัพจีนเข้ามาอยู่ในประเทศสยาม ก่อความวุ่นวายขึ้น

หลังการยอมจำนนของญี่ปุ่นใน พ.ศ.๒๔๘๘ เจียงไคเช็คได้ขอความเห็นจากสัมพันธมิตรว่า เขาจะส่งกองทัพเข้ามาปลดอาวุธญี่ปุ่นในเขตแดนสยามและอินโดจีนบริเวณเหนือเส้นขนานที่ ๑๖ ได้หรือไม่ ข้าพเจ้าได้ส่งโทรเลขไปถึงรัฐบาลอเมริกัน เพื่อชี้แจงว่า ขบวนการเสรีไทยพร้อมที่จะปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในดินแดนไทยเอง

ประธานาธิบดีทรูแมน ซึ่งรับตำแหน่งสืบต่อจากรูสเวลท์ ตระหนักดีถึงปัญหาชาวจีนโพ้นทะเลดังกล่าว จึงแต่งตั้งให้ผู้บัญชาการทหารอเมริกันที่รับผิดชอบด้านญี่ปุ่นเป็นผู้ออกคำสั่งให้กองกำลังทหารญี่ปุ่นในดินแดนสยามยอมจำนนต่อลอร์ดเมานท์แบทเตน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์

ส่วนเจียงไคเช็คนั้น ได้รับภาระให้ส่งกองทัพเข้าไปปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นทางตอนเหนือของอินโดจีนฝรั่งเศสเท่านั้น

Thursday, September 20, 2007

บทความที่๓๑๔.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๑๗

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พยมยงค์
บทที่ ๔ สยาม ราชอาณาจักรใต้ดิน
-๕-
ส่วนท่าทีของสหราชอาณาจักรนั้น แม้ว่าผู้นำทหาร ดังเช่นลอร์ดเมานท์แบตเตน จะแสดงความชื่นชมต่อคุณูปการของเราที่มีต่อฝ่ายสัมพันธมิตร (ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในตอนที่ ๓) ในเบื้องแรก รัฐบาลสหราชอาณาจักร ซึ่งประกอบด้วยนักการเมืองที่มีแนวโน้มนิยมชมชอบลัทธิจักรวรรดินิยมไม่ยินยอมเจรจากับเราในทางการเมืองในส่วนที่เกี่ยวกับเอกราชของชาติไทยภายหลังที่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัยชนะ ดังนั้น ลอร์ดเมานท์แบตเตน จึงได้รับคำสั่งอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลของตนให้เจรจากับผู้แทนฝ่ายเราเพียงเฉพาะเรื่องกิจการทางทหารอย่างเดียวเท่านั้น นักการเมืองชาวอังกฤษในยุคนั้นทราบดีทีเดียวว่า การประกาศสงครามระหว่างสยามกับสหราชอาณาจักรนั้น ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม อังกฤษถือว่า ประเทศเราจะต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่อังกฤษ

เมื่อรัฐบาลอังกฤษมีท่าทีปฏิเสธการเจรจาทางการเมืองเช่นนี้ เราจึงได้หันเหมาใช้ความพยายามเจรจาในเรื่องนี้กับรัฐบาลอเมริกัน ที่นำโดยประธานาธิบดีรูสเวลท์ ซึ่งมีท่าทีสนับสนุนสยาม และพยายามเจรจากับรัฐบาลผสมของจีน (ระหว่างจีนคณะชาติกับจีนคอมมิวนิสต์) โดยทางเราได้ส่งคณะผู้แทนไปเจรจาเรื่องเอกราชของชาติ

เราได้ขอให้สถานอัครราชทูตเขาเราที่กรุงสต๊อค โฮล์มติดต่อสถานอัครราชทูตของโซเวียตที่นั่นเช่นกัน ให้ช่วยส่งบันทึกรายงานฉบับหนึ่งไปยังรัฐบาลโซเวียต เพื่อสนับสนุนความต้องการอันชอบธรรมของเรา

รัฐบาลของประธานาธิบดีรูสเวลท์ได้ให้ความช่วยเหลือแก่เราหลายครั้งหลายคราว เพื่อจะทำให้อังกฤษเปลี่ยนใจ หรืออย่างน้อยที่สุดให้อังกฤษมีท่าทีเดียวกับ ส.ร.อ.ในการยอมรับว่า ประเทศสยามมิได้เป็นศัตรู แต่เป็นประเทศที่อยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘ เราได้พิจารณาเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ขบวนการเสรีไทยจะต่อสู้การรุกรานขอญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย แทนที่จะกระทำการอย่างลับๆ แต่ก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติการ เราได้ปรารถนาที่จะให้รัฐบาลอเมริกันและอังกฤษยืนหยัดต่อเราก่อนว่า จะเคารพความเป็นเอกราชของประเทศสยามแม้ว่า จอมพลป.พิบูลสงครามจะได้ประกาศสงครามกับประเทศทั้งสองโดยไม่ถูกต้อง ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงได้ส่งโทรเลขลับด่วนมาก ๒ ฉบับ ซึ่งมีข้อความตรงกัน ฉบับหนึ่งถึงกระทรวงการต่างประเทศ ส.ร.อ. และอีกฉบับหนึ่งถึงลอร์ดเมานท์แบตเตน ข้าพเจ้าขอยกข้อความในโทรเลขของข้าพเจ้า ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศ ส.ร.อ. ได้ตีพิมพ์ภายหลังญี่ปุ่นยอมจำนนไปแล้ว ๒๕ ปี ดังนี้

๑)บันทึกจัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศ ส.ร.อ.เลขที่๓๔๐๐๐๑๑ P.W./๕๒๙๔๕ วอชิงตัน ๒๘ พฤษภาคม ๒๔๘๘

สาส์นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจากรู้ธ(ปรีดี พนมยงค์)ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ ส.ร.อ.ได้รับเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘ มีข้อความดังต่อไปนี้

“การต่อต้านเสรีไทยในการดำเนินกิจกรรมทั้งหลายนั้น ได้ทำตามคำแนะนำของผู้แทนอเมริกันเสนอมาในการที่มิให้ปฏิบัติการใดๆ ต่อสู้ญี่ปุ่นก่อนถึงเวลาอันควร แต่ในขณะนี้ข้าพเจ้ากำลังใจรบของญี่ปุ่นจะลดน้อยลงไป ถ้าขบวนการเสรีไทยไม่คงอยู่ภายในฉากกำบังอีกต่อไป ญี่ปุ่นจะถูกบีบให้ยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขต่อสัมพันธมิตรเร็วขึ้น เพราะการสลายตัวของสิ่งที่เรียกว่า วงไพบูลย์ร่วมกัน อย่างไรก็ตาม เราได้ถือตามคำแนะนำว่า ขบวนการเสรีไทยจะต้องพยายามขัดขวางความร่วมมือที่ญี่ปุ่นจะได้จากประเทศไทย เราได้ยึดถือนโยบายนี้อย่างเคร่งครัดที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ แต่ท่านย่อมเห็นได้ว่า ญี่ปุ่นนับวันจะยิ่งมีความสงสัยขบวนการเสรีไทยมากยิ่งขึ้น เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลไทย (รัฐบาลควงฯ) ไม่ยอมทำตามคำขอของญี่ปุ่นที่ขอเครดิตเพิ่มเติมอีก ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ข้าพเจ้าได้รับแจ้งจากรัฐบาลปัจจุบันว่า จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปไม่ได้ ถ้าหากญี่ปุ่นบีบบังคับให้ปฏิบัติตามคำขอดังกล่าว

ถ้าญี่ปุ่นยืนยันเช่นนั้น รัฐบาลใหม่ก็จะตั้งขึ้นและปฏิบัติการต่อสู้ญี่ปุ่น โดยประการแรกประกาศโมฆะกรรม ซึ่งหนี้สินและข้อตกลงซึ่งรัฐบาลพิบูลฯ กับญี่ปุ่นได้ทำกันไว้ตลอดทั้งสนธิสัญญาที่ผนวก ๔ รัฐมาลัยและรัฐฉานไว้กับประเทศไทย รวมทั้งการประกาศสงครามต่ออังกฤษและ ส.ร.อ.ด้วยพื้นฐานแห่งความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ ชาตินี้กับประเทศไทยจะสถาปนาขึ้นดังที่เป็นอยู่ก่อนญี่ปุ่นบุกเพิร์ลฮาร์เบอร์ ก่อนที่จะดำเนินแผนการนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาแจ้งให้ท่านทราบถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ แม้ว่า ข้าพเจ้าตระหนักว่า ส.ร.อ.มีเจตนาต่อเอกราชของประเทศไทย และมีไมตรีจิตต่อราษฎรไทย ข้าพเจ้าเชื่อว่าในวันที่เราลงมือปฏิบัติการนั้น ส.ร.อ.จะประกาศเคารพความเป็นเอกราชของประเทศไทย และถือว่าประเทศไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ และไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นประเทศศัตรู ทั้งนี้ จะเป็นการส่งเสริมกำลังใจอย่างใหญ่หลวงต่อมวลราษฎรไทย ซึ่งเตรียมพร้อมแล้วในการเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง”

ข้าพเจ้าได้ส่งสาระในโทรเลขฉบับนี้ไปยังผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรเอเชียอาคเนย์ด้วยเช่นกัน

๒) ในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ข้าพเจ้าได้รับคำตอบจากผู้รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ส.ร.อ. ดังมีความต่อไปนี้

“ขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อสาส์นของท่านถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เราเข้าใจความปรารถนาของท่านที่จะให้ประเทศไทยต่อสู้ศัตรูทางปฏิบัติการโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราเชื่อแน่ว่า อย่างไรก็ตาม ท่านย่อมตระหนักว่า การต่อสู้ร่วมกันของเรานั้น ต้องสมานกับยุทธศาสตร์ทั้งปวงในการต่อสู้กับญี่ปุ่น และไม่เป็นผลดีถ้าไทยทำก่อนเวลาอันสมควร และก่อนที่จะมีหลักประกันพอสมควรว่าจะได้ชัยชนะ หรือถ้าลงมือปฏิบัติการอย่างเปิดเผยโดยมิได้อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์

เราหวังว่า ท่านจะใช้ความพยายามต่อไปที่จะป้องกันการกระทำก่อนถึงเวลาอันควร โดยขบวนการเสรีไทยหรือการปฏิบัติอันเร่งให้ญี่ปุ่นยึดอำนาจจากรัฐบาลไทย(รัฐบาลควงฯ)

เราเชื่อมั่นว่า ท่านจะแจ้งให้เราและอังกฤษทราบ ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงกระทันหัน ทั้งๆ ที่ท่านพยายามยับยั้งไว้แล้วก็ตาม ส.ร.อ.เข้าใจแจ่มแจ้ง และเห็นคุณค่าในความปรารถนาจริงใจของท่านและมวลราษฎรไทยในการปฏิเสธการประกาศสงครามและข้อตกลงระหว่างญี่ปุ่นกับรัฐบาลพิบูลฯ นั้น แต่ยังไม่เข้าใจแจ้งชัดว่า เหตุใดรัฐบาลปัจจุบัน(รัฐบาลควงฯ)จะลาออกขณะนี้ หรือจะมีการบีบบังคับอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลชุดต่อไปต้องเลือกเอาการปฏิเสธการประกาศสงคราม และข้อตกลงกับญี่ปุ่นเป็นการกระทำในเบื้องแรก

ย่อมจะเห็นได้ว่า ขบวนการเสรีไทยจะบรรลุผลตามวัตถุประสงคืได้ดีกว่าเมื่อออกมาปฏิบัติการเปิดเผยแล้ว คือ โดยจู่โจมการลำเลียงการคมนาคมกองกำลังยุทโธปกรณ์ของศัตรูอย่างฉับพลันและอย่างมีการประสานงาน รวมทั้งยึดตัวนายทหาร พนักงาน เอกสาร จุดสำคัญของศัตรู แล้วการปฏิบัติทางการเมืองเพื่อปฏิเสธการประกาศสงครามและการเข้ามีฐานะเสมอกันกับสัมพันธมิตรก็จะตามภายหลัง

เราให้ความสำคัญต่อการมีรัฐบาลไทยที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงบนผืนแผ่นดินไทย เพื่อที่จะทำการร่วมมือกับสัมพันธมิตร เราหวังว่า การเตรียมทุกอย่างที่จะเป็นไปได้ จะต้องทำขึ้นในอันที่จะป้องกันการจับกุมหรือการแยกย้ายบุคคลสำคัญที่เป็นฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อว่ารัฐบาลดังกล่าวนั้นจะเข้ารับงานได้ทันทีในบริเวณที่ปลอดญี่ปุ่น และสามารถสั่งการทางทหารให้กองทัพไทยปฏิบัติการร่วมมือกับสัมพันธมิตร และสามารถฟื้นกลไกของรัฐบาลพลเรือนในบริเวณที่กู้อิสรภาพแล้ว

ส.ร.อ.ไม่อาจประกาศโดยลำพังได้ว่า ชาติอื่นชาติใดเป็นสมาชิกสหประชาชาติ แต่จะมีความยินดีประกาศซ้ำอีกโดยเปิดเผยในโอกาสเหมาะสมถึงความเคารพความเป็นเอกราชของชาติไทย และประกาศว่า ส.ร.อ.ไม่เคยถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู

เรารอคอยวันที่ประเทศของเราทั้งสองสามารถที่จะเปิดเผยต่อสาธารณถึงจุดหมายร่วมกันในการต่อสู้ศัตรุร่วมกัน”

(ลงนาม) กรูว์
รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

๓) แม้ว่าลอร์ดเมาน์ทแบทเตน ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด จะรู้สึกเห็นใจในขบวนการของเรา แต่ก็ตอบได้เฉพาะในแง่ของแผนการทางทหารเท่านั้น โดยขอให้ข้าพเจ้าป้องกันมิให้มีการกระทำใดๆ ก่อนถึงเวลาอันควร

เมื่อเราส่งนายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นไปที่ประเทศซีลอน เมื่อเจรจากับลอร์ดเมาน์ทแบทเตน บรรดาที่ปรึกษาทางการเมืองที่รัฐบาลอังกฤษส่งมาเจรจา ต่างก็ปฏิเสธที่จะยอมรับความเป็นเอกราชของสยาม

Wednesday, September 19, 2007

บทความที่๓๑๓.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๑๖

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พยมยงค์

บทที่ ๔ สยาม ราชอาณาจักรใต้ดิน
-๔-
รัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีรูสเวลท์ ไม่มีนโยบายที่จะทำให้ประเทศของเราเป็น “อาณานิคม” จะเห็นได้จากบันทึกที่จัดทำโดยกรมกิจการแปซิฟิคตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเตรียมเผื่อท่านประธานาธิบดีจะใช้ในการสนทนากับ มร.เชอร์ชิล และจอมพลสตาลิน ที่นครยัลต้า ในปีพ.ศ.๒๔๘๘ บันทึกนี้กล่าวถึงสถานภาพภายหน้าของสยาม ซึ่งข้าพเจ้าขอยกข้อความตอนหนึ่งมาดังนี้

“เหตุการณ์ที่ชาวยุโรปบีบบังคับประเทศไทย และการที่ชาวยุโรปได้ยึดเอาดินแดนแห่งเอเชียอาคเนย์ไปนั้น ยังอยู่ในความทรงจำของชาวเอเชีย รัฐบาลนี้ (ส.ร.อ.)ไม่อาจจะร่วมในการปฏิบัติต่อไทย ไม่ว่าในรูปแบบใดเยี่ยงจักรวรรดินิยมสมัยก่อนสงครามได้”

บันทึกนี้ยังกล่าวอีกว่า

“เรามิได้ถือว่า ประเทศไทยเป็นศัตรู แต่เป็นประเทศที่ถูกยึดครองโดยศัตรู เรารับรองอัครราชทูตประเทศไทยในกรุงวอชิงตันเป็น “อัครราชทูตแห่งประเทศไทย” ฐานะเหมือนกันกับอัครราชทูตเดนมาร์ก เราสนับสนุนให้มีประเทศไทยที่เป็นเอกราชและมีเสรีภาพ พร้อมด้วยอธิปไตยที่ไม่ถูกบั่นทอนและปกครองโดยรัฐบาลที่ชาวไทยเลือกเอง ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียอาคเนย์ซึ่งเป็นประเทศเอกราชอยู่ก่อนสงคราม แม้ว่าเราจะมีส่วนสำคัญในการทำให้ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ แต่ถ้าหากผลแห่งสงครามทำให้ประเทศไทยต้องสญเสียดินแดนที่ตนมีอยู่ก่อนสงครามหรือเอกราชถูกบั่นทอน เราเชื่อว่า ผลประโยชน์ของ ส.ร.อ. ทั่วตะวันออกไกลจะถูกกระทบกระเทือน

ภายในประเทศไทยซึ่งเดิมยอมจำนนต่อญี่ปุ่นและต่อมาร่วมมือกับญี่ปุ่น อันเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางทั่วไปนั้น ได้ถูกเปลี่ยนเป็นรัฐบาลใหม่ซึ่งส่วนใหญ่คุมโดยหลวงประดิษฐ์ฯ ผู้สำเร็จราชการฯ ปัจจุบันที่ได้รับการนับถือที่สุดของบรรดาผู้นำไทย และเป็นผู้ต่อต้านญี่ปุ่นมาตั้งแต่ต้น”

นอกจากนี้นายคอร์เดล ฮัลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีจดหมายลงวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๖ แจ้งไปยังรองผู้อำนวยการสำนักงานศูนย์พุทธศาสตร์เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลอเมริกันที่มีต่อประเทศไทย ดังความต่อไปนี้

“สหรัฐอเมริกาถือว่า ไทยเป็นรัฐเอกราชที่บัดนี้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองด้วยกำลังทหารญี่ปุ่น..

รัฐบาลอเมริกันหวังว่า จะสถาปนาเอกราชของประเทศไทยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ จากข่าวสารต่างๆ ที่ได้รับแสดงให้เห็นว่า ในรัฐบาลไทยปัจจุบันก็มีข้าราชการส่วนหนึ่งที่คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลไทยยอมจำนนต่อการกดดันของฝ่ายญี่ปุ่น เป็นที่ทราบกันดีว่า มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(หรือที่รู้จักกันในนามนายปรีดี พนมยงค์)คนหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ร่วมอยู่ด้วย นอกจากนี้ หลวงประดิษฐ์ฯ ยังมีส่วนสำคัญในขบวนการใต้ดิน ซึ่งมีจุดเพื่อฟื้นสถานภาพของรัฐบาลไทย ที่เคยเป็นอยู่ก่อนหน้าการรุกรานของญี่ปุ่น

ด้วยเหตุผลดังกล่าว รัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาจึงถือว่าหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นตัวแทนแห่งการสืบต่อมาของรัฐบาลแห่งประเทศไทยสมัยนั้น (จอมพลป.พิบูลสงคราม)จะไปเข้ากับฝ่ายญี่ปุ่นในตอนที่ญี่ปุ่นบุก และยอมรับว่า (หลวงประดิษฐ์)เป็นผู้นำคนสำคัญในขบวนการเพื่อเอกราชของชาติไทย

ด้วยเหตุนี้ โดยไม่เป็นการผูกมัดรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในอนาคต เราจึงถือว่า หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นตัวแทนและผู้นำสำคัญคนหนึ่งของชาติไทย ตราบใดที่ชาวไทยยังไม่ได้แสดงออกในทางตรงกันข้าม

คอร์เดล ฮัลล์”

บทความที่ ๓๑๒.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๑๕

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พยมยงค์
บทที่ ๔ สยาม ราชอาณาจักรใต้ดิน
-๓-
ขบวนการของเราได้กำหนดภารกิจที่จะต้องปฏิบัติ ๒ ด้านประกอบกันคือ ด้านหนึ่งต่อสู้ญี่ปุ่นผู้รุกราน และอีกด้านหนึ่ง เจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อให้สัมพันธมิตรเห็นว่า การประกาศสงครามของจอมพลป.พิบูลสงคราม ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองขบวนการของเรา และรัฐบาลพลัดถิ่นที่เราคิดจะจัดตั้งขึ้น ตลอดจนยอมรับว่าเป็นพันธมิตรด้วย ดังเช่นที่พวกเราได้รับรอง COMITE FRANCAIS DE LIBERATION NATIONALE นำโดยนายพลเดอโกลล์

ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้ส่งทูตพิเศษเพื่อไปเจรจาเรื่องนี้อย่างลับๆ เราได้มอบให้สถานเอกอัครราชทูตสยามที่ประจำอยู่ที่กรุงสต็อคโฮล์ม ซึ่งได้ร่วมขบวนการด้วย เป็นผู้ติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูตโซเวียตท่ประจำกรุงสต๊อคโฮล์มเช่นกัน

การเจรจาครั้งนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความระมัดระวัง ความรอบคอบ และเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง เพราะประเทศอังกฤษถือว่าการประกาศสงครามของจอมพลป.พิบูลสงครามนั้น มีผลสมบูรณ์ในขณะที่ประเทศสัมพันธมิตรอื่น (สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต รัฐบาลพลัดถิ่นของฝรั่งเศส) ต่างก็มีท่าทีเฉพาะของตน
แต่ในแง่ของการทหารนั้น บทความหลายชิ้นและหนังสือหลายเล่มที่ตีพิมพ์ในสหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความช่วยเหลือ และความร่วมมือของเรานานัปการ อันเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร ข้าพเจ้าขอนำคำเปิดเผยของลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบทเตนที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ไทมส์ ฉบับวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๙ มากล่าวอ้างไว้ดังนี้

หนังสือพิมพ์ ไทมส์ ๑๘/๑๒/๑๙๔๖
“อาคันตุกะผู้หนึ่งจากสยาม
การรณรงค์ของหลวงประดิษฐ์ฯ
คำเปิดเผยของลอร์ด เมานท์แบตเตน”

“ลอร์ด เมานท์แบตเทน แห่งพม่า ผู้ซึ่งไม่นานมานี้ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์ ได้รับการต้อนรับเลี้ยงอาหารกลางวันโดยซิตี้ ลิเวอรี่ คลับ ณ ไซออน คอลเลจ เมื่อวานนี้ได้บรรยายไว้ในสุนทรพจน์ของท่านถึงบทบาทอันยิ่งใหญ่ของหลวงประดิษฐ์ฯ รัฐบุรุษอาวุโสแห่งสยาม ได้สาธยายเกี่ยวกับรายละเอียดซึ่งหนังสือพิมพ์ไทมส์ได้เคยลงพิมพ์ในฉบับประจำวันที่ ๒๒ ธันวาคม คือประมาณหนึ่งปีมาแล้ว และได้ประกาศแถลงว่า หลวงประดิษฐ์ฯ บุคคลผู้มีบทบาทที่น่าตื่นเต้นคนหนึ่งแห่งสงครามในเอเชียอาคเนย์นั้น กำหนดจะมาถึงประเทศอังกฤษโดยเรือเดินสมุทร ควีน เอลิซาเบท พรุ่งนี้เช้า

ลอร์ด เมานท์แบตเตน กล่าวว่า ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสแห่งสยาม ซึ่งรู้จักกันทั่วโลกในนาม “หลวงประดิษฐ์ฯ” และพวกเราหลายคนแห่งกองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์ รู้จักเขาตามชื่อรหัสว่า “รู้ธ” เขามาเยี่ยมประเทศนี้ (อังกฤษ) ด้วยสันถวไมตรีในระยะสั้นๆ ในฐานะแขกของรัฐบาล (อังกฤษ)และข้าพเจ้าหวังว่า เราจะใช้โอกาสนี้ให้การรับรองเขาอย่างอบอุ่น เพราะเหตุที่หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นบุรุษผู้มีบทบาทอันน่าตื่นเต้นคนหนึ่งแห่งสงครามในเอเชียอาคเนย์ เป็นที่ทราบกันว่า ในระหว่างสงครามนั้น ไม่มีการกล่าวถึงชื่อของเขาอย่างเปิดเผย และเรื่องราวทั้งปวงเขาก็ถูกถือว่าเป็น “ความลับสุดยอด” แม้กระทั่งทุกวันนี้ คนอังกฤษส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยทราบกันเท่าไรนักถึงพฤติกรรมอันอาจหาญที่เขาได้เคยกระทำสำเร็จมาแล้ว

ขณะที่ญี่ปุ่นรุกรานสยาม หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นรัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาล แต่เขาได้ปฏิเสธที่จะลงนามในการประกาศสงครามต่อเรา หลวงพิบูลฯ (ควิสลิง-QUISLING นายกรัฐมนตรีนอร์เวย์สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งเข้าร่วมกับฝ่ายนาซี-หมายเหตุผู้เรียบเรียง) รู้ว่าเขา(หลวงประดิษฐ์ฯ)เป็นคนหนึ่งที่ทรงอำนาจและได้รับความนิยมอย่างยิ่งในประเทศ และก็หวังที่จะทำให้เขาเป็นหุ่นเชิดโดยให้เขาขึ้นไปเป็นคนหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งหลวงประดิษฐ์ฯยอมรับตำแหน่งนี้ หลวงพิบูลฯหรือญี่ปุ่นมิได้ตระหนักแม้แต่น้อยว่า ขณะที่หลวงประดิษฐ์ฯ ยอมรับตำแหน่งหน้าที่นั้น เขาก็ได้เริ่มต้นดำเนินการจัดตั้งและอำนวยการขบวนการต่อต้านของชาวสยามขึ้น”


“คณะผู้แทนสาปสูญไป”

“เราได้รับรู้จากแหล่งต่างๆว่า หลวงพิบูลฯ มิได้ประสบผลทุกๆอย่างตามวิถีทางของเขาในประเทศสยาม แต่การจะติดต่อ (กับขบวนการต่อต้านภายในสยาม)นั้นก็ลำบากมาก และทั้งนี้ ก็เป็นการยากที่จะล่วงรู้ได้ด้วยว่า อะไรเกิดขึ้นกันแน่

คณะผู้แทนของหลวงประดิษฐ์ฯ ๒ คณะได้หายสาปสูญไประหว่างการเดินทางไปยังประเทศจีน ซึ่งเต็มไปด้วยภยันตรายแต่ในที่สุด ก็ได้มีการพบปะกันระหว่างสัมพันธมิตรและขบวนการเสรีไทย เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงระยะเดียวกับที่ข้าพเจ้าได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตร นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เราก็ได้ติดต่อกันเป็นประจำ การติดต่อทั้งนี้นับได้ว่า เป็นความสัมพันธ์พิเศษยิ่งอย่างหนึ่ง เพราะผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสัมพันธมิตรได้แลกเปลี่ยนแผนการทหารที่สำคัญๆ กับประมุขแห่งรัฐ ซึ่งโดยทางเทคนิคแล้วถือว่า อยู่ในสถานะสงครามกับเรา

เราจะเห็นได้ว่า หลวงประดิษฐ์ฯประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และเขากล้าหาญที่สามารถจัดการให้มีการล้มรัฐบาลของหลวงพิบูลฯ ได้สำเร็จในปี พ.ศ.๒๔๘๗ โดยจัดให้มีรัฐบาลใหม่ขึ้น ซึ่งเป็นรัฐบาลที่เขาแต่งตั้งเอง และทำให้เขาสามารถดำเนินแผนการต่อต้านญี่ปุ่นได้ดีขึ้น

กองกำลังเสรีไทยที่ได้รับการฝึกฝนในประเทศเรา และได้ปฏิบัติการร่วมกันกับกองกำลังบริติชที่ ๕ และกองกำลังที่ ๑๓๖ รวมทั้งกองกำลังอเมริกัน O.S.S นั้น บางส่วนได้กระโดดร่มเข้าไปร่วมงานของหลวงประดิษฐ์ฯ บางคนถูกจับกุมคุมขังโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลของหลวงพิบูลฯ แต่ก็ถูกคุมขังพอเป็นพิธีเท่านั้น เพราะพวกเขาก็พบปะกับหลวงประดิษฐ์ฯ ได้อย่างลับๆ และได้ตั้งสถานีวิทยุติดต่อกับกองบัญชาการของข้าพเจ้า

ในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๘๘ หลวงประดิษฐ์ฯ ได้ส่งบุคคลชั้นหัวหน้าสำคัญๆ แห่งขบวนการต่อต้าน นำโดยนายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีต่างประเทศสยามมาปรึกษาหารือกับข้าพเจ้าที่เมืองแคนดี เราได้ให้คณะดังกล่าวออกมาและส่งกลับโดยเครื่องบินทะเล หรือโดยเรือบิน(ชนิดที่ต่อเป็นลำเรือไม่ใช่ทุ่น)ในระหว่างการสนทนา เราก็ได้วางแผนการที่เป็นรูปธรรมสำหรับการปฏิบัติการภายหน้า เพื่อให้ประสานกับพลังหลักสำคัญแห่งยุทธภูมิของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเองได้มีการตระเตรียมพร้อมเสมอเมื่อถึงควาจำเป็นที่จะให้หลวงประดิษฐ์ฯ บินออกมาในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน ตราบจนถึงตอนปลายสงคราม เขาได้จัดตั้งกองกำลังเพื่อวินาศกรรมและจัดตั้งกำลังพลพรรคประมาณ ๖ หมื่นคน กับทั้งการสนับสนุนอีกมากมายที่เตรียมพร้อมอย่างเงียบๆ เพื่อที่จะร่วมปฏิบัติการ ซึ่งล้วนแต่อยู่ในบริเวณที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญๆ ในสงคราม”

“หลวงประดิษฐ์ฯ (เขา) ไม่เคยทำให้เราผิดหวัง”

“ข้าพเจ้าเข้าใจดีทีเดียวถึงความยากลำบากที่เขาต้องควบคุมพลังนี้ แต่ข้าพเจ้าเองก็ต้องระลึกอยู่เสมอเช่นเดียวกันถึงภยันตรายอันใหญ่หลวงแห่งการเคลื่อนไหว โดยที่ยังไม่ถึงเวลา ซึ่งจะเป็นผลให้ญีปุ่นทำการตอบโต้ทำลาย และจะทำให้แผนยุทธศาสตร์แห่งยุทธภูมิทั้งปวงของข้าพเจ้าเกิดผลกระทบปั่นป่วนวุ่นวาย ความเครียดที่บังคับให้หลวงประดิษฐ์ฯ ต้องแบกรับไว้ และภยันตรายที่เขาต้องเผชิญตลอดเวลา ๓ ปี นับว่าเป็นสิ่งที่น่าพรั่นพรึงอย่างยิ่ง แต่ก็อาศัยความที่มีวินัยของเขาเองประกอบกับที่เขาได้ชักจูงให้บรรดาผู้เชื่อถือเลื่อมใสในตัวเขาปฏิบัติตามนั่นเอง ที่ทำให้เขาประสบชัยชนะในที่สุด เขาไม่เคยทำให้เราผิดหวังเลย

ข้าพเจ้ารู้ว่า มีบุคคลมากหลายที่เคยตกเป็นเชลยศึกในสยาม ได้มีความสำนึกอันถูกต้องในแง่ที่มีความกตัญญูรู้คุณต่อความปรารถนาดีของหลวงประดิษฐ์ฯ ซึ่งมีต่อเรา

ดังนั้น ข้าพเจ้าทราบด้วยว่า เขาเป็นบุคคลที่ได้ส่งเสริมมิตรภาพระหว่างอังกฤษกับสยามอย่างแข็งขัน การต่อต้านการกดขี่ของญี่ปุ่นในเอเชียอาคเนย์ดำเนินไปอย่างเกือบไม่ขาดสาย ทั้งนี้ก็เพราะหลวงประดิษฐ์ฯ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดในการนี้ (เสียงปรบมือแสดงความชื่นชมยินดีก้องขึ้นเป็นเวลายาวนาน)”

หลังจากที่ข้าพเจ้าได้เดินทางมาถึงกรุงปารีสในปี พ.ศ.๒๕๑๓ นั้นประธานกรรมการ “สโมสรกองกำลังพิเศษ” ของสหราชอาณาจักร ได้ส่งจดหมายลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๓ เชิญข้าพเจ้าเข้าเป็นสมาชิกสโมสรฯ มีความดังต่อไปนี้

ฯพณฯ
คณะกรรมการได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ข้าพเจ้ามีหนังสือขอร้องให้ท่านรับคำเชิญของเราที่ขอให้ท่านเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสโมสรนี้

ดังที่ ฯพณฯ คงจะทราบแล้ว สโมสรนี้ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๘ โดยและเพื่อบุคคลซึ่งได้ปฏิบัติการอยู่ในกองกำลังพิเศษ และบุคคลซึ่งได้ทำงานอยู่ในขบวนการต่อต้านและขบวนการใต้ดินในระหว่างสงคราม พ.ศ.๒๔๘๒-๒๔๘๘

เราและสมาชิกทั้งหลายของสโมสรนี้ จะมีความชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่งหาก ฯพณฯ จะยอมรับเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสโมสร ข้าพเจ้าทราบดีว่า สมาชิกเหล่านี้ ทั้งที่เป็นคนไทยและคนอังกฤษ ซึ่งเคยทำงานอยู่ในแผนกประเทศสยามของกองกำลังที่๑๓๕ (The Siam Country Section of Force 135) ซึ่งเป็นผู้ที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับท่านและได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขัน และได้รับการส่งเสริมกำลังใจจากท่านตลอดเวลาในระหว่างหลายปีของการทำสงครามนั้น ก็คงจะมีความชื่นชมยินดีเช่นกัน

จดหมายฉบับนี้ ย่อมแสดงถึงความยอมรับนับถือและการยกย่องอย่างสูงของเรา ต่อบทบาทอันเด่นชัดของ ฯพณฯ ในการสนับสนุนและค้ำจุนขบวนการต่อต้าน ซึ่งได้รับใช้ประเทศของเราทั้งหลายในยามที่ตกอยู่ในภยันตราย

ด้วยความจริงใจของข้าพเจ้า
เจฟฟรีย์ เอ็ช วอลฟอร์ด
ประธานกรรมการ

บทความที่๓๑๑.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๑๔

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน

บทที่ ๔ สยาม ราชอาณาจักรใต้ดิน
-๑-
เมื่อญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาเบอร์ในวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ และได้ยื่นคำขาดต่อรัฐบาลสยามเพื่อนำทัพญี่ปุ่นผ่านดินแดนสยามในการที่จะไปโจมตีพม่าและมลายูซึ่งอยู่ในปกครองของอังกฤษ ข้าพเจ้าทราบดีว่า นี่เป็นการเข้ายึดครองสยามนั่นเอง การกระทำเช่นนี้ของญี่ปุ่นขัดกับอุดมคติของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของข้าพเจ้า ในระหว่างที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของญี่ปุ่นในการเดินทัพผ่านดินแดนสยาม ข้าพเจ้าได้พยายามผลักดันให้รัฐบาลดำเนินนโยบายที่เราได้แถลงไว้หลายครั้งหลายหนในอดีต กล่าวคือ เราจะต่อต้านการรุกรานของกองทหารต่างชาติไม่ว่าชาติใด เพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของชาติ นอกจากนี้ ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นว่าจะเป็นการต่อสู้เพื่อเหตุผลอันชอบธรรม เพราะนี่เป็นการต่อต้านการของต่างชาติ ขณะที่ข้าพเจ้าแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนี้ จอมพล ป.พิบูลสงครามก็ขัดจังหวะและห้ามข้าพเจ้าพูดต่อ มีรัฐมนตรีบางคนที่เห็นว่า เพียงอนุญาตให้กองทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศสยามนั้นยังไม่พอ หากยังคิดอีกว่า ประเทศสยามน่าจะเข้าเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น เพื่อจะได้ดินแดนที่เคยสูญเสียให้อังกฤษและฝรั่งเศสไปกลับคืนมา แต่ผลที่สุด ความเห็นของข้าพเจ้าก็จัดอยู่ในกลุ่มเสียงข้างน้อย

การที่ข้าพเจ้าคัดค้านการยินยอมของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามนั้น ทำให้ญี่ปุ่นโกรธแค้นข้าพเจ้ามาก และได้บีบบังคับให้นายกรัฐมนตรีย้ายข้าพเจ้าออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปรับตำแหน่งอื่นที่สูงขึ้น แต่ต้องไม่ใช่ตำแหน่งที่มีอำนาจบริหารราชการ ข้าพเจ้าจึงได้ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี และสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเอกฉันท์ให้ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ว่างอยู่ ๑ ตำแหน่ง ต่อมาภายหลัง ข้าพเจ้าได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่เพียงผู้เดียว แม้ว่าข้าพเจ้าจะรู้สึกว่าถูกบังคับก็ตาม ข้าพเจ้าก็ยอม เพราะคิดว่าตำแหน่งใหม่นี้จะทำให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งต่อมารู้จักกันในนาม “ขบวนการเสรีไทย”

นอกจากกลุ่มคนไทยผู้รักชาติที่อยู่ในประเทศแล้ว นักเรียนไทยในต่างประเทศ เช่นในอังกฤษและในสหรัฐอเมริกาก็ได้รวมตัวกันจัดตั้ง “ขบวนการเสรีไทย” โดยได้เข้ารวมกับขบวนการที่เราจัดตั้งขึ้นภายในประเทศ กลายเป็นขบวนการเดียวกัน โดยมีข้าพเจ้าเป็นหัวหน้า

ในระหว่างที่ญี่ปุ่นยึดครองประเทศไทย ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘ นั้นมีผู้สนับสนุน และเข้าร่วมเป็นแนวหน้าของขบวนการเสรีไทยจำนวนประมาณ ๘๐,๐๐๐ คน และอีก ๕๐๐,๐๐๐ คนพร้อมที่จะเข้าร่วมเมื่อคราวจำเป็น

-๒-
กองทหารญี่ปุ่นได้ชัยชนะในมลายูในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน และรุกรานคืบหน้าอย่างรวดเร็วถึงประเทศพม่า นับเป็นการคุกคามทั่วทั้งเอเชียอาคเนย์

รัฐบาลไทยสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีประกาศสงครามต่อสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา โดยหวังว่าอาจจะได้ดินแดนสยามบางส่วนที่สยามเคยสูญเสียและที่ญี่ปุ่นเข้าไปยึดครองนั้นกลับคืนมา นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังได้แสดงท่าทีเป็นศัตรูต่อประเทศจีนด้วย การประกาศสงครามนั้น ถือว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและข้าพเจ้าซึ่งอยูในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ไม่ได้ลงนาม ถึงกระนั้นฝ่ายสัมพันธมิตรบางประเทศถือว่าประเทศไทยเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ดังนั้น จึงต้องได้รับผลเช่นเดียวกันกับประเทศญี่ปุ่น เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะสงคราม

เจ้าหน้าที่หลายคนที่ฝ่ายรัฐบาลสัมพันธมิตรส่งเข้ามาในประเทศสยามอย่างลับๆ เพื่อมาเป็นที่ปรึกษาในการทำสงครามพลพรรค และเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานฝ่ายสัมพันธมิตรนั้น เรียกขบวนการของเราว่า “สยาม ราชอาณาจักรใต้ดิน”

Tuesday, September 18, 2007

บทความที่๓๑๐.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๑๓

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์
บทที่ ๓การเข้าพบมุสโสลินี ปิแอร์ ลาวาล ฮจาล์มาร์ ชาคท์ คอร์เดล ฮัลล์ และจักรพรรดิฮิโรฮิโต
-๘-
เมื่อข้าพเจ้ากลับมาถึงเมืองไทย คณะผู้สำเร็จราชการในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ลงนามแต่งตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งนี้เป็นเวลา ๓ ปี และในระหว่างนี้ข้าพเจ้าได้เริ่มดำเนินการยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค และในที่สุดก็ได้ลงนามในสนธิสัญญาใหม่ที่ทำขึ้นโดยยึดหลักของความเสมอภาคของกันและกันนับแต่นั้นมา สยามจึงมีเอกราชโดยสมบูรณ์

ต่อมาข้าพเจ้าได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และในเมื่อสนธิสัญญาไม่เสมอภาคไม่เป็นอุปสรรคในเรื่องข้อกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรอีกต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าได้ก่อตั้งระบบการคลังในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีศุลกากร หรือภาษีอากรของรัฐขึ้นใหม่ ประเทศสยามจึงสามารถจัดระบบภาษีศุลกากรและประมวลรัษฎากรใหม่ได้โดยอิสระ

หลังจากที่ข้าพเจ้ากลับมาประเทศสยามแล้ว ข้าพเจ้าเกิดความรู้สึกเช่นเดียวกับนักการเมืองชาติอื่นๆ ในสมัยนั้น คือความขัดแย้งที่ใช้อาวุธได้เริ่มขึ้นในญี่ปุ่น อิตาลี และเยอรมนี และได้แผ่ขยายออกไปทั่วโลก เหตุนี้เองข้าพเจ้าจึงคิดว่าในฐานะที่ประเทศเราเป็นเพียงประเทศเล็กๆ เราควรมีนโยบายต่างประเทศที่กอปรด้วยเหตุผล โดยการวางตัวเป็นกลาง หรือที่เราเรียกในปัจจุบันว่า นโยบายไม่ฝักฝ่ายกับประเทศใดๆ ก็ตาม ที่มีภาวะขัดแย้งอยู่ และวิธีที่ดีที่สุดก็คือ ควรพยายามที่จะยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับทุกประเทศที่มีระบอบการปกครองทั้งทางการเมืองและสังคมที่แตกต่างกัน

ระหว่างที่ข้าพเจ้าปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวสุนทรพจน์ทางวิทยุไว้หลายครั้ง ได้เขียนเผยแพร่เอกสารหลายชิ้น ที่แสดงถึงอุดมคติที่ข้าพเจ้ายึดถือในเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ตลอดจนสันติภาพแห่งโลก ดังที่ข้าพเจ้าได้บรรยายไว้ในหนังสือเกี่ยวกับประเทศสยามที่รักสงบ ในบทภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก”

อันที่จริงแล้ว ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประมุขรัฐของประเทศต่างๆ ที่มีระบอบการปกครองทางการเมืองและสังคมที่แตกต่างกันได้แสดงความพึงพอใจในนโยบายเป็นมิตรกับประชาชนในประเทศนั้นๆ และในมิตรภาพเช่นนี้ ประเทศเหล่านี้ได้แสดงออกซึ่งความพอใจ โดยได้มอบเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงแก่ข้าพเจ้า ในฐานะที่ได้สร้างความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประเทศสยามและประเทศที่เกี่ยวข้อง

ที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งก็คือ ในบรรดาประเทศทั้งหลายที่ได้แสดงความชื่นชมข้าพเจ้า ดังเช่นประเทศฝรั่งเศส(ได้มอบเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดคือ กรองด์ ครัวซ์ เดอ ลา เลชียง ดอนเนอร์) สหราชอาณาจักร(ได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งเซนต์ไมเคิล และเซนต์-จอร์จส์)ประเทศอิตาลี(ได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งแซง-โมรีส และแซนต์ลาซาร์)ประเทศญี่ปุ่น(ได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์อาทิตย์อุทัยชั้นที่ ๑)ประเทศเยอรมนี(ได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เอกเกลอ ดู เมรีธแห่งอาณาไรซ์ที่ ๓)นั้น กล่าวได้ว่าบางประเทศกำลังมีข้อพิพาททางการทหารกัน และยิ่งไปกว่านั้นคือ บรรดาผู้นิยมลัทธิทหารของญี่ปุ่นหลายคน มุสโสลินีและฮิตเลอร์ซึ่งต้องการยึดครองดินแดนของผู้อื่น กลับแสดงว่า ปรารถนาที่จะเป็นมิตรกับเรา

ด้วยท่าทีที่ต่างก็แสดงน้ำใจไมตรีเช่นนี้ ใครเล่าจะคิดว่าสงครามโลกกำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า.

บทความที่๓๐๙.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๑๒

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์

บทที่ ๓การเข้าพบมุสโสลินี ปิแอร์ ลาวาล ฮจาล์มาร์ ชาคท์ คอร์เดล ฮัลล์ และจักรพรรดิฮิโรฮิโต
-๖-
จากลอนดอน ข้าพเจ้าเข้ามายังประเทศฝรั่งเศส ข้าพเจ้าพักอยู่ที่นี่ ๒-๓ วันก่อนจะลงเรือเดินทางต่อไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ที่กรุงวอชิงตัน ข้าพเจ้าได้พบปะกับนายคอร์เดล ฮอล์ รัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งได้ให้สัญญากับข้าพเจ้าว่า จะสนับสนุนในการเจรจายกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคในอนาคต

-๗-
จากสหรัฐอเมริกา ข้าพเจ้าเดินทางต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น จักรพรรดิฮิโรฮิโตได้โปรดฯให้ข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้า เนื่องจากพระองค์ไม่มีพระราชอำนาจในการบริหาร การเข้าเฝ้าของข้าพเจ้าจึงมีลักษณะที่เป็นไปตามอัธยาศัยไมตรี พระองค์ทรงถามถึงพระพลานามัยของพระมหากษัตริย์ไทย ถามถึงสุขภาพและการเดินทางของข้าพเจ้า อย่างไรก็ตาม ด้วยคำแนะนำของรัฐบาลญี่ปุ่นพระองค์ได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อาทิตย์อุทัยชั้นที่ ๑ แก่ข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าได้สนทนาเรื่องกิจการทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศสยามกับประเทศญี่ปุ่นกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นซึ่งประกอบขึ้นด้วยกลุ่มนายทหารหรือผู้สนับสนุนนายทหาร นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้พยายามชักจูงให้ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศเอเชีย เพื่อต่อต้านประเทศชนผิวขาว ข้อนี้ข้าพเจ้าได้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมด้วย เพราะในความเห็นของข้าพเจ้า เราไม่ควรมีความคิดเรื่องถือผิว หรือเชื้อชาติ แต่ควรยึดมั่นในความคิดที่ขนทุกชาติอยู่ร่วมกันอย่างสันติในโลกได้ โดยไม่มีการถือผิวหรือเชื้อชาติ

อีกประการหนึ่ง ทหารญี่ปุ่นเองกลับรุกรานประเทศจีน(ซึ่งเป็นคนผิวเดียวกันกับคนญี่ปุ่น)และเริ่มรุกรานประเทศในเอเชียอาคเนย์ ข้าพเจ้าจึงต้องระมัดระวังท่าทีของข้าพเจ้าระหว่างสนทนากับคนญี่ปุ่นเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่ข้าพเจ้าสนใจมากในส่วนที่เป็นภารกิจที่ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสยาม ก็คือ ท่าทีของรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะมีต่อการขอเปิดการเจรจาในอนาคต แต่ในที่สุด ญี่ปุ่นก็ได้แสดงความเห็นใจต่อการขอเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคนั้น

บทความที่๓๐๘.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๑๑

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์
บทที่ ๓การเข้าพบมุสโสลินี ปิแอร์ ลาวาล ฮจาล์มาร์ ชาคท์ คอร์เดล ฮัลล์ และจักรพรรดิฮิโรฮิโต
-๓-
จากอิตาลี ข้าพเจ้าเดินทางไปปารีสอีกครั้ง เพื่อพบปิแอร์ ลาวาล นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น นายปิแอร์ ลาวาลได้เปรียบเทียบข้าพเจ้ากับตัวเขาเองว่าเมื่อตอนที่อายุเท่ากับข้าพเจ้านั้น เขาเกือบจะได้เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของปอล แปงเลอเว (PAUL PAINLEVE) จากพรรคสาธารณรัฐสังคมนิยม (REPUBLICAIN SOCIALISTE) ส่วนเรื่องการขอเปิดการเจรจายกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคระหว่างประเทศฝรั่งเศสและประเทศสยามนั้น นายปิแอร์ ลาวาลมิได้สัญญาอย่างแน่นอนลงไป เพียงแต่ย้ำกับข้าพเจ้าว่า จะยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา

-๔-
จากปารีส ข้าพเจ้าเดินทางไปกรุงปราก เวียนนา วอร์ซอร์ และเบอร์ลิน ที่เบอร์ลินเจ้าหน้าที่ฝ่ายนาซีได้อำนวยความสะดวกต่อข้าพเจ้าในการเข้าเยี่ยมสถาบันต่างๆ ของนาซี เช่น กระทรวงโฆษณาการ ยุวชนนาซี เป็นต้น

เจ้าหน้าที่ประสานงานได้แจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า ฮิตเลอร์เองนั้น อยากต้อนรับข้าพเจ้า แต่เนื่องจากเขาพูดไม่ได้ทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส การสนทนาระหว่างเราทั้งสองคนคงจะไม่น่าสนใจแน่ เพราะต้องอาศัยล่าม อันที่จริงแล้ว ไม่มีสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคระหว่างประเทศสยามกับประเทศเยอรมันอีกแล้ว สิ่งที่เราสนใจคือการสถาปนาความสัมพันธ์ด้านพาณิชย์และการเศรษฐกิจ

ด้วยเหตุนี้ฮิตเลอร์จึงได้มอบหมายงานนี้ให้นายฮจาล์มาร์ ชาคท์ รัฐมนตรีว่าการเศรษฐกิจแห่งชาติ ข้าพเจ้าจึงได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกับนายฮจาล์มาร์ ชาคท์ ในเรื่องการดำเนินการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางด้านการพาณิชย์และเศรษฐกิจระหว่าง ๒ ประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เพราะรัฐบาลนาซีเป็นผู้ควบคุมดูแลการติดต่อแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ดังกล่าว การสนทนาของเราครั้งนี้ไม่บรรลุผลเท่าใดนัก

จากเบอร์ลิน ข้าพเจ้ากลับมายังปารีส และเดินทางต่อไปยังกรุงลอนดอน เพื่อพบปะกับเซอร์ซามวล ฮอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ท่าทีของเซอร์ซามวล ฮอร์ เหมือนๆ กับท่าทีของปิแอร์ ลาวาล ในเรื่องเกี่ยวกับการขอเปิดการเจรจาเพื่อยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค

ส่วนการขอลดอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลไทยภายใต้ระบบการปกครองเก่า ได้ลงนามในสนธิสัญญาไว้กับธนาคารอังกฤษนั้น เราสามารถลงนามในข้อตกลงใหม่ เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยลง จากร้อยละ ๖ เหลือร้อยละ ๔

บทความที่๓๐๗.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๑๐

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์
บทที่ ๓การเข้าพบมุสโสลินี ปิแอร์ ลาวาล ฮจาล์มาร์ ชาคท์ คอร์เดล ฮัลล์ และจักรพรรดิฮิโรฮิโต
-๒-
ข้าพเจ้าโดยสารเรืออิตาเลียน ซึ่งเป็นเรือโดยสารระหว่างเอเชียและยุโรปที่แล่นเร็วที่สุดในยุคนั้น ข้าพเจ้าเดินทางถึงเมืองตริเอสเต ในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๘ ซึ่งเป็นเมืองที่กำลังต่อเรือรบให้กับกองทัพเรือสยาม เลขานุการของมุสโสลินี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานบริษัทการต่อเรือด้วย ได้จัดเลี้ยงอาหารกลางวันข้าพเจ้า เลขานุการของมุสโสลินีได้นำคำตอบของมุสโสลินีว่าด้วยเรื่องการขอยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคระหว่างสยามและอิตาลีมาแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบ เขาได้รับมอบหมายให้แจ้งข้าพเจ้าทราบว่า มุสโสลินียินดีต้อนรับข้าพเจ้า ณ กรุงโรม แต่ขอให้ข้าพเจ้ารอจนถึงวันที่ ๔ พฤศจิกายน ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่า ทำไมจึงต้องเลื่อนเวลาออกไปนานขนาดนั้น เท่าที่ข้าพเจ้าทราบก็คือระยะนั้นสถานการณ์ระหว่างอิตาลีกับสหราชอาณาจักร เกี่ยวกับปัญหาเอธิโอเปียตึงเครียดมาก เลขานุการของมุสโสลินี ซึ่งมีท่าทีแบบพวกราชสำนักในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ กล่าวคำยกย่องเยินยอมุสโสลินีไม่ขาดปาก เขาบอกข้าพเจ้าว่า ในโลกนี้มีบุคคล ๒ คนเท่านั้น ที่มีความสามารถที่จะเอาชนะคนอังกฤษได้ คือ นโปเลียนและมุสโสลินี นโปเลียนได้พลาดโอกาสเช่นนั้น แต่ “ท่านผู้นำ” (IL DUCE) ผู้ซึ่งมีความทรหดอย่างหาที่เปรียบมิได้ จะสามารถเอาชนะชาวอังกฤษได้อย่างแน่นอน

เลขานุการของมุสโสลินีได้อธิบายให้ข้าพเจ้าฟังถึงเรื่องการแข่งขันกับบริษัทญี่ปุ่นในกิจการการต่อเรือว่า เมื่อรัฐบาลสยามมีโครงการที่จะปรับปรุงและเพิ่มเติมประสิทธิภาพของกองทัพเรือ บริษัทญี่ปุ่นได้เสนอราคาที่ต่ำที่สุด ดังนั้น บริษัทอิตาเลียนที่ต้องการแข่งขันกับบริษัทญี่ปุ่น จึงเสนอขอให้มุสโสลินีอนุมัติเงินช่วยเหลือพิเศษที่จะทำให้บริษัทสามารถเสนอราคาต่อประเทศสยามได้ถูกลงไปอีก

เหตุนี้ทางบริษัทจึงขาดทุนมากกว่าที่จะได้กำไร เลขานุการได้นำรูปถ่ายของมุสโสลินีให้ข้าพเจ้าดู และกล่าวกับข้าพเจ้า “นี่ไง ท่านผู้นำอันเป็นที่รักยิ่งของเรา”

เมื่อเห็นว่ายังมีเวลาเหลือถึง ๑๐ วันก่อนจะได้พบกับมุสโสลินี ข้าพเจ้าจึงได้เดินทางไปยังเมืองโลซานน์โดยทางรถไฟ เพื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งทรงศึกษาอยู่ที่นั่น จากนั้นข้าพเจ้าเดินทางมายังกรุงปารีส อยู่ที่นั่น ๒-๓ วันและกลับมายังกรุงโรมทันวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๘ พอดี

เมื่อมาถึงกรุงโรม ข้าพเจ้าได้พบว่าวันที่ ๔ พฤศจิกายนนี้ เป็นวันที่ยิ่งใหญ่ เนื่องด้วยมุสโสลินีได้สั่งรวมพลบรรดาประชาชน เพื่อที่ตนจะได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าประชาชนให้ต่อต้านสหราชอาณาจักร และกล่าวหาประเทศเอธิโอเปียว่า มีท่าทีเป็นศัตรูต่อประเทศอิตาลี ตอนท้ายสุนทรพจน์ มุสโสลินีได้สั่งให้กองทัพบกและอากาศซึ่งรวมพลกันอยู่แล้วที่เอรีเทร (ERYTHREE) ชายแดนอาณานิคมของอิตาลีให้เข้าแทรกแซงเอธิโอเปียได้ทุกเวลา และโจมตีเอธิโอเปียได้ในฉับพลัน (ผู้บัญชาการรบทางอากาศของอิตาลีในตอนนั้น คือ เคานท์ เซียโน COUNT CIANO ลูกเขยของมุสโสลินี)

กงสุลใหญ่กิติมศักดิ์ของสยามซึ่งเป็นคนอิตาลี ได้แต่มาอยู่เมืองไทยเป็นเวลานาน ได้มาเยี่ยมข้าพเจ้า และกล่าวขออภัยที่มิได้มารับข้าพเจ้าที่สถานีไฟในทันทีที่ข้าพเจ้ามาถึง ท่านกงสุลกล่าวกับข้าพเจ้าว่า ในฐานะที่เป็นคนอิตาเลียน เขาจำเป็นต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคฟาสซิสต์ ด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจแต่ที่แท้จริง เขามีใจต่อต้านพวกฟาสซิสต์

๒ วันต่อมา มุสโสลินีได้เชิญให้ข้าพเจ้าไปพบที่ “ปาลาสโซ เวเนเซีย” (PILAZZO VENEZIA) ซึ่งเป็นที่ทำงานของมุสโสลินี ในวันนั้นเราได้สนทนากันหลายเรื่องเป็นเวลา ๒ ชั่วโมง ข้าพเจ้าได้รับทราบถึงความรู้สึกของมุสโสลินีที่ดูหมิ่นประเทศญี่ปุ่น ข้าพเจ้าทราบดีว่ามุสโสลินีต้องการมีอิทธิพลเหนือประเทศจีน จึงได้ส่งบุตรเขยของตนไปเป็นกงสุลใหญ่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ เพื่อพยายามช่วยรัฐบาลจีนคณะชาติในการต่อสู้ผู้รุกรานชาวญี่ปุ่น และในการแข่งขันกับสินค้าของญี่ปุ่นที่กำลังจะเข้ามาแทนที่สินค้าของอิตาลี (โดยเฉพาะกระดาษ) เพื่อเป็นการเอาใจข้าพเจ้า มุสโสลินียืนยันกับข้าพเจ้าว่า เขาไม่ได้ปฏิปักษ์ต่อชาวเอเชีย เพราะเขาเชื่อว่า จักรพรรดิโรมันองค์แรกก็สืบเชื้อสายมาจากเอเชีย ส่วนระบบนาซีที่เพิ่งเกิดขึ้น และกำลังมีข้อขัดแย้งกันในเรื่องของประเทศออสเตรีย (พ.ศ.๒๔๗๗)นั้น ฮิตเลอร์ได้ออกคำสั่งต่อบรรดาทหารให้ก่อรัฐประหารและล้มรัฐบาล ผลก็คือ นายดอลฟุส (DOLLFUS) คนของมุสโสลินีตายไป จากการสนทนาในวันนั้นข้าพเจ้าสังเกตว่า มุสโสลินีไม่พอใจฮิตเลอร์มาก

สำหรับสยาม มุสโสลินีได้แสดงความเห็นใจ และต้องการโน้มน้าวข้าพเจ้าให้เชื่อว่า สหราชอาณาจักรเป็นศัตรูร่วมของเราโดยยกข้อเท็จจริงที่ว่า คนอังกฤษได้ผนวกดินแดนส่วนหนึ่งของสยามเข้ากับจักรวรรดิอังกฤษ แต่มุสโสลินีไม่ได้กล่าวถึงกรณีประเทศฝรั่งเศส และไม่ได้บอกกล่าวเลยว่า เมื่อวัน ๒ วันที่ผ่านมา มุสโสลินีก็ได้ออกคำสั่งให้รุกรานประเทศเอธิโอเปีย

ตอนท้ายการสนทนา มุสโสลินีได้ให้คำสัญญากับข้าพเจ้าว่า จะไม่คัดค้านโครงการของเราที่จะขอยกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคระหว่างสยามและอิตาลี เพราะมุสโสลินีเองก็เป็นผู้รับผิดชอบฝ่ายกิจการต่างประเทศด้วย

บทความที่๓๐๖.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๙

บทที่ ๓
การเข้าพบมุสโสลินี ปิแอร์ ลาวาล ฮจาล์มาร์ ชาคท์ คอร์เดล ฮัลล์ และจักรพรรดิฮิโรฮิโต

-๑-
ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ ๑๙ จนถึง พ.ศ.๒๔๘๒ นั้น ประเทศสยามเป็นเอกราชแต่เพียงในนามเท่านั้น แท้จริงแล้ว ประเทศสยามเป็นประเทศกึ่งอาณานิคมอยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของมหาอำนาจซึ่งมีอภิสิทธิ์ และได้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการทำสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคบางฉบับ ศาลไทยไม่มีอำนาจเหนือบุคคลในบังคับของประเทศมหาอำนาจเหล่านั้น ตามข้อตกลงในสนธิสัญญา ศาลกงสุลของต่างประเทศหรือศาลต่างประเทศมีเอกสิทธิ์ทางการศาลเหนือประเทศสยาม ประเทศสยามไม่มีสิทธิ์กำหนดอัตราภาษีอากรบางประการสูงเกินกว่าที่กำหนดไว้ในสนธิที่ไม่เสมอภาคนี้ และภาษีอากรที่กำหนดไว้แต่เดิมนั้นต่ำมาก

อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาไม่เสมอภาคที่ทำไว้กับประเทศมหาอำนาจบางฉบับนั้น ก็สิ้นสภาพไปในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สนธิสัญญาที่ทำไว้กับ :

จักรวรรดิเยอรมัน และ จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เนื่องจากประเทศสยามได้เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งเป็นสงครามระหว่าง ๒ อาณาจักรนี้กับประเทศสัมพันธมิตร โดยอาศัยหลักของกฎหมายระหว่างประเทศ สนธิสัญญาใดๆ ก็ตามที่ทำไว้กับประเทศที่มีสงครามจะสิ้นสภาพไปทันที

สนธิสัญญาที่ได้ลงนามไว้กับประเทศรัสเซียสมัยพระเจ้าซาร์เป็นอันสิ้นสุดลง เมื่อเกิดการอภิวัฒน์ขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๐

ในระหว่างการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยในปี พ.ศ.๒๔๗๕ นั้น ยังคงมีสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคกับ ๑๓ ประเทศ ในบรรดาประเทศทั้ง ๑๓ นี้ มี ๕ ประเทศ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในสมัยนั้นว่า เป็นประเทศมหาอำนาจได้แก่ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อิตาลี และอีก ๘ ประเทศเป็นประเทศทุนนิยมในยุโรปตะวันตก

ปี พ.ศ.๒๔๗๙ หลังจากได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแล้ว รัฐบาลในสยาม “คณะราษฎร” เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรจะหาทางเลิกสนธิสัญญา ที่ไม่เสมอภาค ที่รัฐบาลภายใต้ระบอบการปกครองแบบเก่าได้ถูกบังคับให้ลงนามไว้ ตลอดจนหาทางลดอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินที่รัฐบาลเก่าได้ทำสัญญาไว้กับธนาคารอังกฤษแห่งหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้มอบหน้าที่ให้ข้าพเจ้าไปพบผู้นำประเทศมหาอำนาจต่างๆในยุโรป อเมริกา และเอเชีย เพื่อเจรจาอย่างสันติกับประเทศเหล่านี้ การที่เราคิดเจรจากับประเทศมหาอำนาจ ดังเช่น ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อิตาลี อเมริกา และญี่ปุ่นก่อน เพราะเห็นว่า ถ้าประเทศดังกล่าวมีท่าทียินยอม ประเทศอื่นๆ ก็จะทำตามอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงเริ่มออกเดินทางรอบโลก (โดยทางเรือ สมัยนั้นยังไม่มีเส้นทางการคมนาคมทางอากาศทั่วโลก) เพื่อไปพบกับมุสโสลินี ปิแอร์ ลาวาล(ผู้นำรัฐบาลฝรั่งเศสในขณะนั้น) ฮจาล์มาร์ ชาคท์ เซอร์ซามวล ฮอร์(รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษในขณะนั้น) คอร์เดล ฮัลล์(รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น) จักรพรรดิฮิโรฮิโต นอกจากนั้นยังได้พบปะกับบุคคลสำคัญๆอื่นๆ ของแต่ละประเทศ

รัฐบาลสยามได้มอบหมายให้ข้าพเจ้าไปประเทศเยอมันด้วย เพื่อสังเกตความเป็นไปในระยะเวลา ๓ ปีภายหลังที่เกิดลัทธินาซีขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อศึกษาหาความรู้เรื่องระบบเศรษฐกิจแห่งชาติที่ตั้งขึ้นใหม่ แต่รัฐบาลมิได้ให้ข้าพเจ้าเดินทางไปยังสหภาพโซเวียต เพราะเรายังไม่รับรองรัฐบาลใหม่ของโซเวียตจนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๘๒ จึงได้มีข้อตกลงระหว่างสยามกับโซเวียตเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และเพื่อให้ทั้งสองประเทศมีผู้แทนของแต่ละฝ่ายประจำในแต่ละประเทศ การดำเนินตามข้อตกลงดังกล่าว ได้หยุดชะงักลงเมื่อเกิดสงครามระหว่างสหภาพโซเวียตและเยอรมัน จนกระทั่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศไทยและสหภาพโซเวียตจึงได้สถาปนาควาสัมพันธ์ทางการทูตอีกครั้ง สำหรับประเทศจีนนั้น แม้ว่าผู้แทนทางการทูตของรัฐบาลจีนที่กรุงโตเกียวจะได้เชื้อเชิญข้าพเจ้าให้ไปเยือนนานกิง (เมืองหลวงของประเทศจีนในสมัยนั้น) ก็ตาม ข้าพเจ้าไม่อาจรับคำเชิญได้ เพราะในระหว่างนั้น ประเทศจีนมีสงครามกลางเมือง ทั้งยังทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่นอีกด้วย

บทความที่๓๐๕. ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๘

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์
บทที่ ๒ การเริ่มมีจิตสำนึกอภิวัฒน์ของข้าพเจ้า
-๕-
ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ข้าพเจ้าได้เสนอร่างเค้าโครงเศรษฐกิจต่อรัฐบาล โดยหวังที่จะแก้ไขสภาพเศรษฐกิจตกต่ำลงอย่างน่าใจหายในสมัยนั้น สภาพดังกล่าว มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความเป็นอยู่ของประชากร โดยเฉพาะกสิกร ข้าพเจ้าเสนอให้รัฐซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมด้วยพันธบัตร มีดอกเบี้ยให้ประจำปีในอัตราที่เป็นธรรม ก่อตั้งสหกรณ์ต่างๆ ขึ้นอยู่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐโดยให้ราษฎรได้ทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของตนเพื่อป้องกันและกำจัดอาชญากรรมในรูปต่างๆ ตลอดจนจัดหางานให้ราษฎรแต่ละคน

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่สนับสนุนร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ แต่ในคณะรัฐมนตรีมีผู้ที่นิยมการปกครองแบบเก่า รวมทั้งเพื่อนบางคนของข้าพเจ้าที่ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มนี้ คัดค้านร่างเค้าโครงการฯ ดังกล่าว เมื่อคนกลุ่มนี้เห็นว่า ในที่สุดแล้วสภาผู้แทนราษฎรจะต้องลงมติเห็นชอบกับร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจของข้าพเจ้า และจะต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยขึ้นมาแทนที่รัฐบาลผสมอย่างแน่นอน พวกเขาจึงได้ขบคิดแผนการร่วมกับกลุ่มสมาชิกฝ่ายทหารในคณะรัฐมนตรี ทหารกลุ่มหนึ่งล้อมที่ทำการสภาผู้แทนราษฎรและที่พักของข้าพเจ้า นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการให้ในหลวงรัชกาลที่ ๗ ออกพระราชกฤษฎีกาประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญ และยุบสภา และออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เพื่อปราบปรามความคิดและกิจกรรมทุกรูปแบบที่มีลักษณะเป็นสังคมนิยม ซึ่งพวกเขาตีความว่า เป็นคอมมิวนิสต์ สำหรับส่วนตัวข้าพเจ้านั้น พวกเขาบีบบังคับให้ข้าพเจ้าออกจากประเทศ โดยกล่าวหาว่า ข้าพเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์ที่ไม่เป็นที่พึงปรารถนา ข้าพเจ้าจึงถูกเนรเทศมาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส

-๖-
ประมาณ ๒ เดือนต่อมา พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นบุคคลที่ข้าพเจ้าเคารพนับถือ ได้ทำการยึดอำนาจได้สำเร็จ และกราบบังคมทูลขอให้ในหลวงรัชกาลที่ ๗ นำรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๔๗๕ กลับมาใช้ใหม่ พระองค์ทรงรับคำขอนั้น โดยมีเงื่อนไขให้คงพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อตกลงกันตามเงื่อนไขของพระองค์แล้ว พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐบาลโดยมีพระยาพหลฯเป็นนายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯขอให้ข้าพเจ้ากลับประเทศ โดยมิให้กล่าวถึงร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจของข้าพเจ้าเป็นการชั่วคราว

เมื่อข้าพเจ้ากลับจากประเทศฝรั่งเศสได้ ๑ เดือน ได้เกิดกระแสโต้อภิวัฒน์ขึ้น โดยเริ่มตามหัวเมืองต่างจังหวัดก่อน มีผู้นำคือ พระองค์เจ้าบวรเดช ต่อมาได้เกิดการสู้รบขึ้น แต่รัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายได้รับชัยชนะ ในที่สุดต่อมา สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ซึ่งสมาชิกครึ่งหนึ่งได้รับเลือกตั้งจากราษฎร ได้ตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษขึ้น ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายทั้งของ สยาม อังกฤษ และฝรั่งเศส มีหน้าที่รวบรวมข้อเท็จต่างๆ เกี่ยวกับตัวข้าพเจ้า เพื่อสอบสวนว่า ข้าพเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่และเพื่อวินิจฉัยร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจที่จะได้จัดตีพิมพ์ขึ้น

สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมาธิการพิเศษ ที่ตัดสินว่า แม้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจของข้าพเจ้าบางส่วนจะมีความคล้ายคลึงกับโครงการเศรษฐกิจ ๕ ปีของโซเวียต แต่เนื้อหาสาระในโครงการนั้น เป็นเรื่องการปฏิรูปการเกษตร ซึ่งมิใช่โครงการแบบคอมมิวนิสต์ ต่อจากนั้น โดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรและตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขณะนั้นข้าพเจ้าอายุได้ ๓๔ ปี นอกจากนี้ข้าพเจ้าได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองด้วย

นับแต่นั้นมา ข้าพเจ้าได้ดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองควบคู่กับตำแหน่งทางราชการอื่นๆ ตามลำดับดังนี้

พ.ศ.๒๔๗๖-๒๔๗๘ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
พ.ศ.๒๔๗๙-๒๔๘๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
พ.ศ.๒๔๘๒-๒๔๘๔ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
พ.ศ.๒๔๘๔-๒๔๘๘ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และ
พ.ศ.๒๔๘๙-๒๔๙๐ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ภายหลังข้าพเจ้าพ้นจากหน้าที่ในรัฐบาล ข้าพเจ้ายังดำรงตำแหน่งเป็นผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง รวมทั้งระหว่างอยู่ในประเทศจีน ๓ ปีแรกด้วย เนื่องจากรัฐบาลสมัยนั้น ไม่ปรารถนาที่จะสร้างความไม่พอใจในหมู่นักศึกษา จึงได้แต่งตั้งผู้รักษาการแทนในระหว่างที่ข้าพเจ้าไม่อยู่ จนเมื่อความพยายามก่อการรัฐประหารของนายทหารแห่งกองทัพเรือประสบความพ่ายแพ้ในปี พ.ศ.๒๔๙๔ รัฐบาลจึงเสนอพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อรัฐสภา การจัดองค์กรมหาวิทยาลัยใหม่ครั้งนี้แยบยลและหลักแหลม เพียงแต่เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยเท่านั้น คือจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จะได้ชื่อใหม่นับแต่นั้นมาว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” สั้นๆ

ข้าพเจ้าจึงพ้นจากตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยนั้นโดยปริยาย โดยที่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องประกาศปลดอย่างเปิดเผย

บทความที่๓๐๔.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๗

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีนปรีดี พนมยงค์
บทที่ ๒ การเริ่มมีจิตสำนึกอภิวัฒน์ของข้าพเจ้า
-๓-
ในปี พ.ศ.๒๔๖๒ ข้าพเจ้าสอบไล่ได้ตามหลักสูตรของโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม แต่เนื่องจากข้าพเจ้ามีอายุเพียง ๑๙ ปี ซึ่งถือว่าอายุน้อยเกินไป จึงไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษาและยังไม่สามารถเป็นสมาชิกของเนติบัณฑิตยสภา (กำหนดอายุขั้นต่ำ ๒๐ ปี) ข้าพเจ้าต้องรออยู่ ๒-๓ เดือนจึงได้เป็นสมาชิกของเนติบัณฑิตยสภาดังกล่าว กระทรวงยุติธรรมพอใจในผลสอบของข้าพเจ้า จึงให้ทุนข้าพเจ้าไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อจะได้กลับมาช่วยงานกระทรวงในด้านการร่างประมวลกฎหมายตามแบบฉบับของประเทศฝรั่งเศส

ข้าพเจ้าเดินทางไปถึงประเทศฝรั่งเศสเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๓

ข้าพเจ้าได้ศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่โรงเรียนมัธยมในเมืองก็อง (Caen) เป็นเวลา ๑ ปี จึงได้เข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของเมืองนี้ และได้รับประกาศนียบัตร BACHELIER EN DROIT กับ LIENCE EN DROIT

ต่อมาข้าพเจ้าได้ย้ายไปศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยปารีส และในปี พ.ศ.๒๔๗๐ ข้าพเจ้าก็จบการศึกษาระดับปริญญาเอก(สาขานิติศาสตร์) นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายังได้รับประกาศนียบัตรการศึกษาขั้นสูงสาขาเศรษฐศาสตร์ด้วย

-๔-
นับตั้งแต่การอภิวัฒน์ฝรั่งเศสในปี พ.ศ.๒๓๓๒ ปารีสกลายเป็นต้นกำเนิดแห่งการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยในหลายๆ ประเทศในยุโรปและเอเชีย การอภิวัฒน์ทั้งในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติยังคงเหลือสืบทอดอยู่ในสมัยที่ข้าพเจ้าเป็นนักศึกษาอยู่ที่นั่น มาร์กซ์, เองเกลส์และเลนิน นักอภิวัฒน์ผู้ยิ่งใหญ่เคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ที่นั่น ชาวเอเชียหลายคนที่ปรารถนาเอกราชที่สมบูรณ์ของชาติ และต้องการนำชาติตนให้พ้นจากการปกครองแบบอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคม ต่างอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสในยุคสมัยนั้น โดยเฉพาะเหงียน-ไอ ก็อค (โฮจิมินห์),โจวเอินไหล, เฉินยี่และนักอภิวัฒน์ชาติอื่นๆ

สำหรับตัวข้าพเจ้านั้น นอกจากข้าพเจ้าจะรู้จักมักคุ้นกับเพื่อนๆ ชาวไทยด้วยกันและกับเพื่อนๆชาวฝรั่งเศสแล้ว ข้าพเจ้ายังได้รู้จักนักอภิวัฒน์เอเชียกลุ่มหนึ่ง และต่อมาพวกเราได้ก่อตั้งสมาคมเพื่อความสมานฉันท์และพันธมิตรแห่งเอเชีย

ด้วยความตั้งใจที่จะรับใช้เพื่อนร่วมชาติ ด้วยความปรารถนาที่จะได้บูรณภาพในดินแดนและเอกราชอันสมูบรณ์ของชาติ ที่จะทำให้ประเทศชาติได้ประสบผลสำเร็จในการบำรุงเศรษฐกิจให้รุ่งเรือง ตลอดจนการนำชาติให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ข้าพเจ้าจึงได้ก่อตั้งแกนกลางอย่างลับๆ ขึ้นเป็น “คณะราษฎร” ร่วมกับเพื่อนนักศึกษาไทยบางคน เราได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยในประเทศของเรา ซึ่งต่อมาเราก็ได้เสริมด้วยความรู้ทางทฤษฎีและทางปฏิบัติเกี่ยวกับการอภิวัฒน์ ซึ่งเราได้เรียนรู้จากฝรั่งเศส

เมื่อได้ตระเตรียมการอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะเวลา ๕ ปี หลังจากที่ข้าพเจ้าเดินทางกลับจากประเทศฝรั่งเศส ในที่สุดคณะราษฎรก็ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ โดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ แต่อย่างใด คณะราษฎรได้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเห็นชอบตามคำร้องขอของคณะราษฎร

ด้วยเหตุนี้จึงได้มีสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสยามและพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งรัฐบาลผสม ประกอบด้วยสมาชิกคณะราษฎรกับคณะบุคคลในระบอบการปกครองแบบเก่า

Monday, September 17, 2007

บทความที่๓๐๓.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๖

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์

บทที่ ๒ การเริ่มมีจิตสำนึกอภิวัฒน์ของข้าพเจ้า
-๒-

คนหนุ่มสาวส่วนหนึ่ง รวมทั้งข้าพเจ้าด้วย มีความเห็นอกเห็นใจอย่างยิ่งต่อผู้ที่ถูกลงโทษทางการเมืองเหล่านี้ พวกเราได้พูดคุยถึงเรื่องนี้กันบ่อยๆ ทั้งในโรงเรียนมัธยมและโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งข้าพเจ้าได้ลงทะเบียนเรียนในปี พ.ศ.๒๔๖๐ ต่อมาภายหลังการอภิวัฒน์ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ รัฐบาลประชาธิปไตยของเราได้คืนยศให้นักโทษการเมืองเหล่านี้ตามยศเดิมที่มีอยู่ก่อนที่ถูกคำพิพากษา อันเป็นเครื่องยืนยันถึงความเห็นอกเห็นใจที่เรามีต่อนักอภิวัฒน์รุ่นนั้น

ระหว่างที่ข้าพเจ้าศึกษาวิชากฎหมายนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า มหาอำนาจต่างชาติถือสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือประเทศสยาม ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางทฤษฎีหรือทางปฏิบัติ คนในสังกัดมหาอำนาจเหล่านี้ ไม่ต้องขึ้นศาลไทย เพราะคดีที่มีคู่ความเป็นคนสังกัดต่างชาติเหล่านั้น จะต้องให้ศาลกงสุล หรือศาลคดีระหว่างประเทศตัดสิน ทั้งนี้เป็นไปตามสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคระหว่างชาติมหาอำนาจกับประเทศสยาม ในศาลคดีระหว่างประเทศ คำวินิจฉัยของผู้พิพากษาชาติยุโรปจะมีน้ำหนักมากกว่าคำวินิจฉัยของผู้พิพากษาชาวสยาม

ข้าพเจ้าไม่พอใจการใช้อำนาจอธิปไตยเช่นนี้เลย ข้าพเจ้าจึงได้ตัดสินใจที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชของชาติอันสมบูรณ์ โดยมีอำนาจอธิปไตยของตนอย่างเต็มเปี่ยม ขณะเดียวกันข้าพเจ้าได้สังเกตความเป็นไปของราชสำนัก รวมทั้งการบริหารงานภายใต้ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และตั้งความปรารถนาไว้ว่า จักต้องก่อตั้งระบอบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศของข้าพเจ้าให้จงได้ แม้ในตอนนั้นข้าพเจ้ายังไม่ทราบว่าจะทำได้อย่างไร

ในปี พ.ศ.๒๔๖๑ มีรายงานข่าวหลายกระแสที่ลงในหนังสือที่กรุงเทพฯ เกี่ยวกับการอภิวัฒน์ของกลุ่มบอลเชวิคในรัสเซีย สิ่งที่ข้าพเจ้าสนใจในครั้งนั้นคือ การล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าซาร์ เหตุการณ์นี้ทำให้ข้าพเจ้าระลึกถึงคำพูดของครูข้าพเจ้าที่โรงเรียนมัธยมที่ว่า ระหว่างรัสเซียกับสยามประเทศใดจะล้มเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ก่อนกัน ในเมื่อประเทศรัสเซียล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ ข้าพเจ้าก็มีความหวังอย่างแรงกล้าว่า เหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้คงจะเกิดขึ้นในสยาม

ดังนั้นข้าพเจ้าจึงได้พูดคุยกับเพื่อนข้าพเจ้าคนหนึ่งอย่างลับๆ เพื่อหาวิธีที่จะทำให้เราได้บรรลุจุดประสงค์นี้ ด้วยเราตระหนักถึงบทเรียนของบรรดานักอภิวัฒน์ที่ถูกจับกุมในปี ร.ศ.๑๓๐ ว่าเกิดจากบุคคลหนึ่งซึ่งเป็นผู้ทรยศได้เปิดโปงแผนการดังกล่าวต่อรัฐบาล อย่างไรก็ตามเราก็ยังไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถตั้งขบวนการอภิวัฒน์ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดได้

บทความที่ ๓๐๒.คุณสุพจน์ ด่านตระกูลปาฐกถาเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์ไทย ๒

คุณสุพจน์ ด่านตระกูลปาฐกถาในการเสวนาวาระครบรอบ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์ไทยความตอนหนึ่งว่า
“ในประเด็นที่ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้ เป็นของราษฎรทั้งหลาย ปัจจุบันนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้น แล้วก็เอาคำว่า อำนาจสูงสุด เอามาแผลงเป็นอำนาจตามหลักการแยกอำนาจของมองเต็ชคีเออ ที่ว่าแบ่งอำนาจ บริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ แต่ความจริงอำนาจสูงสุดของประเทศคืออำนาจที่เป็นโครงสร้างของสังคม ในสังคมไหนก็แล้วแต่โครงสร้างคือเศรษฐกิจ คือการเมือง คือวัฒนธรรม ในสามส่วนนี้ เศรษฐกิจเป็นโครงสร้างพื้นฐานหรือโครงสร้างเบื้องล่าง ส่วนการเมืองและวัฒนธรรม (ท่านปรีดีฯ เรียกว่าทัศนะสังคม) เป็นโครงสร้างชั้นบน โครงสร้างเบื้องล่างอยู่ในกำมือของใคร โครงสร้างเบื้องบนก็อยู่ในกำมือของคนนั้น

ในยุคทาส นายทาสเป็นผู้คุมเศรษฐกิจ การเมืองก็เป็นนายทาส ในยุคศักดินา เจ้าศักดินาคุมเศรษฐกิจ การเมืองก็เป็นของเจ้าศักดินา ยุคปัจจุบันนี้เราเห็นอยู่แล้วว่าเป็นยุคทุนนิยม ซึ่งขยายเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ยังเพิ่งแตกหน่ออ่อน เดี๋ยวนี้เต็มแก่แล้ว จนจะจมดิ่งหัวลงแล้ว ยุคทุนนิยม เศรษฐกิจเป็นของนายทุน เพราะฉะนั้นการเมือง วัฒนธรรมก็เป็นของนายทุน ที่เกิดเหตุวุ่นวาย ทักษิณออกไปๆ และทักษิณสู้ๆ ก็เพราะนายทุนสองกลุ่มคือ นายทุนสวมชฎากับนายทุนสวมหมวกมันขัดกัน นายทุนเมืองไทยเป็นนายทุนอิงอำนาจรัฐ ส่วนหนึ่งมันได้อำนาจรัฐเสียเอง ไม่ให้พวกอื่นมาอิง พวกไม่ได้อิงก็อาศัยพวกการเมืองต่างๆ มาโค่นมาโจมตี ด่าว่ารัฐบาลต่างๆ นานา ความจริงทุนต่อทุนมันต่อสู้กัน เรียกว่าทุนที่ก้าวหน้าก็ได้ทุนที่ล้าหลังก็ได้ แต่ก้าวหน้าก็ภายใต้ข้อจำกัดของทุนนั่นเอง ในเมื่อประชาชนยังไม่มีทางเลือก แน่นอนถ้าไม่หลับหูหลับตาก็ต้องเลือกทุนก้าวหน้าไว้ก่อน

ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดก็คือความพยายามของบางกลุ่มที่มีปัญญาวิปริตดึงสถาบันลงมา จากอภิรัฐมนตรี มาเป็นองคมนตรี องคมนตรีคืออะไร ? องคมนตรีคือสัญลักษณ์ของระบบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และองคมนตรีลอยตัว ไม่ต้องรับผิดชอบกับใคร แต่ทำภารกิจได้เยอะแยะ ตรงกันข้ามกับนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อประชาชน

เดี๋ยวนี้องคมนตรีเป็นที่ปรึกษาของในหลวงแต่กลับไม่มีความรับผิดชอบอะไรเลย นี่คือสัญลักษณ์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะฉะนั้นถ้าตราบใดยังมีองคมนตรีก็จะมีความพยายามดึงข้างบนลงมาให้เกี่ยวข้องกับการเมืองและผลของมันก็จะเป็นอย่างที่คุณพโยม จุลานนท์ ว่าไว้

ในฝรั่งเศสจาก ค.ศ.๑๗๘๙ ต่อสู้กันมาระหว่างเก่ากับใหม่ จนถึง ค.ศ.๑๘๗๑ เป็นเวลาถึง ๘๒ ปีของเรา ยังต้องคอยดูต่อไปข้างหน้า.

บทความที่ ๓๐๑.คุณสุพจน์ ด่านตระกูลปาฐกถาเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์ไทย


คุณสุพจน์ ด่านตระกูลได้กล่าวปาฐกถาที่สถาบันปรีดี พนมยงค์เนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์ไทย เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ความตอหนึ่งว่า

นี่เป็นคำอภิปรายของนายฟื้น สุพรรณสาร ซึ่งเป็นห่วงใยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ ผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ควรจะนึกถึงคุณูปการของคณะราษฎรเป็นอย่างมากที่เชิดชูพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือการเมือง เพื่อให้สถาบันนี้ยืนยงคงอยู่ชั่วฟ้าดิน แต่อีกพวกหนึ่งที่อ้างตัวว่าจงรักภักดีกลับดึงพระมหากษัตริย์ลงมาเกือกกลั้วกับการเมือง อย่างที่นายฟื้น สุพรรณสาร ได้อภิปราย

ยังมีอีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลสำคัญ อภิปรายปัญหานี้เช่นกัน บุคคลสำคัญคนนี้และสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ ลูกชายท่านเป็นถึงนายกรัฐมนตรี คนนั้นคือ คุณพโยม จุลานนท์ ผู้แทนจังหวัดเพชรบุรี คุณพโยมบอกว่า

“ข้าพเจ้าเองก็เคยได้รับราชการทหารมหาดเล็กในราชสำนักพระปกเกล้า มาเป็นเวลา ๔ ปี ข้าพเจ้าเคารพและเทิดทูนราชบัลลังก์พระเกียรติของพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง ไม่น้อยไปกว่าท่านผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับปี ๒๔๙๒-แด่บรรพชนฯ)แต่ว่าเป็นผู้ที่รักษาอำนาจเหมือนกัน ได้อ่านได้พิจารณาดู รวมทั้งได้ยืมบันทึกการอภิปรายไปดูแล้ว ในหมวดที่ ๒ นี้เท่าที่บันทึก ท่านผู้ร่างได้ถวายอำนาจแก่พระมหากษัตริย์เกินกว่าที่ได้มีมาแล้วในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ของเราทีได้ใช้มา ข้าพเจ้ารู้สึกว่าความจริงนั้นการที่เราจะพยายามถวายอำนาจให้แก่พระมหากษัตริย์ ถ้าพูดถึงในทางดี ข้าพเจ้าก็รับรองเหมือนกันว่า อาจจะมีผลดีมาก แต่ในทางเดียวกัน ข้าพเจ้าใคร่ขอให้สภานี้ พิจารณาทางกลับกันบ้าง เพราะธรรมดาทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีคุณมีโทษ การที่เราถวายอำนาจแก่พระมหากษัตริย์มากเกินไปนั้น ได้มีผู้ทักท้วงหลายท่านว่า เราได้เทิดทูนว่าไว้พระมหากษัตริย์นั้น เราถือว่าเป็นยอดแห่งความเคารพสักการะ เราจะละเมิดมิได้ อันนี้เรารับรองกันมานานแล้วว่า เราเทิดทูนพระมหากษัตริย์ของเราอย่างนั้น แต่ว่าในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับมอบพระราชภาระให้แก่พระมหากษัตริย์หลายสิ่งหลายประการ ทั้งส่วนพระองค์และในส่วนนิติบัญญัติ และบริหารก็เป็นเช่นนั้น แล้วธรรมดาใครๆ ก็ย่อมรู้ว่า สี่ตีนยังรู้พลาดนักปราชญ์ยังรู้พลัง ฉะนั้นแล้วจะไม่มีการผิดพลาดอย่างไร

ก็เมื่อมีการพลาดพลั้งแล้ว ปัญหาเรื่องเคารพสักการะและละเมิดต่างๆ ก็จะกระทบสั่นคลอนได้ ทั้งนี้ว่าโดยทั่วๆ ไปแล้ว รองลงมาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้บัญญัติพระชนมายุไว้ ซึ่งท่านอ้างว่าต่างประเทศเขาบัญญัติกัน ข้าพเจ้าก็ไม่เถียง ท่านอ้างได้

พระชนมายุให้ทรงบรรลุนิติภาวะของกษัตริย์อายุ ๑๘ ปีนั้น ในเมื่อพระมหากษัตริย์เรายังไม่ได้จุติมาจาดดวงอาทิตย์เหมือนญี่ปุ่น แล้วก็ทำไมคนไทยอายุ ๑๘ ปี จะทำอะไรไม่ผิดพลั้ง อายุ ๔๐ หรือ ๕๐ ก็ผิดพลาดได้ (คือตอนจะแก้รัฐธรรมนูญให้กษัตริย์บรรลุนิติภาวะเมื่ออายุ ๑๘ ปี ไม่ต้องมีผู้สำเร็จราชการ คุณพโยม แกคัดค้านไม่เห็นด้วยเพราะกลัวว่ากษัตริย์จะทำผิด-สุพจน์)..

ได้มีการอภิปรายกันมากแล้วว่าในเรื่องผู้ใดจะกล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ ไม่ได้ อันนี้ใคร่จะขอชี้ให้เห็นว่ามันขัดกับหมวด ๓ มาตรา ๒๗ ที่บอกว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ข้าพเจ้าข้องใจว่า ก็เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทำไมพระมหากษัตริย์ไม่ใช่ชาวไทยอย่างนั้นหรือ ถ้าอย่างนั้นเอาแบบญี่ปุ่นสิ (นี่เป็นคำของคุณพโยม) เพราะพระมหากษัตริย์สืบสันตติวงศ์มาจากดวงอาทิตย์ ถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าก็ยอมรับว่าไม่ใช่คนธรรมดา

ความจริงมาตรา ๕ ก็บัญญัติไว้แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ก็ไม่เคยบัญญัติบอกว่าฟ้องร้องใดๆ ไม่ได้ ข้าพเจ้าใคร่จะขอตั้งข้อสังเกตอันหนึ่งว่า การสืบราชสันตติวงศ์นั้น สืบลงมาเป็นลำดับ แต่หากว่าในราชตระกูลนั้นบังเอิญท่านผู้นั้นได้กระทำผิดกฎหมายอาญาขึ้นก่อน แต่คดียังไม่ได้มีการฟ้องร้อง แต่บังเอิญได้ถูกสถาปนาขึ้นครองราชบัลลังก์ขึ้นมาแล้ว การฟ้องร้องการกระทำความผิดก่อนเสวยราชย์ก็ฟ้องร้องไม่ได้เพราะเป็นพระมหากษัตริย์ เช่นนี้ข้าพเจ้าเห็นว่ามันขัดกัน ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้

เราได้รับรองว่าเราพูดไปอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าตำหนิว่า การที่เราวางหลักเพื่อปลอบใจประชาชนไทยว่าให้สิทธิว่า บุคคลย่อมเสมอกันในทางกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์ก็ดี ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นประชาชนเชื่อว่า ต่อไปนี้เราเท่ากันหมด แต่ความจริงในหมวด ๒ ยกให้พระมหากษัตริย์เป็นบุคคลที่จุติมาจากสวรรค์อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าบางทีเราพูดกับทำไม่ตรงกัน”

นี่เป็นข้อสังเกตของคุณพโยมเรื่องการฟ้องร้องพระมหากษัตริย์


จากหนังสือ "ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕"

บทความที่ ๓๐๐.การเสวนาเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์ไทย

จากการเสวนาเนื่องในวาระครบรอบ ๗๕ ปี การอภิวัฒน์ไทย ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๙ การเปลี่ยนแปลงใหญ่เกิดขึ้น การเปลี่ยนธาตุเปลี่ยนสีของระบอบการปกครองก็ฉายแสงให้เห็นมากขึ้น ได้เกิดรัฐประหารขึ้นโดย พลโทผิน ชุณหะวัณ เป็นผู้นำรัฐประหาร หลวงกาจสงครามเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ แล้วก็แอบเก็บไว้ใต้ตุ่ม ตุ่มน้ำนั้นเป็นตุ่มแดง ก็เลยเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนั้นว่า “รัฐธรรมนูญตุ่มแดง”

ในรัฐธรรมนูญนี้มีมาตราเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ โดยเพิ่มมาตราขึ้น มาตรา ๙ บอกว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอภิรัฐมนตรี เป็นตำแหน่ง สำหรับถวายคำปรึกษาราชการแผ่นดิน” มีคำใหม่เกิดขึ้นคำหนึ่ง คือ คำว่า อภิรัฐมนตรี

หลังจากนั้นก็มีรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.๒๔๙๒ สืบต่อจากรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มนั่นเอง เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์รัฐธรรมนูญนี้มี ๒๑ มาตรา เริ่มจากมาตรา ๕ จนถึงมาตรา ๒๕ มาตรา ๒๑ บอกว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทยและทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารทั้งปวง มาตรา ๒๓ บอกว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรี และอีกไม่มากกว่า ๘ คนประกอบเป็น คณะองคมนตรี”

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช้คำว่า องคมนตรี และเพิ่มตำแหน่งกษัตริย์ให้เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารทั้งปวง มีการอภิปรายกันในสภากันอย่างมากมายยืดยาว เป็นที่น่าสนใจและน่าศึกษาจึงขอนำคำอภิปรายบางตอนมาอ่านให้ฟังดังนี้

รายงานการประชุมสภา ครั้งที่ ๑๓ วันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๒ เป็นคำอภิปรายของนายฟื้น สุพรรณสาร

“เราจะแลเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงอำนาจของพระมหากษัตริย์จากรัฐธรรมนูญฉบับเก่าๆ ไปนั้นเป็นอันมาก แต่รัฐธรรมนูญเก่าๆ ที่ได้ใช้มาจะเป็นฉบับไหนก็ตาม ตั้งแต่ ๒๔๗๕,๒๔๘๙ ได้แบ่งแยกอำนาจพระมหากษัตริย์ไว้ ๓ ประการ ประการที่ ๑ พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจนิติบัญญัติทางสภาผู้แทนราษฎร และใช้พระราชอำนาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรี ใช้พระราชอำนาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรี ใช้พระราชอำนาจตุลาการผ่านทางศาล รัฐธรรมเก่าๆของเรา ที่ให้อำนาจทั้ง ๓ ประการนี้ ต้องมีรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ที่ใช้กันมาแล้วเราถือว่าพระมหากษัตริย์กระทำอะไรไม่ผิด โดยมีรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้เพิ่มพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ขึ้นอีกอย่างมากมาย

เมื่อได้อ่านดูแล้วข้าพเจ้าใคร่จะขอเรียนแก่ประธานสภาด้วยความเคารพว่า ผู้ร่างมีความปรารถนาจะเหนี่ยวรั้งให้พระมหากษัตริย์เข้ามาพัวพัน ในทางการเมืองให้มากเกินสมควร ข้าพเจ้าไม่วิตกว่าพระมหากษัตริย์เข้ามาพัวพันทางการเมืองแล้วจะใช้อำนาจบีบคั้นอาณาประชาราษฎรของท่านก็หามิได้ แต่ข้าพเจ้าเป็นห่วงเป็นใยในพระองค์เป็นอย่างยิ่ง เพราะการที่เข้ามาเล่นการเมือง หรือเข้ามาพัวพันในการเมืองนั้น ย่อมจะต้องมีการถูกวิจารณ์อย่างมากมาย เพราะสมัยนี้ เป็นสมัยเสรีภาพ ทุกคนเหมือนกันหมด

ท่านนั่งอยู่ในสภาแห่งนี้ ท่านจะแลเห็นได้ชัดแจ้งว่า การวิพากษ์วิจารณ์ในสมัยนี้ หนังสือพิมพ์ก็ดี หรือสภากาแฟก็ดี มิได้มีการไว้หน้ากันเลยจะเป็นใครก็ตาม ได้มีการเขียนข้อความวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรุนแรงเกือบจะเรียกว่าเป็นการหมิ่นประมาทไปก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นหากท่านผู้ร่างได้เขียนรัฐธรรมนูญนี้เหนี่ยวรั้งให้พระมหากษัตริย์เข้ามาพัวพันทางการเมืองมากเกินกว่าหลักของรัฐธรรมนูญที่แล้วๆ มา ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นห่วงพระเกียรติและฐานะของท่านนั้นจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายแง่หลายมุม

พระมหากษัตริย์ทรงเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา โดยองคมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการนั้น อย่างไหนจะดีกว่ากัน ถ้าอย่างไหนจะดีกว่ากันแล้ว ข้าพเจ้าจะไม่เถียง แต่ว่าท่านนึกถึงบ้างหรือเปล่าว่า การที่พระมหากษัตริย์จะมาทรงเลือกท่านสมาชิกวุฒิสภานั้น คือ เลือกนักการเมือง เพราะฉะนั้นในการเลือกก็อาจจะมีได้ทั้งติและทั้งชม ถ้าเลือกผิดก็จะถูกเขาติฉินนินทา ผิดหรือไม่ผิดไม่สำคัญ แต่มีผู้วิ่งไปหาพระมหากษัตริย์ วิ่งไปหาองคมนตรี ขอให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาอย่างแน่นอน เช่นนั้น พระมหากษัตริย์ไม่ทรงโปรดคนไหนบ้าง คนผู้นั้นก็ไม่พอใจบ่นว่า พระมหากษัตริย์เล่นพวกเล่นพ้องอะไรต่างๆ ถ้าพระมหากษัตริย์ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้แล้ว ท่านคิดบ้างหรือเปล่าว่า ราชบัลลังก์จะสั่นคลอนเพียงไร ข้าพเจ้าเชื่อเหลือเกินว่าหลีกไม่พ้นมั่นคงถาวร”


จากหนังสือ "ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕"
เป็นการเสวนาในวาระครบรอบ ๗๕ ปี การอภิวัฒน์ไทย ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๐

บทความที่ ๒๙๙. อดีตอันหวนกลับ

ประกาศของคณะราษฎร ฉบับที่ ๑

ราษฎรทั้งหลาย

เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชย์สมบัติต่อจากพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์นี้คงจะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังกันไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจเหนือกฎหมายเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างและการซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนเงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะเห็นได้จากความตกต่ำในทางเศรษฐกิจและความฝืดเคืองในการทำมาหากินซึ่งพวกราษฎรได้รู้กันอยู่โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นฟูขึ้นได้

การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎรตามที่รัฐบาลอื่นๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้นแทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่า ภาษีอากรที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้านบาท ส่วนราษฎรสิ กว่าจะหาได้แม้แต่เล็กน้อย เลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียเงินราชการหรือภาษีใดๆ ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นก็ได้โค่นราชบัลลังก์ลงเสียแล้ว

รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าหลอกว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอยๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรโง่ คำพูดของรัฐบาลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฏรรู้ไม่ถึงเจ้านั้น ไมใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่พวกเจ้าทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้เจ้าทำนาบนหลังคนอีกต่อไป

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎรไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นจากมือข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน ? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำนาไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนเรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนแล้วก็ไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการชั้นผู้น้อย นายสิบ และเสมียน เมื่อให้ออกจากราชการแล้วก็ไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่พวกเจ้ากวาดรวบรวมไว้มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้คนมีงานทำ จึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยกันมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินเหลือเท่าไรก็เอาไปฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย

เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเรือนที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้วจึง รวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของกษัตริย์ไว้ได้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมา ก็ชื่อว่าทรยศต่อชาติและก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างแบบประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา

ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวัดเถิดว่าราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุกๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศของเราเป็นที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้านมาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอด เช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว หลักใหญ่ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า

๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

๒.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

๓.ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

๔.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยูในเวลานี้)

๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น
๖. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมใจกันช่วยคณะราษฎร ให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วดินฟ้านี้ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนทิ่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือกฎหมาย พึงตั้งตนอยู่ในความสงบและตั้งหน้าทำมาหากิน อย่าทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎร การที่ราษฎรช่วยคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลน ของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกกันเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริยะ” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า”

คณะราษฎร
๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

บทความที่๒๙๘.ประชาธิปไตยคือต้องให้ประชาชนออกสิทธิได้อย่างเสมอภาคกัน

"ระบบการเมืองที่จะเป็นประชาธิปไตยได้ก็จำต้องมีรัฐธรรมนูญ
วิธีเลือกตั้งซึ่งให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้
เสมอภาคกัน และมีความสะดวกในการออกเสียงได้ในทางปฏิบัติ
อีกทั้งจะต้องมีระบบที่ฝ่ายบริหารจำเป็นต้องปฏิบัติเพื่อราษฎร
อย่างแท้จริง และระบบที่ฝ่ายตุลาการจำต้องมีอิสระและดำรงไว้
ซึ่งความเที่ยงธรรม"

ปรีดี พนมยงค์

จากการปาฐกถา อนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปใด ปาฐกถาในการชุมนุมสนทนาที่สามัคคีสมาคม (สมาคมนักเรียนไทยในสหราชอาณาจักร ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๖)

บทความที่๒๙๗.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๕

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์
บทที่ ๒ การเริ่มมีจิตสำนึกอภิวัฒน์ของข้าพเจ้า
-๑-
ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ ข้าพเจ้าอายุได้ ๑๑ ปี ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและเด่นชัดในเรื่องวัฒนธรรมของชาวจีนและลูกหลานชาวจีนในเมืองไทย ซึ่งเป็นจำนวนประชากรจำนวนร้อยละ ๒๕ ของประชากรทั้งประเทศ สิ่งนั้นคือการที่ชายจีนทุกคนตัดผมเปียทิ้ง ทั้งๆที่ได้ไว้ผมเปียมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ เขาต่างอธิบายถึงเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่นี้ต่อประชาชนในประเทศที่เขาทั้งหลายอาศัยอยู่ ว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยก่อนซึ่งเป็นผู้กำหนดให้ไว้ผมเปียที่ไม่น่าดูนี้ ได้ถูกล้มล้างไปแล้ว โดยการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐอันมี ดร.ซุนยัดเซนเป็นผู้นำ และเป็นผู้แนะนำให้ชาวจีนทุกคนเปลี่ยนทรงผมใหม่เป็นทรงสั้นตามแบบชาวยุโรป(ในยุคนั้น) ทั้งนี้ชาวจีนจะได้ไม่ถูกชาวต่างชาติล้อเลียนว่า “มีหางที่หัว”

ที่โรงเรียนตัวอย่างในพระนครศรีอยุธยา ซึ่งข้าพเจ้าได้ศึกษาชั้นมัธยมอยู่นั้น ครูวิชาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ได้อธิบายสาเหตุที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้โดยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ประเทศเอกราชส่วนใหญ่ในโลกมีรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นด้วยความยินยอมของรัฐสภา โดยประชาชนจะเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา สำหรับประมุขแห่งรัฐของแต่ละประเทศเอกราชนี้ อาจมีฐานะเป็นกษัตริย์ ซึ่งสืบสันตติวงศ์หรืออาจจะเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ ซึ่งก็คือสามัญชนซึ่งได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระยะเวลาอันมีกำหนดไว้ ครูข้าพเจ้ากล่าวเสริมว่า ในบรรดาประเทศที่มีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ล้าหลัง ๓ ประเทศ (ได้แก่ จีน รัสเซียและสยาม)นั้น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในประเทศจีนได้ถูกล้มล้างไปแล้ว ยังคงเหลืออยู่แต่ประเทศรัสเซียและสยาม และยังไม่ทราบว่าประเทศใดใน ๒ ประเทศนี้จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองได้ก่อนกัน

นับแต่นั้นมา ข้าพเจ้าได้เริ่มให้ความสนใจกับการอภิวัฒน์ในประเทศจีน ซึ่งนำโดยซุนยัดเซน โดยเฉพาะในเรื่องสงครามระหว่างกองทัพฝ่ายจักรพรรดิจีนกับกองทัพฝ่ายสาธารณรัฐ ในสมัยนั้น หนังสือพิมพ์ยังไม่แพร่หลายในสยาม โดยเฉพาะในจังหวัดบ้านเกิดของข้าพเจ้า บิดาข้าพเจ้าเห็นว่ากระหายใคร่รู้ข่าวคราวต่างๆ มากนัก จึงได้นำหนังสือพิมพ์เก่าๆของญาติของข้าพเจ้าคนหนึ่งซึ่งเป็นนายทหารแห่งกองทัพบกมาให้ข้าพเจ้าอ่าน ทำให้ข้าพเจ้าได้รับรู้ทีละเล็กละน้อยว่า ระบอบการปกครองระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น มีข้อเสียหรือข้อบกพร่องอย่างไร ชาวจีนจึงได้ต่อต้านการปกครองระบอบนี้ และเปลี่ยนมาเป็นการปกครองในระบอบสาธารณรัฐ

ประมาณเกือบ ๑ ปีต่อมา คือใน ร.ศ.๑๓๐ มีข่าวใหญ่แพร่ไปทั่วทั้งประเทศ คือ รัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจับได้ว่ามีคณะอภิวัฒน์ทำงานใต้ดิน เพื่อล้มล้างระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จากเหตุนี้เองนักอภิวัฒน์มากกว่าร้อยคนถูกจับและถูกศาลพิเศษตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิตบ้าง ประหารชีวิตบ้าง แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ลดโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตและลดโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก ๒๐ ปี ส่วนผู้ที่ถูกตัดสินจำคุก ๒๐ ปีให้รอการลงอาญาไว้

เป็นที่แน่นอนว่า รัฐบาลไม่สามารถจับกุมสมาชิกทุกคนของคณะอภิวัฒน์ดังกล่าวได้ (เช่นนายบุญเอก ซึ่งทำงานเป็นลูกจ้างประจำสถานทูตฝรั่งเศส และได้เข้าร่วมคณะอภิวัฒน์โดยมิได้แจ้งให้ท่านทูตทราบ เป็นต้น)

ผู้ก่อการสำคัญในการอภิวัฒน์ครั้งนี้ คือ ร้อยโทเหรียญ ศรีจันทร์อายุ ๑๘ ปี ได้ชักชวนเพื่อนสนิทคือร้อยตรีจรูญ ษตะเมษ อายุ ๒๔ ปีและร้อยตรีเนตร พูนวิวัฒน์ อายุ ๑๘ ปี (มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการกลุ่ม) มาเข้าร่วมขบวนการด้วย

นายทหารหนุ่มๆเหล่านี้ ค่อยๆ ชักชวนนายทหารจากหน่วยต่างๆ มาเข้าร่วมขบวนการด้วย โดยเฉพาะนายทหารจากกองพันที่หนึ่งรักษาพระองค์ ต่อมาพวกเข้าได้รู้จักกับนายแพทย์ท่านหนึ่งซึ่งยินดีรับตำแหน่งหัวหน้ากลุ่ม ท่านผู้นี้เป็นพี่ชายคนโตของร้อยโทเหรียญ คือ ร้อยเอกนายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์ ซึ่งเป็นแพทย์ประจำเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ดังนี้ คณะอภิวัฒน์จึงมีส่วนคล้ายกับขบวนการอภิวัฒน์จีน คือ มีนายแพทย์เป็นหัวหน้ากลุ่ม ร้อยโทจรูญ ณ บางช้าง จบจากโรงเรียนกฎหมายได้เข้าร่วมในขบวนการนี้ด้วย โดยมีตำแหน่งเป็นกรรมการฝ่ายการเมืองของกลุ่ม นักเรียนกฎหมายบางคนได้เข้าร่วมในขบวนการนี้เช่นกัน

ระหว่างที่มีการพิจารณาคดีที่ศาลพิเศษ ผู้พิพากษาท่านหนึ่งกล่าวติเตียนร้อยตรีนายหนึ่งจากกองทหารรักษาพระองค์ว่า ไม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ จำเลยได้อธิบายต่อผู้พิพากษาอย่างกล้าหาญว่า เขารักชาติยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ และตัวเขาเองอยู่กองร้อยที่ใกล้ชิดในหลวงที่สุด ย่อมทราบดีว่าบรรดาพลทหารและพลเรือนว่มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในราชสำนัก อันทำให้เขาได้ตระหนักว่า ความสุขสำราญและความหรูหราฟุ่มเฟือยของราชสำนักนั้น นำชาติไปสู่หายนะ ทำให้เขาได้เกิดจิตสำนึกและผลักดันให้เขาเข้าร่วมขบวนการอภิวัฒน์ครั้งนี้

Sunday, September 16, 2007

บทความที่๒๙๖. ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๔

อย่างไรก็ตาม ในประเทศสยามมีกลุ่มคนประเภทเดียวกันที่เคยมีในฝรั่งเศสในช่วงระหว่างการอภิวัฒน์ พ.ศ.๒๓๓๒ และสาธารณรัฐที่ ๓ ในปี พ.ศ.๒๔๑๓ เราเรียกคนเหล่านี้ว่า “ผู้เกินกว่าราชา” (Ultra Royaliste) คือ หมายถึงพวกที่ชอบทำตนนิยมราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีเอง ในกลุ่ม “ผู้เกินกว่าราชา” แห่งสยามนี้มีบางคนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เลยกับพระบรมวงศานุวงศ์และมีคนทั้งคนที่เรียกตัวเองว่า “ปัญญาชน” บางคนรู้สึกว่าตนเองมีปมด้อย เนื่องจากมีเชื้อสายต่างด้าว จึงอยากจะแสดงตนว่าเป็นชาวสยามเสียยิ่งกว่าประชาชนชาวสยามหรือพระมหากษัตริย์สยามเอง และเสแสร้งตนเป็นผู้รักษาราชบัลลังก์
(โปรดอ่านที่ http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/06/blog-post_8038.html - แด่บรรพชนฯ)

โดยใช้เล่ห์เหลี่ยมกลอุบายนานาชนิด เพื่อทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านข้าพเจ้า โดยการกล่าวหาข้าพเจ้าหลายครั้งหลายคราว่า เป็นผู้มีส่วนร่วมในกรณีสวรรคตที่ลึกลับซับซ้อน และเมื่อเพื่อนคนไทยทั้งที่อยู่ในประเทศ รวมทั้งที่อยู่ในต่างประเทศส่วนใหญ่ได้เข้าใจและแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อข้าพเจ้ามากขึ้น นับแต่ข้าพเจ้าเดินทางมาพักที่กรุงปารีส กลุ่ม “ผู้เกินกว่าราชา” ในเมืองไทยบางคนก็เริ่มใช้เล่ห์เพทุบายที่ชั่วร้ายใหม่ โดยกล่าวร้ายข้าพเจ้าในหนังสือพิมพ์ของพวกเขา (ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เป็นเชื้อพระวงศ์) ว่าข้าพเจ้าหนีออกจากประเทศสยาม เพราะต้องหาคดีอาญา เป็นผู้มีส่วนร่วมในการลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

ข้าพเจ้าจึงได้ดำเนินการให้ทนายดำคดียื่นฟ้องร้องต่อศาลแพ่งที่กรุงเทพฯ โดยฟ้องร้องเจ้าของบรรณาธิการและนักหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับ ฐานหมิ่นประมาท สร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงและใส่ความข้าพเจ้า ในที่สุดผู้รับผิดชอบของหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับยอมรับผิด และยินยอมพิมพ์ข้อความรับผิด และยินยอมพิมพ์ข้อความรับผิดลงประกาศในหนังสือพิมพ์ของตนเป็นเวลาสามวัน โดยไม่เพียงแต่ลงประกาศขอขมาต่อข้าพเจ้าฐานใส่ความให้ร้ายข้าพเจ้าเท่านั้น แต่ยังลงข้อความอันแสดงความบริสุทธิ์ของข้าพเจ้าในกรณีสวรรคตฯ ตลอดจนข้อความที่ชี้แจงว่า การหลบหนีออกจากประเทศสยามของข้าพเจ้านั้น เป็นเพราะการลี้ภัยรัฐประหารปี พ.ศ.๒๔๙๐ ซึ่งล้มล้างระบอบประชาธิปไตย และรัฐบาลอันชอบธรรมและถูกต้องตามกฎหมาย

-๖-
ข้าพเจ้ามิเคยปิดบังผู้ใด รวมทั้งคณะบุคคลในรัฐบาลไทยปัจจุบันบางท่านที่ได้เคยมาเยี่ยมข้าพเจ้า นับแต่ข้าพเจ้ามาอยู่ที่ชานกรุงปารีสว่า ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นผู้สนับสนุนนโยบายการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างชาติต่างๆ ที่มีระบอบการปกครองการเมืองและสังคมที่แตกต่างกัน ข้าพเจ้าจึงคงรักษาความสัมพันธ์ฉันมิตรกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐราษฎรจีน และสำนักผู้แทนทางการทูตของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม เช่นเดียวกับองค์การรักชาติแห่งลาวและเขมร ข้าพเจ้าได้ต้อนรับการมาเยี่ยมเยียนเพื่อนคนไทย และกลุ่มก้าวหน้าจากทวีปต่างๆ รวมทั้งจากอเมริกา ซึ่งต่างพยายามหาทางที่จะบรรลุถึงซึ่งสันติภาพ

บางครั้งข้าพเจ้าได้ยกพุทธภาษิต ที่ข้าพเจ้าได้เคยบันทึกไว้ในหนังสือเรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ที่ข้าพเจ้าเป็นผู้แต่ง ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ดังนี้ “นตฺถิ สนฺติ ปรมฺ สุขํ” อันหมายถึง “สุขอื่นใดยิ่งกว่าความสงบไม่มี”

บทความที่๒๙๕.ชีวิตที่ผันผวนและ ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๓

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์
-๔-
ในช่วงวันสุดสัปดาห์ระหว่างวันที่ ๑๗-๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๓ ข้าพเจ้าและภรรยาได้รับเชิญจากท่านลอร์ดเมานท์แบตเตน (Lord Mountbatten อดีตผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์)ไปที่ปราสาทบรอดแลนด์ ที่ตำบลรอมเซย์ เมืองแฮมป์เชียร์ และระหว่างที่ข้าพเจ้าพักอยู่ที่ลอนดอน ข้าพเจ้าได้รับเชิญจากนักเรียนไทยไปให้ร่วมอภิปรายเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๓ หลังจากพบปะครั้งนี้ นักเรียนคนหนึ่งได้เขียนบทความชื่อ รายงานการประชุมพบปะระหว่างปรีดี พนมยงค์กับนักเรียนในกรุงลอนดอน (บทความดังกล่าวได้รับรางวัลจากสมาคมแองโกล-ไทย)ตีพิมพ์ในสามัคคีสาร ประจำฤดูหนาว (พ.ศ.๒๕๑๓-๒๕๑๔) ต่อมาวารสาร จตุรัส ได้ตีพิมพ์คำแปลบทความดังกล่าวเป็นภาษาไทย แต่ถูกสันติบาลซึ่งมีอำนาจในการควบคุมสิ่งตีพิมพ์ที่เกี่ยวกับการเมือง ยึดวารสารดังกล่าว โดยอ้างว่าวารสารนี้ตีพิมพ์ในกรุงเทพฯไม่ใช่ในต่างจังหวัดตามที่ระบุไว้ในปกด้านใน และตามที่ได้รับอนุญาตจากกรมตำรวจนอกจากนี้ยังได้กล่าวหาว่าหัวข้อเรื่องไม่เหมาะสม กองบรรณาธิการ สามัคคีสาร ณ กรุงลอนดอน ซึ่งคุ้นเคยกับลัทธิเสรีภาพในการพิมพ์หนังสือในประเทศอังกฤษ ได้ประท้วงข้อกล่าวหาอย่างแข็งขัน

อย่างไรก็ตาม บุคคลผู้มีวิจารณาญาณย่อมเข้าใจดีถึงสาเหตุที่วารสารดังกล่าวถูกยึด กล่าวคือ มีบุคคลบางจำพวกไม่ยอมรับและไม่ประสงค์ให้เป็นที่รู้กันว่า มีการใส่ร้ายข้าพเจ้า

-๕-
ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดชนั้น ข้าพเจ้าได้ทราบถึงพระราชกระแสของพระองค์จากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศหลังจากออกคำสั่งให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีสออกหนังสือเดินทางใหม่ให้ข้าพเจ้าแล้ว ก็ได้นำความกราบบังคมทูล มีพระราชกระแสรับสั่ง “ดีแล้ว”

นอกจากนี้หม่อมเจ้าหญิงอัปภัศราภา เทวกุล ซึ่งทรงรับใช้ใกล้ชิดพระพันวสาอัยยิกาเจ้า ได้เสด็จมาเยี่ยมเยียนข้าพเจ้าที่บ้านพักชานกรุงปารีส ได้นำหนังสือ สมเด็จพระศรีสวรินทรา มาประทานข้าพเจ้า ในหนังสือเล่มนั้น มีตอนหนึ่งที่ท่านหญิงฯ ได้ประทานเล่าเรื่องไว้เกี่ยวกับข้าพเจ้าและเสรีไทยบางคนที่ถวายความปลอดภัยแด่สมเด็จพระองค์นั้น และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ในระหว่างที่ญี่ปุ่นยึดครองประเทศไทย ท่านหญิงฯกล่าวไว้ในคำนำหนังสือเล่มนั้นว่า ก่อนที่จะทรงเล่าให้ผู้จัดพิมพ์นำไปลงพิมพ์นั้น ท่านหญิงฯได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสรับสั่งว่า “ถ้าเป็นความจริงก็เล่าได้”

Friday, September 14, 2007

บทความที่๒๙๔.ชีวิตที่ผันผวนและ ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๒

-๓-
อันที่จริงแล้วข้าพเจ้าได้ลาออกจากราชการและได้รับบำนาญจากการที่ได้รับใช้ประเทศชาติของข้าพเจ้ามาเป็นเวลานาน ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนว่าด้วยบำเหน็จบำนาญ ก่อนการรัฐประหารของกลุ่มปฏิกิริยาในสยามคือก่อนที่ข้าพเจ้าลี้ภัยออกมา

ทว่า หลังจากข้าพเจ้าเดินทางออกนอกประเทศมา รัฐบาลปฏิกิริยาได้กระทำการอันเป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย โดยปฏิเสธการจ่ายบำนาญนี้ให้ภรรยาข้าพเจ้า ซึ่งเป็นผู้รับมอบฉันทะจากข้าพเจ้า ทั้งนี้เพราะภรรยาข้าพเจ้ายังคงอยู่ในสยามในช่วงที่ข้าพเจ้าอยู่ในประเทศจีน รัฐบาลดังกล่าวอ้างว่า ไม่มีหลักฐานว่าข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่ ขณะเดียวกันก็ให้ข้าพเจ้าแสดงใบรับรองอันเป็นหลักฐานว่าข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่และต้องเป็นใบรับรองที่ออกโดยเจ้าหน้าที่ทางการทูต หรือฝ่ายของกงสุลที่สยามที่ได้รับแต่งตั้งให้ประจำ ณ ประเทศที่ข้าพเจ้าได้มาพำนักอยู่ ทั้งๆที่รัฐบาลก็ทราบแน่ชัดว่าประเทศจีนนั้นยังไม่มีความสัมพันธ์ทั้งทางการทูตหรือทางกงสุลกับสยาม

ด้วยเหตุนี้เมื่อข้าพเจ้ากลับถึงกรุงปารีสได้ ๒-๓ วัน ข้าพเจ้าได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตสยามให้ออกใบรับรองดังกล่าว เพื่อข้าพเจ้าจะได้ใช้ใบรับรองนี้เรียกร้องให้จ่ายเงินบำนาญทั้งหมดที่ข้าพเจ้ามิได้รับเลยระหว่างพักอยู่ในประเทศจีน ตลอดจนการขอรับบำนาญต่อไปในอนาคตตามสิทธิทางกฎหมาย ท่านเอกอัครราชทูตได้ส่งใบคำร้องของข้าพเจ้ามายังรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับออกคำสั่งต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเอกอัครราชทูตที่กรุงปารีสไม่ให้ออกใบรับรองดังกล่าวให้ข้าพเจ้า

เนื่องจากยังไม่มีศาลปกครองในไทย แต่ข้าพเจ้าจำได้ว่ามีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ร่างตามแบบมาตรา ๑๓๘๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศส ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้ “ผู้กระทำการใดๆ อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น บุคคลนั้นจำต้องรับผิด ใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น” ข้าพเจ้าจึงขอให้ทนายจัดการฟ้องรัฐมนตรีต่างประเทศและเอกอัครราชทูตท่านนั้นต่อศาลแพ่ง ณ กรุงเทพฯ ฐานละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีให้ชดใช้เงินบำนาญทั้งหมดที่ข้าพเจ้ามิได้รับมากว่า ๒๐ ปี และให้คำรับรองว่า จะจ่ายบำนาญเป็นรายเดือนให้แก่ข้าพเจ้าต่อไป

โดยการไกล่เกลี่ยของศาลแพ่ง เราได้ตกลงประนีประนอมยอมความกัน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเอกอัครราชทูตได้ยอมออกใบรับรองว่า ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่และผลจากใบรับรองนี้ข้าพเจ้าสามารถเรียกร้องเงินบำนาญที่มิได้รับได้ทั้งหมด ทั้งยังเรียกร้องให้คงจ่ายเงินบำนาญให้ข้าพเจ้าต่อไปด้วย

ในเวลาต่อมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้สั่งให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ออกหนังสือเดินทางให้ข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าได้ใช้เพื่อเดินทางไปยังประเทศอังกฤษตามคำเชิญของเพื่อนชาวอังกฤษกลุ่ม “Special Force” (องค์การนี้เคยให้ความร่วมมือกับขบวนการต่อต้านของชาวฝรั่งเศส เมื่อครั้งที่ดินแดนฝรั่งเศสถูกเยอรมันยึดครองระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ และร่วมกับขบวนการเสรีไทยในการต่อต้านรุกรานของญี่ปุ่น)

บทความที่๒๙๓.ชีวิตที่ผันผวนและ ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๑

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์

บทที่ ๑ การเดินทางออกจากประเทศสาธารณรัฐราษฎรจีน

-๑-
โดยทั่วๆ ไป การที่จะเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับชีวประวัติส่วนตัว ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม มักจะเล่าเหตุการณ์เหล่านี้เรียงตามลำดับกาลเวลา สำหรับข้าพเจ้าจะไม่ยึดหลักดังกล่าว

เพื่อนคนไทย และเพื่อนต่างชาติของข้าพเจ้าหลายคนได้มาเยี่ยมเยียนข้าพเจ้า นับแต่ข้าพเจ้าได้มาถึงกรุงปารีสในปี พ.ศ.๒๕๑๓ นั้น ในระยะแรกๆ ต่างพากันสนใจว่าข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้เดินทางออกมาจากดินแดนของจีน และมาพำนักยังประเทศฝรั่งเศสได้อย่างไร เนื่องจากบรรดาเพื่อนๆ เคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวต่างๆ ของประเทศที่ได้สมญานามว่า “ม่านเหล็ก” อันหมายถึงสหภาพโซเวียต และ “ม่านไม้ไผ่” อันหมายถึงประเทศสาธารณรัฐราษฎรจีน มาว่า ประเทศทั้งสอง รวมทั้งประเทศที่มีระบบปกครองแบบสังคมนิยมนั้น จะไม่อนุญาตให้คนชาติของตนออกจากประเทศของตน นอกเสียจากว่า จะมีภารกิจทางการที่จะต้องไปปฏิบัติในต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงพากันคิดว่า มาตรการดังกล่าวนี้มีผลบังคับใช้กับคนต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศสาธารณรัฐราษฎรจีนด้วย โดยเฉพาะคนต่างชาติที่มิได้เป็นนักท่องเที่ยวหรือแขกของทางการ ทั้งนี้เพราะมีคนต่างชาติจำนวนมากรวมทั้งลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลที่มาพำนักในประเทศนี้ได้เล่าถึงข้อยุ่งยากมากมายที่พวกตนประสบ เมื่อครั้งที่พวกเขาได้ไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยของรัฐบาลสาธารณรัฐราษฎรจีน เพื่อขออนุญาตออกจากแผ่นดินจีน

-๒-
สำหรับคนที่สนใจว่า ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้ออกมาจากแผ่นดินจีนได้อย่างไรนั้น ข้าพเจ้าขอย้ำเสียแต่แรกว่า ข้าพเจ้ามิได้ถูกรัฐบาลจีนกักตัว ข้าพเจ้าอยู่ในประเทศนั้นมานานกว่า ๒๐ ปีในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง และรัฐบาลจีนเองปรารถนาที่จะรับรองข้าพเจ้าและครอบครัวอย่างแขกของรัฐ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ได้ก่อตั้งสาธารณรัฐราษฎรจีนในการปฏิบัติต่อบุคคลที่ถูกข่มเหงรังแกในแผ่นดินของตน จากการที่ตนได้ “กระทำการอันเป็นการเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยและต่อสู้เพื่อสันติภาพของโลก”

ข้าพเจ้าต้องอยู่ในสาธารณรัฐราษฎรจีนเป็นเวลานานกว่า ๒๐ ปี ด้วยเหตุผลเพียงเพราะข้าพเจ้าได้กลายเป็นแพะรับบาปของการใส่ร้ายป้ายสีนานัปการ โดยเฉพาะข้าพเจ้าถูกกล่าวหาหลายครั้งหลายคราว่า เป็นอาชญากรหรือก่อกบฏอย่างร้ายแรง ข้าพเจ้ากลายเป็นบุคคลมิพึงปรารถนาในสายตาของรัฐบาลต่างประเทศหลายประเทศ ทั้งๆที่ระหว่างที่ข้าพเจ้าเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเป็นหัวหน้ารัฐบาลอยู่นั้น รัฐบาลเหล่านี้เคยกล่าวว่า เขาเป็นมิตรกับข้าพเจ้าแต่กลับ “หันหลัง” ให้ข้าพเจ้าอย่างง่ายดาย เพื่อเอาใจรัฐบาลใหม่
จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๐๘ เพื่อนเก่าของข้าพเจ้าคนหนึ่ง คือท่านเอกอัครราชทูต กีโยม จอร์จ-ปิโกต์ (M.Guillaume GEORGES-PICOT เป็นเพื่อนเก่าที่ข้าพเจ้ารู้จักตั้งแต่ครั้งที่เขาเป็นเลขานุการและต่อมาเป็นอุปทูตฝรั่งเศส นายจอร์จ-ปิโกต์ เป็นผู้แทนของประเทศฝรั่งเศสในการเจรจายกเลิกสัญญาที่ไม่เสมอภาคระหว่างฝรั่งเศสและสยาม ในครั้งนั้นข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ การเจรจาประสบผล และได้มีการลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพระหว่าง ๒ ฝ่ายตามหลักการที่เสมอภาค และยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และอภิสิทธิอื่นๆ ทุกประการ- หมายเหตุของผู้เขียน)ได้แวะมาเยี่ยมเยียนข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงได้ทราบว่ารัฐบาลฝรั่งเศสภายใต้การนำของนายพลเดอโกล (General de GAULLE) มิได้มีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อข้าพเจ้าเลย

ในส่วนที่เกี่ยวกับท่าทีของรัฐบาลจีนนั้น ข้าพเจ้าได้เข้าพบประธานเหมา เจ๋อตุงครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.๒๕๐๘ ท่านได้แสดงความเห็นอกเห็นใจข้าพเจ้า ทั้งยังเข้าใจดีถึงภาวะที่ข้าพเจ้ารู้สึกคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอน นอกจากนี้ประธานเหมาเจ๋อตุงได้เปรียบเทียบความรู้สึกดังกล่าวของข้าพเจ้ากับความรู้สึกของท่าน เมื่อครั้งได้ไปเยือนสหภาพโซเวียตเป็นเวลา ๓ เดือน ต่อมาข้าพเจ้าได้พบนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหลในวาระครบรอบ ๒๐ ปีแห่งการตั้งสาธารณรัฐราษฎรจีนในปี พ.ศ.๒๕๑๒ ข้าพเจ้าได้รับเชิญมาร่วมงานด้วยไมตรียิ่ง

นายกรัฐมนตรี โจวเอินไหลได้แสดงความเข้าใจเป็นอันดีเช่นกันต่อความรู้สึกคิดถึงบ้านเกิดของข้าพเจ้า หลังจากทีได้มาอยู่ประเทศจีนเป็นเวลานาน ท่านนายกได้ไต่ถามข้าพเจ้าอยากไปเที่ยวเยี่ยมเยียนประเทศอื่นบ้างหรือไม่ ข้าพเจ้าจึงได้ตอบไปว่า ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะไปกรุงปารีสเพื่อพบกับครอบครัวและเพื่อนๆของข้าพเจ้า ในวาระที่ข้าพเจ้าจะมีอายุครบ ๗๐ ปีในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๓ ข้าพเจ้าได้กล่าวเสริมอีกด้วยว่า หนังสือเดินทางสยามที่ข้าพเจ้าถือมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๑ นั้นหมดอายุไปนานแล้ว และข้าพเจ้าได้ขอให้รัฐบาลจีนออก “เอกสารเดินทางสำหรับคนต่างชาติ” ให้ข้าพเจ้า ท่านนายกฯ ตอบรับ ข้าพเจ้าจึงส่งโทรเลขถึงบุตรชายของข้าพเจ้า ๒ คน ซึ่งเวลานั้นกำลังศึกษาและทำงานอยู่ที่กรุงปารีส บอกให้ทั้งสองติดต่อกับท่านทูตกีโยม จอร์จ-ปีโกต์ ขอให้ดำเนินการขอวีซ่าเข้าประเทศฝรั่งเศส จากกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสให้ข้าพเจ้า ต่อมาแผนกกงสุลของกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐราษฎรจีนได้ออก “เอกสารเดินทางสำหรับคนต่างชาติ” พร้อมทั้ง “วีซ่าทางการทูตสำหรับคนเดินทางออกนอกประเทศ” หลังจากนั้นสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ณ กรุงปักกิ่งได้ออกวีซ่าทางการทูตสำหรับผ่านเข้าฝรั่งเศสให้ข้าพเจ้าเช่นกัน

บทความที่ ๒๙๒. การตื่นตัวของเอเชีย

การตื่นตัวของเอเชีย

เมื่อไม่นานมานี้เองยังมองเห็นกันว่าจีนเป็นประเทศที่ไม่ก้าวหน้ามาหลายศตวรรษแล้ว แต่บัดนี้ประเทศนั้นกลับกลายเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองอย่างคึกคัก กับเต็มไปด้วยความตื่นตัวไปในทางประชาธิปไตย ภายหลังการปฏิวัติครั้งแรกในรุสเซียระหว่าง ปี ๑๙๐๕-๑๙๐๗ การปฏิวัติทางประชาธิปไตยก็พัดแพร่ไปทั่วเอเชีย รวมทั้งตุรกี เปอร์เซีย จีน และอินเดียด้วย

ทีน่าสังเกตโดยเฉพาะก็คือ ความเคลื่อนไหวเพื่อปฏิวัติทางประชาธิปไตยได้ขยายตัวไปถึงอินดีส์ตะวันออกชวา และอาณานิคมอื่นๆ ในปกครองของฮอลันดา ซึ่งมีพลเมืองประมาณ ๔๐ ล้านคน ในชวาได้เกิดขบวนการชาตินิยมอิสลาม ขณะเดียวกันที่กลุ่มปัญญาชนชาวยุโรปผู้อาศัยอยู่กับชนอินดีส์ตะวันออกทำการเรียกร้องเอกราชสำหรับดินแดนส่วนนั้น และชาวจีนจำนวนมากผู้อาศัยอยู่ในชวากับในเกาะอาณานิคมอื่นๆ ของฮอลันดาก็เกิดมีความเคลื่อนไหวไปในทางปฏิวัติตามอย่างประเทศจีน

การตื่นตัวของอินดีส์ตะวันออกดังกล่าวย่อมหมายความว่าระบบปกครองแบบทรราชของฮอลันดาดันดำเนินมานานเป็นยุคเป็นสมัยเหนืออาณานิคมแห่งนั้น ต้องเผชิญกับปฏิกิริยาประท้วงและต่อต้านอย่างเด็ดเดี่ยวจากมวลชนพื้นเมืองแล้ว เหตุการณ์ได้เป็นไปอย่างเคยในระยะก่อนการปฏิวัติจะเกิดขึ้นในที่ใดๆ โดยมีการจัดตั้งพรรคและสหภาพต่างๆ ขึ้นอย่างรวดเร็วในอินดีส์ตะวันออก กับมีการห้ามปรามโดยรัฐบาลผู้ปกครองอาณานิคม ซึ่งกลับกลายเป็นการกระพือเชื้อเพลิงของความเกลียดชังและเร่งรัดให้กระบวนการปฏิวัติขยายตัวออกไปมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ได้มีการสั่งยุบพรรรค “อินเดียปาร์ตี้” ซึ่งเรียกร้องเอกราช โดยอ้างว่าพรรคนั้นคิดจะแยกดินแดนอินดีส์ตะวันออกจากฮอลันดา แต่แล้วพรรคนั้นก็ฟื้นตัวขึ้นอีกโดยการจัดตั้งพรรคใหม่และให้ชื่อพรรคเสียใหม่

อนึ่งได้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานแห่งชาติของชนพื้นเมืองขึ้นในชวาด้วย มีสมาชิกประมาณ ๘ หมื่นคนและทำการชุมนุมประชาชนอยู่เสมอจึงไม่มีทางจะยับยั้งการขยายตัวของกระบวนการประชาธิปไตยในอาณานิคมแห่งนั้นไว้ได้เลย

โดยนัยนี้ ลัทธินายทุนสากลกับการปฏิวัติในรุสเซียจึงได้ปลุกเร้าเอเชียให้ตื่นขึ้นในที่สุด ชนผู้ถูกกดขี่นับร้อยๆ ล้านคน ได้ตื่นขึ้นแล้วจากการตกอยู่ในหล่มของยุคสมัยกลาง ได้ย่างเข้าสู่การมีชีวิตใหม่และพากันลุกฮือขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษย์และประชาธิปไตย

ขณะเดียวกัน มวลชนกรรมาชีพในบรรดาประเทศพัฒนาก็กำลังเฝ้าดูการขยายตัวอย่างเข้มแข็งของการรณรงค์เพื่อปลดแอกในทุกรูปแบบและในทุกหนทุกแห่งทั่วโลก ด้วยความสนใจและทำให้เกิดแรงดลใจด้วย ส่วนชนชั้นเจ้าขุนมูลนายทางยุโรปก็พากันหวาดหวั่นในการพัฒนาพลังของชนกรรมาชีพ และพากันใช้วิธีปฏิกิริยาบ้าง วิธีทางทหารบ้าง วิธีอื่นๆ บ้าง เพื่อพยายามหยุดยั้งพลังมวลชนไว้ แต่มวลชนกรรมาชีพในนานาประเทศทางยุโรป และในประเทศประชาธิปไตยใหม่ทางเอเชีย ก็ยังคงเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ไม่เสื่อมคลายในพลังของตนเองและของมวลชนโดยทั่วไป และยังคงก้าวหน้าสืบไปเพื่อชิงความมีชัยจากชนชั้นเจ้าขุนมูลนาย

การตื่นตัวของเอเชียและการรณรงค์ของมวลชนกรรมาชีพทางยุโรปได้เริ่มขึ้นแล้ว ย่อมเป็นสัญญลักษณ์ของศักราชใหม่ในประวัติศาสตรืโลกซึ่งได้เปิดฉากขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษนี้


วี.ไอ.เลนิน บทความลงใน นสพ. ปราฟดา ๗ พ.ค. ๑๙๑๓

บทความที่๒๙๑. ประเทศจีนในสภาพเกิดใหม่

ประเทศจีนในสภาพเกิดใหม่

นานาประเทศทางยุโรปซึ่งได้ชื่อว่าเจริญแล้วมิได้แสดงความสนใจอย่างใดในประเทศจีน ซึ่งอยุ่ในสภาพเสมือนหนึ่งได้เกิดใหม่ โดยมวลชนประมาณ ๔๐๐ ล้านคนในประเทศล้าหลังนั้นได้มีเสรีภาพและมีความตื่นตัวทางการเมืองอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน พลเมืองจีนซึ่งมีจำนวนถึงหนึ่งในสี่ส่วนของพลเมืองโลกทั้งหมด ได้ผ่านสภาวะของความล้าหลังไม่ก้าวหน้า เข้าสู่สภาวะการตื่นตัวเพื่อการรณรงค์แล้ว

กระนั้น ยุโรปที่เจริญแล้วก็ยังไม่แยแสอย่างใดโดยแม้แต่สาธารณรัฐฝรั่งเศสก็ยังมิได้รับรองสาธารณรัฐจีนเป็นทางการ ทั้งนี้เป็นเพราะเหตุใด ? ตอบได้ว่าเป็นเพราะนานาประเทศทางยุโรปตะวันตกอยู่ภายใต้ระบอบปกครองของชนชั้นเจ้าขุนมูลนายผู้เป็นจักรวรรดินิยม ทั้งๆที่ชนชั้นนั้นอยู่ในสภาพเสื่อมจนใกล้จะโทรมแล้ว และพร้อมจะหากำไรแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ หรือพร้อมจะขายตนให้แก่นักเสี่ยงโชคผู้ใดที่ขันอาสาจะปราบชนกรรมาชีพด้วยวิธีการเฉียบขาดที่สุด

ชนชั้นเจ้าขุนมูลนายเหล่านี้มองเห็นประเทศจีนเป็นแต่เพียงเหยื่อ ซึ่งอังกฤษ เยอรมัน ฯลฯ หรือญี่ปุ่นก็ได้ อาจพยายามจะแย่งชิงกันเอาไปเป็นส่วนๆ ในเมื่อรุสเซียก็ได้ดินแดนมองโกเลียไว้ในคุ้มครองแล้ว

อย่างไรก็ตาม การเกิดใหม่ของประเทศจีนก็ดำเนินก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยจะมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเป็นครั้งแรกในประเทศซึ่งเคยอยู่ในปกครองทรราชย์นั้น ทั้งนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมีจำนวน ๖๐๐ คน สมาชิกวุฒิสภา ๒๗๔ คน ประชาชนผู้มีอายุ ๒๑ ปีขึ้นไปมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสองปี เป็นผู้เสียภาษีโดยตรงคนละประมาณ ๒ รูเบิล หรือเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งมีมูลค่าไม่น้อยกว่า ๕๐๐ รูเบิล จะมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาอีกทอดหนึ่ง การให้สิทธิในทำนองนี้แสดงว่ายังมีการเป็นพันธมิตรกันอยู่ระหว่างชนชั้น กสิกรชาวนาผู้มีอันจะกินกับชนชั้นเจ้าขุนมูลนาย โดยยังไม่มีชนชั้นกรรมาชีพหรือถ้าหากมีก็เป็นชั้นชนที่ไม่มีอิทธิพลอย่างใด

ส่วนการจัดตั้งพรรคการเมืองของจีนก็ยังเป็นไปในทำนองที่ปราศจากอิทธิพลของชนชั้นกรรมชีพเช่นเดียวกัน โดยพรรคการเมืองสำคัญๆ ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นแล้วมีอยู่สามพรรคด้วยกันคือ –

๑. พรรคราดิกัลสังคมนิยม ซึ่งความจริงไม่มีอะไรข้องเกี่ยวกับลัทธิสังคมนิยมเลย เหมือนอย่างพรรคประชาชนสังคมนิยมของรัสเซีย พรรคนี้เป็นพรรคของชนชั้นเจ้าขุนมูลนายระดับต่ำต้อยที่เป็นประชาธิปไตย มีนโยบายเรียกร้องเอกภาพทางการเมืองสำหรับจีน กับเรียกร้องการพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้า “ตามแนวสังคมนิยม” และเรียกร้องการรักษาไว้ซึ่งสันติภาพ

๒. พรรคลิเบอรัล ซึ่งเป็นพันธมิตรกับพรรคที่กล่าวในข้อ ๑ และรวมเรียกว่าพรรคแห่งชาติ พรรคนี้มีหัวหน้าคือ ซุนยัดเซน และมีโอกาสมากที่สุดที่จะได้ครองเสียงข้างมากในรัฐสภาชุดแรกของจีน

๓.พรรคสันนิบาตสาธารณรัฐ ซึ่งความจริงเป็นพรรคอนุรักษนิยม ได้รับความสนับสนุนจากข้ารัฐการเจ้าของที่ดิน และชนชั้นเจ้าขุนมูลนายในภาคเหนือของจีนเป็นส่วนมาก จีนภาคเหนือเป็นดินแดนล้าหลังที่สุดของประเทศจีน ตรงกันข้ามกับภาคใต้ซึ่งเป็นดินแดนที่พัฒนาอุตสาหกรรม และเป็นฝ่ายสนับสนุนพรรคแห่งชาติซึ่งก็มีมวลกสิกรชาวนาให้ความสนับสนุนด้วย อนึ่งหัวหน้าพรรคแห่งชาติก็เป็นปัญญาชนผู้ได้รับการศึกษาในต่างประเทศ

ความมีชัยในการปฏิวัติของจีนได้มาจากการร่วมมือระหว่างกสิกรชาวนาฝ่ายนิยมประชาธิปไตยกับชนชั้นเจ้าขุนมูลนายฝ่ายนิยมลัทธิลิเบอรัล ส่วนข้อที่ว่าฝ่ายกสิกรชาวนาประชาธิปไตยซึ่งไม่มีพรรคชนกรรมาชีพเป็นผู้นำ จะสามารถรักษาสถานะของตนไว้ได้หรือไม่ในการต่อต้านฝ่ายลิเบอรัล ซึ่งกำลังรอโอกาสจะแปรพักตร์ไปทางฝ่ายขวานั้น เป็นเรื่องที่อนาคตเท่านั้นจะแสดงให้เห็นได้.


วี.ไอ. เลนิน ลงใน นสพ.ปราฟดา ๘ พ.ย. ๑๙๑๒

บทความที่ ๒๙๐. ประชาธิปไตยกับลัทธินารอด ๔ (จบ)

ตามโครงการของซุนยัดเซน เกี่ยวกับการพัฒนาเกษตรกรรมในประเทศจีนกำหนดไว้ว่า จะให้รัฐเป็นผู้เรียกเก็บค่าเช่าที่ดินหรือนัยหนึ่งเป็นการทำให้ที่ดินเป็นของรัฐ (LAND NATIONALISATION) นั่นเอง และการเก็บค่าเช่าดังกล่าวก็จะเป็นไปโดยวิธีเก็บภาษีเดี่ยว ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งตามแนวทัศนะของเฮนรี่ ยอร์ช (Henry George เป็นนักเศรษฐกิจฝ่ายเจ้าขุนมูลนายระดับต่ำต้อยชาวอเมริกันระหว่างปี ๑๘๓๙-๑๘๙๗ เขาเชื่อว่าระบบการเป็นเจ้าของที่ดินเป็นสาเหตุประการสำคัญที่สุดที่ทำความเดือดร้อนให้แก่ชาวแรงงาน และเชื่อว่าการทำให้ที่ดินเป็นของรัฐหรือการเก็บค่าเช่าที่ดินในอัตราสูงจะทำให้ความยากจนในสังคมเจ้าขุนมูลนายหมดสิ้นไปได้)

การเก็บ “ค่าเช่า” ที่ดินเช่นที่กล่าวมานี้จะมีอัตราแตกต่างกันระหว่างที่ดินในเมืองกับที่ดินในชนบท เพราะถือว่าราคาที่ดินไม่เท่ากัน การทำให้ที่ดินเป็นของรัฐจะทำให้สามารถเลิกล้มระบบเก็บค่าเช่าที่ดินแบบสิทธิ์ขาดสมดังทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ ซึ่งกล่าวไว้ว่า การทำให้ที่ดินเป็นของรัฐหมายถึงการล้มเลิกระบบผูกขาดเกษตรกรรมตามแบบสมัยกลางและอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรรมสามารถปรับตัวเองให้เหมาะสมกับความต้องการของท้องตลาดด้วย

หากประเทศจีนยิ่งตกอยู่ในฐานะล้าหลังญี่ปุ่นและยุโรปนานเพียงใดหรือมากเพียงใด การแตกแยกกันภายในชาติก็ยิ่งจะเป็นภัยคุกคามมากขึ้นเพียงนั้น ฉะนั้น การจัดตั้งสาธารณรัฐจีนโดยการปฏิวัติของมวลชนจึงมิใช่เป็นแต่เพียงจะทำให้จีนได้ฟื้นตัวขึ้นใหม่ในทางการเมืองเท่านั้น ยังจะทำให้มีความมั่นใจในการพัฒนาการทางเกษตรอย่างรวดเร็วที่สุดโดยการทำให้ที่ดินเป็นของรัฐด้วย ส่วนข้อที่ว่าการพัฒนาทางเกษตรและการเมืองจะบรรลุผลสำเร็จแค่ไหนเพียงใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะต้องขึ้นอยู่กับพลังทางสังคมในประเทศจีนเองและสถานการณ์ระหว่างประเทศเป็นสำคัญที่สุด อีกทั้งยังมีความเคลื่อนไหวของคนเหยียบเรือสองแคม ผู้พร้อมจะทำการทรยศอย่างเช่น หยวน ซื่อไข่อยู่อีกด้วย

ขณะเดียวกัน ชนชั้นกรรมาชีพในประเทศจีนก็จะยิ่งเพิ่มทวีจำนวนขึ้นโดยลำดับ ตามโครงการพัฒนาศูนย์กลางอุตสาหกรรมเช่นกล่าวแล้วข้างต้น แล้วก็อาจจะมีการจัดตั้งพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยของจีนขึ้นในรูปใดรูปหนึ่ง เพื่อดำเนินการพัฒนาและป้องกันอุดมการณ์ทางการเมืองและทางเกษตรอุตสาหกรรมของซุนยัดเซนสืบต่อไป.
บทความของ วี.ไอ. เลนิน ลงใน นสพ. เน็ฟสกายา ซเวซดา, ๑๕ ก.ค. ๑๙๑๒

บทความที่ ๒๘๙.ประชาธิปไตยกับลัทธินารอด ๓

การปลดแอกประชาชนจีนให้พ้นจากความเป็นทาสอย่างแท้จริงจะดำเนินไปไม่ได้ ถ้าปราศจากความปรารถนาอันแรงกล้าและจริงใจ ซึ่งปลุกมวลชนกรรมาชีพในประเทศจีนให้ตื่นขึ้นและสามารถกระทำการเป็นผลสำเร็จอย่างน่ามหัศจรรย์ ดังปรากฏเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วตามคำแถลงนโยบายของซุนยัดเซนทุกประการ

แต่การนิยมจีนในลัทธินารอดก็ผสมผสานลัทธินิยมทางประชาธิปไตยเข้ากับความใฝ่ฝันในทางสังคมนิยมซึ่งหวังจะให้จีนพ้นจากความครอบงำของลัทธินายทุนประการหนึ่ง กับมีแผนจะสนับสนุนให้จีนได้มีการปฏิรูปทางเกษตรกรรมอีกประการหนึ่ง นี่คือการมีแนวโน้มทางลัทธินิยมและทางการเมืองตามแบบลัทธินารอดตามความหมายที่ว่า ลัทธินี้มีความผิดแผกจากลัทธิประชาธิปไตย แต่ก็เป็นปัจจัยที่สนับสนุนลัทธิประชาธิปไตย

แนวโน้มเช่นกล่าวข้างต้น มีความเป็นมาอย่างไรและมีความสำคัญเพียงใด จะได้กล่าวดังต่อไปนี้

หากมวลชนจีนมิได้ตื่นตัวขึ้นเป็นอย่างมากในทางมีจิตใจปฏิวัติ ฝ่ายประชาธิปไตยก็จะไม่สามารถโค่นล้มระบอบเก่า และสถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้นในประเทศนั้นได้ การตื่นตัวของจิตใจปฏิวัติได้ทำให้เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจอย่างลึกซึ้งต่อภาวะของชนกรรมาชีพในประเทศจีน และทำให้เกิดความรู้สึกชิงชังอย่างที่สุดต่อผู้กดขี่และผู้แสวงหาผลประโยชน์ในประเทศนั้น ขณะเดียวกัน ทางยุโรปและอเมริกา ก็มีการใช้ลัทธิสังคมนิยมเป็นเครื่องมือปลดแอกจากชนชั้นเจ้าขุนมูลนาย ทำให้นักประชาธิปไตยในประเทศจีนเกิดความเลื่อมใสในลัทธิสังคมนิยมขึ้นด้วย

นักประชาธิปไตยจีนเกิดความเลื่อมใสในลัทธิสังคมนิยมเพราะไม่เห็นชอบด้วยกับการกดขี่และการแสวงหาประโยชน์จากมวลชน แต่ภาวะของประเทศจีนก็อยู่ในลักษณะเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ล้าหลังและยังอยู่ในกึ่งสมัยขุนศึกหรือสมัยกลางกับมีพลเมืองเป็นจำนวนมากถึงเกือบ ๕๐๐ ล้านคน (ในปี ๑๙๑๒)มาตรฐานทางเศรษฐกิจของสมัยกลางย่อมขึ้นอยู่กับเกษตรกรรมเป็นส่วนมากที่สุด และโดยนัยนั้นชนชั้นที่แสวงหาประโยชน์ จึงกระทำการแสวงหาประโยชน์จากกสิกรชาวนา โดยฉวยโอกาสจากข้อที่ว่าบรรดากสิกรชาวนาถือว่าพวกเขามีส่วนผูกพันอยู่กับที่ดินทำกินไม่ในรูปแบบใดก็รูปหนึ่ง ดังนี้ โครงการปฏิวัติของซุนยัดเซนจึงเป็นไปในแบบกึ่งสังคมนิยมและมีแนวโน้มไปทางลัทธินารอดเพราะมุ่งหมายจะปฏิรูปเกษตรกรรมของจีนให้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยด้วย

อย่างไรก็ดี ซุนยัดเซนก็ยังยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ความจำเป็นบังคับให้เขาต้องกล่าวในทำนองขัดแย้งกับลัทธินารอดว่าจำเป็นจะต้องพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าของจีนอย่างขนานใหญ่เหมือนกัน เพื่อให้มีศูนย์กลางอุตสาหกรรมการค้าอย่างเมืองเซี่ยงไฮ้อีกหลายแห่งภายใน ๕๐ ปีข้างหน้า ถึงแม้ใครจะว่าเป็นการพัฒนาตามลัทธินายทุนก็ตามที

ปัญหาจึงมีว่า โครงการพัฒนาเศรษฐกิจของซุนยัดเซนทั้งในทางเกษตรกรรมและอุตสาหรรมมีลักษณะเป็นไปตามลัทธิทุนนิยมหรือไม่ ? ตอบได้ว่าใช่ แต่ทว่าเป็นลัทธินายทุนแบบบริสุทธิ์และเหมาะสมในทางอุดมการณ์อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ คาร์ล มาร์กซ์ ก็ได้ให้คำชี้แจงในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดแจ้งในหนังสือของเขาชื่อ “ความยากจนของปรัชญา” (The Provery of Philosophy) และ หนังสือ คาปิตาล (Capital) เล่มสามด้วย