Tuesday, September 11, 2007

บทความที่ ๒๗๘. ลัทธิจักรวรรดินิยม ตอนที่ ๑

ลัทธิจักรวรรดินิยม

เป็นที่เข้าใจกันแล้วว่า ลัทธิจักรวรรดินิยม คือ ลัทธิแผ่อิทธิพลของประเทศมหาอำนาจเพื่อเข้าครอบครองประเทศที่อ่อนแอหรือล้าหลัง แต่ทว่าเราจะไม่ทราบถึงที่มาหรือการก่อกำเนิดของลัทธิจักรวรรดินิยม ถ้าหากเราจะไม่ศึกษาถึงประวัติศาสตร์สังคม และการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมก็คือการศึกษาถึงวิวัฒนาการของการเศรษฐกิจนั้นเอง เราจะไม่แทงทะลุปัญหาของสังคมที่กำลังเผชิญหน้าเราอยู่ ณ บัดนี้อย่างปรุโปร่งหรือแจ่มแจ้งเลย ถ้าหากเราไม่ศึกษาถึงพัฒนาการของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ก็เพราะเป็นดังที่ท่านนักวิทยาศาสตร์สังคมท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “เศรษฐกิจเป็นพื้นฐานของสังคมไ และดังนั้นปรากฏการณ์ต่างๆ ของสังคมที่อุบัติขึ้น ก็ย่อมจะเกี่ยวโยงไปถึงพื้นฐานของสังคม หรือเกี่ยวโยงมาจากพื้นฐานของสังคมประดุจลูกโซ่ นั่นก็คือเกี่ยวโยงไปถึงการเศรษฐกิจนั้นเอง เช่น การที่ระบบพ่อ (Patriarchate) เข้ามาแทนที่ระบบแม่ (Matriarchate) ในยุคชุมชนบุพกาลนั้น ก็เพราะการเปลี่ยนแปลงในการทำมาหากิน หรือการเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจ

และดังนั้น การศึกษาถึงลัทธิจักรวรรดินิยม ก็คือการศึกษาวิวัฒนาการของสังคม หรือพัฒนาการของเศรษฐกิจแต่ละยุคแต่ละสมัยนั้นเอง แต่โดยที่ในที่นี้เราไม่ได้ศึกษาถึงวิวัฒนาการของสังคมหรือพัฒนาการของเศรษฐกิจโดยเฉพาะ ดังนั้น เราจึงขอผ่านปัญหานี้ไปเฉพาะแต่เพียงโครงร่างของมันพอเป็นแนวทางเข้าไปสู่ลัทธิจักรวรรดินิยมเท่านั้น ส่วนรายละเอียดเราจะไม่กล่าวถึง เพราะได้ปรากฏอยู่แล้ว ณ ที่ทั่วๆไป ในหนังสือเล่มนี้

การแบ่งยุคของสังคมออกเป็นยุคๆ น้น นักวิทยาศาสตร์สังคม ถือเอาการเศรษฐกิจมาเป็นเครื่องกำหนดของการแบ่งยุค คือหมายความว่า ถือเอาสภาพทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เป็นอยู่ และเปลี่ยนแปลงไปของสังคมเป็นข้อกำหนดของการแบ่งยุค และจากการถือหลักดังกล่าวน้ มอร์แกน จึงได้แบ่งยุคของสังคมออกเป็นยุคใหม่ๆ สามยุค คือ ยุคคนป่า ยุคอนารยชน และยุคอารยธรรม ซึ่งแต่ละยุคใหญ่ๆ นี้ก็ยังแบ่งออกเป็นยุคเล็กๆ อีกเช่น ยุคแรกกำเนิดมนุษย์ ยุคชุมชนบุพกาล ยุคทาส ยุคศักดินา ยุคทุนนิยม ยุคจักรวรรดินิยม และยุคสังคมนิยม ยุคเล็กๆ ดังกล่าวนี้ได้อุบัติขึ้นแล้ว และได้ล้มหายตายจากไปแล้วก็มีและที่อุบัติขึ้นแล้วและกำลังจะเจริญงอกงามต่อไปภายภาคหน้าก็มี

ยุคเล็กๆ ที่ว่าได้อุบัติขึ้นแล้วและล้มหายไปแล้วนั้น ได้แก่ยุคชุมชนบุพกาล ยุคทาส ยุคศักดินา แต่ทว่าการล้มหายตายจากไปนั้นหาได้ล้มหายตายจากไปอย่างสิ้นเชิงแท้จริงไม่ เพราะในโลกปัจจุบันนี้ บางท้องถิ่นยังอยู่ในยุคศักดินา และบางท้องถิ่นก็ยังอยู่ในยุคทาสและยุคชุมชนบุพกาล เช่น พวกคนป่าออสเตรเลียน และพวกคนป่าปอลลินีเซียน (Polynesians) คือชนชาวเกาะในหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิคทางตะวันออกของออสเตรเลียและฟิลิปปินส์ เหล่านี้เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ถ้าจะนับโดยส่วนรวมแล้ว ก็นับได้ว่ายุคชุมชนบุพกาล ยุคทาส และยุคศักดินานั้นได้ล้มหายตายจากโลกนี้ไปแล้ว เพราะบางท้องถิ่นที่ยังไว้ซึ่งยุคดังกล่าวนี้เป็นแต่เพียงส่วนน้อยเท่านั้น ส่วนยุคที่ว่าได้อุบัติขึ้นแล้วกำลังเป็นไปอยู่และกำลังจะล้มหายไปนั้น ได้แก่ยุคทุนนิยมและยุคจักรวรรดินิยม และที่ว่าได้อุบัติขึ้นแล้วและกำลังจะเจริญงอกงามเติบโตต่อไปภายภาคหน้าได้แก่ยุคสังคมนิยมและนอกจากนี้ยังมียุคพิเศษอีกยุคหนึ่ง ซึ่งจะสืบต่อไปจากยุคสังคมทุนนิยม แต่ทว่าไม่นับรวมอยู่ในยุคอารยธรรมเพราะเป็นยุคใหม่พิเศษอีกยุคหนึ่งต่างหาก ยุคที่ว่านี้เราเรียกว่ายุคคอมมิวนิสต์ หรือยุคศรีอาริยะ และดังนั้น เราก็จะได้ยุคใหญ่ๆ ของสังคมเพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งยุคเป็นสี่ยุค

จากการศึกษาประวัติศาสตร์สังคม ทำให้เราทราบว่า ในขณะที่มนุษย์ผู้อาศัยอยู่ในภูมิภาคตะวันตก คือยุโรปในปัจจุบัน ยังคงอยู่ในชุมชนบุพกาลนั้น มนุษย์ผู้อาศัยอยู่ในภาคพื้นตะวันออก คือชาวเอเชีย ได้เข้าสู่ยุคทาสแล้ว และขณะที่ตะวันออกผ่านเข้าสู่ยุคศักดินา ตะวันตกเพิ่งจะย่างเข้าสู่ยุคทาสเท่านั้นเอง และในช่วงระยะเวลาที่อยู่ในยุคชุมชนบุพกาลและยุคทาสนั้น นักประวัติศาสตร์สังคมได้ค้นคว้าหาหลักฐานและเปรียบเทียบความยาวนานของเวลาระหว่างตะวันตกและตะวันออก และลงความเห็นว่าตะวันตกอยู่ในยุคชุมชนบุพกาลและยุคทาสเป็นเวลาอันยาวนานกว่าตะวันออกนับเป็นพันปี ซึ่งถ้าหากการพัฒนาเป็นมาอย่างสม่ำเสมอ ในรูปแบบนี้แล้ว เป็นที่แน่นอนเหลือเกินว่าในปัจจุบันนี้เราจะได้พบว่าตะวันออกเจริญกว่าตะวันตกแน่นอน แทนที่จะตรงกันข้ามดังที่ปรากฏในทุกวันนี้ แต่ที่หาเป็นเช่นนั้นไม่ก็เพราะตะวันออกย่างเข้าสู่ยุคศักดินาก่อนตะวันตกนับเป็นเวลายาวนาน ซึ่งก็หมายความว่าในขณะนั้นตะวันออกเจริญกว่าตะวันตก

ดังนั้น จึงทำให้ชนชาวเอเชียบางพวกในสมัยโบราณ เช่น ชาวจีน เป็นต้นได้มีความรู้สึกดูถูกเหยียดหยามพวกผิวขาวหรือชาวตะวันตกว่าเป็นพวกป่าเถื่อนและมันก็เป็นความจริงดังที่เขาดูถูก เพราะในขณะที่ตะวันออกเข้าสู่ยุคศักดินาหรือยุคอารยธรรมนั้น ตะวันตกยังอยู่ในอนารยชน แต่ทว่าในขณะที่ตะวันออกมาหยุดชงักและหลงงมงายในยุคศักดินานั้น ชาวตะวันตกก็ได้ทำสงครามครูเสดอย่างยาวนานกับพวกมุสลิม อันเป็นสาเหตุให้เกิดรับวิทยาการความรู้มาจากชาวมุสลิม เช่นความรู้เรื่องแร่ธาตุ เคมี ดินปืน ฯลฯ เมื่อตะวันตกได้เริ่มเพาะบ่มความรู้ในเรื่องเหล่านี้ก็เป็นการกระชั้นชิดชาวตะวันออกเข้ามาทุกๆ ที จนในที่สุดตะวันตกก็วิ่งติดตามตะวันออกมาทันในยุคศักดินา (ยุโรปพัฒนาวิทยาการความรู้ในช่วงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการหลังมาออกจากอุโมงค์แห่งความมืดมนในยุคกลาง)และยิ่งกว่านั้นตะวันตกได้ก้าวหน้ายิ่งกว่าตะวันออกอย่างลิบลับในช่วงเวลาไม่กี่ร้อยปีเท่านั้น

นักประวัติศาสตร์สังคมกล่าวว่า ในขณะที่ตะวันออกอยู่ในยุคศักดินานานถึง ๓,๐๐๐ ปีนั้น ตะวันตกอยู่ในยุคศักดินาเพียง ๕๐๐ ปีเท่านั้น และในขณะที่ตะวันตกเข้าสู่ยุคทุนนิยม ตะวันออกก็ยังงมงายอยู่ในยุคศักดินานั้นเอง.

No comments: