Friday, September 7, 2007

บทความที่ ๒๗๐. ทุนนิยม ตอนที่๓

บัณฑิตในทางวิทยาศาสตร์แห่งประวัติศาสตร์กล่าวถึงยุคแห่งการปฏิวัติดังกล่าวไว้ว่า

“เช่นเดียวกับเราไม่อาจวินิจฉัยบุคคล โดยถือเอาความเห็นของเขาที่กล่าวถึงตัวของเขาเองฉันใด เราก็ไม่อาจวินิจฉัยยุคแห่งการปฏิวัติเช่นนี้จากความสำนึกของการปฏิวัติเองฉันนั้น”

สิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราเข้าใจยุคต่างๆ แห่งการปฏิวัตินั้น อยู่ที่ว่าจะต้องเล็งเห็นการต่อสู้เพื่อได้มาซึ่งอำนาจของชนชั้นต่างๆ จะต้องเล็งเห็นว่าชนชั้นใหม่ได้ช่วงชิงอำนาจมาจากชนชั้นที่ครองอำนาจเดิมอยู่ การณ์ย่อมเป็นเช่นนี้ ถึงแม้ว่าหัวหน้าของชนชั้นใหม่จะได้ประกาศออกมาโดยรู้สึกสำนึกหรือไม่ก็ตามว่า การต่อสู้ของพวกเขาเป็นการต่อสู้เพื่อหลักการที่เป็นนามธรรมต่างๆ หรือเพื่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่มิได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาของผลประโยชน์แห่งชนชั้นและอำนาจของชนชั้นก็ตาม

เมื่อพวกกฎุมพีหรือเจ้าสมบัติ ได้ลงหลักปักมั่นอยูในสมรภูมิแห่งการต่อสู้แล้ว การเศรษฐกิจแบบทุนนิยมก็เริ่มแผ่ปกคลุมไปในทุกที่ทุกแห่ง และพร้อมกับการเติบโตของการผลิตแบบทุนนิยม การขัดกันในทางสัมพันธ์แบบศักดินาก็ได้อุบัติขึ้น กล่าวคือ ในการผลิตแบบใหม่นั้น ทุนเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในทางปฏิบัติ ซึ่งในระบบศักดินามิได้ถือเช่นนั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดการปะทะกันระหว่างความคิดต่างๆ ที่กำเนิดขึ้นมาจากระบบเศรษฐกิจสองรูปแบบนั้น เป็นต้นว่า ความคิดที่อุบัติขึ้นมาจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ไม่รับนับถือความคิดแบบขลังในเรื่องเทวสิทธิของกษัตริย์ (Divine right) แต่ถือคติว่า จะเก็บภาษีจากราษฎร โดยราษฎรไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้

เราศึกษาถึงเรื่องทุนนิยมหรือลัทธินายทุน ก็เป็นการจำเป็นที่เราจะต้องรู้ถึงมูลกำเนิดของทุนว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันเกิดเพราะการกระเหม็ดกระแหม่ของนายทุน หรือว่าเกิดเพราะการปล้นสดมภ์และขูดรีดเอาไปจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หรือว่าอย่างไรกันแน่ เราจะได้ศึกษากันต่อไป

ความรุ่มรวยมาจากไหน

มองย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าการที่สะสมทุนที่ได้กระทำกันมาในขั้นต้นๆ นั้น ในส่วนใหญ่เป็นการเข้าตีชิงปล้นสดมภ์กันอย่างดื้อๆ ทีเดียว ทุนอันมหาศาลในรูปของทองและสิ่งของมีค่าอื่นๆ นั้น ได้มาโดยที่นักผจญภัยได้ออกตระเวนไปเที่ยวปล้นเอามาจากชนพื้นเมืองอเมริกา อินเดีย และจากอาฟริกา แต่พฤติการณ์เช่นนี้ก็มิใช่เป็นพฤติการณ์อันเดียวที่ได้ก่อกำเนิดทุนขึ้นมา ในประเทศอังกฤษเองได้เคยมีการปฏิวัติที่เป็นการฉกชิงเอาที่ดินที่ราษฎรเคยใช้ร่วมกัน ไปมอบให้เป็นอาณาประโยชน์ของพวกชาวนานายทุน ในการทำเช่นนั้น ชนชั้นปกครองก็ได้พรากเครื่องมือยังชีพไปเสียจากชาวนา และได้กระทำให้เขาเหล่านั้นได้กลายเป็นชนจำพวกที่เรียกว่า ชาวนาจนหรือชาวนารับจ้าง คือเป็นผู้ไม่มีทางจะยังชีพได้ เว้นแต่จะเข้าทำงานในที่ดินที่ถูกฉกชิงเอาไปจากเขาและถูกนำไปทูลหัวให้แก่เจ้าคนใหม่

บัณฑิตทางวิทยาศาสตร์แห่งประวัติศาสตร์แสดงว่านี่แหละคือมูลกำเนิดอันแท้จริงของทุน นี่แหละ คือการสะสมของทุนที่กระทำกันมาแต่ดั้งเดิม มิใช่มีมูลกำเนิดมาดังที่พรรณนากันเป็นทำนองนิยายของบุคคลผู้อดออมการกินอยู่ (พอเพียง ???) และสะสมไว้ได้จากการเป็นอยู่ที่อดโซจนกระทั่งกลายเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี และก็มิใช่มีมูลกำเนิดมาจากการทำบุญสุนทานเอาไว้แต่ชาติปางก่อน ดังที่นักเล่านิยายไร้สาระชอบยกขึ้นมาพูดกัน

อย่างไรก็ดี ทุนนั้นมิได้คงอยู่ในระดับดังที่เป็นอยู่ในสมัยของการสะสมทุนยุคโบราณ ทุนได้พอกพูนขึ้นอย่างมหาศาล และหากว่าทุนดั้งเดิมเป็นผลของการปล้นสดมภ์โดยตรง ก็อะไรเล่าที่เป็นบ่อเกิดของทุนที่พอกพูนขึ้นมาใหม่มากมายสืบแต่ยุคสมัยปล้นสดมภ์เป็นต้นมา

มาร์กซ์ ปราชญ์แห่งสำนักวิทยาศาสตร์สังคมได้ให้อรรถาธิบายว่า ทุนที่พอกพูนขึ้นมาใหม่นั้นก็ได้มาด้วยการปล้นเหมือนกัน หากแต่เป็นการปล้นทางอ้อม ไม่ใช่เป็นการปล้นเอาดื้อๆ ตรงๆ ดังแต่ก่อน โดยใช้วิธีให้คนงานทำงานมากชั่วโมง เกินไปกว่าความจำเป็นที่เขาจะต้องทำเพื่อการดำรงชีพ แล้วนายจ้างก็เข้าฮุบเอาค่าที่เขาได้ใช้เวลาทำงานเกินไปจากส่วนอันจำเป็นแก่การดำรงชีพ ซึ่งเรียกว่า “มูลค่าส่วนเกิน” นั้นไปเป็นของเขาเสียเอง

นายทุนได้ใช้ส่วนหนึ่งของมูลค่าส่วนเกินที่คนงานทั้งหมดได้ผลิตเป็นค่าครองชีพอันฟุ่มเฟือยสุขสำราญของเขาและบริวาร และใช้ส่วนที่เหลือเป็นทุนก้อนใหม่ซึ่งผนวกเข้ากับเงินทุนเดิม กล่าวคือ เขาได้ผลักส่วนที่เหลือนี้ผสมเข้ากับกองทุนเดิม ผลจากการเพิ่มทุนนี้จะปรากฏออกมาในรูปที่ว่า นายทุนสามารถจะจ้างคนมาทำงานได้มากขึ้น และคนงานจำนวนมากขึ้นจะผลิต “มูลค่าส่วนเกิน” ให้แก่นายทุนมากขึ้น ซึ่งนายทุนก็จะนำไปเพิ่มพูนกองทุนของเขาให้ทับทวีคูณยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

กล่าวอีกทางหนึ่ง ทุนนั้นจะได้รับการสะสมพอกพูนขึ้นโดยไม่มีที่สิ้นสุดแต่ในระหว่างนั้น นายทุนก็ต้องเผชิญกับกฎทางสังคมและเศรษฐกิจอีกแบบหนึ่ง ที่จะปรากฏขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในทางไกลแล้วอุปสรรคอันสำคัญยิ่งอยู่ที่การต่อสู้ทางชนชั้น ซึ่งจะสำแดงตนออกมาขัดขวางโชคลาภของนายทุนเป็นครั้งคราว และในที่สุดก็จะถึงแก่เข้าระงับเสียสิ้นเชิง โดยเข้ายุติการผลิตแบบทุนนิยมเสียทีเดียว แต่ทว่ายังมีอุปสรรคอีกมากประการ ที่จะยังให้การคลี่คลายของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมไม่สามารถดำเนินไปโดยราบรื่น และอุปสรรคเหล่านั้นก็บังเกิดจากธรรมชาติของลัทธิเศรษฐกิจทุนนิยมนั้นเอง

No comments: