Tuesday, September 11, 2007

บทความที่ ๒๗๖. สังคมศักดินา ตอนที่ ๑

สังคมศักดินา

สังคมศักดินา ก็เช่นเดียวกันกับสังคมทาสในส่วนที่ยังคงเป็นสังคมแห่งชนชั้น ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงจากการต่อสู้ทางชนชั้นไปไม่พ้น และนั่นคือ เป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้นศักดินากับพวกเลก (Serfs) ชนชั้นที่กล่าวถึงนี้ หมายถึงกลุ่มชนผู้ได้มาซึ่งเครื่องยังชีพ โดยวิถีทางอย่างเดียวกัน

ในสังคมศักดินา กษัตริย์และเจ้าขุนมูลนายศักดินา (Feudal lord) ได้มาซึ่งเครื่องยังชีพในรูปของบรรณาการ ซึ่งพวกทาสที่ดินหรือพวกเลก เป็นผู้ออกแรงจัดหามาเส้นสังเวย พวกเลกเหล่านั้นในส่วนใหญ่ จัดหาเครื่องสังเวยมามอบให้เจ้าขุนมูลนายโดยการทำงานในที่ดินที่เจ้าขุนมูลนายมอบหมาย พวกเจ้าขุนมูลนายได้ประกอบขึ้นเป็นชนชั้นหนึ่ง และในกลุ่มนั้นทั้งหมดย่อมถือผลประโยชน์ของชนชั้นของเขาเป็นสำคัญและร่วมกัน เจ้าขุนมูลนายทุกคนต้องการที่จะรีดเอามาซึ่งผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้จากพวกเลกของพวกเขา

เจ้าขุนมูลนายทุกคนต้องการที่จะแผ่ขยายการครอบครองที่ดินออกไป และต้องการได้พวกเลกมาทำงานรับใช้เขาให้มากยิ่งขึ้น และนี่แหละที่ทำให้เจ้าขุนมูลนายทำกคนที่อยู่ในชนชั้นนั้นมีผลประโยชน์ชนชั้นร่วมกัน ส่วนพวกเลกก็รวมกันเข้าเป็นชนชั้นอีกชนชั้นหนึ่ง ซึ่งมีผลประโยชน์ของชนชั้นร่วมกัน พวกเลกทั้งหลายต้องการที่จะยึดถือสิ่งที่พวกเขาผลิตขึ้นไว้ใช้สำหรับตัวเขาและครอบครัวของเขาให้มากขึ้น แทนที่จะส่งมอบให้แก่เจ้าขุนมูลนายตามความพอใจของพวกนั้น

พวกเขาต้องการได้อิสรภาพที่จะทำงาน เพื่อได้โภคผลทั้งหมดไว้เป็นของเขาเอง โดยไม่ต้องนำผลจากแรงงานของเขาไปเส้นสังเวยผู้ใด พวกเขาต้องการได้รับการปลดเปลื้องจากการปฏิบัติอันเกรี้ยวกราดปราศจากความปราณีที่เขาได้รับจากเจ้าขุนมูลนายของเขา ผู้ซึ่งยังได้ตั้งตนเป็นผู้ออกกฎหมายปกครองพวกเขา และยังเป็นผู้พิพากษาพวกเขาอีกด้วย นักเขียนเชื้อชาติแองโกลแซกซอนได้พรรณนาถึงความรู้สึกของเลกคนหนึ่ง ซึ่งต้องรับใช้ไถนาให้แก่เจ้าขุนมูลนายของเขา และได้รำพันไว้ว่า

“โอ ท่านขอรับ กระผมต้องทำงานหนักเหลือเกิน กระผมต้องออกไปทำงานตั้งแต่เช้าตรู่ต้อนวัวไปยังทุ่งนา และนำนำมันเทียบเข้ากับคันไถ ถึงแม้ว่าอากาศจะหนาวเย็นปิ่มว่าร่างกายจะแข็งจนกระดิกไม่ได้ก็ดี กระผมก็ไม่กล้าที่จะหลบความหนาวอยู่กับบ้าน ด้วยความกลัวภัยในพระเดชแห่งมูลนายของกระผม กระผมต้องกระเสือกกระสนออกไปที่ท้องนาทุกวัน และจะต้องไถให้ได้วันละหนึ่งเอเคอร์เป็นอย่างน้อย”

ท่านเมธีทางวิทยาศาสตร์สังคมท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า

“ระบบศักดินาเป็นระบบกดขี่ขูดรีดที่ทารุณเหี้ยมโหดระบบหนึ่งที่มนุษย์ได้พบมา” ในระบบทาส ถึงแม้ว่าพวกทาสจะไม่มีสิทธิ์เสรีภาพแต่ประการใด ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และร่างกาย ถึงแม้ว่าพวกทาสจะถูกถือว่าเป็นเพียงเครื่องมือที่พูดได้ และเป็นสมบัติของนายทาสเช่นเดียวกับเครื่องมือใบ้ (ธนู ขวานหิน ฯลฯ)และเครื่องมือกึ่งใบ้ (ปศุสัตว์) ซึ่งนายทาสมีอำนาจที่จะเฆี่ยนตีหรือเข่นฆ่าเสียเมื่อใดก็ได้ในเมื่อไม่พอใจ แต่หากพวกทาสได้รับการประกันจากนายทาสอย่างหนึ่ง คือไม่ให้อดตาย ถึงหากว่าการประกันดังกล่าวนี้ เพื่อผลประโยชน์ของนายทาสในอันที่จะพิทักษ์แรงงานของพวกทาสไว้ใช้ก็ตาม

ส่วนในระบบศักดินานั้นพวกเลกจำนวนมหึมา ซึ่งแปรเปลี่ยนสภาพมาจากพวกทาส หาได้รับการประกันในเรื่องอดตายแต่ประการใดไม่ พวกเลกเหล่านี้ทำไร่ไถนาในที่ดินอันกว้างใหญ่ไพศาลของเจ้าที่ดินหรือเจ้าศักดินา แต่หากผลิตผลที่เกิดจากแรงงานของพวกเขาเหล่านั้นส่วนใหญ่จะถูกเจ้าที่ดินแบ่งปันเอาไป เหลือไว้แก่พวกเขาแต่ส่วน้อย และส่วนที่เหลือไว้นี้ จะพอกินหรือไม่พอกิน เจ้าศักดินาไม่รับรู้ด้วย เพราะฉะนี้ จึงกล่าวได้ว่า พวกเลกในระบบศักดินานั้นมีหวังที่จะอดตายมากกว่าพวกทาสในยุคทาส

นอกเหนือไปจากพันธะที่พวกเลกจะต้องทำงานในที่ดินของเจ้าขุนมูลนายแล้ว พวกเลกยังมีพันธะที่จะต้องส่งบรรณาการให้มูลนายในรูปต่างๆ อีก กล่าวคือ ไม่แต่พวกเลกจะต้องแบ่งส่วนที่เขาผลิตได้ให้แก่มูลนายของเขาเท่านั้น หากยังจะต้องนำผลิตผลจากงานฝีมือของเขาและของสมาชิกในครัวเรือนมอบให้แก่มูลนายของเขาอีกด้วย

ด้วยประการดั่งนั้น ในทุกประเทศที่ระบบศักดินาดำรงอยู่ จึงได้มีการขัดแข็งต่อสู้กันระหว่างพวกเจ้าขุนมูลนายและพวกเลกสืบมาไม่ขาด บางคราวก็เป็นเรื่องระหว่างบุคคลต่อบุคคล หรือระหว่างพวกเลกกลุ่มหนึ่งขัดแข็งต่อสู้มูลนายของเขา บางคราวการขัดแข็งต่อสู้ได้กลายเป็นใหญ่โตทีเดียว คือเป็นการขัดแข็งต่อสู้ของพวกเลกที่ได้รวบรวมกันเข้าเป็นหมู่ใหญ่ เพื่อที่จะเรียกร้องต่อสู้ให้กับชีวิตของเขาทั้งหลายให้ได้รับการปรับปรุงดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ตัวอย่างการขัดแข็งต่อสู้ของพวกเลกครั้งใหญ่ๆ นั้น ได้แก่การขัดแข็งต่อสู้ที่เกิดขึ้นในอังกฤษในปี ค.ศ.๑๓๘๑ ภายใต้การนำของจอห์นบอลล์และวัตไทเลอ การดิ้นรนต่อสู้พวกชาคเกอรี่ ในฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ.๑๓๖๘ การดิ้นรนต่อสู้ขัดแข็งของพวกเลกต่อพวกศักดินาอย่างขนานใหญ่ในทำนองเดียวกันนี้ ได้อุบัติขึ้นในประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศ เช่นในรัสเซีย ในฮอลแลนด์ และในขณะเดียวกันนั้น การต่อสู้ขนาดย่อมๆ ก็ได้ดำเนินอยู่ในที่ต่างๆ ไม่ขาดสาย.
จากหนังสือปทานานุกรม ฉบับชาวบ้าน สุพจน์ ด่านตระกูล

No comments: