Friday, February 27, 2009

บทความที่๔๕๐.บทเรียนที่รัฐบาลเผด็จการชนชั้นไม่เคยจำ กรณีขอตัวผู้ร้ายข้ามแดน

อันเนื่องจากข่าวรัฐบาลเผด็จการชนชั้นที่มีนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ขอให้รัฐบาลฮ่องกงส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับมาประเทศไทยในข้อหาผู้ร้ายข้ามแดน ผมจึงขอนำเรื่องราวทำนองเดียวกันนี้ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ ๖๑ ปีแล้วโดยรัฐบาลเผด็จการที่ทำปฏิวัติเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ได้ส่งเรื่องขอให้สิงคโปร์(ภายใต้การปกครองของอังกฤษ)ส่งตัวผู้ร้ายหลบหนี(ที่รัฐบาลเผด็จการยัดเยียดข้อหาให้)กลับมาประเทศไทย เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ท่านปรีดี พนมยงค์ได้บันทึกเรื่องราวไว้ในชื่อ "ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์"มาให้ท่านผู้รักสัจจะทั้งหลายได้ศึกษากันดังนี้

นำลงอีกครั้งจากบทความเดิมที่ ๓๖๗
 http://socialitywisdom.blogspot.com/2008/03/blog-post_7005.html 

ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันทน์(๕)
โดย ปรีดี พนมยงค์


ข้าพเจ้าขอย้อนกล่าวถึงคุณเฉียบฯ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เสร็จสิ้นแล้ว ว่ากรมตำรวจได้เปลี่ยนอธิบดีคนใหม่ ซึ่งได้สั่งย้ายคุณเฉียบฯจากตำแหน่งผู้บังคับกองตำรวจจังหวัดชุมพรมาเป็นผู้บังคับกองตำรวจจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คุณเฉียบฯจึงได้มาหาข้าพเจ้าปรารภว่าการที่ไปเป็นผู้บังคับกองตำรวจจังหวัดชุมพรนั้น ก็เพื่อปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย ฉะนั้นจึงขอให้ข้าพเจ้าช่วยให้ได้กลับมาประจำในกองตำรวจสันติบาลตามสังกัดเดิม ข้าพเจ้าจึงได้ขอร้องอธิบดีกรมตำรวจคนใหม่ให้พิจารณาตามความเป็นธรรมที่เหมาะสม อธิบดีกรมตำรวจพิจารณาแล้วจึงได้สั่งย้ายคุณเฉียบฯมาประจำกองตำรวจสันติบาล

ขณะนั้นได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๙ ซึ่งให้เสรีภาพบริบูรณ์แก่ปวงชนชาวไทยในการเลือกถือลัทธินิยมใดๆ ในสมาคมและในการตั้งพรรคการเมือง ฯลฯ ฉะนั้นฝ่ายกรรมกรจึงมีสิทธิเคลื่อนไหวเรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการ ข้าพเจ้าจึงได้ขอให้อธิบดีกรมตำรวจมอบหมายการงานพิเศษให้แก่คุณเฉียบฯ เพื่อช่วยเหลือกรรมกรที่เรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการจากนายจ้างซึ่งเป็นธรรมดาที่นายจ้างก็ไม่ยอมตกลงง่ายๆ ฉะนั้น คุณเฉียบฯจึงได้ไปช่วยกรรมกรเจรจากับนายจ้างเป็นผลสำเร็จหลายราย อาทิ กรรมกรโรงงานเบียร์ของบริษัทบุญรอด, กรรมกรโรงเลื่อยไม้ ฯลฯ และช่วยเหลือกรรมกรในงานชุมนุมใหญ่ แห่งวันกรรมกรสากล (๑ พฤษภาคม ๒๔๙๐) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย 

คุณเฉียบฯได้เปลี่ยนจิตสำนึกจากการเป็นนายตำรวจของฝ่ายนายทุน มาเป็นนายตำรวจของฝ่ายกรรมกร และได้ทำการต่อต้านพวกที่มีซากทัศนะทาสกับทัศนะศักดินา ซึ่งพยายามที่จะฟื้นฟูระบบถอยหลังเข้าคลองขึ้นมาอีก ฉะนั้นเมื่อพวกปฏิกิริยาทำรัฐประหารขึ้นในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ จึงในบรรดาคำสั่งของคณะนั้นได้มีคำสั่งฉบับหนึ่งปลดคุณเฉียบออกจากตำแหน่งประจำการ คุณเฉียบพร้อมด้วยผู้เคยอยู่ใต้บังคับบัญชา บางคน อาทิ คุณเทพวิฑูรย์ นุชเกษม ส.ต.ท.ชม แสงเงิน ฯลฯ จึงได้ไปขอลี้ภัยอยู่กับข้าพเจ้าที่บ้านพักของกรมนาวิกโยธินสัตตหีบโดย พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ ได้กรุณาต้อนรับข้าพเจ้าและผู้ติดตามให้พักอาศัยเพื่อลี้ภัยรัฐประหารนั้น

(โปรดอ่านบทความที่ ๑๑๘ จนถึง ๑๒๔ และ ๑๒๖ 
เรื่อง บันทึกของคุณเฉียบ อัมพุนันทน์ http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/04/blog-post_27.html)


ต่อมาข้าพเจ้าได้ออกจากสัตตหีบเพื่อไปลี้ภัยที่สิงคโปร์โดยความช่วยเหลือของนาวาเอกการ์เดส นำเรือเร็วไปส่งข้าพเจ้าขึ้นเรือบรรทุกน้ำมันอังกฤษที่อ่าวสยาม เพื่อเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์ แต่คุณเฉียบกับผู้ติดตามยังคงพักอาศัยอยู่ที่สัตตหีบชั่วระยะเวลาหนึ่ง

ครั้นแล้วคุณเฉียบกับผู้ติดตามก็ได้เดินทางไปสิงคโปร์ เมื่อถึงสิงคโปร์แล้ว คุณเฉียบได้รายงานตัวต่อตำรวจสิงคโปร์ ขอลี้ภัยการเมือง ในชั้นแรกนายตำรวจสิงคโปร์ได้มาพบข้าพเจ้าแจ้งว่า เขามีความยินดีมากที่จะขอให้คุณเฉียบทำงานเป็นนายตำรวจที่สิงคโปร์ แต่อีกไม่กี่วันต่อมาตำรวจสิงคโปร์ก็ได้จับตัวคุณเฉียบกับ ส.ต.ท.ชม แสงเงิน โดยอ้างว่ารัฐบาลไทย (รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์)ได้ขอให้ส่งตัวคุณเฉียบกับ ส.ต.ท.ชม กลับประเทศไทยในข้อหาว่าเป็นผู้ร้ายฆ่าคนตาย แต่ความจริงนั้น ตำรวจของรัฐบาลประชาธิปัตย์ต้องการจะเอาตัวบุคคลทั้งสองไปเป็นผู้ต้องหาว่าลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ ๘ ดังที่ปรากฏในบันทึกพระยาศรยุทธเสนีย์ว่า ขณะนั้นพระพินิจชนคดี และหลวงแผ้วพาลชน นายตำรวจทั้งสองกำลังเกลี้ยกล่อมที่จะให้พระยาศรยุทธเสนีย์ให้การปรักปรำบุคคลซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ถือว่าเป็นปรปักษ์ของเขา เช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ฯลฯ อันเป็นการแก้แค้นทางการเมือง โดยอาศัยกรณีสวรรคตมาเป็นเครื่องบังหน้า

คุณเฉียบ และ ส.ต.ท.ชมฯ ต้องถูกขังอยู่หลายวันที่กองตำรวจสิงคโปร์ เพราะฝ่ายรัฐบาลไทยของผลัดเวลาส่งหลักฐานมา เมื่อตำรวจสิงคโปร์ได้เอกสารที่ฝ่ายรัฐบาลไทยอ้างว่าเป็นหลักฐานแท้จริงตามข้อหานั้นส่งมายังตำรวจสิงคโปร์แล้ว ตำรวจสิงคโปร์ก็ได้นำตัวคุณเฉียบฯ กับ ส.ต.ท.ชมขึ้นศาลสิงคโปร์ให้พิจารณา

ขณะนั้นสิงคโปร์เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ศาลสิงคโปร์จึงเป็นศาลของอังกฤษซึ่งมีผู้พิพากษาเป็นคนอังกฤษ ในวันพิจารณา ตำรวจสิงคโปร์ได้นำกงสุลไทยประจำสิงคโปร์เป็นพยานให้การรับรองว่าเอกสารที่ตำรวจยื่นต่อศาลนั้นเป็นเอกสารของรัฐบาลไทย ครั้นแล้วผู้พิพากษาอังกฤษจึงได้หยิบสำนวนชูชึ้นกล่าวว่า

“Nothing, so discharge these two persons”

แปลว่า “ไม่มีอะไรเลย,ดังนั้นจึงปล่อยบุคคลทั้งสองให้พ้นข้อหาไป"

บทความที่๔๔๙.ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?(จบ)

ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?
(จากหนังสือของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ปี 2541)

ในระบบสังคมนิยม เครื่องกีดขวางระหว่างคนงานชนชาติต่างๆ จะถูกกวาดล้างไป ไม่มีชนชาติหนึ่งที่จะตกอยู่ภายในบังคับของชนอีกชาติหนึ่ง ไม่มีใครจะได้รับการเชิดชูให้สูงขึ้นหรือถูกกดให้ต่ำลงเพราะเหตุแห่งผิวกายหรือสัญชาติของเขา กลุ่มชนต่างๆจะได้รับความช่วยเหลือในการจำเริญทรัพยากรทางเศรษฐกิจ พร้อมด้วยการจำเริญจารีตทางศิลปกรรมและวรรณกรรมของชาติ ในระบบสังคมนิยมจึงไม่มีปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าวและไม่กลัวเรื่องแรงงานต่างด้าว เพราะในระบบสังคมนิยมมีแต่เรื่องของมนุษยชาติผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน

ในระบบสังคมนิยม ประชาธิปไตยจะไม่จำกัดอยู่แต่เพียงการสมัครรับเลือกตั้ง หรือออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเข้าไปนั่งในสภาทุก ๔ ปี หรือกี่ปีก็ตาม หากแต่ประชาธิปไตยจะขยายตัวแผ่คลุมไปตามโรงงานทุกโรงงาน ไปตามอาคารที่อยู่อาศัยทุกอาคาร และแผ่คลุมไปในชีวิตทุกด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม

ความแตกต่างในภาวะความเป็นอยู่ระหว่างเมืองและชนบทจะถูกเลิกล้มให้หมดไป พวกคนงานตามหมู่บ้านจะเรียนรู้ในการใช้เครื่องจักร และเพิ่มฝีมือในการทำงานของเขาให้ขึ้นสู่ระดับเดียวกับฝีมือของคนงานในเมือง ความสะดวกในการศึกษาและการจำเริญวัฒนธรรม ซึ่งแต่เดิมจะหาได้แต่ในเมืองเท่านั้น ก็จะได้แผ่ขยายไปตามตำบลชนบทโดยทั่วถึง

ยิ่งไปกว่าสิ่งใดๆ ก็คือ ความคิดจำพวกที่มุ่งหมายจะแสวงหาสิ่งต่างๆ มาบำรุงบำเรอความสุขของตนแต่ฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนอันจะบังเกิดขึ้นแก่สังคมโดยการกระทำของตน ซึ่งเป็นลักษณะความคิดที่เศรษฐกิจทุนนิยมได้เพาะขึ้นไว้ในสังคมแต่เดิมมานั้น จะถูกขจัดให้หมดสิ้นไปและจะมีความคิดในรูปที่เป็นความคิดเผื่อแผ่แก่สังคม คือความคิดที่มีความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมเข้ามาแทนที่ ดังที่นักวิทยาศาสตร์สังคมผู้เรืองนามได้กล่าวไว้ว่า “แรงงานจะไม่ถูกถือว่าเป็นแต่เพียงเครื่องมือเพื่อการยังชีพเท่านั้น หากจะต้องถือว่าแรงงานนั้นเป็นสิ่งจำเป็นประการแรกที่ชีวิตจะขาดเสียมิได้”

ท่านนักวิทยาศาสตร์สังคมผู้เรืองนามได้กล่าวต่อไปว่า เมื่อใดที่ระบบสังคมนิยมได้แผ่ปกคลุมไปทั่วโลก เมื่อนั้นย่อมหมายถึงการสิ้นสุดของสงคราม เพราะเมื่อผลิตกรรมและวิภาคกรรมในทุกประเทศได้ถูกจัดตั้งขึ้นตามหลักเกณฑ์ของสังคมนิยมแล้ว ก็จะไม่มีบุคคลกลุ่มใดในประเทศใดๆ ที่จะได้รับผลประโยชน์แม้แต่น้อยในการรบชนะประเทศอื่นๆ

ในทางกลับกัน การที่ประเทศทุนนิยมประเทศใดประเทศหนึ่งปราบประเทศที่ล้าหลังให้ตกอยู่ใต้อำนาจของตน ก็เพื่อจะขยายเศรษฐกิจทุนนิยมให้แผ่กว้างออกไป เพื่อที่จะบุกเบิกช่องทางใหม่ๆ สำหรับกลุ่มทุนฝ่ายการเงินจะได้ส่งทุนออกไปแสวงผลกำไร เพื่อที่จะได้แหล่งวัตถุดิบแหล่งใหม่ในราคาถูก และเพื่อจะได้ตลาดใหม่ในการขายสินค้า

แต่สำหรับประเทศสังคมนิยมที่ก้าวหน้าในงานอุตสาหกรรมอย่างอดีตสหภาพโซเวียตนั้น การที่จะใช้กำลังอาวุธปราบปรามประเทศที่ล้าหลัง จะเป็นสิ่งที่น่าขบขันทีเดียว เพราะว่าการที่จะขยายระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมเข้าไปยังประเทศที่ล้าหลังโดยการสงครามนั้น ย่อมหมายถึงว่า เป็นการลดมาตรฐานการครองชีพของประชาชนในประเทศสังคมนิยมที่ก้าวหน้านั่นเอง(เพราะว่าต้องนำเงินไปทุ่มในสงคราม)

ประเทศที่ได้สถาปนาระบบสังคมนิยมขึ้นแล้วนั้นจะไม่ก่อสงครามรุกรานเป็นอันขาด เพราะว่าประเทศสังคมนิยมหรือกลุ่มชนกลุ่มใดในประเทศสังคมนิยมนั้น จะไม่ได้รับผลประโยชน์จากสงครามเลย และนี่ไม่ใช่เป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องศีลธรรมอันใด แต่หากเกี่ยวกับปัญหาของรูปธรรมดังกล่าวมาแล้ว

ซึ่งต่างกับประเทศแห่งสังคมทุนนิยม อันมีกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มนายทุน เป็นผู้มีส่วนได้เสียอย่างสำคัญ หากสงครามเกิดขึ้น และสงครามก็ย่อมจะเกิดขึ้นเพราะการผลักดันเร่งเร้าอันหื่นกระหายของกลุ่มนายทุน

และด้วยเหตุผลเช่นเดียวกัน จึงไม่มีรัฐสังคมนิยมใดมีความสนใจแม้แต่น้อย ในอันจะเหนี่ยวรั้งให้ประเทศล้าหลังคงขดอยู่ในความล้าหลังต่อไป ตรงกันข้าม หากว่าประเทศได้คลี่คลายขยายตัวออกไปทางอุตสาหกรรมและวัฒนธรรม และการคลี่คลายนั้นไปสู่ระดับที่สูงขึ้นเพียงใด ก็จะกลับเป็นผลดีแก่ประเทศสังคมนิยมทั่วไปเพียงนั้น จะทำให้มาตรฐานการครองชีพของมนุษย์ทั่วโลกได้เขยิบสูงขึ้น จะทำให้ชีวิตมีความรื่นรมย์ยิ่งขึ้น

เพราะฉะนั้นบรรดารัฐสังคมนิยมที่ได้ถูกสถาปนาขึ้นแล้วในอดีตและที่จะถูกสถาปนาขึ้นใหม่ในอนาคต จึงมีแต่จะเข้าช่วยเหลือประเทศที่ล้าหลังให้มีโอกาสจำเริญตัวเอง มิใช่คอยเหนี่ยวรั้ง และแน่นอนทีเดียว ประเทศสังคมนิยมย่อมจะไม่ฉวยโอกาสถลุงเงินและขูดรีดประเทศที่ล้าหลัง ไม่ว่าในทางใดๆ และกรณีใดๆ

ในโลกที่ใช้ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมอย่างทั่วถึง ความก้าวหน้าต่อไปที่มนุษย์อาจบันดาลให้เกิดขึ้นได้นั้น จะทำให้สิ่งที่เป็นจินตนาการในสังคมพระศรีอาริย์ สังคมคอมมิวนิสต์ สังคมมะฮะดีเป็นความจริงขึ้นมาได้ เมื่อทุกประเทศได้วางแผนกิจการในด้านเศรษฐกิจไว้ทั้งหมด และโลกซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแท้จริง จะได้วางแผนโดยการประสานแผนการเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเข้าด้วยกัน และเมื่อมีการค้นพบสิ่งใหม่ๆ ในทางวิทยาศาสตร์รวมทั้งการประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ในทางเครื่องจักรกลก็จะได้นำออกเปิดเผยให้ได้เรียนรู้กันในระหว่างประเทศทั่วโลก และเมื่อได้แลกเปลี่ยนความสำเร็จในงานด้านวัฒนธรรมทุกแบบแก่กันและกันโดยทั่วถึงแล้ว ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัยของมนุษย์จริงๆ ที่จะแสดงความก้าวหน้าอันเป็นก้าวยาวเหยียดให้เห็นประจักษ์ได้อย่างแท้จริง

และด้วยการสถาปนาสังคมนิยมอันสมบูรณ์แบบให้ปรกแผ่ไปทั่วโลก บทบาทอันยืดเยื้อในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ อันว่าด้วยการแบ่งชนชั้นของมนุษย์และการต่อสู้ทางชนชั้นก็จะได้ถึงกาลอวสานลงเสียที และก็จะไม่มีการแบ่งมนุษย์ออกเป็นชนชั้นโดยการแบ่งแยกอย่างใหม่อีกต่อไป

ทั้งนี้เพราะสังคมนิยมสมบูรณ์แบบนั้น จะไม่มีธาตุที่จะอนุกูลให้มีการแบ่งชนชั้นเหลืออยู่ การแบ่งมนุษย์ออกเป็นชนชั้นในสมัยที่ความสามารถของมนุษย์ในการผลิตชีวปัจจัยยังอยู่ในระดับต่ำนั้น ไดยังประโยชน์ให้แก่ผู้ก่อตั้งกิจการเจ้าของเครื่องมือและอุปกรณ์การผลิต นับแต่สงครามครองทาส สังคมศักดินา และสังคมทุนนิยม และภายใต้สังคมทุนนิยม การแบ่งชนชั้น ได้ช่วยให้การผลิตได้รวมกันเข้าเป็นกลุ่มใหญ่ และได้ช่วยให้เกิดความจำเริญก้าวหน้ามหาศาลในทางเทคนิค

แต่หากเมื่อความก้าวหน้าได้ดำเนินมาถึงขั้นทีมนุษย์ได้มีเครื่องมือและวิธีเพิ่มกำลังผลิตให้สูงขึ้นอย่างมหาศาล จนกระทั่งว่าประชาชนอาจจะทำงานเพียงวันละ ๒ ชั่วโมง ก็เป็นการเพียงพอที่จะผลิตสิ่งของเครื่องใช้ได้เพียงพอแก่การครองชีพแล้ว การแบ่งชนชั้นในสังคมมนุษย์ก็ควรแก่การยุติลงได้และก็จะต้องจัดให้ยุติลง

สืบแต่นั้นไป มนุษย์ก็จะกลับเข้าสู่การต่อสู้ใหม่กับธรรมชาติซึ่งความได้เปรียบได้ตกแก่มนุษย์แล้ว มนุษย์จะไม่ต้องพยายามต่อสู้เอาชนะธรรมชาติด้วยการใช้เวทมนต์คาถาอันคร่ำครึอีกต่อไป มนุษย์จะไม่ต้องใช้คำสวดอ้อนวอนเพื่อกำจัดปัดเป่าภยันตรายจากธรรมชาติอีกต่อไป มนุษย์จะไม่ต้องเดินเปะปะอย่างคนตาบอดไปตามหนทางที่ฝ่าไปในการต่อสู้ระหว่างชนชั้นและสงครามอีกต่อไป

แต่จะเดินไปด้วยความเชื่อตัวเอง ด้วยความมั่นใจในอำนาจของเขาที่จะควบคุมพลังธรรมชาติไว้ได้ และจะเดินก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และเมื่อนั้นสวรรค์บนพื้นพิภพก็จะปรากฏขึ้นอย่างเที่ยงแท้แน่นอน และนี่คือ สังคมคอมมิวนิสต์ หรือสังคมพระศรีอาริย์ตามความฝันของชาวพุทธ หรือสังคมมะฮะดีตามความฝันของชาวมุสลิม.

Thursday, February 26, 2009

บทความที่๔๔๘.ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?(๗)

ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?
(จากหนังสือของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ปี 2541)

เพราะฉะนั้น การแบ่งปันผลิตผลทั้งหมดที่จะใช้ในการบริโภค จึงดำเนินไปภายใต้หลักการที่ว่า “เอาจากแต่ละคนตามแต่ความสามารถของเขา และให้แก่แต่ละคนตามแต่ผลงานของเขา” หรืออีกนัยหนึ่ง “แต่ละคนทำงานตามความสามารถและแต่ละคนเอา(ค่าตอบแทน)ไปตามผลของงาน”

แต่ระบบสังคมนิยมนั้น หาได้หยุดยั้งอยู่แต่ระดับที่ได้รับมรดกมาจากสังคมทุนนิยมไม่ หากระบบสังคมนิยมจะเพิ่มพูนการผลิตให้สูงขึ้นทุกปีและในขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มพูนฝีมือในการทำงาน รวมทั้งเพิ่มพูนความคลี่คลายทางวัฒนธรรมของประชาชนไปพร้อมกันด้วย เพราะว่าคนงานที่ได้รับการอบรมทางวัฒนธรรมดีแล้ว และเป็นผู้ที่มีฝีมือในการทำงาน ย่อมจะได้รับค่าจ้างสูงกว่าคนงานที่ไม่มีฝีมือ

ดังนั้น, ความแตกต่างกันในอัตราค่าจ้างนี่แหละ ได้เป็นเครื่องกระตุ้นใจให้คนงานทุกคนพยายามที่จะปรับปรุงคุณสมบัติในการทำงานให้สูงขึ้นอยู่เสมอ และผลที่ได้จากการนี้ก็คือ เมื่อคนงานต่างก็พยายามปรับปรุงฝีมือการทำงานของเขาให้สูงขึ้น ผลิกรรมก็ย่อมทวีขึ้น ซึ่งหมายความว่าความสะดวกสบายของชีวิตจะขยายกว้างออกไป และรูปการเช่นนี้ย่อมจะส่งเสริมให้มาตรฐานการครองชีพของทุกคนได้เขยิบสูงขึ้นโดยลำดับ

เพราะฉะนั้นความไม่เสมอภาคหรือความไม่เท่าเทียมกันที่มีอยู่ในระบบสังคมนิยมในเยาว์วัยนั้น จึงเป็นเครื่องมือสำหรับยกระดับของสังคมส่วนรวม หรือนัยหนึ่งยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนทั้งหมด ให้เลื่อนจากชั้นต่ำไปสู่ขั้นสูงต่อไปและต่อไป

ความไม่เสมอภาคในระบบสังคมนิยม(ขั้นต้น)จึงทำหน้าที่แตกต่างกับความไม่เสมอภาคในระบบทุนนิยม เพราะว่าตามลัทธิเศรษฐกิจทุนนิยมนั้น ความไม่เสมอภาคทำหน้าที่เป็นอาวุธสำหรับเพิ่มพูนความร่ำรวย มั่งคั่งให้แก่กลุ่มชนส่วนน้อยนิดคือนายทุน และบีบบังคับคนส่วนใหญ่คือผู้ออกแรงงานรังสรรค์สังคมให้ตกอยู่ในความยากจนค่นแค้น

อาจมีผู้ตั้งคำถามขึ้นมาว่า ความไม่เสมอภาคนี้จะคงอยู่ตลอดกาลในสังคมอนาคตหรือไม่?

ขอตอบว่า ไม่ สักวันหนึ่งสังคมในอนาคตจะบรรลุถึงขั้นที่ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ที่จะแบ่งปันผลผลิตของสังคมให้แก่ประชาชนตามส่วนแห่งบริการที่เขากระทำให้แก่สังคม

อย่างไรก็ดี การที่จะแบ่งปันผลิตผลของสังคม ให้แก่ผู้ทำงานตามส่วนแห่งผลงานที่เขาได้ทำให้สังคมหรือตามหลักการอื่นใดก็ตาม ก็เท่ากับเป็นการสารภาพว่า ไม่มีผลิตผลเพียงพอที่จะแบ่งปันให้แก่ทุกคนตามความต้องการของเขา

ในสังคมทุนนิยม ครอบครัวที่สามารถจะให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนมีอาหารการกินได้อย่างไม่อั้น ก็ไม่จำเป็นจะต้องวางกฎการแบ่งอาหารการกินขึ้นไว้ สมาชิกทุกคนในครอบครัวเช่นนั้นย่อมจะจัดการกับอาหารการกินได้ตามความต้องการของทุกคน

ในทำนองเดียวกัน เมื่อการผลิตของระบบสังคมนิยมได้ทวีขึ้น ถึงขั้นที่พลเมืองทุกคน อาจถือเอาของที่ผลิตขึ้นไปใช้ได้อย่างครบถ้วนตามความต้องการของเขา โดยที่จะไม่ทำให้ผู้อื่นต้องประสบกับการขาดแคลน เมื่อเป็นไปได้เช่นนั้น ก็จะไม่มีเหตุอันใดแม้แต่น้อย ที่จะต้องมาคำนวณและจำกัดว่าคนใดควรจะได้รับส่วนแบ่งปันเท่าใด

เมื่อสังคมได้คลี่คลายก้าวหน้าไปถึงขั้นนั้นแล้ว หลักการในเรื่องผลิตกรรมและวิภาคกรรม หรือในเรื่องการผลิตและการแบ่งปัน ก็จะแผกเพี้ยนไปจากหลักเดิมและจะดำเนินไปสู่หลักการที่ว่า “เอาจากแต่ละคนตามแต่ความสามารถของเขา และให้แก่แต่ละคนตามความต้องการของเขา” 

แต่เมื่อสังคมได้บรรลุถึงขั้นสูงแล้ว ก็มิได้หมายความแต่เพียงว่าทุกคนจะมีเครื่องอุปโภค-บริโภคเพียงพอแก่ความต้องการเท่านั้น สังคมนิยมในระดับสูงยังมีความหมายในประการอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น เช่นการเปลี่ยนแปลงท่าทีและทรรศน์ของประชาชน การศึกษาและโอกาสทั้งมวล เพื่อคลี่คลายไปสู่ความเจริญ ทุกสถานการศึกษาเปิดให้แก่เด็กทุกคน โดยเท่าเทียมกัน เด็กๆ จะได้รับการศึกษาทั้งในทางใช้มือและใช้สมอง และการให้โอกาสเท่าเทียมกันในการทำงานใช้แรงงานและใช้สมองนี้ จะค่อยๆ ขยายตัวไปสู่ประชาชนทั้งประเทศ ทุกคนจะได้เปลี่ยนสภาพไปเป็นบุคคลในจำพวก “ปัญญาชน” ทั่วหน้ากัน และเมื่อเป็นดังนี้ ปัญญาชนก็จะไม่แยกตนออกไปจากงานที่ใช้แรง คงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับแรงงานและรวมเรียกว่าคนงาน (Worker)

ในสังคมนิยม สตรีจะไม่ถูกแลดูเป็นเพศที่มีความด้อยกว่าบุรุษเพศ หรือเป็นเพศที่ไม่สามารถเข้ามีบทบาทในงานทุกแขนงของชีวิตแห่งสังคมอีกต่อไป เพราะว่าจะได้มีการปฏิบัติเป็นพิเศษเพื่อบรรเทาอุปสรรคต่อการที่สตรีจะออกจากบ้านไปทำงาน เช่น จัดให้มีสถานที่เลี้ยงเด็กตามโรงงานและตามที่อื่น ตามความจำเป็น เพื่อว่าสตรีผู้เป็นมารดาจะได้มีอิสระภาพมากขึ้นกว่าเดิม งานของสตรีทางบ้านจะลดลง โดยจัดให้มีโรงครัว โรงซักรีด และร้านขายอาหารของชุมชนขึ้น

การจัดการต่างๆ เพื่อแบ่งเบาภาระของสตรีเช่นนี้ ไม่หมายถึงว่าจะเกณฑ์ให้สตรีออกไปทำงาน เพราะว่าไม่มีการเกณฑ์สตรีให้ออกไปทำงานนอกบ้านแต่อย่างใด การอำนวยความสะดวกสบายต่างๆดังกล่าวนี้ ก็เพื่อจะบรรเทาภาระของเพศแม่ลงเท่านั้น แต่จิตสำนึกจากการอบรมบ่มเพราะของระบบสังคมนิยมนั้นเอง ที่จะเรียกร้องให้พวกเธอออกไปทำงานรับใช้สังคมตามทรรศนะที่ว่า “แต่ละคนทำงานเพื่อทุกๆคน และทุกๆคนทำงานเพื่อแต่ละคน”

บทความที่๔๔๗.ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?(๖)

ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?
(จากหนังสือของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ปี 2541)

จากการยกระดับการผลิต ซึ่งมีผลเป็นการยกระดับที่มีแผนการ ในสังคมทุนนิยม การสร้างโรงงานใหม่ๆ และการเพิ่มการผลิตสินค้าอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นมานั้น จะกระทำกันก็ต่อเมื่อเห็นว่าจะได้กำไรสูงขึ้นจากการเพิ่มปริมาณในสิ่งเหล่านั้น และก็ไม่มีเหตุผลแต่อย่างใดว่า กำไรที่ได้มากขึ้นจากสินค้าอย่างหนึ่งนั้น จะหมายความว่าสินค้าที่กล่าวนั้นเป็นสินค้าที่ประชาชนส่วนมากต้องการ ความต้องการของสินค้าเช่นว่า อาจมาจากบุคคลกลุ่มน้อยที่มั่งคั่งเท่านั้น หรือมิฉะนั้น การขึ้นสูงของราคาสินค้านั้น ก็อาจเกิดจากการบัดดาลของพฤติการณ์พิเศษอันใดอันหนึ่ง

ในสังคมที่ถือเอากำไรเป็นมูลเหตุในอันจะเพิ่มปริมาณการผลิตหรือปริมาณสินค้า ก็จะต้องเผชิญกับความสับสนอลหม่านในการผลิตอยู่ร่ำไป และผลจากการนั้น ก็คือจะเกิดความล้นเหลือในสินค้าประเภทหนึ่ง และจะเกิดความขาดแคลนในสินค้าอีกประเภทหนึ่ง ผลเช่นนี้จะมีอยู่ไม่ขาดสายในสังคมทุนนิยม

ในระบบสังคมนิยม มิได้ถือเอา “กำไร” เป็นเป้าหมายในการผลิตหากถือเอา “การใช้” เป็นเป้าหมาย เหตุฉะนั้น ในระบบสังคมนิยมการวางแผนการผลิตจึงเป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัยจะทำได้ และก็อาจจะทำได้โดยไม่ต้องรอให้สังคมได้เข้าครอบครองกิจการอุตสาหกรรมไว้ทั้งหมด

ในทันทีที่วิสาหกิจใหญ่ๆ ได้เปลี่ยนมาอยูในครอบครองของสังคมแล้ว และวิสาหกิจขนาดย่อมอื่นๆ อยู่ในขั้นจัดวางระเบียบ การวางแผนการผลิตก็อาจเริ่มขึ้นได้ แผนการผลิตดังว่านั้นจะอำนวยผลได้ถูกต้องตามแผนยิ่งขึ้นทุกๆปีที่ผ่านไป และทั้งๆที่ความจริงมีอยู่ว่า ในระบบสังคมนิยมนั้นอุปกรณ์การผลิตย่อมจะเพิ่มพูนทับทวีขึ้นทุกที ซึ่งเป็นเหตุให้ผลิตผลเพิ่มทวีตามขึ้นไปด้วย แต่เหตุไฉนจึงไม่เกิดความล้นเหลือของผลผลิตหรือสินค้าจนถึงกับต้องทำลายทิ้งอย่างเช่น ในระบบทุนนิยม ซึ่งเราจะได้ทำความเข้าใจกันต่อไป

แผนการผลิตแห่งชาตินั้นประกอบด้วยแผนการสองแผน คือแผนการเพื่อการเพิ่มพูนอุปกรณ์การผลิต อันได้แก่อาคารสถานที่ เครื่องจักร วัตถุดิบ เป็นอาทิ และอีกแผนการหนึ่ง ได้แก่แผนการผลิตสิ่งของเพื่อการอุปโภค บริโภค และสิ่งของเพื่อการอุปโภคบริโภคนั้นมิได้หมายถึงแต่เพียงสิ่งของจำพวกอาหารและเครื่องนุ่งห่มเท่านั้น

แต่หมายถึงรวมสิ่งของเพื่อการศึกษา เพื่อบริการสุขภาพอนามัย เพื่อความบันเทิงเริงรมย์ เพื่อการกีฬาและอื่นๆ และโดยที่กำลังเพื่อใช้ในการป้องกันระบบสังคมนิยมที่ยังจะต้องมีอยู่ และตราบเท่าที่จะต้องมีอยู่ในขณะนที่ระบบสังคมนิยมยังไม่ได้แผ่ขยายไปทั่วโลก กำลังประเภทนี้จึงต้องกำหนดไว้ในแผนการด้วย

เหตุที่จะไม่มีวันจะได้กับการผลิตสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างล้นเหลือ หรือล้นตลาดในระบบสังคมนิยมนั้น ก็เพราะว่าสิ่งของทั้งหมดที่ผลิตขึ้นมาจะถูกนำมาแบ่งสันปันส่วนไปสู่ประชาชน ซึ่งหมายถึงว่าค่าจ้างทั้งหมดและเงินได้ทุกประเภทของประชาชน จะได้รับการกำหนดลงไว้ให้เท่าเทียมกับราคาทั้งสิ้นของสิ่งของที่ประชาชนจะใช้บริโภค

จริงอยู่ อาจมีการวางแผนที่ไม่ดีพอ คืออาจกำหนดให้ผลิตสิ่งของอย่างหนึ่งเกินกว่าจำนวนที่ประชาชนต้องการ และกำหนดให้ผลิตสิ่งของอีกอย่างหนึ่งน้อยกว่าที่ประชาชนต้องการ แต่ข้อบกพร่องผิดพลาดเช่นนี้แก้ไขได้ง่าย โดยการปรับปรุงแผนการแผนต่อไปให้เหมาะสม เพื่อที่จะได้ดุลยภาพอันถูกต้อง

ปัญหาที่จะเกิดขึ้น จะมีอยู่ก็แต่ในเรื่องการปรับปรุงการผลิตระหว่างสิ่งของต่างๆ ให้สมดุลกันเท่านั้น แต่จะไม่มีปัญหาเรื่องการลดปริมาณการผลิตสิ่งของทั้งหมดเกิดขึ้น เพราะว่าการบริโภคหรือการใช้สิ่งของรวมทั้งสิ้นนั้น จะไม่น้อยไปกว่าจำนวนทั้งสิ้นของสิ่งของที่ผลิตขึ้นใช้และเพื่อการบริโภคเลย และเช่นเดียวกับที่ต้องมีการผลิตที่มีแผนการ ก็ต้องจัดให้มีการแบ่งปันสิ่งของหรือการวิภาคที่มีแผนการเช่นเดียวกัน

วิภาคกรรมหรือการแบ่งปันสิ่งของที่มีแผนการนั้น หาได้หมายถึงการนำสิ่งของมาแบ่งปันกันโดยตรงแก่ประชาชนผู้บริโภคไม่ กลไกที่นำมาใช้ในการแบ่งปันสิ่งของให้ถึงมือประชาชนนั้น ได้แก่การจ่ายเงินให้แก่ประชาชนในรูปของการจ่ายเงินค่าจ้างหรือเงินสงเคราะห์

โดยที่ราคาสินค้าที่ใช้บริโภคถูกำหนดไว้ว่า จะต้องมีราคาเท่านั้น เท่านี้ เงินค่าจ้างและเงินสงเคราะห์ทั้งหมดที่จ่ายออกไป จึงอาจคำนวณให้เสมอกันกับราคาทั้งหมดของสินค้าที่ใช้ในการบริโภค

โดยเหตุฉะนั้นจึงย่อมจะไม่มีการเหลื่อมล้ำกันในระหว่างผลิตกรรมกับบริโภคกรรม กล่าวคือประชาชนย่อมจะได้ทุกๆสิ่งที่พึงซื้อหาเอาได้ในท้องตลาด ผลิตกรรมที่เพิ่มขึ้นจึงหมายถึงการเพิ่มจำนวนสินค้าที่ประชาชนอาจซื้อหาเอาได้ และนั่นคือประชาชนได้บริโภคสินค้าในจำนวนที่มากขึ้น

มักจะมีการเข้าใจบทบาทของ “ราคาสินค้า” ในระบบสังคมนิยมผิดไปจากความเป็นจริง ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมนั้น ความขึ้นลงของราคาสินค้าแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการสนอง(Supply)กับการเสนอ (Demand)หรือระหว่างการสนองขายและการเสนอซื้อ

ถ้าราคาสูงขึ้นก็หมายความว่าการสนองขายมีจำนวนน้อยเกินไป (คือสินค้าน้อยเกินไป)แต่การเสนอซื้อมีมาก(คือคนซื้อมีมาก) ก็ต้องแย่งกันซื้อ ถ้าราคาต่ำลงก็หมายถึงว่าการสนองขายมีจำนวนมากเกินไป (คือสินค้ามากเกินไป)แต่การเสนอซื้อมีน้อย (คือคนซื้อมีน้อย) จึงจำต้องลดการสนองขายหรือลดจำนวนสินค้าลงมาเพื่อยับยั้งการตกต่ำของราคา จึงเป็นการชี้ให้เห็นว่า ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ราคาสินค้าทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดการผลิต

แต่ในระบบสังคมนิยม ราคาสินค้าไม่ได้ทำหน้าที่เช่นนั้น หากทำหน้าที่เป็นเครื่องกำหนดการบริโภค กล่าวคือ

การผลิตสินค้าเครื่องใช้ต่างๆ ในระบบสังคมนิยมนั้นย่อมดำเนินไปตามแผนการ และราคาสินค้าก็จะถูกกำหนดลงในแผนการด้วยความรอบคอบ เพื่อให้สำเร็จผลในประการที่ว่าสิ่งที่ผลิตขึ้นมา ประชาชนจะต้องได้บริโภค จะไม่ถูกทำลายไปเพราะประชาชนไม่มีเงินจะซื้อหามาบริโภคหรือว่าเพราะต้องการจะยับยั้งความตกต่ำของราคาสินค้า อย่างที่เกิดขึ้นเป็นประจำในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม

สินค้าที่ใช้บริโภคที่ผลิตขึ้นมานั้นได้แบ่งปันไปในหมู่ประชาชนโดยอาการอย่างไร? หากจะมีผู้ใดคิดว่าผลิตผลทั้งหมดนั้นควรจะแบ่งปันให้หมู่ประชาชนโดยส่วนเท่าๆกันแล้ว ก็เป็นการเข้าใจที่ผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง

ทั้งนี้ก็เพราะว่าสังคมนิยมไม่ได้ก่อสร้างขึ้นมาในรูปที่ใหม่ถอดด้าม หากได้ก่อตั้งขึ้นมาบนรากฐานที่ได้รับมรดกจากระบบทุนนิยมดังกล่าวแล้ว

ดังนั้นในฐานะที่ยังเยาว์วัยอยู่ ระบบสังคมนิยมจึงไม่สามารถที่จะอำนวยให้ประชาชนทุกคนได้รับการแบ่งปันเครื่องอุปโภค-บริโภค โดยเท่าเทียมกันได้ และถ้าหากขืนแบ่งปันให้เท่ากัน ก็เท่ากับว่า เป็นการลงโทษประชาชน โดยไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนเพียงพอนั้นเอง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ขอให้ติดตามศึกษาต่อไป อย่างฟังแต่เพียงเขาเล่าว่า

การพิจารณาแบ่งปันผลิตผลของสังคมให้แก่ทุกคนโดยส่วนเท่าๆกันนั้น ก็จะเท่ากับเป็นการลงโทษบุคคลที่มีฝีมือและรากฐานการครองชีพสูงกว่าระดับทั่วไป คนจำพวกผู้มีฝีมือ ผู้ทำงานในการเพิ่มผลิตผลนั้น ตามความเป็นจริง งานของเขาย่อมมีความสำคัญแก่สังคมยิ่งกว่างานของกรรมกรผู้ไม่มีฝีมือ

ดังนั้น ถ้าแบ่งปันสิ่งของเครื่องบริโภค-อุปโภค ให้แก่คนงานที่มีฝีมือเท่ากับคนงานไร้ฝีมือแล้ว ก็จะเป็นการลงโทษคนงานที่มีฝีมือทีเดียว 

ความเสมอภาคที่ปรับขึ้นมาจากภาวะความเป็นอยู่อันไม่เสมอกัน ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากเศรษฐกิจทุนนิยมนั้น จะเรียกว่าเป็นความเสมอภาคที่เป็นธรรมหาได้ไม่ หากจะกลายเป็นความเสมอภาคที่ไม่เป็นธรรม และจะนำพาไปสู่ความล้มเหลวของการสถาปนาสังคมใหม่ ดังที่ สหภาพโซเวียตได้ประสบมาแล้ว นับแต่การขึ้นครองอำนาจของนิกิต้าครุสซอฟในปี ๑๙๕๔ ท่านนักวิทยาศาสตร์สังคมได้กล่าวไว้ว่า

“สิทธิ์ต่างๆนั้น แทนที่จะเป็นสิทธิ์เท่ากัน จะต้องเป็นสิทธิ์ที่ไม่เท่ากัน ความเป็นธรรมนั้นไม่อาจตั้งตนไว้เหนือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของสังคมและความคลี่คลายทางวัฒนธรรมก็จะต้องอนุโลมตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ”

ประชาชนที่เพิ่งโผล่ออกจากสังคมทุนนิยมนั้น ตามความเป็นจริงย่อมมีฐานะไม่เท่ากันและก็จะต้องได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันอยู่เอง(ในช่วงระยะหนึ่งที่เรียกว่าระยะผ่าน)

หากว่าสังคมประสงค์จะให้ความเป็นธรรมแก่เขาเหล่านั้น ด้วยการแบ่งผลิตผลให้เขาเหล่านั้นเท่าๆกันแล้ว ก็เท่ากับว่าสังคมไม่ให้ความเป็นธรรมแก่เขาเหล่านั้นนั่นเอง

โดยนัยดังกล่าวแล้ว สังคมในชั้นนี้เป็นแต่เพีงการขจัดการกดขี่ขูดรีด เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้รับผลตอบแทนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เท่าที่ความสามารถของเขาแต่ละคนผลิตได้ และโดยนัยนี้ ผู้ใดที่ทำงานเป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมในระดับสูง ก็สมควรจะได้จัดให้เขาได้มีมาตรฐานการครองชีพสูงตามขึ้นไปด้วย

บทความที่๔๔๖.ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?(๕)

ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?
(จากหนังสือของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ปี 2541)
นักมนุษยธรรมอาจเห็นว่า ในการที่สังคมจะเข้าถือเอาเครื่องมือและปัจจัยการผลิตของเอกชนเหล่านั้นมาเป็นของสังคมย่อมไม่ชอบธรรมเพราะเอกชนเหล่านั้นเป็นผู้จัดหาเครื่องมือและปัจจัยการผลิตมาด้วยทุนรอนของเขาเอง ก็ต้องขอย้อนถามกลับไปว่า ที่ว่าเอกชนเหล่านั้นจัดหาเครื่องมือและปัจจัยการผลิตมาด้วยทุนรอนของตนเองนั้น ทุนรอนเหล่านั้นมาจากไหนเล่า?มันหล่นตกมาจากฟากฟ้าหรืออย่างไร? ก็เปล่าทั้งเพ!หากมาจากการสะสมทุนตามกลไกของระบบทุนนิยมนั้นเอง พูดอย่างถึงที่สุดแล้ว ก็มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของผู้ใช้แรงงานทั้งหลายนั้นเอง

ดังนั้นการที่สังคมเข้าถือเอาเครื่องมือและปัจจัยการผลิตของนายทุนเอกชนกลับคืนมาเป็นของสังคม จึงเป็นความชอบธรรมอย่างยิ่ง หลังจากที่สังคมได้รับการปฏิบัติที่ไม่ชอบธรรมจากชนชั้นผู้กดขี่ขูดรีด มาเป็นเวลาอันยาวนานในประวัติศาสตร์แห่งวิวัฒนาการของสังคม

ในส่วนที่เกี่ยวกับวิสาหกิจขนาดย่อม เฉพาะอย่างยิ่งในกิจการที่บุคคลผู้เป็นเจ้าของได้มีบทบาทสำคัญในการผลิตนั้น รูปการย่อมแตกต่างกับกิจการของบริษัทใหญ่ๆดังกล่าวแล้ว

เป็นที่เห็นได้ชัดว่า การที่จะเข้าถือเอาและเข้าดำเนินการจัดการโรงงานขนาดย่อมจำนวนมาก ที่ตั้งอยู่ในที่ต่างๆ กันนั้น เป็นงานอันยากยิ่งและสุดวิสัยทีเดียวที่จะลงมือปฏิบัติในระยะเริ่มแรกที่เตรียมตัวเข้าสู่สังคมนิยม

สิ่งที่เป็นสาระสำคัญในขั้นเริ่มแรกนี้ คือการเตรียมลู่ทางเพื่อให้มีหน่วยจัดการศูนย์กลางที่ใช้กับวิสาหกิจขนาดย่อมเหล่านี้ รวมทั้งกิจการอุตสาหกรรมตามหัวเมืองและเกษตรกรรมย่อมๆ

มรรควิธีที่เป็นการทั่วไปเกี่ยวกับกิจการขนาดย่อมเหล่านี้ในขั้นต้นนั้นได้แก่การส่งเสริมให้มีการเข้าร่วมมือในการทำงาน เพื่อให้ผู้ผลิตขนาดย่อมเหล่านี้ได้เรียนรู้ถึงการผลิตร่วมกัน และให้มีการจัดตั้งหน่วยอำนวยการผลิตขึ้นหน่วยเดียว แทนที่จะปล่อยให้ต่างคนต่างดำเนินการผลิตไปตามบุญตามกรรม ดังที่ทำกันมาในระบบทุนนิยม

ท่านนักวิทยาศาสตร์สังคมได้ให้คำชี้แจงในเรื่องเกี่ยวกับผู้ที่มีที่ดินขนาดย่อมไว้ดังนี้

“ภาระของเราอยู่ที่ว่า จะต้องเปลี่ยนรูปการทำงานของบุคคลประเภทนั้น ที่เป็นการผลิตของแต่ละคนและเป็นการถือกรรมสิทธิ์ของแต่ละคน ให้เป็นการผลิตแบบรวมหมู่ หรือแบบสหการและเป็นการถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ทั้งนี้,โดยมิใช่วิธีการบังคับ แต่โดยการกระทำให้เห็นเป็นตัวอย่างและโดยการให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนเพื่อความประสงค์ข้อนี้”

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตซึ่งมิใช่ด้วยวิธีการบังคับ แต่โดยการกระทำให้เห็นเป็นตัวอย่างและโดยให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชน นี่เป็นหลักเกณฑ์สำคัญของ “หลักการ” ในการเข้าสู่การก่อสร้างสังคมนิยม

ลักษณะสาระสำคัญอันแรกของระบบสังคมนิยมนั้น ได้แก่การเพิกถอนกรรมสิทธิ์ของเอกชนในบรรดาอุปกรณ์การผลิต แล้วนำอุปกรณ์การผลิตเหล่านั้นมาใช้เพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม แต่การกำหนดหลักเกณฑ์เช่นนี้ขึ้นนั้น หลักการมิได้อ้างอิงว่าเป็นหลักเกณฑ์ที่มาจากหลักจริยธรรมอันไพเราะเพราะพริ้ง แต่ไม่มีผลเป็นจริงเป็นจังไปถึงประชาชนแต่อย่างใด

หลักเกณฑ์เช่นนี้มีที่มาจากเหตุผลที่เห็นได้ง่ายๆ ในข้อที่ว่ากรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในบรรดาอุปกรณ์การผลิตนั้น ตามความจริงแล้วย่อมเหนี่ยวรั้งการผลิต และกีดกันการใช้กำลังผลิตที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้นไว้มิให้นำออกใช้เต็มตามกำลังผลิตที่มีอยู่

เพราะฉะนั้น การโอนกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลไปให้แก่สังคมส่วนรวม จึงเป็นการตบแต่งพื้นที่ให้เรียบร้อยเท่านั้น งานต่อไปจึงได้แก่การคลี่คลายอย่างมีแผนการและมีสำนึกในบรรดากำลังผลิต

การที่กำลังผลิตยังคงล้าหลังอยู่นั้น ก็เนื่องมาแต่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม กล่าวคือเนื่องมาแต่วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่คอยเหนี่ยวรั้งการผลิตอยู่เนืองนิจ เนื่องมาแต่การผลิตเพื่อนำออกขายในตลาด และเพราะว่าภายในลัทธิเศรษฐกิจทุนนิยมนั้นตลาดย่อมอยู่ในความจำกัด เหตุฉะนั้นความเติบโตของกำลังการผลิตจึงพลอยถูกจำกัดไปด้วย เพราะว่าการผูกขาดในทางการค้า จะรวมเอาการคิดประดิษฐ์เครื่องจักรและอื่นๆ ไปไว้ในครอบครองเสียฝ่ายเดียวและกีดกันมิให้การประดิษฐ์หรือค้นคว้าเหล่านั้น ได้นำออกใช้อย่างกว้างขวางและตามวิธีการของลัทธิทุนนิยมนั้นย่อมไม่อาจจัดให้การผลิตเป็นการผลิตที่มีแผนการได้ เพราะนายทุนแต่ละคนต่างก็แย่งกันเป็นใหญในตลาด จึงไม่มีการขยายตัวอย่างมีระเบียบ

เพราะว่ารัฐในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมจำต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากเพื่อเตรียมสงคราม ดังบทพระราชนิพนธ์ทีว่ายามสงบเตรียมรบให้พร้อมสรรค์.. เพราะว่าลัทธิเศรษฐกิจทุนนิยมได้แบ่งแยกงานที่ใช้มือออกต่างหากจากงานที่ใช้สมอง และเพราะว่าเศรษฐกิจทุนนิยมได้ปล่อยให้ผู้คนจำนวนแสนจำนวนล้านต้องว่างงาน

เพราะฉะนั้นบรรดาโรงงานและวิสาหกิจต่างๆ จึงต้องเปลี่ยนรูปการองค์การเสียใหม่ และจะต้องจัดให้กิจการเหล่านั้นดำเนินไปให้ทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อจะได้ประสบความสำเร็จในการยกระดับการผลิตให้สูงขึ้นไป ทั้งนี้โดยวัตถุประสงค์เพื่อยกมาตรฐานการครองชีพของประชาชนให้สูงขึ้น

บทความที่๔๔๕.ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?(๔)

ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?
(จากหนังสือของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ปี 2541)
ระบบสังคมนิยมเป็นวิวัฒนาการของสังคมที่สืบต่อจากระบบทุนนิยม อันเป็นขั้นตอนหนึ่งของกฎวิวัฒนาการของสังคมก่อนที่จะเข้าสู่สังคมคอมมิวนิสต์ ระบบสังคมนิยมจึงเป็นระบบข้อต่อระหว่างระบบทุนนิยมกับระบบคอมมิวนิสต์

ระบบสังคมนิยมก็เช่นเดียวกับระบบอื่นๆ ที่ผ่านมา ในข้อที่ว่า ตัวมูลธาตุของระบบเก่านั้นเองที่ได้ให้กำเนิดระบบใหม่ขึ้นมา ระบบสังคมนิยมก็เช่นกัน มีขึ้นได้ก็แต่โดยอาศัยมูลธาตุของสังคมที่ได้มีอยู่ก่อนแล้ว กล่าวคือเป็นสังคมที่คลอดออกจากครรภ์ของสังคมทุนนิยม

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นในทางเศรษฐกิจ ศีลธรรม และทางปัญญาหรือในทางใดๆ ก็ดี สังคมนิยมที่กำเนิดออกใหม่นั้น ก็จะยังคงมีร่องรอยที่ได้มาจากสังคมเก่าหรือสังคมทุนนิยม

ความจริงแล้ว การคลี่คลายที่มีอยู่ในสังคมทุนนิยมนั้นเอง ทีได้ตระเตรียมลู่ทางให้แก่การกำเนิดของลัทธิสังคมนิยม และบอกให้รู้ว่าลักษณะของการเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปฉันใด

การตระเตรียมที่สังคมทุนนิยมได้จัดแจงไว้ให้นั้น ได้แก่การจัดแจงให้การผลิตกลายเป็นการผลิตที่มีลักษณะเป็นการผลิตของสังคมยิ่งขึ้น ทั้งนี้หมายความว่าพวกนายทุนได้จัดแจงให้คนงานได้มารวมกันเป็นหมู่ใหญ่มากขึ้นๆ โรงงานต่างๆ ได้ขยายใหญ่โตออกไปทุกที และการดำเนินการของการผลิตก็ได้กวาดต้อนผู้คนให้มารวมกันเป็นหมู่ใหญ่ในการทำงานแปลงวัตถุดิบให้กลายเป็นสินค้าสำเร็จรูป ความเกี่ยวข้องอาศัยซึ่งกันและกันในหมู่ชน ก็ขยายตัวกว้างขวางออกไปเป็นอันมาก ระบบทุนนิยมได้ทำลายพันธะและความสัมพันธ์แบบศักดินาย่อยยับลงไปนานแล้ว

แต่จากการคลี่คลายของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมนั้นเอง ที่ได้สร้างความสัมพันธ์อันใหม่ขึ้นมา ซึ่งมีลักษณะเป็นความสัมพันธ์อันแผ่คลุมไปอย่างไพศาล จนกระทั่งว่าแต่ละคนที่อยู่ในสังคมจะพลอยได้รับความกระทบกระเทือนทั่วกันไปไม่มากก็น้อย ในเมื่อมีอุบัติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดเกิดแก่สังคมส่วนรวม อย่างเช่นวิกฤติการณ์ยุค IMF ในปัจจุบันเป็นต้น

อย่างไรก็ดี การผลิตแบบเศรษฐกิจทุนนิยม ถึงแม้ว่าจะมีความโน้มเอียงไปในลักษณะที่กล่าวแล้วข้างต้น แต่ความจริงก็มีอยู่ว่า ผลิตผลที่มวลสมาชิกของสังคมได้ออกน้ำพักน้ำแรงร่วมมือกันผลิตนั้น ก็ได้ตกไปเป็นทรัพย์สมบัติของเอกชนหรือกลุ่มชนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งเท่านั้น แทนที่จะตกไปเป็นสมบัติของสังคมหรือของมวลสมาชิกผู้ออกแรงงานผลิตทั้งหลาย

เพราะฉะนั้นงานขั้นแรกในการก่อสร้างสังคมสังคมนิยม จึงอยู่ที่ว่าจะต้องจัดการให้สังคมได้รับมอบผลิตผลซึ่งสังคมได้ผลิตขึ้น และการจัดการดังกล่าวนี้ก็หมายถึงว่า สังคมในฐานที่เป็นส่วนรวม จักต้องเป็นผู้ครอบครองเครื่องมือและปัจจัยการผลิต ซึ่งภายใต้เศรษฐกิจระบบทุนนิยม บรรดาเครื่องมือและปัจจัยการผลิต เอกชนกลุ่มหนึ่งได้เข้าครอบครองถือไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของตน

พึงเข้าใจว่าการเข้าครอบครองเครื่องมือและปัจจัยการผลิตของสังคมจะบังเกิดขึ้นได้ ก็แต่โดยการอาศัยมูลฐานที่สังคมใหม่ได้รับมรดกตกทอดมาจากสังคมเก่าเท่านั้นเอง และก็เฉพาะแต่กิจการของบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้นที่สังคมจะเข้าถือเอาในทันที

อนึ่ง พึงรู้ไว้ด้วยว่า กิจการใหญ่ๆเหล่านั้น ก็มิใช่ใครที่ไหนเลยเป็นผู้ก่อสร้างขึ้น แท้จริงการคลี่คลายทางเศรษฐกิจของระบบทุนนิยมนั้นเอง ที่ได้ตระเตรียมการเหล่านี้ไว้ สำหรับสังคมใหม่ จะเข้ารับเอามาดัดแปลงให้เป็นประโยชน์แก่มวลสมาชิกของสังคม ซึ่งเป็นผู้ออกแรงผลิต โดยแท้จริงต่อไป

ตามความเป็นจริงนั้น ได้มีการแยกกันอย่างสิ้นเชิงอยู่แล้ว ระหว่างผู้เป็นเจ้าของและการดำเนินงานในการผลิตในบริษัทใหญ่ๆ เหล่านั้น มีห่วงเชื่อมโยงความสัมพันธ์อยู่เพียงห่วงเดียวเท่านั้น คือ เงินปันผลกำไรหรือดอกเบี้ยที่บริษัทได้จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น

ด้วยเหตุที่การผลิตนั้นได้ดำเนินไปโดยคณะบุคคลที่เป็นคนงานหรือลูกจ้างอยู่เป็นปกติภาพแล้ว การย้ายการครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในกิจการหรือสมบัติดังกล่าวไปสู่สังคมส่วนรวม จึงไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่กระทบกระเทือนการงานของปวงชนคนงานและลูกจ้างแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นสังคมจึงอาจเข้าถือเอากิจการของบริษัทใหญ่ๆ ดังกล่าวนี้ไว้ได้ในทันที

บทความที่๔๔๔.ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?(๓)

ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?
(จากหนังสือของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ปี 2541)


ลัทธิสังคมนิยม (Socialism) คือระบบการจัดระเบียบสังคมระบบหนึ่ง ซึ่งเจ้าของความคิดหรือเจ้าของลัทธิเชื่อว่าเป็นระบบที่ยังความเป็นธรรมให้กับสังคม และยังความผาสุกให้กับสมาชิกแห่งสังคมอย่างถ้วนหน้า

ระบบนี้เกิดจากความทุกข์ยากของคนส่วนใหญ่ในสัคมที่ต้องตรากตรำทำงานหนัก อันเนื่องมาจากถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกกดขี่ขูดรีดจากเจ้าของที่ดินพวกเจ้าศักดินาและวัดในศาสนาคริสต์ รวมทั้งเจ้าของโรงงานหัตถกรรม ซึ่งเป็นคนส่วน้อยในสังคม

จากการเอารัดเอาเปรียบและกดขี่ขูดรีดของคนในสังคมเดียวกัน จึงก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม ระหว่างคนส่วนใหญ่ผู้ทุกข์ยากกับคนส่วนน้อยที่เอารัดเอาเปรียบสังคม ทำให้สังคมไม่ปกติสุข มีการทะเลาะเบาะแว้ง มีการลักขโมย มีการลงโทษ

ด้วยเหตุนี้ นักบุญ นักปราชญ์ และผู้รักความเป็นธรรมมากมายหลายท่าน ได้ศึกษาค้นคว้าหาหนทางที่จะช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ให้ได้รับความเป็นธรรม และเพื่อความเป็นปกติสุขของสังคม

นักบุญ นักปราชญ์และท่านผู้รักสัจจะทั้งหลายเหล่านั้นจึงได้เสนอโลกในฝันหรือในอุดมคติอย่างนามธรรม เพื่อความหวังของมหาชน เช่น โลกพระศรีอารย์ โลกคอมมิวนิสต์ โลกมะฮะดี เป็นต้น

จากโลกในฝันหรือในอุดมคติอย่างนามธรรมของนักบุญ นักปราชญ์ และผู้รักความเป็นธรรมในเบื้องต้น ได้ถูกเสนอออกมาเป็นรูปธรรมในทางทฤษฎี โดยนักบุญ นักปราชญ์และผู้รักความเป็นธรรมในเวลาต่อมาอีก อย่างเช่น ข้อเสนอหรือทฤษฎีของบาเบิฟ(1760)ของบลองกี(1798)ของโรเบิร์ท โอเว่น(1800)และแซงต์ซีมอง(1802)และฟูริเอ(1808)

โดยที่นักบุญ นักปราชญ์ และผู้รักความเป็นธรรมดังกล่าวนี้เป็นผู้มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับนับถือของคนในสังคมและเสนอทฤษฎีออกมาอย่างรูปธรรม สังคมจึงเรียกความรู้หรือทฤษฎีนั้น ตามชื่อของเจ้าของทฤษฎี หรือผู้เสนอความรู้นั้นๆ เช่น ทฤษฎีของบาเบิฟ ทฤษฎีของบลองกี เป็นต้น ในเวลานั้นคำว่า “สังคมนิยม” ยังไม่มีใครรู้จัก

ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้อธิบายถึงการเกิดขึ้นของคำว่า “สังคมนิยม” ไว้ในบทความของท่านเรื่อง “เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร”* มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้

“ต่อมาใน ค.ศ.๑๘๒๖ วารสารของอังกฤษชื่อ “COOPERATION MAGAZINE” ได้เรียกลัทธิเศรษฐกิจจำพวกที่กล่าวนี้เป็นภาษาอังกฤษว่า Socialism ครั้นแล้วใน ค.ศ.๑๘๓๒ วารสารฝรั่งเศสชื่อ GLOBE ได้เรียกลัทธิจำพวกที่กล่าวนี้เป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Socialisme ตั้งแต่นั้นมาก็มีผู้ใช้ศัพท์อังกฤษและฝรั่งเศสดังกล่าวนี้เรียกลัทธิจำพวกดังกล่าวที่เป็นอยู่ในสมัยนั้นและที่จะเป็นไปในสมัยต่อมา(เช่น สังคมนิยมของ ฟรูดอง ขอเออเกน-ดืห์ริง และคาร์ล มาร์กซ์-ผู้เขียน)และได้ใช้ศัพท์นั้นเรียกย้อนหลังไปถึงลัทธิที่มีผู้คิดขึ้นทำนองโซเชียลลิสม์ตั้งแต่สมัยโบราณเป็นต้นมา(อย่างเช่นความคิดของ เซอร์ โธมัส มัวร์ ในบทประพันธ์ชื่อ “ยูโธเปีย”** ในศตวรรษที่๑๖ เป็นต้น-ผู้เขียน)

เดิมในประเทศไทยเรียกลัทธิจำพวกที่กล่าวนี้ โดยทับศัพท์ทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสดังกล่าวนั้น แต่ภายหลัง พ.ศ.๒๔๗๕ จึงมีผู้ถ่ายทอดเป็นคำไทยว่า “สังคมนิยม”

ด้วยเหตุนี้สังคมนิยมจึงมีมากมายหลายชนิด ท่านปรีดีฯ บอกไว้ในบทความที่อ้างถึงข้างต้นว่า มีประมาณ ๘๐ ชนิด(รวมทั้งหลายชนิดในบ้านเรา)แต่อาจแบ่งเป็นจำพวกใหญ่ๆ ได้ดังนี้ คือ

สังคมนิยมศักดินา Feudal Socialism
สังคมนิยมผู้มีทุนนิยม Petti Bourgeois Socialism
สังคมนิยมจารีตนิยม Conservative Socialism
สังคมนิยมเจ้าสมบัติ Bourgeois Socialism
สังคมนิยมเพียงอุดมคติ Utopian Socialism
สังคมนิยมชนชั้นผู้ไร้สมบัติ Proletarian Socialism
สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ Scientifie Socialism
สังคมนิยมคอมมิวนิสต์
Communist Socialism


* หมายเหตุ : โปรดอ่านบทความ "เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร" ได้ที่
http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/03/blog-post_14.html
http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/03/blog-post_19.html
http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/03/blog-post_4955.html
http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/03/blog-post_20.html
http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/03/blog-post_21.html

** หมายเหตุ : โปรดอ่านบทความ "ยูโธเปีย" ได้ที่
http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_2164.html

Wednesday, February 25, 2009

บทความที่๔๔๓.ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?(๒)

ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?
(จากหนังสือของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ปี 2541)

จักรวรรดินิยมอเมริกา ซึ่งได้รับผลกระทบกระเทือนจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ น้อยกว่าประเทศในยุโรปและมีกำลังทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งกว่าประเทศทั้งหลายในยุโรป และมีกำลังทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งกว่าประเทศทั้งหลายในยุโรป จึงได้ส่งความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจมาสู่ยุโรปที่เรียกว่าแผนการมาร์แชล เพื่อสนับสนุนรัฐบาลทุนนิยมของประเทศยุโรปตะวันตกให้คงอยู่ เพื่อยับยั้งการเติบโตของคอมมิวนิสต์ดังกล่าวแล้วข้างต้นและที่เรียกว่าความช่วยเหลือของจักรวรรดินิยมอเมริกานั้นก็เข้าทำนองที่ว่าเสียกำได้กอบ

จากแผนการมาร์แชลก็มาถึงการก่อตั้งกลุ่มทางทหารขึ้นในยุโรปในปี ๑๙๔๙ ที่เรียกว่า กลุ่มสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือเรียกสั้นๆ ตามตัวย่อว่ากลุ่มนาโต (North Atlantic Treaty Organization)

บทความของนิตยสารในสหภาพโซเวียต ประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๓ ได้พูดถึงกลุ่มนาโตว่าดังนี้

“ทันทีที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงด้วยความปราชัยอย่างย่อยยับของพวกนาซีเยอรมันและกลุ่มบริวาร ประเทศในยุโรป ก็เริ่มเปิดฉากสงครามเย็นขึ้น และแพร่ข่าวเท็จ โดยอ้างว่ามีภัยคุกคามจากโซเวียต ฝ่ายตะวันตกได้เริ่มเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารและดำเนินนโยบายผู้มีกำปั้นใหญ่ ได้มีการจัดตั้งกลุ่มนาโตขึ้นมา อันเป็นพันธมิตรทางทหารที่ทรงพลังยิ่งของมหาอำนาจจักรวรรดินิยมที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี ๑๙๔๙ รัฐบาลโซเวียตได้ประกาศในเดือนมกราคม ๑๙๔๙ ว่า พันธมิตรนาโตที่ตั้งขึ้นมามิใช่เป็นการป้องกัน หากแต่เพื่อดำเนินนโยบายรุกรานและเตรียมการก่อสงครามขึ้นมาใหม่”

การก่อตั้งกลุ่มนาโตขึ้นมา ได้ทำให้สถานการณ์ของยุโรปและโลกครุกรุ่นขึ้น และยังเป็นการก่อให้เกิดการแข่งขันด้านอาวุธอีกด้วย เป็นการทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปตะวันออกและยุโรปตะวันตกเสื่อมทรามลง

สหภาพโซเวียตขณะนั้น ซึ่งมีสตาลินเป็นเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ ได้ขอเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มนาโตทันทีที่ถูกจัดตั้งขึ้น แต่ก็ถูกปฏิเสธ

ต่อมาอีกถึง ๖ ปี ประเทศภาคีสังคมนิยมยุโรปตะวันออกได้ประชุมกันที่กรุงวอร์ซอร์ และได้ลงนามจัดตั้งกลุ่มสนธิสัญญาวอร์ซอร์ขึ้นเมื่อ ๑๔ พฤษภาคม ๑๙๕๕ เพื่อป้องกันตนเองจากการคุกคามของกลุ่มนาโต

จากกลุ่มสนธิสัญญานาโต อันเป็นการขีดเส้นยุทธศาสตร์ปิดล้อมสหภาพโซเวียตทางด้านยุโรปของจักรวรรดินิยมอเมริกาในปี ๑๙๔๙ ต่อมาก็ได้ลากเส้นยุทธศาสตร์ผ่านมาทางตะวันออกกลางด้วยสัญญาแบกแดด หรือมีโต (Middle East Treaty Organization) ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมด้วยกองกำลังเคลื่อนที่ของกองทัพเรือที่เจ็ดในมหาสมุทรแปซิฟิค และกองกำลังทางอากาศของสหรัฐอเมริกาที่ประจำอยู่ในญีปุ่นและฟิลิปปินส์

จากยุทธศาสตร์ของจักรวรรดินิยมอเมริกาดังกล่าวนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นการปิดล้อมทั้งสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่ยุโรปผ่านตะวันออกกลางมาจนถึงเอเซีย อันเป็นยุทธศาสตร์ในเชิงรุกรานไม่ใช่ป้องกันตัวดังที่โฆษณาชวนเชื่อ

บัดนี้เชวาดนาตเซ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพโซเวียตสมุนผู้ซื่อสัตย์ของ ซี.ไอ.เอ ได้ประกาศทุบทิ้งสนธิสัญญาวอร์ซอร์ไปนานแล้ว แต่สหรัฐอเมริกาก็ยังหนุนใช้นาโตเพื่อแก่การรุกรานและควบคุมโลกต่อไปอย่างเหนียวแน่น

ดังกล่าวมานี้ คือข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ ไม่ใช่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ สงครามเย็นเริ่มขึ้นโดยจักรวรรดินิยมสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต ถูกดึงเข้าไปสู่กระแสนั้นด้วยความจำเป็นเพื่อป้องกันตัว เพื่อปกป้องระบบสังคมนิยมและสันติภาพของโลก

ใช่,กอร์บาชอฟ ยุติสงครามเย็น ที่จักรวรรดินิยมสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ก่อขึ้น ด้วยการทรยศต่อบรรพชนที่ได้สละหยาดเหงื่อแรงงานและชีวิตเลือดเนื้อสร้างประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์ให้กับสหภาพโซเวียตและมนุษยชาติ

แต่การยุติสงครามเย็นไม่ได้หมายความว่ากระแสสันติภาพได้แผ่ขยายไปทั่วโลก ดังที่โลกตะวันตกแซ่ซร้องสรรเสริญกอร์บาชอฟก็หาไม่ เพราะการยุติสงครามเย็นของกอร์บาชอฟนั้น เป็นแค่เพียงการสลายประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกและลบภาพสหภาพสาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมออกจากแผนที่โลกเท่านั้น แต่การเบียดเบียนต่อกันระหว่างมนุษย์แต่ละประเทศ และระหว่างประเทศยังดำรงอยู่ จักรวรรดินิยมผู้เป็นตัวการที่ก่อสงครามเย็นขึ้นมา กลับถืออำนาจบาตรใหญ่ทำตัวเป็นตำรวจโลก และวางแผนสร้างโลกใหม่ที่เรียกว่า NEW WORLD ORDER แผนสร้างโลกใหม่ก็คือ แผนกดขี่ขูดรีดขั้นสูงสุดของจักรวรรดินิยมอเมริกา ที่ซ่อนวิญญาณอันชั่วร้ายไว้ในคราบของนักบุญนั้นเอง แล้วอย่างนี้กระแสสันติภาพจะแผ่ขยายไปทั่วโลกได้อย่างไร

นักบุญจักรวรรดินิยมอเมริกาที่มีวิญญาณของซาตานสิงสถิตอยู่ ประกาศระเบียบใหม่ของโลกว่า ดังนี้

๑.ทุกรัฐบาลจะต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย (ระบอบประชาธิปไตยในความหมายของจักรวรรดินิยมอเมริกา คือรัฐบาลที่ขึ้นปกครองประเทศต้องมาจากการเลือกตั้ง การเศรษฐกิจเสรี มือใครยาวสาวได้สาวเอา)

๒.ทุกรัฐบาลจะต้องเคารพสิทธิมนุษยชน (ฟังดูระรื่นหูดีอยู่ แต่สิทธิมนุษยชนในความหมายของจักรวรรดินิยมอเมริกา คือ สิทธิในการรักษาระบอบกดขี่ขูดรีดให้คงอยู่ และสิทธิที่จะรื้อฟื้นระบอบกดขี่ขูดรีดขึ้นมาใหม่ เช่น การรื้อฟื้นระบบทุนนิยมเข้ามาแทนที่ระบบสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียต เป็นต้น ซึ่งจักรวรรดินิยมอเมริกาถือว่าเป็นการชอบด้วยสิทธิมนุษยชนแล้ว ส่วนจีน เกาหลีเหนือ คิวบา จักรวรรดินิยมอเมริกาถือว่าเป็นประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะไม่ยอมให้มีการรื้อฟื้นระบอบเก่าที่ลงหลุมฝังศพไปแล้วขึ้นมาใหม่

๓.ทุกรัฐบาลต้องรักษาสภาพแวดล้อม (ฟังดูก็ระรื่นหูดีอยู่ แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่าพวกที่ทำลายสภาพแวดล้อมอย่างมโหฬารอยู่ในขณะนี้ก็คือพวกนายทุนนั้นเอง ทั้งการโค่นไม้ทำลายป่า การปล่อยน้ำเน่าและสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมลงสู่แม่น้ำลำคลอง การก่อให้เกิดมลภาวะและสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายต่างๆ นานา และภายใต้ระบบทุนนิยมจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นได้ มีแต่จะทรุดหนักลงทุกวัน ดังที่ทั่วโลกประสบกันอยู่ในขณะนี้)

๔.ทุกรัฐบาลจะต้องเคารพสิ่งที่เรียกว่าทรัพย์สินทางปัญญา อันสิ่งที่เรียกว่าทรัพย์สินทางปัญญาในความหมายของจักรวรรดินิยมอเมริกา ก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์คนใดคนหนึ่งหรือคณะใดคณะหนึ่งค้นคิดประดิษฐ์ขึ้นมาได้ และจดทะเบียนลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรไว้ก่อนคนอื่นคณะอื่น คนอื่นคณะอื่นไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของโลก จะค้นคิดประดิษฐ์สิ่งที่คนหนึ่งคนใดหรือคณะหนึ่งคณะใดค้นพบและจดทะเบียนไว้แล้วไม่ได้ ถือว่าเป็นการลอกเลียนแบบเป็นการละเมิด ถึงแม้ว่าคนอื่นคณะอื่นจะประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาด้วยมันสมองของตนเองก็ตาม ก็เป็นอันแน่นอนว่า ถ้าการจัดระเบียบโลกใหม่ของจักรวรรดินิยมอเมริกาสำเร็จ และก็มีทางจะสำเร็จเพราะบัดนี้ไม่มีสหภาพโซเวียตเป็นดุลถ่วง ประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่ขณะนี้ยังมีขีดความสามารถในเทคโนโลยีต่ำ ก็ต้องก้มหน้าก้มตาเป็นทาสของจักรวรรดินิยมอเมริกาและประเทศทุนนิยมอื่นๆ ที่พัฒนาแล้วที่เรียกว่ากลุ่มจี 7 ชั่วกัป ชั่วกัลป์ เพราะอะไรๆ จักรวรรดินิยมอเมริกาและประเทศทุนนิยมที่มีเทคโนโลยีสูงได้ค้นคิดประดิษฐ์และจดทะเบียนสิทธิบัตรไว้หมดแล้ว อันเป็นการผูกขาดความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นการจำกัดสติปัญญาของมนุษยชาติ บรรดาประเทศส่วนใหญ่เหล่านั้นซึ่งไม่มีโอกาสจะไล่ทัน ก็ต้องเช่าหรือเสียค่าสิทธิบัตรให้กับประเทศเจ้าของสิทธิบัตรนั้นๆ ด้วยราคาที่แล้วแต่ประเทศเจ้าของสิทธิบัตรจะกำหนดเอาตามความพอใจ ประชาชนส่วนใหญ่เหล่านั้น จะประสบกับความเดือดร้อนด้วยสินค้าราคาแพง เพราะต้องเสียค่าสิทธิบัตรและผูกขาดจากประเทศเจ้าของสิทธิบัตรสินค้านั้นๆ ประเทศไทยเราก็เป็นหนึ่งในประเทศส่วนใหญ่เหล่านั้นที่จะต้องเดือดร้อน 

ดังกล่าวนี้ คือแผนการจัดระเบียบโลกใหม่ของโลกจักรวรรดินิยมอเมริกา อันเป็นพัฒนาการของระบบทุนนิยมอีกขั้นหนึ่งจากขั้นทุนจักรวรรดินิยมหรือทุนนิยมข้ามชาติ ซึ่งท่านมหาธีร์นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เรียกแผนการนี้ว่าเป็น แผนการล่าเมืองขึ้นแบบใหม่

บทความที่๔๔๒.ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?(๑)

 ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?
(จากหนังสือของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ปี 2541)

   ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย? เป็นเรื่องเก่าที่ผมเคยพิมพ์ออกมาเผยแพร่ในรูปของแผ่นใบปลิวเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๓๕ เพื่อทำความเข้าใจในควาไม่เข้าใจของบางคน ที่หลงเข้าใจว่าลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลายตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสหภาพโซเวียตและในยุโรปตะวันออก แล้วมาสรุปเอาเองอย่างง่ายๆ ว่า ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลายไปแล้ว เช่นเดียวกับสถานะของสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออกที่ล่มสลายไปแล้ว

   ถ้าคนที่สรุปความเห็นอย่างง่ายๆ เช่นนี้เป็นพวกอนุรักษ์นิยมหรือพวกปฏิกิริยาก็ไม่น่าจะแปลกใจ แต่ทว่าการสรุปความเห็นอย่างง่ายๆเช่นนี้มาจากพวกหัวก้าวหน้า ทั้งที่สังกัดอยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และทั้งพวกที่เคยใกล้ชิดกับกลิ่นอายของ พคท. นี่ซิ เป็นเรื่องที่น่าสังเวช แลไม่แปลกใจเลยว่าทำไมจึงป่าแตก ผมจึงได้เขียนเรื่องนี้และจัดพิมพ์เป็นแผ่นปลิวออกเผยแพร่โดยวิธีถ่ายอัดสำเนาดังกล่าวข้างต้น

   แต่บัดนี้ความเข้าใจผิดดังกล่าวนี้ก็ยังคงอยู่ในหัวสมองของบรรดาบุคคลเหล่านั้น และใช่แต่เท่านั้น บางคนที่เป็นนักวิชาการยังได้ขยายความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนี้ให้กว้างขวางออกไปในหมู่ประชาชน ด้วยการเสนอแนะชี้ทางออกของสังคมไทยที่กำลังประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอยู่ในเวลานี้ ให้เป็นความหวังใหม่หรือทางเลือกใหม่ของประชาชน...

   ในที่สุดความพยายามของประเทศทุนนิยมที่มีจักรวรรดินิยมอเมริกาเป็นหัวโจก ต่อการล้มล้างประเทศสังคมนิยมที่มีสหภาพสาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมเป็นแกนกลางก็ประสบความสำเร็จลงได้ระดับหนึ่งและระดับหนึ่งเท่านั้น(เพราะยังมีประเทศสังคมนิยมบางประเทศที่ประกาศยืนหยัดจุดมั่นอย่างแน่วแน่ ที่จะเดินตามแนวทางของลัทธิสังคมนิยมและคอมมิวนิสม์ต่อไป)

   ธงฆ้อนเคียวของสหภาพสาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมถูกชักลงจากเสา ณ สำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ และพร้อมกับที่ถูกลบชื่อออกจากสมาชิกภาพแห่งองค์การนั้น โดยมีประเทศสหพันธรัฐรัสเซียเข้าสวมที่นั่งแทน

   สถานเอกอัครราชทูตแห่งประเทศสหภาพสาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมที่ประจำอยู่ในนานาประเทศทั่วโลก รวมทั้งที่ตั้งอยู่ ณ คฤหาสน์เลขที่ ๑๐๘ ถนนสาธรเหนือ กรุงเทพฯ ประเทศไทย ถูกแปรเปลี่ยนเป็นสถานเอกอัครรัฐทูตแห่งสหพันธ์รัฐรัสเซีย ธงชาติ แดง,น้ำเงิน,ขาว ของพระเจ้าซาร์ที่ลงหลุมฝังศพไปแล้วพร้อมกับระบบซาร์ ได้ถูกขุดค้ยขึ้นมาและชักขึ้นสู่ยอดเสาแทนที่ธงชาติพื้นแดงประดับด้วยฆ้อนเคียว อันเป็นธงสัญลักษณ์ของประชาชนผู้ออกแรงงานรังสรรค์สังคม

   จักรวรรดิ์นิยมอเมริกา ถึงแม้ว่าจะมีบทบาทในการทำลายล้างสหภาพสาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมในครั้งนี้ และซึ่งได้พยายามมาแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๑๗ ตั้งแต่การเกิดขึ้นในโลกเป็นครั้งแรกของประเทศสังคมนิยมก็จริง แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวชี้ขาดในการล่มสลายของประเทศสหภาพสาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยม และรวมทั้งการล่มสลายของบรรดาประเทศสังคมนิยมอื่นๆในยุโรปตะวันออกก่อนหน้านี้

   หากตัวการสำคัญและเป็นตัวชี้ขาดในการยังความล่มสลายให้กับสหภาพสาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยม และรวมทั้งบรรดาประเทศสังคมนิยมอื่นๆ ในยุโรปตะวันออก ก็คือพรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศเหล่านั้นนั่นเองและโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นแกนกลางก็เข้าทำนองคำพังเพยของไทยที่ว่า สนิมเหล็กเกิดจากเนื้อในเหล็ก

   ดังนั้นความรับผิดชอบในการล่มสลายของสหภาพสาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยม ก็คือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต ก็คือบรรดามวลสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต ที่เลือกนายกอร์บาชอฟขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรค เปิดโอกาสให้ใช้นโยบายเปเรสตรอยก้าและกลานอสต์ที่ปฏิกิริยา บ่อนทำลายความเป็นเอกภาพของสหภาพสาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยม บ่อนทำลายโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมนิยมแล้วก็ติดตามมาด้วยนโยบายต่างประเทศของนายเชวาร์ดนัดเซที่ทรยศต่อหลักการลัทธิมาร์กซ์ ลัทธิเลนิน ทำให้ค่ายสังคมนิยมอ่อนแอลง

   การล่มสลายของสหภาพสาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมครั้งนี้ บรรดาผู้นำประเทศต่างๆ ที่ยึดถือระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและระบอบปกครองเผด็จการธนาธิปไตย ได้กล่าวยกย่องนายกอร์บาชอฟว่า เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งจะต้องได้รับการจารึกชื่อและผลงานไว้ในประวัติศาสตร์ในฐานะผู้ยุติสงครามเย็นและสร้างกระแสสันติภาพให้แผ่ขยายไปทั่วโลก

   แต่สำหรับชาวสหภาพโซเวียตทั้งมวล ซึ่งหมายถึงมหาชนทั่วทั้ง ๑๕ สาธารณรัฐ แม้วันนี้พวกเขาเหล่านั้นบางส่วนจะยังมึนงงอยู่ แต่ในวันข้างหน้าอันไม่นานนัก พวกเขาจะเข้าใจเช่นเดียวกับที่ชาวสหพันธรัฐรัสเซียส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ที่เข้าใจถูกต้องว่ากอร์บาชอฟคือผู้ทำลาย คือผู้ยังความแตกสลายให้กับสภาพสาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยม คือผู้ยังความทุกข์ยากลำเค็ญให้กับมวลมหาประชาชน คือผู้ทรยศต่อบรรพชนผู้สร้างประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์ให้กับสหภาพโซเวียตและมวลมนุษยชาติ และประวัติศาสตร์มนุษยชาติจะต้องจารึกชื่อเขาลงไว้บนหนังหมาในฐานะลูกหลานจัญไร คนอย่างนี้ถ้าจะยังมีความสำนึกอยู่บ้างก็ควรฆ่าตัวตายได้แล้ว

   เรามาพิจารณาคำยกย่องสรรเสริญของบรรดาผู้นำโลกทุนนิยม ที่มีต่อกอร์บาชอฟใน ๒ ประเด็นข้างต้น คือ

   ประเด็นแรก กอร์บาชอฟเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ประเด็นนี้เราขอไม่ออกความเห็น แต่ใคร่จะให้ข้อสังเกตไว้ว่า คนที่ศัตรูถึงกับชมเชยยกย่องนั้นย่อมจะยังประโยชน์และความพอใจให้แก่ศัตรูอย่างแน่นอน และคนที่ยังประโยชน์ความพอใจให้แก่ศัตรู คือผู้นำที่ยิ่งใหญ่หรือคนถ่อยสถุลที่ทรยศต่อประเทศชาติ ก็ขอให้พิจารณากันเอาเอง

   ประเด็นที่สอง กอร์บาชอฟเป็นผู้ยุติสงครามเย็น และสร้างกระแสสันติภาพให้แผ่ขยายไปทั่วโลก ใช่,กอร์บาชอฟยุติสงครามเย็น ด้วยการทรยศต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและมวลมนุษยชาติ ด้วยการล่มสลายของสหภาพสาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยม แต่ใครเล่าเป็นผู้ก่อสงครามเย็นขึ้นมา นี่เป็นสิ่งที่เราผู้เป็นมนุษย์ไม่ใช่ควาย จะต้องพึงพิจารณาหาความจริงจากพฤติกรรมที่ผ่านมาของทั้งสองฝ่าย คือทั้งฝ่ายสังคมนิยมและทุนนิยม หรือทั้งฝ่ายสหภาพโซเวียตและจักรวรรดินิยมอเมริกา

   ความเป็นมาของสิ่งที่เรียกว่าสงครามเย็น เกิดขึ้นและเริ่มแรกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุด โดยแผนการมาร์แชลของจักรวรรดินิยมอเมริกาที่ทุ่มความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเข้าไปในยุโรป เพื่อสกัดกั้นการขยายตัวเพิ่มขึ้นของประเทศคอมมิวนิสต์ หลังจากที่ประเทศในยุโรปตะวันออกได้เปลี่ยนระบอบการปกครองและระบบเศรษฐกิจไปเป็นเผด็จการกรรมาชีพและสังคมนิยม

   ในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและระบบเศรษฐกิจของบรรดาประเทศยุโรปตะวันออกนั้น ก็เนื่องมาจากการต่อสู้กู้ชาติของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศนั้นๆ ที่ต่อสู้กับการเข้ายึดครองของเยอรมันในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในขณะที่พรรคการเมืองฝ่ายนายทุนยอมสยบให้กับเยอรมันและเป็นรัฐบาลหุ่นให้กับผู้ยึดครอง บรรดาพรรคคอมมิวนิสต์เหล่านั้นได้ร่วมมือกับสัมพันธมิตร โดยเฉพาะสหภาพโซเวียตที่มีจอมพล สตาลินเป็นผู้นำในขณะนั้น

   ดังนั้น เมื่อภายหลังที่เยอรมันผู้รุกรานได้ถูกกวาดล้างออกไปจากดินแดนของประเทศเหล่านั้นแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศเหล่านั้นซึ่งเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนที่แท้จริง จึงมีความชอบธรรมที่จะเข้าบริหารประเทศและนำพาประเทศไปตามอุดมการณ์ของพรรคนั้น ด้วยความสนับสนุนของประชาชน

   จะเห็นได้ว่าการเข้ามามีอำนาจรัฐของบรรดาพรรคคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกนั้น ไม่ใช่เป็นการเข้าครอบครองของสหภาพโซเวียตดังที่ฝ่ายตะวันตกกล่าวหา แต่เป็นการเข้ามามีอำนาจรัฐของพรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศนั้นๆ จากชัยชนะของการต่อสู้ปกป้องปิตุภูมิให้รอดพ้นจากการยึดครองของนาซีเยอรมัน นั่นเอง

   แต่ก็แน่ละ ทั้งนี้ก็ด้วยการหนุนช่วยในบางปัจจัยจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต ในฐานะพรรคพี่พรรคน้องตามหลักการสากลชนชั้นกรรมาชีพ ที่ว่าพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งผองเป็นพี่น้องกัน

บทความที่๔๔๑.การอภิวัฒน์ในนิคารากัว

ช่วงนี้มีการกล่าวถึงประเทศนิคารากัว ในฐานะประเทศที่คุณทักษิณ ชินวัตรไปเยือน จึงขอนำเรื่องราวของนิคารากัวที่น่าจดจำ ก็คือ การอภิวัฒน์ของประชาชนโค่นล้มผู้กดขี่ ขูดรีด จนได้รับความสำเร็จ มาให้ได้ศึกษากันอีกครั้งดังนี้

บทเรียนจากการปฏิวัติในนิคารากัว

ข่าวการเคลื่อนไหวทางเมืองในประเทศอเมริกากลางดูเหมือนจะไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสื่อ มวลชนและคนทั่วไป อาจเป็นเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อไทยไม่มากนัก ข่าวเกี่ยวกับอเมริกากลางเพิ่งจะได้รับความสนใจก็ในปี ๒๕๒๒ เมื่อกระแสการต่อสู้คัดค้านอำนาจเผด็จการโซโมซาจากประชาชนได้ทวีสูงขึ้น จนในที่สุดก็สามารถโค่นล้มระบบการปกครองของประธานาธิบดีโซโมซาลงได้ นับเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของประชาชนนิคารากัวในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ ที่ปกครองมาเกือบครึ่งศตวรรษ

การโค่นล้มระบอบเผด็จการโซโมซา โดยกองกำลังปฏิวัติของแนวร่วมรักชาตินิคารากัว ภายใต้การนำของแนวร่วมปลดปล่อยแซนดินิสต้า (Sandinista Liberation National Front :FSLN) นั้น มีสิ่งที่น่าสนใจติดตามมาหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการผนึกกำลังแนวร่วม การประสานรูปแบบการต่อสู้ เป็นต้น

ในการต่อสู้กับผู้ปกครองเผด็จการนั้น นอกจากจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีของการปฏิวัติให้สอดคล้องกับสภาพสังคมแล้ว ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีและรูปแบบของการต่อสู้ ก็จะต้องกำหนดให้สอดคล้องกับสภาพการต่อสู้ที่เป็นจริงด้วย จึงจะนำไปสู่ชัยชนะได้

ในทางหลักการแล้ว การจะต่อสู้เปลี่ยนแปลงไม่ควรปฏิเสธรูปแบบการต่อสู้ใดๆ แต่จะใช้รูปแบบการต่อสู้ใด เมื่อไรนั้นก็จะต้องกำหนดจากสภาพการณ์ที่เป็นจริง ระยะหรือขั้นตอนของการต่อสู้เป็นสำคัญ

การต่อสู้ของประชาชนนิคารากัว นอกจากจะต่อสู้ด้วยอาวุธแล้ว ยังประสานการต่อสู้ทางการเมืองหลายรูปแบบด้วย ตั้งแต่ การชุมนุม ประท้วง เดินขบวน นัดหยุดงาน หรือแม้กระทั่งการจับตัวประกัน

ในการดำเนินการต่อสู้นั้นนอกจากจะต้องมีกองหน้าของประชาชนเป็นส่วนนำแล้ว การผนึกกำลังของประชาชนชั้นชนต่างๆก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดอันหนึ่ง บทเรียนจากการปฏิวัตินิคารากัว ได้พิสูจน์ชี้ชัดว่า มีแต่ทำให้การผนึกกำลังของมวลประชามหาชนปรากฏเป็นจริงขึ้นเท่านั้น จึงจะสามารถโค่นล้มเผด็จการลงไปได้ในที่สุด


นิคารากัว

เมื่อกลางปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ประชาชนนิคารากัวได้โค่นล้มระบบเผด็จการของนายพลโซโมซาลง กองกำลังปฏิวัติของแนวร่วมรักชาติภายใต้การนำของขบวนการซันดินิสต์ เข้ายึดเมืองหลวงมานากัว ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม นับแต่นั้นมานิคารากัวได้กลายเป็น “เมกกะ” อีกแห่งหนึ่งของ “นักแสวงบุญการปฏิวัติ” จากทุกมุมโลก จากลาตินอเมริกาและยุโรป ทั้งนี้เพราะเอกลักษณ์ของการปฏิวัตินิคารากัวเป็นสิ่งที่ควรแก่การศึกษาติดตาม ผลสะเทือนจากการปฏิวัตินิคารากัวนั้นใหญ่หลวง สิ่งทีเรียกว่า “ความวุ่นวาย” หรือ “ไฟปฏิวัติ” ที่กำลังลุกลามอยู่ในประเทศอเมริกากลางอื่นๆ ได้แก่ เอลซันวาดอร์ และกัวเตมาลา

นิคารากัวเป็นประเทศเล็กๆในอเมริกากลางแต่ประชาชนมีประวัตการต่อสู้อันยาวนาน ขบวนการปฏิวัติซันดิ นิสต์สามารถโค่นล้มระบบเผด็จการลงได้ด้วยการประสานรูปแบบการต่อสู้ และใช้ประโยชน์จากองค์ประกอบพื้นฐานของการต่อสู้ได้อย่างมีศิลปะ บทเรียนจากการปฏิวัตินิคารากัวมีมากมายที่น่าศึกษา

การต่อสู้ของประชาชนนิคารากัว

ในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ นิคารากัวก็เช่นเดียวกับประเทศอเมริกากลางอื่นๆที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของสเปน ที่แผ่ตัวเข้ามาหาความมั่นคั่งและอาณานิคม จนกระทั่งกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓ นิคารากัว หลุดออกมาเป็นอิสรภาพอยู่ได้ระยะหนึ่ง แต่ต่อมาเมืองชายฝั่งแบซิฟิกอันอุดมสมบูรณ์ ตกไปอยู่ในความอารักขาของอังกฤษจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๐๓ นิคารากัวกลับเป็นเอกราชสมบูรณ์อีก พอปีพ.ศ. ๒๔๕๕ สหรัฐอเมริกาแผ่อิทธิพลเข้ามาภายในประเทศ ถือสิทธิ์เด็ดขาดในการที่จะขุดคลองตัดผ่านประเทศ เช่นเดียวกับปานามา ประชาชนนิคารากัวได้ทำการต่อต้าน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ สหรัฐฯ ส่งกำลังทหารเข้าทำการยึดครอง

ในระยะนี้เอง ขบวนการชาตินิยมนิคารากัวได้ลุกขึ้นสู้ภายใต้การนำของ โอกุสโต เซซาร์ ซันติโน โดยตั้งกองกำลังที่เรียกว่า กองทัพปกป้องอธิปไตยแห่งชาติขึ้น เพื่อปลดปล่อยประเทศออกจากอิทธิพลของสหรัฐฯ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๙ มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญเกิดขึ้นคือ ตาโช โซโมซา ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของนิคารากัว โดยมีอิทธิพลของอเมริกาหนุนหลังอยู่ ตั้งแต่นั้นมานิคารากัวก็ตกเป็นทาสทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

ตาโช ครองอำนาจอยู่ถึงยี่สิบปี ก่อนจะถูกลอบสังหารโดยขบวนชาตินิยมในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ในระหว่างยี่สิบปีที่อยู่ในอำนาจ ครอบครัวโซโมซาได้วางตำแหน่งทายาททางการเมืองไว้อย่างรัดกุม โดยส่งลูกชายคนโตและคนรองได้แก่ หลุยส์และอานัสตาซิโอ ไปศึกษาในสหรัฐฯ คนแรกเรียนทางพลเรือน คนหลังเรียนทางทหาร จึงไม่น่าสงสัยเลยที่ครอบครัวเผด็จการโซโมซาสามารถแผ่ขยายอำนาจครอบครองผูกขาดทางการเมืองและเศรษฐกิจนิคารากัวไว้ได้ โดย อานัสตาซิโอ เป็นผู้ควบคุม “หน่วยรบพิเศษ” (National Guard) ซึ่งเป็นหน่วยรบที่มีประสิทธิภาพสูงสุด (ฝึกโดยตรงโดยผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกัน) ทำการคุ้มครองฐานอำนาจของตระกูลไว้

หลังจากตาโชถูกลอบสังหาร หลุยส์ โซโมซา ลูกชายคนโตได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๖ อำนาจหลุดมือจากตระกูลโซโมซาไปเป็นเวลา ๕ ปีเพราะแพ้เลือกตั้ง ในช่วงสมัยหลุยส์เป็นประธานาธิบดีนี้เองที่ขบวนการซันดินิสต์ ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ ต่อมาตระกูลโซโมซาได้กลับมาครองอำนาจอีกครั้งหนึ่งในปี ๒๕๑๐ โดย อานัสตาซิโอ น้องชายของหลุยส์ได้นำกำลัง”หน่วยรบพิเศษ” เข้ายึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ และสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นจอมเผด็จการทหารสมบูรณ์แบบด้วยความเห็นชอบจากวอชิงตัน จากนั้นก็กำจัดคู่แข่งขันทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ตระกูลโซโมซาและบริวารทำการผูกขาดทางการเมือง ทางทหารและครอบงำทางเศรษฐกิจกว่าครึ่งประเทศ

เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในนิคารากัว ประชาชนตายและบาดเจ็บเกือบสามหมื่นคน คนเสียหายทางวัตถุมากมาย นานาชาติส่งความช่วยเหลือมหาศาลประมาณ ๘๐๐ ล้านดอลล่าร์มาช่วยประชาชนผู้ประสบภัย แต่โซโมซาและบริวารที่ควบคุมกลไกการบริหารกลับฉ้อฉล โดยไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากของประชาชน นี่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองของนิคารากัว

ระบบเผด็จการโซโมซาเริ่มถูกต่อต้านทางการเมืองจากประชาชนทุกระดับชั้นทางสังคม ในช่วงนี้เองที่ขบวนการซันดินิสต์เข้มแข็งขึ้นและได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและแนวร่วมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

แต่การต่อสู้ของขบวนการฯ ในช่วงนี้ก็ยังประสบความลำบาก หน่วยกองโจรขนาดเล็กที่ปฏิบัติการอยู่ตามภูเขาและป่าทึบ ต้องเผชิญกับกำลังขนาดใหญ่ของรัฐบาล บ่อยครั้งที่การล้อมปราบทำความเสียหายใหญ่หลวงให้แก่ขบวนการฯ ปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ขบวนการฯ ทำการรุกครั้งใหญ่ หน่วยกล้าตายจำนวนหนึ่งบุกเข้าจับตัวประกัน ๑๗ คน ๕ คนในนั้นเป็นรัฐมนตรีของรัฐบาล ขบวนการฯได้ตั้งข้อเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมือง ๒๐ คน ค่าไถ่ ๕ ล้านดอลล่าร์ รัฐบาลยอมตามข้อเรียกร้อง แต่หลังจากนั้นก็เริ่มปราบปรามรุนแรง มีการกวาดล้างกวาดจับทั่วประเทศ การทรมานนักโทษการเมืองเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่การต่อสู้ของขบวนการซันดินิสต์แผ่ขยายมากขึ้นทุกที และประชาชนหันมาสนับสนุนยิ่งขึ้น ความช่วยเหลือ มีทั้งให้กำลังใจ สนับสนุนทางการเงิน ให้ที่หลบซ่อนและอาหารจนกระทั่งเข้าร่วมจับอาวุธสู้ก็มีมาก

ต้นปี พ.ศ. ๒๕๓๑ นักหนังสือพิมพ์ฝ่ายค้านผู้มีชื่อเสียงถูกลอบสังหารโดยพวกของโซโมซา การลอบสังหารนี่คือจุดชนวนสงครามการเมือง เพราะประชาชนนิคารากัวเต็มไปด้วยความเคียดแค้น และหมดความอดกลั้น ขบวนการซันดินิสต์เริ่มรุกทันทีโดยบุกตีค่ายทหารตามเมืองใหญ่หลายแห่งพร้อมกัน ประชาชนในหลายเมืองลุกขึ้นสู้ เช่นเมืองมาซายา การต่อสู้ตามเมืองใหญ่ยืดเยื้ออยู่หนึ่งสัปดาห์

พอถึงเดือนมิถุนายนกองกำลังของขบวนการฯ เปิดการรุกครั้งใหญ่ด้วยการบุกเข้าตีค่ายของ “หน่วยรบพิเศษ” กลางเมืองหลวงมานากัว ติดตามมาด้วยการยึดรัฐสภาในขณะที่สมาขิกรัฐบาลประชุมกัน เดือนถัดไปมีการหยุดงานทั่วประเทศ วันที่ ๒๐ กันยายน “หน่วยรบพิเศษ” ของโซโมซาบุกเข้าตีเมืองเอสเตลิจนได้คืน ฝ่ายรัฐบาลทำการสังหารหมู่เด็กและผู้หญิงจำนวนมาก ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยเข้าไปคอสตาริกา และฮอนดูรัสถึงหนึ่งหมื่นหกพันคน

เดือนธันวาคมรัฐบาลประกาศสภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๒ สหรัฐฯ ตัดความช่วยเหลือทางทหารต่อรัฐบาลเผด็จการของนายพลอานัสตาซิโอ โซโมซาในฐานะละเมิด “สิทธิมนุษยชน”

นิคารากัวเข้าสู่สงครามประชาชนเต็มรูปแบบ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม นายพลโซโมซาและบริวารหนีออกนอกเมืองหลวง กองกำลังของประชาชนภายใต้การนำของขบวนการซันดินิสต์เข้ากรุงมานากัวในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๒
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอภิวัฒน์ของชาวนิคารากัวได้ที่ http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_9207.html และ http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_6841.html

Monday, February 23, 2009

บทความที่๔๔๐.จดหมายจากท่านปรีดีถึงนายสังข์ พัธโนทัย

จดหมายนายปรีดี พนมยงค์ ถึง นายสังข์ พัธโนทัย

วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๙

คุณสังข์ พันธโนทัย ที่รัก

   ผมได้รับจดหมายของคุณฉบับลงวันที่ ๑๒ เดือนนี้กับหนังสือ “ความนึกในกรงขัง” แล้ว ด้วยความรู้สึกขอบคุณมากในไมตรีจิตและความเปนธรรมที่คุณมีต่อผม.

   ผมมีความยินดีมากที่ได้ทราบจากคำยืนยันของคุณว่า ท่านจอมพล ป.พิบูลสงครามมิได้เปนศัตรูของผมเลย ท่านมีความรำลึกถึงความหลังอยู่เสมอและอยากจะเห็นผมกลับประเทศทุกเมื่อ. แม้ว่าเหตุการณ์ทางการเมืองจะเปนดังที่คุณกล่าวว่า เหตุการณ์ไม่ช่วยเราเสมอไปและจำเปนต้องใช้ความอดทนอยู่มากก็ตาม แต่ผมก็มีความหวังว่าโดยความช่วยเหลือของคุณ ผู้ซึ่งมีใจเปนธรรมและมีอุดมคติที่จะรับใช้ชาติและราษฎรอย่างบริสุทธิ์ ผมคงจะมีโอกาศทำความเข้าใจกับท่านจอมพล ป.พิบูลสงครามถึงเจตนาดีของผมในส่วนที่เกี่ยวแก่ท่านจอมพล ป.พิบูลสงครามและการงานของชาติและราษฎรที่เราทั้งหลายจะต้องร่วมมือกันเพื่อความเปน เอกราชสมบูรณ์ของชาติ. ผมจึงมีความปรารถนาเปนอย่างมากที่จะได้มีโอกาศพบกับคุณในเวลาไม่ช้านักเพื่อปรึกษาหารือกับคุณถึงเรื่องนี้ และเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงอีกหลายประการซึ่งบางทีคุณอาจต้องการทราบ.

   ผมเห็นว่าคุณได้บำเพ็ญบุญกุศลอย่างแรงในการที่คุณได้แจ้งให้ผมทราบถึงบันทึกที่คุณเผ่าได้สอบถามปากคำคุณเฉลียว ชิต บุศย์ ก่อนถูกยิงเป้าที่ยืนยันว่า ผู้บริสุทธิ์ทั้งสามรวมทั้งตัวผมมิได้มีส่วนพัวพันในกรณีย์สวรรคต. ดังนั้น นอกจากผมขอแสดงความขอบคุณเปนอย่างยิ่งมายังคุณ ผมจึงได้ตั้งจิตอธิษฐาน ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยโปรดดลบันดาลให้คุณมีความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป และประสบทุกสิ่งที่คุณปรารถนาทุกประการ.

ผมขอส่งความรักและนับถือมายังคุณ.

ปรีดี พนมยงค์

 

*ระหว่างสงครามโลกครั้งที่๒ นายสังข์ พัธโนทัย รับราชการในกรมโฆษณาการ ถือว่าเป็นคนสนิทของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในสมัยนั้น ภายหลังได้ลาออกจากราชการและระหว่างที่ติดต่อนายปรีดี พนมยงค์ เขาเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสถียรภาพ(รายวัน)ล่าสุดก่อนเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๙(อายุ ๗๒ปี) เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประโคนชัย(รายสัปดาห์)

Sunday, February 22, 2009

บทความที่๔๓๙.สัมภาษณ์นายปรีดี พนมยงค์กับกรณีสวรรคต

สัมภาษณ์นายปรีดี พนมยงค์กับกรณีสวรรคต
(จากหนังสือในชุด ๑๐๐ ปีชาตกาลรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ในปี ๒๕๔๓)

บุคคลสำคัญคนหนึ่งที่เกี่ยวข้องในกรณีสวรรคต มากมายทั้งความรับผิดชอบในฐานะหัวหน้ารัฐบาลขณะที่มีกรณีสวรรคตเกิดขึ้น และมีเสียงกล่าวหาว่าพัวพันในทางร้ายแรงเรื่อยมา ก็คือ นายปรีดี พนมยงค์

แม้อายุความเกี่ยวกับกรณีสวรรคตจะสิ้นสุดลงหลายปีแล้ว แต่นายปรีดี พนมยงค์ ก็ยังไม่กลับเมืองไทยหรือกลับเมืองไทยไม่ได้ ทั้งนี้น่าจะเนื่องมาจากที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกรณีนี้นั่นเอง

มีคนเป็นอันมากอยากรู้ว่านายปรีดี พนมยงค์ ได้พูดเกี่ยวกับกรณีสวรรคตอย่างไรบ้างหรือไม่ เรื่องนี้ปรากฎว่านายวีระ โอสถานนท์ ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ “มหาราษฎร์” ได้สัมภาษณ์ นายปรีดี พนมยงค์ ที่บ้านพักชานกรุงปารีสค่อนข้างยาวซึ่งใจความตอนหนึ่งมีว่า

มีผู้พูดกันว่า จอมพล ป.และ พล.ต.อ.เผ่าได้หลักฐาน(กรณีสวรรคต)ใหม่นั้น ท่านจะบอกได้หรือไม่ว่าคืออะไร
นายปรีดี พนมยงค์ตอบว่า

แม้แต่ศาลฎีกาซึ่งมีผู้พิพากษาคณะเดียว โดยมิได้มีการประชุมใหญ่ของผู้พิพากษาศาลฎีกาได้ตัดสินประหารชีวิตนายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี นายบุศย์ ปัทมศริน ไปแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ส่งตัวแทนไปพบผมในประเทศจีน แจ้งว่า ได้หลักฐานใหม่ที่แสดงว่าผู้ถูกประหารชีวิตทั้งสามคนและผมเป็นผู้บริสุทธิ์

ฉะนั้นจอมพลพิบูลฯ จึงจะเสนอผู้แทนราษฎรให้ออกกฎหมายให้มีการพิจารณาคดีใหม่ด้วยความเป็นธรรม

การเมืองซึ่งบัดนี้มันก็ผ่านพ้นไปแล้ว เพราะว่าผมเป็นผู้บริสุทธิ์ คนเราบริสุทธิ์เราไม่ต้องกลัวความจริง ถ้าผมเป็นคนทำจริงแล้ว ถ้าเป็นคนที่เรียกว่าไปทำ(ปลงพระชนม์)จริงแล้ว ผมไม่กล้ากลับเมืองไทยหรอก
นี่เพราะผมมีความบริสุทธิ์ ใครจะเอาผมไปต้มยำ ผมไม่กลัวหรอก

เราเกิดมามันก็ตายกันทั้งนั้น แต่จะตายอย่างขุนเขา หรือจะตายแบบขนนก แต่ผมคิดว่าถ้าจะตายก็ตายอย่างที่เรียกว่าเป็นประโยชน์ นี่ผมนึกอย่างนี้

บทความที่๔๓๘.บทสัมภาษณ์หลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์(จบ)

บทสัมภาษณ์พิเศษ หลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์-ผู้พิพากษาผู้ทำความเห็นแย้งในชั้นศาลอุทธรณ์คดี ๓ มหาดเล็กประทุษร้าย ร.๘
โดย นเรศ นโรปกรณ์ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๑๗
(คัดลอกจากหนังสือคำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.๘ จากชุดหนังสืองาน ๑๐๐ ปีชาตกาลรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์)

นเรศ-ที่ว่านี้ก็แสดงว่าท่านก็ยอมรับว่าได้มีและได้ทราบข่าวลือหลายแง่หลายมุมอยู่เหมือนกันในระหว่างนั้นใช่ไหมครับ?
หลวงปริพนธ์-ลือกันมาก! ไหนๆคุณก็ถามถึงอย่างนี้แล้ว ผมขอเรียนว่า ผมอ่านเอกสารทุกชิ้นโดยมิเห็นแก่เหน็ดเหนื่อยก็เพื่อจะมิให้ทุกสิ่งทุกอย่างผ่านไปเฉยๆ ผมคำนึงในฐานะผู้พิพากษาว่า แง่มุมใดๆ ที่ชวนให้เขวไปตามข่าวลือแล้ว ผมจะไม่ยอมให้ผ่านไปเด็ดขาด

นเรศ-การเสกสรรปั้นแต่งที่แนบเนียนก็ย่อมจะมีขึ้นได้ ผมได้ยินเขาพูดกันอยู่
หลวงปริพนธ์-การเสี้ยมสอนพยานในบางคดี ก็เคยเห็นเคยได้ยิน แต่ที่เกี่ยวกับข่าวลือในกรณีสวรรคตนี้ นอกจากการลือถึงนายปรีดี ผมพูดได้ว่า ถ้าเป็นจริงอย่างที่ลือก็คงจะมีแง่มุมให้เห็นบ้าง

นเรศ-นี่ไม่เห็นเลยหรือครับ?
หลวงปริพนธ์-ไม่เห็นอะไรสักนิด ขณะนี้ผมก็อายุ ๗๖-๗๗ ก็ใกล้ตายเต็มทีแล้ว ผมขอพูดเสียเลยว่า ถ้ากรณีสวรรคตเป็นไปตามข่าวลือต่างๆ ที่ยังลือมาจนกระทั่งบัดนี้ ผมเชื่อว่าผมคงจะต้องพบอะไร “แหลม” ออกมาบ้าง แต่ผมก็ไม่พบอะไรจริงๆ

นเรศ-หมายความว่าที่ลือว่า นายปรีดีฆ่าในหลวงก็ไม่มีเค้า?
หลวงปริพนธ์-ไม่พบเค้าเลย

นเรศ-ที่ลือว่าอุบัติเหตุด้วยน้ำมือคนอื่นก็ไม่จริง?
หลวงปริพนธ์-ไม่พบเค้าเลย

นเรศ-ที่ลือว่าทรงยิงพระองค์เองก็ไม่เป็นความจริง?
หลวงปริพนธ์-ไม่พบเค้าอีกเช่นกัน

นเรศ-ถ้ากระนั้นก็เหลือทางเดียว
หลวงปริพนธ์-ทางเดียว

นเรศ-อุบัติเหตุใช่ไหมครับ?
หลวงปริพนธ์-ครับ ตามความเห็นแย้งที่ผมยังยืนยันไว้นั่นแหละ

นเรศ-ผมเห็นจะต้องกราบรบกวนท่านต่อไป
หลวงปริพนธ์-เชิญครับ

นเรศ-ท่านรู้จักท่านปรีดี พนมยงค์ มากน้อยเพียงใด?
หลวงปริพนธ์-รู้จักธรรมดาๆ ตั้งแต่อยู่เมืองนอก แล้วก็รับราชการด้วยกัน ผมเคยอยู่คณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อผมย้ายแล้วเขาก็ไปแทนผม

นเรศ-กลับจากเมืองนอกแล้ว นายปรีดีเคยชวนท่านเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้างไหมครับ?
หลวงปริพนธ์-ไม่เคย เรื่องการบ้านการเมืองไม่เคยเกี่ยวข้องกัน

นเรศ-ความสนิทสนมกันล่ะครับ ?
หลวงปริพนธ์-ถ้าไม่เรียกว่ารู้จักกันธรรมดาก็รู้จักโดยหน้าที่ราชการความสนิทสนมกันไม่มี

นเรศ-การมีความเห็นแย้งของท่าน เป็นที่พูดกันอย่าไรบ้างหรือไม่ในบรรดาสามจำเลย รวมทั้งนายปรีดีหรือเรือเอกวัชรชัย?
หลวงปริพนธ์-ผมไม่ทราบ ผมไม่เคยทราบอะไรเลย

นเรศ-ได้ข่าวว่า พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจและตำรวจในระยะนั้น “ข้องใจ” ท่านมาก
หลวงปริพนธ์-ตำรวจเขาส่งคนมาสอบถามสามสี่ข้อด้วยกัน คือ
๑.ฐานะดั้งเดิม
๒.ความคิดเห็นทางการเมืองและสมัครพรรคพวกทางการเมือง
๓.การเงิน ในช่วงระยะเวลาเหล่านั้น
๔.เหมือนที่คุณนเรศซักผมเมื่อตะกี้ว่าเกี่ยวข้องกับนายปรีดีลึกตื้นอย่างไรเพียงไร?

นเรศ-ท่านตอบเขาอย่างไร?
หลวงปริพนธ์-ผมก็ตอบเขาตามที่เป็นจริง คือ
๑.ฐานะดั้งเดิมก็ลูกชาวนาอยู่บางเหี้ย สะพานคลองด่าน สมุทรปราการนี้เอง
๒.ความเห็นทางการเมืองก็ประชาธิปไตย แต่ไม่ได้เล่น เพราะรับราชการจึงไม่มีสมัครพรรคพวก
๓.การเงิน ก็เงินเดือนผู้พิพากษาและเลี้ยงหมาไทย(หมาหลังอาน)ขายบ้าง
๔.การเกี่ยวข้องกับนายปรีดีก็อย่างที่ตอบคุณนเรศไปแล้ว

นเรศ-การขู่เข็ญอย่างอื่นมีอะไรบ้างไหมครับ?
หลวงปริพนธ์-มีคนมาบอกตลอดเวลาว่าเขาจะเล่นงานผมเหมือนกันได้เฝ้าติดตามอยู่ถึงสองปี เมื่อเห็นว่า ผมอยู่กับหมาไทยแน่ๆ แล้ว ก็มีคนมาบอกผมอีกว่าเขาเลิกสนใจ และตั้งแต่นั้นมาผมก็ไม่ต้องคอยระวังตัวอีก

นเรศ-ทางด้านศาลอุทธรณ์ เมื่อท่านมีความเห็นแย้งครั้งแรก มีปฏิกิริยาอะไรบ้างหรือเปล่าครับ?
หลวงปริพนธ์- แหม! ก็ไม่น่าจะพูด แต่ก็ขอเรียนว่ามีคนไม่พอใจ ถูกกระแหนะกระแหนว่านั่นว่านี่บ้าง จะไม่อ่านความเห็นแย้งให้บ้าง

นเรศ-ท่านตอบโต้อย่างไร?
หลวงปริพนธ์-ก็ไม่ตอบโต้อะไร ความเห็นแย้งนี่มันเป็นสิทธิของผม เขาก็นำเรื่องไปถึงกระทรวง เสนออธิบดีศาลอุทธรณ์ คุณหลวงจำรูญเนติศาสตร์ท่านถามผม ผมก็ตอบไปว่า ผมเห็นอย่างนั้นๆ ท่านก็นิ่ง

นเรศ-ในที่สุดก็อ่านความเห็นแย้งของท่านต่อท้ายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
หลวงปริพนธ์-ครับ อ่านต่อท้าย

นเรศ-ท่านคิดว่า ความเห็นแย้งของท่านเมื่อเทียบกับคำพิพากษาของทั้งสามศาลแล้วเป็นอย่างไร?
หลวงปริพนธ์-โดยที่ผมยังยืนยันความเห็นแย้งของผมมาจนบัดนี้ ก็เท่ากับผมได้แย้งความเห็นของคนอื่นๆที่นอกเหนือจากนี้ทุกความเห็น ไม่จำเพาะแต่คำพิพากษาเท่านั้น

นเรศ-ท่านคิดว่าประชาชนจะพูดถึงความเห็นแย้งของท่านอย่างไร โดยเฉพาะในอนาคต?
หลวงปริพนธ์-ข้อนั้นผมรู้ไม่ได้

นเรศ-ตามที่นายปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์นายวีระ โอสถานนท์ ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ “มหาราษฎร์” ว่า จอมพล ป. กับ พล.ต.อ.เผ่า ได้หลักฐานใหม่ ท่านคิดว่าในทางปฏิบัติ หากว่าเป็นความจริงอย่างนั้นจะทำอย่างไร?
หลวงปริพนธ์-ก็คงจะเป็นเรื่องของรัฐบาลจะออกกฎหมายอะไรทำนองนั้น เรื่องอย่างนี้เมืองไทยไม่เคยมีเหมือนเมืองนอกเขา สำหรับในกระบวนการยุติธรรมนั้น มันเป็นเรื่องของเดดแอนด์ดัน(dead and done) คือ เรื่องสำเร็จเด็ดขาดลงไปแล้ว เห็นจะทำอะไรอีกไม่ได้

นเรศ-ท่านคิดบ้างไหมว่า วันเวลาสำหรับการนำหลักฐานในแต่ละคดีมาสู่ศาลนั้น อาจจะเป็นอุปสรรคหรือจำกัดข้อเท็จจริง หรือทำให้ได้ข้อเท็จจริงเพียงเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด?
หลวงปริพนธ์-ก็อาจเป็นบ้าง

นเรศ-คำพิพากษาของศาลย่อมถูกจำกัดด้วยคำฟ้องของโจทก์หรือข้อต่อสู้ของจำเลยในแต่ละคดี นั่นหมายความว่า ข้อเท็จจริงแท้ๆ อาจย่อหย่อนได้ไม่มากก็น้อย ท่านคิดว่าจะเป็นไปได้อย่างนี้บ้างหรือไม่?
หลวงปริพนธ์-ก็อาจเป็นบ้าง แต่ทำไมจะต้องเป็นอย่างนั้น? สมมติฐานของคุณนเรศ ถ้ายกตัวอย่างกรณีสวรรคต ผมก็ไม่เชื่อว่าจำเลยจะหลงลืมข้อเท็จจริงหรือปรารถนาให้ข้อเท็จจริงย่อหย่อนอย่างแน่นอน ผมอยากจะสมมติให้คุณนเรศฟังบ้างว่า ผัวเมียซึ่งรักกันปานจะกลืน แม้หากเมื่อจำเป็นต้องหนีภัยก็คงจะกระเจิดกระเจิงจนพลัดกันได้ไม่ตอนใดก็ตอนหนึ่งนี่ก็อย่างที่ผมว่าไว้แล้วแต่ต้นว่า ถ้ามีอะไรซ่อนเร้นอยู่ก็จะต้องพบเห็นแห่งมุมนั้นๆบ้าง แต่ผมไม่เห็นสิ่งเหล่านั้นเลย จึงไม่คิดว่าฝ่ายจำเลยจะย่อหย่อนข้อเท็จจริงอะไรไว้

นเรศ-ผมขอบพระคุณท่านสำหรับความกรุณาให้ผมได้สัมภาษณ์ตลอดมา ซึ่งผมคิดว่า สัมภาษณ์ครั้งนี้แล้วก็คงจะไม่ต้องสัมภาษณ์ท่านอีกแน่ๆ
หลวงปริพนธ์-ถ้าผมยังไม่ตายเสียก่อน คุณนเรศอยากจะมาคุยอะไรก็เชิญ

นเรศ-ขอบพระคุณท่านครับ

บทความที่๔๓๗.บทสัมภาษณ์หลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์(๑)

บทสัมภาษณ์พิเศษ หลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์-ผู้พิพากษาผู้ทำความเห็นแย้งในชั้นศาลอุทธรณ์คดี ๓ มหาดเล็กประทุษร้าย ร.๘
โดย นเรศ นโรปกรณ์ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๑๗
(คัดลอกจากหนังสือคำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.๘ จากชุดหนังสืองาน ๑๐๐ ปีชาตกาลรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์)


นเรศ- สวัสดีครับท่าน
หลวงปริพนธ์-สวัสดีครับคุณนเรศ

นเรศ-ผมมารบกวนท่านอีกแล้วครับ
หลวงปริพนธ์-เอาเลย มีอะไรหรือ?

นเรศ –ทุกครั้งที่กรณีสวรรคตเป็นข่าวเกรียวกราว ผมก็มาสัมภาษณ์ท่านในฐานะผู้พิพากษาอุทธรณ์ที่มีความเห็นแย้งผู้พิพากษาอื่นอีกสี่ท่านหรือถ้าจะนับกันทั้งสามศาล ท่านก็แย้งผู้พิพากษาถึง ๑๔ ท่านด้วยกัน นี่คงจะรบกวนท่านเรื่องเดิม
หลวงปริพนธ์-คราวก่อนคุณนเรศอยู่หนังสือพิมพ์อะไร?

นเรศ-ไทรายวัน พิมพ์ไทย กรุงเทพฯ เสรีไทย ฯลฯ แต่ฉบับไหนก่อนหรือหลังก็ลืมๆ แล้วครับ
หลวงปริพนธ์-คราวนี้อยู่สยามรัฐหรือ?

นเรศ-ครับ สยามรัฐ แต่ผมมาสัมภาษณ์ท่านเป็นการส่วนตัว ในฐานะผู้รวบรวมเรื่องกรณีสวรรคตเป็นรายหลังสุด
หลวงปริพนธ์-ได้ข่าวว่าพิมพ์กันหลายเล่ม

นเรศ- ครับ รายแรกก็หมอสรรใจ แสงวิเชียร กับคุณวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย,รายที่๒ คุณสุพจน์ ด่านตระกูล,รายที่ ๓ คุณชาลี เอี่ยมกระสินธุ์,รายที่๔ คุณประพัฒน์ ตรีณรงค์, รายที่๕ ที่ ๖ ก็มีครับ แล้วยังมีคำพิพากษาครบทั้งสามศาลเสียอีก โดยเฉพาะคำพิพากษานี้เองที่ผมอยู่เฉยไม่ได้ ทั้งที่ไม่คิดจะรวบรวมเรื่องราวเหล่านี้มาก่อนเลย
หลวงปริพนธ์-เป็นยังไง? คำพิพากษาเป็นยังไงหรือ ?

นเรศ-ผมเคยอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ก็ต่อท้ายด้วยความเห็นแย้งของท่านใช่ไหมล่ะครับ?
หลวงปริพนธ์-ครับ

นเรศ-แต่ในคำพิพากษาที่เขาจัดพิมพ์ใหม่นี้ ไม่มีความเห็นแย้งของท่าน ผมก็เลยคิดว่าในแง่ประวัติศาสตร์คงไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร นี่แหละครับจึงต้องมากราบเรียนสัมภาษณ์ท่านเพิ่มเติม
หลวงปริพนธ์-ครับ แต่ผมยังได้ยินข่าวว่าฝรั่งก็พิมพ์กันด้วยไม่ใช่หรือ?

นเรศ-ตามข่าวก็ว่าหนังสือพิมพ์ฮ่องกงสแตนดาร์ดตีพิมพ์เป็นตอนๆ มีคำให้สัมภาษณ์ของเรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช และในเมืองไทยนี้เองก็ทราบว่ามีการแปลหนังสือที่ฝรั่งเขียนเกี่ยวกับกรณีสวรรคตพิมพ์ขายเสียอีก แต่ขายกันลับๆ ผมก็อยากจะอ่านอยู่เหมือนกันแต่ไม่ปะช่องเสียที มันจะใช่ฝรั่งเจ้าเก่านั่นหรือเจ้าไหนก็ไม่ทราบ นี่ผมก็ว่าไปตามไปตามๆที่เขาว่ากันนะครับ แต่เมื่อดูตามจำนวนคืนซื้อ เล่มแรกๆ ร่วมแสนแล้ว ก็แสดงว่าประชนสนใจเรื่องนี้จริงๆ
หลวงปริพนธ์- นั่นซี ความอยากรู้ของคนเราก็อย่างนี้เอง คุณนเรศจะมาเอาอะไรจากผมอีก ผมก็พูดได้ตามความเห็นแย้งเท่านั้น

นเรศ-ผมอยากจะทราบอะไรๆ จากท่านหลายอย่าง ประการแรก ที่ผมเคยมาเรียนสัมภาษณ์ท่านหลายครั้งแล้วนั้น อายุความของคดีนี้ยังไม่สิ้นสุด ประการหลัง วันเวลาที่เนิ่นนานมาอย่างนี้ ท่านอยากจะพูดอะไรเพิ่มเติมอีกบ้างก็สุดแต่ท่านจะพอใจ กรุณาตอบตามสบายเลยครับ
หลวงปริพนธ์-ผมก็คงตอบอย่างที่เคยตอบคุณนเรศมาแล้วว่า ความเห็นเกี่ยวกับกรณีสวรรคตย่อมจะแตกต่างกันได้ไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งถ้าเกี่ยวกับการเมืองหรือนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างนายปรีดี พนมยงค์ หรือคุณหลวงประดิษฐ์ฯ อย่างนี้ คนก็ต่างว่ากันไปต่างๆ นานา คนนั้นว่างี้ คนนี้ว่างั้น แต่ไม่ว่าใครจะว่ายังไง ผมก็เห็นว่าจำเลยทั้ง ๓ คนคือนายชิต นายบุศย์ นายเฉลียว ไม่ควรจะ..ควรจะปล่อยตัวนั่นแหละ แม้จนเดี๋ยวนี้ผมก็ยังเห็นอยู่อย่างนั้น

นเรศ-เป็นความเชื่อของท่านหรือครับ?
หลวงปริพนธ์-เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง จากหลักฐานทุกอย่างทุกประการเท่าที่มีมากมายเหลือเกิน และผมได้จับต้องลูบคลำมาแล้วทุกอย่างทุกชิ้นไม่ปล่อยให้ผ่านสายตาสักชิ้นเดียว มันจึงเกิดความเห็นแย้งขึ้นมาอย่างนั้น

นเรศ-ผมขอกราบเรียนเกี่ยวกับความเห็นแย้งเสียก่อนนะครับ เราจะเรียกว่าเป็นคำพิพากษาแย้งได้ไหม?
หลวงปริพนธ์-ไม่ใช่คำพิพากษา แต่เป็นความเห็นของผู้พิพากษาข้างน้อยในองค์คณะพิพากษาทั้งหมด เช่น ห้าคนก็อาจจะเป็นจำนวนแย้งสองต่อสาม หรือหนึ่งต่อห้า เรียกว่า “ความเห็นแย้ง” ตรงตัวนี่แหละครับ

นเรศ-ความเห็นแย้งทำเป็นลายลักษณ์อักษรเสมอไปไหม?
หลวงปริพนธ์-ไม่จำเป็น เว้นแต่คดีใหญ่ๆ

นเรศ-ผู้พิพากษาจะมีความเห็นแย้งได้ทุกศาลไหมละครับ?
หลวงปริพนธ์-มีได้เฉพาะศาลอาญาหรือศาลต้นกับศาลอุทธรณ์เท่านั้น ศาลฎีกามีความเห็นแย้งไม่ได้ หรือถึงจะมีก็ต้องยอมรับความเห็นของผู้พิพากษาข้างมาก

นเรศ-ผมเรียนถามแทรกอีกนิดเถอะครับ เพราะได้ทราบมาว่า ในศาลฎีกา เมื่อคดีนี้ผ่านการพิจารณาแล้ว ผู้พิพากษาสองในสามมีความเห็นแย้ง อย่างความเห็นแย้งของท่าน คือ ให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งสามไป
หลวงปริพนธ์-คุณทราบจากทางไหน?

นเรศ-ก็อย่างที่ท่านรู้จักผมนั่นแหละครับ สมัยเป็นนักข่าว ทางโรงพิมพ์มอบให้ผมทำข่าวนี้เรื่อยมาเกือบจะทุกโรงพิมพ์ทีเดียว ผมก็เลยได้ข่าวลือว่า ผู้พิพากษาศาลฎีกาสองในห้าท่านมีความเห็นแย้งดังกล่าว แต่ก็ไม่ทราบว่าจริงหรือเท็จ?
หลวงปริพนธ์-ผมตอบอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า ผมไม่ทราบว่าจริงหรือเท็จเหมือนกัน แต่ข่าวลือนั้นผมได้ยินอย่างเดียวกับคุณนเรศ ผมคิดว่าเราไม่ควรจะพูดถึงข่าวลือไม่ใช่หรือ?

นเรศ-ครับ ข่าวลือย่อมไม่เป็นที่พึงประสงค์ แต่กรณีสวรรคตเป็นเรื่องที่ไม่จบสิ้นจนทุกวันนี้เพราะข่าวลือนั่นเอง ท่านคงจะไม่ปฏิเสธว่าความเห็นที่แตกต่างกันไม่เป็นที่ยุติอย่างที่กล่าวก็เพราะข่าวลือแท้ๆ หรือท่านจะปฏิเสธว่าไม่มีข่าวลือ?
หลวงปริพนธ์-ก็ลือกันมาก!

นเรศ-ลือกันจนเกือบจะเสียผู้เสียคนไปอย่างนายปรีดี พนมยงค์ นั่นก็อย่างหนึ่ง ผมคิดว่าท่านคงไม่ปฏิเสธที่เขาลือกันว่านายปรีดีฆ่าในหลวง
หลวงปริพนธ์-ก็ได้ยินอยู่และมีในสำนวน

นเรศ-ควรมิควรแล้วแต่ท่านจะพิจารณาเถอะครับ ยังมีที่ลือต่อไปอีก ผมไม่ทราบว่าที่มีการพิจารณาลับเกี่ยวกับคดีสวรรคตเป็นเรื่องที่ลือนี้หรือเปล่า?
หลวงปริพนธ์-ผมอ่านเอกสารท่วมหัวมาแล้ว ขอยืนยันว่าในการพิจารณาลับนั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจอะไรเลย

Friday, February 20, 2009

บทความที่๔๓๖.สำนึกแห่งสัจจะทุกภพชาติ

"ถ้าไม่มีผู้อื่นอยู่ข้างหน้าหรือข้างหลังเรา ความสบายใจอย่างยิ่งคงจะมีแก่เราผู้อยู่ในป่าผู้เดียว เราผู้เดียวจักไปสู่ป่า อันพระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า ความผาสุกย่อมมีแก่ภิกษุผู้อยู่แต่ผู้เดียว มีใจเด็ดเดี่ยว.

เราผู้เดียวเป็นผู้ชำนาญในสิ่งที่เป็นประโยชน์จะเข้าไปสู่ป่าใหญ่,อันทำให้เกิดปีติแก่พระโยคาวจร น่ารื่นรมย์เป็นที่อยู่ของหมู่ช้างตกมัน,โดยเร็วพลัน.

เราผู้เดียวจักอาบน้ำในซอกเขาอันเยือกเย็น ในป่าอันเย็นมีดอกไม้บานสะพรั่ง จักจงกรมให้เป็นที่สำราญใจ.

เมื่อไหร่เราจึงจักได้อยู่ในป่าใหญ่อันน่ารื่นรมย์แต่ผู้เดียว ไม่มีเพื่อนสอง จักเป็นผู้ทำกิจสำเร็จหาอาสวะมิได้ ขอความประสงค์ของเราผู้ปรารถนาจะทำดังนี้จงสำเร็จเถิด.

เราจักยังความประสงค์ของเราให้สำเร็จจงได้ ผู้อื่นไม่อาจทำผู้อื่นให้สำเร็จได้ เราจักผูกเกราะคือความเพียร จักเข้าไปสู่ป่าใหญ่ เรายังไม่บรรลุถึงความสิ้นอาสวะแล้ว จักไม่ออกไปจากป่านั้น.

เมื่อลมพัดเย็นมา กลิ่นดอกไม้ก็หอมฟุ้งมา เราจักนั่งบนยอดเขา ทำลายอวิชชา เราจักได้รับความสุขรื่นรมย์อยู่ด้วยวิมุตติสุขในถ้ำที่เงื้อมเขาซึ่งดารดาษไปด้วยดอกโกสุม มีภาคพื้นเยือกเย็นอันมีอยู่ในป่าใหญ่เป็นแน่.

เรามีความดำริอันเต็มเปี่ยม เหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญ เป็นผู้สิ้นอาสวะทั้งปวงแล้ว บัดนี้ภพใหม่มิได้มี”

จากขุททกนิกาย เถรคาถา เอกวิหาริยเถรคาถา

Thursday, February 19, 2009

บทความที่๔๓๕.ถวิลหา

สายน้ำมิหวนไหลทวนกลับ
เหมือนวันเดือนเลือนลาลับ
มิกลับหวนทวนมาใหม่
ผ่านเลยทั้งสุข ทุกข์ระทม
ตรมผิดหวัง สมหวัง
เหลือเพียงรอยฝังฤทัย
จะยื้อยุดฉุดเวลากลับมาไว้..ไม่มีวัน

อดีตเยาว์วัยห่างไกลสุดหล้า
แม้ความรัก เสน่หา
ยังลางเลือนตาดุจฝัน
คนที่เรา เคยรักดังดวงจิต
คนที่เรา เคยแนบชิดสัมพันธ์
ต้องสูญพราก ต้องจากกัน
ไม่มีวัน..หวนคืนมา

โอ้ชีวิตคนเรา เปรียบดุจสายน้ำไหล
ล่องลอยผ่านไปตามกาลเวลา
หากปล่อยเลยไป ดุจสิ้นไร้ค่า
คงต้องเสียดาย วันที่ผ่านมา
ถวิลหา..ชั่วชีวี


ฟังเพลงที่ http://rapidshare.com/files/199902199/Thinking_of.mp3.html