Tuesday, March 20, 2007

บทความที่ ๙๕. เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร (ภาค๒ ตอนที่๑)

ฝ่ายต่อต้านเผด็จการ

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์


๓.๑ บางองค์การโฆษณาว่าตนมีขุมกำลังมาก เพื่อชักชวนให้มีคนศรัทธาเข้าร่วมในองค์การนั้น หรือเพื่อทำให้ผู้อื่นเกิดความท้อแท้ไม่กล้าตั้งองค์การต่อต้านเผด็จการขึ้นมาอีก ผมจึงขอให้ท่านทั้งหลายรับฟังไว้แล้วิเคราะห์ดูว่าคำโฆษณานั้นเป็นจริงหรือไม่ ถ้าเป็นความจริง ภาระในการต่อต้านเผด็จการก็คงจะไม่มีเหลือมาถึงท่านที่จะต้องขบคิดตั้งเป็นปัญหาให้ผมอภิปรายว่า “เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร”

ขุมพลังต่อต้านเผด็จการที่แท้จริงของประเทศไทย คือราษฎรไทยจำนวนส่วนข้างมากของสังคมที่ถูกกดขี่เบียดเบียนจากระบบเผด็จการและซากเผด็จการดั่งที่ผมกล่าวแล้ว... ขุมพลังนี้คือคนจน คนงาน ชาวนา ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ได้รับความอัตคัดฝืดเคืองอย่างแสนสาหัส คนมีทุนน้อยที่พอทำมาหากิน และคนมีทุนขนาดกลางซึ่งถูกเบียดเบียนเดือดร้อนเพราะการปกครองและระบบเผด็จการ รวมทั้งนายทุนเจ้าสมบัติจำนวนหนึ่งที่แม้ตนมีความกินดีอยู่ดีในทางเศรษฐกิจ แต่มีความรักชาติรักความเป็นประชาธิปไตยมองเห็นความทุกข์ยากของคนจน และคนส่วนมากที่ถูกเบียดเบียนจึงไม่ยอมเป็นสมุนรับใช้ระบบเผด็จการ และไม่ทำการใด ๆ ที่จะแผลงประชาธิปไตยให้เป็นเผด็จการของพวกนายทุนหรือเป็นเผด็จการของอภิสิทธิ์ชน (DICTATORSHIP OF THE PRIVILEGED CLASS) นี่แหละขุมพลังมหาศาลจำนวนเกือบ ๔๐ ล้านซึ่งเป็นราษฎรไทยจำนวนส่วนข้างมากของสังคม ผมเห็นว่าถ้าองค์การใดได้ขุมกำลังนี้เพียง ๑ เปอร์เซ็นต์ก็เป็นพลังมากพอควรที่จะเป็นกองกำลังของราษฎรในการต่อต้านเผด็จการได้สำเร็จ ฉะนั้นขุมพลังมหาศาลเกือบ ๔๐ ล้านคน ยังมีเหลืออีกมากมายที่หลาย ๆ องค์การจัดตั้งได้โดยไม่จำต้องมีการกีดกันหรือกันท่าระหว่างกัน

ท่านที่ได้ประโยชน์ต่อต้านเผด็จการจะได้ขุมพลังอันแท้จริงนี้มาร่วมในการต่อสู้เผด็จการได้อย่างไรนั้น ไม่ใช่ปัญหาแห่งความท้อใจ แต่อยู่ที่ผู้ประสงค์ต่อต้านเผด็จการต้องมีความตั้งใจจริงในการอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของชาติและราษฎรไทยส่วนมากที่จะพ้นจากการคุกคามของฝ่ายเผด็จการ ขบวนการใหญ่เพื่อต่อต้านเผด็จการนั้น ต้องประกอบด้วย “กองกำลังกลาง” และ “กองกำลังพันธมิตร”

๓.๒ “กองกำลังกลาง” นั้นเป็นกองหน้าของขบวนการ ผมขอให้ท่านหลีกเลี่ยงโดยไม่เรียก “กองกลาง” ว่าเป็น “องค์การนำ” เพราะคนไทยส่วนมากยังคงระลึกถึงคำว่า “ผู้นำ” ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งแสดงถึงการเป็นผู้เผด็จการ ควรถ่อมตนเรียกกองกำลังกลางตามชื่อนั้นและถือว่าเป็นเพียง “กองหน้า” (VAN GUARD) ของขบวนการจะเหมาะสมกว่าและไม่แสดงถึงว่า กองกำลังเป็นเจ้าขุนมูลนายที่อาจหาญนำราษฎรหรือจะกลายเป็นผู้เผด็จการเสียเอง

กองกำลังกลางประกอบด้วยบุคคลที่ยอมอุทิศชีวิต ร่างกาย ความเหน็จเหนื่อย ยกประโยชน์ของชาติและของราษฎรเหนือประโยชน์ส่วนตัว พร้อมปฏิบัติตามข้อบังคับของกองกลางซึ่งจะต้องจัดทำขึ้น โดยกำหนดให้ ยึดถือวิทยาศาสตร์สังคมชนิดที่ถูกต้องที่พิสูจน์ได้ทั้งในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัตินั้นเป็นหลักนำ มีวินัยที่เข้มแข็ง คือ วินัยโดยจิตสำนึก ไม่ใช่วินัยโดยการบังคับอย่างระบบเผด็จการทาสศักดินา มีการวิพากษ์วิจารณ์ตนเองอยู่เป็นเนืองนิจ เพื่อแก้ไขความผิดพลาดบกพร่อง เพราะบุคคลไม่ว่าจะเป็นอัจฉริยะหรือวิเศษใดๆ เมื่อต้องทำสิ่งใดก็อาจมีความผิดพลาดบกพร่อง กองหน้าของราษฎรต้องละทิ้งซากทัศนะศักดินาที่รักษาหน้าตาโดยไม่ยอมวิพากวิจารณ์ตนเองได้แล้ว กองหน้าก็จะเข้มแข็ง และเมื่อเข้มแข็งแล้วลงมือปฏิบัติการด้วยความเสียสละชีวิตและร่างกายรับใช้ราษฎรให้เกิดประโยชน์ที่ราษฎรเห็นประจักษ์เป็นตัวอย่างว่าการนำของกองหน้าถูกต้องทั้งทางยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี ราษฎรที่เป็นขุมพลังมหาศาลในการต่อต้านฝ่ายเผด็จการก็จะยอมรับนับถือกองหน้านั้นโดยความสันทัดจัดเจนที่เขาประสบเอง

ผู้จัดตั้งกองหน้าไม่ต้องวิตกว่าตนเกิดมาในสังคมเก่าซึ่งโดยสภาพแวดล้อมของสังคมเก่านั้น ซากทัศนะเก่าย่อมถ่ายทอดมาถึงตัวผู้จัดตั้ง ปัญหาก็อยู่ที่ผู้จัดตั้งจะต้องไม่หลอกตนเองคือสำนึกถึงความจริงในสภาพของตนได้แล้ว พยายามสละซากทัศนะเก่าให้หมดสิ้นไปมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ และเพื่อที่ซากเก่าจะไม่กลับฟื้นคืนมาสู่ตัวท่านอีก จึงจำเป็นต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ตนเองอยู่เป็นนิจ และขอให้เพื่อร่วมงานทั้งราษฎรได้ช่วยวิจารณ์ชี้ความผิดพลาดบกพร่องด้วย เพื่อผู้จัดตั้งรับไปพิจารณาแล้วแก้ไขความผิดพลาดบกพร่อง

ภายในกองกลางจำเป็นต้องมี “กองอำนวยการ” เพื่ออำนวยงานต่อต้านเผด็จการของสมาชิกแห่งกองกลางและอำนวยยุทธวิธีต่าง ๆ ในการต่อสู้ มอบภาระให้สมาชิกทำตามความถนัดและเหมาะสม ฯลฯ

ถ้าสมาชิกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นก็ต้องจัดให้มีสาขา และหน่วยงานต่าง ๆ ตามความเหมาะสม เป็นธรรมดาที่ขณะแรกตั้งสมาชิกอาจมีจำนวนน้อย แต่นั่นไม่ใช่เรื่องต้องท้อแท้ใจเพราะตามกฏธรรมชาติมีว่าปริมาณมากนั้นย่อมมาจากปริมาณน้อย และปริมาณน้อยก็มาจากไม่มีอะไรเลย หรือกล่าวอย่างง่าย ๆ ว่า “จากไม่มีไปสู่มีน้อย, จากมีน้อยไปสู่มีมาก”
๓.๓ เราต้องยอมรับความจริงว่า ฝ่ายเผด็จการซึ่งแม้เป็นบุคคลจำนวนส่วนข้างน้อยของสังคม แต่พวกเขาก็มีพลังทางเศรษฐกิจ, การเมือง, และอิทธิพลทางทัศนะเผด็จการอยู่มาก ดังนั้นกองกำลังกลางของฝ่ายต่อต้านเผด็จการจำเป็นต้องจัด “กองกำลังพันธมิตร” ของฝ่ายตนขึ้นโดยรวบรวมบุคคลต่าง ๆ ที่ต้องการต่อสู้เผด็จการ แม้เขามีระดับความต้องการต่อสู้และระดับจิตสำนึกน้อยกว่าสมาชิกกองกำลังกลาง แต่ก็อาจต่อสู้ในระดับใดระดับหนึ่งและกาลใดกาลหนึ่ง ทั้งนี้ขอให้คำนึงคติ “กำหนดตัวศัตรูให้น้อย หาเพื่อนให้ได้มาก”

พันธมิตรนี้นอกจากเอกชนเป็นรายบุคคลแล้วก็จะต้องจัดทำขึ้นกับกลุ่มบุคคลเช่นพรรคและองค์การอื่น ๆ ที่มีความต้องการเผด็จการในระดับใดระดับหนึ่ง ปัจจุบันนี้ในประเทศไทยมีพรรคการเมืองมากมาย ฉะนั้นต้องตรวจสอบให้ดีว่าพรรคใดมีวัตถุประสงค์ต่อต้านเผด็จการ หรือสนับสนุนระบบเผด็จการ แม้พวกที่มีวัตถุประสงค์ต่อต้านเผด็จการแต่ต้องระวังว่าพรรคนั้น ๆ ต้องการเป็นพันธมิตรเพื่อแย่งชิง “การนำ” เป็นของตน โดยเฉพาะเมื่อได้โอกาสหรือไม่ ครั้นแล้วจึงจัดอันดับขององค์การเหล่านี้ลดหลั่นตามความเหมาะสม เช่นท่วงท่าขององค์การใดแสดงให้เห็นว่าได้พวกเขาเข้ามาเป็นพันธมิตรเพื่อแย่งชิงการนำ ก็แสดงว่าเขาเข้ามาเป็นเพื่อนโดยไม่สุจริตใจและเขาปฏิบัติต่อกองกำลังกลางเป็นพันธมิตรขั้นต่ำของเขา กองกำลังกลางก็ต้องสนองตอบโดยถือว่าองค์การนั้นเป็นพันธมิตรขั้นต่ำดุจเดียวกัน

กองกำลังกลางต้องปฏิบัติต่อพันธมิตร โดยไม่มีความอิจฉาริษยาว่า พรรคและองค์การที่เป็นพันธมิตรได้ขยายการหาสมาชิกเพิ่มขึ้นได้ในส่วนของเขา ขอให้ศึกษาตัวอย่างของการทำแนวร่วมกันกว้างใหญ่ได้สำเร็จของหลายประเทศที่แสดงภูมิธรรมอันปราศจากซากนายทุนน้อยศักดินา

๓.๔ เพื่อประกอบการพิจารณาถึงลักษณะบุคคลที่กองกำลังกลางจะควรจัดตั้งเป็นพันธมิตรได้เพียงใดและจะจัดเข้าอยู่ในระดับใดนั้น ผมขอเสนอถึงจำพวกต่าง ๆ ของบุคคลไว้บ้าง พอเป็นอุทาหรณ์ดังต่อไปนี้

ก.จำพวกที่ ๑ คือบุคคลที่มีจิตสำนึกคัดค้านเผด็จการ แต่ก็ยังไม่พร้อมที่จะเสียสละชีวิตและร่างกายเข้าร่วมต่อสู้ฝ่ายต่อต้านเผด็จการ ก็ควรยินดีรับบุคคลประเภทนี้ไว้เป็นแนวร่วมในระดับหนึ่งตามจิตสำนึกและตามความสามารถที่เขาจะช่วยได้ โดยฝ่ายต่อต้านเผด็จการจะต้องยับยั้งไม่ทนงตนว่าก้าวหน้าเป็นที่สุดกว่าคนอื่นแล้ว หรือเสียสละสูงสุดกว่าคนอื่นซึ่งจะทำให้บุคคลจำพวกที่ ๑ นี้เกิดหมั่นไส้แล้วไม่ยอมร่วมในขบวนการที่ฝ่ายต่อต้านเผด็จการตั้งขึ้น

ฝ่ายต่อต้านเผด็จการจะต้องคำนึงถึงความสามารถของแต่ละบุคคล ที่มีจิตสำนึกคัดค้านระบบเผด็จการว่าตามความสมัครใจของเขานั้น เขาสามารถคัดค้านได้เพียงใดและโดยวิธีใดก็ควรเป็นไปตามความสมัครใจของเขา เช่นเขาสามารถเพียงทำการโฆษณาคัดค้านฝ่ายเผด็จการโดยทางใด ๆ ก็ต้องถือว่าเป็นประโยชน์แก่การคัดค้านเผด็จการ มิใช่จะต้องเรียกร้องให้เขาทำสิ่งที่เขาไม่ถนัดหรือไม่สามารถที่จะทำได้ ถ้าฝ่ายต่อต้านเผด็จการได้คำนึงถึงข้อนี้ ก็จะได้ขุมกำลังของฝ่ายตนเพิ่มขึ้นประกอบกำลังต่อต้านเผด็จการ

ข.จำพวกที่ ๒ ราษฎรจำนวนมากที่แม้ปัจจุบันถือเอาการต่อสู้ระบบเผด็จการเป็นอันดับรอง หากถือเอาการแก้ไขให้ฐานะความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจหรือการครองชีพของตนได้ดีขึ้น ฝ่ายต่อต้านเผด็จการจะต้องคำนึงถึงความต้องการเร่งด่วนเฉพาะหน้าของราษฎรส่วนมากให้จงหนัก คือ ช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของราษฎรส่วนมากให้สำเร็จไปได้ จึงจะสามารถได้ราษฎรส่วนข้างมากเข้ามาเป็นฝ่ายต่อต้านเผด็จการ ขอให้ระลึกภาษิตของไทยโบราณว่า “จงระวังกว่าถั่วจะสุก งาก็จะไหม้เสียก่อน” หรือถ้าในขณะที่ฝ่ายต่อต้านเผด็จการไม่สามารถที่จะช่วยได้ แต่ก็จะต้องวางนโยบายแสดงวิธีแก้ไขให้ราษฎรเห็นประจักษ์ว่า ถ้าเขาร่วมต่อต้านเผด็จการแล้ว เมื่อฝ่ายต่อต้านเผด็จการได้ชัยชนะจะมีแผนการที่เขามองเห็นได้ง่าย ๆ ว่าจะแก้ไขความเดือดร้อนของเขาได้อย่างไร ไม่ใช่วางนโยบายฟุ้งซ่านที่ราษฎรไม่อาจมองเห็นได้ว่าจะแก้ไขความเดือดร้อนให้เขาได้อย่างไร เช่น ชาวนาที่เดือดร้อนในทุกวันนี้ฝ่ายต่อต้านเผด็จการจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไรให้เป็นรูปธรรม และกรรมกรรวมทั้งข้าราชการผู้น้อยที่ได้ค่าจ้างหรือเงินเดือนไม่พอใช้นั้น ฝ่ายต่อต้านเผด็จการจะแก้ไขให้เขาได้ค่าจ้าง และมีเงินเดือนสูงขึ้นนั้นโดยวิธีหารายได้ของแผ่นดินจากทางไหน และชี้ตัวเลขให้เขาเห็นชัดลงไป

ท่านที่ติดตามข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๗ ก็จะเห็นได้ว่าการที่แนวร่วมฝ่ายซ้ายได้รับคะแนนเสียงมากมายเป็นประวัติการณ์ คือ แพ้การเลือกตั้งฝ่ายขวาเพียงไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ก็เพราะฝ่ายซ้ายได้แสดงนโยบายและวิธีการง่าย ๆ ที่กรรมกรและราษฎรทั่วไปกำลังเดือดร้อนอยู่ เห็นได้ชัดว่าวิธีการนั้นสามารถแก้ไขความเดือดร้อนเฉพาะหน้าได้ และมีแผนการระยะสั้น, ระยะกลางและระยะยาว ซึ่งพัฒนาในภายหลัง

ค.จำพวกที่ ๓ ได้แก่บุคคลจำนวนน้อยส่วนหนึ่งซึ่งแม้ตัวเองมีกำเนิดในสังคมระบบทาส, ระบบศักินา, และระบบเผด็จการแต่เกิด จิตสำนึกมองเห็นกฏแห่งความเป็นอนิจจังของระบบกดขี่ขูดรีด จึงได้สละชนชั้นวรรณะเดิมของตนมายืนหยัดอยู่ในฝ่ายต่อต้านเผด็จการ ประวัติศาสตร์ในอดีตหลายประเทศก็แสดงให้เห็นประจักษ์อยู่ ดังที่ผมได้อ้างตัวอย่างไว้บ้างแล้ว บางคนก็เป็นขุนนางแห่งระบบศักดินา เช่น “มองเตสกิเออร์” ผู้เขียนหนังสือว่าด้วย “เจตนารมณ์ของกฏหมาย” (ESPRIT DES LOIS) เรียกร้องให้มีดุลยภาพแห่งอำนาจรัฐ ๓ ส่วนคือ นิติบัญญัติ,บริหาร,ตุลาการ. มิราโบก็เป็นขุนนางคนหนึ่งที่เข้าร่วมขบวนอภิวัฒน์ฝรั่งเศสต่อสู้ระบบศักดินาในการลงมติประกาศปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง เจ้าฟ้าฟิลิปป์แห่งราชวงศ์บูร์บองสายพระอนุชา (BRANCHE CADETTE) ก็ได้สนับสนุนขบวนการอภิวัฒน์ฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ ครั้นแล้วพระองค์ก็ได้ทรงสละฐานันดร “สมเด็จเจ้าแห่งออร์เลองส์” (DUC D’OREANS) มาเป็นคนสามัญและขอให้สภาสหการกรุงปารีสตั้งนามสกุลให้ท่านใหม่ สภานั้นจึงตั้งนามสกุลใหม่ให้ท่านว่า “เลกัลลิเต” (L’EGALITE) แปลว่า “มองซิเออร์ฟิลิปป์ เลกัลลิเต” แล้วสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมกับสมาชิกสภาฯ ส่วนข้างมากลงมติให้ประหารชีวิตหลุยส์ที่ ๑๖ ฐานทรยศต่อชาติที่เรียกให้ออสเตรียบุกรุกฝรั่งเศส ต่อมาท่านถูกพรรคการเมืองตรงกันข้ามกล่าวหาว่าท่านคิดจะฟื้นระบบราชาธิปไตยขึ้นมาอีก ท่านหลบหนีไปแล้วถูกจับให้สภาฯ พิจารณาตัดสินลงโทษประหารชีวิต ส่วนบุตรชายของท่านคือเจ้าฟ้าหลุยส์ฟิลิปป์ ได้ร่วมกับนายธนาคารใหญ่ทำการโค่นล้มพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๑๐ แห่งสายพระเชษฐา ในค.ศ. ๑๘๓๐ แล้วได้เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญมีพระนามว่า “หลุยส์ฟิลิปป์ที่ ๑”

มาร์กซ์และเองเกลส์ซึ่งเกิดภายหลังการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยฝรั่งเศสหลายปี ก็ได้กล่าวไว้ในตอนแถลงการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ฉบับแรกพิมพ์เมื่อ ค.ศ. ๑๘๔๘ ว่าในสมัยก่อนนี้มีบุคคลในชนชั้นขุนนางส่วนหนึ่งได้เข้าข้างฝ่ายเจ้าสมบัติเพื่อสถาปนาประชาธิปไตยขึ้น แล้วท่านก็กล่าวต่อไปอีกว่าในสมัยที่ท่านเขียนแถลงการณ์ฉบับนั้นก็มีบุคคลในชนชั้นเจ้าสมบัติส่วนหนึ่งได้มาเข้าข้างชั้นชนผู้ไร้สมบัติ ท่านได้เน้นว่าโดยเฉพาะเจ้าสมบัติที่มีปัญญาเข้าใจในกฏวิวรรตการของสังคม ตัวมาร์กซ์เองนั้นผมได้เคยกล่าวไว้ในปาฐกถาในงานชุมนุมประจำปีนักเรียนไทยในสหพันธรัฐเยอรมันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ ว่าท่านเกิดในสังคมเก่าและท่านเป็นบุตรทนายความผู้มีอันจะกิน ท่านมีภรรยาซึ่งเป็นลูกของเจ้าศักดินาเยอรมันชื่อ “เจนนี ฟอน เวสฟาเลน” ส่วนเองเกลส์นั้นก็เป็นลูกเศรษฐีเจ้าของโรงงานทอผ้าในเยอรมันแล้วต่อมาท่านไปลี้ภัยอยู่ในอังกฤษก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่คนหนึ่งของโรงงานทอผ้าที่เมืองแมนเชสเตอร์

ฉะนั้น ฝ่ายต่อต้านเผด็จการไม่ควรยึดมั่นในคัมภีร์จัด คือต้องพิจารณาบุคคลที่เกิดในสังคมเก่าให้ถ่องแท้โดยแยกให้ถูกต้องว่าส่วนใดยืนกรานอยู่ข้างฝ่ายเผด็จการ และส่วนใดที่สามารถเป็นฝ่ายต่อต้านเผด็จการได้

ง.จำพวกที่ ๔ คือบุคคลที่ไม่ควรไว้วางใจเป็นพันธมิตรอันได้แก่บุคคลที่แม้เป็นข้าไพร่ หรือตกอยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายเผด็จการ แต่กลับมีจิตสำนึกว่าระบบเผด็จการเป็นสิ่งที่สมควรเชิดชูให้ดำรงคงไว้หรือกลับฟื้นขึ้นมาอีก ทั้งนี้เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ได้หรือหวังได้ประโยชน์จากระบบเผด็จการหรือเนื่องจากซากทัศนะเผด็จการต่าง ๆ ที่รับมรดกตกทอดมาหลายชั่วคนจนฝังอยู่ในจิตใจแล้วเกาะแน่นอยู่ในความเป็นทาสหรือข้าไพร่หรือเป็นสมุนของระบบเผด็จการ บุคคลจำพวกนี้บางส่วนทำการคัดค้านและต่อสู้ฝ่ายต่อต้านเผด็จการยิ่งกว่าเจ้าทาส, เจ้าศักดินา, และผู้เผด็จการเอง แม้กระนั้นก็ดี กองกำลังกลางควรพยายามให้บางส่วนเกิดจิตสำนึกขึ้นมาบ้าง เพื่อให้เขาอยู่เฉย ๆ ไม่เป็นตัวการต่อสู้ฝ่ายต่อต้านเผด็จการ ก็จะเป็นคุณประโยชน์แก่ฝ่ายต่อต้านเผด็จการ แล้วถ้าสามารถพัฒนาจิตสำนึกให้สูงขึ้นอีกก็รับไว้เป็นแนวร่วมในระดับต่ำได้

No comments: