Friday, March 2, 2007

บทความที่ ๗๙. ประวัติศาสตร์อินเดีย (๖) - ขบวนการชาตินิยมและสันนิบาตมุสลิม

อินเดีย-ประวัติศาสตร์ที่ต้องศึกษา
ขบวนการชาตินิยมและการต่อสู้เพื่อเอกราช

ขบวนการชาตินิยมของอินเดียเริ่มเติบโตตั้งแต่ปลายคริสตศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งองค์กรชาตินิยมที่มีบทบาทในฐานะปากเสียงของประชาชน ได้แก่ คองเกรสแห่งชาติอินเดีย (Indian National Congress) ซึ่งเปิดประชุมครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๘๘๕ ที่บอมเบย์ซึ่งเริ่มแรกมีผู้เข้าประชุมเพียง ๗๐ คนจากนั้นก็มีการประชุมทุกๆปีและมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าองค์กรนี้จะตั้งโดยชาวฮินดูผู้มีการศึกษาและชาวอังกฤษผู้มีเป็นธรรมอีกทั้งยังมีชาวมุสลิมที่สนใจเข้าร่วมด้วย จุดประสงค์ของคองเกรสในตอนแรกคือยืนยันที่จะ “ตอบคำถามที่ว่าอินเดียยังไม่เหมาะที่จะมีสถานบันผู้แทนไม่ว่ารูปแบบใดๆทั้งสิ้น” แต่ก็ดูเหมือนจะเลื่อนลอยในการที่จะให้มีการปกครองแบบสภา เพราะสมาชิกคองเกรสส่วนใหญ่ยังจงรักภักดีต่ออังกฤษ

ในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ ๒๐ มีนักเคลื่อนไหวชาตินิยมรุ่นแรกเช่น ดาดาภัย เนาโรจิ นักธุรกิจชาวอินเดียที่อยู่ในลอนดอนเป็นเวลานาน จนได้รับเลือกเข้าไปนั่งในสภาสามัญของอังกฤษในนามพรรคเสรีนิยม เขาได้รับแต่งตั้งให้เข้าไปตรวจสอบการบริหารการคลังของอังกฤษในอินเดีย นักชาตินิยมคนต่อมาคือ เอ็ม จี รานาด เนื่องจากเขาเป็นผู้พิพากษาจึงไม่ได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเขามีความเห็นว่าอินเดียต้องนำระบบอุตสาหกรรมมาใช้ภายใต้การช่วยเหลือของอังกฤษ ลูกศิษย์ของเขาก็มีส่วนในการทำให้อังกฤษต้องลดภาษีและปรับปรุงการคลังให้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามบุคคลเหล่านี้จัดว่าเป็นสายกลาง (moderates) เห็นได้จากการที่พวกเขายอมรับการปกครองของอังกฤษและพยายามให้อังกฤษปรับปรุงสิ่งที่พวกตนเรียกร้องให้ดีขึ้น

หลังจาก ค.ศ. ๑๙๐๐ เป็นต้นมา คองเกรสแห่งชาติอินเดียก็แยกเป็น ๒ ฝ่าย คือฝ่ายสายกลาง กับฝ่ายรุนแรง ฝ่ายหัวรุนแรงนำโดย บัล กันกาธาร์ ติลัก ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องอย่างละมุนละม่อมของพวกสายกลาง ฝ่ายนี้ต้องการให้การให้เกิดความปั่นป่วนแก่อังกฤษ รวมทั้งใช้กำลังและก่อการร้ายหากจำเป็น ติลักมาจากวรรณะพราหมณ์แห่งเมืองปูนา เขาเป็นนักปฏิรูปที่นิยมการต่อสู้ ต้องการฟื้นฟูศาสนาฮินดูและประเพณีกลับคืนมาเพื่อเรียกร้องการสนับสนุนจากมวลชน ทำให้ขบวนการชาตินิยมกระจายไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่ เขายังได้ต่อสู้เพื่อให้กรรมกรได้ค่าแรงขั้นต่ำ เรียกร้องเสรีภาพขององค์การสหภาพการค้า การตั้งกองทัพประชาชน การให้การศึกษาแก่ประชาชนโดยไม่เก็บเงิน ติลักมีความคิดเหมือนคานธีในแง่ที่ว่าประชาชนอินเดียไม่ควรให้ความร่วมมือกับอังกฤษ แต่ต่างกันตรงที่ติลักต้องการใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับอังกฤษ การกระทำของติลักทำให้ขบวนการชาตินิยมได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไปมากยิ่งขึ้น เขาถูกจำคุกในปี ๑๙๐๘-๑๙๑๔

ส่วนผู้นำสายชาตินิยมสายกลางได้แก่ โคปาลา กฤษณา โกเคล ท่านผู้นี้คานธีนับถือเป็นครูของเขา เพราะโกเคลมีความสนใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับสวัสดิการสังคม ซึ่งมีอิทธิพลต่อคองเกรสและกำหนดทิศทางให้อินเดียเป็นรัฐสวัสดิการภายหลังได้รับเอกราช

แบ่งแยกเพื่อเข้าปกครอง

ในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ ๒๐ ขบวนการชาตินิยมนำโดยติลักได้ขยายตัวจากภาคตะวันตกไปยังแคว้นเบงกอลทางตะวันออก ซึ่งการขยายตัวอย่างรวดเร็วมีส่วนหนึ่งมาจากปฏิวัติในรัสเซียในปี ๑๙๐๕ และในปีนั้นญี่ปุ่นก็ทำสงครามชนะกองทัพเรือของรัสเซีย ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าชาวเอเชียไม่ได้ด้อยกว่าชาวตะวันตก ซึ่งในปีนั้นเช่นกันอุปราชอังกฤษประจำอินเดียได้ออกกฎหมายแบ่งแคว้นเบงกอลออกเป็น ๒ ส่วนซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวเบงกาลี(ชาวเบงกอล) เป็นอย่างมาก การแบ่งเบงกอลออกเป็นสองส่วนทำให้ฟากตะวันออกมีคนมุสลิมส่วนใหญ่มีคนฮินดูเป็นส่วนน้อย และฟากตะวันตกก็กลับกันคือมีคนฮินดูเป็นส่วนมากมีคนมุสลิมเป็นคนส่วนน้อย

ขบวนการชาตินิยมกล่าวว่าอังกฤษต้องการแบ่งเบงกอลออกเป็นสองส่วน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย Divide and rule (แบ่งแยกเพื่อปกครอง) คือทำให้ชาวเบงกอลแตกสามัคคีกัน เพื่อลดอิทธิพลของขบวนการชาตินิยมและปราบปรามการฟื้นฟูทางสติปัญญาซึ่งเริ่มตื่นตัวขึ้นมากในเบงกอลตั้งแต่ คริสตศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา

การแบ่งแยกเบงกอลเป็นสองส่วนทำให้ขบวนการชาตินิยมรวมเป็นอันหนึ่งเดียวกันทั่วประเทศอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน กลุ่มนี้ได้ต่อสู้กับรัฐบาลอย่างเข้มแข็งภายใต้คำขวัญ “สวราช” ซึ่งหมายถึงการปกครองตนเองภายใต้จักรวรรดิอังกฤษความรู้สึกชาตินิยมอย่างรุนแรงจากปัญหาการแบ่งแยกเบงกอล ทำให้กลุ่มหัวรุนแรงมีอิทธิพลในการประชุมคองเกรสแห่งชาติอินเดียในปี ค.ศ. ๑๙๐๖

นักชาตินิยมหัวรุนแรงบางคนได้ใช้การต่อสู้อย่างรุนแรงตามแบบการก่อการร้ายใต้ดินไอร์แลนด์และในรุสเซีย การก่อการร้ายมีความรุนแรงมากขึ้นในช่วง ๑๙๐๖-๑๙๐๙ ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องแก้ไขโดยออก พ.ร.บ.การปฏิรูปมอร์เลย์-มินโต ในปี ๑๙๐๙ และในปี ๑๙๑๑ อังกฤษก็ยกเลิกการแบ่งแยกเบงกอล ทำให้ชาวอินเดียเห็นว่าการใช้ความรุนแรงสามารถบีบบังคับให้รัฐบาลยอมจำนนได้ แต่การปฏิรูปดังกล่าวอังกฤษไม่ได้ทำเพื่อให้อินเดียมีการปกครองตนเอง แต่เป็นอุบายหนึ่งที่จะทำให้ขบวนการหัวรุนแรงแตกแยกกัน โดยที่อังกฤษยอมอนุญาตให้อินเดียมีการเลือกตั้งผู้แทนในขอบเขตจำกัด แต่อำนาจเด็ดขาดและการตัดสินใจขั้นสุดท้ายอยู่ที่อังกฤษ

วิธีการดังกล่าวได้รับความสำเร็จ เพราะทำให้นักชาตินิยมสายกลางกลับมามีอำนาจในคองเกรสอีกครั้งหนึ่ง มีมติ “แสดงความพอใจโดยทั่วไปและอย่างลึกซึ้งต่อการปฏิรูปดังกล่าว” การต่อต้านอังกฤษยังลดความรุนแรงลงอีกใน ค.ศ. ๑๙๑๑ เมื่ออังกฤษยกเลิกการแบ่งแยกแคว้นเบงกอล ปล่อยนักโทษการเมืองที่สำคัญๆ และให้เงินจำนวนหนึ่งเพื่อพัฒนาการศึกษาของอินเดีย

สรุปว่าตั้งแต่ปลายคริสตศตวรรษที่ ๑๙ มาถึง ค.ศ. ๑๙๑๔ ขบวนการชาตินิยมของอินเดียประกอบด้วยปัญญาชนเป็นส่วนใหญ่ และคองเกรสแห่งชาติอินเดียได้เติบโตอย่างรวดเร็ว ในระยะเวลา ๒๕ ปี ตั้งแต่ตั้งคองเกรสในปี ค.ศ. ๑๘๘๕ สมาชิกคองเกรสแห่งชาตินอกจากจะมาจากแคว้นเบงกอลและเมืองทางชายฝั่งตะวันตกแล้ว ยังมาจากส่วนต่างๆของบริติชอินเดียอีกด้วย สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือขบวนการนี้เป็นขบวนการของชนชั้นกลาง ซึ่งประกอบด้วยนักกฎหมาย นักหนังสือพิมพ์ ครู อาจารย์ และพ่อค้า คนเหล่านี้คุ้นเคยกับแนวความคิดของนักปราชญชาวตะวันตก เช่น จอห์น สจ๊วต มิล เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ และชาร์ลส์ ดาร์วิน ซึ่งเป็นนักปรัชญาเสรีนิยมที่มีอิทธิพลในคริสตศตวรรษที่ ๑๙ แต่มักไม่เข้าใจปัญหาและความต้องการของชาวอินเดียส่วนใหญ่ในชนบทซึ่งได้แก่ ความยากจนและความอัตคัดขัดสน จึงเกิดช่องว่างอย่างมากระหว่างคนสองกลุ่มดังกล่าว จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เมื่อมหาตมะ คานธีสามารถทำให้ขบวนการชาตินิยมเป็นขบวนการของมวลชนอย่างแท้จริง

สันนิบาตมุสลิม

ลักษณะอีกประการหนึ่งของขบวนการชาตินิยมในระยะแรก คือ การที่ชาวฮินดูเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในคองเกรสแห่งชาติอินเดีย ทำให้ชาวมุสลิมส่วนมากไม่มีส่วนร่วมด้วย มุสลิมภายใต้การนำของเซอร์ เซยิด อาเหม็ด ข่าน จึงมีความรู้สึกว่าหากคองเกรสแห่งชาติสามารถเรียกร้องการปกครองแบบมีผู้แทนได้สำเร็จ พวกมุสลิมก็จะกลายเป็นชนกลุ่มน้อยที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบตลอดไป ชาวมุสลิมยังรู้สึกตื่นตระหนกในพลังอันเข้มแข็งของลัทธิชาตินิยมฮินดูมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้รักชาติชาวฮินดูบางคนกล่าวถึงมุสลิมว่าเป็น “ชาวต่างชาติ” ชาวมุสลิมจึงได้จัดตั้ง สันนิบาตมุสลิม (Moslem League) เพื่อป้องกันตนเองจากความระแวงสงสัยดังกล่าว ทางฝ่ายอังกฤษเองก็พร้อมที่จะต้อนรับและสนับสนุนสันนิบาตมุสลิม เพื่อถ่วงดุลกับคองเกรสแห่งชาติอินเดีย

อย่างไรก็ตามการก่อตั้งสันนิบาตมุสลิมก็ไม่ได้เกิดจากการวางแผนของอังกฤษ แต่เป็นผลจากการดำเนินกลยุทธ์ที่ผิดพลาดของผู้นำชาตินิยมฮินดูอย่างเช่น ติลัก ซึ่งเน้นการฟื้นฟูศาสนาฮินดูเพื่อกระตุ้นความรักชาติของประชาชน ซึ่งกลับทำให้มุสลิมถูกกีดกันออกไป มุสลิมจึงเกิดความหวาดระแวงว่าตนจะต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของชาวฮินดูในอนาคต

No comments: