บทความนี้นำมาจากหนังสือ “รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ชี้ทางรอดของไทย”
เป็นบทสัมภาษณ์รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ โดยนายแอนโทนี พอล ผู้สื่อข่าวนิตยสารเอเชียวีค ประจำกรุงปารีส ได้สัมภาษณ์ท่านปรีดี พนมยงค์ ณ บ้านพักของท่านชานกรุงปารีส และได้นำคำสัมภาษณ์นั้นลงในนิตยสารเอเชียวีค ฉบับวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๑๙๗๙-๔ มกราคม ๑๙๘๐ ภายใต้หัวเรื่องว่า “PRIDI THROUGH A LOOKING GLASS” ถอดความเป็นภาษาไทยโดย ร.อ. วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช์ รน. ตรวจทานโดย สุภัทร สุคนธาภิรมย์
(ผมได้คัดลอกมาเฉพาะคำถาม-คำตอบที่เห็นว่าตรงกับสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทยเท่านั้น-แด่บรรพชนผู้อภิวัฒน์ ๒๔๗๕)
ถาม ท่านจะบรรยายลักษณะสภาวะการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร ? ตามทรรศนะของท่านอะไรเป็นพลังทางการเมืองสำคัญที่ดำเนินอยู่ ?
ตอบ พลังสำคัญอย่างที่ทุกคนควรต้องยอมรับก็คือ ประชาชน แต่ประชาชน ตามที่รู้กันอยู่แบ่งออกเป็นหลายชนชั้นและหลายระดับชั้น ถัดมามีพลังที่ได้รับคะแนนเสียงส่วนข้างมากในรัฐสภา แต่นอกจากนี้เราต้องพิจารณาถึงพลังที่อยู่นอกวงการของสภาด้วย อย่างที่ทราบกันในประเทศของเรามีพลังพิเศษนอกสภา ซึ่งจะต้องคำนึงถึงด้วย คือ พวกซากเดนศักดินา พวกซากเดนนาซีไทย พวกนิยมสังคมมนุษยชาติ พวกสังคมนิยมและพวกคอมมิวนิสต์ที่มีแนวทางต่าง ๆ กัน พวกนายทุนสมัยใหม่หรือพวกประชาธิปไตยแบบตะวันตก ประชาธิปไตยทหาร
ถาม ท่านคิดไหมว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเหมาะสมกับสถานการณ์นี้ ?
ตอบ รัฐธรรมนูญห้ามเสรีภาพในความคิดบางอย่างในการต่อสู้ด้วยวิถีทางสภา
ถาม ถ้างั้น, ท่านก็สนับสนุนให้พวกคอมมิวนิสต์รวมอยู่ด้วยในกระบวนการทางรัฐสภานะซี ?
ตอบ ข้าพเจ้าคิดว่ามันเป็นการดีกว่า สำหรับทุกคนที่จะอภิปรายเรื่องต่างๆ อย่างเปิดเผยและถูกต้องตามกฎหมายในสภา อย่างเช่นในอังกฤษ ฝรั่งเศส และยุโรปตะวันตก ซึ่งพวกคอมมิวนิสต์มีเสรี...ข้าพเจ้าคิดว่ามันดีกว่า แน่ละ,มีพวกคอมมิวนิสต์หลายชนิด และพวกเขาก็มีทรรศนะแตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องนี้...
ถาม ท่านจะบรรยายลักษณะปรัชญาทางการเมืองของท่านสักหน่อยจะได้ไหม ?
ตอบ ปรัชญาทางการเมืองของข้าพเจ้า คือ สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย (Scientific Democratic Socialism) เพราะว่าประชาธิปไตยและสังคมนิยมควรมีพื้นฐานเป็นวิทยาศาสตร์ แม้ในรัฐสภา การต่อสู้ทางสภาก็เป็นหนทางหนึ่งของการต่อสู้ด้วยเหมือนกัน เราต้องพิจารณาที่จะเลือกการต่อสู้ตามกาละเทศะและเงื่อนไข บางทีการต่อสู้ทางรัฐสภาดีสำหรับบางคราว บางสภาพเราไม่ควรปฏิเสธการต่อสู้ทางรัฐสภาเสียหมดทีเดียว...
ถาม มีการกล่าวในบางวงการของกรุงเทพฯ เสมอว่า ก่อน ๆ นี้ท่านเคยช่วยให้เกิดกบฏขึ้นในประเทศไทย ท่านมีอะไรจะวิจารณ์ในเรื่องการโจมตีต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ไหม ?
ตอบ ข่าวลือมีแยะ...บางข่าวยิ่งร้าย มีข่าวหนึ่งว่าข้าพเจ้าปลงพระชนม์กษัตริย์ ข่าวลือมากมาย นับแต่ข้าพเจ้าออกจากประเทศจีนมามีข่าวและบทความเป็นคราว ๆ ที่พูดให้ร้ายข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงต้องฟ้องร้องบุคคลเหล่านั้นต่อศาลและด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงไม่ชอบตอบข่าวลือ คุณเข้าใจไหม ?
ถาม ท่านบอกข้าพเจ้าได้ไหมว่าคดีอะไรที่ท่านชนะเมื่อเร็ว ๆ นี้
ตอบ คดีล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้เรื่องกรณีสวรรคตของกษัตริย์ เป็นคดีหมิ่นประมาทที่ข้าพเจ้าชนะในกรุงเทพฯ หลายเดือนมาแล้ว บางคนกล่าวหาว่าข้าพเจ้าปลงพระชนม์กษัตริย์ นักหนังสือพิมพ์เขียนอย่างนั้นลงในหนังสือพิมพ์ภาษาไทย, ข้าพเจ้าชนะคดีคึกฤทธิ์ด้วย ภายหลังข้าพเจ้ามาถึงที่นี้เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๗๐ พวกปฏิปักษ์ของข้าพเจ้าพยายามรื้อฟื้นคดีมาโจมตีข้าพเจ้าเป็นระยะ ๆ และนั่นแหละ ทำให้ข้าพเจ้าต้องฟ้องร้องพวกเขา
ถาม และท่านชนะเสมอหรือ ?
ตอบ เสมอ
ถาม ในที่ประชุมหนังสือพิมพ์ที่ฮ่องกงเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๗๘ ข้าพเจ้าได้ถามนายกรัฐมนตรีเกรียงศักดิ์ว่า ทำไมเขาไม่เชิญปรีดีกลับประเทศไทย และนายกรัฐมนตรีตอบว่า ท่านกลับเมื่อไรก็ได้ ด้วยความยินดี เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ เรือเอกวัชรชัย อดีตราชองครักษ์ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวพันด้วยในข้อกล่าวหาว่าลอบปลงพระชนม์ ก็ได้กลับไปแล้ว และไม่เห็นมีอันตรายอะไร ทำไมท่านไม่กลับไปล่ะ ?
ตอบ โดยทั่วไป, สภาพแวดล้อมยังไม่เหมาะสำหรับข้าพเจ้าที่จะกลับไป ประการที่สอง คุณก็ทราบ ข้าพเจ้าบริสุทธิ์ในเรื่องกรณีสวรรคตของกษัตริย์ และถ้าข้าพเจ้ากลับไปเพราะระยะเวลาที่กำหนดโดยข้อบัญญัติของกฏหมายว่าหมดอายุความแล้ว ประชาชนก็อาจพูดกันว่า “นั่นไง,เขาได้รับความคุ้มครองตามข้อบัญญัติของกฏหมายที่หมดอายุความในคดีอาญาของเขา บัดนี้เขาจึงกลับมา” เพราะฉะนั้น,ประชาชนอาจพูดว่า ไม่ใช่ว่าเขาบริสุทธิ์หมดจดหรอก ในเมื่อเขารอคอยจนกระทั่งเขาได้รับการคุ้มครองจากข้อบัญญัติของกฏหมาย มันเป็นปัญหาเกี่ยวกับเกียรติยศและความเป็นธรรม ไม่ใช่ปัญหาถูกต้องตามกฏหมาย
ถาม ท่านจะไม่กลับตลอดไปเลยหรือ ?
ตอบ ข้าพเจ้าไม่ได้ว่าอย่างนั้น ข้าพเจ้ากำลังคอยสภาพแวดล้อม
ถาม สภาพแวดล้อมอย่างไร ?
ตอบ อ๋อ, สภาพแวดล้อมหลายอย่าง เมื่อประชาชนส่วนข้างมากเข้าใจถูกต้องว่าข้าพเจ้าเป็นผู้บริสุทธิ์
ถาม ท่านคิดว่าประชาชนส่วนมากคิดว่าท่านมีความผิดอย่างนั้นหรือ ?
ตอบ เปล่า, ไม่ใช่ว่าจะชัดแจ้งแจ่มแจ๋วไปทั่วหมดอย่างนั้น ประชาชนส่วนข้างมากอยู่ในขอบเขตที่มืดมนมองไม่เห็น พวกเขาบางทีไม่รู้และก็ไม่ได้สนใจเท่าใดนัก แต่ข้าพเจ้าไม่สบายใจจากความจริงที่ว่าประชาชนอาจคิดว่า ข้าพเจ้ากลับไปเพราะได้รับการคุ้มครองจากข้อบัญญัติของกฏหมายเกี่ยวกับการหมดอายุความ ข้าพเจ้าไม่รีบร้อนอะไรหรอก
ถาม ที่เป็นปัญหาละเอียดอ่อนมากในเนื้อหาของสถานการณ์ประเทศไทย ท่านเคยได้รับหรือว่าไม่เคยได้รับการติดต่อกับกษัตริย์บ้างไหม ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ?
ตอบ ไม่, ไม่,ไม่,
ถาม จะเป็นเหตุผลพอเพียงไหมที่จะกลับไป คือถ้าท่านได้รับการเชิญให้กลับโดยกษัตริย์ภูมิพล
ตอบ โอ, ไม่, ไม่, ไม่, ข้าพเจ้าไปได้หวังการเชิญจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ถาม ท่านยังรักษาการติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูตไทยที่นี่อยู่หรือ ?
ตอบ ใช่
ถาม ท่านรู้ตัวว่ามีการเผ้าดูแลชนิดใดบ้างไหม จากเจ้าหน้าที่ไทย ?
ตอบ ไม่
ถาม พวกเขาไม่เฝ้าดูท่านหรือ ?
ตอบ (หัวเราะ) มันยาก ท่านก็รู้ เดี๋ยวนี้มีวิธีการเฝ้าหลายอย่าง ไม่สำคัญที่ต้องเฝ้าตลอดทั้งวัน ท่านรู้หรือเปล่า, เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ปีที่แล้ว ท่านเอกอัครราชทูตมาเยี่ยมภรรยาข้าพเจ้า บอกว่าเขาได้รับคำสั่งจากกระทรวงของเขาว่า ข้าพเจ้ากำลังวางแผนจะกลับประเทศไทย และถามว่าเรื่องนี้เป็นจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นจริงพวกเขาจะเตรียมให้การคุ้มครองป้องกันข้าพเจ้าภายหลังจากที่ไปถึงกรุงเทพฯ ภรรยาข้าพเจ้าตอบว่า ข้าพเจ้ากำลังอยู่ในโรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจ
ถาม ท่านยังคงติดต่อกับพวกนักเรียนไทยหรือคนไทยที่พำนึกอาศัยในประเทศฝรั่งเศสอยู่หรือ ?
ตอบ ใช่, ข้าพเจ้าพบปะกับพวกนักเรียน เพราะว่านักเรียนบางคนต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ เขามาหาข้าพเจ้าเป็นครั้งคราวเพื่อคุยกันถึงเรื่องประสพการณ์ในอดีตของข้าพเจ้า
ถาม นักเขียนคนหนึ่งเคยกล่าวยกย่องท่านว่า “ท่านปรีดี ถ้าไม่เคยหนุ่มมาก่อน ก็จะไม่แก่เลย” ข้าพเจ้าใคร่จะสำรวจเรื่องราวของท่านในตอนต้นๆ ชีวิตของท่าน และในเวลาอันยาวนานที่ท่านต้องลี้ภัย ตอนแรกในวัยหนุ่ม ขณะท่านเป็นนักเรียนในปารีสตอนปี ค.ศ. ๑๙๒๐ ท่านคงต้องมีทรรศนะต่อชนิดของสังคมที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทย ชนิดอย่างที่ท่านเป็นคนหนุ่มอยากจะสร้างสรรค์ ท่านจะสรุปทรรศนะนั้นให้เราทราบได้ไหม ?
ตอบ อย่างที่คุณทราบ ข้าพเจ้าศึกษากฏหมายในคณะนิติศาสตร์ฝรั่งเศส (Faculti de Droit) โครงการศึกษาในสมัยโน้นมีกว้างขวาง เพราะว่าเราไม่ใช่เรียนเพียงแต่กฏหมายเอกชนและกฏหมายมหาชนเท่านั้น หากต้องเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองอีกด้วย นี่แหละที่ทำไมข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่าเศรษฐกิจเป็นรากฐานของสังคม กฎหมายและสถาบันต่าง ๆ เป็นโครงสร้างชั้นบน ความคิดในทางอภิวัฒน์ของข้าพเจ้ามีพื้นฐานอยู่บนเศรษฐกิจ
ถาม ท่านจะถือว่าทรรศนะของท่านเป็นชาวมาร์กซิสต์ หรือมาร์กซิสต์ใหม่ได้ไหม ?
ตอบ ไม่,ไม่,ไม่, ข้าพเจ้าได้บอกแล้วว่าปรัชญาของข้าพเจ้าคือ “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” ถึงแม้ว่าถ้ามาร์กซ์พูดอย่างนี้หรืออย่างนั้น ข้าพเจ้าก็ต้องพิจารณาว่าเป็นจริง หรือเป็นไปตามสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยหรือไม่ สังคมนิยมมีอยู่หลายชนิด แม้ลัทธิมาร์กซ์ก็มีชนิดต่างๆ มีลัทธิมาร์กซ์ ลัทธิเลนิน ลัทธิทรอตสกี้ และอะไรต่ออะไร ข้าเจ้ามีอิสระที่จะเลือกทฤษฎีใด ทฤษฎีหนึ่งที่สอดคล้องกับหลักห้าประการของเรา...
เราไม่อาจกระโจนพรวดเดียวถึงขั้นสุดยอดของสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยได้ เราต้องก้าวไปทีละขั้นๆ อย่างที่คนเราค่อยมีฐานะดีขึ้น ๆ เป็นลำดับ อย่างที่คุณเห็นในประเทศของข้าพเจ้า แม้ภายหลังการอภิวัฒน์ ค.ศ. ๑๙๓๒ เมื่อพวกเขาต้องการไปเร็วเกินไป ก็ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ล้มเหลว
ถาม ในสังคมประชาธิปไตยตามความคิดของท่าน อะไรที่ท่านถือเป็นความสำคัญอันดับแรก ? การศึกษา ? อ่านออกเขียนได้ทั้งหมด ?
ตอบ เศรษฐกิจอันดับแรก, เศรษฐกิจอันดับแรก
ถาม อะไรคือข้อเสนอในทฤษฎีเศรษฐกิจของท่าน ? ท่านคิดว่ารัฐบาลควรควบคุมเศรษฐกิจอย่างนั้นหรือ ?
ตอบ เอาละ คุณก็รู้ ตอนแรก(เมื่อประเทศเริ่มออกเดิน) รัฐบาลไม่อาจทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่างได้ เราต้องให้บทบาทแก่ผลประโยชน์ส่วนบุคคล ยังไม่(ถึงเวลา)ทำให้เป็นของชาติ ไม่,ไม่ ถ้าเราทำอย่างนั้นเราก็จะล้มละลาย ถ้าชาติต้องการทำอะไร ๆ ให้เป็นของชาติในทันทีทันใด นั่นเป็นการตรงกันข้ามกับสังคมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย
ถาม เดี๋ยวนี้ท่านได้มีเวลามาหลายปีที่จะไตร่ตรองถึงระยะเวลาระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๒๐ ถึง ค.ศ. ๑๙๔๐ ขณะที่ท่านมีส่วนร่วมในการเมืองของไทยอย่างเอาการเอางาน คุณูปการอันไหนของท่านที่มีต่อปรเทศไทยในระหว่างปีเหล่านั้น ที่ยังความพอใจแก่ท่านมากที่สุดในขณะนี้ ?
ตอบ การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๓๒ และการรับใช้ชาติร่วมกับสหาย “เสรีไทย” ของข้าพเจ้าระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อสู้รบกับญี่ปุ่นผู้รุกรานและได้ฟื้นคืนเอกราชและอธิปไตยของชาติกลับมาได้อย่างสมบูรณ์หลังสงคราม
ถาม ประเทศไทยเดี๋ยวนี้มีรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยอย่างที่ท่านอยากให้เป็นหรือยัง ?
ตอบ ดีละ, ถ้าเราพูดถึงกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าคิดว่าต้องเติมว่า อย่างเป็นประชาธิปไตยเข้าไปด้วย เพราะกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็มีหลายอย่างต่าง ๆ กัน รัฐธรรมนูญก็มีมากมายหลายชนิด แม้ราชอาณาจักรของอิตาลีภายใต้ระบอบฟาซิสต์ของมุสโสลินีก็มีรัฐธรรมนูญ นั่นแหละ,ทำไมข้าพเจ้าจึงชอบใช้คำว่า “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” ข้าพเจ้าคิดว่าคุณคงเข้าใจ
ถาม ท่านคิดว่าอะไรที่น่าจะเป็นความผิดอันใหญ่หลวงของท่าน ? ถ้าท่านมีอำนาจกลับไปและแก้ไขเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตของท่าน การตกลงใจหรือการกระทำอันไหนที่ท่านอยากเปลี่ยนมากที่สุด ?
ตอบ ถ้าท่านถามถึงว่าอะไรที่ข้าพเจ้าจะทำ ถ้าข้าพเจ้ากลับไปเป็นนายกรัฐมนตรี..เอาละ ข้าพเจ้าขอตอบว่า ข้าพเจ้าไม่สนใจที่จะกลับสู่การเมืองอีกหรอก เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้าแก่มากแล้ว แต่ข้าพเจ้าตอบท่านได้ถึงความผิดในอดีตของข้าพเจ้า
ในปี ค.ศ. ๑๙๒๕ เมื่อเราเริ่มจัดตั้งแกนกลางของพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง ๒๕ ปี เท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียว ขาดความจัดเจน แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับปริญญาแล้วและได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี (ของกฏหมายเปรียบเทียบ) ข้าพเจ้าไม่มีความเจนจัด และโดยปราศจากความเจนจัด บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา ข้าพเจ้าไม่ได้นำเอาความเป็นจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ตามหนังสือ ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี ในปี ค.ศ. ๑๙๓๒ ข้าพเจ้าอายุ ๓๒ ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ.
ถาม ความผิดพลาดอย่างอื่นมีอีกบ้างไหม ?
ตอบ มี, คือวิธีการเสนอแผนเศรษฐกิจของข้าพเจ้าอย่างไม่ถูกต้อง ข้าพเจ้าเสนอแผนเศรษฐกิจ แต่ข้าพเจ้าควรใช้เวลาให้มากกว่านั้นอธิบายแก่ประชาชน เวลานั้นมีบุคคลไม่กี่คน ที่จะเข้าใจแผนเศรษฐกิจของข้าพเจ้า แม้ในระหว่างคนรุ่นก่อน คือสมาชิกในคณะรัฐบาลก่อนซึ่งเราเชิญเข้ามามีส่วนร่วมในการบริการประเทศ พวกเขาตีความแตกต่างกันไป พวกเขาไม่เข้าใจ ข้าพเจ้าควรพยายามให้หนักขึ้น ที่จะอธิบายกับพวกเขาว่าทั้งหมดมันหมายถึงอะไร
แต่ทว่ามันก็เป็นแผนเศรษฐกิจที่ไม่เหมาะสมด้วยเหมือนกัน ข้าพเจ้าเสนอว่าไม่ใช่เป็นแผนเศรษฐกิจขั้นสุดท้าย มันค่อนข้างจะเป็นโครงการชั้นเตรียมการมากกว่า หลายคนเหมาเอาว่าเป็นแผนเลยทีเดียว ไม่ใช่เป็นแนวทางหรือเป็นข้อเสนอพอเป็นพื้นฐานสำหรับการวางแผนต่อไป ในสังคมนั้นย่อมมีการขัดแย้งกันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ คุณต้องเข้าใจ และพวกรุ่นเก่ามีความกลัวมากทีเดียวในบางอย่างที่เป็นสังคมนิยม พวกเขาไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นสังคมนิยม อะไรเป็นคอมมิวนิสต์ พวกเขาเอาทุกอย่างที่ตรงข้ามกับวิสาหกิจเอกชนเป็นคอมมิวนิสต์ไปหมด.
No comments:
Post a Comment