Monday, March 12, 2007

บทความที่ ๙๑. จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยสันติวิธีหรือไม่ (จบ)

จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยสันติวิธีหรือไม่ (จบ)
ศ.ดร. ปรีดี พนมยงค์
เมื่อเจ้าศักดินาในดินแดนเยอรมันยอมผ่อนผันให้มีระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกขึ้น แม้จะยังไม่สมบูรณ์แต่ก็ช่วยให้ประเทศและแคว้นต่าง ๆ ในดินแดนเยอรมนีได้พัฒนาก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและการผลิตชีวปัจจัยและเป็นพลังให้เยอมนีชนะฝรั่งเศสในค.ศ.๑๘๗๐ ต่อมาเมื่อได้สถาปนาจักรภพเยอรมนีขึ้นในค.ศ.๑๘๗๑ แล้ว ระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกในเยอรมนีกลับเสื่อมลง โดยไกเซอร์และผู้นิยมได้ผันแปรให้ท่านเป็นราชาธิบดีออกนอกเหนือรัฐธรรมนูญยิ่งขึ้น และนำความหายนะมาสู่เยอรมนีในการทำสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งเยอรมนีเป็นฝ่ายแพ้ คนเยอรมนีอัตคัดขัดสนกันมาก ท่านที่เป็นนักศึกษาในเยอรมนีย่อมรู้อยู่แล้วว่าภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้มีอภิวัฒน์รุนแรงในเยอรมันเพียงใด ครั้นแล้วมวลราษฎรเยอมนีก็ได้ทำการต่อสู้ได้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับไวมาร์” ประเทศเยอรมนีกำลังดำเนินก้าวหน้าไปตามระบบประชาธิปไตยนั้นก็เกิดมีระบบนาซีซึ่งนำเยอรมนีสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้เยอรมนีพ่ายแพ้เสียหายยับเยิน เสร็จสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้วมวลราษฎรในดินแดนเยอรมันตะวันตกได้รวมกันเป็นพลังเรียกร้องระบบประชาธิปไตยซึ่งสัมพันธมิตรผู้ยึดครองจำต้องยินยอมให้มวลราษฎรเยอรมนีตะวันตก สถาปนาดินแดนของตนเป็นสหพันธรัฐมีระบบประชาธิปไตย แบบยุโรปตะวันตก สหพันธรัฐนี้ก็พัฒนาก้าวหน้าในการอุตสาหกรรมและการผลิต การเศรษฐกิจและการเงินของเยอรมนีเข้มแข็งมั่นคงตามที่เราเห็นกันอยู่ ต่างกนมากกับสมัยภายใต้ระบบเผด็จการนาซีที่คนเยอรมนีอัตคัดมาก

ส่วนประเทศอื่น ๆ ในยุโรปตะวันตกนั้น พลังใหม่ที่ก้าวหน้าได้ต่อสู้กับพลังศักดินาเก่าโดยใช้วิธีสันติบ้าง ไม่สันติบ้างเพื่อจะได้ระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตก พวกเจ้าศักดินาในประเทศเหล่านั้นก็ดื้อรั้นเหนี่ยวรั้งอยู่ตลอดมาในระยะเวลาหลายสิบปีนับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ ๑๘ แต่ในที่สุดเมื่อเห็นว่าถ้าขืนดื้อรั้นอยู่ต่อไป ระบบศักดินาของตนก็จะถูกโค่นอย่างถอนราก ฉะนั้นเพื่อรักษาส่วนที่ควรรักษาเดิมไว้ได้บ้าง จึงได้ผ่อนผันให้มวลราษฎรในประเทศของตนได้ระบบประชาธิปไตยตามคำเรียกร้องโดยวิธีสันติของมวลราษฎร

ส่วนรุสเซียในสมัยพระเจ้าซาร์นั้น แม้ระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกเกิดมีขึ้นในยุโรปตะวันตกเป็นเวลากว่า ๑๐๐ ปีก็ตาม แต่พระองค์กับพวกสนับสนุนก็ยังหลงเข้าใจว่าราษฎรรุสเซียส่วนมากนั้นโง่เขลา ยังไม่พร้อมที่จะได้การปกครองประชาธิปไตยแม้เพียงขนาดตะวันตก ราษฎรรุสเซียก็ถูกกดขี่ขูดรีดอย่างหนักตามระบอบศักดินา ซึ่งได้รับความอัตคัดขัดสนอย่างแสนสาหัส ส่วนพระเจ้าซาร์และเจ้าศักดินาทั้งหลายได้เสวยสุขสำราญ ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าราชสำนักนั้นหรูหราและฟุ่มเฟือยที่สุดในระบบศักดินาด้วยกัน แม้ว่าราษฎรรุสเซียส่วนมากยังจะโง่เขลา ยังไม่เข้าใจเรื่องระบบประชาธิปไตยตะวันตก แต่ตามธรรมชาตินั้นมนุษย์ต้องการปลดเปลื้องความทุกข์ยาก ถึงแม้จะเป็นพลังที่เงียบอยู่แต่ก็เป็นพลังที่คอยรับการปลดเปลื้องความทุกข์ยากซึ่งเมื่อขบวนใดปลุกระดมขึ้นก็เป็นพลังมหาศาลที่เอาการเอางานจริงจังได้แทนที่จะเงียบอยู่

ดังนั้นจึงได้มีพวกก้าวหน้าในรุสเซียได้มองเห็นพลังสำคัญของราษฎรนี้ ที่จะได้สนับสนุนให้เปลี่ยนระบบศักดินารุสเซียมาเป็นระบประชาธิปไตยตะวันตกขึ้นก่อน ส่วนวิธีที่จะได้ประชาธิปไตยนั้น ในระยะแรก ๆ มีหลายขบวนการที่คิดใช้วิธีต่าง ๆ กัน บางขบวนคิดใช้วิธีเรียกร้องอย่างสันติ บางขบวนการคิดใช้กำลังอาวุธ พระสังฆราชองค์หนึ่งแห่งกรุงเซนต์ปิเตอร์สเบิร์ก (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเปโตรกราด,ปัจจุบันเป็นเลนินกราด) เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่พระเจ้าซาร์จะต้องพระราชทานรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ท่านสังฆราชองค์นั้นเห็นว่าต้องใช้วิธีสันติ ท่านจึงป่าวร้องทายกทายิกาให้รวมกำลังกันเดินขบวนไปยังพระราชวัง เพื่อทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย แต่เมื่อขบวนราษฎรไปถึงหน้าพระราชวังก็ถูกทหารรักษาพระองค์ใช้อาวุธยิงกราดมายังราษฎร ซึ่งล้มตายบาดเจ็บไปตาม ๆ กัน ผลจากการที่ไม่พระราชทานรัฐธรรมนูญโดยวิธีสันติ จึงทำให้ขบวนก้าวหน้าส่วนข้างมากที่เรียกกันว่า “บอลเชวิค” แห่งพรรคสังคมประชาธิปไตยใช้วิธีต่อสู้อย่างไม่สันติจึงถูกปราบหลายครั้ง ส่วนพวกก้าวหน้าฝ่ายนายทุนก็พยายามต่อสู้อย่างสันติ พระเจ้าซาร์ก็ยังดื้อรั้นไม่ยอมให้ประชาธิปไตยแบบตะวันตก จนกระทั่งปลายสงครามโลกครั้งที่ ๑ ราษฎรรุสเซียได้รับความอัตคัดขาดแคลนยิ่งขึ้น ฝ่ายก้าวหน้าของนายทุนทนดูอยู่ต่อไปไม่ได้จึงร่วมกับบอลเชวิคใช้กำลังบังคับให้พระเจ้าซาร์สละราชสมบัติให้พระอนุชา สถาปนาประชาธิปไตยแบบยุโรปตะวันตกขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๗ พระอนุชาเห็นท่าไม่ดีก็สละราชสมบัติอีก ครั้นแล้วรัฐบาลซึ่งประกอบด้วยพวกตัวแทนนายทุนก็ได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้น รัฐบาลชั่วคราวก็ไม่สามารถแก้ความขัดสน การอัตคัดขนมปังของราษฎรรุสเซียได้ ต่อมาอีกเพียง ๖ เดือน ฝ่ายบอลเชวิคจึงนำราษฎรลุกขึ้นจับอาวุธล้มรัฐบาลชั่วคราวในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ แล้วประกาศ สถาปนาระบบสังคมนิยมแบบมาร์กซิสต์ขึ้น การดื้อรั้นของพระเจ้าซาร์เข้าลักษณะคำพังเพยโบราณของไทยว่า “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย”

แม้ว่าประเทศในยุโรปตะวันตกบางประเทศ จะผ่อนผันโดยสันติวิธีให้ราษฎรภายในประเทศของตนได้ประชาธิปไตยแบบตะวันตกก็ดี แต่ก็ไม่ยอมให้ระบบนั้นแก่อาณานิคมหรือเมืองขึ้น ดั่งนั้นราษฎรในทวีปอเมริกา อาฟริกาและอาเซียที่เป็นอาณานิคมของประเทศในยุโรปตะวันตกจึงต้องต่อสู้โดยวิธีไม่สันติเพื่อได้เอกราชและสถาปนาระบบประชาธิปไตยตะวันตกขึ้นหลายแห่ง ถ้าท่านศึกษาในเรื่องนี้คงทราบอยู่แล้ว และจะเห็นได้ว่าสหรัฐอเมริกาซึ่งมีผู้ยกย่องว่าเป็นหัวหน้าค่ายเสรีประชาธิปไตยนั้น ก็ใช้วิธีทำสงครามภายในต่อสู้จักรวรรดินิยมอังกฤษ

ส่วนอินเดียนั้นได้เอกราชจากอังกฤษ และเอาเยี่ยงประชาธิปไตยตะวันตกมาสถปานานั้น นอกจากมีขบวนการอื่น ๆ ที่ต่อสู้จักรวรรดินิยมอังกฤษอย่างงไม่สันติแล้ว ก็มีขบวนการภายใต้มหาตมะ คานธีที่ใช้วิธี “ดื้อแพ่ง” โดยไม่ใช้กำลังอาวุธคือการไม่ยอมร่วมมือในองค์การรัฐ ห้างร้านวิสาหกิจของอังกฤษ ไม่ยอมใช้สิ่งของที่อังกฤษทำขาย ท่านคานธีถูกจับเข้าคุกหลายครั้งซึ่งท่านก็ยอมเสียสละ แม้วิธีของท่านไม่ทำให้เศรษฐกิจบั่นทอนมาก แต่เมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว รัฐบาลพรรคกรรมกรของอังกฤษเห็นว่า การที่ฝ่ายตนจะดื้อรั้นอยู่ต่อไปก็จะทำให้ขบวนการที่ใช้ความรุนแรง คือขบวนการคอมิวนิสต์อินเดียที่จะก่อสงครามกลางเมืองอันจะทำให้วิสาหกิจนายทุนอังกฤษเสียหายหนัก ฉะนั้น เพื่อรักษาระบบนายทุนของอังกฤษในอินเดียไว้ รัฐบาลอังกฤษจึงผ่อนผันโดยวิธีสันติให้อินเดียได้รับเอกราชและสถาปนาระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกขึ้น

จากอุทาหรณ์ในประวัติศาสตร์ที่ผมกล่าวมาข้างต้นจึงเห็นได้ว่าในยุโรปนั้นระบบประชาธิปไตยโดยสันติเป็นไปได้โดยเงื่อนไข ๒ ประการ คือ ประการที่ ๑ เงื่อนไขฝ่ายราษฎรที่ตกทุกข์ได้ยากพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนทุกข์โดยระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกและมีกองหน้าเป็นขบวนนำ มีทัศนะประชาธิปไตยยึดถือเป็นหลักนำการปฏิบัติของตน เพราะถ้าเพียงแต่คิด ๆ ว่าอยากได้ระบบประชาธิปไตยแต่ยึดถือทัศนะล้าหลังที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย การปฏิบัติในขั้นสุดท้ายของตนก็จะวกไปสู่ความไม่เป็นประชาธิปไตย ประการที่ ๒ เงื่อนไขฝ่ายผู้กุมอำนาจเศรษฐกิจและการเมืองและผู้กุมอำนาจทางจิตใจของมวลราษฎรว่าจะพร้อมเสียสละผลประโยชน์ของตนให้แก่มวลราษฎรได้มีระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกหรือไม่ เพื่อให้ระบบนั้นสมานกับพลังการผลิตที่พัฒนาขึ้นเพื่อเปลื้องทุกข์ของมวลราษฎร

เงื่อนไขประการที่ ๒ นี้สำหรับผู้กุมอำนาจที่นับถือธรรมของพระพุทธองค์อย่างแท้จริงโดยไม่ถือแต่เปลือกนอกเพียงให้ขึ้นชื่อว่านับถือพุทธศาสนาแล้ว ก็มีทางที่จะให้เกิดประชาธิปไตยโดยวิธีสันติได้ พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญเป็นตัวอย่างมาแล้วในการที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้สัมโพธิญาณมองเห็นความทุกข์ยากของมนุษย์ จึงได้สละความสุขสำราญของพระองค์เข้าทรงบรรพชาเทศนาสั่งสอนให้มนุษย์ปกครองกันโดยสามัคคีธรรมและทรงปกครองคณะสงฆ์ของพระองค์ให้เป็นตัวอย่างแก่ระบบประชาธิปไตย

ผู้ที่เคยอุปสมบทหรือเคยศึกษาพระธรรมวินัยย่อมรู้ว่าตามหนังสือวินัยมุข ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรณาณวโรรสได้ทรงนิพนธ์ไว้นั้นเป็นระบบประชาธิปไตยเพียบพร้อมด้วยสามัคคีธรรมโดยแท้ หากในสมัยต่อ ๆ มามีผู้ละเมิดคำสอนของพระองค์ ในสมัยพุทธกาลนั้น พระองค์ได้เทศนาโปรดพระราชบิดาซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์และโปรดกษัตริย์ใหญ่น้อยให้ตั้งอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา และได้ทรงพระราชทานพระพุทโธวาทแก่บรรดากษัตริย์ในชมพูทวีปให้ตั้งอยู่ใน”ทศพิธราชธรรม” คือ ธรรม ๑๐ ประการของราชาธิบดี ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญารวโรรสได้ทรงนำมาวิสัชนาถวายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาจุฬาลงกรณ์เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๒ (ค.ศ. ๑๘๙๓)

เมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่สยามแล้ว ได้มีพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ได้ถือเคร่งครัดในทศพิธราชธรรม และปกครองสยามตามคติประชาธิปไตยโดยขจัดอิทธิพลไสยศาสตร์แห่งคติพราหมณ์ อาทิพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัยก็ทรงบำเพ็ญเป็นตัวอย่างที่รับฟังความเดือนของราษฎร ผู้ใดทุกข์ก็ทูลเกล้าถวายฎีกาซึ่งพระองค์ได้ทรงช่วยแก้ไขทำให้ชาวไทยได้รับความผาสุกสมดังที่ทรงจารึกไว้ในหลักศิลาว่า “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว”

ต่อมาในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้นก็มีพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ได้เจริญรอยตามพ่อขุนรามคำแหง แต่อิทธิพลไสยศาสตร์ได้แทรกเข้ามาจึงทำให้บางพระองค์สนับสนุนวิธีนั้นของลัทธิพราหมณ์ อันเป็นลัทธิที่ขัดแย้งต่อคติประชาธิปไตยทางพุทธศาสนา ผลก็คือในระหว่าง ๔๑๗ ปีแห่งสมัยอยุธยานั้น ท่านที่เคยอ่านพระราชพงศาวดารก็รู้แล้วว่าได้มีการเปลี่ยนพระราชวงศ์หลายพระราชวงศ์ และในพระราชวงศ์ก็มีการต่อสู้แย่งราชสมบัติระหว่างกัน หมอแมกฟาร์แลนด์ได้สรุปในหนังสือปทานุกรมของเขาว่า สมัยอยุธยามีพระมหากษัตริย์ถึง ๓๔ พระองค์ ถัวเฉลี่ยองค์ละ ๑๒.๓ ปีเท่านั้น

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แห่งพระราชวงศ์จักรีนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ซึ่งเป็นรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงสละพระราชอำนาจหลายประการของพระองค์เพื่อเบิกทางสู่ประชาธิปไตยแบบตะวันตก โดยวิธี “ Evolution” หรือ “วิวัฒน์” อย่างสันติ อาทิ ได้ทรงแก้ระบบทาสต่อจากที่กษัตริย์สมัยอยุธยาได้แก้ไขไว้บ้างในการให้ทาสได้มีมนุษยภาพมากขึ้น โดยสันติทีละขั้น ๆ ครั้นแล้วใน ค.ศ. ๑๙๐๕ ก็ได้ทรงประกาศยกเลิกระบบทาสทั้งระบบ พระองค์ได้ทรงเริ่มปรับปรุงระบบสังคมและประเพณีโบราณที่ล้าสมัยหลายอย่าง ผมได้เคยกล่าวไว้ว่า การที่จะมีระบบประชาธิปไตยได้นั้นขบวนการนำก็จะต้องมีทัศนะประชาธิปไตยเป็นหลักนำการปฏิบัติ และช่วยให้มวลราษฎรมีทัศนะเช่นนั้นดุจกัน

ในเรื่องนี้รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงให้ราษฎรของพระองค์เลิกความเชื่อถือไสยศาสตร์และมีความเชื่อที่เป็นวิทยาศาสตร์เป็นขั้น ๆ ไป อาทิมีความปรากฏในพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธมกุฏราชกุมารซึ่งต่อมาเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๖ คือในกาลหนึ่งมกุฏราชกุมารเสด็จประทับที่พระปฐม ทรงเห็นแสงรัศมีแผ่ออกมาจากองค์พระปฐมเจดีย์ (องค์เดิม) มกุฏราชกุมารเห็นเป็นสิ่งมหัศจรรย์จึงทำบุญสมโภชน์แล้วนำความกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕ จึงทรงพระราชทานหัตถเลขาตอบอธิบายว่าปรากฏการณ์นั้นได้ปรากฏในเจดีย์หลายแห่งแต่ก็เป็นในฤดูฝนซึ่งน้ำฝนอาจจะชะมายังปูนขาวที่ประกอบเจดีย์นั้น

มีอีกกรณีหนึ่งคือเมื่อครั้งเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีสมัยเป็นเจ้าหมื่นไวยาวรนารถได้รับแต่งตั้งเป็นแม่ทัพไปปราบฮ่อที่รุกรานหลวงพระบางสมัยขึ้นอยู่กับสยาม ท่านเจ้าหมื่นได้ไปเฝ้ารัชกาลที่ ๕ ที่วังบางปะอินแล้วเอาผ้าเช็ดหน้าขาวของตนปูขึ้น ขอพระราชทานให้พระองค์ประทับพระบาทบนผ้าเช็ดหน้านั้นทูลว่าจะนำติดตัวไปในกองทัพเพื่อความสวัสดีมีชัย รัชกาลที่ ๕ ก็ทรงอนุโลมตามความประสงค์แต่รับสั่งว่า ต่อไปพระองค์จะใช้วิธีใหม่แทนวิธีของเจ้าหมื่นนั้นคือ พระองค์จะเอาเส้นผมของพระองค์ (ตามราชาศัพท์เรียกว่าเส้นพระเจ้า) มาบรรจุในยอดธงประจำกองทหารให้ชื่อว่าพระองค์เสด็จไปกับกองทหาร ทั้งนี้เป็นการเลิกวิธีไสยศาสตร์อย่างหนึ่ง

ยังมีประเพณีโบราณที่ล้าสมันบางอย่างที่พระองค์ยกเลิก อาทิ เมื่อได้เป็นพระมหากษัตริย์แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการไทยสมัยนั้น และสมัยต่อมาก็รู้กันอยู่ทั่วไป ฝรั่งหลายคนก็เขียนบันทึกไว้เชิดชูพระเกียรติคุณ ดั่งนั้นรัชกาลที่ ๕ จึงทรงวางเลิกทางการมีระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกโดยทาง “Evolution” หรือวิวัฒน์

การบำเพ็ญพระองค์ของรัชกาลที่ ๕ จึงต่างกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ (แห่งราชวงศ์โรมานอฟของรัสเซีย) ที่ได้ทรงฟื้นไสยศาสตร์ที่พระเจ้าซาร์องค์ก่อน ๆ ได้สละไปบ้างแล้ว ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ในระยะเวลาเพียง ๕๐ ปีเศษ ย่อมรู้กรณีรัสปูตินผู้เป็นจอมไสยศาสตร์ที่มีอิทธิพลเหนือพระเจ้าซาร์และพระราชินี (พระนางอเล็กซานดรา ฟิโอโดร๊อฟน่า)ซึ่งราษฎรรุสเซียและเจ้านายและขุนนางก็ไม่พอใจพระองค์ ไสยศาสตร์ก็ไม่อาจป้องกันราชวงศ์ “โรมานอฟ” ของพระเจ้าซาร์ให้พ้นจากความต้องการระบบใหม่ท่สามารถแก้ไขความทุกข์ยากของราษฎร

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ แห่งพระราชจักรีวงศ์นั้น ผมได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อว่า “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย” ขอให้ท่านหาเวลาว่างอ่านดูว่าการที่คณะราษฎรได้ใช้กำลังทำการยึดอำนาจรัฐเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น ก็เพื่อขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ ถ้าจะพิจารณาแล้วก็มีการกระทำ ๒ ขั้นตอน คือตอนที่คณะราษฎรยึดอำนาจในกรุงเทพฯ นั้นเป็นการกระทำที่ใช้อาวุธ ส่วนการของพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการกระทำโดยสันติซึ่งพระองค์ก็โปรดพระราชทานให้โดยสันติ

มีผู้โฆษณาว่าคณะราษฎรไม่เคารพพระมหากษัตริย์ผมจึงขอให้ท่านทั้งหลายศึกษาปรากฏการณ์ที่ประจักษ์ในประวัติศาสตร์เพียงชั่วเวลา ๔๑ ปีมาแล้วนี้ (ปาฐถกาครั้งนี้จัดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๖) ท่านก็จะเห็นว่าคณะราษฎรที่ยึดอำนาจรัฐได้เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น ถ้าไม่ต้องการระบบกษัตริย์แล้วก็มีอำนาจอยู่ในมือประกาศระบบสาธารณรัฐได้ แต่คณะราษฎรยังเคารพในระบบกษัตริย์จึงได้ขอพระราชทานให้พระปกเกล้าฯ ทรงดำรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบบรัฐธรรมนูญต่อไป ต่อมาในสมัย ๒๔๗๗ พระปกเกล้าฯสละราชสมบัติ ถ้าหากคณะราษฎรไม่เคารพในระบบกษัตริย์แล้วก็มีอำนาจอยู่ในมือประกาศระบบสาธารณรัฐได้ แต่คณะราษฎรก็ได้คัดเลือกเจ้านายพระองค์หนึ่งในพระราชวงศ์จักรี คือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสนอสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบในข้อเสนอของรัฐบาลคณะราษฎรอัญเชิญพระองค์เจ้า องค์นั้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ รายละเอียดปรากฏในหลักฐานที่ผมกล่าวไว้ในหนังสือที่พิมพ์ขึ้นเมื่อวันที ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๑๕ และหลักฐานอื่นๆ ที่ท่านต้องการสัจจะอาจค้นดูได้ ต่อมาเมื่อพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ สวรรคตในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลประชาธิปไตยได้มีเสียงอย่างมากทั้งในพฤฒสภา(วุฒิสมาชิก)และสภาผู้แทนที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา ถ้าหากรัฐบาลขณะนั้นไม่เคารพระบบกษัตริย์ ก็อาจประกาศระบบสาธารณรัฐได้ แต่รัฐบาลขณะนั้นได้เสนอรัฐสภาให้ความเห็นชอบอัญเชิญเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดชเป็นพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉับบ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๙

บางคนโฆษณาอ้างเหตุพระปกเกล้าฯ สละราชสมบัติว่าคณะราษฎรไม่เคารพระบบกษัตริย์ แต่ผมได้กล่าวแล้วข้างบนนี้ ซึ่งท่านจะเห็นได้ว่าคณะราษฎรปรารถนาระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อพระองค์ท่านสละราชสมบัติก็อัญเชิญเจ้านายในพระราชจักรีวงศ์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป เรื่องนี้ผมได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มที่อ้างข้างบนนี้ ผมขอคัดความตอนหนึ่งมาอ่านให้ท่านฟังดังต่อไปนี้

“การสละราชสมบัติของพระปกเกล้าฯ นั้นพระองค์ได้ทรงชี้แจงไว้ในเอกสารสละราชสมบัติแล้วว่าพระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยกับรัฐบาลสมัยก่อนนั้นอย่างไรบ้าง รัฐบาลได้พยายามที่จะกราบบังคมทูลชี้แจงข้อข้องพระทัยของพระองค์ จึงได้แต่งตั้งเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์รัฐมนตรีในรัฐบาลนั้น ซึ่งเคยเป็นเสนาบดีของพระองค์มาก่อนให้เป็นตัวแทนรัฐบาลไปกราบบังคมทูล แต่พระองค์ก็ได้ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ

มีผู้วิจารณ์ว่าพระปกเกล้าฯ ไม่ควรสละราชสมบัติเพราะพระองค์ไม่ต้องรับผิดชอบอย่างใดในการลงพระปรมาภิไธยตามที่รัฐบาลเสนอมา ข้าพเจ้าตอบผู้วิจารณ์ว่ารัฐบาลสมัยนั้นก็เสียดายเป็นอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสละราชสมบัติ แต่ถ้าคิดทางด้านพระองค์แล้ว เราก็ควรเคารพสักการะพระองค์ท่านที่มีพระราชประสงค์รักษาศักดิ์ศรีแห่งราชขัตติยะไว้ คือเมื่อทรงเห็นว่ารัฐบาลสมัยนั้นทำการไม่ต้องด้วยพระราชประสงค์ พระองค์ก็ทรงสละความสุขสำราญส่วนพระองค์ในการสละราชสมบัติ ยิ่งกว่าจะต้องลงพระปรมาภิไธยในเรื่องที่ขัดต่อความบริสุทธิ์ใจของพระองค์ ดั่งนี้ปวงชนชาวไทยต้องเคารพสักการะ และเทอดพระเกียรติ ศักดิ์ศรีอันสูงยิ่งของพระองค์ไว้ชั่วกาลนาน”

ผมได้ยกอุทาหรณ์ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับหัวข้อที่ท่านต้องการทราบ มาแสดงไว้เป็นเวลานานพอสมควรแล้ว จึงขอยุตปาฐกถาไว้เพียงนี้

คัดลอกจากหนังสือ รวมข้อเขียนของ ปรีดี พนมยงค์-ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย
ดาวน์โหลดไฟล์ฉบับสมบูรณ์ที่

No comments: