Tuesday, March 6, 2007

บทความที่ ๘๔. ประวัตศาสตร์อินเดีย (จบ) - ยวาหระลาล เนห์รู

ยวาหระลาล เนห์รู

ยวาหระลาล เนห์รู เป็นบุคคลสำคัญของอินเดียที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการเมืองการปกครองของอินเดียนับตั้งแต่ได้รับเอกราชเป็นต้นมา เป็นเวลาถึง ๑๗ ปี เขาได้รับชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งประชาธิปไตยของอินเดีย” เนห์รูเป็นบุคคลที่เฉลี่ยวฉลาด ลึกซึ้ง ขยันขันแข็ง มีอุดมคติ เขามีสิ่งที่ตรงข้ามกับ มหาตมะ คานธี คือ เนห์รูเป็นชนชั้นสูงโดยกำเนิด เขาเกิดในตระกูลพราหมณ์ที่มั่งคั่งแห่งเมืองอัลลาฮาบัด บนฝั่งแม่น้ำคงคา มีบรรพบุรุษมาจากแคว้นแคชเมียร์ทางเหนือของอินเดีย บิดาเป็นนักกฎหมายและนักการเมืองคนสำคัญชองอินเดีย ชีวิตในวัยเด็กของเนห์รูอยู่ท่ามกลางความร่ำรวยและสุขสบายทุกอย่าง

เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี เขาได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ณ วิทยาลัยแฮร์โรว์และเคมบริดจ์ตามลำดับ วิชาเอกที่เรียนในขณะนั้น ได้แก่ เคมี ชีววิทยาและธรณีวิทยา การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ทำให้เขาเชื่อมั่นในหลักของเหตุผลและวิทยาการสมัยใหม่ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของการทำงานของเขาในเวลาต่อมา ทัศนคติดังกล่าวยังทำให้เนห์รูแตกต่างไปอย่างมากจากชาวอินเดียส่วนใหญ่ ซึ่งยังคงยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณ

ต่อจากนั้นเนห์รูก็ได้เรียนกฎหมายที่อินส์ ออฟ คอร์ต ในลอนดอน ซึ่งเป็นสถาบันที่คานธีเคยศึกษามาก่อน เขาศึกษาในอังกฤษ ๗ ปีและเดินทางกลับมายังอินเดียในปี ค.ศ. ๑๙๑๒ เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี เนห์รูได้ทำงานด้านกฎหมายอยู่ในเมืองอัลลาฮาบัดเป็นเวลา ๘ ปี โดยมิได้สนใจเท่าใดนัก ในอัตประวัติของเขาได้กล่าวถึงตนเองในช่วงเวลานั้นว่า เขาได้ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานโดยไม่มีจุดหมาย เขาประพฤติตามใจตนเอง เพ้อฝัน รักความสบาย ปั้นปึ่งและหยิ่งยโสแบบลูกคนมั่งคั่ง แต่มีเหตุการณ์ ๓ ประการที่ทำให้เขาเกิดความกระตือรือร้นในทางการเมือง เหตุการณ์แรก ได้แก่ การสังหารหมู่ที่เมืองอัมริตสาร์ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ เมื่อนายพลอังกฤษออกคำสั่งให้ทหารยิงเข้าไปในหมู่ชาวอินเดียที่มาชุมนุมกันโดยไม่มีอาวุธ เหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นในปีต่อมา เมื่อเนห์รูมีโอกาสเข้าไปใช้ชีวิตเป็นครั้งแรกในหมู่บ้านห่างไกลจากถนนและทางรถไฟทำให้เขาสัมผัสกับชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของชาวชนบท

เหตุการณ์สุดท้ายที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของเนห์รูมากที่สุด ได้แก่ การทำสัตยเคราะห์ครั้งแรกของคานธีใน ค.ศ. ๑๙๒๑ ทำให้เนห์รูหันมาทุ่มเทชีวิตจิตใจให้แก่ขบวนการชาตินิยมของอินเดียตั้งแต่นั้นมา การต่อสู้ทางการเมืองด้วยวิธีสัตยเคราะห์ทำให้เนห์รูต้องถูกจำคุกหลายต่อหลายครั้ง รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น ๙ ปี ในระหว่างที่เขาถูกจองจำนั้น เนห์รูได้เขียนหนังสือออกมา ๓ เล่ม เล่มแรกได้แก่ “Glimpses of World History” ซึ่งเขียนในรูปของจดหมายถึงอินทิราลูกสาวคนเดียวของเขา หนังสือเล่มนี้เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์โลกที่มองจากสายตาของชาวเอเชีย เล่มที่สองเป็นอัตชีวประวัติมีชื่อว่า “Towards Freedom” ซึ่งเขียนใน ค.ศ. ๑๙๓๔ หนังสือเล่มนี้นอกจากจะพิจารณาถึงสิ่งจูงใจในการต่อสู้เพื่อเอกราชอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ยังถือว่าเป็นเอกสารที่สำคัญของลัทธิชาตินิยมของอินเดียอีกด้วย นับว่าเป็นหนังสือเล่มแรกที่ทำให้ชาวตะวันตกเกิดความเห็นใจในการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวอินเดีย และเป็นเรื่องราวเผยแพร่โดยฝ่ายอินเดียไม่ใช่อังกฤษ หนังสือเล่มที่สามที่เนห์รูเขียนได้ดีที่สุด ในปี ค.ศ. ๑๙๔๔ ซึ่งเป็นเวลาที่เขาถูกคุมขังครั้งสุดท้ายและเป็นช่วงที่นานที่สุด หนังสือเล่มนี้คือ “The Discovery of India” ซึ่งเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์อินเดียจากแนวความคิดที่ไม่ใช่ของคนอังกฤษเป็นครั้งแรก

ในระหว่างที่ไม่ได้ถูกจองจำและในขณะที่การต่อสู้เพื่อเอกราชสงบลงชั่วคราว เนห์รูได้เดินทางไปทั่วยุโรปและเอเชีย ในเวลาต่อมาในค.ศ.๑๙๒๗ เขาได้เข้าร่วมการประชุมคองเกรสแห่งประชาชนที่ถูกกดขี่ ที่กรุงบรัสเซลส์ซึ่งจัดโดยกลุ่มคอมมิวนิสต์ เนื่องจากเขาเห็นว่าคอมมิวนิสต์ได้ให้ความสนใจต่อเป้าหมายของลัทธิชาตินิยม เขายังได้ไปเยือนมอสโกในเดือนพฤศจิกายนปีต่อมา และรู้สึกประทับใจในแผนการและเป้าหมายของพวกคอมมิวนิสต์ แต่ขณะเดียวกันเขาก็ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงและวิธีการแบบเผด็จการ รวมทั้งการที่คอมมิวนิสต์ประณามทุกคนที่ไม่เห็นด้วย

แตกต่างจากคานธี

แม้ว่าเนห์รูจะทำงานใกล้ชิดกับคานธีตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๑ เป็นต้นมา จนกระทั่งอินเดียได้รับเอกราชและแม้ว่าเขาจะเป็นผู้ที่คานธีสนับสนุนให้เป็นผู้นำต่อไป แต่แนวความคิดของบุคคลทั้งสองนับว่าแตกต่างกันอย่างมาก ในขณะที่คานธีเชื่อว่าหลักสำคัญในการดำเนินชีวิตคือการไม่ใช้ความรุนแรง แต่เนห์รูเชื่อแต่เพียงว่าการไม่ใช้ความรุนแรงเป็นเพียงวิธีหนึ่งที่อาจใช้ได้ผลในสถานการณ์เฉพาะอย่าง เขามักไม่เห็นด้วยกับคานธีว่าการทำสัตยเคราะห์จะเกิดผลดีแก่อินเดีย และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเมื่อคานธีตั้งต้นทำสัตยเคราะห์ แต่แล้วประกาศเลื่อนในเวลาต่อมาซึ่งเนห์รูเห็นว่าคานธีไม่มีเหตุผลเพียงพอและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ สิ่งที่แตกต่างกันอีกประการหนึ่งก็คือ เนห์รูมีความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์และสนใจโลกแห่งวัตถุ ทำให้เนห์รูไม่เห็นด้วยกับวิธีการของคานธีที่นำศาสนามาผสมผสานกับการเมือง

ในขณะที่คานธีเข้าถึงประชาชนด้วยสัญลักษณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับศาสนาฮินดู เนห์รูกลับใช้ถ้อยคำสมัยใหม่และศัพท์ตะวันตกในการเข้าถึงประชาชน ที่สำคัญได้แก่ ความแตกต่างระหว่างบุคคลทั้งสองในด้านนโยบายทางเศรษฐกิจ เนห์รูไม่เห็นด้วยกับความคิดของคานธีที่คัดค้านการใช้เครื่องจักรสมัยใหม่หรือการที่คานธีให้ความสำคัญต่อการปั่นด้ายและหัตถกรรมในครัวเรือน เนห์รูเชื่อมั่นว่าอินเดียจะต้องทำการปฏิวัติอุตสาหกรรมและสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อแก้ปัญหาความล้าหลังทางเศรษฐกิจ

ลักษณะตรงกันข้ามอีกประการหนึ่ง ก็คือ คานธีเป็นนักอนุรักษ์นิยม ส่วนเนห์รูเป็นพวกหัวก้าวหน้า เนห์รูต้องการให้รัฐเป็นเจ้าของกิจการหรือควบคุมอุตสาหกรรมสำคัญๆ ของประเทศ เขายังเชื่อมั่นในการกระจายรายได้ การเก็บภาษีมรดก การปฏิรูปที่ดิน ส่วนคานธีต้องการให้คนร่ำรวยสละทรัพย์สินของตนโดยสมัครใจเพื่อพิทักษ์คนที่ยากจนกว่า ซึ่งเนห์รูเห็นว่าเป็นอุดมคติที่สูงส่งและยากที่จะนำมาปฏิบัติได้ เนห์รูต้องการให้พรรคคองเกรสแห่งชาติบรรจุแผนการปฏิรูปสังคมดังกล่าวไว้เป็นนโยบายหลักของพรรค เขาหวังที่จะเปลี่ยนแปลงแนวความคิดของพรรคให้เป็นสังคมนิยมทั้งหมด ด้วยความช่วยเหลือของนักสังคมนิยมรุ่นหนุ่มในพรรค ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวของเขาที่ว่า

โดยเหตุที่ข้าพเจ้าปรารถนาจะให้ลัทธิสังคมนิยมนี้เจริญก้าวหน้าอย่างมากในประเทศนี้และหวังว่ากาลเวลาจะกลับใจคองเกรสแห่งชาติและประเทศชาติให้หันมาหาลัทธิสังคมนิยมได้ เพราะว่าโดยอาศัยการแก้ปัญหาแบบสังคมนิยมเท่านั้นที่ข้าพเจาเห็นว่าจะทำให้อินเดียบรรลุถึงอิสรภาพได้” แต่เนห์รูก็ไม่สามารถทำได้ในระหว่างที่คานธียังมีชีวิตอยู่

บทบาทของเนห์รูภายหลังเอกราช

เนห์รูได้รับเลือกให้เป็นประธานของพรรคคองเกรสแห่งชาติถึง ๔ ครั้งก่อนที่อินเดียจะได้รับเอกราช ในฐานะประธานพรรคคองเกรสแห่งชาติ เขาจึงได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของคณะรัฐบาลชั่วคราวที่ตั้งขึ้นโดย ลอร์ด วาเวลล์ อุปราชอังกฤษในปี ค.ศ. ๑๙๔๖

คุณสมบัติของเนห์รูได้แก่การเข้าถึงประชาชนทั่วประเทศ เมื่อเดินทางไปปราศรัยในที่ต่างๆ เขาจะได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างเนืองแน่นอยู่เสมอ ทั้งนี้เนื่องจากเขามีพรสวรรค์ในการพูด ประกอบกับความจริงใจที่มีต่อประชาชน และความตั้งใจที่จะทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติ รวมทั้งความสามารถที่จะพูดเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย เนห์รูจึงไม่เพียงแต่จะเป็นวีรบุรุษของการกู้อิสรภาพและทายาททางการเมืองของคานธีเท่านั้น แต่เขายังเป็นผู้ที่ประชาชนนิยมยกย่องอย่างมาก

แม้กระนั้นก็ตาม เนห์รูก็ยังถูกขัดขวางจากสมาชิกพรรคคองเกรสส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของเขา นักการเมืองหลายคนก็คงคุมแค้นในเรื่องการแบ่งแยกอินเดีย และพยายามผลักดันให้รัฐบาลแก้แค้นปากีสถาน หลายคนไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดของเนห์รูเกี่ยวกับลัทธิสังคมนิยม การวางแผนเศรษฐกิจ การเมืองของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เนห์รูแยกศาสนาออกจากการเมือง ทำให้เขาได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มนักการเมืองดังกล่าว

เนห์รูจึงตัดสินใจลาออกจากคณะกรรมาธิการปฏิบัติการของคองเกรส ในค.ศ. ๑๙๕๐ ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๕๑ เขาก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานพรรคคองเกรสอีกเป็นครั้งที่ ๕ ซึ่งพิสูจน์ว่าเขายังได้รับความนิยมอยู่มาก ด้วยความสามารถอย่างยอดเยี่ยมเนห์รูสามารถประสานความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้และไม่ดึงดันที่จะทำตามวิถีทางของตนแต่ฝ่ายเดียว ทั้งๆที่เขาสามารถทำได้โดยไม่ยากนัก เพราะประชาชนยังสนับสนุนเขาอยู่

จุดสำคัญเกี่ยวกับโครงการของเนห์รู ได้แก่การพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าในลักษณะที่เป็นแบบตะวันตก เป็นวิทยาศาสตร์และโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางศาสนา อีกสิ่งหนึ่งที่เขาสนใจอย่างมากตลอดมา ก็คือการวางแผนเศรษฐกิจให้เป็นแบบสังคมนิยม เขาจึงมีความเห็นว่ารัฐควรริเริ่มกิจการต่างๆ แต่ขณะเดียวกันเขาก็ไม่เชื่อว่าควรจะโอนกิจการต่างๆมาเป็นของรัฐทั้งหมด ดังนั้นเขาจึงทำให้อินเดียมีเศรษฐกิจแบบผสม (mixed economy) โดยวิสาหกิจบางอย่างเป็นของรัฐและบางอย่างยังเป็นของเอกชน ในด้านสังคมเขาต้องการให้อินเดียเป็นสังคมที่ไม่มีชนชั้นวรรณะ โดยการสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ลัทธิสังคมนิยมของเนห์รูจึงค่อนข้างจะสอดคล้องกับความเป็นจริง และยืดหยุ่นเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของชาวอินเดีย

ข้อบกพร่องของเนห์รู ก็คือ เขาไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายตามที่วางไว้เท่าที่ควร ในทางปฏิบัติเขาไม่อาจเปลี่ยนแปลงสิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยนในสังคมอินเดีย ส่วนหนึ่งของความล้มเหลวดังกล่าวเนื่องมาจากการดำเนินการต่างๆ ได้ถูกหน่วงเหนี่ยวไว้ หรือจำเป็นต้องประนีประนอมกับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่เคยมีอภิสิทธิ์มาก่อน ประกอบกับเนห์รูไม่ได้มอบหมายอำนาจหรือความรับผิดชอบให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ยังมีการทุจริตและการทำงานไม่มีประสิทธิภาพของผู้ร่วมงาน ซึ่งเนห์รูไม่สนใจ ส่วนโครงการปฏิรูปที่สำคัญต่อสวัสดิภาพของประชาชนไม่ได้ถูกผลักดันให้บรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง แต่เนื่องจากบุคคลิกภาพซึ่งประกอบด้วยความสามารถทางสติปัญญาและความผูกพันทางจิตใจ จึงทำให้เขาได้รับความจงรักภักดีจากประชาชนทุกชั้นวรรณะในอินเดีย

บทสรุป

แม้ว่าประชาชนชาวอินเดียจะได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี ค.ศ. ๑๙๔๗ แต่แผ่นดินอินเดียก็ต้องถูกแบ่งแยกออกเป็นประเทศปากีสถานพร้อมๆกับที่อินเดียได้รับเอกราชนั่นเอง เมื่อได้รับเอกราชมาแล้วความวุ่นวายยุ่งยากประการต่างๆจึงเริ่มต้นขึ้น

อินเดียได้นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศที่มีความสามารถทุกด้านอย่างท่าน ยวาหระลาล เนห์รู ซึ่งมีจิตใจมุ่งมั่นจะพัฒนาประชาชนชาวอินเดียให้มีความก้าวหน้าในทุกๆด้าน เขาพยายามจะเปลี่ยนแปลงความไม่ยุติธรรมในสังคมอินเดียที่มีมานานเนิ่นนานหลายพันปี ให้หมดด้วยไปด้วยความเจริญของบ้านเมือง แต่เขาประเมินความติดยึดมั่นในวัฒนธรรมของชาวอินเดียผิดไป โครงการต่างๆตามแนวทางสังคมนิยมผสม ที่เขามุ่งมั่นจะให้บังเกิดก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเพราะเขาต้องต่อสู้กับความคิดของสมาชิกพรรคที่ยังล้าหลัง อนุรักษ์นิยม

ทางด้านนโยบายต่างประเทศหลังจากที่อินเดียได้รับเอกราชมาระยะหนึ่ง เนห์รูได้กำหนดนโยบายของประเทศเป็นแบบไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เพราะอินเดียจะต้องแก้ไขปัญหาภายในประเทศและพัฒนาประเทศให้ประชาชนได้ก้าวหน้าในปัจจัยพื้นฐานก่อน ในช่วงกึ่งหลังของศตวรรษที่ ๒๐ ประเทศมหาอำนาจได้ก่อความตึงเครียดกับประเทศสังคมนิยมอย่างรัสเซียและจีน อินเดียก็ไม่เข้าร่วมกับประเทศเหล่านั้นเพราะนโยบายไม่ฝักใฝ่ผ่ายใดดังกล่าวแล้ว แต่อินเดียก็มีมิตรสัมพันธ์อันดีกับจีนตั้งแต่จีนได้ตั้งสาธารณประชาชนจีนใน ค.ศ. ๑๙๔๙ ดังจะเห็นได้จากที่อินเดียสนับสนุนจีนคอมมิวนิสต์จนได้ที่นั่งในองค์การสหประชาติแทนรัฐบาลจีนคณะชาติไต้หวัน ในค.ศ. ๑๙๕๐ นอกจากนี้ก็มีการเยี่ยมเยียนกันและกันอย่างเป็นทางการ แต่ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๖๒ นโยบายของจีนเกี่ยวกับพรมแดนที่ติดกับอินเดียได้เปลี่ยนไป จีนได้ส่งกองทัพเข้ามายึดดินแดนบริเวณชายแดนด้านเหนือของอินเดีย ระหว่างทิเบตกับมณฑลซินเกียง แถบเมืองลาดักห์ในแคชเมียร์ ซึ่งจีนอ้างว่าเป็นของตน จีนจึงสนับสนุนปากีสถานต่อต้านอินเดียในปัญหาแคชเมียร์เสมอมา ทำให้อินเดียกับจีนบาดหมายกันตั้งแต่นั้นมา

เมื่อเนห์รูถึงแก่อสัญกรรมในปี ค.ศ. ๑๙๖๕ ความยุ่งยากก็เกิดขึ้นตามมา พรรคคองเกรสเกิดความแตกแยกออกเป็นพรรคคองเกรสใหม่ที่สนับสนุนนางอินทิรา คานธี บุตรีของเนห์รูจนได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนายกคนที่สองที่ถึงแก่อสัญกรรมอย่างกระทันหัน และจากนั้นมาปัญหาของอินเดียก็ยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งอินเดียก็ยังหาความมั่นคงอย่างแท้จริงยังไม่ได้ ยังคงมีความรุนแรงจากความเชื่อที่แตกต่างกันในเรื่องศาสนาทั้งหลายภายในอินเดีย

แม้ว่าอินเดียจะได้นายกคนแรกคือท่าน ยวาหระลาล เนห์รู ผู้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมทุกอย่าง ท่านมีความแนวความคิดที่จะพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทุกอย่าง โดยใช้แนวทางแบบสังคมนิยมผสม ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ก้าวหน้ามาก แต่แล้วท่านก็ไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างที่ท่านมุ่งหวังไว้ได้ และภายหลังที่ท่านถึงแก่กรรม ปัญหาที่สุมรุมอินเดียมานานนับพันๆปี ก็ปะทุขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับประชาชนที่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์อินเดียมาจนถึงบทความสุดท้ายนี้ ก็คงจะได้เห็นความเป็นอนิจจังของสังคมว่า แม้ว่าจะอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนได้อำนาจของประชาชนแล้ว แต่ปัญหาต่างๆก็จะประดังเข้ามาอย่างมากมาย เพราะมีทั้งปัจจัยจากกลุ่มที่ต้องการจะเหนี่ยวเอาอำนาจกลับไป(โต้อภิวัฒน์) ไปจนถึงปัจจัยภายนอกเช่นนโนบายการต่างประเทศของประเทศมหาอำนาจ ฯลฯ

ดังนั้นการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความเจริญผาสุก ของมวลประชาชน จึงต้องอาศัยพลังประชาชนที่ได้ตื่นขึ้นมาร่วมมือร่วมใจกันขับเคลื่อน แต่กระนั้นสิ่งที่สำคัญที่จะขาดไม่ได้ก็คือการให้ความรู้ความจริงทางการเมือง เพื่อกระตุ้นปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนรักในสัจจะ ความยุติธรรม ความเสมอภาคกัน และจิตสำนึกที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุข ไม่เอาเปรียบกัน หรือที่เรียกว่า จิตสำนึกทางสังคมนิยม-ประชาธิปไตยนั่นเอง

สำหรับประเทศไทย ปัญหาใหญ่ของมวลประชาชนยังปรากฏอยู่โดยยังไม่ได้รับการแก้ไข และมีแนวโน้มว่าความยุ่งยาก จราจล ความสับสนและแตกแยกทางความคิดเห็นของคนในสังคม ตลอดจนปัญหาการพยายามจะแบ่งแยกหรือตั้งเป็นเขตแดนปกครองตนเองก็จะเกิดขึ้น อาจจะเป็นได้ว่าประเทศไทยมีโอกาสจะแบ่งออกเป็นสหพันธ์ ที่รวมตัวกันโดยมีรัฐบาลกลางดูแลในเรื่องนโยบายต่างประเทศ และความ สัมพันธ์ต่างประเทศ ส่วนรัฐต่างๆก็จะมีรัฐบาลของตนเองดูแลเรื่อง วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ศาสนาของแต่ละรัฐ การณ์จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เวลาจะเป็นผู้คำถามนี้เอง
download PDF file บทความอินเดียทั้งหมดได้ที่

No comments: