Thursday, March 29, 2007

บทความที่ ๙๘. บันทึกของท่านปรีดี พนมยงค์ในการเดินทางไปเจรจายกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรม

บันทึกของท่านปรีดีในการเจรจายกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรม

แม้ว่าคณะราษฎรจะได้อภิวัฒน์การปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ แต่สนธิสัญญาสภาพนอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีอยู่กับประเทศต่างๆ ๑๓ ประเทศก็ยังมิได้ถูกยกเลิกไปโดยสิ้นเชิง ส่วนใหญ่ของประเทศคู่สัญญาเป็นประเทศในระบบทุนนิยมในยุโรปตะวันตก

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ รัฐบาลคณะราษฎรได้พิจารณาเห็นว่าสมควรที่จะต้องบอกยกเลิกสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมซึ่งผูกพันสยามไว้นั้นให้หมดสิ้นไป เพื่อให้สยามมีเอกราชและอธิปไตยโดยสมบูรณ์ และเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ที่สยามต้องชำระให้แก่ต่างประเทศ ก็ควรที่จะได้เจรจาลดหย่อนผ่อนผันลงเพื่อมิให้เป็นภาระทางการเงินของสยาม ที่เพิ่งจะสถาปนาระบอบการปกครองโดยอำนาจของประชาชนเป็นใหญ่ คณะรัฐบาลที่มีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มีมติมอบหมายให้ท่านปรีดี พนมยงค์ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้แทนรัฐบาลเดินทางไปเจรจากับประเทศคู่สัญญาในยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ท่านปรีดี พนมยงค์ได้มีบันทึกการเดินทางไว้ดังนี้

“เราได้คิดกันว่า ถ้าแม้นประเทศมหาอำนาจเช่นฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี สหรัฐอเมริกา ยอมตกลงในเรื่องการบอกเลิกสัญญาอันไม่เป็นธรรมและตกลงทำสัญญาใหม่ที่เป็นธรรมกับเราแล้ว ประเทศอื่น ๆ นอกนั้นคงจะปฏิบัติตามโดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ และนั่นคือสาเหตุที่ผมต้องเดินทางรอบโลกเป็นเวลาหลายเดือน เมื่อปี ๒๔๗๘ เพื่อไปพบกับผู้เผด็จการ เบนิโต มุสโสลินี แห่งอิตาลี นายกรัฐมนตรีลาวาล แห่งฝรั่งเศส เซอร์แซมมวล ฮอร์รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ นายคอร์เดล ฮัลล์รัฐมนตรีต่างประเทศแห่งสหรัฐ รวมทั้งสมเด็จพระจักรพรรดิ ฮิโร ฮิโตแห่งญี่ปุ่น ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในประเทศนั้น ๆ ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลยังได้สั่งให้ผมแวะไปศึกษาสถานการณ์ในเยอรมนีเสียด้วย เพื่อหยั่งดูให้ตระหนักว่าเยอรมนีภายหลังที่พรรคนาซีขึ้นครองอำนาจมา ๓ ปีแล้วนั้น เป็นประการใด อีกทั้งยังจักเป็นโอกาสได้ศึกษาถึงระบบเศรษฐกิจใหม่ของประเทศนั้น อย่างไรก็ตามรัฐบาลมิได้ให้ผมเดินทางไปสหภาพโซเวียต ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย ต่อมาในปี ๒๔๘๒ จึงได้มีการตกลงที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน หากได้เกิดสงครามระหว่างโซเวียตกับเยอรมนีขึ้นเสียก่อน การดังกล่าวนั้นจึงได้เลื่อนมาจนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

สำหรับประเทศจีนนั้น ทูตจีนประจำกรุงโตเกียวได้เชิญผมให้เดินทางไปเยี่ยมกรุงนานกิง ซึ่งเป็นนครหลวงในขณะนั้น หากผมก็ไม่สามารถที่จะรับคำเชิญนั้นได้เนื่องจากประเทศจีนกำลังอยู่ระหว่างสงครามกลางเมืองและกำลังทำสงครามติดพันอยู่กับญี่ปุ่น

ผมออกเดินทางจากประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคมปี ๒๔๗๘ โดยเรือเดินสมุทรอิตาเลียน ซึ่งเป็นเรือที่จะพาผมไปถึงยุโรปได้โดยเร็วที่สุดในยุคนั้น เรือ ‘กองด์แวร์เด’ ซึ่งมีผมโดยสารไป ได้เดินทางถึงเมืองท่า เตรียสท์ของอิตาลีในเดือนตุลาคม ที่นั่นมีนายทหารเรือไทยกำลังควบคุมการต่อเรือรบอยู่หลายคนด้วยกัน พอผมไปถึงก็ได้พบกับเลขานุการคนหนึ่งของมุสโสลินี ซึ่งเป็นประธานอู่ต่อเรือแห่งนั้นอยู่ด้วย และผมก็ได้ทราบจากท่านผู้นั้นว่า มุสโสลินียินดีให้ผมได้เข้าพบ แต่ขอให้รอจนภายหลังวันที่ ๔ พฤศจิกายนเสียก่อน ผมเองก็ไม่ทราบเหตุผลในความสำคัญของวันที่ดังกล่าวนั้นแต่ประการใด ทราบแต่เพียงว่าขณะนั้นเหตุการณ์ระหว่างอิตาลีกับอังกฤษอันเกี่ยวกับเอธิโอเปีย กำลังตึงเครียดกันอยู่

ระหว่างการรับประทานอาหารกลางวัน เลขานุการของท่านดูเช่ได้การสรรเสริญบารมีของมุสโสลินีเยี่ยงพระจักรพรรดิก็ไม่ปาน โดยไม่ขาดปาก เขาบอกกับผมว่า โลกนี้ทั้งโลกมีอยู่สองคนเท่านั้นที่จะปราบอังกฤษได้ คนหนึ่งคือนโปเลียน ส่วนอีกคนหนึ่งคือ มุสโสลินี สำหรับนโปเลียนนั้นไม่มีโอกาสเสียแล้ว ก็เหลือแต่มุสโสลินีผู้ซึ่งมีความเข้มแข็งเด็ดขาดพอที่จะปราบอังกฤษได้ เขาได้งัดเอารูปถ่ายของมุสโสลินีมาอวดผม และบอกว่านี่แหละคือประมุขที่เคารพรักของชาวอิตาเลียน

ในเรื่องการต่อเรือรบซึ่งปรากฏว่ามีบริษัทญี่ปุ่นเสนอราคาที่ต่ำให้รัฐบาลไทยพิจารณานั้น ประธานอู่ต่อเรืออิตาเลียนได้แย้มให้ผมฟังว่า อยู่ของเขาได้ทำเรื่องขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอิตาลีไปแล้ว เพื่อที่จะแข่งขันเอาชนะญี่ปุ่นในการประมูลให้จงได้ แม้จะไม่มีกำไรเลยก็ตามที

โดยที่ผมพิจารณาเห็นว่าจะต้องรออยู่อีกถึง ๑๐ กว่าวันจึงจะถึงวันนัดพบกับมุสโสลินี ผมจึงตัดสินใจเดินทางโดยรถไฟไปยังเมืองโลซานน์ที่สวิตเซอร์แลนด์เสียก่อน เพื่อเข้าเฝ้าถวายความเคารพต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งขณะนั้นกำลังทรงศึกษาวิชาในโรงเรียนมัธยมอยู่ที่นั่น เมื่อได้เฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ก็กราบถวายบังคมลาเดินทางต่อไปยังกรุงปารีสและพักอยู่ ๒-๓ วันก่อนจะกลับมายังกรุงโรมในวันที่ ๔ พฤศจิกายน

เมื่อเดินทางมาถึงกรุงโรม ผมจึงตระหนักว่าวันที่ ๔ พฤศจิยายนเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ในวันนั้น มุสโสลินีได้กล่าวคำปราศรัยต่อประชาชนชาวอิตาลี ประการการเผชิญหน้ากับอังกฤษ และกล่าวหาเอธิโอเปียว่าแสดงท่าที่เป็นปฏิปักษ์กับอิตาลี เมื่อจบคำปราศรัยมุสโสลินีก็ออกคำสั่งเคลื่อนกำลังทั้งทางบกและทางอากาศ ซึ่งชุมนุมอยู่ที่พรมแดนระหว่างอาณานิคมของอิตาลีในอาฟริกากับเอธิโอเปียอยู่แล้ว เข้าโจมตีเอธิโอเปียโดยฉับพลัน ผู้บัญชาการทัพอากาศของอิตาลีในขณะนั้นคือเค้าท์ ซิอาโน ผู้เป็นบุตรเขยของมุสโสลินีนั่นเอง

กลศุลใหญ่ของไทยประจำกรุงโรมซึ่งเป็นชาวอิตาเลียน หากเคยพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานปีได้มาพบกับผมและขออภัยที่เขามิได้ไปรับผมที่สถานรถไฟ กงศุลใหญ่พูดกับผมเหมือนกับคนอิตาเลียนอื่น ๆ ว่าเขามีความจำเป็นที่จะต้องเออออไปกับพรรคฟาสซิสต์ เพื่อประโยชน์ในการทำมาหากินของเขา หากในส่วนลึกของจิตใจแล้ว มีความรู้สึกต่อต้านพรรคฟาสซิสต์

อีกสองวันต่อมา มุสโสลินีก็ได้เชิญผมให้ไปพบที่ทำเนียบ “ปราชโซเวเนเซีย” ซึ่งเป็นที่ทำงาน วันนั้นผมได้คุยอยู่กับมุสโสลินีเป็นเวลาถึง ๒ ชั่วโมง ในเรื่องร้อยแปดพันเก้า ผมได้ตระหนักว่ามุสโสลินีมีความรู้สึกที่ไม่เป็นมิตรกับญี่ปุ่นเลย ผมทราบดีว่าผลประโยชน์ของอิตาลีกับญี่ปุ่นขัดกันในเมืองจีน ถึงกับมุสโสลินีส่งบุตรเขยไปเป็นกงศุลใหญ่อยู่ที่เซี่ยงไฮ้ เพื่อช่วยรัฐบาลจีนคณะชาติต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น และก็เพื่อค้าขายแข่งกับญี่ปุ่นด้วยในขณะเดียวกัน ในระหว่างการสนทนา มุสโสลินีได้กล่าวเป็นการเอาใจผมว่า ตัวเขาไม่มีอคติใด ๆ กับชาวอาเซียและอ้างว่าจักรพรรดิโรมันองค์แรกก็ทรงมีพื้นเพมาจากอาเซีย สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับนาซีเยอรมัน ขณะนั้นเข้าไปยึดครองออสเตรีย จนกระทั่งผู้นำออสเตรียซึ่งเป็นสหายของมุสโสลินีถึงแก่ความตาย ผมก็มีความรู้สึกว่ามุสโสลินีไม่สู้จะพอใจฮิตเล่อร์นัก

ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย มุสโสลินีบอกกับผมว่าเขาชอบเมืองไทยและพยายามเกลี้ยกล่อมให้ผมเห็นว่าอังกฤษเป็นศัตรูของอิตาลีและของไทยรวมกัน โดยหยิบยกเอาการที่อังกฤษมาเอาดินแดนของเราไปเป็นสาเหตุ อย่างไรก็ตามมุสโสลินีมิได้กล่าวถึงฝรั่งเศสและก็มิได้เอ่ยถึงเหตุการณ์ที่เขาสั่งบุกเอธิโอเปียเมื่อสองวันก่อนหน้านั้นเลย

ในตอนท้ายของการสนทนา มุสโสลินีได้สัญญากับผมว่าอิตาลีจะไม่ขัดขวางการบอกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมระหว่างไทยกับอิตาลี เขายืนยันได้เต็มที่เพราะกิจการต่างประเทศอยู่ในความรับผิดชอบของเขาโดยตรง

จากอิตาลี ผมก็เดินทางกลับไปกรุงปารีสเพื่อพบกับนายกรัฐมนตรี เปียร์ ลาวาล ท่านผู้นี้บอกกับผมว่า เมื่อเขามีอายุเท่าผมในขณะนั้น (ตอนนั้นผมอายุ ๓๕ ปี) เขายังไม่ได้เป็นรัฐมนตรี แต่เมื่อมาเจรจากันถึงเรื่องการที่ประเทศไทยจะบอกยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับฝรั่งเศส ลาวาลก็แจ้งว่าเขายังจะกล่าวถึงสิ่งใดให้เด็ดขาดลงไปมิได้ เพียงแต่ยืนยันว่าจะรับเอาไว้พิจารณาเหตุผลของฝ่ายเรา

จากปารีส ผมก็เดินทางต่อไปยังกรุงปร๊าก กรุงเวียนนา และก็กรุงเบอร์ลิน ระหว่างอยู่ที่เบอร์ลินเจ้าหน้าที่รัฐบาลนาซีเยอรมันได้พาผมไปเยี่ยมองค์การต่าง ๆ ของเขา เช่นกระทรวงโฆษณาการ และองค์การยุวชนเป็นต้น เจ้าหน้าที่ซึ่งมาต้อนรับบอกกับผมว่า ฮิตเล่อร์เองก็ยินดีที่จะให้ผมเข้าพบ แต่ฮิตเล่อร์พูดอังกฤษไม่ได้ ฝรั่งเศสก็ไม่ได้ ดังนั้นการสนทนาก็ไม่ออกรส อีกทั้งสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมระหว่างประเทศไทยกับเยอรมนีก็ไม่มีอยู่แล้ว ดังนั้นก็จะมีเพียงเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการค้าซึ่งในเรื่องเหล่านี้ ผมควรจะพบกับนาย ฮะจาล มาร์ ชาคท์ รัฐมนตรีเศรษฐกิจจะเหมาะกว่า ซึ่งผมก็ได้พบกับรัฐมนตรีดังกล่าว ได้พูดจากันถึงเรื่องการแลกเปลี่ยนค้าขายระหว่างประเทศทั้งสอง ซึ่งปัญหาก็ติดอยู่ที่ว่ารัฐบาลนาซีมีระบบควบคุมการเศรษฐกิจ ดังนั้นการสนทนาของเราจึงมิได้บังเกิดผลประการใดนัก

ผมเดินทางจากเบอร์ลินมายังกรุงปารีสอีก แล้วก็ข้ามไปกรุงลอนดอนเพื่อพบกับ เซอร์ แซมมวล ฮอร์รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ซึ่งแสดงท่าทีคล้ายคลึงกับนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส คือยินดีจะรับเอาเรื่องของเราไว้พิจารณาด้วยดี สำหรับการเจรจาลดดอกเบี้ยเงินกู้นั้นเป็นที่เรียบร้อยสมความมุ่งหมาย คือสามารถลดจากอัตราร้อยละ ๖ ต่อปี เหลือเพียงร้อยละ ๔ ต่อปี

ผมเดินทางจากอังกฤษมาลงเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกที่ฝรั่งเศสต่อไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งที่กรุงวอชิงตันผมได้พบกับรัฐมนตรีต่างประเทศ คอร์เดล ฮัลล์ ท่านผู้นี้ได้ให้ความมั่นใจกับผมว่าสหรัฐอเมริกาไม่มีข้อขัดข้องต่อการที่ประเทศไทยจะบอกเลิกสนธิสัญญาซึ่งไม่เป็นธรรม อันมีอยู่ระหว่างสองประเทศนั้นเสีย

จากสหรัฐอเมริกา ผมก็เดินทางต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น และมีโอกาสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต ซึ่งได้ทรงพระราชทานการต้อนรับแก่ผมอย่างดียิ่ง ได้มีรับสั่งไต่ถามถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราว่าทรงพระเกษมสำราญเป็นประการใด และทรงไต่ถามถึงการเดินทางของผม ตลอดจนมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานสายสะพายอาทิตย์อุทัยชั้นที่ ๑ แก่ผมด้วย สำหรับในปัญหาเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจนั้น ผมต้องเจรจากับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล ซึ่งขณะนั้นส่วนใหญ่ประกอบด้วยคณะทหารและผู้สนับสนุนระบอบทหาร เขาเหล่านั้นพยายามชักจูงให้ผมเห็นถึงความจำเป็นที่ประชาชาติอาเซียทั้งหลายจะต้องร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันต่อสู้กับชาติผิวขาว หากผมก็เลี่ยงเสียไม่เออออห่อหมกไปด้วย ด้วยในทัศนะคติของผมนั้น ปัญหามิได้อยู่ที่ผิวหรือเชื้อชาติ หากอยู่ที่ความปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกันในโลกโดยสันติต่างหาก และในขณะนั้นเอง ญี่ปุ่นก็กำลังรุกรานประเทศจีน ซึ่งเป็นชาติอาเซียเหมือนกันและกำลังมุ่งหน้าสู่อาเซียอาคเนย์ ในการเจรจากับญี่ปุ่นนี้ ผมระมัดระวังอยู่มากสิ่งที่ผมเอาใจใส่ก็คือท่าทีของรัฐบาลญี่ปุ่นเกี่ยวกับเรื่องที่เราจะบอกเลิกสนธิสัญญาซึ่งไม่เป็นธรรมตามที่รัฐบาลได้มอบหมายผมมา ในเรื่องนี้ที่สุดฝ่ายญี่ปุ่นก็ได้แสดงความไม่ขัดข้องประการใด”


(บทความต้นฉบับจาก “Ma Vie Movementee et mes 21 Ans D ’ Exil en Chine Populaire”)

คัดลอกจากหนังสือ บางหน้าของประวัติศาสตร์ แปลและเรียบเรียงโดย วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร
ดาวน์โหลดไฟล์ PDF ที่

No comments: