Sunday, March 29, 2009

ลำดับ๕๒๑.แหกคุกโพงเค็งบันลือโลก(๙)

บทที่ ๙. ฟ้าดินเป็นใจ

สหายสิงกะโปเล่าถึงเหตุการณ์ก่อนวันแหกคุกไว้ว่า

“ท้าวหวาได้จัดสารวัตรทหารทั้ง ๑๐ คนที่จะร่วมแหกคุกไปกับพวกเรา ให้เข้าเวรยามในผลัดระหว่าง ๒๔.๐๐น.ถึง ๐๖.๐๐ น. ส่วนคณะของพวกเราแบ่งเป็น ๓ ชุด

ชุดที่ ๑ มีเจ้าสุภานุวงศ์,ท่านภูมี วงศ์วิจิตร,ท่านสีชนะ สีสาน,ท่านหนูฮัก ภูมิสวัน,ท่านสีทน กมมะดำ

ชุดที่ ๒ ท่านมา ไชยคำพิทูน,ท่านคำผาย บุบผา,ท่านมหา สมบูรณ์,ท่านเพ้า พิมมะจันทร์,ท่านบัวศรี เฉิลมศุภ,ท่านพูน สีประเสริฐ,ท่านคำเพ็ชร

ชุดที่ ๓ เป็นชุดกล้าตายและสู้ตายที่จะต้องออกหลังสุด มีเรา(สหายสิงกะโป),ท่านภูเขา,ท่านมานะ, ท่านสมเพ็ชรและกลุ่มทหารสารวัตรคือ ท้าวคำแวว,ท้าวอุดร,ท่านอ่อนสา(น้องชายท้าวหวา),ท้าวสำลี,ท้าวทองเสย,ท้าวบุญมี,ท้าวกองคำ,ท้าวบุญแปง,ท้าวบุญทอนและท้าวบัวพัน

มีคนเข้ามาเพิ่มเติมคือท้าวเชียงสม ซึ่งหน่วยพรรคที่เวียงจันทน์โดยท่านสาลี วงศ์คำซาวส่งเข้ามาเป็นผู้นำทางในเส้นทางหลบหนี

ย่ำค่ำท้าวกองคำ ได้ไปกราบลาท่านพระอาจารย์คูนที่วัดพระธาตุหลวง ท่านอาจารย์ได้กล่าวเห็นดีที่ท้าวคำกองได้เปลี่ยนทัศนะมาร่วมกับแนวลาวรักชาติ ท่านอาจารย์คูนยังได้ส่งพระมหาอีก ๔ รูปที่จำพรรษาอยู่ที่วัดพระธาตุหลวงให้ลาสิกขาออกมาช่วยให้เจ้าสุภานุวงศ์และคณะได้แหกคุกหลบหนีไปอย่างปลอดภัยในคืนวันนี้ด้วย มหาทั้ง ๔ ท่านคือ มหาอำคา มหาอุดร มหาบัวลีและมหาสุภีร์

“รบเพื่อธรรม เพื่อความถูกต้อง เสร็จศึกแล้วค่อยมาบวชใหม่ก็ยังได้” ท่านอาจารย์คูนกล่าวกับศิษย์ของท่าน

แล้วเวลาแห่งการหลบหนีก็มาถึง ท้าวแวว สารวัตรทหารคนหนึ่งที่จะร่วมหลบหนีไปกับคณะ ซึ่งเป็นหัวหน้ารักษาคลังอาวุธ ได้ไขประตูคลังเอาปืนมาแจกจ่ายให้พวกเรา มีปืนคาร์บิน ๑๐ กระบอก ปืนสั้น ๓ กระบอก แจกจ่ายให้แต่ละชุดเหมือนๆกัน ส่วนทางท้าวอุดร กับท้าวทองเสยได้แจกจ่ายเกือกที่ซื้อไว้ ๑๖ คู่

การตระเตรียมเป็นไปอย่างเร่งรีบและเคร่งเครียด พวกเราเฝ้ารอคอยเวลาอยู่ในห้องของแต่ละคนภายใต้ความมืดและเงียบสงัด

ที่ปากทางเข้าออกค่ายโพนเค็ง โดยปรกติจะเป็นที่รวมหัวกันเล่นไพ่ของพวกนายทหารที่ไม่ได้เข้าเวรหรือออกจากเวรแล้ว ในคืนนี้ก็เช่นกัน พวกเขากำลังเล่นไพ่กันอยู่ ปากก็ฮัมเพลงไปอย่างสบายใจ แต่สำหรับผู้ถูกคุมขังทั้ง ๑๖ หัวใจของพวกเขาเต้นแรงโครมๆ เพราะไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าพวกเขาก็จะต้องออกไปเสี่ยงตาย

เมื่อถึงเวลา ๒๔.๐๐ น.ผลัดของสารวัตรทหารชุดที่จะแหกคุกไปด้วยก็เข้าทำหน้าที่แทนผลัดที่ออกเวร พลันนั้นเองท้องฟ้าที่โปร่งโล่ง ก็กลับครึ้มไปด้วยเมฆฝน ลมพัดกระโชกแรงพร้อมด้วยเม็ดฝนโปรยปรายลงมา

รถมอเตอร์ไซด์ของพวกทหาร ๒-๓ คันได้กลับมาจากไปเที่ยวในตัวเมือง ท้าวบุญทองคว้าเสื้อกันฝนขึ้นสวมแล้วออกไปโบกให้พวกนั้นหลบไป ขณะที่พวกทหารที่เล่นไพ่กันอยู่ก็กระเจิดกระเจิงหลบฝนกับเข้าค่ายไปหมด

ลำดับ๕๒๐.แหกคุกโพนเค็งบันลือโลก(๘)

บทที่ ๘ แผนแหกคุก

ด้วยการประเมินเหตุการณ์ที่ภูมี หน่อสวัน จะสร้างขึ้นดังนี้ เจ้าสุภานุวงศ์ได้กล่าวแก่คณะว่า “ถ้าหากจะมีการยิงเป้า เราเองจะออกหน้าก่อน เพราะเราอยู่ในนามของผู้เป็นหัวหน้า”

ทอเสย โคตรวงศา อดีตสารวัตรทหารที่เคยเฝ้ายามคุกโพนเค็ง ได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาชื่อ “แหกคุก” ว่า

“ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นทัศนะแบบนี้จากผู้นำใดๆ นอกจากลุงประธานสุภานุวงศ์ ท่านตื่นแต่เช้า ออกกำลังกายด้วยท่าทีแข็งแรง ด้วยการเล่นหลายๆอย่าง เช่น ชกลม เต้นเชือก ข้าพเจ้ามีความรู้สึกต่อท่านหลายอย่าง ท่าทางท่านน่าเกรงขาม ตัดผมจอนไว้หนวด ไม่ค่อยพูดจากับใคร แต่ดูรู้สึกว่าท่านมีความอิ่มอกอิ่มใจ มีลักษณะเด็ดเดี่ยวอันเป็นแบบอย่างอันดีงามให้แก่ลูกหลาน มองอีกด้านหนึ่ง ท่าทีของท่านก็สมกับที่เป็นบิดาของประเทศ”

วันคืนผ่านไป การสร้างความมักคุ้นเป็นกันเอง และการให้การศึกษาอบรมกับพวกสารวัตรทหารที่มาอยู่เวรยามได้รับผล การเตรียมแผนการหนีได้เป็นไปอย่างเรียบร้อย สหายทิดม่วน สาวจันทรา กรรมการศูนย์กลางพรรคและเลขาธิการพรรคแขวงเวียงจันทน์ในขณะนั้นเล่าว่า ก่อนหน้านั้นทางคณะพรรคแขวงเวียงจันทน์ได้ให้หน่วยจู่โจมพิเศษเข้าไปในคุกโพนเค็งครั้งหนึ่งแล้ว เพื่อซ้อมในการจะลักเอาสหายสุภานุวงศ์และบางคนออกจากคุก แต่ต่อมาแผนการนี้ได้ยกเลิกไป เพราะอาจเป็นอันตรายให้แก่บรรดาสหายที่ยังเหลืออยู่ในคุกก ภายหลังที่ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างสหายหนูฮัก ภูมิสวรรค์ ที่อยู่ในคุกกับสหายไกสอน พรมวิหาน ที่อยู่เขตฐานที่มั่น วันเวลาแห่งการแหกคุกครั้งประวัติศาสตร์ก็ใกล้เข้ามา

ด้วยการประเมินเหตุการณ์ที่ภูมี หน่อสวันจะสร้างและลงมือดังกล่าวมานี้ คณะกรรมการหน่วยพรรคภายในคุก จึงมอบหมายให้สหายสิงกะโปติดต่อกับท้าวหวา-นายทหารที่นับถือสหายสิงกะโปเป็นอาจารย์ ว่าต้องการหลบหนีออกจากคุก และชี้ให้ท้าวหวาได้ทราบถึงแผนการอุบาทว์ของภูมี หน่อ สวัน ดังที่ได้ประเมินกันไว้

ขณะที่สหายสิงกะโปเจรจากับท้าวหวา เขาก็สังเกตดูปฏิกิริยาของท้าวหวาอย่างจดจ่อ เมื่อกล่าวจบท้าวหวาก็ตอบรับให้ความช่วยเหลือทันที ท่าทางและวาจาของเขาที่แสดงออกมาเป็นความจริงใจ ทำให้สหายสิงกะโปปราศจากความสงสัยเคลือบแคลง

แผนการแหกคุกบันลือโลกครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นหวาดเสียวสำหรับผู้ถูกคุมขังทั้ง ๑๖ คน เพราะได้ฝากชะตาชีวิตความเป็นความตายไว้กับทหารเวรยามของท้าวหวา และไหนจะต้องหลบหนีจากการตามไล่ล่า จึงมีอยู่ ๒ พยางค์เท่านั้นสำหรับพวกเขาคือ รอด หรือ ตาย

ในเวลาเดียวกันนั้นพรรคของแนวลาวรักชาติที่เวียงจันทน์ที่มีสหายคำม่วน สาวจันทรา และสหายสาลี วงศ์คำซาว เป็นแกนนำ ได้ประสานแผนการแหกคุกกับหน่วยพรรคในคุกอย่างใกล้ชิด โดยผ่านท้าวหวาเป็นคนกลางและจัดการให้ทหารสารวัตร ๑๐ คน ร่วมแหกคุกให้ความคุ้มครองติดตามออกไปด้วย กำหนดวันแหกคุกคือวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๐๓.

Wednesday, March 25, 2009

ลำดับ๕๑๙.แหกคุกโพนเค็งบันลือโลก(๗)

บทที่ ๗ แผนลวงไปฆ่าทิ้ง

นโยบายของภูมี หน่อสวันไม่มีอะไรแตกต่างจากรัฐบาลของผุย ชนะนิกร ที่ผ่านมามีแต่เพิ่มดีกรีของความทารุณโหดร้ายป่าเถื่อนมากยิ่งขึ้น ส่วนท่าทีต่อผู้นำแนวลาวรักชาติที่คุกโพนเค็งก็ร้ายแรงยิ่งขึ้นเช่นกัน พวกเขาพยายามสร้างประชามติขึ้นมาในเวียงจันทน์เพื่อเรียกร้องให้ประหารชีวิตเจ้าสุภานุวงศ์และพวก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน จะมีก็เพียงส่วนน้อยที่พวกเขาจ้างวานมาเท่านั้น

ในขณะเดียวกันบรรดากำลังติดอาวุธและกึ่งติดอาวุธฝ่ายแนวลาวรักชาติก็ได้จัดตั้งรวบรวมขึ้นอย่างรวดเร็วมีถึง ๓๐๐ หมวด ทำหน้าที่โฆษณาติดอาวุธอยู่ในทุกแขวงของประเทศ และขบวนการประชาชนลาวที่ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปล่อยตัวเจ้าสุภานุวงศ์และคณะนับวันจะเพิ่มมากขึ้น ในขอบข่ายทั่วโลกก็ได้มีการกดดันให้รัฐบาลราชอาณาจักรลาวปล่อยตัวเจ้าสุภานุวงศ์และคณะเช่นเดียวกัน

ในช่วงเวลาที่เจ้าสุภานุวงศ์และคณะถูกรัฐบาลภูมี หน่อสวันกักขังไว้กว่า ๓๐๐ วัน การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปล่อยตัวเจ้าสุภานุวงศ์และคณะก็มีมากขึ้นทั้งภายในประเทศและองค์การนอกประเทศ ภูมี หน่อสวันจึงคิดหาทางออกโดยการเดินตามรอยตีนตำรวจไทยในยุคอัศวินผยอง ที่ย้ายห้องขัง ๔ รัฐมนตรีไปยิงทิ้งที่บางเขน แล้วอ้างว่าโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายูมาแย่งตัว

สหายสิงกะโป สีโคตจุนนะมาลี พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

“มีข่าวหนึ่งเหมือนกับฟ้าผ่าลงมาบนหัว เมื่อท้าวหวาแจ้งให้ทราบว่าทางการจะย้ายพวกเราไปขังไว้ที่อื่น”

คณะกรรมการหน่วยพรรคภายในคุกพร้อมด้วยพวกเราได้ปรึกษาหารือกันและสรุปว่ามันเป็นแผนการเอาเสือออกไปฆ่า โดยที่พวกเขาไม่เคยนำพาต่อคำเรียกร้องของประชาชนลาว และคำเรียกร้องของชาวโลกที่ขอให้ปลดปล่อยพวกเรา

พวกเราประเมินสถานการณ์ว่ามันเป็นแผนการอุบาทว์ของภูมี หน่อสวันเพื่อสร้างฉากละครสังหารขึ้นฉากหนึ่ง โดยแต่งทหารขึ้นสองหมวด หมวดหนึ่งคือทหารราชอาณาจักรลาว อีกหมวดหนึ่งแต่งแบบทหารแนวลาวรักชาติ ทหารราชอาณาจักรมีหน้าที่ไปรับพวกเราออกจากคุกเพื่อย้ายไปขังคุกอื่น อาจเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน พอพวกเราไปถึงที่แห่งหนึ่งแห่งใดแล้ว ทหารที่แต่งเครื่องแบบทหารแนวลาวรักชาติที่พวกเขาเตรียมไว้แล้วก็จะจู่โจมเข้าชิงตัวนักโทษการเมือง ผลของการชิงตัวนักโทษก็คือ ปลายกระบอกปืนของทั้งสองพวกนั้นเล็งเป้าหมายใส่จุดเดียวกันคือพวกเรา!

แล้วภูมี ก็จะออกแถลงการณ์แสดงละครฉากต่อไปเพื่อลวงโลกว่า เป็นที่น่าเสียใจต่อการแย่งชิงตัวนักโทษทางการเมืองของฝ่ายแนวลาวรักชาติซึ่งทำให้แกนนำฝ่ายแนวลาวรักชาติทั้ง ๑๖ คนต้องเสียชีวิต

Tuesday, March 24, 2009

ลำดับ๕๑๘.แหกคุกโพนเค็งบันลือโลก(๖)

บทที่ ๖ ภูมี หน่อสวันขึ้นมาแทนผุย ชนะนิกร

เจ้าสุภานุวงศ์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศในเวลาต่อมา ตอนหนึ่งว่า

“แรกๆ พวกผู้คุมเอาข่าวมาให้เรา ในฐานะที่พวกเขาเป็นสารวัตรทหาร จึงรู้เรื่องราวดีมาก ในไม่ช้าเราก็สามารถประมวลเรื่องราวภายในลาวและข่าวทั่วโลกด้วย ต่อมาพวกเขาก็ทำหน้าที่เป็นผู้ส่งข่าวให้เรา เราจึงสามารถติดต่อกับองค์การจัดตั้งของเราได้อีก และก็เริ่มชี้นำขบวนการเคลื่อนไหวทั้งในเมืองและชนบทจากหน่วยพรรคภายในคุกนั้นเอง เราค่อยๆสร้างขบวนการของเราขึ้นใหม่ จนกระทั่งมาถึงจุดที่ว่า เราสามารถจัดชุมนุมมหาชนจำนวนมากขึ้นในเวียงจันทน์แล้วแสดงประชามติสนับสนุนเราได้

พวกผู้คุมมาเล่ารายละเอียดให้เราฟังถึงการเคลื่อนไหวของประชาชนและเจ้าหน้าที่ต่างๆ มีปฏิกิริยาอย่างไรในเรื่องนี้เราได้ทราบว่าทางเจ้าหน้าที่ยังไม่ต้องการจะนำพวกเราขึ้นศาลเพื่อพิจารณาคดี เพราะเกรงว่ามหาชนจะเดินขบวน คัดค้าน กำหนดการพิจารณาจึงเลื่อนแล้วเลื่อนอีก”

ในระหว่างนั้นภายในรัฐบาลผุย ชนะนิกร มีความขัดแย้งระหว่างผุย ชนะนิกร กับภูมี หน่อสวัน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงป้องกันประเทศ ความขัดแย้งระหว่างผุยกับภูมี ความจริงมีมานานแล้ว เพราะต่างแย่งกันที่จะเป็นสมุนตัวโปรดของ ซี.ไอ.เอ. พอดีในช่วงนั้นท้ายกระต่าย โดนสะโสลิด ล้มป่วยและตายในเวลาต่อมา ผุยจึงเตะภูมีพ้นไปจากรัฐบาลในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๒ แต่ ๒๔ ชั่วโมงต่อมานั้นเอง ภูมี หน่อสวันก็ทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลผุย ชนะนิกรลงแล้วเข้ากุมอำนาจแทน และแต่งตั้งท้าวกุ อภัย เป็นนายกรัฐมนตรีและต่อมาเปลี่ยนเป็นเจ้าสมสนิท

การทำรัฐประหารของภูมี หน่อสวัน ครั้งนี้ ผ่านความเห็นชอบและสนับสนุนจาก ซี.ไอ.เอ.ที่มีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนการทำสงครามในลาว เพราะในแฟ้มประวัติของภูมี หน่อสวัน ที่อยู่ในมือ ซี.ไอ.เอ.นั้น ระบุว่าภูมี หน่อสวันเป็นหลานของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สมุนตัวหนึ่งที่จงรักภักดีต่อจักรวรรดินิยมอเมริกา ซี.ไอ.เอ.จึงหวังว่าน้าหลานคงจะให้ความช่วยเหลือสนับสนุนกัน แล้วความหวังของ ซี.ไอ.เอ.ก็เป็นจริงในเวลาต่อมา

ลำดับ๕๑๗.แหกคุกโพนเค็งบันลือโลก(๕)

บทที่ ๕ ชนะใจทหารเวรยาม

หลังจากที่อัยการศาลเข้าสอบสวนพิจารณากันถึงในห้องขังแล้ว เรื่องก็เงียบไปเฉยๆ ไม่ได้ดำเนินการอะไรต่อไปอีก เจ้าสุภานุวงศ์และคณะจึงได้ลงชื่อร่วมกันในหนังสือกล่าวโทษผุย ชนะนิกร ที่ละเมิดข้อตกลงเจนีวา พร้อมกับเรียกร้องให้ผุยปล่อยตัวพวกเขาออกจากคุก คำกล่าวโทษดังกล่าวถูกนำส่งมือผุย ชนะนิกร โดยตำรวจคนหนึ่งที่ได้รับการขอร้องจากเจ้าสุภานุวงศ์เป็นผู้นำส่ง

ต่อคำกล่าวโทษดังกล่าวผุย ชนะนิกร โกรธมาก จึงแทนที่จะสั่งปล่อย เขากลับสั่งให้เข้มงวดกวดขันในการควบคุมมากยิ่งขึ้น ตำรวจที่ถือคำร้องและพรรคพวกถูกย้ายไปอยู่ที่อื่น แล้วส่งสารวัตรทหารที่จบหลักสูตรวิชาปราบคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะมาเป็นผู้ควบคุมแทน มีรถหุ้มเกราะ ๒ คันประจำอยู่ปากทาง ซึ่งบัญชาการโดยพลเอก ลำเงิน ระเบียบการต่างๆมีการเปลี่ยนแปลง และการควบคุมก็เคร่งครัดขึ้นกว่าเก่ามาก

แต่ละคืนจะมีสารวัตรทหารมาอยู่ยามเป็น ๒ ผลัดๆละ ๑๐ คนตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐น.ถึง ๒๔.๐๐ น. และจาก ๒๔.๐๐น.ถึง ๐๖.๐๐ น. สำหรับตอนกลางวันก็เช่นเดียวกัน คือแบ่งเป็น ๒ ผลัดๆละ ๑๐ คน จาก ๐๖.๐๐ น.-๑๒.๐๐ น.และจาก ๑๒.๐๐ น. ถึง ๑๘.๐๐ น.

พวกสารวัตรทหารเหล่านี้ถึงแม้ว่าจะได้รับการอบรมบ่มเพาะมาเป็นพิเศษให้มีความเกลียดชังคอมมิวนิสต์ และถูกห้ามไม่ให้พูดคุยกับพวกผู้ต้องขังก็ตาม แต่เมื่อนานวันเข้าความเห็นอกเห็นใจก็เกิดขึ้นในเมื่อได้เห็นวัตรปฏิบัติของท่านผู้ต้องขังเหล่านั้น ท่าทีเมินเฉยของพวกเขาก็ได้เปลี่ยนเป็นโอนอ่อน จึงพร้อมที่จะรับฟังคำพูดจาปราศรัยของผู้ต้องขังเหล่านั้น ในเรื่องที่พวกเขาไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนด้วยความสนใจและประหลาดใจ และในที่สุดพวกเขาก็เข้าใจ ว่าพวกท่านที่ถูกควบคุมตัวอยู่นี้เป็นคนกู้ชาติเป็นคนรักชาติประชาชน ไม่ใช่พวกทรยศกบฎต่อชาติอย่างที่พวกเขาเคยรับรู้มาก่อน ตรงข้ามพวกผุยต่างหากที่เป็นพวกกบฏทรยศต่อชาติต่อประชาชน

โดยเฉพาะท้าวหวา ซึ่งเคารพนับถือสิงกะโปเป็นอาจารย์ ได้เอ่ยปากปวารณาตัวกับท่านสิงกะโปที่จะให้ความช่วยเหลือทุกวิถีทางที่ต้องการ และบอกว่า “ถึงแม้พลเอกลำเงินเป็นผู้บัญชาการก็จริง แต่ผู้ควบคุมพวกท่านอย่างใกล้ชิดคือพวกข้าน้อยเอง”

จากการทำความเข้าใจกับพวกสารวัตรทหาร จนพวกเขาเข้าใจในสถานการณ์และอุดมการณ์ของแนวลาวรักชาติ พวกเขาจึงให้ความสะดวกในทุกๆ ทาง การอยู่เวรยามก็เพียงทำไปตามหน้าที่พอเป็นพิธีเท่านั้น

จึงเป็นอันว่าภาระหน้าที่ในการทำงานทางอุดมการณ์เกลี้ยกล่อมให้การศึกษาพวกทหารเวรยามได้ประสบความสำเร็จด้วยดี ยังคอยแต่เงื่อนไขสถานการณ์และเวลาที่จะลงมือในขั้นต่อไป

ลำดับ๕๑๖.แหกคุกโพนเค็งบันลือโลก(๔)

บทที่ ๔ ชี้นำผู้คุมให้เข้าใจความจริง

ก่อนหน้าการจับกุมคุมขังเจ้าสุภานุวงศ์และคณะหลายเดือน สหายสิงกะโป สีโคตจุนนะมาลียังพักอยู่ในบ้านพักรับรองที่ทางรัฐบาลเวียงจันทน์จัดให้ คือบ้านพักรับรองข้างค่ายโพนเค็ง ซึ่งสหายได้มีโอกาสรู้จักกับทหารบางคน ซึ่งจะมีผลต่อมาในภายหลัง

สหายสิงกะโปเล่าว่า ในระหว่างที่ท่านอยู่บ้านพักข้างค่ายโพนเค็ง ท่านได้ทำความรู้จักกับทหารที่ค่ายนั้น ชื่อ ท้าวหวา เป็นหัวหน้ารับผิดชอบศูนย์กลางโทรศัพท์ที่ค่ายโพนเค็ง เขาเป็นนักมวยแต่ฝีมือไม่ดี ชกไม่ชนะอย่างดีก็แค่เสมอกับแพ้ สหายสิงกะโปเป็นนักมวยเก่า เห็นหน่วยก้านท้าวหวาก็คิดว่าถ้าได้ครูมวยดีๆเขาอาจจะเป็นนักมวยมีฝีมือได้ จึงได้ตีสนิททำความรู้จักและในที่สุดก็ได้สอนมวยให้จนท้าวหวาเก่งกล้าขึ้นชกที่ไหนชนะที่นั่น สามารถปราบนักมวยประเภทเสือๆ ของเวียงจันทน์ได้ราบคาบ เขาจึงให้ความเคารพนับถือและต่อมาก็เป็นความนับถือเสมือนศิษย์กับอาจารย์

สหายสิงกะโปบอกว่า

“เมื่อเขายอมรับนับถือเราหมดใจเช่นนี้ เราจึงไม่ปล่อยให้โอกาสที่จะชี้นำท้าวหวาให้เข้าใจในปัญหาบ้านเมืองและสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น และตั้งใจไว้ว่าจะจัดตั้งท้าวหวาอย่างจริงจัง”

ในเวลาต่อมาสหายสิงกะโปได้พบกับนายทหารหนุ่มของฝ่ายราชอาณาจักรอีก ๒ คน คือ ร.อ.กองแล และ ร.ท.เดือน สุนนะลาด สำหรับกองแลนั้นเขาเป็นลูกศิษย์ของภรรยาของท่าน ซึ่งอยู่ที่สวันเขต กองแลจึงนับถือสหายสิงกระโปเป็นอาจารย์

ขณะนั้นกองแลมีตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองพันทหารราบอากาศที่ ๒ ได้ระบายความในใจของเขาที่ไม่พอใจรัฐบาลฝ่ายราชอาณาจักรให้ท่านสิงกะโปฟัง รวมทั้งความเป็นอยู่ของพวกเขาที่ไม่มีอนาคต มีแต่รบกับรบ ไม่รู้ว่าจะตายวันไหน

สหายสิงกะโปจึงได้โอกาสชี้นำอธิบายให้พวกเขาเข้าใจในปัญหาบ้านเมือง ซึ่งได้ยังความพอใจให้พวกเขา และทั้งสองคนก็ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่านอยู่เป็นประจำ ซึ่งทำให้เขาเข้าใจสภาพการณ์บ้านเมืองดีขึ้น เข้าใจแนวลาวรักชาติ ต่อมากองแลและเดือนได้มีโอกาสพบกับเสด็จเจ้าสุภานุวงศ์ โดยการจัดการของสหายสิงกะโปตามคำขอร้องของกองแล ซึ่งได้ยังความพอใจให้กับเขาเป็นอย่างมาก

ความสัมพันธ์ระหว่างท่านสิงกะโปกับ ร้อยเอกกองแล นั้น เอกสารบางชิ้นอ้างว่าเป็นความประสงค์ของ ซี.ไอ.เอ. เพราะสหายสิงกะโปเป็นนายทหารของแนวลาวรักชาติที่มีชื่อเสียงโด่งดังในการรบมากที่สุดคนหนึ่งที่ ซี.ไอ.เอ.รู้จักดี จึงได้ส่งกองแลที่ ซี.ไอ.เอ.รู้ประวัติความสัมพันธ์ระหว่างกองแลกับครอบครัวของสหายสิงกะโปเป็นอย่างดี ให้เข้ามาติดต่อใกล้ชิดกับท่าน แต่เหตุการณ์ในอนาคตต่อไปจะชี้ให้เห็นว่า สหายสิงกะโปกลับดึงกองแลออกจากกองทัพของราชอาณาจักร

ต่อมาเมื่อสหายสิงกะโปถูกจับกุมเข้าคุกโพงเค็ง กองพันทหารราบที่ ๒ ของกองแลถูกสั่งย้ายออกจากเวียงจันทน์ไปประจำอยู่แขวงสาละวัน ด้วยเหตุผลลึกๆว่าเพราะมีการติดต่อสัมพันธ์กับสหายสิงกะโป ส่วนท้าวหวาซึ่งเป็นทหารอยู่ค่ายโพนเค็งยังสัมพันธ์ปกติกับท่านสิงกะโป และต่อมาท้าวหวาได้เป็นกุญแจสำคัญในการแหกคุกครั้งบันลือโลกที่จะเกิดขึ้น

Monday, March 23, 2009

ลำดับ๕๑๕.แหกคุกโพงเค็งบันลือโลก(๓)

บทที่ ๓ โน้มน้าวใจผุ้คุมใจหิน

เรื่องสภาพความเป็นอยู่ภายในคุกโพนเค็งนั้น เจ้าสุภานุวงศ์ได้ให้สัมภาษณ์แก่วิลเฟรด เบอร์เช็ตต์ในภายหลังไว้ว่า “เราถูกห้ามไม่ให้พูดจากัน ถูกห้ามไม่ให้อ่านหนังสือ กระดาษมีอย่างเดียวคือกระดาษชำระ นอกจากนี้ยังถูกค้นตลอดเวลา ไม่เคยได้ข่าวอะไรเลยนอกจากทางเครื่องขยายเสียงซึ่งส่งเสียงดูหมิ่นและข่มขู่คุกคามพวกเรา แม้แต่เมื่อเจ้าเพชรราชพี่ชายคนหัวปีของผมตายลง ผมขออนุญาตไปร่วมพิธีศพก็ยังถูกปฏิเสธ เมื่อเจ้าพี่สุวรรณภูมาต้องการพบผม ทีแรกยังถูกปฏิเสธแต่ผลที่สุดก็ยอมให้ เพราะท่านเป็นเอกอัครราชทูต—แต่พวกผู้คุมก็เอาเครื่องบันทึกเสียงมาตั้งไว้ตรงหน้าให้เห็นๆกัน เจ้าพี่บอกว่าอยากจะพูดอะไรก็พูดไม่ได้ และผมเองก็ถูกปฏิเสธไม่ยอมให้ไปในงานพิธีศพอยู่นั่นเอง”

เจ้าสุภานุวงศ์ยังกล่าวให้เบอร์เช็ตต์ฟังต่อไปอีกว่า

“สำหรับผู้คุมนั้น เราได้สารวัตรทหารหน่วยที่เป็นปฏิกิริยาที่สุด-ได้รับการฝึกอบรม,ติดอาวุธและชำระเงินโดยพวกอเมริกัน พวกนี้ถูกเลือกเฟ้นมาเป็นพิเศษและก็ได้รับการอบรมบ่มสอนมาเป็นพิเศษด้วย เป็นพวกเดียวเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับพวกเรา นำอาหารมาให้แล้วก็เก็บกลับไป จับจ้องดูพวกเราอย่างใกล้ชิด ได้รับคำสั่งห้ามไม่ให้พูดจากับเราแม้แต่คำเดียวและก็รับอะไรจากเราไม่ได้เลย ถ้าเราส่งบุหรี่ให้ก็จะถูกขว้างลงกับพื้น ถ้าเราเอ่ยอะไรขึ้นก็เอามืออุดหู แต่เราก็ยังพยายามจะเอาชนะใจให้จงได้”

“เราไม่อาจจะติดต่อร่วมมือกันได้เลย เพียงแต่สบตากันหรือเขียนข้อความเล็กๆน้อยๆ บนกระดาษชำระแล้วทิ้งลงกับพื้นเท่านั้นเอง แต่พวกเราก็ยังพยายามที่จะระบุออกไปให้เป็นที่ทราบระหว่างกันว่า คนไหนในหมู่ผู้คุมที่เราจะเอาชนะได้อย่างแน่นอนที่สุด ในการอธิบายนโยบายของเราให้เขาฟัง ผมพยายามพูดกับเขาถึงความไม่มีคุณธรรมของพวกนายๆของเขา, ความโหดร้ายที่พวกเขามีต่อประชาชน, ท่าทีแอนตี้ผู้รักชาติของบรรดาผู้ที่ขายตัวให้แก่ดอลล่าร์ ส่วนพวกเราทำเพื่อประชาชน เพื่อประชาชนนี้เองเราจึงได้เสียสละ ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องมาอยู่ในคุก ผลประโยชน์ของเรานั้นไม่มีอะไรที่จะเป็นไปเพื่อตัวเราเองเลย ไม่มีอะไรได้เป็นส่วนตัว เราต้องการช่วยประชาชนลาวทั้งชาติรวมทั้งพวกผู้คุมด้วย

ด้วยเหตุนี้เราจึงสมัครใจที่จะมีชีวิตอยู่ในความยากลำบาก, มีชีวิตเต็มไปด้วยอันตรายในป่าดงพงไพรหลายต่อหลายปีมา เราต่อสู้เพื่อเอกราชที่แท้จริงของประเทศของเรา แต่พวกเขาเล่า รับใช้ใคร? ชาวต่างชาติที่ต้องการเอาลาวลงเป็นทาสและพวกทุจริตคอร์รัปชั่นที่ขายตนเพื่อดอลล่าร์…”

ระยะแรกๆ เจ้าสุภานุวงศ์บอกว่า เหมือนพูดกับกำแพงหรือห้องขังเปล่าๆ “ครั้งแรกที่รู้ว่าเราเข้าถึงจิตใจของเขาแล้วก็เมื่อผู้คุมคนหนึ่งกลับมาบอกว่า เขาได้ไปเยี่ยมครอบครัวของเรามาแล้ว รับรองกับทางครอบครัวว่าพวกเราสบายดี แล้ววันหนึ่ง ผู้คุมคนนั้นก็มาที่ห้องผม นำอาหารมาให้ นิ้วของเขาสัมผัสกับนิ้วของผมใต้ถาด เขาซื้อหนังสือพิมพ์มาให้ผมด้วยเงินของเขาเอง แล้วต่อจากนั้น ผู้คุมทุกคนก็ค่อยๆ ช่วยเหลือพวกเรายิ่งขึ้น…”

ลำดับ๕๑๔.แหกคุกโพงเค็งบันลือโลก(๒)

บทที่ ๒ การสอบสวนของอัยการ

วันต่อมาผุย ชนะนิกรได้สั่งให้พวกอัยการ ศาล เข้ามาในคุกโพนเค็ง เพื่อทำการสอบสวนสหายสุภานุวงศ์และสหายอื่นๆ ผุยคิดว่าการทำเช่นนี้ในด้านหนึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายของบ้านเมือง พร้อมกันนั้นก็เพื่อข่มขู่สหายสุภานุวงศ์และสหายอื่นๆ เขาไม่นึกว่าการสอบสวนนั้นจะกลายเป็นการกล่าวโทษเขาเอง

บรรดาคำถามที่พวกอัยการได้ถามสหายสุภานุวงศ์นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่ผูกมัดให้สหายสุภานุวงศ์รับว่าตนได้ก่อการกบฏต่อประเทศชาติ เช่นได้ถามว่าเสด็จได้ยุแหย่ให้กองทหารฝ่ายปเทดลาวแข็งข้อต่อรัฐบาลราชอาณาจักร ใช่ไหม? เสด็จได้ร่วมมือกับต่างประเทศก่อความไม่สงบภายในประเทศใช่ไหม? เสด็จได้ทรยศต่อประเทศชาติใช่ไหม? และอื่นๆ คำตอบที่พวกอัยการ ศาลได้รับ ก็คือ “ไม่”

แล้วเจ้าสุภานุวงศ์ได้ชี้แจงถึงความรักชาติที่ท่านได้กระทำมาและกล่าวประนามการกระทำที่ขายชาติของผุย ชนะนิกร สหายได้ชี้แจงอย่างจะแจ้งว่าสหายไม่เคยได้มีการกระทำที่เป็นการทรยศต่อประเทศชาติ ภายหลังที่ประชาชนลาวได้ยึดอำนาจการปกครองจากพวกฟาสซิสต์ญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคม ๒๔๘๘ สหายได้กลับคืนประเทศและได้เข้าร่วมในรัฐบาลลาวอิสระ เมื่อฝรั่งเศสได้กลับเข้ามายึดลาวอีกในภายหลัง สหายก็ได้ต่อสู้กับฝรั่งเศสผู้รุกราน การกระทำที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศชาตินั้น จะถือเป็นการทรยศต่อชาติไม่ได้อย่างเด็ดขาด

สหายสุภานุวงศ์ได้ชี้แจงว่า การต่อสู้เพื่อเอกราชของสหายนั้น ได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำมาซึ่งสันติภาพในอินโดจีนในปี ๒๔๙๗ สัญญาเจนีวา ๒๔๙๗ ได้ยอมรับเอกราชและอธิปไตยของลาวเช่นเดียวกับบรรดาประเทศในแหลมอินโดจีน และโดยปฏิบัติตามสัญญานั้นและสัญญาเวียงจันทน์ สหายได้ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้มีการรวมลาว มีความถูกต้องปรองดองชาติ แต่ตรงกันข้าม รัฐบาลฝ่ายราชอาณาจักรได้ทรยศต่อสัญญาที่ได้ลงนามกัน พวกเขาได้ส่งกองทหารไปปิดล้อมกองทหารฝ่ายปเทดลาว ทำให้กองทหารฝ่ายปเทดลาวต้องแหกค่ายหลบหนี แล้วจะมากล่าวโทษผู้อื่น จนถึงขั้นมาจับพวกสหายเข้าที่กักขัง ฉะนั้นจึงเห็นว่าการกักขังสหายจึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย สหายจึงเรียกร้องให้รัฐบาลราชอาณาจักรปลดปล่อยสหายและสหายอื่นๆ…

ภายหลังการสอบสวนของพวกอัยการ ศาล ผุยและพรรคพวกได้พูดอย่างเคียดแค้นว่า “พวกคอมมิวนิสต์นี้หัวแข็งจริงๆ”

ลำดับ๕๑๓.แหกคุกโพนเค็งบันลือโลก(๑)

แหกคุกโพงเค็งบันลือโลก

ความเดิม
ปลายปี ๒๕๐๐ รัฐบาลแห่งชาติซึ่งประกอบด้วยฝ่ายราชอาณาจักรและฝ่ายแนวลาวรักชาติ(ปเทดลาว)ได้ถูกตั้งขึ้นแม้ว่าจะถูกสหรัฐอเมริกาเตะถ่วงด้วยเหตุต่างๆนานาแต่ก็หยุดยั้งการรวมชาติในครั้งนี้ไม่ได้ ประชาชนลาวทั้งประเทศมีความปีติยินดี ที่ประเทศชาติจะสุขสงบมีเอกราชอย่างสมบูรณ์เสียที แต่วิบากกรรมของประชาชนลาวยังไม่สิ้นสุดลงโดยง่าย เพราะพลังปฏิกิริยาในลาวที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาได้เคลื่อนไหวทำให้รัฐบาลผสมนี้เป็นอัมพาตทำงานไม่ได้และบีบให้เจ้าสุวรรณภูมานายกรัฐมนตรีต้องลาออกในเดือนกรกฎาคม ๒๕๐๑

ต่อมาในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ปีนั้นเอง ผุย ชนะนิกร ลูกสมุนตัวสำคัญของ ซีไอเอ ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลราชอาณาจักรโดยกีดกั้นไม่มีตัวแทนของฝ่ายแนวลาวรักชาติเข้าร่วมรัฐบาลซึ่งทั้งหมดนี้เป็นแผนการนานนับปีของสหรัฐอเมริกาที่มุ่งมั่นจะโค่นล้มรัฐบาลผสมที่มีฝ่ายแนวลาวรักชาติเข้าร่วมเมื่อปลายปี ๒๕๐๐ ให้จงได้และมาสำเร็จเอาในเดือนกรกฎาคม ๒๕๐๑ นั่นเอง ดังที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๐ ว่า “สหรัฐอเมริกาถือว่า ความสัมพันธ์กับคอมมิวนิสต์นั้นเป็นแนวทางที่อันตราย…ด้วยเหตุนั้น การขยายตัวของสถานการณ์ในลาวได้ทำให้สหรัฐอเมริกากังวลใจอย่างยิ่ง”

ต้นปี ๒๕๐๒ รัฐบาลผุย ชนะนิกรออกกฎหมายปราบปรามคอมมิวนิสต์เพื่อเข่นฆ่าประชาชนที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล และประกาศไม่ยอมรับสัญญาสงบศึกเจนีวาเมื่อปี ๒๔๙๗ โดยกล่าวว่าสัญญาเจนีวาไม่อาจใช้ในลาวได้อีกต่อไป ต่อจากนั้นในเดือนพฤษภาคม ๒๕๐๒ ท้าวผุย ได้สั่งกองทหารจำนวนมากเข้าปิดล้อมกองพันที่ ๑ และที่ ๒ ของฝ่ายปเทดลาวที่ตั้งอยู่ที่เชียงเงินและทุ่งไหหินตามลำดับ

จากนั้นในวันรุ่งขึ้นคือ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๐๒ ได้กักบริเวณเจ้าสุภานุวงศ์และคณะให้อยู่แต่ในบ้านพักรับรองเท่านั้น แต่เมื่อถึงคืนของวันที่ ๑๗ พฤษภาคม กองพันที่ ๑ และกองพันที่ ๒ ของฝ่ายปเทดลาวที่ถูกกองทหารฝ่ายราชอาณาจักรปิดล้อมไว้ด้วยจำนวนทหารมากมายได้แอบหลบหนีออกมาจากค่ายและเดินทางด้วยการหลบซ่อนพรางตัวจนไปถึงฐานที่มั่นของตนที่ซำเหนือ พวกปฏิกิริยานิยมอเมริกาได้เป็นเดือดเป็นแค้นที่สุด ที่ถูกหยามหน้าเช่นนี้ -โปรดอ่านรายละเอียดใน
http://socialitywisdom.blogspot.com/2009/03/cia_4292.html

บทที่ ๑ ประชุมจัดตั้งหน่วยพรรค

วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๐๒ ฝ่ายรัฐบาลราชอาณาจักรได้ทำการจับกุมเจ้าสุภานุวงศ์และผู้นำอื่นๆของแนวลาวรักชาติ

ห้องขังที่ใช้กักขังเจ้าสุภานุวงศ์และคณะดัดแปลงมาจากคอกม้า จำนวน ๒๒ ห้องแต่ละห้องยาวประมาณ ๓ เมตรกว้างประมาณ ๒ เมตร ประตูหน้าต่างมีลูกกรงเหล็ก ภายในห้องนอกจากเตียงนอนแล้วยังมีโต๊ะตัวเล็ก เพื่อตั้งกินข้าวและเก้าอี้อีกตัวหนึ่งสำหรับนั่งกินข้าว พื้นห้องขังปูด้วยอิฐ เพดานทำด้วยไม้แน่นหนา มีไฟฟ้าหนึ่งดวง ที่หน้าห้องขังมีลานเดินถึงกัน และที่สุดลานเป็นประตูใหญ่ทางเข้าออกซึ่งมีกุญแจแข็งแรง ในเรือนขังจึงใส่กุญแจสองชั้น คือใส่ห้องขังแต่ละห้องแล้วยังใส่ที่ประตูใหญ่ทางเข้าออก

ท่านสุภานุวงศ์ถูกขังไว้ในห้องขังที่ ๔ ซึ่งอยู่ใกล้กับห้องเตรียมอาหารและห้องน้ำ ห้องขังเจ้าสุภานุวงศ์ก็เช่นเดียวกับห้องขังสหายท่านอื่นๆ การที่ผุย ชนะนิกรจัดห้องขังให้มีเครื่องอำนวยความสะดวกดังนี้ก็เพื่อให้ผู้ถูกคุมขังสบายใจในความเป็นอยู่และไม่คิดหลบหนี และนอกจากนั้นก็เพื่อกันข้อครหาของมวลชน ภายหลังที่จับเจ้าสุภานุวงศ์และสหายอื่นๆ แล้ว ผุยได้พูดเย้ยหยันว่า

“ได้เอาพวกเขาไปไว้ที่อาคาร ไม่ใช่ในคุก” และยังพูดต่ออย่างนักเลงโตว่า

“เรื่องจับตัวเจ้าสุภานุวงศ์ ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”

ในวันรุ่งขึ้นหลังถูกจับกุม บรรดาสหายที่เป็นกรรมการประจำของศูนย์กลางพรรคที่ถูกจับกุมในครั้งนี้ ได้มีการประชุมกันเพื่อพิจารณาสถานการณ์ จากบันทึกความทรงจำของสหายภูมี วงศ์วิจิตร มีว่า

“สหายหนูฮัก ภูมิสวรรค์ ได้สรุปความเห็นของที่ประชุมและชี้ออกมาว่า ผุย ชนะนิกร ปฏิบัติตามคำสั่งของสหรัฐอเมริกา ได้จับพวกเรามาขังคุกแล้ว เป็นที่แน่ว่าการปราบปรามพวกแนวลาวรักชาติจะต้องรุนแรงขึ้นกล่าวเก่า…พวกเราต้องมั่นคงและเชื่อมั่นในแนวทางอันถูกต้องของพรรคเรา เดี๋ยวนี้พวกเราต้องจัดตั้งหน่วยพรรคและวางแผนการดำเนินการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทุกคนเห็นดีให้สหายหนูฮัก ภูมิสวรรค์ เป็นเลขาหน่วยพรรคและหัวหน้าคณะรับผิดชอบการคุ้มครองสหายสุภานุวงศ์ออกจากคุกแห่งนี้ โดยมีสหายสุภานุวงศ์ สหายภูมิ ศรีประเสริฐและเรา(สหายภูมี วงศ์วิจิตร)เป็นกรรมการหน่วยพรรค”

ต่อจากนั้นบรรดาผู้ที่ถูกคุมขังได้รับการจัดตั้งเป็นหน่วยๆ สหายสุภานุวงศ์รับผิดชอบหน่วยซึ่งประกอบด้วยสหายมา ไขคำพิทูน สหายหมื่น โสมวิจิตร และสหายสิงกะโป สีโคตรจุนนะมาลี หน่วยทุกหน่วยมีหน้าที่ทำงานอุดมการณ์ เกลี้ยกล่อมให้การศึกษาแก่พวกทหารที่มาอยู่เวรยามในคุก การเคลื่อนไหวต่างๆ ในขณะนั้นปิดลับหมด การติดตามข่าวคราวนี้ได้ทำอย่างปิดลับ รู้เฉพาะแต่ในคณะของหน่วยพรรคหรือในคณะของเลขาหน่วยพรรคเท่านั้น และมีหน่วยหนึ่งทำหน้าที่แจ้งข่าวที่ควรรู้ให้ทุกคนรู้ เพื่อไปปฏิบัติให้ถูกต้อง

ลำดับ๕๑๒.สงครามลับของCIAในลาว(๒๕)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่ ๒๕ เริ่มต้นยุคของเผด็จการภูมี หน่อสวัน

การที่รัฐบาลฝ่ายราชอาณาจักรอ้างว่าเคารพและปฏิบัติตามสัญญาสงบศึกเจนีวามาตลอด เป็นการอ้างอย่างหน้าด้านๆ โดยปราศจากความละอายแม้แต่น้อย เพราะสัญญาสงบศึกดังกล่าว ทั้งผุย ท้าวกระต่าย และเจ้านายคือ ซีไอเอ กับกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันได้ฉีกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยหมดแล้ว นับแต่คว่ำรัฐบาลเจ้าสุวรรณภูมา ตั้งรัฐบาลใหม่ ให้ความช่วยเหลือทางทหารยกกำลังเข้าเข่นฆ่าประชาชนที่รักชาติและกองทหารฝ่ายปเทด ลาว ฯลฯ จนถึงจับเจ้าสุภานุวงศ์และผู้นำคนอื่นๆ พฤติการณ์ต่างๆ เหล่านี้ถือได้ว่าเป็นการประกอบอาชญากรรมโดยแท้

๒๘ กรกฎาคม ๒๕๐๒ เจ้าสุภานุวงศ์และคณะที่ถูกปิดล้อมให้อยู่แต่ภายในบ้านพักมานานแรมปี ก็ได้ถูกจับกุมเข้าคุกโพงเค็ง ผู้ที่ถูกจับกุมครั้งนี้มี ๑๕ คน คือท่านสุภานุวงศ์, ท่านภูมี วงศ์วิจิตร,ท่านหนูฮัก ภูมิสวัน,ท่านพูน สีประเสริฐ,ท่านคำผาย บุปผา,ท่านมา ไขคำพิทูน,ท่านสีทน กมมะดำ,ท่านคำเพ็ชร,ท่านชนะ สีสาน,ท่านเพ้า พิมะจันทร์,ท่านมหาสมบูรณ์ วงศ์หมอบุญธรรม,ท่านภูเขา,ท่านบัวสี เฉลิมสุก,ท่านมานะและรวมทั้งท่านสิงกะโป ที่ถูกจับก่อนหน้านั้นรวมเป็น ๑๖ คน

ด้วยเหตุนี้ ตามดินแดนส่วนต่างๆ ทั่วไปในลาว สงครามกองโจรจึงอุบัติขึ้นอีก ขณะเดียวกันสองผู้รับใช้เก่าของสหรัฐฯ คือท้าวผุยและท้าวกระต่ายก็เกิดขัดแย้งกับสมุนหน้าใหม่คือ นายพลภูมี หน่อสวัน ผู้พยายามแสดงตนว่า สามารถรับใช้เจ้านายได้ดีกว่าสมุนหน้าเก่า พอถึงสิ้นปี ๒๕๐๒ ท้าวผุย ก็เตะนายพลภูมีและกรรมการ ก.ป.ช.คนอื่นๆออกไปจากรัฐบาลของตน พอดีกับท้าวกระต่ายล้มป่วยและถึงแก่ความตายในตอนสิ้นเดือนธันวาคมนั้นเอง พอขึ้นปีใหม่ใน ๒๔ ชั่วโมง นายพลภูมี ห่อนสวันก็พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าตนคือ “บุรุษเหล็ก” คนใหม่ของลาวด้วยการทำรัฐประหาร เตะท้าวผุยออกไปจากตำแหน่งบ้าง นับแต่นี้ไปก็เป็นการเริ่มต้นยุคของนายพลภูมี หน่อสวัน ภายใต้การหนุนหลังของซีไอเอ,กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันและจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้นำไทยซึ่งขณะนั้นกำลังเผด็จอำนาจอยู่ด้วยมาตรา ๑๗

ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๐๓ นายพลภูมี พยายามแสดงลวดลายด้วยการสร้างการเลือกตั้งกำมะลอขึ้น ไม่สนใจคำแนะนำของกระทรวงกลาโหมอเมริกันและซีไอเอ ช์เลสซิงเจอร์เปิดเผยว่า ฝ่ายปเทดลาวในการเลือกตั้งเพิ่ม เมื่อปีก่อนสามารถชนะฝ่ายรัฐบาลอย่างงดงามก็ปรากฏว่าเฉพาะในท้องถิ่นซำเหนือ ฐานที่มั่นของฝ่ายปเทด ลาวแท้ๆ และรัฐบาลก็ไม่มีทางจะย่างกรายเข้าไปในเขตแดนนั้นได้เลย มีผลออกมาว่า ผู้สมัครฝ่ายปเทด ลาวได้คะแนนทั้งสิ้น ๑๓ เสียง ฝ่ายคนของนายพลภูมีและท้าวผุยได้ถึงหกพันกว่าเสียง การเล่นกลวิธีนี้ตื้นเขินจนเกินไป จนแม้แต่อเมริกันซึ่งเป็นเจ้านายโดยตรงก็รับไม่ได้ ไม่อาจจะคุยอวดต่อโลกได้เลย
(ตอนต่อจากนี้ไปจะเป็นเรื่องราวของการแหกคุกที่บันลือโลกและเหลือเชื่อประหนึ่งบทในนิยายฉะนั้น)

Sunday, March 22, 2009

ลำดับ๕๑๑.สงครามลับของCIAในลาว(๒๔)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่ ๒๔ วีรกรรมของกองพันฝ่ายแนวลาวรักชาติ

๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๒ โดยการบัญชาการของกระต่าย โดนสะโสลิด รัฐมนตรีกระทรวงป้องกันประเทศ ได้สั่งให้ทหารของแนวลาวรักชาติ ๒ กองพันที่จะเข้าร่วมกับกองทัพของราชอาณาจักรตามข้อตกลงเจนีวา วางอาวุธและปรับเปลี่ยนผู้บังคับบัญชา โดยเอานายทหารเวียงจันทน์มาเป็นผู้บังคับบัญชาแทนนายทหารของแนวลาวรักชาติ ที่จะถูกย้ายไปอยู่ที่อื่น

คณะผู้นำของ ๒ กองพันถึงแม้ว่าจะอยู่คนละแห่งแต่ก็อยู่ภายใต้การชี้นำของพรรคและก็คิดตรงกันว่า กองพันของพวกเขามาเพื่อเข้าร่วมกับกองทัพของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรหรือรัฐบาลเวียงจันทน์ ตามนโยบายของรัฐบาลลาวต่อต้านหรือแนวลาวรักชาติ ไม่ใช่มาเพื่อยอมจำนนและให้ปลดอาวุธ และโดยเฉพาะพวกเขาไม่ได้รับคำสั่งจากผู้นำของพวกเขาที่อยู่ในเวียงจันทน์ เขาจึงปฏิเสธที่จะวางอาวุธและรับนายใหม่

กลางดึกของวันนั้นเอง กองพันที่ ๑ ที่เชียงเงิน จึงมีนายทหารพากันหลบหนีออกจากวงล้อมของทหารรัฐบาลเวียงจันทน์ไปได้ ถึง ๑ ใน ๓ ของทั้งหมด เช้าวันรุ่งขึ้น นายพลอ้วน รัตติกร ผู้บัญชาการกองทัพบกของรัฐบาลเวียงจันทน์ ไปยังค่ายทหารที่ตั้งของกองพันที่ ๒ ที่ทุ่งไหหิน เพื่อรับมอบอาวุธก็มีอาการผงะตลึงอ้าปากค้างเมื่อพบว่าค่ายที่มีทหารอยู่ ๑ กองพันนั้นได้ว่างเปล่ากลายเป็นค่ายร้าง ทั้งๆที่กองทหารของตนที่ได้ปิดล้อมเตรียมลงมือปราบปรามมีอยู่ถึง ๕ กองพัน แต่ไม่มีสักคนที่จะรู้ว่าทหารฝ่ายปเทดลาวถึง ๑ กองพันที่ถูกปิดล้อมอยู่นั้นแหกค่ายหนีไปได้อย่างไร? ทหารฝ่ายรัฐบาลได้ออกติดตามอย่างเคียดแค้น ถึงกับส่งพลร่มไปดักหน้าในเส้นทางที่คิดว่าฝ่ายปเทดลาวจะต้องไป โดยหมายมาดจะเข่นฆ่าเสียให้สิ้น

กองพันที่ ๑ ที่เล็ดลอดหนีออกมาได้จำนวนหนึ่ง ได้รวบรวมกำลังกันที่จุดนัดพบ แล้วก็สู้พลางถอยพลางจนไปถึงฐานที่มั่นที่ซำเหนือ ส่วนที่ไปไม่ถึงจุดนัดพบก็ได้แยกย้ายกันไปตามเส้นทางที่ปลอดภัย จนไปถึงพงสาลี หลวงพระบางและท้องที่ต่างๆ ที่ใกล้เคียงกันแล้วก็จับอาวุธสู้ต่อไป

ส่วนกองพันที่ ๒ ที่ได้สร้างวีรกรรมอันกล้าหาญหลบหนีการปิดล้อมของทหารฝ่ายรัฐบาลจำนวน ๕ กองพัน ไปได้ทั้งหมดนั้น เป็นกองพันที่มีความชำนาญและรู้จักภูมิประเทศเป็นอย่างดี จึงสามารถซุ่มซ่อนและเข้าโจมตีทหารของนายพลอ้วน ที่ติดตามมาโดยไม่ทันรู้ตัวซึ่งได้สร้างความพินาศเสียหายให้กับฝ่ายติดตามอย่างยับเยิน

โดยอาศัยยุทธวิธีแบบกองโจรที่ตนถนัดด้วยการแยกกำลังออกเป็นหน่วยเล็กๆ แล้วดักซุ่มโจมตีทหารนายพลอ้วน ตามยุทธวิธีที่เรียกว่า ตีเร็วหนีเร็วจากการใช้ยุทธวิธีที่ชาญฉลาด จึงทำให้กองพันที่ ๒ สู้พลางถอยพลางจากทุ่งไหหินจนเข้าสู่ที่มั่นซำเหนือ และการที่ทหาร ๒ กองพันของแนวลาวรักชาติฝ่าวงล้อมของทหารหุ่นเวียงจันทน์ที่มีกำลังอย่างน้อย ๕ กองพันกลับมายึดครองซำเหนือและพงสาลีได้ตามเดิม ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกตกใจไปทั่วในหมู่นักต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทั้งผุย ชนะนิกร กระต่าย และภูมี หน่อสวัน ทั้ง ซีไอเอ และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

จากวีรกรรมของกองพันที่ ๒ ได้สร้างความมั่นใจให้กับขบวนการปฏิวัติและประชาชนลาวมากยิ่งขึ้น และในขณะเดียวกันก็ได้เปิดโอกาสให้ผุย ชนะนิกรร้องขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้น โดยขอ “ช่างเทคนิค” และที่ปรึกษาทางทหารเพิ่มขึ้นอีก สหรัฐอเมริกาก็แถลงว่าจะส่งช่างเทคนิคทางทหารมาให้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงว่า ตนเคารพและปฏิบัติตามสัญญาสงบศึกเจนีวา

ช่างเทคนิคอเมริกันดังกล่าวจะสวมเครื่องแต่งกายพลเรือนและจะขยายกองทัพบกลาวจาก ๒๕,๐๐๐ คนเป็น ๓๐,๐๐๐ คนด้วย

ลำดับ๕๑๐.สงครามลับของCIAในลาว(๒๓)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่ ๒๓ ควบคุมตัวเจ้าสุภานุวงศ์และคณะ

ช่วงเวลานั้นเจ้าสุภานุวงศ์และคณะยังคงพำนักอยู่ที่บ้านพักในเวียงจันทน์ซึ่งอยู่ตรงทางเข้าดงป่าสัก ส่วนท่านสิงกะโปที่อยู่ร่วมในคณะเจรจาในฐานะผู้แทนกองทัพ พักอยู่ที่บ้านรับรองค่ายโพนเค็งอันเป็นบ้านรับรองของทางทหาร

ถึงตอนนี้ ผุย ชนะนิกรได้ส่งกองทหารไปบิดล้อมบ้านพักรับรองของเจ้าสุภานุวงศ์และคณะในเวียงจันทน์ ทหารของแนวรักชาติ ๒ กองพันที่จะต้องมาสมทบกับกองทัพรัฐบาลแห่งชาติก็ถูกกองทหารของผุยที่ปิดล้อมไว้เช่นเดียวกันทั้งที่เชียงเงินและทุ่งไหหิน

ขณะเดียวกันท่านสิงกะโปซึ่งเป็นผู้แทนกองทัพของรัฐบาลแนวลาวรักชาติก็ถูกฝ่ายเวียงจันทน์เรียกตัวไปพบเรื่องการรวม ๒ กองพันเข้ากับกองทัพแห่งชาติและเรื่องยศทหาร โดยให้ท่านสิงกะโปสั่งให้ทหาร ๒ กองพันมอบอาวุธเก็บเข้าคลังทั้งหมด และมอบยศทหารให้ท่านในขั้นพันเอก

แต่โดยที่ปัญหาการเมืองยังไม่เรียบร้อย รัฐบาลผสมครั้งที่แล้วก็ถูกยุบเลิกไปแล้ว แล้วอย่างนี้จะสั่งให้มอบอาวุธเข้าคลังได้อย่างไร ท่านสิงกะโปจึงแจ้งกับพวกเวียงจันทน์ไปว่า ขอให้ปัญหาทางการเมืองได้รับการแก้ไขให้เรียบร้อยก่อนแล้วจึงค่อยพูดปัญหาทางด้านการทหารกัน การเจรจาวันนั้นจึงไม่มีอะไรคืบหน้า

๑๑ พฤษภาคม ๒๕๐๑ ท่านสิงกะโปถูกเชิญไปพบครั้งที่สอง พวกเวียงจันทน์กล่าวว่า

“ครั้งแรกเห็นชอบให้ท่านคงยศพันเอกตามเดิม ให้ท้าวตู้เป็นพันโทและท่านเกเป็นพันตรี แต่บัดนี้เพื่อความเหมาะสมกับความรู้ความสามารถของแต่ละคน จึงเห็นสมควรจะลดแต่ละคนลงขั้นหนึ่ง”

ท่านสิงกะโปได้ยินเช่นนั้นรู้สึกโกรธจนเก็บอารมณ์ไว้ไม่อยู่ ไม่ใช่เพราะถูกลดขั้น แต่เพราะวาจาปลิ้นปล้อน เมื่อพวกนั้นเห็นอาการโกรธ จึงพูดด้วยน้ำเสียงอ้อมแอ้มว่า สำหรับท่านสิงกะโป อาจจะขึ้นขั้นให้เป็นนายพลก็ได้ พอได้ยินเช่นนั้นท่านก็ทุบโต๊ะเปรี้ยง กล่าวว่า

“เราคือนายทหารปฏิวัติ ไม่ใช่ทหารหุ่นรับจ้าง!”

ท่านสิงกะโปเล่าให้ฟังว่ายังจำสีหน้าของพวกนั้นได้อย่างแม่นยำไม่ลืม และเย็นวันนั้นเองพอกลับมาถึงเรือนพักรับรอง ท่านก็ถูกควบคุมตัวส่งเข้าคุกโพนเค็ง ซึ่งเป็นการเตรียมการณ์ไว้แล้ว

นับตั้งแต่ผุย ชนะนิกรและคณะขึ้นมากุมอำนาจ ได้เข่นฆ่าประชาชนลาวผู้รักชาติเสียมากต่อมาก แต่เพื่อตบตาลวงโลกว่าพวกเขาไม่เข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ รัฐบาลผุย ชนะนิกรจึงเดินตามรอยตีนของรัฐบาลเผด็จการของไทย โดยการออกกฎหมายปราบปรามคอมมิวนิสต์และใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนอย่างถูกกฎหมาย! เช่นเดียวกับที่รัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำกับประชาชนไทยผู้บริสุทธิ์อยู่ในเวลานั้น

๑๑ พฤษภาคม ๒๕๐๒ ผุย ชนะนิกรได้แถลงปฏิเสธสัญญาเจนีวา ด้วยเหตุผลว่าสัญญาเจนีวาเป็นเครื่องมือในการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ และประกาศไม่ยอมรับนับถือคณะกรรมการสากลควบคุมสงบศึกอินโดจีนที่มีอินเดียเป็นประธาน อันเป็นบาทก้าวมหาโหดที่จะไปจัดการกับ ๒ กองพัน และคณะแกนนำลาวรักชาติ ที่มีท่านสุภานุวงศ์เป็นประธาน

Wednesday, March 18, 2009

ลำดับ๕๐๙.สงครามลับของCIAในลาว(๒๒)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่ ๒๒ การสังหารหมู่ที่ซำเหนือและพงสาลี

เมื่อรัฐบาลผสมของเจ้าพี่-เจ้าน้องต้องถูกคว่ำลงโดยแผนการร้ายของซีไอเอและได้รัฐบาลสมุนรับใช้สหรัฐอเมริกาขึ้นมาแทน ท้าวกระต่ายได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและสิ่งแรกที่จะทำก็คือการแก้ตัวที่เคยพ่ายแพ้ต่อกองทหารฝ่ายปเทดลาวมาก่อน ซึ่งบัดนี้ทหารฝ่ายปเทดลาวที่เหลืออยู่เพียง ๒ กองพัน กำลังหลักที่ซำเหนือและพงสาลีก็ถูกยุบสลายไปหมดแล้ว คงมีแต่ผู้ปฏิบัติงานที่เปิดเผยตัวและปราศจากอาวุธ ท้าวกระต่ายจึงส่งกองทหารเข้ากระหนาบระหว่างซำเหนือกับเวียดนามเหนือแล้วยกกำลังเข้าประหัตประหารในทันที

ในพงสาลีนั้นผู้ปฏิบัติงานของฝ่ายปเทดลาวไม่เหลือชีวิตเลยสักคนเดียว! ส่วนในอัตตปือและสารเวน ฐานที่มั่นเก่า บรรดาผู้ปฏิบัติงานที่กลับไปทำไร่ทำนาซึ่งเป็นการปฏิบัติตามสัญญาสงบศึกเมื่อปี ๒๔๙๗ ท้าวกระต่ายฆ่าตายเรียบและให้ตัดหัวเสียบประจานเพื่อเป็นการประกาศว่า ฝ่ายปเทดลาวไม่มีตัวตนอยู่อีกต่อไปแล้ว! และดอลล่าร์ที่ตนได้รับจาก “เจ้านาย” นั้นคุ้มค่า ทุกดอลล่าร์เสมอ!

แต่ไม่ว่าท้าวกระต่ายจะเหี้ยมโหดเพียงไร ก็ไม่อาจจะระดมกำลังทหารและกำลังอาวุธให้เพียงพอที่จะฆ่าคนลาวให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินได้ ดังนั้นในหลายท้องที่จึงมีกลุ่มต่อต้านเล็กๆ รวมตัวกันจับอาวุธขึ้นสู้รบกับกองทหารรัฐบาลและก็ขยายกำลังออกไป

ตั้งแต่กลางปี ๒๕๐๑ ไปจนถึงต้นปี ๒๕๐๒ ท้าวกระต่ายยังคงบัญชาการให้เข่นฆ่าชาวลาวตลอดมา ให้ทั้งกำลังทหารและตำรวจสังหารประชาชนผู้รักชาติที่ปราศจากอาวุธ ทั้งๆที่เขาเหล่านั้นได้อุทิศชีวิตต่อสู้เพื่อเอกราชของลาวมาช้านาน

ในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๐๒ นั้นเอง ท้าวผุย ชนะนิกร นายกรัฐมนตรีก็ออกโรงแถลงประนามสัญญาสงบศึกเจนีวา ประกาศว่า สำหรับรัฐบาลของเขานั้น คณะกรรมการควบคุมสงบศึกอินโดจีนได้หมดสภาพไปแล้ว

ต่อมาทางโซเวียตในฐานะประธานร่วมกับอังกฤษในที่ประชุมสงบศึกเจนีวาได้เรียกร้องไปยังอังกฤษให้เปิดประชุมคณะกรรมการควบคุมสงบศึกขึ้นใหม่ และทั้งๆที่เนห์รูในฐานะผู้แทนอินเดียซึ่งเป็นประธานกรรมการดังกล่าวก็ได้สนับสนุนแต่อังกฤษก็ไม่ให้คำตอบแต่อย่างใด.

ลำดับ๕๐๘.สงครามลับของCIAในลาว(๒๑)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่ ๒๑ นายพลภูมีคว่ำรัฐบาลผสม


โรเจอร์ ฮิลสแมนกล่าวว่า บรรดาผู้ที่เป็นกรรมการ ก.ป.ช.นี้ ทุกๆคนรู้กันดีอยู่ว่าซีไอเอเป็นตัวการให้ความสนับสนุน ออกเงินทองให้ แต่ในขณะนั้นทางอเมริกกันยังปฏิเสธอย่างด้านๆ

ทางวอชิงตัน รัฐบาลอเมริกันมีความห่วงใยสถานการณ์ในลาวที่เป็นภัยต่อแผนยึดครองราชอาณาจักรแห่งนี้เป็นที่ยิ่ง โรเจอร์ เกรแฮม เปิดเผยว่า “สหรัฐอเมริกาจึงตกลงใจที่จะระงับการจ่ายเงินเดือนให้แก่รัฐบาลลาว-โดยข้ออ้างที่ว่ามีคอร์รัปชั่นในโครงการสินค้าเข้าและต้องการปฏิรูปเกี่ยวกับเงินตราใหม่ คอร์รัปชั่นที่ว่านี้ความจริงก็มีจริงๆ เนื่องจากท้าวกระต่ายโดยซีไอเอ อยู่เบื้องหลังได้ตั้งธนาคารและบริษัทธุรกิจต่างๆ โดยอาศัยเงินช่วยเหลือของอเมริกันทั้งหมดมาค้ำจุน แต่ภายหลังประสบความล้มเหลว ซีไอเอจึงเลือกสมุนคนใหม่ภายใต้ระบบบปฏิรูปเงินตราใหม่ ดอลล่าร์ทั้งหลายจึงหลั่งไหลเข้ามือท้าวผุย ชนะนิกร แทน

อย่างไรก็ดี ระหว่างนี้ซีไอเอหันมาสนับสนุนผู้นำคนใหม่ที่เพิ่งมาจากฝรั่งเศสคือ นายพลภูมี หน่อสวัน ผู้มีคุณวุฒิเช่นเดียวกับท้าวกระต่ายคือ ถือเอาผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาสำคัญเหนืออื่นใด แต่เหตุผลที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เป็นหลานจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้เผด็จการของไทยซึ่งก็ยึดมั่นในนโยบายตามหลังสหรัฐอเมริกาด้วยความจงรักภักดีเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้เพียงชั่วเวลาไม่ถึง ๓ เดือนดี จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ซึ่งยังผลให้เจ้าสุวรรณภูมาได้เป็นผู้นำรัฐบาลผสมร่วมกับแนวลาวรักชาติดังได้กล่าวแล้ว ด้วยความพยายามของสถานทูตอเมริกัน เงินดอลล่าร์ก็ได้หลั่งไหลออกไปอีกครั้งหนึ่งในจำนวนหนึ่งแสนดอลล่าร์ต่อเสียงในสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งเสียง รัฐบาลผสมของเจ้าพี่-เจ้าน้องจึงต้องมีอันต้องคว่ำลงในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๐๑

อเมริกาได้บงการให้นายพลภูมีออกโรงบีบจน “เจ้าพี่” ต้องออกโรงแถลงว่า ไม่สามารถจะตั้งรัฐบาลใหม่ได้เพราะนายพลภูมี ประธาน ก.ป.ช.เรียกร้องเอาตำแหน่งรัฐมนตรีถึง ๘ ตำแหน่งในจำนวน ๑๒ ตำแหน่ง ทั้งๆที่กรรมการ ก.ป.ช.ชุดนี้ไม่ได้เป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรแม้แต่คนเดียว

รัฐบาลใหม่ถูกตั้งโดยมีท้าวผุย ชนะนิกรเป็นนายกรัฐมนตรี ท้าวกระต่ายเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและมหาดไทย นั่นหมายความว่า ซีไอเอ ให้โอกาสท้าวกระต่ายแก้ตัวอีกครั้ง ส่วนเจ้าสุภานุวงศ์ กับภูมี วงศ์วิจิตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาตลอดจนผู้นำพรรคสันติภาพเป็นกลางได้ถูกตัดออกไปจากคณะรัฐมนตรี

แล้วท้าวผุย ชนะนิกรก็ประกาศนโยบายเป็นกลางที่ "นิยมตะวันตกแอน-ตี้คอมมิวนิสต์และประเทศเป็นกลางอื่นๆ" คราวนี้เจ้าสุวรรณภูมาถูกเตะโด่งไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำฝรั่งเศส.

ลำดับ๕๐๗.สงครามลับของCIAในลาว(๒๐)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่ ๒๐ การเข้ามาของจอมฟัสซิสต์ภูมี หน่อสวัน

เดือนพฤษภาคม ๒๕๐๑ รัฐบาลผสม ๒ ฝ่าย คือรัฐบาลฝ่ายราชอาณาจักรและฝ่ายรัฐบาลลาวต่อต้าน(ปเทดลาว) ได้จัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเพิ่มเติมจำนวน ๒๑ ที่นั่ง ผลปรากฏว่าแนวลาวรักชาติของเจ้าสุภานุวงศ์ซึ่งส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ๑๐ คน ได้รับเลือกตั้งถึง ๙ คน ส่วนท้ายกระต่ายกับพวกส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง ๒๖ คน ได้รับเลือกตั้ง ๔ คน ฝ่ายที่สนับสนุนท้ายผุย ชนะนิกร ไม่ได้รับเลือกตั้งเลย พรรคสันนิบาตของท้าวกีนิน พลเสนา ซึ่งเป็นพันธมิตรกับแนวลาวรักชาติได้รับเลือกตั้ง ๔ คนและพรรคอื่นๆ ได้รับเลือกตั้ง ๔ คน

ในการเลือกตั้งครั้งนี้เจ้าสุภานุวงศ์ ได้ลงสมัครในเขตนครเวียนจันทน์ และได้รับคะแนนมาเป็นที่หนึ่ง ชนะผู้รับสมัครคนอื่นๆ อย่างท่วมท้น อันเป็นปรอทวัดให้เห็นถึงความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อท่านและต่อแนวลาวรักชาติ

ผลการเลือกตั้งเพิ่มเติมที่เจ้าสุภานุวงศ์และแนวลาวรักชาติได้ประสบชัยชนะอย่างงดงามเช่นนี้ ถ้าหากจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปีถัดไป ซึ่งจะมีที่นั่งทั้งหมดในสภาจำนวน ๖๙ ที่นั่ง ก็ให้เป็นที่วิตกของสหรัฐอเมริกา ว่าแนวลาวรักชาติของเจ้าสุภานุวงศ์จะได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาอย่างแน่นอน สหรัฐอเมริกาจึงเดินหน้าในการบ่อนทำลายรัฐบาลผสมและข้อตกลงเจนีวาต่อไป

เป็นที่เห็นได้ชัดแจ้งแล้วว่า ท้าวกระต่ายไม่เป็นประโยชน์อันใดอีกต่อไป มีค่าเท่ากับหมาเขี้ยวหักของนายพราน ภายในชั่วเวลาสอง-สามสัปดาห์ของการเลือกตั้งเพิ่ม ก็ได้มีการเล่นกลกันอีกครั้งหนึ่งโดยมาในนามของคณะกรรมการเพื่อป้องกันผลประโยชน์แห่งชาติ ที่จะเรียกโดยย่อว่า ก.ป.ช. พร้อมด้วยผู้นำคนใหม่ที่อเมริกาคัดสรรแล้วเช่นเคย คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยนายทหารกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความคิดจิตใจเป็นฟัสซิสต์ หัวหน้าได้แก่ นายพลภูมี หน่อสวัน หลานของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้เผด็จการของไทยอดีตนายกรัฐมนตรีที่คอร์รัปชั่นและบ้ากามที่สุดคนหนึ่งของโลก.

ลำดับ๕๐๖.สงครามลับของCIAในลาว(๑๙)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่ ๑๙ เจ้าเพชรราชแถลงสนับสนุนให้ตั้งรัฐบาลผสม

มีนาคม ๒๕๐๐ เจ้าเพชรราช เจ้าพี่องค์โตของเจ้าบุญคง(พระบิดาเดียวกันกับเจ้าสุวรรณภูมา เจ้าสุภานุวงศ์) ก็ได้กลับมาลาวหลังจากลี้ภัยการเมืองไปอยู่ไทยเสีย ๑๑ ปี พอมาถึงก็ได้รับความกดดันจากสถานทูตอเมริกันและอังกฤษในทันที สถานทูตสองมหาอำนาจนี้หวังเป็นอย่างมากว่า จากการที่เจ้าเพชรราชไปอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นเวลานานหลายปี คงจะมีนโยบายสนับสนุนซีอาโต้ตามแบบรัฐบาลไทย

แม้ว่าเจ้าเพชรราชจะแสดงความต้องการว่าอยากจะดำรงชีพอยู่อย่างสงบในฐานะ “สามัญชน” แต่เพียงเดือนเดียวหลังเดินทางกลับ เจ้าชีวิตก็ทรงแต่งตั้งให้เป็น “อุปราช” ตามเดิม ตำแหน่งนี้ในปัจจุบันมีความหมายน้อยมาก ไม่เหมือนสมัยก่อน แต่มันก็ทำให้ท่านมีเกียรติคุณในฐานะ “รัฐบุรุษอาวุโส” ซึ่งสถานทูตทั้งหลายที่สนับสนุนซีอาโต้แน่ใจว่าจะสามารถใช้เจ้าเพชรราชให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตนได้

แต่ถ้อยแถลงของท่านที่ออกสู่สาธารณะเป็นครั้งแรกยังผลให้เกิดความตกอกตกใจกันขึ้น เพราะท่านให้ความเห็นชอบอย่าง “สุดชีวิตจิตใจ” ต่อการจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นและก็ได้เรียกร้อง ”ความเป็นกลางอย่างสมบูรณ์, ชัดแจ้ง ไม่มีการใช้เล่ห์กระเท่ชนิดต่อหน้าอย่างหนึ่งลับหลังอย่างหนึ่ง” และเพื่อให้การเรียกร้องต้องการที่กล่าวมานี้ได้เป็นจริงในทางปฏิบัติ เจ้าเพชรราชก็เสนอให้ลาวสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลเวียดนามเหนือและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน

ที่น่าสนใจอีกด้านหนึ่งของท่านก็คือ ท่านได้นำเอาเครื่องพิมพ์สมัยใหม่เข้ามาในลาวด้วยความหวังที่ว่า จะสร้างหนังสือพิมพ์รายวันขึ้นเป็นฉบับแรกของเวียงจันทน์

ด้วยการใช้วิธีขัดขวางต่างๆนานา การจัดตั้งรัฐบาลผสมจึงล่าช้าไปถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๐๐ แต่ไม่ว่าจะเป็นสินบนหรือการข่มขู่บีบบังคับอย่างใดๆ ก็ไม่สามารถทำให้สภาผู้แทนราษฎรของลาวออกเสียงคัดค้านสัญญาสงบศึกได้ “เจ้าพี่” สุวรรณภูมาคงเป็นนายกรัฐมนตรีและยังเป็นรัฐมนตรีกลาโหมด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง “เจ้าน้อง” สุภานุวงศ์เป็นรัฐมนตรีกระทรวงวางแผนทางเศรษฐกิจ ท้าวกระต่ายเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย และท้าวผุย ชนะนิกรเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ

พอถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๐๐ เจ้าสุภานุวงศ์ก็ยุบเลิกระบบปกครองที่ซำเหนือและพงสาลีตามสัญญาเจนีวา เข้าอยู่ในระบบปกครองของราชอาณาจักรลาวและโยกย้ายกำลังประกอบอาวุธที่ประจำอยู่ในแขวงต่างๆ ทั่วประเทศกลับคืนไปซำเหนือ รวมทั้งสลายกำลังทหารกลับคืนภูมิลำเนา ยังคงเหลือไว้เพียง ๒ กองพันจำนวนกองพันละ ๗๕๐ คนเพื่อเข้าร่วมในกองทัพแห่งชาติ

กำลัง ๒ กองพันที่เข้าร่วมในกองทัพแห่งชาติ กองพันที่๑ ผบ.คือ พ.ต.อุ่นเรือน ขาวพันธ์ มีกำลัง ๗๕๐ คนไปตั้งอยู่ที่เมืองเชียงเงินแขวงหลวงพระบาง กองพันที่๒ ผบ.พัน คือ พันตรีจำเนียร บุญรักษา มีกำลัง ๗๕๐ คนไปตั้งอยู่ที่ทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง กำลังทั้ง ๒ กองพันอยูในบังคับบัญชาของ พ.ท.เก ปานมาลัยทอง และ พ.ท.ท้าวตู้

การสลายกำลังทหารให้เหลือเพียง ๒ กองพันที่จะนำเข้าร่วมกับกองกำลังแห่งชาตินั้น ได้สร้างความเสียใจ สะเทือนใจให้กับนักรบปฏิวัติที่รักชาติ ต่อเมื่อเจ้าสุภานุวงศ์ได้กล่าวทำความเข้าใจกับบรรดานักรบเหล่านั้นแล้ว ทุกคนจึงโล่งใจ
คำปราศรัยของเจ้าสุภานุวงศ์ต่อนักรบทั้งหลายโปรดอ่านใน

Tuesday, March 17, 2009

ลำดับ๕๐๕.สงครามลับของCIAในลาว(๑๘)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่๑๘ แผนสังหารของ ซี.ไอ.เอ.

เบอร์เซ็ตต์ นักหนังสือพิมพ์ชาวออสเตรเลียได้กล่าวต่อไปในหนังสือของเขาว่า

“มีการผ่อนปรนในคำสั่งขับผมออกจากลาวด้วยการยืดเวลาให้ไปเครื่องบินเที่ยวต่อไป จึงทำให้ผมมีเวลาพบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนซึ่งได้เล่าให้ฟังว่า มีการติดสินบน “ซื้อเสียง” จำนวนมหึมาเพื่อให้ออกเสียงไม่เห็นด้วยกับสัญญาสงบศึกที่กรุงเจนีวา การช่วยเหลือทางการเงินถูกยับยั้งเพื่อให้สอดคล้องกับคำขู่ของทูตอเมริกันที่ว่า รัฐสภาอเมริกันจะไม่ยอมอนุมัติการให้เงินรัฐบาลลาวที่มีคอมมิวนิสต์ร่วมอยู่ด้วย ร้อนถึงเนห์รูต้องเข้าแทรกแซงโดยติดต่อถึงประธานาธิบดีไอเซนฮาวเออร์โดยตรง ดอลล่าร์จึงไหลมาอย่างเดิม”

“ก่อนผมจะออกเดินทาง มีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้น ผมกับภรรยาซึ่งเดินทางมาด้วยในเที่ยวนี้ แวะเข้าไปในบาร์เล็กๆ เพื่อดื่มเครื่องดื่มก่อนจะออกเดินทางในตอนบ่าย เมื่อเข้าไปในร้านมีลูกค้านั่งอยู่แล้วคนหนึ่ง แม้ว่าจะมีโต๊ะว่างอยู่หลายโต๊ะ แต่ลูกค้าคนนี้ก็เดินแอ๋มาที่โต๊ะเรา พูดด้วยสำเนียงอเมริกันชัดเจนขอร่วมโต๊ะด้วย ผมตอบว่า “อย่าเลย เรามาที่นี่เพื่อจะคุยกันเงียบๆ แล้วโต๊ะว่างก็มีอยู่ตั้งเยอะ” เขาก็เดินแอ๋ส่งเสียงโอ้กอ้ากไปโต๊ะอื่น อีกครู่เดียวก็ออกไปล้มตัวลงบนสามล้อคันหนึ่งนอกบาร์ ทำท่าเหมือนหลับไป

ผมเรียกบริกรซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสมาเก็บเงิน เขาก็พูดขึ้นด้วยเสียงกระซิบว่า

“มันไม่เมาหรอก มันเป็นสาย ซี.ไอ.เอ. ผมรู้ เพราะผมอยู่ เดอเซียม เบอโร(สำนักสืบงานลับของฝรั่งเศส) อย่าให้มันหลอกได้ ระวังรถของมัน—มีเครื่องพิเศษอยู่ข้างใน”

ถึงตอนนี้ อเมริกันคนนั้นขยับตัวลงมาจากรถสามล้อแล้วขึ้นไปนั่งรถจิ๊ปที่ๆคนขับ ดูเหมือนจะควานหาเกียร์อยู่ พอเราออกมาที่ทางเดินเท้า รถจิ๊ปคันนั้นก็พุ่งเข้าใส่เราราวกับจรวด ถ้าผมไม่กระโดดหลบแล้วเหวี่ยงแขนปัดภรรยาผงะไปข้างหลัง เราทั้งสองคนก็จะถูกชนไปติดกำแพงหินซึ่งเป็นผนังด้านนอกของบาร์ รถจิ๊ปคันนั้นหักเลี้ยวกลับออกถนนไปอย่างบ้าบิ่นส่งเสียงกระหึ่มไปตามถนนจนลับตา

ถ้าหากมี “อุบัติเหตุ” เกิดขึ้น มันก็จะกลายเป็นเรื่องคนขับ “เมาเหล้า” แล้วก็มีเอกสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองทางการทูตด้วย อย่างดีก็จะบินออกไปนอกประเทศเพื่อไม่ต้องถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในศาล”

“เช้าวันรุ่งขึ้นก่อนเครื่องบินจะออก เราแวะไปที่บาร์นั้นอีกครั้ง เพื่อขอบใจชาวฝรั่งเศสประจำบาร์คนนั้น “ผมไม่รู้ว่าคุณพูดเรื่องอะไร” ชาวฝรั่งเศสผู้นั้นพูด “ผมไม่เคยเห็นหน้าคุณมาก่อน”

ไม่ว่าชายผู้นี้จะเป็นสายของ “เดอเซียม เบอโร” จริงหรือไม่ ผมไม่มีวันจะรู้ได้และถ้าเขาเป็นจริง ทำไมเขาจึงมาเปิดเผยตัวในเวลาที่ผิดธรรมดาเช่นนี้ บางที เขาต้องการจะให้เราได้ตระหนักถึงคำเตือนของเขาว่าเป็นเรื่องรีบด่วนร้ายแรงก็เป็นได้

ในตอนนั้นจนกระทั่งถึงบัดนี้ฝรั่งเศสเป็นปฏิปักษ์อย่างร้ายแรงต่อความพยายามของอเมริกันที่จะเข้าครอบครองลาวทั้งประเทศและเมื่อคำกล่าวหาของอเมริกันทีว่า ผมเป็นตัวการสำคัญในการ “นำเจ้าพี่ เจ้าน้องมารวมกัน” และสนับสนุนนโยบายเป็นกลางมีขึ้น ฝรั่งเศสจึงอาจมีความสนใจไม่ต้องการเห็นผมถูก ซี.ไอ.เอ. ใช้รถชนตายก็เป็นได้

อเมริกันคนนั้นคาดหมายได้ว่าผมและภรรยาจะต้องมาที่บาร์ในตอนนั้น เพราะผมมีนัดกับนักหนังสือพิมพ์อเมริกันอีกคนหนึ่งซึ่งไม่ได้มาตามนัดเช่นเดียวกับ “อุบัติเหตุรถจิ๊ป” ซึ่งมีขึ้นเมื่อสอง-สามสัปดาห์ก่อนในกรุงเอเธนส์ นครหลวงของกรีซ แลมบรากีส ผู้นำฝ่ายซ้ายถูกรถยนต์ชนตายโดยสาย ซี.ไอ.เอ. เป็นผู้ขับ

เราถือว่าโชคดีที่รอดมาได้ ถ้าเราไม่ถูกเตือนเสียก่อนคงจะออกเดินจากบาร์ตรงไปถนนซึ่งเป็นทางออกตามปกติของคนที่ออกจากบาร์นี้ แล้วเราก็คงจะถูกชนจนไปปะทะเข้ากับรถบรรทุกคันใหญ่ ซึ่งจอดอยู่ข้างหน้ารถจิ๊ปห่างกันเพียงสองสามหลาเท่านั้น แต่หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้แล้วจนกระทั่งเราไปถึงฮานอยก็ไม่มีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้นอีก”

ลำดับ๕๐๔.สงครามลับของCIAในลาว(๑๗)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่ ๑๗ อเมริกันและอังกฤษร่วมกันกีดกันการจัดตั้งรัฐบาลผสม

การตกลงทำสัญญากันได้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การจะปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง สัญญาดีๆ ที่กระทำกันมาไม่เคยขาดเลยตลอดประวัติศาสตร์แห่งความยุ่งยากในลาว แต่สัญญาใดก็ตามที่ระบุถึงความสงบสุขและเอกราชที่แท้จริงในลาวเป็นต้องถูกบ่อนทำลายลงไป

สัญญาสงบศึกระหว่าง “เจ้าพี่-เจ้าน้อง” สุวรรณภูมากับสุภานุวงศ์ยังจะต้องเสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้สัตยาบันอีกครั้งหนึ่ง สถานทูตอเมริกันจึงต้องออกโรงรณรงค์เพื่อยับยั้งอย่างถึงขนาด เจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกันรุดไปพบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนพร้อมด้วยหนังสือพ็อกเก็ตบุกส์ยัดไส้เล่มหนาเป็นปึก ถ้าติดสินบนไม่สำเร็จก็ข่มขู่คุกคามด้วยประการต่างๆ
ประมาณกลางเดือนมกราคม ๒๕๐๐ พอเจ้าสุภานุวงศ์เดินทางกลับซำเหนือเพื่อเตรียมการให้ฝ่ายประเทศลาวได้เข้าร่วมรัฐบาลใหม่ สถานทูตอเมริกันและอังกฤษก็ฉวยโอกาสตอนเจ้าสุภานุวงศ์ไม่อยู่ กดดันเจ้าพี่อย่างหนักหน่วงเพื่อให้ปฏิเสธสัญญาสงบศึกให้จงได้ เบอร์เช็ตต์ซึ่เดินทางมาถึงเวียงจันทน์อีกครั้งหนึ่งในระยะนี้พอดีก็ปรากฏว่าวีซ่าของเขาต้องถูกยกเลิกอีกเช่นเคย เขาได้รับคำสั่งให้เดินทางออกนอกประเทศใน ๒๔ ชั่วโมง

เบอร์เช็ตต์เล่าไว้ในหนังสือ The Second Indochina War ว่า “เพื่อนนักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันคนหนึ่งในเครือ สคริปส์-โฮเวิร์ด ซึ่งมีนัดรับประทานอาหารกลางวันกับผม มาพบผมด้วยใบหน้าที่แดงด้วยความกระดากกระเดื่องและขอโทษขอโพย “ผมไม่อาจจะมาพบปะพูดคุยกับคุณให้คนเห็นได้” เขาชี้แจง และไม่ยอมแม้แต่จะนั่งลง “ผมอยากจะให้เกิดความตื่นเต้นตกใจกันในสถานทูตของเรา(สถานทูตอเมริกันและออสเตรเลีย)เพียงแค่มาอยู่กับคุณแถวนี้เท่านั้น” เมื่อผมถามเขาว่ามันเรื่องอะไรกัน เขาตอบว่า “สถานทูตเขาบอกว่าคุณเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เจ้าพี่เจ้าน้องรวมกันได้” แล้วเขาก็ผลุนผลันออกไป

เมื่อผมมาถึงโฮเต็ลก็พบตำรวจรออยู่ เขาถามว่าเมื่อไรจะออกเดินทาง เขาจะ “คุ้มกัน” ไปถึงสนามบินด้วยมอเตอร์ไซคล์ให้”

“ผมไปกระทรวงการต่างประเทศลาว แต่คราวนี้ไม่ได้ผล “มีอำนาจที่ใหญ่ยิ่งกว่าเรา” เป็นคำตอบด้วยน้ำเสียงแสดงความเสียใจ เจ้าสุวรรณภูมาส่งหนังสือมาทางประธานคณะกรรมการควบคุมสงบศึกชาวอินเดีย “ครั้งนี้ผมช่วยอะไรคุณไม่ได้ โปรดกลับมาใหม่เมื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมแล้ว”

ผมได้ทราบจากประธานกรรมการชาวอินเดียว่า เอกอัครราชทูตอังกฤษได้ประท้วงมายังประธานกรรมการควบคุมสงบศึกด้วยว่า การปล่อยให้ผู้สื่อข่าวเช่นนี้เดินทางโดยเครื่องบินของคณะกรรมการควบคุมสงบศึกเป็นเรื่อง “เสื่อมเสีย” ซึ่งความจริงเครื่องบินดังกล่าวเป็นสายการบินสายเดียวที่บินอยู่ระหว่าง ฮานอย,เวียงจันทน์,และพนมเปญ

ยิ่งกว่านี้เอกอัครราชทูตอังกฤษยังตำหนิอย่างเปิดเผยเป็นพิเศษว่า “หน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมสงบศึกสมควรจะได้แก่การแยกเจ้าพี่กับเจ้าน้องออกจากกัน แทนที่จะให้รวมกัน”

เหตุผลก็คือ เครื่องบินของคณะกรรมการควบคุมสงบศึกบินรับส่งเจ้าสุภานุวงศ์อยู่ระหว่างซำเหนือกับเวียงจันทน์ เพราะเป็นหน้าที่ตรงตัวที่สุดที่คณะกรรมการควบคุมสงบศึกจะต้องปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามสัญญา”

ลำดับ๕๐๓.สงครามลับของCIAในลาว(๑๖)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่ ๑๖ เจ้าพี่-เจ้าน้องทำความตกลงกันได้

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับท้าวกระต่ายทำให้เขาต้องพ้นไปจากเหตุการณ์ทางการเมืองนานสองสัปดาห์และนั่นเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่เจ้าพี่เจ้าน้องได้เจรจากันเพื่อยุติสงครามกลางเมือง การเจรจาดังกล่าวนี้มีขึ้นครั้งแรกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๔๙๙ และเมื่อเจ้าน้องสุภานุวงค์เดินทางมาถึงเวียงจันทน์ การสู้รบก็ระงับไปโดยสิ้นเชิง เมื่อล่วงเข้าปลายปี ๒๔๙๖ ทั้งสองฝ่ายก็สามารถเจรจาทำความตกลงกันได้ในประเด็นต่างๆทั้งหมด

แนวลาวรักชาติจะได้จัดตั้งเป็นพรรคการเมือง และส่งตัวแทนเข้าร่วมรัฐบาลผสมชุดใหม่ของประชาชาติที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งในระหว่างที่มีการเลือกตั้งทั่วประเทศ รัฐบาลลาวจะดำเนินนโยบายเป็นกลางโดยมีพื้นฐานอยู่ที่หลักปัญจศีลของการอยู่ร่วมกันโดยสันติและ “จะไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับประเทศใดและจะไม่ยอมให้ประเทศหนึ่งประเทศใดตั้งฐานทัพทางทหารขึ้นในดินแดนลาวนอกจากที่ได้มีปรากฏอยู่ในสัญญาสงบศึกเจนีวา”

การที่ท้าวกระต่ายต้องได้รับบาดเจ็บในครั้งนี้ซึ่งยังผลให้เจ้าพี่-เจ้าน้องสามารถทำความตกลงกันได้ ชาวลาวในเวียงจันทน์จึงพร้อมใจกันเห็นควรให้สร้างอนุสาวรีย์ให้แก่ม้าตัวที่ทำให้ท้าวกระต่ายได้รับบาดเจ็บ และเห็นควรให้สร้างขึ้นแทนที่อนุสาวรีย์ของ ม.ปาวี ฝรั่งเศสผู้บุกเบิกลัทธิล่าเมืองขึ้นในลาวด้วย

ความตกลงระหว่างเจ้าพี่กับเจ้าน้องนี้เป็นการแสดงถึงความล้มเหลวครั้งแรกของสหรัฐอเมริกาในความเพียรพยามที่จะก่อตั้งรัฐบาลหุ่นของตนขึ้นในลาวอย่างมั่นคง กราแฮม พาร์สันส์ ผู้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตรสหรัฐอเมริกาประจำลาว ภายหลังได้มาให้การต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภาอเมริกาว่า

“ข้าพเจ้าต่อสู้อยู่ถึงสิบหกเดือนที่จะยับยั้งไม่ให้มีรัฐบาลผสม(เจ้าพี่-เจ้าน้อง) ขึ้นในลาว” แต่ก็ต้องประสบความล้มเหลวไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ดี เขายังคงต่อสู้ต่อไปอีกในฐานะผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝ่ายตะวันออกไกล

ลำดับ๕๐๒.สงครามลับของCIAในลาว(๑๔)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่ ๑๔. เรื่องวุ่นๆในการขับนักหนังสือพิมพ์ต่างประเทศออกจากลาว

พฤษภาคม ๒๔๙๙ วิลเฟรด เบอร์เชตต์ นักหนังสือพิมพ์ชาวออสเตรเลียเดินทางมายังเวียงจันทน์ เขาเข้าพักในโฮเต็ลเพียง ๒-๓ ชั่วโมง ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาพบ แจ้งว่า ต้องการจะแก้ไขถ้อยคำในหนังสือเดินทาง “สักเล็กน้อย” และเมื่อคืนหนังสือเดินทางกลับมาให้ ถ้อยคำเล็กน้อยในหนังสือฯ มีว่า “ยกเลิก” เจ้าหน้าที่แจ้งเขาว่า จะต้องออกไปจากเวียงจันทน์ในทันที

เบื้องหลังของการยกเลิกหนังสือเดินทางครั้งนี้ มีทูตถึง ๓ ประเทศประท้วงไปยังรัฐบาลลาวให้ขับเขาออกไปจากลาว และสถานทูตอเมริกันได้กดดันผ่านทางที่ปรึกษา ตรงไปยังกรมตำรวจลาวให้ดำเนินการดังกล่าว

เรื่องที่เบอร์เชตต์ต้องถูกยกเลิกหนังสือเดินทางเข้าประเทศลาวครั้งนี้ ก็เนื่องจากว่า เขาเดินทางมาถึงเวียงจันทน์ในช่วงเวลาที่ท้าวกระต่ายต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลชั่วคราว โดยเจ้าสุวรรณภูมากลับมานั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการสันนิษฐานว่าเพราะท้าวกระต่ายประสบความพินาศในทางทหารจากการนำกองทหารเข้ากวาดล้างกองทหารของขบวนการปเทดลาวที่ซำเหนือ-พงสาลี

ก่อนหน้านี้ ๒-๓ เดือน เบอร์เช็ตต์ได้เดินทางมาพบกับเจ้าสุภานุวงศ์และได้แวะไปกัมพูชา ไปสัมภาษณ์เจ้านโรดมสีหนุซึ่งบอกแก่เขาตรงไปตรงมาว่า กัมพูชาปฏิเสธอย่างเด็ดขาดที่จะเข้าไปอยู่ในอารักขาขององค์การ ซีอาโต้ (ที่ตั้งขึ้นในเดือนกันยายน ๒๔๙๗ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศไทย)ดังนั้นสหรัฐอเมริกาและบริวารย่อมคาดการณ์ได้ว่า การเดินทางมาเวียงจันทน์ในครั้งนี้ของเบอร์เซ็ตต์ก็คงจะมาสัมภาษณ์เจ้าสุวรรณภูมานายกรัฐมนตรีเพื่อให้ได้ถ้อยแถลงว่า รัฐบาลลาวปฏิเสธที่จะรับการคุ้มกันจาก ซีอาโต้แบบเดียวกับนโรดมสีหนุ หรือมิฉะนั้นเบอร์เซ็ตต์ก็เป็นผู้ถือสารจากเจ้าน้อง-สุภานุวงศ์มาถึงเจ้าพี่ ซึ่งจะทำให้การเจรจาสงบศึกได้คืบหน้าขึ้นไปอีก และอเมริกายอมให้เกิดขึ้นไม่ได้ไม่ว่าเบอร์เช็ตต์จะมีบทบาทจริงตามการสันนิษฐานของสหรัฐอเมริกาหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อเขาเดินทางมาถึงเวียงจันทน์ อุณหภูมิภายในสถานทูตของประเทศสมาชิกซีอาโต้ก็สูงขึ้นอย่างผิดสังเกต ทั้งนี้เพื่อนของเขาคนหนึ่งได้เล่าให้เขาได้ทราบในเรื่องนี้ โดยเฉพาะสถานทูตอเมริกันวุ่นวายขนาดหนัก

เบอร์เซ็ตต์เดินมาถึงลาวในวันเสาร์ซึ่งมีงานเลี้ยงรับรองทางการทูตในตอนกลางคืน อุปทูตอเมริกันได้เข้าพบท้าวกระต่ายในฐานะที่เขาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวยืนกรานให้ขับเบอร์เซ็ตต์ออกไปจากลาว แต่โชคชะตาไม่ได้เป็นใจให้สหรัฐฯ

เพราะเช้าวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันอาทิตย์ ภรรยาผู้แทนแคนาดาคนหนึ่งซึ่งเป็นกรรมการควบคุมสงบศึกได้ขอให้ท้าวกระต่ายลองขี่ม้าของนาง และเนื่องจากท้าวกระต่ายไม่อยากจะยอมรับว่าตนไม่ใช่นักขี่ม้าชั้นเยี่ยม จึงไม่รีรอใดๆ พอคว้าบังเหียนได้ก็เอาเท้าเหยียบโกลนโหนตัวจะขึ้นหลังม้า ทันใดนั้นเองก็พลัดตกลงมาจากหลังม้า ม้าก็ออกควบไปลิ่วโดยมีเท้าข้างหนึ่งของท้าวกระต่ายติดอยู่บังโกลน ท้าวกระต่ายที่ได้รับความบอบช้ำทั้งร่างกายและความกำแหงหาญของตนเองจึงหลบไปนอนที่บ้านเดิมของตนในปากเซ ทางใต้

ระหว่างนั้นบังเอิญไม่มีเครื่องบินที่จะออกจากเวียงจันทน์ เบอร์เซ็ตต์จึงยังคงอยู่ในเวียงจันทน์ เมื่อถึงเช้าวันจันทร์เบอร์เซ็ตต์เดินทางไปยังกระทรวงการต่างประเทศลาว อุปทูตอเมริกันโทรศัพท์ไปยังกระทรวงการต่างประเทศลาวขอให้ขับเบอร์เซ็ตต์ออกไปอย่างเป็นทางการ แต่“คำสั่ง” ของอุปทูตอเมริกันถูกปฏิเสธอย่างไม่ใยดี เจ้าหน้าที่ทางลาวชี้แจงกับเบอร์เซ็ตต์ว่าเป็นการเข้าใจผิดกันแท้ๆ เจ้าหน้าที่ผู้ยิ้มแย้มก็ได้แก้ไขวีซ่าให้เบอร์เซ็ตต์อยู่ในลาวได้

เบอร์เช็ตต์จึงได้ไปสัมภาษณ์เจ้าสุวรรณภูมานายกรัฐมนตรีผู้ซึ่งได้กล่าวปฏิเสธที่จะให้ลาวอยู่ภายใต้การคุ้มกันขององค์การซีอาโต้โดยไม่ลังเล และเจ้าพี่ยังได้สอบถามถึงสุขภาพของเจ้าน้องสุภานุวงศ์ และแสดงความหวังว่าการเจรจาสงบศึกจะดำเนินต่อไปอีกภายในเร็วๆวันนี้

Monday, March 16, 2009

ลำดับ๕๐๑.สงครามลับของCIAในลาว(๑๓)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่ ๑๓ กวาดล้างกองทหารปเทดลาว

กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ การเจรจาที่กรุงเจนีวาจบไปหลายเดือนแล้ว จอห์นฟอสเตอร์ ดัลเลส เดินทางตรงมาที่เวียงจันทน์เพื่อพบกับท้าวกระต่ายนายกรัฐมนตรีคณะรัฐบาลชั่วคราว ก่อนหน้านี้ได้มีการเจรจาระหว่างเจ้าพี่-เจ้าน้องที่มีท้าวกุ วรวงศ์ได้เป็นคนกลางจัดให้มีการเจรจากัน(ก่อนจะถูกลอบสังหารเพราะเรื่องนี้ในเวลาต่อมา) แต่เมื่อเจ้าพี่สุวรรณภูมาต้องบีบให้ต้องลาออกและได้ท้าวกระต่ายมาเป็นนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิดของสหรัฐฯ การเจรจาก็ถูกเตะถ่วงจากท้าวกระต่ายในเรื่อง “ระเบียบวาระการประชุม”

ระหว่างที่การเจรจาของสองฝ่ายไม่คืบหน้าไปไหนโดยความตั้งใจเตะถ่วง เครื่องบินขนส่งอเมริกันก็นำหน่วยคอมมาโดไปหย่อนลงในซำเหนือและพงสาลีเพื่อจะเข้ากวาดล้างฐานทัพและกองบัญชาการของขบวนการปเทดลาวที่นั่น

เมื่อการเจรจากลับมาเริ่มต้นใหม่ ท้าวกระต่ายก็เสนอให้จัดตั้ง “คณะกรรมการยอมแพ้” เพื่อดำเนินการในเรื่องการยอมแพ้และปลดอาวุธขบวนการปเทดลาว ไม่มีปัญหาที่ผู้แทนฝ่ายปเทดลาวจะปฏิเสธและตั้งข้อเสนอใหม่ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเมืองเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาสงบศึก ให้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศเพื่อรวมลาวเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯลฯ ตลอดจนข้ออื่นๆ ที่ระบุไว้ในสัญญาสงบศึก

เมื่อเป็นเช่นนี้การเจรจาก็ต้องสดุดหยุดลงตามที่ท้าวกระต่ายต้องการ ซึ่งก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่าท้าวกระต่ายพยายามถ่วงเวลาเพื่อรอฟังคำสั่งจากดัลเลสโดยตรงเท่านั้น และ ๒ อาทิตย์หลังดัลเลสกลับไปแล้ว กองทหารของท้าวกระต่ายก็เข้าโจมตีซำเหนือครั้งใหญ่ ความมุ่งมั่นก็เพื่อจะเข้ายึดซำเหนือและพงสาลี กวาดล้างขบวนการปเทดลาวออกไปเพื่อให้ “ความฝัน” ของสหรัฐอเมริกาได้เป็นความจริงขึ้นมา กล่าวคือ ทั้งที่ราบสูงและที่ราบลุ่มจะต้องอยู่ภายใต้รัศมีปฏิบัติการทางอากาศของอเมริกันโดยสิ้นเชิง

ช์เลสซิงเจอร์ กล่าวไว้ใน A Thounsand Days ว่า “ถ้าลาวไม่ใช่กฤชที่จ่อหัวใจของมลรัฐแคนซัสก็จะต้องเป็นทางเข้าประตูไปสู่เอเซียตะวันออกเฉียงใต้” จากนั้นสหรัฐอเมริกาก็หลั่งไหลเข้ามาในลาว เริ่มต้นจากดอลล่าร์, เครื่องบินขนส่งแล้วก็ “ผู้ฝึกสอน” ทางทหารไปจนถึง “ที่ปรึกษา” ซึ่งกลายมาเป็นผู้บัญชาการทางยุทธวิธีของแผนยุทธการทางทหาร

ช์เลสซิงเจอร์ลงความเห็นไว้ในเรื่องแผนของดัลเลสว่า พยายามจะเปลี่ยนลาวให้เป็น “ปราการต่อต้านคอมมิวนิสต์” และ “ป้อมที่มั่นแห่งเสรีภาพ” นโยบายนี้ ดีนรัสค์และนิกสันได้สืบต่อกันเรื่อยมา

เพื่อที่จะให้ “ความฝัน” ได้เป็นจริง ช์เลสซิงเจอร์เล่าวว่า ในตอนสิ้นปี ๒๕๐๓ สหรัฐอเมริกาได้ทุ่มเงินร่วม ๓๐๐ ล้านดอลล่าร์ ลงไปในดินแดนอันมีแต่ป่าดงพงไพรดังเช่นบรรพกาล เงินจำนวนนี้ ๘๕ เปอร์เซ็นต์กลายเป็นค่าใช้จ่ายกองทัพบกของรัฐบาลกษัตริย์ลาวซึ่งในปี ๒๕๐๒ ก็สะพรั่งไปด้วยรถจี๊ป รถบรรทุก และเหล่าทหารขนส่งทั้งๆที่ลาวไม่มีถนนที่จะใช้ได้ในทุกฤดูกาลเลยแม้แต่สายเดียว นอกจากนี้ยังมีฝ่ายสรรพาวุธ, พลาธิการ และสารวัตรทหาร การฝึกที่จะได้ผลอย่างจริงจังนั้นเพิ่งจะเริ่มขึ้นในปี ๒๕๐๒ สงครามที่กองทหารลาวเรียนรู้ก็เป็นสงครามแบบฉบับไม่ใช่สงครามต่อต้านกองโจร สำหรับเงิน ๓๐๐ ล้านดอลล่าร์นั้น ที่ใช้ไปในการร่วมมือทางเทคนิคและพัฒนาทางเศรษฐกิจก็มีเพียงเจ็ดล้านดอลล่าร์เท่านั้น.

ลำดับ๕๐๐.สงครามลับของCIAในลาว(๑๒)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่ ๑๒ สหรัฐฯเริ่มแผนปฏิบัติการสงครามลับในอินโดจีน

ขอย้อนกลับไปลำดับเหตุการณ์ต่อจากวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๙๗ ณ กรุงเจนีวา การเจรจาสงบศึกในอินโดจีนก็ผ่านพ้นไปโดยในส่วนของประเทศลาวนั้นท้าวกุ วรวงศ์ได้ลงนามยอมรับให้มีการตั้งรัฐบาลผสมระหว่างฝ่ายขวานิยมกษัตริย์ร่วมกับฝ่ายซ้ายของขบวนการปเทดลาว และต่อมาไม่กี่วันเขาก็ถูกลอบสังหารขณะไปร่วมทานอาหารค่ำที่บ้านท้าวผุย ชนะนิกรผู้ซึ่งถูกท้าวกุ วรวงศ์เปิดโปงในรัฐสภาว่ารับเงินสกปรกจากสหรัฐอเมริกาจำนวน ๑ ล้านดอลล่าร์เข้าบัญชีที่สวิตเซอร์แลนด์

ความยุ่งเหยิงวุ่นวายทางการเมืองเกิดขึ้นตามมาทันที แต่เมื่อเจ้าสุวรรณภูมาได้ลาออกจากนายกรัฐมนตรีของคณะรัฐบาลรักษาการชั่วคราว(ที่ซึ่งฝรั่งตั้งขึ้นมาในช่วงเวลาที่ยังไม่มีรัฐบาลผสมตามข้อตกลงในสัญญาเจนีวา)ความวุ่นวายก็ยุติลงและท้าวกระต่าย โตนสโสฤทธิ์ ผู้ที่ได้รับใช้ฝรั่งเศสมาอย่างซื่อสัตย์ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

ท้าวกระต่ายผู้นี้ เป็นผู้ที่วอชิงตันได้เลือกสรรมาแล้วว่าจะทำทุกอย่างในอันที่ขัดขวางไม่ให้มีการตั้งรัฐบาลผสม และโดยที่ภรรยาคนที่ ๒ ของท้าวกระต่ายเป็นน้องสาวของเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ สหรัฐอเมริกาจึงเล็งที่จะผลักดันให้เจ้าบุญอุ้มได้เป็นเจ้าชีวิตองค์ต่อไปแทนเจ้าศรีสว่างวงศ์ที่กำลังประชวรอยู่ (ราชตระกูลในลาวมี ๓ สายคือ สายเจ้าศรีสว่างวงศ์กษัตริย์องค์ปัจจุบัน สายเจ้าบุญคงพระบิดาของเจ้าพี่สุวรรณภูมิเจ้าน้องสุภานุวงศ์ และสายเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์)

เมื่อท้าวกระต่ายคุมอำนาจอยู่ในเวียงจันทน์ มีเงินดอลล่าร์หลั่งไหลมาให้ใช้ตามความต้องการไม่จำกัดจำนวน ฟอสเตอร์ ดัลเลส ก็พร้อมแล้วที่ดำเนินการตามแผนอีกขั้นหนึ่งในอันที่จะบ่อนทำลายสัญญาสงบศึกเจนีวาให้จงได้ เพื่อที่สหรัฐอเมริกาจะได้เข้าแทนที่ใน “ช่องว่างของอำนาจ” ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นเมื่อกองทหารฝรั่งเศสถอนตัวออกไป

การสมคบคิดกันได้เริ่มขึ้นระหว่าง ดัลเลส, สำนัก CIA, และคณะเสนาธิการผสมอเมริกัน ซึ่งต่อมาภายหลังพลจัตวาเจมส์ กาวินได้เปิดเผยเรื่องแผนการนี้ไว้ว่า หลังจากที่ฝรั่งเศสม้วนเสื่อกลับไปโดยไม่สนใจถึงประโยชน์ของโลกเสรีที่จะได้รับผลกระทบจากการที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้มีโอกาสมาร่วมตั้งรัฐบาลผสมลาว ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของสหรัฐอเมริกาที่จะเข้ารับภาระในการสู้รบกับลัทธิคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน(โดยเริ่มจากการแทรกแซงไม่ให้การตั้งรัฐบาลผสมในลาว)

เมื่อการประชุมที่เจนีวาสิ้นสุดลง คณะเสนาธิการผสมก็เริ่มเรื่องที่ถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนก่อนเรื่องใดทั้งหมดคือการพิจารณาข้อเสนอที่ให้มีการส่งกำลังรบเข้าไปในบริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ำแดงของเวียดนามเหนือ ริดจ์เวย์ได้ส่งเจมส์ กาวินและทีมงานผู้เชี่ยวชาญเข้าไปสำรวจและประเมินสถานการณ์ในเวียดนามใต้ว่าจะต้องใช้กำลังขนาดไหน

กาวินและทีมได้รายงานกลับมาว่า กองทัพเรือสหรัฐจะต้องยึดเกาะไหหลำไว้ ก่อนที่จะส่งเรือรบเข้าไปในบริเวณไฮฟองและนั่นก็มีความเป็นไปได้ที่จะต้องทำสงครามกับจีน และถ้าจีนจะตอบโต้กรณีที่สหรัฐฯยึดเกาะไหหลำโดยการเปิดแนวรบด้านเกาหลีขึ้น สหรัฐก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะรอให้ถูกจีนโจมตีในเกาหลีก่อน หรือว่าสหรัฐฯจะเปิดแนวรบเกาหลีขึ้นมาอีกครั้ง

เพื่อที่จะยึดครองบริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ำแดง,ไฮฟอง,และฮานอย ทั้งนี้กาวินประมาณว่า จะต้องใช้ทหาร ๘ กองพล ด้วยการสนับสนุนจากกองพันทหารช่าง ๓๕ กองพัน พร้อมทั้งปืนและการส่งกำลังบำรุงที่จำเป็น และนั่นจะต้องเป็นจำนวนมหึมามหาศาล

พลเรือเอกแรดฟอร์ดชื่นชอบในแผนการนี้เช่นเดียวกับดัลลัสและ ซี.ไอ.เอ. แรดฟอร์ดได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งแรงจากเสนาธิการกองทัพอากาศและหัวหน้าฝ่ายยุทธการกองทัพเรือ แต่กาวินเห็นคัดค้านกับแผนการนี้ เพราะกองทัพบกจะตกอยู่ในอันตรายเพราะไป “ติดหล่ม”อยู่ในสงครามภาคพื้นดินในอินโดจีน มิหนำซ้ำยังต้องเข้าพัวพันในสงครามกับจีนอีก

ริดจ์เวย์เห็นด้วยกับกาวินและได้ “ข้ามหัว” แรดฟอร์ดไปเจรจากับไอเซนฮาวเออร์ให้ยับยั้งแผนการนี้ไว้ แล้วใช้แผนใหม่โดยหันมาสนับสนุนรัฐบาลเวียดนามใต้ผ่านประธานาธิบดี โงดินห์เดียม ให้ตั้งกองทหารให้เข้มแข็ง ยิ่งใหญ่เกรียงไกรเพื่อภารกิจ “ยกทัพขึ้นเหนือแล้วบดขยี้เวียดมินห์”

ไอเซนฮาวเออร์เอาด้วยกับริดจ์เวย์ ดังนั้นแรดฟอร์ด ดัลเลส และ ซี.ไอ.เอ.จึงรับไม้ต่อแผนการนี้โดยการส่งสัญญาณให้โงดินห์เดียมบุกเข้ายึดเวียดนามเหนือให้ได้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเพื่อรวมเวียดนามเหนือและใต้เข้าด้วยกันตามสัญญาสงบศึกเจนีวาซึ่งกำหนดให้รวมเวียดนามให้เสร็จ ก่อนกรกฎาคม ๒๔๙๙

Sunday, March 15, 2009

ลำดับ๔๙๙.สงครามลับของCIAในลาว(๑๑)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่ ๑๑ ท่านปรีดี พนมยงค์แสดงความยินดีกับเอกราชของอินโดจีน (ต่อ)

"รัฐบาลปฏิกิริยาไทยอาศัยการเรียกร้องเอกราชอันแรงกล้าของราษฎรไทยมาอธิบายว่าปฏิวัติการของพวกตนก็เพื่อพิทักษ์ปกป้องเอกราชของประเทศไทย รัฐบาลปฏิกิริยาไทยโฆษณาหลอกลวงต่างๆนานา เพื่อให้ราษฎรไทยหลงเข้าใจผิดว่าผู้ที่คุกคามเอกราชก็คือประเทศค่ายประชาธิปไตยและสันติภาพ แต่ทว่าราษฎรไทยสามารถประจักษ์ได้ว่า เอกราชและอธิปไตยของชาติได้สูญสิ้นไปภายใต้การครอบงำของจักรวรรดินิยมอเมริกา นโยบายการเมืองเป็นการเดินตามนโยบายที่รักษาผลประโยชน์ของจักรวรรดินิยมอเมริกาซึ่งมิได้รักษาผลประโยชน์แท้จริงของราษฎรแม้แต่น้อย

เกี่ยวกับข้ออ้างที่ว่าเอกราชของประเทศไทยถูกคุกคามโดยประเทศค่ายประชาธิปไตยและสันติภาพ ถูกคุกคามโดยสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามนั้น เป็นการเสกสรรปั้นแต่งโดยรัฐบาลปฏิกิริยาไทยทั้งสิ้น

ราษฎรไทยสามารถประจักษ์ด้วยตนเองว่า นับตั้งแต่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นต้นมา สาธารณรัฐประชาชนจีนมิได้คุกคามเอกราชอธิปไตยของประเทศไทยเลยแม้แต่น้อย ข้อเท็จจริงได้พิสูจน์แล้วว่านโยบายด้านต่างประเทศและการกระทำใดๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน แตกต่างกับรัฐบาลปฏิกิริยากั๋วมิ่นตั๋งที่เป็นบริวารของจักรวรรดินิยมอเมริกาโดยสิ้นเชิง ปัจจุบันนี้รัฐบาลปฏิกิริยาไทยยังคงมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลปฏิกิริยากั๋วมิ่นตั๋ง ซึ่งหมายถึงการรักษาผลประโยชน์ด้านนโยบายรุกรานนานาประเทศของจักรวรรดินิยมอเมริกาและเหล่าบริวาร

เมื่อเดือนมิถุนายนนี้ นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ออกแถลงการณ์หลักปัญจศีลร่วมกับนายกรัฐมนตรีอินเดียและนายกรัฐมนตรีพม่า ซึ่งได้แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับนานาประเทศภายใต้หลักการเคารพอธิปไตยซึ่งกันและกัน ต่างไม่รุกรานกันและกัน ต่างไม่แทรกแซงกิจการภายในกันและกัน เสมอภาคและอำนวยผลประโยชน์กันและกัน โดยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ตามหลักปัญจศีลนี้ ประเทศที่มีระบบสังคมและการเมืองแตกต่างกันก็สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ ประเทศใหญ่ในเอเชียดังเช่นประเทศอินเดียมีระบบสังคมและการเมืองต่างกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศเพื่อนบ้านของไทยดังเช่นประเทศพม่าก็มีระบบสังคมและการเมืองต่างกับสาธารณรัฐประชาชนจีนแต่ประเทศอินเดียกับพม่าต่างก็เห็นด้วยกับหลักปัญจศีล

ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ราษฎรไทยมิควรคลางแคลงในใจเจตน์จำนงสันติภาพของสาธารณรัฐประชาชนจีน หากว่าทั้งสองฝ่ายพัฒนาความสัมพันธ์บนพื้นฐานหลักปัญจศีลแล้ว ประเทศชาติอันเป็นที่รักเคารพของเราสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ทั้งนี้สามารถผ่อนคลายสถานการณ์ตึงเครียดที่ก่อขึ้นโดยจักรวรรดินิยมอเมริกา

ส่วนความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามนั้นประธานาธิบดีโฮจิมินห์ก็ได้ประกาศสนับสนุนหลักปัญจศีล และยึดเป็นนโยบายที่พัฒนาความสัมพันธ์กับนานาประเทศ รัฐบาลปฏิกิริยาไทยหลอกลวงราษฎรว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามกำลังคุกคามเอกราชของประเทศไทยอยู่ ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่รัฐบาลปฏิกิริยาไทยทำเพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ของจักรวรรดินิยมอเมริกา อันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของราษฎรไทยที่ต้องการสร้างเสริมความสัมพันธ์กับราษฎรอินโดจีน ซึ่งสอดคล้องกับผลประโยชน์ของราษฎรไทย

จากเหตุผลที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้ว ข้าพเจ้าเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่าราษฎรไทยต้องการเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ ปฏิเสธนโยบายของรัฐบาลปฏิกิริยาไทยที่สนองตอบผลประโยชน์ของจักรวรรดินิยมอเมริกา ด้วยเหตุผลการกระทำดังกล่าวมิได้ปกป้องรักษาเอกราชและอธิปไตยของไทย

ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นว่าเอกราชและอธิปไตยของชาติไทย จะสัมบูรณ์ผลและมั่นคงได้ ก็ด้วยหลักอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างบรรดานานาชาติ ซึ่งเป็นพื้นฐานแห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ระบุชัดในแถลงการณ์ระหว่างนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนกับนายกรัฐมนตรีประเทศอินเดีย และแถลงการณ์ร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนกับนายกรัฐมนตรีพม่า ซึ่งเป็นที่ยอมรับของประธานาธิบดีโฮจิมินห์เช่นกัน

เพื่อที่จะให้ประเทศไทยยึดหลักปัญจศีลดังกล่าว และอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับนานาประเทศ ราษฎรไทยจักต้องต่อสู้กับรัฐบาลปฏิกิริยาไทยที่ทำตนเป็นลูกสมุนของจักรวรรดินิยมอเมริกา สิ่งนี้ที่จะขจัดขวากหนามใดๆ ที่สกัดกั้นมิให้ราษฎรไทยเดินไปสู่สันติภาพ เอกราชและอธิปไตย ราษฎรไทยมีหน้าที่ที่จะผ่อนคลายความสัมพันธ์อันตึงเครียดที่ก่อขึ้นโดยจักรวรรดินิยมอเมริกาและรัฐบาลปฏิกิริยาไทย เสริมสร้างความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม อีกทั้งบรรดาประเทศค่ายสันติภาพประชาธิปไตยและมวลสันติชนทั่วโลก

ความพยายามของราษฎรไทยดังกล่าวนี้จะนำมาซึ่งสันติภาพแท้จริงสู่ประเทศไทย จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการกดขี่ขูดรีดโดยจักรวรรดินิยมอเมริกาและลูกสมุน จะทำให้ราษฎรไทยมีอิสระในการทำการค้าขายกับทุกประเทศในโลกนี้ สภาพเศรษฐกิจและการดำรงชีพของราษฎรไทยก็จะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นถ้วนหน้า เอกราชและอธิปไตยที่แท้จริงของไทยก็จะได้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่งความพยายามเพื่ออุดมการณ์สันติภาพของราษฎรไทย ที่มุ่งหมายผ่อนคลายสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างประเทศ เป็นคุณูปการอันทรงเกียรติภูมิต่อภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ทวีปเอเชียและทั่วโลก

สันติภาพจงเจริญมิตรภาพระหว่างราษฎรไทยกับราษฎรสาธารณรัฐประชาชนจีนจงเจริญ

มิตรภาพระหว่างราษฎรไทยกับราษฎรอินโดจีนจงเจริญ

มิตรภาพระหว่างราษฎรไทยกับราษฎรภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และราษฎรทวีปเอเชียจงเจริญ

มิตรภาพระหว่างราษฎรไทยกับราษฎรประเทศประชาธิปไตยและสันติชนทั่วโลกจงเจริญ”

ลำดับ๔๙๘.สงครามลับของCIAในลาว(๑๐)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่ ๑๐ ท่านปรีดีแสดงความยินดีกับเอกราชของอินโดจีน

หลังจากสัญญาเจนีวาได้มีการลงนาม และประกาศให้ชาวโลกได้รับทราบกันแล้ว ต่อมาในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ปีเดียวกัน ท่านปรีดี พนมยงค์ผู้สนับสนุนในการต่อสู้กู้เอกราชของประเทศพี่น้องอินโดจีนมาตั้งแต่ต้น ซึ่งขณะนั้นท่านพำนักอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในฐานะผู้ลี้ภัยการเมือง ได้เขียนบทความไปลงหนังสือพิมพ์เหยินหมินยึเป้า แสดงความชื่นชมยินดีในการที่อินโดจีนมีสันติภาพและมีเอกราช และต่อมาสถานีวิทยุกระจายเสียงปักกิ่งภาคภาษาไทยได้นำบทความนั้นไปอ่านออกอากาศ รายละเอียดว่าดังนี้

“ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่การประชุมเจนีวาได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาฟื้นฟูสันติภาพอินโดจีน นอกจากนี้ ข้าพเจ้าก็รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เวียดนาม ลาวและเขมรได้รับเอกราช อธิปไตยและสิทธิในการรวมประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นชัยชนะอีกครั้งหนึ่งของพลังสันติภาพ

ชัยชนะครั้งนี้เป็นผลมาจากการต่อสู้ที่ได้หลั่งเลือดอุทิศชีวิตของราษฎรเวียดนาม ลาวและเขมร เพื่อเอกราชและเสรีภาพของประเทศ ราษฎรเวียดนามภายใต้การนำของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามโดยประธานาธิบดีโฮจิมินห์, ราษฎรลาวภายใต้การนำของรัฐบาลลาวต่อต้านโดยเจ้าสุภานุวงศ์, ราษฎรเขมรภายใต้การนำของรัฐบาลต่อต้านผู้รุกรานโดยชอนง็อกมิน ได้ดำเนินการต่อสู้เป็นเวลากว่า ๗ ปี ซึ่งทำให้ศัตรูผู้รุกรานประสบความพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า

ด้วยเหตุนี้จักรวรรดินิยมผู้รุกรานกับพันธมิตร จึงจำต้องเข้าร่วมประชุมเจนีวา เพื่อเจรจาแก้ไขปัญหาอินโดจีนด้วยพลังผลักดันของสันติชนทั่วโลก(รวมทั้งพลังสันติชนฝรั่งเศส)

ด้วยคณะผู้แทนประเทศจีน ซึ่งมีโจวเอินไหลเป็นหัวหน้าคณะ ด้วยคณะผู้แทนสหภาพโซเวียต ซึ่งมีโมโตลอฟเป็นหัวหน้าคณะ ด้วยคณะผู้แทนสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามที่มีฟามวันดงเป็นหัวหน้าคณะ ได้ใช้ความเพียรพยายามอย่างไม่ย่อท้อ ขจัดขวากหนามต่างๆ ทั้งในที่ประชุมและนอกประชุมครั้งนี้จากจักรวรรดินิยมอเมริกา การประชุมเจนีวาจึงได้ตกลงสนธิสัญญาแห่งชัยชนะของสันติภาพ

การต่อสู้ที่ได้หลั่งเลือดพลีชีพของราษฎรเวียดนาม ลาวและเขมร อีกทั้งความพยายามอย่างสุดความสามารถของคณะผู้แทนประเทศจีน คณะผู้แทนแห่งสหภาพโซเวียต คณะผู้แทนสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม ไม่เพียงนำมาซึ่งผลประโยชน์สู่ราษฎรอินโดจีนเท่านั้น หากได้นำมาซึ่งผลประโยชน์มหาศาลสู่มนุษยชาติอีกด้วย สนธิสัญญาจากการประชุมเจนีวาได้ผ่อนคลายสถานการณ์ที่ตึงเครียดส่วนหนึ่งในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะนำไปสู่การผ่อนคลายสถานการณ์ที่ตึงเครียดและทั่วโลก อันจะทำให้สันติภาพแห่งโลกมั่นคงอีกก้าวหนึ่ง

ในโอกาสนี้ข้าพเจ้าขอแสดงความนับถือและความขอบคุณมายังราษฎรเวียดนาม ลาวและเขมร ตลอดทั้งคณะผู้แทนประเทศจีนกับราษฎรจีน คณะผู้แทนสหภาพโซเวียตกับราษฎรโซเวียต คณะผู้แทนเวียดนามกับราษฎรเวียดนาม

แต่อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนี้จักรวรรดินิยมอเมริกาและรัฐบาลปฏิกิริยาไทยกำลังปกครองประเทศไทยอยู่ ได้ใช้ดินแดนประเทศไทยเป็นฐานของการรุกรานอันเป็นการคุกคามสันติภาพ ก่อให้เกิดสถานการณ์ตึงเครียด พวกเขากำลังพยายามก่อตั้งสนธิสัญญาทางการทหาร ที่ในทางปฏิบัติแล้วก็เพื่อเป็นเครื่องมือรุกรานภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

ดังนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าราษฎรไทยมีหน้าที่พิทักษ์ปกป้องชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพลังสันติภาพ ส่งเสริมฐานแห่งสันติภาพให้ขยายกว้างยิ่งขึ้น เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดในสัมพันธภาพระหว่างประเทศไทยกับบรรดาประเทศในค่ายประชาธิปไตยและสันติภาพ

โดยเฉพาะสัมพันธภาพระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน สัมพันธภาพระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีน ๓ ประเทศ อันเนื่องจากปฏิบัติการของจักรวรรดินิยมสหรัฐอเมริกาและเหล่าสมุนในประเทศไทย ความตึงเครียดดังกล่าวเหล่านี้ได้นำมหันตภัยมาสู่ราษฎรไทย ทำให้ราษฎรไทยต้องแบกรับภาระอันหนักอึ้งจากการขยายกำลังรบเพื่อเตรียมทำสงคราม ทั้งยังต้องพลีชีพตายแทนจักรวรรดินิยมอีกด้วย รัฐบาลปฏิกิริยาไทยได้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นตลาดการค้าภายใต้การควบคุมของจักรวรรดินิยมอเมริกา ส่งผลให้ราษฎรไทยมีชีวิตแร้นแค้น ข้าว ยางพารา และดีบุก อันเป็นสินค้าหลักของประเทศถูกกดราคาและหาตลาดส่งออกไม่ได้ แต่รัฐบาลไทยกลับไม่อนุญาตให้มีการค้าขายกับประเทศในค่ายประชาธิปไตย ทำให้จักรวรรดินิยมอเมริกากอบโกยผลประโยชน์จากราษฎรไทยตามอำเภอใจ

จักรวรรดินิยมอเมริกากับเหล่าสมุนในประเทศไทยดำเนินการโฆษณาหลอกลวง โดยอ้างว่าปัจจุบันมีความแตกต่างระหว่างระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยกับประเทศในค่ายประชาธิปไตย ทำให้ราษฎรไทยหลงเข้าใจผิดในเจตน์จำนงเพื่อสันติภาพของราษฎรจีน ราษฎรอินโดจีน อีกทั้งราษฎรในประเทศค่ายประชาธิปไตยและสันติภาพ ทำให้เกิดอุปสรรคในการติดต่อไปมาหาสู่ระหว่างราษฎรไทยกับราษฎรประเทศประชาธิปไตยและสันติภาพ

ลำดับ๔๙๗.สงครามลับของCIAในลาว(๙)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่ ๙ ตั้งซีอาโตเพื่อแทรกแซงอินโดจีน

ดังที่ประจักษ์แล้วว่านโยบายการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกานั่นเองที่ทำให้เกิดสงครามอินโดจีนครั้งใหม่ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๗-๒๕๑๘ ซึ่งเกิดจากความกลัวของสหรัฐอเมริกาต่อการขยายตัวเติบโตของคอมมิวนิสต์ เพราะเป็นที่แน่นอนว่าเมื่อคอมมิวนิสต์เติบโตขึ้นทุนก็ต้องเล็กลง และเมื่อคอมมิวนิสต์แผ่คลุมไปทั่วโลก ทุนนิยมก็ไม่อาจที่จะดำรงอยู่ เช่นเดียวกับที่เมื่อแสงตะวันปรากฏขึ้นบนท้องฟ้าความมืดก็จะหายไป

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศทุนนิยมและวิธีที่จะรักษาระบบทุนนยิมให้ดำรงอยู่ในทัศนะของชนชั้นผู้ปกครองสหรัฐอเมริกา คือการทำลายคอมมิวนิสต์ พวกเขาจึงขัดขวางข้อตกลงเจนีวา เพราะในทัศนะของสหรัฐอเมริกาเห็นว่าข้อตกลงหรือสัญญาเจนีวา เป็นประโยชน์แก่การขยายตัวและเติบโตของคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนในเอเซียและในโลกเป็นที่สุด

วิธีการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของสหรัฐอเมริกาดังกล่าวนี้ ซึ่งเป็นวิธีการของคนมืดบอด เป็นวิธีการของคนที่ไม่รู้เรื่องคอมมิวนิสต์แม้แต่น้อย ได้รับความเชื่อถือจากชนชั้นปกครองปัญญาอ่อนในหลายประเทศทุนนิยม รวมทั้งชนชั้นปกครองของไทยเรา สนธิสัญญาซีอาโต้ ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกาที่มีแกนกลางอยู่ที่ประเทศไทย จึงได้ถูกจัดตั้งขึ้นในวันที่ ๘ กันยายน ๒๔๙๗ ภายหลังการลงนามในสนธิสัญญาเจนีวาเพียง ๔๗ วัน

เป้าหมายของซีอาโต้ในทางยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อกับมีโตในตะวันออกกลางและนาโตในยุโรป คือปิดล้อมประเทศคอมมิวนิสต์ใหญ่ ๒ ประเทศมีสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีน

โดยเฉพาะการจัดตั้งซีอาโต้ยังมีเป้าหมายเพื่อเข้าแทรกแซงในอินโดจีนดังที่นายดัลเลสได้พูดไว้อย่างชัดแจ้งเมื่อคราวพบกับนายมังแดส ฟรังซ์ และนายอีเดนที่กรุงปรารีสว่า “เพื่อจะได้เอาไว้เป็นเครื่องมือสำหรับเข้าแทรกแซงอินโดจีนในยามฉุกเฉิน”

ลำดับ๔๙๖.สงครามลับของCIAในลาว(๘)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่๘ เจ้าสุภานุวงศ์กล่าวกับคณะเมื่อจะต้องยุบกองทหารตามสัญญาเจนีวา

ปี ๒๕๐๐ เป็นปีแห่งการรวมลาวครั้งแรก เพื่อการปรองดองเพื่อปฏิบัติแนวทางสันติภาพและเป็นกลางนั้น ทางฝ่ายปเทดลาวได้ส่งคนเข้าร่วมในรัฐบาลผสมและกองทัพแห่งชาติตามสนธิสัญญาเจนีวาปี ๒๔๙๗ ส่วนกำลังพลนอกนั้นให้กลับท้องถิ่นบ้านเกิดของตน

เวลาเดียวกันนั้น มีผู้ปฏิบัติงาน นักรบ จำนวนไม่น้อยที่อยู่ในจำพวกที่ต้องกลับท้องถิ่นของตนเพื่อเป็นกองหนุน เกิดรู้สึกไม่สบายใจ แทบจะร้องไห้แสดงความหมดหวัง เพราะพวกเขาร่วมต่อสู้กู้ชาติจนได้ชัยชนะปลดปล่อยซำเหนือ พงสาลีและท่าแขกจากกองทหารฝรั่งเศสอย่างอาจหาญวีระ ต้องเสียสละความสุข เลือดเนื้อและชีวิตมามากมายเพียงไรแล้ว มาถึงวันนี้กลับจะต้องมายอมจำนนตามข้อเสนอของฝ่ายตรงข้าม ความขัดข้องหมองใจและความโศกเศร้า คำพูดคำจาต่างๆ นานาคงจะทำให้ระดับบนได้รับรู้บ้าง

เช้าวันหนึ่ง ปลายเดือนธันวาคม ๒๕๐๐ ได้มีคำสั่งประชุมผู้ปฏิบัติงาน นักรบ ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน เพื่อทำความเข้าใจในการเข้ารวมลาว รวมทั้งจำนวนผู้ที่จะกลับเป็นกองหนุน

ก่อนจะพูดถึงการจัดตั้งและนำส่ง คณะผู้ดำเนินการประชุมได้เรียนเชิญเสด็จเจ้าสุภานุวงศ์ขึ้นปราศรัย เนื้อความของคำปราศรัยนั้นมีความจับจิตจับใจผู้ฟังดังนี้ว่า

“จุดประสงค์ของการปฏิวัติและเป้าหมายของการต่อสู้ของพวกเราคือ เพื่อปลดปล่อยประเทศชาติอย่างสมบูรณ์ ด้วยการขับไล่จักรวรรดินิยมผู้รุกราน เพื่อสันติภาพ เอกราช อิสรภาพและเพื่อเอกภาพแห่งชาติ ก้าวไปถึงการโค่นล้มอำนาจการปกครองหุ่น ล้มล้างระบบราชาธิปไตย สถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้นมา”

ปัจจุบันนี้ ถึงแม้ว่ากำลังปฏิวัติของพวกเราได้เติบใหญ่ขึ้นและได้รับชัยชนะเพิ่มมากขึ้นแล้วก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบดูกำลังระหว่างพวกเรากับฝ่ายตรงกันข้าม เห็นว่าพวกเรายังไม่อาจสามารถปลดปล่อยประเทศชาติได้ในทันทีทันใด พวกเรายังต้องสืบต่อการต่อสู้ สร้างสมกำลังปฏิวัติในทุกด้าน ก่อนอื่นจะต้องทำให้ประชาชนเผ่าต่างๆ และคนลาวทุกชั้นคนรับรู้ถึงแนวทางนโยบายอันถูกต้องเป็นธรรมของการปฏิวัติเรา และเข้าร่วมขบวนการปฏิวัติอย่างเอาจริงเอาจัง เพราะว่ากำลังแรงมหาศาลอยู่ที่ประชาชน พวกเราจะทำอย่างไรเพื่อให้สงครามกู้ชาติได้กลายเป็นสงครามประชาชน หรือเป็นภารกิจของมหาชนอันแท้จริงปัจจุบันประชาชนเผ่าต่างๆ ทั่วประเทศ เช่นที่อยู่ตามท้องนา ตัวเมือง มีกรรมกร นักเรียน นักศึกษา ปัญญาชน และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ยังไม่รู้ถึงแนวทางนโยบายของการปฏิวัติเรา ในเวลาเดียวกันศัตรูระดมโฆษณาใส่ร้ายป้ายสีแนวลาวรักชาติ บิดเบือนความจริง เพื่อปิดหูปิดตาประชาชน พวกเขาทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนกลัวกำลังปฏิวัติและต่อต้านกำลังปฏิวัติ

ในเมื่อกำลังของพวกเรายังอ่อน พวกเราก็ต้องต่อสู้ด้วยยุทธวิธีใหม่ ดังนั้นศูนย์กลางจึงได้กำหนดหน้าที่และวิธีปฏิบัติใหม่คือ ไม่จำเป็นจะปกปักษ์รักษาเพียงสองแขวงที่รวมได้แล้วเท่านั้น แต่ต้องต่อสู้ใหได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวแห่งชาติขึ้น ดำเนินแนวทางสันติภาพ เป็นกลาง มอบสองแขวงให้ขึ้นกับรัฐบาลผสมแห่งชาติชั่วคราว จัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนเพิ่มเติม โดยมีตัวแทนของแนวลาวรักชาติร่วมสมัครรับเลือกตั้ง

ส่วนกำลังปฏิวัติของพวกเรา เป็นต้นว่าผู้ปฏิบัติงาน นักรบในกองทัพ และฝ่าย “แนว”(ฝ่ายปกครอง) จะเลือกเอาเพียงแต่ ๑,๕๐๐ คน เพื่อเข้าร่วมในกองทัพแห่งชาติ เหลือจากนั้นให้กลับคืนท้องถิ่น โดยเรียกว่าเป็นกองหนุนและพลเมืองดี”

เมื่อเจ้าสุภานุวงศ์กล่าวจบ มองไปทางไหนก็เห็นแต่ใบหน้าที่เศร้าโศก บางคนเช็ดน้ำตา บางคนร้องไห้กระซิกกระซี้ เมื่อเห็นบรรยากาศเช่นนั้น เจ้าสุภานุวงศ์ก็หยุดครู่หนึ่ง แล้วพูดต่อไปว่า

“ขอให้พวกสหายและอ้ายน้องลูกหลานได้เข้าใจว่า ที่ศูนย์กลางทำเช่นนี้ไม่ใช่พวกเรายุบเลิกกำลังปฏิวัติแล้วไปยอมจำนนต่อศัตรูอย่างใดดอก ต้องเข้าใจว่าศูนย์กลางได้เปิดแนวรบใหม่ นั่นคือ การแยกย้ายกำลังปฏิวัติไปสู่ทุกซอกทุกมุมของประเทศ เพื่อดำเนินการโฆษณา เผยแพร่แนวทางนโยบายอันถูกต้องเป็นธรรม อันเป็นจุดหมายปลายทางของการปฏิวัติเราในหมู่ประชาชนเผ่าต่างๆ ในขบวนข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักเรียน นักศึกษา และปัญญาชน เพื่อแยกศัตรู ช่วงชิงรวบรวมกำลังปฏิวัติให้เติบใหญ่กว่าเก่า ผ่านการโฆษณามาขวนขวายจัดตั้งกำลัง เห็นว่าสภาพการณ์มันได้สุกงอมแล้ว ศูนย์กลางจะเรียกร้องให้พี่น้องลูกหลานนำพาประชาชนลุกขึ้นต้านกับพวกปฏิกิริยา ตามแนวทางนโยบายและมติคำสั่งของศูนย์กลาง”

เมื่อบรรยากาศสดชื่นแจ่มใสขึ้น ท่านก็กล่าวต่อไปว่า

“เป็นอันแน่นอนที่สุด ในสนามรบก็มีหลายคนจะสามารถสร้างผลงานอันดีเด่น สร้างตนเป็นหลักแหล่งแก่นสารของการปฏิวัติ นำหน้าพาขบวนการปฏิวัติของมหาชนได้รับความเชื่อถือจากมหาชน สามารถสร้างพื้นฐานการปฏิวัติ สร้างกำลังปฏิวัติจากหนึ่งขึ้นเป็นร้อยๆ และหมื่นๆ แต่พวกเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเสียหายได้ เช่นอาจมีผู้ถูกศัตรูจับกุมคุมขัง ทุบตีทรมาน หรือประหารชีวิต พร้อมกันนั้นก็จะมีผู้แปรธาตุเปลี่ยนสี ถูกศัตรูซื้อจ้างกลายเป็นผู้ทรยศต่อการปฏิวัติ ทรยศต่อเพื่อนปฏิวัติ ต่อต้านการปฏิวัติ ต้านกับประชาชน ก็อาจมีจำนวนหนึ่ง เนื่องจากกลัวการเสียสละหรือเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่า ก็อาจจะนอนอยู่กับบ้านเฉยๆ โดยไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ

ไม่ว่าสนามรบใดๆ และขบวนการใดๆ มันก็มีได้มีเสียไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ แต่อย่างไรก็ตามลุงและศูนย์กลางมีความเชื่อมั่นอย่างหนักแน่นว่า พวกเราจะได้รับชัยชนะ และชัยชนะนั้นจะต้องใหญ่กว่าเก่า กำลังปฏิวัติและรากฐานการปฏิวัติจะต้องใหญ่และกว้างขวางกว่าเก่า

พวกสหายและอ้ายน้องลูกหลานอย่าลืมว่า
ศัตรูมันก็มีกลอุบายเล่ห์เหลี่ยมเช่นกัน มันจะฉวยโอกาสนี้ดับสูญกำลังปฏิวัติของพวกเรา พวกมันได้วางคำขวัญไว้ว่า “ต้องล่อเสือออกจากป่า ตัดเล็บเขี้ยวออกหมดแล้ว ก็บีบคอให้มันตายไปทีละคน และดับสูญอย่างสิ้นเชิง”

คำพูดของเจ้าสุภานุวงศ์ในวันนั้น ทำให้พี่น้องที่ร่วมชุมนุมหมดทุกข์และความอึดอัดใจ คำพูดของท่านได้ปรากฏในเวลาต่อมาว่าเป็นความจริง และคำพูดของท่านได้แสดงให้เห็นอีกครั้งว่า พรรคมีนโยบาย มียุทธศาสตร์และยุทโธบายอันถูกต้องสอดคล้องกับสถานการณ์แต่ละระยะ แสดงให้เห็นความสามัคคีเป็นปึกแผ่นและเอกภาพในระดับสูงของศูนย์กลางพรรค.

ลำดับ๔๙๕.สงครามลับของCIAในลาว(๗)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่ ๗ จำต้องยุบฐานที่มั่นของฝ่ายปเทดลาวเพื่อการสงบศึก

ณ กรุงเจนีวา นายบิโดลต์ผู้ที่เคยอภิปรายในสหประชาชาติถึงโฮจิมินห์ว่า เป็นปิศาจที่ไม่มีตัวตน(หมายถึง เป็นเพียงการปั้นแต่งเรื่องเกินจริงเพื่อสร้างกำลังใจให้ชาวเวียดนามเหนือ)มาคราวนี้ก็พยายามจะแสดงให้เห็นว่า เจ้าสุภานุวงศ์กับขบวนการปเทดลาวไม่มีตัวตนอยู่เช่นกัน ปัญหาจึงมีอยู่ว่า “เวียดมินห์ผู้รุกราน” จะต้องถอนตัวออกไปจากลาวอย่างไรดี และเมื่อการเจรจามาถึงรายละเอียดของการหยุดยิง ฝรั่งเศสก็ต้องยอมรับรู้อย่างเป็นทางการถึงความจริงที่ว่า ผู้บัญชาการทหารฝรั่งเศสในสนามรบล้วนรู้ดีว่า กำลังฝ่ายปเทดลาวมีฐานทัพสำคัญๆหลายแห่ง และมีเขตปลดปล่อย(เขตปกครอง)ของตนด้วย

ฝรั่งเศสเองยืนยันว่า ถ้าจะให้การสงบศึกและการถอนกำลังรบของทั้งฝรั่งเศสและของกองกำลังปเทดลาวได้ผลแล้ว ปเทดลาวจะต้องถอนกำลังจากฐานที่มั่นต่างๆทางภาคกลางและภาคใต้สิบแห่งแล้วไปรวมพลกันที่ซำเหนือและพงสาลี(กล่าวคือให้กองกำลังฝ่ายปเทดลาวมีกำลังพลอยู่ในเขตปลดปล่อยคือ ซำเหนือและพงสาลีเท่านั้นเพื่อที่ต่อไปสหรัฐจะได้กินรวบได้ในคราวเดียว)ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือและมีพรมแดนติดต่อกับเวียดนาม

ข้อบัญญัติในสนธิสัญญาดังกล่าวนี้ นับเป็นความสูญเสียทางทหารอย่างมากของฝ่ายปเทดลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ถอนกำลังจากอัตตปือและสารเวนตลอดจนที่ราบสูงบรเวน แต่ในขณะเดียวกันฝ่ายรัฐบาลก็จะต้องยอมให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเพื่อให้มีรัฐบาลแห่งชาติอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเจ้าสุภานุวงศ์เชื่อว่าฝ่ายตนจะมีชัยชนะในการเลือกตั้ง(แต่ต่อมาท่านก็ประจักษ์ว่าสหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลังในการทำทุกอย่างที่จะไม่ให้มีการตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับฝ่ายปเทดลาว เพราะสหรัฐฯเชื่อมั่นว่าการตั้งรัฐบาลร่วมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์แล้ว ในที่สุดก็จะถูกคอมมิวนิสต์กลืนกินจนหมด)

การที่ต้องสูญเสียฐานที่มั่นดังกล่าวไปจึงถือว่าเป็นการเสียสละให้เพียงชั่วคราว ยิ่งกว่านี้ทั้งซำเหนือและพงสาลียังมีกำลังอ่อนกว่าฐานที่มั่นแห่งอื่นๆเสียด้วยซ้ำไป

Saturday, March 14, 2009

ลำดับ๔๙๔.สงครามลับของCIAในลาว(๖)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่ ๖ ฝรั่งเศสถอนตัว สหรัฐเข้ามาแทน

หลังจากที่ฝรั่งเศสเห็นลางพ่ายแพ้อย่างย่อยยับที่เดียนเบียนฟู จึงนำไปสู่การเจรจาสงบศึกที่เจนีวาในปี ๒๔๙๗ ซึ่งเป็นผลจากที่ขบวนการเวียดมินห์รุกทางการทูตอย่างชาญฉลาดบังคับให้ฝรั่งเศสต้องนั่งโต๊ะเจรจากับเวียดนาม รวมทั้งลาวและกัมพูชาระหว่างวันที่ ๒๖ เมษายน ถึง ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๙๗ ในหัวข้อเจรจาเรื่องปัญหาอินโดจีนโดยสหภาพโซเวียต และสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตัวตั้งตัวตีดึงเอาสหรัฐอเมริกา อังกฤษและฝรั่งเศส รวมทั้งรัฐบาลเบาได๋เวียดนามใต้ที่มีโงดินห์เดียมเป็นนายกรัฐมนตรีมาเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย

ในระหว่างที่เจรจาเพื่อสงบศึกอยู่นั้น ดุลกำลังในสนามรบอินโดจีน ฝรั่งเศสกำลังเสียดุลอย่างมาก เดียนเบียนฟูป้อมปราการที่แข็งแกร่งที่สุดที่กำลังคอยเวลาถูกตีแตก ในช่วงที่ฝรั่งเศสเริ่มต้นต่อสู้ในทางการทหารกับเวียดมินห์และแนวลาวอิสระ สหรัฐอเมริกาได้ให้เงินช่วยเหลือฝรั่งเศสทำสงครามปีละไม่น้อยกว่า ๕๐๐ ล้านดอลล่าร์ และก็คิดว่าแค่นั้นก็พอที่ฝรั่งเศสจะชนะและเป็นเจ้าอาณานิคมต่อไปได้ แต่หลายปีผ่านไปสหรัฐฯก็กระวนกระวายใจและยิ่งหนักขึ้นเมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ถูกสถาปนาขึ้นในปี ๒๔๙๒ และต่อมารัฐบาลลาวต่อต้านได้ปลดปล่อยซำเหนือและพงสาลี

ดังนั้นในระหว่างที่สหภาพโซเวียตกับสาธารณรัฐาประชาชนจีนกำลังผลักดันให้เปิดเจรจาปัญหาอินโดจีนอยู่นั้น สหรัฐอเมริกากำลังวิ่งเต้นจะเปลี่ยนสงครามอินโดจีนให้กลายเป็นเหมือนสงครามเกาหลี โดยพยายามชักจูงหลายประเทศให้เข้าร่วมในสงครามนั้น แต่ไม่มีใครเล่นด้วย

ในที่สุดการเจรจาปัญหาอินโดจีนที่เจนีวาก็ได้ลงนามกันในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๙๗ แต่สหรัฐอเมริกาโดยนายจอห์นฟอสเตอร์ ดัลเลส ไม่ยอมลงนามร่วมในข้อตกลงฉบับนั้น และนอกจากจะไม่ยอมลงนามร่วมแล้ว ยังได้ออกแถลงการณ์แยกออกมาเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก เป็นการสร้างเงื่อนไขที่จะเข้าแทรกแซงในอินโดจีนต่อไป แถลงการณ์นั้นระบุว่า “สหรัฐอเมริกาจะไม่ใช้กำลังเพื่อล้มล้างข้อตกลงกรุงเจนีวาครั้งนี้ แต่ในขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาสงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาว่า การละเมิดข้อตกลงดังกล่าวเพื่อรุกรานอีกฝ่ายหนึ่งนั้น สหรัฐอเมริกาย่อมถือว่าเป็นอันตรายต่อสันติภาพและต่อความมั่นคงระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง”

ปัญหาอินโดจีนก็น่าจะจบสิ้น ในเมื่อฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าของอาณานิคมได้มอบอำนาจอธิปไตยให้กับอินโดจีน และถอนกำลังทหารออกจากอินโดจีนตามข้อตกลงสัญญาเจนีวา ๒๔๙๗ นั้น

แต่การก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ ความไม่สงบในอินโดจีนหรือสงครามล้างผลาญในอินโดจีนยังคงดำเนินต่อไปอีกถึง ๒๑ ปีนับแต่ ๒๔๙๘-๒๕๑๘

สหรัฐอเมริกาคือตัวจักรสำคัญในการสืบต่อสงครามอินโดจีนจากฝรั่งเศส พลจัตวา เจมส์ กาวิน นายทหารเสนาธิการผู้ช่วยของนายพลริดจ์เวย์ ได้ตำหนิฝรั่งเศสที่ถอนตัวออกจากอินโดจีนไว้ในหนังสือ cirsis now ว่า “การกระทำเช่นนั้นของฝรั่งเศสไม่ฉลาดเลย และทำลงไปเพื่อผลประโยชน์เฉพาะตนยิ่งกว่าที่จะให้เป็นประโยชน์ต่อโลกเสรี จึงเป็นหน้าที่ของสหรัฐอเมริกา ที่จะเข้ารับภาระในการสู้รบกับคอมมิวนิสต์ในบริเวณนั้น”

ลำดับ๔๙๓.สงครามลับของCIAในลาว(๕)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่ ๕ ปลดปล่อยท่าแขกและกำเนิดแนวลาวรักชาติ

การโจมตีซำเหนือหรือแขวงหัวพันในครั้งนั้นใช้กำลังทหารลาวมากกว่า ๕ กองร้อยและกองหลอกจำนวนหนึ่ง กำลังทหารอาสาสมัครเวียดนาม ๕ กองพันและต้องใช้เวลาถึง ๒๐ วัน ๒๐ คืน จึงปลดปล่อยแขวงทั้งสองได้อย่างสมบูรณ์ และ “นับแต่นั้นมาพวกเราจึงได้แผ่นดินอาศัยเป็นของตนเองคือแผ่นดินลาว เป็นเขตปลดปล่อยแห่งแรกของการปฏิวัติลาว” นายพลสิงกะโปเล่าให้ฟังเหตุการณ์ที่ภาคภูมิใจเมื่อครั้งกระโน้น

การรบครั้งนี้ได้สร้างความสูญเสียให้กับฝ่ายศัตรูเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสูญเสียชีวิตในสนามรบร่วม ๓ กองพัน และที่ถูกจับเป็นเชลยก็มีจำนวนมาก ในจำนวนเชลยที่ถูกจับนี้หลังจากได้รับการอบรมศึกษาอยู่ชั่วระยะหนึ่งแล้ว จำนวนหนึ่งขอร่วมชีวิตรับใช้ชาติบ้านเมืองอยู่กับกองทัพลาวอิสระ อีกส่วนหนึ่งขอกลับบ้านเพราะคิดถึงพ่อแม่และลูกเมีย

หลังจากปลดปล่อยซำเหนือแล้ว สำนักงานศูนย์กลางทั้งหมดทางทหารและการเมืองรวมทั้งครอบครัวของพนักงานก็ได้ขยายจากโดเลื่อง(ดินแดนเวียดนาม)เข้าสู่ซำเหนือด้วยความเบิกบานม่วนชื่น ท่ามกลางการให้การต้อนรับด้วยความปิติยินดีของพี่น้องประชาชนชาวซำเหนือ

ต่อมาในวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๔๙๖ เมืองท่าแขกก็ได้รับการปลดปล่อยอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งที่ ๒ หลังอยู่ภายใต้การปกครองของนักล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศสร่วม ๘ ปี นับแต่วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๔๘๘ ซึ่งได้สร้างความยินดีปรีดาให้กับนายพลสิงกะโปเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อล่วงเข้าปี ๒๔๙๘ รัฐบาลลาวต่อต้านและแนวลาวอิสระภายใต้การนำของเจ้าสุภานุวงศ์ ได้เข้าควบคุมเนื้อที่ถึง ๑ ใน ๒ ของเนื้อที่ทั้งประเทศ

โดยที่พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ซึ่งเป็นองค์กรชี้นำสูงสุดในการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินโดจีน ซึ่งหมายถึงสามชาติอินโดจีน คือเวียดนาม กัมพูชา และลาวได้เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคลาวดง(คนงาน) หรือพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม โดยที่ประชุมคองเกรสพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนครั้งที่ ๒ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๘๔ นั่นก็หมายถึงว่าคนลาวและคนกัมพูชาที่เคยร่วมอยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนก็ตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นมาใหม่เพื่อนำพาการต่อสู้กู้ชาติของตนต่อไป

ชาวคอมมิวนิสต์ลาวจึงได้จัดตั้งพรรคประชาชนลาว หรือพรรคคอมมิวนิสต์ลาวขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๔๙๗ โดยมีท่านไกสร พรหมวิหาร เป็นเลขาธิการพรรค สืบต่อจากท่านมหาคำแสน หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนได้ยุบเลิกไปแล้ว ซึ่งบัดนี้ก็คือ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว เป็นการสืบต่อมูลเชื้อของคณะพรรคแคว้นลาว ที่ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๔๗๙

และต่อมาในวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ แนวลาวอิสระอันเป็นแนวร่วมแห่งชาติที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของพันธมิตรกรรมกรชาวนาก็ได้รับการเปลี่ยนชื่อมาเป็นแนวลาวรักชาติ รวมทั้งกองทัพปลดปล่อยประชาชนลาวก็ได้รับการปรับปรุงให้มีสมรรถภาพสูงขึ้น

ลำดับ๔๙๒.สงครามลับของCIAในลาว(๔)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่ ๔ เขตปลดปล่อยซำเหนือและพงสาลี

ขอย้อนกลับไปกล่าวถึงช่วงเวลา ๒๔๘๙ ที่คณะรัฐบาลพลัดถิ่นในประเทศไทยกำลังลำบากในการหาเงินมาดำเนินการเคลื่อนไหวและยังไม่ต้องการจะกลับไปต่อสู้ในประเทศลาว เจ้าสุภานุวงศ์จึงลอบออกเดินทางกลับไปยังลาว ไปพบปะกับพี่น้องร่วมแผ่นดินกับท่าน เพื่อรวบรวมกองกำลังที่จะกลับมาต่อสู้กับฝรั่งเศสที่ยึดครองประเทศลาวไว้.

ในช่วงกลางปี ๒๔๙๑ มีการประชุมประชาชนนักต่อสู้ที่ตำบลลาวรุ่งทางภาคเหนือโดยมีไกสร พรหมวิหารเป็นประธาน ได้ตกลงจัดตั้งกองทหารลาวอิสระขึ้นทางภาคเหนือของลาว เรียกว่า กองราชวงศ์ กองนี้ได้คัดเลือกคนหนุ่มที่มีพื้นฐานจิตใจแน่วแน่ที่จะรับใช้ผลประโยชน์ของประชาชนและมีความเสียสละสูง ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน กองราชวงศ์ได้ร่วมกันศึกษาการเมือง การทหาร หลักสูตรเร่งรีบ ๓ เดือน แล้วก็แยกย้ายกันออกไปปฏิบัติงานปลุกระดมมวลชน ก่อสร้างพื้นฐานและเขตที่มั่นแห่งใหม่ขึ้น

วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๔๙๒ มติของกองประชุมใหญ่ที่เผ่าต่างๆมาประชุมกัน ประกอบด้วยพนักงานพื้นฐาน ทหาร และคณะผู้แทน ๑๗ บ้านจากเขตที่มั่น ได้ประชุมกันที่เมืองเชียงค้อ ท่านไกรสอน พรหมวิหาร ได้แถลงจัดตั้งกองทัพลาวอิสระขึ้นเป็นทางการนับแต่นั้นมา วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๔๙๒ จึงเป็นวันประวัติศาสตร์แห่งการจัดตั้งกองทัพประชาชนลาว ภายใต้การนำของพรรคมาร์กซ์-เลนิน โดยกองราชวงศ์เป็นกองแรกเริ่มประกาศจัดตั้งกองทัพลาวอิสระ และกลายมาเป็นกองทัพประชาชนในปัจจุบัน

รัฐบาลลาวต่อต้านและแนวลาวอิสระ ภายใต้คันธงเจ้าสุภานุวงศ์และภายใต้การช่วยเหลือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเวียดนาม ได้ขยายเขตปลดปล่อยหรือสงครามกู้เอกราชออกไปทั่วประเทศ จนนักล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศสต้องถอนกำลังทหารจากสนามรบเวียดนามเข้ามาเสริมในสมรภูมิลาวจึงเท่ากับเปิดโอกาสให้เวียดมินห์ประสบชัยชนะในสนามรบนั้น แต่ในขณะเดียวกับกองทหารที่มาเสริมในสมรภูมิลาวก็ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกับสมรภูมิเวียดนาม จนกระทั่งฝรั่งเศสต้องส่งนายพลนาวารร์ เสนาธิการใหญ่ผู้โด่งดังมาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดในอินโดจีนแทนนายพลชาลัง ในเดือนพฤษภาคม ๒๔๙๖

๓ ปีที่กองทัพลาวอิสระต่อสู้กับกองทหารฝรั่งเศส(๒๔๙๒-๒๔๙๕)ก็ยังไม่มีเขตปลดปล่อย(ฐานที่มั่น)จนกระทั่งปี ๒๔๙๖ รัฐบาลลาวอิสระจึงได้มีเขตปกครองอยู่ใน ๒ แขวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือแขวงหัวพัน(ซำเหนือ)และแขวงพงสาลี ซึ่งเป็นเมืองชายแดนติดกับเมืองแถงอันที่เป็นที่ตั้งของเดียนเบียนฟูของเวียดนาม

ในการปลดปล่อยแขวงหัวพันกับพงสาลีนั้น เริ่มตั้งแต่วันที่ ๘ เมษายน ๒๔๙๖ ทหารลาวอิสระภายใต้การนำของท่านสิงกะโป ร่วมด้วยทหารอาสาสมัครเวียดนามได้เข้าโจมตีเป็น ๓ แนว แนวที่ ๑ เริ่มตั้งแต่เส้นชายแดนลาว-เวียดนามไปตามเส้นทางหมายเลข ๖ ตีขึ้นมาทางซำเหนือ แนวที่ ๒ ตีขึ้นมาแต่เส้นชายแดนลาว-เวียดนาม ไปตามเส้นทางหมายเลข ๗ ตีขึ้นมาทางเชียงขวางเพื่อสะกัดเส้นทางหลบหนีของศัตรูจากซำเหนือลงมา แนวที่๓ จากเดียนเบียนฟูตีลงมาถึงเขตแม่น้ำอูมาทางหลวงพระบาง ประชาชนลาวตามเขตที่มั่นในเส้นทางที่ทหารลาวและทหารอาสาสมัครเวียดนามเดินทัพผ่านได้เข้าช่วยเหลือในการลำเลียงขนส่งยุทธสัมภาระ

นายพลสิงกะโป สีโคตจุนนะมาลี เล่าถึงการปลดปล่อยซำเหนือและพงสาลีไว้ว่า การปลดปล่อยแขวงทั้งสองนั้นนอกจากจะทำให้รัฐบาลลาวอิสระมีเขตปกครองแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนแผนการโจมตีเดียนเบียนฟูของกองทหารเวียดมินห์ด้วย เพราะแขวงซำเหนือเป็นจุดยุทธศาสตร์ติดกับเดียนเบียนฟู และมีกำลังทหารฝรั่งเศสตั้งอยู่มากกว่า ๑๐ กองพัน

ลำดับ๔๙๑.สงครามลับของCIAในลาว(๓)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่ ๓ เปิดโปงแผนการชั่วของสหรัฐฯ

หลังจากปรากฏลางแห่งความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสที่บริเวณหุบเขา “บัลลังก์แห่งพรมแดน”(เดียนเบียนฟู) จนนำมาสู่การนั่งโต๊ะเจรจาที่กรุงเจนีวา จักรวรรดินิยมฝรั่งเศสยังคงพยายามที่จะทำลายการรวมตัวอย่างแน่นแฟ้นของประชาชนอินโดจีน แต่เมื่อถูกกดดันอย่างหนักจากนานาประชาคม ฝรั่งเศสจำเป็นต้องให้เอกราชแก่กัมพูชาและลาวด้วย,แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความวุ่นวายที่จะตามมาซึ่งยาวนานถึง ๒๐ ปี.

ฝรั่งเศสจำต้องให้เอกราชแก่ลาวและกัมพูชา แต่ก็เข้าบงการแทรกแซงโดยระหว่างที่การเจรจา ณ กรุงเจนีวากำลังดำเนินไปนั้น ฝรั่งเศสก็ได้ตั้งเจ้าสุวรรณภูมา(พี่ชายต่างมารดากับเจ้าสุภานุวงศ์)ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และมี ผุย ชนะนิกร ผู้สืบตระกูลศักดินาเก่าแก่และเคยรับใช้ฝรั่งเศสมาอย่างใกล้ชิดเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ การที่ตั้งบุคคลเหล่านี้ขึ้นมาก็เพื่อกีดกันขบวนการปเทดลาวภายใต้การนำของเจ้าสุภานุวงศ์ไม่ให้เข้าร่วมประชุมด้วย

ก่อนเข็มนาฬิกาจะถึงเวลาเที่ยงคืนของวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ได้มีการตกลงกันระหว่างผู้แทนฝรั่งเศสกับเวียดมินห์ แต่ก็เกิดอุปสรรคที่สำคัญในคณะผู้แทนลาว โดยท้าวผุย ชนะนิกรไม่ยอมลงนามที่จะเป็นรัฐบาลผสมร่วมกับฝ่ายขบวนการปเทดลาว ทั้งนี้ข้อความในสนธิสัญญามีบทบัญญัติสำคัญว่า ในรัฐบาลผสมชั่วคราวแห่งชาติจะต้องมีตัวแทนของฝ่ายปเทดลาวเข้าร่วมรัฐบาลด้วยและรัฐบาลผสมชั่วคราวจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งเพื่อให้มีรัฐบาลแห่งชาติต่อไป


ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นในประเทศลาว สำนักข่าวฝรั่งเศสที่เมืองลาดแลง ได้ติดป้ายคำขวัญสีแดงเขียนด้วยตัวอักษรสีขาว ความว่า “คัดค้านไม่ให้เจ้าสุภานุวงศ์เข้าร่วมประชุมเจนีวา”

แต่ในที่สุดท้าวกุวรวงศ์ก็ลงนามในรัฐบาลผสมจนได้ การประชุมเจนีวาจึงประสบผลสำเร็จอย่างน้อยก็ในส่วนของการสู้รบกันด้วยอาวุธ และจากนี้ไปจะเป็นสงครามในเชิงกลยุทธ เล่ห์เหลี่ยมหมากคูที่สหรัฐอเมริกาถนัดในการซื้อตัวคนที่ยอมขายตัวแลกกับเงินสกปรกดังจะได้ทราบต่อไป

เมื่อคณะตัวแทนประเทศลาวกลับมาถึงเวียงจันทน์ ท้าวกุวรวงศ์ได้เปิดเผยขึ้นในสภาผู้แทนราษฎรว่า สายลับอเมริกัน C.I.A. ได้จ่ายเงินหนึ่งล้านดอลล่ารห์เข้าบัญชีธนาคารสวิสต์ในนาม ท้ายผุย ชนะนิกร เพื่อเป็นการตอบแทนคำมั่นสัญญาของท้าวผุยที่ว่า คณะผู้แทนลาวจะไม่ยอมลงนามในสัญญาสงบศึกเป็นอันขาด

หลังจากนั้น ๓ วัน ท้าวกุวรวงศ์ได้รับเชิญไปรับประทานอาหารค่ำที่บ้านท้าวผุย โดยข้ออ้างว่าเพื่อปรับความเข้าใจกัน เมื่อไปถึงแล้วท้าวกุวรวงศ์ถูกจัดให้นั่งในตำแหน่งหันหลังให้หน้าต่าง พลันนั้นเองคนร้ายก็ยิงปืนเข้ามาทางหน้าต่างถูกท้าวกุวรวงศ์ล้มลงเสียชีวิต ส่วนคนร้ายหลบหนีลงเรือข้ามมาฝั่งไทยโดยปลอดภัย คนร้ายคนนั้นกล่าวกันว่าเป็นคนไทยที่เคยเป็นนักมวยมาก่อนและเป็นมือปืนของจอมอัศวินไทยในยุคนั้น

การเสียชีวิตของท้าวกุวรวงศ์นั้นถูกวิเคราะห์กันว่าเป็นผลจากการลงนามในสัญญาสงบศึกที่เจนีวา(ซึ่งท้าวกุรวงศ์ดำเนินการลงนามในสัญญาฯ ตามที่ได้ตกลงไว้กับเจ้าพี่สุวรรณภูมา)แล้วยังเป็นผลจากการเปิดโปงบทบาทของท้าวผุย ชนะนิกรที่รับใช้สหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามเหตุที่สหรัฐอเมริกาไม่อาจจะปล่อยให้ท้าวกุรวงศ์มีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้ ก็คือเมื่อ ๙ วันก่อนการประชุมสัญญาสงบศึกที่เจนีวาท้าวกุวรวงศ์ได้เป็นผู้จัดการให้มีการพบปะกันโดยตรงของ เจ้าพี่สุวรรณภูมาและ เจ้าน้องสุภานุวงศ์และท้าวกุวรวงศ์ก็เข้าร่วมการเจรจานี้ด้วย ความจริงการเจรจาของเจ้าพี่-เจ้าน้องครั้งนี้ก็เป็นการตั้งต้นดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามสัญญาสงบศึก คือ ยุติการสู้รบระหว่างรัฐบาลฝ่ายขวาที่นิยมกษัตริย์ กับขบวนการปเทดลาวภายใต้การนำของเจ้าสุภานุวงศ์นั่นเอง

ยิ่งกว่านี้ท้าวกุวรวงศ์ได้เปิดเผยแผนการของรัฐบาลที่จะหักหลังขบวนการปเทดลาว ซึ่งเป็นแผนที่จะเข้าโจมตีกองทหารปเทดลาวเมื่อเวลาที่กองทหารปเทดลาวถอนตัวออกมาจากแคว้นซำเหนือและแคว้นพงสาลีตามข้อกำหนดในสัญญาฯ

นี่นับเป็นโทษอุกฉกรรจ์มหันตโทษที่สหรัฐอเมริกาไม่อาจจะปล่อยให้ท้าวกุวรวงศ์มีชีวิตอยู่สืบไป โทษสถานเดียวของผู้ที่เปิดโปงความชั่วร้ายของสหรัฐฯ ก็คือ ความตาย!

ลำดับ๔๙๐.สงครามลับของCIAในลาว(๒)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่ ๒ ความเดือดดาลของดัลเลส

ระหว่างที่ดัลเลสพยายามหาเสียงสนับสนุนจากหลายประเทศในการบอมบ์อินโดจีน กลาโหมสหรัฐก็วางแผนลึกซึ้งขึ้นไปอีก พลเอกแมทธิว ริดจ์เวย์ เสนาธิการกองทัพบก ผู้เคยมีประสบการณ์มาก่อนในฐานะผู้บัญชาการ “กองทัพสหประชาชาติ” ในสงครามเกาหลี ผู้ไม่เคยเชื่อเลยว่า การใช้กำลังทางอากาศจะชี้ขาดผลแพ้ชนะของสงคราม ก็ได้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญไปอินโดจีนเพื่อประเมินว่าจะต้องใช้กำลังเท่าที่จำเป็นสักเท่าไรจึงจะทำให้การแทรกแซงครั้งนี้ได้ผล

คณะผู้เชี่ยวชาญรายงานกลับมาว่า “เริ่มแรกจะต้องใช้กำลังที่จำเป็นอย่างน้อยที่สุด ๕ กองพล และเมื่อการรบคืบหน้าไป จะต้องเพิ่มขึ้นอีกเป็น ๑๐ กองพลหรือกว่านี้”

ริดจ์เวย์ผู้ซึ่งคัดค้านแผนการส่งทหารเข้าไปในอินโดจีนได้บันทึกในหนังสือของเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า รายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญ มีน้ำหนักและอาจเป็นปัจจัยชี้ขาดในการจูงใจให้รัฐบาลอเมริกันไม่ส่งกองทหารเข้าไปเสี่ยงภัยอันจะมีแต่โศกนาฏกรรม

แม้ว่าแผนของแรดฟอร์ด มุ่งโดยตรงที่จะกอบกู้ฝรั่งเศสที่ศึกในหุบเดียนเบียนฟู แต่มันก็แน่นอนว่าจะต้องเกี่ยวพันไปถึงลาวอย่างแยกไม่ออก ในเมื่อกระทรวงกลาโหมพิจารณามันในแง่ของสงครามทั่วไปทั้งอินโดจีนไม่ใช่ส่วนหนึ่งส่วนใด แม้ว่าต่างก็เป็นประเทศที่มีเขตแดนของตนอยู่โดยเฉพาะก็ตาม ดังเช่นในการรุกของฝรั่งเศสระหว่างฤดูหนาวถึงฤดูสปริง ๒๔๙๖-๒๔๙๗ เครื่องบินซึ่งมีฐานทัพในไทยโดยนักบินอเมริกันก็ได้บินไปทิ้งระเบิดก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตมนุษย์และวัตถุต่างๆ มากมายในบริเวณทางเหนือของลาวอันเป็นที่ซึ่งขบวนการปเทดลาวครอบครองอยู่

ดัลเลสหันไปที่ประชุมเจนีวาตั้งแต่ระยะแรก เพื่อจูงใจประเทศต่างๆ ที่เคยมีส่วนร่วมรบในสงครามเกาหลีทั้งๆ ที่ไม่มีทางจะทำได้ ดัลเลสหวังอยู่ว่าจะสามารถผลักดันประเทศต่างๆ ให้ร่วมกันเข้าแทรกแซงในอินโดจีนอย่างที่เคยกระทำมาแล้วในเกาหลี แต่ปรากฏว่ามีแต่เกาหลีใต้กับออสเตรเลียเท่านั้นที่เสนอช่วยด้วยกองทหาร ไทยกับฟิลิปปินส์เสนออย่างไม่เต็มใจว่าสนับสนุน “ในหลักการ” (แต่ต่อมารัฐบาลไทยได้ช่วยเหลืออย่างเต็มใจ ซึ่งจะได้ทราบต่อไป) เชอร์ชิล ปฏิเสธอย่างเด็ดขาดและ เลสเตอร์ เพียร์สัน นายกรัฐมนตรีแคนาดา ก็ไม่ยอมสนับสนุนด้วยเช่นกัน

ดัลเลสก็ออกเดินทางไปจากเจนีวาด้วยความเดือดดาล (พวกนักหนังสือพิมพ์ที่ไปทำข่าวยังจำได้ดีถึงความเดือดดาลของดัลเลสที่ปรากฏออกมาทางสีหน้าและท่าทาง)เมื่อเขาได้รับโทรเลขจากเชอร์ชิลนั้น เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ผลุนผลันเดินทางออกไปจากเจนีวา

แต่แม้เมื่อมาถึงวอชิงตันแล้ว ดัลเลสก็ยังไม่ยอมแพ้ เขาพยายามทุกทางที่จะไม่ให้มีการสงบศึกในอินโดจีนให้จงได้ ถึงขนาดเสนอที่จะมอบระเบิดปรมณูจำนวน ๒ ลูกแก่นายบิโดลต์ รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส หากว่ามันจะสามารถให้ทำกองทหารฝรั่งเศสยังคงอยูในอินโดจีนต่อไป แต่ชะตากรรมเจ้าเอ๋ย,รัฐบาลลาเนียล-ปิโดลต์ต้องล้มลงและมังแดส ฟรังซ์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน และได้ขีดเส้นตายไว้ว่า จะสงบศึกในอินโดจีนให้ได้ภายในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ถ้าไม่ได้ตนจะลาออก

การประชุมเจรจาครั้งสำคัญซึ่งทั่วโลกไม่ทราบเลยเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ระหว่างดัลเลส,อีเดนและมังแดส ฟรังซ์ ที่กรุงปารีส(ก่อนหน้าที่มังแดสจะให้คำมั่นว่าถ้าอินโดจีนไม่สงบตนจะลาออก)ดัลเลสได้เสนอแผนจัดตั้งองค์การซีอาโต้ (SouthEast Asia Treaty Organization)ลงที่โต๊ะประชุม เรียกร้องให้มีการจัดตั้งขึ้นโดยฉับพลันเพื่อจะได้เอาไว้เป็นเครื่องมือสำหรับเข้าแทรกแซงอินโดจีนในยามฉุกเฉิน

หลังการโต้เถียงกันอย่างรุนแรงซึ่งทั้งดัลเลสและมังแดส ฟรังซ์ต่างก็ทุบโต๊ะเข้าหากัน มังแดส ฟรังซ์นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสได้รับความสนับสนุนจากอีเดนอย่างแข็งขันก็ได้ “ปฏิเสธการแทรกแซง” ในกรณีฉุกเฉิน แต่ยอมรับข้อคิดในเรื่องซีอาโต้ โดยมีเงื่อนไขว่า จะจัดตั้งขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อเรื่องสงบศึกเป็นไปโดยเรียบร้อยแล้วเท่านั้น

ดัลเลสผลุนผลันออกไปจากที่ประชุมด้วยความเดือดดาลอีก ไม่ผิดอะไรกับตอนเดินทางออกไปจากเจนีวาครั้งแรก แต่ก็ยังมีลูกไม้ที่จะนำมาใช้อีก ยังไม่ยอมแพ้ง่ายๆเช่นเคย.

Friday, March 13, 2009

ลำดับ๔๘๙.สงครามลับของCIAในลาว(๑)

สงครามลับของ CIA ในลาว
บทที่ ๑. เริ่มแทรกเข้ามาวุ่นวายในอินโดจีน

ในขณะนั้นสหรัฐอเมริกาจ่ายเงินให้ฝรั่งเศสเป็นค่าใช้จ่ายในการทำ “สงครามสกปรก” ถึงร้อยละ ๘๐ ของทั้งหมดและก็กำลังวางแผนที่จะเข้าแทรกแซงโดยตรงโดยใช้กองทหารของตนเอง ทั้งนี้ ยังไม่กล่าวถึงกำลังทางอากาศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกที่มีบทบาทอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าดอลล่าร์หรือรถถัง เครื่องบินหรือปืนใหญ่ของสหรัฐอเมริกาที่ซากสลักหักพังเกลื่อนกลาดอยู่ในหุบเดียนเบียนฟูก็ไม่อาจช่วยให้ฝรั่งเศสรอดพ้นจากการพ่ายแพ้อย่างหมดรูปได้ กระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาจึงเสนอให้ใช้กำลังเข้าแทรกแซงโดยตรง

โรเจอร์ ฮิลสแมน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศด้านตะวันออกไกลอเมริกัน ได้กล่าวถึงแผนการแทรกแซงนี้ในหนังสือ To Move a Nation ว่า

“เมื่อถึงกลางเดือนมีนาคม (๒๔๙๗)ฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้ป้องกันเดียนเบียนฟูกำลังอยู่ในฐานะลำบากมาก ทางวอชิงตันก็มีความห่วงใยอยู่มากเช่นกัน พลเรือเอกแรดฟอร์ดประธานเสนาธิการผสมอเมริกันได้เสนอต่อกองบัญชาการฝรั่งเศสว่า จะใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดอเมริกันหกสิบลำจากคล๊าร์กฟิลด์ในฟิลิปปินส์ โดยมีเครื่องบินประจัญบานจากกองทัพเรือที่เจ็ดคุ้มกันเข้าโจมตีกำลังรบที่รายรอบเดียนเบียนฟูเพื่อ “กวาดล้างปืนใหญ่ของเวียดมินห์ที่ตั้งล้อมอยู่ตลอดจนการติดต่อสื่อสารต่างๆ..” แผนนี้มีชื่อว่า “ยุทธการอีแร้ง”
เมื่อผู้นำของรัฐสภาอเมริกันทราบถึงข้อเสนอนี้ก็มีความพิศวงไปตามๆกัน ในเมื่ออเมริกันเคยมีประสบการณ์จากสงครามเกาหลีมาแล้ว โดยแผน “ยุทธการรัดคอหอย” เคยประสบความล้มเหลวมาแล้วในสงครามเกาหลี ไม่สามารถทำลายระบบขนส่งของเกาหลี-จีนลงได้ ยิ่งพลเรือเอกแรดฟอร์ดให้คำมั่นว่า “ถล่มระเบิดลงไปครั้งเดียวก็จะได้ผล—ถ้าไม่ได้ผล ครั้งที่สองก็ต้องได้ผลแน่ๆ” ก็ยิ่งน่าสงสัยยิ่งขึ้น พวกผู้นำรัฐสภาจึงได้วางเงื่อนไขไว้สามข้อ ก่อนที่ทางทหารจะปฏิบัติตามแผน เงื่อนไขที่ทางรัฐสภาอ้างนี้ ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า รัฐสภาอเมริกันที่อ้างว่าตนเป็นประชาธิปไตยนั้น มีความคิดในเรื่องเอกราชและสิทธิในการกำหนดตนเองของชาติอื่นไว้อย่างไร เงื่อนไข ๓ ข้อมีว่า

๑.การให้ความสนับสนุนฝรั่งเศสจะต้องได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศ
๒.ฝรั่งเศสจะต้องรีบให้เอกราชแก่ชาติในอินโดจีน และ
๓. ฝรั่งเศสจะต้องไม่ถอนกองกำลังรบออกมาจากอินโดจีน
ก็ไม่ทราบว่าเอกราชของชาติตามที่รัฐสภาอเมริกันเสนอมานี้จะมีความหมายเช่นไรในเมื่อฝรั่งเศสจะต้องยังคงกองทัพไว้ในดินแดนเมืองขึ้น ขณะเดียวกันเมืองขึ้นนั้นก็จะต้องมีเอกราชด้วย?

นายฟอสเตอร์ ดัลเลส รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ได้ติดต่อนายแอนโธนี อีเดน รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษทันที เพื่อจะขอการสนับสนุนแผนทิ้งระเบิดในอินโดจีน นายอีเดนบันทึกไว้ในหนังสือ Full Circle ในปี ๑๙๖๐ ถึงความเดือดดาลทั้งของเขาและของ เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรี ในเมื่อพวกเขามองเห็นทะลุปรุโปร่งถึงความคิดของดัสเลสที่พยายามผลักดันให้ทั้งสองตกอยู่ในฐานะไม่เพียงแต่เข้าพัวพันในสงครามอินโดจีนเท่านั้น หากยังเป็นผู้ “ปลุกปั่น” ให้มีการ “สนับสนุนจากหลายประเทศ” ดังเช่นกรณีเข้าแทรกแซงระหว่างประเทศตามแบบที่เคยเกิดขึ้นในสงครามเกาหลี