Saturday, June 30, 2007

บทความที่ ๑๘๐. การต่อสู้เพื่อปลดแอกอินเดียของ ดร.เอ็มเบ็ดการ์ ภาค ๒ ตอนที่ ๒

ภาค ๒ ตอนที่ ๒

ในปีเดียวกันนั้น ท่านมหาตมะคานธี ซึ่งถูกจับกุมในข้อหากบฏ ได้พ้นโทษออกมา ท่านได้เริ่มงานขบวนการกู้ชาติ ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านต้องถูกจับติดคุกติดตะรางจนนับครั้งไม่ได้ เป้าหมายของการดำเนินงานก็คือเอกราชของอินเดีย ดังนั้น ประชาชนชาวอินเดีย จึงเคารพท่านโดยให้เกียรติยกย่องว่า “บิดาแห่งเอกราชอินเดีย” ท่านได้ก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นชื่อว่า “พรรคคองเกรส” (Congress Party)

พรรคครองเกรส เป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียนับแต่อินเดียได้รับเอกราช อำนาจบริหารประเทศก็ตกอยู่ในกำมือของพรรคคองเกรสมาตลอด ท่านบัณฑิตเนห์รูได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ท่านศาสตรี เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่สอง นางอินทิรา คานธี บุตรสาวท่านบัณฑิตเนห์รู เป็นนายกคนที่ ๓ ในช่วงนี้ พรรคคองเกรสมีความเห็นขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ระหว่างพวกหัวเก่ากับหัวใหม่จนถึงแตกแยก แบ่งเป็น ๒ พรรค เรียกว่าพรรคคองเกรสใหม่ (New Congrss) ซึ่งมีนางอินทิรา คานธี เป็นผู้นำ และพรรคคองเกรสเก่า (Old Congress) พอแยกกันโดยเด็ดขาดแล้ว ก็มีการเลือกตั้งทั่วไป

นโยบายทางการเมืองของ มหาตมะคานธี นั้นเป็นวิธีการที่นำเอาคำสอนในศาสนามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับกาลสมัยและสิ่งแวดล้อม จนได้เป็นปรัชญาการเมืองขึ้นมาใหม่ คือ “ลัทธิคานธี” (Gandhism) วิธีการที่โลกรู้จักดีคือ การปฏิบัติตามหลักอหิงสาไม่เบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น ให้อภัยแก่ทุกคน วิธีการอีกอย่างหนึ่งของท่านคานธีคือ วิธีการดื้อแพ่ง ไม่ให้ความร่วมมือ สิ่งใดที่เจ้าหน้าที่ของอังกฤษออกคำสั่ง ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์หรือเกิดความเป็นธรรมแก่อินเดีย ท่านมหาตมะคานธีจะพาบริวารดื้อ ไม่ปฏิบัติตาม ถ้าถูกลงโทษก็จะใช้หลักอหิงสา จนเป็นเหตุให้อังกฤษต้องพ่ายแพ้ต่อวิธีการนี้ แล้วพิจารณาให้เป็นเอกราชแก่อินเดีย

สำหรับงานปฏิรูปสังคมนั้น นับว่าท่านมหาตมะคานธีก็ได้รับการยกย่องว่า เป็นนักปฏิรูปที่สำคัญคนหนึ่ง แต่วิธีการของคานธีนั้น ตรงกันข้ามกับวิธีการของเอ็มเบ็ดการ์ มหาตมะคานธีเป็นคนในวรรณะ เกิดในตระกูลแพศย์ บิดาเป็นถึงนายกรัฐมนตรีของรัฐ คานธีเคยศึกษาวิชากฎหมายจากประเทศอังกฤษ เคยมีชีวิตอยู่ในท่ามกลางความฟุ่มเฟือย ซึ่งตรงกันข้ามกับเอ็มเบ็ดการ์ ดังนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ท่านมหาตมะคานธีจะเข้าใจปัญหาชนชั้นต่ำได้ดีเท่ากับเอ็มเบ็ดการ์

มหาตมะคานธียังเชื่อว่าระบบวรรณะนั้น ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมอินเดีย โดยคิดว่าระบบวรรณะเป็นเอกลักษณ์พิเศษของอินเดีย ซึ่งไม่มีที่ไหนอีกแล้วในโลกนี้ ท่านจึงเห็นว่าควรรักษาเอาไว้ เป็นแต่เพียงให้ความช่วยเหลือคนชั้นต่ำโดยเฉพาะพวกอธิศูทร ให้มีโอกาสได้รับการศึกษาและมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นก็เป็นอันใช้ได้ (พิจารณาความคิดของคานธีเรื่องที่จะให้คงระบบวรรณะไว้ และให้ความช่วยเหลือคนวรรณต่ำนั้น เหมือนกับประเทศไทยที่กล่าวกันว่าให้มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง แต่หัวใจของรัฐธรรมนูญกลับเป็นการรักษาระบบความต่างของชนชั้นไว้)

มหาตมะคานธี จึงกล่าวเสมอว่า “เอกราชก่อน สิ่งอื่นทีหลัง” แต่เอ็มเบ็ดการ์มีความเห็นว่า ระบบวรรณะเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดในสังคมอินเดีย เอกราชจะได้มาไม่ยากเลย ถ้าคนในชาติมีความสามัคคีกัน ไม่เกลียดกันเอง ระบบวรรณะเป็นระบบที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย เพราะส่งเสริมการทำคนให้เป็นทาส อันความจริงการกระทำความผิดหรืออาชกรรมต่าง ๆ เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล มิใช่เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดกันตามสายเลือด ดังนั้น เอ็มเบ็ดการ์จึงต้องการทำลายระบบวรรณะให้หมดไปก่อนอื่นใดทั้งสิ้น

ถึงแม้ว่าจะเป็นการยากลำบาก แต่ก็ต้องสู้ ต้องกระทำ เมื่อมีแนวความคิดแตกต่างกันเช่นนี้ เอ็มเบ็ดการ์จึงต้องขัดแย้งกับมหาตมะคานธีอยู่ตลอดเวลา ส่วนแนวความคิดของใครถูก ของใครผิดนั้น ขอให้อยู่ในดุลพินิจ ซึ่งจะได้นำข้อขัดแย้งของทั้งสองท่านมานำเสนอเป็นลำดับไป

อย่างไรก็ดี นักสังคมวิทยาทั่วไป เรียกท่านมหาตมะคานธีว่า เป็น นักปฏิรูป (Reformer) และเรียกเอ็มเบ็ดการ์ว่า เป็น “นักปฏิวัติสังคม (Revolutionist)” โดยไม่ต้องใช้อาวุธ

เอ็มเบ็ดการ์เชื่อว่า ปัญหาของพวกอธิศูทรจะหมดไปได้ก็โดยที่พวกอธิศูทรรู้จักช่วยเหลือตนเอง และพยายามช่วยเหลือตนเองให้ได้ เอ็มเบ็ดการ์กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมฮินดูจะต้องเคารพถึงหลักความยุติธรรมและความเสมอภาค ความยุติธรรมและความเสมอภาคนี้ จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ ถ้าหากพวกอธิศูทรยังมัวรอคอยความเมตตาปรานีจากคนในวรรณะอื่นอยู่ โดยไม่คิดที่จะยืนอยู่บนลำแข้งของตนเอง เขาคิดว่าจะเป็นการดีทีเดียวถ้าจะบอกให้ผู้เป็นทาสรู้เสียทีว่าเขาเป็นทาส ซึ่งจะทำให้ผู้เป็นทาสนั้นรู้สึกขยะแขยงต่อความเป็นทาสของตน เขาปลุกใจพวกอธิศูทรให้เกิดความเชื่อมั่นตนเอง คิดช่วยตนเองและสร้างความเป็นไท ความเสมอภาคกับคนในวรรณะอื่นให้เกิดขึ้น

ครั้งหนึ่งเขาได้กล่าวคำปราศรัยด้วยน้ำเสียงอันห้าวหาญและเร้าใจพวกอธิศูทรว่า

“หัวใจของข้าพเจ้าแทบแตกสลายที่ได้พบภาพอันน่าสงสารบนใบหน้าพวกท่าน ได้ยินเสียงอันเศร้าสร้อยของพวกท่าน พวกท่านได้คร่ำครวญมาเป็นเวลาแสนนาน และพวกท่านไม่รู้สึกอายบ้างหรือ ที่จะปล่อยให้เป็นผู้ไร้ที่พึ่งนี้มีอยู่ต่อไป เหมือนกับว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำไมพวกท่านจึงไม่ตายเสียดีกว่าจะอยู่เป็นมนุษย์แบบทาสเช่นนี้

ทำไมพวกท่านจึงพากันสร้างภาพแห่งความเศร้า ความระทมทุกข์ให้มันเลวร้ายลงไปอีก ชีวิตของพวกท่านมันช่าง น่าเกลียด น่าชัง น่าขยะแขยง ท่านปล่อยให้เป็นไปเพื่อให้หนักโลกทำไม ? ถ้าท่านไม่สามารถสร้างและดำเนินชีวิตแบบใหม่ได้ ไม่สามารถสร้างตนเองให้กระปรี้กระเปร่าขึ้นใหม่ พวกท่านควรตายไปเสียดีกว่า เพื่อให้โลกมีภาระน้อยลง

ความจริงมันเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ท่านจะได้รับอาหาร มีที่อยู่อาศัย มีเครื่องนุ่งห่มในผืนแผ่นดินนี้ ในส่วนเสมอภาคกันกับทุก ๆ คน ไม่ว่าสูงหรือต่ำ ถ้าท่านทั้งหลายเชื่อในการดำเนินชีวิตอย่างน่านับถือ เชื่อเรื่องการพึ่งตนเอง ว่าเป็นที่พึ่งที่ประเสริฐสุด”

บทความที่ ๑๗๙.การต่อสู้เพื่อปลดแอกอินเดียของ ดร.เอ็มเบ็ดการ์ ภาค ๒ ตอนที่ ๑

การต่อสู้เพื่อปลดแอกอินเดียของ ดร.เอ็มเบ็ดการ์ ภาค ๒

อ่าน ภาค ๑ ตอนที่ ๑-๙ ได้ที่

ตอนที่ ๑http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_2566.html
ตอนที่ ๒ http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_23.html
ตอนที่ ๕http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_1203.html
ตอนที่ ๖http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_9518.html
ตอนที่ ๗http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_6812.html
ตอนที่ ๘http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_1147.html
ตอนที่ ๙ (จบภาคหนึ่ง)http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_28.html

ภาค ๒ ตอนที่ ๑

จากเด็กชาย พิม สักปาล คนนอกวรรณะที่ถูกรังเกียจชิงชังจากชาวฮินดูเพื่อนร่วมศาสนา เขาต้องทนกล้ำกลืนต่อการดูถูกเหยียบหยามจากเพื่อนร่วมแผ่นดิน แต่ด้วยน้ำเมตตาจากครูผู้ประเสริฐท่านหนึ่ง ได้ทำการเปลี่ยนนามสกุลให้แก่พิม มาใช้นามสกุล “เอ็มเบ็ดก้าร์” ซึ่งเป็นนามสกุลของวรรณะพราหมณ์ จากวันนั้นเขาก็ยังต้องต่อสู้ อดทนกล้ำกลืนเรื่อยมา และด้วยชะตากรรมของวีรบุรุษท่านนี้ที่จะได้กลับมาเกื้อกูลของมวลประชาชนชาวอินเดียทุกชนชั้น วรรณะ เอ็มเบ็ดการ์ได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ เขาพากเพียร ร่ำเรียนจนสามารถคว้าปริญญาเอกจนได้ และบัดนี้ชายอธิศูทร คนนอกวรรณะได้พร้อมแล้วที่จะกลับมาช่วยพี่น้องอธิศูทรของเขาให้ต่อต้านการเหยียดหยามจากคนวรรณะอื่น และเพื่อก้าวไปสู่การเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษในที่สุด.

บัดนี้ เอ็มเบ็ดการ์ได้ตัดสินใจยึดเอาอาชีพเป็นนักกฎหมาด้วยเหตุผลว่า อาชีพนี้จะเป็นโอกาสได้ช่วยเหลือรับใช้ประชาชน โดยเฉพาะพวกอธิศูทรที่ถูกทอดทิ้ง เขาจะได้เป็นปากเสียงแทนบุคคลที่น่าสงสารเหล่านี้ในแง่กฎหมาย แต่เขาก็รู้ว่าการว่าความกฎหมายไม่ได้ราบรื่นนัก เพราะบรรยากาศรอบๆ ศาล ทำให้เขาต้องต่อสู้ทุกลมหายใจ ไม่ว่าจะเป็นเวลาว่าคดีหรือนอกเวลา เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ส่วนมากเป็น พวกพราหมณ์ แต่เขาก็ไม่ได้ท้อแท้ใจ เพราะเขารู้อยู่เสมอว่า งานทุกอย่างจะสำเร็จลงได้ด้วยดีก็ด้วยความานะพยายาม งานทุกอย่างต้องมีอุปสรรค ที่ใดขาดอุปสรรค ที่นั่นก็หาสมรรถภาพไม่ได้

ในตอนนั้น พวกอธิศูทรหรือพวกนอกวรรณะ ได้รับอิทธิพลทั้งภายนอกและแรงผลักดันจากภายใน ทำให้พวกเขาต้องตื่นตัวที่จะพัฒนาตัวเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมเพื่อจะอยู่รอดให้ได้ ทั้งนี้การขยายตัวทางการศึกษาและการพัฒนาด้านการคมนาคม เป็นปัจจัยให้พวกอธิศูทรมีโอกาสเดินทางและศึกษาเรื่องราวในที่ต่าง ๆ ได้มากขึ้น ปัญญาของพวกเขาก็ก้าวหน้าขึ้น ความรู้สึกนึกคิดทางชาตินิยมก็ได้ก่อตัวขึ้นทีละน้อย ๆ

อีกประการหนึ่ง โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้เริ่มสร้างขึ้นในอินเดีย ตั้งแต่ปลายสงครามโลกครั้งที่ ๑ เรื่อยมา โรงงานเหล่านั้นต้องการกรรมกรจำนวนมาก พวกชนชั้นต่ำก็ได้มีโอกาสเข้าทำงานและมีรายได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ช่วยปรับปรุงฐานะของตัวเองให้ดีขึ้นได้ อันสืบเนื่องมาจากผลของสงครามโลกครั้งนั้น

คลื่นกระแสแห่งความนึกคิดในหลักประชาธิปไตยก็ได้กระจายไปทั่วโลก และอิทธิพลความนึกคิดนี้ได้แพร่ไปสู่ประชาชนชาวอินเดียเหมือนกัน พวกเขาได้ตื่นตัวเกี่ยวกับเสรีภาพ เริ่มพากันเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ผู้นำชาวอินเดียทั้งหลายในสมัยนั้นทราบและตระหนักดีว่า

การที่อังกฤษเข้าไปมีอำนาจปกครองอินเดียอันเป็นประเทศใหญ่กว่าและมีพลเมืองมากกว่าตั้งหลายเท่านั้น ก็เพราะประชาชนชาวอินเดียขาดความสามัคคีกัน แยกกันเป็นก๊กเป็นเหล่า อันความแตกสามัคคีกันภายในชาตินั้นเป็นภัยร้ายแรงอย่างนี้

ผู้นำชาวอินเดียจึงเริ่มงานด้วยการปฏิรูปทางสังคม ปลุกใจให้ชาวอินเดียมีความรักชาติความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่งานของนักปฏิรูปสังคมเหล่านั้นดำเนินไปไม่สู้ได้ผลนัก เพราะความเห็นแก่ตัวของพวกวรรณะสูงยังมีมาก บัดนี้พวกอธิศูทรได้รู้แล้วว่า พวกเขามีสภาพเหมือนทาสในสายตาของเพื่อนร่วมชาติในวรรณะอื่น และความเป็นทาสนี้จะหมดไปได้ มิได้ขึ้นอยู่กับการรอคอยนักบุญผู้มีใจปรานีมาช่วยกำจัด แต่ขึ้นอยู่กับการรู้จักรักษาผลประโยชน์และสิทธิของตนเอง ของบุคคลผู้ได้รับทุกข์

อันวิสัยทั่ว ๆ ไปของมนุษย์ ถ้าเห็นผู้อื่นอ่อนข้อให้ก็มักได้ใจและยิ่งรังแกผู้อ่อนกว่า แต่พอผู้นั้นเริ่มต่อสู้ ต่อต้านบ้าง อีกฝ่ายก็จะอ่อนข้อลงไปเอง เอ็มเบ็ดการ์จึงคิดว่า เขาจะต้องปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมอินเดียเสียใหม่ และจะต้องทำให้สำเร็จ ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๔๖๗เขาได้เริ่มงานปฏิรูปสังคมเพื่อยกระดับพวกอธิศูทร โดยได้จัดให้มีการประชุมขึ้นที่เมืองบอมเบย์ในเดือนมีนาคม

แต่การประชุมเพื่อองค์กรช่วยเหลืออธิศูทร ตัวแทนกลับเป็นคนในวรรณะอื่นที่ไม่เข้าใจถึงสิ่งที่ชาวอธิศูทรได้รับจากคนต่างวรรณะ ด้วยเหตุนี้ เอ็มเบ็ดการ์จึงไม่อยากร่วมมือกับขบวนการหรือองค์การอื่นๆ ที่จะดำเนินงานปฏิรูปสังคมของเขา เขาคิดว่าอธิศูทรเท่านั้นย่อมจะรู้จักถึงความระทมทุกข์ของอธิศูทรได้อย่างถูกต้อง ฉะนั้น อธิศูทรเท่านั้นควรทำงานเพื่ออธิศูทร เอ็มเบ็ดการ์ต้องการให้พวกอธิศูทรเกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง และให้เข้าใจกับคำว่า “การช่วยเหลือ” ซึ่งมี ๒ แบบ แบบหนึ่งคือการได้รับการช่วยเหลือจากผู้อื่น อีกแบบหนึ่งช่วยเหลือด้วยตัวเองซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

พิจารณาให้ดีจะพบว่า นักปฏิรูปสังคมทั้งหลายได้ดำเนินงานไปเพื่อต่อต้านการปกครองของต่างด้าวโดยอาศัยการสนับสนุนจากชนชั้นต่ำเป็นเครื่องมือ มากกว่าที่จะทำงานเพื่อชนชั้นต่ำหรือเพื่อปฏิรูปสังคมอย่างจริงจัง

Thursday, June 28, 2007

บทความที่ ๑๗๘. รัฐบรุษผู้ไร้แผ่นดิน ตอนที่ ๕ (จบ)

รัฐบุรุษผู้ไร้แผ่นดิน (จบ)
อาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล

ความกล้าหาญความเด็ดเดี่ยวที่(ท่านอาจารย์ปรีดี)ไม่เอาผลประโยชน์ส่วนตัวเหนือผลประโยชน์ส่วนรวมนั้น จนถึงสงครามโลกตอนนั้นท่านอาจารย์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ท่านจะต้องทำงานที่เราเรียกว่า เป็นขบวนการใต้ดินเพื่อจะต่อสู้กับญี่ปุ่น เพราะว่าญี่ปุ่นมายึดครองประเทศ โชคดีว่าญี่ปุ่นนั้นยอมแพ้สงครามก่อนที่จะเกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายเสรีไทยกับฝ่ายญี่ปุ่นในประเทศ เพราะฉะนั้นก็มีคนพูดว่าทำให้หญิงไทยพ้นจากการเป็นหม้ายไปหลายพันคน

แต่ช่วงระหว่างปี ๒๔๘๔ ถึง ๒๔๘๘ เราลองนึกภาพในเวลา ๔ ปี ต้องทำงานที่จะสู้กับญี่ปุ่นอย่างใต้ดิน มันจะต้องเกิดความเครียดความวิตกกังวลสักแค่ไหน ถ้าได้อ่านจดหมายส่วนตัวและก็ได้คุยกับบุคคลที่ร่วมในขบวนการเสรีไทย เราก็จะรู้สึกว่านี่ไม่ใช่เป็นเรื่อง ง่าย ๆที่ใครจะตัดสินใจที่จะอุทิศ นี่จะต้องเป็นการยอมอุทิศชีวิตเพื่อประเทศชาติ

และก็มีหลาย ๆ ครั้ง เกี่ยวกับญี่ปุ่น ซึ่งมันเกิดขึ้นในอินโดจีน เชิญพวกที่จะต่อต้านญี่ปุ่นไปกินเลี้ยง แล้วก็จัดการสั่งเก็บเสียให้หมด ผมยกกรณีที่จะแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงและเด็ดเดี่ยวของท่านอาจารย์

เอาอีกกรณีที่เป็นกรณีส่วนตัว ผมเองเคยท้อถอยเกี่ยวกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย สิ่งนี้ผมอาจจะมีความรู้สึกร่วมกันหลาย ๆ คนก็ได้ว่า ทำไมมันถึงไม่เป็นอย่างที่มันควรจะเป็น ทำไมมันเป็นยังงี้ เราจะทำอะไรดี ผมเคยพูดกับท่านอาจารย์ด้วยน้ำเสียงของความท้อถอย ท่านอาจารย์เหมือนกับโกรธนิด ๆ ว่า นี่คุณยอมแพ้แล้วหรือ คุณท้อถอยแล้วหรือ ตอนที่ท่านพูดนั้นท่านอายุ ๗๐ ปลาย ๆ พูดกับผมเมื่อยังอายุไม่ถึง ๓๐ มันน่าอายสำหรับคนหนุ่ม ๆ ที่จะให้คนแก่ขนาดอายุ ๗๐ ตักเตือนถึงความจะไม่ท้อถอย ความจะต้องเอาจริงเอาจังต่อไปเพื่อส่วนรวมผมยังอายท่านจนถึงบัดนี้

ผมมีความรู้สึกร่วมกับอาจารย์วิชิตวงศ์ ที่รู้สึกว่าเวลาคุยกับท่านอาจารย์แล้วรู้สึกเหมือนเด็ก ว่าไม่รู้อะไรเลย ผมขอเล่าเรื่องส่วนตัวนิดหนึ่ง เมื่อสมัยที่ผมเรียนทางสังคมศาสตร์ใหม่ ๆ นี่ทำเป็นนักดาบหนุ่มทั้ง ๆ ที่ว่าเรียนเพลงดาบมาไม่กี่เพลง ทำเป็นนึกว่าตัวเองรู้แล้ว เก่งแล้ว เหมือนกับสุภาษิตไทยว่า “รู้น้อยว่ารู้มากเริงใจ” ก็ไปพบกับท่านอาจารย์ปรีดี ผมก็ “ปะทะคารม” เพราะอยากจะดูสิว่าปรีดี พนมยงค์ที่มีชื่อเสียงหนักหนานั้นจะสักแค่ไหน ตอนนั้นอายุ ๒๕ ได้กระมัง ลองวาดภาพถ้าเกิดใครดูหนังจีนบ่อย ๆ นักดาบที่ไม่เป็นเพลง ไม่เป็นอะไรเลย เป็นแต่เบื้องต้น เข้าไปท้าฟันดาบกับปรมาจารย์ผู้งำประกาย บนยอดภูเขานักดาบวัยเยาว์นี่ก็รำเพลงกระบี่ เพลงดาบเสียใหญ่โต ท่านอาจารย์เพียงโบกชายแขนเสื้อเบา ๆ เท่านั้น นักดาบหนุ่มก็ถูกพลังลมหอบกลิ้งลงเขาอย่างไม่เป็นท่า ประสบการณ์ครั้งนั้นสอนให้ลดความโอหังและคิดว่าตัวเองรู้ ลงมาอีกหลาย ๆๆ เท่า และจำได้ว่าหลังจากพบท่านครั้งนั้นแล้ว ต้องกลับไปอ่านหนังสืออีกหลาย ๆ เล่ม

พร้อมกับพบท่านอาจารย์ครั้งต่อไป ต้องกลับมาอ่านหนังสืออีกหลาย ๆ เล่ม ทุกครั้งไป อันนี้พูดด้วยฉันทาคติ ผมรับตั้งแต่แรกว่าพูดด้วยฉันทาคติแต่ว่าเป็นฉันทาคติที่เป็นหลักฐานที่ปฏเสธไม่ได้ คือ ข้อเขียนของท่านต่าง ๆ ในด้านเกี่ยวกับกฎหมาย กฎหมายตราสามดวงที่ท่านชำระ กฎหมายพาณิชย์ที่ท่านมีส่วน กฎหมายปกครอง ในฐานะนักปรัชญา มีหนังสือที่ผมว่านักศึกษาอาจจะได้อ่านหรือน่าจะอ่าน “ความเป็นอนิจจังของสังคม”งานเหล่านี้เป็นงานสร้างสรรค์ที่ไม่ได้ลอกมาจากที่อื่น ขอใช้ภาษาอังกฤษว่าเป็น “Original” ในฐานะเป็นนักประวัติศาสตร์ หนังสือเล่มสุดท้ายที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ท่านเขียน “เรื่องมหาราชและรัตนโกสินทร์” ท่านที่ได้อ่านแล้วคงเห็นภูมิปัญญาที่มีความรู้ลึกซึ้งขนาดไหนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยา และต้นรัตนโกสินทร์ ที่พิมพ์เป็นเล่มนี้เป็นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีไทย(พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) แต่พณฯนายกไม่ได้ตอบนะ.

บทความที่ ๑๗๗. รัฐบุรุษผู้ไร้แผ่นดิน ตอนที่ ๔

รัฐบุรุษผู้ไร้แผ่นดิน
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อภิปราย

สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ผมจะพูดน้อย เพราะในบรรดาท่านที่พูดมาผมรู้จักท่านปรีดีน้อยที่สุด แต่สิ่งที่ผมพูดน้อยผมเชื่อว่าสำคัญ เพราะผมจะสรุปผลงานและชีวิตท่านปรีดี กล่าวโดยสรุปชีวิตและผลงานท่านปรีดีลงมาประเด็นเดียวครับท่านดำรงชีวิตและต่อสู้เพื่อธรรม ขอให้สังเกตชื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ธรรมที่เป็นหัวใจของท่าน แล้วคนที่ไม่เข้าใจธรรมจะไม่เข้าใจท่าน ท่านต้องการล้มล้างระบบสมบูรณาญาสิทธิราชนะครับ ไม่ใช่ท่านไม่ต้องการ พระมหากษัตริย์ ท่านต้องการแต่กษัตริย์ต้องอยู่ใต้กฎหมาย ท่านเคารพเจ้านายหลายองค์ พระปกเกล้าท่านก็เคารพ ในฐานะที่ท่านเป็นมนุษย์ ในฐานะที่เป็นคนมีคุณงามความดี แต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชซิครับต้องทำลาย (เสียงปรบมือ)

และเวลานี้มีการคิดถอยหลังเข้าคลอง เอาสมบูรณาญาสิทธิราชกลับมาอีก (เสียงปรบมือ) มีอำนาจแฝงเร้น มีอำนาจลึกลับ มีเด็กฝาก นี่คือสัญลักษณ์ของสมบูรณาญาสิทธิราช (เสียงปรบมือ)การต่อสู้เพื่อธรรมะของท่านปรีดีนั้นต้องเข้าใจนะครับ ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบคืออะไร คือ สัจธรรม ท่านต้องการความสัตย์และชีวิตของท่านเป็นแบบอย่างของความซื่อสัตย์ ทำไมครับถึงมีการบิดเบือนความสัตย์ กรณีสวรรคตเป็นกรณีตัวอย่างของการบิดเบือนความสัตย์ และท่านปรีดีชนะมาทุกศาล เท่าที่มีการฟ้องในกรณีสวรรคต ทุกศาลที่รับฟ้องท่านชนะ แต่ก็มีการบิดเบือนด้วยเหตุใด ? เพราะประเทศไทยเวลานี้ปกครองด้วยพวกอสัตย์และอธรรม (เสียงปรบมือ)

ท่านทั้งหลาย นิสิตนักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ ท่านจะยอมให้อธรรมปกครองบ้านเมืองต่อไปได้หรือไม่ ผมอยากให้ท่านกลับไปย้อนอ่านบทความท่านปรีดี พนมยงค์นะครับ เรื่องเจตนารมณ์ ๑๔ ตุลา สิบปีพอดีนะครับ ปีนี้ ๑๔ ตุลา ซึ่งมีการสัญญากับนักศึกษาและเยาวชนไว้ว่าจะมีอนุสาวรีย์ให้วีรชน แต่ก็ไม่มี สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์บิดเบือน บิดพริ้ว อสัตย์ (เสียงปรบมือ)

เราจะยอมได้ไหมครับ ท่านปรีดีท่านไปสู่สุคติแล้ว ท่านทำวีรกรรมไว้ ชีวิตของท่านเป็นแบบอย่างของธรรม ของสัจจะ แต่เราถูกอสัตย์และอธรรมครอบงำอยู่ เราจะต้องเรียกร้องให้ได้มาซึ่งสัจจะและธรรม นี่เป็นภาระหน้าที่ของเราครับ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย (เสียงปรบมือ)

Tuesday, June 26, 2007

บทความที่ ๑๗๖. รัฐบุรุษผู้ไร้แผ่นดิน ตอนที่ ๓

ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร อภิปราย (ต่อ)
ตอนที่ ๓ ท่านปรีดี ช่วยเหลือในการตั้งห้องสมุดกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

อีกเรื่องนะครับ เป็นเรื่องสั้น ๆ พระนิพนธ์ท่านหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล พระธิดาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ ท่านรู้จักหอสมุดดำรงฯใช่ไหมครับ หอสมุดที่รวมงานหนังสือต่าง ๆ ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล ท่านเขียนเรื่องเกี่ยวกับหอสมุดกรมพระยาดำรงฯไว้ดังนี้

“เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ เราได้กลับมาจากปีนัง เพราะเสด็จพ่อไม่ทรงสบายเป็นโรคพระหฤทัยพิการ เสด็จพ่อให้ไปเฝ้า ข้าพเจ้าเดินเข้าไปเฝ้าในห้องหนังสือ ท่านก็ชี้เก้าอี้ข้างพระองค์บอกให้นั่งลงก่อน

แล้วท่านก็มองหนังสือรอบ ๆ ห้อง แล้วก็ก้มลงมองพระบาทของท่านที่กำลังบวมอยู่ ท่านถามว่าจะทำอย่างไรกับหนังสือของพ่อ ข้าพเจ้าทูลว่า จัดเป็นห้องค้นคว้าต่อที่ทรงทำไว้ แต่ยังไม่ทราบว่ารัฐบาลจะรับหรือไม่ และทำอย่างไรถึงจะไม่ให้หายได้ แต่ไม่เป็นไรถ้าที่นี่ยังทำไม่ได้ หม่อมฉันจะให้หอสมุดที่ยุโรปหรืออเมริกาไปก่อน เมื่อคนไทยเห็นคุณค่าเมื่อใดก็ไปจัดการเอามาแล้วกัน

ท่านมองดูข้าพเจ้าแล้วตรัสว่า อย่าลืมซีเราเกิดมาเป็นไทย ข้าพเจ้าทูลว่า ก็ถูกแล้ว แต่ถ้าเขาไม่ต้องการ หม่อมฉันก็จะยัดเยียดให้ไม่ได้ อย่างไรก็ตามหม่อมฉันมีชีวิตอยู่จะทำงานนี้ให้ได้ ท่านก็หันมามองข้าพเจ้า ถามว่า “แน่หรือ” ข้าพเจ้าทูลว่า “แน่” แล้วก็ร้องไห้โฮ

ทีนี้ต่อมาวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๘๖ เสด็จพ่อก็ทรงทิ้งให้ข้าพเจ้านั่งกับพระโกศตลอดวัน เสียงบอมบ์เสียงอพยพกันทั่วกรุงเทพฯ เราก็คอยนั่งยกพระโกศ และคอยดับระเบิดไฟในเวลาจำเป็นอยู่เช่นนั้น ในระยะนั้นเองน้องชายข้าพเจ้ากลับจากทำงานมาบอกว่า มร.มัสซึโมโต คนสถานทูตญี่ปุ่นมาถามว่า เรื่องห้องสมุดของเสด็จพ่อนั้นจะทำอย่างไรกัน เธอได้บอกไปว่าเป็นเรื่องของพี่สาวคนเดียว อีก ๒-๓ วันต่อมาก็มาบอกอีกว่ารัฐบาลญี่ปุ่นต้องการมากทีเดียว และทำท่าว่าจะเรียกเอาเท่าไรก็ได้ ข้าพเจ้าร้องไปว่า “เอ..ถ้าเขาร้องขอซื้อห้องสมุดเซโนเอบ้างจะขายมั๊ยเล่า ?”

น้องชายได้บอกไปแล้วว่า พี่จะทำห้องสมุดดำรงฯ ต่อมาน้องชายก็กลับมาบอกอีกว่าวันนี้เขาพบกับญี่ปุ่น เขาขอโทษว่า เขาเสียใจที่ได้มาพูดห้องสมุดของเสด็จพ่อ เขาไม่มีเจตนาจะดูถูกเลย

ญี่ปุ่นก็มา ท่านก็บอกเขาเถิดว่าฉันจะให้ชาติของฉัน ถ้าญี่ปุ่นต้องการเรียนก็มาเรียนที่นี่ได้ แต่เวลานี้ยังคิดทำอะไรไม่ได้เพราะบอมบ์อึกทึกนัก คุยกันสักครู่เขาก็กลับไป ๒-๓ วันต่อมาท่านปรีดี พนมยงค์ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้คนมาบอกข้าพเจ้าว่า เรื่องห้องสมุดของเสด็จพ่อนั้นท่านปรีดีเห็นว่าควรเป็นของชาติ ขอให้ข้าพเจ้าไตร่ตรองให้ดี และอยากให้ข้าพเจ้าทำเป็นเล่ม ๆ ออกเป็นรายเดือน ข้าพเจ้าตอบขอบคุณแล้วบอกว่าจะเอาไว้บอกกับท่านเองเมื่อได้พบกัน

ครั้นถวายพระเพลิงศพเสด็จพ่อแล้ว ข้าพเจ้าก็ขนหนังสือที่หาไม่ได้แล้วใส่หีบไปไว้ที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ กับพระอังคาร เผอิญท่านปรีดีเชิญสมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้าและพระราชวงศ์ให้อพยพไปประทับที่พระราชวังบางปะอิน และตัวท่านเองก็ออกไปเฝ้าเยี่ยมทุกวันเสาร์

เช้าวันอาทิตย์หนึ่งท่านปรีดีกับท่านผู้หญิงข้ามฝากไปเยี่ยมพระอังคารเสด็จพ่อ และแวะมาเยี่ยมข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าจึงมีโอกาสได้ขอบคุณท่านปรีดีที่ได้แนะนำเรื่องหนังสือของเสด็จพ่อ ตรงกับความตั้งใจของข้าพเจ้าเพราะข้าพเจ้าก็ลำบากใจไม่รู้จะตั้งต้นบอกกับใครดีว่า หนังสือของพ่อฉันก็ควรจะเป็นสมบัติของชาติ ท่านปรีดีรับว่าจะช่วยเมื่อถึงเวลาที่ควรทำ แล้วก็ช่วยจริง ๆ ตั้งแต่บอกกับรัฐบาลจนสำเร็จเป็นรูปขึ้นจนบัดนี้”

บทความที่ ๑๗๕. บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง ตอนที่ ๙ (จบ)

บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง
แผนลิดลอนปรีดี พนมยงค์
ตอนที่ ๙. สัตบุรษคืนแผ่นดิน (จบ)

"ข้าพเจ้ารู้สึกว่าความยุติธรรมหนีความยุติธรรมไม่พ้น ความยุติธรรม ต้องเป็นความยุติธรรมเพราะฉะนั้นจะต้องกระจ่างแจ้งออกมา ให้แลเห็นชัดในวันหนึ่ง"
พระยาพหลพลพยุหเสนา


ในคำปรารภของ พ.ร.บ. ให้ยกเลิกกฤษฎีกาที่ให้ปิดสภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า “โดยที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า โดยที่คณะรัฐมนตรีมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นายกรัฐมนตรี ได้ทูลเกล้าถวายคำปรึกษาให้ประกาศพระราชกฤษฎีกา ลงวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๖ และรับสนองพระบรมราชโองการปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยมิต้องอาศัยอำนาจในรัฐธรรมนูญประการใด ซึ่งทำให้เสื่อมทรามความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญ พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีใหม่ พร้อมด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน จึงต้องจัดการให้คณะรัฐมนตรีชุดเก่าลาออกไป เพื่อเป็นทางที่จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เปิดสภาผู้แทนราษฎร”

นายฟัก ณ สงขลา ส.ส.จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้เสนอให้คณะกรรมการสอบสวน นายปรีดี พนมยงค์ ตามข้อกล่าวหาของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ สภาฯ ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ประกอบด้วย หม่อมเจ้าวรรณ ไวทยากร วรวรรณ พระยานลราชสุวัจน์ พระยาศรีสังกร และที่ประชุมสภายังได้อนุมัติให้เซอร์โรเบิต ฮอลแลนด์ กับมองซิเออร์กียอง มาเป็นผู้ชำนาญสำหรับกรรมาธิการสามัญคณะนี้จะได้ซักถาม

เมื่อคณะกรรมาธิการได้พิจารณาเสร็จแล้วได้รายงานให้สภาทราบว่าคณะกรรมาธิการสามัญได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า นายปรีดี พนมยงค์ ไม่มีมลทินเป็นคอมมิวนิสต์ ดังที่ถูกกล่าวหาเลย สภาจึงได้ลงมติเห็นชอบตามที่กรรมาธิการเสนอ

ต่อจากนั้น พระยาพหลพลพยุหาเสนา นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อที่ประชุมสภาว่า

เรื่องที่หลวงประดิษฐ์ฯ ต้องหานี้ ที่จริงข้าพเจ้ารักษาเป็นความกลางไว้ ข้าพเจ้ารู้ดีในเรื่องเหล่านี้ แต่ข้าพเจ้าไม่อยากจะแสดงออกไปให้มหาชนเห็นว่าข้าพเจ้าเข้าข้างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือข้าพเจ้ามีใจโอนเอียงไปในทางนั้น ข้าพเจ้าจึงปกปิดความเอาไว้ในใจให้เป็นไปในทางที่บริสุทธิ์

ดีที่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าความยุติธรรมหนีความยุติธรรมไม่พ้น ความยุติธรรม ต้องเป็นความยุติธรรม

เพราะฉะนั้นจะต้องกระจ่างแจ้งออกมา ให้แลเห็นชัดในวันหนึ่ง
ถึงข้าพเจ้าจะรู้เต็มใจ ข้าพเจ้าก็ไม่ขยายให้แลเห็นไรฟัน ที่ท่านจะแลเห็นวันที่หลวงประดิษฐ์ฯ ไปจากพระนครในเวลาที่ลงเรือ ข้าพเจ้าไปส่ง ข้าพเจ้าได้แสดงกิริยาอะไร หนังสือพิมพ์ลงแล้ว ทำไมข้าพเจ้าจึงแสดงกิริยาอย่างนั้น เพราะข้าพเจ้ารู้เต็มใจว่าไม่เป็นไปดังนั้น เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงกล้าทำตัวว่าจะมีใครมาฆ่าข้าพเจ้าตาย ข้าพเจ้าก็ยอมตายเพื่อแสดงให้แลเห็นจริงใจว่าคนดี ๆ แล้ว ก็เป็นไปเสียอย่างนั้น...แต่เพราะเหตุว่าคนไม่ผิดและคนดี ๆ แท้ ๆ แต่ทว่าพูดไม่ออกถูกเอาดินหม้อทาหน้าเพราะฉะนั้นข้าพเจ้านิ่งไว้จนให้มหาชนแลเห็นให้ขาว ฯลฯ”

หลังจากการประชุมสภาแล้ววันนั้นสมาชิกทั้งประเภทที่ ๑ และประเภทที่ ๒ ได้ร่วมกันจัดให้มีการเลี้ยงแสดงความยินดีต่อนายปรีดี พนมยงค์ ที่สภาได้ลงมติเห็นชอบกับความเห็นของคณะกรรมาธิการ ที่ว่าหลวงประดิษฐ์ มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)ไม่มีมลทินมัวหมอง ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

เรียบเรียงจาก “แผนลิดลอนปรีดีฯ”
ประจวบ อัมพะเศวต ธ.บ.ศิษย์ ต.ม.ธ.ก รุ่น ๒ อดีตประธานนักศึกษา มธก.เคยรับราชการที่กระทรวงการคลัง และ รพช.เป็นนักเขียนอิสระ

บทความที่ ๑๗๔. บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง ตอนที่ ๘

บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง
แผนลิดลอนปรีดี พนมยงค์
ตอนที่ ๘. ยึดอำนาจคืนสู่สภา

พระยาพหลฯ ได้เดินทางไปราชการต่างจังหวัดก่อนที่จะมีการสั่งปิดสภา และเมื่อกลับมาแล้วได้ขอร้องให้พระยามโนฯ เปิดสภาหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ เห็นว่าจะอยู่ร่วมคณะต่อไปก็เสื่อมเสีย จึงลาป่วย

ต่อมาราว ๒ อาทิตย์ พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเนย์ พระประศาสน์พิทยายุทธ ได้ปรึกษาหารือกับพระยาพหลฯ ให้ลาออกจากราชการทหารและกรรมการราษฎร (รัฐมนตรี)ด้วยกัน

การลาออกครั้งนี้ พระยาพหลฯ ประสงค์จะลองพระทัยพระปกเกล้าฯ ว่าถ้าไม่เห็นด้วยก็จะรับสั่งและเรียกไปสอบถาม แต่ปรากฏว่าทรงอนุญาตให้ลาออกเลยทีเดียว แล้วทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งพระยาพิชัยสงคราม เป็นรัฐมนตรีและรักษาการณ์ผู้บัญชาการทหารบก ให้พระยาศรีสิทธิสงครามเป็นรัฐมนตรีและรักษาการเจ้ากรมยุทธการทหารบก

นับจากที่พระยามโนฯ ทำการยึดอำนาจแล้ว ได้มีตำรวจมาล้อมอยู่รอบ ๆ บ้านทำให้พระยาพหลรู้สึกว่าจะต้องมีภัยแน่ จะหนีไปก็ไม่ได้ เพราะมีเงินติดตัวแค่ ๒๗ บาท พระยาพหลได้เชิญหลวงชำนาญยุทธศิลป์กับหลวงอำนวยสงครามมาที่บ้าน เล่าเรื่องให้ฟังและต่อมาได้ตาม หลวงพิบูลสงคราม(แปลก พิบูลสงคราม) มาเล่าเรื่องให้ฟัง หลวงพิบูลสงครามบอกว่ารู้เรื่องหมดแล้ว และจะต้องยึดอำนาจการปกครองคืน เป็นการปราบปรามการต่อต้านการปฏิวัติ แต่พระยาพหลฯ จะต้องยอมรับเป็นผู้นำทำการยึดอำนาจ

เช้าตรู่วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๔๗๖ คณะนายทหารภายใต้การนำของพระยาพหลฯ หลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ก็ได้เข้ายึดอำนาจการปกครอง ซึ่งได้เตรียมการไว้ตั้งแต่คืนวันที่ ๑๙ เมษายน

ประกาศแถลงการณ์ในนามของพระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงพิบูลสงคราม เลขานุการฝ่ายทหารบก และหลวงศุภชลาศัย เลขานุการฝ่ายทหารเรือ เป็นการยึดอำนาจคืนจากฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติเพื่อให้คืนสู่สภาพเดิมก่อนวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๖ รวมเป็นเวลา ๘๐ วัน ที่อธิปไตยของไทยต้องตกไปอยู่ในระบอบเผด็จการจึงได้กลับคืนสู่ประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง

พอ ๗ โมงเช้าเศษ น.อ.พระยาศราภัยพิพัฒน์ โดดลงจากรถอย่างรีบด่วน กระหืดกระหอบเรียนเจ้าคุณมโนฯ ให้หนีเข้าไปอยู่ในความคุ้มกันของสถานทูตอเมริกันซึ่งอยู่เบื้องหน้า โดยได้ติดต่อโทรศัพท์ไว้แล้ว ทางสถานทูตเขาไม่ขัดข้องให้รีบไปเสียเดี๋ยวนี้ขือรอช้าไปพวกก่อการจะมารวบตัวไป

ในตอนเช้าเวลา ๐๙.๐๐ น. ขบวนการรถรบ และรถบรรทุกในความควบคุมของหลวงกาจสงคราม หลวงสังวรยุทธกิจ และ ร.อ.ทวน วิชัยขัตคะ ก็เข้าไปที่บ้านพระยามโนปกรณ์นิติธาดา โดยมี ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ซึ่งเป็นเลขานุการนายกรัฐมนตรี ออกมาคอยต้อนรับเชิญขึ้นบ้าน พระยามโนฯ คอยอยู่ในห้องรับแขกพร้อมด้วยพระยาศรีวิสารวาจา และพระยาราชวังสัน นายทหารทั้งสามทำความเคารพแล้วนั่งลง

หลวงกาจสงครามได้กล่าวอย่างนอบน้อมว่า คณะนายทหารมีความประสงค์จะเปิดสภาผู้แทนราษฎร และมีความจำเป็นที่จะขอร้องให้ใต้เท้าและคณะรัฐบาลลาออก”

พร้อมกับยื่นหนังสือพระยาพหลฯให้ ซึ่งมีข้อความตอนท้ายว่า “ฉะนั้นเพื่อเห็นแก่อิสรภาพและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง คณะทหารบก ทหารเรือและพลเรือน จึงใคร่ให้ใต้เท้าซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงเปิดสภาผู้แทนราษฎร และเลือกตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ต่อไป แต่ถ้าหากการนี้ขัดข้อง ไม่สามารถดำเนินไปในทันทีดังที่กราบเรียนคณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนจะได้เชิญกระผม นายพันเอกพระพาพหลพลพยุหเสนามาเป็นผู้รักษาการพระนคร บริหารราชการแผ่นดินสืบไป”

พระยามโนฯตอบว่า “ได้ทำใบลาออกไว้ตั้งแต่เมื่อคืนนี้แล้วโปรดรับใบลาออกไปเสนอคุณหลวงพิบูลสงครามด้วย”

ข้อความหนังสือพระยามโนฯ มีว่า

“ผมและคณะรัฐมนตรีได้รับหนังสือของเจ้าคุณลุงวันนี้ ขอให้ผมลาออกจากนายกรัฐมนตรีนั้น ได้ทราบแล้วผมและคณะรัฐมนตรีขอลาออกจากตำแหน่งและจะโทรเลขกราบบังคมทูลวันนี้”

แล้วแต่ละโปรดพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

เหตุการณ์คลี่คลายลง เมื่อผู้แทนราษฎรจำนวน ๒๖ คน ยื่นคำร้องต่อเจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้นำความกราบบังคมทูลให้ประชุมวิสามัญสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้เปิดสภาในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๔๗๖

นอกจากนี้คณะทหารยังได้มีหนังสือกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ทรงทราบสถานการณ์ พระปกเกล้าฯได้สั่งแต่งตั้งให้พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีแทนพระยามโนฯ ที่ลาออกไป พระยาพหลฯ เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็รีบเชิญ นายปรีดี พนมยงค์ กลับสู่ประเทศไทย พร้อมกลับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีในคณะของตน

แต่นายปรีดีฯ ไม่ยอมรับตำแหน่ง จนกว่าจะได้สอบสวนว่าตนมีความผิดหรือไม่มีความผิดในข้อหาคอมมิวนิสต์ และได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี

ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรก็ได้เปิดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อความถูกต้องในทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ก็ได้มีพระราชบัญญัติให้ยกเลิกกฤษฎีกาที่ให้ปิดสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๖ ประกาศใช้ต่อไปอีก เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๖

บทความที่ ๑๗๓. บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง ตอนที่ ๗

บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง
แผนลิดลอนปรีดี พนมยงค์
ตอนที่ ๗. ท่านปรีดี เดินทางออกไปนอกประเทศ

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ให้นายปรีดี พนมยงค์ไปพบทีวังปารุสกวัน และขอร้องแกมบังคับให้นายปรีดีฯ เดินทางออกไปนอกประเทศ โดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยโดยรัฐบาลจะออกค่าใช้จ่ายระหว่างอยู่ในต่างประเทศให้ปีละ ๑,๐๐๐ ปอนด์ ซึ่งนายปรีดีฯ ไม่มีทางเลือก จึงต้องยอมเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส

ครั้นถึงวันที่นายปรีดีฯ จะต้องเดินทางออกแผ่นดินไทย ในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๗๖ วันนั้นที่ท่าเรือบีไอ ฝูงชนได้พากันชุลมุนกันอย่างคับคั่งโดยไม่ต้องมีใครไปกะเกณฑ์มีทั้งนักการเมืองระดับรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการ พ่อค้าประชาชนและแม้กระทั่งภิกษุสามเณรและลูกเสือ

รายงานข่าวหนังสือพิมพ์หลักเมือง ฉบับวันที่ ๑๓ เมษายน รายงานว่า

“ความที่ประชาชนไปชุมนุมกันอย่างมากมาย ณ ท่าเรือแห่งนั้น ทำเอาบริษัทตกใจกลัวว่าทรัพย์สินจะเสียหายอันเนื่องมาจากการเบียดเสียดของฝูงชน จึงให้คนยามปิดประตูเสีย จนเกิดต่อล้อต่อเถียงกันขึ้นระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่บริษัทถึงกับจะใช้กำลังปะทะกันทีเดียว แต่เรื่องก็เรียบร้อยลงได้เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนา ขอร้องให้บริษัทเปิดประตูให้ประชาชนเข้าไปส่งนายปรีดีฯ ได้ถึงท่าเรือโดยท่านรับรองจะใช้ค่าเสียหายให้บริษัทถ้าหากมีความเสียหายเกิดขึ้น”

หนังสือพิมพ์หลักเมืองยังได้รายงานว่า ประชาชนที่หลั่งไหลไปส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมที่ท่าเรือ บีไอวันนี้ไม่ต่ำกว่า ๓-๔ พันคน ในจำนวนนี้มีบุคคลขั้นรัฐมนตรีหลายท่าน เช่น พระยาพลพลพยุหเสนา พระยามานวราชเสวี หลวงศุภชลาศัย หลวงพิบูลสงคราม นายแนบ พหลโยธิน นายตั้ว ลพานุกรม หลวงเดชสหกรณ์ พระยาฤทธิ์อัคเนย์ พระประศาสน์พิทยายุทธ

ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็มีหลายสิบคน เช่น

หลวงแสงนิติศาสตร์,พระวุฒิศาสตร์เนติญาณ,พระยานิติศาสตร์ไพศาล,นายมานิต วสุวัต,นายดิเรก ชัยนาม,นายจรูญ สืบแสง,นายจรูญ ณ บางช้าง,หลวงชำนาญนิติเกษตร, นายทวี บุญเกตุ,นายชุน ปิณฑานนท์, นายสงวน ตุลารักษ์, นายซิม วีระไวทยะ,นายหงวน ทองประเสริฐ,นายวิเชียร สุวรรณทัต, หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์,หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์,นายวิลาศ โอสถานนท์,นายบรรจง ศรีจรูญ,หลวงอรรถกิตติกำจร,หลวงอรรถสารประสิทธิ์,หลวงทัศนัยนิยมศึก เป็นต้น

หนังสือพิมพ์ได้รายงานต่อไปว่า เมื่อจวนจะถึงเวลาเรือออก เจ้าคุณพหลฯ ก็ได้นำพวงมาลัยไปสวมให้แก่นายปรีดีฯ ซึ่งเป็นภาพที่ประทับใจมากสำหรับคนที่รักและเคารพนายปรีดีฯ ต่อจากนั้นผู้ที่เป็นเพื่อนฝูงและลูกศิษย์ลูกหาทั้งทหารบก ทหารเรือและพลเรือน ต่างก็เข้าสัมผัสมือกับนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อหมดพิธีแล้วนายปรีดีฯ จึงเดินขึ้นบันไดเรือและครั้นแล้วเสียงไชโยก็ดังขึ้นอย่างกึกก้องเมื่อเรือได้เคลื่อนที่ออกจากท่ามุ่งออกสู่ทะเลลึกตรงไปยังสิงคโปร์

หนังสือพิมพ์อีกฉบับหนึ่งคือ ศรีกรุง ฉบับวันที่ ๑๓ เมษายน รายงานในเนื้อข่าวว่า

“รัฐมนตรีเป็นอันมาก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการ ทหารบก ทหารเรือ ตำรวจ พลเรือน พ่อค้าคหบดี นักเรียน ลูกเสือไทย ลูกเสือแขก พระภิกษุ สามเณร นักบวชฝรั่ง ประชาชนทุกชั้นทุกภาษา ทั้งหญิงชาย ผู้ใหญ่และเด็ก ประมาณ ๓,๐๐๐ คนไปส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)ด้วยน้ำตาอาบไหลพรากไปตาม ๆ กันเป็นส่วนมาก เสียงไชโยกึกก้องกังสดาลนับครั้งไม่ถ้วน จนกระทั่งเรือโกล่าเคลื่อนออกลับตาไป

การส่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมออกจากกรุงเทพฯ ไปประเทศฝรั่งเศส ณ วันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ นั้น เป็นประวัติการณ์แห่งการส่งได้ครั้งหนึ่งตั้งแต่ได้มีการส่งอำลาซึ่งกันและกันมา การส่งเขาย่อมว่า ถึงแม้จะมีการร้องไห้ก็เฉพาะในวงศาคณาญาติและมิตรที่สนิทสนมกันเท่านั้น แต่การส่งคราวนี้มองดูหน้าใคร ๆ เกือบเห็นน้ำตาไหลหรือหล่อหน่วยหรือดวงตาแดงกร่ำไปเกือบทุกคน บางคนถึงกับสะอึกสะอื้น ฟูมฟายก็มี แม้พระยาพหลฯ ผู้เป็นประธานในที่นั้นและตัวหลวงประดิษฐ์ เองก็กล้ำกลืนน้ำตาไว้ไม่อยู่ ผู้ที่ไปส่งถึงสิงคโปร์รวมสามคน คือ หลวงทัศนัยนิยมศึก ร.ท.ทวน วิชัยขัทคะ และนายจรูญ สืบแสง

พระยาพหลฯ ได้สวมพวงมาลัยอันร้อยกรองอย่างวิจิตรให้แก่หลวงประดิษฐ์ฯ แล้วทั้งสองก็กอดร่ำลากลมไปกลมมาราว ๕ นาที เสียงไชโยก็ระเบิดออกมาอย่างสนั่น เสียงร้องไห้ของสตรีเข้าแทรกประดุจฆ้องไชย เสียงสะอึกสะอื้นของหลายคนประดุจดนตรีบรรเลง พร้อมกันนั้นต่างชูหมวกและผ้าเช็ดหน้ากวัดแกว่งประดุจธงสะบัด กล้องถ่ายรูปรอบข้างได้กระทำหน้าที่กันจ้าละหวั่น ครั้นแล้วพวกก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งร่วมตายกันมากับหลวงประดิษฐ์ ทั้งทหารบก ทหารเรือและพลเรือน ก็เข้ากอดและจับมือด้วยความอาลัยทั้ง ๆ ที่มีน้ำตาบ้างไม่มีบ้าง

ต่อไปนี้หลววประดิษฐ์ฯ ก็เดินขึ้นสะพานเรือจับมือสำแดงความอาลัยกับผู้ไปส่งตลอดทางเสียไชโยไม่ขาดสายจนกระทั่งเข้าไปห้องอาหาร ซึ่งมิตรสหายได้จัดของว่างไว้รับ ตอนนี้ก็ได้กอดร่ำลากันพักใหญ่อีก บางคนได้สวมกอดหลวงประดิษฐ์ฯ เช่นหลวงวิจิตรวาทการ พระสารศาสน์ประพันธ์ เป็นอาทิ บางคนขอจับมือด้วยความศรัทธา

เมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ ได้กราบลามารดาของท่านอีกแล้วก็ออกจากห้องอาหารขึ้นไปบนห้องโถงบนเรือ ได้มีการลากันกับคณะราษฎรผู้ก่อการทั่วหน้า และพอพระยาพหลฯ ตามขึ้นไปจูบสั่งลาเป็นครั้งสุดท้ายก็พอดีอาณัติสัญญาณเรือออก

ต่อไปนี้ มหาชนก็ยืนรอกันที่สะพานชานชาลา เพื่อรอส่งเวลาเรือกลับลำแล่นผ่านท่าอีกครั้ง เวลา ๑๖.๓๐ น.เศษ เรือโกล่าแล่นผ่านท่าเรือบีไอหลวงประดิษฐ์ และคณะก็แกว่งโบกผ้าเช็ดหน้า พูดขอลาก่อน ฝ่ายผู้ส่งก็โบกตอบและเปล่งเสียงไชโย กึกก้องจนกระทั่งเรือลับตาหายไป

บทความที่ ๑๗๒. บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง ตอนที่ ๖

บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง
แผนลิดลอนปรีดี พนมยงค์
ตอนที่ ๖. พ.ร.บ.ว่าด้วยคอมมิวนิสต์

วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๖ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ก็ประกาศกฤษฎีกาโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ลงพระปรมาภิไธย ปิดสภาผู้แทนฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ให้ยุบคณะรัฐมนตรีปัจจุบันเสีย และให้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี กับให้รัฐมนตรีซึ่งว่าการกระทรวงต่าง ๆ อยู่ในเวลานั้น เป็นคณะรัฐมนตรีโดยตำแหน่ง

กล่าวให้ชัดเจนก็คือ ให้รัฐมนตรีที่เป็นคณะราษฎรบางคนที่ขัดแย้งกับพระยามโนฯและพวก พ้นตำแหน่งรัฐมนตรี เอาไว้แต่พวกขุนนางเก่า

นับได้ว่า การทำรัฐประหาร ๑ เมษายน ๒๔๗๖ ของพระยามโนฯ ครั้งนี้เป็นรัฐประหารครั้งแรกของการปกครองระบอบประชาธิปไตย การประกาศกฤษฎีกาปิดสภา เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะไม่มีบทบัญญัติให้ทำได้

ภายหลังประกาศกฤษฎีกาปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราแล้ว พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นทันที บุคคลสำคัญที่ร่วมรัฐบาลก็ได้แก่ขุนนางเก่าทั้งสิ้น อาทิพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ๒.พลเรือโทพระยาราชวังสัน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ๓.พระยาศรีวิสารวาจา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ๔.เจ้าพระยาวงศานุประพันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ๕.เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นรัฐมนตรีกระทรวงธรรมการ ๖.พระยาแสนยมดีศรีบริบาล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ๗. พระยาเทพวิฑูรพหุลศรุตาบดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

รัฐมนตรีว่าการชุดใหม่นี้เป็นขุนนางเก่าทั้งสิ้น เป็นเจ้าพระยาและพระยา ส่วนสมาชิกของคณะราษฎรเป็นรัฐมนตรีลอยทั้งหมด

รัฐบาลได้แถลงการณ์ว่ามีความจำเป็นที่ต้องปิดสภา ตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่และรอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราก็เพราะ

“ในคณะรัฐมนตรี ณ บัดนี้เกิดแตกกันเป็นสองพวกมีความเห็นแตกต่างกัน และไม่สามารถที่คล้อยตามกันได้ ความเห็นข้างน้อยนั้น ปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจไปในทางอันมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ ความเห็นส่วนมากนี้เห็นว่านโยบายเช่นนั้นเป็นการตรงกันข้ามกับขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวสยาม และเป็นที่เห็นกันได้แน่นอนทีเดียวว่า นโยบายเช่นนั้นอาจนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎรและเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ

ฐานะแห่งความเป็นอยู่เช่นนี้ จะปล่อยให้คงเป็นอีกต่อไปไม่ได้แล้ว ความปลอดภัยของประชาชนเป็นกฎหมายอันสูงสุด รัฐบาลจึงต้องปิดสภา และตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่”


งานชิ้นแรกของรัฐบาลรัฐประหาร ก็คือ ประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๗๖ รุ่งขึ้นจากวันรัฐประหาร ๑ วัน จึงเชื่อกันว่าได้มีการตระเตรียมร่างกฎหมายนี้ไว้ก่อนวันยุบสภาแล้ว

พ.ร.บ.ว่าด้วยคอมมิวนิสต์นี้ พระปกเกล้าฯ ลงพระนามให้โดยไม่ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงมีฐานะเช่นเดียวกับประกาศคณะปฏิวัติของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

แต่ประกาศของจอมพลสฤษดิ์ ประกาศตรง ๆ ว่า เป็นประกาศของคณะปฏิวัติ ไม่ได้เขียนคลุมเครือว่าเป็นพระราชบัญญัติ

แต่แม้กระนั้น กฎหมายฉบับนี้ก็ยังใช้บังคับมาได้ถึง ๑๔ ปี เพิ่งมายกเลิกเมื่อปี ๒๔๘๙

เมื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายหลังปิดสภาของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาแล้ว รัฐบาลได้ถือโอกาสปิดหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว แม้แต่หนังสือพิมพ์ประชาชนของ หม่อมเจ้าวรรณ ไวทยากร ซึ่งมี กุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นบรรณาธิการ เนื่องจากรัฐบาลมองหนังสือพิมพ์เหล่านั้นว่าสนับสนุนคณะราษฎร เป็นเสี้ยนหนามต่อแผ่นดิน และบางฉบับสนับสนุนเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ บางฉบับเป็นคอมมิวนิสต์

งานชิ้นโบว์ดำชิ้นหนึ่งของพระยามโนฯ ภายหลังรัฐประหาร ได้แก่ การเนรเทศนายปรีดี พนมยงค์ไปประเทศฝรั่งเศส

บทความที่ ๑๗๑.บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง ตอนที่ ๕

บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง
แผนลิดลอนปรีดี พนมยงค์
ตอนที่ ๕. ต้นแบบเผด็จการ

นายจรูญ สืบแสง ลุกขึ้นอภิปราย กรณีที่พระยามโนฯ ให้ทหารมาตรวจค้นอาวุธสมาชิกสภาผู้แทนฯว่า

“แรกเริ่มเริ่มก็พกอาวุธปืนกันได้ แต่การพกมิได้หาเรื่องจะยิงกัน เป็นการพกเพื่อป้องกันตัวและแต่ก่อนก็มิได้มีการตรวจค้น ทำไมเพิ่งจะมารู้สึกเกรงกลัวกันในเวลานี้เอง และได้ทราบว่าเวลานี้ นายกรัฐมนตรีได้อพยพไปอยู่ในวังปารุสกวัน เพราะเหตุใด เพราะกลัวจะถูกยิงหรือ ?

ทหารที่เอามารักษาการตามความที่ตกลงกันไว้แต่ดั้งเดิมมีว่าจะป้องกันอันตรายแก่สมาชิกของสภา ไมให้คนข้างนอกมาทำอันตรายแก่สมาชิก มาบัดนี้เอาทหารมารักษาป้องกันมิให้สมาชิกทำอันตรายซึ่งกันและกัน ตัวข้าพเจ้าเองก็รู้สึกว่าถูกหมายหน้าไว้ว่าจะเป็นผู้กระทำการรุนแรงนี้ ความจริงสำหรับการชนิดนี้ ข้าพเจ้าในเกียรติยศของลูกผู้ชายจะให้ Assuranace ว่าจะไม่กระทำการรุนแรง ถ้าจำเป็นแล้วก็เล่นอย่างที่เรียกว่า Frairplay เช่นกับว่าต้องการยิงหรือทำร้ายพระยามโนฯ พระยาศรีฯ หรือนายประยูร เป็นต้น ก็จะบอกให้รู้ตัวว่าจะยิ่งเล่นอย่างยุติธรรมไม่ทำอย่างที่ว่า “ลอบกัด”

อีกประการหนึ่ง การที่จะยิงกันในสภานั้นไม่ใช่ของดี ซึ่งข้าพเจ้าเองก็รู้ดี ก็เช่นนั้นจะทำให้เป็นที่เสื่อมทรามขายหน้าทำไม เพราะนอกจากจะกระทำความระส่ำระสายภายในแล้ว ต่างประเทศเขารู้ก็จะดูถูกได้ ทหารที่เอามานี้ดูเหมือนว่าไม่ได้เอามาเพื่อรักษาการณ์ แต่เอามาเพื่อท้าทายให้รบ ซึ่งใครจะรู้สึกอย่างไร อำนาจที่บังคับบัญชาทหารเช่นนี้เป็นอำนาจอย่างติตเตเตอร์ ผิดกับการปกครองอย่างที่มีรัฐธรรมนูญเมื่อคราวก่อนี้ก็ครั้งหนึ่ง คือ เมื่อวันพุธมีประชุมพิเศษ คณะรัฐมนตรีนึกว่าจะมีโหวตคอนฟีเดนซ์

สังเกตดูทหารเข้ามาอยู่มาก ตามบริเวณข้างนอก และดูเหมือนเอาลูกบอมส์มาด้วยสำหรับคอยระวังเวลาโหวต การที่ทำเช่นนี้เพราะอะไร เพื่อเอาอำนาจที่ได้ข่าวว่าจะมีโหวตคอนฟิเดนซ์นั้น นำทหารเข้ามาเพื่อจะล้มสภาหรือ ? ทำเช่นนี้ถูกอยู่หรือ ข้าพเจ้าเห็นว่าที่รัฐมนตรีทำนั้นไม่ถูกกับรัฐธรรมนูญ เป็นการผิดเพราะการห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ย่อมทำได้ด้วยอำนาจของสภาทำไมคณะรัฐมนตรีจึงได้ใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรมเช่นนี้ มี Reason อย่างใด”

นายควง อภัยวงศ์ (หลวงโกวิทอภัยวงศ์) อภิปรายว่า การกระทำครั้งนี้ผิดมาก รู้สึกว่าคณะรัฐมนตรีจะกลับกลายเป็นดิตเตเตอร์ไปเสียแล้ว อำนาจสภาย่อมอยู่เหนือคณะรัฐมนตรี ซึ่งทราบกันดีอยู่ทุกคนแล้ว การกระทำครั้งนี้ทำให้เกิดความระส่ำระสาย อับอายขายหน้าเพราะไหนหนังสือพิมพ์จะนำไปลงเป็นการรัฐมนตรีใช้อำนาจไม่ชอบด้วยทางทหาร จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีแถลงในเรื่องนี้ว่า เหตุใดจึงไม่ไว้วางใจเรา หรือจะเดินแบบดิตเตเตอร์ชิปก็ให้รู้กันไป (รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๔๗๕)

ยังมีสมาชิกสภาอีกหลายคน ติเตียนการกระทำของรัฐบาลว่าไม่สมควรอย่างยิ่ง ในที่สุดที่ประชุมสภาได้ลงมติว่า ในสภานั้น ประธานสภาเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ผู้ใดจะมาสั่งการอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น การตรวจค้นอาวุธสมาชิกสภาเช่นนี้ ย่อมทำไม่ได้

ในวันนั้น เจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาไม่ได้มาประชุม พล.ร.ต.พระยาศรยุทธเสนี ทำการแทน ได้ยอมรับต่อที่ประชุมสภาว่า ต่อไปจะไม่ให้ผู้อื่นมาใช้อำนาจในสภาเช่นนี้อีก

การเอาทหารมาควบคุมสภาผู้แทน ฯ และยังให้ทหารค้นอาวุธสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย ทั้ง ๆ ที่มีตำรวจสภาอยู่แล้ว นับว่าเป็นพฤติการณ์ของเผด็จการโดยแท้

สถานการณ์ได้ก้าวเข้าสู่ขั้นวิกฤติเช่นนี้ แทนการดำเนินการตามระบอบประชาธิปไตย พระยามโนปกรณ์ฯ กลับแก้ปัญหาด้วยการทำรัฐประหาร ยึดอำนาจ ประกาศปิดสภา งดใช้รัฐธรรมนูญพร้อมกับยุบคณะรัฐมนตรีเสีย

ได้มีผู้วิจารณ์กันมากว่า การกระทำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดานี้เป็นการถอยหลังเข้าคลอง และเป็นต้นแบบให้แก่นักเผด็จการทั้งหลายต่อมา อาทิ จอมพล ป.พิบูลสงคราม, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพลถนอม กิตติขจร, ผิน ชุณหะวัน ล้วนต่างก็ใช้การกระทำรัฐประหารแก้ปัญหาบ้านเมืองทั้งสิ้น

บทความที่ ๑๗๐. บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง ตอนที่ ๔

บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง
แผนลิดลอนปรีดี พนมยงค์
ตอนที่ ๔.ถูกบังคับให้ออกนอกประเทศ

ในที่สุด พระปกเกล้าฯ ก็ทรงคัดค้านและทรงพระราชวิจารณ์เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติว่าเป็นคอมมิวนิสต์และพระยามโนฯ ได้พิมพ์พระราชวิจารณ์แจกจ่ายไปทั่วรวมทั้งหนังสือพิมพ์รายวันลงข้อความพระราชวิจารณ์ติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ภายหลังที่ผลักดันนายปรีดี พนมยงค์ออกไปยังต่างประเทศแล้ว

ความตอนหนึ่งในพระราชวิจารณ์ว่า

“แต่มีข้อความอันหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนไม่ต้องสงสัยว่า โครงการนี้เป็นโครงการอันเดียวกันอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐ์ฯ จะเอาอย่างสตาลิน ก็ตอบไม่ได้ ตอบได้ข้อเดียวว่า โครงการเศรษฐกิจทั้งสองนี้เหมือนกันหมด เหมือนกันจนรายละเอียด เช่นที่ใช้และรูปแบบวิธีการกระทำ จะผิดกันก็แต่รัสเซียนั้น แก้เสียเป็นไทย หรือไทยแก้เสียเป็นรัสเซีย ถ้าสตาลินเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ ข้าวสาลีแก้เป็นข้าวสาร หรือข้าวสารแก้เป็นข้าวสาลี รัสเซียเขากลัวอะไร ไทยก็กลัวอย่างนั้นบ้าง รัสเซียเขาหาวิธีตบตาคนอย่างไรไทยก็เดินวิธีตบตาคนอย่างนั้น”

การที่พระยามโนฯ กับพวกได้โจมตีเค้าโครงเศรษฐกิจของ นายปรีดี พนมยงค์ตลอดจนนำเอาพระราชวิจารณ์เค้าโครงเศรษฐกิจฯ ออกเผยแพร่ เป็นการปลุกผีคอมมิวนิสต์ขึ้นเล่นงาน นายปรีดีฯ ได้ทำให้ความขัดแย้งระหว่างอำนาจเก่าหรืออนุรักษ์นิยม เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ พระยามโนฯต้องการขับนายปรีดี พนมยงค์ ให้พ้นจากวงการเมือง และการที่พระยามโนฯ สามารถเข้าใกล้พระยาทรงสุรเดช ผู้นำฝ่ายทหารที่สำคัญของคณะราษฎรได้ หรือจะกล่าวว่าทำการสลายคณะราษฎรได้ระดับหนึ่ง

แผนการใช้โครงการเศรษฐกิจฯ เป็นเครื่องมือในการโค่นนายปรีดีฯ จึงได้เกิดขึ้น จนสามารถขับนายปรีดีฯ ให้ออกไปต่างประเทศได้สำเร็จในเวลาต่อมา

ส่วน นายปรีดี พนมยงค์ นั้นได้แถลงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า เมื่อตนเองเป็นฝ่ายข้างน้อยในคณะรัฐมนตรี ก็ขอลาออกจากคณะรัฐมนตรีตามวิถีทางประชาธิปไตย โดยจะนำเค้าโครงเศรษฐกิจฯ นั้น เสนอต่อราษฎรในการเลือกตั้ง ส.ส.ซึ่งปรายปรีดี หวังจะสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

ในระยะนั้นสถานการณ์ทางการเมืองทวีความตึงเครียดยิ่งขึ้น เนื่องจากความขัดแย้งในปัญหาโครงการเศรษฐกิจฯ ของนายปรีดี พนมยงค์ จนกระทั่งข่าวการเนรเทศนายปรีดีไปต่างประเทศ นอกจากนั้นยังมีความขัดแย้งที่ตามมาอีกหลายปัญหา ประกอบกับท่าทีของรัฐบาลที่แสดงออก เป็นเหตุให้ความขัดแย้งขยายตัวออกไปมากยิ่งขึ้น ทั้งระหว่างสมาชิกสภากับรัฐบาล ระหว่างสมาชิกด้วยกัน แม้แต่ภายในรัฐบาลก็แตกเป็น ๒ ฝ่าย โดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรีนั้น สมาชิกสภาส่วนมากไม่พอใจ แต่ทั้ง ๆ ที่ความปั่นป่วนมาถึงขึ้นนี้แล้ว ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของพระยามโนฯ

พอวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๔๗๕ สมาชิกสภาที่เดินทางมาสภาเพื่อเข้าประชุมก็ถูกพระยามโนฯ ใช้อำนาจทางการทหารของพระยาทรงสุรเดช ทำการค้นอาวุธทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ พล.ร.ต.พระยาศรยุทธเสนี รองประธานสภาผู้แทนราษฎร

แต่คราวนี้สมาชิกสภาผู้แทนฯ ฝ่ายพลเรือนได้ลุกขึ้นซักไซ้ไล่เลียงรัฐบาลอย่างเกรี้ยวกราดในวันต่อมา

หลังจากนั้นในการประชุมสภา ในวันศุกร์ที่ ๓๑ มีนาคม หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์สมาชิกสภาผู้แทนฯ ได้ยื่นญัตติด่วน เรื่องอำนาจในการตรวจค้นอาวุธสภาผู้แทนฯ ซึ่งพระยามโนฯ รับว่าตนเป็นผู้สั่งไปเอง เพื่อรักษาความปลอดภัยของทุกฝ่าย

จึงถูกสมาชิกสภาผู้แทนฯ อภิปรายปัญหานี้กันอย่างรุนแรง จนต้องยอมถอนทหารออกไปจากสภาผู้แทนราษฎร

บทความที่ ๑๖๙. เนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง ตอนที่ ๓

บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง
แผนลิดลอนปรีดี พนมยงค์
ตอนที่ ๓. แผนใส่ร้ายว่าเป็นคอมมูนนิสต์

ส่วนเป้าหมายที่จะทำลายคณะราษฎรนั้น ฝ่ายอำนาจเก่าเห็นว่า นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ซึ่งเป็นมันสมองของคณะราษฎรเป็นเป้าหมายหลักที่จ้ะองทำลายลงก่อน

การที่พระยามโนฯ มอบหมายนายปรีดี พนมยงค์ทำโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ จึงมีผู้วิเคราะห์ว่า เป็นแผนเพื่อทำลายคณะราษฎร

“พระยามโนปกรณ์นิติธาดา จึงได้มอบหมายให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)เป็นผู้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ ในการที่จะยกร่างโครงการเศรษฐกิจนั้น พระยามโนฯ พระยาราชวังสัน พระยาศรีวิสารวาจา หลวงประดิษฐ์ฯ ได้ปรึกษาหากรือกันหลายครั้ง โดยหลวงประดิษฐ์ฯ เสนอว่า ในการที่จะบริหารราชการแผ่นดินนั้น จะต้องช่วยราษฎรในทางเครษฐกิจก่อน แต่ราษฎรของเราต้องการให้รัฐบาลเป็นผู้นำ พระยามโนฯ พระยาศรีวิสารวาจาและพระราชวังสัน ไม่ได้โต้แย้ง แสดงความพอใจในหลักการของหลวงประดิษฐ์ที่เสนอให้ทราบนั้น”

“ต่อมา พระยามโนฯ ได้บอกหลวงประดิษฐ์ฯว่า พระปกเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าพร้อมด้วยพระยาพหลฯ พระปกเกล้าฯ ได้รับสั่งถึงเครษฐกิจของบ้านเมือง และถามถึงความเห็นของหลวงประดิษฐ์ หลวงประดิษฐ์ฯ ได้กราบทูลว่าตามแนวที่ได้เคยปรึกษากับพระยามโนฯ พระยาราชวังสัน พระยาศรีวิสารวาจาก่อน พระปกเกล้าฯจึงรับสั่งชมเชยเห็นชอบด้วยและรับสั่งต่อไปว่า พระองค์ชอบแบบโซชะลิสต์ จึงรับสั่งให้หลวงประดิษฐ์ฯ ไปจัดการเขียนโครงการเศรษฐกิจขึ้น ครั้งแรกหลวงประดิษฐ์ฯ ยังมิได้เขียนโครงการเศรษฐกิจ ต่อมาพระยามโนฯได้เร่งเร้าให้หลวงประดิษฐ์ฯ เขียนโดยอ้างว่าพระปกเกล้าฯ พอพระทัยหลวง ประดิษฐ์ฯจึงได้เขียนเค้าโครงเศรษฐกิจขึ้น”

“เมื่อร่างเค้าโครงเศรษฐกิจเสร็จแล้ว หลวงประดิษฐ์ฯ ก็ได้แจกจ่ายในหมู่ผู้ก่อการฯ และคณะกรรมการราษฎร (คณะรัฐมนตรี)เพื่อให้อ่านกันก่อน จะพิจารณาเห็นชอบหรือไม่ ถ้าไม่เห็นชอบหรือมีเหตุผลที่ดีกว่า ก็ยอมตามความเห็นส่วนมากและขอแก้ไขได้ แต่เมื่อได้รับแจกไปแล้ว พระยามโนฯไม่เห็นด้วย” (คำพิพากษาคีดกบฏ พ.ศ.๒๔๘๒)


คณะรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงการเศราฐกิจแห่งชาติขึ้น เรียกว่า “คณะกรรมานุการพิจารณาร่างเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ” มีจำนวน ๑๔ นาย พระยามโนฯเป็นประธาน มีพระยาศรีวิสารวาจา พระยาราชวังสัน นายปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น และพรายมโนฯ ยังได้ขอให้ ม.จ. สกลวรรณากร วรวรรณ ทรงร่วมเป็นกรรมมานุการด้วย

ในที่ประชุมคณะกรรมานุการ มีความเห็นแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายข้างมากซึ่งรวมทั้ง ม.จ. สกลวรรณากร สนับสนุนเค้าโครงเศรษฐกิจฯ ของนายปรีดี พนมยงค์ อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย โดยมีพระยามโนฯ เป็นหัวหน้ามีความเห็นคัดค้าน

แต่พระยามโนฯ นำเค้าโครงเศรษฐกิจไปให้คณะรัฐมนตรีลงมติไม่ยอมรับโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่ผ่านคณะกรรมานุการมาแล้ว

ในเวลาต่อมาก็ปรากฏว่า โครงการเศรษฐกิจฯ ที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้ร่างขึ้น โดยการสนับสนุนของพระยามโนฯกับพวก รวมทั้งพระปกเกล้าฯ ที่เร่งเร้าให้ นายปรีดี พนมยงค์ ร่างขึ้นนั้น ได้ถูกโจมตีอย่างหนัก มีการปลุกข่าวทางหนังสือพิมพ์ ให้ประชาชนเห็นว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจฯนั้นเป็นคอมมิวนิสต์จะชักจูงประเทศไปสู่หายนะ

Sunday, June 24, 2007

บทความที่ ๑๖๘. บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง ตอนที่ ๒

บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง
แผนลิดลอนปรีดี พนมยงค์
ตอนที่ ๒ สจฺ จํ


หลังจากที่เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างราษฎรกับกลุ่มเจ้าก็เริ่มไม่ราบรื่น และไม่เป็นไมตรีต่อกันเป็นเวลานาน ต่างฝ่ายต่างระแวงซึ่งกันและกัน มีการส่งสายลับเฝ้าดูความเคลื่อนไหว และสดับตรับฟังข่าวคราวของกันและกันโดยตลอด ทั้งยังปรากฏการณ์ความไม่พอใจในหมู่พระราชวงศ์ที่มีต่อคณะราษฎร มีการกล่าวร้ายและโจมตีการอภิวัฒน์ของคณะราษฎรบ่อยครั้ง ฝ่ายคณะราษฎร สืบทราบว่า ได้มีพระราชวงศ์บางองค์ส้องสุมชุมนุมวิพากษ์วิจารณ์ ติเตียน บ่อนทำลายคณะราษฎรด้วยประการต่าง ๆ จนพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรอดรนทนไม่ได้ จึงได้มีหนังสือกราบทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ให้ทรงทราบว่า

“บัดนี้ความปรากฏขึ้นว่า ได้มีปากเสียงอันเป็นเสี้ยนหนามแก่ความสงบสุขเกิดขึ้นในหมู่พระราชวงศ์ ซึ่งถ้าจะเพิกเฉยเสีย ก็เกรงว่าจะเป็นเชื้อฝอยให้ลุกลามต่อไป และครั้นคณะราษฎรจะจัดการปราบปรามเสียเอง ก็เกรงจะเป็นที่ขุ่นเคืองพระราชหฤทัย”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงรับสั่งให้เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ ผู้ว่าราชการพระราชวัง ให้ตักเตือนพระราชวงศ์“อย่ากระทำการใดๆ ซึ่งไม่สงบราบคาบ”(รัฐสภาไทย-ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์)

นอกจากนี้ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน คณะราษฎรได้ออกแถลงการณ์อีกฉบับหนึ่งว่า

“ว่ามีบางสิ่งบางอย่างไม่สำแดงให้เด่นชัดว่า เป็นการปลอดภัยโดยแท้ ถ้าหากมีการตระหนักตกใจ หรือเสียหายอะไรบ้าง ก็ขอให้ประชาราษฎร์ตระหนักในความมุ่งหมายอันแท้จริงของคณะราษฎรว่าสรรพกรณีที่จะพึงเกิดขึ้นล้วนเป็นสิ่งที่มุ่งความปลอดภัยแห่งประชาราษฎรทั้งสิ้น และถ้ามีผู้ใดแฝงอันธพาล คณะราษฎรกระทำทุรกรรมใด ๆ ก็ขอให้เข้าใจว่า มิใช่กรรมที่คณะราษฎรประกอบขึ้นเป็นอันขาด”

ดังนั้นการสืบสวนเพื่อความมั่นคงนั้น ทางกรมตำรวจก็ได้ส่งสายออกตระเวนฟังข่าวคราวอยู่ตลอดเวลา เพราะย่อมเป็นธรรมดาที่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นเช่นนี้ ความขัดแย้งระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ย่อมจะต้องเกิดขึ้น

และนอกจากการได้ข้อมูลความขัดแย้งดังกล่าวแล้ว การแสดงออกทางด้านความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์คณะราษฎรอย่างเปิดเผย

ทางด้านหนังสือพิมพ์ที่แสดงออกนอกจากฉบับที่นำหนังสืออื่น ๆ ก็มีเดลิเมล์รายวัน และหนังสือพิมพ์รายวันอีกบ้าง ซึ่งคณะราษฎรเห็นว่าควรจะชี้แจงความเป็นจริงให้หนังสือพิมพ์ไปแก้ไขให้ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริง

อย่างไรก็ดีสมาชิกคณะราษฎรคือนายซิม วีระไวทยะร่วมกันกับนายสงวน ตุลารักษ์ เห็นว่าการเสนอแก้ข่าว เพื่อให้หนังสือพิมพ์นั้นแก้ไขข้อความที่ผิดพลาดนั้นไม่เพียงพอ เพราะบางครั้งก็แก้ข่าวให้ แต่บางครั้งกลับวิพากษ์วิจารณ์ซ้ำเติมให้อีก จึงได้ออกหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งชื่อ “สจฺ จํ” ทำหน้าที่ตอบบทความหรือข้อความ ซึ่งคณะบุคคลคณะการเมืองอื่น ได้เขียนตำหนิคณะราษฎรและเขียนบทความคิดความเห็นในทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้ความรู้ความเข้าใจแก่บุคคลทั่วไปที่มีความหวาดสะดุ้งในเรื่องภัยคอมมิวนิสต์ แต่ก็ปรากฏว่าความคิดเห็นในหนังสือ “สจฺ จํ” ตลอดจนข้อความที่ตอบโต้ต่อคณะการเมืองอื่น ทำให้หนังสือพิมพ์ สจฺจํ ถูกป้ายสีตั้งแต่เรื่อๆ จนแดงจัดขึ้นทุกวัน ในที่สุดก็กล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ไปโดยผสมผเสเหตุผลหลายอย่างจนกระทั่งเทียบหนังสือ สจฺ จํ ว่าตรงกับหนังสือพิมพ์ Pravda ของโซเวียตรัสเซีย

ความจริงเรื่องหนังสือพิมพ์ สจฺจํ นี้เมื่อนายซิม วีระไวทยะตั้งใจจะออกหนังสือพิมพ์เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว จึงได้ขอให้นายปรีดี พนมยงค์ ตั้งชื่อให้ นายปรีดีฯ กล่าวว่า ตนนึกได้ว่ามีพระพุทธภาษิตหนึ่งที่ว่า “สจฺ จํ เว อมตวาจา” (ความสัจแลเป็นวาจาไม่ตาย) จึงให้ชื่อหนังสือพิมพ์ของนายซิมว่า “สจฺ จํ” ด้วยหวังว่าเป็นสำเนียงที่เร้าใจและเหมาะสมกับพุทธภาษิต หาใช่จำแลงหรือแผลงมาจากหนังสือพิมพ์ Pravda ของโซเวียตรัสเซียไม่

นอกจากนั้นนายซิม วีระไวทยะ ผู้นี้เป็นผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนา และมีความเห็นในทางที่จะช่วยเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้มหาชนเข้าใจหลักธรรมที่ถูกต้องจึงได้ปรึกษาหามิตรสหายและสมณะบางรูปและพร้อมใจกันจัดตั้ง “พุทธมามะกะสมาคมขึ้น

ปรากฏว่าทั้งหนังสือพิมพ์ สจฺ จํ และพุทธมามะกะสมาคม ซึ่งนายซิมมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่นี้ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด สงสัยไปในทำนองที่จะเป็นบ่อเกิดช่วยเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ พระยามโนปกรณ์ฯ นายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้ขอให้เลิกหนังสือพิมพ์ สจฺ จํ เสีย นายซิม จึงตกลงใจเลิก และต่อมานายซิมได้ลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไปประกอบอาชีพอื่น

จึงเห็นได้ว่าการใส่ร้ายป้ายสีและปลุกผีคอมมิวนิสต์ มีมากว่า ๖๐ ปีแล้ว ไม่ใช่เพียงเกิดขึ้นในยุคนี้เท่านั้น

บทความที่ ๑๖๗. บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง ตอนที่ ๑

บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง

แผนลิดลอนปรีดี พนมยงค์

ตอนที่ ๑ ความผิดพลาดครั้งแรกหลังการอภิวัฒน์


การที่คณะราษฎร หรือ คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี) นั้นมีผู้วิเคราะห์ว่าเพื่อเป็นการประนีประนอมกับกลุ่มพระราชวงศ์หรือกลุ่มเจ้ามากขึ้น เพราะพระยามโนเป็นผู้ใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และภรรยาของพระยามโนยังเป็นนางสนองพระโอษฐของพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทั้งนี้เพื่อจะให้มีการประสานกันระหว่างคณะผู้ก่อการฯ กับพระปกเกล้าฯ จะได้บริหารราชการไปโดยราบรื่น

ในตอนแรก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)หัวหน้าคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เสนอพระองค์เจ้าบวรเดช เป็นอัครมหาเสนาบดี คือ ประธานคณะกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี)แต่ที่ประชุมไม่เห็นชอบเพราะเห็นว่าพระองค์เจ้าบวรเดชจะบริหารไปแบบเผด็จการ ที่ประชุมส่วนใหญ่จึงเลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ตามที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)เป็นผู้เสนอ ซึ่งในที่สุดก็กลายเป็นการหนีเสือ ปะจระเข้ ซึ่งภายหลังต่อมาท่านปรีดีฯเองก็ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของท่านว่า

“ข้าพเจ้ายอมรับว่า ข้าพเจ้าผู้เดียวที่ทำผิดในการเสนอคณะราษฎรให้เชิญพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นหัวหน้ารัฐบาล เพระสมาชิกคณะราษฎรอื่นๆ มิได้คุ้นเคยกับพระยามโนปกรณ์ฯ มาก่อนเท่ากับข้าพเจ้าที่ได้เคยร่วมงานกับท่านผู้นี้ในการร่างกฎหมาย และในการร่วมเป็นกรรมการสอบไล่นักเรียนกฎหมายหลายครั้ง จึงได้มีการสนทนากับท่านผู้นี้ที่แสดงว่าท่านนิยมประชาธิปไตย และการปฏิบัติของท่านในระหว่างเป็นอธิบดีศาลอุธรณ์นั้นแสดงว่า ท่านกล้าตัดสินคดีโดยมิได้เกรงกลัวอำนาจสมบูรณาฯ ซึ่งนักเรียนกฎหมายหลายคนในเวลานั้นได้นิยมชมชอบท่าน

ข้าพเจ้าเห็นว่าท่านมีลักษณะต่างกับหยวนซีไข ที่เคยทรยศพระเจ้าจักรพรรดิกวงสูของจีน ข้าพเจ้ามีความผิดที่มิได้วิจารณ์ลึกซึ้งว่า พระยามโนปกรณ์ฯ เป็นบุคคลที่มีซากความคิดแห่งระบอบเก่าเหลืออยู่มาก แต่ข้าพเจ้าขอให้ความเป็นธรรมแก่พระยามโนปกรณ์ฯ ว่า ถ้าโดยลำพังท่านผู้เดียวแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะกระทำการโต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยได้ หากท่านได้รับความสนับสนุนจากบางส่วนของคณะราษฎรเองที่มีทรรศนะอันเป็นซากตกค้างมาจากระบอบเก่าและบุคคลอื่น ๆ ที่เป็นขุนนางเก่าที่ได้รับเชิญให้เข้ามาร่วมรัฐบาล

ความผิดพลาดของข้าพเจ้าดังกล่าวย่อมเป็นบทเรียนของศูนย์นิสิตนักศึกษาและนักเรียนและชนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่จะไม่ทำผิดซ้ำอีก”

Thursday, June 21, 2007

บทความที่ ๑๖๖. รัฐบุรุษผู้ไร้แผ่นดิน ตอนที่ ๒

ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร อภิปราย

ขอบคุณมากครับ ที่ให้เกียรติผมมาคุยให้พวกเรามาฟังในวันนี้ เกี่ยวกับเรื่องของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ อย่างที่อาจารย์พีรพันธ์ได้แนะนำแล้วว่า ผมเป็นเชื้อสายของท่าน เป็นลูกหลาน ดังนั้นเป็นการง่ายที่จะเล่าให้พวกท่านฟัง ท่านปรีดี พนมยงค์ที่ผมรู้จัก

ผมรู้จักท่านปรีดีมาตั้งแตผมเกิด ตั้งแต่วันแรกที่ผมเกิด ความจริงท่านอาจจะรู้จักผมมาก่อนที่ผมจะเกิดสักหน่อยก็ได้ เพราะว่าท่านเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวคือหมายความว่าเมื่อพ่อกับแม่ผมแต่งงานนี่ ท่านปรีดีเป็นเพื่อนเจ้าบ่าว ฉะนั้น เมื่อผมเกิดครั้งกระโน้นเป็นเวลา ๕๓ ปีมาแล้ว ท่านปรีดีอายุ ๓๐ ปี ยังเป็นหนุ่มเหมือนกับพวกเราที่นั่งอยู่ในนี้หลายคนทีเดียว ผมจำท่านไม่ได้เพราะว่าเกิดใหม่ ๆ มองก็คงลานตาไปหมดไม่ทราบว่าใครเป็นใคร แต่แน่ใจว่าท่านต้องมาดู เพราะว่าเป็นเพื่อนเจ้าบ่าว แล้วก็ภรรยาท่านก็เป็นน้องของเจ้าบ่าว ผมพูดอย่างนี้คงสับสนไปบ้าง แต่ยังก็ตามสรุปว่าเมื่อผมเกิดนี่ผมแน่ใจว่าท่านต้องมาดูว่าไอ้เด็กคนนี้หน้าตามันเป็นอย่างไร แล้วท่านก็มาดูจริง ๆ ครับ

ผมมาเริ่มจำท่านได้เมื่อายุเห็นจะ ๓-๔ ขวบแล้ว ผมพยายามนึกย้อนหลัง เมื่อผมจำท่านได้นั้น ท่านยังไม่ได้เป็น รมต. ผมจำได้ว่าเมื่อปี ๒๔๗๖ เข้าใจว่าเป็นวันที่ ๒๓ เมษายน ท่านปรีดีตอนนั้นยังมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมและท่านผู้หญิงต้องเดินทางจากประเทศไทยไปฝรั่งเศส เรื่องราวต่าง ๆ อาจารย์ไสว สุทธิพิทักษ์ ได้เล่าให้ฟังแล้ว เมืเรื่องขัดแย้งในคณะรัฐมนตรี มีการปิดสภา มีการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา มีการเนรเทศหลวงประดิษฐ์ไปประเทศฝรั่งเศส ตอนนั้นผมจำไม่ได้ผมยังเล็กเกินไป แต่เมื่อท่านเดินทางกลับมาเพื่อประมาณเดือนกรกฏาคมหรือสิงหาคมในปีเดียวกันนั้นเอง อันนี้ผมจำได้เพราะว่าเดินทางกลับมาแล้วก็มีของมาฝากเด็ก ที่ผมจำได้ มีของเล่นและของอะไรต่าง ๆ ที่ท่านเอาติดมาแยะ แล้วผมก็เป็นคนหนึ่งซึ่งได้รับของฝากก็เลยจำท่านได้ อ้อ คุณอาหลวงประดิษฐ์ฯ หน้าตาเป็นอย่างนี้เอง ตอนนั้นท่านยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย เป็รรัฐมนตรีลอย กลับมาเจ้าคุณพหลฯก็ตั้งให้ท่านเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย

แต่เมื่อท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ราว ๒๔๘๑ หรือ ๘๐ ท่านเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ผมเป็นนักเรียนโรงเรียนวชิราวุธ แล้ววันหนึ่งตอนกลางวัน ผมกำลังนั่งเรียนอยู่ในชั้น ก็มีคนมาตามให้ผมไปที่บ้านท่านผู้บังคับการโรงเรียน ผมก็ไปพบท่านที่นั่น ท่านมาเอาตัวผมไปร่วมกับเด็กอื่น ๆอีก ๒-๓ คน ไปเดินขันหมาก คือท่านถูกเกณฑ์ให้ไปเป็นเจ้าภาพ ไปขอผู้หญิงให้ใครก็ไม่ทราบ แล้วก็ต้องมีเด็กถือขันหมากไป ผมก็รับเป็นเด็กถือขันหมากไปด้วย อันนั้นก็เป็นช่วงหนึ่ง ระยะเวลาที่ผมกำลังพูดถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตอนที่ท่านเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ แล้วต่อมาท่านเป็นรัฐมนตรีคลังตอนนี้ผมจำท่านได้แม่นยำ เพราะว่าได้ไปมาหาสู่กันเสมอ มาหาท่านที่บ้านแต่ที่จำได้แม่นคือ ตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ในตอนนั้นท่านอยูที่ท่าช้าง ทำเนียบท่าช้าง ผมเชื่อว่าท่านทั้งหลายในที่นี้คงจำได้ เดี๋ยวนี้เขาก็เปลี่ยนแปลงมีตึกรามกันแล้ว แต่ตอนนั้นเป็นทำเนียบมีกำแพงเดี๋ยวนี้ก็ยังมีกำแพงอยู่ มีตึกเก่า ๆ อยู่หลังหนึ่ง ตึกใหม่ ๆ หลักหนึ่งแต่ตัวท่านปรีดีนั้นท่านนั่งอยู่ที่ท่าน้ำ คุณสุภา ศิริมานนท์จำได้แม่นยำก็คงจะได้ไปพบท่านที่นั่นเสมอ คือที่ท่าน้ำนี่นะครับยื่นไปในแม่น้ำเจ้าพระยาออกไปสักเมตรกว่า ๆ ก็เป็นท่าน้ำเล็ก ๆ ละครบ กว้างสัก ๒ เมตรยาวสัก ๔-๕ เมตร ซึ่งท่านใช้เป็นที่นั่งทำงาน เป็นห้องทำงาน เป็นห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก ห้องรับประทานอาหาร ทุกอย่างอยู่ในนั้นหมด รับรองแขกเหรื่อก็รับแขกกันตรงนั้น ท่านก็นั่งที่โต๊ะอาหารนั่นแหละครับ แล้วก็คุยกับใครต่อใครเรื่อยเปื่อยไปตลอดทั้งวัน นี่ยังเป็นภาพที่ผมจำได้ถนัด ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ เวลาไปทำงานก็ตรงที่ท่าน้ำก่อน ท่านก็โอภาปราศรัยต่าง ๆ

แล้วก็ต่อมาในช่วงเดียวกัน ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ท่านได้อพยพเจ้านาย รวมทั้งพระพันวษาอัยยิการเจ้าไปประทับที่พระราชวังบางปะอิน ท่านก็ไปจัดที่พักให้เป็นที่ปลอดภัยแก่พระบรมวงศานุวงศ์ เรื่องราวเหล่านี้ปรากฏในหนังสือหลายเล่ม ก็คงจะได้อ่านกันมาบ้าง ท่านได้ถวายความจงรักภักดี ได้ให้ความอารักขาแก่เจ้านาย เพราะว่าตอนนั้นกรุงเทพมหานครถูกลูกระเบิดทุกวัน ตอนนั้นผมก็ไปบางปะอินเป็นครั้งคราว ก็ได้พบกันท่านเสมอ รู้สึกว่าสองวันท่านก็ไปบางปะอินทีหนึ่ง เพื่อจะไปดูแลว่าเจ้านายท่านปลอดภัยดีหรือเปล่า

จนกระทั่งมาหลังสงคราม ตอนท่านเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นรัฐบุรุษอาวุโส ตอนนี้ที่ผมได้พบกันท่าน บ่อย ๆแต่ไม่ได้ใกล้ชิดกันในแง่ปรึกษาหารือทำการทำงาน เพราะว่าผมยังเป็นเด็กเกินไป ก็ได้เห็นท่าน ท่านก็ได้โอภาปราศรัยไต่ถามเรื่องการเล่าเรียน ผมเคยเรียนให้ท่านทราบว่า จะเรียนหนังสือพิมพ์ท่านก็สนับสนุน อะไรต่าง ๆ ก็เป็นการใกล้ชิดกัน

จนกระทั่งท่านต้องจากประเทศไทยไปเมื่อปี ๒๔๙๐ ตอนนั้นผมทำงานหนังสือพิมพ์อยู่ ก็จำได้ว่าไปถึงทำเนียบท่าช้างก็เป็นเวลาที่ท่านได้หลบหนีไปแล้ว และก็ไม่ได้พบกันอีก ๒ ปีต่อมา ความจริงท่านได้กลับมาประเทศไทยอีกเพื่อจะทำการยึดอำนาจในเหตุการณ์ที่เราเรียกว่า “กบฏวังหลวง” เมื่อ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ ต้นปี ๒๔๙๒ แล้วหลังจากทำการยึดอำนาจไม่สำเร็จ ท่านก็ยังหลบอยู๋ในประเทศไทยอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ เป็นเวลาตั้งเกือบ ๖ เดือน ถึงค่อยเดินทางไปสิงคโปร์ อันนี้ท่านได้เขียนขึ้นมาเอง เล่าให้ฟังอยู่ในหนังสือ ท่านเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส อยู่ในหนังสือเรื่องการเดินทางต่าง ๆ ที่ไปสิงคโปร์ แล้วท่านก็ไปถึงสิงคโปร์ เข้าใจว่าราว ๆ เดือนกันยายน ๒๔๙๒ ซึ่งตอนนั้นท่านได้พบกับอาจารย์ไสว สุทธิพิทักษ์ ซึ่งหลบภัยการเมืองไปอยู่ที่นั่นแล้ว และอีก ๒ เดือนต่อมา ผมก็เดินทางไปสิงคโปร์ก็พลาดกันนิดเดียว ผมยังจำได้ว่าอาจารย์ไสวบอกกับผมว่า ท่านได้ออกเดินทางไปจากสิงคโปร์เป็นเวลาไม่กี่อาทิตย์ก่อนหน้าที่ผมมา หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้พบกับท่านอีกเลย เป็นเวลายืดยาวตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๒

มาพบอีกทีหนึ่งเมื่อ ค.ศ. ๑๙๗๐ หรือ ๒๕๑๓ ผมรับราชการมีตำแหน่งแห่งที่ ก็เดินทางไปประชุมที่ยุโรป แล้วก็ไปที่กรุงปารีส แล้วท่านก็รอผมอยู่ที่สนามบิน เมื่อผมลงจากเครื่องบินท่านก็นั่งรออยู่ที่นั่น ซึ่งก็เป็นครั้งแรกที่ผมได้คุยกันท่านอย่างผู้ใหญ่ ก่อนหน้านี้คุยกับท่านอย่างเด็ก ฉะนั้นไม่ได้ความอะไร แต่ผมก็ดู แอบ ๆ ดูเวลาที่ท่านคุยกับผู้ใหญ่เหมือนกันเท่าที่จะมีโอกาส แต่ก็ยังจับความไม่ได้ว่าเขาพูดอะไรกัน แต่ว่าปี ๒๕๑๓ ผมได้คุยกับท่านอย่างผู้ใหญ่ เมื่อผมไปท่านก็ปิดบ้าน ไม่ได้หมายความว่าปิดประตูหน้าต่างนะครับ หมายความว่าไม่รับแขก เพื่อที่จะได้คุยกับหลานที่ไม่ได้พบกันหลายสิบปี แล้วผมก็มีโอกาสได้คุยกับท่าน ได้ไต่ถามอะไรต่าง ๆ ทุกอย่างเท่าที่ผมอยากทราบ ก็คุยกันอยู่ ๒ วันแล้วก็กลับ

แล้วต่อมาผมก็ได้ไปเยี่ยมท่านอีกเป็นครั้งคราว รู้สึกว่าท่านก็แก่ชราไปมากพอสมควร แต่ความคิดความจำท่านยังแม่นยำ แล้วก็เรื่องที่ผมประหลาดใจนะฮะ คืออย่างนี้ เมื่อต่อมาเราก็ปีกล้าขาแข็ง เรียนหนังสือมากมาย มีประสบการณ์ชีวิตอายุอานามก็มากขึ้น แต่เมื่อไรผมไปคุยกับท่าน ผมเหมือนเด็ก ไม่ได้มีอะไรที่ไปเทียบกับท่านได้เลย พูดอะไรก็ผิดทุกอย่างว่ากันอย่างนั้น ไม่มีอะไรที่ผมคิดว่าผมรู้ คืออย่างสมมติมาสอนหนังสือ หรือพูดว่าสอนในมหาวิทยาลัย สอนวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ก็ยังกระทำด้วยความมั่นใจ แต่เมื่อผมพบกันท่านอาจารย์ปรีดี ผมพูดกับท่านรู้สึกว่าตัวเองไม่รู้อะไรเลย แล้วอันนี้ไม่ใช่เฉพาะผมเท่านั้น ลูกศิษย์ของท่านหลายก็พูดอย่างนี้ ผมจำได้ว่าคุณมารุต บุนนาคนี่เอง ซึ่งเป็นนักกฎหมายคนสำคัญว่า เวลาพบท่านอาจารย์ เราก็เหมือนกับนักเรียนเตรียม ความรู้ยังต่างกันอยู่อย่างนั้นยังเทียบกันไม่ได้

นี่เป็นคุณสมบัติของท่าน เรื่องราวของท่านปรีดี มีอีกมากมายครับ เอามาคุยเป็นปี ๆ ก็ว่าไม่จบ ผมไปนั่งอยู่สิงคโปร์ ๒ ปี ก็ไปนั่งเขียนหนังสือเป็นภาษาฝรั่งเล่มนี้ อันนี้ก็เป็นการประมวลเรื่องราวทั้งหลาย แล้วเมื่อเขียนเสร็จผมก็ส่งไปให้ท่านดู นั่นก็เป็นต้นฉบับ ท่านก็แก้ไขให้ข้อเท็จจริงอะไรต่าง ๆ มาเยอะ ซึ่งผมก็นำมาปรับปรุงแก้ไข แล้วสุดท้ายผมก็พิมพ์เสร็จก็ส่งไปให้ท่าน ท่านได้อ่านก็ฝากไปตอนที่ท่านผู้หญิงกับคุณสุภา ศิริมานนท์ท่านไป ก็รู้สึกท่านจะได้อ่านไม่เพียงแต่พลิก ๆ ดูกระมัง แล้วมีหนังสือมาบอกว่าอ่านละเอียดแล้วจะวิจารณ์ แต่ก็ไม่ได้รับการวิจารณ์จากท่าน ท่านก็มาสิ้นเสียก่อน

อย่างน้อยที่สุดท่านก็ได้เห็นว่าเราก็พยายามในทุกอย่าง เพื่อให้อะไรที่มืดมนอนธกาลอะไรที่เนเรื่องที่คนเขาไม่พูดกัน อะไรที่ไม่จริงไม่ถูกต้อง ก็จะได้รู้ถูกต้องกันเสียที ผมก็ต้องเขียน ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษก็เพื่อความถูกต้องนั้น เพราะถ้าเขียนภาษาไทยคนใช้ถ้อยคำก็อาจจะระมัดระวังไม่พอ ฉะนั้นจุดประสงค์ก็ให้เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก

บทความที่ ๑๖๕. เข้าใจให้ถูก คมช. คือคณะกบฏที่รอการตัดสินโทษประหาร !

เข้าใจให้ถูก คมช. คือคณะกบฏที่รอการตัดสินโทษประหาร !

บทความต่อไปนี้ได้เรียบเรียงสรุป สาระสำคัญที่อาจารย์มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือ “ประชาทรรศน์” ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒๐

๑. คำพิพากษาที่จะใช้บังคับประชาชนได้ต้องมีคำว่า “ในพระบรมปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” ใต้ตราครุฑ แต่หนังสือคำวินิจฉัยของ ตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ตั้งโดย คมช. ไม่มีคำสำคัญนี้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงเป็นของปลอมและกฎหมายที่ออกมาก็เป็นของปลอม เทียบได้กับธนบัตรปลอมที่ไม่มีผลทางกฎหมาย นำไปใช้ไม่ได้

๒. คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้กระทำการอันเข้าข่าย “กบฏ” คือกระทำการประทุษร้ายต่ออาณาจักร, ใช้กำลังล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการ

๓.องค์กรต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นมา เช่น คตส.หรือกฎหมายที่ออกมา ประชาชนต้องช่วยกันวงเล็บไว้ว่าออกโดยคณะกบฏที่มีความผิดรอโทษประหาร อยู่

๔. คำวินิจฉัยที่ออกมาได้สร้างความเสียหายย่อยยับแก่สถาบันตุลาการ แต่คำวินิจฉัย คำตัดสิน คำชี้ขาดของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เป็นของปลอม ไม่มีผลบังคับกับปวงชนชาวไทยได้ หากมันจะฟ้องร้องผู้ที่ขัดขืนคำสั่งฯ ท่านอาจารย์มานิตย์จะช่วยว่าความให้ ดังนั้นขอให้ช่วยกันกระจายเผยแพร่ความจริงเหล่านี้ออกไปให้มากขึ้น

๕. อำนาจปกครองประเทศเป็นของปวงชนชาวไทย ดังนั้นมวลประชาชนจงออกมารวมกันที่สนามหลวงมาร่วมกันใช้อำนาจตุลาการกันเองเลย นี่คือการตั้งศาลประชาชนซึ่งจะได้ตัดสินคดี คตส.,ป.ป.ช.และหากคณะกบฏยังไม่ออกไป ศาลประชาชนก็จะพิพากษาเลย

๖.คำพิพากษาศาลฎีกาก็ไม่ใหญ่ไปกว่าศาลประชาชน เพราะศาลฎีกาตั้งโดยตัวแทนประชาชน ๓-๔ คนตั้งให้ไปทำหน้าที่แทนเรา แต่ถ้ามันเลว ประชาชนก็เลิกจ้างและไล่ออกได้
นี่คือความยิ่งใหญ่ของปวงชนชาวไทย ถ้าปวงชนชาวไทยรวมตัวกันมาก ๆ เมื่อไร ก็ขับไล่ได้หมด !

๗. ประชาชนอย่าตกหลุมพลางคณะกบฏ เรียกการรวมตัวของเราว่าเป็น “ม๊อบ” เพราะ
“ม๊อบ” หมายถึงฝูงชนที่บ้าคลั่ง แต่เราเป็นประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ เป็นเจ้าของประเทศ

๘.คำสารภาพของ คมช.ว่าคณะตนเองเป็น กบฏ คือประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขฉบับที่ ๑ ว่าเขาได้ยึดอำนาจการปกครองและได้ล้มล้างรัฐบาลหมดแล้ว คำสารภาพนี้มาเทียบในกฎหมายอาญาจะเทียบเคียงได้กับมาตราที่ ๑๑๓

๙.ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจในการพิพากษาคดี คืออำนาจตุลาการเป็นของปวงชนชาวไทย อธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย อำนาจตุลาการเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย ปวงชนชาวไทยจึงเป็นเจ้าของอำนาจตุลาการ, อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร นี่คือความยิ่งใหญ่ของปวงชนชาวไทย

๑๐.หากจะมีกลุ่มมาต่อต้านแนวความคิดกลุ่มผู้ชุมนุมที่สนามหลวง เราไม่ต้องทำอะไรเขาเพราะเราจะยึดถือระบอบที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ เวลานี้เรามาชุมนุมกันเต็มสนามหลวง แล้วพวกกลุ่มต่อต้าน พวกนายสนธิ ลิ้มทองกุลมีกี่คน ? จะมาต่อต้านกลุ่มสนามหลวงใช่ไหม อ้าว ให้ตั้งขึ้นสิ แล้วมานับจำนวนกันดู นี่คือกระบวนคิดของพวกเรา มานับจำนวนกันสิใครมากกว่ากันฝ่ายนั้นชนะ นี่คือระบอบประชาธิปไตย เราไม่ต้องไปจัดการอะไรเขา นี่เราใช้ปัญญาเป็นอาวุธ

๑๑.คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญทั้ง ๙ คนนี่มาจากคำๆเดียวเลย “ประเพณี” คำว่าประเพณีคำเดียวมาวางแล้วมันไปเขียนคำวินิจฉัยตามกฎหมายปลอม ตามรัฐธรรมนูญปลอมหมดเลย นี่มันเป็นประเพณีไปแล้วใช่ไหม? เหมือนกับว่านำแบงค์ปลอมไปใช้แล้วมันบอกว่าใช้ได้ เพราะทำกันมา ๑๐ กว่าครั้งแล้ว เพราะฉะนั้นประเพณีแบบนี้จบเลยนะ.

๑๒.เวลานี้ไม่ต้องกลัวที่จะบอกว่ารัฐธรรมนูญนี้เป็นของปลอม เพราะต้องมาพิสูจน์กันว่าปลอมหรือเปล่า ถ้าไม่ปลอมต้องมาจากปวงชน เพราะรัชกาลที่ ๗ พระราชทานให้กับปวงชน เพราะฉะนั้นอำนาจที่จะทำอะไร ต้องเป็นของปวงชน ไม่ใช่ของพวกโจรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแล้วก็มาเขียนหนังสือหลอก มาออกวิทยุ ทีวี แต่พวกเราดันไปยอมรับว่ามันฉีกรัฐธรรมนูญ ๔๐ ไปยอมรับ ทรท ถูกยุบแล้ว ซึ่งที่จริงล้วนเป็นขบวนการของปลอมที่โจรทำขึ้นทั้งนั้นทุกเรื่องล้วนเป็นของปลอม

๑๓.เรามัวกลัวโจรอยู่ไม่ได้ ถ้าเรามารวมกันมากๆ มันจะทำอะไรเราได้ หากมีการกั้นรถ เราก็จอดรถเดินไป หรือลงจากรถเมล์แล้วเดินไป แล้วให้ถามตำรวจด้วยว่า มากั้นเราทำไม? เราจะไปไล่โจร หรือคุณจะเข้ากับโจร

๑๔. เรื่องทหารมีอาวุธปืนอาจจะใช้ความรุนแรงปราบปราม-มีปืนแล้วจะยิงได้สักกี่คนล่ะ, เรื่องแม่ทัพภาคที่ ๑ ออกมากล่าว..ก็ถามเขาว่าเขาจะปฏิบัติหน้าที่ให้ใคร ให้ปวงชนชาวไทยหรือจะปฏิบัติให้พวกกบฏ

๑๕. เรื่องผู้พิพากษาซึ่งเป็นผู้รับจ้างตัดสินคดีความตามสัญญาจ้างจากปวงชนคือรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ และอนุสัญญาคือ “พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตุลาการ” หากไปยอมตัดสินคดีตามรัฐธรรมนูญปลอมและกฎหมายปลอมคุณก็หมดเกียรติและจะถูกอำนาจของศาลประชาชนพิพากษา

๑๖.เรื่องคำวินิจฉัยย้อนหลัง ในประกาศ คปค.ฉบับที่ ๑๕-๒๗ นั้น กรณีของ ๑๑๑ คน เดิมทีไม่มีกำหนดว่าจะถูกตัดสิทธิทางการเมือง ๕ ปี แต่มาเขียนไว้ในประกาศปลอม กฎหมายปลอม มันเจ็บแสบตรงนี้ คนระดับผู้พิพากษาชี้ขาดคดี จำคุกคนได้ ประหารชีวิตคนได้ ทำให้คนจนเป็นรวย รวยเป็นจนได้ พื้นฐานของกระบวนความคิดของคนเหล่านี้ เราจะไว้ใจให้ตัดสินคดีประชาชนหรือ ? จะไว้ใจจ้างให้ทำหน้าที่ต่อไปอีกหรือ ถ้าฟังได้ว่าบุคคลเหล่านี้ไปร่วมกับกบฏก็ต้องถูกประหารด้วยนะ ถ้าเราไม่จัดการกับคนพวกนี้ให้เด็ดขาดเหล่าผู้พิพากษา ข้าราชการ หรือลูกจ้างอีก ๓-๔ พันคน บางคนอาจจ้องจะหาประโยชน์ก็จะบอกว่า เฮ้ย..กฎหมายปลอมก็ตัดสินได้โว้ย เพราะระดับประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด รองประธานฯ ได้ตัดสินเป็นตัวอย่างแล้ว แล้วบ้านเมืองมันจะเกิดอะไรขึ้น ชาวต่างชาติส่งเอกอัครราชทูตมาติดตามเรื่องนี้

๑๗. นายมีชัย ฤชุพันธุ์เป็นคนเขียนประกาศต่างๆให้กับกบฏ เขารับว่าเขาเขียนประกาศคณะปฏิรูปฯ คำสารภาพของนายมีชัยออกทางสื่อมวลชน แสดงว่าเขารู้อะไรผิดอะไรถูกหรือไม่ หรือรู้แล้วยังทำ คุณเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลงกรณ์ได้รับชื่นชมว่าเป็นกฎหมายมือ ๑ คุณไม่รู้หรือว่าการกระทำนี้เป็นกบฏเป็นโจรปล้นอำนาจประชาชน นายมีชัย ฤชุพันธ์จึงมีความผิดตามมาตรา ๑๑๓ เป็นตัวการร่วมการกระทำความผิด

Wednesday, June 20, 2007

บทความที่ ๑๖๔. โพธิอธิษฐาน

โพธิอธิษฐาน

เรื่องของมหาดเล็ก ๓ คนที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหาลอบปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล คือนายชิต, นายบุศย์, นายเฉลียว ๓ คนนี้ถูกยิงเป้าในแดนประหารชีวิตเรือนจำกลางบางขวาง

ก่อนที่ ๓ คนนี้จะเข้าสู่หลักประหาร เขาได้ปลูกต้นโพธิขึ้นมา ๓ ต้นที่ทางเข้าแดนประหาร แล้วก็ได้อธิษฐานว่า

“ถ้าพวกข้าพเจ้าทั้ง ๓ คนนี้ได้กระทำความผิด คิดร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจริงแล้ว ก็ขอให้โพธิทั้ง ๓ ต้นนี้ได้เหี่ยวเฉาตายไปพร้อมกับชีวิตของพวกข้าพเจ้าทั้ง ๓ คน แต่ถ้าหากว่าพวกข้าพเจ้าไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกตัดสินประหารชีวิต ก็ขอให้โพธิทั้ง ๓ ต้นนี้ ได้เจริญงอกงามต่อไป”

พี่น้องครับ- จนถึงวันนี้ โพธิทั้ง ๓ ต้นได้เติบใหญ่และงอกงามอยู่หน้าแดนประหารในเรือนจำบางขวาง ซึ่งชาวเรือนจำบางขวางเรียกโพธิ ๓ ต้นนี้ว่า “โพธิอธิษฐาน”

เมื่อมีเหตุการณ์หรืออะไรก็แล้วแต่ ผู้ต้องหาในเรือนจำกลางบางขวางก็จะไปบูชา สักการะโพธิ ๓ ต้นนี้อยู่เป็นประจำ นี้คือเกร็ดทางประวัติศาสตร์ ที่หลายคนอาจจะไม่เคยทราบมาก่อน

ที่ผมทราบเพราะผมอยู่ในนั้นมาสิบกว่าปีครับ ! และเกือบ ๆ จะได้เข้าไปยังเสาหลักประหาร ก็คิดอยู่แล้วเหมือนกันในวันนั้นว่าสงสัยคงจะตายแน่ จากการประทานให้ของท่าน “ป๋า” ก็เตรียมอยู่แล้ว ว่าถ้าเข้าเสาหลักประหารวันไหน เพื่อไม่ให้ขี้ขลาดก็เตรียมร้องเพลงไว้ จะเดินร้องเพลงองอาจเข้าไปเสาหลักประหาร แต่ปรากฏว่าไม่ตายครับ.


(ถอดความจากการปราศรัยของคุณสุรชัย แซ่ด่าน เวทีแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ ณ ท้องสนามหลวง วันอังคารที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๐)

บทความที่ ๑๖๓. รัฐบุรุษผู้ไร้แผ่นดิน ตอนที่ ๑

รัฐบุรุษผู้ไร้แผ่นดิน

ผู้ดำเนินการอภิปราย

จริง ๆแล้ว สิ่งที่อาจารย์ไสว (ไสว สุทธิพิทักษ์)ได้พูดไปนั้น เป็นเพียงผลงาน ถ้าจะว่ากันไปแล้วก็เป็นเพียงแต่น้อยนิดในสิ่งที่ ท่านปรีดี พมยงค์ ได้ทำคุณประโยชน์ไว้สำหรับประเทศ สำหรับผมเองนั้นตอนเปิดงาน กระผมได้พูดไว้นิดหน่อยว่า ได้มีโอกาสไปพบ ได้พูดกับท่าน ได้ร่วมงานกับท่าน ตลอดระยะเวลาที่ผมเป็นนักเรียนไทยในฝรั่งเศสเป็นเวลา ๕ ปี เมื่อผมไปถึงประเทศฝรั่งเศสใหม่ ๆ นั้น สิ่งแรกที่อยากจะทำก็คือไปพบ ท่านปรีดี พนมยงค์ เหมือนคนไทยหลายคนที่ไปถึงประเทศฝรั่งเศสแล้ว ทุกคนก็ตั้งหน้าตั้งตาที่จะไปบ้านพักท่าน ไปเยี่ยมท่าน

แต่ก็มีบางคนไม่ทราบจะหวังดีหรือยังไงก็ตามมาบอกผมว่า “ระวังนะ คุณเป็นข้าราชการ” ตอนนี้ผมได้เป็นอาจารย์อยู่ที่นี่ แล้วลาศึกษาต่อ ถ้าไปพบท่านปรีดี สันติบาลจะรายงาน นี่เห็นไหม ฝีมือสันติบาลไทยไปถึงปารีสโน่นแนะ ใครไปพบท่านปรีดีแค่นั้นก็รายงาน แต่ผมคิดว่ายังไง ๆ ก็ต้องพบให้ได้ เพราะในความรู้สึกนั้น หลายสิ่งหลายอย่างที่ผมเคยอยู่ในประเทศไทยนั้นแล้วเคยตั้งคำถามไว้ ก็ได้ไปพบคำตอบที่กรุงปารีส ไปถึงประเทศฝรั่งเศส นั่นก็คือสิ่งที่มันเป็นความลับหรือเป็นสิ่งที่เป็นความต้องและหลายคนในประเทศไทยได้พยายามบลสิ่งเหล่านี้ออกไปจากประวัติศาสตร์นั้น ไปได้คำตอบที่นั่น ไปพบความจริงที่นั่น เช่นเดียวกัน ผมคิดว่าท่านปรีดีเป็นรัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ที่เราหากต้องการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างแท้จริงแล้ว ท่านสามารถให้คำตอบได้

กระผมจึงไปอยู่ที่นั่น ได้พบกับท่าน ได้พูดคุยกับท่าน ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากท่าน ทุกครั้งเมื่อมีนักเรียนไทย หรือบุคคลสำคัญของประเทศไทย หรือบุคคลในคณะรัฐบาลหลายคน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคน ทุกคนเมื่อไปถึงกรุงปารีสต่างต้องการพบท่านปรีดี พนมยงค์ เพื่อที่จะถามไถ่ปํญหาบ้านเมือง ถามความคิดเห็นของท่านและสิ่งที่บุคคลเหล่านั้นได้เรียนรู้เมื่อได้พบท่านก็คือ ท่านมีความห่วงใยประเทศไทย มีความห่วงใยจนกระทั่งเมื่อวันที่ ๒ พ.ค. ซึ่งเป็นวันที่ท่านได้ถึงแก่อัญกรรมนั้น ท่านกำลังจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับงานของท่านในประเทศไทยอีก

นี่แหละครับรัฐบุรุษซึ่งได้ทำคุณประโยชน์ ไว้กับประเทศชาติอย่างมากมายนั้น ที่สุดท่านก็ต้องไปสิ้นชีวิตลง ณ ต่างแดน ไม่มีโอกาสที่จะกลับมาบ้านเกิดเมืองนอน ท่านเคยพูดกับผมหลายครั้งว่า ท่านต้องการกลับ แน่นอนเมื่อเกิดเป็นคนไทยก็ต้องการกลับบ้านเกิดเมืองนอน มาสิ้นชีวิต ลง ณ ที่นี้ แต่ผมคิดเหมือนกับหลายคนที่นั่งอยู่ที่นี่ ก็คงจะเดาออกว่าเหตุใดท่านจึงไม่กลับ เพราะท่านพูดว่า ถ้ากลับมาแล้ว ถ้าบ้านเมืองมันไม่สงบท่านก็ไม่อยากกลับ นั่นก็คือ ท่านมีความรักเป็นห่วงเป็นใยประเทศชาติบ้านเมือง มีคำถามหลายคำถามและบางครั้งก็เป็นคำถามที่พวกคุณเองซึ่งนั่งอยู่ ณ ที่นี้ก็คงจะถามเหมือนกัน หากมีโอกาสไปพบท่านที่ปรุงปารีส นั่นก็คือความมืดมนที่เกี่ยวกับกรณีสวรรคตของ ร.๘ กระผมเองจริงอยู่ใกล้ชิดกับท่าน เมื่อก่อนจะลากลับก็ถามท่านเป็นคำถามสุดท้ายเกี่ยวกับกรณีนี้ กระผมคิดว่าจะได้รับคำตอบจากท่าน แต่ท่านตอบเพียงว่า “ประวัติศาสตร์จะบอกคุณเอง” นี่แหละครับกระผมจึงคิดว่าท่านสมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็นรัฐบุรษอาวุโส เพราะเป็นบุคคลที่มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดี ผลงานที่ท่านทำไว้นั้น แม้จะมีมากมาย แต่ก็ยังเป็นงานที่พวกเราจำต้องศึกษากันต่อไป เพราะสิ่งที่ท่านทำไว้นั้นท่านเองก็ได้บอกว่ามีทั้งสิ่งที่เป็นความผิดพลาด ทั้งสิ่งที่เป็นความดีความถูกต้อง เป็นเรื่องของพวกเราที่จะต้องศึกษาว่า คณะราษฎรนั้นและตัวท่านเองได้ทำอะไรผิดพลาดไว้บ้าง แล้วก็พยายามแก้ไขให้เกิดความผิดพลาดนั้นอีก

กระผมจำได้ว่า โดยเฉพาะเมื่อเกิดกรณี ๑๔ ตุลาคมนั้น ท่านเขียนหนังสือไว้เล่มหนึ่งคือบทความว่า “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ของ ๑๔ ตุลาคม” ในบทความนี้เองได้เตือนพวกเราไว้ ให้ระมัดระวังจะถูกปล้นชัยชนะ เช่นเดียวกับที่คณะราษฎรได้เคยถูกปล้นไปแล้ว แต่ครั้งนั้นอาจจะเป็นเพราะ ไม่ทราบว่าเหตุอะไรที่พวกเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับบทความของท่าน แล้วความผิดพลาดนั้นก็คงจะเกิดขึ้นกับขบวนการที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างที่พวกเราได้เห็นได้ผ่านมาแล้ว

ผมคิดว่าในวันี้ พวกเราได้รับเกียรติเป็นอย่างยิ่งจากวิทยากรที่มาร่วาในวันนี้ ที่มาพูดถึงผลลงานของท่านปรีดี พนมยงค์ อาจจะพูดในเชิงวิเคราะห์ว่าท่านทำอะไรไปบ้าง แล้วพวกเราก็จะได้รู้จักกับท่านปรีดีมากขึ้น และคิดว่าจะเอาข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้นำไปคิด ไปศึกษากันต่อไป เพื่อที่จะต่อสู้ให่ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริง

ท่านที่มาร่วมอภิปรายในวันนี้นะครับ ที่อยู่ข้าง ๆ ผมด้านขวามือ คือ คุณสุภา ศิริมานนท์ ท่านผู้นี้ ความจริงที่ท่านเขียนไว้ในหนังสือ ไทยแลนด์ ที่ผมซื้อมา ท่านเขียนไว้ว่า “ข้าพเจ้าเป็นเสมอเพียงศิษย์เล็ก ๆ คนหนึ่งของ ดร.ปรีดี พนมยงค์” ถึแม้ท่านจะถ่อมตัวเป็นศิษย์เล็กๆ คนหนึ่งก็ตาม แต่ว่าใครที่ติดตามจากหนั้งสือพิมพ์หลาย ๆ ฉบับ ก็จะพบว่าคุณสุภา ศิริมานนท์นั้นเพิ่งกลับมาจากกรุงปารีส ท่านได้พบท่านปรีดี พนมยงค์ และได้มีโอกาสอยู่กับท่านเป็นเวลานาน วันนี้คุณสุภา ศิริมานนท์ นักคิด นักเขียน ก็จะมาพูดให้พวกเราฟังเกี่ยวกับทัศนะของท่านต่อท่านปรีดี

ท่านถัดไป ผมคงไม่ต้องแนะนำ เพราะพกวเราหลายคนคงรู้จักดี นักพูด นักคิด มีทั้งฝีปาก ฝีไม้ลายมือในกานเขียนเป็นที่เลื่องลือ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ วันนี้ท่านจะพูดให้เราฟัง ในประเด็นที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์หลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวกับข้องท่านปรีดี

ซ้ายมือผมท่านแรก คนนี้ที่ผมเชิญในวันนี้ คือคิดว่าจะเชิญคนร่วมสมัยกับพวกเรา อาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์เป็นนักเรียนที่เรียนอยู่ที่เยอรมัน และข้ามไปอังกฤษ และข้ามไปฝรั่งเศส เรียกว่าท่องเที่ยวอยู่ในยุโรป ในช่วงที่เรียนอยู่นั้น ผมเรียนอยู่ที่กรุงปารีส พวกเราได้มีโอกาสร่วมงานกัน เวลาอจารย์ไชยันต์อยู่ที่เยอรมันเป็นกรรมการของสมาคมนักเรียนไทยในเยอรมัน ไปอังกฤษก็เป็นกรรมการสมาคมนักเรียนไทยที่อังกฤษ และได้ร่วมประสงงานกันจัดการอภิปรายโดยเชญอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ไปพูดหลายครั้งทั้ง ๓ ประเทศ เพราะว่าผลงานที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ได้พูดไว้นั้น ถ้าเกิดขึ้นในยุคที่พวกเราเองได้ร่วมกันทำ อาจารย์ไชยันต์คงจะวิเคราะห์งานของท่านปรีดีให้พวเราได้ฟังด้วย

ท่านถัดไปก็คือ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ท่านผู้นี้มีศักดิ์เป็นหลานท่านปรีดี คือท่านหู้หญิงพูนศุข ซึ่งเป็นรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของท่านปรีดี พนมยงค์นั้น นามสกุลเดิมท่าน ณ ป้อมเพชร เพราะฉะนั้นดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชรซึ่งเวลานี้ก็ยังเป็นนายกสภาวิทยาลัยเกริก และท่านได้ศึกษางาน ดร.ปรีดี พนมยงค์ รวมทั้งได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ ดร.ปรีดี พนมยงค์ไว้ด้วย ผมคิดว่าในวันนี้ท่านคงมาพูดให้พวกเราได้ฟังทัศนคติของท่านที่เกี่ยวกับงานและชีวิตของดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่มีต่อประเทศไทย ในเบื้องต้นนี้ผมคิดว่าอยากจะเรียนเชิญ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ได้พูดก่อน เกี่ยวกับผลงานของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในทัศนะของท่าน ขอเรียนเชิญครับท่านอาจารย์

Tuesday, June 19, 2007

บทความที่ ๑๖๒. ถามคุณแด่บรรพชน ๒๔๗๕

ถามคุณแด่บรรพชน2475 อ่านสำนึกส.ศิวรักษ์ จนจบอยากทราบว่าคุณแด่บรรพชนมีความสัมพันธ์ส่วนตัวใกล้ชิดกับคุณสุพจน์ไหม?แล้วคุณแด่บรรพชนแน่ใจไหมว่าทัศนะข้อคิดเห็นของคุณสุพจน์จะถูกทุกประการคือในวาระนี้อยากหาคนที่พอจะเชื่อถือได้มั่นใจได้อยากศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์ที่แท้จริงอยากรู้ในหลายๆเรื่องที่ถูกบิดเบือนอ่านเรื่องราวที่คุณบรรพชนนำมาโพสต์ไว้หลายหนคิดว่าเป็นผู้ค้นคว้ามามากช่วยกรุณาตอบด้วย!!
โดย เด็กโง่ เมื่อ วัน อังคาร ที่ 19 มิถุนายน 2550, 11: 14 น.

ตอบ
คุณสุพจน์ ด่านตระกูล ท่านเป็นผู้ที่รักษาประตูแห่งสัจจะมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๔๙๕ และในปี พ.ศ.๒๔๙๕ นั้นเองท่านและนักนิยมเสรีประชาธิปไตยที่เคลื่อนไหวต่อต้าน รัฐบาลเผด็จการของจอมพล ป.พิบูลสงครามภายใต้การหนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ก็ถูกอัศวินตำรวจยุค พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ตามล่าจับกุมควบคุมตัว ดังที่คุณสุพจน์ ท่านได้เขียนไว้ในหนังสือ "ขบวนการกู้ชาติ" บรรยายถึงรายละเอียดตั้งแต่ท่านเคลื่อนไหวและถูกควบคุมตัว

การอุทิศชีวิตให้กับสัจจะ ความจริงของเหตุการณ์ในทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์เรื่องราวตั้งแต่การอภิวัฒน์การปกครอง ๒๔๗๕ เป็นต้นมา ซึ่งมีกลุ่มบุคคลพยายามมาตลอดหลายสิบปีที่จะลดทอนความสำคัญ บิดเบือน ใส่ร้ายการอภิวัฒน์การปกครอง ๒๔๗๕ ซึ่งเป้าหมายใหญ่ คือการมุ่งทำลายความน่าเชื่อถือ คุณงามความดีของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์

คุณสุพจน์ ด่านตระกูล ท่านค้นคว้าจากเอกสารหลักฐานทางราชการมากมาย จนท่านแน่ใจว่าท่านปรีดีฯ ตกเป็นเหยื่อของบรรดาซากเดนศักดินาล้าหลังที่ประสานความร่วมมือกันทุกทางที่จะลบประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์การปกครอง ๒๔๗๕ ให้เสมือนหนึ่งว่าไม่เคยมีเหตุการณ์อภิวัฒน์ปกครองเกิดขึ้นมาก่อน แต่ถึงดูเหมือนว่าจะทำได้เกือบสำเร็จในด้านที่มุ่งหมายเอาชีวิตท่านปรีดี จนท่านต้องหลบลี้ภัยไปอยู่สาธารณประชาชนจีนถึง ๒๑ ปี และในปี พ.ศ.๒๕๑๓ ท่านจึงย้ายไปพำนักที่ชานกรุงปารีสตั้งแต่นั้นจวบจนสิ้นอายุ แต่ความพยายามของซากเดนศักดินาล้าหลังที่จะครอบงำความจริงในเรื่องคุณงามความดีของท่านปรีดี โดยการใส่ร้ายท่านว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการปลงพระชนม์ ร.๘ เพื่อให้เรื่องนี้กลบคุณงามความดีของท่านเสียให้สิ้น ก็ให้ผลได้ในระยะหนึ่งดังที่ ส.ศิวรักษ์ได้สารภาพออกเป็นหนังสือของเขา และผมนำเสนอไปแล้วนั้น

แต่การครอบงำสังคมก็ไม่ประสบผลสำเร็จในที่สุดเพราะยังมีบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์การอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ และเหล่าเสรีไทย ตลอดจนบุคคลที่รักในสัจจะความจริงอย่างคุณสุพจน์ ด่านตระกูลได้บันทึกเหตุการณ์ ค้นคว้าหลักฐาน และสอบถามจากประจักษ์พยานในเหตุการณ์ต่าง ๆ จนได้ความจริงมาหักล้างความเท็จต่าง ๆ

ต่อมาท่านปรีดี ได้อ่านงานเขียนของคุณสุพจน์ ท่านปรีดีจึงได้อนุเคราะห์ส่งจดหมายแนะนำในเรื่องการอ้างอิงกับหลักฐานที่เชื่อถือได้เพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามสามารถโต้แย้งได้ ดังในบทความ http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_6415.html

ต่อคำถามที่ถามว่าผมมีใกล้ชิดกับคุณสุพจน์ ด่านตระกูลหรือไม่นั้น ผมขอตอบว่า ผมเป็นแต่เพียงคนรุ่นหลังของท่านที่ได้ศึกษาคุณงามความดีของท่านปรีดี พนมยงค์ ผ่านหลักฐานเอกสารต่างๆที่คุณสุพจน์ ท่านเสี่ยงตายเอาชีวิตเข้าแลกความจริง ดังนั้นผมจึงนับถือคุณสุพจน์ ว่าท่านเป็นผู้ที่ให้แสงสว่างทางปัญญาให้ผมได้มีจิตสำนึกค้นคว้า ต่อสู้เพื่อรักษาสัจจะความจริงให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้ถึงคุณงามความดีของท่านปรีดี พนมยงค์และวีรกรรมของเสรีไทยทั้งหลาย

และผมก็ขอดำเนินหนทางในการค้นคว้า เผยแพร่สัจจะความจริงนี้ให้ดำรงอยู่ตราบนาน ครับ
โดย แด่บรรพชนผู้อภิวัฒน์ ๒๔๗๕ เมื่อ วัน อังคาร ที่ 19 มิถุนายน 2550, 14 : 16 น.

บทความที่ ๑๖๑. ศิวรักษ์สำนึก (จบ)

ศิวรักษ์สำนึก (จบ)
ตอนที่ ๖

ทางด้านสายสัมพันธ์ระหว่างนายปรีดี พนมยงค์กับข้าพเจ้านั้น ครั้นถึงต้น พ.ศ.๒๕๒๕ ข้าพเจ้าได้ให้ตีพิมพ์หนังสือออกมาใหม่เล่มหนึ่ง ชื่อ อยู่อย่างไทยในสมัยศตวรรษที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีหน้าที่ประกอบไปด้วยข้อความดังต่อไปนี้ คือ

ข้าพเจ้าขออุทิศความดีหากจะเกิดมีจากหนังสือเล่มนี้ เพื่อบูชาคุณนายปรีดี พนมยงค์

ผู้มีบุญคุณอันยิ่งใหญ่ ในด้านการต่อสู้เพื่อธำรงรักษาไว้ได้ ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของชาติไทย แต่กลับได้รับการเนรคุณด้วยการใส่ร้ายป้ายสีจากชนชั้นปกครองอย่างโสมมยิ่ง แม้ข้าพเจ้าจะไม่เคยพบท่านผู้นี้เลยก็ตาม ทั้งยังเคยจ้วงจาบหยาบช้าต่อท่านด้วยซ้ำแต่ก็เห็นว่า ถ้าศตวรรษที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จะเป็นการเริ่มศักราชใหม่แห่งการอยู่อย่างไทย ให้สมศักดิ์ศรีกับความเป็นคนแล้วไซร์ เราน่าจะเริ่มด้วยสัจจะ ด้วยการสมานไมตรี และด้วยอโหสิกรรม เพื่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมของคนในสังคม

ข้าพเจ้าใคร่ขอเสนอให้ชนชั้นปกครอง ซึ่งรวมทั้งคณะองคมนตรีและคณะรัฐมนตรี ตลอดจนสมาชิกรัฐสภา ได้โปรดมีความกล้าหาญทางจริยธรรม นำเรื่องกราบบังคมทูลพระกรุณา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงเชิญท่านรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งเรามีอยู่แต่เพียงผู้เดียวนี้ ให้กลับมาร่วมงานสมโภชพระนคร เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ประเทศชาติ และให้ท่านได้มาใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายอยู่ภายในพระราชอาณาจักร ดังเช่นประธานาธิบดีเนวินได้กระทำมาอย่างน่าสรรเสริญกับอูนุ ก่อนที่ท่านจะสละตำแหน่งประมุของสหภาพพม่าไป ถ้าเราจะเป็นพุทธมามกะกันนอกเหนือรูปแบบออกไปแล้วไซร์ เราน่าจะกล้ากระทำการเช่นนี้ได้ ไม่น้อยไปจากเพื่อนพม่าของเรา

เมื่อฝากเพื่อนนำไปมอบให้ท่าน ท่านได้กรุณาตอบมาดังนี้

วันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๕เรียน คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่รักและนับถือ

ผมได้รับหนังสือ “อยู่อย่างไทย” ซึ่งคุณได้ให้พรทิพย์จัดส่งต่อมายังผมนั้นแล้ว

ผมขอแสดงความขอบคุณเป็นอันมากมายังคุณที่ได้มีเจตนาดีอุทิศความดีของหนังสือเล่มนั้นให้แก่ผม พร้อมทั้งได้ให้ความเป็นธรรมแก่ผมผู้ซึ่งถูกใส่ร้ายป้ายสีจากชนชั้นปกครองอย่างโสมมอย่างยิ่ง และความปรารถนาดีของคุณที่ใคร่จะให้ผมได้กลับไปอยู่อย่างไทยด้วยปกติสุข

ขอเดชะคุณพระศรีรัตนตรัยและอานิสงส์ที่คุณได้บำเพ็ญเพื่อชาติและราษฎรไทย รวมทั้งอานิสงส์ที่คุณได้บำเพ็ญเพื่อความบริสุทธิ์และความเป็นอยู่ปกติสุขของผมด้วยนั้น โปรดดลบันดาลให้คุณประสบสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล มีความสุขความเจริญทุกประการ พร้อมทั้งปราศจากภยันตรายทั้งปวง และประสบความสำเร็จในการงานเพื่อรับใช้ชาติและราษฎรไทยให้พัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ด้วยรักและนับถือปรีดี พนมยงค์

และแล้วในปีนั้นเอง ข้าพเจ้ามีโอกาสพาภรรยาไปเคารพท่านถึงที่บ้านชานกรุงปารีส โดยที่ได้ทราบมาว่าท่านตื่นเต้นมากที่จะได้พบข้าพเจ้า “ศัตรูเก่า” ของท่าน ท่านถึงกับโทรศัพท์ทางไกลมาบอกว่าจะส่งรถไปรับที่สนามบิน โดยจะให้พักที่บ้านหรือที่ใกล้ ๆ บ้านท่าน แต่เราเกรงใจท่านกันทั้งเรายังมีเพื่อนไทยที่มีแก่ใจให้พักในใจกลางกรุงอีกด้วย

เลยเข้าใจผิดกันจนเกิดโอละพ่อเล็กน้อยที่สนามบิน แต่พอถึงใจกลางกรุงปารีส ท่านก็เชิญไปพบท่านเดี๋ยวนั้น (วันเสาร์ที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๕) คุยกันอยู่ราวครึ่งวัน ทั้ง ๆที่ข้าพเจ้าอดนอนมาในเรือบินโดยตลอด แต่ก็คุยกับท่านด้วยความสุขและเพลิดเพลินเจริญใจ โดยได้รับความเมตตาปรานีจากท่านผู้หญิงยิ่งนัก

ส่วนมากเราคุยกันเรื่องเก่า ๆ เรื่องเจ้าเรื่องนาย และเรื่องลี้ลับทางประวัติศาสตร์ที่ข้าพเจ้าหาอ่านไม่ได้ ได้ทราบว่าท่านปรารภกับท่านผู้หญิงก่อนข้าพเจ้าไปว่า “คุณสุลักษณ์เขารู้เรื่องเจ้านายมาก ฉันเองชักจะไม่แม่น เธอต้องมานั่งคุยด้วย จะได้ช่วยกัน” ที่จริงท่านยังแม่นยำและปราดเปรียวทางสติปัญญาเกินคนวัยแปดสิบทั่วไปยิ่งนัก ท่านสุภาพราบเรียบ และยกประโยชน์ให้กับอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ โดยที่การพูดมักมีเอกสารประกอบด้วยเนือง ๆ ทำให้นึกถึงที่ ม.จ.พิไลยเลขา ดิศกุลทรงเล่าว่า เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ไปเฝ้าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่วังวรดิศ ตอนเสด็จกลับจากปีนังนั้น ท่านก็ “ทึ่ง” สมเด็จว่าพระชมม์ ๘๐ แล้วยังปราดเปรียว แม่นยำสมเป็นรัฐบุรุษนั่นเอง

ข้าพเจ้าพูดกับท่านว่า “อาจารย์เคยคิดบ้างหรือเปล่าว่าอาจารย์เหมือนพระเจ้าตากสินที่กอบกู้เอกราชมาเมื่อพระชนม์ยังน้อย แล้วเสวยราษฎร์อยู่ ๑๕ ปีก็ถูกปลงพระชนม์ อาจารย์ก็กู้เอกราชมาและอยู่ในอำนาจ ๑๕ ปีเท่ากัน โดยที่ตอนอาจารย์ถูกเอาออกนั้น อายุเท่ากับพระเจ้าตากสินพอดี นับว่ายังดีที่อาจารย์มีชีวิตรอดมาได้จนป่านนี้”

ท่านบอกว่า
“เรื่องนี้ผมไม่เคยคิดเทียบกับพระองค์ท่าน และที่คุณใช้คำว่าผมอยู่ในอำนาจนั้น ก็ออกจะใหญ่โตเกินไป ใช้คำว่าผมมีโอกาสรับใช้ชาติบ้านเมืองจะดีกว่า”

วันรุ่งขึ้น ท่านส่งรถมารับไปคุยกับท่านอีกเช่นกัน โดยที่วันนี้เราพูดธุระกันเรื่องโครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย” อันเป็นการประยุกต์หลักวิชามาใช้เพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองในปัจจุบันและอนาคต...

สำหรับโครงการปรีดีฯ นี้ เรามีมติที่จะรวบรวมผลงานของท่านทั้งหมด รวมตีพิมพ์เป็นชุด โดยที่ปี ๒๕๒๕ ประชาธิปไตยจะมีอายุครบ ๕๐ ปี ข้าพเจ้าแนะให้กรรมการผู้จัดพิมพ์งานเขียนของท่านขออนุญาตตีพิมพ์ “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎร และระบอบประชาธิปไตย” ในโอกาสดังกล่าวท่านปฏิเสธ โดยตอบว่าเรื่องดังกล่าวท่านเขียนด้วยอคติและความเข้าใจผิด ทั้งยังไปกระทบ “เพื่อนที่สำคัญของเราเข้าคน ๑ ด้วย” ถ้าจะตีพิมพ์ก็ต้องแก้ไขยกโครงร่างใหม่หมดเลย ซึ่งขณะนั้น ท่านยังไม่อาจทำให้ได้ นับว่าน่าเสียดายนัก

จากการพบกับนายปรีดี พนมยงค์ แม้เพียงสองครั้ง ทำให้ข้าพเจ้าด่วนสรุปได้ว่า (๑)ท่านบริสุทธิ์ ยุติธรรมและมองโลกในแง่ดี เกินไปกว่าที่จะเป็นนักการเมือง (๒)ท่านฉลาดเฉลียวเกินไปกว่าคนร่วมสมัย แม้คนข้างเคียงก็ยากที่จะตามได้ทัน แม้ท่านจะเป็นครูบาอาจารย์แต่ศิษยานุศิษย์โดยทั่ว ๆ ไปก็ได้เพียงเปลือกกระพี้ไปจากท่าน ยิ่งกว่าเนื้อหาสาระที่เป็นแก่น (๓) ท่านเป็นคนเด่น แม้จะไม่ต้องการความเด่นที่เข้าข้างความดี ที่หาทางจับผิดได้ยาก ประกอบกับข้อ (๒)ที่กล่าวมาแล้ว จึงเป็นเหตุแห่งความอิจฉาริษยาของคนโง่ คนชั่วและคนเห็นแก่ตัวหรือคนอาธรรม์ ซึ่งมักมีอำนาจอันแฝงเร้น พูดอย่างมโหฬารก็ว่าดวงท่านแรง จึงเกิดศัตรูได้ง่ายโดยไม่จำเป็น โดยคนที่เกลียดท่าน(ดังที่ข้าพเจ้าเคยเกลียดท่าน) ไม่เคยรู้จักเท่าเอาเลยด้วยซ้ำ

๔) ท่านเข้าใจราษฎรและสังคมไทยลึกซึ้งเกินกว่าที่ข้าพเจ้าเคยคาดคิดไว้ก่อนมากนัก ทั้งท่านยังรู้เรื่องเจ้านายอย่าง เคารพ และเท่าทัน อีกด้วย (๕) ท่านต้องการประชาธิปไตยที่แท้ ท่านต้องการสังคมนิยมที่เป็นวิทยาศาสตร์ และมีเสรีภาพเป็นปทัสฐาน ตราบเท่าที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยอธรรมและความหน้าไหว้หลังหลอก ที่ต้องการเอาเปรียบราษฎรด้วยการมอมเมากันทางไสยศาสตร์ ในนามของความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ต่าง ๆ ชนชั้นนำจะต้องผนึกกำลังกันต่อต้านนายปรีดี ไม่ว่าท่านจะยังมีชีวิตอยู่หรือหาไม่ก็ตาม

(๖) ท่านเป็นคนดื้อรั้น ไม่ยอมลดอุดมการณ์ ไม่ยอมไกล่เกลี่ยหลักการ ไม่ยอมสยบกันอำนาจอันไม่เป็นธรรม คนอย่างนี้ เกือบจะหาไม่ได้แล้วในบ้านเมืองเราในบัดนี้ (๗) ท่านเป็นผู้ปกป้องผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบเพื่อพยุงฐานะของกลุ่มคนนั้น ๆ ไว้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้า ไพร่ หรือขุนนาง โดยที่ฝ่ายหนึ่งต้องไม่ประทุษร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง หากมุ่งไปที่ความชอบธรรม ผลก็คือ ท่านถูกประทุษร้ายเสียเอง

กล่าวโดยสรุปก็คือ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นสัญลักษณ์ของธรรมะเพื่อต่อสู้กับอธรรม ข้าพเจ้าดีใจที่ได้มีโอกาสขอขมาท่าน มีโอกาสได้ไปกราบท่าน และคุยกับท่านอย่างกันเอง

เมื่อต้น พ.ศ.๒๕๒๖ นี้เอง ท่านก็มีแก่ใจส่ง ส.ค.ส.มาให้ พร้อมด้วยลายเซ็น ของท่านผู้หญิงซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการให้กำลังใจอย่างสำคัญ จึงขออัญเชิญมาลงไว้ในหนังสือเล่มใหม่ชื่อ “น้ำเชี่ยวให้ขวางเรือ” ดังนี้

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๒๖ ขออวยพรให้คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์กับครอบครัว จงประสบสิริสวัสดิ์ พิพัฒนมงคล เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ และประสบความสำเร็จในการรับใช้ชาติและราษฎรไทย เพื่อสันติภาพและประชาธิปไตยทุกประการ

ปรีดี พนมยงค์ พูนศุข

Sunday, June 17, 2007

บทความที่ ๑๖๐. ศิวรักษ์สำนึก ตอนที่ ๕

ศิวรักษ์สำนึก

๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๓
เรียน คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่นับถือ

จดหมายของคุณฉบับลงวันที่ ๑๓ พ.ค. ๒๕๒๓ ได้ทำให้ผมมีความปลาบปลื้มเป็นอันมากที่คุณได้อวยพรในวันคล้ายวันเกิดของผมอายุครบ ๘๐ ปี ประกอบด้วยความวิจารณญาณของคุณที่เห็นความบริสุทธิ์ของผมที่ได้รับใช้ชาติไทยซึ่งเป็นที่เคารพสักการะสูงสุดของปวงชนชาวไทยทั้งมวลและความบริสุทธิ์ของผมกับความบริสุทธิ์ของบุคคลที่ถูกประหารชีวิตในกรณีสวรรคต ร.๘

ตามที่คุณขออโหสิจากผมในการเขียนการพูด ซึ่งคุณได้ปฏิบัติเกี่ยวกับผมที่แล้ว ๆ มานั้น ผมมิเพียงยินดีอโหสิกรรมแก่คุณเท่านั้น หากขอสรรเสริญคุณอีกด้วยที่คุณมีคุณธรรมสูง คือเมื่อพลั้งพลาดไปเพราะความเข้าใจผิดนั้น อันเป็นลักษณะของบุคคลก้าวหน้าซึ่งรับใช้ชาติและราษฎรเพื่อความเป็นเอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ สันติภาพความเป็นกลาง และความสุขสมบูรณ์พร้อมด้วยประชาธิปไตยของราษฎร ผมจึงขออวยพรให้คุณประสบความสุขความเจริญทั้งทางกายและทางใจ และประสบความสำเร็จทั้งหลายในการรับใช้ชาติและราษฎรดังที่ผมกล่าวนั้น

ผมรู้สึกตนว่ามีความผิดพลาดที่ได้ใช้วิธีไม่เหมาะสมในการโต้ตอบข้อเขียนของคุณ จึงขออภัยคุณไว้ที่นี่ด้วย

อนึ่ง ผมมีความยินดีที่จะมีโอกาสสนทนากับคุณตามความปรารถนา

ด้วยความนับถือ
ปรีดี พนมยงค์

นับว่าท่านให้เกียรติ ให้ความเมตตาปรานี และมีน้ำใจ เป็นสุภาพบุรุษพุทธบริษัทโดยแท้ หลังจากนั้น ท่านก็คงส่งเอกสารให้ หากหนังสือใหม่ให้อ่านอยูเสมอมา แต่เราก็หาเคยพบกันใหม่ จนเมื่อข้าพเจ้าไปยุโรปเมื่อปลาย พ.ศ.๒๕๒๔ เจอเพื่อนนักเรียนอังกฤษรุ่นหลังที่กรุงบรัสเซล โดยที่เขาเป็นคนสนิทชิดชอบอยู่กับนายปรีดีและท่านผู้หญิง เขาแนะนำให้ข้าพเจ้าพูดโทรศัพท์กับท่านที่ปารีส ตอนผ่านท่าอากาศยานแห่งนั้น เพราไม่มีเวลาจะเข้าไปหาท่านได้ ข้าพเจ้าเชื่อเขา จึงโทรศัพท์เข้าไปเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ได้พูดกับทั้งท่านผู้หญิงและตัวท่านเอง ให้รู้สึกดีใจ และชื่นใจ เราคุยกันอยู่นานโดยท่านบอกให้ระมัดระวังตัวอย่าประมาท โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับทหารและการใช้อำนาจลึกลับ ทั้งท่านขอให้ดูแลสุขภาพส่วนตัวด้วย

ข้าพเจ้ามาทราบภายหลังว่าท่านบ่นเสียดาย ที่ไม่ได้พบข้าพเจ้าและว่าพูดโทรศัพท์กันน้อยไป แถมยังชมว่าเสียงข้าพเจ้าแสดงว่าเป็นคนมีอำนาจ เมื่อข้าพเจ้ามีโอกาสพบท่านภายหลังในอีกประมาณปีหนึ่งต่อมา ท่านคงเปลี่ยนทัศนะคตินี้ไปแล้วดอกกระมัง เพราะพอท่านเห็นสารรูปและการแต่งตัวของข้าพเจ้าเข้าแล้ว คงตัดสินได้ว่า ไม่มีทางที่ข้าพเจ้าจะเป็นคนที่มีอำนาจได้อย่างไรเลย

ความจริง แต่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ แล้ว ที่ข้าพเจ้าทราบว่า ภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ที่ท่านเขียนและกำกับคนแสดงมาแต่เมื่อก่อนสงครามอินโดจีนนั้น ท่านให้อัดขึ้นใหม่ โดยตัดต่อใหม่อย่างเรียบร้อย และมีก๊อปปี้ตกเข้ามาถึงกรุงเทพฯ แล้วด้วย โดยที่ข้าพเจ้าเคยชมภาพยนตร์เรื่องนี้มากับบิดาแต่ยังเป็นเด็ก จึงอยากขออนุญาตท่านนำมาแสดงให้สมาชิกและแขกของสยามสมาคมชม

ครั้นขออนุญาตไป ท่านก็ให้ ดังเมื่อคราวจัดแสดงครั้งแรก งานนายชาญวิทย์ เกษตรศิริได้มากล่าวนำอธิบายข้อความต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษ เพราะสมาชิกสมาคมนั้นส่วนมากเป็นฝรั่งและภาพยนตร์เรื่องนี้ก็พูดภาษาอังกฤษกัน ทั้งนายชาญวิทย์ เกษตรศิริยังอุตส่าห์ไปชักชวนนักแสดงมาปรากฏตัวในที่ประชุมหลายคน แม้จะล่วงกาลผ่านวัยกันมามากแล้วทุกคนแต่ก็เป็นที่ครึกครื้น เก็บเงินได้มากพอ จนสามารถส่งไปสมทบทุนสร้างห้องสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ด้วย

เวลานั้นกรรมการสยามสมาคมส่วนใหญ่ไม่ทราบเรื่องความเป็นไประหว่างนายปรีดีกับข้าพเจ้า บางท่านถึงกับถามว่า “ดีกันแล้วหรือ” หาไม่ก็ “ทำไมถึงยอมให้เอาหนังเรื่องนี้มาฉายได้” และแล้วในที่สุดท่านก็อนุญาตให้สยามสมาคมทำก๊อปปี้ไว้เป็นของสมาคมเองด้วยหนึ่งชุด โดยให้สิทธิขาดแก่ข้าพเจ้า ว่าจะอนุญาตให้ไปแสดงที่ใดก็ให้อยู่ในดุลยพินิจของข้าพเจ้า

ด้วยเหตุฉะนี้ ข้าพเจ้าจึงนำออกแสดงทุกปีต่อมา โดยเฉพาะก็เมื่อคราวแสดง ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๒๕ นั้น ทางสมาคมประกาศ ว่าการแสดงครั้งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงงานอภิวัฒน์ทางวัฒนธรรมและการเมืองครบ ๕๐ ปี เป็นเหตุให้มีผู้มาขู่ว่าจะมีการถอนบรมราชูปถัมภ์ออกจากสยามสมาคม ซึ่งข้าพเจ้าและนายกสยามสมาคมถือว่าเป็นข่าวโคมลอย เพราะเชื่อว่าองค์บรมราชูปถัมภก หาได้ทรงหวั่นไหวตามไปด้วยกับเสียงจิ้งจกตุ๊กแกทั้งหลายทั้งปวงไม่

บทความที่ ๑๕๙. ศิวรักษ์สำนึก ตอนที่ ๔

ศิวรักษ์สำนึกตอนที่ ๔

กราบเรียน ท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ที่เคารพอย่างสูง

คุณสุภา ศิริมานนท์ได้กรุณานำหนังสือ “คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.๘” มาให้กระผม ๑ เล่ม พร้อมด้วยนามบัตรของท่าน แจ้งว่าท่านผู้หญิงสั่งให้ส่งถึงมือกระผมให้ท่านวันที่ ๑๑ พฤษภาคม เผอิญกระผมไปประเทศจีน เพิ่งกลับมาถึงวันนั้นพอดี ได้เห็นนามบัตรทราบว่าวันดังกล่าวตรงกับวันเกิดของท่านครบ ๘๐ ปีบริบูรณ์ ก็เลยได้ถือโอกาสตั้งจิตอธิษฐานขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยได้โปรดบันดาลให้ท่านอายุมั่นขวัญยืน มีสติปัญญากล้าแข็ง เพื่อเปิดเผยสัจจะออกมาให้ปรากฏ เพื่อสันติสุขของชาวไทยและชาวโลกสืบต่อไปชั่วกาลนาน

พร้อมกันนี้กระผมก็ขอกราบขอบคุณท่าน และท่านผู้หญิงที่มีเมตตา กรุณาส่งหนังสือมาให้ โดยที่กระผมได้เคยรับความอารีเช่นนี้มาก่อนบ้าง แล้วทั้งทางหนังสือเล่มและทางคำพูดที่คุณสุภากรุณาสืบต่อมาให้ นับเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

ในวันที่ ๑๑ นั้นเอง แม้จะเหนื่อยล้าจากการเดินทางเพียงใด กระผมก็นั่งจมอยู่จนดึกโดยอ่านหนังสือเล่มดังกล่าวจนจบ ทั้ง ๆ ที่เคยอ่านฉบับร่างคำฟ้องก่อนหน้านั้นแล้ว และได้นึกนิยมชมชอบมาแต่ตอนอ่านครั้งแรกนั้นแล้วว่า ท่านเป็นผู้ที่ต่อสู้ความอาสัตย์ด้วยความสัตย์อย่างน่าสรรเสริญ เมื่อมาอ่านอีกครั้ง ยิ่งเกิดความปิติเลื่อมใสในสติปัญญา ความสามารถความละเอียดถี่ถ้วนของท่าน ทั้งด้านการสืบสวน ค้นคว้าหาหลักฐาน วิจัยและวิเคราะห์อย่างยากที่จะหาตัวจับได้ แม้จะชราอายุถึงเพียงนี้แล้ว ก็ยังมีความคิดเป็นเลิศอยู่ สมแล้วกับตำแหน่งรัฐบุรุษอาวุโส และถ้ารัฐบุรุษไทยยุคใดสมัยใดแลเห็นคุณงามความสามารถของท่านได้เช่นนี้ ก็คงจะหาโอกาส “ปรึกษากิจราชการแผ่นดิน” กับท่าน “เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป”

กระผมต้องขอสารภาพกับท่านอย่างหน้าชื่นว่า ตัวเองได้เคยล่วงเกินท่านทั้งโดยในมโนกรรมและวจีกรรม ทั้งนี้เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แม้กระผมจะไม่เชื่อว่าท่านมีความเลวร้ายในเรื่องกรณีสวรรคต แต่ก็ต้องขอยอมรับว่าได้เคยเชื่อข่าวลืออันเป็นอกุศลเกี่ยวกับตัวท่านมาแต่ก่อน และได้ให้ความเชื่อมั่นในสถาบันศาลของไทยมาเกินพอดีไป ดังได้เขียนวิจารณ์เรื่อง The Devil’s Discus ไปในทำนองนั้น หารู้ไม่ว่านั่นได้เป็นปฐมเหตุให้ท่านต้องเจ็บช้ำน้ำใจ ได้ทราบว่าคุณดิเรก ชัยนาม ก็โทมนัสขัดแค้นมาก ควรที่กระผมจะสืบทราบข้อเท็จจริงจากท่านผู้นั้น ก็กลับเหลวเสียแต่ภายหลังต่อมากระผมได้พยายามแสวงหาความจริงในเรื่องนี้อยู่มาก ทั้งจากปากคำและจากเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ทำให้สว่างมากขึ้น

ยิ่งกรณีนายตี๋ ศรีสุวรรณ ด้วยแล้ว กระผมคลางแคลงมานานแล้ว ต่อมาได้อ่านคำสารภาพของแกก็ยิ่งปราศจากกังขาใด ๆ อีกเลย ยิ่งมาได้อ่านถ้อยคำของท่าน(ท่านปรีดี)ในเรื่องอินทภาสและข้อโต้แย้งตอบพระยาเลขวณิชธรรมวิทักษ์กับพวกคณะศาลฎีกาชุดนั้นแล้ว กระผมยิ่งเห็นได้ชัดเลยว่าศาลไทยนั้นทิ้งหลักการความยุติธรรมได้อย่างน่าอนาถใจมาแต่สมัยนั้นแล้ว ยังการให้ข่าวลือทำลายคนนั้นกระผมเองยิ่งเห็นชัดขึ้น เมื่อคราวคุณป๋วย อึ๊งภากรณ์นี่เอง แม้ตัวเองก็ได้ลิ้มรสทำนองนั้นด้วยเช่นกัน

กระผมจึงขออโหสิกรรมจากท่าน ที่ได้จ้วงจาบหยาบช้าต่อท่านมาแต่ก่อน ไม่จำเพาะแต่เรื่องที่เอ่ยถึงนั้นเท่านั้น หากยังในข้อเขียนอื่น ๆ อีกด้วย หวังว่าท่านคงกรุณาให้อภัย และหากเป็นไปได้กระผมอยากขออนุญาตมากราบเท้าแสดงความเคารพถึงปารีส เมื่อเป็นโอกาสอันควร

กระผมหวังว่าท่านคงมีเวลาเขียนเรื่องเนื่องด้วยข้อเท็จจริงทำนองนี้ออกมาให้ปรากฏเรื่อย ๆ ซึ่งไม่แต่พิสูจน์ความบริสุทธิ์และความกล้าหาญทางจริยธรรม ที่ท่านได้รับใช้ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มาเท่านั้น หากยังเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อันไม่อาจหาได้จากใครอื่นอีกด้วย ด้วยเหตุฉะนี้กระผมจึงมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะมีสติปัญญา พลานามัย สุขกาย สุขใจสืบต่อไปอีกนานเท่านาน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ข้าพเจ้าได้ส่งสำเนาให้นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ นายสุภา ศิริมานนท์ นายกรุณา กุศลาสัย และบางคนที่เป็นตัวเชื่อมให้ข้าพเจ้าเข้าใจนายปรีดี ข้าพเจ้าถือว่าท่านเหล่านี้มีบุญคุณ เพราะท่านไม่เคยยัดเยียดให้ข้าพเจ้าเปลี่ยนทัศนคติและไม่เคยลบหลู่ดูถูกความคิดอ่านของข้าพเจ้า บางท่านเพียงพูดว่า ข้าพเจ้าเป็นคนมีสติปัญญา แต่บางทีบางอย่างอาจบดบังผมอยู่ก็ได้ ดังที่เขาเรียกกันว่าเส้นผมบังภูเขา เมื่อเขี่ยผงเสียแล้วย่อมเห็นภูเขาได้เอง บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นแล้ว ว่านายปรีดี พนมยงค์ เป็นขุนเขาอันยิ่งใหญ่ที่แม้จะมีหมู่มารเอาเส้นผมและขวากหนามมาปิดกั้น ก็หาทำได้ตลอดไปไม่ ข้าพเจ้าเองถือเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องสนองคุณท่านด้วยการประกาศสัจจะให้แพร่หลายออกไปให้เป็นที่รับทราบกันในวงกว้างให้จงได้

ภายในเวลาอันไม่ช้า ท่านก็ได้ตอบจดหมายข้าพเจ้ามาดังนี้

บทความที่ ๑๕๘. ศิวรักษ์สำนึก ตอนที่ ๓

ศิวรักษ์สำนึก

ในช่วงเผด็จการธานินทร์ กรัยวิเชียร ข้าพเจ้าต้องระหกระเหินไปอยู่อังกฤษ อเมริกาและคานาดา เมื่อกลับเข้ามาใน พ.ศ. ๒๕๒๑ ก็ยังไม่มีงานทำ เคราะห์ดีได้ทุนมาศึกษาจากสภาวิจัยทางสังคมศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อค้นคว้าในระดับที่พ้นปริญญาเอกออกไป ในเรื่องสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดังได้จัดพิมพ์เรื่อง “ให้พระยาอนุมาน” อันเป็นลายพระหัตถ์ที่ทรงโต้ตอบกับท่านผู้นั้น(ท่านปรีดี) ขึ้นไว้ในปลายศกนั้น สำหรับคำนำหนังสือเล่มนั้น ข้าพเจ้าได้เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

“มีเรื่องเพิ่มเติมที่จะแจ้งให้ทราบอีกข้อหนึ่งคือ เมื่อสมเด็จฯ เสด็จกลับเข้ามาจากเกาะหมากนั้น ท่านพระยาอนุมานราชธนมักหาโอกาสไปเฝ้าแหนที่วังวรดิศเสมอ จนถึงกับมีคนไปรายงานอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งควบคุมตำรวจลับ(สันติบาล) อย่างกวดขัน และลือกันว่าดุร้ายเหี้ยมโหดนักด้วย เผอิญอธิบดีเป็นนักเรียนอัสสัมชัญรุ่นไล่ ๆ กับท่าน และรู้จักท่านดี จึงบอกว่า “พระยาอนุมานแกไม่สนใจการเมืองดอก แกสนใจแต่วิชาความรู้ อย่าไปติดตามแกเลย” เรื่องเป็นอันพับไป (เสียดายที่เวลานี้ เราไม่มีคนอย่างนี้เสียแล้ว และจดหมายที่ส่งไปถวายยังเกาะหมาก ถูกแอบเปิดออกอ่านบ้างหรือไม่ ก็ไม่ทราบได้)

ทั้งเวลานั้น ท่านอธิบดีผู้นี้ เริ่มหันมาสนับสนุนผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นผู้ก่อการคนสำคัญฝ่ายพลเรือน ที่มีความคิดทางการเมืองแตกต่างออกไปจากนายกรัฐมนตรีในเวลานั้นยิ่งขึ้นทุกทีด้วยแล้ว ทัศนคติของท่านอธิบดีที่เกี่ยวกับเจ้านายจึงคลายความตึงเครียดลง (หลังจากที่จับกรมขุนชัยนาทนเรนทรมาแล้ว) ท่านผู้สำเร็จราชการนั้นเอง(ท่านปรีดี พนมยงค์) ก็มีความเคารพนับถือสมเด็จฯถึงกับมาเฝ้าที่วังวรดิศ (โดยที่นายกรัฐมนตรีไม่เคยมาเลย เมื่อสิ้นพระชนม์ ก็ได้ทราบว่าเพราะหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ไปกระตุ้นเข้าว่าถ้าไม่ไปเคารพพระศพ จะน่าเกลียด จึงได้ไปที่วัง)

ต่อมาภายหลังท่านปรีดีได้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีส่วนอย่างสำคัญ ในการตั้งหอสมุดดำรงราชานุภาพขึ้น ซึ่ท่านพระยาอนุมานราชธนได้เป็นตัวตั้งตัวตีที่อยู่เบื้องหลังอย่างไม่ต้องสงสัย”

ข้อความดังกล่าว เป็นครั้งแรกที่ปรากฏว่าข้าพเจ้าเขียนถึงนายปรีดี พนมยงค์ ด้วยความเคารพ (แม้จะไม่เคยเอ่ยนาม) แต่ก็เขียนขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ข้าพเจ้าสอบสวนค้นคว้ามาจนแน่ใจแล้ว

ความจริงแล้ว จำเดิมแต่ต้น พ.ศ.๒๕๒๑ มาแล้วที่ข้าพเจ้าเริ่มอ่านเอกสารต่าง ๆ ของนายปรีดี และที่เกี่ยวกับท่านผู้นี้มากขึ้น โดยเฉพาะก็คำฟ้องที่เนื่องด้วยกรณีสวรรคต ข้าพเจ้ายอมรับว่าข้อเขียนของท่านบางชิ้นอ่านเข้าใจยากมาก แต่บางชิ้นก็อ่านได้เนื้อหาสาระควบคู่ไปกับความเพลิดเพลินแม้หลายต่อหลายชิ้นข้าพเจ้าจะไม่เห็นพ้องต้องด้วย ที่สุดจนพฤติกรรมของท่านบางอย่างบางประการที่บริษัทบริวารเอามายกย่องสรรเสริญ ข้าพเจ้าก็ไม่ได้เห่อเหิมตามไปด้วย หากมาถึงช่วงนี้อคติที่มีเกี่ยวกับนายปรีดีได้ปลาสนาการไปยิ่งขึ้นทุกที

เมื่อทิฏฐิและข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปถึงเพียงนี้แล้ว จึงไม่ยากที่เมื่อข้าพเจ้าได้รับหนังสือเรื่อง “คำตัดสินใหม่เกี่ยวกับคดีสวรรคต” ที่ตีพิมพ์สำหรับงานฉลองอายุ ๘๐ ปีบริบูรณ์ของนายปรีดี พนมยงค์ใน พ.ศ. ๒๕๒๓ โดยที่ผู้นำมามอบให้แจ้งว่าท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ขอให้ ๆ ข้าพเจ้าเป็นคนแรก ให้ทันวันที่ ๑๑ พฤษภาคม อันเป็นวันคล้ายวันเกิดของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ทั้ง ๆ ที่วันนั้นข้าพเจ้าเพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศจีน ถึงบ้านเอาเย็นแต่ก็ได้อ่านหนังสือนั้นจนจบ ซึ่งเป็นเวลาวันใหม่ล่วงแล้วไปหลายชั่วโมง โดยที่ข้าพเจ้าได้อ่านคำคัดค้านและคำฟ้อง คดีอื่น ๆ มาแล้ว เช่น กรณีคึกฤทธิ์ ปราโมช, รอง ศยามานนท์, ประยูร ภมรมนตรี และชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ เป็นต้น

คำพิพากษาคดีสวรรคตที่สยามรัฐจัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔ และต่อมาพิมพ์แจกในงานวันเกิด ม.ร.ว.บุญลับ พินิจชนคดี ชี้ทางให้ข้าพเจ้าไปสู่ความมืดบอดฉันใด คำตัดสินใหม่นี้ชี้ทางสว่างให้ข้าพเจ้าฉันนั้น

วันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้านั่งนักตรึกตรองอยู่แทบทั้งวัน ว่าจะขอขมาโทษนายปรีดีอย่างไรดี ตนจึงจะพ้นผิดและบาปอกุศลอันตนได้เคยประกอบมาทั้งทางมโนกรรม วจีกรรมและ กายกรรม ผลก็คือได้เริ่มร่างจดหมายแล้วส่งไปในวันที่ ๑๓ พฤษภาคมนั้นเอง

Friday, June 15, 2007

บทความที่ ๑๕๗. ศิวรักษ์สำนึก ตอนที่ ๒

ตอนที่ ๒.

เวลานั้น นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ สอนอยู่เคมบริดจ์ ข้าพเจ้าออกไปเยี่ยมท่าน ท่านบอกว่าท่านเสียใจในข้อเขียน ๒ ชิ้นนี้ ในกรณีท่านเห็นว่า “อาจารย์ปรีดีผิดมากกว่าคุณ ที่ไปโจมตีคุณขึ้นก่อน ทั้งนี้เพราะท่านโกรธคุณมาแต่คราวที่คุณเขียนวิจารณ์ The Devil’s Discus นั้นแล้ว แต่ถ้าคุณไม่ตอบหรือตอบน้อยอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน คุณจะได้แต้มมาก” นอกจากนี้นายป๋วยยังได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังเกี่ยวกับนายปรีดีอีกมาก ท่านว่า “สำหรับผม อาจารย์ปรีดีเป็นผู้บริสุทธิ์ในกรณีสวรรคต แต่สำหรับคุณสุลักษ์คุณจะเชื่ออย่างไรก็ได้ นั่นเป็นสิทธิ์ของคุณ แม้เราจะเห็นต่างกันเราก็เป็นเพื่อนกันได้ ที่จริงคุณกับผมยังมีความเห็นต่างกันอีกมาก เป็นแต่เรามักไม่ได้จาระไนข้อแตกต่างของเราสู่กันเท่านั้น”

คำพูดเช่นนี้ ทำให้ข้าพเจ้าต้องคิดหนัก เพราะคุณป๋วยเป็นสัตบุรุษทั้งพูดวาจาสัตย์มาตลอด ช่วงนั้นท่านถูกจอมพลถนอม กิตติขจรเขี่ยออกไป ต่อมาทั้งข้าพเจ้าและนายป๋วยก็ถูกเขี่ยออกไปอยู่ด้วยกันที่อังกฤษในช่วงสมัยธานินทร์ กรัยวิเชียร ท่านเล่าเรื่องนายปรีดีให้ข้าพเจ้าฟังอีกมาก ทั้งนัยลบนัยบวก แต่ไม่เคยชักชวนให้ข้าพเจ้าเปลี่ยนทัศนคติของตนเองเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ทั้งท่านยังเคยชวนข้าพเจ้าไปหานายปรีดีที่ปารีสด้วย แต่ข้าพเจ้าเป็นคนเจ้าทิฏฐิ หายอมไปไม่ และลึก ๆ ลงไปก็กลัวนายปรีดีไล่ออกจากบ้านด้วย แม้จะมีคนเคยบอกมาก่อนหน้านี้แล้ว ว่าถ้าไปหาท่าน ท่านจะดีด้วยอย่างแน่นอน

จากจุดเริ่มต้นทำนองนี้ เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าย้อนถามตัวเองว่า เราก็รู้จักคนที่สนิทกับนายปรีดีเป็นหลายคน ทำไมเราจึงไม่สืบถามทัศนคติของบุคคลนั้น ๆ เกี่ยวกับนายปรีดี อย่างกรณีสวรรคต เราก็ควรถามคนที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดโดยตรงจึงจะควร มาด่วนเชื่อหนังสือเช่นของรัตน์ ดวงแก้ว(วิมลพรรณ ปิตธวัชชัยป และสรรใจ สมวิเชียร หาควรไม่ เพราะนี่แกเด็กรุ่นใหม่กว่าเราซึ่งมีอคติไม่แพ้เรา โดยที่สุพจน์ ด่านตระกูล ก็นำข้อเท็จจริงที่ต่างออกไป มาตีแผ่สู่กันแล้วด้วย

ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจีงเริ่มทำการบ้าน นำเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับสารคดีสวรรคตมาอ่านใหม่ รวมทั้งเอกสารที่ข้าพเจ้าไม่เคยให้ความสนใจมาก่อน เช่นถ้อยคำของพระยาศรยุทธเสนี ตลอดจนมีหลักฐานใหม่เกิดขึ้นที่นายตี๋ ศรีสุวรรณไปบวชแล้วกลัวบาป สารภาพผิดออกมารวมอยู่ด้วย ใช่แต่เท่านั้นข้าพเจ้ายังซัก ม.ล.ปุ๋ย ชัยนาม และนางเอดวิน สแตนตันภรรยาเอกอัคราชทูตอเมริกันที่แรกเข้ามาถึงพระราชอาณาจักรในช่วงกรณีสวรรคตนั้นด้วย

โดยที่นางสแตนตันได้แนะนำแพทย์อเมริกันที่ชันสูตรพระบรมศพให้ข้าพเจ้ารู้จักอีกด้วย แกเองยืนยันกับข้าพเจ้าว่าจำเลยทั้ง ๓ นั้นบริสุทธิ์ การตายของเขาเป็นการเสียสละชีวิตเพื่อความอยู่รอดของราชบัลลังก์อันนับเป็นชาติพลีอย่างสูง แกว่าประชาชนนอนาคตจะซาบซึ้งในบุญคุณของเขา

นางสแตนตันกับท่านผู้หญิงพูนศุขมีอะไรที่ขัดใจกันอยู่ แต่แกก็ยกย่องนายปรีดี พนมยงค์ยิ่งนัก ส่วนคุณหญิงปุ๋ยเล่าถึงงานพระบรมศพแต่แรก และการที่เจ้านายเปลี่ยนทีท่าจากความเป็นกันเองมาเป็นความเย็นชา ฯลฯ นับว่าน่าสนใจยิ่ง

ใช่แต่เท่านั้น ข้าพเจ้ายังสืบเสาะจนได้ข้อเท็จจริงจากเจ้านายบางองค์อีกด้วย ว่าเมื่อวันเสด็จสวรรคตนั้น กรมขุนชัยนาทนเรนทร เสด็จไปที่สายนัดดาคลีนิค ภายหลังจากการถวายบังคมพระบรมศพ โปรดให้แพทย์ถวายยาฉีด บำรุงพระกำลัง พลางทรงบ่นว่า “เตือนแล้ว อย่าให้เล่นปืนกันทั้ง ๒ องค์ พอเล่นกันเข้า มันก็ต้องพลาดพลั้งอย่างนี้แหละ” หมอคนนั้นทูลเจ้าองค์นี้ โดยที่ทรงเล่าให้ข้าพเจ้าฟังอีกต่อหนึ่ง แม้นี่จะไม่ใช่ประจักษ์พยาน แต่ก็ช่วยคลี่คลายให้ข้าพเจ้าหายข้อกังขาในเรื่องการลอบปลงพระชนม์โดยสิ้นเชิง ทำให้เห็นว่าการวิจารณ์เรื่อง The Devil’s Discus” ของข้าพเจ้านั้นผิดพลาดโดยแท้

นอกไปจากนี้แล้ว ทัศนคติของข้าพเจ้าในเรื่องราชาธิปไหตยและประชาธิปไตย ได้คลี่คลายขยายตัวเรื่อยมา จาก ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ จน ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้าพเจ้าเห็นว่า ถ้าราชาธิปไตยไร้ธรรม ก็ไม่ผิดไปจากราธิปไตย ประชาธิปไตยก็เช่นกัน ต้องมีธรรมะเป็นรากฐาน ราษฎรจะเป็นใหญ่ได้ก็ต้องประกอบไปด้วยความชอบธรรม นี้ฉันใด พระราชาก็ฉันนั้น ข้าพเจ้าเริ่มมีเครื่องหมายปรัศนีย์เกี่ยวกับความชอบธรรมของชนชั้นปกครองที่สูงส่งยิ่ง ๆ ขึ้นไปทุกทีจึงเห็นว่ากรณีสวรรคตนี้ ระบบการเสแสร้งและกลั่นแกล้งคงจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่ทหาร สันติบาล และพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น ดีร้ายจะขึ้นไปสูงส่งกว่านั้นเอาเลยทีเดียว โดยที่พฤติกรรมต่อ ๆ มา ส่อว่าทัศนะของข้าพเจ้าถูกต้องยิ่ง ๆ ขึ้นทุกที

ทางด้านปารีสนั้น แม้นายปรีดีจะไม่เคยมีการติดต่ออะไรกับข้าพเจ้าโดยตรง แต่ก็มีคนมาเล่าให้ข้าพเจ้าฟัง ว่าลูกท่านบางคนได้ต่อว่าท่าน ว่าการที่ท่านเขียนโจมตีข้าพเจ้านั้น ท่านเป็นฝ่ายผิด เพราะแม้ข้าพเจ้าจะเห็นต่างจากท่าน และปรักปรำท่าน ข้าพเจ้าก็มีสิทธิ์อย่างน้อยข้าพเจ้าเป็นคนรักความยุติธรรม การตั้งตนเป็นศัตรูกับผู้รักความยุติธรรมนั้นไม่ถูกต้อง แม้จะเห็นต่างกัน ก็น่าจะเป็นแนวร่วมกันได้ หาไม่ ท่านจะไม่มีแนวร่วมเลย นอกจากบริษัทบริวารและผู้ที่เห็นพ้องต้องด้วย เพราะฝ่ายราชาธิปไตย (ดังที่นายปรีดีเรียกว่า “ผู้ที่ตั้งตัวเป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชา”) ก็เกลียดท่าน ฝ่ายเผด็จการทหารก็ไม่ต้องการท่าน ฝ่าย พ.ค.ท.ก็หาทางลบล้างเกียรติคุณของท่าน

ได้ทราบมาว่าท่ายอมรับคำเตือนดังว่านี้ แสดงว่าท่านมีขันติธรรมและมีความชอบธรรมอยู่ในใจ ผิดไปจากผู้ใหญ่เป็นจำนวนมากที่ในประเทศนี้ โดยเฉพาะผู้ที่ข้าพเจ้ามีความจงรักภักดีเป็นอย่างสูง ซึ่งรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ ไม่ได้เลย และข้าพเจ้าไม่พร้อมที่จะเคารพนับถือใครถ้าเขาคนนั้นไม่รับฟังคำคัดค้าน ตักเตือน หรือโจมตีใด ๆ ไม่ว่าเขาจะสูงส่งเพียงใดก็ตาม

ต่อแต่นั้นมา แม้นายปรีดีจะไม่เคยติดต่อกับข้าพเจ้า ท่านผู้หญิงพูนศุขก็มักส่งข้อเขียนของท่าน และเอกสารหลักฐานต่าง ๆ มาให้ได้อ่านอยู่เนือง ๆ บางครั้งท่านส่งมาให้ถึงข้าพเจ้าเป็นคนแรกเสียด้วยซ้ำ

เราเป็นเด็ก จะไปให้ผู้ใหญ่ลดตนลงมาหาเรายิ่งกว่านี้จะได้ละหรือ และมาถึงช่วงนี้ ทัศนคติของข้าพเจ้าเปลี่ยนไปมากแล้ว รับรู้ข้อมูลใหม่ ๆ มามากแล้ว แม้จะช้าแต่ก็ไม่ขืนหลับหูหลับตาอยู่ต่อไปอีก

ข้าพเจ้าเริ่มเข้าใจว่า ทำไมนายปรีดีจึงต้องเขียนป้องกันตัวเอง ทำไมท่านต้องฟ้องเรื่องคดีหมิ่นประมาทอยู่เรื่อยๆ ข้าพเจ้าเริ่มเห็นถึงความฉ้อฉลที่ปลุกปั่นมหาชนให้มองท่านไปในทางลบ

ถ้าข้าพเจ้าเองไม่เผชิญเหตุการณ์(อย่างที่ท่านปรีดี ถูกกระทำ)ด้วยตนเอง ที่ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ ที่หนังสือถูกเผาเป็นเรือนแสน ที่ภรรยาเกือบถูกเอาเข้าคุกเข้าตะราง และชื่อเสียงเกียรติคุณต้องมัวหมอง ข้าพเจ้าจะเข้าใจนายปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุขได้หรือไม่ ??? สงสัยอยู่

โดยที่ข้าพเจ้าและครอบครัวได้รับชะตากรรมจากรัฐและหน่วยงานของรัฐ ไม่ถึงหนึ่งในร้อยที่ท่านทั้งสองและลูก ๆ เผชิญมา ในขณะที่ข้าพเจ้าก็หาเคยทำบุญคุณอันใดให้กับบ้านเมืองเป็นเศษหนึ่งส่วนพันอันท่านปรีดีได้เคยกระทำมาแล้วนั้น เช่นกัน