Thursday, June 14, 2007

บทความที่ ๑๕๕. ส.ศิวรักษ์เขียนถึงท่านปรีดี พนมยงค์กับกรณีสวรรคต ตอนที่ ๔

ส.ศิวรักษ์เขียนถึงท่านปรีดี พนมยงค์กับกรณีสวรรคต
ตอนที่ ๔.

แปลกก็เมื่อข้าพเจ้าแรกพบนายเดือน บุนนาค บนเรือที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดรับฝรั่งจากมูลนิธิรอกกี้เฟลเลอร์ คืนหนึ่งนั้น ท่านเข้ามาทักทายข้าพเจ้าด้วยดี โดยกรุณาบอกว่าท่านรู้จักข้าพเจ้า เพราะงานวิจารณ์ชิ้นดังกล่าว หากท่านไม่ได้ต่อว่าอะไรเลย เป็นแต่ท่านเล่าให้ฟังถึงสรรพคุณของนายปรีดี และความเตตาปรานีที่ท่านได้รับจากท่านผู้นั้น ตลอดจนอาการที่จอมพล ป.อิจฉาท่านผู้นั้นให้ฟังด้วยประการต่าง ๆ โดยเสริมด้วยว่าจอมพล .กรุณาท่านมาอย่างไร หากท่านไม่ได้พยายามพิสูจน์อะไรในเรื่องกรณีสวรรคตเอาเลย เป็นแต่ท่านบอกว่า ท่านต้องลงสมัครผู้แทนกรุงเทพฯ แข่งกับพรรคประชาธิปัตย์ พอรู้ว่าในหลวงสวรรคต ท่านก็ออกปากอุทานว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องเอาเรื่องนี้โจมตีรัฐบาล เป็นอันท่านแพ้เขาแน่ แล้วก็แพ้จริง ๆ

ในเรื่องประชาธิปัตย์นั้น ท่านก็ว่าเกิดจากเรื่องเล็กนิดเดียวที่นายควงโกรธนายปรีดี ที่ไม่สนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังสงคราม พอได้เป็นเองจึงไปเอาพระยาศรีวิศาลวาจามาอยู่ในคณะรัฐบาล เป็นเหตุให้นายปรีดีน้อยใจมาก ว่า จำไม่ได้หรือที่บุคคลผู้นี้เคยคิดทำลายคณะราษฎรมาแต่สมัยรัฐบาลมโนปกรณ์นิติธาดา แล้วเหตุไฉนจึงไปคบกับเขา เพื่อมาทำลายกันเองอีกเล่า จากจุดนี้เองที่นายควงทิ้งคณะราษฎร ไปหาฝ่ายศักดินาอันเป็นจุดยืนเดิมของตน โดยที่นายเดือนก็มาจากฝ่ายศักดินาเช่นกัน หากยึดมั่นอยู่กับฝ่ายราษฎรโดยตลอด ความข้อหลังนี้ท่านไมได้พูด เป็นแต่ข้าพเจ้าสรุปเอาเอง


ความจริง ข้าพเจ้าอ่านงานที่นายเดือน บุนนาคเขียนเกี่ยวกับนายปรีดี พนมยงค์มาแต่ พ.ศ.๒๕๐๑ แล้ว โดยเลื่อมใสผู้เขียนว่ากล้ายกย่องท่านผู้นั้น ซึ่งกำลังเป็นที่รังเกียจในหมู่ชนชั้นปกครอง ทั้งยังกล้านำสมุดปกขาวกับสมุดปกเหลืองมาลงเทียบกันให้วิญญูชนตัดสิน หลังจากเหตุการณ์ล่วงเลยไปหนึ่งเสี้ยวแห่งศตวรรษแล้วด้วย ข้าพเจ้าพูดถึงเรื่องนี้ขึ้น ท่านบอกว่า “หลวงวิจิตรวาทการมาบอกผมว่า “คุณเดือน จอมพลสฤษดิ์เตรียมจะตั้งคุณเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว พอท่านอ่านเรื่องนี้ของคุณ ท่านโกรธใหญ่ คุณเลยไม่ได้เป็นสมาชิกสภาร่างฯ” ซึ่งผมก็เห็นว่าดีแล้ว ที่ไม่ต้องไปร่วมกับสภาดังกล่าว”

ท่านเล่าต่อไปด้วยว่า “ไม่ใช่แต่ท่านปรีดี ที่ถูกหาว่าเป็นคอมมูนิสต์ แม้ผมเองก็ถูกกล่าวหาเช่นกัน โดยเขาไม่รู้กันว่าบุนนาคพวกผมนั้น แต่งงานกับพวกจีนสายเจ้าสัวทางสามเพ็ง มีที่ทางมากมาย จะเป็นคอมมูนิสต์ได้อย่างไร ท่านผู้หญิงพูนศุขนั้นก็มีที่ทางทรัพย์สินด้วยเช่นกัน แต่ก็ถูกหากันจนได้”

เมื่อสมัยที่ข้าพเจ้าตกอยู่ใต้อินทธิพลของหนังสือพิมพ์สยามรัฐนั้น อย่างหนึ่งซึ่ง สยามรัฐลงเน้นอยู่เสมอจนข้าพเจ้าเชื่อ ก็คือเรื่องนายปรีดี พนมยงค์ โกรธขึ้งกับพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ ราชทูตที่ฝรั่งเศส เลยเป็นเหตุให้คิดปฏิวัติล้มพระราชวงศ์ โดยมีการไปสาบานกันที่หน้าคุกบาสตีล ณ กรุงปารีส บทสรุปก็คือ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เกิดจากปัญหาส่วนตัว แล้วคนอื่น ๆ พลอยต้องรับทุกข์ไปด้วย ความข้อนี้ต่อมาข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือของนายเดือน บุนนาค ที่เขียนเกี่ยวกับนายปรีดี ได้ข้อเท็จจริงอย่างดำเป็นขาวกับที่สยามรัฐเสนอโดยที่ภายหลัง ข้าพเจ้าได้พบนายปรีดีที่ปารีสเองเลยทีเดียว คุยกันเรื่องพระองค์จรูญฯ ก็ดูนายปรีดียกย่องพระองค์ท่านมาก การขัดกันนั้นเป็นเรื่องหลักการ แต่ในทางส่วนตัว นายปรีดียกย่องว่าที่ทรงดุและเข้มงวดกวดขันนักเรียนนั้นเป็นการดี เป็นเหตุให้นายปรีดีมีความรู้ดีทั้งทางด้านภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อย่าเชื่อสื่อมวลชนใด ๆ โดยไม่พินิจพิจารณาเป็นอันขาด

โดยที่บทวิจารณ์เรื่อง The Devil’s Diccus ของข้าพเจ้าในกลาง พ.ศ.๒๕๐๗ เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าได้ยี่ห้อว่า เป็นพวกเจ้า พวกศักดินา ครั้นมาถึงปลาย พ.ศ.๒๕๐๘ บทความเรื่อง “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ข้าพเจ้ารู้จัก” กลับเป็นที่ฮือฮากันทั้งในวงการเจ้าและในวงการคณะราษฎรที่เหลือตัวอยู่ในเวลานั้น อย่างน้อย นายดิเรก ชัยนาม ยกย่องว่าข้อเขียนชิ้นนี้เป็น “The talk of the town” ท่านเคยโทมนัสในบทวิจารณ์ชิ้นแรกฉันใด ดูท่านพอใจมากับบทความชิ้นหลังฉันนั้น ท่านว่าเป็นครั้งแรกที่มีใครกล้าโจมตีบุคคลผู้ซึ่งตั้งตนเป็นสถาบันกลายๆ โดยได้บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์ของฝ่ายเขาเท่านั้น แม้ ม.ร.ว. พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ก็พอใจบทความชิ้นนั้นของข้าพเจ้ามิใช่น้อย แต่เจ้านายหลายองค์และนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ห่วงใยข้าพเจ้าว่าเขาจะอาฆาต คิดปองร้าย จนความทราบว่าฝ่าละอองธุลีพระบาท ถึงขนาดมีพระราชเสาวณีย์ขึ้นว่า “คุณคึกฤทธิ์กับนายสุลักษณ์มีอะไรขัดใจกันหรือ ได้ข่าวว่ามีการเขียนว่ากัน”

และในปลาย พ.ศ. ๒๕๑๐ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ก็มีบทนำชื่อ “อนาคตของไทยอยู่ที่ไหน” เพื่อเป็นที่ระลึกถึงการสูญเสียกรุงศรีอยุธยา ครบ ๒๐๐ ปี ทั้งนี้เพื่อนำบทเรียนจากอดีตมาชี้ทางสำหรับปัจจุบันและอนาคต แต่แล้วบทนำชิ้นนี้ กลับเป็นที่รู้จักกันในเนมิกนามว่า “กัปตันเรือใบ” เพราะมีข้อความเอ่ยไว้ในทำนองนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช คอยหาเหตุอยู่แล้ว เลยทำเรื่องทำราวใหญ่โต หาว่าข้าพเจ้าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จะให้รัฐบาลจับกุมข้าพเจ้า ฯลฯ

เรื่องนี้ข้าพเจ้าเคยเขียนมาแล้วมากกว่าครั้งหนึ่งจึงไม่ต้องการจะฉายซ้ำ แต่ที่นำมาเอ่ยอีก ก็เพียงเพื่อจะยืนยันว่าข้าพเจ้าและสังคมศาสตร์ปริทัศน์ไม่มีจุดยืนทางการเมือง คงเป็นดังเช่นนักเสรีนิมโดยทั่วๆ ไป นั่นเอง แต่ผลที่เกี่ยวกับพระราชสำนักนั้น บทนำชิ้นนี้เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าเป็นบุคคลต้องห้าม แต่นั้นมา ผิดกับเมื่อคราวเขียนบทวิจารณ์ สามปีก่อนหน้านี้อย่างดำเป็นขาว แต่สำหรับข้าพเจ้า การพูดการเขียนทุกสิ่ง ไม่ต้องการเอาใจใคร หากเพียงเพื่อสนองตัณหาหรืออวิชชาของตัวเอง โดยที่ตอนแสดงออกไป ก็นึกว่าได้ไตร่ตรองแล้วโดยสติ ปัญญา

แม้มาถึงช่วงนี้ ข้าพเจ้ามีอายุ ๓๕ ปีแล้ว ทัศนะคติเกี่ยวกับนายปรีดีในเรื่องกรณีสวรรคตก็มิได้เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้เพราะจิตใต้สำนึกยังโยงไปถึงระบบประชาธิปไตยที่ทรงคุณธรรมอันข้าพเจ้าใฝ่ฝันถึง โดยเปรียบเทียบกับประชาธิปไตยเผด็จการอันฉ้อฉล ที่ข้าพเจ้าเผชิญมาตลอดเวลา เลยหาเรื่องเอากับนายปรีดีอย่างลึก ๆ เพราะถ้าขาดท่านผู้นี้เสียแล้วประชาธิปไตยจอมปลอมเช่นนี้จะบังเกิดมีขึ้นไม่ได้

No comments: