Thursday, June 7, 2007

บทความที่ ๑๔๖. ส.ศิวรักษ์ลอกคราบชนชั้นกฎุมพีของตน ตอนที่ ๒

ส.ศิวรักษ์ลอกคราบชนชั้นกฎุมพีของตน
ตอนที่ ๒

ยิ่งพระราชบันทึกชี้ไปในทางที่หลวงประดิษฐ์มีความคิดเป็นคอมมูนนิสต์ ชนิดที่จะมาริบทรัยพ์สมบัติของพวกเราด้วยแล้ว พวกเราส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ได้อ่านสมุดปกเหลือง แม้สมุดปกขาว ก็อ่านจำเพาะหน้าที่หนังสือพิมพ์ฝ่ายอนุรักษ์นิยามตัดทอนพระราชวิจารณ์มาลงพิมพ์ ยิ่งทำให้ภาพและความคิดของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม น่าเกลียดน่ากลัวยิ่งขึ้น

ภูมิหลังทั้งหมดนี้มีอิทธิพลมาจนข้าพเจ้าเกิด (ในนปลายปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง)และจำความได้ จริงอยู่ เวลานั้น ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ ได้ออก ประชาชาติ รายวัน และต่อมาได้ทรงเข้าไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลพหลพลพยุหเสนา โดยที่ ประชาชาติ สนับสนุนทัศนคติทางด้านประชาธิปไตย แต่พวกเราก็มีอคติเกี่ยวกับเจ้านายองค์นี้ จนเอาเรื่องส่วนตัวเกี่ยวกับชีวิตครอบครัวของท่านมาตำหนิ และหาว่าท่านขาดความจงรักภักดีที่ทิ้งเจ้าไปเข้าหาไพร่ ทั้ง ๆ ที่ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองพวกบ้านเรารำคาญเจ้ากัน แต่หลังกบฏบวรเดชแล้ว เรากลับเห็นพระทัยเจ้านายกันมาก และหมั่นไส้เจ้าที่ไปยอมกับพวกผู้ก่อการทุกองค์ รวมทั้งพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา ที่เป็นประธานในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วย โดยที่เมื่อประธานคณะผู้สำเร็จองค์ก่อนนั้นปลงพระชนม์พระองค์เอง เรากลับสงสารท่าน โดยหารู้ไม่ว่าทรงถูกบีบจากพวกเราด้วยกันเองมิใช่น้อย

พวกบ้านเรานิยมชมชอบ น.ม.ส.ยิ่งกว่า ม.จ.วรรณฯ ทั้ง ๆ ที่ชายาในกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์เป็นเชษฐภคินีของเจ้าชายองค์หลัง และเจ้าชายสององค์นี้ทรงถูก “กด” และ “กลั่นแกล้ง” มาในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งคู่ โดยมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างกันว่าคณะราษฎรเคยติดต่อผ่านเจ้าพระยาธรรมศัดิ์มนตรี ให้เชิญเสด็จ น.ม.ส. เข้าร่วมในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยซ้ำไป หากท่านปฏิเสธ เรายิ่งเห็นในคุณธรรมอันมั่นคงของท่านยิ่งขึ้นไปอีก ฉะนั้น ประมวญวัน ของพระองค์ท่านจึงเป็นขวัญใจของพวกบ้านเรายิ่งกว่า ประชาชาติ เห็นเหตุให้พวกเราเห็นใจในทางอนุรักษ์นิยมยิ่งกว่าเสรีนิยมอย่างไม่พึงสงสัย

เมื่อข้าพเจ้าเติบโตขึ้น ไปงานรัฐธรรมนูญ เห็นมีทหาร มีตำรวจ ยืนเฝ้าพานรัฐธรรมนูญกับดังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เลยเข้าใจว่าประชาธิปไตยต้องมีพานแว่นฟ้า ไว้ให้เคารพบูชา เป็นสรณะที่สืบต่อจาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพราะบรรยากาศทั่วไปในบ้านในโรงเรียน ไม่เห็นมีความเป็นประชาธิปไตย ครูก็สอนอย่างเผด็จการ ทั้งบ้านเมืองก็มีแนวโน้มไปในทางเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยยิ่งขึ้นทุกที มียุวชนทหารเข้ามาเพ่นพ่านในระบบการศึกษา มีการตั้งศาลพิเศษ เอาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร อย่าง ร.ท.ณเณร ตาลลักษณ์ ไปประหารชีวิต ที่สุดจนจับกรมขุนชัยนาทนเรนทร และขุนนางข้าราชการเก่า ๆ สมัยราชาธิปไตยกันไม่ใช่น้อย เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าเข้าข้างท่านเหล่านั้นมาแต่แรก และมีโอกาสรู้จักท่านนั้น ๆ กันเมื่อใด เช่น ม.จ.สิทธิพร กฤดากร พระยาศราภัยพิพัฒน์ พระยาเสนาสงคราม พระยาสุรพันธ์เสนี หลวงมหาสิทธิโวหาร และนายไถง สุวรรณทัต จึงตื่นเต้นกับท่านนั้น ๆ กันนัก

ทั้งหมดนี้ เราเข้าใจว่าเป็นประชาธิปไตย หรืออย่างน้อยโรงเรียนและกรมโฆษณาการก็สอนเราเช่นกัน แม้เราจะเป็นเด็กเราก็เริ่มมีปฏิกิริยาต่อประชาธิปไตยแต่วัยแรกเริ่ม จริงอยู่เราจะโทษนายปรีดีฯไม่ได้ในเรื่องนี้ เพราะตัวเลวร้ายอันเห็นได้ชัดคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม หลวงพรหมโยธีและหลวงวิจิตรวาทการ แต่ก็มีครหานินทาหนาหูว่า ถ้าไม่มีนายปรีดี พนมยงค์เสียแล้ว เราคงกินอยู่อย่างผาสุกในระบบเดิม ภายใต้การปกครองในระบอบราชาธิปไตย ถึงเจ้านายจะทรงไว้ซึ่งพระเดชก็ทรงพระคุณ ถึงในหลวงจะอยู่เหนือราษฎร ก็บริสุทธิ์ยุติธรรม ดังขอให้ดูไปที่รัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ เป็นตัวอย่าง แม้รัชกาลที่ ๖ เราก็เชื่อกันว่าทรงถางทางให้มีประชาธิปไตย โดยผ่าน ดุสิตธานี ทั้งคณะราษฎรเองก็ยกย่องพระองค์ท่าน โดยพยายามกดรัชกาลที่ ๗ ไว้ โดยที่เรากลับเห็นไปว่า พระมหากษัตริย์ย่อมจะพระราชทานรัฐธรรมนูญแน่ ดังพระปกเกล้าได้ทรงประกาศชัดแล้วที่สหรัฐอเมริกา หากพวกก่อการฯ มาชิงสุกก่อนห่าม โดยหวังประโยชน์เพื่อพวกตนเองยิ่งกว่าเพื่อพลเมืองสยาม

เวลานั้นเจ้านายกำลังตกอับ ถ้าไม่ถูกจับ ก็ต้องเนรเทศพระองค์เองไปอยู่ต่างประเทศกันเป็นแถวๆ โดยที่คณะราษฎร แม้จะแตกเป็นฝ่ายทหาร ฝ่ายพลเรือน ฝ่ายเผด็จการและฝ่ายเสรีนิยม แต่คนนอก ๆ อย่างพวกเราย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจอะไรได้ ก็เลยเห็นเป็นปลาข้องเดียวกันไปหมด จึงอดเสียมิได้ที่จะสงสารเจ้านายและข้าราชการเก่าที่ถูกออกจาราชการโดยอดเสียมิได้ที่จะหมั่นไส้ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่สมัยใหม่ อันได้แก่พวกคณะราฎรนั่นเอง โดยที่หลายต่อหลายคนทำตนเป็นเจ้า ยึดวังปารุสก์ วังสวนกุหลาบ วังบางขุนพรหม มาดังเป็นของตน แล้วภายหลังยังมีการจัดสันปันแบ่งที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกจำหน่ายจ่ายแจกให้พวกกันอย่างถูก ๆ อีกด้วย แล้วจะให้เราเข้าข้างฝ่ายไหนกันเล่า

ใช่แต่เท่านั้น เมื่อแรกดรุณวัย ข้าพเจ้าไปบวชเณรอยู่วัดราว ๆ ปีครึ่ง ได้ไปสัมผัสบรรยากาศอนุรักษ์นิยมยิ่งกว่าสมัยอยู่บ้านเสียอีก เพราะพวกที่มาวัดนั้น นอกจากพวกเศรษฐีมีทรัพย์แล้ว ยังมีเจ้านาย และข้าราชการชั้นสูงจากสมัยราชาธิปไตยอีกมิใช่น้อย ทั้งนี้เพราะเจ้าคุณอาจารย์ท่านเป็นโหรชั้นเอกของเมืองไทย เจ้าคุณอาจารย์ได้รู้จักท่านนั้น ๆ ตั้งแต่ท่าน “ถูกดุน” เพื่อให้ระบบราชการเข้าสู่ดุลยภาพมาแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว แต่ท่านเหลานี้กลับจงรักภักดีมั่นคง (หรือตอนถูกดุนออกใหม่ ๆ จะไม่จงรักภักดีนักก็ได้ แต่มาถึงช่วงนี้ กว่าทศวรรษล่วงไปแล้ว) โดยมีพวกที่ถูกออกจากราชการเพราะการเปลี่ยนแปลงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ สมทบกับพวกที่ถูกข้อหากบฏคราวต่าง ๆ มาเพิ่มเข้า ข้าพเจ้าย่อมได้บรรยากาศแห่งศักดินาและอนุรักษ์นิยมอย่างเต็มตัว พวกนี้ไม่มีใครนิยมชมชอบนายปรีดี พนมยงค์เลย

ครั้นเมื่อนายควง อภัยวงศ์แตกกับนายปรีดี พนมยงค์ด้วยแล้ว พวกอนุรักษ์นิยมเหล่านี้ย่อมถือหางฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์อย่างไม่ต้องสงสัย ถึงนายปรีดี พนมยงค์มาเป็นนายกรัฐมนตรีเอง ถึงจะลาออกไปแล้ว บุคคลเหล่าเหล่านี้ย่อมโจมตีไปถึงตัวเกจิอาจารย์อย่างไม่ต้องสงสัย ดังจะเห็นได้ว่าผู้แทนราษฎรจากกรุงเทพฯ กรุงธนฯ ล้วนเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น ยิ่งนายไถง สุวรรณทัต ถูกขว้างระเบิดจนขาขาดไปหนึ่งข้าง ยิ่งเป็นขวัญใจของพวกเรากันยิ่งนัก ทั้ง ๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์วิวาทกันเองอย่างน่าบัดสี เราก็ไม่สนใจดังกรณีที่ส่งทั้งนายไถงและนายสอ เสถบุตร ให้สู้กันเองที่ฝั่งธนบุรีของเราเป็นตัวอย่าง

ที่ร้ายยิ่งกว่านี้ ก็ตรงที่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๔๘๙ นั้น ไม่ว่าเนื้อหาสาระจะเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นกว่าฉบับ พ.ศ.๒๔๗๕ เพียงใดก็ตาม แต่พวกเราพากันเห็นว่านายปรีดีใช้ตัวบทกฎหมาย เอาชนะคะคานฝ่ายตรงกันข้ามอยู่เสมอ เพราะเราไม่รู้ซึ้งถึงชัยชนะของประชาราษฎร โดยเฉพาะก็จากภาคอิสาน จนมีพรรคสหชีพเป็นแนวนำ เรากลับเห็นว่าพวกนี้เป็นบักหนาน บักเสี่ยว ดังที่พวกเราเห็นพวกปักษ์ใต้เป็นต้ำพรื้อ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเป็นพวกโง่เขลาเบาปัญญา ถูกผู้แทนหลอกให้เลือกเข้ามาโดยเอาจอบเอาเสียมไปแจกหรือไปหลอกขายในราคาถูก ๆ

เราเห็นกันว่าผู้แทนของเราจากเมืองกรุงต่างหากจึงจะเป็นคนฉลาดและทรงไว้ซึ่งความสามารถ ทั้งบางคนยังมีชาติวุฒิอันสูงส่งอีกด้วย เช่นหม่อมราชวงศ์สองพี่น้องในสกุลปราโมช เป็นต้น

แม้นายวิลาส โอสถานนท์ จะเป็นคนมีความรู้ความสามารถ ทั้งเคยเป็นผู้บังคับบัญชาบิดาข้าพเจ้ามาเสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อ “เหล็กวิลาส” ไม่อาจสู้ “ตะปูควง” ได้แล้ว ในการเลือกตั้งทางฝั่งพระนคร แต่ “อาจารย์” หรือ “ขรัวตาท่าช้าง” กลับหาทางให้ได้เป็นประธานพฤติสภาขึ้นเช่นนี้ พวกเราชาวกรุงย่อมถือว่าเราถูกตบหน้าอย่างแรงนั่นเอง แล้วจะให้พวกเรานิยมชมชอบนายปรีดีกระไรได้

No comments: