Thursday, June 7, 2007

บทความที่ ๑๔๗. ส.ศิวรักษ์ลอกคราบชนชั้นกฎุมพีของตน ตอนที่ ๓

ส.ศิวรักษ์ลอกคราบชนชั้นกฎุมพีของตน
ตอนที่ ๓

เมื่อข้าพเจ้าออกจากวัดมาเรียนชั้นมัธยมศึกษา สงครามได้สงบลงแล้ว ทุกครั้งที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์จะหาทางกระแหนะกระแหน “ขรัวตาท่าช้าง” เสมอ เพื่อลดเกียรติภูมิรัฐบุรุษอาวุโส โดยเฉพาะก็ตอนที่นายปรีดี พนมยงค์ยอมลงมาเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มาแล้ว ความข้อนี้พรรคประชาธิปัตย์อภัยให้ไม่ได้เอาเลย แม้เราจะไม่ได้ไปฟังคำปราศรัยหาเสียง แต่ญาติฯ เราและผู้ใหญ่ฯ ของเราก็เอามาเล่ากันอย่างสนุก โดยมักเห็นพ้องต้องตามวาทศิปล์ของพรรคฝ่ายค้านแทบทั้งสิ้น ประเด็นหลักที่รัฐบาลถูกโจมตีก็คือ (๑) ไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนให้ได้ ทั้งนี้เพราะเงินเฟ้อจากปัญหาสงคราม (๒)พรรคพวกของนายปรีดีผูกขาดการเป็นรัฐบาลมาแต่โค่นล้มจอมพล ป.พิบูลสงครามได้ ไม่ว่าจะรัฐาลทวี บุญเกตุ หรือแม้จนรัฐบาลเสนีย์ฯ คณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ก็คนของนายปรีดี หลังจากนี้ก็ปรีดี ๑-๒-๓ ธำรง ๑-๒ ฯลฯ

โดยนายปรีดี กีดกันไม่ให้นายควงกลับขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้เพราะว่าความริษยาความเป็นผู้นำของบุคคลผู้นี้ ซึ่งได้แสดงฝีไม้ลายมือตอนล้มจอมพล ป. โดยที่เวลานั้นไม่มีใครกล้ารับภาระดังกล่าว อย่างน้อยนายควง ก็บอกกับชาวพระนครเช่นนั้น และเราเชื่อเขากันอย่างสนิท นอกไปจากนี้แล้ว เรายังเห็นกันว่านายควงสามารถนำข้าราชการเก่า ๆ และเจ้านายที่มีผลงานมาแล้วในอดีต กลับมาร่วมงานได้ยิ่งกว่านายปรีดี ซึ่งมีแต่ข้าราชการเก่าบางคนและเจ้านายที่อ่อนเชิง โดยพวกนี้ยอมสยบให้สมุนซ้ายขวาของนายปรีดีกันทั้งสิ้น

ในขณะที่รัฐบาลควงเปิดโอกาสให้ท่านนั้น ๆ เป็นอิสระ ดำเนินนโยบายอย่างซื่อสัตย์เสรี โดยที่ตอนนี้ (๓)รัฐบาลธำรงฯ ถูกกล่าวหาในทางทุจริตอย่างหนาหูขึ้นทุกที แม้บุคคลในคณะรัฐมนตรีก็ไม่ปฏิเสธคำกล่าวหาดังว่านี้ (๔) กรณีที่ทหารคับแค้นใจที่ถูกรัฐบาลพลเรือนบังคับนั้น พวกเราไม่มีทางล่วงรู้เอาเลยใช่แต่เท่านั้น เมื่อมาถึงตอนนี้ ญาติ ๆ และครู ๆ ของเราหลายต่อหลายคนพากันบ่นคิดถึงสมัยเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยกันอีกแล้ว พากันพูดว่าสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามปกครองบ้านเมืองนั้น มีการก่อสร้างถนนหนทางไปบางปู บางแสน น้ำไหลไฟสว่าง บัดนี้น้ำไฟไม่สะดวก (เพราะหลังสงคราม โรงไฟฟ้าถูกทำลายจึงมีกระแสไฟไม่เพียงพอ การประปาก็ขัดข้อง ทั้งถนนหนทางก็ทรุดโทรม (เพราะรัฐบาลกำลังตั้งตัว หลังจากสงครามโลก และของจากภายนอกก็ยังไม่มีเข้ามา เงินตราก็อัตคัต)บางคนถึงกับคิดถึงการเคารพธงชาติ ๘ โมงเช้า ๖ โมงเย็นว่าเป็นระเบียบที่ดี พากันคิดถึงเครื่องแบบยุวชนทหาร ว่าทำให้เยาวชนเรียบร้อย ทุกคนตัดผมสั้นเหมือนกันหมด แต่งตัวเหมือนกันหมด แม้จะรังเกียจการถูกบังคับให้ผูกเนคไท ให้ผู้หญิงใส่หมวกและให้เลิกกินหมาก

แต่กลับลืมความเป็นเผด็จการเสียแทบสิ้น เพราะชนนั้นกลางที่ไม่มีกิจกรรมทางการเมือง ที่ไม่ห่วงเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออก ย่อมไม่ต้องกระทบกับอำนาจเท่าไรนัก ที่แปลกก็คือโรงเรียนข้าพเจ้านั้น เป็นของพวกคริสตังฝรั่งเศส ซึ่งเคยถูกจอมพล ป.เนรเทศบาทหลวงชาตินั้นไปในสมัยสงครามอินโดจีน และเคยบังคับให้คนถือคริสต์กลับมาถือพุทธเสียด้วยซ้ำ แต่ครูคริสต์ของข้าพเจ้ายังหวนกลับไปคิดถึงจอมเผด็จการอย่างนั้นได้

มิใยต้องเอ่ยถึงพระมหาเถระ โดยเฉพาะก็ทางวัดเบญจมบพิตรและวัดสามพระยา ซึ่งพอใจระบบราชาธิปไตยหรือระบบเผด็จการยิ่งกว่าระบบประชาธิปไตยอย่างแน่นอน แม้เจ้าอาวาสทั้ง ๒ ในเวลานั้น จะเป็นสังฆมนตรีตามพระราชบัญญัติการปกครองสงฆ์ที่มีรูปแบบเป็นประชาธิปไตยกว่าที่แล้ว ๆมาก็ตาม

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ครูและพระ ซึ่งมีอิทธิพลทางด้านปลูกปั้นทัศนคติของผู้คน ถ้าอยู่ในแวดวงของชนชั้นกลางหรือชั้นสูงแล้วย่อมเป็นไปในทางอนุรักษ์สถานะเดิมและนิยามรัฐบาลเผด็จการยิ่งกว่าประชาธิปไตย

ด้วยเหตุฉะนี้ เมื่อจอมพล ป.กับจอมพลผิน ชุณหวัน ทำรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ พวกเราจึงไม่เห็นเป็นอนันตริยกรรมแต่อย่างใด เพราะคณะรัฐประหารฉลาดพอที่จะ (๑) นำเอาพรรคประชาธิปัตย์มาเชิดเพื่ออ้างว่าสนับสนุนประชาธิปไตย เพราะรู้ว่าพรรคนี้ โดยเฉพาะตัวหัวหน้าพรรค เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่มหาชนคนเมืองกรุงและเป็นศัตรูคู่อาฆาตทางการเมืองกับนายปรีดี พนมยงค์ (๒)นำเอากรณีสวรรคตเป็นเหตุทำลายล้างนายปรีดีและพวก โดยพรรคประชาธิปัตย์เชื่อหรือสมยอมที่จะทำลายฝ่ายตรงข้าม แม้หัวหน้าพรรคจะเป็นเพื่อน้ำสาบานมาตั้งแต่กาลก่อน เราก็ไม่เห็นว่าเขาเป็นคนตระบัดสัตย์ เพราะเขาเคยตระบัดสัตย์มาแล้ว สมัยเมื่อยังเคยดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยามาแต่เก่าก่อน โดยเรากลับเห็นว่าเขาหันจากมิจฉาทิฏฐิ คืนเข้าสู่สัมมาทิฏฐิ ในทางยึดองค์พระมหากษัตริย์เป็นสรณะ สำหรับเรื่องกรณีสวรรคต ข้าพเจ้าจะกล่าวโดยพิศดารเป็นต่างหากออกไปในภายหลัง

(๓) นำเอาคุณค่าของวัฒนธรรมเดิม โดยเฉพาะในทางพระราชพิธีของราชาธิปไตย กลับมาใช้เพื่อความชอบธรรม โดยอ้างว่าพิธีกรรมเหล่านี้ถูกคณะราษฎรพวกหัวก้าวหน้าทำลายไป เช่นให้เชิญพระบรมอัฐิรัชกาลที่ ๗ เสด็จนิวัติพระนครพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ให้มีการถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่พระเมรุมาสท้องสนามหลวง ต่อท้ายงานพระบรมศพและเชิญเสด็จพระองค์เจ้าบวรเดชกลับคืนเข้าสู่พระนครหลังจากที่ทรงลี้ภัยการเมืองไปแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นต้น

(๔) ที่เขาประกาศให้เราเชื่อคือทหารนั้นซื่อมือสะอาดจอมพลผิน ชุณหวันถึงกับร้องไห้ที่เห็นการโกงเกิดขึ้นในวงการรัฐบาล ทั้งทหารยังใช้อำนาจเผด็จการลดราคาน้ำแข็งเปล่า ก๋วยเตี๋ยว โอเลี้ยง ได้ในบัดดลอีกด้วย โดยที่ราคาของพวกนี้ขึ้นพรวด ๆ ตามมาในภายหลัง และจอมพลผินก็ร่ำรวยอย่างมหาศาล ตลอดจนบริวารของเขาด้วย แต่ในช่วงแรกนั้นเรายังไม่เห็นลายของเขา

นอกไปจากนี้แล้ว คณะรัฐประหารและรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังรวมกันกำจัดชื่อเสียงเกียรติคุณของนายปรีดี และพรรคพวกในทุก ๆ ทาง ที่สุดจนกรมตำรวจได้ใช้วิธีอันป่าเถื่อนทำทารุณกับนักการเมืองชั้นนำของพรรคสหชีพเป็นจำนวนไม่น้อย พวกเราชาวกรุงก็ไม่ตื่นตัวกันเพียงพอ เพราะเราไม่รู้จักนักการเมืองเหล่านั้น เราไม่เห็นความสำคัญของเขาในภาคอีสานทั้งเรายังเชื่อข่าวลือที่ชนชั้นปกครองปล่อยออกไปอย่างกว้างขวางอีกด้วย ว่าคนพรรคนี้ทุจริตคิดมิชอบ ทั้งนี้เพราะเราสนใจแต่เรื่องของเราชาวบางกอกหรือความกินดีอยู่ดีของชนชั้นเราเท่านั้นเอง

1 comment:

et.phet.yoi said...

ประวัติศาสตร์มีให้ศึกษาเรียนรู้ แก้ไขไม่เกิดความผิดผลาดซ้ำซาก คนเรากินอิ่มนอนอุ่นความคิดที่จะแก่งแย่งชิงดีชิงดีก็จงลดๆลงบ้างเพื่อสันติสุขของสังคม คุณงามความดีเท่านั้นที่เป็นนิรันดร์