Tuesday, June 26, 2007

บทความที่ ๑๗๒. บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง ตอนที่ ๖

บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง
แผนลิดลอนปรีดี พนมยงค์
ตอนที่ ๖. พ.ร.บ.ว่าด้วยคอมมิวนิสต์

วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๖ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ก็ประกาศกฤษฎีกาโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ลงพระปรมาภิไธย ปิดสภาผู้แทนฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ให้ยุบคณะรัฐมนตรีปัจจุบันเสีย และให้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี กับให้รัฐมนตรีซึ่งว่าการกระทรวงต่าง ๆ อยู่ในเวลานั้น เป็นคณะรัฐมนตรีโดยตำแหน่ง

กล่าวให้ชัดเจนก็คือ ให้รัฐมนตรีที่เป็นคณะราษฎรบางคนที่ขัดแย้งกับพระยามโนฯและพวก พ้นตำแหน่งรัฐมนตรี เอาไว้แต่พวกขุนนางเก่า

นับได้ว่า การทำรัฐประหาร ๑ เมษายน ๒๔๗๖ ของพระยามโนฯ ครั้งนี้เป็นรัฐประหารครั้งแรกของการปกครองระบอบประชาธิปไตย การประกาศกฤษฎีกาปิดสภา เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะไม่มีบทบัญญัติให้ทำได้

ภายหลังประกาศกฤษฎีกาปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราแล้ว พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นทันที บุคคลสำคัญที่ร่วมรัฐบาลก็ได้แก่ขุนนางเก่าทั้งสิ้น อาทิพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ๒.พลเรือโทพระยาราชวังสัน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ๓.พระยาศรีวิสารวาจา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ๔.เจ้าพระยาวงศานุประพันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ๕.เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นรัฐมนตรีกระทรวงธรรมการ ๖.พระยาแสนยมดีศรีบริบาล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ๗. พระยาเทพวิฑูรพหุลศรุตาบดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

รัฐมนตรีว่าการชุดใหม่นี้เป็นขุนนางเก่าทั้งสิ้น เป็นเจ้าพระยาและพระยา ส่วนสมาชิกของคณะราษฎรเป็นรัฐมนตรีลอยทั้งหมด

รัฐบาลได้แถลงการณ์ว่ามีความจำเป็นที่ต้องปิดสภา ตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่และรอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราก็เพราะ

“ในคณะรัฐมนตรี ณ บัดนี้เกิดแตกกันเป็นสองพวกมีความเห็นแตกต่างกัน และไม่สามารถที่คล้อยตามกันได้ ความเห็นข้างน้อยนั้น ปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจไปในทางอันมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ ความเห็นส่วนมากนี้เห็นว่านโยบายเช่นนั้นเป็นการตรงกันข้ามกับขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวสยาม และเป็นที่เห็นกันได้แน่นอนทีเดียวว่า นโยบายเช่นนั้นอาจนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎรและเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ

ฐานะแห่งความเป็นอยู่เช่นนี้ จะปล่อยให้คงเป็นอีกต่อไปไม่ได้แล้ว ความปลอดภัยของประชาชนเป็นกฎหมายอันสูงสุด รัฐบาลจึงต้องปิดสภา และตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่”


งานชิ้นแรกของรัฐบาลรัฐประหาร ก็คือ ประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๗๖ รุ่งขึ้นจากวันรัฐประหาร ๑ วัน จึงเชื่อกันว่าได้มีการตระเตรียมร่างกฎหมายนี้ไว้ก่อนวันยุบสภาแล้ว

พ.ร.บ.ว่าด้วยคอมมิวนิสต์นี้ พระปกเกล้าฯ ลงพระนามให้โดยไม่ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงมีฐานะเช่นเดียวกับประกาศคณะปฏิวัติของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

แต่ประกาศของจอมพลสฤษดิ์ ประกาศตรง ๆ ว่า เป็นประกาศของคณะปฏิวัติ ไม่ได้เขียนคลุมเครือว่าเป็นพระราชบัญญัติ

แต่แม้กระนั้น กฎหมายฉบับนี้ก็ยังใช้บังคับมาได้ถึง ๑๔ ปี เพิ่งมายกเลิกเมื่อปี ๒๔๘๙

เมื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายหลังปิดสภาของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาแล้ว รัฐบาลได้ถือโอกาสปิดหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว แม้แต่หนังสือพิมพ์ประชาชนของ หม่อมเจ้าวรรณ ไวทยากร ซึ่งมี กุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นบรรณาธิการ เนื่องจากรัฐบาลมองหนังสือพิมพ์เหล่านั้นว่าสนับสนุนคณะราษฎร เป็นเสี้ยนหนามต่อแผ่นดิน และบางฉบับสนับสนุนเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ บางฉบับเป็นคอมมิวนิสต์

งานชิ้นโบว์ดำชิ้นหนึ่งของพระยามโนฯ ภายหลังรัฐประหาร ได้แก่ การเนรเทศนายปรีดี พนมยงค์ไปประเทศฝรั่งเศส

No comments: