บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง
แผนลิดลอนปรีดี พนมยงค์
ตอนที่ ๒ สจฺ จํ
หลังจากที่เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างราษฎรกับกลุ่มเจ้าก็เริ่มไม่ราบรื่น และไม่เป็นไมตรีต่อกันเป็นเวลานาน ต่างฝ่ายต่างระแวงซึ่งกันและกัน มีการส่งสายลับเฝ้าดูความเคลื่อนไหว และสดับตรับฟังข่าวคราวของกันและกันโดยตลอด ทั้งยังปรากฏการณ์ความไม่พอใจในหมู่พระราชวงศ์ที่มีต่อคณะราษฎร มีการกล่าวร้ายและโจมตีการอภิวัฒน์ของคณะราษฎรบ่อยครั้ง ฝ่ายคณะราษฎร สืบทราบว่า ได้มีพระราชวงศ์บางองค์ส้องสุมชุมนุมวิพากษ์วิจารณ์ ติเตียน บ่อนทำลายคณะราษฎรด้วยประการต่าง ๆ จนพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรอดรนทนไม่ได้ จึงได้มีหนังสือกราบทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ให้ทรงทราบว่า
“บัดนี้ความปรากฏขึ้นว่า ได้มีปากเสียงอันเป็นเสี้ยนหนามแก่ความสงบสุขเกิดขึ้นในหมู่พระราชวงศ์ ซึ่งถ้าจะเพิกเฉยเสีย ก็เกรงว่าจะเป็นเชื้อฝอยให้ลุกลามต่อไป และครั้นคณะราษฎรจะจัดการปราบปรามเสียเอง ก็เกรงจะเป็นที่ขุ่นเคืองพระราชหฤทัย”
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงรับสั่งให้เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ ผู้ว่าราชการพระราชวัง ให้ตักเตือนพระราชวงศ์“อย่ากระทำการใดๆ ซึ่งไม่สงบราบคาบ”(รัฐสภาไทย-ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์)
นอกจากนี้ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน คณะราษฎรได้ออกแถลงการณ์อีกฉบับหนึ่งว่า
“ว่ามีบางสิ่งบางอย่างไม่สำแดงให้เด่นชัดว่า เป็นการปลอดภัยโดยแท้ ถ้าหากมีการตระหนักตกใจ หรือเสียหายอะไรบ้าง ก็ขอให้ประชาราษฎร์ตระหนักในความมุ่งหมายอันแท้จริงของคณะราษฎรว่าสรรพกรณีที่จะพึงเกิดขึ้นล้วนเป็นสิ่งที่มุ่งความปลอดภัยแห่งประชาราษฎรทั้งสิ้น และถ้ามีผู้ใดแฝงอันธพาล คณะราษฎรกระทำทุรกรรมใด ๆ ก็ขอให้เข้าใจว่า มิใช่กรรมที่คณะราษฎรประกอบขึ้นเป็นอันขาด”
ดังนั้นการสืบสวนเพื่อความมั่นคงนั้น ทางกรมตำรวจก็ได้ส่งสายออกตระเวนฟังข่าวคราวอยู่ตลอดเวลา เพราะย่อมเป็นธรรมดาที่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นเช่นนี้ ความขัดแย้งระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ย่อมจะต้องเกิดขึ้น
และนอกจากการได้ข้อมูลความขัดแย้งดังกล่าวแล้ว การแสดงออกทางด้านความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์คณะราษฎรอย่างเปิดเผย
ทางด้านหนังสือพิมพ์ที่แสดงออกนอกจากฉบับที่นำหนังสืออื่น ๆ ก็มีเดลิเมล์รายวัน และหนังสือพิมพ์รายวันอีกบ้าง ซึ่งคณะราษฎรเห็นว่าควรจะชี้แจงความเป็นจริงให้หนังสือพิมพ์ไปแก้ไขให้ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริง
อย่างไรก็ดีสมาชิกคณะราษฎรคือนายซิม วีระไวทยะร่วมกันกับนายสงวน ตุลารักษ์ เห็นว่าการเสนอแก้ข่าว เพื่อให้หนังสือพิมพ์นั้นแก้ไขข้อความที่ผิดพลาดนั้นไม่เพียงพอ เพราะบางครั้งก็แก้ข่าวให้ แต่บางครั้งกลับวิพากษ์วิจารณ์ซ้ำเติมให้อีก จึงได้ออกหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งชื่อ “สจฺ จํ” ทำหน้าที่ตอบบทความหรือข้อความ ซึ่งคณะบุคคลคณะการเมืองอื่น ได้เขียนตำหนิคณะราษฎรและเขียนบทความคิดความเห็นในทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้ความรู้ความเข้าใจแก่บุคคลทั่วไปที่มีความหวาดสะดุ้งในเรื่องภัยคอมมิวนิสต์ แต่ก็ปรากฏว่าความคิดเห็นในหนังสือ “สจฺ จํ” ตลอดจนข้อความที่ตอบโต้ต่อคณะการเมืองอื่น ทำให้หนังสือพิมพ์ สจฺจํ ถูกป้ายสีตั้งแต่เรื่อๆ จนแดงจัดขึ้นทุกวัน ในที่สุดก็กล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ไปโดยผสมผเสเหตุผลหลายอย่างจนกระทั่งเทียบหนังสือ สจฺ จํ ว่าตรงกับหนังสือพิมพ์ Pravda ของโซเวียตรัสเซีย
ความจริงเรื่องหนังสือพิมพ์ สจฺจํ นี้เมื่อนายซิม วีระไวทยะตั้งใจจะออกหนังสือพิมพ์เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว จึงได้ขอให้นายปรีดี พนมยงค์ ตั้งชื่อให้ นายปรีดีฯ กล่าวว่า ตนนึกได้ว่ามีพระพุทธภาษิตหนึ่งที่ว่า “สจฺ จํ เว อมตวาจา” (ความสัจแลเป็นวาจาไม่ตาย) จึงให้ชื่อหนังสือพิมพ์ของนายซิมว่า “สจฺ จํ” ด้วยหวังว่าเป็นสำเนียงที่เร้าใจและเหมาะสมกับพุทธภาษิต หาใช่จำแลงหรือแผลงมาจากหนังสือพิมพ์ Pravda ของโซเวียตรัสเซียไม่
นอกจากนั้นนายซิม วีระไวทยะ ผู้นี้เป็นผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนา และมีความเห็นในทางที่จะช่วยเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้มหาชนเข้าใจหลักธรรมที่ถูกต้องจึงได้ปรึกษาหามิตรสหายและสมณะบางรูปและพร้อมใจกันจัดตั้ง “พุทธมามะกะสมาคมขึ้น
ปรากฏว่าทั้งหนังสือพิมพ์ สจฺ จํ และพุทธมามะกะสมาคม ซึ่งนายซิมมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่นี้ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด สงสัยไปในทำนองที่จะเป็นบ่อเกิดช่วยเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ พระยามโนปกรณ์ฯ นายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้ขอให้เลิกหนังสือพิมพ์ สจฺ จํ เสีย นายซิม จึงตกลงใจเลิก และต่อมานายซิมได้ลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไปประกอบอาชีพอื่น
จึงเห็นได้ว่าการใส่ร้ายป้ายสีและปลุกผีคอมมิวนิสต์ มีมากว่า ๖๐ ปีแล้ว ไม่ใช่เพียงเกิดขึ้นในยุคนี้เท่านั้น
No comments:
Post a Comment