Friday, March 30, 2007

บทความที่ ๑๐๑. วาระสุดท้ายเผด็จการมุสโสลินี (ตอนที่๓)

วาระสุดท้ายเผด็จการมุสโสลินี
ทั่วทั้งกรุงโรมในคืนวันนั้นประชาชนชาวอิตาเลียนได้แสดงความปิติยินดีกันทั่วหน้า ประชาชนจำนวนมากได้ออกมาสู่ท้องถนน กอดรัดกันและกัน ทั้งหัวเราะและร้องไห้ด้วยความปิติตื้นตันใจ

“คุณรู้ไหมว่าบัดนี้ไม่ใช่มุสโสลินีแล้ว แต่เป็นบาโดกลิโอ” ทหารรักษาการณ์นายหนึ่ง กล่าวกับนักโทษการเมือง “คุณทราบดีว่าผมไม่เคยเป็นพวกฟาสซิสต์เลย”

เปรียบเสมือนว่า พลังอันเกรียงไกรของพวกเชิร์ตดำพรรคฟาสซิสต์ได้สลายตัวจากอิตาลีไปในพริบตา สถานที่ทำงานของพรรคฟาสซิสต์ ถูกทำลายลงโดยฝูงชน และรูปถ่ายรูปเขียนของมุสโสลินีถูกขยี้ทิ้งเกลื่อนกลาด เหล่านี้เป็นบางสิ่งที่ประชาชนไม่กล้ากระทำมาเป็นเวลาถึง ๒๐ ปี

ในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น ข่าวการพ้นตำแหน่งของมุสโสลินีมาถึงกองบัญชาการทัพของนายพลดไว๊ท์ ดี ไอเซนฮาวเออร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสัมพันธมิตรในอาฟริกาเหนือ ขณะนั้นไอเซนฮาวเออร์กำลังรับประทานอาหารเช้าร่วมกับนายโรเบิร์ต เมอรฟี่ ที่ปรึกษาการต่างประเทศของประธานาธิบดีโรสเวลท์และนายฮาโรลด์ แมคมิลแลนผู้แทนของนายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอรชิลล์ นายพลไอเซนฮาวเออร์มีความเชื่อว่าเมื่อมุสโสลินีพ้นจากตำแหน่งแล้วเช่นนี้ อิตาลีก็คงจะถอนตัวจากสงครามโดยเร็วและอย่างมีเกียรติ

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนั้นเอง ฝ่ายเยอรมนีได้เริ่มวางแผนการชิงตัวมุสโสลินีจากที่คุมขัง เหตุผลของการวางแผนดังกล่าวนี้ คือการที่มุสโสลินีพ้นไปจากตำแหน่ง อาจมีผลทำให้ประชาชนอิตาลีถอนตัวจากความเป็นพันธมิตรกับเยอรมนี ในวันที่มุสโสลินีหมดอำนาจนั้นเยอรมนีมีทหารอยู่ถึง ๘ กองพลในประเทศอิตาลีและในวันต่อมาฮิตเล่อร์ก็ได้ส่งกำลังเพิ่มเติมไปสมบทอีก ๓ กองพล แต่ถึงกระนั้นในทัศนะของฮิตเล่อร์ การชิงตัวมุสโสลินีจากที่คุมขังก็เป็นสิ่งจำเป็น ฮิตเล่อร์เรียกแผนการนี้ว่า ยุทธการอลาริค”

นายทหารนาซี ผู้รับมอบหมายโดยตรงจากท่านฟือห์เร่อร์ก็คือร้อยเอก อ๊อตโต สคอรเซนี่ ผู้มีความสูงถึง ๖ ฟิต ๔ นิ้ว น้ำหนักตัว ๒๐๐ ปอนด์ สคอรเซนี่ มีแผลเป็นที่ใบหน้า อันเนื่องจากการดวลดาบเมื่อยังเป็นนักศึกษา ตำแหน่งของเขาในขณะนั้นคือ ผู้บังคับการโรงเรียนรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นที่ฝึกอบรมสายลับของนาซีในทุก ๆ บทบาทนับตั้งแต่การป้องกันตนเอง จนถึงการก่อวินาศกรรม

ฮิตเล่อร์ แจ้งกับสคอรเซนี่ด้วยความตื้นตันใจว่า

“มุสโสลินี สหายที่ซื่อสัตย์ของผม ถูกกษัตริย์หักหลังเมื่อวานนี้และกำลังถูกควบคุมตัวอยู่ ผมจะต้องซื่อสัตย์ต่อเพื่อนของผมผู้นี้ โดยจะต้องช่วยเหลือให้เขาพ้นจากการคุมขังโดยฉับพลัน”

ร้อยเอกสคอรเซนี่ ลงมือดำเนินการทันที เขาโทรเลขและโทรศัพท์เรียกสายลับ ซึ่งเขาเคยฝึกเอาไว้มาใช้งานจำนวน ๕๐ นาย ล้วนแต่พูดภาษาอิตาเลี่ยนได้ทั้งสิ้นนอกจากนั้นเขาก็ยังขอเครื่องแบบฤดูร้อน เครื่องแต่งกายสากล อาวุธปืนและเครื่องเก็บเสียงปืน ตลอดจนแก๊สน้ำตา แก๊สหัวเราะ หน้ากากป้องกันแก๊สพิษ วัตถุระเบิดหนัก ๓๐ กิโลกรัม ธนบัตรเงินปอนด์ปลอม ๑ ปึก และเครื่องแต่งกายชุดบาทหลวง

ขณะนั้นข่าวคราวเกี่ยวกับมุสโสลินีในอิตาลี กำลังสับสนอยู่มาก ข่าวหนึ่งกล่าวว่ามุสโสลินีฆ่าตัวตายไปแล้ว อีกข่าวหนึ่งว่ากำลังพักฟื้นจากโรคหัวใจในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ขณะที่อีกข่าวหนึ่งซึ่งรายงานว่าเขาปลอมแปลงตัวอยู่ในแนวรบด้านชิชิลี

ในโอกาสวันเกิดครบ ๕ รอบของมุสโสลินีเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคมนั้น ฮิตเล่อร์ได้ส่งของขวัญไปให้โดยผ่านแม่ทัพเยอรมันภาคใต้ผู้ซึ่งได้พยายามเข้าเฝ้ากษัตริย์วิคตอริโอ เอมมานูเอลที่ ๓ และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทำให้ได้ทราบข่าวว่ามุสโสลินียังอยู่เป็นปกติดี ภายใต้การอารักขาของพระเจ้าอยู่หัว จอมพลบาโดกลิโอได้สัญญาว่าจะส่งของขวัญจากฮิตเล่อร์ไปให้มุสโสลินีตามที่ฮิตเล่อร์ขอร้อง

จนกระทั่งเดือนกันยายน ฝ่ายเยอรมันจึงได้รับทราบข่าวที่แน่นอนถึงที่คุมขังมุสโสลินี

ณ ที่ราบบนยอดเขา มองเตคอรโน ซึ่งมีความสูง ๖,๕๐๐ ฟิตนั้น มีโอเต็ลตากอากาศอยู่หลังหนึ่ง ซึ่งจะขึ้นไปถึงได้วิธีเดียวคือ โดยสารรถกระเช้าแขวน ซึ่งลากขึ้นไปด้วยความสูง ๓,๐๐๐ ฟิตจากเบื้องล่าง เป็นความจริงแล้วดังที่นายทหารนาซีสคอรเซนี่คาดหมาย-อดีตผู้นำและอดีตจอมเผด็จการอิตาลีถูกคุมขังตัวอยู่ในโฮเต็ลแห่งนั้น

เมื่อทราบที่คุมขังเช่นนั้นแล้ว ฝ่ายนาซ็เริ่มลงมือปฏิบัติการโดยมิชักช้า ทหารเยอรมันได้รับรายงานว่าตำรวจคาราบิเนียริของอิตาลีขึ้น ๆ ลง ๆ ภูเขาลูกนี้โดยผ่านหมู่บ้าน แอสเซอรจิ ซึ่งอยู่ตีนเขาตรงสถานีรถกระเช้าและตลอดทางซึ่งผ่านขึ้นไปก็จะมีหน่วยตรวจค้นเรียงไปตลอด นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ของโรงแรมยังถูกปลดออกหมดโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เมื่อทราบรายงานดังกล่าวนี้แล้ว ฝ่ายเยอรมันจึงได้ส่งนายแพทย์คนหนึ่งขึ้นไปยังโฮเต็ลแห่งนั้น โดยแสร้งทำเป็นว่าต้องการสำรวจเพื่อหาสถานที่เพื่อทำเป็นสถานฟื้นฟูผู้ป่วยโรคมาลาเรีย แต่แพทย์เยอรมันผู้นั้นมิได้รับอนุญาตให้โดยสารรถกระเช้า และยังถูกขู่ว่าจะถูกจับกุมอีกด้วย ในลักษณะเช่นนี้ฝ่ายนาซีก็แก้ปัญหาไม่ตกว่าจะขึ้นไปสู่ยอดเขาดังกล่าวนั้นได้โดยวิธีใด

การจะเข้าโจมตีหมู่บ้านเพื่อยึดสถานีรถกระเช้านั้นเป็นอันว่าตัดไป เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้ตำรวจอิตาลีทำลายรถกระเช้าเสีย ซึ่งเมื่อระบบรถกระเช้าเสียหาย ก็ไม่มีทางที่จะขึ้นไปยอดเขาได้ การที่จะส่งพลร่มลงไปยังโฮเต็ลก็เป็นไปไม่ได้อีก เนื่องจากลมพัดแรงมาก พลร่มจะถูกพัดไปตกยังเบื้องล่าง แทนที่จะลงยังที่ราบบนยอดเขา ดังนั้นก็เหลืออยู่วิธีเดียวคือ การใช้เครื่องร่อน แต่การใช้เครื่องร่อนก็หาใช่จะปลอดภัยไม่ หากเมื่อเหลืออยู่วิธีเดียว ฝ่ายนาซีก็จำต้องเสี่ยงปฏิบัติภารกิจ

เมื่อตัดสินใจเช่นนั้นแล้ว ฝ่ายเยอรมันก็ได้สั่งเครื่องร่อนมา ๑๒ ลำและเครื่องบินลากจูงอีก ๑๒ ลำ ในเครื่องร่อนแต่ละลำบรรจุทหารนาซี ๑๐ นายพร้อมอาวุธครบมือ นอกจากนั้นยังมีเครื่องบินตรวจการขนาดเล็กอีกหนึ่งลำที่สามารถลงจอดในพื้นที่จำกัดคล้ายเฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินตรวจการขนาดเล็กจะรับผู้โดยสารสำคัญลงมาจากยอดเขามองเตคอรโน

และแล้วในวันที่ ๑๒ กันยายน เครื่องบินลากจูงเครื่องร่อนก็ออกเดินทางสถานที่แห่งหนึ่งใกล้กรุงโรม เครื่องร่อนทั้ง ๑๒ ลำถูกปล่อยให้ร่อนลง ณ บริเวณใกล้กับภูเขามองเตคอรโน เมื่อเวลาประมาณ ๑๔ นาฬิกา ร้อยเอก สคอรเซนี่หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการอยู่ในเครื่องร่อนลำที่นำหน้า จากการให้เครื่องบินบินสำรวจจุดที่จะร่อนลงที่เหมาะสม ในที่สุดก็ได้จุดที่เหมาะสมในการนำเครื่องร่อนลงจอด

ภายในห้องพักหมายเลข ๒๐๑ของโฮเต็ลรูปตัวยู ท่านดูเช่กำลังนั่งสนทนากับคนเลี้ยงแกะท้องถิ่นชื่อ อัลฟองโซ นิซี่ ที่ตำรวจส่งขึ้นมาเป็นเพื่อนสนทนาให้ท่านผู้นำเพราะในคืนก่อนหน้านั้นเมื่อได้ยินข่าวทางวิทยุว่ารัฐบาลนายกบาโด กลิโอวางแผนจะส่งตัวเขาให้กับฝ่ายสัมพันธมิตร ดูเช่ได้พยายามกระทำอัตวินิบาตกรรมโดยใช้ใบมีดโกนเฉือนข้อมือข้างซ้าย แต่ก็ไม่สำเร็จตามความมุ่งหมายเพราะตำรวจได้เข้ามาช่วยได้ทันท่วงที

อัลฟองโซ นีซี มีพื้นเพในทางทำนายโชคชะตา เขากำลังถอดไพ่ทำนายโชคชะตาให้ท่านดูเช่ว่า “จะมีคนมาช่วยท่านในวิธีที่เหลือเชื่อ”

มุสโสลินีแสดงความเกรี้ยวกราด โดยเอามือกวาดไพ่บนโต๊ะกระจาย “ไอ้ระยำ แกกำลังหลอกลวงฉันด้วยคำทำนายบ้า ๆ ของแก” เขาตวาดนีซี

ภายนอกโฮเต็ล เครื่องร่อนของสคอรเซนี่ร่อนลงได้โดยสวัสดิภาพ ห่างโฮเต็ลเพียง ๒๐ หลา ตำรวจอิตาลีตื่นตระหนกในอุบัติการนั้น คำสั่งที่เขาได้รับจากรัฐบาลคือให้สังหารมุสโสลินีทันทีที่มีผู้บุกเข้ามาชิงตัว แต่ต่อมาเมื่อรัฐบาลได้ลงนามในสัญญายอมจำนนต่อสัมพันธมิตรแล้ว ผู้บังคับกองรักษาการณ์ของอิตาลีก็ตัดสินใจไม่ได้ทันทีว่าเขาควรจะปฏิบัติอย่างไรกับมุสโสลินี แต่นาทีนี้เขาตัดสินใจยอมจำนวนต่อทหารนาซี

มุสโสลินี โผล่หน้ามามองทางหน้าต่างห้องพักตะโกนว่า “อย่าให้เสียเลือดเนื้อกันเลย ผมขอที”

ร้อยเอกสคอรเซนี่ เข้ามาในห้องพักเผชิญหน้ากับมุสโสลินี และนายตำรวจอิตาลี ๒ นาย “ท่านดูเช่ ท่านฟือห์เร่อร์ ส่งผมมาช่วยท่าน ท่านเป็นอิสระแล้ว” เขากล่าว

มุสโสลินีเข้าสวมกอดนายทหารนาซีอย่างดีใจ ปากพร่ำว่า “ผมรู้ดีว่า อด๊อฟ ฮิตเล่อร์ สหายรักของผมจะไม่มีวันทอดทิ้งผม”

ในขณะเดียวกันนั้น ที่เบื้องล่างของภูเขา นายทหารนาซีที่เหลือก็เข้าทำการยึดสถานีรถกระเช้าเอาไว้ ซึ่งจะทำให้ทหารเยอรมันสามารถลงมาจากยอดเขาได้โดยทางรถกระเช้า

ตามแผนเดิม สคอรเซนีจะนำมุสโสลินีมายังกรุงโรมโดยเครื่องบินแล้วจึงเปลี่ยนไปขึ้นเครื่องบินทิ้งระเบิดไปสู่กรุงเวียนนา แต่เครื่องบินตรวจการที่จะมารับสคอรเซนี่เกิดความเสียหายมารับไม่ได้ตามแผน สคอรเซนี่จึงเปลี่ยนแผนพาท่านดูเช่จากโฮเต็ลบนยอดเขาไปโดยเครื่องบินตรวจการขนาดเล็กเครื่องนั้นด้วยกัน

ร้อยเอก สคอรเซนี่ประหลาดใจที่มุสโสลินีไม่ได้ตระหนกตกใจแต่ประการใด ดูเช่มองลงมาเบื้องล่างแล้วชี้ให้นายทหารนาซีดูสถานที่ต่าง ๆ “นั่นคือ อคิล่า-ผมมาปราศรัยที่นั่นเมื่อ ๒๐กว่าปีมาแล้ว”

เวลา ๑๗.๓๐ น.สคอรเซนี่ก็นำมุสโสลินีมาถึงกรุงโรม เมื่อก้าวเท้าลงจากเครื่องบินซึ่งอยู่ในสภาพย่ำแย่เต็มที่ ดูเช่จับมือกับ ไฮนริช เกอรลาซ นักบินและกล่าวเป็นภาษาเยอรมันว่า “ขอบคุณมากสำหรับการช่วยชีวิตผม”

Thursday, March 29, 2007

บทความที่ ๑๐๐. วาระสุดท้ายเผด็จการมุสโสลินี (ตอนที่๒)

ในตอนบ่ายวันรุ่งขึ้น มุสโสลินีเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้า วิกตอริโอ เอมมานูเอลที่ ๓ ณ พระราชวัง วิลลาซาวอย ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงโรมไปประมาณ ๒ ไมล์ ในเวลานั้น ความเข้มแข็งและทิฏฐิมานะของจอมเผด็จการได้กลับคืนมาอีกครั้ง ท่านดูเช่ปราศจากความรู้สึกเกรงกลัวต่อสิ่งใด เขากล่าวกับผู้ใกล้ชิดว่า “พระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนับสนุนอย่างแข็งแรงต่อผมตลอดเวลา” นอกจากนั้นเขายังได้ปฏิเสธที่จะอนุมัติให้มีการจับกุมบุคคลซึ่งต่อต้านเขา เขากล่าวว่า

“มติของสภาบริหารไม่มีความหมายอะไร สภาบริหารมีหน้าที่เพียงให้คำปรึกษาเท่านั้น ผมได้ทบทวนกฎหมายดูแล้ว”

ในทางทฤษฎีแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะถอดถอนมุสโสลินีได้เช่นเดียวกับสภาบริหาร หากแต่ทว่าพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะได้เห็นพระราชวังซาวอยซึ่งสืบเนื่องกันมา ๑,๐๐๐ ปีแล้ว ให้สถิตสถาพรต่อไป จึงได้ทรงสนับสนุนให้บุคคลผู้นั้นอยู่ในอำนาจตลอดไป “ฉันเอาด้วยกับมุสโสลินี” เคยมีพระราชดำรัสเช่นนั้น “เพราะไมว่าเขาจะผิดหรือถูกก็ตาม คน ๆนี้เป็นคนโชคดีเสมอไป”

เพื่อแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าเขามีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มุสโสลินีได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง เพื่อนำกฏหมายขึ้นทูลเกล้าถวายให้ลงพระปรมาภิไธย แต่โดยทางส่วนตัวแล้วมุสโสลินีมองเห็น วิกตอริโอ เอมมานูเอลที่ ๓ เป็นบุคคลที่อ่อนแอและไร้สติปัญญา

โดยปกติแล้วพระเจ้าอยู่หัววิคตอริโอ เอมมานูเอลประทับอย่างเงียบ ๆ โดยไม่ติดต่อกับผู้ใด ณ พระราชวังนอกกรุงโรม ต่อมาเมื่อกรุงโรมถูกทิ้งระเบิดครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๘๖ นั้น พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ซึ่งอยู่ในพระมหานครและในโอกาสนั้นเอง พระองค์ได้ทรงประสบกับปฏิกิริยาอันไม่เป็นมิตรจากประชาชนผู้ซึ่งได้รับความเสียหายและอันตรายจากการทิ้งระเบิด พระองค์ก็ทรงตระหนักพระราชหทัย ณ บัดนี้ว่าจะทรงเก็บเอามุสโสลินีไว้ในอำนาจอีกมิได้แล้ว

เมื่อรถยนต์ประจำตำแหน่งของมุสโสลินีแล่นมาถึงประตูพระราชวัง รถตำรวจสันติบาลซึ่งติดตามอารักขาท่านผู้นำก็หยุดอยู่ภายนอกเช่นเคย มีเพียงรถของท่านผู้นำคันเดียวเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ผ่านประตูพระราชวังเข้าไปได้

ลึกเข้าไปในบริเวณพระราชวังประมาณครึ่งกิโลเมตร ในตอนทิศเหนือของพระราชวังนั้น ผู้บังคับกองตำรวจวัง ปาโอโล วิกเนรี่ ได้ให้อาณัติสัญญาณแก่กำลังตำรวจ ๕๐ นายใต้บังคับบัญชาของเขา ตำรวจนอกเครื่องแบบอีก ๓ นายตลอดจนรถพยาบาลของสภากาชาด ซึ่งทั้งหมดนี้ซุ่มซ่อนอยู่อยู่ในสภาพที่พร้อมตลอดเวลา

เมื่อได้เข้าเฝ้าเฉพาะพระพักตร์ ท่านผู้นำก็ได้กราบบังคมทูลเป็นการเริ่มเรื่องว่า “ใต้ฝ่าพระบาทคงจะได้ทรงทราบถึงเรื่องเหลวไหลเมื่อคืนนี้แล้ว” วิคตอริโอ เอมมานูเอลที่ ๓ มีรับสั่งสวนขึ้นว่า “ไม่ใช่เรื่องเหลวไหล” จากนั้นพระมหากษัตริย์วัย ๗๓ ก็ทรงลุกขึ้นเด็จพระราชดำเนินด้วยพระหัตถ์ไขว้หลังไปมาในห้อง

“ไม่จำเป็นเลย” มีรับสั่งกับมุสโสลินี เมื่อทรงเห็นอีกฝ่ายหนึ่งพยายามที่จะถวายเอกสารให้ทอดพระเนตร “ฉันรับรู้ทุกอย่างดีอยู่แล้ว”

“ขอเดชะพระบารมีปกเกล้า” มุสโสลินีกราบบังคมทูล “มติของสภาบริหารไม่มีความหมายอย่างใดเลย พระเจ้าข้า”

พระเจ้าวิกตอริโอ เอมมานูเอลที่ ๓ มีรับสั่งว่าพระองค์มิได้ทรงเห็นด้วยกับความเห็นของท่านดูเช่ “เธอไม่คิดบ้างหรือว่ามติของสภาบริหารนั้น แสดงออกมาซึ่งความรู้สึกของประชาชาติเกี่ยวกับตัวเธอ ขณะนี้เธอเป็นบุคคลซึ่งได้รับความเกลียดชังที่สุดในอิตาลีแล้ว เธอพึ่งผู้ใดไม่ได้เลยนอกจากฉันคนเดียวเท่านั้น”

มุสโสลินี ตกตะลึง !!!

“ถ้าแม้นพระราชกระแสเป็นการถูกต้องแล้ว” เขากราบบังคมทูลด้วยความยากลำบาก “ข้าพระพุทธ เจ้าก็จะกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง”

“เช่นนั้นฉันก็ขอบอกกับเธอ” พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งตอบ “ว่าฉันรับใบลาออกของเธออย่างไม่มีเงื่อนไข”

เสมือนถูกลูกระเบิดอย่างถนัดถนี่ จอมเผด็จการทรุดตัวลงกับเก้าอี้แล้วกล่าวแทบเป็นเสียงกระซิบ “จบกันแค่นี้เอง”

เมื่อมุสโสลินีและเลขานุการของเขาเดินลงจากอัฒจันทร์ของพระตำหนัก เพื่อตรงไปขึ้นรถประจำตำแหน่ง ร้อยตำรวจเอก ปาโอโล วิกเนรี่ ซึ่งคอยท่าอยู่แล้วก็เข้าประชิดตัวและแจ้งต่อท่านผู้นำว่า “พระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้ผมอารักขาตัวท่านนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

มุสโสลินีหันไปมองหน้าวิกเนรี่แล้วกล่าวปฏิเสธว่า “ผมไม่ต้องการ การอารักขา”

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่มุสโสลินีจะเดินไปถึงรถประจำตำแหน่งของเขา วิกเนรี่และเจ้าหน้าที่ตำรวจของเขาก็ได้ขวางกั้นเอาไว้แล้ว และใช้กำลังบังคับให้ท่านดูเช่ขึ้นรถพยาบาล ซึ่งนำมาจอดอยู่ใกล้ ๆ นั้นแทน

อีกไม่กี่นาทีต่อมา รถพยาบาลของสภากาชาดก็ได้แล่นผ่านประตูพระราชวังออกไป และมุ่งไปสู่ที่ตั้งของกรมทหาร ปอตโกรา คาราบิเนียรี่ ซึ่งล้อมรอบด้วยรั้วเหล็ก ณ ที่นั้นมุสโสลินีได้ถูกพาตัวเข้าไปในห้องโถง ซึ่งเขามิได้ขัดขวางแต่ประการใด แต่เลขานุการซึ่งติดตามไปด้วยได้ร้องถามขึ้นว่า “อะไรจะเกิดขึ้นถ้าหากท่านผู้นำจะออกไปจากที่นี้”

“ท่านดูเช่จะไปไหนไม่ได้” เป็นตำตอบจากร้อยตำรวจเอก วิกเนรี่

“โทรศัพท์ได้ไหม ? “ เลขานุการท่านผู้นำร้องถามต่อ

วิกเนรี่สั่นศรีษะ และในอึดใจต่อมาก็มีทหารเข้ามาทำการตัดสายโทรศัพท์ซึ่งอยู่ภายในห้องโถง

ณ เวลาเกือบ ๕ ทุ่มของคืนวันเดียวกันนั้น วิทยุกระจายเสียงก็ได้ออกข่าวเป็นทางราชการว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับใบลาออกจากตำแหน่งของ เบนิโต มุสโสลินี แล้ว และมีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้จอมพล ปิตโตร บาโด กลิโอ อดีตแม่ทัพอิตาลีผู้พิชิตเอธิโอเปีย เข้ารับตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลสืบต่อไป”

บทความที่ ๙๙. วาระสุดท้ายเผด็จการมุสโสลินี (ตอนที่๑)

วาระสุดท้ายจอมเผด็จการมุสโสลินี
ในวันที่สภาบริหารซึ่งเป็นสถาบันการเมืองสูงสุดของอิตาลี ได้มีการประชุมปรึกษาเพื่อกำหนดชะตากรรมของ เบนิโต มุสโสลินี หรือ “ดูเช่” จอมเผด็จการ ผู้ซึ่งได้ครองอำนาจเยี่ยงซีซาร์มาเป็นเวลาถึง ๒๐ ปี

ก่อนหน้านั้น ๗๒ ชั่วโมง ดีโน กรานดี สมาชิกของสภาบริหารผู้หนึ่งได้เสนอญัตติเงียบไปในบรรดาสมาชิก เพื่อขอมติจากที่ประชุมให้ถอดถอนมุสโสลินีออกจากทุกตำแหน่ง ซึ่งหมายถึงการริดรอนอำนาจทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งมุสโสลินีครอบครองอยู่แต่ผู้เดียวเป็นเวลานานปี

สภาบริหารดังกล่าวนี้ประกอบด้วยสมาชิก ๒๘ นายมีทั้งรัฐมนตรีและบุคคลชั้นนำของพรรคฟาสซิสต์อื่น ๆ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแล้วสภาบริหารมีอำนาจบริบูรณ์ในอันที่จะแต่งตั้งและถอดถอน “ท่านผู้นำ” ของประเทศได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วมุสโสลินีมีอำนาจเหนือสภาบริหารอย่างเด็ดขาดมาโดยตลอด แม้กระทั่งเมื่อมุสโสลินีประกาศสงครามกับอังกฤษและฝรั่งเศสเมื่อเดือน มิถุนายน ๒๔๘๓ เพื่อเป็นการสนับสนุนฮิตเล่อร์พันธมิตรของเขา ท่านผู้นำก็มิได้แยแสที่จะหารือกับสภาบริหารของอิตาลีเสียก่อนแต่ประการใด

บรรยากาศของที่ประชุมในวันนั้นแสนอึดอัดทั้งนี้เพราะการ “คว่ำบาตร” ผู้นำของประเทศ ผู้เผด็จการและผู้บัญชาการทหารสูงสุดมิใช่สิ่งที่ใครจะกระทำได้อย่างสะดวกใจ และสำหรับ ดีโน กรานดี ผู้เป็นเจ้าของญัตตินั้นก็อยู่ในสภาพที่เตรียมพร้อมทั้งกายและใจ เขาผูกลูกระเบิดมือเอาไว้ที่ขา ถ้าหากทหารของดูเช่จะกรูกันเข้ามาจับกุมเขาแล้ว ระเบิดก็จะทำงานฉีกร่างกายของเขาให้เป็นธุลีไปโดยพลัน

เสียงตะโกน “ซาลูโต อัลดูเช่” ได้ดังขึ้นท่ามกลางความเงียบเป็นสัญญาณให้ทุกคนรู้ว่าบัดนี้มุสโสลินีได้มาถึงที่ประชุมแล้ว บัดนั้นท่านบัญชาการทหารสูงสุดก็ได้ปรากฏร่างขึ้นในเครื่องแบบทหารสีเขียวปนเทา สมาชิกสภาบริการได้ลุกขึ้นยืนต้อนรับท่านดูเช่ โดยชูมือข้างขวาออกไปเบื้องหน้าจากนั้นก็นั่งลงโดยสงบ ณ ที่ของตนล้อมร้อบโต๊ะประชุมรูปเกือกม้า

เป็นเวลาหลายเดือนมาแล้วที่มุสโสลินีได้รับการเตือนให้ระวังการคบคิดที่จะทำลายอำนาจสูงสุดของเขา และแม้ก่อนหน้านั้นเพียงวันเดียว อธิบดีตำรวจก็ได้เสนอรายงานให้ทราบว่า สมาชิกสภาบริหารบางคนได้มีการประชุมลับเพื่อวางแผนล้มล้างอำนาจของท่านผู้นำ แต่มุโสลินีก็มิได้เอาใจใส่ เขามีความมั่นใจว่า “คนเหล่านี้อยู่ได้ก็เพราะผม ดังนั้นเพียงผมได้พูดจากับเขาสักครั้งเดียว ทุกอย่างก็จะสลายตัวไป”

มุสโสลินีเป็นเอตทัคคะในการพูด ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ด้วยศิลปะในการพูดจูงใจคนที่สูงส่งดังกล่าวประกอบด้วยความกระหายในอำนาจอย่างรุนแรง มุสโสลินีได้ฉวยโอกาสระหว่างที่บ้านเมืองกำลังสับสนวุ่นวายภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ก้าวเข้ามามีอำนาจสูงสุดในอิตาลีในเดือนตุลาคมปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เชาได้นำคณะฟาสซิสต์อันเกรียงไกรของเขาเดินขบวนเข้าสู่กรุงโรม แล้วบีบบังคับให้พระเจ้าวิกตอริโอเอมมานูเอลที่ ๓ ทรงมอบอำนาจเด็ดขาดในการปกครองประเทศให้แก่คณะฟาสซิสต์ ในตำแหน่ง “ดูเช่” หรือ “ท่านผู้นำ”

มุสโสลินีก็เข้ามาเป็นตัวแทนของสถาบันแห่งชาติทั้งมวล คำสั่งของเขาคือกฎหมายของบ้านเมือง การกระทำของเขาปราศจากความผิดและจะมีผู้ใดต่อต้านทัดทานมิได้

ครั้งหนึ่งความสำเร็จของมุสโสลินีปราศจากข้อสงสัย ชัยชนะซึ่งอิตาลีได้รับจากสงครามกับเอธิโอเปียเมื่อปี ๒๔๗๙ ก็ดี การประกาศยกฐานะของอิตาลีขึ้นมาเป็น “มหาอาณาจักรโรมัน ยุคที่ ๒” ทำให้มหาชนทั่วประเทศให้ความสนับสนุนและสดุดีอย่างกึกก้องแต่บัดนี้เป็นสิ่งที่ผ่านพ้นไปแล้ว ในสงคราม โลกครั้งที่ ๒ กองทัพของมุสโสลินีประสบกับความพ่ายแพ้ในอาฟริกาเหนือ การสูญเสียกำลังทางเรือและทางอากาศ ความพินาศของกรุงโรมจากการโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตร และเมื่อ ๒ สัปดาห์ก่อนหน้านั้นเอง เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรก็ได้ยกพลขึ้นบกที่เกาะชิชิลีทางตอนใต้ของประเทศ

มุสโสลินีได้ใช้เวลาเกือบ ๒ ชั่วโมงเต็มในการแสดงศิลปะในการพูดเพื่อโน้มน้าวความคิดและจิตใจของสมาชิกสภาบริหาร ให้ตระหนักถึงความถูกต้องที่อิตาลีเข้าเป็นสัมพันธมิตรร่วมรุกร่วมรบกับฮิตเล่อร์ ตลอดจนการดำเนินสงครามซึ่งเขาเป็นผู้บงการ ความเป็นบุรุษที่ไม่ย่อท้อต่อการปฏิบัติงานบัดนี้เขาได้ตกอยู่ในสภาวะจิตที่ทรุดโทรม เมื่อกองทัพฝ่ายอักษะได้ยอมพ่ายแพ้แก่กองทัพสัมพันธมิตรที่ อาฟริกาเหนือในเดือนพฤษภาคมปีนั้น มุสโสลินีได้ย้ายนิวาสถานจากกรุงโรมไปพักผ่อนที่บ้านฤดูร้อนของเขา และใช้เวลานับเป็นวัน ๆ ตัดข่าวหนังสือพิมพ์ หรือใช้ดินสอเขียวแดงขีดเส้นใต้ข้อความที่สำคัญ ทั้งนี้โดยไม่อาจตัดสินใจในเรื่องใด ๆ ที่มีความสำคัญได้เลย

ดีโน กรานดี นั่งฟังมุสโสลินีกล่าวจนจบ ด้วยจิตใจที่ร้อนรน ในบรรดาสมาชิกสภาบริหาร ๒๘ คนนั้นเขาได้หยั่งเสียงไว้แล้ว ๑๔ คน ซึ่ง ๑๒ คนในจำนวนนี้ยอมลงชื่อเข้าร่วมในญัติติขับท่านผู้นำออกจากตำแหน่ง เมื่อถึงคราวที่กรานดีจะต้องพูด เขาก็ลุกขึ้นยืนและกล่าวต่อที่ประชุมว่า

“ประชาชนชาวอิตาลี ถูกทรยศหักหลังตั้งแต่วันที่มุสโสลินีเริ่มใช้ระบบเยอรมันในอิตาลี คนผู้นี้คือผู้ที่ผลักดันให้พวกเราเข้าไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮิตเล่อร์ เขาเป็นผู้ลากเราเข้าสู่สงครามที่น่าสพึงกลัว เป็นการขัดแย้งต่อผลประโยชน์และจิตสำนึกของประชาชนชาวอิตาเลียนทั้งหมด”

ที่ประชุมตกอยู่ในความเงียบ เป็นไปได้อย่างไรที่จะมีบุคคลหนึ่งบอกความจริงที่ก้าวร้าวต่อผู้เผด็จการและยังมีชีวิตอยู่ต่อไป มุสโสลินีนั่งจมอยู่กับเก้าอี้ฟังกรานดีพูดด้วยความสงบ และเอามือปิดตาทั้งสองข้างไว้ ดีโน กรานดี กล่าวต่อไปอย่างดุเดือด ใช้มือประกอบตามแบบของคนอิตาเลียน

“ท่านทราบหรือไม่ว่าอิตาลีต้องพังพินาศลง เมื่อวันที่ท่านตั้งตัวเองเป็นจอมพล สละสิ่งบ้า ๆ เหล่านี้เสียเถิด แล้วกลับคือมาเป็นมุสโสลินีของพวกเราคนเดิม”

กรานดีใช้เวลาในการพูด ๑ ชั่วโมง จากนั้นสมาชิกคนอื่นก็ลุกขึ้นพูดบ้าง ส่วนใหญ่ก็คล้องจองกันจนกระทั่งเที่ยงคืน ซึ่งมุสโสลินีได้เสนอขอให้เลื่อนการประชุมไปในวันต่อไป กรานดีไม่ยอม “ไม่ได้ ๆ เราจะต้องตัดสินใจกันคืนวันนี้ “ เขากล่าว

ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการหยุดพักการประชุมเป็นเวลา ๑๕ นาที ซึ่งในระหว่างนั้นมีสมาชิกเข้าร่วมรับรองญัตติของกรานดีเป็นจำนวนถึง ๑๙ นาย

เมื่อการประชุมเริ่มขึ้นอีก และสมาชิกทุกคนได้เข้านั่งประจำที่เรียบร้อยแล้ว มุสโสลินีก็ได้ใช้วาทะศิลปของเขาเพื่อเกลี้ยกล่อมอีก คราวนี้เขาเปลี่ยนเป็นขอความเห็นใจ โดยยอมรับผิดในเรื่องการเข้าสู่สงครามแต่ผู้เดียว และกล่าวถึงผลงานของเขาในระหว่าง ๒๐ ปีที่ผ่านมา ตอนหนึ่งเขาได้กล่าวว่า เมื่อเขาอายุครบ ๖๐ ปีแล้วก็คิดว่าจะปลดเกษียณ “เพื่อจบการผจญภัยในชีวิตการเมืองเสียที” และเมื่อกล่าวเช่นนี้แล้ว ก็กลับมีความมั่นใจในตัวเองเพิ่มขึ้นอีกทีละน้อย “แต่ผมจะไม่ยอมออกจากตำแหน่ง” มุสโสลินีกล่าวสำทับต่อสภาบริหาร “พระเจ้าอยู่หัวยังทรงไว้วางพระราชหฤทัยในตัวผม ประชาชนก็เช่นกัน ผมจะกราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงเรื่องการประชุมคืนนี้ในวันรุ่งขึ้น และก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับผู้ที่ต่อต้านผมในคืนวันนี้”

“เป็นการหักหลังกันชัด ๆ“ กรานดีร้องตอบโต้ “ท่านสมาชิกผู้มีเกียรติเห็นไหมละว่า มุสโสลินีกำลังบังคับให้พวกเราเลือกเอาระหว่างความภักดีเก่า ๆ ซึ่งเราเคยมีต่อเขา กับความจงรักภักดีต่อประเทศชาติของเรา เราจะลังเลใจมิได้อีกแล้ว ท่านสมาชิกผู้มีเกียรติ เราต้องเลือกเอาอิตาลี”

จากนั้นก็มีการลงคะแนนเสียง กรานดีระทึกใจและภายหลังที่มีการนับคะแนนเสร็จ ผลปรากฏว่า ๑๙ เสียงเห็นชอบกับญัตติให้ปลดมุสโสลินีออกจากตำแหน่ง ส่วนอีก ๗ เสียงคัดค้าน มี ๑ เสียงไม่ลงความเห็นใด ๆ และอีก ๑ เสียงลงคะแนนให้กับญัติติต่างหากของตน

ท่านผู้นำพยุงกายลุกขึ้น แล้วกล่าวต่อที่ประชุมว่า “สภาบริหารรับรองญัตติของกรานดี ของปิดการประชุมลงเพียงนี้” กล่าวแล้วก็หันมาจ้องหน้าดีโน กรานดี ด้วยความเกลียดชัง มุสโสลินีกล่าวกับกรานดีว่า “คุณได้ทำลายลัทธิฟาสซิสต์ของเราเสียแล้ว”

บทความที่ ๙๘. บันทึกของท่านปรีดี พนมยงค์ในการเดินทางไปเจรจายกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรม

บันทึกของท่านปรีดีในการเจรจายกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรม

แม้ว่าคณะราษฎรจะได้อภิวัฒน์การปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ แต่สนธิสัญญาสภาพนอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีอยู่กับประเทศต่างๆ ๑๓ ประเทศก็ยังมิได้ถูกยกเลิกไปโดยสิ้นเชิง ส่วนใหญ่ของประเทศคู่สัญญาเป็นประเทศในระบบทุนนิยมในยุโรปตะวันตก

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ รัฐบาลคณะราษฎรได้พิจารณาเห็นว่าสมควรที่จะต้องบอกยกเลิกสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมซึ่งผูกพันสยามไว้นั้นให้หมดสิ้นไป เพื่อให้สยามมีเอกราชและอธิปไตยโดยสมบูรณ์ และเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ที่สยามต้องชำระให้แก่ต่างประเทศ ก็ควรที่จะได้เจรจาลดหย่อนผ่อนผันลงเพื่อมิให้เป็นภาระทางการเงินของสยาม ที่เพิ่งจะสถาปนาระบอบการปกครองโดยอำนาจของประชาชนเป็นใหญ่ คณะรัฐบาลที่มีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มีมติมอบหมายให้ท่านปรีดี พนมยงค์ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้แทนรัฐบาลเดินทางไปเจรจากับประเทศคู่สัญญาในยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ท่านปรีดี พนมยงค์ได้มีบันทึกการเดินทางไว้ดังนี้

“เราได้คิดกันว่า ถ้าแม้นประเทศมหาอำนาจเช่นฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี สหรัฐอเมริกา ยอมตกลงในเรื่องการบอกเลิกสัญญาอันไม่เป็นธรรมและตกลงทำสัญญาใหม่ที่เป็นธรรมกับเราแล้ว ประเทศอื่น ๆ นอกนั้นคงจะปฏิบัติตามโดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ และนั่นคือสาเหตุที่ผมต้องเดินทางรอบโลกเป็นเวลาหลายเดือน เมื่อปี ๒๔๗๘ เพื่อไปพบกับผู้เผด็จการ เบนิโต มุสโสลินี แห่งอิตาลี นายกรัฐมนตรีลาวาล แห่งฝรั่งเศส เซอร์แซมมวล ฮอร์รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ นายคอร์เดล ฮัลล์รัฐมนตรีต่างประเทศแห่งสหรัฐ รวมทั้งสมเด็จพระจักรพรรดิ ฮิโร ฮิโตแห่งญี่ปุ่น ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในประเทศนั้น ๆ ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลยังได้สั่งให้ผมแวะไปศึกษาสถานการณ์ในเยอรมนีเสียด้วย เพื่อหยั่งดูให้ตระหนักว่าเยอรมนีภายหลังที่พรรคนาซีขึ้นครองอำนาจมา ๓ ปีแล้วนั้น เป็นประการใด อีกทั้งยังจักเป็นโอกาสได้ศึกษาถึงระบบเศรษฐกิจใหม่ของประเทศนั้น อย่างไรก็ตามรัฐบาลมิได้ให้ผมเดินทางไปสหภาพโซเวียต ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย ต่อมาในปี ๒๔๘๒ จึงได้มีการตกลงที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน หากได้เกิดสงครามระหว่างโซเวียตกับเยอรมนีขึ้นเสียก่อน การดังกล่าวนั้นจึงได้เลื่อนมาจนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

สำหรับประเทศจีนนั้น ทูตจีนประจำกรุงโตเกียวได้เชิญผมให้เดินทางไปเยี่ยมกรุงนานกิง ซึ่งเป็นนครหลวงในขณะนั้น หากผมก็ไม่สามารถที่จะรับคำเชิญนั้นได้เนื่องจากประเทศจีนกำลังอยู่ระหว่างสงครามกลางเมืองและกำลังทำสงครามติดพันอยู่กับญี่ปุ่น

ผมออกเดินทางจากประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคมปี ๒๔๗๘ โดยเรือเดินสมุทรอิตาเลียน ซึ่งเป็นเรือที่จะพาผมไปถึงยุโรปได้โดยเร็วที่สุดในยุคนั้น เรือ ‘กองด์แวร์เด’ ซึ่งมีผมโดยสารไป ได้เดินทางถึงเมืองท่า เตรียสท์ของอิตาลีในเดือนตุลาคม ที่นั่นมีนายทหารเรือไทยกำลังควบคุมการต่อเรือรบอยู่หลายคนด้วยกัน พอผมไปถึงก็ได้พบกับเลขานุการคนหนึ่งของมุสโสลินี ซึ่งเป็นประธานอู่ต่อเรือแห่งนั้นอยู่ด้วย และผมก็ได้ทราบจากท่านผู้นั้นว่า มุสโสลินียินดีให้ผมได้เข้าพบ แต่ขอให้รอจนภายหลังวันที่ ๔ พฤศจิกายนเสียก่อน ผมเองก็ไม่ทราบเหตุผลในความสำคัญของวันที่ดังกล่าวนั้นแต่ประการใด ทราบแต่เพียงว่าขณะนั้นเหตุการณ์ระหว่างอิตาลีกับอังกฤษอันเกี่ยวกับเอธิโอเปีย กำลังตึงเครียดกันอยู่

ระหว่างการรับประทานอาหารกลางวัน เลขานุการของท่านดูเช่ได้การสรรเสริญบารมีของมุสโสลินีเยี่ยงพระจักรพรรดิก็ไม่ปาน โดยไม่ขาดปาก เขาบอกกับผมว่า โลกนี้ทั้งโลกมีอยู่สองคนเท่านั้นที่จะปราบอังกฤษได้ คนหนึ่งคือนโปเลียน ส่วนอีกคนหนึ่งคือ มุสโสลินี สำหรับนโปเลียนนั้นไม่มีโอกาสเสียแล้ว ก็เหลือแต่มุสโสลินีผู้ซึ่งมีความเข้มแข็งเด็ดขาดพอที่จะปราบอังกฤษได้ เขาได้งัดเอารูปถ่ายของมุสโสลินีมาอวดผม และบอกว่านี่แหละคือประมุขที่เคารพรักของชาวอิตาเลียน

ในเรื่องการต่อเรือรบซึ่งปรากฏว่ามีบริษัทญี่ปุ่นเสนอราคาที่ต่ำให้รัฐบาลไทยพิจารณานั้น ประธานอู่ต่อเรืออิตาเลียนได้แย้มให้ผมฟังว่า อยู่ของเขาได้ทำเรื่องขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอิตาลีไปแล้ว เพื่อที่จะแข่งขันเอาชนะญี่ปุ่นในการประมูลให้จงได้ แม้จะไม่มีกำไรเลยก็ตามที

โดยที่ผมพิจารณาเห็นว่าจะต้องรออยู่อีกถึง ๑๐ กว่าวันจึงจะถึงวันนัดพบกับมุสโสลินี ผมจึงตัดสินใจเดินทางโดยรถไฟไปยังเมืองโลซานน์ที่สวิตเซอร์แลนด์เสียก่อน เพื่อเข้าเฝ้าถวายความเคารพต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งขณะนั้นกำลังทรงศึกษาวิชาในโรงเรียนมัธยมอยู่ที่นั่น เมื่อได้เฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ก็กราบถวายบังคมลาเดินทางต่อไปยังกรุงปารีสและพักอยู่ ๒-๓ วันก่อนจะกลับมายังกรุงโรมในวันที่ ๔ พฤศจิกายน

เมื่อเดินทางมาถึงกรุงโรม ผมจึงตระหนักว่าวันที่ ๔ พฤศจิยายนเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ในวันนั้น มุสโสลินีได้กล่าวคำปราศรัยต่อประชาชนชาวอิตาลี ประการการเผชิญหน้ากับอังกฤษ และกล่าวหาเอธิโอเปียว่าแสดงท่าที่เป็นปฏิปักษ์กับอิตาลี เมื่อจบคำปราศรัยมุสโสลินีก็ออกคำสั่งเคลื่อนกำลังทั้งทางบกและทางอากาศ ซึ่งชุมนุมอยู่ที่พรมแดนระหว่างอาณานิคมของอิตาลีในอาฟริกากับเอธิโอเปียอยู่แล้ว เข้าโจมตีเอธิโอเปียโดยฉับพลัน ผู้บัญชาการทัพอากาศของอิตาลีในขณะนั้นคือเค้าท์ ซิอาโน ผู้เป็นบุตรเขยของมุสโสลินีนั่นเอง

กลศุลใหญ่ของไทยประจำกรุงโรมซึ่งเป็นชาวอิตาเลียน หากเคยพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานปีได้มาพบกับผมและขออภัยที่เขามิได้ไปรับผมที่สถานรถไฟ กงศุลใหญ่พูดกับผมเหมือนกับคนอิตาเลียนอื่น ๆ ว่าเขามีความจำเป็นที่จะต้องเออออไปกับพรรคฟาสซิสต์ เพื่อประโยชน์ในการทำมาหากินของเขา หากในส่วนลึกของจิตใจแล้ว มีความรู้สึกต่อต้านพรรคฟาสซิสต์

อีกสองวันต่อมา มุสโสลินีก็ได้เชิญผมให้ไปพบที่ทำเนียบ “ปราชโซเวเนเซีย” ซึ่งเป็นที่ทำงาน วันนั้นผมได้คุยอยู่กับมุสโสลินีเป็นเวลาถึง ๒ ชั่วโมง ในเรื่องร้อยแปดพันเก้า ผมได้ตระหนักว่ามุสโสลินีมีความรู้สึกที่ไม่เป็นมิตรกับญี่ปุ่นเลย ผมทราบดีว่าผลประโยชน์ของอิตาลีกับญี่ปุ่นขัดกันในเมืองจีน ถึงกับมุสโสลินีส่งบุตรเขยไปเป็นกงศุลใหญ่อยู่ที่เซี่ยงไฮ้ เพื่อช่วยรัฐบาลจีนคณะชาติต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น และก็เพื่อค้าขายแข่งกับญี่ปุ่นด้วยในขณะเดียวกัน ในระหว่างการสนทนา มุสโสลินีได้กล่าวเป็นการเอาใจผมว่า ตัวเขาไม่มีอคติใด ๆ กับชาวอาเซียและอ้างว่าจักรพรรดิโรมันองค์แรกก็ทรงมีพื้นเพมาจากอาเซีย สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับนาซีเยอรมัน ขณะนั้นเข้าไปยึดครองออสเตรีย จนกระทั่งผู้นำออสเตรียซึ่งเป็นสหายของมุสโสลินีถึงแก่ความตาย ผมก็มีความรู้สึกว่ามุสโสลินีไม่สู้จะพอใจฮิตเล่อร์นัก

ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย มุสโสลินีบอกกับผมว่าเขาชอบเมืองไทยและพยายามเกลี้ยกล่อมให้ผมเห็นว่าอังกฤษเป็นศัตรูของอิตาลีและของไทยรวมกัน โดยหยิบยกเอาการที่อังกฤษมาเอาดินแดนของเราไปเป็นสาเหตุ อย่างไรก็ตามมุสโสลินีมิได้กล่าวถึงฝรั่งเศสและก็มิได้เอ่ยถึงเหตุการณ์ที่เขาสั่งบุกเอธิโอเปียเมื่อสองวันก่อนหน้านั้นเลย

ในตอนท้ายของการสนทนา มุสโสลินีได้สัญญากับผมว่าอิตาลีจะไม่ขัดขวางการบอกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมระหว่างไทยกับอิตาลี เขายืนยันได้เต็มที่เพราะกิจการต่างประเทศอยู่ในความรับผิดชอบของเขาโดยตรง

จากอิตาลี ผมก็เดินทางกลับไปกรุงปารีสเพื่อพบกับนายกรัฐมนตรี เปียร์ ลาวาล ท่านผู้นี้บอกกับผมว่า เมื่อเขามีอายุเท่าผมในขณะนั้น (ตอนนั้นผมอายุ ๓๕ ปี) เขายังไม่ได้เป็นรัฐมนตรี แต่เมื่อมาเจรจากันถึงเรื่องการที่ประเทศไทยจะบอกยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับฝรั่งเศส ลาวาลก็แจ้งว่าเขายังจะกล่าวถึงสิ่งใดให้เด็ดขาดลงไปมิได้ เพียงแต่ยืนยันว่าจะรับเอาไว้พิจารณาเหตุผลของฝ่ายเรา

จากปารีส ผมก็เดินทางต่อไปยังกรุงปร๊าก กรุงเวียนนา และก็กรุงเบอร์ลิน ระหว่างอยู่ที่เบอร์ลินเจ้าหน้าที่รัฐบาลนาซีเยอรมันได้พาผมไปเยี่ยมองค์การต่าง ๆ ของเขา เช่นกระทรวงโฆษณาการ และองค์การยุวชนเป็นต้น เจ้าหน้าที่ซึ่งมาต้อนรับบอกกับผมว่า ฮิตเล่อร์เองก็ยินดีที่จะให้ผมเข้าพบ แต่ฮิตเล่อร์พูดอังกฤษไม่ได้ ฝรั่งเศสก็ไม่ได้ ดังนั้นการสนทนาก็ไม่ออกรส อีกทั้งสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมระหว่างประเทศไทยกับเยอรมนีก็ไม่มีอยู่แล้ว ดังนั้นก็จะมีเพียงเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการค้าซึ่งในเรื่องเหล่านี้ ผมควรจะพบกับนาย ฮะจาล มาร์ ชาคท์ รัฐมนตรีเศรษฐกิจจะเหมาะกว่า ซึ่งผมก็ได้พบกับรัฐมนตรีดังกล่าว ได้พูดจากันถึงเรื่องการแลกเปลี่ยนค้าขายระหว่างประเทศทั้งสอง ซึ่งปัญหาก็ติดอยู่ที่ว่ารัฐบาลนาซีมีระบบควบคุมการเศรษฐกิจ ดังนั้นการสนทนาของเราจึงมิได้บังเกิดผลประการใดนัก

ผมเดินทางจากเบอร์ลินมายังกรุงปารีสอีก แล้วก็ข้ามไปกรุงลอนดอนเพื่อพบกับ เซอร์ แซมมวล ฮอร์รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ซึ่งแสดงท่าทีคล้ายคลึงกับนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส คือยินดีจะรับเอาเรื่องของเราไว้พิจารณาด้วยดี สำหรับการเจรจาลดดอกเบี้ยเงินกู้นั้นเป็นที่เรียบร้อยสมความมุ่งหมาย คือสามารถลดจากอัตราร้อยละ ๖ ต่อปี เหลือเพียงร้อยละ ๔ ต่อปี

ผมเดินทางจากอังกฤษมาลงเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกที่ฝรั่งเศสต่อไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งที่กรุงวอชิงตันผมได้พบกับรัฐมนตรีต่างประเทศ คอร์เดล ฮัลล์ ท่านผู้นี้ได้ให้ความมั่นใจกับผมว่าสหรัฐอเมริกาไม่มีข้อขัดข้องต่อการที่ประเทศไทยจะบอกเลิกสนธิสัญญาซึ่งไม่เป็นธรรม อันมีอยู่ระหว่างสองประเทศนั้นเสีย

จากสหรัฐอเมริกา ผมก็เดินทางต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น และมีโอกาสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต ซึ่งได้ทรงพระราชทานการต้อนรับแก่ผมอย่างดียิ่ง ได้มีรับสั่งไต่ถามถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราว่าทรงพระเกษมสำราญเป็นประการใด และทรงไต่ถามถึงการเดินทางของผม ตลอดจนมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานสายสะพายอาทิตย์อุทัยชั้นที่ ๑ แก่ผมด้วย สำหรับในปัญหาเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจนั้น ผมต้องเจรจากับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล ซึ่งขณะนั้นส่วนใหญ่ประกอบด้วยคณะทหารและผู้สนับสนุนระบอบทหาร เขาเหล่านั้นพยายามชักจูงให้ผมเห็นถึงความจำเป็นที่ประชาชาติอาเซียทั้งหลายจะต้องร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันต่อสู้กับชาติผิวขาว หากผมก็เลี่ยงเสียไม่เออออห่อหมกไปด้วย ด้วยในทัศนะคติของผมนั้น ปัญหามิได้อยู่ที่ผิวหรือเชื้อชาติ หากอยู่ที่ความปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกันในโลกโดยสันติต่างหาก และในขณะนั้นเอง ญี่ปุ่นก็กำลังรุกรานประเทศจีน ซึ่งเป็นชาติอาเซียเหมือนกันและกำลังมุ่งหน้าสู่อาเซียอาคเนย์ ในการเจรจากับญี่ปุ่นนี้ ผมระมัดระวังอยู่มากสิ่งที่ผมเอาใจใส่ก็คือท่าทีของรัฐบาลญี่ปุ่นเกี่ยวกับเรื่องที่เราจะบอกเลิกสนธิสัญญาซึ่งไม่เป็นธรรมตามที่รัฐบาลได้มอบหมายผมมา ในเรื่องนี้ที่สุดฝ่ายญี่ปุ่นก็ได้แสดงความไม่ขัดข้องประการใด”


(บทความต้นฉบับจาก “Ma Vie Movementee et mes 21 Ans D ’ Exil en Chine Populaire”)

คัดลอกจากหนังสือ บางหน้าของประวัติศาสตร์ แปลและเรียบเรียงโดย วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร
ดาวน์โหลดไฟล์ PDF ที่

Monday, March 26, 2007

บทความที่ ๙๗. สงครามกับศาสนา

สงครามกับศาสนา

ศาสนจักรกับการกำจัดกวาดล้าง

เมื่อศาสนาคริสต์กำเนิดขึ้นใหม่ ๆ จักรวรรดิโรมันกำลังเรืองอำนาจครอบครองไปทั่วยุโรป ศาสนาคริสต์ถูกกำจัดกวาดล้างอย่างรุนแรงเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. ๖๔ เป็นต้นมา ตลอดเวลา ๒๕๐ ปีจนถึง ค.ศ. ๓๑๓ คริสตศาสนิกชนได้ถูกกำจัดสังหารอย่างทารุณ รวมถึงวิธีการอันป่าเถื่อน เช่น ถูกจับส่งเข้าไปสู้กับสิงโตด้วยมือเปล่าจนถูกกัดกินต่อหน้าคนดูในสนามกีฬาโคลัสเซียมอันยิ่งใหญ่ของกรุงโรม

ต่อมาเมื่อจักรวรรดิโรมันได้หันมานับถือคริสต์ศาสนาโดยเริ่มที่พระเจ้า Constantine I ใน ค.ศ.๓๑๓ จากนั้นมาอีกไม่นานประวัติศาสตร์อันยืดยาวที่คริสต์ศาสนากำจัดกวาดล้างคนนอกรีตและพวกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นซาตานหรือศัตรูของพระเจ้าก็ได้เริ่มขึ้น ตามมาด้วยการทำสงครามระหว่างคริสต์ศาสนาต่างนิกายนับแต่ ค.ศ. ๓๙๑ เป็นต้นมาจนถึงค.ศ. ๑๘๓๔ เป็นเวลาเกือบ ๑๔๕๐ ปี

การกำจัดกวาดล้างเหล่านี้เป็นเรื่องที่ฝ่ายศาสนจักรร่วมกับฝ่ายอาณาจักรดำเนินการบ้าง หรือทางฝ่ายศาสนจักรใช้อิทธิพลชักจูงให้ฝ่ายอาณาจักรลงมือทำบ้าง หรือกลุ่มคริสต์ศาสนิกชนต่างนิกายลงมือเข่นฆ่าสังหารกันและกันบ้าง

ในยุคสมัยกลาง พวกยิว พวกมุสลิม และคนนอกรีต เป็นกลุ่มที่ถูกกำจัดกวาดล้างโดยทั่วไป ตลอดจนพวกที่ถูกกล่าวว่าเป็นพ่อมด-แม่มด (ซึ่งถือกันว่าเป็นตัวแทนของซาตาน)ต่อมาก็รวมเอาพวกนักปราชญ์ นักวิทยาศาสตรที่เผยแพร่ความรู้ ความคิดเห็นขัดแย้งกับคำสอนในคริสต์ศาสนา

ต่อมาได้มีการตั้งสถาบันสำคัญ เพื่อการกำจัดกวาดล้างบุคคลที่ขัดต่อแนวทางและผลประโยชน์ของฝ่ายศาสนจักร คือองค์สันตปาปา (Pope) ร่วมกับฝ่ายอาณาจักร ตั้งศาลที่เรียกว่า Inquistion (หรือเรียกว่า ศาลไต่สวนศรัทธา)ขึ้นใน ค.ศ. ๑๒๓๑ ศาลนี้มาสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. ๑๘๓๔ ซึ่งเป็นระยะเวลาหลายร้อยปีที่ศาลนี้ได้พิพากษาตัดสินคนที่ศาสนจักรถือว่านอกรีต เป็นพวกสาวกซาตาน หรือทำผิดต่อศาสนจักร โดยวิธีการโหดเหี้ยมต่าง ๆ ที่จดจำกันถึงทุกวันนี้คือ การเผาทั้งเป็น

ตัวอย่างที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ คือ บรูโน (Giodarno Bruno) นักปราชญ์ที่สอนว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาลและมีจักรวาลมากมายเป็นอนันต์ เขาถูกศาลไต่สวนศรัทธา ตัดสินประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็นใน ค.ศ. ๑๖๐๐

บุคคลต่อมาคือ กาลิเลโอ (Galileo Galilei) นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีผู้เลื่องลือที่สอนว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ หาใช่ดวงอาทิตย์หมุนรอบโลกไม่ เขาถูกจับขึ้นศาลฯ แต่เขายอมรับผิด จึงได้รับการผ่อนโทษโดยเหลือเพียงการขังกักบริเวณไว้ในบ้านจนถึงแก่ความตายใน ค.ศ. ๑๖๔๒

ก่อนหน้าบูรโนและกาลิเลโอ ก็มีบุคคลอีกท่านหนึ่งคือ เซอร์วีตัส (Michael Servetus) ผู้ค้นพบระบบการไหลเวียนของโลหิต เขาถูกศาลฯตัดสินประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็น ใน ค.ศ. ๑๕๕๓ แต่เขาหลบหนีจากจับกุมของศาลฯฝ่ายนิกายคาธอลิกไปได้ ฝ่ายคาธอลิกจึงเผาหุ่นของเขาแทน ต่อมาเขาถูกฝ่ายนิกายโปรเตสแตนต์จับได้ที่เจนีวาสวิสเซอร์แลนด์และถูกศาลไต่สวนฯของนิกายนั้นที่มีชื่อว่า Consistory ตัดสินให้เผาทั้งเป็นใน ค.ศ. ๑๕๕๓ นั้นเอง

บุคคลอีกสำคัญอีกคนหนึ่งที่ถูกตัดสินให้เผาทั้งเป็น ซึ่งคนทัวไปจำกันได้ดีก็คือ โจน ออฟ อาร์ค (Joan of Arc) วีรสตรีชาวฝรั่งเศสที่ถูกตัดสินว่าเป็นแม่มดและถูกเผาทั้งเป็นใน ค.ศ. ๑๔๓๑ ยุโรปในยุคนั้น ผู้หญิงถูกตัดสินว่าเป็นแม่มด ถูกประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็นอย่างนี้มีจำนวนมากมาย เช่นในเยอรมันภาคใต้มีการประหารด้วยวิธีเผาทั้งเป็นมากกว่า ๓,๐๐๐ คน ส่วนศาลไต่สวนศรัทธาในสเปญก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเท่าใดเพราะมีการสั่งประหารชีวิตเผาทั้งเป็นคนนอกรีตไปประมาณ ๒,๐๐๐ คน

ยุคมืดในยุโรป

ในยุคกลาง Middle Ages ของยุโรปที่เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. ๔๗๖ ถึง ค.ศ. ๑๔๕๓ เป็นระยะเวลา ๑ พันปีที่ศาสนจักรมีกำลังและอิทธิพลเป็นหนึ่งเดียวกันทั่วยุโรป วัฒนธรรมที่มีแหล่งกำเนิดจากคริสต์ศาสนาได้แผ่เข้าครอบคลุมชีวิตในทุกด้าน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและการทหาร

ต่อมา เมื่อยุโรปหลุดพ้นจากยุคสมัยกลาง พวกนักปราชญ์ยุโรปเห็นว่ายุโรปควรจะได้กลับคืนสู่ศิลปวิทยาการของกรีกและโรมันโบราณอีกครั้ง จึงได้เรียกชื่อยุคสมัยที่ผ่านมานั้นว่า Middle Ages -สมัยกลาง ซึ่งมีความหมายว่าเป็นช่วงเวลาท่ามกลางการเสื่อมสลายของศิลปวิทยาการของกรีกและโรมันโบราณ จนกระทั่งศิลปวิทยาการนั้นกลับฟื้นขึ้นมาอีกในยุคของพวกตน จึงเรียกยุคนี้ว่า Renaissance

แต่ถึงแม้จะพ้นจากสมัยกลางเนิ่นนานมาจนถึงสมัย Enlightenment ในศตวรรตที่ ๑๘ ความรู้สึกที่เป็นปฏิกิริยาต่อสภาพของสมัยกลางก็ยังคงอยู่ ชาวยุโรปจึงเรียกชื่อสมัยกลางอีกชื่อหนึ่งว่า Dark Ages หรือ ยุคมืด ซึ่งหมายถึงยุคสมัยที่อารยธรรมคลาสสิกของศิลปวิทยาการฯได้เลือนลับไป ยุโรปจึงตกอยู่ในความมืดมนทางปัญญา

ต่อมาคนสมัยหลัง ๆ เริ่มคลายความปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ในยุคมืดลง ก็เริ่มกลับไปมองคุณค่าของยุคมืดหรือยุคกลางว่าเป็นรากฐานให้เกิดยุคสมัย Renaissance (เรเนซองซ์)โดยเฉพาะที่สำคัญที่คนยุคหลังเห็นว่ายุคกลางเป็นยุคที่สำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้มียุค Renaissance ได้ ก็คือเหตุการณ์ที่ศาสนจักรได้เผชิญและผจญกับศาสนาอิสลาม ในสงครามครูเสดเป็นต้น ในคราวที่ฝ่ายศาสนจักรได้ชัยชนะเหนือฝ่ายมุสลิม ก็มีการนำวิทยาการ ความรู้ ตำราของพวกกรีก-โรมันโบราณที่พวกมุสลิมได้นำไปเก็บรักษา กลับมายังยุโรป

ตำราตำรา วิชาความรู้ที่ได้มาชัยชนะของสงครามครูเสด พวกนักบวชคริสต์ได้คัดลอก เก็บรักษาหรือแปลจากภาษาอาหรับมาเป็นภาษาละติน ซึ่งได้กลายมาเป็นแหล่งความรู้ให้แก่ยุค เรเนซองซ์ (ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา)ในเวลาต่อมา

ในยุคสมัยกลาง ได้มีประเพณีที่ผู้จะขึ้นมาเป็นจักรพรรดิโรมันจะต้องให้โป๊ปสวมมงกุฏให้ จึงมีคำเรียกอาณาจักรโรมันที่ปกครองโดยจักรพรรดิที่โป๊ปสวมมงกุฎให้ว่า Holy Roman Empire จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เมื่อฝ่ายศาสนจักรมีอิทธิพลครอบงำเหนือฝ่ายอาณาจักร ทำให้เกิดเป็นความคิดที่ถือว่ายุโรปเป็นศาสนรัฐที่กว้างใหญ่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเรียกว่า “Christendom” (คริสต์จักรหรือคริสต์อาณาจักร)

คริสต์อาณาจักรจึงประกอบด้วย ๒ องค์กรใหญ่ได้แก่ฝ่ายศาสนาธิการ (sacerdotium) มีสันตะปาปาเป็นใหญ่มีอำนาจสูงสุด อีกฝ่ายได้แก่ฝ่ายรัฏฐาธิการ (imperium) มีจักรพรรดิทรงอำนาจสูงสุด ซึ่งองค์กรทั้งนี้จะปฏิบัติงานเสริมกันและกัน แต่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์กลับปรากฏว่าสององค์กรนี้มีการแย่งอำนาจชิงดีชิงเด่นกันมาตลอด

ในยุคกลางนี้เช่นกัน ที่ศาสนจักรและอาณาจักรได้รวมพลังกันทำสงครามศักดิ์สิทธิ์หรือสงครามเพื่อพระผู้เป็นเจ้า (holy war) เพื่อปลดปล่อยดินแดนศักดิ์สิทธิ์ (เยรูซาเลม) จากการยึดครองของพวกมุสลิมเตอร์กส์ สงครามนี้มีชื่อเรียกว่า “สงครามครูเสด” ซึ่งรบกันยืดเยื้อยาวนานประมาณ ๒๐๐ ปี (ค.ศ. ๑๐๙๖-๑๒๗๐) นับเป็นสงครามครั้งใหญ่ ๘ ครั้งและสงครามย่อย ๒ ครั้ง

ในระหว่างสงครามครูเสดที่ฝ่ายคริสต์มีชัยเหนือฝ่ายมุสลิมก็ได้นำตำราวิทยาการกลับไปยุโรปและมีการแปลตำรานั้นเป็นภาษาละติน พวกยุโรปก็ค่อย ๆ ฟื้นฟูวิทยาการความรู้จากตำราของพวกกรีกโรมันโบราณที่พวกมุสลิมครอบครองไว้ตั้งแต่ยุคคริสตกาลตอนต้น ๆ

ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๔๕๓ กรุงคอนสแตนติโนเปิลได้ถูกพวกออโตมานเตอร์กส์ ยังผลให้จักรวรรดิไบแซนไทน์ ซึ่งเป็นจักรวรรดิโรมันตะวันออกล่มสลายลง เหล่านักปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากได้หลบหนีมายังอิตาลีและหอบเอาตำรับตำราสำคัญมาด้วย เป็นการนำความรู้จากยุคกรีกโบราณมายังยุโรปอีกระลอกหนึ่ง

การปฏิรูปทางศาสนา

ยุโรปหลุดออกมาจากยุคกลางเข้าสู่ยุคฟื้นฟูทางศิลปวิทยาการได้เพียงไม่นาน อำนาจของโป๊ปที่เคยยิ่งใหญ่เหนือแผ่นดินยุโรปก็สิ้นสุดลง เพราะอิทธิพลของแนวความคิดและการตื่นตัวของประชาชนที่ได้ศึกษาเรียนรู้วิทยาการมากขึ้น เกิดเป็นความขัดแย้งของความเชื่อเก่ากับความเชื่อใหม่ซึ่งได้ม้วนเอาเรื่องการเมืองเข้าไปเกี่ยวด้วยทำให้การโต้แย้งแข็งขืนกลายเป็นการต่อสู้ด้วยกำลัง การห้ำหั่นบีฑา (persecution) และ สงครามศาสนา (religious war) ก็เกิดขึ้น

แต่สงครามศาสนาคราวนี้เป็นการทำสงครามของชาวคริสต์กันเองที่มีความเชื่อแตกต่างกัน คือนิกายโรมันคาธอลิก กับนิกายใหม่คือโปรเตสแตนต์ ซึ่งต่างก็ถือว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพวกนอกรีต

ฝ่ายคาธอลิกได้ระดมทุนเพื่อจะรักษาความยิ่งใหญ่ให้เหนือโปรเตสแตนต์ โดยให้มีการขายใบไถ่บาป (indulgence) ซึ่งอ้างว่าโปรดประทานจากพระคลังบุญ (Treasury of Merits) ของพระเยซูและเหล่านักบุญ โดยมีตัวแทนจำหน่ายในท้องที่ต่าง ๆ

การขายใบไถ่บาปทำให้ได้เงินมหาศาล (รวมทั้งเงินที่เอามาสร้างมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ ที่กรุงโรม) บาทหลวงบางคนขายใบไถ่บาปเอาเงินให้สันตะปาปาเพื่อแลกกับตำแหน่งในสมณศักดิ์สูง การก่อสร้างและการสะสมทำให้ฝ่ายศาสนจักรมีทรัพย์สินมหาศาล

มาถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ค.ศ.๑๕๑๗ บาทหลวงเยอรมันชื่อมาร์ติน ลูเธอร์ ได้ปิดประกาศคำประท้วงการขายใบไถ่บาป ถือว่าเป็นจุดเริ่มแห่งการปฏิรูป ที่ให้ชาวคริสเตียนคืนกลับไปหาคัมภีร์ไบเบิลโดยปฏิเสธอำนาจขององค์สันตะปาปา หลังจากนั้นไม่นาน การกำจัดกวาดล้างรบราฆ่าฟันและสงครามก็ตามมา

การที่มาร์ติน ลูเธอร์ สามารถได้กำลังสนับสนุนมาต่อสู้กับวาติกันเพราะมีผู้เชื่อในคำสอนทางศาสนาที่เขาตีความใหม่มากขึ้น และมีเหตุผลทางการเมืองดังที่มีบันทึกไว้ว่า

“ทั่วยุโรปภาคเหนือ กษัตริย์และเจ้าผู้ครองดินแดนทั้งหลาย ซึ่งรู้ตระหนักว่าตนกำลังมีอำนาจมากขึ้น มีความไม่พอใจอยู่แล้วต่อการที่องค์สันตะปาปาซึ่งประทับอยู่แสนไกล มาถือสิทธิคุมอำนาจบังคับบัญชาตน แถมยังดูดสูบเอาโภคทรัพย์ไปยังกรุงโรมอีกด้วย”
(Europe,history of,”New Grolier Multimedia Encyclopedia,1994)

การปฏิรูป (Reformation) ซึ่งเป็นของฝ่ายโปรเตสแตนต์ ตามมาด้วยการโต้ปฏิรูป (Counter-Reformation) ของฝ่ายโรมันคาธอลิก (ค.ศ.๑๕๔๐-๑๖๑๐)เพื่อเร่งงานกำจัดฝ่ายโปรเตสแตนต์ให้หมดสิ้น ในช่วงเวลานับแต่เริ่มยุคการปฏิรูป ชาวคริสต์สองนิกายได้ทำสงครามห้ำหั่นบีฑาและสงครามศาสนาระหว่างราษฎรกับราษฎร ระหว่างประเทศหนึ่งกับอีกประเทศหนึ่งบ้าง ระหว่างกลุ่มประเทศทั่วทั้งยุโรปบ้าง ซึ่งนอกจากทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในยุโรปแล้ว ก็ส่งผลไปถึงการเกิดขึ้นของประเทศในโลกใหม่คืออเมริกาด้วย

ยกตัวอย่าง ในประเทศอังกฤษซึ่งได้กลายเป็นประเทศโปรเตสแตนต์เมื่อพระเจ้าเฮนรี่ที่ ๘ แยกออกจากโรมันคาธอลิก โดยประกาศไม่ยอมรับอำนาจขององค์สันตะปาปาและให้รัฐสภาสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นประมุขแห่งศาสนจักรนิกายอังกฤษ (Church of England) คือนิกายแองกลิคาน (Anglican Church) ในปี ๑๕๓๔ ทำให้ศาสนาคริสต์นิกายอังกฤษเป็นศาสนาประจำชาติมาจนบัดนี้
พระเจ้าเฮนรี่ที่ ๘ ได้ทรงกำราบและยึดทรัพย์โบสถ์ทั้งหลายของคาธอลิก ใครยอมเชื่อฟังโป๊ปถือว่าเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ผู้นับถือโรมันคาธอลิกคนใดไม่ยอมรับสถานะของพระองค์ว่าเป็นประมุขของศาสนจักรก็ถูกประหารชีวิต พึงสังเกตว่า อังกฤษกำจัดไม่เฉพาะชาวคาธอลิกเท่านั้นแต่กำจัดโปรเตสแตนต์นิกายอื่นที่ไม่ใช่นิกายอังกฤษด้วย ดังนั้นพวกถือนิกายลูเธอแรนก็ถูกจับเผาทั้งเป็นจำนวนมาก

ต่อมาพระนางแมรีที่ ๑ ผู้เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเฮนรี่ที่ ๘ ขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ.๑๕๕๓ สถานการณ์เปลี่ยนเป็นตรงข้าม พระนางแมรี่พยายามกู้นิกายโรมันคาธอลิกกลับขึ้นมาให้เป็นศาสนาประจำชาติ และได้กำจัดผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ ปรากฏว่าชาวโปรเตสแตนต์ถูกเผาทั้งเป็นประมาณ ๓๐๐ คน บ้างก็หนีไปอยู่ประเทศอื่น

การณ์กลับกลายอีกครั้งเมื่อพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ ๑ ขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากพระนางแมรี่ที่ ๑ ในปี ค.ศ. ๑๕๕๘ พระนางทรงฟื้นนิกายโปรเตสแตนต์กลับขึ้นมาอีก และโดยเฉพาะปลายรัชกาลทรงกำจัดฝ่ายโรมันคาธอลิกอย่างโหดเหี้ยมถึงกับประหารชีวิตเป็นจำนวนมาก

ส่วนฝรั่งเศสนั้นตรงกันข้าม ได้พยายามรักษานิกายโรมันคาธอลิกไว้ให้มั่นคงและกำจัดโปรเตสแตนต์อย่างถึงที่สุด พวกโปรเตสแตนต์ในฝรั่งเศสมีชื่อเรียกว่า พวกฮิวเกนอตส์ (Huguenots) เมื่อพวกฮิวเกนอตส์มีกำลังเข้มแข็งขึ้น รัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้กำจัดด้วยวิธีรุนแรงจนกระทั่งเกิดเป็นสงครามศาสนาถึง ๘ ครั้งในช่วง ค.ศ. ๑๕๖๒-๑๕๙๘ แต่หลังจากสงบศึกไประยะหนึ่ง ต่อมาก็กำจัดกันใหม่และเกิดสงครามใหม่อีก

พวกฮิวเกนอตส์จำนวนมาก เห็นว่าจะอยู่ในประเทศของตนเองต่อไปไม่ไหว ก็หลบหนีไปประเทศอื่น เช่นอังกฤษ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ อีกส่วนหนึ่งก็ต่อไปยังดินแดนแห่งโลกใหม่คือ อเมริกา (เช่นในรัฐ Masachusetts, New York, Florida และ South Carolina)

พวกที่หนีไปครั้นนั้น มีจำนวนประมาณ ๔ แสนถึง ๑ ล้านคน เนื่องจากพวกฮิวเกนอตส์เป็นชนชั้นกลางที่มีการศึกษา มีความรู้และฝีมือแรงงานดี ตลอดจนเป็นนายทหาร จึงทำให้ทหารฝรั่งเศสสูญเสียทรัพยากรคนไปจำนวนมาก การกำจัดและสงครามเพื่อกำจัดพวกฮิวเกนอตส์นี้ ดำเนินมาจนถึง ค.ศ.๑๗๘๙ (รวม ๒๒๗ ปี)จึงสิ้นสุดลง ส่วนในประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นจุดเกิดกรณี คือเป็นที่เริ่มต้นของนิกายโปรเตสแตนต์ การกำจัดห้ำหั่นกันก็เป็นไปอย่างรุนแรงยาวนาน

ในที่สุดการปฏิรูปของฝ่ายโปรเตสแตนต์และการโต้ปฏิรูปของฝ่ายโรมันคาธอลิก ก็มาถึงจุดแตกหักกลายเป็นสงครามศาสนาครั้งใหญ่ของยุโรปตะวันตก ระหว่างประเทศทั้งหลายที่นับถือต่างนิกายกัน เป็นการรบกันอย่างยาวนานถึง ๓๐ ปีเรียกว่า Thirty Years’ War ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. ๑๖๑๘-๑๖๔๘ สงครามที่ยืดเยื้อยาวนานนี้ ก่อภัยพิบัติทั้งแก่มนุษย์ เศรษฐกิจและสภาพสังคมทั่วไปของยุโรปอย่างมหาศาล เมืองหลายเมืองหมดประชากรไปครึ่งเมืองหรือเกินกว่าครึ่ง

ตัวอย่างของความโหดเหี้ยมในสงครามศาสนา ได้แก่เมืองๆหนึ่งในเยอรมันชื่อเมือง แมกดีเบอร์ก (Magdebrug)ซึ่งเป็นเมืองฝ่ายนิกายโปรเตสแตนต์ ถูกกองทัพฝ่ายคาธอลิกบุกใน ค.ศ. ๑๖๓๑ เมืองทั้งเมืองถูกเผา ราษฎรที่มีอยู่ ๓๐,๐๐๐ คนถูกฆ่าไปถึง ๒๐,๐๐๐ คน เหตุการณ์สยดสยองจากสงคราม ๓๐ ปียังคงฝังแน่นในความทรงจำของประชาชนยิ่งกว่าสงครามใดๆ (ก่อนศตวรรษที่ ๒๐) สงคราม ๓๐ ได้สิ้นสุดลงด้วยการเซ็นสัญญาสันติภาพ (Peace of Westphalia) ใน ค.ศ. ๑๖๔๘

ยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญา

ศตวรรษที่ ๑๘ ถูกนับว่าเป็นยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญา (Age of the Enlightened) เป็นยุคที่ยุโรปได้เข้าสู่การคิดด้วยเหตุผลว่าจะสามารถรู้ในความจริงของทุกสรรพสิ่งในสากลพิภพ และคิดว่าตนจะแก้ไขปรัปปรุงชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ พร้อมทั้งความใฝ่นิยมเสรีภาพ ชื่นชมวิทยาศาสตร์ และเป็นปฏิปักษ์ต่อความเชื่อถืองมงายในโชคลางพิธีรีตองต่าง ๆ ซึ่งขัดแย้งกับทางฝ่ายศาสนจักรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยุคแสงสว่างฯ นี้ได้รับผลจากการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) ซึ่งถือว่าเริ่มต้นใน ค.ศ. ๑๕๔๓ และดำเนินต่อมาตลอดศตวรรษที่ ๑๖ และ ๑๗ จนทำให้คริสตศตวรรษที่ ๑๘ เป็นยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญานั่นเอง การตื่นตัวและความเจริญก้าวหน้าทางปัญญาในยุคนี้ได้ก่อให้เกิดเหตุการณ์ใหญ่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เรียกว่าเป็นการอภิวัฒน์ ถึง ๒ เหตุการณ์ คือ

๑.การอภิวัฒน์ฝรั่งเศส (French Revolution) ในค.ศ. ๑๗๘๙-๑๘๑๕ และการอภิวัฒน์อเมริกาในปี ค.ศ. ๑๗๗๕-๑๗๘๓

๒.การอภิวัฒน์อุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ซึ่งเริ่มในอังกฤษประมาณค.ศ.๑๗๕๐-๑๘๕๐

การอภิวัฒน์ทั้งสองนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีผลอย่างมากมายและกว้างขวาง พลิกผันสภาพบ้านเมือง ระบบสังคมและวิถีชีวิตของผู้คน นำอารยธรรมขึ้นสู่ยุคใหม่โดยเฉพาะระบบอุตสาหกรรมถือว่าเป็นตัวกำหนดให้สังคมตะวันตกและโลกขึ้นสู่ยุคสมัยใหม่ (Modern Age) ความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตและสังคม แนวความคิดความเชื่อใหม่ ๆ ได้ทำให้กระแสความคิดความสนใจของคนสมัยใหม่ในตะวันตกที่ผละออกจากการครอบงำของศาสนาคริสต์แล้วนั้น ยิ่งห่างไกลออกจากศาสนาเรื่อย ๆ และอิทธิพลของศาสนจักรก็ยิ่งลดน้อยถอยลงไป แล้วยังส่งผลไปถึงประชาชนในดินแดนห่างไกลที่กำลังพัฒนาทั่วโลกด้วย


ดินแดนแห่งเสรีภาพ

อเมริกา เป็นดินแดนที่ผู้อพยพมาจากทวีปยุโรปเข้าขับไล่ผู้อาศัยอยู่เดิมให้เข้าไปอยู่ในเขตสงวนแล้วตนเองจึงเข้าครอบครองอาณาเขตทั้งหมด และก็เป็นที่รู้กันดีว่าสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเหล่านี้อพยพมา ก็คือ การหนีภัยบีบคั้นกำจัดหรือ การห้ำหั่นบีฑาทางศาสนา (religious persecution) ในประเทศเดิมของตน

นอกจากฝรั่งเศสที่พวกโปรเตสแตนต์ที่มีชื่อเรียกว่าพวกฮิวเกนอตส์ หนีภัยมายังดินแดนใหม่ ชาวอังกฤษก็เป็นแหล่งใหญ่ของผู้หนีภัยทางศาสนา เริ่มตั้งแต่พวกโปรเตสแตนต์อังกฤษที่มีชื่อเรียกว่าพวก Puritans ซึ่งหนีมาในสมัยของพระนางแมรี่ที่ ๑ ผู้กู้นิกายโรมันคาธอลิกและกำจัดพวกโปรเตสแตนต์ พวก Puritans มายังอเมริกาตั้งแต่ ปีค.ศ. ๑๖๒๐ มาตั้งรกรากอยู่ที่ Plymonth ในรัฐแมสสาจูเซททส์ พวก Puritans อพยพมาอเมริกาครั้งใหญ่อีกในช่วง ค.ศ.๑๖๓๐-๑๖๔๐ ต่อมาพวกอพยพหนีภัยศาสนาก็อพยพมาอเมริกาอีกเป็นระลอก

ในฐานะที่อเมริกาเป็นอาณานิคม รัฐบาลอังกฤษจึงได้ตามมาออกกฏหมายให้คริสต์ศาสนานิกายอังกฤษเป็นศาสนาราชการในเวอร์จิเนีย, แมรี่แลนด์,นิวยอร์ค,แคโรไลน่าเหนือ-ใต้และจอร์เจีย ในรัฐเวอร์จิเนีย เจ้าหน้าที่อาณานิคมซึ่งอยู่ข้างนิกายอังกฤษก็เกิดปัญหาขัดแย้งกับพวกเพรสไบทีเรียน พวกแบพติสต์และนิกายอื่น ๆ

ฝ่ายชาวอาณานิคมเองทั้งที่ได้ประสบภัยเบียดเบียนทางศาสนาในยุโรปมาอย่างหนักแล้ว เมื่ออพยพมาได้ที่พักพิงในอเมริกาแล้ว ก็ยังถูกตามมาเบียดเบียนราวีในอเมริกาอีก มีการแบ่งเป็นกลุ่มของตนและกำจัดกลุ่มอื่น เช่นในรัฐแมสสาจูเซททส์ ได้มีการกำจัดพวกเควกเกอรส์และพวกแบพติสต์ รวมทั้งมีการล่าและฆ่าผู้ที่ถูกสงสัยว่าเป็นแม่มด

ชาวคาธอลิกที่หนีมายังอเมริกาเป็นคนกลุ่มน้อยเมื่อเทียบกับชาวโปรเตสแตนต์ แต่จะกลายเป็นตรงกันข้ามในดินแดนของคานาดาในยุคนั้น ที่รัฐบาลฝรั่งเศสออกกฏหมายห้ามมิให้มีนิกายโปรเตสแตนต์ ส่วนในแมรี่แลนด์ที่มีชาวคาธอลิกมากที่สุดก็ไม่เกิน ๓,๐๐๐ คน คนเหล่านี้ได้รับการเบียดเบียนอย่างเบา ๆ ตามกฏหมายของรัฐใน ค.ศ. ๑๖๙๑ คือคนที่นับถือนิกายคาธอลิกจะถูกตัดสิทธิทางการเมือง ห้ามไม่ให้ประกอบพิธีทางศาสนาเว้นแต่เฉพาะในบ้านของตนเอง

คนอเมริกันผู้หนีภัยการเบียดเบียนในเรื่องศาสนามายังดินแดนใหม่ จึงมีจิตสำนึกที่ฝังลึกในใจที่สำคัญ คือความใฝ่ปรารถนาและเชิดชูบูชาเสรีภาพหรือความเป็นอิสระเสรี เป็นอย่างยิ่ง ต่อมาเมื่อได้รับอิสรภาพที่จะปกครองตนเองแล้ว ก็ได้ถือเรื่องเสรีภาพนี้มาเป็นหลักการสำคัญและกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีอิสรเสรีภาพในด้านต่าง ๆ รวมทั้งเสรีภาพทางศาสนาด้วย ยิ่งกว่านั้น เมื่อหลายนิกายตกลงกันไมได้ว่าจะถือนิกายใดเป็นใหญ่ หรือจะถือหลักศาสนาร่วมกันได้อย่างไร อเมริกาก็วางหลักการแห่งการแยกศาสนาจักรกับอาณาจักรออกจากกัน...
ศาสนากับการล่าอาณานิคม

จักรวรรดิมุสลิม

ความเจริญของอารยธรรมตะวันตก ซึ่งผูกพันอยู่กับศาสนาคริสต์ก็คือ การล่าอาณานิคมที่กลายมาเป็นนโยบายของประเทศทั้งหลายในยุโรปที่เรียกว่าลัทธิอาณานิคม (colonialism) การล่าอาณานิคมมีมาแต่โบราณ ถือกันว่า พวกฟินิเซียน เป็นนักล่าอาณานิคมทางทะเลพวกแรกตั้งแต่ ๑๑๐๐ ปีก่อน ค.ศ.

ตามมาด้วยพวกกรีกและโรมัน ซึ่งเข้มแข็งอยู่ในช่วงศตวรรษที่ ๒-๓ก่อน ค.ศ.และในที่สุดยุโรปเกือบทั้งหมดและดินแดนตะวันออกกลางก็ตกอยู่ใต้การปกครองของพวกโรมัน ซึ่งถือกำเนิดเมื่อประมาณ ๒๗ ปีก่อน ค.ศ. โดยมีกรุงโรมเป็นเมืองหลวง

ต่อมา ค.ศ. ๓๒๔ พระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๑ ได้เลือกเมืองกรีกโบราณชื่อว่าไบแซนทาเนียนแล้วสร้างขึ้นใหม่เปลี่ยนชื่อเป็นคอนสแตนติโนเปิล หรือ “โรมใหม่” ซึ่งปัจจุบันนี้ได้แก่เมืองอิสตันบุลในประเทศตุรกี กรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมัน และพระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๑ทรงเป็นจักรพรรดิโรมันพระองค์แรกที่นับถือศาสนาคริสต์ ทำให้ต่อมามิช้านานศาสนาคริสต์ก็ได้เป็นศาสนาประจำชาติของจักรวรรดิโรมันใน ค.ศ. ๓๘๐

ต่อมาจักรพรรดิได้ออกกฎห้ามประชาชนนับถือศาสนาอื่นนอกจากศาสนาคริสต์และยังลงมือกำจัดคนที่ไม่นับถือศาสนาคริสต์ ตั้งแต่หลัง ค.ศ. ๓๙๑ เป็นต้นมา ครั้นถึง ค.ศ. ๓๙๕ จักรวรรดิโรมันก็แตกออกเป็น ๒ ภาค คือ จักรวรรดิไบแซไทน์หรือจักรวรรดิโรมันตะวันออกที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลแห่งหนึ่ง อีกแห่งหนึ่งคือจักรวรรดิโรมันตะวันตกที่กรุงโรม

จนกระทั่งต่อมาเมื่อกรุงโรมแห่งจักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลายในปีค.ศ.๔๗๖ ส่วนกรุงคอนสแตนติโนเปิลก็ยังคงเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิไบแซนไทน์แห่งจักรวรรดิโรมันตะวันออกสืบมา นักประวัติศาสตร์ถือว่ายุโรปเข้าสู่สมัยกลางหรือยุคมืดนับแต่บัดนั้น และตั้งแต่นั้นก็ไม่มีประเทศใดในยุโรปที่มีกำลังเข้มแข็งพอที่จะตั้งอาณานิคมขึ้นได้

เข้าสู่คริสตศตวรรษที่ ๗ ศาสนาอิสลามซึ่งเพิ่งจะกำเนิดขึ้นแต่มีกำลังเข้มแข็งในการเผยแผ่ ก็ได้เข้าสู่ยุคที่ชาวอาหรับเป็นนักล่าอาณานิคมเรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ ๑๓ ยุคของศาสนาอิสลามนั้นนับตั้งแต่พระศาสดามูอัมหมัดได้ตั้งศาสนาอิสลามขึ้นในดินแดนอาหรับ และกำหนดเริ่มต้นฮิจเราะห์ศักราช (Hijrah) ใน ค.ศ. ๖๒๒

เมื่อศาสดามูฮัมหมัดสิ้นชีวิตลงใน ค.ศ. ๖๓๒ พ่อตาคือ อาบูบากะร์ก็ขึ้นเป็นกาหลิฟ(Caliph) องค์แรก ต่อจากนั้นการแผ่ขยายดินแดนของมุสลิมอาหรับก็เริ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการขับเคี่ยวกับจักรวรรดิไบแซนไทน์และจักรวรรดิเปอร์เซีย

ใน ค.ศ. ๖๖๑ ศาสนาอิสลามก็แตกออกเป็น ๒ นิกายคือสุหนี่ (Sunnites)ซึ่งเป็นส่วนข้างมาก และชีอะห์(Shites)เป็นส่วนข้างน้อย หลังจากนั้นเมืองหลวงของกาหลิฟก็ย้ายจากมะดินะ (Medina) ไปยังดามัสกัส และการแผ่ขยายดินแดนก็ดำเนินต่อไป เมื่อเข้าปี ค.ศ.๖๗๐ ก็ยึดทูนีเซียจนไปถึงปลายสุดด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอาฟริกาเหนือ พอถึงปี ค.ศ.๗๑๐ ก็ตีด้านยุโรปได้สเปญ และเมื่อพยายามจะตีฝรั่งเศสก็ถูกตีแตกกลับออกมาใน ค.ศ.๗๓๒

ทางทิศเหนือ ได้เข้าล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิลแต่ยังตีกรุงไม่แตก ด้านทิศตะวันตกในปี ค.ศ.๗๑๑ กองทัพอาหรับได้บุกไปถึงลุ่มน้ำสินธุไปจนจรดอินเดียและจีน เข้าไปตั้งถิ่นฐานบางส่วนในแคว้นปัญจาบ

ต่อมาในปี ค.ศ.๗๕๐ กาหลิฟแห่งดามัสกัสถูกสังหาร กาหลิฟวงศ์ใหม่จึงย้ายเมืองหลวงไปยังแบกแดด (Bagdad) การขยายอาณาเขตได้ผ่อนเบาลงและหันมาส่งเสริมศิลปวิทยา ทำให้ปราชญ์มุสลิมมีผลงานออกมาทางวรรณคดี ปรัชญา และศาสตร์ต่าง ๆ จึงก้าวหน้ากว่าชาวยุโรปในยุคมืดมนทางปัญญา

ในช่วงนั้นอาณาจักรมุสลิมเตอร์กส์มีพวก เซลจูก (Seljuks) ได้เริ่มเรืองอำนาจขึ้นมาขณะที่พวกมุสลิมอาหรับอ่อนกำลังลง ส่วนในทางยุโรปคริสต์จักรได้เกิดการแตกแยกครั้งใหญ่ระหว่างพวกนิกายออโธดอกซ์กับนิกายโรมันคาธอลิก ใน ค.ศ. ๑๐๕๔

พอในปี ค.ศ.๑๐๕๕ พวกเตอร์กส์มุสลิมเซลจูกมีหัวหน้าที่เรียกว่าสุลต่าน ก็เข้ายึดแบกแดดได้ เข้าคุ้มครอง เข้าคุ้มครองและชักใยกาหลิฟที่ค่อย ๆ กลายเป็นหุ่นให้ชักไปแล้ว ต่อมาพวกเซลจูกก็มีชัยเหนือจักรวรรดิไบแซนไทน์ใน ค.ศ.๑๗๗๑ อันเป็นสาเหตุเริ่มต้นของสงครามครูเสด ระหว่างประเทศมุสลิมกับประเทศที่นับถือคริสต์ศาสนาทั้งหลาย ยาวนานเกือบ ๒๐๐ ปี (ค.ศ.๑๐๙๖-๑๒๗๐)

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เจงกิสข่านได้นำทัพมองโกลแผ่อำนาจเข้าบุกจีน สามารถยึดกรุงปักกิ่งได้ใน ค.ศ.๑๒๑๕ จากนั้นก็มุ่งไปทางตะวันตก ตีจักรวรรดิของพวกเตอร์กส์แถบอิรัก อิหร่านและเตอรกีสถานตะวันตกบางส่วน และรุกเข้ารัสเซีย

เมื่อเจงกิสข่านสิ้นชีวิตในปี ค.ศ. ๑๒๒๗ ข่านคนต่อมาได้แผ่อำนาจต่อไปจนเข้ายึดและทำลายกรุงแบกแดดลงในปี ค.ศ.๑๒๕๘ จักรวรรดิมุสลิมก็ตกอยู่ใต้อำนาจของมงโกล ยกเว้นอาณาจักรของพวกมามะลูกส์ที่ยังรักษาอียิปต์และซีเรียไว้ได้

แต่พวกมองโกลครองอำนาจได้ไม่นานเพียง ๑๐๐ ปีเศษ อาณาจักรก็ค่อย ๆ ล่มสลายไปเรื่อย ๆ จนถึง ค.ศ. ๑๔๘๐ ก็หมดอำนาจจากดินแดนทั้งหลายที่ยึดครอง


ทัพมุสลิมบุกอินเดีย

เมื่อครั้งกองทัพอาหรับบุกไปถึงแถบลุ่มแม่น้ำสินธุในปี ค.ศ.๗๑๑ แม้ว่าจะไม่สามารถบุกเข้าไปได้ลึกกว่านั้น แต่ก็มีการเดินทางค้าขายติดต่อกันและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับชาวอินเดีย

โดยเฉพาะในช่วงคริสตศวรรษที่ ๙-๑๐ อินเดียมีมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา คือ นาลันทาที่รุ่งเรืองมาเนิ่นนานแล้ว ทำให้ชาวมุสลิมที่แบกแดดได้รับถ่ายทอดความรู้ด้านคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สาขาอื่น ๆ จากอินเดีย ซึ่งเป็นยุคที่ปราชญ์มุสลิมก้าวหน้าทางปัญญากว่าพวกยุโรป

แม้แต่ตัวเลขอาระบิกที่ฝรั่งใช้และเผยแพร่ไปทั่วโลกในเวลานี้ ก็เกิดขึ้นในอินเดียตั้งแต่ ๒๐๐ ปีก่อน ค.ศ. เวลาผ่านมานานจนกระทั่งคริสตศตวรรษที่ ๗-๘ ชาวมุสลิมอาหรับจึงได้รับเอาตัวเลขจากอินเดียไปใช้ จากนั้นชาวยุโรปก็นำไปใช้ต่อโดยเข้าใจว่าเป็นของอาหรับจึงเรียกว่า อาระบิก

ในช่วง ค.ศ.๑๐๐๐ ชาวมุสลิมที่เข้ามาในอินเดียเป็นพวกมุสลิมเตอร์กส์ อาฟฆัน เปอร์เซียและมองโกล การรุกรานครั้งใหญ่เริ่มขึ้นในช่วง ค.ศ.๑๐๐๑-๑๐๒๗ โดยมะฮะหมัดแห่งฆาซนี (Mahmud of Ghazni) แม่ทัพมุสลิมเตอร์กส์จากอาฟกานิสถาน ซึ่งใช้วิธีการรุกรานโดยการทำลายล้างอย่างรุนแรง ฆ่าไม่เลือก เผา และปล้นทรัพย์ พวกนี้สามารถผนวกแคว้นปัญจาบเข้าในอาณาจักรของตน เหตุการณ์ครั้งนั้น ยังผลให้คนฮินดูวรรณะต่ำและชาวพุทธได้เปลี่ยนมาเป็นคนมุสลิมเป็นจำนวนมาก

แม่ทัพเตอร์กส์มุสลิมที่สืบทอดอำนาจต่อมา ได้รุกอินเดียลึกเข้ามาเรื่อย ๆ จนถึงปี ค.ศ.๑๒๐๖ ก็ชนะไปจนสุดแดนภาคตะวันออกของอินเดีย ครอบครองตั้งแต่ปัญจาบไปจนถึงแคว้นพิหาร (ปัจจุบันคือบังคลาเทศ) และสถาปนาอาณาจักรสุลต่านแห่งเดลี (Delhi Sultanate) ขึ้นเป็นรัฐมุสลิมแรกแห่งอินเดีย ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เจงกิสข่านบุกตะวันตก)

การรุกรานของกองทัพเตอร์กส์มุสลิมช่วงสุดท้ายนี้ ได้กวาดล้างพระพุทธศาสนาให้สิ้นสูญไปจากแผ่นดินอินเดีย ด้วยการฆ่า ปล้นทรัพย์ บังคับให้เปลี่ยนศาสนา และฉากสุดท้ายแห่งการสิ้นสูญพุทธศาสนาในอินเดียก็คือ พวกมุสลิมเตอร์กส์ได้เผาทำลายศูนย์กลางใหญ่ ๆ คือ วัด และมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาทั้งหลาย เช่น นาลันทา วิกรมศิลา เป็นต้น ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ (ค.ศ.๑๒๐๐)

อาณาจักรสุลต่านแห่งเดลีปกครองอินเดียสืบต่อกันมานาน ๑๔ สุลต่าน ท่ามกลางความโหดเหี้ยมทารุณ การล้างผลาญชีวิตและการแย่งชิงอำนาจกัน จนกระทั่งปี ค.ศ.๑๕๒๖ แม่ทัพมุสลิมเชื้อสาย มงโกลจากเปอร์เซีย ได้ตั้งราชวงศ์โมกุลอันยิ่งใหญ่ขึ้นในอินเดีย ปกครองอินเดียมายาวนานจนตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษและสิ้นสุดราชวงศ์โมกุลใน ค.ศ. ๑๘๕๘

ย้อนกลับไปทางด้านตะวันตก เมื่ออาณาจักรมงโกลรุ่นลูกหลานของเจงกิสข่าน เริ่มเสื่อมอำนาจลงตั้งแต่ใกล้ค.ศ.๑๓๓๐ พวกเตอร์กส์มุสลิมก็เริ่มมีอำนาจเข้มแข็งขึ้นมาในช่วงค.ศ.๑๓๐๐อุสมานที่ ๑ ได้ตั้งราชวงศ์ออโตมานเตอร์กส์ขึ้น แล้วแย่งชิงเมืองน้อยใหญ่จากจักรวรรดิไบแซนไทน์
ลูกหลานของอุสมานที่ ๑ แผ่ขยายดินแดนต่อมาจนถึง ค.ศ. ๑๔๕๓ ก็ทำลายจักรวรรดิไบแซนไทน์ลงได้ ยึดเอาเมืองคอนสแตนติโนเปิลมาเป็นเมืองหลวงแห่งจักรวรรดิออโตมาน ฝรั่งถือกันว่าการล่มสลายของจักรวรรดิไบแซนไทน์หรือจักรวรรดิโรมันตะวันออก ในค.ศ.๑๔๕๓ เป็นจุดกำหนดการสิ้นสุดแห่งสมัยกลางของยุโรป

ต่อจากนั้นจักรวรรดิออโตมานได้แผ่ขยายอำนาจขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ เข้าไปในยุโรปยึดครองยูโกสลาเวียและฮังการีได้ สามารถปิดล้อมกรุงเวียนนาถึง ๒ ครั้ง คือ ในค.ศ.๑๕๒๙ และค.ศ.๑๖๘๓

หลังจากนั้น จักรวรรดิออโตมานได้เสื่อมลงเรื่อยมาโดยเฉพาะในช่วงใกล้สิ้นศตวรรษที่ ๑๙ ได้สมญาว่าเป็น “บุรุษซมโรคแห่งยุโรป” (Sick Man of Europe) จนกระทั่งสิ้นสลายลงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ กลายเป็นสาธารณรัฐเตอร์กส์ใน ค.ศ.๑๙๒๓

การเรืองอำนาจขึ้นมาของจักรวรรดิมุสลิมเตอร์กส์ เป็นอุปสรรคกีดขวางการแผ่ขยายดินแดนของประเทศตะวันตก เป็นเหตุให้ประเทศตะวันตกเหล่านั้น เริ่มแต่สเปญและโปรตุเกส ต้องหันไปแสวงหาอาณานิคมและเผยแผ่ศาสนาด้วยการเดินทัพทางทะเลรวมทั้งไปค้นพบโลกใหม่-อเมริกา

ดินแดนที่กองทัพมุสลิมยึดครองได้ในประวัติศาสตร์นั้น กว้างขวางยิ่งใหญ่ตั้งแต่สเปญไปจนถึงอินเดียและจดดินแดนจีน
เรียบเรียงจากบทความของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)
ดาวน์โหลดไฟล์ PDF ที่

Wednesday, March 21, 2007

บทความที่ ๙๖. เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร (จบสมบูรณ์)

เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร (จบสมบูรณ์)
ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์
วิธีต่อสู้เผด็จการ

๔.๑ วิธีต่อสู้เผด็จการนั้นเป็นเรื่องของยุทธวิธี ซึ่งจะต้องดำเนินให้เหมาะสมเพื่อบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของการต่อต้านเผด็จการ

เมื่อกล่าวถึงยุทธวิธีแล้วท่านก็ย่อมรู้ได้ว่าไมว่ายุทธวิธีใดจะเป็นทางทหาร ทางเศรษฐกิจหรือทางการเมืองก็ไม่ใช่คัมภีร์ตายตัวที่จะต้องคงอยู่กับที่ เพราะยุทธวิธีย่อมต้องเป็นไปตามสภาพท้องที่และกาละหรือที่ทางทหารถือว่าต้องสุดแท้แต่สภาพและเหตุการณ์

ผู้ใดถือคัมภีร์จัดในทางยุทธวิธี ก็ย่อมนำมาซึ่งความพ่ายแพ้เพราะสภาพการณ์ของฝ่ายเผด็จการก็ดี มิได้นิ่งคงอยู่กับที่คือย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพ, ท้องที่, กาลสมัยของสังคมตัวอย่างยุทธวิธีของสังคมอื่น ๆ ย่อมเป็นประโยชน์ที่ท่านจะต้องศึกษาเพื่อประกอบการพิจารณา แต่ท่านก็จะต้องพิจารณาว่าตัวอย่างนั้นเหมาะสมแก่สภาพท้องที่กาละของสยามหรือไม่ ขอให้ท่านระลึกถึงสุภาษิตของไทยโบราณที่ว่า “เห็นช้างขี้อย่าขี้ตามช้าง” และมีคติของเมธีวิทยาศาสตร์สังคมผู้ได้กล่าวไว้ว่า “ต้องตัดเกือกให้เหมาะแก่ตีน มิใช่ตัดตืนให้เหมาะกับเกือก” (ผมได้กล่าวคติเหล่านี้ไว้ในหนังสือว่าด้วยความเป็นอนิจจังของสังคม)

๔.๒ พรรคใด, กลุ่มใด, จะต่อสู้เผด็จการโดยวิธีใดนั้นสุดแท้แต่ตนจะวินิจฉัยว่าตนสามารถถนัดใช้วิธีใด แต่เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเกณฑ์ให้คนอื่นต้องถือตามวิธีที่ตนนับถือบูชาอย่างคับแคบ ควรทำจิตใจอย่างกว้างขวาง ถือว่าทุกวิถีทางบั่นถอนอำนาจเผด็จการย่อมเป็นประโยชน์ในการต่อต้านเผด็จการ การอ้างเหตุว่าถ้าใช้วิธีนั้น ๆ จะทำให้ผู้ติดตามล้มตายนั้นก็เป็นเหตุผลที่เหลวไหล

ขอให้ท่านพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าการต่อต้านเผด็จการนั้นไม่ว่าวิธีใดก็ย่อมเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกายทุกวิธี แม้วิธีสันติซึ่งขณะนี้วิธีที่กฎหมายอนุญาตแต่ก็รู้ไม่ได้ว่าฝ่ายเผด็จการกลับมีอำนาจขึ้นมาแล้ว สิ่งที่ถูกกฎหมายในเวลานี้อาจจะถูกฝ่ายเผด็จการจับตัวไปโดยหาว่าเป็นผู้ต่อต้านเผด็จการก็ได้ ดั่งปรากฏตัวอย่างในอดีตที่มีผู้ถูกเผด็จการจับตัวไปฟ้องศาลลงโทษเช่นกรณีขบวนการสันติภาพและกรณีที่มีผู้ถูกจับไปขังทิ้ง ยิงทิ้ง ปัญหาสำคัญอยู่ที่ผู้ต่อต้านเผด็จการต้องพร้อมอุทิศตนเสียสละชีวิตร่างกาย, ความเหน็ดเหนื่อยเพื่อชาติและราษฎร

๔.๓ การต่อสู้ใด ๆ นั้นย่อมมีทั้งการรุกและการรับ ฉะนั้นไม่ควรมองเพียงด้านเดียว คือด้านวิธีต่อสู้เผด็จการ คือต้องพิจารณาด้านที่ฝ่ายเผด็จการจะต้อบโต้ด้วย คือฝ่ายเผด็จการย่อมใช้วิธีเศรษฐกิจ,วิธีการเมือง, วิธีใช้กำลังทหารตำรวจ,วิธีจิตวิทยาที่ทำให้คนลุ่มหลงในระบบเผด็จการ ซึ่งฝ่ายต่อสู้เผด็จการจะต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ โดยอาศัยหลักทฤษฎีสังคมที่ถูกต้องสมานกับรูปธรรมที่ประจักษ์ด้วยแล้ววินิจฉัยตามความเหมาะสมแก่สภาพของกำลังของทั้งสองฝ่ายตามท้องที่และกาลสมัย ผมไม่อาจบรรยายให้ครบถ้วนในครั้งนี้ได้

แต่ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างหนึ่งที่ควรระมัดระวัง คือการที่ฝ่ายเผด็จการส่งคนมาแทรกซึมในขบวนการต่อต้านเผด็จการซึ่งจะก่อให้เกิดความปั่นป่วนในขบวนการ อันเป็นการบั่นทอนกำลังของขบวนการ

๔.๔ เท่าที่ผมได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้นนั้นก็เพื่อให้ท่านทั้งหลายเห็นเค้าของภาพทั่วไปในการต่อต้านเผด็จการตามที่ท่านทั้งหลายตั้งเป็นหัวข้อให้ผมแสดงปาฐกถาซึ่งท่านก็พอเห็นแล้วว่า การต่อสู้เผด็จการนั้นต้องใช้เวลายืดเยื้อยาวนาน ซึ่งท่านจะต้องปลงให้ตกในการนี้

แต่มีปัญหาเฉพาะหน้าที่ผมยังไม่ได้ยินว่าผู้กล่าวถึงในสยามคือการลบล้างอิทธิพลและซากของเผด็จการนาซี ซึ่งภาษาอังกฤษได้ตั้งเป็นศัพท์ขึ้นใหม่ว่า “ดีนาซิฟิเคชั่น” (DENAZIFICATION) ฝรั่งเศสว่า “DENAZIFICATION” เยอรมันว่า “ENTAZIFIZIERUNG” คือภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศเยอรมันได้กวาดล้างพวกนาซีออกจากตำแหน่งที่สำคัญและอบรมนิสัยให้ชาวเยอรมันชำระซากทัศนะนาซีให้หมดไปมากที่สุด เพื่อประเทศเยอรมันจะได้ปกครองตามระบบประชาธิปไตย

ในสยามก่อน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ซึ่งปกครองโดยระบบเผด็จการก็เป็นธรรมดา ที่หลายคนซึ่งมีทัศนะนาซีปกครองได้ครองตำแหน่งสำคัญที่มีอิทธิพลในรัฐบาลสมัยนั้น แต่ภายหลังที่นิสิตนักศึกษาโดยความสนับสนุนของมวลราษฎร ได้เสียสละชีวิตร่างกาย ความเหน็ดเหนื่อยต่อสู้ระบบเผด็จการนั้นสำเร็จ และมีรัฐบาลซึ่งรับรองว่าจะดำเนินนโยบายประชาธิปไตยนั้นก็มีสิ่งที่รอดหูรอดตาไปในการที่บางคนซึ่งได้รับการฝึกฝนจนเกิดทัศนะนาซี ดำรงตำแหน่งสำคัญอยู่อีกซึ่งให้ความเกื้อกูลสนับสนุนผู้ที่มีทัศนะนาซีอย่างเดียวกัน จึงเห็นว่าฝ่ายต่อต้านเผด็จการไม่ควรมองข้ามปัญหา “ดีนาซิฟิเคชั่น” นี้ซึ่งเป็นพลังสำคัญอย่างหนึ่งให้แก่การฟื้นตัวของระบบเผด็จการนาซี ส่วนหลายคนมิได้มีทัศนะนาซีแต่เคยมีทัศนะเผด็จการนั้น ถ้าแก้ไขทัศนะเดิมของตนโดยยึดถือทัศนะประชาธิปไตยนั้นก็ควรถือเป็นพันธมิตรของฝ่ายต่อต้านเผด็จการในระดับหนึ่งระดับใดตามสมควร

ผมขอให้ท่านทั้งหลายระลึกอีกอย่างหนึ่งว่า ในบรรดาบุคคลแห่งฝ่ายต่อต้านเผด็จการนั้น ย่อมมีความแตกต่างกันในจุดหมายปลายทางแห่งระบบสังคม ฉะนั้นจึงควรพิจารณาว่าความต้องการเบื้องต้นที่ตรงกันคืออะไร แล้วสถาปนาความสามัคคีตามพื้นฐานนั้นก่อน ผมสังเกตว่าเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ นิสิตนักศึกษานักเรียนโดยความสนับสนุนของมวลราษฎรได้สมานสามัคคีกันเพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ ฉะนั้นถ้าสมานสามัคคีกันต่อไป เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบเบื้องต้นก็จะเป็นคุณูปการแก่การต่อต้านเผด็จการให้สำเร็จได้
ดาวน์โหลดไฟล์ PDF บทความนี้ฉบับสมบูรณ์

Tuesday, March 20, 2007

บทความที่ ๙๕. เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร (ภาค๒ ตอนที่๑)

ฝ่ายต่อต้านเผด็จการ

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์


๓.๑ บางองค์การโฆษณาว่าตนมีขุมกำลังมาก เพื่อชักชวนให้มีคนศรัทธาเข้าร่วมในองค์การนั้น หรือเพื่อทำให้ผู้อื่นเกิดความท้อแท้ไม่กล้าตั้งองค์การต่อต้านเผด็จการขึ้นมาอีก ผมจึงขอให้ท่านทั้งหลายรับฟังไว้แล้วิเคราะห์ดูว่าคำโฆษณานั้นเป็นจริงหรือไม่ ถ้าเป็นความจริง ภาระในการต่อต้านเผด็จการก็คงจะไม่มีเหลือมาถึงท่านที่จะต้องขบคิดตั้งเป็นปัญหาให้ผมอภิปรายว่า “เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร”

ขุมพลังต่อต้านเผด็จการที่แท้จริงของประเทศไทย คือราษฎรไทยจำนวนส่วนข้างมากของสังคมที่ถูกกดขี่เบียดเบียนจากระบบเผด็จการและซากเผด็จการดั่งที่ผมกล่าวแล้ว... ขุมพลังนี้คือคนจน คนงาน ชาวนา ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ได้รับความอัตคัดฝืดเคืองอย่างแสนสาหัส คนมีทุนน้อยที่พอทำมาหากิน และคนมีทุนขนาดกลางซึ่งถูกเบียดเบียนเดือดร้อนเพราะการปกครองและระบบเผด็จการ รวมทั้งนายทุนเจ้าสมบัติจำนวนหนึ่งที่แม้ตนมีความกินดีอยู่ดีในทางเศรษฐกิจ แต่มีความรักชาติรักความเป็นประชาธิปไตยมองเห็นความทุกข์ยากของคนจน และคนส่วนมากที่ถูกเบียดเบียนจึงไม่ยอมเป็นสมุนรับใช้ระบบเผด็จการ และไม่ทำการใด ๆ ที่จะแผลงประชาธิปไตยให้เป็นเผด็จการของพวกนายทุนหรือเป็นเผด็จการของอภิสิทธิ์ชน (DICTATORSHIP OF THE PRIVILEGED CLASS) นี่แหละขุมพลังมหาศาลจำนวนเกือบ ๔๐ ล้านซึ่งเป็นราษฎรไทยจำนวนส่วนข้างมากของสังคม ผมเห็นว่าถ้าองค์การใดได้ขุมกำลังนี้เพียง ๑ เปอร์เซ็นต์ก็เป็นพลังมากพอควรที่จะเป็นกองกำลังของราษฎรในการต่อต้านเผด็จการได้สำเร็จ ฉะนั้นขุมพลังมหาศาลเกือบ ๔๐ ล้านคน ยังมีเหลืออีกมากมายที่หลาย ๆ องค์การจัดตั้งได้โดยไม่จำต้องมีการกีดกันหรือกันท่าระหว่างกัน

ท่านที่ได้ประโยชน์ต่อต้านเผด็จการจะได้ขุมพลังอันแท้จริงนี้มาร่วมในการต่อสู้เผด็จการได้อย่างไรนั้น ไม่ใช่ปัญหาแห่งความท้อใจ แต่อยู่ที่ผู้ประสงค์ต่อต้านเผด็จการต้องมีความตั้งใจจริงในการอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของชาติและราษฎรไทยส่วนมากที่จะพ้นจากการคุกคามของฝ่ายเผด็จการ ขบวนการใหญ่เพื่อต่อต้านเผด็จการนั้น ต้องประกอบด้วย “กองกำลังกลาง” และ “กองกำลังพันธมิตร”

๓.๒ “กองกำลังกลาง” นั้นเป็นกองหน้าของขบวนการ ผมขอให้ท่านหลีกเลี่ยงโดยไม่เรียก “กองกลาง” ว่าเป็น “องค์การนำ” เพราะคนไทยส่วนมากยังคงระลึกถึงคำว่า “ผู้นำ” ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งแสดงถึงการเป็นผู้เผด็จการ ควรถ่อมตนเรียกกองกำลังกลางตามชื่อนั้นและถือว่าเป็นเพียง “กองหน้า” (VAN GUARD) ของขบวนการจะเหมาะสมกว่าและไม่แสดงถึงว่า กองกำลังเป็นเจ้าขุนมูลนายที่อาจหาญนำราษฎรหรือจะกลายเป็นผู้เผด็จการเสียเอง

กองกำลังกลางประกอบด้วยบุคคลที่ยอมอุทิศชีวิต ร่างกาย ความเหน็จเหนื่อย ยกประโยชน์ของชาติและของราษฎรเหนือประโยชน์ส่วนตัว พร้อมปฏิบัติตามข้อบังคับของกองกลางซึ่งจะต้องจัดทำขึ้น โดยกำหนดให้ ยึดถือวิทยาศาสตร์สังคมชนิดที่ถูกต้องที่พิสูจน์ได้ทั้งในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัตินั้นเป็นหลักนำ มีวินัยที่เข้มแข็ง คือ วินัยโดยจิตสำนึก ไม่ใช่วินัยโดยการบังคับอย่างระบบเผด็จการทาสศักดินา มีการวิพากษ์วิจารณ์ตนเองอยู่เป็นเนืองนิจ เพื่อแก้ไขความผิดพลาดบกพร่อง เพราะบุคคลไม่ว่าจะเป็นอัจฉริยะหรือวิเศษใดๆ เมื่อต้องทำสิ่งใดก็อาจมีความผิดพลาดบกพร่อง กองหน้าของราษฎรต้องละทิ้งซากทัศนะศักดินาที่รักษาหน้าตาโดยไม่ยอมวิพากวิจารณ์ตนเองได้แล้ว กองหน้าก็จะเข้มแข็ง และเมื่อเข้มแข็งแล้วลงมือปฏิบัติการด้วยความเสียสละชีวิตและร่างกายรับใช้ราษฎรให้เกิดประโยชน์ที่ราษฎรเห็นประจักษ์เป็นตัวอย่างว่าการนำของกองหน้าถูกต้องทั้งทางยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี ราษฎรที่เป็นขุมพลังมหาศาลในการต่อต้านฝ่ายเผด็จการก็จะยอมรับนับถือกองหน้านั้นโดยความสันทัดจัดเจนที่เขาประสบเอง

ผู้จัดตั้งกองหน้าไม่ต้องวิตกว่าตนเกิดมาในสังคมเก่าซึ่งโดยสภาพแวดล้อมของสังคมเก่านั้น ซากทัศนะเก่าย่อมถ่ายทอดมาถึงตัวผู้จัดตั้ง ปัญหาก็อยู่ที่ผู้จัดตั้งจะต้องไม่หลอกตนเองคือสำนึกถึงความจริงในสภาพของตนได้แล้ว พยายามสละซากทัศนะเก่าให้หมดสิ้นไปมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ และเพื่อที่ซากเก่าจะไม่กลับฟื้นคืนมาสู่ตัวท่านอีก จึงจำเป็นต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ตนเองอยู่เป็นนิจ และขอให้เพื่อร่วมงานทั้งราษฎรได้ช่วยวิจารณ์ชี้ความผิดพลาดบกพร่องด้วย เพื่อผู้จัดตั้งรับไปพิจารณาแล้วแก้ไขความผิดพลาดบกพร่อง

ภายในกองกลางจำเป็นต้องมี “กองอำนวยการ” เพื่ออำนวยงานต่อต้านเผด็จการของสมาชิกแห่งกองกลางและอำนวยยุทธวิธีต่าง ๆ ในการต่อสู้ มอบภาระให้สมาชิกทำตามความถนัดและเหมาะสม ฯลฯ

ถ้าสมาชิกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นก็ต้องจัดให้มีสาขา และหน่วยงานต่าง ๆ ตามความเหมาะสม เป็นธรรมดาที่ขณะแรกตั้งสมาชิกอาจมีจำนวนน้อย แต่นั่นไม่ใช่เรื่องต้องท้อแท้ใจเพราะตามกฏธรรมชาติมีว่าปริมาณมากนั้นย่อมมาจากปริมาณน้อย และปริมาณน้อยก็มาจากไม่มีอะไรเลย หรือกล่าวอย่างง่าย ๆ ว่า “จากไม่มีไปสู่มีน้อย, จากมีน้อยไปสู่มีมาก”
๓.๓ เราต้องยอมรับความจริงว่า ฝ่ายเผด็จการซึ่งแม้เป็นบุคคลจำนวนส่วนข้างน้อยของสังคม แต่พวกเขาก็มีพลังทางเศรษฐกิจ, การเมือง, และอิทธิพลทางทัศนะเผด็จการอยู่มาก ดังนั้นกองกำลังกลางของฝ่ายต่อต้านเผด็จการจำเป็นต้องจัด “กองกำลังพันธมิตร” ของฝ่ายตนขึ้นโดยรวบรวมบุคคลต่าง ๆ ที่ต้องการต่อสู้เผด็จการ แม้เขามีระดับความต้องการต่อสู้และระดับจิตสำนึกน้อยกว่าสมาชิกกองกำลังกลาง แต่ก็อาจต่อสู้ในระดับใดระดับหนึ่งและกาลใดกาลหนึ่ง ทั้งนี้ขอให้คำนึงคติ “กำหนดตัวศัตรูให้น้อย หาเพื่อนให้ได้มาก”

พันธมิตรนี้นอกจากเอกชนเป็นรายบุคคลแล้วก็จะต้องจัดทำขึ้นกับกลุ่มบุคคลเช่นพรรคและองค์การอื่น ๆ ที่มีความต้องการเผด็จการในระดับใดระดับหนึ่ง ปัจจุบันนี้ในประเทศไทยมีพรรคการเมืองมากมาย ฉะนั้นต้องตรวจสอบให้ดีว่าพรรคใดมีวัตถุประสงค์ต่อต้านเผด็จการ หรือสนับสนุนระบบเผด็จการ แม้พวกที่มีวัตถุประสงค์ต่อต้านเผด็จการแต่ต้องระวังว่าพรรคนั้น ๆ ต้องการเป็นพันธมิตรเพื่อแย่งชิง “การนำ” เป็นของตน โดยเฉพาะเมื่อได้โอกาสหรือไม่ ครั้นแล้วจึงจัดอันดับขององค์การเหล่านี้ลดหลั่นตามความเหมาะสม เช่นท่วงท่าขององค์การใดแสดงให้เห็นว่าได้พวกเขาเข้ามาเป็นพันธมิตรเพื่อแย่งชิงการนำ ก็แสดงว่าเขาเข้ามาเป็นเพื่อนโดยไม่สุจริตใจและเขาปฏิบัติต่อกองกำลังกลางเป็นพันธมิตรขั้นต่ำของเขา กองกำลังกลางก็ต้องสนองตอบโดยถือว่าองค์การนั้นเป็นพันธมิตรขั้นต่ำดุจเดียวกัน

กองกำลังกลางต้องปฏิบัติต่อพันธมิตร โดยไม่มีความอิจฉาริษยาว่า พรรคและองค์การที่เป็นพันธมิตรได้ขยายการหาสมาชิกเพิ่มขึ้นได้ในส่วนของเขา ขอให้ศึกษาตัวอย่างของการทำแนวร่วมกันกว้างใหญ่ได้สำเร็จของหลายประเทศที่แสดงภูมิธรรมอันปราศจากซากนายทุนน้อยศักดินา

๓.๔ เพื่อประกอบการพิจารณาถึงลักษณะบุคคลที่กองกำลังกลางจะควรจัดตั้งเป็นพันธมิตรได้เพียงใดและจะจัดเข้าอยู่ในระดับใดนั้น ผมขอเสนอถึงจำพวกต่าง ๆ ของบุคคลไว้บ้าง พอเป็นอุทาหรณ์ดังต่อไปนี้

ก.จำพวกที่ ๑ คือบุคคลที่มีจิตสำนึกคัดค้านเผด็จการ แต่ก็ยังไม่พร้อมที่จะเสียสละชีวิตและร่างกายเข้าร่วมต่อสู้ฝ่ายต่อต้านเผด็จการ ก็ควรยินดีรับบุคคลประเภทนี้ไว้เป็นแนวร่วมในระดับหนึ่งตามจิตสำนึกและตามความสามารถที่เขาจะช่วยได้ โดยฝ่ายต่อต้านเผด็จการจะต้องยับยั้งไม่ทนงตนว่าก้าวหน้าเป็นที่สุดกว่าคนอื่นแล้ว หรือเสียสละสูงสุดกว่าคนอื่นซึ่งจะทำให้บุคคลจำพวกที่ ๑ นี้เกิดหมั่นไส้แล้วไม่ยอมร่วมในขบวนการที่ฝ่ายต่อต้านเผด็จการตั้งขึ้น

ฝ่ายต่อต้านเผด็จการจะต้องคำนึงถึงความสามารถของแต่ละบุคคล ที่มีจิตสำนึกคัดค้านระบบเผด็จการว่าตามความสมัครใจของเขานั้น เขาสามารถคัดค้านได้เพียงใดและโดยวิธีใดก็ควรเป็นไปตามความสมัครใจของเขา เช่นเขาสามารถเพียงทำการโฆษณาคัดค้านฝ่ายเผด็จการโดยทางใด ๆ ก็ต้องถือว่าเป็นประโยชน์แก่การคัดค้านเผด็จการ มิใช่จะต้องเรียกร้องให้เขาทำสิ่งที่เขาไม่ถนัดหรือไม่สามารถที่จะทำได้ ถ้าฝ่ายต่อต้านเผด็จการได้คำนึงถึงข้อนี้ ก็จะได้ขุมกำลังของฝ่ายตนเพิ่มขึ้นประกอบกำลังต่อต้านเผด็จการ

ข.จำพวกที่ ๒ ราษฎรจำนวนมากที่แม้ปัจจุบันถือเอาการต่อสู้ระบบเผด็จการเป็นอันดับรอง หากถือเอาการแก้ไขให้ฐานะความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจหรือการครองชีพของตนได้ดีขึ้น ฝ่ายต่อต้านเผด็จการจะต้องคำนึงถึงความต้องการเร่งด่วนเฉพาะหน้าของราษฎรส่วนมากให้จงหนัก คือ ช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของราษฎรส่วนมากให้สำเร็จไปได้ จึงจะสามารถได้ราษฎรส่วนข้างมากเข้ามาเป็นฝ่ายต่อต้านเผด็จการ ขอให้ระลึกภาษิตของไทยโบราณว่า “จงระวังกว่าถั่วจะสุก งาก็จะไหม้เสียก่อน” หรือถ้าในขณะที่ฝ่ายต่อต้านเผด็จการไม่สามารถที่จะช่วยได้ แต่ก็จะต้องวางนโยบายแสดงวิธีแก้ไขให้ราษฎรเห็นประจักษ์ว่า ถ้าเขาร่วมต่อต้านเผด็จการแล้ว เมื่อฝ่ายต่อต้านเผด็จการได้ชัยชนะจะมีแผนการที่เขามองเห็นได้ง่าย ๆ ว่าจะแก้ไขความเดือดร้อนของเขาได้อย่างไร ไม่ใช่วางนโยบายฟุ้งซ่านที่ราษฎรไม่อาจมองเห็นได้ว่าจะแก้ไขความเดือดร้อนให้เขาได้อย่างไร เช่น ชาวนาที่เดือดร้อนในทุกวันนี้ฝ่ายต่อต้านเผด็จการจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไรให้เป็นรูปธรรม และกรรมกรรวมทั้งข้าราชการผู้น้อยที่ได้ค่าจ้างหรือเงินเดือนไม่พอใช้นั้น ฝ่ายต่อต้านเผด็จการจะแก้ไขให้เขาได้ค่าจ้าง และมีเงินเดือนสูงขึ้นนั้นโดยวิธีหารายได้ของแผ่นดินจากทางไหน และชี้ตัวเลขให้เขาเห็นชัดลงไป

ท่านที่ติดตามข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๗ ก็จะเห็นได้ว่าการที่แนวร่วมฝ่ายซ้ายได้รับคะแนนเสียงมากมายเป็นประวัติการณ์ คือ แพ้การเลือกตั้งฝ่ายขวาเพียงไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ก็เพราะฝ่ายซ้ายได้แสดงนโยบายและวิธีการง่าย ๆ ที่กรรมกรและราษฎรทั่วไปกำลังเดือดร้อนอยู่ เห็นได้ชัดว่าวิธีการนั้นสามารถแก้ไขความเดือดร้อนเฉพาะหน้าได้ และมีแผนการระยะสั้น, ระยะกลางและระยะยาว ซึ่งพัฒนาในภายหลัง

ค.จำพวกที่ ๓ ได้แก่บุคคลจำนวนน้อยส่วนหนึ่งซึ่งแม้ตัวเองมีกำเนิดในสังคมระบบทาส, ระบบศักินา, และระบบเผด็จการแต่เกิด จิตสำนึกมองเห็นกฏแห่งความเป็นอนิจจังของระบบกดขี่ขูดรีด จึงได้สละชนชั้นวรรณะเดิมของตนมายืนหยัดอยู่ในฝ่ายต่อต้านเผด็จการ ประวัติศาสตร์ในอดีตหลายประเทศก็แสดงให้เห็นประจักษ์อยู่ ดังที่ผมได้อ้างตัวอย่างไว้บ้างแล้ว บางคนก็เป็นขุนนางแห่งระบบศักดินา เช่น “มองเตสกิเออร์” ผู้เขียนหนังสือว่าด้วย “เจตนารมณ์ของกฏหมาย” (ESPRIT DES LOIS) เรียกร้องให้มีดุลยภาพแห่งอำนาจรัฐ ๓ ส่วนคือ นิติบัญญัติ,บริหาร,ตุลาการ. มิราโบก็เป็นขุนนางคนหนึ่งที่เข้าร่วมขบวนอภิวัฒน์ฝรั่งเศสต่อสู้ระบบศักดินาในการลงมติประกาศปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง เจ้าฟ้าฟิลิปป์แห่งราชวงศ์บูร์บองสายพระอนุชา (BRANCHE CADETTE) ก็ได้สนับสนุนขบวนการอภิวัฒน์ฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ ครั้นแล้วพระองค์ก็ได้ทรงสละฐานันดร “สมเด็จเจ้าแห่งออร์เลองส์” (DUC D’OREANS) มาเป็นคนสามัญและขอให้สภาสหการกรุงปารีสตั้งนามสกุลให้ท่านใหม่ สภานั้นจึงตั้งนามสกุลใหม่ให้ท่านว่า “เลกัลลิเต” (L’EGALITE) แปลว่า “มองซิเออร์ฟิลิปป์ เลกัลลิเต” แล้วสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมกับสมาชิกสภาฯ ส่วนข้างมากลงมติให้ประหารชีวิตหลุยส์ที่ ๑๖ ฐานทรยศต่อชาติที่เรียกให้ออสเตรียบุกรุกฝรั่งเศส ต่อมาท่านถูกพรรคการเมืองตรงกันข้ามกล่าวหาว่าท่านคิดจะฟื้นระบบราชาธิปไตยขึ้นมาอีก ท่านหลบหนีไปแล้วถูกจับให้สภาฯ พิจารณาตัดสินลงโทษประหารชีวิต ส่วนบุตรชายของท่านคือเจ้าฟ้าหลุยส์ฟิลิปป์ ได้ร่วมกับนายธนาคารใหญ่ทำการโค่นล้มพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๑๐ แห่งสายพระเชษฐา ในค.ศ. ๑๘๓๐ แล้วได้เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญมีพระนามว่า “หลุยส์ฟิลิปป์ที่ ๑”

มาร์กซ์และเองเกลส์ซึ่งเกิดภายหลังการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยฝรั่งเศสหลายปี ก็ได้กล่าวไว้ในตอนแถลงการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ฉบับแรกพิมพ์เมื่อ ค.ศ. ๑๘๔๘ ว่าในสมัยก่อนนี้มีบุคคลในชนชั้นขุนนางส่วนหนึ่งได้เข้าข้างฝ่ายเจ้าสมบัติเพื่อสถาปนาประชาธิปไตยขึ้น แล้วท่านก็กล่าวต่อไปอีกว่าในสมัยที่ท่านเขียนแถลงการณ์ฉบับนั้นก็มีบุคคลในชนชั้นเจ้าสมบัติส่วนหนึ่งได้มาเข้าข้างชั้นชนผู้ไร้สมบัติ ท่านได้เน้นว่าโดยเฉพาะเจ้าสมบัติที่มีปัญญาเข้าใจในกฏวิวรรตการของสังคม ตัวมาร์กซ์เองนั้นผมได้เคยกล่าวไว้ในปาฐกถาในงานชุมนุมประจำปีนักเรียนไทยในสหพันธรัฐเยอรมันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ ว่าท่านเกิดในสังคมเก่าและท่านเป็นบุตรทนายความผู้มีอันจะกิน ท่านมีภรรยาซึ่งเป็นลูกของเจ้าศักดินาเยอรมันชื่อ “เจนนี ฟอน เวสฟาเลน” ส่วนเองเกลส์นั้นก็เป็นลูกเศรษฐีเจ้าของโรงงานทอผ้าในเยอรมันแล้วต่อมาท่านไปลี้ภัยอยู่ในอังกฤษก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่คนหนึ่งของโรงงานทอผ้าที่เมืองแมนเชสเตอร์

ฉะนั้น ฝ่ายต่อต้านเผด็จการไม่ควรยึดมั่นในคัมภีร์จัด คือต้องพิจารณาบุคคลที่เกิดในสังคมเก่าให้ถ่องแท้โดยแยกให้ถูกต้องว่าส่วนใดยืนกรานอยู่ข้างฝ่ายเผด็จการ และส่วนใดที่สามารถเป็นฝ่ายต่อต้านเผด็จการได้

ง.จำพวกที่ ๔ คือบุคคลที่ไม่ควรไว้วางใจเป็นพันธมิตรอันได้แก่บุคคลที่แม้เป็นข้าไพร่ หรือตกอยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายเผด็จการ แต่กลับมีจิตสำนึกว่าระบบเผด็จการเป็นสิ่งที่สมควรเชิดชูให้ดำรงคงไว้หรือกลับฟื้นขึ้นมาอีก ทั้งนี้เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ได้หรือหวังได้ประโยชน์จากระบบเผด็จการหรือเนื่องจากซากทัศนะเผด็จการต่าง ๆ ที่รับมรดกตกทอดมาหลายชั่วคนจนฝังอยู่ในจิตใจแล้วเกาะแน่นอยู่ในความเป็นทาสหรือข้าไพร่หรือเป็นสมุนของระบบเผด็จการ บุคคลจำพวกนี้บางส่วนทำการคัดค้านและต่อสู้ฝ่ายต่อต้านเผด็จการยิ่งกว่าเจ้าทาส, เจ้าศักดินา, และผู้เผด็จการเอง แม้กระนั้นก็ดี กองกำลังกลางควรพยายามให้บางส่วนเกิดจิตสำนึกขึ้นมาบ้าง เพื่อให้เขาอยู่เฉย ๆ ไม่เป็นตัวการต่อสู้ฝ่ายต่อต้านเผด็จการ ก็จะเป็นคุณประโยชน์แก่ฝ่ายต่อต้านเผด็จการ แล้วถ้าสามารถพัฒนาจิตสำนึกให้สูงขึ้นอีกก็รับไว้เป็นแนวร่วมในระดับต่ำได้

Monday, March 19, 2007

บทความที่ ๙๔. เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร (จบภาค๑)

เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร
ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์
๒.๙ การอภิวัฒน์ใหญ่ฝรั่งเศสครั้งกระนั้นที่ได้ก่อระบบประชาธิปไตยขึ้นได้ส่งผลสะท้อนไปยังพลเมืองส่วนมากของหลายประเทศในยุโรปที่ตื่นตัวขึ้น โดยการต่อต้านระบบเผด็จการศักดินาที่แสดงออกเป็นรูปธรรมหลายประการ อาทิ ได้ประกาศปฏิญญา ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและของพลเมืองฉบับ ค.ศ.๑๗๘๙ ซึ่งให้สิทธิเสรีภาพและเสมอภาคแก่พลเมืองทางนิตินัย

รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ขบวนการประชาธิปไตยของฝรั่งเศสประกาศขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๗๙๑ นั้น ได้เปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ เป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป แต่ใน ค.ศ. ๑๗๙๒ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ได้แอบร้องขอให้จักรพรรดิแห่งออสเตรียส่งกองทัพมาช่วยตน จึงเป็นเหตุให้เกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสฝ่ายหนึ่งกับออสเตรียซึ่งมี ปรัสเซียเป็นพันธมิตรอีกฝ่ายหนึ่ง ราษฎรในกรุงปารีสจึงเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรปลดพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ครั้นแล้วจึงได้ประกาศสาธารณรัฐฝรั่งเศสขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ค.ศ. ๑๗๙๒ แล้วต่อมาสภาผู้แทนราษฎรจึงได้พิจารณาคดีว่า หลุยส์ที่ ๑๖ มีความผิดฐานทรยศต่อชาติ ต้องโทษประหารชีวิตเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ค.ศ. ๑๗๙๓ ครั้นเมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ถูกประหารชีวิตแล้ว พระราชาธิบดีอังกฤษ, สเปญ,โปรตุเกส,ฮอลแลนด์,เนเปิลส์ ปรัสเซีย,ออสเตรียจึงรวมกันเป็นพันธมิตรยกกองทัพมาประชิดประเทศฝรั่งเศส เพื่อแทรกแซงกิจการภายใน (ประเทศที่ปกครองด้วยระบบราชาธิปไตยที่รวมกันเป็นกองทัพพันธมิตรยกกองทัพมาทำศึกกับสาธารณรัฐฝรั่งเศสเหล่านี้ มีความเห็นว่าการที่คณะประชาชนฝรั่งเศสได้โค่นล้มระบบกษัตริย์ลงและสถาปนาสาธารณรัฐฝรั่งเศสขึ้น เป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อประเทศต่างๆในยุโรป เพราะเชื้อแห่งการอภิวัฒน์ใหญในฝรั่งเศสครั้งนี้จะระบาดไปยังประชาชนในประเทศต่าง ๆ ที่มีระบบการปกครองโดยกษัตริย์ และประชาชนส่วนใหญ่ก็ได้รับความทุกข์ยากทุกข์เข็ญจากการถูกกดขี่โดยประการต่าง ๆ จากชนชั้นบน และประชาชนเหล่านี้ก็จะก่อการเคลื่อนไหวโดยใช้ตัวอย่างจากการอภิวัฒน์ฝรั่งเศส และเมื่อนั้นราชบัลลังก์ในประเทศเหล่านั้นก็จะตกอยู่ในฐานะลำบาก-แด่บรรพชนผู้อภิวัฒน์ ๒๔๗๕)

รัฐบาลอภิวัฒน์ฝรั่งเศสได้ระดมพลเมืองเป็นทหารเพื่อต่อสู้ ป้องกันปิตุภูมิ แต่โดยที่ไม่มีนายทหารของฝ่ายอภิวัฒน์เพียงพอ จึงจำต้องใช้นายทหารที่เคยมาจากระบบเก่า รัฐบาลอภิวัฒน์จึงคิดวิธีให้มี “กรรมการราษฎร” (COMMISSAIRE DU PEUPLE) เป็นผู้นำทางการเมืองประจำกองทัพซึ่งผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหารต้องเชื่อฟัง

(ต่อมาเมื่รุสเซียได้มีการอภิวัฒน์ตุลาคม ๑๙๑๗ แล้ว ก็ได้นำวิธีการราษฎรของการอภิวัฒน์ฝรั่งเศสนั้นไปประยุกต์แก่กองทัพโซเวียต ซึ่งหลายประเทศในค่ายสังคมนิยมก็ได้เอาตัวอย่างนั้นเช่นกัน)

การอภิวัฒน์ใหญ่ฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ ที่สถาปนาระบบประชาธิปไตยขึ้นนั้นมิเพียงยังมีผลสะท้อนไปยังหลายประเทศในยุโรปตะวันตกเท่านั้น หากต่อมามีผลสะท้อนไปยังยุโรปตะวันออก รวมทั้งรุสเซียและในเอเชียด้วย ท่านที่ศึกษาประวัติศาสตร์ ย่อมทราบถึงสาระสำคัญที่นักอภิวัฒน์รุสเซียและเอเชียได้รับอิทธิพลจากการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยนั้น แม้แต่เรื่องที่ดูเหมือนผิวเผินเช่นเพลงอภิวัฒน์ฝรั่งเศส ก็ปรากฏว่าพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยรุสเซียในขณะที่ยังมิได้แตกแยกออกเป็นบอลเชวิค กับแมนเชวิคนั้นก็ใช้ทำนองเพลง “มาเซยเยส” อันเป็นเพลงอภิวัฒน์ฝรั่งเศส (ต่อมาเป็นเพลงชาติฝรั่งเศส) นั้นเป็นเพลงอภิวัฒน์รุสเซียโดยเปลี่ยนเนื้อร้องเป็นคำรุสเซีย ต่อมาการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยฝรั่งเศสก็มีผลสะท้อนไปยังเอเชียและอีกหลายประเทศในโลก โดยเฉพาะประเทศจีนนั้น ก่อนที่นาย “เนี่ยเอ๋อ” แต่เพลงอภิวัฒน์ของจีนขึ้นโดยเฉพาะนั้น คนงานอภิวัฒน์จีนก็ใช้ทำนองเพลง “มาเซยเยส” ของฝรั่งเศสเป็นเพลงอภิวัฒน์ของคนงานจีนแต่เปลี่ยนเนื้อร้องเป็นคำจีน

๒.๑๐ ในการวิเคราะห์ขบวนการอภิวัฒน์ใด ๆ นั้นควรพิจารณาจำแนกส่วนต่าง ๆ ที่ประกอบขบวนการนั้นประดุจทำการวิจัย “กายวิภาค” ของขบวนการอภิวัฒน์นั้น ๆ อันเป็นวิธีวิทยาศาสตร์แห่งการวิเคราะห์สภาพทั้งหลาย รวมทั้งสังคมของมนุษย์ด้วย ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์สังคมในโบราณก็ดี ในสมัยปัจจุบันก็ดี จึงได้สั่งสอนให้ผู้ที่จะทำการวิเคราะห์ตั้งทัศนะโดยปราศจากคติอุปาทาน (PRECONCEIVED IDEA) เพราะถ้าผู้ใดตั้งทัศนะอุปาทานมาก่อนก็จะมองเห็นคนอื่นที่เป็นมิตรให้เป็นศัตรูไปทั้งหมด ผู้นั้นก็จะไม่รู้ว่าใครเป็นศัตรูและใครเป็นมิตร การต่อต้านเผด็จการก็ไม่มีทางสำเร็จได้ โดยเฉพาะขบวนการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ นั้น เราอาจจำแนกส่วนต่าง ๆ ออกเป็นหลายจำพวกดังต่อไปนี้

ก.จำพวกที่ ๑ ได้แก่นักอภิวัฒน์ที่ต้องการประชาธิปไตยสมบูรณ์ ทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย คือ “บาเบิพ” เกิด ค.ศ.๑๗๖๐ (ก่อนมาร์กซ์เกิด ๕๘ ปี) เมื่อก่อนจะเกิดอภิวัฒน์ ค.ศ. ๑๗๘๙ นั้น บาเบิพทำงานเป็นเสมียนของเจ้าที่ดินมีหน้าที่เร่งรัดให้ชาวนาเสียค่าเช่านาให้เจ้าที่ดินแต่โดยที่ท่านผู้นี้เห็นความไม่เป็นธรรมของระบบศักดินา ท่านจึงเข้าร่วมขบวนการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยนั้น บาเบิพได้ชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตยทางการเมืองโดยนิตินัยเท่านั้น ไม่ใช่ประชาธิปไตยแท้จริง เพราะในทางพฤตินัย ผู้ใดมีทุนมากก็สามารถใช้สิทธิประชาธิปไตยได้มากกว่าคนมีทุนน้อยและผู้ไร้สมบัติยากจน

บาเบิพเห็นว่า ประชาธิปไตยจะสมบูรณ์ก็ต้องให้ปวงชนมีความเสมอภาคกันในทางปฏิบัติ ในการนั้นก็จักต้องให้ปัจจัยการผลิตทั้งหลายเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของสังคม เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ท่านจึงได้จัดตั้งสมาคมที่เรียกว่า “สมาคมของผู้เสมอภาค” (SOCIETE DES EGAUX) รัฐบาลจึงจับตัวบาเบิพขึ้นศาลตัดสินประหารชีวิตฐานเตรียมการโค่นล้มรัฐบาลโดยใช้กำลังอาวุธ เมื่อ ค.ศ. ๑๗๙๗ แต่คนงานฝรั่งเศสส่วนหนึ่งก็ได้โฆษณาลัทธิของบาเบิพโดยสันติวิธีได้ต่อ ๆ มา (ในสมัยต่อมาเทศบาลกรุงปารีสได้ตั้งชื่อถนนหนึ่งว่า “บาเบิพ” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ท่านผู้นี้ สถานีรถไฟใต้ดินจากโทรกาเดโรไปยังเอตวลก็มีชื่อว่า “บาเบิพ”)

ข.จำพวกที่ ๒ ได้แก่พวกต้องการให้ประชาธิปไตยคงอยู่ในรูปประชาธิปไตยของชนชั้นเจ้าสมบัติ โดยกำหนดเงื่อนไขไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๗๙๑ ว่าพลเมืองจะต้องมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนได้ก็เฉพาะผู้ที่เสียภาษีอากรทางตรง เป็นอัตราเท่ากับค่าแรงงาน ๓ วันเป็นอย่างน้อย ในทางปฏิบัติผู้เสียภาษีอากรทางตรง คือ ผู้ที่เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์คือได้แก่นายทุนน้อยขึ้นไป ส่วนคนงานและผู้ไร้สมบัติแม้เสียภาษีอากรทางอ้อมก็ไม่อยู่ในข่ายแห่งการมีสิทธิ วิธีออกเสียงชนิดนี้ภาษากฎหมายของวิชารัฐธรรมนูญเรียกว่า SUFFERAGE CENSITAIRE” คำว่า “SUFFRAGE” แปลว่าการออกเสียง คำว่า “CENSITAIRE” แปลว่าผู้เสียส่วยให้แก่เจ้าศักดินา, วิธีออกเสียงชนิดนี้จึงถ่ายทอดเป็นภาษาไทยได้ว่า “วิธีออกเสียงแบบคนส่วย” จึงแสดงว่า “เจ้าสมบัติจำพวกประชาธิปไตยชนิดนี้มีซากทัศนะศักดินา หลายคนในจำพวกนี้ได้ร่วมกับบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าสมบัติ แต่มีซากทัศนะศักดินาตกค้างอยู่ สนับสนุนเกื้อกูลให้ระบบเผด็จการศักดินาฟื้นคืนมาอีก ดั่งทีผมจะได้กล่าวในข้อ ง.

ค.จำพวกที่ ๓ ได้แก่ผู้ต้องการให้พลเมืองชายมีสิทธิออกเสียงได้โดยทั่วไป (SUFFRAGE UNIVERSEL) และสำเร็จได้โดยรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐฝรั่งเศสฉบับ ๑๗๙๓

ง.จำพวกที่ ๔ ได้แก่ผู้ที่มีซากทัศนะระบบทุนศักดินา (FEDAL CAPITALISM) ซึ่งขัดขวางมิให้ประชาธิปไตยดำเนินก้าวหน้าไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ พวกนี้เกื้อกูลให้ระบบเผด็จการศักดินาฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกหลายครั้ง ซึ่งเป็นผลให้พวกนายทุนชนิดนี้เป็นเจ้าสมบัติใหญ่ ร่ำรวยยิ่งขึ้นอีก อาทิ

(๑) ใน ค.ศ. ๑๗๙๙ นายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต ได้อาศัยกำลังทหารของตนและโดยความสนับสนุนของผู้แทนราษฎร แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่โดยมีสภาต่าง ๆ แต่ตั้งโดยคณะอภิมุขรัฐเรียกว่า “กงสุลาต์” (CONSULAT) ตามเยี่ยงโรมัน คณะนั้นประกอบด้วยกงสุล ๓ คน อยู่ในตำแหน่ง ๑๐ ปี นายพลโบนาปาร์ตเป็นกงสุลคนที่ ๑ ซึ่งรวบอำนาจรัฐไว้ในมือของตนเอง ขั้นต่อไปก็เอาอย่างผู้เผด็จการโรมัน คือตั้งตนเป็นกงสุลแต่ผู้เดียว แล้วสภาที่ตนตั้งขึ้นจากซากทัศนะศักดินาได้สนับสนุนให้เป็นกงสุลตลอดชีวิต ต่อมาสภาชนิดนั้นได้สนับสนุนให้เป็นกงสุลตลอดชีวิตที่มีสิทธิแต่งตั้งบุคคลที่จะเป็นกงสุลคนต่อไปได้ ซึ่งเท่ากับเป็นจักรพรรดินั่นเอง ครั้นแล้วก็ไม่เป็นการยากที่สภาชนิดนั้นได้ลงมติเปลี่ยนชื่อตำแหน่งกงสุลที่มีสิทธิอย่างจักรพรรดิทรงพระนามว่า “นโบเลียนที่ ๑”

แม้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ตั้งสภาต่าง ๆ ไว้ แต่นโปเลียนที่ ๑ ก็เรียกประชุมนาน ๆ ครั้งหนึ่ง โดยทรงปกครองประเทศฝรั่งเศสอย่างระบบเผด็จการ ส่วนพระองค์เรียกตามภาษาฝรั่งเศสว่า (DICTATURE PERSONNELLE)

(๒) ใน ค.ศ. ๑๘๑๔ นโปเลียนนำทัพฝรั่งเศสพ่ายแพ้แก่ประเทศพันธมิตร จึงต้องสละราชสมบัติครั้งแรกไปอยู่เกาะเอลบา เจ้าฟ้าซึ่งเป็นท่านเจ้าเขตแห่งโปรวองซ์ (COMTEDE PROVENGE) แห่งราชวงศ์บูรบองสายเชษฐา ได้รับการสนับสนุนจากประเทศพันธมิตรและเจ้าสมบัติซากทัศนะศักดินาให้ขึ้นครองราชทรงพระนามว่า “หลุยส์ที่ ๑๘” ต่อมานโปเลียนกลับมาจากเกาะเอลบาแล้วขึ้นครองราชย์อีก หลุยสที่ ๑๘ ต้องเสด็จหลบหนีไป ต่อมานโปเลียนแพ้ในการรบที่วอเตอร์ลูว์ ต้องสละราชสมบัติเป็นครั้งที่ ๒ ถูกอังกฤษจับไปขังไว้ที่เกาะเซ็นต์เฮเลน่า ครั้นแล้วหลุยส์ที่ ๑๘ ก็กลับมาทรงราชย์อีก จนสวรรคตใน ค.ศ. ๑๘๒๔ เจ้าฟ้าซึ่งเป็นเจ้าเขต อาร์ตัวส์ (COMTE D’ ARTOIS) แห่งราชวงศ์บูร์บองสายเชษฐาขึ้นครองราชย์องค์ต่อไป ทรงพระนามว่า “ชาร์ลส์ที่ ๑๐” พระองค์ได้ฟื้นระบบเผด็จการศักดินาขึ้นมาเต็มที่ ทรงตัดสิทธิเสรีภาพของราษฎรหลายอย่าง นักประชาธิปไตยที่ไม่ใช่เจ้าสมบัติได้ร่วมกับราษฎรทำการต่อต้านระบบเผด็จการศักดินาของราษฎรบูร์บองสายเชษฐา

(๓) ใน ค.ศ. ๑๘๓๐ ฝ่ายเจ้าสมบัตินายธนาคารใหญ่ อาทิ “ลาฟิตต์” และ “รอธไชลด์” เห็นว่าถ้าปล่อยให้ขบวนการประชาธิปไตยของราษฎรขยายตัวต่อไป ระบบเผด็จการศักดินาของราชวงศ์บูร์บองสายเชษฐาจะต้องล้มเหลวแล้วจะนำไปสู่การทำลายระบบทุนของตนด้วย ดังนั้นจึงได้สมคบกับเจ้าฟ้าหลุยส์ฟิลิปป์แห่งราชวงศ์บูร์บองสายอนุชา (BRANCHE CADETTE) ทำการโค่นล้มพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๑๐ แห่งสายเชษฐาแล้ว เจ้าฟ้าหลุยฟิลิปป์ขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า หลุยส์ฟิลิปป์ที่ ๑ พระองค์ได้สถาปนาระบบการปกครองผสมระหว่างเผด็จการศักดินากับนายธนาคารใหญ่

เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ นิตยสารฝรั่งเศสชื่อ “ปารีส แมตซ์”ได้นำประวัติของตระกูล “รอธไชลด์” (ROTHCHILD) มหาเศรษฐีเจ้าของธนาคารใหญ่ในสากลที่ลือนามมาช้านานเกือบ ๒๐๐ ปี และสมาชิกแห่งตระกูลนี้หลายคนได้รับฐานันดรศักดิ์จากพระราชาธิบดีหลายประเทศให้มีฐานันดรศักดิ์ เจ้าศักดินาผู้เป็น “บารอง” ได้เคยให้เงินยืมจำนวนหลายล้านแฟงก์แก่เจ้าฟ้าหลุยส์ฟิลิปป์ในการใช้จ่ายเพื่อร่วมขบวนการล้มพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๑๐ แล้วขึ้นครองราชย์เสียเองดังกล่าวแล้ว “บารอง” (BARON) คนนั้นจึงกลายเป็นพระสหายใกล้ชิดกับพระเจ้าหลุยส์ฟิลิปป์ ต่อมาพระเจ้าหลุยส์ฟิลิปป์ต้องสละราชสมบัติใน ค.ศ. ๑๘๔๘ โดยมีการสถาปนาระบบสาธารณรัฐขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ ในฝรั่งเศส เจ้าฟ้าหลุยส์นโปเลียน หลานลุงของนโปเลียนที่ ๑ ก็ได้ยืมเงินจำนวนหลายล้านแฟงก์จากบารองรอธไชลด์มาใช้จ่ายในการสมัครเลือกตั้งประธานนาธิบดี อันเป็นผลให้เจ้าฟ้าองค์นี้ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ดำเนินการปกครองเผด็จการส่วนพระองค์อย่างสมเด็จพระเจ้าลุง ครั้นแล้วก็ทรงกระทำการรัฐประหารล้มสาธารณรัฐ สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นจักรพรรดิ ทรงพระนามว่า นโปเลียนที่ ๓ ครองราชย์ต่อมาจนถึง ค.ศ.๑๘๗๐ จึงต้องสละราชสมบัติเพราะนำทัพฝรั่งเศสเข้ารบแพ้ปรัสเซียกับพันธมิตร (ซึ่งต่อมาได้รวมกันตั้งเป็นจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)

๒.๑๑ แม้ว่าประชาธิปไตยที่สถาปนาขึ้นในยุโรปตะวันตกนั้นจะเป็นเพียงประชาธิปไตยทางนิตินัย แต่ปวงชนได้สิทธิประชาธิปไตยในการแสดงความคิดเห็นที่จะให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้นในทางพฤตินัยด้วย อันสิทธิเช่นนี้ราษฎรไม่เคยได้ในสมัยเผด็จการทาสและศักดินา
ดังนั้นต่อจาก “บาเบิพ” จึงได้มีผู้แสดงทัศนะที่จะปรับปรุงให้เป็นธรรมยิ่งขึ้นโดยให้ปัจจัยการผลิต เช่นที่ดิน, อุตสาหกรรม,วิสาหกิจ เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนรวมของสังคม ซึ่งมนุษย์ในสังคมออกแรงร่วมกันในการผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยในการดำรงชีวิตตามความเป็นธรรม ในระยะแรก ๆ ก็ยังมิได้มีชื่อเฉพาะว่าลัทธิเช่นว่านั้นมีชื่ออย่างไร โดยเรียกตามชื่อของผู้เป็นเจ้าของลัทธินั้น

ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๒๖ วารสารอังกฤษชื่อ “CO-OPERATION MAGAZINE” ได้เรียกลัทธิเศรษฐกิจจำพวกที่กล่าวมานี้เป็นภาษาอังกฤษว่า “SOCIALISM” ครั้นแล้วใน ค.ศ.๑๘๓๒ วารสารฝรั่งเศสชื่อ “GLOBE” ได้เรียกลัทธิจำพวกที่กล่าวนี้เป็นชื่อภาษาฝรั่งเศสว่า “SOCIALISME” ตั้งแต่นั้นมาก็มีผู้ใช้ศัพท์อังกฤษและฝรั่งเศสนี้เรียกลัทธิจำพวกดังกล่าวที่เป็นอยู่ในสมัยนั้น และที่จะเป็นไปในสมัยต่อมา และได้ใช้ศัพท์นั้นเรียกย้อนหลังไปถึงลัทธิที่มีผู้คิดขึ้นทำนองโซเซียลิสม์ตั้งแต่สมัยโบราณกาลเป็นต้นมา เดิมในประเทศไทยเรียกลัทธิจำพวกที่กล่าวนี้ โดยทับศัพท์ทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสดังกล่าวนั้น แต่ภายหลัง พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงมีผู้ถ่ายทอดเป็นศัพท์ไทยว่า “สังคมนิยม”...
download file PDF ที่

บทความที่ ๙๓. เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร (๒)

เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร
ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์
๒.๗ แม้ว่าระบบทาสและศักดินาจะเสื่อมสลายไปทางระบบเศรษฐกิจการเมืองแต่ซากทัศนะที่เกาะแน่นอยู่ในหมู่ชนใดที่ถ่ายทอดต่อ ๆ กันมาหลายชั่วคน ก็ยังคงมีอยู่เป็นเวลาอีกช้านานมากที่เป็นพลังต่อต้านระบบประชาธิปไตย และพยายามที่จะฟื้นฟูระบบเผด็จการทาสและศักดินาในรูปสมบูรณาญา สิทธิราชย์เก่า หรือรูปที่ใช้ชื่อใหม่ เช่น เผด็จการฟาสซิสต์, นาซี, เผด็จการทหาร ฯลฯ ดั่งจะเห็นได้ตามตัวอย่างตัวไปนี้

ก. เราไม่ต้องดูอื่นไกลคือตัวอย่างรูปธรรมในสยามของเราเองก็จะเห็นว่า แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ (รัชกาลที่ ๕) ได้ทรงยกเลิกระบบทาสใน พ.ศ. ๒๔๔๘ แล้ว แต่ซากทัศนะทาสก็ยังตกค้างอยู่ในชนบทบางหมู่บางเหล่า อันที่ก่อนการประกาศยกเลิกระบบทาส พระองค์ก็ได้มีประกาศยกเลิกธรรมเนียมทาสและศักดินามาก่อนแล้ว เมื่อพระองค์ขึ้นทรงราชย์ได้เพียง ๕ ปีเท่านั้น คือ ในจุลศักราช ๑๒๓๕ ซึ่งตรงกับพุทธศักราช ๒๔๑๖ ...

พระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ได้ปฏิบัติตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ ๕ โดยเฉพาะกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระอาจารย์กฎหมายสยามได้ทรงสั่งสอนตามพระราชประสงค์ของพระราชบิดา ครั้นต่อมา ภายหลังรัฐประหาร ๘ พ.ย. ๒๔๙๐ โดยความเกื้อกูลสนับสนุนจากซากทัศนะทาสและศักดินาแล้ว รัฐบาลที่ตั้งขึ้นหลายชุดต่อมาได้ทำการฟื้นธรรมเนียมทาสที่เลิกแล้วนั้นขึ้นมาอีก ดังปรากฏในภาพจากนิตยสารหนังสือพิมพ์ นิสิตนักศึกษานักเรียนก็ถูกบังคับให้ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมนั้น ซึ่งท่านย่อมทราบแล้ว คำพิพากษาฎีกาบางฉบับก็มีผู้พิพากษาบางนายได้ตัดสินคดีโดยอาศัยประเพณีเก่าเป็นข้ออ้างลงโทษผู้ต้องหา ผมจึงคิดว่าถ้ารัชกาลที่ ๕ มีญาณวิธีโดยเฉพาะกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เห็นการฟื้นขนบธรรมเนียมประเพณีทาสอันเป็นการขัดพระราชประสงค์และขัดต่อเจตนารมณ์ทางกฏหมายแล้ว พระองค์จะทรงมีความรู้สึกอย่างไร

ข.แม้ในประเทศจีนใหม่ปัจจุบัน ที่เข้าสู่ระบบสังคมนิยมเบื้องต้นแล้ว ท่านก็จะได้ทราบข่าวที่ปรากฏจากเอกสารของสาธารณรัฐแห่งราษฎรจีนเองว่า เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการรณรงค์ต่อต้านซากทัศนะ “ขงจื้อ” (อันเป็นซากทัศนะศักดินาซึ่งเป็นทฤษฎีที่ขงจื้อคิดขึ้นในสมัยโบราณ ขณะที่ประเทศจีนยังมีระบบทาสผสมกับระบบศักดินา) แม้ว่า “หลินเปียว” ตัวแทนซากทัศนะนี้จะตายไปแล้ว แต่เขาก็ยังมีลูกสมุนตกค้างอยู่ซึ่งทำการเผยแพร่ในประเทศจีน และในบางประเทศอื่นที่เคยมีบุคคลโฆษณาสรรเสริญหลินเปียวอยู่พักหนึ่ง แม้ในปารีสท่านอางสังเกตว่า เมื่อข่าวสารบางกระแสแจ้งว่าหลินเปียวขึ้นเครื่องบินหนีจากประเทศจีนแล้วเกิดอุปัทวเหตุเครื่องบินตกทำให้หลินเปียวกับพวกตายนั้น ผู้สดุดีหลินเปียวก็คัดค้านข่าวนั้นว่าไม่จริงเพราะลุ่มหลงทัศนะศักดินาของหลินเปียวอย่างหลับหูหลับตา..

๒.๘ เมื่อระบบทาสในยุโรปตะวันตก ได้เสื่อมสลายลงในปลายสมัยอาณาจักรโรมันโดยระบบศักดินาได้พัฒนาขึ้นมาแทนที่แล้ว แต่ซากทัศนะทาสยังคงเหลืออยู่ในระบบศักดินาเป็นเวลาช้านานหลายศตวรรษ

ต่อมาในปลายสมัยยุคกลางของยุโรปตะวันตก คือ เมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ได้มีบุคคลจำพวกที่ออกสำเนียงตามภาษาฝรั่งเศสว่า “บรูชัวส์” เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “BOURGEOIS” คือพ่อค้าและผู้ประกอบหัตถกรรมที่อยู่ในย่านตลาดการค้า ซึ่งเรียกว่า “บูรก์” เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “BOURG” คำนี้เทียบได้กับคำไทยว่า “บุรี” ฉะนั้น “บูรชัวส์” เทียบได้กับคำไทยว่า “ชาวบุรี” ได้เป็นผู้เริ่มแรกในการจัดตั้งเป็นขบวนการต่อต้านเผด็จการศักดินาซึ่งปกครองท้องที่ ชาวบุรีได้รวมกำลังกันเป็นองค์การร่วมที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “กอมมูน” (COMMUNE) ซึ่งแผลงมาจากคำลาติน “COMMUNIS” อันเป็นองค์การที่ชาวบุรีผนึกกำลังกันเพื่อป้องกันผลประโยชน์ของตน และต่อสู้เจ้าศักดินาท้องถิ่นเพื่อมีอิสระในการปกครองท้องที่ของตนเอง ออกต่างหากจากเผด็จการของเจ้าศักดินาท้องที่ แต่ยังยอมขึ้นตรงต่อพระราชาธิบดีซึ่งเป็นประมุขสูงสุดของรัฐ การต่อสู้นั้นใช้วิธีทัดท้านดื้อด้านไม่ยอมอ่อนข้อให้เจ้าศักดินาท้องที่ การต่อสู้ได้ใช้เวลายาวนาน ชาวบุรีจึงได้รับสัมปทานจากพระราชาธิบดีให้มีสิทธิปกครองท้องถิ่นของตนเองอันเป็นประวัติระบบเทศบาลในฝรั่งเศสและในหลายประเทศของยุโรปตะวันตก

ชาวบุรีก็หมดสภาพเป็นข้าไพร่ของเจ้าศักดินาแห่งท้องที่ โดยพระราชาธิบดีรับรองให้มีฐานันดรที่ ๓ ของสังคม คือเป็นฐานันดรถัดลงมาจากขุนนางบาทหลวง และขุนนางสามัญ คือมีสภาพเป็นชนชั้นกลางระหว่างฐานันดรสูงกับผู้ไร้สมบัติ (PROLETARIAT) ซึ่งยังคงมีฐานะเป็นข้าไพร่ของเจ้าศักดินาท้องถิ่น กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ชาวบุรีมีฐานะเป็นนายทุนชั้นกลาง ต่อมาชาวบุรีได้พัฒนาเครื่องมือหัตถกรรมให้มีสมรรถภาพดีขึ้นตามลำดับ ได้ขยายการค้ากว้างขวางขึ้น สะสมสมบัติเป็นทุนได้มากขึ้น และเมื่อได้เกิดมีผู้ประดิษฐ์เครื่องมือใช้พลังไอน้ำในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ชาวบุรีก็อาศัยทุนอันเป็นสมบัติที่สะสมไว้นั้นเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมและวิสาหกิจสมัยใหม่ สภาพของชาวบุรีซึ่งเดิมเป็นเพียงนายทุนชั้นกลางจึงได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปนายทุนใหญ่สมัยใหม่

แม้สภาพของชาวบุรีหรือบูรชัวส์ได้เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว ซึ่งในภาษาสามัญยังหมายถึงคนชั้นกลางก็ดี แต่ในตำราวิทยาศาสตร์สังคมก็ยังคงเรียกนายทุนสมัยใหม่ตามศัพท์เดิมว่า “บูรชัวส์” และชนชั้นนายทุนใหญ่สมัยใหม่ว่า“บูรชัวชี”(BOURGEOISIE)ตำราวิทยาศาสตร์สังคมที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมันก็ใช้วิธีทับศัพท์คำฝรั่งเศสดังกล่าวนั้น เพื่อเรียกชนชั้นนายทุนใหญ่สมัยใหม่ซึ่งมีความเฉพาะในทางวิทยาศาสตร์สังคม เองเกลส์ได้ทำฟุตโน้ตอธิบายความหมายของคำนี้ว่า

“บูรชัวซี (BOURGEOISIE) หมายถึงชนชั้นนายทุนสมัยใหม่ เจ้าของปัจจัยการผลิตของสังคมและเป็นนายจ้างของแรงงาน”

เพื่อกระจ่างแจ้งยิ่งขึ้น ขอให้ท่านศึกษาประวัติลัทธิเศรษฐกิจเบื้องต้น ท่านก็จะพบว่าระบบทุนสมัยใหม่ได้ก่อตัวจาก “ระบบทุนพาณิชย์” (CAPITALISME COMMERCIALE) แล้ว “ระบบทุนการคลัง” (CAPITALISME FINANCIER) แล้วก็มาถึง “ระบบทุนอุตสาหกรรม” (CAPITALISME INDUSTRIEL)

ส่วนชนชั้นผู้มีทุนน้อยมีชื่อเรียกว่า “เปอติเตอะ บูรชัวซี” (PETITE BOURGEOISIE) และนายทุนชั้นกลางมีชื่อเรียกว่า “มัวแยนน์ บูรชัวซี” (MOYENNE BOURGEOISIE)

ฉะนั้น ผมจึงได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ว่าด้วยความเป็นอนิจจังของสังคม” ว่า “บูรชัวซี” ไม่ใช่ชนชั้น “กระฎุมพี” หากแต่เป็นชนชั้นเศรษฐีสมัยใหม่ ซึ่งผมถ่ายทอดเป็นศัพท์ไทยใหม่ว่า “เจ้าสมบัติ”...

ท่านที่ใช้สามัญสำนึกย่อมทราบได้ว่าชนชั้นเจ้าสมบัตินั้นเป็นคนจำนวนน้อยในสังคม ฉะนั้นแม้ชนชั้นเจ้าสมบัติเห็นความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงระบบศักดินามาเป็นระบบประชาธิปไตย แต่โดยลำพังชนชั้นนั้นก็ย่อมไม่เป็นพลังเพียงพอคือ จำต้องอาศัยข้าไพร่ตามระบบศักดินาที่เป็นคนจำนวนส่วนข้างมากของสังคม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้ข้าไพร่เกิดมีสำนึกในชนชั้น ข้าไพร่ของตนที่ถูกกดขี่ข่มเหงจากระบบศักดินาและให้เกิดจิตสำนึกในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษยชาติของตนที่จะต้องมีความเสมอภาคกับเพื่อนมนุษย์ในสังคม และมีสิทธิเสรีภาพคือ สิทธิประชาธิปไตย ในการนั้นบทความของนักปราชญ์หลายคนในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ อาทิ “ฮอบบส์” (HOBBS), “ล็อกค์” (LOCKE), และในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ อาทิ “มองเกสติเออ” (MONTESQUIEU),”ดิเดอโรต์ (DEDEROT),วอลแตร์ (VOATAIRE), จ.-จ.รุสโซ (J.J ROUSSEAU) ได้มีอิทธิพลที่ทำให้ราษฎรจำนวนไม่น้อยเกิดจิตสำนึกที่ต้องการความเสมอภาคกับเพื่อนมนุษย์ในสังคมและสิทธิเสรีภาพ นักปรัชญาเหล่านี้ไม่ใช่เป็นนายทุนมั่งมีเงินมหาศาล ท่านแสดงทัศนะเพื่อประชาธิปไตยของราษฎร มิใช่เพื่อชนชั้นเจ้าสมบัติโดยเฉพาะ

ชนชั้นเจ้าสมบัติจึงร่วมกับราษฎรที่มีทัศนะประชาธิปไตยทำการต่อต้านเผด็จการศักดินา เพื่อเปลี่ยนมาเป็นระบบประชาธิปไตย เจ้าศักดินาของประเทศใดยอมเปลี่ยนแปลงโดยสันติ การอภิวัฒน์โดยใช้กำลังอาวุธก็มิได้มีขึ้น แต่เจ้าศักดินาใดดื้อดึงเกาะแน่นอยู่ตามระบบเผด็จการศักดินาของตน การอภิวัฒน์โดยใช้กำลังอาวุธจึงเกิดขึ้น อาทิ การอภิวัฒน์ฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๗๘๙

Wednesday, March 14, 2007

บทความที่ ๙๒. เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร (๑)

เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร
ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์


สวัสดีท่านทั้งหลาย

ผมขอขอบคุณท่านประธานกรรมการ ท่านกรรมการและสมาชิกสมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส ที่ได้เชิญผมกับภรรยามาร่วมสังสรรค์ในงานชุมนุมฤดูร้อน พ.ศ. ๒๕๑๗ ของสมาคม ท่านประธานกรรมการในนามของสมาคมขอให้ผมแสดงปาฐกถาในหัวข้อว่า

“เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร”

ผมเห็นว่าปัญหาที่ท่านเสนอขึ้นนี้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ ของนิสิตนักศึกษา นักเรียน และราษฎรไทยส่วนมากที่รักชาติรักความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งปรารถนาพิทักษ์ชัยชนะก้าวแรกที่วีรชน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ได้เสียสละชีวิต ร่างกายและความเหน็ดเหนื่อยต่อสู้เผด็จการเพื่อให้ชาติและราษฎรไทยได้บรรลุซึ่งประชาธิปไตยสมบูรณ์ แต่สถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ปรากฏตามข่าวสารหลายกระแสที่ท่านทั้งหลายได้รับโดยตรงจากประเทศไทยก็ดี จากวารสารกับหนังสือพิมพ์รวมทั้งวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ของต่างประเทศและของคนไทยในต่างประเทศก็ดี รวมทั้งวารสารนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสซึ่งได้พยายามนำข่าวเท่าที่รวบรวมได้เสนอต่อสมาชิกและผู้อ่านก็ดีนั้น พอสรุปใจความได้ว่าประชาธิปไตยกำลังถูกคุกคามโดยมีบุคคลจำนวนหนึ่งต้องการฟื้นเผด็จการขึ้นมาอีก และบุคคลอีกจำนวนหนึ่งดำเนินการอย่างสุดเหวี่ยงยื้อแย่งผลแห่งชัยชนะ ซึ่งวีรชน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ นำมาให้ปวงชนนั้น เป็นไปประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชน โดยเฉพาะเพื่อสถาปนาเผด็จการของอภิสิทธิ์ชนขึ้น

การต่อสู้เผด็จการนั้นเป็นเรื่องกว้างขวางพิศดารมากเพราะเผด็จการมีหลายชนิด ผู้นิยมชมชอบเผด็จการชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิด ก็มีอยู่ในทางแสดงออกอย่างเปิดเผยและในทางไม่สนใจว่า เผด็จการจะกลับฟื้นอีกหรือไม่ ส่วนฝ่ายต่อต้านเผด็จการนั้นก็มีหลายจำพวก บางพวกต่อต้าน “ระบบ” เผด็จการ แต่บางพวกต่อต้านเฉพาะตัวบางคนที่เป็นผู้เผด็จการ ซึ่งท่านจะเห็นได้ว่าบางคนต่อต้านเฉพาะจอมพลถนอมและจอมพลประภาส แต่นิยมชมชอบจอมพลสฤษดิ์เพราะเหตุที่ตนเองหรือญาติมิตรได้ประโยชน์จากจอมพลสฤษดิ์ และมีเสียงเรียกร้องให้วิญญาณของจอมพลผู้นี้กลับคืนชีพขึ้นมาอีก บางคนเอาคำกลอนของสุนทรภู่ตอนหนึ่งที่ว่า “รู้อะไรก็ไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” นั้นมาเป็นสุภาษิตเพื่อใช้เป็นหลักนำในการปฏิบัติตน แต่อันที่จริงกลอนนั้นเป็นคำรำพึงของสุนทรภู่ซึ่งเป็นปราชญ์ที่มีปัญญาสูง รับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตในรัชกาลที่ ๒ แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ สุทรภู่ต้องระเห่เร่ร่อน ส่วนพวกประจบสอพลอแม้ไม่มีความรู้ก็สามารถรับราชการมีตำแหน่งสูง สุนทรภู่ไม่มีความประสงค์ให้ชนรุ่นหลังคิดเอาตัวรอดเฉพาะตน

วิธีต่อต้านเผด็จการนั้นก็มีมากมายหลายชนิด ฉะนั้นวันนี้ผมจึงขอสนองศรัทธาท่านทั้งหลายเพียงกล่าวความโดยสังเขปพอสมควรแก่เวลาเท่านั้น ถ้าท่านผู้ใดสนใจก็ขอให้ค้นคว้าต่อไปให้สมบูรณ์ทั้งทางทฤษฎีและตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมประจักษ์อยู่ในสังคมต่าง ๆ ให้สมานด้วย แล้วพิจารณาประยุกต์ให้เหมาะสมแก่สภา,ท้องที่,กาลสมัยของแต่ละสังคมที่วิวรรตอยู่ในระดับต่าง ๆ

ผมต้องขอแจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่า ในการกล่าวถึงประเด็นต่าง ๆ นั้น บางตอนก็จำเป็นต้องอ้างอิงถึงลัทธิและชื่อของผู้ตั้งลัทธิที่มีเรื่องเกี่ยวข้องกับประเด็น ขอให้ท่านเข้าใจว่าผมมิใช่เป็นโฆษกของลัทธิใด ๆ หรือนิกายใด ๆ ท่านผู้ใดจะเลื่อมใสหรือไม่เลื่อมใสในลัทธิใดหรือนิกายใดก็เป็นเรื่องเสรีภาพตามสิทธิมนุษยชนที่ท่านพึงมี คือมิสิทธิในการเลือกถือลัทธินิยมใด ๆ ได้ตามความสมัครใจ เมื่อได้พิจารณาลัทธิหรือนิกายนั้นโดยถี่ถ้วนแล้วตามวิธีที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ในกาลามสูตร (พระสูตรนี้มีชื่อในพระไตรปิฏกว่า เกสปุตตสูตร-แด่บรรพชนฯ)

๑.ปรัชญาทางยุทธศาสตร์

ก่อนที่ผมจะเข้าสู่ประเด็นของเรื่อง ผมขอให้ข้อสังเกตว่า การต่อต้านเผด็จการนั้นมิใช่ฝ่ายต่อต้านจะกระทำตามอำเภอใจต่อฝ่ายเผด็จการ เพราะฝ่ายหลังย่อมทำการตอบโต้โดยตรง และโดยปริยายต่อฝ่ายที่ทำการต่อต้าน ดังนั้น การต่อต้านเผด็จการจึงหมายถึงการต่อสู้ระหว่างสองฝ่าย เมื่อมีการต่อสู้ระหว่างสองฝ่ายแล้วก็เข้าสู่รูปแบบที่เรียกว่า “สงคราม” ซึ่งมีทั้งสงครามทางเศรษฐกิจ, สงครามทางการเมือง, สงครามทางจิตวิทยา และสงครามทางศาตราวุธ

ผมจึงขอให้ฝ่ายต่อต้านเผด็จการ ระลึกถึงปรัชญาทางยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นยอดสรุปแห่งวิชาว่าด้วยการทำสงครามไม่ว่าจะเป็นการทำสงครามชนิดใด โรงเรียนนายทหารชั้นสูงหลายแห่งในยุโรปก็ได้นำเอาคติของนักปราชญ์ยุทธศาสตร์ต่าง ๆ กล่าวไว้ บางโรงเรียนก็ได้กล่าวถึงนักปราชญ์ยุทธศาสตร์ชาวเอเซียผู้หนึ่งไว้ด้วย ท่านผู้นี้มีชื่อว่า “ซุนจื่อ” (Sun Tzu) เกิดในประเทศจีนประมาณ ๔๐๐ ปีก่อนพระเยซู คือประมาณ ๒,๔๐๐ ปีมาแล้ว ได้ให้คติไว้สรุปเป็นใจความว่า “รู้จักเขาและรู้จักเรา รบร้อยครั้งก็ชนะทั้งร้อยครั้ง” ในการที่ผมนำคติของท่านผู้นี้มาอ้างก็เพราะเห็นว่ามีเหตุผลพิสูจน์ได้ในทางตรรกวิทยา ถ้าผู้ใดขบวนการใดสามารถเอาคตินั้นมาประยุกต์แก่การต่อต้านเผด็จการแล้ว ก็สามารถกำหนดยุทธวิธีต่อสู้ให้เหมาะสมแก่กำลังของทั้งสองฝ่ายได้ว่า ในสภาพอย่างใด ในท้องที่อย่างใด ในกาลสมัยใด ควรต่อสู้อย่างไร ถ้าหากขบวนการใดไม่รู้จักสภาพกำลังของฝ่ายปรปักษ์ และไม่รู้จักสภาพกำลังแท้จริงของฝ่ายตน หรือรู้จักเพียงด้านใดด้านหนึ่งก็ไม่สามารถใช้ยุทธวิธีให้เหมาะสมแก่สภาพ,ท้องที่, กาลสมัยได้

๒.ฝ่ายเผด็จการ

๒.๑ เมื่อก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ จะก่อตัวขึ้นในยุโรปนั้น ลัทธิปกครองซึ่งฝ่ายบริหารประเทศมีอำนาจเด็ดขาดปกครองคนส่วนมากในสังคมอย่างทาสและข้าไพร่ของเจ้าศักดินา ได้กลับฟื้นขึ้นมาอีกในหลายประเทศ แล้วได้แพร่ไปยังประเทศไทยด้วย อาทิ ลัทธิฟาสซิสต์, ลัทธินาซี, ลัทธินายทหารผู้ใหญ่มีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองประเทศ จึงได้มีผู้เอาคำว่า “เผด็จ” ซึ่งแผลงมาจากภาษาขอม “ผดาด” แปลว่าเด็ดขาด ผสมเข้ากับคำว่า “การ” เป็นศัพท์ไทยว่า “เผด็จการ” ต่อมาราชบัญฑิตสถานได้รับเอาคำว่า “เผด็จการ” บรรจุไว้ในพจนานุกรมโดยให้ความหมายว่า “การใช้อำนาจบริหารเด็ดขาด”

คำว่า “เผด็จการ” จึงตรงข้ามกับ “ประชาธิปไตย” (ซึ่งหมายถึง ”การปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่”)

๒.๒ คำไทย “เผด็จการ” จึงใช้ถ่ายทอดคำอังกฤษ “Dictatorship” หรือคำฝรั่งเศส “Dictature” ฉะนั้นท่านที่ประสงค์ทราบความหมายเพิ่มขึ้นจึงขอให้ศึกษาความหมายของคำฝรั่งทั้งสองนั้นด้วย

คำฝรั่งทั้งสองคำนั้นแผลงมาจากคำลาติน “Dictatura” แปลว่าอำนาจสั่งการเด็ดขาด เมื่อประมาณ ๒,๔๐๐ ปี สมัยที่ชาวโรมันได้สถาปนาระบบสาธารณรัฐขึ้นโดยมีพฤตสภา และคณะกรรมการราษฎรเป็นผู้ควบคุมฝ่ายบริหารนั้น บางครั้งเกิดสงครามเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงได้ตั้งหัวหน้าฝ่ายทหารมีอำนาจเด็ดขาดในการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นเวลาเพียงครั้งละ ๖ เดือน บุคคลที่มีอำนาจเด็ดขาดนี้เรียกเป็นภาษาลาตินว่า “ดิกตาตอร์” (Dictator) ฝรั่งเศสแผลงเป็น “Dictateur” อังกฤษ เป็น “Dictator”

ต่อมา ผู้เผด็จการชั่วคราวบางคนได้อาศัยพวกที่มีซากทัศนะทาสและศักดินาสนับสนุนตนเป็นผู้เผด็จการระยะเวลา ๑๐ ปีบ้าง โดยไม่มีกำหนดเวลาบ้าง ซึ่งเท่ากับเป็นผู้เผด็จการตลอดชีวิตของตน ครั้นแล้วก็ได้แผลงตำแหน่งผู้เผด็จการตลอดชีวิตเป็นผู้เผด็จการซึ่งมีอำนาจตั้งทายาทสืบสันติวงศ์เปลี่ยนตำแหน่ง “ดิกตาเตอร์” เป็น “อิมเปราเตอร์” (Imparator) ซึ่งตามความหมายเดิมแปลว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุดนั้น เป็นตำแหน่งอิสริยยศให้แก่ประมุขสูงสุดของสังคมโรมันที่มีอำนาจเผด็จการ ภาษาฝรั่งเศสแผลงคำลาตินนั้นมาเป็น “Empereur” อังกฤษแผลงเป็น “Emperor” ภาษาไทยเรียกตำแหน่งที่ตรงกันนี้ว่า “จักรพรรดิ” มาช้านานตั้งแต่โบราณกาลแล้ว ซึ่งตรงกับภาษาจีนว่า “หวงตี้” ส่วนระบบปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจักรพรรดิและอาณาจักรที่จักรพรรดิครอบครองนั้นเรียกเป็นภาษาลาตินว่า “เอมเปริอุม” (Imperium) ภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษแผลงเป็น “Empire” ภาษาไทยเรียก “จักรวรรดิ” มาช้านานแต่โบราณกาลซึ่งตรงกับภาษาจีนว่า “ตี๊โก๊วะ” ...

ต่อมาใน พ.ศ. ๑๘๓๖ คนฝรั่งเศสได้เอาคำว่า “isme” เป็นปัจจัยต่อท้ายคำว่า “Imperial” ซึ่งคุณศัพท์ของคำว่า “Empire” นั้น เป็น “Imperialisme” แล้วอังกฤษก็แผลงเป็น “Imperialism” ซึ่งหมายถึง นโนบายและการปฏิบัติของชาติหนึ่งที่ยึดเอาชาติอื่นมาอยู่ใต้อำนาจเศรษฐกิจหรือการเมือง หรือทั้งสองอย่าง คือ เอาเป็นอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคมหรืออยู่ใต้อิทธิพล ทั้งนี้มิได้หมายความเฉพาะชาติมีอำนาจเช่นนั้นจะมีระบบการปกครองที่มี “จักรพรรดิ” เป็นประมุขเท่านั้น หากหมายรวมถึงชาติที่เป็นสาธารณรัฐ ซึ่งไม่มีจักรพรรดิเป็นประมุขด้วย



ตามความหมายนั้น “Imperialism” ย่อมถ่ายทอดเป็นภาษาไทยว่า “จักรวรรดินิยม” ซึ่งภาษาจีนเรียกว่า “ตี๊โก๊วะจู่อี้” (เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จีนบางคนในสยามได้แจกใบปลิวเป็นภาษาไทยให้ต่อสู้ “จักรพรรดิญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นการเหมาะสมสำหรับจีน สมัยนั้นถือว่าพระจักรพรรดิประมุขยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่นต้องรับผิดชอบในการรุกรานประเทศจีน ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นแพ้สงครามแล้วจึงมีผู้ตัดคำว่า “ญี่ปุ่น” ออกแล้วเอาว่า “นิยม” ต่อท้ายคำว่า “จักรพรรดิ” เป็น “จักรพรรดินิยม”)

ใน ค.ศ. ๑๙๑๖ เลนินได้อธิบายความหมายของคำว่า “Imperialism” ว่าเป็นระยวิวรรตการของระบบทุนนิยมซึ่งพัฒนาถึงขีดสูงสุดในอเมริกา,ยุโรป,แล้วต่อมาในเอเชีย ซึ่งพัฒนาเต็มที่ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๘-๑๙๑๔ คือสงครามระหว่าง ส.ร.อ.กับสเปญ ค.ศ. ๑๘๙๘ , สงครามระหว่างอังกฤษกับพวกปัวร์ ค.ศ. ๑๙๐๐-๑๙๐๒, สงครามรุสเซียกับญี่ปุ่น ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๕ และวิกฤติการเศรษฐกิจในยุโรป ค.ศ. ๑๙๐๐

เลนินอธิบายว่า “อิมพีเรียลิสม์” มีลักษณะสำคัญ ๓ ประการ คือ (๑)ระบบผูกขาด (๒)ระบบทุนผูกขาดที่กำลังเสื่อม (๓)ระบบทุนกำลังจะตาย ระบบทุนผูกขาดเข้าแทนที่การแข่งขันโดยเสรี แสดงออกโดยรูปแบบ ๕ ประการคือ (๑)การสมานนายทุนเป็นองค์กรผูกขาด (๒)การผูกขาดของธนาคารใหญ่สี่หรือห้าธนาคารที่กุมเศรษฐกิจในอเมริกา,ฝรั่งเศส,เยอรมัน ฯลฯ (๓)การยึดเอาแหล่งวัตถุดิบของคณาธิปไตยการคลัง (๔)การแบ่งปันเศรษฐกิจระหว่างประเทศโดยกลุ่มทุนผูกขาด (๕)การแบ่งดินแดนในโลก (ปัจจุบันนี้เปลี่ยนเป็นอาณานิคมแบบใหม่คือจักรวรรดินิยมมีอำนาจหรืออิทธิพลเหนือประเทศอื่นๆ)

ดังนั้น “จักรวรรดินิยม” จึงเป็นระบบเผด็จการของระบบทุนผูกขาด

๒.๓ ในพจนานุกรมภาษาฝรั่งเศสอังกฤษได้ให้คำที่มีความเหมือนกัน (SYNONYM) กับคำว่า “Dictature” หรือ “Dictatorship” ไว้ คือ คำว่า “ฝ.Absolution, อ.Absolustism” ที่แปลเป็นไทยว่า “สมบูรณาญาญสิทธิราชย์”, คำว่า “ฝ.Despotisme,อ.”Depotism” ที่แปลเป็นไทยว่า “ทารุณย์-ราชย์” และคำว่า “ฝ.Tyannie, อ.Tyanny” จึงมีความหมายเช่นกัน

๒.๔ พิจารณาตามสาระแห่งความหมายของ “เผด็จการ” ดังกล่าวนั้น ระบบเผด็จการเริ่มเกิดมีขึ้นเมื่อระบบทาสได้เข้ามาแทนที่ระบบประชาธิปไตยปฐมกาลของมนุษยชาติแล้วผู้เป็นหัวหน้าสังคม ถือว่าคนในสังคมเป็นทรัพย์สินของตนประดุจสัตว์พาหนะ เช่น วัว ควาย ช้าง ม้า ซึ่งหัวหน้าสังคมมีอำนาจบังคับให้ทำงานเพื่อตน และมีอำนาจเฆี่ยนตีเข่นฆ่าได้ กฎหมายเก่าของสยามบัญญัติว่า ทาส เป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่งจำพวกเดียวกับสัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลายเรียกว่า “วิญญาณกทรัพย์” (ส่วนทรัพย์สินประเทศไม่มีชีวิตเรียกว่า อวิญญาณกทรัพย์) ผู้ศึกษากฎหมายโรมันย่อมทราบว่า กฎหมายนั้นบัญญัติว่าทาสเป็นทรัพย์ชนิดหนึ่งของเจ้าทาส ระบบปกครองสังคมทาสจึงเป็นระบบเผด็จการชนิดทารุณโหดร้าย
ต่อมาเจ้าทาสได้ผ่อนผันให้ทาสบางส่วนประจำทำงานในที่ดินของเจ้าทาสเพื่อทำการเพาะปลูกในที่ดิน นำดอกผลที่ทำได้ส่งเป็นบรรณาการหรือที่เรียกว่า “ส่งส่วย” แก่เจ้าทาสและหัวหน้าสังคมซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหลายในสังคม ระบบที่เรียกว่า “ศักดินา” จึงเกิดขึ้นตามที่ผมเคยกล่าวไว้ในปาฐกถาเมื่อปีกลายนี้ในงานชุมนุมนักเรียนไทยในสหพันธรัฐเยอรมัน

แม้จะได้มีระบบศักดินาแล้ว ระบบทาสก็ยังไม่หมดไปในทันใด คือ ยังอยู่คู่เคียงกับระบบศักดินาเป็นเวลาอีกช้านานมาก ในประเทศไทยนั้นระบบทาสอยู่คู่เคียงกับระบบศักดินา จนกระทั่ง ร.ศ.๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงประกาศยกเลิกทางนิตินัย แม้กระนั้นซากของทัศนะทาสอันเป็นระบบที่มีอยู่เป็นเวลาช้านานหลายหมื่นปีก็คงยังมีเหลืออยู่ซึ่งตกทอดต่อ ๆ กันมายังสังคมศักดินาด้วย ระบบปกครองสังคมศักดินาเป็นระบบเผด็จการทำนองระบบเผด็จการทาส

โดยที่ในสมัยโบราณ มนุษย์ยังไม่มีความเข้าใจในกฎธรรมชาติอันเป็นกฎทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างถูกต้องจึงหลงเชื่อว่าความเป็นไปแห่งความเป็นอยู่ของตนนั้นก็โดยอภิเทวดาบันดาลขึ้น จึงได้มีลัทธิทางไสยศาสตร์ชนิดหนึ่งที่สอนให้บุคคลหลงเชื่อว่าผู้เผด็จการทาสและศักดินาเป็นผู้ที่อภิเทวดาส่งมาให้เกิดในมนุษย์โลกเพื่อปกครองมนุษย์ ทุกลัทธิไสยศาสตร์ชนิดนั้นมีสาระตรงกันว่า หัวหน้าสังคมเป็นผู้ที่พระเจ้าบนสวรรค์ส่งมาให้เกิดในมนุษยโลก จะต่างกันก็อยู่ที่ว่าเทพเจ้าใดเป็นผู้ส่งมา เช่น ฝ่ายยุโรปอ้างว่า “อภิเทวา” (GOD) ลัทธิขงจื้ออ้างว่าจักรพรรดิจีนเป็นโอรสของสวรรค์เรียกเป็นภาษาจีนว่า “เทียนจื่อ”, จักรพรรดิเวียดนามถือคติอย่างจีนจึงอ้างตนว่าเป็น “เทียนจื่อ” แต่คนไทยออกสำเนียงเพี้ยนไปในการเรียก “องเยียลอง” ที่เคยเข้ามาอาศัยอยู่ในสยามสมัยกรุงธนบุรีว่า “องเชียงสือ”, คติญี่ปุ่นอ้างว่าจักรพรรดิเป็นโอรสของดวงอาทิตย์ ลัทธิฮินดูอ้างว่าพระนารายณ์แบ่งภาคมาเกิดประดุจเป็นพระอินทร์แห่งโลกมนุษยโลก คำสั่งของเทพสมมตินั้นมีพลานุภาพ ประดุจเสียงคำรามของราชสีห์เรียกว่า “สุรสีหนาท” อันแสดงให้เห็นชัดถึงอำนาจเผด็จการที่น่าเกรงขาม

สาระสำคัญของระบบทาสและศักดินา คือ เจ้าทาสและเจ้าศักดินาซึ่งเป็นจำนวนน้อยในสังคมมีอำนาจบังคับทาสและข้าไพร่ซึ่งเป็นราษฎรส่วนข้างมากของสังคม จำต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือ “สุรสีหนาท” ของเจ้าทาสและเจ้าศักดินาและจำต้องเชื่ออย่างหลับหูหลับตา ซึ่งเรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “Obeissance Areugle” อังกฤษว่า “ Blind Obedience” ถ้าไม่เชื่อฟังก็จะต้องถูกเจ้าทาสและเจ้าศักดินาลงโทษตามอำเภอใจ เช่นทรมานกลั่นแกล้ง,เฆี่ยนตี,ให้อดอยาก,เข่นฆ่า ระบบทาสและศักดินาจึงเป็นรากเง่าของระบบเผด็จการที่ปกครองสังคมโดยวิธีการเช่นเดียวกับนั้น อาทิ ระบบฟาสซิสต์, นาซี, ระบบเผด็จการทหาร

แม้เผด็จการทาสและศักดินาจะใช้วิธีหลอกลวงให้คนส่วนมากของสังคมหลงเชื่อว่า หัวหน้าสังคมเป็นผู้ที่พระเจ้าบนสวรรค์ให้จุติมาเกิดในมนุษยโลกดังที่ผมได้กล่าวมาแล้วในข้อก่อนก็ดี แต่ก็มีทาสและข้าไพร่ที่ถูกกดขี่อย่างหนักในสังคมต่าง ๆ ได้เกิดจิตสำนึกที่ตนถูกกดขี่แล้วได้รวมกำลังต่อสู้โดยวิธีสันติบ้าง โดยใช้กำลังอาวุธบ้าง เช่น ขบวนการทาสนำโดย “สปาตากุส” (Spatacus) ผู้นี้สามารถรวบรวมทาสจำนวนน้อยไปสู่จำนวนมาก เริ่มต่อสู้ทางอาวุธกับระบบเผด็จการทาสโรมันเมื่อประมาณ ๗๔ ปีก่อนพระเยซูเกิด ผู้นี้ได้พัฒนากำลังของตนสามารถรวมกำลังได้ถึง ๒ แสนคน ทำการต่อสู้ได้เป็นเวลาถึง ๒ ปี แต่ในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้แก่ฝ่ายเผด็จการทาสเพราะเหตุที่ขบวนการนั้นมีเจตนารมณ์สูงที่ไม่ยอมเสียศักดิ์ศรีของมนุษยชาติ ประวัติศาสตร์ของมนุษยสังคมที่จะคงมีอยู่เป็นเวลานานจึงจารึกวีรกรรมของขบวนการต่อต้านเผด็จการทาสและศักดินาที่มีต่อวิวรรตการของสังคม

๒.๕ ในบทความปลีกย่อยที่เขียนขึ้นในยุโรปเมื่อกลางคริตศตวรรษที่ ๑๙ (ซึ่งมีผู้แปลเป็นภาษาในเอเชีย) นั้น ระบบทุนสมัยใหม่ได้พัฒนาไปไกลมากในยุโรปนั้น ก็เป็นธรรมดาที่ผู้เขียนจะต้องเน้นหนักถึงการเผชิญหน้ากัน และความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันระหว่างชนชั้นนายทุนสมัย “BOURGEOISIE” ที่ผมแปลว่า “ชนชั้นเจ้าสมบัติ” กับ “RPOLETARIAT” ที่ผมแปลว่า “ชนชั้นผู้ไร้สมบัติ” หรือ “WORKING” ที่ผมแปลว่า “ชนชั้นคนงาน”

แต่ในประเทศด้อยพัฒนา หรือที่มีศัพท์ใหม่เรียกประเทศกำลังพัฒนานั้นมีซากทาสและซากศักดินาอยู่ ฉะนั้นเราไม่ควรมองข้าม “ระบบทุนศักดินา” (FEUDAL CAPITALISM) ที่ได้มีขึ้นตั้งแต่ระบบศักดินาได้เกิดขึ้น คือส่วนหนึ่งของข้าไพร่ที่พ้นจากฐานะทาสนั้น เมื่อมีทุนเล็กน้อยก็เริ่มทำการซื้อผลิตผลที่ข้าไพร่ส่วนมากได้สิทธิจากเจ้าศักดินาให้มีไว้เป็นส่วนของข้าไพร่ โดยผู้มีทุนน้อยนี้เอาของที่ข้าไพร่อื่นมาแลกเปลี่ยน ครั้นต่อมาเมื่อได้มีวัตถุอื่นเป็นสื่อกลางที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนสัตว์บางชนิด,เบี้ยบางชนิด,โลหะบางอย่าง เช่น ดีบุก,ทองแดง,เงิน,ทอง จึงได้ใช้วัตถุสื่อกลางนั้นแลกเปลี่ยน อันเป็นวิธีที่เรียกว่า “ซื้อขาย” ข้าไพร่ที่ทำการค้าขายมีกำไรสะสมเป็นทุนขยายการค้าขายกว้างขวางขึ้นและมีทุนให้ข้าไพร่อื่น ๆ ยืมโดยมีดอกเบี้ยบ้าง โดยให้ข้าไพร่อื่น ๆ ซื้อของเชื่อโดยกำหนดราคาขายอย่างแพง ซึ่งเป็นการเอาดอกเบี้ยอย่างแพงไปในตัว ดังนั้นข้าไพร่ส่วนมากซึ่งต้องส่งส่วยให้แก่เจ้าที่ดินและเจ้าศักดินาแล้ว ก็ยังถูกขูดรีดจาก “นายทุนศักดินา” อย่างหนักอีกด้วย ท่านทั้งหลายที่มีใจเป็นธรรมต่อชาวนาสยาม โดยพิจารณาความจริงที่ประจักษ์ในชนบทย่อมเห็นได้ แม้ในปัจจุบันนี้ว่าชาวนาสยามผู้ยากจนได้ถูกนายทุนพ่อค้าซากศักดินานี้ขูดรีดเพียงใดบ้าง

นายทุนศักดินามีอยู่ตั้งแต่โบราณกาลในสังคมที่เกิดระบบศักดินาขึ้นแล้ว หากแต่ในสังคมต่าง ๆเรียกนายทุนศักดินานี้ในชื่อต่าง ๆ กันตามภาษาของแต่ละสังคม เช่นในอินเดียสมัยพุทธกาลนั้น จำแนกนายทุนศักดินาออกเป็น ๓ ระดับ จากระดับต่ำไปสู่ระดับสูง คือ กระฎุมพี, คหบดี,เศรษฐี ซึ่งเป็นศัพท์บาลีสันสกฤตที่คนไทยแผลงเป็นศัพท์ไทยตั้งแต่โบราณกาล แม้ในปัจจุบันนี้สามัญชนคนไทยจำนวนไม่น้อยก็ได้ใช้ศัพท์นี้ตามความหมายนั้น คือ

ก.กระฎุมพี ได้แก่ผู้ที่ทำการค้าเมล็ดพืชในชนบท เป็นคนมีที่ดินและเป็นคนมีเงินในชนบท เป็นเจ้าที่ดินในชนบทนับว่าเป็นคนมั่งมีในอันดับต่ำสุดกว่าคหบดีและเศรษฐี ซึ่งจะกล่าวต่อไป คนไทยจึงเติมคำว่า “ไพร่” ไว้หน้าคำว่า “กระฎุมพี” เป็น “ไพร่กระฎุมพี” ซึ่งแสดงว่ายังอยู่ในฐานะที่เป็นไพร่ จึงต่างกับคำฝรั่งเศส “BOURGEOIS” และ “BOURGEOISIE” ซึ่งภาษาอังกฤษและเยอรมันก็ใช้ทับศัพท์ฝรั่งเศสนั้นเพื่อหมายถึง “นายทุนสมัยใหม่ เจ้าของปัจจัยการผลิตของสังคมผู้เป็นนายทุนจ้างแรงงาน” ตามที่วิทยาศาสตร์สังคมและเองเกลส์ได้ให้ความหมายไว้ซึ่งผมจะกล่าวในข้อ ๒.๗ ต่อไป

ข.คหบดี ได้แก่ผู้มีเคหสถานครอบครัวข้าทาสใช้สรอย ซึ่งเป็นคนมั่งมีกว่า กระฎุมพี

ค.เศรษฐี เป็นผู้มั่งมีทรัพย์สินมากมายอันดับหนึ่งเมื่อครั้งพุทธกาลถือว่าเศรษฐีเป็นพระสหายของพระราชา

ระบบทุนศักดินานี้ยังมีตกค้างอยู่ในประเทศด้อยพัฒนาซึ่งรวมทั้งสยามปัจจุบันด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนแปลงเป็นนายทุนสมัยใหม่แล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งยังมิได้เปลี่ยนแปลงไป หรือเปลี่ยนแปลงไปแต่ยังคงมีซากทัศนะทาสและศักดินาซึ่งเป็นพลังสนับสนุนเกื้อกูลให้ระบบเผด็จการทาสและศักดินายังคงอยู่ต่อไป หรือกลับฟื้นขึ้นมาอีกในรูปสมบูรณาญาสิทธิราชย์เก่าหรือในรูปใหม่อย่างอื่นแต่ในสาระ คือ เผด็จการทาสและศักดินา

๒.๖ ความเป็นอยู่ตามระบบทาสและศักดินา ก่อให้บุคคลเกิดทัศนะทาสและศักดินา คือ

ก.ฝ่ายเจ้าทาสและเจ้าศักดินาเกิดจิตสำนึกว่า ระบบเผด็จการที่ฝ่ายตนปฏิบัติต่อคนส่วนมากของสังคมนั้นทำให้ฝ่ายตนครองชีพได้อย่างผาสุก จิตสำนึกนี้เป็นทัศนะของฝ่ายเจ้าทาสและเจ้าศักดินายึดมั่นอยู่ตามปกติวิสัย

ข. ฝ่ายทาสและข้าไพร่นั้นตามปกติวิสัยย่อมต้องการหลุดพ้นจากความเป็นทาสและข้าไพร่ แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับทาสและข้าไพร่จำนวนหนึ่ง ที่เมื่อถูกอยู่ภายใต้ระบบทาสและศักดินาจนเคยชินเป็นเวลานานก็กลายเป็นคนที่เชื่องต่อการถูกกดขี่ประดุจสัตว์ซึ่งเดิมอยู่ในป่าอย่างอิสระ ครั้นเมื่อมนุษย์จับสัตว์มาเลี้ยงเริ่มต้นด้วยทรมานให้เกรงกลัว ในที่สุดก็เป็นสัตว์ที่เชื่องยอมทำงานตามคำสั่งของเจ้าของ ครั้นนาน ๆ เข้าก็เกิดทัศนะเห็นชอบในการอยู่ภายใต้ระบบเผด็จการนั้น

อีกประการหนึ่งลัทธิที่ปลุกใจให้ทาสและข้าไพร่เกิดความเชื่อถือว่าผู้เผด็จการทาสและศักดินาเป็นผู้ที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ส่งมาให้เกิดในมนุษยโลกดังกล่าวแล้วในข้อ ๒.๔ นั้น มีอิทธิพลที่ทำให้สภาพทางจิตใจของทาสและข้าไพร่ยึดมั่นในทัศนะนั้นเหนียวแน่นขึ้น และเมื่อได้ถ่ายทอดเป็นมรดกสืบมาหลายชั่วคนก็เป็นทัศนะที่เกาะแน่นอยูในหมู่ชนส่วนหนึ่งหรือส่วนมาก สมดังที่ปรัชญาหลายสำนัก(รวมทั้งสำนักมาร์กซ์-เลนิน) กล่าวไว้ว่า ทฤษฎีหรือทัศนะใดเกาะแน่นอยู่ในหมู่ชนใด ก็มีพลังที่สะท้อนกลับไปสู่สภาพเศรษฐกิจและการเมืองของระบบนั้นเอง อันทำให้ระบบสังคมนั้นดำรงอยู่ได้

ทาสและข้าไพร่ที่เชื่องแล้วและที่เกาะแน่นในทัศนะดังกล่าวนั้น ก็กลายเป็นสมุนที่ดีของเจ้าทาสและเจ้าศักดินาที่สามารถใช้ทาส และข้าไพร่นั้นเองเป็นลูกมือต่อสู้ทาสและข้าไพร่ส่วนที่ต้องการอิสรภาพ ตัวอย่างในประวัติศาสตร์มีมากหลาย ผมขออ้างตัวอย่างบางประการพอเป็นอุทาหรณ์ดังต่อไปนี้

ขบวนการปลดแอกทาสนำโดยสปาตาคุสดังที่ผมได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ต้องพ่ายแพ้แก่ฝ่ายเผด็จการทาส เพราะเจ้าทาสได้อาศัยทาสที่เชื่องแล้วเป็นกำลังสนับสนุนเกื้อกูลกำลังทหารของเจ้าทาส ทำการปราบปรามขบวนการปลดแอกทาส

ประวัติศาสตร์สงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกาเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ก็แสดงว่าคนนิโกร ทาสจำนวนหนึ่งในรัฐภาคใต้ของ ส.ร.อ. กลับร่วมกับเจ้าทาสทำสงครามกับรัฐภาคเหนือซึ่งต้องการให้ทาสเป็นอิสระ

ค.ทัศนะทาสและศักดินาได้ก่อให้เกิดความรู้สึกเหยียดหยามระหว่างมนุษย์ในสังคมเดียวกันด้วย คือฝ่ายเจ้าทาสและเจ้าศักดินาก็เหยียดหยามทาสและข้าไพร่ว่า เป็นคนเลวทรามอยู่ในอันดับต่ำหรือวรรณะต่ำของสังคม ส่วนทาสและข้าไพร่จำพวกที่เป็นสมุนของเจ้าทาสและเจ้าศักดินาก็พลอยมีความรู้สึกเหยียดหยามทาสและข้าไพร่ที่มิใช่สมุนของเจ้าทาสและเจ้าศักดินา ฝ่ายข้าไพร่ที่เป็นนายทุนศักดินาก็ทรงตนว่าเป็นคนมั่งมี เหยียดหยามข้าไพร่ส่วนมากที่เป็นคนยากจน

จากพื้นฐานความรู้สึกนี้ภายในสังคมก็พัฒนาไปสู่ทัศนะที่สังคมหนึ่งถือตนว่าเป็นใหญ่กว่าสังคมอื่นที่มีพลังน้อยกว่าและเหยียดหยามสังคมที่เป็นเมืองขึ้น หรือเมืองออกที่ต้องส่งบรรณาการ ทัศนะคลั่งเชื้อชาติ (RACISM) และคลั่งชาติ (CHAUVINISM) จึงเกิดขึ้น