Sunday, March 4, 2007

บทความที่ ๘๐. มายาคติ

มายาคติ

บทเรียนจากการลุกฮือของประชาชนชาวอินเดียนับล้าน ๆ คน เพื่อเรียกร้องเอกราชในการปกครองตนเอง ทำให้นักการศึกษาชนชั้นปกครองในหลายประเทศได้ใช้เป็นแบบศึกษาถึงความสำเร็จของการใช้มวลชนเป็นแรงขับ-เคลื่อนไหวในการเรียกร้อง เพื่อหาวิธีที่จะสะกัดหรือสลายกำลังของมวลชนไม่ให้เกิดขึ้นกับประเทศของตน ไม่น่าเชื่อเลยว่าประเทศที่ด้อยพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมประเทศหนึ่งในเอเชียอาคเนย์ ในหมู่ชนชั้นปกครองจะมีนักวางแผนที่หลักแหลมลึกซึ้ง สามารถวางแผนการครอบงำประชาชนตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อนจนมาถึงทุกวันนี้ โดยสร้างมายาคติของรัฐขึ้นมา สร้างกลุ่มองค์กรในชุมชน ทั้งการกำหนดตัวผู้นำย่อยในชุมชนและการสร้างกลุ่มองค์กรในชื่อต่างๆกัน กลุ่มจัดตั้งเหล่านี้ซึ่งรับนโยบายจากส่วนกลางลงมาให้เป็นหูเป็นตา จะคอยรายงานและนำเสนอข้อมูลของชุมชนนั้นๆกลับไปยังส่วนกลาง ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์แก่นักวางแผนส่วนกลางเพื่อวิเคราะห์ว่าชุมชนใดมีแนวความคิดเอนเอียงออกจากการครอบงำ-ครอบคลุมเพียงใด หากเห็นว่าชุมชนใดจะเป็นปัญหาแก่แผนการของตน นักวางแผนเหล่านี้ก็จะมีมาตรการต่างๆ ตั้งแต่ล่อใจด้วยการแจกวัตถุสิ่งของไปจนถึงการให้รางวัลแก่ชุมชนข้างเคียง เพื่อลูบหลังว่าชุมชนที่ทำตามแผนนโยบายที่วางไว้ นี่คือชุมชนตัวอย่างและจะได้รับรางวัลจากการเป็นชุมชนหัวอ่อนว่าง่าย จึงเป็นการสร้างให้เกิดการแข่งขันกันเพื่อที่ชุมชนตนเองจะได้รับการลูบหลังและจะได้รับรางวัลกับเขาบ้าง หลักการนี้น่าจะเกิดจากอังกฤษผู้มากเล่ห์ในการปกครองดินแดนอาณานิคมทั้งหลายนำมาใช้ คือหลักที่เรียกว่า Divide and rule (แบ่งแยกแล้วปกครอง)

พวกนักวางแผนส่วนกลางเหล่านี้ จะใช้วิธีทำให้ชุมชนที่เริ่มจะเข้มแข็งให้แบ่งแยก แข่งขันกันเอง ไม่ให้สามัคคีกันเกินไป เพื่อที่จะได้ปกครองโดยง่าย ส่วนมาตรการรุนแรงหรือที่เรียกว่า เชือดไก่ให้ลิงดู ก็เริ่มจากการแบ่งโซนลงไปในแผนที่การปกครองว่า โซนนี้สีแดง อันหมายถึงอันตรายต่อนโยบายการปกครอง และหากยังไม่อาจจะเปลี่ยนสี(ที่นักวางแผนกำหนดกันเอง)ของชุมชน ก็ใช้กำลัง เข้าปราบปรามอย่างป่าเถื่อน รุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐

หากมองในแง่ของชาวบ้านในชุมชนแล้ว การที่พวกเขาได้รับเศษเสี้ยวความเจริญลงมาจากส่วนกลางคือ ถนน ไฟฟ้า อ่างเก็บน้ำ ฯลฯ ก็เป็นไปเพียงเพื่อให้เขาพอยังอัตภาพเป็นไปได้เท่านั้น ไม่ใช่เพื่อให้ชุมชนที่ยากจนทั้งหลายได้ก้าวหน้าขึ้น เพราะงบประมาณของแผ่นดินควรจะต้องนำมาใช้เพื่อประชาชนส่วนใหญ่ คือ ประชาชนที่ยากจนค่นแค้นทั้งหลายเหล่านี้ให้ได้ก้าวขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกับคนในเมือง นักวางแผนส่วนกลางไม่ต้องการให้ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลง พัฒนาไปในทิศทางที่ไม่สอดคล้องกับแผนการ กล่าวคือ ชุมชนใกล้กันไม่ควรจะก้าวหน้าไปเร็วกว่าชุมชนอื่น ถึงแม้ว่าประชาชนในชุมชนนั้นจะมีศักยภาพที่สามารถจะลงมือทำหรือเรียกร้องสิทธิบางประการจากผู้มีอำนาจเพื่อให้ชุมชนของตนก้าวหน้าขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งนี้เพราะชุมชนที่ก้าวหน้าเร็วโดยการพัฒนาตนเองหรือโดยงบที่ส่งลงไป จะทำให้เกิดการแข่งขันและเรียกร้องเอาสิทธิอย่างนั้นบ้างจากผู้ปกครองและนั่นผิดไปจากแนวทางการหลักปกครองที่พวกนักวางแผนส่วนกลางได้รับการศึกษามาอย่างดีจากประเทศจักรวรรดิสมัยใหม่ สหรัฐอเมริกา

วิธีการเข้าแทรกแซงเพื่อลดความก้าวหน้าของชุมชนเป็นวิธีการหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาใช้แทรกแซงประเทศในแถบอเมริกากลางเกือบทุกประเทศ เพราะหากประเทศใดที่ได้มาซึ่งความก้าวหน้าของประชาชนส่วนใหญ่ อย่างเช่น ความสำเร็จกบฏแซนดินิสต้าในนิคารากัวที่โค่นล้มเผด็จการโซโมซาลงเมื่อปี ๒๕๒๒ ทำให้อเมริกาต้องเข้าแทรกแซงเพื่อไม่ให้นิคารากัวก้าวหน้าไปกว่านี้อันจะเป็นตัวอย่างให้ประเทศที่มีสภาพเหมือนกันนำไปใช้เป็นตัวอย่าง และนั่นจะทำให้อเมริกาถูกปิดล้อมด้วยประเทศสังคมนิยม !!!

ดูเรื่องการปฏิวัติในคารากัวได้ที่ http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_3124.html

ชุมชนในประเทศด้อยพัฒนาแห่งเอเชียอาคเนย์ประเทศนี้ จึงมีลำดับชั้นการปกครองทั้งในตรงและทางอ้อม เป็นลำดับๆ หลายชั้น สลับซ้อนซึ่งมีแต่จะกดให้ชาวบ้านอยู่ในกรอบของมายาคติของรัฐ จึงไม่ต้องไปคิดถึงการที่นักวางแผนส่วนกลางจะกระจายอำนาจปกครองไปให้ประชาชน เพราะกว่าที่จะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ เวลาก็ผ่านไปหลายสิบปีหลังจากที่นักวางแผนส่วนกลางวิเคราะห์แล้วว่า การให้อำนาจเล็กๆน้อยๆ อย่างนี้จะไม่มีผลร้ายต่อมายาคติของรัฐ

ต่อมาเมื่อผู้นำระดับประเทศท่านหนึ่ง ผู้ที่ประชาชนเลือกเข้ามาด้วยเสียงส่วนใหญ่ของประเทศให้เข้ามาทำหน้าที่ที่ผู้นำทุกคนควรจะทำ เขาเพียงนำเศษเสี้ยวของอำนาจและผลประโยชน์ที่ประชาชนควรจะได้มาเนิ่นนานแล้ว แต่แม้เพียงแค่เศษเสี้ยวของความเท่าเทียมกันทางผลประโยชน์ของชาติที่ประชาชนได้รับ ประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกเขาเข้ามาก็รักใคร่และเคารพตัวแทนของพวกเขาที่เปิดหูเปิดตาเปิดความคิดให้แก่พวกเขาได้รู้ว่า การอยู่อย่างเท่าเทียมกันโดยความเป็นคน โดยความเป็นประชาชนในชาตินั้นเหมือนๆกันนั้น มันมีรสชาติที่น่าปรารถนาเพียงใด

แต่เพียงไม่นาน ผู้นำท่านนี้ผู้ที่มีความปรารถนาดีที่จะผันสายธารแห่งผลประโยชน์กลับไปให้ประชาชนได้ดื่มกินบ้าง ก็กลายเป็นคนที่คนชั้นสูง นักวางแผนส่วนกลาง นักการเมืองอนุรักษ์นิยม นักวิชาการหัวอนุรักษ์นิยม กลุ่มทหารบ้าอำนาจ กระหายเลือด เจ้าพ่อสื่อมวลชนและกลุ่มสำนักพิมพ์หนังสือพิมพ์ทั้งหลายที่ใจคดต่อประชาชน คดต่อจรรยาบรรณ ได้รุมกันกล่าวหาว่า ผู้นำประชาชนคนนี้เป็นเผด็จการ โกงกิน แต่ที่กลุ่มคนเหล่านี้ไม่บอกออกมาตรงๆก็คือ พวกเขาไม่พอใจที่ผู้นำคนนี้นำเอาผลประโยชน์จากเงินภาษีที่กลุ่มพวกเขาได้จ่ายให้รัฐเป็นจำนวนมาก(แต่ไม่พูดถึงผลผลประโยชน์ที่กลุ่มพวกเขาได้จากรัฐมาเนิ่นนานเพียงใด)ไปให้คนจนที่ไม่เคยสร้างรายได้อะไร นอกจากจะอยู่ด้วยการขอสิ่งต่างๆจากเงินภาษีของกลุ่มพวกตน

กลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้ประณามผู้นำคนนี้ว่าได้ทำสิ่งเลวร้ายที่เรียกว่า ประชาชนนิยม อันหมายถึงการทำให้ประชาชนนิยมในตัวผู้นำ ที่นำเงินภาษีจากคนรวยไปสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนที่ยังยากจนและลำบากให้ได้รับผลประโชน์จากเงินภาษีนี้บ้าง สารพัดถ้อยคำและข้อกล่าวหาซึ่งก็ยังไม่สามารถจะพิสูจน์จริงๆจังๆอะไรได้เลย

ผู้นำท่านนี้จึงตกอยู่ในฐานะที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เขาได้ปลุกประชาชนให้ตื่นขึ้น(โดยไม่ตั้งใจ)จากภาพลวง จากมายาคติที่ครองงำแผ่นดินมาหลายสิบปี มารวมตัวกันเรียกร้องการปกครองที่ก้าวหน้ากว่า แต่การณ์จะดำเนินไปเช่นไร ประชาชนในประเทศด้อยพัฒนานี้จะเป็นผู้กำหนดเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นอารยประเทศ

No comments: