Friday, March 2, 2007

บทความที่ ๗๗. ประว้ติศาสตร์อินเดีย (๔) - อังกฤษครองความเป็นใหญ่เหนือแผ่นดินอินเดีย

อินเดีย-ประวัติศาสตร์ที่ต้องศึกษา
การเข้าสนับสนุนพวกเจ้าอินเดียในการแย่งชิงอำนาจ

ดังที่กล่าวแล้วถึงการอาณาจักรเล็กๆในอินเดียจำนวนมากพยายามแย่งชิงความเป็นใหญ่ เช่นการที่พวกมาราธาเข้ารุกรานนิซามแห่งแคว้นไฮเดอราบัด และพวกเจ้าก็แย่งชิงตำแหน่งนิซามแห่งไฮเดอราบัดกันเอง ดูเปลซ์ชาวฝรั่งเศสผู้มีความสามารถประเมินสถานการณ์อย่างปรุโปร่ง ได้มองเห็นช่องทางที่จะขับไล่อิทธิพลของอังกฤษออกไปอินเดีย จึงได้ใช้กองทหารซีปอย (Sepoy : ทหารรับจ้างชาวพื้นเมือง มีทั้งมุสลิมและฮินดู บริษัทฝรั่งเศสได้เริ่มนำทหารซีปอยมาฝึกหัดตามยุทธวิธีแบบยุโรป เพื่อใช้ในกองทัพของฝรั่งเศสในอินเดีย ต่อมาอังกฤษก็นำวิธีดังกล่าวมาใช้เช่นกัน) ที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้น สนับสนุนพวกเจ้าอินเดียที่เป็นคู่แข่งกันอีกเจ้าฝ่ายหนึ่ง เขาจึงเข้าไปเกี่ยวพันกับความผันผวนยอกย้อนทางการทูตในระหว่างเจ้าอินเดีย ในที่สุดฝรั่งเศสก็ส่งทหารมาค้ำจุนบัลลังก์ของนิซามแห่งไฮเดอร์ราบัด นับแต่นั้นฝรั่งเศสก็ให้ความสนับสนุนแก่แคว้นอินเดียโดยตรงเพื่อความอยู่รอดของเจ้าผู้ครองแคว้น ฝรั่งเศสยังได้เข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบายต่างๆของเจ้าอินเดีย ความสำเร็จเกิดขึ้นจากความเชี่ยวชาญทางการทูตและการควบคุมเชิดหุ่นเจ้าผู้ครองแคว้น (น่าสังเกตว่าวิธีการเชิดหุ่นผู้นำให้ดำเนินนโยบายไปตามที่ผู้เชิดต้องการเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้แก่ผู้เชิดแลกกับความมั่นคงของตำแหน่งผู้นำ เป็นวิธีการที่ประเทศที่มีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวนำมาใช้จนกระทั่งทุกวันนี้ โดยเฉพาะกับประเทศที่ผู้นำมีความอ่อนแอหรือมีจุดอ่อนให้ผู้เชิดหุ่นสามารถเข้าครอบงำบงการได้)

การสิ้นสุดอำนาจของฝรั่งเศสในอินเดีย

บริษัทฯอังกฤษได้รับบทเรียนจากวิธีการเข้าสนับสนุนเจ้าผู้ครองแควันให้รบพุ่งกับเจ้าแคว้นอื่นของฝรั่งเศส ซึ่งทำให้ผลประโยชน์ของอังกฤษต้องเสียไปไม่น้อย บริษัทฯอังกฤษจึงย้อนรอยเอาคืนฝรั่งเศสโดยใช้วิธีการเดียวกันโดยสนับสนุนทางทหารให้แก่โมฮัมหมัด อาลี ลูกชายของนะวอบแห่งแคว้นคาร์เนติกที่ถูกฝรั่งเศสโค่นล้มและหลบไปยังเมืองทริชิโนโปลีทางตอนใต้ของคาบสมุทรอินเดีย จันดา ซาฮิบ นะวอบแห่งแคว้นคาร์เนติกคนใหม่ที่ฝรั่งเศสสนับสนุน พร้อมด้วยกำลังทหารฝรั่งเศสจึงยกทัพไปล้อมเมืองนี้ไว้เพราะต้องการจะจับนะวอบคนเก่าที่เสียอำนาจให้ได้

โรเบิร์ต ไคลฟ์เสมียนของบริษัทฯชาวอังกฤษนักวางแผนจึงเสนอแผนการให้บริษัทฯอังกฤษแก้เกมโดยการยกทัพไปตีเมืองอาร์คอตซึ่งเป็นที่ตั้งราชสำนักของแคว้นคาร์เนติก ซึ่งอังกฤษก็ตีเมืองแตกได้ในปี ค.ศ. ๑๗๕๑ โดยไม่ยากเย็นอะไร(เพราะกองกำลังทหารของแคว้นยกไปล้อมเมืองทริชิโนโปลี) ทำให้จันดา ซาฮิบต้องยกทัพกลับมากู้เมืองหลวงของตน โรเบิรต ไคลฟ์และทหารของบริษัทฯอังกฤษทำการสู้รบจนสุดความสามารถนานถึง ๕๓ วัน จนทหารฝ่ายจันดา ซาฮิบที่ล้อมเมืองอยู่ต้องพ่ายแพ้ไป และในปีนั้นเจ้าผู้ครองแคว้นไมซอร์ ตันจอร์ และพวกมาราธาก็นำกำลังมาช่วยโมฮัมหมัด อาลีและบริษัทฯอังกฤษ จนในที่สุดก็สามารถแต่งตั้งโมฮัมหมัด อาลีให้เป็นนะวอบแห่งคาร์เนติกแทน จันดา ซาฮิบที่ฝรั่งเศสสนับสนุนได้ การพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสในครั้งนั้นทำให้โรเบิร์ต ไคลฟ์กลายเป็นผู้มีชื่อเสียงและมีความสำคัญขึ้นมาอย่างรวดเร็วและเขาเป็นผู้มีบทบาทในการสร้างจักรวรรดิอังกฤษในอินเดียในเวลาต่อมา

ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๗๕๖ อังกฤษกับฝรั่งเศสก็เปิดศึกสงครามกันอย่างมโหฬาร ทั้งในยุโรป อเมริกา และในอินเดีย ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีอาณานิคมอยู่ สงครามครั้งใหญ่นี้กินเวลาถึง ๗ ปี ซึ่งสงครามในอินเดียฝรั่งเศสได้สูญเสียเมืองท่าสำคัญคือเมืองปอนดิเชอรีหลังจากถูกอังกฤษล้อมอยู่เป็นเวลานาน และแม้ว่าอังกฤษจะต้องคืนเมืองนี้ให้กับฝรั่งเศสตามสนธิสัญญาสงบศึก (สนธิสัญญาปารีส)ซึ่งสงครามยุติลงในปี ค.ศ. ๑๗๖๓ ฝรั่งเศสก็ต้องรื้อถอนป้อมค่อยและถอนกำลังทหารออกไปจากอินเดีย โดยมีสิทธิเพียงค้าขายในอินเดียได้เท่านั้น และแล้วฝรั่งเศสก็ไม่เป็นภัยแก่อังกฤษอีกต่อไป


รัฐบาลอังกฤษเข้าควบคุมบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ

ภายหลังสงคราม ๗ ปีอังกฤษ-ฝรั่งเศสยุติลงในปี ค.ศ. ๑๗๗๓ นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้พิจารณาปัญหาการขยายอำนาจของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน รัฐบาลอังกฤษไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง ต่างกับบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสที่รัฐบาลฝรั่งเศสเป็นผู้ลงทุนโดยตรง) โดยเฉพาะการขยายอำนาจในแคว้นเบงกอล ซึ่งพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่บริษัททำความเสื่อมเสียให้แก่รัฐบาลอังกฤษเป็นอย่างมาก รัฐบาลอังกฤษจึงออกพระราชบัญญัติปกครองอินเดีย ค.ศ. ๑๗๗๓ โดยมีสาระสำคัญๆ คือ การปกครองและบริหารดินแดนรวมทั้งรายได้ของบริษัทฯจะต้องอยู่ในอำนาจของข้าหลวงใหญ่ที่กัลกัตตา โดยมีผู้ช่วย ๔ คนเป็นคณะที่ปรึกษา ซึ่งทั้งข้าหลวงใหญ่และคณะที่ปรึกษาล้วนมาจากการแต่งตั้งของคณะกรรมการบริษัทฯ จาก พ.ร.บ. ปกครองอินเดีย ๑๗๗๓ นี้ ทำให้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาอังกฤษจึงส่งข้าหลวงใหญ่ไปประจำที่อินเดียเพื่อดูแลผลประโยชน์ต่างๆของอังกฤษ

ในช่วงต้นของการส่งข้าหลวงใหญ่ไปประจำที่อินเดีย ซึ่งการเมืองภายในอินเดียขณะนั้นมีกลุ่มอำนาจ ๔ กลุ่มใหญ่คือ บริษัทฯอังกฤษในแคว้นเบงกอล มัทราส และบอมเบย์, สมาพันธรัฐมาราธาในอินเดียกลาง,นิซามแห่งไฮเดอราบัดในแถบเดคคาน และ ไฮดาร์ อาลีแห่งแคว้นไมซอร์ในอินเดียใต้ อังกฤษพยายามจะรักษาความเป็นกลางไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการแก่งแย่งชิงความเป็นใหญ่ของเจ้าผู้ครองแคว้นทั้งหลาย แต่เมื่อเจ้าผู้ครองแคว้นทั้งหลายรบพุ่งกันและอังกฤษเห็นว่าดินแดนที่ติดกับเมืองที่มีผลประโยชน์ของอังกฤษอยู่จะได้รับผลกระทบไปด้วย อังกฤษจึงไม่อาจจะรักษาความเป็นกลางไว้ได้และจำเป็นต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมทุกอย่างเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนไว้ เช่นการเป็นพันธมิตรกับกลุ่มที่จะเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของอังกฤษน้อยที่สุด

ต่อมารัฐบาลอังกฤษก็ได้ติดตามพฤติการของบริษัทฯ และได้ออก พ.ร.บ.ปกครองอินเดียออกมาอีกฉบับหนึ่งในปี ๑๗๘๔ มีสาระคือรัฐบาลอังกฤษจะแต่งตั้งตัวแทนรัฐบาลเรียกว่าสภาควบคุม เพื่อเข้าไปดูแล กำหนด ควบคุมการกระทำอันเกี่ยวกับรายได้ที่เกิดจากดินแดนของอังกฤษในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก ซึ่งในเวลาต่อๆมารัฐบาลอังกฤษก็ได้ออก พ.ร.บ. ปกครองอินเดียออกมาเรื่อยๆซึ่งลดบทบาทของคณะกรรมการของบริษัทฯลงเรื่อยๆ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวนโยบายของข้าหลวงใหญ่ประจำอินเดียซึ่งคณะกรรมการบริษัทฯเป็นผู้แต่งตั้งนั้น ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวและใช้สารพัดวิธีจนสามารถลดจำนวนทหารของเจ้าผู้ครองแคว้นกลุ่มต่างๆลงและต้องพึ่งพิงแก่อังกฤษ และในที่สุดของปลายคริสตศวรรษที่ ๑๘ อังกฤษก็สามารถครองความเป็นใหญ่เหนือเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆได้ทั้งหมด แต่ก็ยังคงตำแหน่งเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆไว้ตามเดิมเพื่อให้ปกครองประชาชนในอาณาจักรของตน อันเป็นการแบ่งเบาภาระแก่อังกฤษในปกครองประชาชนจำนวนมาก

No comments: