Thursday, March 1, 2007

บทความที่ ๗๔. ประวัติศาสตร์อินเดีย (๑) - จากยุคเริ่มจนมุสลิมปกครอง

อินเดีย-ประวัติศาสตร์ที่ต้องศึกษา

ชื่ออินเดีย

อินเดีย (India) มาจากคำว่า “สินธุ” (Sindhu) ในภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นชื่อของแม่น้ำสายสำคัญทางตะวันตกเฉียงเหนือของอนุทวีปอินเดีย ชาวเปอร์เซียได้เรียกกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุว่า ชาวฮินดู (Hindu) ซึ่งเป็นคำเรียกแม่น้ำสินธุนั่นเอง และเรียกดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำสินธุว่า ฮินดูสถาน (Hindustan) ต่อมาชาวกรีกซึ่งยกทัพเข้ามาปกครองดินแดนแถบนี้ได้เรียกชาวฮินดูด้วยสำเนียงของพวกตนว่า อินโดส (Indos) และเรียกแม่น้ำสินธุว่า อินดุส (Indus) และเป็นอินเดียในที่สุด

ในช่วงเวลาที่ชาวฮินดูขยายอาณาเขตของตนออกไป คำว่าอินเดียจึงหมายถึงดินแดนที่กว้างขวางขึ้นเป็นลำดับ จนเป็นชื่อเรียกอนุทวีปและเป็นชื่อที่คนต่างชาติเรียกว่าประเทศอินเดีย แต่คนอินเดียนั้นเรียกประเทศของตนว่า “ภารตวรรษ” อันหมายถึงดินแดนของชาวภารตะ เพราะคนอินเดียถือว่าตนสืบเชื้อสายมาจากท้าวภรต กษัตริย์องค์แรกในนิยายปรัมปรา-มหาภารตะ

ภูมิหลังของอินเดีย

จากหลักฐานโบราณคดีปรากฏว่ามีชุมชนเกิดขึ้นในอนุทวีปอินเดียตั้งแต่ราว ๓,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์กาล ในเวลาต่อมาอารยธรรมเมืองได้เจริญขึ้นมากในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุในช่วงราว ๒,๕๐๐-๑,๕๐๐ ปี ก่อนคริสต์กาล อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุได้รุ่งเรืองและมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ต่อมาอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุได้ล่มลงเพราะถูกรุกรานจากพวกอารยัน (Aryan) ซึ่งเป็นเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ที่อพยพจากตอนใต้ของรัสเซียเข้ามาในดินแดนยุโรป เมโสโปเตเมียและอินเดียในที่สุด ชาวอารยันแม้จะยังไม่เจริญเท่ากับชาวลุ่มน้ำสินธุ แต่พวกเขาก็มีเครื่องใช้และอาวุธที่ก้าวหน้ากว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกอารยันรู้จักใช้ม้าในการรบซึ่งชาวสินธุยังไม่รู้จัก

และในราว ๑,๕๐๐ ก่อนคริสต์กาลพวกอารยันก็เข้ายึดครองดินแดนลุ่มแม่น้ำสินธุจากเจ้าของเดิมคือพวก ดราวิเดียน (Dravidian) ต่อมาก็ทอนพวกชนพื้นเมืองเหล่านี้ลงเป็นทาสของพวกตนและเรียกพวกทาสเหล่านี้ว่า ทัสยุ หรือ มิลักขะ

ระบบวรรณะ

พวกอายันหรือที่เรียกว่า อินโด-อารยัน เป็นกลุ่มชนที่มีรูปร่างสูงใหญ่ ผิวขาว จมูกโด่ง ศรีษะยาว ผมมีสีอ่อน พวกนี้ใช้ภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียน ซึ่งเป็นที่มาของภาษาสันสกฤต และภาษาอื่นๆที่ใช้ในอินเดียในปัจจุบัน พวกอินโด-อารยันได้ขยายการครอบครองดินแดนจากทางตะวันตกเฉียงเหนือของอนุทวีปอินเดียลงมาจนถึงปัญจาบและที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคา จนถึงราว ๙๐๐ ปีก่อน ค.ศ. พวกอินโด-อารยันก็ได้เข้ามาถึงแถบที่ราบสูงเดคคานตอนกลางของอินเดีย ในการรุกคืบไปข้างหน้า ชาวอารยันได้บังคับพวกทาสคือพวก มัสยุหรือมิลักขะให้ทำการงานต่างๆให้แก่ตน

ต่อมาเมื่อพวกอารยันได้ตั้งถิ่นฐานมั่นคงอย่างถาวร เริ่มทำไร่ไถ่นา และเมื่อประมาณ ๖๐๐ ปีก่อน ค.ศ. พวกอารยันก็เริ่มตั้งเป็นอาณาจักรเล็กๆ มีราชธานีเป็นศูนย์กลางและมีราชาเป็นผู้นำในการปกครอง ราชาจะมาจากความเห็นชอบของที่ประชุมนักรบ โดยมีปุโรหิตหรือนักบวชของตระกูลเป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษากิจการงาน

พวกอินโด-อารยันได้เปลี่ยนแปลงความเชื่อทางศาสนาซึ่งแต่เดิมยึดตามคัมภีร์พระเวท มาเป็นพิธีที่มีความสลับซับซ้อนจนสร้างความสำค้ญให้กับกลุ่มคนที่มีหน้าที่ทำพิธี ซึ่งต่อมากลุ่มคนผู้มีหน้าที่ทำพิธีได้สร้างเทพเจ้าในชื่อต่างๆกันขึ้นมาหลายองค์ เช่น พระพรหม พระศิวะ พระวิษณุ เป็นต้น ซึ่งการบูชาเทพเจ้าที่สร้างขึ้นเหล่านี้เป็นที่มาของศาสนาฮินดูในเวลาต่อมา

เมื่อล่วงเข้าสู่ปลายสมัยพระเวทคือประมาณ ๙๐๐-๕๐๐ ปีก่อน ค.ศ. ก็มีระบบวรรณะเกิดขึ้น ซึ่งแรกเริ่มนั้นมีเพียง ๓ ระดับคือกษัตริย์(กลุ่มทหาร-ผู้ปกครอง)พราหมณ์(นักบวช-ครู)และแพทศย์(พ่อค้าสามัญชน)ซึ่งเป็นเพียงการจัดระบบสังคมให้คนทำตามหน้าที่ และวรรณะของคนในสังคมก็ไม่ได้ติดยึดติดตามตัวบุคคลเหมือนกับระบบวรรณะในเวลาต่อมา ต่อมาพวกอารยันได้สู้รับกับพวกมิลักขะหลายครั้ง จึงเริ่มที่จะเน้นที่ความบริสุทธิ์ของสายเลือดมากขึ้น การแบ่งชั้นวรรณะจึงเข้มงวดและซับซ้อนมากขึ้นและในเวลาต่อมาพวกพราหมณ์ได้ริเริ่มสร้างระเบียบแบบแผนทางสังคมเพื่อจะรักษาความสำคัญของหน้าที่ของพวกตนให้สืบทอดไปสู่ลูกหลาน จึงได้กลายเป็นมาระบบวรรณะที่แบ่งคนตามการถือกำเนิดเป็น ๔ วรรณะดังในปัจจุบัน

อาณาจักร

อนุทวีปอินเดียมีความรุ่งเรืองทางศาสนาสูงสุดในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพและหลังการปรินิพพานไปจนถึงประมาณ พ.ศ. ๓๐๐ แต่ในทางการปกครองแล้วอาณาจักรในอินเดียก็มีวัฒนาการคล้ายๆกับอาณาจักรในแผ่นดินจงกว๋อ (จีน) คือเป็นการต่อสู้ แก่งแย่ง เข่นฆ่า ระหว่างแคว้นกับแคว้นหรือเป็นการต่อสู้กันเองของพี่-น้องเพื่อแย่งราชบัลลังก์ แต่ในบางช่วงเวลาก็จะปรากฏพระจักรพรรดิที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่อาณาจักรและมวลประชาราษฎร ดังเช่นในช่วงปี ๒๗๓-๒๓๒ ก่อน ค.ศ. อันเป็นรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช กรณียกิจที่สำคัญในรัชสมัยของพระองค์ไม่ใช่การขยายอาณาเขตให้แผ่ไพศาลไปทั่วอินเดีย แต่เป็นเรื่องที่พระองค์ทรงเป็นพระอัครศาสนูปถัมภกที่ยิ่งใหญ่แก่พระพุทธศาสนา ในรัชสมัยของพระองค์การมีการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๓ นับแต่พระผู้มีพระภาคทรงปรินิพพาน อีกทั้งพระองค์ยังทรงดำริให้จัดสร้างเสาจารึกประกาศเกี่ยวแก่กรณียกิจของพระองค์ ที่สำคัญคือเสาที่จารึกเกี่ยวกับกรณียกิจทางพุทธศาสนาที่กลายเป็นหลักฐานแก้ความสงสัยให้แก่นักโบราณคดีในอีก ๒,๐๐๐ ปีหลังจากนั้นได้ทราบว่าพระองค์มีตัวตนอยู่จริงๆและเชื่อมโยงไปถึงว่าพระพุทธเจ้าก็มีอยู่จริง (แต่เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใดเลยสำหรับพุทธศาสนิกชนที่ได้ศึกษาคำสอนจนมีศรัทธาและเชื่ออย่างมั่นคงในพระรัตนตรัย) กรณียกิจทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งของจักรพรรดิอโศกมหาราช ก็คือทรงอุปถัมภ์ให้พระพุทธศาสนาได้เผยแผ่ในดินแดนไกลโพ้นถึง ๙ เส้นทาง พระพุทธศาสนาจึงยังคงตั้งมั่นอยู่ในหลายประเทศมาจนถึงทุกวันนี้

แต่สัจจธรรมของสังคมก็คือการเจริญและเสื่อมทราม แม้ราชวงศ์ใดๆก็ไม่พ้นจากสัจจธรรมนี้ไปได้ ราชวงค์โมริยะของพระเจ้าอโศกมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ก็ค่อยเสื่อมอำนาจลงราชวงศ์กุษาณะของพระเจ้ากนิษกะจากทางตอนเหนือของอินเดียก็ถูกสถาปนาขึ้นแทน เมื่อราชวงศ์กุษาณะเสื่อมกำลังลงและอินเดียภาคเหนือก็ไม่สามารถรวมกันได้ จนมาถึงสมัยของราชวงศ์คุปตะมีอำนาจปกครองในช่วง ค.ศ.๓๒๐-๕๕๐ ซึ่งในสมัยนี้ถือเป็นยุคทองแห่งศิลปวิทยา เพราะอินเดียมีความเจริญรุ่งเรืองในทางศิลปกรรมมีการสร้างพระพุทธรูปด้วยสำริดเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีความเจริญทางวรรณคดี วิทยาศาสตร์ ปรัชญาในสมัยคุปตะนี้พวกพราหมณ์ได้ปรับปรุงแต่งเสริมคัมภีร์พระเวทเป็นอันมากเพื่อให้กลับมายึดครองจิตใจประชาชน จึงปรากฏว่าศาสนาฮินดูได้เริ่มกลับมามีอิทธิพลเหนือจิตใจชาวอินเดียมากขึ้นในขณะที่พุทธศาสนาเถรวาทก็ค่อยๆ เสื่อมสูญไปทีละน้อยๆ แต่พุทธศาสนามหายานกลับเข้มแข็งขึ้นและได้แผ่ไปสู่ดินแดนไกลโพ้นโดยหลวงจีนฟาเหียน (Fa-Hsien) จากแผ่นดินจีนผู้เดินรอนแรมมาเพื่อจะนำคัมภีร์ทางพุทธศาสนากลับไป บันทึกเรื่องราวเดินทางมายังอินเดีย ตลอดจนสิ่งต่างๆที่ท่านได้พบเห็นในอินเดียได้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ซึ่งเมื่อนำมาประกอบกับหลักฐานทางโบราณคดีจึงให้เราได้เห็นภาพความรุงเรืองของสมัยคุปตะได้แจ่มชัดขึ้น

ล่วงเข้าคริสตศวรรษที่ห้า ชนชาวฮั่นซึ่งเป็นชนเผ่าเร่ร่อนทางเอเชียกลางได้เข้ามารุกรานอินเดียทางภาคเหนือ ทำให้ราชวงศ์คุปตะสิ้นสุดลง และทำให้ผู้นำในหลายชนเผ่าพยายามรวบรวมอำนาจสร้างความเป็นใหญ่อีกครั้ง ผู้นำที่สามารถกลับมาสร้างอาณาจักรได้อีกครั้งคือ พระเจ้าหรรษา แต่ก็เป็นเพียงชั่วระยะสั้นๆ ค.ศ. ๖๐๖-๖๔๗ เมื่อสิ้นรัชกาลบ้านเมืองก็แตกระส่ำระสายดังเดิม ล่วงไปจึงถึงคริสตศวรรษที่ ๘ พวกราชปุต (Rajput) ได้ตั้งเป็นอาณาจักรเล็กๆ ขึ้นหลายแห่งและได้มีการปะปนเชื้อสายกับพวกรุกรานที่มาจากทางเอเชียกลาง พวกราชปุตมีนิสัยชอบรบพุ่งกันเอง ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ไม่สามารถจะรวมตัวกันต่อกับการรุนรานใหญ่ที่มาถึงในอีกไม่นาน

การรุกรานและปกครองของมุสลิม

ศาสนาอิสลามได้เข้ามายังอินเดียใน ค.ศ. ๗๑๒ เมื่อพวกอาหรับในตะวันออกกลางได้เข้ามามีอำนาจเหนือดินแดนลุ่มแม่น้ำสินธุตอนล่าง แต่ก็ไม่ได้แผ่ขยายเข้ามาในอินเดียภาคเหนือเพราะถูกพวกราชปุตทำการต่อต้านไว้ได้ พวกมุสลิมที่เข้ามารุกรานอีกพวกหนึ่งคือพวก อาฟฆานเตอร์ก (Afkan Turk) พวกนี้ได้เข้ามาปล้นสะดมภ์หลายครั้งในคริสตศวรรษที่ ๑๐ ต่อมาพวกอาฟฆานเตอร์กอีกพวกหนึ่งจากเมืองกอร์ ได้บุกเข้ามาจนมีชัยเหนือพวกราชปุตซึ่งตั้งเป็นสมาพันธรัฐแล้วใน ค.ศ.๑๑๙๒ การได้ชัยชนะเหนือสมาพันธรัฐของพวกราชปุตไม่ใช่เป็นเพราะความแตกแยกของพวกราชปุตเท่านั้นแต่เป็นเพราะมุสลิมอาฟฆานเตอร์กมีความชำนาญและเทคนิคการรบที่เหนือกว่า (เป็นความจริงอย่างหนึ่งที่ว่ากลุ่มชนที่มีนิสัยชอบการรบพุ่ง รุกราน มักจะมีจิตใจเหี้ยมหาญ ชอบเอาชัยอยู่เสมอ จึงเป็นพวกที่อยู่รอดได้ แต่กลุ่มชนที่รักสงบที่มีศิลปวัฒนธรรม มีอารยธรรมที่รุ่งเรืองก็จะล่มสลายไปเมื่อถูกรุกรานจากพวกอนารยชนที่นิยมการรุกราน นี่เองจึงอธิบายถึงการที่ถึงจักรวรรดินิยมในอดีตอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสมักจะออกทำสงครามรุกรานแผ่นดินของชนชาติอื่นเพราะนอกจากทรัพยากรที่มุ่งหวังแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นไม่ให้คนในชาติได้นิ่งสบายจนเกินไปจนเป็นความอ่อนแอ ซึ่งในปลายศตรรษที่ ๑๙ ก็ปรากฎชาติจักรวรรดินิยมที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้แก่ สหรัฐอเมริกา และดินแดนอาทิตย์อุทัยขององค์พระจักรพรรดิญี่ปุ่น เหล่านายทหารญี่ปุ่นได้ตระหนักว่าความรักสงบและการรบพุ่งกันเองภายในชาติจะนำมาซึ่งหายนะเมื่อถูกชาติที่เข้มแข็งกว่ารุกราน ญี่ปุ่นจึงเปิดฉากรุกรานชาติอื่นก่อน ชัยชนะเหนือกองทัพเรือของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ แห่งรัสเซียก็ทำให้ญี่ปุ่นยิ่งหึกเหิมในยาตราทัพรุกเข้าจีนยิ่งขึ้น แต่ในทางกลับกันความพ่ายแพ้ของกองทัพเรือรัสเซียก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่จุดชนวนให้ประชาชนลุกขึ้นโค่นล้มราชวงศ์ซาร์ที่ตกต่ำ เหลวแหลก ในเดือนตุลาคม ๑๙๑๗)

พวกเตอร์กได้ตั้งศูนย์กลางปกครองขึ้นที่เมืองเดลี และขยายอำนาจไปในภาคเหนือของอินเดียทั้งหมด ต่อมาในสมัยของพระเจ้าอลาอัลดิน คิลจิ (ค.ศ. ๑๒๙๖-๑๓๑๖) พวกมุสลิมก็ได้ชัยชนะเหนืออินเดียทั้งหมด และพระพุทธศาสนาก็สูญสิ้นไปจากแผ่นดินอินเดียนับแต่นั้น ! มีบันทึกของพวกมุสลิมที่บันทึกเหตุการณ์บุกเข้าเข่นฆ่าพระภิกษุและเผามหาวิทยาลัยนาลันทาว่า กว่าที่หนังสือในมหาวิทยาลัยนาลันทาจะถูกกองเพลิงเผาสิ้นซากก็ใช้เวลานานนับเดือน

แต่อาณาจักรกว้างใหญ่ไพศาลของพวกเตอร์กก็เริ่มแตกแยกในสมัยราชวงศ์ตุคห์ลัค ซึ่งขึ้นมาแทนราชวงศ์คิลจิ เมื่ออลาอัลดิน คิลจิถึงแก่กรรม ความแตกแยกเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นเมื่อถูกพวกมองโกล เข้ารุกรานนำโดยติมูร์หรือแทเมอร์เลน ในปี ค.ศ.๑๓๙๘ ติมูร์ได้บุกเข้าปล้นสะดมเมืองเดลี ที่เป็นศูนย์กลางของพวกมุสลิมเตอร์กในอินเดีย เข่นฆ่าฟันผู้คนเป็นจำนวนมาก จากนั้นเมื่อติมูร์นำทัพกลับไปยังเมืองซามาร์ฆานในอัฟกานิสถานแล้ว การปกครองของสุลต่านแห่งเดลีก็อ่อนแอลงมาก

การยึดครองอินเดียของพวกมุสลิมได้ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมซึ่งกันและกันเป็นต้นว่ามีการนำภาษาเปอร์เซียเข้ามาใช้ในราชสำนัก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นภาษาอูรดูซึ่งผสมผสานจากภาษาเปอร์เซีย สันสกฤต และอาหรับ ส่วนทางด้านศิลปกรรมก็มีการสร้างสุเหร่า พระราชวัง ฯลฯ ซึ่งผสมผสานศิลปของมุสลิมกับฮินดู ทางด้านศาสนาก็เกิดศาสนาใหม่ซึ่งนำหลักของศาสนาอิสลามกับฮินดูมาหล่อรวมกันเกิดเป็น ศาสนาสิกข์ นอกจากนี้ก็ยังมีการแลกเปลี่ยนทางวรรณคดี ปรัชญา ดาราศาสตร์ การแพทย์ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรมเหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนความเชื่อและศรัทธาของคนอินเดียส่วนใหญ่ไปจากศาสนาฮินดูเลย

ใน ค.ศ. ๑๕๒๖ ผู้รุกรานชาวเตอร์กกลุ่มใหม่ภายใต้การนำของบาบูร์ (Babur) ซึ่งถูกขับไล่มาจากเตอรกีสถานจนมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่คาบูล บาบูร์มีเชื้อสายสืบเนื่องมาจากนักรับชาวมงโกล เผ่าพงวงศ์วานของบาบูร์จึงมีชื่อเรียกว่า โมกุล (Moghul) ซึ่งมาจากคำว่ามองโกล บาบูร์ได้มีชัยชนะเหนือสุลต่านแห่งเลีในการรบที่เมืองปานิปัต ใน ค.ศ. ๑๕๒๖ และได้ตั้งตนเป็นใหญ่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคากินอาณาเขตไปจนถึงเมืองปัตนะ(ชื่อเดิมว่าเมืองปาฎลีบุตร) และสถาปนาราชวงศ์โมกุลขึ้นปกครองอินเดียสืบมายาวนานกว่า ๓๐๐ ปี

No comments: