Monday, March 5, 2007

บทความที่ ๘๓. ประวัตศาสตร์อินเดีย (๙) - การแบ่งแยกอินเดียและปากีสถาน

อินเดีย-ประวัติศาสตร์ที่ต้องศึกษา
การแบ่งแยกอินเดียและปากีสถาน

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง พรรคกรรมกรของอังกฤษ (Labour Party) ได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลใน ค.ศ. ๑๙๔๕ ได้ตัดสินใจที่จะมอบอำนาจการปกครองให้แก่รัฐบาลอินเดียที่รับผิดชอบต่อประชาชน ตามที่อังกฤษให้สัญญาไว้ในระหว่างสงคราม แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าจะเป็นรัฐบาลแบบใดจึงจะเป็นที่ยอมรับของคองเกรสแห่งชาติและสันนิบาตมุสลิม ในตอนแรกอังกฤษพยายามหลีกเลี่ยงการแบ่งแยกอินเดีย ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๔๖ อังกฤษได้ส่งคณะผู้แทนรัฐบาล มายังอินเดียเพื่อจัดการเจรจาตกลงกันระหว่างคองเกรสแห่งชาติกับสันนิบาตมุสลิม แต่ที่ประชุมไม่สามารถตกลงกันได้ คณะผู้แทนรัฐบาลอังกฤษจึงวางรูปแบบการปกครองตนเองของอินเดียให้แบบสหพันธ์ซึ่งรวมกันอย่างหลวมๆ โดยให้เสรีภาพแก่รัฐต่างๆเท่าที่จะทำได้ ส่วนรัฐบาลกลางมีอำนาจในการป้องกันประเทศ การต่างประเทศ และการคมนาคม นอกจากนี้ยังให้รัฐต่างๆมีสิทธิรวมตัวกันตั้งรัฐบาลของตนเอง ซึ่งแบ่งกลุ่มรัฐออกเป็น ๓ กลุ่มคือ

๑. กลุ่มตะวันตกเฉียงเหนือ ได้แก่ ปัญจาบ สินธ์ บาลูจิสถาน และพรมแดนตะวันตกเฉียงเหนือ
๒. กลุ่มตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เบงกอลตะวันออก และอัสสัม
๓. กลุ่มอินเดียฮินดู

รูปแบบการปกครองดังกล่าวเป็นความพยายามของอังกฤษที่จะรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียว กันของอินเดียไว้ แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ดินแดนที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่มีอำนาจปกครองตนเองพอ สมควร แต่ความพยายามนี้ล้มเหลวเนื่องจากสันนิบาตมุสลิมต้องการให้มีการออกเสียงรวมกันทั้งกลุ่มเป็นหน่วยเดียว ส่วนคองเกรสแห่งชาติต้องการให้แต่ละรัฐมีสิทธิที่จะตัดสินด้วยตนเองว่าต้องการรวมอยู่ในกลุ่มหรือไม่ ความตึงเครียดจึงมีมากขึ้น

ความรุนแรงจากการเผชิญหน้า

ในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๑๙๔๒ ถือว่าเป็นวันแห่งการเผชิญหน้า ในวันนั้นได้มีการเดินขบวน การชุมนุม และกล่าวคำปราศรัยซึ่งก่อให้เกิดการปะทะกันถึงขั้นนองเลือดระหว่างกลุ่มศาสนาทั้งสอง ทำให้มีคนตายไปถึง ๕,๐๐๐ คน ภายในเวลาเพียง ๔ วัน เฉพาะในกัลกัตตาเพียงแห่งเดียว การจราจลยังเกิดขึ้นในเบงกอลตะวันออกและปัญจาบ คานธีได้พยายามระงับความรุนแรงดังกล่าวด้วยการเดินทางด้วยเท้าเข้าไปยังบริเวณเบงกอลตะวันออกและทำให้ความรุนแรงสงบลงได้ แต่ในพื้นที่อื่นๆที่คานธีไม่สามารถไปได้ในเวลาเดียวกัน จึงเกิดความรุนแรงจากการปะทะกันในแคว้นปัญจาบระหว่างผู้ถืออาวุธชาวฮินดู มุสลิมและสิกข์

มอบอำนาจให้ปกครองตนเอง

จากการเข่นฆ่ากันอย่างรุนแรง รัฐบาลอังกฤษจึงตัดสินใจไม่หน่วงเหนี่ยวที่จะให้การปกครองของตนเองแก่อินเดียอีกต่อไป ในเดือนมีนาคม ค.ศ.๑๙๔๗ รัฐบาลอังกฤษได้ส่ง ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบทเทน (Lord louis Mountbatten) อุปราชคนใหม่มายังอินเดียเพื่อดำเนินการมอบอำนาจให้แก่รัฐบาลอินเดียเพียงรัฐบาลเดียวในเดือนมิถุนายน ๑๙๔๘ แต่เขาพบว่าสถานการณ์ในอินเดียกลับรุนแรงยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจที่จะเลื่อนการให้เอกราชแก่อินเดียขึ้นมาเป็นเดือนสิงหาคม ๑๙๔๗ แต่เนื่องจากไม่สามารถทำให้ฝ่ายสันนิบาตมุสลิมและคองเกรสแห่งชาติเจรจาตกลงกันได้ เขาจึงเสนอให้มีการแบ่งแยกอินเดียและตั้งประเทศปากีสถานขึ้นอีกประเทศหนึ่ง ในที่สุดรัฐที่สำคัญสองรัฐ คือ เบงกอลและปัญจาบจึงถูกแบ่งระหว่างอินเดียกับปากีสถาน โดยใช้หสักเสรีภาพที่จะให้ประชาชนเลือกการปกครองตนเองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอของ ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบทเทน

ขณะเดียวกันก็มีเสียงคัดค้านการแบ่งแยกดังกล่าวในกลุ่มฮินดูอนุรักษ์นิยมอย่างรุนแรง ทั้งในพรรคคองเกรสและในกลุ่มชาวฮินดูอนุรักษ์นิยม ซึ่งเชื่อว่าอินเดียต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยแบ่งแยกมิได้ ยวาหระลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีรัฐบาลชั่วคราวตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๖ ได้ตกลงแบ่งแยกอินเดียอย่างลังเล เพราะเชื่อว่ายังดีกว่าให้เกิดสงครามกลางเมืองซึ่งจะทำให้ประเทศชาติแตกแยกอย่างรวดเร็ว อินเดียและปากีสถานจึงได้รับเอกราชในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๑๙๔๗

คานธีถูกลอบสังหารเสียชีวิต

ในรัฐปัญจาบ ชาวมุสลิมได้ฆ่าฟันชาวฮินดูและชาวสิกข์ ในขณะที่ชาวฮินดูและชาวสิกข์ก็ตอบโต้ชาวมุสลิมในทำนองเดียวกัน ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่สองฟากของเขตแดนที่แบ่งรัฐปัญจาบต่างอพยพเข้าไปยังอีกฟากหนึ่งด้วยความหวาดกลัว ชาวฮินดูและชาวสิกข์ได้หนีเข้ามายังอินเดีย ส่วนชาวมุสลิมก็หนีเข้าไปยังปากีสถาน ประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คน คานธีพยายามที่จะระงับการฆ่าฟันของทั้งสองฝ่าย โดยอดอาหารประท้วง มีผลทำให้ผู้นำกลุ่มศาลนาต่างๆในอินเดียสัญญาว่าจะพยายามหาทางให้เกิดความสงบและเพื่อ “ปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน และความเชื่อ” ของชาวมุสิลม อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกทางศาสนาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นรุนแรงเกิดกว่าที่ผู้นำกลุ่มศาสนาต่างๆ จะควบคุมได้ การที่คานธีแสดงความเห็นใจต่อชาวมุสลิม หรืออ่านข้อความจากคัมภีร์อัลกุรอ่านในระหว่างการชุมนุมสวดมนต์ของชาวฮินดู หรือเรียกร้องให้อินเดียชดเชยทรัพย์สินบางส่วนที่เป็นของอินเดียให้แก่ปากีสถานที่กำหนดไว้ในแผนการแบ่งแยกประเทศ เหล่านี้ล้วนมีส่วนทำให้ชาวฮินดูบางพวกรู้สึกโกรธแค้นคานธีเป็นอันมาก องค์กรฮินดูหัวรุนแรงจึงวางแผนลอบสังหารคานธี ซึ่งทำให้เขาได้เสียชีวิตในวันที่ ๓๐ มกราคม ๑๙๔๘

มรณกรรมของเขามีส่วนทำให้การฆ่าฟันกันระหว่างกลุ่มศาสนายุติลง แต่การอพยพของประชาชนระหว่างอินเดียและปากีสถานยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปี ค.ศ. ๑๙๖๕ ประมาณว่ามีชาวฮินดู สิกข์และมุสลิมอพยพไปมาถึง ๑๕ ล้านคน อินเดียรับผู้อพยพไว้เกือบ ๙ ล้านคนและปากีสถานรับผู้อพยพไว้ ๖ ล้านคน

No comments: