Tuesday, May 29, 2007

บทความที่ ๑๓๖. ปรีดี พนมยงค์ คงยืน

คนดีกี่คนต้องทนทุกข์
คนทรามเสวยสุขสรวลเส
สับปลับสับสนปนเป
เจ้าเล่ห์เพทุบายร่ายคัมภีร์

เมล็ดข้าวไกลลานไกลบ้านเกิด
ประเสริฐสูงส่งศักดิ์ศรี
ลมหอบข้าวหอมพร้อมพลี
ปรีดี พนมยงค์ คงยืน...

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

Thursday, May 24, 2007

บทความที่ ๑๓๕. เผด็จการยังไม่สิ้นการปราบปรามประชาชนยังคงมี

สืบทอดเจตนารมณ์ประชาธิปไตย รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์

สัมผัส พึ่งประดิษฐ์


เผด็จการยังไม่สิ้นการปราบปรามประชาชนยังคงมี

ขบวนการนักศึกษา ๑๑ ตุลาคม ๒๔๙๕ ก่อให้เกระแสการคัดค้านเผด็จการ การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย สันติภาพ เอกราช การกินดี อยู่ดี ของประชาชนได้แผ่ขยายกว้างไปสู่ประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา กรรมกร ชาวนาทั้งในกรุงเทพมหานคร และในชนบทมากยิ่งขึ้น จนเป็นที่หวาดหวั่นแก่ผู้ครองอำนาจเผด็จการซึ่งกลัวพลังมวลชน ด้วยเหตุนี้ ภายหลังจากการจัดงานวันที่ ๕ พฤศจิกายน ปี ๒๔๙๕ เพื่อเฉลิมฉลองการได้มหาวิทยาลัยกลับคืนมา และเพื่อสร้างสรรค์ความสามัคคีระหว่าง นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ผู้รักชาติ รักประชาธิปไตยที่ผ่านไปด้วยความชื่นชมยังไม่ทันจางหาย ทุกคนก็ต้องตกตะลึงว่า “เอาอีกแล้ว” ต่อข่าวการจับกุมกวาดล้างประชาชนครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ ด้วยข้อหากบฏภายในภายนอกราชอาณาจักรหรือที่เรียกว่า “กบฏสันติภาพ” หรือ “กบฏ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๕”

มีผู้ถูกจับกุมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังกวัด ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง เป็นจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ จากผู้มีอาชีพต่าง ๆ ตั้งแต่ นักศึกษา นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง นักกฎหมายทนายความ กรรกร ชาวไร่ ชาวนา ตลอดจนทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ

การจับกุมกวาดล้างประชาชนครั้งใหญ่เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ ทำให้เอกราชอธิปไตย สันติภาพ ประชาธิปไตยของประเทศต้องถอยหลังจมดิ่งสู่ยุคแห่งความมืดมนด้วยอำนาจเผด็จการยิ่งขึ้น เนื่องด้วยหลังจากการจับกุมประชาชน ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ เพียง ๓ วัน รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามก็ได้ออกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ เข้าร่วมสนธิสัญญาร่วมมือทางทหารและเศรษฐกิจกับสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมสนธิสัญญาตะวันออกเฉียงใต้ ที่เรียกว่า ซีอาโต เพื่อร่วมกับประเทศในเอเซียอาคเนย์ต่อสู้ปราบปรามคอมมิวนิสต์ ส่งทหารไปรบในสงครามเกาหลีร่วมกับสหรัฐอเมริกา แซงชั่นสินค้าที่เรียกว่ายุทธปัจจัยไม่ให้ส่งไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน คัดค้านประเทศสังคมนิยม ตามนโยบายสหรัฐอเมริกา เป็นเหตุให้ประเทศไทยต้องสูญเสียความเป็นเอกราชอธิปไตยทางการเมือง ทางทหาร เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ถูกแทรกแซงจากต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และทางความคิด ไม่สามารถดำเนินนโยบาย เอกราช ประชาธิปไตย เป็นกลาง ไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาลเผด็จการสมัยนั้น

นับตั้งแต่ “รัฐประหาร” ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ประเทศไทยได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของคณะทหารตลอดมา ประชาธิปไตยต้องประสบกับการคุกคาม บ่อนทำลาย ปราบปรามมาโดยตลอด ตั้งแต่จอมพล ป.พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สืบต่อมาถึงสมัยจอมพลถนอม กิตติขจรและจอมพลประภาส จารุเสถียร นักศึกษา ประชาชน ได้เรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย คัดค้านอำนาจเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศมาเป็นระยะเวลายาวนาน จนเกิดการชุมนุมเรียกร้องคัดค้านของนักศึกษา ประชาชนครั้งยิ่งใหญ่เป็นประวัติการณ์ขึ้น เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ขับไล่รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร-จอมพลประภาส จารุเสถียร จนออกนอกประเทศ

นายสัญญา ธรรมศักดิ์ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ระบอบประชาธิปไตยที่พอจะเฟื่องฟู ประชาชน พอที่จะได้ร่าเริงเบิกบานในสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตยได้ชั่วระยะหนึ่ง เหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ หฤโหด ที่นักศึกษา ประชาชน ถูกปราบปราม เข่นฆ่า จับกุม ทำร้ายอย่างทารุณโหดเหี้ยมก็ได้เกิดขึ้น จนต้องหนีกระเซอะกระเซิงเข้าป่าดงด้วยอำนาจเผด็จการที่หวนกลับมาอีก

ภายหลังจากกรณี ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ผ่านไปประชาธิปไตยที่ถูกทำลายล้มฟุบไป เมล็ดพืชประชาธิปไตยของนักประชาธิปไตยรุ่นใหม่ก็ได้ผลิดอกออกผลแตกกิ่งก้านสาขาไปทั่วประเทศ ทั่วทุกสำนัก ทำให้ประชาธิปไตยที่ถูกทำลายล้มลงไปกลับฟื้นคืนชีพมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีก มีพรรคการเมือง มีสมาชิกสภาพผู้แทนราษฎร มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยในรูปแบบของยุคโลกาภิวัฒน์ ที่ประสานอำนาจปกครองประเทศด้วยกลุ่มธนาธิปไตย อมาตยาธิปไตย ธรุกิจธิปไตย กระทั่งมายาธิปไตย ทำให้โฉมหน้าประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน เปลี่ยนไปเป็นเพียงเพื่อชนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร การปกครองซึ่งเป็นประชาธิปไตยของคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นอภิสิทธิ์ชนเท่านั้น

บนพื้นฐานของกลุ่มอำนาจเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งต่อสู้ระหว่างกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ระหว่างกลุ่มอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ ระหว่างความคิดเก่ากับความคิดใหม่ ระหว่างพรรคการเมืองกับการพรรคการเมือง และระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย เพื่อช่วงชิงผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครองตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย ได้ทำให้บรรยากาศประชาธิปไตยโปร่งใส่ขึ้นบ้าง

เป็นที่เชื่อกันว่า การยึดอำนาจปฏิวัติรัฐประหารด้วยการใช้กำลังล้มล้างรัฐบาล เลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภา ทำให้ประชาธิปไตยที่มีอยู่บ้างเพียงเสี้ยว ๆ ต้องหดถอยหลังกลับไปสู่ยุคเผด็จการ จนเป็นเหตุให้เกิดพลังประชาชนที่คัดค้านอำนาจเผด็จการ ร.ส.ช.อย่างกว้างขวาง และเกิดการปราบปรามประชาชนอย่างทารุณโหดร้ายขึ้นเมื่อเดือน พฤษภาคม ๒๕๓๕ หฤโหดที่กระฉ่อนไปทั่วโลก

จึงเป็นภาระหน้าที่ของประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย ที่จะต้องช่วยกันระมัดระวังด้วยสติปัญญา ด้วยความไม่ประมาท เก็บรับบทเรียนการต่อสู้ที่ผ่านมาในอดีตเพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และสืบทอดเจตนารมณ์ประชาธิปไตยที่บรรพบุรุษและวีรชนได้เสียสละชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยของประชาชนสืบต่อไป.


เกี่ยวกับผู้เขียน
สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ : อดีตประธาน ต.ม.ธ.ก. รุ่น จ อดีตเลขานุการคณะกรรมการนักศึกษา ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ อดีตบรรณากรหนังสือวันปรีดี พนมยงค์ ๑๑ พ.ค. ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึง พ.ศ.๒๕๓๕


ดาวน์โหลด PDF ที่ http://rapidshare.com/files/33087199/article135.pdf.html

บทความที่ ๑๓๔.ขบวนการนักศึกษาแห่งประเทศไทย

สืบทอดเจตนารมณ์ประชาธิปไตย รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์

สัมผัส พึ่งประดิษฐ์


รัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ทำให้ประเทศไทยที่เป็นเอกราช สันติภาพ ประชาธิปไตยเปลี่ยนโฉมหน้าไปในฉับพลัน

-กำลังรถถังที่นำโดย ร.ท.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้บุกเข้าจู่โจมทำเนียบท่าช้างซึ่งเป็นที่พำนักของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ในกลางดึกของวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ด้วยความหมายมั่นที่จะทำลายรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม ท่านจึงรอดพ้นไปได้ แต่เพื่อให้ท่านต้องมีชนักติดตัวตลอดไป จึงได้ถูกนำกรณีสวรรคตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ มาใส่ร้ายท่าน โดยหวังที่จะอาศัยสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพของประชาชนมาทำลายรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ให้พินาศไป

-เข่นฆ่านักการเมืองที่มีความคิดก้าวหน้าประชาธิปไตยที่เป็นแกนนำประชาชนและสนับสนุนรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ดังเช่นการสังหาร ๔ อดีตรัฐมนตรี คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์,ถวิล อุดล,จำลอง ดาวเรือง และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ถูกจับกุมและนำไปยิงทิ้งขณะอยู่ในรถยนต์ตำรวจที่ถนนพหลโยธิน กม.๑๔ บางเขน ส.ส.พระ มะลิทอง ถูกจับยิงทิ้งที่จังหวัดสมุทรสงคราม ต่อมาส.ส.เตียง ศิริขันธ์ ถูกจับนำไปยิงทิ้งและเผาซากศพในป่าจังหวัดกาญจนบุรี ดร.ทวี ตะเวทิกุล และพ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ถูกยิ้งทิ้งขณะถูกจับกุม เป็นอาทิ

-หมายมุ่งทำลายมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งเป็นสถาบันที่เป็นฐานกำลังสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งลิดรอนสิทธิ คุกคาม ข่มขู่ บ่อนทำลาย ปราบปราม แบ่งแยกทำลายความคิด อย่างชนิดที่เรียกว่าครบวงจร เพื่อให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้หายสิ้นไปเลยทีเดียวนับตั้งแต่ ลิดรอนสิทธิผู้ที่สำเร็จปริญญาธรรมศาสตร์ มิให้เข้าเป็นสามัญสมาขิกแห่งเนติบัณฑิตสภา มิให้สิทธิเข้ารับราชการตำแหน่งปลัดอำเภอ และเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรตามสิทธิที่เคยได้รับ ลงโทษลบชื่อนักศึกษาที่คัดค้านคำสั่งระเบียบมหาวิทยาลัยและผู้ทีเคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายรัฐบาล ส่งบุคคลในคณะรัฐประหารเข้าดำรงตำแหน่งบริหารมหาวิทยาลัยตั้งแต่ตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์ เลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการ จนถึงหัวหน้าส่วนเพื่อควบคุมมหาวิทยาลัยและนักศึกษา ส่งสายลับติดตามคุกคามการเคลื่อนไหวนักศึกษา เปลี่ยนชื่อจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เป็น ธรรมศาสตร์ โดยตัดคำว่าการเมืองออก เพื่อมิให้นักศึกษาเรียนรู้หรือมีความคิดทางการเมือง

แยกสลายการรวมตัวของนักศึกษาด้วยการแบ่งแยกนักศึกษาออกเป็นคณะต่าง ๆ เพื่อมิให้นักศึกษารวมตัวกันและง่ายต่อการปกครองตามวิธีการที่ฝรั่งตะวันตกใช้ปกครองเมืองขึ้น

ส่งกำลังทหารเข้าควบคุมมหาวิทยาลัยโดยใช้กรมการรักษาดินแดนเข้ามาตั้งสถานที่ทำการที่อาคารตึกโดมด้านซ้ายมือซึ่งเป็นคณะรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ในที่สุดได้ส่งกำลังทหารเข้ายึดครองทั้งมหาวิทยาลัยหลังจากเกิดเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๔ โดยให้นักศึกษาคณะธรรมศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ไปเรียนที่อาคารสำนักงานเนติบัณฑิตสภาที่อยู่บริเวณศาลแพ่งใต้ปัจจุบัน ส่วนคณะอุดมศึกษาจุฬาลงกรณ์ และท้ายที่สุดของการทำลายล้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองก็คือ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ซื้อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองด้วยจำนวนเงิน ๕ ล้านบาท เพื่อใช้เป็นสถานที่ทางราชการทหาร

รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย เอามหาวิทยาลัยคืนมา

ทันทีที่ข่าวซื้อมหาวิทยาลัย เพื่อใช้เป็นสถานที่ทางราชการทหาร ด้วยมติคณะรัฐมนตรี ได้แพร่สะพัดออกไปเท่านั้นเอง ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่ทุกคนไม่อาจอดทนอีกต่อไปได้แล้ว เพราะมันหมายถึงชีวิตและอนาคตที่จะต้องประสบกับความมืดมน จิตใจที่ขมขื่นตลอดมาจากการถูกคุกคาม ข่มขู่ปราบปราม ลิดรอนสิทธิต่าง ๆนานา ด้วยความไม่เป็นธรรม จนถึงขั้นยุบเลิกมหาวิทยาลัยด้วยอำนาจเผด็จการเช่นนี้ จึงถึงจุดที่ทุกคนต้องสู้อย่างชนิดเป็นอย่างไรเป็นกัน ถ้าไม่ได้มหาวิทยาลัยคืนมา ภายใต้คำขวัญว่า

“รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย เอามหาวิทยาลัยของเราคืนมา”

“ถ้าขาดโดมเจ้าพระยาท่าพระจันทร์ ก็เสมือนขาดสัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม”

อนาคตขึ้นอยู่กับการต่อสู้ ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ที่จะต่อสู้กับอำนาจเผด็จการเพื่อให้ได้มหาวิยาลัยคืนมา จึงได้ผุดและเกิดขึ้นด้วยพลังนักศึกษาและประชาชนที่รักความเป็นธรรม “คณะกรรมการนักศึกษา เพื่อรณรงค์ให้มหาวิทยาลัยคืนมา” จึงได้ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างลับ ๆ เพื่อเป็นแกนนำการต่อสู้เรียกร้องให้ได้มหาวิทยาลัยคืนมา โดยยึดถือหลักการต่อสู้เรียกร้องด้วยสันติวิธี และอาศัยพลังนักศึกษา ประชาชนที่รักความเป็นธรรมเป็นพลังการต่อสู้ ซึ่งได้แบ่งแยกภาระหน้าที่ออกเป็น ๓ ฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งมุ่งไปสู่ประชาชน โดยเฉพาะศิษย์เก่าและนักศึกษาที่ทำงานอยู่ตามหน่วยราชการและองค์การต่าง ๆ ฝ่ายที่สอง มุ่งไปสู่หนังสือพิมพ์และผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ ฝ่ายที่สามมุ่งไปสู่นักการเมืองโดยเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ช่วยเหลือสนับสนุนการต่อสู้เพื่อให้ได้มหาวิทยาลัยคืนมาของนักศึกษาในครั้งนี้ด้วย ปรากฏว่า ได้รับการสนองรับจากทุกฝ่ายด้วยความเห็นอกเห็นใจอย่างท่วมท้น เป็นเหตุให้นายเพทาย โชตินุชิต ส.ส.จังหวัดธนบุรีขณะนั้น ยื่นกระทู้ถามรัฐบาล คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลมหาวิทยาลัยอยู่ในขณะนั้น โดยสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดตอบกระทู้ถามของ ส.ส.เพทาย โชตินุชิต ในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๙๔

เช้าตรู่ของวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๙๔ ถนนทุกสายที่ไปสู่พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เต็มไปด้วยนักศึกษาชาย หญิง ทั้งศิษย์เก่าและนักศึกษาปัจจุบัน ร่วมด้วยประชาชนต่างมุ่งหน้าไปยังสภาผู้แทนราษฎร เพื่อฟังคำตอบกระทู้ว่าจะคืนมหาวิทยาลัยให้แก่นักศึกษาเพื่ออนาคตของนักศึกษาจำนวนหมื่นที่กำลังศึกษาอยู่ หรือถ้าไม่ยอมคืนให้เพื่อความดำรงอยู่ของอำนาจเผด็จการที่ต้องการกำจัดมหาวิทยาลัยแห่งนี้ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชนให้สิ้นไปแล้ว จะทำอย่างไร

ผลคำตอบกระทู้ถามของ ส.ส.เพทาย โชตินุชิต โดยพลโทสวัสดิ์ ส.สวัสดิเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สรุปได้ว่า รัฐบาลมีความจำเป็นที่ไม่สามารถคืนมหาวิทยาลัยให้ได้

พอสิ้นเสียงคำตอบจากรัฐบาลเท่านั้น บรรดานักศึกษาที่เรียงรายอยู่รอบ ๆ บริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อฟังคำตอบจากรัฐบาล ด้วยหัวใจที่รู้สึกตรงกันว่า ไม่ยอม เป็นอย่างไรเป็นกัน ถ้าไม่ได้มหาวิทยาลัยคืนมา ต่างลุกวิ่งฮือตรงไปยังสนามหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อได้ยินเสียงตะโกนดังขึ้นว่า “มาทางนี้ ๆ จอมพล ป.ลงมาทางบันไดหน้าพระที่นั่งฯแล้ว” และในทันใดนั้นเอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีก็ตกอยู่ในวงล้อมของนักศึกษาจำนวน ๓ พันกว่าคน ที่บริเวณสนามหญ้าหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมท่ามกลางแสงแดดจ้าอย่างที่ไม่อาจหลบเลี่ยงได้

สายตาของนักศึกษาทุกคนจ้องเขม็งไปที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม อย่างไม่หวาดหวั่นพรั่นกลัวใด ๆ ทั้งสิ้น เหมือนดังที่พลังนักศึกษาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างองอาจกล้าหาญเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ หรือพลังประชาชนที่คัดค้านเผด็จการ ร.ส.ช.อย่างไม่กลัวตายเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๔ ฉันนั้น

เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามได้เผชิญหน้ากับนักศึกษาที่นั่งอยู่รอบ ๆ ด้วยอาการที่สงบเงียบแล้ว การเจรจาระหว่างนักศึกษากับจอมพล ป.พิบูลสงครามหัวหน้ารัฐบาลก็ได้เริ่มขึ้น โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในสภาพที่ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในนาทีวิกฤติเช่นนี้ ได้กล่าวขึ้นก่อนด้วยใบหน้ายิ้มแย้มเหมือนจะซ่อนอารมณ์ชนิดใจดีสู้เสือว่า “มีอะไรก็ค่อย ๆพูดกันได้ ไม่ใช่คนอื่น ลูก ๆ หลาน ๆ ทั้งนั้น”

นักศึกษาต่างช่วยกันพูดช่วยกันถาม สรุปได้ว่า “พวกผมเดือดร้อนไม่มีที่เรียน พวกหนึ่งต้องไปเรียนที่เนติบัณฑิตสภา อีกพวกหนึ่งต้องไปเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจุฬาลงกรณ์ สถานที่เรียนคับแคบ อยู่ไกล ต้องเรียนถึงกลางคืน กลับบ้านมืดลำบากมาก และขณะนี้ก็ใกล้จะสอบแล้ว”

“จะสอบเมื่อไรล่ะ”

“สิ้นเดือนตุลาคม ครับ” การโต้ตอบหยุดเงียบลงชั่วครู่เพื่อรอคำตอบจากจอมพล “ถ้าอย่างนั้นจะคืนให้สิ้นเดือนตุลาคม ก่อนสอบ”

ทุกคนต่างพอใจคำตอบของจอมพล ป.พิบูลสงครามด้วยความชื่นชมยินดี แต่ก็ยังเป็นที่งุนงงสงสัยไม่แน่ใจว่าจะจริงหรือ เพราะพลโทสวัสดิ์ ส.สวัสดิเกียรติ เพิ่งตอบกระทู้ ส.ส.ไปหยก ๆ ว่า ไม่คืนให้ ดังนั้น เพื่อให้เป็นที่แน่ใจ นายเฉลียว พิศลยบุตร รองประธานนักศึกษาขณะนั้นจึงได้ประกาศสรุปผลต่อหน้าที่ชุมนุมว่า “ท่านนายกรัฐมนตรีจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ให้คำมั่นสัญญากับพวกเราต่อหน้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่อหน้าผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์และต่อหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมว่า จะคืนมหาวิทยาลัยให้แก่พวกเราภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้”

เสียงไชโย ๆ ๆ โห่ร้องกึกก้องหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วยความปิติยินดีที่ได้มหาวิทยาลัยกลับคืนมาด้วยพลังนักศึกษาประชาชน จากนั้นนักศึกษาและประชาชนได้เดินขบวนออกจากพระที่นั่งฯด้านลานพระบรมรูปทรงม้ามาตามถนนราชดำเนินผ่านอนุสาวรีย์เป็นริ้วขบวนยาว มาสิ้นสุดลงที่บริเวณหน้าสำนักเนติบัณฑิตสภาหน้าสนามหลวง ด้วยคำขวัญก่อนจะจากกันว่า “ทหารออกไป เอามหาวิทยาลัยเราคืนมา”

ในที่สุดนักศึกษาก็ได้เข้าสู่มหาวิทยาลัยด้วยชัยชนะของพลังนักศึกษาประชาชนเมื่อเช้าตรู่วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๔ ที่ดังกระหึ่มด้วยเสียงเพลง มาร์ช ม.ธ.ก. เพลงแห่งความหลัง และเพลงหวนอาลัย ที่รำลึกถึงผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ด้วยความอาลัยรักที่ต้องจากไป ภายหลังการจัดงานชื่นชุมนุมกันที่จังหวัดนครสรรค์ในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ ก่อนวันคืนสู่เหย้าเพื่อรวมพลที่ลูกแม่โดมจะยาตราทัพนักศึกษาประชาชนเข้าสู่มหาวิทยาลัยในเช้าวันรุ่งขึ้น

วันที่ ๕ พฤศจิกายน ได้ถูกเรียกร้องให้เป็นวัน “ธรรมศาสตร์” แต่ได้ถูกเปลี่ยนกลับไปเป็นวันที่ ๑๐ ธันวาคม คงจะเนื่องด้วเหตุผลเดียวกับการสร้างอนุสาวรีย์วีรชน ๑๔ ตุลาคม และอนุสรณ์ประชาธิปไตย พฤษภาคม ๒๕๓๔ จึงทำให้วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๙๕ ซึ่งเป็นวันที่ก่อให้เกิดขบวนการนักศึกษาเรียกร้องมหาวิทยาลัยคัดค้านอำนาจเผด็จการ และวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ ซึ่งเป็นวันแห่งชัยชนะของนักศึกษาถูกลบเลือนหายไป

๑๑ ตุลาคม ๒๔๙๕ จึงเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของนักศึกษาที่ขบวนการนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้ก่อกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกของนักศึกษาประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย และจากขบวนการนักศึกษา ๑๑ ตุลาคม ๒๔๙๕ ได้พัฒนาเจริญเติบโตเป็นขบวนการนักศึกษา ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และจากขบวนนักศึกษา ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ได้เจริญเติบโตมาเป็นพลังมวลชนที่ต่อสู้คัดค้านอำนาจเผด็จการ รสช.พฤษภาคม ๒๕๓๕ ถึงกาลบัดนี้

Wednesday, May 23, 2007

บทความที่ ๑๓๓. เมื่อประชาธิปไตยเติบโต เผด็จการจ้องทำลาย

สืบทอดเจตนารมณ์ประชาธิปไตย รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์
สัมผัส พึ่งประดิษฐ์
มื่อประชาธิปไตยเติบโต เผด็จการจ้องทำลาย

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ด้วยการยอมพ่ายแพ้สงครามของญี่ปุ่นต่อฝ่ายสัมพันธมิตร สันติภาพกลับคืนมา การปกครองด้วยอำนาจเผด็จการทหารในระหว่างสงครามโลกยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยุติลงประเทศไทยได้กลับคืนสู่ประเทศที่มีเอกราช อธิปไตยอย่างสมยบูรณ์ ซึ่งเป็นผลอันสืบเนื่องจากการต่อสู้กู้ชาติกับการรุกรานจากญี่ปุ่นของขบวนการเสรีไทย ร่วมกับประชาชนผู้รักชาติ

ประเทศไทยที่บอบช้ำจากสงครามทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม ได้เข้าสู่ภาวะแห่งสันติ ประชาธิปไตย และการบูรณะฟื้นฟูประเทศ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มีการก่อตั้งพรรคการเมืองและเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง มีสมาชิกพฤฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งของ ส.ส.ระยะหนึ่งตามบทเฉพาะกาล ซึ่งขณะนั้นมีพรรคการเมืองใหญ่ ๔ พรรคคือพรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญ มีพลเรือตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นหนัวหน้าพรรค พรรคสหชีพ มี ดร.เดือน บุนนาค เป็นหัวหน้าพรรค พรรคอิสระ มีอาจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์เป็นหัวหน้าพรรค และพรรคประชาธิปัตย์ มี พ.ต.ควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค รณรงค์เลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า พรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญ พรรคสหชีพและพรรคอิสระ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เป็นพันธมิตรทางการเมืองกัน และมีสมาชิกส่วส่วนใหญ่มาจากผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ อดีตพลพรรคขบวนการเสรีไทยและผู้ที่สำเร็จจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นส่วนใหญ่ ประสบชัยชนะเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาลโดยมีพลเรือตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ประสบความปราชัยทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพฤฒิสภา

รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการและได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส เกียรติภูมิของท่านเป็นที่ยกย่องสรรเสริญทั้งภายในประเทศและนานาประเทศในฐานะผู้นำทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและผู้นำขบวนการเสรีไทยที่ได้ต่อสู้กู้ชาติจากการรุกรานของญี่ปุ่นร่วมกับประเทศสัมพันธมิตรจนประสบชัยชนะทำให้ประเทศไทยได้เป็นประเทศที่มีเอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ด้วยความปรีชาสามารถของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์

ขณะที่ประชาชนทั่วประเทศกำลังแซ่ซ้องสรรเสริญร่าเริงด้วยบรรยากาศแห่งสันติภาพ เอกราช ประชาธิปไตย “รัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐” ก็ได้ฟาดเปรี้ยงลงมาโดยนายทหารบกกลุ่มหนึ่งที่มีจอมพลผิน ชุณหะวัณ นายทหารนอกราชการเป็นหัวหน้า สมคบกับนักการเมืองศักดินายึดอำนาจปกครองประเทศจากรัฐบาลที่พลเรือตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากรัฐประหารแล้วก็ได้แต่งตั้ง พ.ต.ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรีและในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนเป็นจอมพล ป.พิบูลสงคราม

บทความที่ ๑๓๒. สืบทอดเจตนารมณ์ประชาธิปไตย รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์

สืบทอดเจตนารมณ์ประชาธิปไตย รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์

สัมผัส พึ่งประดิษฐ์

วัน “ปรีดี พนมยงค์” ๑๑ พฤษภาคม เป็นวันรำลึกท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองผู้มีบุญคุณต่อประชาชาติไทย และผู้ก่อกำเนิดประชาธิป-ไตยแก่สยามประเทศ ซึ่งทำให้ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยปณิธานที่รำลึกเกียรติคุณ หนุนกตเวที สามัคคีปวงประชา เพื่อชาติและราษฎรไทย ซึ่งเป็นคำขวัญของชมรม ต.ม.ธ.ก.สัมพันธ์

ในขณะเดียวกันก็ให้หวนนึกถึงเหตุการณ์ รัฐประหารเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ที่คณะทหารกลุ่มหนึ่งทำการรัฐประหารยึดอำนาจปกครอง ทำให้รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยการเมืองไปจากผืนแผ่นดินไทยตลอดชีวิตท่าน ทำให้พวกเราต้องหวนอาลัยถึงท่านด้วยความเคารพรักตลอดเวลาไม่เพียงแต่เท่านั้น รัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ยังเป็นเหตุให้ประเทศชาติที่กำลังเข้าสู่ความเป็นเอกราช ประชาธิปไตย ถอยหลังกลับไปสู่ยุคที่ปกครองด้วยอำนาจเผด็จการทหาร หันกลับไปสู่ความด้อยพัฒนาและเข้าสู่ยุคมืด ที่ประชาชนผู้รักชาติประชาธิปไตยถูกคุกคามปราบปรามอย่างทารุณโหดร้ายด้วยอำนาจเผด็จการ แกระทั่งทำให้เกิดวงจรอุบาทว์เกิดขึ้นจนตราบเท่าทุกวันนี้

ในทางกลับกันก็เป็นเหตุการณ์ที่ให้บทเรียนแก่การต่อสู้ทางการเมืองนับตั้งแต่รัฐบรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ เปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ถึงปัจจุบันนั้นว่า การต่อสู้ระหว่างอำนาจเผด็จการกับประชาชนผู้รักประชาธิไตยหาได้หยุดยั้งเลยไม่ ถึงแม้จะถูกคุกคามปราบปรามอย่างไร ก็ไม่ทำให้การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยของประชาชนถดถอยลงแต่อย่างใด แต่กลับจะพัฒนาก้าวขยายและลงลึกสู่ประชาชนกว้างขวางยิ่งขึ้น

อีกทั้งยังเป็นบทเรียนที่แสดงให้เห็นว่า กาลเวลาที่ล่วงเลยไปแล้วนั้นย่อมไม่อาจหวนทวนกลับมาได้อีก แต่สำหรับเผด็จการนั้น แม้กาลเวลาจะผ่านล่วงเลยไป เผด็จการย่อมที่จะหวนทวนกลับมาได้อีกเสมอ เพราะอำนาจเผด็จการที่ครองอำนาจการปกครองประเทศมาเป็นเวลานับร้อย ๆ ปีย่อมไม่อาจที่จะยอมวางอำนาจ หรือขุดรากถอนโคนให้ผมดสิ้นไปได้โดยง่ายภายในระยะเวลาสั้น ๆ เผด็จการหน้าเก่าสิ้นไป หน้าใหม่ก็เข้ามาแทนเพื่อรักษาอำนาจเผด็จการไว้ จนกว่าจะสูญสิ้นไปด้วยพลังประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตย

การต่อสู้กับอำนาจเผด็จการเป็นกระบวนการต่อสู้ของประชาชนที่ยาวนานในช่วงระยะเวลาประวัติศาสตร์ ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ไม่อาจสถาปนาขึ้นได้ง่าย ๆ ดังใจคิด หรือเพียงแค่ได้อำนาจปกครองประเทศแล้วเท่านั้น หากแต่จะต้องผ่านกระบวนการต่อสู้ทางความคิดการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สืบทอดต่อกันไปด้วยเลือดด้วยชีวิตที่ดุเดือด ยาวนาน คนแล้วคนเล่า ตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน และสืบต่อไปในอนาคต

ดังนั้นเมื่อรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ได้ปักธงประชาธิปไตยลงบนผืนแผ่นดินไทย และได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเพื่อเสริมสร้างแลพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ให้มั่นคงก้าวหน้าและก้าวขยายไปสู่ประชาชนตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นเสาหลักประชาธิปไตยโดยแท้ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองซึ่งเป็นฐานที่มั่นประชาธิปไตยจึงตกเป็นเป้าหมายของการถูกบ่อนทำลาย เพื่อมิให้ประชาธิปไตยเจริญเติบโตบนผืนแผ่นดินไทยด้วยอำนาจเผด็จการตลอดมา

Sunday, May 20, 2007

บทความที่ ๑๓๑. ชูดี

คติธรรม
ครบรอบ ๑๐๐ วันแห่งการอสัญกรรม
รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์
อังคารที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๒๖


ชูดี

คนดีใยมิด้อม ดูดี กันพ่อ
ดีแต่คอยจับที ท่าร้าย
ร้ายน้อยกลับทอยทวี ถวิลเพิ่ม มากนา
หรือมิผิดคิดป้าย โปะร้อนซ้อนสุม.

ดีชุมเช่นนี้ขาด คุณงาม
ดีแต่ก่อชั่วลาม เลอะเปื้อน
ดีจริงส่งเสริมความ ดีทั่ว กันแฮ
ดีท่านดีตนเอื้อน ออกอ้างสร้างดี.


(สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

บทความที่ ๑๓๐. เขาหาว่าข้าพเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์

เขาหาว่าข้าพเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์
ปรีดี พนมยงค์

ในเอเชียอาคเนย์ ภายใต้การครอบงำของอเมริกัน พวกเขาใช้วิธการ “สงครามจิตวิทยา” ซึ่งตกทอดมาจากสมัยพระเจ้าซาร์ของรัสเซีย อันได้แก่ การทำให้ราษฎรผู้บริสุทธิ์หวาดกลัว ด้วยการพูดถึงลัทธิคอมมิวนิสต์เกินความจริง เป็นต้นว่า ในสยามมีการโฆษณารูปภาพปิศาจ ที่น่าสะพรึงกลัว ซึ่งหมายถึง “ปิศาจคอมมิวนิสต์” และได้มีการอบรมสั่งสอนราษฎรให้เชื่อว่า ถ้าลัทธิคอมมิวนิสต์ครอบครองสยามแล้ว ราษฎรก็จะไม่มีอิสระในการปฏิบัติกิจทางศาสนาอีกต่อไป และผู้หญิงจะต้องตกเป็นของกลาง

นักเขียนอเมริกันผู้หนึ่งซี่งสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับจิตวิทยาได้เขียนเรื่องเจงกิสข่าน นักประวัติศาสตร์ต่างรู้จักนักรบผู้ยิ่งใหญ่ชาวมองโกลผู้นี้เป็นอย่างดี หลานของเจงกิสข่าน คือ กุบไลข่าน (พ.ศ. ๑๗๕๙ -๑๘๑๒)ได้เป็นจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หยวนของจีน ในยุคที่มาร์โคโปโลเดินทางไปเยือนจีน

ด้วยกำลังเพียง ๕๐,๐๐๐ คน เจงกิสข่านก็สามารถพิชิตดินแดนส่วนใหญ่ของยุโรปตะวันออก และบางส่วนของรัสเซียและโปรแลนด์โดยใช้สงครามจิตวิทยา เขาสร้างภาพให้ตนเป็นคนโหดร้าย เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชน ในดินแดนที่เขาจะไปรุกรานถึงขนาดที่ว่า เมื่อนักรบชาวมองโกลผู้นี้ประกาศว่าจะรุกรานภูมิภาคใด ประชาชนซึ่งพ่ายแพ้ในทางจิตวิทยาแล้ว ก็จะอพยพหนีออกจากศูนย์กลางที่สำคัญ ๆ และยอมจำนนอย่างง่ายดาย พึงสังเกตด้วยว่าเจงกิสข่านและแม่ทัพนายกองของเขาดำเนินการโฆษณาชวนเชื่อเอง แต่ทุกวันนี้ลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเซียอาคเนย์ไม่จำเป็นต้องลำบากลำบนในการโฆษณาชวนเชื่อถึงขนาดนั้น เพราะศัตรูของพวกเขาได้ดำเนินการแทนแล้ว

นักศึกษาบางคนได้ถามข้าพเจ้าว่า ตามความคิดของข้าพเจ้าประเทศใดจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ต่อไป

ข้าพเจ้าไม่ขอทำตัวเป็นศาสดาพยากรณ์เพราะอาจจะพลาดได้ แต่จะให้คู่สนทนาของข้าพเจ้าไปค้นหาคำตอบเอาเอง อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าก็ได้เล่าให้นักศึกษาฟังว่ามีบางคนได้บอกข้าพเจ้าว่า เขาเคยเห็นปิศาจ ซึ่งหมายถึงวิญญาณที่เขาเรียกกันว่าผีในประเทศตะวันตก ข้าพเจ้าได้สรุปว่า คนที่กลัว “ปิศาจ” นั้น อยู่ในสภาพทางจิตชนิดหนึ่ง ที่พวกเขาอาจจะมองเห็นได้

ในทำนองเดียวกัน ประเทศที่ประชาชนมีความหวาดกลัวต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะว่าความกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์ก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นคอมมิวนิสต์เพราะว่าความกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์จะทำให้รัฐบาลภายในประเทศนั้น สามารถทำผิดอย่างมหันต์ได้ และด้วยเหตุนี้ประชาชนก็จะต่อต้านรัฐบาลของตน อันที่จริง ประเทศมหาอำนาจสองประเทศก็เป็นตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้ว

รัสเซียสมัยซาร์ประสบความสำเร็จในการทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งหวาดกลัว ด้วยวิธีการโฆษณาต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในที่สุดรัสเซียสมัยซาร์และรัฐบาลวรรณะเจ้าสมบัติที่สืบต่อมาก็ต้องพ่ายแพ้เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๐ ปฏิทินเก่าของรัสเซีย ตรงกับวันที่ ๗ พฤศจิกายนตามปฏิทินเกรกอเรียน)หลังจากรบกับกองหน้าของบอลเชวิคเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น ซึ่งประกอบด้วยกองทหารแดงกะลาสีเรือลาดตระเวนออรอร่าและหน่วยรบเล็ก ๆ ของกรรมกรและชาวนา

จีนคณะชาติยังคงได้ชื่อว่า มีความสามารถในการโฆษณาชวนเชื่อ ต่อต้านคอมมิวนิสต์ยิ่งกว่าใคร ๆ เนื่องจากประสบความสำเร็จในการทำให้ผู้หญิงหลายคนหวาดกลัว ด้วยการอธิบายว่าถ้าลัทธิคอมมิวนิสต์ครอบครองจีน ก็จะมีเพียงมีดทำครัวเล่มเดียวเท่านั้นสำหรับใช้กันทั้งหมู่บ้าน

ยิ่งกว่านั้น หลังการสถาปนาสาธารณรัฐราษฎรจีนแล้ว จากปากคำของอดีตโสเภณีเองก็บอกว่ายังมีความหวาดกลัวในเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์ เพราะนักโฆษณาชวนเชื่อฝ่ายจีนคณะชาติได้เคยบอกบรรดาโสเภณีว่า ถ้าพวกคอมมิวนิสต์เข้ามาในเมือง ทหารคอมมิวนิสต์จะเข้าแถวหน้าซ่องโสเภณีเป็นกองร้อย หรืออาจจะเป็นกองพันจนถึงกับว่าบรรดาโสเภณีอาจจะหมดไป แต่กระนั้นจีนก็ได้กลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ใหญ่อันดับ ๒ อยู่ดี

ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ข้าพเจ้าได้เสนอร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจต่อรัฐบาล โดยหวังที่จะแก้ไขสภาพเศรษฐกิจตกต่ำลงอย่างน่าใจหายในสมัยนั้น สภาพดังกล่าวมีผลกระทบอย่างร้ายแรง ต่อความเป็นอยู่ของประชากร โดยเฉพาะกสิกร ข้าพเจ้าเสนอให้รัฐบาลซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมด้วยพันธบัตร มีดอกเบี้ยให้ประจำในอัตราที่เป็นธรรม ก่อตั้งสหกรณ์ต่าง ๆ ขึ้นอยู่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐ โดยให้ราษฎรได้ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของตน เพื่อป้องกันและกำจัดอาชญากรรมในรูปต่างๆ ตลอดจนจัดหางานให้ราษฎรแต่ละคน

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนใหญ่สนับสนุนร่างเค้าโครงเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ แต่ในคณะรัฐมนตรี มีผู้ที่นิยมการปกครองแบบเก่า รวมทั้งเพื่อนบางคนของข้าพเจ้าที่ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มนี้ คัดค้านร่างเค้าโครงการฯ ดังกล่าว เมื่อคนกลุ่มนี้เห็นว่าในที่สุดแล้ว สภาผู้แทนราษฎรจะต้องลงมติเห็นชอบ กับร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจและจะต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยขึ้นมาแทนรัฐบาลผสมอย่างแน่นอน พวกเขาจึงได้ขบคิดแผนการร่วมกับกลุ่มสมาชิกฝ่ายทหารในคณะรัฐมนตรี ทหารกลุ่มหนึ่งล้อมที่ทำการสภาผู้แทนราษฎรและที่พักของข้าพเจ้า นอกจากนั้นยังได้ดำเนินการให้ในหลวงรัชกาลที่ ๗ ออกพระราชกฤษฎีกาประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญและยุบสภา และออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เพื่อปราบปรามความคิดและกิจกรรมทุกรูปแบบที่มีลักษณะเป็นสังคมนิยม ซึ่งพวกเขาตีความว่าเป็นคอมมิวนิสต์ สำหรับส่วนตัวข้าพเจ้านั้น พวกเขาบีบบังคับให้ข้าพเจ้าออกจากประเทศ โดยกล่าวหาว่าข้าพเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์ ที่ไม่เป็นที่พึงปรารถนา ข้าพเจ้าจึงถูกเนรเทศไปอยู่ในประเทศฝรั่งเศส

ประมาณ ๒ เดือนต่อมา พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นบุคคลที่ข้าพเจ้าเคารพนับถือได้ทำการยึดอำนาจได้สำเร็จ และกราบบังคมทูลขอให้ในหลวงรัชกาลที่ ๗ นำรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๔๗๕ กลับมาใช้ใหม่ พระองค์ทรงรับคำขอนั้น โดยมีเงื่อนไขว่าให้คงพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อตกลงกันตามเงื่อนไขของพระองค์แล้ว พระองค์จึงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งรัฐบาล โดยมีพระยาพหลน เป็นนายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯขอให้ข้าพเจ้ากลับประเทศโดยมิให้ข้าพเจ้ากล่าวถึงเค้าโครงการเศรษฐกิจของข้าพเจ้าเป็นการชั่วคราว

เมื่อข้าพเจ้ากลับจากประเทศฝรั่งเศสได้ ๑ เดือน ได้เกิดกระแสการโต้อภิวัฒน์ขึ้น โดยเริ่มตามหัวเมืองต่างจังหวัดก่อน มีผู้นำคือ พระองค์เจ้าบวรเดช ต่อมาได้เกิดการสู้รบขึ้น แต่รัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายได้รับชัยชนะ ในที่สุดต่อมา สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ซึ่งสมาชิกครึ่งหนึ่ง ได้รับเลือกตั้งจากราษฎร ได้ตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษขึ้น ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายทั้งของสยาม อังกฤษ และฝรั่งเศสมีหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวข้าพเจ้า เพื่อสอบสวนว่าข้าพเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ และเพื่อวินิจฉัยร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจที่จะได้จัดตีพิมพ์ขึ้น

คณะกรรมาธิการพิเศษที่สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งขึ้นประกอบด้วย ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ พระยาศรีสงกร พระยานลรชสุวัทน์ และผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ๒ ท่านคือ เซอร์โรเบิอร์ต ฮอลแลนด์ (Sir. Robert Holland) ชาวอังกฤษ กับนายอาร์ กีร์ยอง (R.Guyong)ชาวฝรั่งเศส โดยที่คำกล่าวหานายปรีดี พนมยงค์ เป็นปัญหาทางการเมืองมิใช่ตุลาการ คณะกรรมาธิการมีความเห็นว่าประเด็นที่จะต้องพิจารณาก็คือ นายปรีดีมีความเห็นทางการเมืองเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ ในการพิจารณาต้องวางบทวิเคราะห์ศัพท์ก่อนว่า “คอมมิวนิสต์คืออะไร ?” คณะกรรมาธิการมอบให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศทั้งสองร่วมกัน บันทึกเพื่อวางบทวิเคราะห์ศัพท์คอมมิวนิสต์ก่อน เมื่อผู้เชี่ยวชาญได้ทำบันทึกยื่นต่อคณะกรรมาธิการ และคณะกรรมาธิการได้รับรองแล้ว จึงเชิญนายปรีดีมาถามความพอใจในบทวิเคราะห์ศัพท์นั้นว่า เป็นบทวิเคราะห์ที่เป็นธรรมหรือไม่อย่างใด ครั้นเมื่อนายปรีดีพอใจในบทวิเคราะห์นั้นแล้ว คณะกรรมาธิการจึงจะถามในลักษณะแต่ละข้อแห่งคอมมิวนิสต์นั้นต่อไปว่า นายปรีดีมีความคิดเห็นในทางการเมืองอย่างไรบ้าง หลังจากได้รับคำตอบแล้ว คณะกรรมาธิการจึงจะวินิจฉัยว่า “ปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ ?”

การสอบสวนจากคณะกรรมาธิการพิเศษชุดนั้นสิ้นสุดลงพร้อมกับลงมติเป็นเอกฉันท์ว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมไม่มีมลทินเป็นคอมมิวนิสต์ดังกล่าวหา (เป็นการประชุมของคณะกรรมาธิการครั้งที่ ๔ วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๗)

สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมธิการพิเศษ ที่ตัดสินว่า แม้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจของข้าพเจ้าบางส่วนจะมีความคล้ายคลึงกับโครงการเศรษฐกิจ ๕ ปีของโซเวียต แต่เนื้อหาสาระในโครงการนั้นเป็นเรื่องการปฏิรูปการเกษตรซึ่งมิใช่โครงการแบบคอมมิวนิสต์ ต่อจากนั้นโดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร และตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าแต่งตั้งข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลพระยาพหล ฯลฯ กับกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม (ระหว่างธันวาคม ๒๔๘๑-ธันวาคม ๒๔๘๔)

บทความที่ ๑๒๙. สดุดีเกียรติคุณท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

สดุดีเกียรติคุณท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
(เนื่องในวันที่ท่านผู้หญิงพูนศูข พนมยงค์ถึงแก่อสัญกรรมวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐)
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ที่จังหวัดสมุทรปราการ เป็นธิดาคนที่ ๕ ของมหาอำมาตย์ตรีพระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร) กับคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิต (สกุลเดิมสุวรรณศร) เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟอคอนแวนต์ ตั้งแต่ชั้นประถม ๑ จนถึงมัธยม ๗ สมรสกับศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ มีบุตรธิดา รวมทั้งสิ้น ๖ คน

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ อาจจะมิใช่นักวิชาการ นักบริหาร หรือนักการเมืองที่โดดเด่นมีชื่อเสียง แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ประวัติชีวิตและประสบการณ์ของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ นั้น เป็นส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งของประเทศไทย ท่ามกลางกระแสแห่งความผันผวนปรวนแปรทางการเมืองที่ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ถูกกระทบอย่างหนักหน่วงรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่านับตั้งแต่เข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพและประชาธิปไตย

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ก็ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นเช่นกัน อาทิ ย่ำรุ่งของวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ คณะรัฐประหารนำโดย พลโทผิน ชุณหะวัน (ยศในขณะนั้น) ได้สั่งการให้ขบวนรถถังบุกมาที่ทำเนียบท่าช้างและยิงถล่มไปที่เป้าหมายคือห้องนอนของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ต้องปกป้องบุตรธิดาแต่เพียงลำพัง เนื่องจากศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ได้หลบหนีออกไปก่อนเพียงไม่กี่นาที และต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ

นับแต่นั้นมาท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้แบกรับหน้าที่การเป็นพ่อและแม่ในคราวเดียวกันด้วยความอดทน ให้ความรักและความอบอุ่นแก่ลูก ๆ รวมทั้งติดตามข่าวสารและหาหนทางติดต่อคอยช่วยเหลือศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ตลอดเวลา

เมื่อจับศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ไม่ได้ ครอบครัวพนมยงค์ก็ได้รับการกลั่นแกล้งจากผู้มีอำนาจในแผ่นดินมาโดยตลอด ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เองก็ถูกตำรวจับกุมในข้อหา “กบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร” เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ ถูกคุมขังอยู่ ๘๔ วัน กว่าตำรวจจะเสนอเรื่องไปยังกรมอัยการ เมื่อกรมอัยการพิจารณาแล้ว ปรากฎว่าไม่มีหลักฐานฟ้องฐานกบฎได้ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์จึงได้รับการปล่อยตัว

เป็นที่ประจักษ์กันดีว่า ไม่ว่าจะทุกข์จะสุขจะรุ่งเรืองหรือถูกรังแกอย่างไร ต้องติดคุก ต้องหลบหนีภัยต่าง ๆ นานา ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ยังคงแข็งแกร่งยืนหยัดอยู่เคียงข้างคอยเป็นกำลังใจให้ศาสตราจารย์ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์มาโดยตลอด

แม้ในยามรุ่งเรืองได้ดำรงฐานะภริยาของผู้มีตำแหน่งหน้าที่สูงสุดในการบริหารประเทศ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ก็ไม่เคยอาศัยตำแหน่งของสามีตักตวงผลประโยชน์เพื่อตนเอง เพื่อพวกพ้องหรือเพื่อวงศ์ตระกูลแต่อย่างไร และไม่เคยเข้าไปแทรกแซงเกี่ยวข้องการงานในหน้าที่ของสามีแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ กลับดำรงชีวิตอย่างสมถะ แต่มีความสุขอย่างเรียบง่าย ยึดมั่นในการรักษาศีล ละเว้นอบายมุขตามหลักธรรมคำสอน มีเมตตาเผื่อแผ่เพื่อนมนุษย์ และกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ประพฤติปฏิบัติอย่างเสมอต้นเสมอปลายจนทุกวันนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีและเป็นบทเรียนที่ล้ำค่าสำหรับทุกคน

แต่เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่นรุกรานประเทศไทย ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ พร้อมด้วยชาวไทยผู้รักชาติ ได้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น เพื่อต่อสู้ป้องกันเอกราชอธิปไตยของชาติ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ได้เข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเสรีไทยคนหนึ่ง ด้วยการใช้ความรู้ความสามารถทางด้านภาษาที่ศึกษามาจากโรงเรียนคอนแวนต์ รับฟังวิทยุติดต่อฝ่ายสัมพันธมิตรด้วยลายมือโดยไม่ใช่เครื่องพิมพ์ดีด ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้แก่เสรีไทยที่มาปรึกษางานกับศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเหตุการณ์และการกระทำบางส่วนของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เท่านั้น ในฐานะภรรยาอาจมองได้ว่าเป็นเรื่องปกติวิสัยของผู้เป็นคู่ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา แต่หากท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มิได้มีจิตสำนึกในเรื่องประชาธิปไตยและการรับใช้ชาติแล้ว ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ก็คงไม่อุทิศตนและเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างอย่างที่ทราบกัน นับได้ว่าท่านผู้หญิง พนมยงค์ เป็นส่วนสำคัญยิ่งส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนคุณูปการทั้งหลายที่ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ทำไว้ จนได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโสคนแรกและคนเดียวของประเทศไทย การเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และการได้รับสมญานามว่าเป็นคนดีศรีสยาม

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ยังมีบทบาทสำคัญในการสืบทอดเจตนารมณ์เกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้สร้างไว้ร่วมกับลูกหลานศิษย์เก่า รวมทั้งผู้เคารพศรัทธาในศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ นอกจากท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์จะดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์แล้ว ท่านยังกรุณาเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการจัดงานเชิดชูเกียรติศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เนื่องในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาล และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ยังให้คำปรึกษา แนะนำและเสนอความคิดเห็นแก่บุคคล องค์กร และหน่วยงานต่าง ๆ เกี่ยวกับกิจกรรมหรือโครงการที่เป็นการสานต่ออุดมการณ์ของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเช้าตรู่ของวันเสาร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐ เป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญที่มีคุณงามความดีต่อประเทศชาติไปอีกท่านหนึ่ง แต่คุณงามความดีและคุณูปการของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์จะถูกประชาชนชาวไทยจารึกจดจำไว้ตราบนาน

Friday, May 11, 2007

บทความที่ ๑๒๘. คุณจาตุรนต์ ฉายแสงให้สัมภาษณ์วารสารประชาทรรศน์

คุณจาตุรนต์ ฉายแสงให้สัมภาษณ์วารสาร ประชาทรรศน์
ฉบับปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๔ ๗-๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๐

ถาม หลายคนมองว่าระบอบอำมาตยาธิปไตยจะมีบทบาทสำคัญในร่างฯ แรก เพราะมันผ่านองค์กรอิสระอะไรต่าง ๆ มาค่อนข้างเยอะ และเป็นการจำกัดความได้เปรียบของพรรคไทยรักไทยด้วย

จ. การร่างรัฐธรรมนูญหลังการยึดอำนาจทุกครั้งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบอำมาตยาธิปไตย ครั้งนี้ก็ไม่ใช่การยกเว้น มองไปแล้วเป็นการพยายามทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ ผลผลิตที่ตามมาคือ รัฐบาลผสมที่ไม่เข้มแข็ง นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจอะไรมาก พรรคการเมืองไม่มีบทบาทอะไรมาก การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น นอกนั้นที่เขาเพิ่มเข้ามาคือ ความพยายามที่จะสกัดกั้นพรรคไทยรักไทยโดยเฉพาะ คือกติกาเดิมเคยมีอยู่อย่างไรเขาจะไปแก้มันให้ได้มาก ๆ เพราะเขาเข้าใจว่าพรรคไทยรักไทยได้มีอำนาจมาเพราะกติกาอย่างเดิม เพราะฉะนั้นการสกัดกั้นพรรคไทยรักไทย ก็คือพยายามเปลี่ยนกติกาทิ้งเท่าที่พอจะทำได้

ถาม เรื่องปาร์ตี้ลิสต์ไปกำหนดว่าภาคละ ๒๐:๒๐:๒๐ อย่างนี้

จ. อันนี้เป็นการช่วยพรรคประชาธิปปัตย์โดยตรง พูดกันตรงไปตรงมา เป็นการเขียนระบบมาเพื่อช่วยพรรคประชาธิปปัตย์โดยตรง เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีฐานเสียงสำคัญอยู่ที่ภาคใต้ ส.ส.เกือบทั้งภาคเป็นพรรคประชาธิปัตย์เกือบทุกคน แต่ภาคใต้มีประชากรน้อย ซึ่งมีผู้แทนฯน้อย แต่พอบอกว่าให้แต่ละภาคมี ๒๐ คนเท่ากัน แสดงว่าพรรคประชาธิปปัตย์ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรน้อยและมีฐานเสียงน้อยมาก แต่จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มาก ภาคอีสานมีประชากรมากกว่าภาคใต้ประมาณเกือบ ๓ เท่าแต่ภาคใต้มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเท่ากับภาคอีสาน อันนี้เป็นการออกแบบมาเพื่อช่วยพรรคประชาธิปัตย์ ตัดกำลังไทยรักไทยโดยเฉพาะ

ถาม คำนิยามของ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริที่บอกว่าโชว์จุดขายฉบับนี้คือ ลดการผูกขาดและการสร้างดุลยภาพอำนาจ เป็นเหตุผลที่รับฟังได้ไหมว่าจะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีกว่าปี ๒๕๔๐

จ. ไม่ได้อยู่แล้ว ลดการผูกขาดหมายความว่าอะไร? ลดการผูกขาดโดยใคร ? ถ้าลดการผูกขาดของทุนผูกขาดอย่างนี้ ต้องพูดกันว่าด้วยกติกาว่าด้วยเศรษฐกิจเสรี ผูกขาดอำนาจหมายถึงอะไร เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญเดิมเขียนไว้แล้วไปผูกขาดอำนาจที่ไหน? แต่ถ้าอำนาจมาจากประชาชน ประชาชนพร้อมใจกันเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งแล้วไปเขียนจนกระทั่งต้องให้แน่ใจว่าประชาชนจะเลือกแบบกระ จัดกระจายไป อย่างนี้คงไม่ใช่ แต่ว่าโดยรวมแล้วไปโต้แย้งกับคุณประสงค์ก็คงไม่ค่อยมีประโยชน์ เพราะว่าฟังไม่ขึ้นหรอกที่เขียนรัฐธรรมนูญออกมาแล้วเป็นรัฐธรรมนูญที่รองรับระบบที่ประชาชนไม่ได้เป็นใหญ่ อำนาจประชาธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชนอีกต่อไป เป็นของคณะบุคคลที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน แล้วจะมาบอกว่าดีกว่ารัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ เป็นไปไม่ได้ !!!

ถาม พรรคไทยรักไทยจะต้องสู้คดียุบพรรคซึ่งน่าหวาดเสียว วางแผนอะไรเอาไว้บ้าง

จ. ที่ผ่านมาเราพยายามรักษาพรรคไทยรักไทยไว้ มีแกนนำ มีคนรักษาการ แล้วยืนยันนโยบาย ยืนยันการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ยืนยันนโยบายเดิม ส่วนที่ประสบความสำเร็จเตรียมจะทำนโยบายเพิ่มเติมเมื่อเราสามารถจะทำได้แล้ว เราสู้คดียุบพรรคมาซึ่งต้องรอถึงวันที่ ๓๐ พ.ค.นี้ จะทราบผลแล้ว หลังคดียุบพรรคถ้าหากว่าไม่ยุบเราเดินหน้าต่อไป ถ้ายุบต้องดูว่ามีใครถูกตัดสิทธิ์อะไรแค่ไหนหรือไม่ หลังจากนั้นถ้ายุบ คนของไทยรักไทยคงคิดต่อสู้ทางการเมือง ทำงานทางการเมืองกันต่อไป ต้องหาทางตั้งพรรคการเมือง แล้วต้องพยายามที่จะเอาอุดมการณ์แนวทางนโยบายไทยรักไทยมาใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองต่อไป เราเชื่อว่าคงไม่ถูกยุบ แต่เชื่อ ๑๐๐ % ไม่ได้ เพราะ คมช.เขาพูดอยู่บ่อย ๆ อันนี้ไม่ใช่เราไปกล่าวหาอะไร คมช. เขาพูดเองชัดเจน เพราะเชื่อว่าพรรคไทยรักไทยจะถูกยุบ เป็นเพราะว่าพรรคไทยรักไทยควรจะถูกยุบ เราต้องทราบว่า คมช.เขามีธงที่จะยุบพรรคไทยรักไทย ประมาทไม่ได้ ไม่ว่าอย่างไรต้องพยายามต่อสู้ทางการเมืองต่อไป จะไม่ยอมแพ้ ยอมสลายตัวไปเพราะการยึดอำนาจและธงของผู้ยึดอำนาจคงไม่ได้ ถ้าประชาชนยังสนับสนุนอุดมการณ์และนโยบายของพรรคไทยรักไทยอยู่ คงจะมีชาวพรรคไทยรักไทยที่จะยืนหยัดสู่ต่อไปแน่

ถาม ในรอบ ๖ เดือน ทั้ง คมช.และ ครม. แสดงการแถลงผลงานของรัฐบาลเป็นภาพลวงหรือเป็นผลงาน ในมุมมองสอบผ่านหรือสอบตก

จ. ผมเคยแสดงความเห็นไปแล้วว่าสอบไม่ผ่าน เพราะว่าไม่ได้แก้ปัญหาอะไร การคืนประชาธิปไตยไปไม่ถึงไหน ยิ่งถ้ามาพูดตอนนี้ ตอนที่ร่าง ฯ กำลังผ่านขั้นกรรมาธิการไปแล้ว ยิ่งเห็นว่าไม่ได้คืนประชาธิปไตยให้ประชาชน ส่วนการแก้ปัญหาสำคัญ ๆ ยิ่งถ้าอ้างเอายศ เอาข้ออ้าง ๔ ข้อมาเป็นเกณฑ์ดูว่าทำอะไรไปถึงไหนจะพบว่าแย่ไปกว่าเดิม แย่ลงไปอีกเป็นส่วนใหญ่ นอกนั้น ๖ เดือนมานี้ทำให้เศรษฐกิจ ของประเทศเสียหายยับเยิน มีความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นล้านล้านแล้วมั้ง จากข้ออ้างว่าจะจับทุจริต จนบัดนี้ยังจับทุจริตไม่ได้สักบาท แล้วถ้าจับได้จริง ๆ คงไม่ทราบว่ากี่ร้อยล้าน กี่พันล้าน แต่ประเทศได้เสียหายไปแล้วเป็นล้านล้านบาท คือมากกว่าหลายแสนล้านเป็นล้านล้านบาท นี่ล้มเหลวสิ้นเชิง

ถาม ถ้ามีการเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทยได้กลับมาเป็นรัฐบาล แต่ว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศแล้วว่าไม่เอา ไม่ยอม จะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร

จ. อันนี้อยากถาม คมช. กับพันธมิตรฯ เหมือนกันว่าเขาคิดอย่างไร เขาคิดว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเนี่ย จะต้องมีผลว่าพรรคไทยรักไทยจะต้องหายสาบสูญไปจากการเมืองไทยจึงจะยอมให้มีการเลือกตั้ง หรือว่าถ้าเลือกตั้งมาแล้ว พรรคไทยรักไทยเกิดได้เสียงข้างมากเขาจะไม่ยอมให้รับการเลือกตั้งอีกหรือยังไง ข้อนี้ต้องถาม คมช. พวกพันธมิตรฯ เพราะว่าถ้าเป็นการเลือกตั้งปกติ เขาต้องยอมรับได้ ผลออกมาอย่างไรก็ต้องยอมรับ แต่ถ้าเป็นการเลือกตั้งแบบต้องรู้ผลล่วงหน้า อันนี้ก็เป็นการเลือกตั้งหลอกต้มคนทั้งโลกเท่านั้นเอง จากคำถามนี้ก็สะท้อนให้เห็นปัญหาของประเทศไทย คือการไม่ยอมรับกติกา ไม่ยอมรับระบบ โดยเฉพาะไม่ยอมรับระบอบประชาธิปไตย ไม่ยอมรับระบบที่ใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการตัดสินว่าประเทศไทยจะปกครองโดยใคร โดยนโยบายอย่างไร กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเขาเกิดไม่ยอมรับ เขาต้องการให้บ้านเมืองบริหารปกครองตามความคิดความเชื่อของเขาเท่านั้น ถ้าไม่เป็นไปตามนั้นเขาก็เชิญทหารมายึดอำนาจ แล้วบอกว่าบ้านเมืองต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตามแต่กลุ่มผู้มีอำนาจต้องการ ถามว่าความคิดอย่างนี้คงมีอยู่ไหม หลังเลือกตั้งแล้วจะยังคงอยู่ไหม แนวโน้มดูเหมือนว่ายังคงอยู่ จะเป็นปัญหาของประเทศต่อไป จะแก้ปัญหานี้ได้ต่อเมื่อเราทำให้คนส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่าบ้านเมืองควรจะปกครองโดยประชาชน แล้วต้องมีวิธีให้ประชาชนมาใช้อำนาจ จะทั้งโดยการมีส่วนร่วมโดยตรง โดยการเลือกตั้ง โดยการมีองค์กรต่าง ๆ มาช่วยตรวจสอบ แล้วให้เป็นไปตามกติกา ถ้ามีคนไม่เห็นด้วยเขาควรแสดงความเห็นได้ว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ไม่เห็นด้วยกับพรรคการเมือง เขาควรจะแสดงความเห็นได้ แต่เขาไม่ควรจะทำถึงขั้นโค่นล้มรัฐบาลนั้น ๆ โดยนอกกติกา โดยไม่ยึดถือตามกติกาโดยเฉพาะไม่ควรไปเชื้อเชิญทหารมายึดอำนาจ และทหารไม่ควรมายึดอำนาจไม่ว่าจะมีข้ออ้างใด ๆ ปัญหาของประเทศไทยก็คือเรายังไม่เป็นประชาธิปไตยในความหมายนี้ เพราะเรายังคงปกครองในระบอบที่อนุญาตและยินยอมให้มีคณะบุคคลหนึ่งบุคคลใดสามารถตัดสินความเป็นไปของบ้านเมืองเหนือกว่าประชาชนทั่วไป เมื่อก่อนนี้พูดทำนองว่า รัฐบาลทักษิณ หรือนายกฯ ทักษิณผิดที่ไปมองว่าผู้นำในสังคม คนที่มีบทบาทในสังคมมีเสียงเดียวเท่าประชาชน ที่อ้างว่าทุกคนมีเสียงเท่ากันเขาบอกว่ามองผู้นำทางสังคมมีเสียงเดียวเท่าประชาชนได้อย่างไร ? ซึ่งฟังดูรู้สึกแปลก ๆ ว่าทำไมไปเห็นว่าการที่ประชาชนทกคนมีเสียงเท่ากันเป็นเรื่องผิด !!! แต่พอเอาเข้าจริง ๆ มันแย่กว่านั้นเพราะเขาไปมองว่ากลุ่มคนผู้นำทางสังคมไม่กี่คนมีเสียงเหนือกว่าประชาชนทั้งประเทศ เขาถึงได้ไปเชื้อเชิญทหารมายึดอำนาจ และจนบัดนี้เขายังมีความคิดว่ากลุ่มคนไม่กี่คนนั้นยังคงมีอำนาจเหนือประชาชนทั่วไป แม้จะมีการเลือกตั้งในอนาคตข้างหน้านี้ เขาก็ยังขอสิทธิในการที่จะดูว่าหลังจากการเลือกตั้งแล้ว บ้านเมืองจะเป็นไปอย่างที่เขาต้องการหรือไม่ แล้วถ้าไม่เป็นอย่างที่เขาต้องการเขาก็ยังต้องการกำหนดต่อไปอีก นี่แสดงให้เห็นว่าระบบการคิดแบบเผด็จการยังมีอำนาจครอบงำสังคมไทยอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาของการที่เราไม่สามารถพัฒนาการหลุดพ้นจากการปกครองแบบเผด็จการตลอดระยะเวลากว่า ๗๐ ปีที่ผ่านมา

ถาม แสดงว่าถ้ามองมุมหนึ่งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะเป็นบุคคลผู้มากบารมีนอกรัฐธรรมนูญได้ไหม เพราะมองดูก็ไม่ยอมรับกติการัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ในกรอบที่มาจากการเลือกตั้ง

จ. ผมไม่อยากใช้คำนั้น ไม่ขอแสดงความเห็นคำนั้น แต่ว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ก็ดี คณะที่ยึดอำนาจก็ดีเขาคือคณะที่ไม่เชื่อถือ ไม่ยึดถือระบบ คือไม่เห็นว่าประชาชนทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายเดียวกัน อย่างนี้คือปัญหาของประเทศไทยในกว่า ๗๐ ปีที่ผ่านมา คณะบุคคลบางคณะถือตัวเองเหนือประชาชนทั่วไป และไม่ยินยอมให้ประชาชนปกครองกันเอง มีการเลือกตั้งมา ได้ผู้ปกครองมา เขาถือว่าประชาชนโง่อยู่ไม่มีความสามารถจะเลือกคนดีมาปกครองได้ ยอมขายสิทธิ์ขายเสียงได้ผู้นำมาทุจริตคอร์รัปชั่นเพื่อจะเอาไปซื้อขายเสียงต่อ เพราะฉะนั้นให้ปกครองโดยคณะบุคคลเสียดีกว่าและคณะบุคคลนั้นจะเป็นใคร เป็นข้าราชการที่นำโดยทหารซึ่งคือผู้มีกองทัพอยู่ในมือ ผู้มีกำลังอาวุธอยู่ในมือ ส่วนใหญ่ประเทศไทยจึงปกครองกันมาโดยผู้มีกำลังอาวุธเป็นหลัก นาน ๆ ครั้งจึงปล่อยให้มีพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งปกครองเสียระยะสั้น ๆ แล้วเขาทนไม่ได้ก็ไปยึดอีก เพราะฉะนั้นประเทศไทยจึงปกครองโดยไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย...

ถาม คุณพิภพ ธงชัย ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยให้สัมภาษณ์อีกฉบับหนึ่งว่า มันไม่มีทางเลือกอื่นหรอกนอกจากปฏิวัติ

จ. เมื่อเขาเห็นด้วยกับการยึดอำนาจเมื่อ ๑๙ ก.ย.ได้ ก็เป็นธรรมดาที่เขาอยากเห็นการยึดอำนาจอีก เพราะเขาเห็นว่าการยึดอำนาจ การรัฐประหารเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องทำได้ เป็นเรื่องดีงามเสียแล้ว นี่คือปัญหาประชาธิปไตยของประเทศไทย คือว่าถ้าลองเราเห็นว่าการยึดอำนาจรัฐประหารเป็นเรื่องดีเป็นเรื่องทำได้ จะมีคนทั้งคนเดิมและคนรุ่นต่อ ๆ ไป คิดได้อีกว่าการยึดอำนาจรัฐประหารเป็นเรื่องทำได้เป็นเรื่องดี ถ้าเรายึดหลักประชาธิปไตยกันจริง ๆ ก็ต้องเห็นว่าเป็นเรื่องเลวร้าย เป็นเรื่องเลวทรามที่ทำไม่ได้ และไม่ควรทำอีกไม่ว่ากรณีใด ๆ ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใด ๆ อันนี้แสดงว่าถ้าเขาพูดว่าผิดหวัง ผมอยากให้พูดเป็นตัวบุคคล ผมผิดหวังกับสิ่งที่เคยเรียกตัวเองหรือถูกเรียกว่าพลังประชาธิปไตยจำนวนไม่น้อย ที่ครั้งหนึ่งเคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาในอดีต เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก่อนและหลัง ๑๙ ก.ย.ได้กลายเป็นพลังสนับสนุนการล้มล้างประชาธิปไตย อันนี้ถือเป็นโศกนาฏกรรมของประเทศไทย เป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดของประชาธิปไตย คือการที่พลังประชาธิปไตยในอดีตได้ย้ายข้างไปสนับสนุนระบอบเผด็จการและยังคงสนับสนุนอยู่ ที่ว่าเป็นโศกนาฏกรรมเพราะว่า นอกจากจะทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติแล้ว ยังทำให้ยากที่จะแก้ไขให้กลับคืนมาเป็นประชาธิปไตย เพราะเราขาดพลังสนับสนุนที่สำคัญ เนื่องจากพลังสนับสนุนได้ย้ายข้างไปเสียแล้ว ยังได้หวังว่าพลังเหล่านี้จะค่อย ๆ ปรับตัวกลับความคิด เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า การทำรัฐประหารที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดความเสียหายกว่าที่เขาเคยคิด...

บทความที่ ๑๒๗. เนื่องในวันชาตกาล ๑๐๗ ปีรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์

ก่อกำเนิดจิตสำนึกประชาธิปไตย์
(เนื่องในวันครบรอบ ๑๐๗ ปีชาตกาลรัฐบุรษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ๑๑ พฤษาภาคม ๒๕๕๐)

ท่านรัฐบุรษอาวุโสปรีดี พนมยงค์เป็นบุตรชายคนโตของนายเสียงและนางลูกจันทน์ พนมยงค์ ท่านถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๓ ตรงกับ ค.ศ.๑๙๐๐ ณ บ้านหน้าวัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์สถาน ปรีดี พนมยงค์

พี่สาวคนเดียวของท่านได้สมรสกับคุณพระธราทรพิทักษ์ ข้าราชการที่ดินและน้องสาวคนหนึ่งก็สมรสกับคุณพระนิติทัณฑ์ประภาส ข้าราชการตุลาการ ขณะที่น้องชายต่างมารดาคือคุณหลวงอรรถกิติกำจรเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สำหรับน้องชายและน้องสาวคนอื่น ๆ ก็ต่างประกอบสัมมาอาชีพและมีหลักฐานมั่นคง

สำหรับการศึกษาในประเทศไทย ท่านปรีดีฯ ได้บันทึกไว้ว่า “เริ่มศึกษาหนังสือไทยที่บ้านครูแสง ตำบลท่าวาสุกรี แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่บ้านหลวงปราณี(เปี่ยม)อำเภอท่าเรือ อ่านออกเขียนได้แล้ว เข้าศึกษาที่โรงเรียนวัดรวก ซึ่งสมัยนั้นเป็นโรงเรียนรัฐบาลประจำอำเภอท่าเรือ สอบไลได้ชั้น ๑ แห่งประโยค ๑ (ตามหลักสูตรกระทรวงธรรมการสมัยนั้นที่จำแนกการศึกษาสามัญออกเป็น ๓ ประโยคๆละ ๔ ชั้น ยังมิได้จำแนกเป็นชั้นมูล ประถม มัธยม

ต่อมากระทรวงธรรมการจัดหลักสูตรใหม่ จำแนกเป็นชั้นมูล ประถม มัธยม จึงย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนวัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า สอบไล่ได้ประถมบริบูรณ์ตามหลักสูตรใหม่แล้ว ย้ายไปศึกษาชั้นมัธยมเตรียมที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร (คือโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน) แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า (คือโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยในปัจจุบัน)จนสอบไล่ได้ชั้นมัธยม ๖ (ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดสำหรับหัวเมือง) แล้วไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบอีก ๖ เดือน จึงลาออกเพื่อกลับไปช่วยบิดาทำนา ซึ่งได้รับความรู้ทางปฏิบัติเป็นอันมากจากชาวนา ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.๒๔๕๘-๒๔๕๙ ซึ่งท่านรัฐบุรุษอาวุโสมีอายุประมาณ ๑๕ ปีเศษ แม้ว่าจะสำเร็จชั้นมัธยมบริบูรณ์ในสมัยนั้นแล้ว แต่ก็ยังอายุน้อยต่ำกว่าเกณฑ์ที่จะเข้าศึกษาต่อ

กระนั้นจิตสำนึกของท่านที่ตกลงใจทำการ “อภิวัฒน์” หรือเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยก็ได้เริ่มก่อตัวขึ้นมาเป็นลำดับแล้ว ตามที่ได้บันทึกไว้ใน “ชีวิตและการงานของปรีดี-พูนศุข” ที่ได้ทำขึ้นเมื่อหลายปีก่อนที่ท่านจะถึงอสัญกรรมใน พ.ศ. ๒๕๒๖

ท่านปรีดี พนมยงค์กล่าวว่าตั้งแต่ท่านจำความได้ ก็ได้เห็นชาวนาผู้ยากจนถูกเบียดเบียนจากบรรดา “นายทุน” อาทิ พ่อค้าข้าวและเจ้าของโรงสีข้าว ตลอดจนเจ้าของที่ดินในกรณีที่ชาวนาไม่มีที่ดินทำกินของตนเอง นอกจากนั้นชาวนาก็ยังต้องประสบภัยธรรมชาติ เช่นการระบาดของโรคพืช ฝนแล้ง น้ำท่วม ฯลฯ อีกทั้งก็ยังได้รับความเดือดร้อนจากโจรผู้ร้ายที่มีอยู่ทั่วหัวระแหง เมื่อชาวนาไม่มีเงินใช้หนี้ ก็จะถูกเจ้าของนายึดทรัพย์ ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้ย้อนรำลึกในสมัยที่ยังเยาว์วัยว่า “ผมประสบพบเห็นความอัตคัตของบิดามารดา และเมื่อไปอยู่กับบิดา(ตอนที่เรียนจบชั้นมัธยมแล้ว)ก็พบเห็นความอัตคัตขัดสนของชาวนาทั่วไป”

ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า ขณะที่ท่านเรียนอยู่ชั้นประถม ท่านปรีดีฯ เคยได้ยินบิดาของท่านกล่าวถึงคำบอกเล่าของ “เจ้าคุณกรุงฯ” ถึงระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในเมืองอังกฤษที่ท่านเจ้าคุณฯ ได้ไปเห็นมาขณะที่รับราชการอยู่ ณ สถานทูตกรุงลอนดอน เมื่อกลับมาเมืองไทย พระยาไชยวิชิต สิทธิสาตรา(นาค ณ ป้อมเพชร) ได้ชี้แจงให้ลูกหลานและญาติมิตรทราบถึงวิธีปกครองแบบมีสภาผู้แทนราษฎรตามที่ท่านเคยเห็นมาว่าเป็นประโยชน์แก่ราษฎร และนายเสียง พนมยงค์บิดาของท่านปรีดีฯ ก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับคำชี้แจงจากท่านเจ้าคุณฯ จึงได้นำเรื่องดังกล่าวมาอธิบายชี้แจงต่อ แต่เพราะท่านปรีดีฯ ยังอายุน้อย จึงพอทราบเรื่องเพียงเป็นเค้าลาง ๆ

ต่อมาเมื่อท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้เข้าเรียนในชั้นมัธยม ซึ่งต้องเรียนวิชาภูมิศาสตร์ กว้างขวางขึ้น รวมทั้งประวัติศาสตร์สากลโดยสังเขป ท่านบอกว่าคุณครูสอนว่าการปกครองนั้นมีอยู่ด้วยกัน ๓ แบบคือ แบบที่พระเจ้าแผ่นดินทรงอยู่เหนือกฎหมาย หรือที่เรียกว่า “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” แบบที่พระเจ้าแผ่นดินทรงอยู่ใต้กฎหมาย และแบบที่ราษฎรเลือกตั้งประมุขของประเทศเรียกว่า “รีพับบลิก” (สาธารณรัฐ)

ครั้นถึง ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๔) ต้นรัชกาลที่ ๖ ขณะที่ท่านปรีดีฯ มีอายุได้ ๑๑ ปี ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่ทำให้ท่านเริ่มสนใจการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบที่พระเจ้าแผ่นดินทรงอยู่เหนือกฎหมาย ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้เขียนเล่าไว้ดังนี้

“หนังสือพิมพ์ลงข่าวตื่นเต้นกันถึงสงครามในประเทศจีนระหว่างฝ่ายเก็กเหม็ง(สำเนียงแต้จิ๋ว) ภาย ใต้การนำของซุนยัดเซนกับฝ่ายกษัตริย์ราชวงศ์แมนจู ครูบางท่านที่ก้าวหน้าได้ติดตามข่าวแล้วเอามาวิจารณ์ให้นักเรียนฟังว่า วันไหนฝ่ายใดชนะ ฝ่ายใดแพ้ ซึ่งทำให้ท่านปรีดีและนักเรียนที่สนใจสนุกกับข่าวนั้น ฝ่ายพวกจีนเก็กเหม็งที่อยุธยาก็ได้ใช้วิธีโฆษณา โดยเช่าห้องไว้ที่ตลาดหัวรอไว้เป็นห้องอ่านหนังสือมีภาพการรบเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้สนใจ ส่วนงิ้วที่ศิลปินจีนแสดงประจำที่วัดเชิง (วัดพนัญเชิง) นั้นก็เปลี่ยนเรื่องเล่าใหม่ให้สมกับสมัย คือเล่นเรื่องกองทหารเก็กเหม็งรบกับกองทหารกษัตริย์ จึงทำให้คนดูเห็นเป็นการสนุกไปด้วย

ต่อมาไม่ช้าความปรากฏว่าฝ่ายกษัตริย์แห่งราชวงศ์แมนจูต้องพ่ายแพ้ ครูที่ก้าวหน้าจึงพูดเปรย ๆ กับปรีดีว่า ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็สิ้นไปแล้วในจีน ยังเหลือแต่รุสเซียกับเมืองไทยเท่านั้น ครูไม่รู้ว่าระบบสมบูรณาฯ ใดใน ๒ ประเทศนี้ ประเทศใดจะสิ้นสุดก่อนกัน

ต่อมาในปลายปี ร.ศ.๑๓๐ ก็มีข่าวแพร่ไปถึงบ้านปรีดีที่อยุธยาว่า นายทหารจำนวนหนึ่งกับพลเรือนอีกบางคนได้เตรียมการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบบสมบูรณาฯ เพื่อให้มีการปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้กฎหมาย แต่ยังไม่ทันลงมือกระทำ ก็ถูกรัฐบาลจับกุมส่งศาลพิเศษพิจารณาตัดสินลงโทษขนาดหนัก ปรีดีสนใจในข่าวนี้มากเพราะเห็นว่าเมืองไทยก็มีคณะ ร.ศ.๑๓๐ รักชาติกล้าหาญ เตรียมการเลิกระบบสมบูรณาฯ หากแต่มีคนหนึ่งในขณะนั้นทรยศนำความไปแจ้งแก่รัฐบาล ปรีดีจึงพยายามสอบถามแก่ผู้รู้เรื่องเพื่อทราบเรื่องของคณะ ร.ศ.๑๓๐ ด้วยความเห็นใจมาก”

นอกจากนั้น ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ก็ยังเคยเล่าประสบการณ์ส่วนตัวของท่านสมัยที่ยังเรียนชั้นมัธยม (เข้าใจว่าขณะที่กำลังเรียนอยู่ที่โรงเรียนมัธยมเบญจบพิตร) เอาไว้เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕ ดังมีข้อความดังนี้

“เมื่อครั้งข้าพเจ้าเรียนในชั้นมัธยมเบื้องต้นสมัยเมื่อ ๖๐ กว่าปีมาแล้ว เคยได้ยินและได้อ่าน และได้พบคนธรรมดาสามัญที่มีอายุชราแล้ว ๒ คน คือ ก.ส.ร.กุหลาบ ที่ออกนิตยสาร “สยามประเภท” ที่แคะไค้ระบบการปกครองสมบูรณาฯ จนมีผู้ใส่ความว่าผู้นี้มีจิตฟุ้งซ่าน แต่เมื่อข้าพเจ้าไปพบ ก็ไม่เห็นว่าท่านฟุ้งซ่าน อีกคนหนึ่งคือ “เทียนวรรณ” ซึ่งมีฉายาว่า “วรรณโภ” ท่านผู้นี้มีคติประชาธิปไตยมาก ขณะนั้นท่านหนวดขาวแล้ว ประมาณว่าขณะนั้นมีอายุเกือบ ๗๐ ปี ข้าพเจ้าพบที่ตึกแถวใกล้วัดบวรนิเวศน์ ท่านผู้นี้เคยติดคุกเพราะเขียนหนังสือและโฆษณาที่ขัดแย้งระบบสมบูรณาฯ ท่านเห็นว่าท่านไม่ผิดกฎหมาย กรณีของท่านจึงเข้าลักษณะคำพังเพยโบราณว่า “กฎหมายสู้กฎหมู่ไม่ได้” ซึ่งแสดงถึงการเล่นพวกของตุลาการสมัยโบราณ แต่ท่านเทียนวรรณที่ถูกติดคุก ได้กล่าววลีเติมอีก รวมเป็นดั่งนี้ “กฎหมายสู้กฎหมู่ไม่ได้ กฎหมู่ก็ยังสู้กดคอไม่ได้ กดคอ ก็ยังสู้เจ้าหักคอไม่ได้” นี่ก็แสดงถึงทรรศนะที่ท่านเทียนวรรณมีต่อระบอบสมบูรณาฯ

ชนรุ่นใหม่หลายคนในสมัยนั้นที่ได้อ่านและได้สนทนากับท่านเทียนวรรณ ยังพอจำกันได้ถึงวลีของท่านดั่งกล่าวนี้ แต่ท่านเป็นคนธรรมดาสามัญ จึงไม่ได้รับความสนใจจากผู้ที่ถือทรรศนะตามพลังเก่า และดูเหมือนคนพลังเก่า และดูเหมือนคนพลังเก่าไม่ยอมกล่าวถึง ก.ศ.ร.กุหลาบและเทียนวรรณ ซึ่งขณะเป็นหนุ่มเมื่อ ๑๐๐ ปีกว่ามาแล้ว ได้แสดงการเรียกร้องให้เปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ”

ในปี พ.ศ.๒๔๖๐ ท่านปรีดี พนมยงค์อายุ ๑๗ ปี ได้เข้าศึกษาวิชากฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม และในขณะเดียวกันก็ได้แสวงหาประสบการณ์ด้วยการเป็นเสมียนอยู่ที่สำนักงานทนายความพระวิชิตมนตรี (สุด กุณฑลจินดา)อดีตอธิบดีศาลมณฑลชุมพร และอดีตผู้ช่วยเจ้ากรมพระธรรมนูญทหารบก

ที่โรงเรียนกฎหมาย ท่านปรีดีฯได้เรียนรู้จากอาจารย์ผู้สอนว่าในเมืองไทยขณะนั้นมีบุคคลสองกลุ่มที่มีสิทธิพิเศษนอกอำนาจศาลยุติธรรม คือ พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป และคนสัญชาติต่างประเทศที่มีสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับสยาม ความรู้ดังกล่าวนี้ได้กระตุ้นจิตสำนึกในเรื่องประชาธิปไตยของท่านปรีดี พนมยงค์ในครั้งกระนั้น

ในเวลาเดียวกันท่านปรีดีฯ ก็เริ่มศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่เนติบัณฑิตสภาโดยมีอาจารย์ อี.เลเดแกร์ ที่ปรึกษาศาลต่างประเทศชาวฝรั่งเศสเป็นผู้สอนใน พ.ศ.๒๔๖๓ เมื่อท่านปรีดีฯ ได้รับทุนกระทรวงยุติธรรมเดินทางไปศึกษา ณ ประเทศฝรั่งเศส ท่านอาจารย์เลเดแกร์ก็ได้เดินทางไปด้วย ท่านรัฐบุรุษอาวุโสมีความเคารพท่านอาจารย์อิวยีนเลเดแกร์มากดังจะเห็นว่าท่านได้มอบความดีของวิทยานิพนธ์ภาษาฝรั่งเศสของท่านเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ ให้แก่อาจารย์เลเดแกร์ผู้นี้ด้วย

เมื่อท่านปรีดี พนมยงค์ ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงยุติธรรมให้ได้รับทุนไปศึกษาวิชากฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๓ นั้น ท่านสอบไล่ได้วิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตมาแล้ว ๑ ปี แต่ยังเป็น “เนติบัณฑิตสยาม” ไม่ได้เพราะอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงต้องรอจนกระทั่งเดือนพฤษภาคม ๒๔๖๓ จึงได้เป็นสมาชิกสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา

ในระหว่างนั้น ท่านได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนโท กรมราชทัณฑ์ในสมัยที่พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร)ดำรงตำแหน่งอธิบดี ซีงขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเพชรชฏา ท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ที่ท่านปรีดีฯ เคารพนับถือและเป็นผู้ที่ให้ความสนับสนุนในหลายด้านเป็นอย่างมาก

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสเมื่อพ.ศ.๒๔๘๗ ขณะที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ ๘ ได้เขียนถึงพระยาชัยวิชิตฯ ผู้ซึ่งเป็นบิดาของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ไว้ดังต่อไปนี้

“นับตั้งแต่ข้าพเจ้ามีอายุได้ ๑๘ ปี (ขณะที่เป็นนักเรียนกฎหมายใน พ.ศ. ๒๔๖๑) ก็ได้รับความอุปการะคุณจากท่านในทางส่วนตัวเป็นเอนกประการตลอดมากระทั่งถึงแก่กรรม (ในพ.ศ.๒๔๘๗)นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายังถือว่าท่านเป็นครูผู้ให้ความรู้ในเรื่องระเบียบและวิธีปฏิบัติราชการ คือในระหว่างที่ข้าพเจ้าเป็นข้าราชการครั้งแรกโดยเข้าเป็นเสมียนในกรมราชทัณฑ์ และได้พักอาศัยในบ้านของท่าน ท่านได้ฝึกฝนสั่งสอนแนะนำความรู้ในราชการหลายอย่าง ซึ่งข้าพเจ้าได้นำความคิดเห็นของท่านมาใช้เป็นประโยชน์แก่ราชการในภายหลังหลายประการ...”

เนื่องจากท่านปรีดี พนมยงค์มีความผูกผันกับญาติผู้ใหญ่สกุล “ ณ ป้อมเพชร” อยู่มาก และท่านก็ยอมรับว่า จิตสำนึกในเรื่องของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่ท่านยังอยู่ในวัยก่อนไปศึกษา ณ ประเทศฝรั่งเศสส่วนหนึ่งก็เนื่องจากที่ได้รับอิทธิพลทางอ้อมจากท่าน “เจ้าคุณกรุง”ซึ่งเป็นบิดาของพระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดาและขุนวิวัฒนาการ ดังนั้นท่านจึงได้จดจำเรื่องราวของ “เจ้าคุณกรุง” และนำมาเขียนเล่าเอาไว้หลายตอนอาทิเรื่องดังต่อไปนี้ ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ “เจ้าคุณกรุง” กลับมาจากกรุงลอนดอนเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๐

“สมัยนั้นคนไทยจำนวนน้อยมากกที่ได้ไปอยู่หรือไปทัศนาจร หรือได้ศึกษาสภาพการณ์ในประเทศยุโรป เมื่อข้าราชการผู้ใดได้ไปประจำอยู่ในยุโรปหลายปีแล้วกลับมาสยาม ญาติมิตรก็ได้ไปเยี่ยมและถามสภาพความเป็นอยู่และบ้านเมืองของต่างประเทศนั้น

หลวงวิเศษสาลี (บรรดาศักดิ์ในขณะนั้น) จึงได้ตอบชี้แจงความอยากรู้ของญาติมิตรถึงความเจริญนานาประการของอังกฤษที่ก้าวหน้ากว่าสยาม เมื่อญาติมิตรถามว่าอังกฤษเจริญกว่าสยามเพราะเหตุใด หลวงวิเศษสาลีชี้แจงว่า เพราะอังกฤษมีปาเลียเมนท์ คือมีสภาประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นให้เป็นผู้แทนออกกฎหมายเพื่อระงับทุกข์บำรุงสุขของราษฎร พระเจ้าแผ่นดินทรงอยู่ภายใต้กฎหมายการปกครอง คือมีอัครมหาเสนาบดีกับคณะเสนาบดีเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองให้ไปเป็นตามความเห็นของปาเลียเมนท์ ณาติมิตรที่ได้ยินคำบอกเล่าของหลวงวิเศษสาลีก็ได้พูดกันต่อ ๆ ไป จนถึงหูข้าราชการผู้ใหญ่คนหนึ่ง ข้าราชการผู้นั้นจึงนำความไปกราบทูลต่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ว่าหลวงวิเศษสาลีชักชวนผู้คนให้ลดพระราชอำนาจอย่างพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ พระเจ้าอยู่หัวมิได้ระแวงสงสัยว่าหลวงวิเศษสาลีว่าคิดร้ายต่อพระองค์ ๆ จึงรับสั่งแก่ผู้กราบบังคมทูลว่า เขาเป็นคนหัวนอก เขาก็เล่าไปตามที่เขาเห็นในเมืองนอก จะเรียกเขามาพูดให้เข้าใจว่าในเมืองไทยจะเอาอย่างเมืองนอกนั้นยังไม่ถึงเวลา ครั้นแล้วพระองค์ได้ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้หลวงวิเศษสาลีเข้าเฝ้าพระราชทานพระบรมราโชวาท ซึ่งหลวงวิเศษสาลีได้เคยนำมาเล่าให้ลูกหลานที่ใกล้ชิดกับท่านทราบ”

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้เริ่มต้นชีวิตนักเรียนฝรั่งเศสใน พ.ศ.๒๔๖๓ และจะได้ใช้ชีวิตดังกล่าวต่อไปอีกเกือบ ๗ ปี จึงสำเร็จการศึกษาได้ปริญญาเอกรัฐเป็น “ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย” ก่อนจะเดินทางกลับสยาม ท่านเล่าให้ ดร.ฉัตรทิพย์ นารถสุภาฟังว่า “เมื่อผมได้ทุนรัฐบาลไปศึกษากฎหมายในฝรั่งเศสนั้น แม้ผมเป็นเนติบัณฑิตสยามแล้ว แต่ผมมีอายุเพียง ๒๐ ปี อาจารย์ของผมจึงแนะนำให้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ชั้นต้นเหมือนนักเรียนฝรั่งเศสตามหลักสูตรคณะกฎหมาย”

ท่านเริ่มด้วยการเรียนภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติม และความรู้ทั่วไปทั้งที่วิทยาลัยกองและจากอาจารย์เลอบอนนัวส์ และจากนั้นก็เข้าศึกษากฎหมายที่มหาวิทยาลัยกองจนกระทั่งสอบไล่ได้ปริญญารัฐเป็น “บาเชอลิเอร์” กฎหมายและปริญญารัฐเป็น “ลิซองซิเอ” กฎหมายจากมหาวิทยาลัยแห่งนั้น

ต่อจากนั้นท่านก็เข้ามาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยปารีส จนสอบไล่ได้ปริญญารัฐเป็น “ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย” ฝ่ายนิติศาสตร์ และสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรชั้นสูงทางเศรษฐศาสตร์ด้วย ท่านปรีดีฯ กล่าวกับดร.ฉัตรทิพย์ฯ ในเรื่องที่ท่านสนใจเรียนเศรษฐศาสตร์ด้วยว่า

“ความคิดของผมที่เห็นว่าสยามควรมีโครงการเศรษฐกิจนั้น มิใช่เกิดขึ้นทันใดและมิใช่เป็นไปตามความคิดนึกเดา ๆ โดยไม่มีหลักทฤษฎีเศรษฐกิจ

ผมได้กล่าวแล้วถึงสภาพสังคมไทยที่ผมประสบพบเห็นแก่ตนเองว่า ราษฎรได้มีความอัตคัดขัดสนในทางเศรษฐกิจ และไม่มีสิทธิเสรีภาพกับเสมอภาคในทางการเมือง อีกทั้งตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและอำนาจของหลายประเทศทุนนิยม ผมมีความคิดก่อนที่ได้มาศึกษาในฝรั่งเศสแล้วว่า จะต้องค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติมว่ามีวิธีใดที่จะทำให้ความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้น

สมัยก่อนสถาปนาสาธารณรัฐฝรั่งเศสครั้งที่ ๓ (เมื่อ ค.ศ.๑๘๗๐) นั้น คณะกฎหมายฝรั่งเศสก็สอนเฉพาะกฎหมายเอกชนและกฎหมายรัฐธรรมนูญทำนองหลายประเทศแองโกลแซกซอน แต่ต่อมารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสครั้งที่ ๓ ได้เพิ่มหลักสูตรคณะกฎหมาย คือนอกจากสอนวิชาประเภทกฎหมายเอกชนแล้ว ก็ให้มีวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ถือว่าเป็นรากฐานของสังคม และให้มีกฎหมายมหาชนอีกหลายสาขาซึ่งถือว่าเป็นโครงสร้างเบื้องบนของสังคม

ผมจึงศึกษาเศรษฐศาสตร์ภาค ๑ ในปีที่ ๑ และภาค ๒ ในปีที่ ๒ ของปริญญากฎหมายและในปริญญาลิซองซิเอ ปีที่ ๓ ก็ได้เรียนกฎหมายการคลังและกฎหมายแรงงานด้วย

โดยที่ผมสนใจในวิชาเศรษฐศาสตร์ ฉะนั้นเมื่อผมสอบไล่ได้ปริญญาเอกกฎหมายฝ่ายนิติศาสตร์แล้ว ผมจึงสอบไล่ได้เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งคือประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงทางเศรษฐกิจการเมือง ซึ่งมีวิชาเศรษฐศาสตร์พิสดาร ประวัติศาสตร์ลัทธิเศรษฐกิจ กฎหมายและวิทยาศาสตร์ การคลังกฎหมายและวิทยาศาสตร์แรงงาน ผมจึงได้ศึกษาระบบเศรษฐกิจหลายชนิด รวมทั้งระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมที่เกี่ยวกับแผนเศรษฐกิจ

คุณวุฒิทางการศึกษาของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ที่สำเร็จสมบูรณ์ในต้นปีพุทธศักราช ๒๔๗๐ (นับตามปฏิทินในปัจจุบัน) ทำให้ท่านมีสิทธิเป็น (๑)“ศาสตราจารย์สำรอง” สอนในมหาวิทยาลัยและ (๒)มีสิทธิที่จะสอบแข่งขันสำหรับตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยต่อไป

ท่านปรีดี พนมยงค์เป็นคนไทยคนแรกที่สอบไล่ได้เป็น “ดุษฎีบัณฑิตของรัฐ” มิใช่เพียง “ดุษฎีบัณฑิตของมหาวิทยาลัย” เพราะท่านปรีดีฯ ได้ศึกษาและสอบไล่ได้ปริญญาตรีทางกฎหมายของฝรั่งเศสก่อนที่จะทำปริญญาเอก

(เรียบเรียงจากหนังสือของ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ชื่อ หนังสือ “บางหน้าในประวัติศาสตร์ไทย อัตตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์)

Monday, May 7, 2007

บทความที่ ๑๒๖.บันทึกของ ร.ต.อ.เฉียบ อัมพุนันท์ ตอนที่ ๘ (จบ)

ลาจากยอดขุนพลแห่งภูพาน 'เตียง ศิริขันธ์'

ข้าพเจ้าผละจากสิงห์โตและบัว ตรงไปที่บ้านไม้ยกพื้นสูงหลังถัดไป ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่าตามปกติแล้วเป็นบ้านพักของนายทหาร พอโผล่หน้าขึ้นไปเท่านั้น ขุนพลแห่งภูพานก็ร้องทักข้าพเจ้าอย่างลิงโลดว่า

“เป็นอย่างไรบ้างน้องชาย...?”

ข้าพเจ้าตรงเข้าไปจับมือเขาเขย่าอย่างแรงก่อนตอบเขาว่า

“ถ้ามันแย่..”

ขุนพลแห่งภูพานหัวเราะอย่างดังแล้วกล่าวว่า.-

“ผมจะกลับไปสกลนครพรุ่งนี้ ไปกับผมไหม ?”

“ข้าพเจ้าเอียงคอด้วยฉงนใจว่าทำไมเขาจึงกล่าวชวนข้าพเจ้าเช่นนั้น เหมือนกับจะรู้เชิง เขาได้อธิบายอย่างเปิดอกว่า

“ผมจะกลับไปยึดอีสาน...เตรียมตัวรบ เราจะไม่ขึ้นต่อรัฐบาลของพวกรัฐประหารนี้ เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผมจะประกาศอิสานเป็นรัฐอิสระ...จนกว่าเราจะได้รัฐบาลของประชาชนอย่างแท้จริง-

“เอาอย่างนั้นเทียวหรือ ?”

ข้าพเจ้าร้องถามอย่างทึ่งเหลือกำลัง เขาตอบอย่างเร็วว่า

“เอายังงั้นซิ ไปกับผมไหม เราไปทำการรบแบบพลพรรคที่อิสาณ...?”

ข้าพเจ้านิ่งงงในคำถามที่เขาอุตส่าห์ชวนข้าพเจ้าถึงสองครั้ง ข้าพเจ้าได้ผ่านโรงเรียนนายร้อยทหารบกมาแล้ว พอจะเข้าใจว่าการรบนั้นเขามีวิธีทำกันอย่างไร ? และได้ผ่านกิจการของตำรวจมาแล้วทุกด้าน ก็มีความเข้าใจดีว่าวิธีการของตำรวจนั้นเขาทำกันอย่างไร ? ทำให้ข้าพเจ้าลังเลใจที่จะตอบตามคำชวนของขุนพลแห่งภูพาน จึงได้ย้อนถามเขาไปประโยคหนึ่งว่า

“นี่ พี่ชาย,ผมขอทราบก่อนว่า พี่ชายกลับขึ้นไปสกลนครแล้วจะประกาศตูมออกมาทีเดียวหรือ, หรือว่าจะต้องคอยการกระทำทางนี้เสียก่อน... แล้วจึงค่อยผสม ?”

เขานิ่งไปชั่วอึดใจหนึ่งจึงตอบข้าพเจ้าว่า“เราต้องคอยทางกรุงเทพฯนี่ซิ เมื่อกรุงเทพฯ ตึงตังกันแล้ว ทางอิสาณจึงจะประกาศตูมออกมา..”

ข้าพเจ้าพยักหน้าเป็นการแสดงว่าได้เข้าใจแล้วจึงได้ตอบไปว่า

“ผมได้รับคำสั่งท่านปรีดให้ผมเข้ายึดกรมตำรวจแล้ว”

“อ้าว,ยังงั้นเรอะ ถ้างั้นก็ไม่ต้องไป ผมจะขึ้นไปดำเนินการเอง”

ข้าพเจ้าเม้มปากแน่นด้วยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจที่เขามีวิญญาณในการต่อสู้ ส่วนข้าพเจ้านั้นหลับตานึกภาพแผนที่แห่งประเทศสยามขึ้นอย่างเงา ๆ สกลนครอยู่ถึงอิสาณ ทางหนีทีไล่อะไรจะต้องเดินป่าบุกดังทั้งสิ้น โดยเฉพาะสยามเป็นแผ่นดินผืนเล็ก ๆ เมื่อเป็นฝ่ายปราชัยต้องการออกนอกประเทศก็อาจจะออกนอกประเทศไม่ได้

ข้าเจ้าไม่มั่นใจว่าคนไทยจะตื่นตัวพร้อมที่จะทำสงครามกลางเมือง เพราะจะต้องอดทนเป็นเวลาอันยาวนาน ยึดอำนาจกันครั้งใดก็เห็นแต่ต้องใช้ยุทธวิธี“รัฐประหาร” กันส่วนจังหวัดที่ติดกับฝั่งทะเลนั้นถ้ามีเรือแล้วจะไปทางไหนก็สะดวกไปหมดเสียทุกทาง ยุทธศาสตร์แห่งการถอยก็แจ่มใสกว่าทางอิสาณ โดยเฉพาะก็คือว่าข้าพเจ้าไม่มั่นใจว่าเหตุการณ์ “ตึงตัง” ของขุนพลแห่งภูพานที่ได้กล่าวถึงนั้นจะเกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพราะข้าพเจ้าได้ประสบการณ์ขัดแย้งกันมาแล้ว หรือถ้าเกิดขึ้นจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางคือมีชัยต่อชาวรัฐประหารนั้นได้เพียงใด เหล่านี้เป็นปัญหาที่หนักอยู่ในจิตใจของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้ามองดูขุนพลแห่งภูพานเก็บเสื้อผ้าลงกระเป๋าเดินทางขนาดจิ๋วเตรียมตัวจะเดินทางเช้ามืดวันพรุ่งนี้ อาการของเขากระฉับกระเฉง ปากก็เอะอะพูดภาษาไทยอิสาณกับลูกน้องที่มาด้วย จับเค้าได้ว่าให้เตรียมตัวเดินทางไว้ให้เรียบร้อยเพราะจะได้เดินทางไปสกลนครแต่เช้ามืดทีเดียว ในที่สุดเขาก็เหลียวมาคุยกับข้าพเจ้าอีกว่า

“รัฐประหารนี้ มันเกิดขึ้นจริง ๆ อย่างที่คุณเฉียบว่าแฮะ สันติบาลนี่ไม่เลว..”

“พี่ชายไม่เชื่อผมใช่ไหมล่ะ” ข้าพเจ้ารุก

เขาตอบอย่างเร็วว่า

“ไม่ใช่ไม่เชื่อ ก็เพราะผมเชื่อคุณนะซิผมจึงไปขนอาวุธเสรีไทยมาจากสกลนครหนึ่งรถตู้ มอบให้หลวงสังวรณ์เพื่อเตรียมการปราบกบฏ ท่านก็เอาเก็บไว้ที่กรมสารวัตรทหารก็เลยถูกพวกรัฐประหารยึดเอาไปหมดเลย..เสียท่าจริง ๆ...”

ข้าพเจ้าหัวเราะอย่างขบขันแทนคำตอบ ฟังเขากล่าวต่อไปอีก

“แต่ไม่เป็นไร, อาวุธของเรายังเหลืออยู่อีก พอได้เล่นกัน...ผมจะต้องไปตรวจดูสนามบินลับและฐานทัพของเราด้วยว่าอยู่ในสภาพเดิมหรือว่าปล่อยให้รก เสือเข้าไปอาศัยอยู่เสียแล้ว”

ข้าพเจ้ายิ้มรับคำกล่าวแกมตลกนั้น และอดอยู่ไม่ได้จึงบุ้ยปากไปทางเรือนพักของท่านอาจารย์ปรีดีแล้วตั้งคำถามขึ้นว่า

“ท่านรู้หรือเปล่า ?”

“อ้าวแล้วกัน, ก็ปรึกษากันแล้วนะซิ ผมได้ปรึกษากับอาจารย์ก่อนที่คุณจะมาถึงที่นี่ เมื่อวานนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว...”

“สมมติว่าถ้าทางกรุงเทพฯ ไม่พร้อมที่จะรบ คุณมิค้างเติ่งหรือ ?”

“ไม่ค้าง จะค้างได้อย่างไรเพราะอาจารย์อยู่ที่นี่” เขาตอบอย่างเชื่อมั่น

ข้าพเจ้าอยากจะคำนับเขาในความมั่นคงของเขา แต่เอาเก็บไว้ก่อน เอาเพียงแต่คำนับกันภายในจิตใจไปพลางก่อน มิน่าเล่าชาวสกลนครจึงได้มีความมั่นใจ เชื่อถือเขาราวกับว่าเขาเป็น “พ่อเมือง” ในยุคโบราณ เลยปรากฏว่าเขาผู้นี้เคยสมัครผู้แทนราษฎรโดยมิต้องโฆษณาให้เหนื่อยยากเลย แต่คะแนนของเขามาอย่างสูงลิบซึ่งไม่มีใครจะบังอาจท้าทายเขาได้.

ข้าพเจ้าคงค้างที่สัตตหีบหนึ่งคืน นอนเตียงติดกันกับยอดขุนพลแห่งภูพาน คุยกันถึงเรื่องราวอันซับซ้อนทางการเมือง การเสียสละของนักการเมือง และเรื่องราวแห่งการฉวยโอกาสของบรรดานักกินเมืองทั้งหลาย ตลอดจนเกล็ดและกลยุทธต่าง ๆ ของพวกแสวงหาโชคทางการเมือง เขาคุยจ้อข้างเดียว และในที่สุดเขาก็คุยให้ข้าพเจ้าซึ่งหลับไปแล้วฟังเรื่อยไปโดยไม่ทราบว่าเขาได้คุยเรื่องอะไร เพราะข้าพเจ้าอ่อนเพลียมาทั้งร่างกายและจิตใจจึงเข้าสู่ภวังค์ได้โดยง่าย อากาศชายทะเลโชยเข้ามาทางหน้าต่างซึ่งกั้นผ้าบังตาสีขาวนั้น ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าช่างสดชื่นราวกับอยู่ที่บังกาโลที่หัวหิน ผิดแต่ว่าอากาศในยามนี้ติดจะหนาวไปเสียสักหน่อย

เขาแหวกมุ้งปลุกข้าพเจ้าแต่เช้ามืด และพูดอย่างค่อย ๆ ว่า

“ผมไม่ก่อนละนะ...คุณเฉียบ”

ข้าพเจ้าลุกขึ้นอย่างงัวเงียแต่บัดนี้เขาจะจากไปแล้ว และจะไปปฏิบัติงานด้วยการเสียสละอันยิ่งใหญ่ ข้าพเจ้าสลัดความงัวเงียนั้นออกไปโดยพลัน ลุกขึ้นสัมผัสมือเขาอย่างหนักแน่นและให้พรเขาว่า

“ขอให้คุณได้รับความสำเร็จทุกประการ...”

เขายิ้มอย่างสดชื่น และพึมพำเบา ๆ ว่า “สำเร็จซิหนะ” แล้วเขาก็จากข้าพเจ้าไปยังบ้านอีกหลังหนึ่งถัดไปซึ่งท่านปรีดีพักอยู่ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเขาได้เข้าไปร่ำลาท่านก่อนจะเดินทางไป,อนิจจา “เตียง” ของข้าพเจ้า เขาได้ไปแล้ว,เป็นครั้งสุดท้ายที่เราได้พบเห็นกันในชั่วชีวิตนี้ เขาได้จากเวทีแห่งการต่อสู้ไปแล้วซึ่งข้าพเจ้ามั่นใจว่าเขาจะไม่มีโอกาสได้กลับมานอนเตียงใกล้ๆ และคุยกับข้าพเจ้าดั่งที่สัตตหีบนี้อีกเป็นแม่นมั่น

เขาเป็นบุรุษผู้ซื่อสัตย์ เป็นนักการเมืองที่แท้จริงและยากจนเหลือประมาณ เขามีแต่ชื่อที่เกริกก้อง และมีความสามารถทางการเมืองอย่างที่จะหาตัวจับยาก เขาได้ไปแล้วและจะไม่กลับมาพบข้าพเจ้าอีก ...ยอดขุนพลแห่งภูพาน

Wednesday, May 2, 2007

บทความที่ ๑๒๕. ช่วงสุดท้ายของชีวิตที่ชานกรุงปารีส

ช่วงสุดท้ายของชีวิตที่ชานกรุงปารีส
(เนื่องวันคล้ายวันอสัญกรรมของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐)

“อดีตข้ารัฐการอเมริกันผู้นั้นได้กล่าวว่า ผู้จองล้างจองผลาญข้าพเจ้านั้น ก็ร่ำรวยมากแล้วไม่น่าจะล้างประวัติศาสตร์แห่งชาติตนเอง เพราะเรื่องเกี่ยวกับข้าพเจ้านั้น คนในอเมริกาและในยุโรป เอเซีย ก็เขียนไว้จากหลักฐานที่เชื่อถือได้ ซึ่งพวกที่จองล้างจองผลาญข้าพเจ้าไม่อาจมาลบล้างได้ ไม่ช้าก็เร็ว ราษฎรไทยก็จะได้อ่านความจริง”
ปรีดี พนมยงค์

ตลอดเวลา ๑๓ ปีสุดท้ายแห่งการใช้ชีวิตที่ปารีส ท่านรัฐบุรุษอาวุโสมีภารกิจมากมาย ทั้ง ๆ ที่ท่านมีอายุเข้าสู่ความชราภาพ และท่านก็ได้ปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ จนกระทั่งวินาทีสุดท้าย ซึ่งอาจถือว่าเป็นการชดเชยเวลาที่ได้เสียไปถึง ๒๑ ปีที่อยู่ในเมืองจีน

เมื่อเดินทางออกไปอยู่ที่ปารีสได้ไม่นาน ท่านปรีดีฯ ก็ได้ติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูตไทยที่นั่น เพื่อขอให้ออกหนังสือเดินรับรองการมีชีวิตอยู่ของท่านสำหรับนำไปประกอบเป็นหลักฐานในการขอรับเงินบำนาญที่มีสิทธิจะได้รับตามกฎหมายเนื่องจากในขณะนั้นท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้รับการใส่ร้ายป้ายสีด้วยเรื่องที่ร้ายแรงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและหนักหน่วง ด้วยเหตุผล “ทางการเมือง” เป็นเวลาถึงสองทศวรรษ ดังนั้น “ทางออก” สำหรับท่านในทุก ๆ เรื่อง ก็มีเพียงการขอความเป็นธรรมจากศาลยุติธรรมเท่านั้น โดยคำพิพากษาของศาลฯ ท่านปรีดีฯ จึงได้รับเงินบำนาญเลี้ยงชีวิต ตลอดจนได้รับหนังสือเดินทางของไทย

ประมาณต้นเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๓ นั้นเอง ท่านรัฐบุรุษอาวุโสก็ได้รับเชิญจาก “สโมสรกองกำลังพิเศษ” ของอังกฤษซึ่งเคยร่วมงานกันในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ให้ไปเยือนประเทศอังกฤษ ต่อมานายกสโมสรดังกล่าวโดยหนังสือลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ศกเดียวกัน ได้เชิญท่านปรีดีฯ เป็นสมาชิกกิตติมศักดิของสโมสร ฯ

ในโอกาสเดียวกัน ลอร์ดหลุยส์ เมาท์แบทเตน ก็ได้เชิญให้ท่านรัฐบุรุษอาวุโสกับท่านผู้หญิงพูนศุขฯ เป็นแขกไปพำนักที่คฤหาสน์นอกกรุงลอนดอน

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๘ ท่านปรีดีฯ ก็ได้รับเชิญจากสามัคคีสมาคมให้ไปกล่าวปาฐกถาที่กรุงเอดินบะระ ในสกอตแลนด์อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นท่านก็ยังได้รับเชิญจากสมาคมนักเรียนไทยดังกล่าวมีการประชุมประจำปีอีกด้วย การที่ได้ไปปฏิบัติภารกิจดังกล่าวได้ทำให้ท่านรัฐบุรุษอาวุโสเป็นที่รู้จักแก่บรรดนักเรียนไทยในทวีปยุโรปในช่วงเวลานั้น

ในขณะเดียวกัน ท่านรัฐบุรุษอาวุโสก็มีโอกาสได้พบกับบุคคลต่าง ๆ จากเมืองไทยที่มาแวะเยือนท่าน ณ บ้านของท่านที่อองโตนี หรือในบางกรณีก็ได้พบกันที่สถานเอกอัครราชทูตไทย นอกจากนั้นก็ยังมีผู้แทนหนังสือพิมพ์ทั้งไทยและต่างประเทศ ได้ขอสัมภาษณ์ท่านในเรื่องต่าง ๆ

นอกจากนั้น ท่านปรีดี พนมยงค์ ก็ยังได้ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าในทางวิชาการหลายด้านตลอดจนได้เรียบเรียงเรื่องราวจากประสบการณ์ของท่านอันเป็นบางส่วนของประวัติศาสตร์ไทย ตีพิมพ์ขึ้นเป็นหนังสือบ้างและบทความบ้าง

แต่ภารกิจที่ดูเหมือนจะทำให้ท่านต้องใช้เวลามากที่สุดหาก็มีความสำคัญและเป็นผลสำเร็จมากที่สุดก็คือ การเรียบเรียงคำฟ้องศาลในคดีหมิ่นประมาทต่าง ๆ ที่มีผู้ประสงค์ร้ายหรือผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้พิมพ์โฆษณาใส่ร้ายท่าน หรือนำความเท็จมาเผยแพร่ให้ท่านได้รับความเสียหาย วัตถุประสงค์โดยแท้จริงของท่านรัฐบุรุษอาวุโสในการฟ้องร้องดังกล่าวนี้ก็คือ ได้ชี้แจงแถลงข้อเท็จจริงให้ปรากฏแก่สาธารณชนในประเด็นที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยยุคปัจจุบัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตที่ท่านมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแต่ประการใด

สำหรับงานเขียนของท่านรัฐบุรุษอาวุโสที่มีผู้สนใจใคร่จะได้อ่านมากที่สุดก็คือ “บันทึกความทรงจำ” ของท่านเอง เพราะจะเป็นการเปิดเผยเรื่องราวมากมายที่อาจจะไม่มีผู้ใดได้ทราบมาก่อน อย่างไรก็ตาม งานดังกล่าวก็ทำได้สำเร็จพอเป็นสังเขปในบางเรื่อง ซึ่งที่มีความละเอียดอยู่บ้างก็คือ หนังสือเรื่อง “ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า” และ “ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน” ซึ่งเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสและมีผู้แปลเป็นภาษาไทย

สำหรับอีกเล่มหนึ่งก็คือ “ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์” ซึ่งให้ข้อมูลหลายประเด็นซึ่งเป็นรายละเอียดให้ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาค้นคว้าต่อไปได้ นอกจากนั้นก็มีเรื่อง “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย” และเรื่อง “ความเป็นไปภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ซึ่งเปิดเผยเรื่องราวที่ไม่เคยเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างถูกต้องมาก่อน

ในบางกรณีท่านรัฐบุรุษอาวุโสก็ได้ท้าวความถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อันเป็นประสบการณ์ของท่าน ในคำให้สัมภาษณ์และในบทความบางเรื่องที่ท่านได้กล่าวถึง หรือเขียนถึงในระหว่างที่ท่านใช้ชีวิตอยู่ที่ปารีส

อาจจะกล่าวได้ว่าในช่วงเวลาที่ท่านปรีดีฯ พำนักอยู่ที่ปารีสก่อนถึงอสัญกรรมใน พ.ศ.๒๕๒๖ นี้ ท่านใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในการเขียนหนังสือในลักษณะต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น อาทิ

“คำฟ้องบริษัทฯ สยามรัฐฯ, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ฯลฯ” ๒๕๑๓
“คำฟ้องบริษัท ไทยเดลี่การพิมพ์ฯลฯ” ๒๕๑๔
“จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยวิธีสันติหรือไม่” ๒๕๑๖
“ผู้เกินกว่าราชา” ๒๕๑๗
“เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร” ๒๕๑๗
“ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันท์” ๒๕๑๗
“คำฟ้องนายรอง ศยามานนท์” ๒๕๒๑
“คำฟ้องนายชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ ฯลฯ” ๒๕๒๒
“คำประท้วงฯ ต่อกระทรวงศึกษาธิการ
(ต่อการมอบรางวัลให้แก่หนังสือของ พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี) ๒๕๒๒
“คำสัมภาษณ์-ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา” ๒๕๒๕
“อนุสรณ์นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร” ๒๕๒๕
“ความเห็นเรื่อง มหาราชและรัตนโกสินทร์” ๒๕๒๕
“คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ ฯลฯ” ๒๕๒๕
“ประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์” ๒๕๒๖
“ชีวิตและการงานของปรีดี-พูนศุข” ๒๕๒๕-๒๕๒๖

และ “บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒” ซึ่งในคำปรารภของหนังสือเล่มดังกล่าว ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้เขียนเกี่ยวกับตัวของท่านในช่วงที่พำนักอยู่ที่ปารีส ซึ่งอาจจะเป็นข้อเขียนเพียงชิ้นเดียวของท่านในลักษณะเช่นนั้น สำหรับข้อเขียนอื่น ๆ ที่ระบุเอาไว้ข้างต้นจะเป็นเรื่องวิชการบ้าง ประวัติศาสตร์บ้าง หรือความคิดเห็นเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับตัวท่านโดยตรง

ใน คำปรารภ ที่กล่าวนี้ ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนไว้ดังนี้

“การพิมพ์เรื่องเกี่ยวกับข้าพเจ้าในประเทศไทยไม่ราบรื่นแม้จะเป็นเรื่องที่ผู้จัดพิมพ์ได้ระวังเป็นอย่างดีแล้วว่าไม่ผิดกฎหมายบ้านเมือง หรือเป็นเรื่องที่หนังสือพิมพ์และนิตยสารเกือบทั่วโลกได้กระจายข่าวแล้ว เมื่อข้าพเจ้าแรกถึงปารีสซึ่งหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยหลายฉบับก็อยากเสนอข่าวนี้ให้ผู้อ่านทราบ แต่ก็ถูก “กระซิบ” มิให้ลงข่าว

ต่อมามีบางฉบับส่งผู้แทนมาสัมภาษณ์ข้าพเจ้า แล้วนำข้อความไปลงพิมพ์แต่เพียงว่าข้าพเจ้าอายุเท่าใด สุขภาพเป็นอย่างใด อยู่บ้านชนิดไหน ข้าพเจ้าจะกลับเมืองไทยหรือไม่ ซึ่งข้าพเจ้าตอบว่า จุดหมายปลายทางนั้น ข้าพเจ้ากลับเมืองไทย แต่ระหว่างนี้ยังไม่กลับ ข้าพเจ้าได้รับทราบว่าหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นถูก “กระซิบ” ว่าอย่าลงพิมพ์ต่อไปให้เกินกว่าที่ได้ลงพิมพ์แล้ว

ส่วนนายสุพจน์ ด่านตระกูลที่เสี่ยงภัยรวบรวมเรื่องเกี่ยวกับข้าพเจ้า โดยคัดสำเนาเอกสารทางราชการมาลงพิมพ์ไว้หลายตอน ที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในคำสอนกฎหมายปกครองที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ เทิดทูนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ (รัชกาลที่๖)ไว้ และคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ (รัชกาลที่๗) และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้มีพระราชกระแสรับสั่งพระราชทานอภัยโทษให้ พร้อมทั้งได้พระราชทานพรด้วยนั้นก็ดี และมีสุนทรพจน์ของข้าพเจ้าซึ่งแสดงในสภาผู้แทนราษฎรเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ดี

ทราบว่านายสุพจน์ ด่านตระกูลถูกเรียกตัวไป “กระซิบ”ว่า ได้ข่าวว่านายสุพจน์ฯ จะเขียนหนังสือเทิดทูนนายปรีดี พนมยงค์อีก อันเป็นการทำให้ราชบัลลังก์สะเทือน และทำให้นักศึกษาตต่อต้าน “คณะปฏิวัติ” จึงขอให้นายสุพจน์ฯ ระงับที่จะพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับนายปรีดีฯ อีกต่อไป มิฉะนั้นก็จะถูกจับกุม

ที่ข้าพเจ้าใช้คำว่า “กระซิบ” นั้น เพราะไม่มีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร หรือคนกระซิบเพียงอ่านกระดาษแผ่นหนึ่ง อ้างว่าเป็นคำสั่งอธิบดี แล้วก็เก็บคำสั่งไว้โดยไม่มอบสำเนาให้ผู้ถูก “กระซิบ”

วิธี “กระซิบ” นั้นเป็นวิธีเบากว่าวิธีที่บางสมัยสร้างพยานเท็จและผู้พิพากษาที่ไม่ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม เชื่อพยานเท็จ หรือแสร้งว่าเชื่อ ตัดสินประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ อันทำให้เสื่อมเสียแก่สถาบันยุติธรรมของชาติ จึงเป็นการเลวร้ายยิ่งกว่าวิธี “กระซิบ”

ถ้าหากในสมัย “ก่อนการเจรจาสัญญากับนานาประเทศเพื่อเลิกสิทธิพิเศษในทางศาล” มีเรื่องเลวร้ายเกี่ยวกับการที่มีผู้พิพากษาที่เคยเรียนตามหลักสูตรสมัยเก่า รู้หลักอินทรภาษในกฎหมาย ๒ เล่ม คือให้ผู้พิพากษาตั้งอยู่โดยปราศจากอคติ ๔ ประการอันได้แก่ ฉันทา โทสา ภยา โมหา แต่ผู้พิพากษาชุดเก่าที่แม้บางคนจะเคยบวชเรียนและสวดมนต์วันหนึ่งร่วม ๑ ชั่วโมง ก็ยังไม่นำพาต่อคติธรรมดังกล่าว แล้วก็ไม่มีใครที่จะสามารถเจรจาขอแก้สนธิสัญญาไม่เสมอภาคนับนานาประเทศได้ แม้จะจ้างบุตรเขยประธานาธิบดีอเมริกันทุกคนมาช่วยเจรจา ผู้คนเหล่านั้นก็จะเบนหน้าไปตาม ๆ กัน

อย่างไรก็ตาม เรื่องเลวร้ายในสมัยนั้นก็มีการเปิดโปงในหนังสือที่ฝรั่งหลายคนเขียนไว้แล้ว แม้ว่าจะมีบุรุษผู้มีแผลเป็นที่หน้า ได้อาสาเข้าร่วมกับผู้เสี่ยงภัยชาวออสเตรเลียคนหนึ่งที่เคยทำงานหนังสือพิมพ์อเมริกันที่กรุงโรม เพื่อจะใส่ร้ายผู้บริสุทธิ์ให้หนักยิ่งขึ้น แต่เมื่อชาวออสเตรเลียคนนั้นได้สติขึ้นมา และเกิดมีหิริโอปตัปปะขึ้น ก็ไม่ยอมที่จะร่วมมือต่อไปในการทำสกปรกจิตใจตามสินจ้างที่พวกเหล่านั้นเสนอให้ด้วยราคาแรง ครั้นแล้วเขาก็ได้เล่าให้เพื่อนฝรั่งรู้ จนมาถึงหูข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้ามีความสังเวชพวกเลวร้ายนั้นเป็นอย่างยิ่ง

ข้าพเจ้ากล่าวแล้วว่าวิธี “กระซิบ” เบากว่าวิธีของบุคคลบางจำพวกในบางสมัย แต่ก็ไม่เห็นด้วยในเนื้อหาของการ “กระซิบ” ที่อ้างราชบัลลังก์ เพราะข้าพเจ้าได้ถามข้าราชการผู้ใหญ่ซึ่งเคยเป็นชั้นนายพลและนายพลตำรวจบางคนที่มาเยี่ยมข้าพเจ้า เป็นที่เปิดเผยแล้ว ได้ความว่าผู้ใหญ่ทางทหารและพลเรือนมิได้สั่งให้ตำรวจสันติบาล หรือตำรวจเอกสารหนังสือพิมพ์ทำการ “กระซิบ” เช่นนั้นเลยและมิได้บังอาจอ้างราชบัลลังก์ ดั่งที่ชนผู้น้อยทำไปเองเพื่อเสนอเอาความชอบ

นายพลตำรวจตรีสง่า กิตติขจร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้สั่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสให้ออกหนังสือเดินทางไทยแก่ข้าพเจ้านั้น ได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันถึงการที่นายตำรวจผู้นั้นได้สั่งการไปแล้ว ก็ได้มีพระราชกระแสรับสั่งว่า “ดีแล้ว”

ภายหลังที่ข่าวการมาปารีสของข้าพเจ้ารู้ถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลายคน ซึ่งเรียกร้องให้ทางการเชิญข้าพเจ้ากลับประเทศไทย อาจารย์ผู้หนึ่งตำหนินักศึกษาว่าทำการเป็นที่ “สะเทือนพระราชหฤทัย” ตำรวจสันติบาลและเอกสารหนังสือพิมพ์ก็พลอยยื่นมือเข้ามาด้วย ข้าพเจ้าต้องขอบใจ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชที่แม้ขณะนั้นกำลังเป็นความอยู่กับข้าพเจ้า ที่เขียนข้อความลงในสยามรัฐ เตือนพวกที่อ้างว่ารู้พระราชหฤทัยดีกว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ เองนั้น ว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรงความเป็นธรรมต่อพสกนิกรถ้วนหน้า”

พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้เสด็จมาเยี่ยมข้าพเจ้าที่บ้านพักชานกรุงปารีส ท่านพระองค์นี้เป็นประมุขพระราชวงศ์อันดับรองจากสมเด็จเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ก่อนที่ท่านเสด็จเยี่ยมข้าพเจ้าและเสด็จกลับกรุงเทพฯ แล้วก็ดี พระองค์ได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบ

ต่อมาเมื่อปลายเดือนมีนาคมปีนี้ (พ.ศ.๒๕๑๕) หม่อมเจ้าหญิงอัปภัศราภา เทวกลุ ที่ได้ทรงรับใช้สมเด็จพระพันวัสสาอยิกาเจ้า ตั้งแต่ท่านหญิงมีพระชันษา ๗ พรรษา จนกระทั่งสมเด็จพระองค์นั้นสวรรคต ได้นำหนังสือ “สมเด็จพระศรีสวรินทรา” มาประทานข้าพเจ้า ๑ เล่ม ในหนังสือเล่มนั้นมีตอนหนึ่ง ที่ท่านหญิงได้ประทานเล่าเรื่องไว้เกี่ยวกับข้าพเจ้าและเสรีไทยบางคนที่ถวายความปลอดภัยแด่สมเด็จพระองค์นั้นและพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่แล้ว ท่านหญิงฯ กล่าวไว้ในคำนำหนังสือเล่มนั้นว่าก่อนที่จะทรงเล่าให้ผู้จัดพิมพ์นำไปลงพิมพ์นั้น ท่านหญิงฯ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน มีพระราชกระแสรับสั่งว่า “ถ้าเป็นความจริงก็เล่าได้” ท่านหญิงฯ จึงในท้ายคำนำว่า “ยึดถือตามพระราชกระแสดำรัสนั้น ถ้าเป็นความจริงที่ข้าพเจ้าได้ยินกับหู เห็นด้วยลูกนัยน์ตา ก็จะเล่าให้คุณสมภพ(ผู้จัดทำหนังสือเล่มนั้น)ฟัง เพื่อช่วยคุณสมภพให้เขียนเรื่องได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น”

ข้าพเจ้าเห็นว่าหนังสือเล่มนั้นก็ได้ตีพิมพ์ขึ้น ๒ ครั้งแล้ว ก็ยังไม่มีผูใดที่จะทำการ “กระซิบ” แก่ท่านหญิงฯ หรือแก่คุณสมภพฯ เหมือนดั่งที่บุคคลซึ่งมีสภาพประดุจลูกนกลูกกาถูก “กระซิบ” พร้อมด้วยการคาดโทษว่าถ้าฝ่าฝืน “การกระซิบ” ก็จะต้องถูกจับ

ส่วนการ “กระซิบ” จะมาจากทางผู้ใหญ่ฝ่ายทหารหรือไม่นั้น ข้าพเจ้าได้ทราบจากผู้ที่เอาเอกสารทางการอเมริกันที่เปิดเผยแล้วเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย ซึ่งเป็นธรรมดาย่อมมีชื่อข้าพเจ้าเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางฉบับ อาทิ “สยามไทม์” ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้สนใจพอสมควร ต่อมาข้าพเจ้าได้ทราบว่าหนังสือพิมพ์นั้นได้ถูก “กระซิบ” อ้างว่าทหารไม่พอใจ จึงมีผู้ไปถาม พล.อ.อ.ทวี จุลทรัพย์ เสนาธิการทหาร ว่ามีความจริงตามคำ “กระซิบ”หรือไม่ พล.อ.อ.ทวี จุลทรัพย์ตอบว่า คน “กระซิบ” นั้น “บลั๊ฟ”

ส่วนทางจอมพลถนอม กิตติขจร นั้น ข้าพเจ้าได้ทราบจากข้าราชการผู้ใหญ่ทางทหารและพลเรือนอีกหลายคน รวมทั้งขนาดชั้นนายพลขึ้นไปด้วยว่า จอมพลถนอม กิตติขจร มิได้ใช้ใครให้ไป “กระซิบ” หรืออ้างองค์พระมหากษัตริย์ดั่งผู้ที่ “กระซิบ” ได้ทำไปเองโดยลำพัง

ส่วนทางพล.อ.ประภาส จารุเสถียร ข้าพเจ้าได้รับทราบจากนายทหารชั้นนายพลและผู้ใกล้ชิดหลายคน ยืนยันว่า พล.อ.ประภาส จารุเสถียรมิได้ใช้ให้ใครไป “กระซิบ” ดังกล่าวเลย ยิ่งกว่านั้น ผู้มาเยี่ยมหลายคนยังได้เล่าก่อนที่จะเดินทางจากกรุงเทพฯ ได้เคยแจ้งให้พล.อ.ประภาสฯ หรือผู้ใกล้ชิด รู้ไว้ก่อนแล้ว ซึ่งท่านผู้นี้ได้เคยพูดหลายครั้งว่า “เวลานี้เป็นแฟชั่น ถ้าใครมาปารีสแล้ว ต้องมาพบนายปรีดีฯ”

เมื่อข้าพเจ้าได้ทราบจากพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ และนายพลกับนายพลตำรวจหลายคนดัง กล่าวนั้นแล้ว ข้าพเจ้าจึงเสาะหาว่าการจองล้างจองผลาญข้าพเจ้าไม่รู้จบสิ้นนั้นจะมาจากทางใด จึงเกิดความสงสัยว่าองค์การ ซี.ไอ.เอ.ของอเมริกันปัจจุบันนี้ที่ได้จ่ายเงินมหาศาลให้สายลับในเมืองไทยร่ำรวยด้วยวิธีหากินจากการพลีผู้บริสุทธิ์และล้างประวัติศาสตร์ของชาติไทยนั้น จะมีส่วนอย่างใดบ้างในการกลั่นแกล้งข้าพเจ้า

ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอให้อดีตข้ารัฐการกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ช่วยฟังดูว่าข้อสงสัยของข้าพเจ้าจะมีมูลประการใด อดีตข้ารัฐการอเมริกันได้ยืนยันว่าเขามิได้มีส่วนด้วยในการยุยงส่งเสริมให้มีผู้จองล้างจองผลาญข้าพเจ้าเลย เขาได้นำสำเนาเอกสารทางการอเมริกันมาให้ข้าพเจ้าว่าประธานาธิบดีรูสเวลท์ได้ประเมินคุณค่าข้าพเจ้าไว้สูง จนถึงกับท่านสั่งให้กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันทำบันทึกให้ท่านนำไปเพื่อใช้ในการเจรจากับ มร.เชอร์ชิล (ต่อมาเป็นเสอร์)นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และจอมพลสตาลิน นายกรัฐมนตรีโซเวียต ที่เมืองยัลตาเกี่ยวกับอนาคตของประเทศไทย

อดีตข้ารัฐการอเมริกันผู้นั้นได้กล่าวว่า ผู้จองล้างจองผลาญข้าพเจ้านั้น ก็ร่ำรวยมากแล้วไม่น่าจะล้างประวัติศาสตร์แห่งชาติตนเอง เพราะเรื่องเกี่ยวกับข้าพเจ้านั้น คนในอเมริกาและในยุโรป เอเซีย ก็เขียนไว้จากหลักฐานที่เชื่อถือได้ ซึ่งพวกที่จองล้างจองผลาญข้าพเจ้าไม่อาจมาลบล้างได้ ไม่ช้าก็เร็ว ราษฎรไทยก็จะได้อ่านความจริง”
ในช่วงเวลา ๕ ปีสุดท้ายของชีวิต ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้อุทิศพลังกายและพลังใจเป็นอย่างมาก ทั้ง ๆที่ชราภาพและมีโรคภัยเบียดเบียนตามความเสื่อมของสังขารให้แก่การขอความเป็นธรรม อีกทั้งจากจารึกความถูกต้องของข้อเท็จจริงในบางหน้าของประวัติศาสตร์ไทยที่ท่านเองมีบทบาทเกี่ยวข้องด้วยในคำฟ้องคดีหมิ่นประมาทจากข้อเขียนของบุคคลต่าง ๆ ตลอดจนในการประท้วงความผิดพลาดของการพิจารณาในบางเรื่องของทางราชการการกระทำดังกล่าวนี้อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้สาธารณชนได้ตระหนักในข้อเท็จจริงที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ชาติไทยหลายประการ และเมื่อศาลยุติธรรมก็ดี และทางราชการก็ดี ได้พิจารณาหลักฐานและเหตุผลที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้นำเสนอแล้ววินิจฉัยว่าท่านเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง ท่านปรีดี พนมยงค์ก็มีความยินดีว่าในที่สุด “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” ซึ่งเป็นพุทธภาษิตที่ท่านเองได้ยึดถือเป็นหลักในการดำเนินชีวิตตลอดมา

ในตอนสายของวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๖ ก่อนที่จะมีอายุครบ ๘๓ ปี เพียง ๙ วัน ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ก็ได้ถึงอสัญกรรมโดยสงบ ณ บ้านพักที่อองโตนี ชานกรุงปารีส

อีก ๗ วันต่อมาก็มีพิธีปลงศพของท่าน ณ สุสานในกรุงปารีส

ต่อมาอีก ๓ ปี ในวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ อัฐิธาตุของท่านรัฐบุรุษอาวุโสก็มาถึงสนามบินดอนเมือง โดยเครื่องบินของบริษัทการบินไทยเที่ยวบินทีจี ๙๓๕

ใน พ.ศ.๒๕๔๓ ซึ่งเป็น ๑๐๐ ปีชาตกาลของท่านปรีดี พนมยงค์ องค์การยูเนสโกได้มีมติประกาศให้ท่านเป็น “บุคคลสำคัญของโลก”



รียบเรียงจากหนังสือ “บางหน้าในประวัติศาสตร์ไทย อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์”
ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ราชบัณฑิต


http://rapidshare.com/files/29042415/pridi.pdf.html