Thursday, May 24, 2007

บทความที่ ๑๓๔.ขบวนการนักศึกษาแห่งประเทศไทย

สืบทอดเจตนารมณ์ประชาธิปไตย รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์

สัมผัส พึ่งประดิษฐ์


รัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ทำให้ประเทศไทยที่เป็นเอกราช สันติภาพ ประชาธิปไตยเปลี่ยนโฉมหน้าไปในฉับพลัน

-กำลังรถถังที่นำโดย ร.ท.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้บุกเข้าจู่โจมทำเนียบท่าช้างซึ่งเป็นที่พำนักของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ในกลางดึกของวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ด้วยความหมายมั่นที่จะทำลายรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม ท่านจึงรอดพ้นไปได้ แต่เพื่อให้ท่านต้องมีชนักติดตัวตลอดไป จึงได้ถูกนำกรณีสวรรคตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ มาใส่ร้ายท่าน โดยหวังที่จะอาศัยสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพของประชาชนมาทำลายรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ให้พินาศไป

-เข่นฆ่านักการเมืองที่มีความคิดก้าวหน้าประชาธิปไตยที่เป็นแกนนำประชาชนและสนับสนุนรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ดังเช่นการสังหาร ๔ อดีตรัฐมนตรี คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์,ถวิล อุดล,จำลอง ดาวเรือง และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ถูกจับกุมและนำไปยิงทิ้งขณะอยู่ในรถยนต์ตำรวจที่ถนนพหลโยธิน กม.๑๔ บางเขน ส.ส.พระ มะลิทอง ถูกจับยิงทิ้งที่จังหวัดสมุทรสงคราม ต่อมาส.ส.เตียง ศิริขันธ์ ถูกจับนำไปยิงทิ้งและเผาซากศพในป่าจังหวัดกาญจนบุรี ดร.ทวี ตะเวทิกุล และพ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ถูกยิ้งทิ้งขณะถูกจับกุม เป็นอาทิ

-หมายมุ่งทำลายมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งเป็นสถาบันที่เป็นฐานกำลังสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งลิดรอนสิทธิ คุกคาม ข่มขู่ บ่อนทำลาย ปราบปราม แบ่งแยกทำลายความคิด อย่างชนิดที่เรียกว่าครบวงจร เพื่อให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้หายสิ้นไปเลยทีเดียวนับตั้งแต่ ลิดรอนสิทธิผู้ที่สำเร็จปริญญาธรรมศาสตร์ มิให้เข้าเป็นสามัญสมาขิกแห่งเนติบัณฑิตสภา มิให้สิทธิเข้ารับราชการตำแหน่งปลัดอำเภอ และเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรตามสิทธิที่เคยได้รับ ลงโทษลบชื่อนักศึกษาที่คัดค้านคำสั่งระเบียบมหาวิทยาลัยและผู้ทีเคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายรัฐบาล ส่งบุคคลในคณะรัฐประหารเข้าดำรงตำแหน่งบริหารมหาวิทยาลัยตั้งแต่ตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์ เลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการ จนถึงหัวหน้าส่วนเพื่อควบคุมมหาวิทยาลัยและนักศึกษา ส่งสายลับติดตามคุกคามการเคลื่อนไหวนักศึกษา เปลี่ยนชื่อจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เป็น ธรรมศาสตร์ โดยตัดคำว่าการเมืองออก เพื่อมิให้นักศึกษาเรียนรู้หรือมีความคิดทางการเมือง

แยกสลายการรวมตัวของนักศึกษาด้วยการแบ่งแยกนักศึกษาออกเป็นคณะต่าง ๆ เพื่อมิให้นักศึกษารวมตัวกันและง่ายต่อการปกครองตามวิธีการที่ฝรั่งตะวันตกใช้ปกครองเมืองขึ้น

ส่งกำลังทหารเข้าควบคุมมหาวิทยาลัยโดยใช้กรมการรักษาดินแดนเข้ามาตั้งสถานที่ทำการที่อาคารตึกโดมด้านซ้ายมือซึ่งเป็นคณะรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ในที่สุดได้ส่งกำลังทหารเข้ายึดครองทั้งมหาวิทยาลัยหลังจากเกิดเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๔ โดยให้นักศึกษาคณะธรรมศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ไปเรียนที่อาคารสำนักงานเนติบัณฑิตสภาที่อยู่บริเวณศาลแพ่งใต้ปัจจุบัน ส่วนคณะอุดมศึกษาจุฬาลงกรณ์ และท้ายที่สุดของการทำลายล้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองก็คือ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ซื้อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองด้วยจำนวนเงิน ๕ ล้านบาท เพื่อใช้เป็นสถานที่ทางราชการทหาร

รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย เอามหาวิทยาลัยคืนมา

ทันทีที่ข่าวซื้อมหาวิทยาลัย เพื่อใช้เป็นสถานที่ทางราชการทหาร ด้วยมติคณะรัฐมนตรี ได้แพร่สะพัดออกไปเท่านั้นเอง ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่ทุกคนไม่อาจอดทนอีกต่อไปได้แล้ว เพราะมันหมายถึงชีวิตและอนาคตที่จะต้องประสบกับความมืดมน จิตใจที่ขมขื่นตลอดมาจากการถูกคุกคาม ข่มขู่ปราบปราม ลิดรอนสิทธิต่าง ๆนานา ด้วยความไม่เป็นธรรม จนถึงขั้นยุบเลิกมหาวิทยาลัยด้วยอำนาจเผด็จการเช่นนี้ จึงถึงจุดที่ทุกคนต้องสู้อย่างชนิดเป็นอย่างไรเป็นกัน ถ้าไม่ได้มหาวิทยาลัยคืนมา ภายใต้คำขวัญว่า

“รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย เอามหาวิทยาลัยของเราคืนมา”

“ถ้าขาดโดมเจ้าพระยาท่าพระจันทร์ ก็เสมือนขาดสัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม”

อนาคตขึ้นอยู่กับการต่อสู้ ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ที่จะต่อสู้กับอำนาจเผด็จการเพื่อให้ได้มหาวิยาลัยคืนมา จึงได้ผุดและเกิดขึ้นด้วยพลังนักศึกษาและประชาชนที่รักความเป็นธรรม “คณะกรรมการนักศึกษา เพื่อรณรงค์ให้มหาวิทยาลัยคืนมา” จึงได้ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างลับ ๆ เพื่อเป็นแกนนำการต่อสู้เรียกร้องให้ได้มหาวิทยาลัยคืนมา โดยยึดถือหลักการต่อสู้เรียกร้องด้วยสันติวิธี และอาศัยพลังนักศึกษา ประชาชนที่รักความเป็นธรรมเป็นพลังการต่อสู้ ซึ่งได้แบ่งแยกภาระหน้าที่ออกเป็น ๓ ฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งมุ่งไปสู่ประชาชน โดยเฉพาะศิษย์เก่าและนักศึกษาที่ทำงานอยู่ตามหน่วยราชการและองค์การต่าง ๆ ฝ่ายที่สอง มุ่งไปสู่หนังสือพิมพ์และผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ ฝ่ายที่สามมุ่งไปสู่นักการเมืองโดยเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ช่วยเหลือสนับสนุนการต่อสู้เพื่อให้ได้มหาวิทยาลัยคืนมาของนักศึกษาในครั้งนี้ด้วย ปรากฏว่า ได้รับการสนองรับจากทุกฝ่ายด้วยความเห็นอกเห็นใจอย่างท่วมท้น เป็นเหตุให้นายเพทาย โชตินุชิต ส.ส.จังหวัดธนบุรีขณะนั้น ยื่นกระทู้ถามรัฐบาล คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลมหาวิทยาลัยอยู่ในขณะนั้น โดยสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดตอบกระทู้ถามของ ส.ส.เพทาย โชตินุชิต ในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๙๔

เช้าตรู่ของวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๙๔ ถนนทุกสายที่ไปสู่พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เต็มไปด้วยนักศึกษาชาย หญิง ทั้งศิษย์เก่าและนักศึกษาปัจจุบัน ร่วมด้วยประชาชนต่างมุ่งหน้าไปยังสภาผู้แทนราษฎร เพื่อฟังคำตอบกระทู้ว่าจะคืนมหาวิทยาลัยให้แก่นักศึกษาเพื่ออนาคตของนักศึกษาจำนวนหมื่นที่กำลังศึกษาอยู่ หรือถ้าไม่ยอมคืนให้เพื่อความดำรงอยู่ของอำนาจเผด็จการที่ต้องการกำจัดมหาวิทยาลัยแห่งนี้ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชนให้สิ้นไปแล้ว จะทำอย่างไร

ผลคำตอบกระทู้ถามของ ส.ส.เพทาย โชตินุชิต โดยพลโทสวัสดิ์ ส.สวัสดิเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สรุปได้ว่า รัฐบาลมีความจำเป็นที่ไม่สามารถคืนมหาวิทยาลัยให้ได้

พอสิ้นเสียงคำตอบจากรัฐบาลเท่านั้น บรรดานักศึกษาที่เรียงรายอยู่รอบ ๆ บริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อฟังคำตอบจากรัฐบาล ด้วยหัวใจที่รู้สึกตรงกันว่า ไม่ยอม เป็นอย่างไรเป็นกัน ถ้าไม่ได้มหาวิทยาลัยคืนมา ต่างลุกวิ่งฮือตรงไปยังสนามหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อได้ยินเสียงตะโกนดังขึ้นว่า “มาทางนี้ ๆ จอมพล ป.ลงมาทางบันไดหน้าพระที่นั่งฯแล้ว” และในทันใดนั้นเอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีก็ตกอยู่ในวงล้อมของนักศึกษาจำนวน ๓ พันกว่าคน ที่บริเวณสนามหญ้าหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมท่ามกลางแสงแดดจ้าอย่างที่ไม่อาจหลบเลี่ยงได้

สายตาของนักศึกษาทุกคนจ้องเขม็งไปที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม อย่างไม่หวาดหวั่นพรั่นกลัวใด ๆ ทั้งสิ้น เหมือนดังที่พลังนักศึกษาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างองอาจกล้าหาญเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ หรือพลังประชาชนที่คัดค้านเผด็จการ ร.ส.ช.อย่างไม่กลัวตายเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๔ ฉันนั้น

เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามได้เผชิญหน้ากับนักศึกษาที่นั่งอยู่รอบ ๆ ด้วยอาการที่สงบเงียบแล้ว การเจรจาระหว่างนักศึกษากับจอมพล ป.พิบูลสงครามหัวหน้ารัฐบาลก็ได้เริ่มขึ้น โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในสภาพที่ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในนาทีวิกฤติเช่นนี้ ได้กล่าวขึ้นก่อนด้วยใบหน้ายิ้มแย้มเหมือนจะซ่อนอารมณ์ชนิดใจดีสู้เสือว่า “มีอะไรก็ค่อย ๆพูดกันได้ ไม่ใช่คนอื่น ลูก ๆ หลาน ๆ ทั้งนั้น”

นักศึกษาต่างช่วยกันพูดช่วยกันถาม สรุปได้ว่า “พวกผมเดือดร้อนไม่มีที่เรียน พวกหนึ่งต้องไปเรียนที่เนติบัณฑิตสภา อีกพวกหนึ่งต้องไปเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจุฬาลงกรณ์ สถานที่เรียนคับแคบ อยู่ไกล ต้องเรียนถึงกลางคืน กลับบ้านมืดลำบากมาก และขณะนี้ก็ใกล้จะสอบแล้ว”

“จะสอบเมื่อไรล่ะ”

“สิ้นเดือนตุลาคม ครับ” การโต้ตอบหยุดเงียบลงชั่วครู่เพื่อรอคำตอบจากจอมพล “ถ้าอย่างนั้นจะคืนให้สิ้นเดือนตุลาคม ก่อนสอบ”

ทุกคนต่างพอใจคำตอบของจอมพล ป.พิบูลสงครามด้วยความชื่นชมยินดี แต่ก็ยังเป็นที่งุนงงสงสัยไม่แน่ใจว่าจะจริงหรือ เพราะพลโทสวัสดิ์ ส.สวัสดิเกียรติ เพิ่งตอบกระทู้ ส.ส.ไปหยก ๆ ว่า ไม่คืนให้ ดังนั้น เพื่อให้เป็นที่แน่ใจ นายเฉลียว พิศลยบุตร รองประธานนักศึกษาขณะนั้นจึงได้ประกาศสรุปผลต่อหน้าที่ชุมนุมว่า “ท่านนายกรัฐมนตรีจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ให้คำมั่นสัญญากับพวกเราต่อหน้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่อหน้าผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์และต่อหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมว่า จะคืนมหาวิทยาลัยให้แก่พวกเราภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้”

เสียงไชโย ๆ ๆ โห่ร้องกึกก้องหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วยความปิติยินดีที่ได้มหาวิทยาลัยกลับคืนมาด้วยพลังนักศึกษาประชาชน จากนั้นนักศึกษาและประชาชนได้เดินขบวนออกจากพระที่นั่งฯด้านลานพระบรมรูปทรงม้ามาตามถนนราชดำเนินผ่านอนุสาวรีย์เป็นริ้วขบวนยาว มาสิ้นสุดลงที่บริเวณหน้าสำนักเนติบัณฑิตสภาหน้าสนามหลวง ด้วยคำขวัญก่อนจะจากกันว่า “ทหารออกไป เอามหาวิทยาลัยเราคืนมา”

ในที่สุดนักศึกษาก็ได้เข้าสู่มหาวิทยาลัยด้วยชัยชนะของพลังนักศึกษาประชาชนเมื่อเช้าตรู่วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๔ ที่ดังกระหึ่มด้วยเสียงเพลง มาร์ช ม.ธ.ก. เพลงแห่งความหลัง และเพลงหวนอาลัย ที่รำลึกถึงผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ด้วยความอาลัยรักที่ต้องจากไป ภายหลังการจัดงานชื่นชุมนุมกันที่จังหวัดนครสรรค์ในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ ก่อนวันคืนสู่เหย้าเพื่อรวมพลที่ลูกแม่โดมจะยาตราทัพนักศึกษาประชาชนเข้าสู่มหาวิทยาลัยในเช้าวันรุ่งขึ้น

วันที่ ๕ พฤศจิกายน ได้ถูกเรียกร้องให้เป็นวัน “ธรรมศาสตร์” แต่ได้ถูกเปลี่ยนกลับไปเป็นวันที่ ๑๐ ธันวาคม คงจะเนื่องด้วเหตุผลเดียวกับการสร้างอนุสาวรีย์วีรชน ๑๔ ตุลาคม และอนุสรณ์ประชาธิปไตย พฤษภาคม ๒๕๓๔ จึงทำให้วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๙๕ ซึ่งเป็นวันที่ก่อให้เกิดขบวนการนักศึกษาเรียกร้องมหาวิทยาลัยคัดค้านอำนาจเผด็จการ และวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ ซึ่งเป็นวันแห่งชัยชนะของนักศึกษาถูกลบเลือนหายไป

๑๑ ตุลาคม ๒๔๙๕ จึงเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของนักศึกษาที่ขบวนการนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้ก่อกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกของนักศึกษาประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย และจากขบวนการนักศึกษา ๑๑ ตุลาคม ๒๔๙๕ ได้พัฒนาเจริญเติบโตเป็นขบวนการนักศึกษา ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และจากขบวนนักศึกษา ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ได้เจริญเติบโตมาเป็นพลังมวลชนที่ต่อสู้คัดค้านอำนาจเผด็จการ รสช.พฤษภาคม ๒๕๓๕ ถึงกาลบัดนี้

No comments: