Sunday, May 20, 2007

บทความที่ ๑๓๐. เขาหาว่าข้าพเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์

เขาหาว่าข้าพเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์
ปรีดี พนมยงค์

ในเอเชียอาคเนย์ ภายใต้การครอบงำของอเมริกัน พวกเขาใช้วิธการ “สงครามจิตวิทยา” ซึ่งตกทอดมาจากสมัยพระเจ้าซาร์ของรัสเซีย อันได้แก่ การทำให้ราษฎรผู้บริสุทธิ์หวาดกลัว ด้วยการพูดถึงลัทธิคอมมิวนิสต์เกินความจริง เป็นต้นว่า ในสยามมีการโฆษณารูปภาพปิศาจ ที่น่าสะพรึงกลัว ซึ่งหมายถึง “ปิศาจคอมมิวนิสต์” และได้มีการอบรมสั่งสอนราษฎรให้เชื่อว่า ถ้าลัทธิคอมมิวนิสต์ครอบครองสยามแล้ว ราษฎรก็จะไม่มีอิสระในการปฏิบัติกิจทางศาสนาอีกต่อไป และผู้หญิงจะต้องตกเป็นของกลาง

นักเขียนอเมริกันผู้หนึ่งซี่งสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับจิตวิทยาได้เขียนเรื่องเจงกิสข่าน นักประวัติศาสตร์ต่างรู้จักนักรบผู้ยิ่งใหญ่ชาวมองโกลผู้นี้เป็นอย่างดี หลานของเจงกิสข่าน คือ กุบไลข่าน (พ.ศ. ๑๗๕๙ -๑๘๑๒)ได้เป็นจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หยวนของจีน ในยุคที่มาร์โคโปโลเดินทางไปเยือนจีน

ด้วยกำลังเพียง ๕๐,๐๐๐ คน เจงกิสข่านก็สามารถพิชิตดินแดนส่วนใหญ่ของยุโรปตะวันออก และบางส่วนของรัสเซียและโปรแลนด์โดยใช้สงครามจิตวิทยา เขาสร้างภาพให้ตนเป็นคนโหดร้าย เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชน ในดินแดนที่เขาจะไปรุกรานถึงขนาดที่ว่า เมื่อนักรบชาวมองโกลผู้นี้ประกาศว่าจะรุกรานภูมิภาคใด ประชาชนซึ่งพ่ายแพ้ในทางจิตวิทยาแล้ว ก็จะอพยพหนีออกจากศูนย์กลางที่สำคัญ ๆ และยอมจำนนอย่างง่ายดาย พึงสังเกตด้วยว่าเจงกิสข่านและแม่ทัพนายกองของเขาดำเนินการโฆษณาชวนเชื่อเอง แต่ทุกวันนี้ลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเซียอาคเนย์ไม่จำเป็นต้องลำบากลำบนในการโฆษณาชวนเชื่อถึงขนาดนั้น เพราะศัตรูของพวกเขาได้ดำเนินการแทนแล้ว

นักศึกษาบางคนได้ถามข้าพเจ้าว่า ตามความคิดของข้าพเจ้าประเทศใดจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ต่อไป

ข้าพเจ้าไม่ขอทำตัวเป็นศาสดาพยากรณ์เพราะอาจจะพลาดได้ แต่จะให้คู่สนทนาของข้าพเจ้าไปค้นหาคำตอบเอาเอง อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าก็ได้เล่าให้นักศึกษาฟังว่ามีบางคนได้บอกข้าพเจ้าว่า เขาเคยเห็นปิศาจ ซึ่งหมายถึงวิญญาณที่เขาเรียกกันว่าผีในประเทศตะวันตก ข้าพเจ้าได้สรุปว่า คนที่กลัว “ปิศาจ” นั้น อยู่ในสภาพทางจิตชนิดหนึ่ง ที่พวกเขาอาจจะมองเห็นได้

ในทำนองเดียวกัน ประเทศที่ประชาชนมีความหวาดกลัวต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะว่าความกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์ก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นคอมมิวนิสต์เพราะว่าความกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์จะทำให้รัฐบาลภายในประเทศนั้น สามารถทำผิดอย่างมหันต์ได้ และด้วยเหตุนี้ประชาชนก็จะต่อต้านรัฐบาลของตน อันที่จริง ประเทศมหาอำนาจสองประเทศก็เป็นตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้ว

รัสเซียสมัยซาร์ประสบความสำเร็จในการทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งหวาดกลัว ด้วยวิธีการโฆษณาต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในที่สุดรัสเซียสมัยซาร์และรัฐบาลวรรณะเจ้าสมบัติที่สืบต่อมาก็ต้องพ่ายแพ้เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๐ ปฏิทินเก่าของรัสเซีย ตรงกับวันที่ ๗ พฤศจิกายนตามปฏิทินเกรกอเรียน)หลังจากรบกับกองหน้าของบอลเชวิคเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น ซึ่งประกอบด้วยกองทหารแดงกะลาสีเรือลาดตระเวนออรอร่าและหน่วยรบเล็ก ๆ ของกรรมกรและชาวนา

จีนคณะชาติยังคงได้ชื่อว่า มีความสามารถในการโฆษณาชวนเชื่อ ต่อต้านคอมมิวนิสต์ยิ่งกว่าใคร ๆ เนื่องจากประสบความสำเร็จในการทำให้ผู้หญิงหลายคนหวาดกลัว ด้วยการอธิบายว่าถ้าลัทธิคอมมิวนิสต์ครอบครองจีน ก็จะมีเพียงมีดทำครัวเล่มเดียวเท่านั้นสำหรับใช้กันทั้งหมู่บ้าน

ยิ่งกว่านั้น หลังการสถาปนาสาธารณรัฐราษฎรจีนแล้ว จากปากคำของอดีตโสเภณีเองก็บอกว่ายังมีความหวาดกลัวในเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์ เพราะนักโฆษณาชวนเชื่อฝ่ายจีนคณะชาติได้เคยบอกบรรดาโสเภณีว่า ถ้าพวกคอมมิวนิสต์เข้ามาในเมือง ทหารคอมมิวนิสต์จะเข้าแถวหน้าซ่องโสเภณีเป็นกองร้อย หรืออาจจะเป็นกองพันจนถึงกับว่าบรรดาโสเภณีอาจจะหมดไป แต่กระนั้นจีนก็ได้กลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ใหญ่อันดับ ๒ อยู่ดี

ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ข้าพเจ้าได้เสนอร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจต่อรัฐบาล โดยหวังที่จะแก้ไขสภาพเศรษฐกิจตกต่ำลงอย่างน่าใจหายในสมัยนั้น สภาพดังกล่าวมีผลกระทบอย่างร้ายแรง ต่อความเป็นอยู่ของประชากร โดยเฉพาะกสิกร ข้าพเจ้าเสนอให้รัฐบาลซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมด้วยพันธบัตร มีดอกเบี้ยให้ประจำในอัตราที่เป็นธรรม ก่อตั้งสหกรณ์ต่าง ๆ ขึ้นอยู่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐ โดยให้ราษฎรได้ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของตน เพื่อป้องกันและกำจัดอาชญากรรมในรูปต่างๆ ตลอดจนจัดหางานให้ราษฎรแต่ละคน

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนใหญ่สนับสนุนร่างเค้าโครงเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ แต่ในคณะรัฐมนตรี มีผู้ที่นิยมการปกครองแบบเก่า รวมทั้งเพื่อนบางคนของข้าพเจ้าที่ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มนี้ คัดค้านร่างเค้าโครงการฯ ดังกล่าว เมื่อคนกลุ่มนี้เห็นว่าในที่สุดแล้ว สภาผู้แทนราษฎรจะต้องลงมติเห็นชอบ กับร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจและจะต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยขึ้นมาแทนรัฐบาลผสมอย่างแน่นอน พวกเขาจึงได้ขบคิดแผนการร่วมกับกลุ่มสมาชิกฝ่ายทหารในคณะรัฐมนตรี ทหารกลุ่มหนึ่งล้อมที่ทำการสภาผู้แทนราษฎรและที่พักของข้าพเจ้า นอกจากนั้นยังได้ดำเนินการให้ในหลวงรัชกาลที่ ๗ ออกพระราชกฤษฎีกาประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญและยุบสภา และออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เพื่อปราบปรามความคิดและกิจกรรมทุกรูปแบบที่มีลักษณะเป็นสังคมนิยม ซึ่งพวกเขาตีความว่าเป็นคอมมิวนิสต์ สำหรับส่วนตัวข้าพเจ้านั้น พวกเขาบีบบังคับให้ข้าพเจ้าออกจากประเทศ โดยกล่าวหาว่าข้าพเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์ ที่ไม่เป็นที่พึงปรารถนา ข้าพเจ้าจึงถูกเนรเทศไปอยู่ในประเทศฝรั่งเศส

ประมาณ ๒ เดือนต่อมา พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นบุคคลที่ข้าพเจ้าเคารพนับถือได้ทำการยึดอำนาจได้สำเร็จ และกราบบังคมทูลขอให้ในหลวงรัชกาลที่ ๗ นำรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๔๗๕ กลับมาใช้ใหม่ พระองค์ทรงรับคำขอนั้น โดยมีเงื่อนไขว่าให้คงพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อตกลงกันตามเงื่อนไขของพระองค์แล้ว พระองค์จึงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งรัฐบาล โดยมีพระยาพหลน เป็นนายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯขอให้ข้าพเจ้ากลับประเทศโดยมิให้ข้าพเจ้ากล่าวถึงเค้าโครงการเศรษฐกิจของข้าพเจ้าเป็นการชั่วคราว

เมื่อข้าพเจ้ากลับจากประเทศฝรั่งเศสได้ ๑ เดือน ได้เกิดกระแสการโต้อภิวัฒน์ขึ้น โดยเริ่มตามหัวเมืองต่างจังหวัดก่อน มีผู้นำคือ พระองค์เจ้าบวรเดช ต่อมาได้เกิดการสู้รบขึ้น แต่รัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายได้รับชัยชนะ ในที่สุดต่อมา สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ซึ่งสมาชิกครึ่งหนึ่ง ได้รับเลือกตั้งจากราษฎร ได้ตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษขึ้น ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายทั้งของสยาม อังกฤษ และฝรั่งเศสมีหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวข้าพเจ้า เพื่อสอบสวนว่าข้าพเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ และเพื่อวินิจฉัยร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจที่จะได้จัดตีพิมพ์ขึ้น

คณะกรรมาธิการพิเศษที่สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งขึ้นประกอบด้วย ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ พระยาศรีสงกร พระยานลรชสุวัทน์ และผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ๒ ท่านคือ เซอร์โรเบิอร์ต ฮอลแลนด์ (Sir. Robert Holland) ชาวอังกฤษ กับนายอาร์ กีร์ยอง (R.Guyong)ชาวฝรั่งเศส โดยที่คำกล่าวหานายปรีดี พนมยงค์ เป็นปัญหาทางการเมืองมิใช่ตุลาการ คณะกรรมาธิการมีความเห็นว่าประเด็นที่จะต้องพิจารณาก็คือ นายปรีดีมีความเห็นทางการเมืองเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ ในการพิจารณาต้องวางบทวิเคราะห์ศัพท์ก่อนว่า “คอมมิวนิสต์คืออะไร ?” คณะกรรมาธิการมอบให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศทั้งสองร่วมกัน บันทึกเพื่อวางบทวิเคราะห์ศัพท์คอมมิวนิสต์ก่อน เมื่อผู้เชี่ยวชาญได้ทำบันทึกยื่นต่อคณะกรรมาธิการ และคณะกรรมาธิการได้รับรองแล้ว จึงเชิญนายปรีดีมาถามความพอใจในบทวิเคราะห์ศัพท์นั้นว่า เป็นบทวิเคราะห์ที่เป็นธรรมหรือไม่อย่างใด ครั้นเมื่อนายปรีดีพอใจในบทวิเคราะห์นั้นแล้ว คณะกรรมาธิการจึงจะถามในลักษณะแต่ละข้อแห่งคอมมิวนิสต์นั้นต่อไปว่า นายปรีดีมีความคิดเห็นในทางการเมืองอย่างไรบ้าง หลังจากได้รับคำตอบแล้ว คณะกรรมาธิการจึงจะวินิจฉัยว่า “ปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ ?”

การสอบสวนจากคณะกรรมาธิการพิเศษชุดนั้นสิ้นสุดลงพร้อมกับลงมติเป็นเอกฉันท์ว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมไม่มีมลทินเป็นคอมมิวนิสต์ดังกล่าวหา (เป็นการประชุมของคณะกรรมาธิการครั้งที่ ๔ วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๗)

สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมธิการพิเศษ ที่ตัดสินว่า แม้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจของข้าพเจ้าบางส่วนจะมีความคล้ายคลึงกับโครงการเศรษฐกิจ ๕ ปีของโซเวียต แต่เนื้อหาสาระในโครงการนั้นเป็นเรื่องการปฏิรูปการเกษตรซึ่งมิใช่โครงการแบบคอมมิวนิสต์ ต่อจากนั้นโดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร และตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าแต่งตั้งข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลพระยาพหล ฯลฯ กับกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม (ระหว่างธันวาคม ๒๔๘๑-ธันวาคม ๒๔๘๔)

No comments: