Wednesday, May 2, 2007

บทความที่ ๑๒๕. ช่วงสุดท้ายของชีวิตที่ชานกรุงปารีส

ช่วงสุดท้ายของชีวิตที่ชานกรุงปารีส
(เนื่องวันคล้ายวันอสัญกรรมของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐)

“อดีตข้ารัฐการอเมริกันผู้นั้นได้กล่าวว่า ผู้จองล้างจองผลาญข้าพเจ้านั้น ก็ร่ำรวยมากแล้วไม่น่าจะล้างประวัติศาสตร์แห่งชาติตนเอง เพราะเรื่องเกี่ยวกับข้าพเจ้านั้น คนในอเมริกาและในยุโรป เอเซีย ก็เขียนไว้จากหลักฐานที่เชื่อถือได้ ซึ่งพวกที่จองล้างจองผลาญข้าพเจ้าไม่อาจมาลบล้างได้ ไม่ช้าก็เร็ว ราษฎรไทยก็จะได้อ่านความจริง”
ปรีดี พนมยงค์

ตลอดเวลา ๑๓ ปีสุดท้ายแห่งการใช้ชีวิตที่ปารีส ท่านรัฐบุรุษอาวุโสมีภารกิจมากมาย ทั้ง ๆ ที่ท่านมีอายุเข้าสู่ความชราภาพ และท่านก็ได้ปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ จนกระทั่งวินาทีสุดท้าย ซึ่งอาจถือว่าเป็นการชดเชยเวลาที่ได้เสียไปถึง ๒๑ ปีที่อยู่ในเมืองจีน

เมื่อเดินทางออกไปอยู่ที่ปารีสได้ไม่นาน ท่านปรีดีฯ ก็ได้ติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูตไทยที่นั่น เพื่อขอให้ออกหนังสือเดินรับรองการมีชีวิตอยู่ของท่านสำหรับนำไปประกอบเป็นหลักฐานในการขอรับเงินบำนาญที่มีสิทธิจะได้รับตามกฎหมายเนื่องจากในขณะนั้นท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้รับการใส่ร้ายป้ายสีด้วยเรื่องที่ร้ายแรงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและหนักหน่วง ด้วยเหตุผล “ทางการเมือง” เป็นเวลาถึงสองทศวรรษ ดังนั้น “ทางออก” สำหรับท่านในทุก ๆ เรื่อง ก็มีเพียงการขอความเป็นธรรมจากศาลยุติธรรมเท่านั้น โดยคำพิพากษาของศาลฯ ท่านปรีดีฯ จึงได้รับเงินบำนาญเลี้ยงชีวิต ตลอดจนได้รับหนังสือเดินทางของไทย

ประมาณต้นเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๓ นั้นเอง ท่านรัฐบุรุษอาวุโสก็ได้รับเชิญจาก “สโมสรกองกำลังพิเศษ” ของอังกฤษซึ่งเคยร่วมงานกันในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ให้ไปเยือนประเทศอังกฤษ ต่อมานายกสโมสรดังกล่าวโดยหนังสือลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ศกเดียวกัน ได้เชิญท่านปรีดีฯ เป็นสมาชิกกิตติมศักดิของสโมสร ฯ

ในโอกาสเดียวกัน ลอร์ดหลุยส์ เมาท์แบทเตน ก็ได้เชิญให้ท่านรัฐบุรุษอาวุโสกับท่านผู้หญิงพูนศุขฯ เป็นแขกไปพำนักที่คฤหาสน์นอกกรุงลอนดอน

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๘ ท่านปรีดีฯ ก็ได้รับเชิญจากสามัคคีสมาคมให้ไปกล่าวปาฐกถาที่กรุงเอดินบะระ ในสกอตแลนด์อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นท่านก็ยังได้รับเชิญจากสมาคมนักเรียนไทยดังกล่าวมีการประชุมประจำปีอีกด้วย การที่ได้ไปปฏิบัติภารกิจดังกล่าวได้ทำให้ท่านรัฐบุรุษอาวุโสเป็นที่รู้จักแก่บรรดนักเรียนไทยในทวีปยุโรปในช่วงเวลานั้น

ในขณะเดียวกัน ท่านรัฐบุรุษอาวุโสก็มีโอกาสได้พบกับบุคคลต่าง ๆ จากเมืองไทยที่มาแวะเยือนท่าน ณ บ้านของท่านที่อองโตนี หรือในบางกรณีก็ได้พบกันที่สถานเอกอัครราชทูตไทย นอกจากนั้นก็ยังมีผู้แทนหนังสือพิมพ์ทั้งไทยและต่างประเทศ ได้ขอสัมภาษณ์ท่านในเรื่องต่าง ๆ

นอกจากนั้น ท่านปรีดี พนมยงค์ ก็ยังได้ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าในทางวิชาการหลายด้านตลอดจนได้เรียบเรียงเรื่องราวจากประสบการณ์ของท่านอันเป็นบางส่วนของประวัติศาสตร์ไทย ตีพิมพ์ขึ้นเป็นหนังสือบ้างและบทความบ้าง

แต่ภารกิจที่ดูเหมือนจะทำให้ท่านต้องใช้เวลามากที่สุดหาก็มีความสำคัญและเป็นผลสำเร็จมากที่สุดก็คือ การเรียบเรียงคำฟ้องศาลในคดีหมิ่นประมาทต่าง ๆ ที่มีผู้ประสงค์ร้ายหรือผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้พิมพ์โฆษณาใส่ร้ายท่าน หรือนำความเท็จมาเผยแพร่ให้ท่านได้รับความเสียหาย วัตถุประสงค์โดยแท้จริงของท่านรัฐบุรุษอาวุโสในการฟ้องร้องดังกล่าวนี้ก็คือ ได้ชี้แจงแถลงข้อเท็จจริงให้ปรากฏแก่สาธารณชนในประเด็นที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยยุคปัจจุบัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตที่ท่านมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแต่ประการใด

สำหรับงานเขียนของท่านรัฐบุรุษอาวุโสที่มีผู้สนใจใคร่จะได้อ่านมากที่สุดก็คือ “บันทึกความทรงจำ” ของท่านเอง เพราะจะเป็นการเปิดเผยเรื่องราวมากมายที่อาจจะไม่มีผู้ใดได้ทราบมาก่อน อย่างไรก็ตาม งานดังกล่าวก็ทำได้สำเร็จพอเป็นสังเขปในบางเรื่อง ซึ่งที่มีความละเอียดอยู่บ้างก็คือ หนังสือเรื่อง “ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า” และ “ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน” ซึ่งเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสและมีผู้แปลเป็นภาษาไทย

สำหรับอีกเล่มหนึ่งก็คือ “ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์” ซึ่งให้ข้อมูลหลายประเด็นซึ่งเป็นรายละเอียดให้ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาค้นคว้าต่อไปได้ นอกจากนั้นก็มีเรื่อง “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย” และเรื่อง “ความเป็นไปภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ซึ่งเปิดเผยเรื่องราวที่ไม่เคยเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างถูกต้องมาก่อน

ในบางกรณีท่านรัฐบุรุษอาวุโสก็ได้ท้าวความถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อันเป็นประสบการณ์ของท่าน ในคำให้สัมภาษณ์และในบทความบางเรื่องที่ท่านได้กล่าวถึง หรือเขียนถึงในระหว่างที่ท่านใช้ชีวิตอยู่ที่ปารีส

อาจจะกล่าวได้ว่าในช่วงเวลาที่ท่านปรีดีฯ พำนักอยู่ที่ปารีสก่อนถึงอสัญกรรมใน พ.ศ.๒๕๒๖ นี้ ท่านใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในการเขียนหนังสือในลักษณะต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น อาทิ

“คำฟ้องบริษัทฯ สยามรัฐฯ, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ฯลฯ” ๒๕๑๓
“คำฟ้องบริษัท ไทยเดลี่การพิมพ์ฯลฯ” ๒๕๑๔
“จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยวิธีสันติหรือไม่” ๒๕๑๖
“ผู้เกินกว่าราชา” ๒๕๑๗
“เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร” ๒๕๑๗
“ระลึกถึงคุณเฉียบ อัมพุนันท์” ๒๕๑๗
“คำฟ้องนายรอง ศยามานนท์” ๒๕๒๑
“คำฟ้องนายชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ ฯลฯ” ๒๕๒๒
“คำประท้วงฯ ต่อกระทรวงศึกษาธิการ
(ต่อการมอบรางวัลให้แก่หนังสือของ พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี) ๒๕๒๒
“คำสัมภาษณ์-ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา” ๒๕๒๕
“อนุสรณ์นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร” ๒๕๒๕
“ความเห็นเรื่อง มหาราชและรัตนโกสินทร์” ๒๕๒๕
“คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ ฯลฯ” ๒๕๒๕
“ประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์” ๒๕๒๖
“ชีวิตและการงานของปรีดี-พูนศุข” ๒๕๒๕-๒๕๒๖

และ “บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒” ซึ่งในคำปรารภของหนังสือเล่มดังกล่าว ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้เขียนเกี่ยวกับตัวของท่านในช่วงที่พำนักอยู่ที่ปารีส ซึ่งอาจจะเป็นข้อเขียนเพียงชิ้นเดียวของท่านในลักษณะเช่นนั้น สำหรับข้อเขียนอื่น ๆ ที่ระบุเอาไว้ข้างต้นจะเป็นเรื่องวิชการบ้าง ประวัติศาสตร์บ้าง หรือความคิดเห็นเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับตัวท่านโดยตรง

ใน คำปรารภ ที่กล่าวนี้ ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนไว้ดังนี้

“การพิมพ์เรื่องเกี่ยวกับข้าพเจ้าในประเทศไทยไม่ราบรื่นแม้จะเป็นเรื่องที่ผู้จัดพิมพ์ได้ระวังเป็นอย่างดีแล้วว่าไม่ผิดกฎหมายบ้านเมือง หรือเป็นเรื่องที่หนังสือพิมพ์และนิตยสารเกือบทั่วโลกได้กระจายข่าวแล้ว เมื่อข้าพเจ้าแรกถึงปารีสซึ่งหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยหลายฉบับก็อยากเสนอข่าวนี้ให้ผู้อ่านทราบ แต่ก็ถูก “กระซิบ” มิให้ลงข่าว

ต่อมามีบางฉบับส่งผู้แทนมาสัมภาษณ์ข้าพเจ้า แล้วนำข้อความไปลงพิมพ์แต่เพียงว่าข้าพเจ้าอายุเท่าใด สุขภาพเป็นอย่างใด อยู่บ้านชนิดไหน ข้าพเจ้าจะกลับเมืองไทยหรือไม่ ซึ่งข้าพเจ้าตอบว่า จุดหมายปลายทางนั้น ข้าพเจ้ากลับเมืองไทย แต่ระหว่างนี้ยังไม่กลับ ข้าพเจ้าได้รับทราบว่าหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นถูก “กระซิบ” ว่าอย่าลงพิมพ์ต่อไปให้เกินกว่าที่ได้ลงพิมพ์แล้ว

ส่วนนายสุพจน์ ด่านตระกูลที่เสี่ยงภัยรวบรวมเรื่องเกี่ยวกับข้าพเจ้า โดยคัดสำเนาเอกสารทางราชการมาลงพิมพ์ไว้หลายตอน ที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในคำสอนกฎหมายปกครองที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ เทิดทูนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ (รัชกาลที่๖)ไว้ และคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ (รัชกาลที่๗) และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้มีพระราชกระแสรับสั่งพระราชทานอภัยโทษให้ พร้อมทั้งได้พระราชทานพรด้วยนั้นก็ดี และมีสุนทรพจน์ของข้าพเจ้าซึ่งแสดงในสภาผู้แทนราษฎรเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ดี

ทราบว่านายสุพจน์ ด่านตระกูลถูกเรียกตัวไป “กระซิบ”ว่า ได้ข่าวว่านายสุพจน์ฯ จะเขียนหนังสือเทิดทูนนายปรีดี พนมยงค์อีก อันเป็นการทำให้ราชบัลลังก์สะเทือน และทำให้นักศึกษาตต่อต้าน “คณะปฏิวัติ” จึงขอให้นายสุพจน์ฯ ระงับที่จะพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับนายปรีดีฯ อีกต่อไป มิฉะนั้นก็จะถูกจับกุม

ที่ข้าพเจ้าใช้คำว่า “กระซิบ” นั้น เพราะไม่มีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร หรือคนกระซิบเพียงอ่านกระดาษแผ่นหนึ่ง อ้างว่าเป็นคำสั่งอธิบดี แล้วก็เก็บคำสั่งไว้โดยไม่มอบสำเนาให้ผู้ถูก “กระซิบ”

วิธี “กระซิบ” นั้นเป็นวิธีเบากว่าวิธีที่บางสมัยสร้างพยานเท็จและผู้พิพากษาที่ไม่ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม เชื่อพยานเท็จ หรือแสร้งว่าเชื่อ ตัดสินประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ อันทำให้เสื่อมเสียแก่สถาบันยุติธรรมของชาติ จึงเป็นการเลวร้ายยิ่งกว่าวิธี “กระซิบ”

ถ้าหากในสมัย “ก่อนการเจรจาสัญญากับนานาประเทศเพื่อเลิกสิทธิพิเศษในทางศาล” มีเรื่องเลวร้ายเกี่ยวกับการที่มีผู้พิพากษาที่เคยเรียนตามหลักสูตรสมัยเก่า รู้หลักอินทรภาษในกฎหมาย ๒ เล่ม คือให้ผู้พิพากษาตั้งอยู่โดยปราศจากอคติ ๔ ประการอันได้แก่ ฉันทา โทสา ภยา โมหา แต่ผู้พิพากษาชุดเก่าที่แม้บางคนจะเคยบวชเรียนและสวดมนต์วันหนึ่งร่วม ๑ ชั่วโมง ก็ยังไม่นำพาต่อคติธรรมดังกล่าว แล้วก็ไม่มีใครที่จะสามารถเจรจาขอแก้สนธิสัญญาไม่เสมอภาคนับนานาประเทศได้ แม้จะจ้างบุตรเขยประธานาธิบดีอเมริกันทุกคนมาช่วยเจรจา ผู้คนเหล่านั้นก็จะเบนหน้าไปตาม ๆ กัน

อย่างไรก็ตาม เรื่องเลวร้ายในสมัยนั้นก็มีการเปิดโปงในหนังสือที่ฝรั่งหลายคนเขียนไว้แล้ว แม้ว่าจะมีบุรุษผู้มีแผลเป็นที่หน้า ได้อาสาเข้าร่วมกับผู้เสี่ยงภัยชาวออสเตรเลียคนหนึ่งที่เคยทำงานหนังสือพิมพ์อเมริกันที่กรุงโรม เพื่อจะใส่ร้ายผู้บริสุทธิ์ให้หนักยิ่งขึ้น แต่เมื่อชาวออสเตรเลียคนนั้นได้สติขึ้นมา และเกิดมีหิริโอปตัปปะขึ้น ก็ไม่ยอมที่จะร่วมมือต่อไปในการทำสกปรกจิตใจตามสินจ้างที่พวกเหล่านั้นเสนอให้ด้วยราคาแรง ครั้นแล้วเขาก็ได้เล่าให้เพื่อนฝรั่งรู้ จนมาถึงหูข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้ามีความสังเวชพวกเลวร้ายนั้นเป็นอย่างยิ่ง

ข้าพเจ้ากล่าวแล้วว่าวิธี “กระซิบ” เบากว่าวิธีของบุคคลบางจำพวกในบางสมัย แต่ก็ไม่เห็นด้วยในเนื้อหาของการ “กระซิบ” ที่อ้างราชบัลลังก์ เพราะข้าพเจ้าได้ถามข้าราชการผู้ใหญ่ซึ่งเคยเป็นชั้นนายพลและนายพลตำรวจบางคนที่มาเยี่ยมข้าพเจ้า เป็นที่เปิดเผยแล้ว ได้ความว่าผู้ใหญ่ทางทหารและพลเรือนมิได้สั่งให้ตำรวจสันติบาล หรือตำรวจเอกสารหนังสือพิมพ์ทำการ “กระซิบ” เช่นนั้นเลยและมิได้บังอาจอ้างราชบัลลังก์ ดั่งที่ชนผู้น้อยทำไปเองเพื่อเสนอเอาความชอบ

นายพลตำรวจตรีสง่า กิตติขจร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้สั่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสให้ออกหนังสือเดินทางไทยแก่ข้าพเจ้านั้น ได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันถึงการที่นายตำรวจผู้นั้นได้สั่งการไปแล้ว ก็ได้มีพระราชกระแสรับสั่งว่า “ดีแล้ว”

ภายหลังที่ข่าวการมาปารีสของข้าพเจ้ารู้ถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลายคน ซึ่งเรียกร้องให้ทางการเชิญข้าพเจ้ากลับประเทศไทย อาจารย์ผู้หนึ่งตำหนินักศึกษาว่าทำการเป็นที่ “สะเทือนพระราชหฤทัย” ตำรวจสันติบาลและเอกสารหนังสือพิมพ์ก็พลอยยื่นมือเข้ามาด้วย ข้าพเจ้าต้องขอบใจ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชที่แม้ขณะนั้นกำลังเป็นความอยู่กับข้าพเจ้า ที่เขียนข้อความลงในสยามรัฐ เตือนพวกที่อ้างว่ารู้พระราชหฤทัยดีกว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ เองนั้น ว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรงความเป็นธรรมต่อพสกนิกรถ้วนหน้า”

พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้เสด็จมาเยี่ยมข้าพเจ้าที่บ้านพักชานกรุงปารีส ท่านพระองค์นี้เป็นประมุขพระราชวงศ์อันดับรองจากสมเด็จเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ก่อนที่ท่านเสด็จเยี่ยมข้าพเจ้าและเสด็จกลับกรุงเทพฯ แล้วก็ดี พระองค์ได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบ

ต่อมาเมื่อปลายเดือนมีนาคมปีนี้ (พ.ศ.๒๕๑๕) หม่อมเจ้าหญิงอัปภัศราภา เทวกลุ ที่ได้ทรงรับใช้สมเด็จพระพันวัสสาอยิกาเจ้า ตั้งแต่ท่านหญิงมีพระชันษา ๗ พรรษา จนกระทั่งสมเด็จพระองค์นั้นสวรรคต ได้นำหนังสือ “สมเด็จพระศรีสวรินทรา” มาประทานข้าพเจ้า ๑ เล่ม ในหนังสือเล่มนั้นมีตอนหนึ่ง ที่ท่านหญิงได้ประทานเล่าเรื่องไว้เกี่ยวกับข้าพเจ้าและเสรีไทยบางคนที่ถวายความปลอดภัยแด่สมเด็จพระองค์นั้นและพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่แล้ว ท่านหญิงฯ กล่าวไว้ในคำนำหนังสือเล่มนั้นว่าก่อนที่จะทรงเล่าให้ผู้จัดพิมพ์นำไปลงพิมพ์นั้น ท่านหญิงฯ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน มีพระราชกระแสรับสั่งว่า “ถ้าเป็นความจริงก็เล่าได้” ท่านหญิงฯ จึงในท้ายคำนำว่า “ยึดถือตามพระราชกระแสดำรัสนั้น ถ้าเป็นความจริงที่ข้าพเจ้าได้ยินกับหู เห็นด้วยลูกนัยน์ตา ก็จะเล่าให้คุณสมภพ(ผู้จัดทำหนังสือเล่มนั้น)ฟัง เพื่อช่วยคุณสมภพให้เขียนเรื่องได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น”

ข้าพเจ้าเห็นว่าหนังสือเล่มนั้นก็ได้ตีพิมพ์ขึ้น ๒ ครั้งแล้ว ก็ยังไม่มีผูใดที่จะทำการ “กระซิบ” แก่ท่านหญิงฯ หรือแก่คุณสมภพฯ เหมือนดั่งที่บุคคลซึ่งมีสภาพประดุจลูกนกลูกกาถูก “กระซิบ” พร้อมด้วยการคาดโทษว่าถ้าฝ่าฝืน “การกระซิบ” ก็จะต้องถูกจับ

ส่วนการ “กระซิบ” จะมาจากทางผู้ใหญ่ฝ่ายทหารหรือไม่นั้น ข้าพเจ้าได้ทราบจากผู้ที่เอาเอกสารทางการอเมริกันที่เปิดเผยแล้วเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย ซึ่งเป็นธรรมดาย่อมมีชื่อข้าพเจ้าเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางฉบับ อาทิ “สยามไทม์” ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้สนใจพอสมควร ต่อมาข้าพเจ้าได้ทราบว่าหนังสือพิมพ์นั้นได้ถูก “กระซิบ” อ้างว่าทหารไม่พอใจ จึงมีผู้ไปถาม พล.อ.อ.ทวี จุลทรัพย์ เสนาธิการทหาร ว่ามีความจริงตามคำ “กระซิบ”หรือไม่ พล.อ.อ.ทวี จุลทรัพย์ตอบว่า คน “กระซิบ” นั้น “บลั๊ฟ”

ส่วนทางจอมพลถนอม กิตติขจร นั้น ข้าพเจ้าได้ทราบจากข้าราชการผู้ใหญ่ทางทหารและพลเรือนอีกหลายคน รวมทั้งขนาดชั้นนายพลขึ้นไปด้วยว่า จอมพลถนอม กิตติขจร มิได้ใช้ใครให้ไป “กระซิบ” หรืออ้างองค์พระมหากษัตริย์ดั่งผู้ที่ “กระซิบ” ได้ทำไปเองโดยลำพัง

ส่วนทางพล.อ.ประภาส จารุเสถียร ข้าพเจ้าได้รับทราบจากนายทหารชั้นนายพลและผู้ใกล้ชิดหลายคน ยืนยันว่า พล.อ.ประภาส จารุเสถียรมิได้ใช้ให้ใครไป “กระซิบ” ดังกล่าวเลย ยิ่งกว่านั้น ผู้มาเยี่ยมหลายคนยังได้เล่าก่อนที่จะเดินทางจากกรุงเทพฯ ได้เคยแจ้งให้พล.อ.ประภาสฯ หรือผู้ใกล้ชิด รู้ไว้ก่อนแล้ว ซึ่งท่านผู้นี้ได้เคยพูดหลายครั้งว่า “เวลานี้เป็นแฟชั่น ถ้าใครมาปารีสแล้ว ต้องมาพบนายปรีดีฯ”

เมื่อข้าพเจ้าได้ทราบจากพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ และนายพลกับนายพลตำรวจหลายคนดัง กล่าวนั้นแล้ว ข้าพเจ้าจึงเสาะหาว่าการจองล้างจองผลาญข้าพเจ้าไม่รู้จบสิ้นนั้นจะมาจากทางใด จึงเกิดความสงสัยว่าองค์การ ซี.ไอ.เอ.ของอเมริกันปัจจุบันนี้ที่ได้จ่ายเงินมหาศาลให้สายลับในเมืองไทยร่ำรวยด้วยวิธีหากินจากการพลีผู้บริสุทธิ์และล้างประวัติศาสตร์ของชาติไทยนั้น จะมีส่วนอย่างใดบ้างในการกลั่นแกล้งข้าพเจ้า

ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอให้อดีตข้ารัฐการกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ช่วยฟังดูว่าข้อสงสัยของข้าพเจ้าจะมีมูลประการใด อดีตข้ารัฐการอเมริกันได้ยืนยันว่าเขามิได้มีส่วนด้วยในการยุยงส่งเสริมให้มีผู้จองล้างจองผลาญข้าพเจ้าเลย เขาได้นำสำเนาเอกสารทางการอเมริกันมาให้ข้าพเจ้าว่าประธานาธิบดีรูสเวลท์ได้ประเมินคุณค่าข้าพเจ้าไว้สูง จนถึงกับท่านสั่งให้กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันทำบันทึกให้ท่านนำไปเพื่อใช้ในการเจรจากับ มร.เชอร์ชิล (ต่อมาเป็นเสอร์)นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และจอมพลสตาลิน นายกรัฐมนตรีโซเวียต ที่เมืองยัลตาเกี่ยวกับอนาคตของประเทศไทย

อดีตข้ารัฐการอเมริกันผู้นั้นได้กล่าวว่า ผู้จองล้างจองผลาญข้าพเจ้านั้น ก็ร่ำรวยมากแล้วไม่น่าจะล้างประวัติศาสตร์แห่งชาติตนเอง เพราะเรื่องเกี่ยวกับข้าพเจ้านั้น คนในอเมริกาและในยุโรป เอเซีย ก็เขียนไว้จากหลักฐานที่เชื่อถือได้ ซึ่งพวกที่จองล้างจองผลาญข้าพเจ้าไม่อาจมาลบล้างได้ ไม่ช้าก็เร็ว ราษฎรไทยก็จะได้อ่านความจริง”
ในช่วงเวลา ๕ ปีสุดท้ายของชีวิต ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้อุทิศพลังกายและพลังใจเป็นอย่างมาก ทั้ง ๆที่ชราภาพและมีโรคภัยเบียดเบียนตามความเสื่อมของสังขารให้แก่การขอความเป็นธรรม อีกทั้งจากจารึกความถูกต้องของข้อเท็จจริงในบางหน้าของประวัติศาสตร์ไทยที่ท่านเองมีบทบาทเกี่ยวข้องด้วยในคำฟ้องคดีหมิ่นประมาทจากข้อเขียนของบุคคลต่าง ๆ ตลอดจนในการประท้วงความผิดพลาดของการพิจารณาในบางเรื่องของทางราชการการกระทำดังกล่าวนี้อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้สาธารณชนได้ตระหนักในข้อเท็จจริงที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ชาติไทยหลายประการ และเมื่อศาลยุติธรรมก็ดี และทางราชการก็ดี ได้พิจารณาหลักฐานและเหตุผลที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้นำเสนอแล้ววินิจฉัยว่าท่านเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง ท่านปรีดี พนมยงค์ก็มีความยินดีว่าในที่สุด “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” ซึ่งเป็นพุทธภาษิตที่ท่านเองได้ยึดถือเป็นหลักในการดำเนินชีวิตตลอดมา

ในตอนสายของวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๖ ก่อนที่จะมีอายุครบ ๘๓ ปี เพียง ๙ วัน ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ก็ได้ถึงอสัญกรรมโดยสงบ ณ บ้านพักที่อองโตนี ชานกรุงปารีส

อีก ๗ วันต่อมาก็มีพิธีปลงศพของท่าน ณ สุสานในกรุงปารีส

ต่อมาอีก ๓ ปี ในวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ อัฐิธาตุของท่านรัฐบุรุษอาวุโสก็มาถึงสนามบินดอนเมือง โดยเครื่องบินของบริษัทการบินไทยเที่ยวบินทีจี ๙๓๕

ใน พ.ศ.๒๕๔๓ ซึ่งเป็น ๑๐๐ ปีชาตกาลของท่านปรีดี พนมยงค์ องค์การยูเนสโกได้มีมติประกาศให้ท่านเป็น “บุคคลสำคัญของโลก”



รียบเรียงจากหนังสือ “บางหน้าในประวัติศาสตร์ไทย อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์”
ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ราชบัณฑิต


http://rapidshare.com/files/29042415/pridi.pdf.html

No comments: