Wednesday, March 14, 2007

บทความที่ ๙๒. เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร (๑)

เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร
ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์


สวัสดีท่านทั้งหลาย

ผมขอขอบคุณท่านประธานกรรมการ ท่านกรรมการและสมาชิกสมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส ที่ได้เชิญผมกับภรรยามาร่วมสังสรรค์ในงานชุมนุมฤดูร้อน พ.ศ. ๒๕๑๗ ของสมาคม ท่านประธานกรรมการในนามของสมาคมขอให้ผมแสดงปาฐกถาในหัวข้อว่า

“เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร”

ผมเห็นว่าปัญหาที่ท่านเสนอขึ้นนี้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ ของนิสิตนักศึกษา นักเรียน และราษฎรไทยส่วนมากที่รักชาติรักความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งปรารถนาพิทักษ์ชัยชนะก้าวแรกที่วีรชน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ได้เสียสละชีวิต ร่างกายและความเหน็ดเหนื่อยต่อสู้เผด็จการเพื่อให้ชาติและราษฎรไทยได้บรรลุซึ่งประชาธิปไตยสมบูรณ์ แต่สถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ปรากฏตามข่าวสารหลายกระแสที่ท่านทั้งหลายได้รับโดยตรงจากประเทศไทยก็ดี จากวารสารกับหนังสือพิมพ์รวมทั้งวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ของต่างประเทศและของคนไทยในต่างประเทศก็ดี รวมทั้งวารสารนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสซึ่งได้พยายามนำข่าวเท่าที่รวบรวมได้เสนอต่อสมาชิกและผู้อ่านก็ดีนั้น พอสรุปใจความได้ว่าประชาธิปไตยกำลังถูกคุกคามโดยมีบุคคลจำนวนหนึ่งต้องการฟื้นเผด็จการขึ้นมาอีก และบุคคลอีกจำนวนหนึ่งดำเนินการอย่างสุดเหวี่ยงยื้อแย่งผลแห่งชัยชนะ ซึ่งวีรชน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ นำมาให้ปวงชนนั้น เป็นไปประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชน โดยเฉพาะเพื่อสถาปนาเผด็จการของอภิสิทธิ์ชนขึ้น

การต่อสู้เผด็จการนั้นเป็นเรื่องกว้างขวางพิศดารมากเพราะเผด็จการมีหลายชนิด ผู้นิยมชมชอบเผด็จการชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิด ก็มีอยู่ในทางแสดงออกอย่างเปิดเผยและในทางไม่สนใจว่า เผด็จการจะกลับฟื้นอีกหรือไม่ ส่วนฝ่ายต่อต้านเผด็จการนั้นก็มีหลายจำพวก บางพวกต่อต้าน “ระบบ” เผด็จการ แต่บางพวกต่อต้านเฉพาะตัวบางคนที่เป็นผู้เผด็จการ ซึ่งท่านจะเห็นได้ว่าบางคนต่อต้านเฉพาะจอมพลถนอมและจอมพลประภาส แต่นิยมชมชอบจอมพลสฤษดิ์เพราะเหตุที่ตนเองหรือญาติมิตรได้ประโยชน์จากจอมพลสฤษดิ์ และมีเสียงเรียกร้องให้วิญญาณของจอมพลผู้นี้กลับคืนชีพขึ้นมาอีก บางคนเอาคำกลอนของสุนทรภู่ตอนหนึ่งที่ว่า “รู้อะไรก็ไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” นั้นมาเป็นสุภาษิตเพื่อใช้เป็นหลักนำในการปฏิบัติตน แต่อันที่จริงกลอนนั้นเป็นคำรำพึงของสุนทรภู่ซึ่งเป็นปราชญ์ที่มีปัญญาสูง รับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตในรัชกาลที่ ๒ แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ สุทรภู่ต้องระเห่เร่ร่อน ส่วนพวกประจบสอพลอแม้ไม่มีความรู้ก็สามารถรับราชการมีตำแหน่งสูง สุนทรภู่ไม่มีความประสงค์ให้ชนรุ่นหลังคิดเอาตัวรอดเฉพาะตน

วิธีต่อต้านเผด็จการนั้นก็มีมากมายหลายชนิด ฉะนั้นวันนี้ผมจึงขอสนองศรัทธาท่านทั้งหลายเพียงกล่าวความโดยสังเขปพอสมควรแก่เวลาเท่านั้น ถ้าท่านผู้ใดสนใจก็ขอให้ค้นคว้าต่อไปให้สมบูรณ์ทั้งทางทฤษฎีและตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมประจักษ์อยู่ในสังคมต่าง ๆ ให้สมานด้วย แล้วพิจารณาประยุกต์ให้เหมาะสมแก่สภา,ท้องที่,กาลสมัยของแต่ละสังคมที่วิวรรตอยู่ในระดับต่าง ๆ

ผมต้องขอแจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่า ในการกล่าวถึงประเด็นต่าง ๆ นั้น บางตอนก็จำเป็นต้องอ้างอิงถึงลัทธิและชื่อของผู้ตั้งลัทธิที่มีเรื่องเกี่ยวข้องกับประเด็น ขอให้ท่านเข้าใจว่าผมมิใช่เป็นโฆษกของลัทธิใด ๆ หรือนิกายใด ๆ ท่านผู้ใดจะเลื่อมใสหรือไม่เลื่อมใสในลัทธิใดหรือนิกายใดก็เป็นเรื่องเสรีภาพตามสิทธิมนุษยชนที่ท่านพึงมี คือมิสิทธิในการเลือกถือลัทธินิยมใด ๆ ได้ตามความสมัครใจ เมื่อได้พิจารณาลัทธิหรือนิกายนั้นโดยถี่ถ้วนแล้วตามวิธีที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ในกาลามสูตร (พระสูตรนี้มีชื่อในพระไตรปิฏกว่า เกสปุตตสูตร-แด่บรรพชนฯ)

๑.ปรัชญาทางยุทธศาสตร์

ก่อนที่ผมจะเข้าสู่ประเด็นของเรื่อง ผมขอให้ข้อสังเกตว่า การต่อต้านเผด็จการนั้นมิใช่ฝ่ายต่อต้านจะกระทำตามอำเภอใจต่อฝ่ายเผด็จการ เพราะฝ่ายหลังย่อมทำการตอบโต้โดยตรง และโดยปริยายต่อฝ่ายที่ทำการต่อต้าน ดังนั้น การต่อต้านเผด็จการจึงหมายถึงการต่อสู้ระหว่างสองฝ่าย เมื่อมีการต่อสู้ระหว่างสองฝ่ายแล้วก็เข้าสู่รูปแบบที่เรียกว่า “สงคราม” ซึ่งมีทั้งสงครามทางเศรษฐกิจ, สงครามทางการเมือง, สงครามทางจิตวิทยา และสงครามทางศาตราวุธ

ผมจึงขอให้ฝ่ายต่อต้านเผด็จการ ระลึกถึงปรัชญาทางยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นยอดสรุปแห่งวิชาว่าด้วยการทำสงครามไม่ว่าจะเป็นการทำสงครามชนิดใด โรงเรียนนายทหารชั้นสูงหลายแห่งในยุโรปก็ได้นำเอาคติของนักปราชญ์ยุทธศาสตร์ต่าง ๆ กล่าวไว้ บางโรงเรียนก็ได้กล่าวถึงนักปราชญ์ยุทธศาสตร์ชาวเอเซียผู้หนึ่งไว้ด้วย ท่านผู้นี้มีชื่อว่า “ซุนจื่อ” (Sun Tzu) เกิดในประเทศจีนประมาณ ๔๐๐ ปีก่อนพระเยซู คือประมาณ ๒,๔๐๐ ปีมาแล้ว ได้ให้คติไว้สรุปเป็นใจความว่า “รู้จักเขาและรู้จักเรา รบร้อยครั้งก็ชนะทั้งร้อยครั้ง” ในการที่ผมนำคติของท่านผู้นี้มาอ้างก็เพราะเห็นว่ามีเหตุผลพิสูจน์ได้ในทางตรรกวิทยา ถ้าผู้ใดขบวนการใดสามารถเอาคตินั้นมาประยุกต์แก่การต่อต้านเผด็จการแล้ว ก็สามารถกำหนดยุทธวิธีต่อสู้ให้เหมาะสมแก่กำลังของทั้งสองฝ่ายได้ว่า ในสภาพอย่างใด ในท้องที่อย่างใด ในกาลสมัยใด ควรต่อสู้อย่างไร ถ้าหากขบวนการใดไม่รู้จักสภาพกำลังของฝ่ายปรปักษ์ และไม่รู้จักสภาพกำลังแท้จริงของฝ่ายตน หรือรู้จักเพียงด้านใดด้านหนึ่งก็ไม่สามารถใช้ยุทธวิธีให้เหมาะสมแก่สภาพ,ท้องที่, กาลสมัยได้

๒.ฝ่ายเผด็จการ

๒.๑ เมื่อก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ จะก่อตัวขึ้นในยุโรปนั้น ลัทธิปกครองซึ่งฝ่ายบริหารประเทศมีอำนาจเด็ดขาดปกครองคนส่วนมากในสังคมอย่างทาสและข้าไพร่ของเจ้าศักดินา ได้กลับฟื้นขึ้นมาอีกในหลายประเทศ แล้วได้แพร่ไปยังประเทศไทยด้วย อาทิ ลัทธิฟาสซิสต์, ลัทธินาซี, ลัทธินายทหารผู้ใหญ่มีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองประเทศ จึงได้มีผู้เอาคำว่า “เผด็จ” ซึ่งแผลงมาจากภาษาขอม “ผดาด” แปลว่าเด็ดขาด ผสมเข้ากับคำว่า “การ” เป็นศัพท์ไทยว่า “เผด็จการ” ต่อมาราชบัญฑิตสถานได้รับเอาคำว่า “เผด็จการ” บรรจุไว้ในพจนานุกรมโดยให้ความหมายว่า “การใช้อำนาจบริหารเด็ดขาด”

คำว่า “เผด็จการ” จึงตรงข้ามกับ “ประชาธิปไตย” (ซึ่งหมายถึง ”การปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่”)

๒.๒ คำไทย “เผด็จการ” จึงใช้ถ่ายทอดคำอังกฤษ “Dictatorship” หรือคำฝรั่งเศส “Dictature” ฉะนั้นท่านที่ประสงค์ทราบความหมายเพิ่มขึ้นจึงขอให้ศึกษาความหมายของคำฝรั่งทั้งสองนั้นด้วย

คำฝรั่งทั้งสองคำนั้นแผลงมาจากคำลาติน “Dictatura” แปลว่าอำนาจสั่งการเด็ดขาด เมื่อประมาณ ๒,๔๐๐ ปี สมัยที่ชาวโรมันได้สถาปนาระบบสาธารณรัฐขึ้นโดยมีพฤตสภา และคณะกรรมการราษฎรเป็นผู้ควบคุมฝ่ายบริหารนั้น บางครั้งเกิดสงครามเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงได้ตั้งหัวหน้าฝ่ายทหารมีอำนาจเด็ดขาดในการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นเวลาเพียงครั้งละ ๖ เดือน บุคคลที่มีอำนาจเด็ดขาดนี้เรียกเป็นภาษาลาตินว่า “ดิกตาตอร์” (Dictator) ฝรั่งเศสแผลงเป็น “Dictateur” อังกฤษ เป็น “Dictator”

ต่อมา ผู้เผด็จการชั่วคราวบางคนได้อาศัยพวกที่มีซากทัศนะทาสและศักดินาสนับสนุนตนเป็นผู้เผด็จการระยะเวลา ๑๐ ปีบ้าง โดยไม่มีกำหนดเวลาบ้าง ซึ่งเท่ากับเป็นผู้เผด็จการตลอดชีวิตของตน ครั้นแล้วก็ได้แผลงตำแหน่งผู้เผด็จการตลอดชีวิตเป็นผู้เผด็จการซึ่งมีอำนาจตั้งทายาทสืบสันติวงศ์เปลี่ยนตำแหน่ง “ดิกตาเตอร์” เป็น “อิมเปราเตอร์” (Imparator) ซึ่งตามความหมายเดิมแปลว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุดนั้น เป็นตำแหน่งอิสริยยศให้แก่ประมุขสูงสุดของสังคมโรมันที่มีอำนาจเผด็จการ ภาษาฝรั่งเศสแผลงคำลาตินนั้นมาเป็น “Empereur” อังกฤษแผลงเป็น “Emperor” ภาษาไทยเรียกตำแหน่งที่ตรงกันนี้ว่า “จักรพรรดิ” มาช้านานตั้งแต่โบราณกาลแล้ว ซึ่งตรงกับภาษาจีนว่า “หวงตี้” ส่วนระบบปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจักรพรรดิและอาณาจักรที่จักรพรรดิครอบครองนั้นเรียกเป็นภาษาลาตินว่า “เอมเปริอุม” (Imperium) ภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษแผลงเป็น “Empire” ภาษาไทยเรียก “จักรวรรดิ” มาช้านานแต่โบราณกาลซึ่งตรงกับภาษาจีนว่า “ตี๊โก๊วะ” ...

ต่อมาใน พ.ศ. ๑๘๓๖ คนฝรั่งเศสได้เอาคำว่า “isme” เป็นปัจจัยต่อท้ายคำว่า “Imperial” ซึ่งคุณศัพท์ของคำว่า “Empire” นั้น เป็น “Imperialisme” แล้วอังกฤษก็แผลงเป็น “Imperialism” ซึ่งหมายถึง นโนบายและการปฏิบัติของชาติหนึ่งที่ยึดเอาชาติอื่นมาอยู่ใต้อำนาจเศรษฐกิจหรือการเมือง หรือทั้งสองอย่าง คือ เอาเป็นอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคมหรืออยู่ใต้อิทธิพล ทั้งนี้มิได้หมายความเฉพาะชาติมีอำนาจเช่นนั้นจะมีระบบการปกครองที่มี “จักรพรรดิ” เป็นประมุขเท่านั้น หากหมายรวมถึงชาติที่เป็นสาธารณรัฐ ซึ่งไม่มีจักรพรรดิเป็นประมุขด้วย



ตามความหมายนั้น “Imperialism” ย่อมถ่ายทอดเป็นภาษาไทยว่า “จักรวรรดินิยม” ซึ่งภาษาจีนเรียกว่า “ตี๊โก๊วะจู่อี้” (เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จีนบางคนในสยามได้แจกใบปลิวเป็นภาษาไทยให้ต่อสู้ “จักรพรรดิญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นการเหมาะสมสำหรับจีน สมัยนั้นถือว่าพระจักรพรรดิประมุขยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่นต้องรับผิดชอบในการรุกรานประเทศจีน ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นแพ้สงครามแล้วจึงมีผู้ตัดคำว่า “ญี่ปุ่น” ออกแล้วเอาว่า “นิยม” ต่อท้ายคำว่า “จักรพรรดิ” เป็น “จักรพรรดินิยม”)

ใน ค.ศ. ๑๙๑๖ เลนินได้อธิบายความหมายของคำว่า “Imperialism” ว่าเป็นระยวิวรรตการของระบบทุนนิยมซึ่งพัฒนาถึงขีดสูงสุดในอเมริกา,ยุโรป,แล้วต่อมาในเอเชีย ซึ่งพัฒนาเต็มที่ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๘-๑๙๑๔ คือสงครามระหว่าง ส.ร.อ.กับสเปญ ค.ศ. ๑๘๙๘ , สงครามระหว่างอังกฤษกับพวกปัวร์ ค.ศ. ๑๙๐๐-๑๙๐๒, สงครามรุสเซียกับญี่ปุ่น ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๕ และวิกฤติการเศรษฐกิจในยุโรป ค.ศ. ๑๙๐๐

เลนินอธิบายว่า “อิมพีเรียลิสม์” มีลักษณะสำคัญ ๓ ประการ คือ (๑)ระบบผูกขาด (๒)ระบบทุนผูกขาดที่กำลังเสื่อม (๓)ระบบทุนกำลังจะตาย ระบบทุนผูกขาดเข้าแทนที่การแข่งขันโดยเสรี แสดงออกโดยรูปแบบ ๕ ประการคือ (๑)การสมานนายทุนเป็นองค์กรผูกขาด (๒)การผูกขาดของธนาคารใหญ่สี่หรือห้าธนาคารที่กุมเศรษฐกิจในอเมริกา,ฝรั่งเศส,เยอรมัน ฯลฯ (๓)การยึดเอาแหล่งวัตถุดิบของคณาธิปไตยการคลัง (๔)การแบ่งปันเศรษฐกิจระหว่างประเทศโดยกลุ่มทุนผูกขาด (๕)การแบ่งดินแดนในโลก (ปัจจุบันนี้เปลี่ยนเป็นอาณานิคมแบบใหม่คือจักรวรรดินิยมมีอำนาจหรืออิทธิพลเหนือประเทศอื่นๆ)

ดังนั้น “จักรวรรดินิยม” จึงเป็นระบบเผด็จการของระบบทุนผูกขาด

๒.๓ ในพจนานุกรมภาษาฝรั่งเศสอังกฤษได้ให้คำที่มีความเหมือนกัน (SYNONYM) กับคำว่า “Dictature” หรือ “Dictatorship” ไว้ คือ คำว่า “ฝ.Absolution, อ.Absolustism” ที่แปลเป็นไทยว่า “สมบูรณาญาญสิทธิราชย์”, คำว่า “ฝ.Despotisme,อ.”Depotism” ที่แปลเป็นไทยว่า “ทารุณย์-ราชย์” และคำว่า “ฝ.Tyannie, อ.Tyanny” จึงมีความหมายเช่นกัน

๒.๔ พิจารณาตามสาระแห่งความหมายของ “เผด็จการ” ดังกล่าวนั้น ระบบเผด็จการเริ่มเกิดมีขึ้นเมื่อระบบทาสได้เข้ามาแทนที่ระบบประชาธิปไตยปฐมกาลของมนุษยชาติแล้วผู้เป็นหัวหน้าสังคม ถือว่าคนในสังคมเป็นทรัพย์สินของตนประดุจสัตว์พาหนะ เช่น วัว ควาย ช้าง ม้า ซึ่งหัวหน้าสังคมมีอำนาจบังคับให้ทำงานเพื่อตน และมีอำนาจเฆี่ยนตีเข่นฆ่าได้ กฎหมายเก่าของสยามบัญญัติว่า ทาส เป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่งจำพวกเดียวกับสัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลายเรียกว่า “วิญญาณกทรัพย์” (ส่วนทรัพย์สินประเทศไม่มีชีวิตเรียกว่า อวิญญาณกทรัพย์) ผู้ศึกษากฎหมายโรมันย่อมทราบว่า กฎหมายนั้นบัญญัติว่าทาสเป็นทรัพย์ชนิดหนึ่งของเจ้าทาส ระบบปกครองสังคมทาสจึงเป็นระบบเผด็จการชนิดทารุณโหดร้าย
ต่อมาเจ้าทาสได้ผ่อนผันให้ทาสบางส่วนประจำทำงานในที่ดินของเจ้าทาสเพื่อทำการเพาะปลูกในที่ดิน นำดอกผลที่ทำได้ส่งเป็นบรรณาการหรือที่เรียกว่า “ส่งส่วย” แก่เจ้าทาสและหัวหน้าสังคมซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหลายในสังคม ระบบที่เรียกว่า “ศักดินา” จึงเกิดขึ้นตามที่ผมเคยกล่าวไว้ในปาฐกถาเมื่อปีกลายนี้ในงานชุมนุมนักเรียนไทยในสหพันธรัฐเยอรมัน

แม้จะได้มีระบบศักดินาแล้ว ระบบทาสก็ยังไม่หมดไปในทันใด คือ ยังอยู่คู่เคียงกับระบบศักดินาเป็นเวลาอีกช้านานมาก ในประเทศไทยนั้นระบบทาสอยู่คู่เคียงกับระบบศักดินา จนกระทั่ง ร.ศ.๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงประกาศยกเลิกทางนิตินัย แม้กระนั้นซากของทัศนะทาสอันเป็นระบบที่มีอยู่เป็นเวลาช้านานหลายหมื่นปีก็คงยังมีเหลืออยู่ซึ่งตกทอดต่อ ๆ กันมายังสังคมศักดินาด้วย ระบบปกครองสังคมศักดินาเป็นระบบเผด็จการทำนองระบบเผด็จการทาส

โดยที่ในสมัยโบราณ มนุษย์ยังไม่มีความเข้าใจในกฎธรรมชาติอันเป็นกฎทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างถูกต้องจึงหลงเชื่อว่าความเป็นไปแห่งความเป็นอยู่ของตนนั้นก็โดยอภิเทวดาบันดาลขึ้น จึงได้มีลัทธิทางไสยศาสตร์ชนิดหนึ่งที่สอนให้บุคคลหลงเชื่อว่าผู้เผด็จการทาสและศักดินาเป็นผู้ที่อภิเทวดาส่งมาให้เกิดในมนุษย์โลกเพื่อปกครองมนุษย์ ทุกลัทธิไสยศาสตร์ชนิดนั้นมีสาระตรงกันว่า หัวหน้าสังคมเป็นผู้ที่พระเจ้าบนสวรรค์ส่งมาให้เกิดในมนุษยโลก จะต่างกันก็อยู่ที่ว่าเทพเจ้าใดเป็นผู้ส่งมา เช่น ฝ่ายยุโรปอ้างว่า “อภิเทวา” (GOD) ลัทธิขงจื้ออ้างว่าจักรพรรดิจีนเป็นโอรสของสวรรค์เรียกเป็นภาษาจีนว่า “เทียนจื่อ”, จักรพรรดิเวียดนามถือคติอย่างจีนจึงอ้างตนว่าเป็น “เทียนจื่อ” แต่คนไทยออกสำเนียงเพี้ยนไปในการเรียก “องเยียลอง” ที่เคยเข้ามาอาศัยอยู่ในสยามสมัยกรุงธนบุรีว่า “องเชียงสือ”, คติญี่ปุ่นอ้างว่าจักรพรรดิเป็นโอรสของดวงอาทิตย์ ลัทธิฮินดูอ้างว่าพระนารายณ์แบ่งภาคมาเกิดประดุจเป็นพระอินทร์แห่งโลกมนุษยโลก คำสั่งของเทพสมมตินั้นมีพลานุภาพ ประดุจเสียงคำรามของราชสีห์เรียกว่า “สุรสีหนาท” อันแสดงให้เห็นชัดถึงอำนาจเผด็จการที่น่าเกรงขาม

สาระสำคัญของระบบทาสและศักดินา คือ เจ้าทาสและเจ้าศักดินาซึ่งเป็นจำนวนน้อยในสังคมมีอำนาจบังคับทาสและข้าไพร่ซึ่งเป็นราษฎรส่วนข้างมากของสังคม จำต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือ “สุรสีหนาท” ของเจ้าทาสและเจ้าศักดินาและจำต้องเชื่ออย่างหลับหูหลับตา ซึ่งเรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “Obeissance Areugle” อังกฤษว่า “ Blind Obedience” ถ้าไม่เชื่อฟังก็จะต้องถูกเจ้าทาสและเจ้าศักดินาลงโทษตามอำเภอใจ เช่นทรมานกลั่นแกล้ง,เฆี่ยนตี,ให้อดอยาก,เข่นฆ่า ระบบทาสและศักดินาจึงเป็นรากเง่าของระบบเผด็จการที่ปกครองสังคมโดยวิธีการเช่นเดียวกับนั้น อาทิ ระบบฟาสซิสต์, นาซี, ระบบเผด็จการทหาร

แม้เผด็จการทาสและศักดินาจะใช้วิธีหลอกลวงให้คนส่วนมากของสังคมหลงเชื่อว่า หัวหน้าสังคมเป็นผู้ที่พระเจ้าบนสวรรค์ให้จุติมาเกิดในมนุษยโลกดังที่ผมได้กล่าวมาแล้วในข้อก่อนก็ดี แต่ก็มีทาสและข้าไพร่ที่ถูกกดขี่อย่างหนักในสังคมต่าง ๆ ได้เกิดจิตสำนึกที่ตนถูกกดขี่แล้วได้รวมกำลังต่อสู้โดยวิธีสันติบ้าง โดยใช้กำลังอาวุธบ้าง เช่น ขบวนการทาสนำโดย “สปาตากุส” (Spatacus) ผู้นี้สามารถรวบรวมทาสจำนวนน้อยไปสู่จำนวนมาก เริ่มต่อสู้ทางอาวุธกับระบบเผด็จการทาสโรมันเมื่อประมาณ ๗๔ ปีก่อนพระเยซูเกิด ผู้นี้ได้พัฒนากำลังของตนสามารถรวมกำลังได้ถึง ๒ แสนคน ทำการต่อสู้ได้เป็นเวลาถึง ๒ ปี แต่ในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้แก่ฝ่ายเผด็จการทาสเพราะเหตุที่ขบวนการนั้นมีเจตนารมณ์สูงที่ไม่ยอมเสียศักดิ์ศรีของมนุษยชาติ ประวัติศาสตร์ของมนุษยสังคมที่จะคงมีอยู่เป็นเวลานานจึงจารึกวีรกรรมของขบวนการต่อต้านเผด็จการทาสและศักดินาที่มีต่อวิวรรตการของสังคม

๒.๕ ในบทความปลีกย่อยที่เขียนขึ้นในยุโรปเมื่อกลางคริตศตวรรษที่ ๑๙ (ซึ่งมีผู้แปลเป็นภาษาในเอเชีย) นั้น ระบบทุนสมัยใหม่ได้พัฒนาไปไกลมากในยุโรปนั้น ก็เป็นธรรมดาที่ผู้เขียนจะต้องเน้นหนักถึงการเผชิญหน้ากัน และความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันระหว่างชนชั้นนายทุนสมัย “BOURGEOISIE” ที่ผมแปลว่า “ชนชั้นเจ้าสมบัติ” กับ “RPOLETARIAT” ที่ผมแปลว่า “ชนชั้นผู้ไร้สมบัติ” หรือ “WORKING” ที่ผมแปลว่า “ชนชั้นคนงาน”

แต่ในประเทศด้อยพัฒนา หรือที่มีศัพท์ใหม่เรียกประเทศกำลังพัฒนานั้นมีซากทาสและซากศักดินาอยู่ ฉะนั้นเราไม่ควรมองข้าม “ระบบทุนศักดินา” (FEUDAL CAPITALISM) ที่ได้มีขึ้นตั้งแต่ระบบศักดินาได้เกิดขึ้น คือส่วนหนึ่งของข้าไพร่ที่พ้นจากฐานะทาสนั้น เมื่อมีทุนเล็กน้อยก็เริ่มทำการซื้อผลิตผลที่ข้าไพร่ส่วนมากได้สิทธิจากเจ้าศักดินาให้มีไว้เป็นส่วนของข้าไพร่ โดยผู้มีทุนน้อยนี้เอาของที่ข้าไพร่อื่นมาแลกเปลี่ยน ครั้นต่อมาเมื่อได้มีวัตถุอื่นเป็นสื่อกลางที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนสัตว์บางชนิด,เบี้ยบางชนิด,โลหะบางอย่าง เช่น ดีบุก,ทองแดง,เงิน,ทอง จึงได้ใช้วัตถุสื่อกลางนั้นแลกเปลี่ยน อันเป็นวิธีที่เรียกว่า “ซื้อขาย” ข้าไพร่ที่ทำการค้าขายมีกำไรสะสมเป็นทุนขยายการค้าขายกว้างขวางขึ้นและมีทุนให้ข้าไพร่อื่น ๆ ยืมโดยมีดอกเบี้ยบ้าง โดยให้ข้าไพร่อื่น ๆ ซื้อของเชื่อโดยกำหนดราคาขายอย่างแพง ซึ่งเป็นการเอาดอกเบี้ยอย่างแพงไปในตัว ดังนั้นข้าไพร่ส่วนมากซึ่งต้องส่งส่วยให้แก่เจ้าที่ดินและเจ้าศักดินาแล้ว ก็ยังถูกขูดรีดจาก “นายทุนศักดินา” อย่างหนักอีกด้วย ท่านทั้งหลายที่มีใจเป็นธรรมต่อชาวนาสยาม โดยพิจารณาความจริงที่ประจักษ์ในชนบทย่อมเห็นได้ แม้ในปัจจุบันนี้ว่าชาวนาสยามผู้ยากจนได้ถูกนายทุนพ่อค้าซากศักดินานี้ขูดรีดเพียงใดบ้าง

นายทุนศักดินามีอยู่ตั้งแต่โบราณกาลในสังคมที่เกิดระบบศักดินาขึ้นแล้ว หากแต่ในสังคมต่าง ๆเรียกนายทุนศักดินานี้ในชื่อต่าง ๆ กันตามภาษาของแต่ละสังคม เช่นในอินเดียสมัยพุทธกาลนั้น จำแนกนายทุนศักดินาออกเป็น ๓ ระดับ จากระดับต่ำไปสู่ระดับสูง คือ กระฎุมพี, คหบดี,เศรษฐี ซึ่งเป็นศัพท์บาลีสันสกฤตที่คนไทยแผลงเป็นศัพท์ไทยตั้งแต่โบราณกาล แม้ในปัจจุบันนี้สามัญชนคนไทยจำนวนไม่น้อยก็ได้ใช้ศัพท์นี้ตามความหมายนั้น คือ

ก.กระฎุมพี ได้แก่ผู้ที่ทำการค้าเมล็ดพืชในชนบท เป็นคนมีที่ดินและเป็นคนมีเงินในชนบท เป็นเจ้าที่ดินในชนบทนับว่าเป็นคนมั่งมีในอันดับต่ำสุดกว่าคหบดีและเศรษฐี ซึ่งจะกล่าวต่อไป คนไทยจึงเติมคำว่า “ไพร่” ไว้หน้าคำว่า “กระฎุมพี” เป็น “ไพร่กระฎุมพี” ซึ่งแสดงว่ายังอยู่ในฐานะที่เป็นไพร่ จึงต่างกับคำฝรั่งเศส “BOURGEOIS” และ “BOURGEOISIE” ซึ่งภาษาอังกฤษและเยอรมันก็ใช้ทับศัพท์ฝรั่งเศสนั้นเพื่อหมายถึง “นายทุนสมัยใหม่ เจ้าของปัจจัยการผลิตของสังคมผู้เป็นนายทุนจ้างแรงงาน” ตามที่วิทยาศาสตร์สังคมและเองเกลส์ได้ให้ความหมายไว้ซึ่งผมจะกล่าวในข้อ ๒.๗ ต่อไป

ข.คหบดี ได้แก่ผู้มีเคหสถานครอบครัวข้าทาสใช้สรอย ซึ่งเป็นคนมั่งมีกว่า กระฎุมพี

ค.เศรษฐี เป็นผู้มั่งมีทรัพย์สินมากมายอันดับหนึ่งเมื่อครั้งพุทธกาลถือว่าเศรษฐีเป็นพระสหายของพระราชา

ระบบทุนศักดินานี้ยังมีตกค้างอยู่ในประเทศด้อยพัฒนาซึ่งรวมทั้งสยามปัจจุบันด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนแปลงเป็นนายทุนสมัยใหม่แล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งยังมิได้เปลี่ยนแปลงไป หรือเปลี่ยนแปลงไปแต่ยังคงมีซากทัศนะทาสและศักดินาซึ่งเป็นพลังสนับสนุนเกื้อกูลให้ระบบเผด็จการทาสและศักดินายังคงอยู่ต่อไป หรือกลับฟื้นขึ้นมาอีกในรูปสมบูรณาญาสิทธิราชย์เก่าหรือในรูปใหม่อย่างอื่นแต่ในสาระ คือ เผด็จการทาสและศักดินา

๒.๖ ความเป็นอยู่ตามระบบทาสและศักดินา ก่อให้บุคคลเกิดทัศนะทาสและศักดินา คือ

ก.ฝ่ายเจ้าทาสและเจ้าศักดินาเกิดจิตสำนึกว่า ระบบเผด็จการที่ฝ่ายตนปฏิบัติต่อคนส่วนมากของสังคมนั้นทำให้ฝ่ายตนครองชีพได้อย่างผาสุก จิตสำนึกนี้เป็นทัศนะของฝ่ายเจ้าทาสและเจ้าศักดินายึดมั่นอยู่ตามปกติวิสัย

ข. ฝ่ายทาสและข้าไพร่นั้นตามปกติวิสัยย่อมต้องการหลุดพ้นจากความเป็นทาสและข้าไพร่ แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับทาสและข้าไพร่จำนวนหนึ่ง ที่เมื่อถูกอยู่ภายใต้ระบบทาสและศักดินาจนเคยชินเป็นเวลานานก็กลายเป็นคนที่เชื่องต่อการถูกกดขี่ประดุจสัตว์ซึ่งเดิมอยู่ในป่าอย่างอิสระ ครั้นเมื่อมนุษย์จับสัตว์มาเลี้ยงเริ่มต้นด้วยทรมานให้เกรงกลัว ในที่สุดก็เป็นสัตว์ที่เชื่องยอมทำงานตามคำสั่งของเจ้าของ ครั้นนาน ๆ เข้าก็เกิดทัศนะเห็นชอบในการอยู่ภายใต้ระบบเผด็จการนั้น

อีกประการหนึ่งลัทธิที่ปลุกใจให้ทาสและข้าไพร่เกิดความเชื่อถือว่าผู้เผด็จการทาสและศักดินาเป็นผู้ที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ส่งมาให้เกิดในมนุษยโลกดังกล่าวแล้วในข้อ ๒.๔ นั้น มีอิทธิพลที่ทำให้สภาพทางจิตใจของทาสและข้าไพร่ยึดมั่นในทัศนะนั้นเหนียวแน่นขึ้น และเมื่อได้ถ่ายทอดเป็นมรดกสืบมาหลายชั่วคนก็เป็นทัศนะที่เกาะแน่นอยูในหมู่ชนส่วนหนึ่งหรือส่วนมาก สมดังที่ปรัชญาหลายสำนัก(รวมทั้งสำนักมาร์กซ์-เลนิน) กล่าวไว้ว่า ทฤษฎีหรือทัศนะใดเกาะแน่นอยู่ในหมู่ชนใด ก็มีพลังที่สะท้อนกลับไปสู่สภาพเศรษฐกิจและการเมืองของระบบนั้นเอง อันทำให้ระบบสังคมนั้นดำรงอยู่ได้

ทาสและข้าไพร่ที่เชื่องแล้วและที่เกาะแน่นในทัศนะดังกล่าวนั้น ก็กลายเป็นสมุนที่ดีของเจ้าทาสและเจ้าศักดินาที่สามารถใช้ทาส และข้าไพร่นั้นเองเป็นลูกมือต่อสู้ทาสและข้าไพร่ส่วนที่ต้องการอิสรภาพ ตัวอย่างในประวัติศาสตร์มีมากหลาย ผมขออ้างตัวอย่างบางประการพอเป็นอุทาหรณ์ดังต่อไปนี้

ขบวนการปลดแอกทาสนำโดยสปาตาคุสดังที่ผมได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ต้องพ่ายแพ้แก่ฝ่ายเผด็จการทาส เพราะเจ้าทาสได้อาศัยทาสที่เชื่องแล้วเป็นกำลังสนับสนุนเกื้อกูลกำลังทหารของเจ้าทาส ทำการปราบปรามขบวนการปลดแอกทาส

ประวัติศาสตร์สงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกาเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ก็แสดงว่าคนนิโกร ทาสจำนวนหนึ่งในรัฐภาคใต้ของ ส.ร.อ. กลับร่วมกับเจ้าทาสทำสงครามกับรัฐภาคเหนือซึ่งต้องการให้ทาสเป็นอิสระ

ค.ทัศนะทาสและศักดินาได้ก่อให้เกิดความรู้สึกเหยียดหยามระหว่างมนุษย์ในสังคมเดียวกันด้วย คือฝ่ายเจ้าทาสและเจ้าศักดินาก็เหยียดหยามทาสและข้าไพร่ว่า เป็นคนเลวทรามอยู่ในอันดับต่ำหรือวรรณะต่ำของสังคม ส่วนทาสและข้าไพร่จำพวกที่เป็นสมุนของเจ้าทาสและเจ้าศักดินาก็พลอยมีความรู้สึกเหยียดหยามทาสและข้าไพร่ที่มิใช่สมุนของเจ้าทาสและเจ้าศักดินา ฝ่ายข้าไพร่ที่เป็นนายทุนศักดินาก็ทรงตนว่าเป็นคนมั่งมี เหยียดหยามข้าไพร่ส่วนมากที่เป็นคนยากจน

จากพื้นฐานความรู้สึกนี้ภายในสังคมก็พัฒนาไปสู่ทัศนะที่สังคมหนึ่งถือตนว่าเป็นใหญ่กว่าสังคมอื่นที่มีพลังน้อยกว่าและเหยียดหยามสังคมที่เป็นเมืองขึ้น หรือเมืองออกที่ต้องส่งบรรณาการ ทัศนะคลั่งเชื้อชาติ (RACISM) และคลั่งชาติ (CHAUVINISM) จึงเกิดขึ้น

No comments: