Friday, March 2, 2007

บทความที่ ๗๘. ประวัติศาสตร์อินเดีย (๕) - กบฏครั้งใหญ่ในอินเดีย

อินเดีย-ประวัติศาสตร์ที่ต้องศึกษา
การปฏิรูปสังคม

ในต้นคริสตศตวรรษที่ ๑๙ อังกฤษได้เปลี่ยนนโยบายมาปฏิรูปสังคมอินเดียให้ดีขึ้นตามอย่างประเทศตะวันตก ซึ่งแนวความคิดนี้เกิดจากความเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์และความก้าวหน้าของมนุษย์ ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงในช่วงคริสตศตวรรษที่ ๑๗ อันได้แก่ ผลกระทบจากการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ การค้นพบโลกใหม่ การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และแนวความคิดของนักปรัชญาฝรั่งเศส ซึ่งนักปรัชญาเหล่านี้เชื่อมั่นว่าวิวัฒนาการของความก้าวหน้าจะทำให้โลกตะวันตกแตกต่างไปจากอารยธรรมอื่นๆ ยุโรปไม่เพียงแต่จะก้าวล้ำหน้าไปเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้นำความเจริญไปสู่ดินแดนอื่นๆอีกด้วย การปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผลมาจากการประยุกต์ทางวิทยาศาสตร์ได้ก่อให้เกิดความมั่งคั่งอย่างที่โลกไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ชาวยุโรปเชื่อมั่นและภาคภูมิใจในอนาคตอันรุ่งโรจน์ของตน

อิทธิพลความเชื่อมั่นดังกล่าวนี้ทำให้มีการผลักดันเปลี่ยนแปลงการปกครองอินเดียโดยกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มก้าวหน้าและพวกความคิดแบบฝรั่งเศส ซึ่งเชื่อในเหตุผล มนุษยธรรม และสิทธิอันชอบธรรมของมนุษย์ กลุ่มนี้เห็นว่าสังคมอินเดียยังขาดความเป็นธรรมและมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง อย่างระบบวรรณะ และการที่สังคมไม่ยอมรับคนนอกวรรณะ ฯลฯ กลุ่มนี้เชื่อว่าการปฏิรูปสังคมอินเดียจะทำได้โดยการออกกฏหมาย ทั้งนี้ยังมีกลุ่มบาทหลวงนิกายโปรเตสแตนต์ ที่เข้ามาเผยแพ่รและได้รับการยอมรับในปี ค.ศ. ๑๘๑๓ ซึ่ง พยายปฎิรูปการศึกษาจนนำไปสู่การสร้างโรงเรียน แปลคัมภีร์คริสตศาสนาเป็นภาษาสันสกฤตและภาษาพื้นเมือง รณรงค์ต่อต้านประเพณีที่โหดร้ายป่าเถื่อนดังเดิมของอินเดีย

ข้าหลวงใหญ่ประจำอินเดียหลายคนได้ปฏิรูปอินเดียให้มีความก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ ข้าหลวงใหญ่คนสำคัญที่ถือว่าเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การปกครองของอังกฤษในอินเดียคือ ลอร์ด ดัลเฮาซี ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๘๕๖ (Lord Dalhousie) เขาได้สร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่จักรวรรดิอังกฤษในช่วงสุดท้าย ทำให้อนุทวีปอินเดียทั้งหมดตกอยู่ใต้อำนาจอังกฤษอย่างสมบูรณ์ เขาทุ่มเทความสามารถในการสร้างความเจริญให้แก่อินเดีย ทั้งด้านคมนาคม การสื่อสาร การศึกษา และสาธารณูปโภค แต่ขณะเดียวกันความเจริญก้าวหน้าแบบตะวันตกที่ ลอร์ด ดัลเฮาซี นำมาให้แก่คนอินเดียกลับสร้างความขัดแย้งกับความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณีเดิม อย่างไรก็ตามก็นับว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่ประเทศผู้ยึดครองได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศอาณานิคม

กบฏครั้งใหญ่ในอินเดีย

หลังจากลอร์ด ดัลเฮาซีเดินทางกลับประเทศอังกฤษได้ปีเดียว ปีรุ่งขึ้นคือปี ค.ศ. ๑๘๕๗ ได้เกิดการกบฏครั้งใหญ่ (The Great Mutiny) หรือที่เรียกกันว่า “กบฏซีปอย” นับเป็นวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับอินเดีย ทำให้อังกฤษต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายการปกครองในอินเดียเสียใหม่ แม้ว่าการกบฏจะก่อตัวขึ้นในหมู่ทหารซีปอย(ทหารรับจ้างชาวมุสลิมและฮินดูที่อังกฤษนำมาฝึก)ในแคว้นเบงกอลและลุกลามไปในภาคเหนือของอินเดีย โดยมีประชาชนบางกลุ่มทั้งมุสลิมและฮินดูให้การสนับสนุน แต่ก็ไม่นับว่ากบฏซีปอยเป็นการปฏิวัติเพื่อโค่นล้มอำนาจของอังกฤษหรือเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชของมวลชน ทั้งนี้เพราะจุดมุ่งหมายของกลุ่มผู้นำกบฏแตกต่างกันและไม่มีแผนการที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยพวกมุสลิมต้องการที่จะกอบกู้จักรวรรดิโมกุลขึ้นมาใหม่ พวกมาราธาต้องการเป็นรัฐฮินดูที่มีอำนาจเหมือนเดิม ในขณะที่ผู้ครองแคว้นส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจเหตุการณ์นี้เท่าใดนัก

การกบฏได้เกิดขึ้นอย่างเปิดเผยที่ค่ายทหารเมืองมีรัต ประมาณ ๓๐ ไมล์ทางเหนือของเดลี ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๑๘๕๗ พวกกบฏได้เข่นฆ่าชาวยุโรปทั้งผู้หญิงและเด็กทั้งหมด จากนั้นมุ่งหน้าไปยังเดลี เมื่อยึดเดลีได้แล้วได้ประกาศให้จักรวรรดิบาฮาดูร์ ชาห์ที่ ๒ เป็นผู้นำของตน ขณะเดียวกันทหารซีปอยที่เมืองกันปุระ ในอุตรประเทศภายใต้การนำของ นานา ซาเฮ็บ ได้ก่อกบฏโดยฆ่าหมู่ชาวอังกฤษเป็นจำนวนมาก การกบฏที่รุนแรงอีกแห่งคือที่เมืองลัคเนา ในแคว้นอูธ และที่บันเดลขัณฑ์ ในมัธยประเทศ แต่แม้ว่าฝ่ายกบฏจะได้ชัยชนะหลายแห่งในระยะแรก แต่ต่อมาอังกฤษก็สามารถปราปปรามได้ เพราะได้รับการสนับสนุนจากพวกสิกข์ กุรข่า (Gurkha : ทหารเชื้อสายเนปาลในกองทัพอินเดียของอังกฤษ พวกนี้บชอบทำสงครามและมีความเก่งกล้าสามารถในการรบ อังกฤษได้อาศัยทหารกุรข่าในการขยายอำนาจและคุ้มครองดินแดนในจักรวรรดิของตน)และทหารซีปอยในภาคใต้ของอินเดีย จักรพรรดิบาฮาดูร์ ชาห์ที่ ๒ ถูกเนรเทศไปอยู่พม่าและสวรรคตใน ค.ศ. ๑๘๖๒ นับเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์โมกุล


สาเหตุการกบฏ

การปฏิรูปสังคมของอังกฤษในอินเดียนับเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่กระทบกระเทือนต่อความเชื่อใน ขนบธรรมเนียมประเพณี และพิธีกรรมทางศาสนาของชาวอินเดีย เช่นการยกเลิกพิธีสตี การอนุญาตให้หญิงหม้ายแต่งงานใหม่ได้ การห้ามแต่งงานตั้งแต่เด็ก การออกกฏหมายคุ้มครองผู้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ และการขยายการศึกษาแบบตะวันตก เป็นต้น การกระทำดังกล่าวขัดต่อความรู้สึกของชาวอินเดียอย่างมาก นอกจากนี้ บาทหลวงบางกลุ่มยังแสดงการดูถูกเหยียดหยามศาสนาฮินดู ทำให้ชาวอินเดียระแวงสงสัยว่าอังกฤษกำลังจะทำลายวัฒนธรรมอินเดียเพื่อทำให้อินเดียกลายเป็นแบบตะวันตก การสร้างทางรถไฟ วางสายโทรเลขก็มีส่วนสร้างความข้องใจและหวาดระแวงยิ่งขึ้น

ส่วนสาเหตุทางการเมืองนั้น นโยบายปฏิรูปความเจริญของอินเดียขนานใหญ่ของ ลอร์ด ดัลเฮาซี แม้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมแต่เป็นการกระทำที่รวดเร็วและรุนแรงเกิดไปสำหรับประเทศที่ยังยึดมั่นอยู่ในแบบแผนเดิมเช่น อินเดีย เช่นการที่อังกฤษผนวกแคว้นสัตถาระ ยกเลิกการครองราชย์ของราชาเชื้อสายของศิวาจิ(กลุ่มมาราธา)งดให้เงินบำนาณผู้นำของกลุ่มมาราธา ทำให้ชาวฮินดูที่เกี่ยวข้องและผู้ที่เสียประโยชน์ต่างไม่พอใจ ส่วนพวกมุสลิมก็รู้สึกไม่พอใจเช่นกันที่อังกฤษผนวกแค้วนอูธ และสั่งย้ายที่ประทับของเชื้อสายราชวงศ์โมกุลจากเดลีไปอยู่นอกเมือง ดังนั้น ชาวอินเดียชั้นสูงทั้งมุสลิมและฮินดูจึงรุ้สึกเจ็บแค้น และมี่ปฏิกิริยาต่อต้านการปกครองของอังกฤษ

สาเหตุทางเศรษฐกิจสืบเนื่องจากการปฏิรูปสังคมทำให้มีการยกเลิกตำแหน่งผู้นำหรือผู้ปกครองทำให้ชนชั้นสูงรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม นอกจากนั้นอังกฤษได้นำระบบการถือครองโดยไม่เสียค่าเช่ามาใช้ในการปรับปรุงการเกษตรและเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐ โดยการเวนคืนที่ดิน ทำให้เจ้าที่ดินสญเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินและผลประโยชน์ที่เคยได้รับ พวกเจ้าที่ดินเหล่านี้จึงสนับสนุนพวกกบฏ

สาเหตุทางด้านทหาร ทหารซีปอยในกองทัพเบงกอลมีความรู้สึกไม่พอใจอังกฤษอยู่หลายอย่าง เนื่องจากทหารซีปอยเหล่านี้แตกต่างไปจากทหารในกองทัพมัทราสและบอมเบย์ซึ่งเกณฑ์มาโดยไม่เลือกวรณะเชื้อชาติ และทหารซีปอยในกองทัพเบงกอลมาจากวรรณะชั้นสูงในอินเดียตอนเหนือ ทหารเหล่านี้พร้อมจะรบทุกสมรภูมิในอินเดีย แต่ไม่ประสงค์จะไปรบนอกประเทศเช่นในพม่า ซึ่งต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล ซึ่งถือว่าผิดกฎของระบบวรรณะ ทำให้เกิดการกบฏด้วยสาเหตุนี้มาแล้วสองครั้งในปี ๑๘๒๔ และ ๑๘๕๒ ทหารซีปอยพวกนี้ส่วนใหญ่มาจากแคว้นอูธที่ราชาแคว้นของตนถูกอังกฤษถอดถอน และพวกเขายังสูญเสียสิทธิพิเศษต่างๆที่เคยได้รับ นอกจากนี้ระเบียบวินัยในกองทัพก็หย่อนยานลงเนื่องจากนายทหารอังกฤษที่ดีและมีความสามารถถูกย้ายไปทำงานด้านการเมืองและส่วนหนึ่งถูกย้ายไปรบในสมรภูมิสงครามไครเมียและในจีน อีกส่วนถูกส่งไปรบในสงครามเปอร์เซียในค .ศ. ๑๘๕๖ ทำให้คลังแสงตกอยู่กำมือของพวกทหารซีปอย

สรุปสาเหตุการก่อกบฏ คือความไม่พอใจและความหวาดระแวงสงสัยของชาวอินเดียต่อนโยบายของอังกฤษและการบริหารงานของข้าหลวงใหญ่ ซึ่งสะสมมาเป็นเวลานานตั้งแต่ปลายคริสตศตวรรษที่ ๑๘ ถึงกลางคริสตศตวรรษที่ ๑๙ แม้ว่าอังกฤษจะปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมอินเดียให้มีความเจริญ แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการรวดเร็วและรุนแรงในสายตาของชาวอินเดีย นอกจากนี้อังกฤษยังไม่เข้าใจพื้นฐานทางวัฒนธรรมของอินเดีย จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างรุนแรงจนเกิดเป็นการกบฏครั้งใหญ่ขึ้น

ผลของกบฏซีปอย

การกบฏครั้งนี้นับเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของอินเดีย เพราะการสู้รบระหว่างอังกฤษกับอินเดียนี้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ระหว่างแนวความเก่ากับแนวความคิดใหม่ หรือแนวความคิดตะวันตกกับแนวความคิดตะวันออก มีผลทำให้อินเดียเปลี่ยนจากสังคมที่ล้าหลังมาเป็นสังคมสมัยใหม่โดยมีผลตามมาคือ

กบฏซีปอยมีผลให้รัฐบาลอังกฤษต้องเปลี่ยนนโยบายปกครอง ทำให้รัฐบาลอังกฤษยกเลิกการปกครองของบริษัทอินเดียตะวันออก และใช้นโยบายจารีตนิยมซึ่งระมัดระวังไม่ให้เกิดกบฏขึ้นอีกในอนาคต รัฐบาลอังกฤษพยายามหลีกเลี่ยงการเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้มีอิทธิพลต่อประชาชน และไม่รุกรานดินแดนของเจ้าผู้ครองนครในอินเดียเพิ่มอีก รัฐบาลอังกฤษให้คำรับรองที่จะเคารพสิทธิและดินแดนของเจ้าผู้ครองแคว้น โดยเจ้าผู้ครองแคว้นจะต้องให้อังกฤษควบคุมกิจการภายนอก ซึ่งได้มีการแบ่งอย่างชัดเจนระหว่างแคว้นที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษโดยตรงและโดยทางอ้อม

ผลกระทบของการกบฏซีปอยในด้านการปกครอง ทำให้อังกฤษต้องเปลี่ยนวิธีปกครองอินเดียเสียใหม่ โดยแต่งตั้งให้อุปราชไปประจำอินเดียและมีสภาอินเดียจำนวน ๑๕ คนเป็นที่ปรึกษา อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ประชาชนอินเดียมีส่วนในการบริหารประเทศ โดยปรับปรุงระบบข้าราชการพลเรือนของอินเดียตั้งที่ทศวรรษที่ ๑๘๘๐ เป็นต้นมา ชาวอินเดียได้รับอนุญาตให้สอบเข้ารับราชการในระดับท้องถิ่นและระดับมณฑลเป็นจำนวนมาก

กบฏซีปอยทำให้สังคมระหว่างชาวอังกฤษกับอินเดียห่างเหินกันมากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการทำสงคราม นอกจากนี้เดิมทีอังกฤษมีทัศนคติในทางลบกับคนอินเดียเป็นทุนอยู่แล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้จึงมีความรู้สึกเหยียดหยามรวมอยู่ด้วย ชาวอังกฤษมักจะดูถูกชาวอินเดียว่า งมงาย ป่าเถื่อนและต่ำต้อย ชาวอังกฤษจะใช้ชีวิตตามสโมสรซึ่งรับเฉพาะชาวยุโรปและกีดกันชาวอินเดียไม่ว่าผู้นั้นจะสำคัญเพียงใด ปฏิกิริยาอันเกิดจากความอัปยศอดสูของชาวอินเดียในครั้งนั้น มีส่วนทำให้อินเดียมีความรู้สึกต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยม และสนับสนุนการได้เอกราชของประเทศต่างๆในสหประชาชาติในเวลาต่อมา