Monday, March 26, 2007

บทความที่ ๙๗. สงครามกับศาสนา

สงครามกับศาสนา

ศาสนจักรกับการกำจัดกวาดล้าง

เมื่อศาสนาคริสต์กำเนิดขึ้นใหม่ ๆ จักรวรรดิโรมันกำลังเรืองอำนาจครอบครองไปทั่วยุโรป ศาสนาคริสต์ถูกกำจัดกวาดล้างอย่างรุนแรงเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. ๖๔ เป็นต้นมา ตลอดเวลา ๒๕๐ ปีจนถึง ค.ศ. ๓๑๓ คริสตศาสนิกชนได้ถูกกำจัดสังหารอย่างทารุณ รวมถึงวิธีการอันป่าเถื่อน เช่น ถูกจับส่งเข้าไปสู้กับสิงโตด้วยมือเปล่าจนถูกกัดกินต่อหน้าคนดูในสนามกีฬาโคลัสเซียมอันยิ่งใหญ่ของกรุงโรม

ต่อมาเมื่อจักรวรรดิโรมันได้หันมานับถือคริสต์ศาสนาโดยเริ่มที่พระเจ้า Constantine I ใน ค.ศ.๓๑๓ จากนั้นมาอีกไม่นานประวัติศาสตร์อันยืดยาวที่คริสต์ศาสนากำจัดกวาดล้างคนนอกรีตและพวกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นซาตานหรือศัตรูของพระเจ้าก็ได้เริ่มขึ้น ตามมาด้วยการทำสงครามระหว่างคริสต์ศาสนาต่างนิกายนับแต่ ค.ศ. ๓๙๑ เป็นต้นมาจนถึงค.ศ. ๑๘๓๔ เป็นเวลาเกือบ ๑๔๕๐ ปี

การกำจัดกวาดล้างเหล่านี้เป็นเรื่องที่ฝ่ายศาสนจักรร่วมกับฝ่ายอาณาจักรดำเนินการบ้าง หรือทางฝ่ายศาสนจักรใช้อิทธิพลชักจูงให้ฝ่ายอาณาจักรลงมือทำบ้าง หรือกลุ่มคริสต์ศาสนิกชนต่างนิกายลงมือเข่นฆ่าสังหารกันและกันบ้าง

ในยุคสมัยกลาง พวกยิว พวกมุสลิม และคนนอกรีต เป็นกลุ่มที่ถูกกำจัดกวาดล้างโดยทั่วไป ตลอดจนพวกที่ถูกกล่าวว่าเป็นพ่อมด-แม่มด (ซึ่งถือกันว่าเป็นตัวแทนของซาตาน)ต่อมาก็รวมเอาพวกนักปราชญ์ นักวิทยาศาสตรที่เผยแพร่ความรู้ ความคิดเห็นขัดแย้งกับคำสอนในคริสต์ศาสนา

ต่อมาได้มีการตั้งสถาบันสำคัญ เพื่อการกำจัดกวาดล้างบุคคลที่ขัดต่อแนวทางและผลประโยชน์ของฝ่ายศาสนจักร คือองค์สันตปาปา (Pope) ร่วมกับฝ่ายอาณาจักร ตั้งศาลที่เรียกว่า Inquistion (หรือเรียกว่า ศาลไต่สวนศรัทธา)ขึ้นใน ค.ศ. ๑๒๓๑ ศาลนี้มาสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. ๑๘๓๔ ซึ่งเป็นระยะเวลาหลายร้อยปีที่ศาลนี้ได้พิพากษาตัดสินคนที่ศาสนจักรถือว่านอกรีต เป็นพวกสาวกซาตาน หรือทำผิดต่อศาสนจักร โดยวิธีการโหดเหี้ยมต่าง ๆ ที่จดจำกันถึงทุกวันนี้คือ การเผาทั้งเป็น

ตัวอย่างที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ คือ บรูโน (Giodarno Bruno) นักปราชญ์ที่สอนว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาลและมีจักรวาลมากมายเป็นอนันต์ เขาถูกศาลไต่สวนศรัทธา ตัดสินประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็นใน ค.ศ. ๑๖๐๐

บุคคลต่อมาคือ กาลิเลโอ (Galileo Galilei) นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีผู้เลื่องลือที่สอนว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ หาใช่ดวงอาทิตย์หมุนรอบโลกไม่ เขาถูกจับขึ้นศาลฯ แต่เขายอมรับผิด จึงได้รับการผ่อนโทษโดยเหลือเพียงการขังกักบริเวณไว้ในบ้านจนถึงแก่ความตายใน ค.ศ. ๑๖๔๒

ก่อนหน้าบูรโนและกาลิเลโอ ก็มีบุคคลอีกท่านหนึ่งคือ เซอร์วีตัส (Michael Servetus) ผู้ค้นพบระบบการไหลเวียนของโลหิต เขาถูกศาลฯตัดสินประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็น ใน ค.ศ. ๑๕๕๓ แต่เขาหลบหนีจากจับกุมของศาลฯฝ่ายนิกายคาธอลิกไปได้ ฝ่ายคาธอลิกจึงเผาหุ่นของเขาแทน ต่อมาเขาถูกฝ่ายนิกายโปรเตสแตนต์จับได้ที่เจนีวาสวิสเซอร์แลนด์และถูกศาลไต่สวนฯของนิกายนั้นที่มีชื่อว่า Consistory ตัดสินให้เผาทั้งเป็นใน ค.ศ. ๑๕๕๓ นั้นเอง

บุคคลอีกสำคัญอีกคนหนึ่งที่ถูกตัดสินให้เผาทั้งเป็น ซึ่งคนทัวไปจำกันได้ดีก็คือ โจน ออฟ อาร์ค (Joan of Arc) วีรสตรีชาวฝรั่งเศสที่ถูกตัดสินว่าเป็นแม่มดและถูกเผาทั้งเป็นใน ค.ศ. ๑๔๓๑ ยุโรปในยุคนั้น ผู้หญิงถูกตัดสินว่าเป็นแม่มด ถูกประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็นอย่างนี้มีจำนวนมากมาย เช่นในเยอรมันภาคใต้มีการประหารด้วยวิธีเผาทั้งเป็นมากกว่า ๓,๐๐๐ คน ส่วนศาลไต่สวนศรัทธาในสเปญก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเท่าใดเพราะมีการสั่งประหารชีวิตเผาทั้งเป็นคนนอกรีตไปประมาณ ๒,๐๐๐ คน

ยุคมืดในยุโรป

ในยุคกลาง Middle Ages ของยุโรปที่เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. ๔๗๖ ถึง ค.ศ. ๑๔๕๓ เป็นระยะเวลา ๑ พันปีที่ศาสนจักรมีกำลังและอิทธิพลเป็นหนึ่งเดียวกันทั่วยุโรป วัฒนธรรมที่มีแหล่งกำเนิดจากคริสต์ศาสนาได้แผ่เข้าครอบคลุมชีวิตในทุกด้าน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและการทหาร

ต่อมา เมื่อยุโรปหลุดพ้นจากยุคสมัยกลาง พวกนักปราชญ์ยุโรปเห็นว่ายุโรปควรจะได้กลับคืนสู่ศิลปวิทยาการของกรีกและโรมันโบราณอีกครั้ง จึงได้เรียกชื่อยุคสมัยที่ผ่านมานั้นว่า Middle Ages -สมัยกลาง ซึ่งมีความหมายว่าเป็นช่วงเวลาท่ามกลางการเสื่อมสลายของศิลปวิทยาการของกรีกและโรมันโบราณ จนกระทั่งศิลปวิทยาการนั้นกลับฟื้นขึ้นมาอีกในยุคของพวกตน จึงเรียกยุคนี้ว่า Renaissance

แต่ถึงแม้จะพ้นจากสมัยกลางเนิ่นนานมาจนถึงสมัย Enlightenment ในศตวรรตที่ ๑๘ ความรู้สึกที่เป็นปฏิกิริยาต่อสภาพของสมัยกลางก็ยังคงอยู่ ชาวยุโรปจึงเรียกชื่อสมัยกลางอีกชื่อหนึ่งว่า Dark Ages หรือ ยุคมืด ซึ่งหมายถึงยุคสมัยที่อารยธรรมคลาสสิกของศิลปวิทยาการฯได้เลือนลับไป ยุโรปจึงตกอยู่ในความมืดมนทางปัญญา

ต่อมาคนสมัยหลัง ๆ เริ่มคลายความปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ในยุคมืดลง ก็เริ่มกลับไปมองคุณค่าของยุคมืดหรือยุคกลางว่าเป็นรากฐานให้เกิดยุคสมัย Renaissance (เรเนซองซ์)โดยเฉพาะที่สำคัญที่คนยุคหลังเห็นว่ายุคกลางเป็นยุคที่สำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้มียุค Renaissance ได้ ก็คือเหตุการณ์ที่ศาสนจักรได้เผชิญและผจญกับศาสนาอิสลาม ในสงครามครูเสดเป็นต้น ในคราวที่ฝ่ายศาสนจักรได้ชัยชนะเหนือฝ่ายมุสลิม ก็มีการนำวิทยาการ ความรู้ ตำราของพวกกรีก-โรมันโบราณที่พวกมุสลิมได้นำไปเก็บรักษา กลับมายังยุโรป

ตำราตำรา วิชาความรู้ที่ได้มาชัยชนะของสงครามครูเสด พวกนักบวชคริสต์ได้คัดลอก เก็บรักษาหรือแปลจากภาษาอาหรับมาเป็นภาษาละติน ซึ่งได้กลายมาเป็นแหล่งความรู้ให้แก่ยุค เรเนซองซ์ (ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา)ในเวลาต่อมา

ในยุคสมัยกลาง ได้มีประเพณีที่ผู้จะขึ้นมาเป็นจักรพรรดิโรมันจะต้องให้โป๊ปสวมมงกุฏให้ จึงมีคำเรียกอาณาจักรโรมันที่ปกครองโดยจักรพรรดิที่โป๊ปสวมมงกุฎให้ว่า Holy Roman Empire จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เมื่อฝ่ายศาสนจักรมีอิทธิพลครอบงำเหนือฝ่ายอาณาจักร ทำให้เกิดเป็นความคิดที่ถือว่ายุโรปเป็นศาสนรัฐที่กว้างใหญ่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเรียกว่า “Christendom” (คริสต์จักรหรือคริสต์อาณาจักร)

คริสต์อาณาจักรจึงประกอบด้วย ๒ องค์กรใหญ่ได้แก่ฝ่ายศาสนาธิการ (sacerdotium) มีสันตะปาปาเป็นใหญ่มีอำนาจสูงสุด อีกฝ่ายได้แก่ฝ่ายรัฏฐาธิการ (imperium) มีจักรพรรดิทรงอำนาจสูงสุด ซึ่งองค์กรทั้งนี้จะปฏิบัติงานเสริมกันและกัน แต่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์กลับปรากฏว่าสององค์กรนี้มีการแย่งอำนาจชิงดีชิงเด่นกันมาตลอด

ในยุคกลางนี้เช่นกัน ที่ศาสนจักรและอาณาจักรได้รวมพลังกันทำสงครามศักดิ์สิทธิ์หรือสงครามเพื่อพระผู้เป็นเจ้า (holy war) เพื่อปลดปล่อยดินแดนศักดิ์สิทธิ์ (เยรูซาเลม) จากการยึดครองของพวกมุสลิมเตอร์กส์ สงครามนี้มีชื่อเรียกว่า “สงครามครูเสด” ซึ่งรบกันยืดเยื้อยาวนานประมาณ ๒๐๐ ปี (ค.ศ. ๑๐๙๖-๑๒๗๐) นับเป็นสงครามครั้งใหญ่ ๘ ครั้งและสงครามย่อย ๒ ครั้ง

ในระหว่างสงครามครูเสดที่ฝ่ายคริสต์มีชัยเหนือฝ่ายมุสลิมก็ได้นำตำราวิทยาการกลับไปยุโรปและมีการแปลตำรานั้นเป็นภาษาละติน พวกยุโรปก็ค่อย ๆ ฟื้นฟูวิทยาการความรู้จากตำราของพวกกรีกโรมันโบราณที่พวกมุสลิมครอบครองไว้ตั้งแต่ยุคคริสตกาลตอนต้น ๆ

ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๔๕๓ กรุงคอนสแตนติโนเปิลได้ถูกพวกออโตมานเตอร์กส์ ยังผลให้จักรวรรดิไบแซนไทน์ ซึ่งเป็นจักรวรรดิโรมันตะวันออกล่มสลายลง เหล่านักปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากได้หลบหนีมายังอิตาลีและหอบเอาตำรับตำราสำคัญมาด้วย เป็นการนำความรู้จากยุคกรีกโบราณมายังยุโรปอีกระลอกหนึ่ง

การปฏิรูปทางศาสนา

ยุโรปหลุดออกมาจากยุคกลางเข้าสู่ยุคฟื้นฟูทางศิลปวิทยาการได้เพียงไม่นาน อำนาจของโป๊ปที่เคยยิ่งใหญ่เหนือแผ่นดินยุโรปก็สิ้นสุดลง เพราะอิทธิพลของแนวความคิดและการตื่นตัวของประชาชนที่ได้ศึกษาเรียนรู้วิทยาการมากขึ้น เกิดเป็นความขัดแย้งของความเชื่อเก่ากับความเชื่อใหม่ซึ่งได้ม้วนเอาเรื่องการเมืองเข้าไปเกี่ยวด้วยทำให้การโต้แย้งแข็งขืนกลายเป็นการต่อสู้ด้วยกำลัง การห้ำหั่นบีฑา (persecution) และ สงครามศาสนา (religious war) ก็เกิดขึ้น

แต่สงครามศาสนาคราวนี้เป็นการทำสงครามของชาวคริสต์กันเองที่มีความเชื่อแตกต่างกัน คือนิกายโรมันคาธอลิก กับนิกายใหม่คือโปรเตสแตนต์ ซึ่งต่างก็ถือว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพวกนอกรีต

ฝ่ายคาธอลิกได้ระดมทุนเพื่อจะรักษาความยิ่งใหญ่ให้เหนือโปรเตสแตนต์ โดยให้มีการขายใบไถ่บาป (indulgence) ซึ่งอ้างว่าโปรดประทานจากพระคลังบุญ (Treasury of Merits) ของพระเยซูและเหล่านักบุญ โดยมีตัวแทนจำหน่ายในท้องที่ต่าง ๆ

การขายใบไถ่บาปทำให้ได้เงินมหาศาล (รวมทั้งเงินที่เอามาสร้างมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ ที่กรุงโรม) บาทหลวงบางคนขายใบไถ่บาปเอาเงินให้สันตะปาปาเพื่อแลกกับตำแหน่งในสมณศักดิ์สูง การก่อสร้างและการสะสมทำให้ฝ่ายศาสนจักรมีทรัพย์สินมหาศาล

มาถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ค.ศ.๑๕๑๗ บาทหลวงเยอรมันชื่อมาร์ติน ลูเธอร์ ได้ปิดประกาศคำประท้วงการขายใบไถ่บาป ถือว่าเป็นจุดเริ่มแห่งการปฏิรูป ที่ให้ชาวคริสเตียนคืนกลับไปหาคัมภีร์ไบเบิลโดยปฏิเสธอำนาจขององค์สันตะปาปา หลังจากนั้นไม่นาน การกำจัดกวาดล้างรบราฆ่าฟันและสงครามก็ตามมา

การที่มาร์ติน ลูเธอร์ สามารถได้กำลังสนับสนุนมาต่อสู้กับวาติกันเพราะมีผู้เชื่อในคำสอนทางศาสนาที่เขาตีความใหม่มากขึ้น และมีเหตุผลทางการเมืองดังที่มีบันทึกไว้ว่า

“ทั่วยุโรปภาคเหนือ กษัตริย์และเจ้าผู้ครองดินแดนทั้งหลาย ซึ่งรู้ตระหนักว่าตนกำลังมีอำนาจมากขึ้น มีความไม่พอใจอยู่แล้วต่อการที่องค์สันตะปาปาซึ่งประทับอยู่แสนไกล มาถือสิทธิคุมอำนาจบังคับบัญชาตน แถมยังดูดสูบเอาโภคทรัพย์ไปยังกรุงโรมอีกด้วย”
(Europe,history of,”New Grolier Multimedia Encyclopedia,1994)

การปฏิรูป (Reformation) ซึ่งเป็นของฝ่ายโปรเตสแตนต์ ตามมาด้วยการโต้ปฏิรูป (Counter-Reformation) ของฝ่ายโรมันคาธอลิก (ค.ศ.๑๕๔๐-๑๖๑๐)เพื่อเร่งงานกำจัดฝ่ายโปรเตสแตนต์ให้หมดสิ้น ในช่วงเวลานับแต่เริ่มยุคการปฏิรูป ชาวคริสต์สองนิกายได้ทำสงครามห้ำหั่นบีฑาและสงครามศาสนาระหว่างราษฎรกับราษฎร ระหว่างประเทศหนึ่งกับอีกประเทศหนึ่งบ้าง ระหว่างกลุ่มประเทศทั่วทั้งยุโรปบ้าง ซึ่งนอกจากทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในยุโรปแล้ว ก็ส่งผลไปถึงการเกิดขึ้นของประเทศในโลกใหม่คืออเมริกาด้วย

ยกตัวอย่าง ในประเทศอังกฤษซึ่งได้กลายเป็นประเทศโปรเตสแตนต์เมื่อพระเจ้าเฮนรี่ที่ ๘ แยกออกจากโรมันคาธอลิก โดยประกาศไม่ยอมรับอำนาจขององค์สันตะปาปาและให้รัฐสภาสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นประมุขแห่งศาสนจักรนิกายอังกฤษ (Church of England) คือนิกายแองกลิคาน (Anglican Church) ในปี ๑๕๓๔ ทำให้ศาสนาคริสต์นิกายอังกฤษเป็นศาสนาประจำชาติมาจนบัดนี้
พระเจ้าเฮนรี่ที่ ๘ ได้ทรงกำราบและยึดทรัพย์โบสถ์ทั้งหลายของคาธอลิก ใครยอมเชื่อฟังโป๊ปถือว่าเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ผู้นับถือโรมันคาธอลิกคนใดไม่ยอมรับสถานะของพระองค์ว่าเป็นประมุขของศาสนจักรก็ถูกประหารชีวิต พึงสังเกตว่า อังกฤษกำจัดไม่เฉพาะชาวคาธอลิกเท่านั้นแต่กำจัดโปรเตสแตนต์นิกายอื่นที่ไม่ใช่นิกายอังกฤษด้วย ดังนั้นพวกถือนิกายลูเธอแรนก็ถูกจับเผาทั้งเป็นจำนวนมาก

ต่อมาพระนางแมรีที่ ๑ ผู้เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเฮนรี่ที่ ๘ ขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ.๑๕๕๓ สถานการณ์เปลี่ยนเป็นตรงข้าม พระนางแมรี่พยายามกู้นิกายโรมันคาธอลิกกลับขึ้นมาให้เป็นศาสนาประจำชาติ และได้กำจัดผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ ปรากฏว่าชาวโปรเตสแตนต์ถูกเผาทั้งเป็นประมาณ ๓๐๐ คน บ้างก็หนีไปอยู่ประเทศอื่น

การณ์กลับกลายอีกครั้งเมื่อพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ ๑ ขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากพระนางแมรี่ที่ ๑ ในปี ค.ศ. ๑๕๕๘ พระนางทรงฟื้นนิกายโปรเตสแตนต์กลับขึ้นมาอีก และโดยเฉพาะปลายรัชกาลทรงกำจัดฝ่ายโรมันคาธอลิกอย่างโหดเหี้ยมถึงกับประหารชีวิตเป็นจำนวนมาก

ส่วนฝรั่งเศสนั้นตรงกันข้าม ได้พยายามรักษานิกายโรมันคาธอลิกไว้ให้มั่นคงและกำจัดโปรเตสแตนต์อย่างถึงที่สุด พวกโปรเตสแตนต์ในฝรั่งเศสมีชื่อเรียกว่า พวกฮิวเกนอตส์ (Huguenots) เมื่อพวกฮิวเกนอตส์มีกำลังเข้มแข็งขึ้น รัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้กำจัดด้วยวิธีรุนแรงจนกระทั่งเกิดเป็นสงครามศาสนาถึง ๘ ครั้งในช่วง ค.ศ. ๑๕๖๒-๑๕๙๘ แต่หลังจากสงบศึกไประยะหนึ่ง ต่อมาก็กำจัดกันใหม่และเกิดสงครามใหม่อีก

พวกฮิวเกนอตส์จำนวนมาก เห็นว่าจะอยู่ในประเทศของตนเองต่อไปไม่ไหว ก็หลบหนีไปประเทศอื่น เช่นอังกฤษ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ อีกส่วนหนึ่งก็ต่อไปยังดินแดนแห่งโลกใหม่คือ อเมริกา (เช่นในรัฐ Masachusetts, New York, Florida และ South Carolina)

พวกที่หนีไปครั้นนั้น มีจำนวนประมาณ ๔ แสนถึง ๑ ล้านคน เนื่องจากพวกฮิวเกนอตส์เป็นชนชั้นกลางที่มีการศึกษา มีความรู้และฝีมือแรงงานดี ตลอดจนเป็นนายทหาร จึงทำให้ทหารฝรั่งเศสสูญเสียทรัพยากรคนไปจำนวนมาก การกำจัดและสงครามเพื่อกำจัดพวกฮิวเกนอตส์นี้ ดำเนินมาจนถึง ค.ศ.๑๗๘๙ (รวม ๒๒๗ ปี)จึงสิ้นสุดลง ส่วนในประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นจุดเกิดกรณี คือเป็นที่เริ่มต้นของนิกายโปรเตสแตนต์ การกำจัดห้ำหั่นกันก็เป็นไปอย่างรุนแรงยาวนาน

ในที่สุดการปฏิรูปของฝ่ายโปรเตสแตนต์และการโต้ปฏิรูปของฝ่ายโรมันคาธอลิก ก็มาถึงจุดแตกหักกลายเป็นสงครามศาสนาครั้งใหญ่ของยุโรปตะวันตก ระหว่างประเทศทั้งหลายที่นับถือต่างนิกายกัน เป็นการรบกันอย่างยาวนานถึง ๓๐ ปีเรียกว่า Thirty Years’ War ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. ๑๖๑๘-๑๖๔๘ สงครามที่ยืดเยื้อยาวนานนี้ ก่อภัยพิบัติทั้งแก่มนุษย์ เศรษฐกิจและสภาพสังคมทั่วไปของยุโรปอย่างมหาศาล เมืองหลายเมืองหมดประชากรไปครึ่งเมืองหรือเกินกว่าครึ่ง

ตัวอย่างของความโหดเหี้ยมในสงครามศาสนา ได้แก่เมืองๆหนึ่งในเยอรมันชื่อเมือง แมกดีเบอร์ก (Magdebrug)ซึ่งเป็นเมืองฝ่ายนิกายโปรเตสแตนต์ ถูกกองทัพฝ่ายคาธอลิกบุกใน ค.ศ. ๑๖๓๑ เมืองทั้งเมืองถูกเผา ราษฎรที่มีอยู่ ๓๐,๐๐๐ คนถูกฆ่าไปถึง ๒๐,๐๐๐ คน เหตุการณ์สยดสยองจากสงคราม ๓๐ ปียังคงฝังแน่นในความทรงจำของประชาชนยิ่งกว่าสงครามใดๆ (ก่อนศตวรรษที่ ๒๐) สงคราม ๓๐ ได้สิ้นสุดลงด้วยการเซ็นสัญญาสันติภาพ (Peace of Westphalia) ใน ค.ศ. ๑๖๔๘

ยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญา

ศตวรรษที่ ๑๘ ถูกนับว่าเป็นยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญา (Age of the Enlightened) เป็นยุคที่ยุโรปได้เข้าสู่การคิดด้วยเหตุผลว่าจะสามารถรู้ในความจริงของทุกสรรพสิ่งในสากลพิภพ และคิดว่าตนจะแก้ไขปรัปปรุงชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ พร้อมทั้งความใฝ่นิยมเสรีภาพ ชื่นชมวิทยาศาสตร์ และเป็นปฏิปักษ์ต่อความเชื่อถืองมงายในโชคลางพิธีรีตองต่าง ๆ ซึ่งขัดแย้งกับทางฝ่ายศาสนจักรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยุคแสงสว่างฯ นี้ได้รับผลจากการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) ซึ่งถือว่าเริ่มต้นใน ค.ศ. ๑๕๔๓ และดำเนินต่อมาตลอดศตวรรษที่ ๑๖ และ ๑๗ จนทำให้คริสตศตวรรษที่ ๑๘ เป็นยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญานั่นเอง การตื่นตัวและความเจริญก้าวหน้าทางปัญญาในยุคนี้ได้ก่อให้เกิดเหตุการณ์ใหญ่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เรียกว่าเป็นการอภิวัฒน์ ถึง ๒ เหตุการณ์ คือ

๑.การอภิวัฒน์ฝรั่งเศส (French Revolution) ในค.ศ. ๑๗๘๙-๑๘๑๕ และการอภิวัฒน์อเมริกาในปี ค.ศ. ๑๗๗๕-๑๗๘๓

๒.การอภิวัฒน์อุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ซึ่งเริ่มในอังกฤษประมาณค.ศ.๑๗๕๐-๑๘๕๐

การอภิวัฒน์ทั้งสองนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีผลอย่างมากมายและกว้างขวาง พลิกผันสภาพบ้านเมือง ระบบสังคมและวิถีชีวิตของผู้คน นำอารยธรรมขึ้นสู่ยุคใหม่โดยเฉพาะระบบอุตสาหกรรมถือว่าเป็นตัวกำหนดให้สังคมตะวันตกและโลกขึ้นสู่ยุคสมัยใหม่ (Modern Age) ความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตและสังคม แนวความคิดความเชื่อใหม่ ๆ ได้ทำให้กระแสความคิดความสนใจของคนสมัยใหม่ในตะวันตกที่ผละออกจากการครอบงำของศาสนาคริสต์แล้วนั้น ยิ่งห่างไกลออกจากศาสนาเรื่อย ๆ และอิทธิพลของศาสนจักรก็ยิ่งลดน้อยถอยลงไป แล้วยังส่งผลไปถึงประชาชนในดินแดนห่างไกลที่กำลังพัฒนาทั่วโลกด้วย


ดินแดนแห่งเสรีภาพ

อเมริกา เป็นดินแดนที่ผู้อพยพมาจากทวีปยุโรปเข้าขับไล่ผู้อาศัยอยู่เดิมให้เข้าไปอยู่ในเขตสงวนแล้วตนเองจึงเข้าครอบครองอาณาเขตทั้งหมด และก็เป็นที่รู้กันดีว่าสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเหล่านี้อพยพมา ก็คือ การหนีภัยบีบคั้นกำจัดหรือ การห้ำหั่นบีฑาทางศาสนา (religious persecution) ในประเทศเดิมของตน

นอกจากฝรั่งเศสที่พวกโปรเตสแตนต์ที่มีชื่อเรียกว่าพวกฮิวเกนอตส์ หนีภัยมายังดินแดนใหม่ ชาวอังกฤษก็เป็นแหล่งใหญ่ของผู้หนีภัยทางศาสนา เริ่มตั้งแต่พวกโปรเตสแตนต์อังกฤษที่มีชื่อเรียกว่าพวก Puritans ซึ่งหนีมาในสมัยของพระนางแมรี่ที่ ๑ ผู้กู้นิกายโรมันคาธอลิกและกำจัดพวกโปรเตสแตนต์ พวก Puritans มายังอเมริกาตั้งแต่ ปีค.ศ. ๑๖๒๐ มาตั้งรกรากอยู่ที่ Plymonth ในรัฐแมสสาจูเซททส์ พวก Puritans อพยพมาอเมริกาครั้งใหญ่อีกในช่วง ค.ศ.๑๖๓๐-๑๖๔๐ ต่อมาพวกอพยพหนีภัยศาสนาก็อพยพมาอเมริกาอีกเป็นระลอก

ในฐานะที่อเมริกาเป็นอาณานิคม รัฐบาลอังกฤษจึงได้ตามมาออกกฏหมายให้คริสต์ศาสนานิกายอังกฤษเป็นศาสนาราชการในเวอร์จิเนีย, แมรี่แลนด์,นิวยอร์ค,แคโรไลน่าเหนือ-ใต้และจอร์เจีย ในรัฐเวอร์จิเนีย เจ้าหน้าที่อาณานิคมซึ่งอยู่ข้างนิกายอังกฤษก็เกิดปัญหาขัดแย้งกับพวกเพรสไบทีเรียน พวกแบพติสต์และนิกายอื่น ๆ

ฝ่ายชาวอาณานิคมเองทั้งที่ได้ประสบภัยเบียดเบียนทางศาสนาในยุโรปมาอย่างหนักแล้ว เมื่ออพยพมาได้ที่พักพิงในอเมริกาแล้ว ก็ยังถูกตามมาเบียดเบียนราวีในอเมริกาอีก มีการแบ่งเป็นกลุ่มของตนและกำจัดกลุ่มอื่น เช่นในรัฐแมสสาจูเซททส์ ได้มีการกำจัดพวกเควกเกอรส์และพวกแบพติสต์ รวมทั้งมีการล่าและฆ่าผู้ที่ถูกสงสัยว่าเป็นแม่มด

ชาวคาธอลิกที่หนีมายังอเมริกาเป็นคนกลุ่มน้อยเมื่อเทียบกับชาวโปรเตสแตนต์ แต่จะกลายเป็นตรงกันข้ามในดินแดนของคานาดาในยุคนั้น ที่รัฐบาลฝรั่งเศสออกกฏหมายห้ามมิให้มีนิกายโปรเตสแตนต์ ส่วนในแมรี่แลนด์ที่มีชาวคาธอลิกมากที่สุดก็ไม่เกิน ๓,๐๐๐ คน คนเหล่านี้ได้รับการเบียดเบียนอย่างเบา ๆ ตามกฏหมายของรัฐใน ค.ศ. ๑๖๙๑ คือคนที่นับถือนิกายคาธอลิกจะถูกตัดสิทธิทางการเมือง ห้ามไม่ให้ประกอบพิธีทางศาสนาเว้นแต่เฉพาะในบ้านของตนเอง

คนอเมริกันผู้หนีภัยการเบียดเบียนในเรื่องศาสนามายังดินแดนใหม่ จึงมีจิตสำนึกที่ฝังลึกในใจที่สำคัญ คือความใฝ่ปรารถนาและเชิดชูบูชาเสรีภาพหรือความเป็นอิสระเสรี เป็นอย่างยิ่ง ต่อมาเมื่อได้รับอิสรภาพที่จะปกครองตนเองแล้ว ก็ได้ถือเรื่องเสรีภาพนี้มาเป็นหลักการสำคัญและกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีอิสรเสรีภาพในด้านต่าง ๆ รวมทั้งเสรีภาพทางศาสนาด้วย ยิ่งกว่านั้น เมื่อหลายนิกายตกลงกันไมได้ว่าจะถือนิกายใดเป็นใหญ่ หรือจะถือหลักศาสนาร่วมกันได้อย่างไร อเมริกาก็วางหลักการแห่งการแยกศาสนาจักรกับอาณาจักรออกจากกัน...
ศาสนากับการล่าอาณานิคม

จักรวรรดิมุสลิม

ความเจริญของอารยธรรมตะวันตก ซึ่งผูกพันอยู่กับศาสนาคริสต์ก็คือ การล่าอาณานิคมที่กลายมาเป็นนโยบายของประเทศทั้งหลายในยุโรปที่เรียกว่าลัทธิอาณานิคม (colonialism) การล่าอาณานิคมมีมาแต่โบราณ ถือกันว่า พวกฟินิเซียน เป็นนักล่าอาณานิคมทางทะเลพวกแรกตั้งแต่ ๑๑๐๐ ปีก่อน ค.ศ.

ตามมาด้วยพวกกรีกและโรมัน ซึ่งเข้มแข็งอยู่ในช่วงศตวรรษที่ ๒-๓ก่อน ค.ศ.และในที่สุดยุโรปเกือบทั้งหมดและดินแดนตะวันออกกลางก็ตกอยู่ใต้การปกครองของพวกโรมัน ซึ่งถือกำเนิดเมื่อประมาณ ๒๗ ปีก่อน ค.ศ. โดยมีกรุงโรมเป็นเมืองหลวง

ต่อมา ค.ศ. ๓๒๔ พระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๑ ได้เลือกเมืองกรีกโบราณชื่อว่าไบแซนทาเนียนแล้วสร้างขึ้นใหม่เปลี่ยนชื่อเป็นคอนสแตนติโนเปิล หรือ “โรมใหม่” ซึ่งปัจจุบันนี้ได้แก่เมืองอิสตันบุลในประเทศตุรกี กรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมัน และพระเจ้าคอนสแตนตินที่ ๑ทรงเป็นจักรพรรดิโรมันพระองค์แรกที่นับถือศาสนาคริสต์ ทำให้ต่อมามิช้านานศาสนาคริสต์ก็ได้เป็นศาสนาประจำชาติของจักรวรรดิโรมันใน ค.ศ. ๓๘๐

ต่อมาจักรพรรดิได้ออกกฎห้ามประชาชนนับถือศาสนาอื่นนอกจากศาสนาคริสต์และยังลงมือกำจัดคนที่ไม่นับถือศาสนาคริสต์ ตั้งแต่หลัง ค.ศ. ๓๙๑ เป็นต้นมา ครั้นถึง ค.ศ. ๓๙๕ จักรวรรดิโรมันก็แตกออกเป็น ๒ ภาค คือ จักรวรรดิไบแซไทน์หรือจักรวรรดิโรมันตะวันออกที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลแห่งหนึ่ง อีกแห่งหนึ่งคือจักรวรรดิโรมันตะวันตกที่กรุงโรม

จนกระทั่งต่อมาเมื่อกรุงโรมแห่งจักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลายในปีค.ศ.๔๗๖ ส่วนกรุงคอนสแตนติโนเปิลก็ยังคงเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิไบแซนไทน์แห่งจักรวรรดิโรมันตะวันออกสืบมา นักประวัติศาสตร์ถือว่ายุโรปเข้าสู่สมัยกลางหรือยุคมืดนับแต่บัดนั้น และตั้งแต่นั้นก็ไม่มีประเทศใดในยุโรปที่มีกำลังเข้มแข็งพอที่จะตั้งอาณานิคมขึ้นได้

เข้าสู่คริสตศตวรรษที่ ๗ ศาสนาอิสลามซึ่งเพิ่งจะกำเนิดขึ้นแต่มีกำลังเข้มแข็งในการเผยแผ่ ก็ได้เข้าสู่ยุคที่ชาวอาหรับเป็นนักล่าอาณานิคมเรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ ๑๓ ยุคของศาสนาอิสลามนั้นนับตั้งแต่พระศาสดามูอัมหมัดได้ตั้งศาสนาอิสลามขึ้นในดินแดนอาหรับ และกำหนดเริ่มต้นฮิจเราะห์ศักราช (Hijrah) ใน ค.ศ. ๖๒๒

เมื่อศาสดามูฮัมหมัดสิ้นชีวิตลงใน ค.ศ. ๖๓๒ พ่อตาคือ อาบูบากะร์ก็ขึ้นเป็นกาหลิฟ(Caliph) องค์แรก ต่อจากนั้นการแผ่ขยายดินแดนของมุสลิมอาหรับก็เริ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการขับเคี่ยวกับจักรวรรดิไบแซนไทน์และจักรวรรดิเปอร์เซีย

ใน ค.ศ. ๖๖๑ ศาสนาอิสลามก็แตกออกเป็น ๒ นิกายคือสุหนี่ (Sunnites)ซึ่งเป็นส่วนข้างมาก และชีอะห์(Shites)เป็นส่วนข้างน้อย หลังจากนั้นเมืองหลวงของกาหลิฟก็ย้ายจากมะดินะ (Medina) ไปยังดามัสกัส และการแผ่ขยายดินแดนก็ดำเนินต่อไป เมื่อเข้าปี ค.ศ.๖๗๐ ก็ยึดทูนีเซียจนไปถึงปลายสุดด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอาฟริกาเหนือ พอถึงปี ค.ศ.๗๑๐ ก็ตีด้านยุโรปได้สเปญ และเมื่อพยายามจะตีฝรั่งเศสก็ถูกตีแตกกลับออกมาใน ค.ศ.๗๓๒

ทางทิศเหนือ ได้เข้าล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิลแต่ยังตีกรุงไม่แตก ด้านทิศตะวันตกในปี ค.ศ.๗๑๑ กองทัพอาหรับได้บุกไปถึงลุ่มน้ำสินธุไปจนจรดอินเดียและจีน เข้าไปตั้งถิ่นฐานบางส่วนในแคว้นปัญจาบ

ต่อมาในปี ค.ศ.๗๕๐ กาหลิฟแห่งดามัสกัสถูกสังหาร กาหลิฟวงศ์ใหม่จึงย้ายเมืองหลวงไปยังแบกแดด (Bagdad) การขยายอาณาเขตได้ผ่อนเบาลงและหันมาส่งเสริมศิลปวิทยา ทำให้ปราชญ์มุสลิมมีผลงานออกมาทางวรรณคดี ปรัชญา และศาสตร์ต่าง ๆ จึงก้าวหน้ากว่าชาวยุโรปในยุคมืดมนทางปัญญา

ในช่วงนั้นอาณาจักรมุสลิมเตอร์กส์มีพวก เซลจูก (Seljuks) ได้เริ่มเรืองอำนาจขึ้นมาขณะที่พวกมุสลิมอาหรับอ่อนกำลังลง ส่วนในทางยุโรปคริสต์จักรได้เกิดการแตกแยกครั้งใหญ่ระหว่างพวกนิกายออโธดอกซ์กับนิกายโรมันคาธอลิก ใน ค.ศ. ๑๐๕๔

พอในปี ค.ศ.๑๐๕๕ พวกเตอร์กส์มุสลิมเซลจูกมีหัวหน้าที่เรียกว่าสุลต่าน ก็เข้ายึดแบกแดดได้ เข้าคุ้มครอง เข้าคุ้มครองและชักใยกาหลิฟที่ค่อย ๆ กลายเป็นหุ่นให้ชักไปแล้ว ต่อมาพวกเซลจูกก็มีชัยเหนือจักรวรรดิไบแซนไทน์ใน ค.ศ.๑๗๗๑ อันเป็นสาเหตุเริ่มต้นของสงครามครูเสด ระหว่างประเทศมุสลิมกับประเทศที่นับถือคริสต์ศาสนาทั้งหลาย ยาวนานเกือบ ๒๐๐ ปี (ค.ศ.๑๐๙๖-๑๒๗๐)

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เจงกิสข่านได้นำทัพมองโกลแผ่อำนาจเข้าบุกจีน สามารถยึดกรุงปักกิ่งได้ใน ค.ศ.๑๒๑๕ จากนั้นก็มุ่งไปทางตะวันตก ตีจักรวรรดิของพวกเตอร์กส์แถบอิรัก อิหร่านและเตอรกีสถานตะวันตกบางส่วน และรุกเข้ารัสเซีย

เมื่อเจงกิสข่านสิ้นชีวิตในปี ค.ศ. ๑๒๒๗ ข่านคนต่อมาได้แผ่อำนาจต่อไปจนเข้ายึดและทำลายกรุงแบกแดดลงในปี ค.ศ.๑๒๕๘ จักรวรรดิมุสลิมก็ตกอยู่ใต้อำนาจของมงโกล ยกเว้นอาณาจักรของพวกมามะลูกส์ที่ยังรักษาอียิปต์และซีเรียไว้ได้

แต่พวกมองโกลครองอำนาจได้ไม่นานเพียง ๑๐๐ ปีเศษ อาณาจักรก็ค่อย ๆ ล่มสลายไปเรื่อย ๆ จนถึง ค.ศ. ๑๔๘๐ ก็หมดอำนาจจากดินแดนทั้งหลายที่ยึดครอง


ทัพมุสลิมบุกอินเดีย

เมื่อครั้งกองทัพอาหรับบุกไปถึงแถบลุ่มแม่น้ำสินธุในปี ค.ศ.๗๑๑ แม้ว่าจะไม่สามารถบุกเข้าไปได้ลึกกว่านั้น แต่ก็มีการเดินทางค้าขายติดต่อกันและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับชาวอินเดีย

โดยเฉพาะในช่วงคริสตศวรรษที่ ๙-๑๐ อินเดียมีมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา คือ นาลันทาที่รุ่งเรืองมาเนิ่นนานแล้ว ทำให้ชาวมุสลิมที่แบกแดดได้รับถ่ายทอดความรู้ด้านคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สาขาอื่น ๆ จากอินเดีย ซึ่งเป็นยุคที่ปราชญ์มุสลิมก้าวหน้าทางปัญญากว่าพวกยุโรป

แม้แต่ตัวเลขอาระบิกที่ฝรั่งใช้และเผยแพร่ไปทั่วโลกในเวลานี้ ก็เกิดขึ้นในอินเดียตั้งแต่ ๒๐๐ ปีก่อน ค.ศ. เวลาผ่านมานานจนกระทั่งคริสตศตวรรษที่ ๗-๘ ชาวมุสลิมอาหรับจึงได้รับเอาตัวเลขจากอินเดียไปใช้ จากนั้นชาวยุโรปก็นำไปใช้ต่อโดยเข้าใจว่าเป็นของอาหรับจึงเรียกว่า อาระบิก

ในช่วง ค.ศ.๑๐๐๐ ชาวมุสลิมที่เข้ามาในอินเดียเป็นพวกมุสลิมเตอร์กส์ อาฟฆัน เปอร์เซียและมองโกล การรุกรานครั้งใหญ่เริ่มขึ้นในช่วง ค.ศ.๑๐๐๑-๑๐๒๗ โดยมะฮะหมัดแห่งฆาซนี (Mahmud of Ghazni) แม่ทัพมุสลิมเตอร์กส์จากอาฟกานิสถาน ซึ่งใช้วิธีการรุกรานโดยการทำลายล้างอย่างรุนแรง ฆ่าไม่เลือก เผา และปล้นทรัพย์ พวกนี้สามารถผนวกแคว้นปัญจาบเข้าในอาณาจักรของตน เหตุการณ์ครั้งนั้น ยังผลให้คนฮินดูวรรณะต่ำและชาวพุทธได้เปลี่ยนมาเป็นคนมุสลิมเป็นจำนวนมาก

แม่ทัพเตอร์กส์มุสลิมที่สืบทอดอำนาจต่อมา ได้รุกอินเดียลึกเข้ามาเรื่อย ๆ จนถึงปี ค.ศ.๑๒๐๖ ก็ชนะไปจนสุดแดนภาคตะวันออกของอินเดีย ครอบครองตั้งแต่ปัญจาบไปจนถึงแคว้นพิหาร (ปัจจุบันคือบังคลาเทศ) และสถาปนาอาณาจักรสุลต่านแห่งเดลี (Delhi Sultanate) ขึ้นเป็นรัฐมุสลิมแรกแห่งอินเดีย ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เจงกิสข่านบุกตะวันตก)

การรุกรานของกองทัพเตอร์กส์มุสลิมช่วงสุดท้ายนี้ ได้กวาดล้างพระพุทธศาสนาให้สิ้นสูญไปจากแผ่นดินอินเดีย ด้วยการฆ่า ปล้นทรัพย์ บังคับให้เปลี่ยนศาสนา และฉากสุดท้ายแห่งการสิ้นสูญพุทธศาสนาในอินเดียก็คือ พวกมุสลิมเตอร์กส์ได้เผาทำลายศูนย์กลางใหญ่ ๆ คือ วัด และมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาทั้งหลาย เช่น นาลันทา วิกรมศิลา เป็นต้น ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ (ค.ศ.๑๒๐๐)

อาณาจักรสุลต่านแห่งเดลีปกครองอินเดียสืบต่อกันมานาน ๑๔ สุลต่าน ท่ามกลางความโหดเหี้ยมทารุณ การล้างผลาญชีวิตและการแย่งชิงอำนาจกัน จนกระทั่งปี ค.ศ.๑๕๒๖ แม่ทัพมุสลิมเชื้อสาย มงโกลจากเปอร์เซีย ได้ตั้งราชวงศ์โมกุลอันยิ่งใหญ่ขึ้นในอินเดีย ปกครองอินเดียมายาวนานจนตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษและสิ้นสุดราชวงศ์โมกุลใน ค.ศ. ๑๘๕๘

ย้อนกลับไปทางด้านตะวันตก เมื่ออาณาจักรมงโกลรุ่นลูกหลานของเจงกิสข่าน เริ่มเสื่อมอำนาจลงตั้งแต่ใกล้ค.ศ.๑๓๓๐ พวกเตอร์กส์มุสลิมก็เริ่มมีอำนาจเข้มแข็งขึ้นมาในช่วงค.ศ.๑๓๐๐อุสมานที่ ๑ ได้ตั้งราชวงศ์ออโตมานเตอร์กส์ขึ้น แล้วแย่งชิงเมืองน้อยใหญ่จากจักรวรรดิไบแซนไทน์
ลูกหลานของอุสมานที่ ๑ แผ่ขยายดินแดนต่อมาจนถึง ค.ศ. ๑๔๕๓ ก็ทำลายจักรวรรดิไบแซนไทน์ลงได้ ยึดเอาเมืองคอนสแตนติโนเปิลมาเป็นเมืองหลวงแห่งจักรวรรดิออโตมาน ฝรั่งถือกันว่าการล่มสลายของจักรวรรดิไบแซนไทน์หรือจักรวรรดิโรมันตะวันออก ในค.ศ.๑๔๕๓ เป็นจุดกำหนดการสิ้นสุดแห่งสมัยกลางของยุโรป

ต่อจากนั้นจักรวรรดิออโตมานได้แผ่ขยายอำนาจขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ เข้าไปในยุโรปยึดครองยูโกสลาเวียและฮังการีได้ สามารถปิดล้อมกรุงเวียนนาถึง ๒ ครั้ง คือ ในค.ศ.๑๕๒๙ และค.ศ.๑๖๘๓

หลังจากนั้น จักรวรรดิออโตมานได้เสื่อมลงเรื่อยมาโดยเฉพาะในช่วงใกล้สิ้นศตวรรษที่ ๑๙ ได้สมญาว่าเป็น “บุรุษซมโรคแห่งยุโรป” (Sick Man of Europe) จนกระทั่งสิ้นสลายลงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ กลายเป็นสาธารณรัฐเตอร์กส์ใน ค.ศ.๑๙๒๓

การเรืองอำนาจขึ้นมาของจักรวรรดิมุสลิมเตอร์กส์ เป็นอุปสรรคกีดขวางการแผ่ขยายดินแดนของประเทศตะวันตก เป็นเหตุให้ประเทศตะวันตกเหล่านั้น เริ่มแต่สเปญและโปรตุเกส ต้องหันไปแสวงหาอาณานิคมและเผยแผ่ศาสนาด้วยการเดินทัพทางทะเลรวมทั้งไปค้นพบโลกใหม่-อเมริกา

ดินแดนที่กองทัพมุสลิมยึดครองได้ในประวัติศาสตร์นั้น กว้างขวางยิ่งใหญ่ตั้งแต่สเปญไปจนถึงอินเดียและจดดินแดนจีน
เรียบเรียงจากบทความของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)
ดาวน์โหลดไฟล์ PDF ที่

No comments: