Friday, March 9, 2007

บทความที่ ๙๐. จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยสันติวิธีหรือไม่ (๑)

จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยสันติวิธีหรือไม่
ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์

สวัสดีท่านทั้งหลาย

ผมขอขอบคุณท่านนายกกรรมการ ท่านกรรมการและท่านสมาชิกสมาคมนักเรียนไทยในสหพันธรัฐเยอรมันที่ต้อนรับผมกับภรรยาในการเชิญมาร่วมงานประจำปีของสมาคม ขอขอบใจสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศสที่ได้มาร่วมต้อนรับด้วย และขอขอบใจทุกท่านจากหลายประเทศที่สละเวลาฟังปาฐกถาและสนทนากับผมในวันนี้

ท่านนายกกรรมการได้แจ้งมายังผมว่า กรรมการและสมาชิกมีความสนใจใคร่ที่จะให้ผมแสดงปาฐกถาในหัวข้อว่า “จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยสันติวิธีหรือไม่” เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อครั้งประชุมประจำปีของสมาคมปีกลายนี้ คณะกรรมการขอให้ผมแสดงปาฐกถาในหัวข้อว่า “การนำประชาธิปไตยแบบตะวันตกมาใช้แก่ประเทศกำลังพัฒนา” เมื่อจบปาฐกถาแล้วมีหลายท่านได้สนใจถามผมถึงวิธีการที่จะได้ประชาธิปไตย ผมได้สนองตอบเป็นใจความว่าราษฎรใช้วิธีสันติบ้างและไม่สันติบ้าง ทั้งนี้ผมอาศัยปรากฏการณ์ที่ประจักษ์ในประวัติศาสตร์ ซี่งผมมิได้คิดขึ้นเอง แต่ทว่าเมื่อปีกลายนี้ผมไม่มีเวลาพอที่จะกล่าวถึงตัวอย่างในประวัติศาสตร์ได้ยืดยาว ฉะนั้นจึงขอยกยอดมากล่าวภายใต้หัวข้อปาฐกถาปีนี้

ผมเห็นว่าการจะได้ประชาธิปไตยโดยวิธีสันติหรือไม่นั้น ในเบื้องแรกสมควรพิจารณาตัวอย่างอันเป็นข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่การได้มาซึ่งระบบประชาธิปไตยของมนุษยชาติเมื่อครั้งปฐมกาล ซึ่งต่อมาได้ถูกชงักลงด้วยระบบทาสและระบบศักดินา แล้วต่อมาจึงมีระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกขึ้น...

บัดนี้ ผมขอเริ่มวิธีได้ประชาธิปไตยของมนุษยชาติในสมัยปฐมกาล คือสมาชิกในสังคมต่างร่วมมือกันฉันท์พี่น้องในการแสวงหาอาหารและผลิตสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพ ไม่มีผู้ใดหวงกันที่ดินและเครื่องมือการผลิตไว้เป็นของตนโดยเฉพาะ คือไม่มีนายทุน ไม่มีกรรมกรหรือผู้ไร้สมบัติ ไม่มีความแตกต่างระหว่างคนมั่งมีกับคนจน ยุคดั้งเดิมเริ่มแรกนั้นมนุษย์สังคมปกครองโดยแม่ซึ่งเป็นหญิง สังคมชนิดนี้คือ “มาตุสังคม” (Matriachal Society) ต่อมามีความจำเป็นต้องอาศัยผู้มีกำลังกายแข็งแรง จึงได้เปลี่ยนหัวหน้าสังคมจากหญิงมาเป็นชาย สังคมชนิดนี้คือ “ปิตุสังคม” (Patrichal Society)...

หัวหน้าสังคมในยุคปฐมกาลนั้นจะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม หัวหน้าสังคมได้ก็ปกครองสมาชิกในสังคมอย่างแม่พ่อปกครองลูก ระบบสังคมในยุคนั้นจึงมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยปฐมกาล ซึ่งเหมาะสมแก่สภาพเครื่องมือในการแสวงหาและผลิตวัตถุมาเป็นของกินของใช้ในการดำรงชีพ คือ เครื่องมือหินและโลหะอย่างหยาบ...

ต่อมามนุษย์ได้พัฒนาเครื่องมือหินและโลหะให้ประณีตขึ้น สามารถใช้เครื่องมือนั้นทำการเพาะปลูก สามารถจับสัตว์เช่นวัว ควาย ม้า มาใช้เป็นพาหนะและเป็นแรงในการเพาะปลูกและลากจูง มนุษย์จึงทำการผลิตปัจจัยในการดำรงชีพได้มากขึ้น หัวหน้าสังคมซึ่งเป็นผู้มีอำนาจก็ใช้อำนาจหวงกันที่ดินในบริเวณที่สังคมของตนตั้งอยู่นั้นเป็นของๆตนโดยเฉพาะ ส่วนสมาชิกในสังคมก็ถูกถือว่าเป็นทรัพย์สินของหัวหน้าสังคมซึ่งมีอำนาจใช้คนในสังคมให้ทำงานอย่างสัตว์พาหนะ ในสมัยโน้นสังคมน้อยๆ ที่กระจายอยู่นั้นมีการต่อสู้ทางอาวุธเพื่อล่ามนุษย์ต่างสังคมเอามาใช้งานอย่างสัตว์พาหนะ ดังนั้นสังคมประชาธิปไตยแบบปฐมกาลจึงเปลี่ยนเป็นสังคมทาส เราจะเห็นได้ว่ามนุษยชาติในยุคนั้นได้เป็นระบบทาส โดยวิธีที่ผู้มีเครื่องมือการผลิตใช้กำลังอาวุธบังคับจึงไม่ใช่วิธีสันติ แต่หัวหน้าสังคมซึ่งมีอำนาจใช้กำลังอาวุธนั้นเสียเอง การกระทำของเขาแม้ผิดกฎอันเป็นจริยธรรมของมนุษยชาติแต่ไม่ผิดกฏหมาย

มนุษย์ได้ปรับปรุงเครื่องมือการผลิตให้มีสมรรถภาพยิ่งๆขึ้น ครั้นแล้วก็มีเครื่องมือหัตถกรรมสามารถผลิตสิ่งของได้หลายอย่างหลายชนิด อีกทั้งได้ขยายการเพาะปลูกในที่ดินกว้างขวางยิ่งขึ้น การที่จะใช้ทาสอยู่แต่ในครัวเรือนก็ไม่อาจที่จะทำการผลิตในที่ดินกว้างใหญ่ของหัวหน้าสังคมได้ผล ฉะนั้น หัวหน้าสังคมซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของที่ดินในสังคมจึงต้องผ่อนผันโดยวิธีสันติเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของตน ให้ทาสมีเสรีภาพยิ่งขึ้นโดยให้ทาสบางส่วนอยู่ประจำเป็นเอกเทศในที่นาซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของนายทาส ทาสส่วนนี้มีลักษณะเปลี่ยนจากเดิมคือ เป็นข้าไพร่ที่ทำการเพาะปลูกในที่ดินโดยตนเองต้องส่งผลผลิตส่วนใหญ่เป็นบรรณาการให้แก่หัวหน้าสังคม หรือคำโบราณของไทยว่า “ส่งส่วย” ซึ่งต่อ ๆ มาได้เปลี่ยนเป็นการส่งเงินแทนผลิตผลให้แก่หัวหน้าสังคม ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของที่ดินทั่วทั้งหลายในเขตแคว้นนั้นๆ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคมจึงเปลี่ยนมาเป็นระบบที่เรียกเป็นภาษาเยอรมัน “Feudal system” ภาษาฝรั่งเศสว่า “Systeme feudal” อังกฤษ “Feudal system” ซึ่งมีผู้แปลเป็นภาษาไทยว่า “ระบบศักดินา” คือฝ่ายหนึ่งเป็นเจ้าศักดินาซึ่งมีอันดับลดหลั่นกันตามขนาดและความสำคัญของเขตแคว้น เช่นในดินแดนเยอรมันมี Freiherr, Graf, Prinz, Furst, Herzog ซึ่งบางเขตแคว้นเป็นรัฐเอกราช ส่วนบางเขตแคว้นขึ้นต่อ Konig และ Kaiser ที่เป็นยอดสูงสุดของเจ้าศักดินา ในดินแดนฝรั่งเศส Baron, Vicomte, Marzuis, Duc, Prince, Roi, Empereur ในดินแดนอังกฤษ Baron, Viscount, Earl, Marquess, Duc, Prince, King (ครั้งหนึ่ง Queen และ King อังกฤษ เป็น Empress และ Emperor ของ India ด้วย) ในดินแดนอินเดียได้แก่ ราชา,มหาราชา ฯลฯ

ส่วนราษฎรในสังคมศักดินานั้นมีฐานะเป็น “Serf” หรือ “ข้าศักดินา” ตรงกับภาษาไทยว่า “ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน”

เครื่องมือหัตถกรรมก็ได้พัฒนาต่อ ๆ มา ครั้นแล้วในปลายศตวรรษที่ ๑๘ ได้มีผู้คิดทำเครื่องมือจักรกลที่ใช้กำลังไอน้ำแทนแรงงานสัตว์พาหนะและแทนเครื่องมือหัตถกรรม ซึ่งนับว่าเป็นการเริ่มต้นแห่ง “Industrial revolution” หรือ “การอภิวัฒน์อุตสาหกรรม” ความจำเป็นจึงเกิดขึ้นว่าคนที่จะใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่นั้นได้ จำต้องเป็นคนที่มีความรู้ในทางวิศวกรรมพอสมควร ถ้าหากใช้ข้าไพร่ศักดินาที่รู้แต่การใช้เครื่องมือหัตถกรรมอย่างเก่าแล้ว เครื่องจักรกลสมัยใหม่นั้นก็พังทลายหรือดำเนินไปอย่างไม่ได้ผล และเมื่อต้องใช้คนงานที่มีความรู้ทางวิศวกรรมแล้วก็จะใช้กันอย่างกดขี่เหมือนใช้ข้าไพร่ศักดินาไม่ได้ คือจำต้องให้คนงานสมัยใหม่มีเสรีภาพหลุดพ้นจากการเป็นข้าไพร่ศักดินา จึงจะมีกำลังใจใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่นั้นให้มีประสิทธิภาพก่อให้เกิดทวีผลในการผลิต ดังนั้นนายทุนสมัยใหม่หรือเจ้าสมบัติผู้เป็นเจ้าของเครื่องมือจักรกลสมัยใหม่รวมทั้งผู้ก้าวหน้าสมัยนั้น จึงได้ร่วมกันเรียกร้องที่จะให้เจ้าศักดินาในยุโรปตะวันตกเปลี่ยนระบบศักดินาเดิม มาเป็นระบบที่ให้คนงานและพลเมืองมีเสรีภาพ มีความเสมอภาค มีความเป็นภราดรภาพยิ่งขึ้น เพราะถ้าขืนใช้วิธีข้าไพร่แก้วิธีการผลิตโดยเครื่องจักรกลสมัยใหม่แล้ว การผลิตเพื่อความต้องการชีวปัจจัยของพลเมืองก็จะไม่ได้ผลและจะนำไปสู่ความอัตคัดขาดแคลน ระบบที่จะต้องเปลี่ยนใหม่นั้นคือระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตก

ปัญหามีว่าคนตะวันตกได้ประชาธิปไตยโดยวีธีสันติหรือไม่ ในระยะแรกๆคนตะวันตกเรียกร้องทางสันติ ส่วนเจ้าศักดินาได้มีปฏิกิริยาต่อคำเรียกร้องนั้นต่าง ๆ กัน

ในประเทศแห่งคนเชื้อสาย แองโกล-แซกซอน คือในดินแดนอังกฤษและในอเมริกาเหนือนั้น พวกศักดินาในอังกฤษที่เคยถูกราษฎรภายในประเทศของตนเองต่อสู้เพื่อเสรีภาพมาแล้วหลายครั้ง จึงได้สติว่า ถ้าขืนดื้อรั้นไม่ผ่อนผันให้ราษฎรภายในประเทศของตนได้ระบบประชาธิปไตยโดยสันติแล้ว ความขัดแย้งก็จะเกิดมีขึ้นอย่างรุนแรงกับพลังใหม่สมัยนั้นอย่างที่กำลังก้าวหน้า ดั่งนั้นเพื่อประโยชน์แห่งสมบัติและฐานะของตนเองที่จะคงอยู่ต่อไป จึงได้ผ่อนผันให้ราษฎรในประเทศอังกฤษมีระบบประชาธิปไตย และอาศัยระบบนั้นพัฒนาสมบัติศักดินาให้เป็นทุนสมัยใหม่ร่วมกับนายทุนสมัยใหม่

ส่วนคนอังกฤษและคนผิวขาวจำนวนหนึ่งที่อยู่ในดินแดนอเมริกาเหนือส่วนใหญ่นั้น พวกศักดินาอังกฤษไม่ยอมให้ระบบประชาธิปไตย คือยังดื้อรั้นปกครองอย่างอาณานิคม แม้คนผิวขาวในอาณานิคมนั้นจะพยายามเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสันติแต่พวกศักดินาอังกฤษก็ไม่ยอม คนผิวขาวภายใต้การนำของ ยอร์ช วอชิงตัน จึงจำต้องใช้วิธีต่อสู้ทางอาวุธเป็นสงครามภายในจนได้ชัยชนะ แล้วเป็นสหรัฐเอกราชสถาปนาประชาธิปไตยแบบตะวันตกขึ้น สหรัฐอเมริกาก็ได้ดำเนินตามหลักการประชาธิปไตยตามแนวทางซื่อสัตย์ต่ออุดมคติของยอร์ช วอชิงตัน มาเป็นเวลากว่า ๑๐๐ ปี ครั้นแล้วภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็ได้เปลี่ยนออกห่างจากอุดมคติเดิมยิ่งขึ้นแล้วก็มีผู้ยกย่องว่าเป็นหัวหน้าค่ายเสรีประชาธิปไตย แต่เราก็เห็นได้ว่าหัวหน้าค่ายเสรีประชาธิปไตยทุกวันนี้ กลายเป็นผู้สนับสนุนหลายประเทศที่ยังคงมีระบบศักดินาและระบบเผด็จการให้ดำรงคงอยู่ โดยทุ่มเทวัสดุเงินทองจำนวนหลายแสนล้านดอลลาร์และชีวิตคนอเมริกันหลายล้านคน

ประเทศฝรั่งเศสในปลายศตวรรษที่ ๑๘ สมัยเมื่อมีเครื่องจักรกลไอน้ำใช้แพร่หลายเป็นเครื่องมือการผลิตสมัยใหม่แล้ว แม้นายทุนหรือเจ้าสมบัติผู้เป็นเจ้าของวิสาหกิจสมัยใหม่รวมทั้งผู้ก้าวหน้าสมัยนั้น เรียกร้องโดยสันติให้เจ้าศักดินาเปลี่ยนระบบศักดินามาเป็นระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่พวกเจ้าศักดินาก็ดื้อรั้นรักษาระบบเดิมของตนไว้ ซึ่งเป็นการขัดแย้งกับความสัมพันธ์ใหม่ในวิธีผลิตด้วยเครื่องจักรสมัยใหม่ วิกฤตการในทางเศรษฐกิจจึงเกิดขึ้น ผู้คนอดอยากกันมาก ถึงกับพากันเดินขบวนไปยังพระราชวังแวร์ซาย ครั้นแล้วก็ได้ทำลายคุกบาสติลย์ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ อันเป็นสัญลักษณ์เริ่มต้นการอภิวัฒน์ใหญ่ฝรั่งเศสในปีนั้นแล้วสถาปนาระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกขึ้น แม้ในระยะ ๔๐ ปีต่อมาในฝรั่งเศสได้มีการต่อสู้ระหว่างพวกนิยมระบบเก่ากับระบบใหม่หลายครั้ง แต่ระบบประชาธิปไตยตะวันตกก็มีพื้นฐานอยู่ การพัฒนาในทางอุตสาหกรรมและการผลิตของฝรั่งเศสเมื่อก่อนการอภิวัฒน์ในดินแดนเยอรมัน ค.ศ. ๑๘๔๘ นั้นได้ก้าวหน้ามากกว่าในดินแดนเยอรมัน

ส่วนรัฐต่าง ๆ ในดินแดนเยอรมันก่อน ค.ศ. ๑๘๔๘ นั้น แม้ว่าจะได้มีเครื่องจักรกลไอน้ำเพื่อใช้ในการผลิต และดินแดนเยอรมันอันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติและนายทุนเยอรมันสมัยใหม่ครั้งนั้นรวมทั้งผู้ก้าวหน้า ได้เรียกร้องโดยสันติให้เจ้าศักดินาในเขตแคว้นใหญ่น้อยเปลี่ยนระบบศักดินามาเป็นระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่พวกเจ้าศักดินาเยอรมันก็ดื้อรั้นอยู่อีก ความอัตคัดขาดแคลนมีอยู่ทั่วไป คนเยอรมันจำนวนไม่น้อยต้องอพยพไปเป็นกรรมการทำงานในประเทศตะวันตกที่มีระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกแล้ว อาทิในอังกฤษ, ฝรั่งเศส,เบลเยี่ยม แล้วก่อหวอดเป็นสันบิบาตกรรมกรเยอรมันขึ้น สมัยนั้นผู้ใดคัดค้านระบบปกครองก็ถูกพวกศักดินาตั้งชื่อให้ว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” เช่น เฟรดเดอริค เองเกลส์ ลูกเศรษฐีเจ้าของอุตสาหกรรมทอผ้าขนาดใหญ่ ชาวเมืองบาร์เมน ได้เขียนจดหมายใน ค.ศ. ๑๘๔๔ – ๑๘๔๕ ถึงมาร์กซ์ขณะทั้งสองยังไม่เป็นคอมมิวนิสต์ สารวัตรตำรวจ, นักดนตรี, นักวาดภาพการ์ตูน, ขุนนาง,ผู้ให้กู้เงิน,เจ้าของร้านค้า ฯลฯ ก็เรียกตัวเองว่าคอมมิวนิสต์ตามที่เจ้าศักดินากับลูกสมุนตั้งชื่อนั้นให้แก่ผู้ที่คัดค้านหรือไม่พอใจระบบศักดินาเผด็จการ ผู้ตั้งชื่อนั้นให้ก็ดี ผู้รับเอาชื่อนั้นมาเรียกตัวเองก็ดี ต่างฝ่ายต่างไม่รู้ว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร

เองเกลส์เป็นถึงลูกเศรษฐี ส่วนมาร์กซ์ก็เป็นลูกทนายความมีรายได้มากและเพิ่งจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน (เดิมเรียนที่บอนน์) และแต่งวิทยานิพนธ์เรื่อง “ปรัชญากรีกแห่งสำนักอีปิคูรัส” (Epicurus) อันเป็นสำนักที่สอนว่าความสุขแห่งชีวิตอันเป็นจุดหมายปลายทางนั้นจะต้องดำเนินไปภายใต้ศีลธรรม, ความอดกลั้น,ศักดิ์ศรี,และการพัฒนาทางวัฒนธรรม มาร์กซ์เป็นสานุศิษย์ปีกซ้ายของศาสตราจารย์ “ฮีเกลส์” ซึ่งสมัยนั้นถือกันว่าเป็นปรัชญาแบบฉบับของเยอรมัน มาร์กซ์มิใช่มีเมียเป็นสามัญชน หากได้แต่งงานกับสตรีแห่งตระกูลเจ้าศักดินาชื่อ “เจนนี ฟอน เวสต์ฟาเลน” มาร์กซ์กับเมียต้องต่อสู้เพื่อระบบสังคมที่ดีกว่าระบบศักดินา จึงถูกล่าวหาจากพวกศักดินาว่าเป็นคอมมิวนิสต์แล้วเนรเทศไปอยู่นอกประเทศ ฝ่ายสันนิบาตกรรมกรเยอรมันในเบลเยี่ยม,ในอังกฤษ และในฝรั่งเศสนั้นก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์อยู่แล้ว ทั้งๆที่พวกเขาก็ไม่รู้ว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร แต่เมื่อถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ก็เป็นกัน ดังนั้นพวกเขาจึงขอร้องให้มาร์กซ์กับเองเกลส์ช่วยค้นคว้าทฤษฎีสังคมที่เขาจะถือเป็นหลักนำการปฏิบัติ ครั้นแล้วมาร์กซ์กับเองเกลส์ก็ได้ร่างแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ ค.ศ. ๑๘๔๗ ขึ้น ซึ่งสันนิบาตกรรมกรเยอรมันถือเป็นหลักแล้วนำแพร่หลายเข้ามาในดินแดนเยอรมัน นี่ก็เป็นตัวอย่างแห่งการพูดพล่อย ๆ ของพวกศักดินาเยอรมันที่เที่ยวหาว่าคนที่ไม่พอใจระบบตนเป็นคอมมิวนิสต์ ตนก็รับผลเองคือได้คอมมิวนิสต์ขึ้นมาจริงๆ ครั้นแล้วคอมมิวนิสต์เยอรมันสมัยนั้นก็จับอาวุธทำการต่อสู้ระบบศักดินาที่เมืองโคโลญ ใน ค.ศ. ๑๘๔๘ ขบวนคอมมิวนิสต์เยอรมันพ่ายแพ้ แต่พวกก้าวหน้าที่ต้องการให้เยอรมันเปลี่ยนระบบศักดินามาเป็นระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตก ได้ทำการต่อสู้ทั้งทางสันติและไม่สันติอันเป็นผลให้เจ้าศักดินาในดินแดนเยอรมันยอมผ่อนผันให้มีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยแบบตะวันตก

จากตัวอย่างแห่งการพูดพล่อย ๆ ของพวกศักดินาเยอรมันที่หาว่าคนที่ไม่พอใจระบบนั้นเป็นคอมมิวนิสต์ไปเสียทั้งหมด ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มกำลังคนให้คอมมิวนิสต์โดยคอมมิวนิสต์อยู่เฉย ๆ ก็ได้มา ในรุสเซียสมัยพระเจ้าซาร์ก็เพิ่มให้คอมมิวนิสต์โดยวิธีพล่อย ๆ เช่นนั้น ในประเทศจีนสมัยกว๋อมิ่นตั่งก็พูดพล่อย ๆ หาว่าคนไม่พอใจระบบนั้นเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้ผู้ถูกกล่าวหากลายเป็นผู้เห็นใจคอมมิวนิสต์ไป

จบตอนที่ ๑

บทความข้างล่างนี้เป็นบทความที่ผมเห็นว่าสอดคล้องกับเรื่องที่ท่านท่านปรีดี พนมยงค์ได้ปาฐกถาไว้อันเกี่ยวกับการกล่าวหาผู้อื่นว่าเป็นคอมมิวนิสต์

ในประเทศไทยขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชประชาธิปไตยดำเนินไปด้วยวิธีการสันติมาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้มาตรการ “ปราบปราม” ประชาชนขนานใหญ่ รุนแรง โหดร้ายทารุณ...สิทธิเสรีภาพของประชาชนอันพึงมีตามระบอบประชาธิปไตยต้องดับวูบ แสงสว่างแห่งระบอบประชาธิปไตยต้องมืดมิด เวทีประชาธิปไตยต้องกลับกลายเป็นสมรภูมิต่อสู้ประหัตประหาร

การต่อสู้อย่างสันติวิธีตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตยจึงไม่อาจเป็นไปได้ ดังนั้นเพื่อความดำรงอยู่และในสภาพที่ต้องถูกบังคับจนไม่สามารถเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างสันติวิธีในเมืองได้ จึงต้องร่นถอยออกจากเมืองไปสู่ชนบท จากชนบทไปสู่ป่า และจากป่าไปสู่การจับอาวุธขึ้นสู้เพื่อตอบโต้กับอำนาจเผด็จการที่ผู้ถูกใช้กำลังปราบปรามพึงกระทำเพื่อป้องกันตนเอง ชนิดที่ไม่มีทางเลือกหรือหลีกเลี่ยงได้ “การจับอาวุธขึ้นสู้กับอำนาจเผด็จการซึ่งมิใช่เป็นความปรารถนาของผู้รักสันติรักประชาธิปไตยจึงได้เกิดขึ้น” (สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ :”สืบทอดเจตนารมณ์ครูครอง จันดาวงศ์” ใน “ครอง จันดาวงศ์ ชะตากรรมที่เลือกไม่ได้” อนุสรณ์เนื่องในงานฌาปนกิจศพ ๒๕๓๘ หน้า ๑๑๔-๑๑๕) ซึ่งไม่ผิดแผกแตกต่างอะไรกับการที่นิสิตนักศึกษาและมวลชนผู้รักสันติ ๓,๐๐๐ กว่าคนต้องพากันหลบหนีการสังหารอย่างบ้าคลั่งของรัฐบาลเผด็จการขึ้นเขาเข้าป่าร่วมขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในจำนวนนี้มีหลายคนยังมีบทบาทสำคัญทางการเมืองในระยะต่อมาในตำแหน่ง ส.ส. และตำแหน่งรัฐมนตรีทั้งอดีตและปัจจุบัน ทั้งที่เป็นฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล แม้ระดับนายกรัฐมนตรีที่เคยถูกกล่าวหาว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” ถูกล่าจับแต่รอดมาได้ก็ยังมีถึง ๒ คน

สสารนิยมประวัติศาสตร์ของลัทธิมาร์กซเห็นว่า “ประชาชนเป็นผู้สร้างสรรค์ประวัติศาสตร์” ขบวนการใดก็ตามแต่ขอให้ขบวนการนั้นสะท้อนออกซึ่งความปรารถนา ความเรียกร้องต้องการและผลประโยชน์อันใกล้ตัวของประชาชนส่วนใหญ่ที่สุด สามารถระดมมวลชนมาเข้าร่วมด้วยจิตสำนึก แข็งขันและพร้อมเพรียง ขบวนการนั้นก็จะมีพลังอันเกรียงไกรที่จะพิชิตต่อสู้ได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับวิธีการต่อสู้ว่าจะใช้กำลังหรือสันติ”

กองกำลังของประชาชนต่อสู้ด้วยอาวุธในป่านานถึง ๑๘ ปี ก็ยังไม่สามารถได้มาซึ่งชัยชนะขั้นสุดท้าย แต่เมื่อรัฐบาลทหารเผด็จการเผชิญหน้ากับขบวนการต่อต้านของนิสิตนักศึกษาและมวลชนทั่วไปที่มีแต่สองมือเปล่าในกรณี ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ กรณี ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และกรณีพฤษภาคม ๒๕๓๕ กลับยืนไม่ติด

ทั้งนี้บทบาทของขบวนการประชาชนนับล้านซึ่งครั้งหนึ่งเคยต่อสู้กับกลุ่มเผด็จการด้วยอาวุธนานถึง ๑๘ ปีก็ไม่อาจลบล้างให้จางหายไปได้ เลือดแต่ละหยด ศพแต่ละศพของกองกำลังประชาขนไทยที่ทาถมแผ่นดินในสมรภูมิต่อสู้กับระบบเผด็จการ ล้วนเป็นเม็ดทรายที่ปูทางอันกว้างใหญ่สู่ระบอบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ของประเทศไทยเช่นเดียวกันกับที่วีรชนที่หลั่งเลือดเสียสละชีวิตในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และบนท้องถนนราชดำเนิน

มีแต่ผู้ที่ผ่านสงครามมาเองเท่านั้นจึงจะรู้ซึ้งถึงความเหี้ยมโหดของสงคราม และก็จะไม่มีใครอยากจะให้สงครามกลับคืนมาอีก ยกเว้นผู้ที่มีใจไม่ใช่มนุษย์ ประชาชนไทยที่เคยผ่านสงครามกลางเมืองที่พาให้ลูกหลานของเขาต้องหลั่งทั้งเลือดและน้ำตา ไม่มีวันจะยินยอมให้ผู้ใดจุดเพลิงแห่งสงครามกลางเมืองโดยก่อสถานการณ์เช่นปี ๒๕๐๑ ขึ้นมาอีก

No comments: