Tuesday, June 26, 2007

บทความที่ ๑๗๐. บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง ตอนที่ ๔

บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง
แผนลิดลอนปรีดี พนมยงค์
ตอนที่ ๔.ถูกบังคับให้ออกนอกประเทศ

ในที่สุด พระปกเกล้าฯ ก็ทรงคัดค้านและทรงพระราชวิจารณ์เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติว่าเป็นคอมมิวนิสต์และพระยามโนฯ ได้พิมพ์พระราชวิจารณ์แจกจ่ายไปทั่วรวมทั้งหนังสือพิมพ์รายวันลงข้อความพระราชวิจารณ์ติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ภายหลังที่ผลักดันนายปรีดี พนมยงค์ออกไปยังต่างประเทศแล้ว

ความตอนหนึ่งในพระราชวิจารณ์ว่า

“แต่มีข้อความอันหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนไม่ต้องสงสัยว่า โครงการนี้เป็นโครงการอันเดียวกันอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐ์ฯ จะเอาอย่างสตาลิน ก็ตอบไม่ได้ ตอบได้ข้อเดียวว่า โครงการเศรษฐกิจทั้งสองนี้เหมือนกันหมด เหมือนกันจนรายละเอียด เช่นที่ใช้และรูปแบบวิธีการกระทำ จะผิดกันก็แต่รัสเซียนั้น แก้เสียเป็นไทย หรือไทยแก้เสียเป็นรัสเซีย ถ้าสตาลินเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ ข้าวสาลีแก้เป็นข้าวสาร หรือข้าวสารแก้เป็นข้าวสาลี รัสเซียเขากลัวอะไร ไทยก็กลัวอย่างนั้นบ้าง รัสเซียเขาหาวิธีตบตาคนอย่างไรไทยก็เดินวิธีตบตาคนอย่างนั้น”

การที่พระยามโนฯ กับพวกได้โจมตีเค้าโครงเศรษฐกิจของ นายปรีดี พนมยงค์ตลอดจนนำเอาพระราชวิจารณ์เค้าโครงเศรษฐกิจฯ ออกเผยแพร่ เป็นการปลุกผีคอมมิวนิสต์ขึ้นเล่นงาน นายปรีดีฯ ได้ทำให้ความขัดแย้งระหว่างอำนาจเก่าหรืออนุรักษ์นิยม เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ พระยามโนฯต้องการขับนายปรีดี พนมยงค์ ให้พ้นจากวงการเมือง และการที่พระยามโนฯ สามารถเข้าใกล้พระยาทรงสุรเดช ผู้นำฝ่ายทหารที่สำคัญของคณะราษฎรได้ หรือจะกล่าวว่าทำการสลายคณะราษฎรได้ระดับหนึ่ง

แผนการใช้โครงการเศรษฐกิจฯ เป็นเครื่องมือในการโค่นนายปรีดีฯ จึงได้เกิดขึ้น จนสามารถขับนายปรีดีฯ ให้ออกไปต่างประเทศได้สำเร็จในเวลาต่อมา

ส่วน นายปรีดี พนมยงค์ นั้นได้แถลงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า เมื่อตนเองเป็นฝ่ายข้างน้อยในคณะรัฐมนตรี ก็ขอลาออกจากคณะรัฐมนตรีตามวิถีทางประชาธิปไตย โดยจะนำเค้าโครงเศรษฐกิจฯ นั้น เสนอต่อราษฎรในการเลือกตั้ง ส.ส.ซึ่งปรายปรีดี หวังจะสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

ในระยะนั้นสถานการณ์ทางการเมืองทวีความตึงเครียดยิ่งขึ้น เนื่องจากความขัดแย้งในปัญหาโครงการเศรษฐกิจฯ ของนายปรีดี พนมยงค์ จนกระทั่งข่าวการเนรเทศนายปรีดีไปต่างประเทศ นอกจากนั้นยังมีความขัดแย้งที่ตามมาอีกหลายปัญหา ประกอบกับท่าทีของรัฐบาลที่แสดงออก เป็นเหตุให้ความขัดแย้งขยายตัวออกไปมากยิ่งขึ้น ทั้งระหว่างสมาชิกสภากับรัฐบาล ระหว่างสมาชิกด้วยกัน แม้แต่ภายในรัฐบาลก็แตกเป็น ๒ ฝ่าย โดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรีนั้น สมาชิกสภาส่วนมากไม่พอใจ แต่ทั้ง ๆ ที่ความปั่นป่วนมาถึงขึ้นนี้แล้ว ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของพระยามโนฯ

พอวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๔๗๕ สมาชิกสภาที่เดินทางมาสภาเพื่อเข้าประชุมก็ถูกพระยามโนฯ ใช้อำนาจทางการทหารของพระยาทรงสุรเดช ทำการค้นอาวุธทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ พล.ร.ต.พระยาศรยุทธเสนี รองประธานสภาผู้แทนราษฎร

แต่คราวนี้สมาชิกสภาผู้แทนฯ ฝ่ายพลเรือนได้ลุกขึ้นซักไซ้ไล่เลียงรัฐบาลอย่างเกรี้ยวกราดในวันต่อมา

หลังจากนั้นในการประชุมสภา ในวันศุกร์ที่ ๓๑ มีนาคม หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์สมาชิกสภาผู้แทนฯ ได้ยื่นญัตติด่วน เรื่องอำนาจในการตรวจค้นอาวุธสภาผู้แทนฯ ซึ่งพระยามโนฯ รับว่าตนเป็นผู้สั่งไปเอง เพื่อรักษาความปลอดภัยของทุกฝ่าย

จึงถูกสมาชิกสภาผู้แทนฯ อภิปรายปัญหานี้กันอย่างรุนแรง จนต้องยอมถอนทหารออกไปจากสภาผู้แทนราษฎร

No comments: