Wednesday, June 13, 2007

บทความที่ ๑๕๔. ส.ศิวรักษ์เขียนถึงท่านปรีดี พนมยงค์กับกรณีสวรรคต ตอนที่ ๓

ส.ศิวรักษ์เขียนถึงท่านปรีดี พนมยงค์กับกรณีสวรรคต
ตอนที่ ๓
ข้าพเจ้ากลับมาเมืองไทยครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๐๕ คนลืมนายปรีดีและกรณีสวรรคตไปแล้วเป็นส่วนมาก แม้ข้าพเจ้าจะเข้าเฝ้าเจ้านายอยู่หลายวัง แต่ท่านนั้น ๆ ก็มีทัศนะต่าง ๆ กันเกี่ยวกับนายปรีดี บางองค์ก็เชื่อว่านายปรีดี บริสุทธิ์ บางองค์ก็เชื่อว่าท่านมัวหมอง แต่ก็ไม่มีองค์ใดประฌามว่านายปรีดีปลงพระชนม์หรือวางแผนปลงพระชนม์ในหลวงเลย อย่างน้อยก็ไม่เคยมีองค์ใดรับสั่งกับข้าพเจ้าเช่นนั้น ยิ่งทางวังวรดิศด้วยแล้ว บางองค์ถึงกับยกย่องนายปรีดีว่าช่วยเหลือเกื้อกูลในการสร้างหอสมุดดำรงราชานุภาพ และเมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จกลับมาจากปีนัง นายปรีดีก็มาเฝ้าถึงตำหนัก เป็นเหตุให้ทรงฝากฝังบ้านเมืองไว้ โดยตรัสเรียกนายปรีดีว่าเจ้าคุณ และโปรดให้ขึ้นไปเฝ้าในห้อง ซึ่งเคยทรงรับเสนาบดีและอภิมนตรีในสมัยก่อน ทั้งนี้ ท่านผู้เล่ารับสั่งว่าจอมพล ป.ไม่เคยมาเฝ้าเลย แม้เคยพูดด้วยซ้ำไปว่าถ้า “กรมดำรง” กลับเข้ามา จะให้ทหารยิงทิ้งเสียที่ชายแดน แม้เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว ก็จะไม่มางานพระศพ หากหลวงธำรงฯ ไปเตือนว่าจะน่าเกลียด ถ้าไม่ไปเคารพพระศพ จอมพล ป.จึงไปอย่างเสียไม่ได้

คิดหวนกลับไปก็แปลก ที่ทหารคิดกับเจ้านายสมัย พ.ศ.๒๔๘๖ และก่อนนั้นฉันใด ทหารและเจ้าบางองค์ในสมัย ๒๔๒๖ และก่อนนั้น ก็คิดคล้าย ๆ กันฉันนั้น เป็นอันว่า ๔๐ ปีที่ล่วงมานี้ ชนชั้นปกครองที่ไร้คุณธรรมเหล่านี้ ดูจะมีความย่ำเท้าอยู่กับที่ทางสติปัญญาอยู่นั่นเอง

ข้าพเจ้ากลับจากอังกฤษปลายปี พ.ศ.๒๕๐๔ ถึงเมืองไทยต้น พ.ศ.๒๕๐๕ ออกสังคมศาสตร์ปริทัศน์ กลางพ.ศ.๒๕๐๖ โดยที่นิตยสารฉบับนี้ไม่มีจุดยืนทางการเมืองแต่อย่างหนึ่งอย่างใด อย่างดีก็อ้างได้ว่าเพื่อช่วยถางทางด้านวิชาการ โดยต้องการแสวงหาสัจจะและความเป็นไทย แต่ออกมาได้เพียงปีเดียว ก็ดูเป็นที่ยอมรับกันในวงการนักอ่านอย่างเกินคาด เพราะในสมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำลายความเป็นไทยและเสรีภาพแห่งการแสดงออกจนแทบหมดสิ้น นักคิดนักเขียนล้วนถูกจับไปอยู่ในลาดยาว หรือหนีเข้าป่าไป หาไม่ก็ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศกันแทบทั้งนั้น เผอิญข้าพเจ้าไม่ได้ลิ้มรสเผด็จการมาโดยตรงทั้งเป็นคนหน้าใหม่ที่มาทำหนังสือในปลายสมัยสฤษดิ์ ประกอบกับความเป็นนักเรียนอังกฤษ ที่ใช้ฉายาของสมาคมวิชาการ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีของสฤษดิ์นั่นเองที่เป็นนายกของสมาคมดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงอยู่ในฐานะที่ทำหนังสือได้อย่างเต็มที่พอสมควร

พอ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ขึ้นปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ ในพ.ศ. ๒๕๐๗ ข้าพเจ้าก็ได้รับหนังสือ ชื่อ The Devil’s Discus (An Enquiry to the Death of Ananda,King of Siam) by Rayne Kruger ซึ่งสำนักพิมพ์ Cassell แห่งกรุงลอนดอนส่งมาให้ทางไปรษณีย์อากาศ เพื่อขอให้วิจารณ์ เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าสงสัยว่าฝรั่งจะรู้จัก สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ได้อย่างไร ความจริง ฝรั่งที่เคยเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าพเจ้าที่วิทยุบีบีซี ได้วิจารณ์ให้มาแล้วเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งควรที่ข้าพเจ้าจะแปลลงพิมพ์ในนิตยสารอันตนเป็นบรรณาธิการ ดังได้เคยทำมาก่อน แต่เมื่อเกิดความสงสัยขึ้นและอ่าน ๆ ไป ก็เกิดความหมั่นไส้นายปรีดี ประกอบกับความสงสัยคลางแคลงใจที่มีอยู่เดิม จึงเขียนวิจารณ์หนังสือเล่มนี้อย่างไม่มีชิ้นดีดังได้สรุปบทวิจารณ์นั้นว่า

“ในบรรดาคนหนุ่มในเมืองไทยปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะผู้ที่สำเร็จจากมหาวิทยาลัย ต่างก็พากันรู้สึกอัดอั้นตันใจ ที่ขาดโอกาสทางประชาธิปไตย สำหรับุคคลเหล่านี้ ชื่อนายปรีดียังเป็นประดุจเสียงกังวานอันเรียกร้องเสรีภาพและความยุติธรรมทางสังคม แม้ว่าเขาผู้นั้นจะถูกหาว่าเป็นคอมมูนิสต์ก็ตาม ข้าพเจ้าถือตัวว่าเป็นบุคคลในกลุ่มนี้และก็ยอมรับว่าต้องการ เสรีภาพและความยุติธรรมทางสังคม แต่หาต้องการนายปรีดีไม่ ในกรณีนี้ข้าพเจ้าได้กล่าวว่า ข้าพเจ้าพูดแทนคนรุ่นข้าพเจ้าเกือบทั้งหมด แม้เพียงนี้ ผู้เขียนก็จับจิตใจไทยเราผิดไปเสียแล้ว นับประสาอะไรจะไปพยายามพิสูจน์กรร๊สวรรคตอันลึกลับซับว้อน เว้นไว้แต่จะใครสนับสนุนออกทุนรอนให้แต่งเรื่องอิงพงศาวดารไปในรูปนั้น”

บทวิจารณ์ชิ้นนี้ของข้าพเจ้า ทำให้สังคมศาสตร์ปริทัศน์โด่งดังขึ้นไปกว่าเดิม ดจุเป็นพลุแตก ใคร ๆ ต้องอ่านนิตยสารฉบับนี้กันทั้งนั้น พวกธรรมศาสตร์และบริษัทบริวารของนายปรีดี บริภาษข้าพเจ้ากันอย่างหนัก หาว่าข้าพเจ้าเป็นผลิตผลของจุฬาฯ เป็นพวกเจ้า เป็นพวกศักดินา ปฏิกิริยา ฯลฯ ซึ่งไม่รู้ข้อเท็จจริงเพียงพอ แล้วหาญเขียนไปอย่างอคติ แม้ลูกศิษย์ลูกหาข้าพเจ้าหลายคนก็หาว่า ข้าพเจ้ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังในการเขียนวิจารณ์งานชิ้นนี้ ข้อกล่าวหาชิ้นหลังนี้ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธโดยสิ้นเชิง แต่ข้อกล่าวหาตอนแรก ๆ นั้น มองกลับไปในช่วง ๒ ทศวรรษ ข้าพเจ้าต้องขอยอมสารภาพว่า จริงดังเขาว่าแทบทุกกระทงความ ผิดแต่เพียงว่าข้าพเจ้าไม่ใช่ผลิตผลของจุฬาฯ โดยที่ถึงเวลานั้นแล้ว ก็ยังหาได้สอนที่มหาวิทยาลัยแห่งนั้นไม่ หากเคยสอนที่ธรรมศาสตร์มาแล้วต่างหาก

ในทางตรงกันข้าม เจ้านายหลายองค์พอพระทัยบทวิจารณ์ชิ้นนี้กันนัก ประธานองคมนตรีถึงกับรับสั่งว่าพระเจ้าอยู่หัวควรทรงรู้จักข้าพเจ้า โปรดให้ไปหา ม.ล.เดช สนิทวงศ์ เพื่อนำเฝ้า แต่ข้าพเจ้าก็หาได้กระเสือกกระสนอยากเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทไม่ แม้ต่อมาจะได้รับพระมหากุณาก็หาใช่เพราะคำวิจารณ์ชิ้นนี้เป็นเหตุ ยังท่านชายปิยรังสิตและท่านหญิงวิภาวดีก็เชิญให้ไปเฝ้าที่วังวิทยุ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ขอให้ไปพบ ฯลฯ

พร้อม ๆ กันนี้ บทวิจารณ์ชิ้นนี้ก็นำความโทมนัสมาให้นายดิเรก ชัยนาม เป็นอย่างมาก โดยที่ข้าพเจ้าเคารพนับถือท่าน เมื่อได้อ่านจดหมายที่ท่านเขียนมาต่อว่าอย่างสุภาพ ทำให้ข้าพเจ้าเสียใจมาก ท่านว่า

“ในฐานะฉันเป็นผู้ใหญ่และรู้จักรักใคร่เธอมาช้านาน เพราะบิดาของเธอกับฉันรักกันมาก จึงขอถือโอกาสนี้แนะนำเล็กน้อย... การวิจารณ์ใคร ๆในฐานะฉันเป็น Rotarian และพุทธศาสนิกชน เธอต้องนึกเสมอว่า Is it the truth ? Is it fair to all concerned? เธอก็เป็นนักกฏหมาย การวิจารณ์ใคร ๆ ต้องมีหลักฐานที่มั่นคง มิฉะนั้นก็จะต้อง give benefit of the doubt ให้จำเลย และการวิจารณ์ก็ไม่ควรว่าทั้งหมู่ทั้งคณะ ใครผิดก็ว่ากันเป็นคน ๆ ไป จึงจะยุติธรรม พูดทำไมมี สมาขิกคณะราษฎร ดีก็มี เลวก็มี หรือนครอบครัวใด ก็ย่อมมีทั้งนดีและไม่ดี พี่น้องคลานตามกันมา ยังมีที่ดีก็มี ที่ตรงข้ามก็มี”

ข้าพเจ้ามาทราบเมื่อภายหลัง จากนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ว่า นายปรีดีเองก็แค้นเคืองข้าพเจ้ามากที่วิจารณ์งานชิ้นนั้นอย่างมีอคติ ชนิดที่ปราศจากวิจารณญาณ โดยที่ข้าพเจ้าได้ดื้อรั้น ยึดมติตามคำ วิจารณ์อีกนาน ต่อภายหลังคลายทิฐิลงแล้ว จึงเห็นพ้องต้องตามคำของนายดิเรกทุกประการว่า (๑)ข้าพเจ้าไม่ได้มุ่งสัจจะ หากเพ่งไปที่อารมณ์ของตนเองเป็นใหญ่ (๒) ข้าพเจ้าไม่ได้ให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย หากเขียนอย่างเข้าข้างฝ่ายตน โดยกตนข่มท่านด้วยซ้ำไป และ (๓)ข้าพเจ้าไม่ได้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยเอาเลย มิหนำซ้ำยังจ้วงจาบหยาบช้าถึงนายปรีดี พนมยงค์เอาอีก เมื่อเขียนถึงนายดิเรกฯ ที่ข้าพเจ้ารู้จักตอนท่านผู้นั้นถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ.๒๕๑๐ ว่า แม้ข้าพเจ้าเคารพนับถือท่านเพียงใดก็ตาม แต่ข้าพเจ้าหานับถือหัวหน้าทางฝ่ายพลเรือนในคณะราษฎรนั้นไม่

ในเรื่องนี้ เวลาคุยกันข้าพเจ้าไม่กล้าที่จะซักไซร์ถึงท่านผู้นั้นเอาเลยทีเดียว และเหตุการณ์บางอย่างที่เกี่ยวกั้บท่านผู้นั้น ข้าพเจ้าก็ไม่กล้าเอ่ยถึง ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะท่านรู้อยู่เต็มอกว่าข้าพเจ้าฝักใฝ่อยู่ทางเจ้านายที่มีทัศนคติไปในทางลบเกี่ยวกับท่านปรีดี โดยที่นายดิเรกเองก็เคารพนับถือเจ้านายนั้น ๆอยู่ด้วยมิใช่น้อย

ข้าพเจ้าควรจะโทษตัวเองที่ไม่กล้าถามความรู้ต่าง ๆ เกี่วกับนายปรีดีจากนายดิเรก จนเมื่อท่านเจ็บหนัก จะตายจากไปอยู่แล้ว ท่านถึงกับบอกว่า ถ้าอยากรู้เรื่องลี้ลับอะไรในทางการเมืองที่คนเขาไม่กล้าพูดกัน ถ้าท่านหายขอให้ถามท่านได้ ท่านจะบอกให้โดยไม่ปิดบัง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สำหรับข้าพเจ้าต่อไปในกาลข้างหน้า ความข้อนี้ท่านพูดต่อหน้านายทวี บุญเกตุในโรงพยาบาลศิริราชด้วยซ้ำไป โดยที่ท่านผู้นั้นก็ให้คำรับรองว่าอยากรู้อะไรก็ให้ไปถามท่านได้เช่นกัน แม้ข้าพเจ้าจะไม่คุ้นกับนายทวี แต่เท่าที่เคยได้สดับตรับฟังจากท่าน ดูท่านพูดความจริงให้ฟังทุกครั้ง จึงรู้สึกเสียดายมากที่ไม่ได้ซักไซร์ไล่เลียงเกี่ยวกับนายปรีดี จากมือซ้ายมือขวาของท่านรัฐบุรุษอาวุโสเอาไว้เลย

No comments: