ศิวรักษ์สำนึก (จบ)
ตอนที่ ๖
ทางด้านสายสัมพันธ์ระหว่างนายปรีดี พนมยงค์กับข้าพเจ้านั้น ครั้นถึงต้น พ.ศ.๒๕๒๕ ข้าพเจ้าได้ให้ตีพิมพ์หนังสือออกมาใหม่เล่มหนึ่ง ชื่อ อยู่อย่างไทยในสมัยศตวรรษที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีหน้าที่ประกอบไปด้วยข้อความดังต่อไปนี้ คือ
ข้าพเจ้าขออุทิศความดีหากจะเกิดมีจากหนังสือเล่มนี้ เพื่อบูชาคุณนายปรีดี พนมยงค์
ผู้มีบุญคุณอันยิ่งใหญ่ ในด้านการต่อสู้เพื่อธำรงรักษาไว้ได้ ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของชาติไทย แต่กลับได้รับการเนรคุณด้วยการใส่ร้ายป้ายสีจากชนชั้นปกครองอย่างโสมมยิ่ง แม้ข้าพเจ้าจะไม่เคยพบท่านผู้นี้เลยก็ตาม ทั้งยังเคยจ้วงจาบหยาบช้าต่อท่านด้วยซ้ำแต่ก็เห็นว่า ถ้าศตวรรษที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จะเป็นการเริ่มศักราชใหม่แห่งการอยู่อย่างไทย ให้สมศักดิ์ศรีกับความเป็นคนแล้วไซร์ เราน่าจะเริ่มด้วยสัจจะ ด้วยการสมานไมตรี และด้วยอโหสิกรรม เพื่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมของคนในสังคม
ข้าพเจ้าใคร่ขอเสนอให้ชนชั้นปกครอง ซึ่งรวมทั้งคณะองคมนตรีและคณะรัฐมนตรี ตลอดจนสมาชิกรัฐสภา ได้โปรดมีความกล้าหาญทางจริยธรรม นำเรื่องกราบบังคมทูลพระกรุณา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงเชิญท่านรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งเรามีอยู่แต่เพียงผู้เดียวนี้ ให้กลับมาร่วมงานสมโภชพระนคร เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ประเทศชาติ และให้ท่านได้มาใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายอยู่ภายในพระราชอาณาจักร ดังเช่นประธานาธิบดีเนวินได้กระทำมาอย่างน่าสรรเสริญกับอูนุ ก่อนที่ท่านจะสละตำแหน่งประมุของสหภาพพม่าไป ถ้าเราจะเป็นพุทธมามกะกันนอกเหนือรูปแบบออกไปแล้วไซร์ เราน่าจะกล้ากระทำการเช่นนี้ได้ ไม่น้อยไปจากเพื่อนพม่าของเรา
เมื่อฝากเพื่อนนำไปมอบให้ท่าน ท่านได้กรุณาตอบมาดังนี้
วันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๕เรียน คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่รักและนับถือ
ผมได้รับหนังสือ “อยู่อย่างไทย” ซึ่งคุณได้ให้พรทิพย์จัดส่งต่อมายังผมนั้นแล้ว
ผมขอแสดงความขอบคุณเป็นอันมากมายังคุณที่ได้มีเจตนาดีอุทิศความดีของหนังสือเล่มนั้นให้แก่ผม พร้อมทั้งได้ให้ความเป็นธรรมแก่ผมผู้ซึ่งถูกใส่ร้ายป้ายสีจากชนชั้นปกครองอย่างโสมมอย่างยิ่ง และความปรารถนาดีของคุณที่ใคร่จะให้ผมได้กลับไปอยู่อย่างไทยด้วยปกติสุข
ขอเดชะคุณพระศรีรัตนตรัยและอานิสงส์ที่คุณได้บำเพ็ญเพื่อชาติและราษฎรไทย รวมทั้งอานิสงส์ที่คุณได้บำเพ็ญเพื่อความบริสุทธิ์และความเป็นอยู่ปกติสุขของผมด้วยนั้น โปรดดลบันดาลให้คุณประสบสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล มีความสุขความเจริญทุกประการ พร้อมทั้งปราศจากภยันตรายทั้งปวง และประสบความสำเร็จในการงานเพื่อรับใช้ชาติและราษฎรไทยให้พัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้น
ด้วยรักและนับถือปรีดี พนมยงค์
และแล้วในปีนั้นเอง ข้าพเจ้ามีโอกาสพาภรรยาไปเคารพท่านถึงที่บ้านชานกรุงปารีส โดยที่ได้ทราบมาว่าท่านตื่นเต้นมากที่จะได้พบข้าพเจ้า “ศัตรูเก่า” ของท่าน ท่านถึงกับโทรศัพท์ทางไกลมาบอกว่าจะส่งรถไปรับที่สนามบิน โดยจะให้พักที่บ้านหรือที่ใกล้ ๆ บ้านท่าน แต่เราเกรงใจท่านกันทั้งเรายังมีเพื่อนไทยที่มีแก่ใจให้พักในใจกลางกรุงอีกด้วย
เลยเข้าใจผิดกันจนเกิดโอละพ่อเล็กน้อยที่สนามบิน แต่พอถึงใจกลางกรุงปารีส ท่านก็เชิญไปพบท่านเดี๋ยวนั้น (วันเสาร์ที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๕) คุยกันอยู่ราวครึ่งวัน ทั้ง ๆที่ข้าพเจ้าอดนอนมาในเรือบินโดยตลอด แต่ก็คุยกับท่านด้วยความสุขและเพลิดเพลินเจริญใจ โดยได้รับความเมตตาปรานีจากท่านผู้หญิงยิ่งนัก
ส่วนมากเราคุยกันเรื่องเก่า ๆ เรื่องเจ้าเรื่องนาย และเรื่องลี้ลับทางประวัติศาสตร์ที่ข้าพเจ้าหาอ่านไม่ได้ ได้ทราบว่าท่านปรารภกับท่านผู้หญิงก่อนข้าพเจ้าไปว่า “คุณสุลักษณ์เขารู้เรื่องเจ้านายมาก ฉันเองชักจะไม่แม่น เธอต้องมานั่งคุยด้วย จะได้ช่วยกัน” ที่จริงท่านยังแม่นยำและปราดเปรียวทางสติปัญญาเกินคนวัยแปดสิบทั่วไปยิ่งนัก ท่านสุภาพราบเรียบ และยกประโยชน์ให้กับอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ โดยที่การพูดมักมีเอกสารประกอบด้วยเนือง ๆ ทำให้นึกถึงที่ ม.จ.พิไลยเลขา ดิศกุลทรงเล่าว่า เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ไปเฝ้าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่วังวรดิศ ตอนเสด็จกลับจากปีนังนั้น ท่านก็ “ทึ่ง” สมเด็จว่าพระชมม์ ๘๐ แล้วยังปราดเปรียว แม่นยำสมเป็นรัฐบุรุษนั่นเอง
ข้าพเจ้าพูดกับท่านว่า “อาจารย์เคยคิดบ้างหรือเปล่าว่าอาจารย์เหมือนพระเจ้าตากสินที่กอบกู้เอกราชมาเมื่อพระชนม์ยังน้อย แล้วเสวยราษฎร์อยู่ ๑๕ ปีก็ถูกปลงพระชนม์ อาจารย์ก็กู้เอกราชมาและอยู่ในอำนาจ ๑๕ ปีเท่ากัน โดยที่ตอนอาจารย์ถูกเอาออกนั้น อายุเท่ากับพระเจ้าตากสินพอดี นับว่ายังดีที่อาจารย์มีชีวิตรอดมาได้จนป่านนี้”
ท่านบอกว่า “เรื่องนี้ผมไม่เคยคิดเทียบกับพระองค์ท่าน และที่คุณใช้คำว่าผมอยู่ในอำนาจนั้น ก็ออกจะใหญ่โตเกินไป ใช้คำว่าผมมีโอกาสรับใช้ชาติบ้านเมืองจะดีกว่า”
วันรุ่งขึ้น ท่านส่งรถมารับไปคุยกับท่านอีกเช่นกัน โดยที่วันนี้เราพูดธุระกันเรื่องโครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย” อันเป็นการประยุกต์หลักวิชามาใช้เพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองในปัจจุบันและอนาคต...
สำหรับโครงการปรีดีฯ นี้ เรามีมติที่จะรวบรวมผลงานของท่านทั้งหมด รวมตีพิมพ์เป็นชุด โดยที่ปี ๒๕๒๕ ประชาธิปไตยจะมีอายุครบ ๕๐ ปี ข้าพเจ้าแนะให้กรรมการผู้จัดพิมพ์งานเขียนของท่านขออนุญาตตีพิมพ์ “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎร และระบอบประชาธิปไตย” ในโอกาสดังกล่าวท่านปฏิเสธ โดยตอบว่าเรื่องดังกล่าวท่านเขียนด้วยอคติและความเข้าใจผิด ทั้งยังไปกระทบ “เพื่อนที่สำคัญของเราเข้าคน ๑ ด้วย” ถ้าจะตีพิมพ์ก็ต้องแก้ไขยกโครงร่างใหม่หมดเลย ซึ่งขณะนั้น ท่านยังไม่อาจทำให้ได้ นับว่าน่าเสียดายนัก
จากการพบกับนายปรีดี พนมยงค์ แม้เพียงสองครั้ง ทำให้ข้าพเจ้าด่วนสรุปได้ว่า (๑)ท่านบริสุทธิ์ ยุติธรรมและมองโลกในแง่ดี เกินไปกว่าที่จะเป็นนักการเมือง (๒)ท่านฉลาดเฉลียวเกินไปกว่าคนร่วมสมัย แม้คนข้างเคียงก็ยากที่จะตามได้ทัน แม้ท่านจะเป็นครูบาอาจารย์แต่ศิษยานุศิษย์โดยทั่ว ๆ ไปก็ได้เพียงเปลือกกระพี้ไปจากท่าน ยิ่งกว่าเนื้อหาสาระที่เป็นแก่น (๓) ท่านเป็นคนเด่น แม้จะไม่ต้องการความเด่นที่เข้าข้างความดี ที่หาทางจับผิดได้ยาก ประกอบกับข้อ (๒)ที่กล่าวมาแล้ว จึงเป็นเหตุแห่งความอิจฉาริษยาของคนโง่ คนชั่วและคนเห็นแก่ตัวหรือคนอาธรรม์ ซึ่งมักมีอำนาจอันแฝงเร้น พูดอย่างมโหฬารก็ว่าดวงท่านแรง จึงเกิดศัตรูได้ง่ายโดยไม่จำเป็น โดยคนที่เกลียดท่าน(ดังที่ข้าพเจ้าเคยเกลียดท่าน) ไม่เคยรู้จักเท่าเอาเลยด้วยซ้ำ
๔) ท่านเข้าใจราษฎรและสังคมไทยลึกซึ้งเกินกว่าที่ข้าพเจ้าเคยคาดคิดไว้ก่อนมากนัก ทั้งท่านยังรู้เรื่องเจ้านายอย่าง เคารพ และเท่าทัน อีกด้วย (๕) ท่านต้องการประชาธิปไตยที่แท้ ท่านต้องการสังคมนิยมที่เป็นวิทยาศาสตร์ และมีเสรีภาพเป็นปทัสฐาน ตราบเท่าที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยอธรรมและความหน้าไหว้หลังหลอก ที่ต้องการเอาเปรียบราษฎรด้วยการมอมเมากันทางไสยศาสตร์ ในนามของความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ต่าง ๆ ชนชั้นนำจะต้องผนึกกำลังกันต่อต้านนายปรีดี ไม่ว่าท่านจะยังมีชีวิตอยู่หรือหาไม่ก็ตาม
(๖) ท่านเป็นคนดื้อรั้น ไม่ยอมลดอุดมการณ์ ไม่ยอมไกล่เกลี่ยหลักการ ไม่ยอมสยบกันอำนาจอันไม่เป็นธรรม คนอย่างนี้ เกือบจะหาไม่ได้แล้วในบ้านเมืองเราในบัดนี้ (๗) ท่านเป็นผู้ปกป้องผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบเพื่อพยุงฐานะของกลุ่มคนนั้น ๆ ไว้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้า ไพร่ หรือขุนนาง โดยที่ฝ่ายหนึ่งต้องไม่ประทุษร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง หากมุ่งไปที่ความชอบธรรม ผลก็คือ ท่านถูกประทุษร้ายเสียเอง
กล่าวโดยสรุปก็คือ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นสัญลักษณ์ของธรรมะเพื่อต่อสู้กับอธรรม ข้าพเจ้าดีใจที่ได้มีโอกาสขอขมาท่าน มีโอกาสได้ไปกราบท่าน และคุยกับท่านอย่างกันเอง
เมื่อต้น พ.ศ.๒๕๒๖ นี้เอง ท่านก็มีแก่ใจส่ง ส.ค.ส.มาให้ พร้อมด้วยลายเซ็น ของท่านผู้หญิงซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการให้กำลังใจอย่างสำคัญ จึงขออัญเชิญมาลงไว้ในหนังสือเล่มใหม่ชื่อ “น้ำเชี่ยวให้ขวางเรือ” ดังนี้
ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๒๖ ขออวยพรให้คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์กับครอบครัว จงประสบสิริสวัสดิ์ พิพัฒนมงคล เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ และประสบความสำเร็จในการรับใช้ชาติและราษฎรไทย เพื่อสันติภาพและประชาธิปไตยทุกประการ
ปรีดี พนมยงค์ พูนศุข
ทางด้านสายสัมพันธ์ระหว่างนายปรีดี พนมยงค์กับข้าพเจ้านั้น ครั้นถึงต้น พ.ศ.๒๕๒๕ ข้าพเจ้าได้ให้ตีพิมพ์หนังสือออกมาใหม่เล่มหนึ่ง ชื่อ อยู่อย่างไทยในสมัยศตวรรษที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีหน้าที่ประกอบไปด้วยข้อความดังต่อไปนี้ คือ
ข้าพเจ้าขออุทิศความดีหากจะเกิดมีจากหนังสือเล่มนี้ เพื่อบูชาคุณนายปรีดี พนมยงค์
ผู้มีบุญคุณอันยิ่งใหญ่ ในด้านการต่อสู้เพื่อธำรงรักษาไว้ได้ ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของชาติไทย แต่กลับได้รับการเนรคุณด้วยการใส่ร้ายป้ายสีจากชนชั้นปกครองอย่างโสมมยิ่ง แม้ข้าพเจ้าจะไม่เคยพบท่านผู้นี้เลยก็ตาม ทั้งยังเคยจ้วงจาบหยาบช้าต่อท่านด้วยซ้ำแต่ก็เห็นว่า ถ้าศตวรรษที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จะเป็นการเริ่มศักราชใหม่แห่งการอยู่อย่างไทย ให้สมศักดิ์ศรีกับความเป็นคนแล้วไซร์ เราน่าจะเริ่มด้วยสัจจะ ด้วยการสมานไมตรี และด้วยอโหสิกรรม เพื่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมของคนในสังคม
ข้าพเจ้าใคร่ขอเสนอให้ชนชั้นปกครอง ซึ่งรวมทั้งคณะองคมนตรีและคณะรัฐมนตรี ตลอดจนสมาชิกรัฐสภา ได้โปรดมีความกล้าหาญทางจริยธรรม นำเรื่องกราบบังคมทูลพระกรุณา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงเชิญท่านรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งเรามีอยู่แต่เพียงผู้เดียวนี้ ให้กลับมาร่วมงานสมโภชพระนคร เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ประเทศชาติ และให้ท่านได้มาใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายอยู่ภายในพระราชอาณาจักร ดังเช่นประธานาธิบดีเนวินได้กระทำมาอย่างน่าสรรเสริญกับอูนุ ก่อนที่ท่านจะสละตำแหน่งประมุของสหภาพพม่าไป ถ้าเราจะเป็นพุทธมามกะกันนอกเหนือรูปแบบออกไปแล้วไซร์ เราน่าจะกล้ากระทำการเช่นนี้ได้ ไม่น้อยไปจากเพื่อนพม่าของเรา
เมื่อฝากเพื่อนนำไปมอบให้ท่าน ท่านได้กรุณาตอบมาดังนี้
วันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๕เรียน คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่รักและนับถือ
ผมได้รับหนังสือ “อยู่อย่างไทย” ซึ่งคุณได้ให้พรทิพย์จัดส่งต่อมายังผมนั้นแล้ว
ผมขอแสดงความขอบคุณเป็นอันมากมายังคุณที่ได้มีเจตนาดีอุทิศความดีของหนังสือเล่มนั้นให้แก่ผม พร้อมทั้งได้ให้ความเป็นธรรมแก่ผมผู้ซึ่งถูกใส่ร้ายป้ายสีจากชนชั้นปกครองอย่างโสมมอย่างยิ่ง และความปรารถนาดีของคุณที่ใคร่จะให้ผมได้กลับไปอยู่อย่างไทยด้วยปกติสุข
ขอเดชะคุณพระศรีรัตนตรัยและอานิสงส์ที่คุณได้บำเพ็ญเพื่อชาติและราษฎรไทย รวมทั้งอานิสงส์ที่คุณได้บำเพ็ญเพื่อความบริสุทธิ์และความเป็นอยู่ปกติสุขของผมด้วยนั้น โปรดดลบันดาลให้คุณประสบสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล มีความสุขความเจริญทุกประการ พร้อมทั้งปราศจากภยันตรายทั้งปวง และประสบความสำเร็จในการงานเพื่อรับใช้ชาติและราษฎรไทยให้พัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้น
ด้วยรักและนับถือปรีดี พนมยงค์
และแล้วในปีนั้นเอง ข้าพเจ้ามีโอกาสพาภรรยาไปเคารพท่านถึงที่บ้านชานกรุงปารีส โดยที่ได้ทราบมาว่าท่านตื่นเต้นมากที่จะได้พบข้าพเจ้า “ศัตรูเก่า” ของท่าน ท่านถึงกับโทรศัพท์ทางไกลมาบอกว่าจะส่งรถไปรับที่สนามบิน โดยจะให้พักที่บ้านหรือที่ใกล้ ๆ บ้านท่าน แต่เราเกรงใจท่านกันทั้งเรายังมีเพื่อนไทยที่มีแก่ใจให้พักในใจกลางกรุงอีกด้วย
เลยเข้าใจผิดกันจนเกิดโอละพ่อเล็กน้อยที่สนามบิน แต่พอถึงใจกลางกรุงปารีส ท่านก็เชิญไปพบท่านเดี๋ยวนั้น (วันเสาร์ที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๕) คุยกันอยู่ราวครึ่งวัน ทั้ง ๆที่ข้าพเจ้าอดนอนมาในเรือบินโดยตลอด แต่ก็คุยกับท่านด้วยความสุขและเพลิดเพลินเจริญใจ โดยได้รับความเมตตาปรานีจากท่านผู้หญิงยิ่งนัก
ส่วนมากเราคุยกันเรื่องเก่า ๆ เรื่องเจ้าเรื่องนาย และเรื่องลี้ลับทางประวัติศาสตร์ที่ข้าพเจ้าหาอ่านไม่ได้ ได้ทราบว่าท่านปรารภกับท่านผู้หญิงก่อนข้าพเจ้าไปว่า “คุณสุลักษณ์เขารู้เรื่องเจ้านายมาก ฉันเองชักจะไม่แม่น เธอต้องมานั่งคุยด้วย จะได้ช่วยกัน” ที่จริงท่านยังแม่นยำและปราดเปรียวทางสติปัญญาเกินคนวัยแปดสิบทั่วไปยิ่งนัก ท่านสุภาพราบเรียบ และยกประโยชน์ให้กับอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ โดยที่การพูดมักมีเอกสารประกอบด้วยเนือง ๆ ทำให้นึกถึงที่ ม.จ.พิไลยเลขา ดิศกุลทรงเล่าว่า เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ไปเฝ้าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่วังวรดิศ ตอนเสด็จกลับจากปีนังนั้น ท่านก็ “ทึ่ง” สมเด็จว่าพระชมม์ ๘๐ แล้วยังปราดเปรียว แม่นยำสมเป็นรัฐบุรุษนั่นเอง
ข้าพเจ้าพูดกับท่านว่า “อาจารย์เคยคิดบ้างหรือเปล่าว่าอาจารย์เหมือนพระเจ้าตากสินที่กอบกู้เอกราชมาเมื่อพระชนม์ยังน้อย แล้วเสวยราษฎร์อยู่ ๑๕ ปีก็ถูกปลงพระชนม์ อาจารย์ก็กู้เอกราชมาและอยู่ในอำนาจ ๑๕ ปีเท่ากัน โดยที่ตอนอาจารย์ถูกเอาออกนั้น อายุเท่ากับพระเจ้าตากสินพอดี นับว่ายังดีที่อาจารย์มีชีวิตรอดมาได้จนป่านนี้”
ท่านบอกว่า “เรื่องนี้ผมไม่เคยคิดเทียบกับพระองค์ท่าน และที่คุณใช้คำว่าผมอยู่ในอำนาจนั้น ก็ออกจะใหญ่โตเกินไป ใช้คำว่าผมมีโอกาสรับใช้ชาติบ้านเมืองจะดีกว่า”
วันรุ่งขึ้น ท่านส่งรถมารับไปคุยกับท่านอีกเช่นกัน โดยที่วันนี้เราพูดธุระกันเรื่องโครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย” อันเป็นการประยุกต์หลักวิชามาใช้เพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองในปัจจุบันและอนาคต...
สำหรับโครงการปรีดีฯ นี้ เรามีมติที่จะรวบรวมผลงานของท่านทั้งหมด รวมตีพิมพ์เป็นชุด โดยที่ปี ๒๕๒๕ ประชาธิปไตยจะมีอายุครบ ๕๐ ปี ข้าพเจ้าแนะให้กรรมการผู้จัดพิมพ์งานเขียนของท่านขออนุญาตตีพิมพ์ “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎร และระบอบประชาธิปไตย” ในโอกาสดังกล่าวท่านปฏิเสธ โดยตอบว่าเรื่องดังกล่าวท่านเขียนด้วยอคติและความเข้าใจผิด ทั้งยังไปกระทบ “เพื่อนที่สำคัญของเราเข้าคน ๑ ด้วย” ถ้าจะตีพิมพ์ก็ต้องแก้ไขยกโครงร่างใหม่หมดเลย ซึ่งขณะนั้น ท่านยังไม่อาจทำให้ได้ นับว่าน่าเสียดายนัก
จากการพบกับนายปรีดี พนมยงค์ แม้เพียงสองครั้ง ทำให้ข้าพเจ้าด่วนสรุปได้ว่า (๑)ท่านบริสุทธิ์ ยุติธรรมและมองโลกในแง่ดี เกินไปกว่าที่จะเป็นนักการเมือง (๒)ท่านฉลาดเฉลียวเกินไปกว่าคนร่วมสมัย แม้คนข้างเคียงก็ยากที่จะตามได้ทัน แม้ท่านจะเป็นครูบาอาจารย์แต่ศิษยานุศิษย์โดยทั่ว ๆ ไปก็ได้เพียงเปลือกกระพี้ไปจากท่าน ยิ่งกว่าเนื้อหาสาระที่เป็นแก่น (๓) ท่านเป็นคนเด่น แม้จะไม่ต้องการความเด่นที่เข้าข้างความดี ที่หาทางจับผิดได้ยาก ประกอบกับข้อ (๒)ที่กล่าวมาแล้ว จึงเป็นเหตุแห่งความอิจฉาริษยาของคนโง่ คนชั่วและคนเห็นแก่ตัวหรือคนอาธรรม์ ซึ่งมักมีอำนาจอันแฝงเร้น พูดอย่างมโหฬารก็ว่าดวงท่านแรง จึงเกิดศัตรูได้ง่ายโดยไม่จำเป็น โดยคนที่เกลียดท่าน(ดังที่ข้าพเจ้าเคยเกลียดท่าน) ไม่เคยรู้จักเท่าเอาเลยด้วยซ้ำ
๔) ท่านเข้าใจราษฎรและสังคมไทยลึกซึ้งเกินกว่าที่ข้าพเจ้าเคยคาดคิดไว้ก่อนมากนัก ทั้งท่านยังรู้เรื่องเจ้านายอย่าง เคารพ และเท่าทัน อีกด้วย (๕) ท่านต้องการประชาธิปไตยที่แท้ ท่านต้องการสังคมนิยมที่เป็นวิทยาศาสตร์ และมีเสรีภาพเป็นปทัสฐาน ตราบเท่าที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยอธรรมและความหน้าไหว้หลังหลอก ที่ต้องการเอาเปรียบราษฎรด้วยการมอมเมากันทางไสยศาสตร์ ในนามของความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ต่าง ๆ ชนชั้นนำจะต้องผนึกกำลังกันต่อต้านนายปรีดี ไม่ว่าท่านจะยังมีชีวิตอยู่หรือหาไม่ก็ตาม
(๖) ท่านเป็นคนดื้อรั้น ไม่ยอมลดอุดมการณ์ ไม่ยอมไกล่เกลี่ยหลักการ ไม่ยอมสยบกันอำนาจอันไม่เป็นธรรม คนอย่างนี้ เกือบจะหาไม่ได้แล้วในบ้านเมืองเราในบัดนี้ (๗) ท่านเป็นผู้ปกป้องผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบเพื่อพยุงฐานะของกลุ่มคนนั้น ๆ ไว้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้า ไพร่ หรือขุนนาง โดยที่ฝ่ายหนึ่งต้องไม่ประทุษร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง หากมุ่งไปที่ความชอบธรรม ผลก็คือ ท่านถูกประทุษร้ายเสียเอง
กล่าวโดยสรุปก็คือ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นสัญลักษณ์ของธรรมะเพื่อต่อสู้กับอธรรม ข้าพเจ้าดีใจที่ได้มีโอกาสขอขมาท่าน มีโอกาสได้ไปกราบท่าน และคุยกับท่านอย่างกันเอง
เมื่อต้น พ.ศ.๒๕๒๖ นี้เอง ท่านก็มีแก่ใจส่ง ส.ค.ส.มาให้ พร้อมด้วยลายเซ็น ของท่านผู้หญิงซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการให้กำลังใจอย่างสำคัญ จึงขออัญเชิญมาลงไว้ในหนังสือเล่มใหม่ชื่อ “น้ำเชี่ยวให้ขวางเรือ” ดังนี้
ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๒๖ ขออวยพรให้คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์กับครอบครัว จงประสบสิริสวัสดิ์ พิพัฒนมงคล เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ และประสบความสำเร็จในการรับใช้ชาติและราษฎรไทย เพื่อสันติภาพและประชาธิปไตยทุกประการ
ปรีดี พนมยงค์ พูนศุข
No comments:
Post a Comment