Wednesday, June 20, 2007

บทความที่ ๑๖๓. รัฐบุรุษผู้ไร้แผ่นดิน ตอนที่ ๑

รัฐบุรุษผู้ไร้แผ่นดิน

ผู้ดำเนินการอภิปราย

จริง ๆแล้ว สิ่งที่อาจารย์ไสว (ไสว สุทธิพิทักษ์)ได้พูดไปนั้น เป็นเพียงผลงาน ถ้าจะว่ากันไปแล้วก็เป็นเพียงแต่น้อยนิดในสิ่งที่ ท่านปรีดี พมยงค์ ได้ทำคุณประโยชน์ไว้สำหรับประเทศ สำหรับผมเองนั้นตอนเปิดงาน กระผมได้พูดไว้นิดหน่อยว่า ได้มีโอกาสไปพบ ได้พูดกับท่าน ได้ร่วมงานกับท่าน ตลอดระยะเวลาที่ผมเป็นนักเรียนไทยในฝรั่งเศสเป็นเวลา ๕ ปี เมื่อผมไปถึงประเทศฝรั่งเศสใหม่ ๆ นั้น สิ่งแรกที่อยากจะทำก็คือไปพบ ท่านปรีดี พนมยงค์ เหมือนคนไทยหลายคนที่ไปถึงประเทศฝรั่งเศสแล้ว ทุกคนก็ตั้งหน้าตั้งตาที่จะไปบ้านพักท่าน ไปเยี่ยมท่าน

แต่ก็มีบางคนไม่ทราบจะหวังดีหรือยังไงก็ตามมาบอกผมว่า “ระวังนะ คุณเป็นข้าราชการ” ตอนนี้ผมได้เป็นอาจารย์อยู่ที่นี่ แล้วลาศึกษาต่อ ถ้าไปพบท่านปรีดี สันติบาลจะรายงาน นี่เห็นไหม ฝีมือสันติบาลไทยไปถึงปารีสโน่นแนะ ใครไปพบท่านปรีดีแค่นั้นก็รายงาน แต่ผมคิดว่ายังไง ๆ ก็ต้องพบให้ได้ เพราะในความรู้สึกนั้น หลายสิ่งหลายอย่างที่ผมเคยอยู่ในประเทศไทยนั้นแล้วเคยตั้งคำถามไว้ ก็ได้ไปพบคำตอบที่กรุงปารีส ไปถึงประเทศฝรั่งเศส นั่นก็คือสิ่งที่มันเป็นความลับหรือเป็นสิ่งที่เป็นความต้องและหลายคนในประเทศไทยได้พยายามบลสิ่งเหล่านี้ออกไปจากประวัติศาสตร์นั้น ไปได้คำตอบที่นั่น ไปพบความจริงที่นั่น เช่นเดียวกัน ผมคิดว่าท่านปรีดีเป็นรัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ที่เราหากต้องการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างแท้จริงแล้ว ท่านสามารถให้คำตอบได้

กระผมจึงไปอยู่ที่นั่น ได้พบกับท่าน ได้พูดคุยกับท่าน ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากท่าน ทุกครั้งเมื่อมีนักเรียนไทย หรือบุคคลสำคัญของประเทศไทย หรือบุคคลในคณะรัฐบาลหลายคน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคน ทุกคนเมื่อไปถึงกรุงปารีสต่างต้องการพบท่านปรีดี พนมยงค์ เพื่อที่จะถามไถ่ปํญหาบ้านเมือง ถามความคิดเห็นของท่านและสิ่งที่บุคคลเหล่านั้นได้เรียนรู้เมื่อได้พบท่านก็คือ ท่านมีความห่วงใยประเทศไทย มีความห่วงใยจนกระทั่งเมื่อวันที่ ๒ พ.ค. ซึ่งเป็นวันที่ท่านได้ถึงแก่อัญกรรมนั้น ท่านกำลังจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับงานของท่านในประเทศไทยอีก

นี่แหละครับรัฐบุรุษซึ่งได้ทำคุณประโยชน์ ไว้กับประเทศชาติอย่างมากมายนั้น ที่สุดท่านก็ต้องไปสิ้นชีวิตลง ณ ต่างแดน ไม่มีโอกาสที่จะกลับมาบ้านเกิดเมืองนอน ท่านเคยพูดกับผมหลายครั้งว่า ท่านต้องการกลับ แน่นอนเมื่อเกิดเป็นคนไทยก็ต้องการกลับบ้านเกิดเมืองนอน มาสิ้นชีวิต ลง ณ ที่นี้ แต่ผมคิดเหมือนกับหลายคนที่นั่งอยู่ที่นี่ ก็คงจะเดาออกว่าเหตุใดท่านจึงไม่กลับ เพราะท่านพูดว่า ถ้ากลับมาแล้ว ถ้าบ้านเมืองมันไม่สงบท่านก็ไม่อยากกลับ นั่นก็คือ ท่านมีความรักเป็นห่วงเป็นใยประเทศชาติบ้านเมือง มีคำถามหลายคำถามและบางครั้งก็เป็นคำถามที่พวกคุณเองซึ่งนั่งอยู่ ณ ที่นี้ก็คงจะถามเหมือนกัน หากมีโอกาสไปพบท่านที่ปรุงปารีส นั่นก็คือความมืดมนที่เกี่ยวกับกรณีสวรรคตของ ร.๘ กระผมเองจริงอยู่ใกล้ชิดกับท่าน เมื่อก่อนจะลากลับก็ถามท่านเป็นคำถามสุดท้ายเกี่ยวกับกรณีนี้ กระผมคิดว่าจะได้รับคำตอบจากท่าน แต่ท่านตอบเพียงว่า “ประวัติศาสตร์จะบอกคุณเอง” นี่แหละครับกระผมจึงคิดว่าท่านสมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็นรัฐบุรษอาวุโส เพราะเป็นบุคคลที่มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดี ผลงานที่ท่านทำไว้นั้น แม้จะมีมากมาย แต่ก็ยังเป็นงานที่พวกเราจำต้องศึกษากันต่อไป เพราะสิ่งที่ท่านทำไว้นั้นท่านเองก็ได้บอกว่ามีทั้งสิ่งที่เป็นความผิดพลาด ทั้งสิ่งที่เป็นความดีความถูกต้อง เป็นเรื่องของพวกเราที่จะต้องศึกษาว่า คณะราษฎรนั้นและตัวท่านเองได้ทำอะไรผิดพลาดไว้บ้าง แล้วก็พยายามแก้ไขให้เกิดความผิดพลาดนั้นอีก

กระผมจำได้ว่า โดยเฉพาะเมื่อเกิดกรณี ๑๔ ตุลาคมนั้น ท่านเขียนหนังสือไว้เล่มหนึ่งคือบทความว่า “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ของ ๑๔ ตุลาคม” ในบทความนี้เองได้เตือนพวกเราไว้ ให้ระมัดระวังจะถูกปล้นชัยชนะ เช่นเดียวกับที่คณะราษฎรได้เคยถูกปล้นไปแล้ว แต่ครั้งนั้นอาจจะเป็นเพราะ ไม่ทราบว่าเหตุอะไรที่พวกเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับบทความของท่าน แล้วความผิดพลาดนั้นก็คงจะเกิดขึ้นกับขบวนการที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างที่พวกเราได้เห็นได้ผ่านมาแล้ว

ผมคิดว่าในวันี้ พวกเราได้รับเกียรติเป็นอย่างยิ่งจากวิทยากรที่มาร่วาในวันนี้ ที่มาพูดถึงผลลงานของท่านปรีดี พนมยงค์ อาจจะพูดในเชิงวิเคราะห์ว่าท่านทำอะไรไปบ้าง แล้วพวกเราก็จะได้รู้จักกับท่านปรีดีมากขึ้น และคิดว่าจะเอาข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้นำไปคิด ไปศึกษากันต่อไป เพื่อที่จะต่อสู้ให่ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริง

ท่านที่มาร่วมอภิปรายในวันนี้นะครับ ที่อยู่ข้าง ๆ ผมด้านขวามือ คือ คุณสุภา ศิริมานนท์ ท่านผู้นี้ ความจริงที่ท่านเขียนไว้ในหนังสือ ไทยแลนด์ ที่ผมซื้อมา ท่านเขียนไว้ว่า “ข้าพเจ้าเป็นเสมอเพียงศิษย์เล็ก ๆ คนหนึ่งของ ดร.ปรีดี พนมยงค์” ถึแม้ท่านจะถ่อมตัวเป็นศิษย์เล็กๆ คนหนึ่งก็ตาม แต่ว่าใครที่ติดตามจากหนั้งสือพิมพ์หลาย ๆ ฉบับ ก็จะพบว่าคุณสุภา ศิริมานนท์นั้นเพิ่งกลับมาจากกรุงปารีส ท่านได้พบท่านปรีดี พนมยงค์ และได้มีโอกาสอยู่กับท่านเป็นเวลานาน วันนี้คุณสุภา ศิริมานนท์ นักคิด นักเขียน ก็จะมาพูดให้พวกเราฟังเกี่ยวกับทัศนะของท่านต่อท่านปรีดี

ท่านถัดไป ผมคงไม่ต้องแนะนำ เพราะพกวเราหลายคนคงรู้จักดี นักพูด นักคิด มีทั้งฝีปาก ฝีไม้ลายมือในกานเขียนเป็นที่เลื่องลือ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ วันนี้ท่านจะพูดให้เราฟัง ในประเด็นที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์หลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวกับข้องท่านปรีดี

ซ้ายมือผมท่านแรก คนนี้ที่ผมเชิญในวันนี้ คือคิดว่าจะเชิญคนร่วมสมัยกับพวกเรา อาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์เป็นนักเรียนที่เรียนอยู่ที่เยอรมัน และข้ามไปอังกฤษ และข้ามไปฝรั่งเศส เรียกว่าท่องเที่ยวอยู่ในยุโรป ในช่วงที่เรียนอยู่นั้น ผมเรียนอยู่ที่กรุงปารีส พวกเราได้มีโอกาสร่วมงานกัน เวลาอจารย์ไชยันต์อยู่ที่เยอรมันเป็นกรรมการของสมาคมนักเรียนไทยในเยอรมัน ไปอังกฤษก็เป็นกรรมการสมาคมนักเรียนไทยที่อังกฤษ และได้ร่วมประสงงานกันจัดการอภิปรายโดยเชญอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ไปพูดหลายครั้งทั้ง ๓ ประเทศ เพราะว่าผลงานที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ได้พูดไว้นั้น ถ้าเกิดขึ้นในยุคที่พวกเราเองได้ร่วมกันทำ อาจารย์ไชยันต์คงจะวิเคราะห์งานของท่านปรีดีให้พวเราได้ฟังด้วย

ท่านถัดไปก็คือ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ท่านผู้นี้มีศักดิ์เป็นหลานท่านปรีดี คือท่านหู้หญิงพูนศุข ซึ่งเป็นรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของท่านปรีดี พนมยงค์นั้น นามสกุลเดิมท่าน ณ ป้อมเพชร เพราะฉะนั้นดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชรซึ่งเวลานี้ก็ยังเป็นนายกสภาวิทยาลัยเกริก และท่านได้ศึกษางาน ดร.ปรีดี พนมยงค์ รวมทั้งได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ ดร.ปรีดี พนมยงค์ไว้ด้วย ผมคิดว่าในวันนี้ท่านคงมาพูดให้พวกเราได้ฟังทัศนคติของท่านที่เกี่ยวกับงานและชีวิตของดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่มีต่อประเทศไทย ในเบื้องต้นนี้ผมคิดว่าอยากจะเรียนเชิญ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ได้พูดก่อน เกี่ยวกับผลงานของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในทัศนะของท่าน ขอเรียนเชิญครับท่านอาจารย์

No comments: