Thursday, June 21, 2007

บทความที่ ๑๖๖. รัฐบุรุษผู้ไร้แผ่นดิน ตอนที่ ๒

ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร อภิปราย

ขอบคุณมากครับ ที่ให้เกียรติผมมาคุยให้พวกเรามาฟังในวันนี้ เกี่ยวกับเรื่องของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ อย่างที่อาจารย์พีรพันธ์ได้แนะนำแล้วว่า ผมเป็นเชื้อสายของท่าน เป็นลูกหลาน ดังนั้นเป็นการง่ายที่จะเล่าให้พวกท่านฟัง ท่านปรีดี พนมยงค์ที่ผมรู้จัก

ผมรู้จักท่านปรีดีมาตั้งแตผมเกิด ตั้งแต่วันแรกที่ผมเกิด ความจริงท่านอาจจะรู้จักผมมาก่อนที่ผมจะเกิดสักหน่อยก็ได้ เพราะว่าท่านเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวคือหมายความว่าเมื่อพ่อกับแม่ผมแต่งงานนี่ ท่านปรีดีเป็นเพื่อนเจ้าบ่าว ฉะนั้น เมื่อผมเกิดครั้งกระโน้นเป็นเวลา ๕๓ ปีมาแล้ว ท่านปรีดีอายุ ๓๐ ปี ยังเป็นหนุ่มเหมือนกับพวกเราที่นั่งอยู่ในนี้หลายคนทีเดียว ผมจำท่านไม่ได้เพราะว่าเกิดใหม่ ๆ มองก็คงลานตาไปหมดไม่ทราบว่าใครเป็นใคร แต่แน่ใจว่าท่านต้องมาดู เพราะว่าเป็นเพื่อนเจ้าบ่าว แล้วก็ภรรยาท่านก็เป็นน้องของเจ้าบ่าว ผมพูดอย่างนี้คงสับสนไปบ้าง แต่ยังก็ตามสรุปว่าเมื่อผมเกิดนี่ผมแน่ใจว่าท่านต้องมาดูว่าไอ้เด็กคนนี้หน้าตามันเป็นอย่างไร แล้วท่านก็มาดูจริง ๆ ครับ

ผมมาเริ่มจำท่านได้เมื่อายุเห็นจะ ๓-๔ ขวบแล้ว ผมพยายามนึกย้อนหลัง เมื่อผมจำท่านได้นั้น ท่านยังไม่ได้เป็น รมต. ผมจำได้ว่าเมื่อปี ๒๔๗๖ เข้าใจว่าเป็นวันที่ ๒๓ เมษายน ท่านปรีดีตอนนั้นยังมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมและท่านผู้หญิงต้องเดินทางจากประเทศไทยไปฝรั่งเศส เรื่องราวต่าง ๆ อาจารย์ไสว สุทธิพิทักษ์ ได้เล่าให้ฟังแล้ว เมืเรื่องขัดแย้งในคณะรัฐมนตรี มีการปิดสภา มีการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา มีการเนรเทศหลวงประดิษฐ์ไปประเทศฝรั่งเศส ตอนนั้นผมจำไม่ได้ผมยังเล็กเกินไป แต่เมื่อท่านเดินทางกลับมาเพื่อประมาณเดือนกรกฏาคมหรือสิงหาคมในปีเดียวกันนั้นเอง อันนี้ผมจำได้เพราะว่าเดินทางกลับมาแล้วก็มีของมาฝากเด็ก ที่ผมจำได้ มีของเล่นและของอะไรต่าง ๆ ที่ท่านเอาติดมาแยะ แล้วผมก็เป็นคนหนึ่งซึ่งได้รับของฝากก็เลยจำท่านได้ อ้อ คุณอาหลวงประดิษฐ์ฯ หน้าตาเป็นอย่างนี้เอง ตอนนั้นท่านยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย เป็รรัฐมนตรีลอย กลับมาเจ้าคุณพหลฯก็ตั้งให้ท่านเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย

แต่เมื่อท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ราว ๒๔๘๑ หรือ ๘๐ ท่านเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ผมเป็นนักเรียนโรงเรียนวชิราวุธ แล้ววันหนึ่งตอนกลางวัน ผมกำลังนั่งเรียนอยู่ในชั้น ก็มีคนมาตามให้ผมไปที่บ้านท่านผู้บังคับการโรงเรียน ผมก็ไปพบท่านที่นั่น ท่านมาเอาตัวผมไปร่วมกับเด็กอื่น ๆอีก ๒-๓ คน ไปเดินขันหมาก คือท่านถูกเกณฑ์ให้ไปเป็นเจ้าภาพ ไปขอผู้หญิงให้ใครก็ไม่ทราบ แล้วก็ต้องมีเด็กถือขันหมากไป ผมก็รับเป็นเด็กถือขันหมากไปด้วย อันนั้นก็เป็นช่วงหนึ่ง ระยะเวลาที่ผมกำลังพูดถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตอนที่ท่านเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ แล้วต่อมาท่านเป็นรัฐมนตรีคลังตอนนี้ผมจำท่านได้แม่นยำ เพราะว่าได้ไปมาหาสู่กันเสมอ มาหาท่านที่บ้านแต่ที่จำได้แม่นคือ ตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ในตอนนั้นท่านอยูที่ท่าช้าง ทำเนียบท่าช้าง ผมเชื่อว่าท่านทั้งหลายในที่นี้คงจำได้ เดี๋ยวนี้เขาก็เปลี่ยนแปลงมีตึกรามกันแล้ว แต่ตอนนั้นเป็นทำเนียบมีกำแพงเดี๋ยวนี้ก็ยังมีกำแพงอยู่ มีตึกเก่า ๆ อยู่หลังหนึ่ง ตึกใหม่ ๆ หลักหนึ่งแต่ตัวท่านปรีดีนั้นท่านนั่งอยู่ที่ท่าน้ำ คุณสุภา ศิริมานนท์จำได้แม่นยำก็คงจะได้ไปพบท่านที่นั่นเสมอ คือที่ท่าน้ำนี่นะครับยื่นไปในแม่น้ำเจ้าพระยาออกไปสักเมตรกว่า ๆ ก็เป็นท่าน้ำเล็ก ๆ ละครบ กว้างสัก ๒ เมตรยาวสัก ๔-๕ เมตร ซึ่งท่านใช้เป็นที่นั่งทำงาน เป็นห้องทำงาน เป็นห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก ห้องรับประทานอาหาร ทุกอย่างอยู่ในนั้นหมด รับรองแขกเหรื่อก็รับแขกกันตรงนั้น ท่านก็นั่งที่โต๊ะอาหารนั่นแหละครับ แล้วก็คุยกับใครต่อใครเรื่อยเปื่อยไปตลอดทั้งวัน นี่ยังเป็นภาพที่ผมจำได้ถนัด ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ เวลาไปทำงานก็ตรงที่ท่าน้ำก่อน ท่านก็โอภาปราศรัยต่าง ๆ

แล้วก็ต่อมาในช่วงเดียวกัน ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ท่านได้อพยพเจ้านาย รวมทั้งพระพันวษาอัยยิการเจ้าไปประทับที่พระราชวังบางปะอิน ท่านก็ไปจัดที่พักให้เป็นที่ปลอดภัยแก่พระบรมวงศานุวงศ์ เรื่องราวเหล่านี้ปรากฏในหนังสือหลายเล่ม ก็คงจะได้อ่านกันมาบ้าง ท่านได้ถวายความจงรักภักดี ได้ให้ความอารักขาแก่เจ้านาย เพราะว่าตอนนั้นกรุงเทพมหานครถูกลูกระเบิดทุกวัน ตอนนั้นผมก็ไปบางปะอินเป็นครั้งคราว ก็ได้พบกันท่านเสมอ รู้สึกว่าสองวันท่านก็ไปบางปะอินทีหนึ่ง เพื่อจะไปดูแลว่าเจ้านายท่านปลอดภัยดีหรือเปล่า

จนกระทั่งมาหลังสงคราม ตอนท่านเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นรัฐบุรุษอาวุโส ตอนนี้ที่ผมได้พบกันท่าน บ่อย ๆแต่ไม่ได้ใกล้ชิดกันในแง่ปรึกษาหารือทำการทำงาน เพราะว่าผมยังเป็นเด็กเกินไป ก็ได้เห็นท่าน ท่านก็ได้โอภาปราศรัยไต่ถามเรื่องการเล่าเรียน ผมเคยเรียนให้ท่านทราบว่า จะเรียนหนังสือพิมพ์ท่านก็สนับสนุน อะไรต่าง ๆ ก็เป็นการใกล้ชิดกัน

จนกระทั่งท่านต้องจากประเทศไทยไปเมื่อปี ๒๔๙๐ ตอนนั้นผมทำงานหนังสือพิมพ์อยู่ ก็จำได้ว่าไปถึงทำเนียบท่าช้างก็เป็นเวลาที่ท่านได้หลบหนีไปแล้ว และก็ไม่ได้พบกันอีก ๒ ปีต่อมา ความจริงท่านได้กลับมาประเทศไทยอีกเพื่อจะทำการยึดอำนาจในเหตุการณ์ที่เราเรียกว่า “กบฏวังหลวง” เมื่อ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ ต้นปี ๒๔๙๒ แล้วหลังจากทำการยึดอำนาจไม่สำเร็จ ท่านก็ยังหลบอยู๋ในประเทศไทยอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ เป็นเวลาตั้งเกือบ ๖ เดือน ถึงค่อยเดินทางไปสิงคโปร์ อันนี้ท่านได้เขียนขึ้นมาเอง เล่าให้ฟังอยู่ในหนังสือ ท่านเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส อยู่ในหนังสือเรื่องการเดินทางต่าง ๆ ที่ไปสิงคโปร์ แล้วท่านก็ไปถึงสิงคโปร์ เข้าใจว่าราว ๆ เดือนกันยายน ๒๔๙๒ ซึ่งตอนนั้นท่านได้พบกับอาจารย์ไสว สุทธิพิทักษ์ ซึ่งหลบภัยการเมืองไปอยู่ที่นั่นแล้ว และอีก ๒ เดือนต่อมา ผมก็เดินทางไปสิงคโปร์ก็พลาดกันนิดเดียว ผมยังจำได้ว่าอาจารย์ไสวบอกกับผมว่า ท่านได้ออกเดินทางไปจากสิงคโปร์เป็นเวลาไม่กี่อาทิตย์ก่อนหน้าที่ผมมา หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้พบกับท่านอีกเลย เป็นเวลายืดยาวตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๒

มาพบอีกทีหนึ่งเมื่อ ค.ศ. ๑๙๗๐ หรือ ๒๕๑๓ ผมรับราชการมีตำแหน่งแห่งที่ ก็เดินทางไปประชุมที่ยุโรป แล้วก็ไปที่กรุงปารีส แล้วท่านก็รอผมอยู่ที่สนามบิน เมื่อผมลงจากเครื่องบินท่านก็นั่งรออยู่ที่นั่น ซึ่งก็เป็นครั้งแรกที่ผมได้คุยกันท่านอย่างผู้ใหญ่ ก่อนหน้านี้คุยกับท่านอย่างเด็ก ฉะนั้นไม่ได้ความอะไร แต่ผมก็ดู แอบ ๆ ดูเวลาที่ท่านคุยกับผู้ใหญ่เหมือนกันเท่าที่จะมีโอกาส แต่ก็ยังจับความไม่ได้ว่าเขาพูดอะไรกัน แต่ว่าปี ๒๕๑๓ ผมได้คุยกับท่านอย่างผู้ใหญ่ เมื่อผมไปท่านก็ปิดบ้าน ไม่ได้หมายความว่าปิดประตูหน้าต่างนะครับ หมายความว่าไม่รับแขก เพื่อที่จะได้คุยกับหลานที่ไม่ได้พบกันหลายสิบปี แล้วผมก็มีโอกาสได้คุยกับท่าน ได้ไต่ถามอะไรต่าง ๆ ทุกอย่างเท่าที่ผมอยากทราบ ก็คุยกันอยู่ ๒ วันแล้วก็กลับ

แล้วต่อมาผมก็ได้ไปเยี่ยมท่านอีกเป็นครั้งคราว รู้สึกว่าท่านก็แก่ชราไปมากพอสมควร แต่ความคิดความจำท่านยังแม่นยำ แล้วก็เรื่องที่ผมประหลาดใจนะฮะ คืออย่างนี้ เมื่อต่อมาเราก็ปีกล้าขาแข็ง เรียนหนังสือมากมาย มีประสบการณ์ชีวิตอายุอานามก็มากขึ้น แต่เมื่อไรผมไปคุยกับท่าน ผมเหมือนเด็ก ไม่ได้มีอะไรที่ไปเทียบกับท่านได้เลย พูดอะไรก็ผิดทุกอย่างว่ากันอย่างนั้น ไม่มีอะไรที่ผมคิดว่าผมรู้ คืออย่างสมมติมาสอนหนังสือ หรือพูดว่าสอนในมหาวิทยาลัย สอนวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ก็ยังกระทำด้วยความมั่นใจ แต่เมื่อผมพบกันท่านอาจารย์ปรีดี ผมพูดกับท่านรู้สึกว่าตัวเองไม่รู้อะไรเลย แล้วอันนี้ไม่ใช่เฉพาะผมเท่านั้น ลูกศิษย์ของท่านหลายก็พูดอย่างนี้ ผมจำได้ว่าคุณมารุต บุนนาคนี่เอง ซึ่งเป็นนักกฎหมายคนสำคัญว่า เวลาพบท่านอาจารย์ เราก็เหมือนกับนักเรียนเตรียม ความรู้ยังต่างกันอยู่อย่างนั้นยังเทียบกันไม่ได้

นี่เป็นคุณสมบัติของท่าน เรื่องราวของท่านปรีดี มีอีกมากมายครับ เอามาคุยเป็นปี ๆ ก็ว่าไม่จบ ผมไปนั่งอยู่สิงคโปร์ ๒ ปี ก็ไปนั่งเขียนหนังสือเป็นภาษาฝรั่งเล่มนี้ อันนี้ก็เป็นการประมวลเรื่องราวทั้งหลาย แล้วเมื่อเขียนเสร็จผมก็ส่งไปให้ท่านดู นั่นก็เป็นต้นฉบับ ท่านก็แก้ไขให้ข้อเท็จจริงอะไรต่าง ๆ มาเยอะ ซึ่งผมก็นำมาปรับปรุงแก้ไข แล้วสุดท้ายผมก็พิมพ์เสร็จก็ส่งไปให้ท่าน ท่านได้อ่านก็ฝากไปตอนที่ท่านผู้หญิงกับคุณสุภา ศิริมานนท์ท่านไป ก็รู้สึกท่านจะได้อ่านไม่เพียงแต่พลิก ๆ ดูกระมัง แล้วมีหนังสือมาบอกว่าอ่านละเอียดแล้วจะวิจารณ์ แต่ก็ไม่ได้รับการวิจารณ์จากท่าน ท่านก็มาสิ้นเสียก่อน

อย่างน้อยที่สุดท่านก็ได้เห็นว่าเราก็พยายามในทุกอย่าง เพื่อให้อะไรที่มืดมนอนธกาลอะไรที่เนเรื่องที่คนเขาไม่พูดกัน อะไรที่ไม่จริงไม่ถูกต้อง ก็จะได้รู้ถูกต้องกันเสียที ผมก็ต้องเขียน ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษก็เพื่อความถูกต้องนั้น เพราะถ้าเขียนภาษาไทยคนใช้ถ้อยคำก็อาจจะระมัดระวังไม่พอ ฉะนั้นจุดประสงค์ก็ให้เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก

No comments: