Sunday, June 17, 2007

บทความที่ ๑๖๐. ศิวรักษ์สำนึก ตอนที่ ๕

ศิวรักษ์สำนึก

๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๓
เรียน คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่นับถือ

จดหมายของคุณฉบับลงวันที่ ๑๓ พ.ค. ๒๕๒๓ ได้ทำให้ผมมีความปลาบปลื้มเป็นอันมากที่คุณได้อวยพรในวันคล้ายวันเกิดของผมอายุครบ ๘๐ ปี ประกอบด้วยความวิจารณญาณของคุณที่เห็นความบริสุทธิ์ของผมที่ได้รับใช้ชาติไทยซึ่งเป็นที่เคารพสักการะสูงสุดของปวงชนชาวไทยทั้งมวลและความบริสุทธิ์ของผมกับความบริสุทธิ์ของบุคคลที่ถูกประหารชีวิตในกรณีสวรรคต ร.๘

ตามที่คุณขออโหสิจากผมในการเขียนการพูด ซึ่งคุณได้ปฏิบัติเกี่ยวกับผมที่แล้ว ๆ มานั้น ผมมิเพียงยินดีอโหสิกรรมแก่คุณเท่านั้น หากขอสรรเสริญคุณอีกด้วยที่คุณมีคุณธรรมสูง คือเมื่อพลั้งพลาดไปเพราะความเข้าใจผิดนั้น อันเป็นลักษณะของบุคคลก้าวหน้าซึ่งรับใช้ชาติและราษฎรเพื่อความเป็นเอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ สันติภาพความเป็นกลาง และความสุขสมบูรณ์พร้อมด้วยประชาธิปไตยของราษฎร ผมจึงขออวยพรให้คุณประสบความสุขความเจริญทั้งทางกายและทางใจ และประสบความสำเร็จทั้งหลายในการรับใช้ชาติและราษฎรดังที่ผมกล่าวนั้น

ผมรู้สึกตนว่ามีความผิดพลาดที่ได้ใช้วิธีไม่เหมาะสมในการโต้ตอบข้อเขียนของคุณ จึงขออภัยคุณไว้ที่นี่ด้วย

อนึ่ง ผมมีความยินดีที่จะมีโอกาสสนทนากับคุณตามความปรารถนา

ด้วยความนับถือ
ปรีดี พนมยงค์

นับว่าท่านให้เกียรติ ให้ความเมตตาปรานี และมีน้ำใจ เป็นสุภาพบุรุษพุทธบริษัทโดยแท้ หลังจากนั้น ท่านก็คงส่งเอกสารให้ หากหนังสือใหม่ให้อ่านอยูเสมอมา แต่เราก็หาเคยพบกันใหม่ จนเมื่อข้าพเจ้าไปยุโรปเมื่อปลาย พ.ศ.๒๕๒๔ เจอเพื่อนนักเรียนอังกฤษรุ่นหลังที่กรุงบรัสเซล โดยที่เขาเป็นคนสนิทชิดชอบอยู่กับนายปรีดีและท่านผู้หญิง เขาแนะนำให้ข้าพเจ้าพูดโทรศัพท์กับท่านที่ปารีส ตอนผ่านท่าอากาศยานแห่งนั้น เพราไม่มีเวลาจะเข้าไปหาท่านได้ ข้าพเจ้าเชื่อเขา จึงโทรศัพท์เข้าไปเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ได้พูดกับทั้งท่านผู้หญิงและตัวท่านเอง ให้รู้สึกดีใจ และชื่นใจ เราคุยกันอยู่นานโดยท่านบอกให้ระมัดระวังตัวอย่าประมาท โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับทหารและการใช้อำนาจลึกลับ ทั้งท่านขอให้ดูแลสุขภาพส่วนตัวด้วย

ข้าพเจ้ามาทราบภายหลังว่าท่านบ่นเสียดาย ที่ไม่ได้พบข้าพเจ้าและว่าพูดโทรศัพท์กันน้อยไป แถมยังชมว่าเสียงข้าพเจ้าแสดงว่าเป็นคนมีอำนาจ เมื่อข้าพเจ้ามีโอกาสพบท่านภายหลังในอีกประมาณปีหนึ่งต่อมา ท่านคงเปลี่ยนทัศนะคตินี้ไปแล้วดอกกระมัง เพราะพอท่านเห็นสารรูปและการแต่งตัวของข้าพเจ้าเข้าแล้ว คงตัดสินได้ว่า ไม่มีทางที่ข้าพเจ้าจะเป็นคนที่มีอำนาจได้อย่างไรเลย

ความจริง แต่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ แล้ว ที่ข้าพเจ้าทราบว่า ภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ที่ท่านเขียนและกำกับคนแสดงมาแต่เมื่อก่อนสงครามอินโดจีนนั้น ท่านให้อัดขึ้นใหม่ โดยตัดต่อใหม่อย่างเรียบร้อย และมีก๊อปปี้ตกเข้ามาถึงกรุงเทพฯ แล้วด้วย โดยที่ข้าพเจ้าเคยชมภาพยนตร์เรื่องนี้มากับบิดาแต่ยังเป็นเด็ก จึงอยากขออนุญาตท่านนำมาแสดงให้สมาชิกและแขกของสยามสมาคมชม

ครั้นขออนุญาตไป ท่านก็ให้ ดังเมื่อคราวจัดแสดงครั้งแรก งานนายชาญวิทย์ เกษตรศิริได้มากล่าวนำอธิบายข้อความต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษ เพราะสมาชิกสมาคมนั้นส่วนมากเป็นฝรั่งและภาพยนตร์เรื่องนี้ก็พูดภาษาอังกฤษกัน ทั้งนายชาญวิทย์ เกษตรศิริยังอุตส่าห์ไปชักชวนนักแสดงมาปรากฏตัวในที่ประชุมหลายคน แม้จะล่วงกาลผ่านวัยกันมามากแล้วทุกคนแต่ก็เป็นที่ครึกครื้น เก็บเงินได้มากพอ จนสามารถส่งไปสมทบทุนสร้างห้องสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ด้วย

เวลานั้นกรรมการสยามสมาคมส่วนใหญ่ไม่ทราบเรื่องความเป็นไประหว่างนายปรีดีกับข้าพเจ้า บางท่านถึงกับถามว่า “ดีกันแล้วหรือ” หาไม่ก็ “ทำไมถึงยอมให้เอาหนังเรื่องนี้มาฉายได้” และแล้วในที่สุดท่านก็อนุญาตให้สยามสมาคมทำก๊อปปี้ไว้เป็นของสมาคมเองด้วยหนึ่งชุด โดยให้สิทธิขาดแก่ข้าพเจ้า ว่าจะอนุญาตให้ไปแสดงที่ใดก็ให้อยู่ในดุลยพินิจของข้าพเจ้า

ด้วยเหตุฉะนี้ ข้าพเจ้าจึงนำออกแสดงทุกปีต่อมา โดยเฉพาะก็เมื่อคราวแสดง ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๒๕ นั้น ทางสมาคมประกาศ ว่าการแสดงครั้งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงงานอภิวัฒน์ทางวัฒนธรรมและการเมืองครบ ๕๐ ปี เป็นเหตุให้มีผู้มาขู่ว่าจะมีการถอนบรมราชูปถัมภ์ออกจากสยามสมาคม ซึ่งข้าพเจ้าและนายกสยามสมาคมถือว่าเป็นข่าวโคมลอย เพราะเชื่อว่าองค์บรมราชูปถัมภก หาได้ทรงหวั่นไหวตามไปด้วยกับเสียงจิ้งจกตุ๊กแกทั้งหลายทั้งปวงไม่

No comments: