Tuesday, June 5, 2007

บทความที่ ๑๔๐. ชำแหละ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ตอนที่ ๑

ชำแหละ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช
โดย สุพจน์ ด่านตระกูล


คำขึ้นต้น

ถ้าหากว่า ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ไม่ได้เขียนหนังสือ “๑๔ ตุลาคม:คณะราษฎร กับ กบฏบวรเดช” ออกมาเผยแพร่ หนังสือ “ชำแหละ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช” ก็คงจะไม่มีโอกาสปรากฏตัวออกมาแน่นอน จึงต้องขอขอบคุณ ดร.ชัยอนันต์ฯ ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยตามควรแก่ฐานะ

หนังสือเล่มนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นการตอบโต้ข้อเขียนของ ดร.ชัยอนันต์ ฯ โดยตรง แต่ก็เป็นการตอบโต้ในข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่เป็นสัจจะเพื่อผลประโยชน์ของสัจจะแห่งประวัติศาสตร์ หาใช่เป็นการตอบโต้ ดร.ชัยอนันต์ ฯ เป็นการส่วนตัวไม่ เพราะลำพังส่วนตัวของ ดร.ชัยอนันต์ ฯ ก็เช่นเดียวกับผมและคนทั้งหลาย คือต่างก็เป็น “ผลิผลแห่งกรรม” ซึ่งหาสัจจะแก่นสารอะไรไม่ได้เลย มีการเกิดขึ้น เจริญเติบโต เสื่อมลงแล้วก็ดับไป ก็แค่นั้นเอง

แต่ประวัติศาสตร์นั้นจะต้องคงอยู่ต่อไปนานเท่านานตราบเท่าที่มนุษย์ยังคงเวียนว่ายตายเกิด เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราทุกคนจะต้องรับภาระทางประวัติศาสตร์สร้างประวัติศาสตร์และรักษาสัจจะแห่งประวัติศาสตร์

แน่นอน,ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้น เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วก็คือ ประวัติแห่งการต่อสู้เพื่อการยังคงอยู่ของชีวิต นับตั้งแต่การต่อสู้กับธรรมชาติจนถึงการต่อสู้กับมนุษย์ด้วยกัน และก็แน่นอน, ประวัติศาสตร์ของแต่ละชาติแต่ละประเทศ ที่ถูกสมมุติขึ้นภายหลัง ก็อยู่ในกฎแห่งการต่อสู้เพื่อการยังอยู่ของชีวิต เฉกเช่นกับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติทั้งหลายนั้นเอง

แต่ทว่าบันทึกประวัติศาสตร์ทั้งหลายที่เราศึกษากันอยู่ในปัจจุบัน แทนที่จะเป็นประวัติศาสตร์ของ มหาชน ผู้ออกแรงงานรังสรรค์สังคม กลับกลายเป็นประวัติศาสตร์ ส่วนตัว และส่วนครอบครัว ของบุคคลเพียงไม่กี่คนที่ออกมาโลดเต้นอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ ในฐานะชนชั้นปกครองผู้เป็นเจ้าชีวิตของคนทั้งหลาย บันทึกประวัติศาสตร์เช่นนี้จึงเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่ ไม่ตรงต่อความเป็นจริง แห่งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติและของประเทศชาติ

ดังนั้นในบางประเทศที่อำนาจรัฐ หรืออำนาจการปกครองเป็นของประชาชน จึงได้มีการชำระประวัติศาสตร์กันใหม่เพื่อรักษาสัจจะแห่งประวัติศาสตร์ตามที่เป็นมาอย่างแท้จริง

ในฐานะผมก็เป็นคนหนึ่งที่เคารพในสัจจะและเชิดชูสัจจะเช่นเดียวกับสาธุชนทั้งหลาย จึงจำเป็นต้องตอบโต้การบิดเบือนประวัติศาสตร์ของ ดร.ชัยอนันต์ ฯ เท่าที่ผมจะสามารถทำได้ในขณะนี้ และขอฝากให้อยู่ในดุลพินิจของท่านผู้อ่านทั้งหลาย ผมจะไม่ขอร้องหรือเรียกร้องให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายเชื่อข้อเขียนของผม จนกว่าท่านผู้อ่านจะได้พินิจพิจารณาโดยรอบคอบด้วยเหตุผลแล้ว แล้วท่านจะเชื่ออย่างไรก็สุดแต่วิจารณญาณของท่านเถิด
ขอขอบคุณ
สุพจน์ ด่านตระกูล



ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้เขียน “๑๔ ตุลา : คณะราษฎร กับ กบฏบวรเดช” ได้บอกไว้ในคำนำของหนังสืออีกเล่มหนึ่งของเขาชื่อ “โต้ท่านปรีดี” ว่า

“เมื่อข้าพเจ้าอายุได้ ๑๒ ขวบอาจารย์สอนภาษาอังกฤษประจำชั้นมัธยมปีที่ ๕ ของเราคือ ม.จ.วิเศษศักดิ์ ชยางกูร คนส่วนมาที่รู้จักท่านวิเศษศักดิ์ พูดกันว่าท่าน “บ๊อง” แต่สำหรับเรา ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดท่าน ๒-๓ คน ท่านวิเศษศักดิ์ เป็นกวีนักต่อสู้ ท่านเคยเล่าเรื่อง “กบฎบวชเดช” ให้เราฟังหลายครั้ง ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ท่านถูกภัยการเมืองคุกคามจนถูกสั่งเนรเทศ”

จากคำบอกกล่าวของ ดร.ชัยอนันต์ ฯ ดังนี้ จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยว่าเพราะเหตุใดเขาจึงเขียน “๑๔ ตุลา : คณะราษฎรกับ กบฏบวรเดช” เป็นทำนองยกย่องเชิดชูพฤติกรรม “กบฏบวรเดช” ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม และในขณะเดียวกันก็เหยียบย่ำทำลายและบิดเบือนพฤติกรรมของ “คณะราษฎร” ที่ปราบปราม “กบฏบวรเดช” ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ทั้งนี้ทั้งนั้นนอกจากกรณีแวดล้อมอื่น ๆ ที่ทำให้เขามีดวงจิตเป็นอกุศลมีอคติแล้ว ก็เป็นเพราะว่าอิทธิพลของ “แว่นสี” ที่อาจารย์ ท่านวิเศษศักดิ์ได้สวมใส่ให้เขาตั้งแต่อายุได้ ๑๒ ขวบ และเขาก็ได้ใส่แว่นสี ของท่านวิเศษศักดิ์มาตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งบัดนี้ ดังจะเห็นได้จากการพูดการเขียนของเขา ที่กำลังเป็นอยู่ขณะนี้

จากการเปิดเผยของ ดร.ชัยอนันต์ ฯ ดังกล่าวนี้ เป็นการชี้ชัดถึงความพยายามของพวกซากเดนศักดินาปฏิกิริยาอันเป็นพลังเก่า ในอันที่จะทำลายล้าง “คณะราษฎร” และ “พลังใหม่ที่ก้าวหน้า” การโฆษณาชวนเชื่อใส่ร้ายป้ายสีคณะราษฎรและยกย่องเชิดชูคณะ “กบฏบวรเดช” ดังที่ท่านวิเศษศักดิ์ได้กระทำนั้น นั่นก็คืองานส่วนหนึ่งของแผนการทำลายล้าง “คณะราษฎร” จึงเป็นการชอบธรรมแล้วที่รัฐบาลในขณะนั้นได้ปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านั้นด้วยการควบคุมตัวและจำกัดเขตเพื่อป้องกันมิให้แพร่เชื้อโรคศักดินาระบาดไปในหมู่ประชาชน และ มจ.วิเศษศักดิ์ ชยางกูร ก็เป็นตัวแพร่เชื้อโรคศักดินาคนหนึ่งที่ถูกแยกตัวออกไปจำกัดเขตหรือที่ ดร.ชัยอนันต์ ฯ เรียกว่า “เนรเทศ” เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗

ในการตอบโต้กับ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เนื่องจากหนังสือ “๑๔ ตุลา:คณะราษฎรกับ กบฏบวรเดช”
นี้เป็นการตอบโต้ใน ข้อเท็จจริงแห่งประวัติศาสตร์ และข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ก็คือ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏออกมาทางด้านภววิสัย ซึ่งทุกคนที่ไม่ได้ใส่แว่นสีย่อมจะต้องมองเห็นสัจจะแห่งประวัติศาสตร์เป็นอย่างเดียวกัน แต่ที่ ดร.ชัยอนันต์ ฯ กับผมมองเห็นสัจจะแห่งประวัติศาสตร์การเมืองไทยในระบบราชาธิปไตยกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแตกต่างกันไปนั้น แน่นอน,จะต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโป้ปดมดเท็จบิดเบือนประวัติศาตร์ ไม่ผมก็ ดร.ชัยอนันต์ ฯ ขอให้ท่านผู้อ่านพิจารณาให้ดี และขอให้ยึดถือหลักกาลามสูตรเป็นเครื่องมือในการพิจารณา

สำหรับ ทรรศนะ ในการมองประวัติศาสตร์นั้นย่อมจะมีทรรศนะที่แตกต่างกันไปได้ตาม จุดยืน ของบุคคลนั้น ๆ แต่การพูดถึงสัจจะแห่งประวัติศาสตร์นั้นจะแตกต่างกันไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นในส่วนที่เป็นทรรศนะของดร.ชัยอนันต์ ฯ ในการมองประวัติศาสตร์ ก็เป็นสิทธิของ ดร.ชัยอนันต์ ฯ ที่จะมองประวัติศาสตร์อย่างไรก็มองได้ตามทรรศนะคติทางการเมืองและชนชั้นวรรณะที่ ดร.ชัยอนันต์ ฯสังกัดอยู่ แต่ ดร.ชัยอนันต์ ฯ ไม่มีสิทธิที่จะบิดเบือน ข้อเท็จจริง ทางประวัติศาสตร์ และถึงแม้ ดร.ชัยอนันต์ ฯ จะมีสิทธิในการมองประวัติศาสตร์ตามทรรศนะของตน แต่ ดร.ชัยอนันต์ ฯ ก็ไม่มีความชอบธรรม ที่จะมอมเมาประชาชนตามทรรศนะแห่งตน

ดังนั้นในการชำแหละ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ผมจึงต้องชำแหละทั้งสองด้าน คือ ทั้งด้านข้อเท็จจริงแห่งประวัติศาสตร์ และด้านทรรศนะที่ดร.ชัยอนันต์ ฯ มองประวัติศาสตร์ตามทรรศนะคติของพวกซากเดนศักดินา

No comments: