ส.ศิวรักษ์ลอกคราบชนชั้นกฎุมพีของตน
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้เขียนถึงบุคคลต่าง ๆ ที่รู้จักมาหลายคนแล้ว แต่เรื่องราวของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่เขาถึงขั้นที่ ส.ศิวรักษ์กล่าวว่า “เป็นการเปลี่ยนทัศนคติจากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือจากของที่คว่ำเป็นหงาย” โดยการเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นเช่นนี้ใช่ว่าจะทำได้โดยง่าย เหตุการณ์ที่ทำให้เขาสำนึกว่าตนหลงผิดหลงเชื่อฝ่าย “เจ้า” อยู่เป็นเวลานาน เขาได้เขียนไว้ดังนี้
ข้าพเจ้าเชื่อว่ามหาชนเป็นจำนวนไม่น้อยหาได้มีความคิดแปรเปลี่ยนไปดังข้าพเจ้าไม่ จึงได้แต่หวังใจว่าข้อเขียนชิ้นนี้คงจะมีประโยชน์บ้าง ในการช่วยเปลี่ยนทัศนคติให้แก่ผู้ที่รักความเป็นธรรม ให้รู้จักถอดแว่นดำมาส่วนแว่นขาว หรือไม่ต้องใช้เครื่องช่วยสายตาเอาเลย หากกล้ามองไปยังข้อเท็จจริงอย่างสุจริตยุติธรรม กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เพื่อทิ้งมิจฉาทิฏฐิเสียโดยหันมาสมาทานสัมมาทิฏฐิแทน
ข้าพเองนั้น เดิมมีมิจฉาทิฏฐิเกี่ยวกับนายปรีดี พนมยงค์อย่างฉกรรจ์อยู่ ๒ ข้อ คือ (๑)เรื่องประชาธิปไตย และ (๒)เรื่องกรณีสวรรคต ส่วนสัมมาทิฏฐิเกี่ยวกับท่านนั้น คือ การกอบกู้เอกราชของท่านในฐานะผู้นำขบวนการเสรีไทย ซึ่งถึงอย่างไรข้าพเจ้าก็ให้คะแนนท่านเต็มอยู่ตลอดเวลา และรำลึกนึกถึงบุญคุณท่านอยู่เสมอ
แต่มิจฉาทิฏฐิสองข้อแรกทำให้เกิดอคติ บดบังความเห็นผิดเป็นชอบในข้อสุดท้ายอันสำคัญยิ่งนี้เสียมิใช่น้อย ยิ่งท่านเคยเขียนหนังสือโจมตีข้าพเจ้ามาอย่างหนักหน่วงด้วยแล้ว ข้าพเจ้าก็เลยแสดงความสามหาวอวดโอ้โต้ตอบกลับไปอย่างไม่ลดละ หลังจากนั้นอีกหลายปี ข้าพเจ้าจึงเห็นโทษของตัวเอง จนต้องกราบขออภัยจากท่าน โดยที่ท่านไม่แต่กรุณายกโทษให้เท่านั้น หากท่านเองก็ “รู้สึกตนว่ามีความผิดพลาด ที่ได้ใช้วิธีไม่เหมาะสมในการโต้ตอบข้อเขียนของคุณ จึงขออภัยคุณไว้ในที่นี้ด้วย” ทั้งนี้นับว่าท่านเป็นสุภาพบุรุษพุทธบริษัทโดยแท้ ที่แม้คนเล็ก ๆ อย่างข้าพเจ้าท่านยังให้เกียรติถึงเพียงนี้
จึงเป็นภาระหน้าที่ของข้าพเจ้าในอันที่จะต้องเผยแผ่ข้อเท็จจริงถึงทัศนคติของตนเองที่มีเกี่ยวกับท่าน ตั้งแต่เริ่มรับอิทธิพลทางด้านลบมาจนกลายเป็นบวก ตลอดจนการแหวกออกจากกระแสธารแห่งความมืดบอด มาสู่แสงสว่างทางปัญญา ทั้งนี้เพื่อประกอบการพิจารณาของสาธุชน
การที่ผู้อ่านจะรู้ซึ้งถึงอคติของข้าพเจ้าเกี่ยวกับประชาธิปไตย จำต้องรู้ถึงภูมิหลังเกี่ยวกับคนอย่างข้าพเจ้าเสียก่อน กล่าวคือ ข้าพเจ้าเกิดอยู่ในสกุลชนชั้นกลาง เป็นไทยเชื้อสายจีน ที่ตั้งรกรากอยู่ทางกรุงธนบุรีมาหลายชั่วคน โดยที่ในสกุลของเราไม่มีใครสนใจเรื่องการบ้านการเมืองเอาเลย เราสนใจการค้า (มาจนรุ่นปู่) หากไม่ก็ทำงานกับห้างฝรั่งกันเป็นพื้น (นี่ในรุ่นพ่อ) ที่รับราชการ(ในรุ่นพ่อ) ก็เป็นเพียงชั้นผู้น้อย
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พวกเราไม่สนใจงานขั้นรัฐ หากสนใจในการรักษาสถานะเดิมของบ้านเมืองไว้ ใช่แต่เท่านั้น ผู้หลักผู้ใหญ่ของเราบางคนยังเคยได้รับพระมหากรุณาจากองค์พระมหากษัตริย์และคุ้นเคยกับเจ้านายหลายพระองค์ เป็นเหตุให้เราชื่นชมพระบารมีที่พาดพิงมาถึงเกียรติยศเกียรติศักดิ์ที่เราได้รับ
โดยที่ลึก ๆ ลงไปแล้วเราย่อมเห็นว่าราษฎรโดยทั่ว ๆ ไปนั้นโง่เขลาเบาปัญญา ที่เขาจนเพราะเขาขี้เกียจ และไม่รู้จักใช้เงิน ทั้งยั้งชอบอบายมุขกันอีกด้วย ถ้าขยันขันแข็งและรู้จักเก็บออมโดยนำมาทำทุนให้ถูกทางเสียแล้ว ก็อาจร่ำรวยได้ ดังบรรพบุรุษของเราบางท่านที่มีเสื่อผืนหมอนใบมาจากเมืองจีน ยังเป็นเจ้าสัวกันได้ เป็นเหตุให้ลูกหลานของท่านเป็นคุณหลวงคุณพระกันตาม ๆ ไป เราไม่เคยพิจารณากันเลยว่าวงศ์ตระกูลของเราที่ร่ำรวยขึ้นมานั้น เกิดจากการเอารัดเอาเปรียบชาวไร่ชาวนาไทย ตลอดจนกรรมกรจีนเพียงใดหรือหาไม่
แม้ตอนที่เรามีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ในทางโภคทรัพย์ เราไปพึ่งบุญอยู่ใต้ร่มธงฝรั่งกันด้วยนั้น เราก็ไม่เห็นเป็นข้อเสียหายอันใดเลย เมื่อถึงคราวที่เราเสื่อมลาภลง จนถึงกับแทบต้องล้มละลาย เราก็ไม่เคยโทษระบบเศรฐกิจและการเมือง หากเห็นเป็นความอับโชควาสนาและความฉ้อฉล ตลอดจนความไร้สมรรถนะของชนชั้นนำในวงศ์สกุลของเรากันเองต่างหาก
เมื่อเราเป็นเศรษฐีมีทรัพย์ เรามีของถวายเข้านายอย่างไม่อั้น ครั้นเรายอบแยบลง ไปขอพึ่งพระบารมี ก็ทรงเรียกดอกเบี้ยอย่างแรง หาไม่ก็ปฏิเสธการกู้ยืมไปเลย แต่เรากลับไม่เห็นเป็นการแปลกประหลาดที่ทรงประพฤติปฏิบัติกันเช่นนั้น
เมื่อก่อนที่ข้าพเจ้าเกิด ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เจ้านายกันหนาหู ซึ่งจริงเริ่มมาแต่รัชกาลที่ ๖ แล้ว แม้ในหมู่ชนชั้นอย่างเรา ๆ แต่ก็เห็นกันว่าองค์พระมหากษัตริย์เป็นเลิศ และเจ้านายชั้นผู้ใหญยังเป็นหลักของแผ่นดินอยู่ แม้เพียงพวกขุนนางอย่างสกุลอมาตยกุลที่ถูกถอดออกจากตำแหน่งเพียงไม่กี่คนในรัชกาลที่ ๕ และก่อนหน้านั้น เรายังเห็นกันว่าพวกนั้นเป็นพวกกบฏเสียแล้ว
ทั้งนี้เพราะพวกหัวก้าวหน้าในสกุลดังกล่าว ต้องการความเปลี่ยนแปลงเกินหน้าสถานภาพในเวลา นั้น ๆ ไปเท่านั้นเอง โดยที่เราไม่รู้ถึงความขัดแย้งระหว่างสกุลบุนนาคกับอมาตยกุล และเราไม่รู้ว่าในหลวงรัชกาลที่ ๕ เอง และรัชกาลหลัง ๆ มาได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาแล้ว หากจำเพาะในแวดวงของบ้านขุนนางชั้นสูงหรือรั้ววังของเจ้านายเท่านั้น สำหรับคนอย่างเราๆ พวกกบฏ ร.ศ.๑๓๐ ย่อมเป็นคนเลวร้ายอย่างไม่ต้องสงสัย
ด้วยภูมิหลังดังกล่าวมา คนในแวดวงแห่งชนชั้นอันข้าพเจ้าถือปฏิสนธิมา ย่อมไม่ตื่นเต้นยินดีอะไรกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เพราะถ้าพวกนี้ทำไม่สำเร็จเขาก็ต้องรับชะตากรรมดังพวก ร.ศ.๑๓๐ หรือเลวร้ายกว่านั้นด้วยซ้ำ
แม้บิดาข้าพเจ้าจะมีเพื่อนที่ร่วมก่อการอยู่ในคณะราษฎรด้วยหลายคนก็ตาม เช่น นายดิเรก ชัยนาม นายซิม วีระไวทยะ และนายบรรจง ศรีจรูญ เป็นต้น โดยที่บิดาข้าพเจ้าเคารพนับถือความซื่อสัตย์และความสามารถของท่านเหล่านั้น แต่บิดาก็รังเกียจพวก “ก่อการแจวเรือจ้าง” ซึ่งติดหางคณะราษฎรเข้าไปได้ดิบได้ดีจนมีหน้ามีตาในวงราชการและรัฐวิสาหกิจ แถมพวกนี้ บางที่ยังกอบโกยอย่างทุจริตเสียอีกด้วย โดยที่อย่างน้อยนายห้างฝรั่งได้ตั้งมาตรฐานทางด้านจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพไว้ให้คนไทยนับถือเขาได้ ว่าเขาสุจริต โดยที่เขารับเงินเดือนสูงกว่าพวกเรากี่เท่า และมีสิทธิ์กลับไปเยี่ยมบ้านได้โดยอภิสิทธิ์ต่างๆ ชนิดที่เราไม่เห็นเป็นข้อเสียหายใด ๆ ด้วยซ้ำไป
แม้ที่สุดจนเมื่อข้าพเจ้าเติบใหญ่แล้ว ตอนโอนกิจการจากฝรั่งมาเป็นของไทย (ในขั้นบริหารชั้นสูง)และเมื่อให้ไทยยามทำหน้าที่แทนแขก เรายังกลัวความทุจริตต่าง ๆ กันเลย แสดงว่าเราดูถูกคนของเรากันมาอย่างน่าเสียใจยิ่ง
ทางด้านต่อต้านผู้ก่อการนั้น ลูกพี่ลูกน้องของบิดาข้าพเจ้าคนหนึ่งก็ถูกกล่าวหาว่าร่วมอยู่ในขบวนการกบฏบวรเดชด้วย แล้วจะให้พวกเราเป็นมิตรกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าวกระไรได้ ใช่แต่เท่านั้น ประชาธิปไตยที่ว่าย่อมไม่ใช่พาหนะที่จะเกื้อหนุนชนชั้นกลางในเมืองกรุงอย่างพวกเราแต่ประการใด ถึงจะมีงานด้านเทศบาลเกิดขึ้นเป็นของใหม่เราก็เห็นคนเก่า ๆ อันมีชื่อเสียงมาแต่รัชกาลที่ ๖ มาเป็นนายกเทศมนตรีและยังไม่เห็นว่าจะมีอะไรดีขึ้นได้ทันใจเรา
ยิ่งเมื่อคณะรัฐบาลมโนปกรณ์นิติธาดา ขัดกันเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมด้วยแล้ว ฝ่ายหัวหน้ารัฐบาลย่อมใช้วิธีโจมตีเจ้าของสมุดปกเหลืองเล่มนั้น จนท่านผู้นั้นต้องถูกล่าวหาว่าเป็นคอมมูนนิสต์อย่างกลาย ๆ และถูกเนรเทศโดยทางอ้อมให้ไปอยู่ฝรั่งเศสเอาเลย ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นเหตุให้ชนชั้นอย่างเรา ๆ มีความหวาดระแวงในตัวหลวงประดิษฐ์มนูธรรมยิ่งนัก ยิ่งได้อ่านพระราชกระแสในสมุดปกขาวที่ทรงตอบโต้ด้วยแล้ว ศรัทธาปสาทะในพระบารมี ย่อมเป็นเหตุให้เราอยู่ในฝ่ายสถานะเดิมอย่างไม่ต้องสงสัย
เพราะในแวดวงของวัฒนธรรมไทยในหมู่ชนชั้นกลาง วรรณะเวส เขาไมได้ตัดสินกันที่ตัวเนื้อหาสาระทางสติปัญญา แต่เขาดูว่าใครพูดอะไร เขียนอะไร ถ้าคนสูงส่งเขียนหรือพูดย่อมชวนเชื่อชวนฟังยิ่งกว่าขุนนางหรือประชาชนธรรมดา แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นมันสมองของคณะราษฎรจนได้เป็นรัฐมนตรีแล้วก็ตาม
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้เขียนถึงบุคคลต่าง ๆ ที่รู้จักมาหลายคนแล้ว แต่เรื่องราวของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่เขาถึงขั้นที่ ส.ศิวรักษ์กล่าวว่า “เป็นการเปลี่ยนทัศนคติจากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือจากของที่คว่ำเป็นหงาย” โดยการเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นเช่นนี้ใช่ว่าจะทำได้โดยง่าย เหตุการณ์ที่ทำให้เขาสำนึกว่าตนหลงผิดหลงเชื่อฝ่าย “เจ้า” อยู่เป็นเวลานาน เขาได้เขียนไว้ดังนี้
ข้าพเจ้าเชื่อว่ามหาชนเป็นจำนวนไม่น้อยหาได้มีความคิดแปรเปลี่ยนไปดังข้าพเจ้าไม่ จึงได้แต่หวังใจว่าข้อเขียนชิ้นนี้คงจะมีประโยชน์บ้าง ในการช่วยเปลี่ยนทัศนคติให้แก่ผู้ที่รักความเป็นธรรม ให้รู้จักถอดแว่นดำมาส่วนแว่นขาว หรือไม่ต้องใช้เครื่องช่วยสายตาเอาเลย หากกล้ามองไปยังข้อเท็จจริงอย่างสุจริตยุติธรรม กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เพื่อทิ้งมิจฉาทิฏฐิเสียโดยหันมาสมาทานสัมมาทิฏฐิแทน
ข้าพเองนั้น เดิมมีมิจฉาทิฏฐิเกี่ยวกับนายปรีดี พนมยงค์อย่างฉกรรจ์อยู่ ๒ ข้อ คือ (๑)เรื่องประชาธิปไตย และ (๒)เรื่องกรณีสวรรคต ส่วนสัมมาทิฏฐิเกี่ยวกับท่านนั้น คือ การกอบกู้เอกราชของท่านในฐานะผู้นำขบวนการเสรีไทย ซึ่งถึงอย่างไรข้าพเจ้าก็ให้คะแนนท่านเต็มอยู่ตลอดเวลา และรำลึกนึกถึงบุญคุณท่านอยู่เสมอ
แต่มิจฉาทิฏฐิสองข้อแรกทำให้เกิดอคติ บดบังความเห็นผิดเป็นชอบในข้อสุดท้ายอันสำคัญยิ่งนี้เสียมิใช่น้อย ยิ่งท่านเคยเขียนหนังสือโจมตีข้าพเจ้ามาอย่างหนักหน่วงด้วยแล้ว ข้าพเจ้าก็เลยแสดงความสามหาวอวดโอ้โต้ตอบกลับไปอย่างไม่ลดละ หลังจากนั้นอีกหลายปี ข้าพเจ้าจึงเห็นโทษของตัวเอง จนต้องกราบขออภัยจากท่าน โดยที่ท่านไม่แต่กรุณายกโทษให้เท่านั้น หากท่านเองก็ “รู้สึกตนว่ามีความผิดพลาด ที่ได้ใช้วิธีไม่เหมาะสมในการโต้ตอบข้อเขียนของคุณ จึงขออภัยคุณไว้ในที่นี้ด้วย” ทั้งนี้นับว่าท่านเป็นสุภาพบุรุษพุทธบริษัทโดยแท้ ที่แม้คนเล็ก ๆ อย่างข้าพเจ้าท่านยังให้เกียรติถึงเพียงนี้
จึงเป็นภาระหน้าที่ของข้าพเจ้าในอันที่จะต้องเผยแผ่ข้อเท็จจริงถึงทัศนคติของตนเองที่มีเกี่ยวกับท่าน ตั้งแต่เริ่มรับอิทธิพลทางด้านลบมาจนกลายเป็นบวก ตลอดจนการแหวกออกจากกระแสธารแห่งความมืดบอด มาสู่แสงสว่างทางปัญญา ทั้งนี้เพื่อประกอบการพิจารณาของสาธุชน
การที่ผู้อ่านจะรู้ซึ้งถึงอคติของข้าพเจ้าเกี่ยวกับประชาธิปไตย จำต้องรู้ถึงภูมิหลังเกี่ยวกับคนอย่างข้าพเจ้าเสียก่อน กล่าวคือ ข้าพเจ้าเกิดอยู่ในสกุลชนชั้นกลาง เป็นไทยเชื้อสายจีน ที่ตั้งรกรากอยู่ทางกรุงธนบุรีมาหลายชั่วคน โดยที่ในสกุลของเราไม่มีใครสนใจเรื่องการบ้านการเมืองเอาเลย เราสนใจการค้า (มาจนรุ่นปู่) หากไม่ก็ทำงานกับห้างฝรั่งกันเป็นพื้น (นี่ในรุ่นพ่อ) ที่รับราชการ(ในรุ่นพ่อ) ก็เป็นเพียงชั้นผู้น้อย
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พวกเราไม่สนใจงานขั้นรัฐ หากสนใจในการรักษาสถานะเดิมของบ้านเมืองไว้ ใช่แต่เท่านั้น ผู้หลักผู้ใหญ่ของเราบางคนยังเคยได้รับพระมหากรุณาจากองค์พระมหากษัตริย์และคุ้นเคยกับเจ้านายหลายพระองค์ เป็นเหตุให้เราชื่นชมพระบารมีที่พาดพิงมาถึงเกียรติยศเกียรติศักดิ์ที่เราได้รับ
โดยที่ลึก ๆ ลงไปแล้วเราย่อมเห็นว่าราษฎรโดยทั่ว ๆ ไปนั้นโง่เขลาเบาปัญญา ที่เขาจนเพราะเขาขี้เกียจ และไม่รู้จักใช้เงิน ทั้งยั้งชอบอบายมุขกันอีกด้วย ถ้าขยันขันแข็งและรู้จักเก็บออมโดยนำมาทำทุนให้ถูกทางเสียแล้ว ก็อาจร่ำรวยได้ ดังบรรพบุรุษของเราบางท่านที่มีเสื่อผืนหมอนใบมาจากเมืองจีน ยังเป็นเจ้าสัวกันได้ เป็นเหตุให้ลูกหลานของท่านเป็นคุณหลวงคุณพระกันตาม ๆ ไป เราไม่เคยพิจารณากันเลยว่าวงศ์ตระกูลของเราที่ร่ำรวยขึ้นมานั้น เกิดจากการเอารัดเอาเปรียบชาวไร่ชาวนาไทย ตลอดจนกรรมกรจีนเพียงใดหรือหาไม่
แม้ตอนที่เรามีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ในทางโภคทรัพย์ เราไปพึ่งบุญอยู่ใต้ร่มธงฝรั่งกันด้วยนั้น เราก็ไม่เห็นเป็นข้อเสียหายอันใดเลย เมื่อถึงคราวที่เราเสื่อมลาภลง จนถึงกับแทบต้องล้มละลาย เราก็ไม่เคยโทษระบบเศรฐกิจและการเมือง หากเห็นเป็นความอับโชควาสนาและความฉ้อฉล ตลอดจนความไร้สมรรถนะของชนชั้นนำในวงศ์สกุลของเรากันเองต่างหาก
เมื่อเราเป็นเศรษฐีมีทรัพย์ เรามีของถวายเข้านายอย่างไม่อั้น ครั้นเรายอบแยบลง ไปขอพึ่งพระบารมี ก็ทรงเรียกดอกเบี้ยอย่างแรง หาไม่ก็ปฏิเสธการกู้ยืมไปเลย แต่เรากลับไม่เห็นเป็นการแปลกประหลาดที่ทรงประพฤติปฏิบัติกันเช่นนั้น
เมื่อก่อนที่ข้าพเจ้าเกิด ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เจ้านายกันหนาหู ซึ่งจริงเริ่มมาแต่รัชกาลที่ ๖ แล้ว แม้ในหมู่ชนชั้นอย่างเรา ๆ แต่ก็เห็นกันว่าองค์พระมหากษัตริย์เป็นเลิศ และเจ้านายชั้นผู้ใหญยังเป็นหลักของแผ่นดินอยู่ แม้เพียงพวกขุนนางอย่างสกุลอมาตยกุลที่ถูกถอดออกจากตำแหน่งเพียงไม่กี่คนในรัชกาลที่ ๕ และก่อนหน้านั้น เรายังเห็นกันว่าพวกนั้นเป็นพวกกบฏเสียแล้ว
ทั้งนี้เพราะพวกหัวก้าวหน้าในสกุลดังกล่าว ต้องการความเปลี่ยนแปลงเกินหน้าสถานภาพในเวลา นั้น ๆ ไปเท่านั้นเอง โดยที่เราไม่รู้ถึงความขัดแย้งระหว่างสกุลบุนนาคกับอมาตยกุล และเราไม่รู้ว่าในหลวงรัชกาลที่ ๕ เอง และรัชกาลหลัง ๆ มาได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาแล้ว หากจำเพาะในแวดวงของบ้านขุนนางชั้นสูงหรือรั้ววังของเจ้านายเท่านั้น สำหรับคนอย่างเราๆ พวกกบฏ ร.ศ.๑๓๐ ย่อมเป็นคนเลวร้ายอย่างไม่ต้องสงสัย
ด้วยภูมิหลังดังกล่าวมา คนในแวดวงแห่งชนชั้นอันข้าพเจ้าถือปฏิสนธิมา ย่อมไม่ตื่นเต้นยินดีอะไรกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เพราะถ้าพวกนี้ทำไม่สำเร็จเขาก็ต้องรับชะตากรรมดังพวก ร.ศ.๑๓๐ หรือเลวร้ายกว่านั้นด้วยซ้ำ
แม้บิดาข้าพเจ้าจะมีเพื่อนที่ร่วมก่อการอยู่ในคณะราษฎรด้วยหลายคนก็ตาม เช่น นายดิเรก ชัยนาม นายซิม วีระไวทยะ และนายบรรจง ศรีจรูญ เป็นต้น โดยที่บิดาข้าพเจ้าเคารพนับถือความซื่อสัตย์และความสามารถของท่านเหล่านั้น แต่บิดาก็รังเกียจพวก “ก่อการแจวเรือจ้าง” ซึ่งติดหางคณะราษฎรเข้าไปได้ดิบได้ดีจนมีหน้ามีตาในวงราชการและรัฐวิสาหกิจ แถมพวกนี้ บางที่ยังกอบโกยอย่างทุจริตเสียอีกด้วย โดยที่อย่างน้อยนายห้างฝรั่งได้ตั้งมาตรฐานทางด้านจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพไว้ให้คนไทยนับถือเขาได้ ว่าเขาสุจริต โดยที่เขารับเงินเดือนสูงกว่าพวกเรากี่เท่า และมีสิทธิ์กลับไปเยี่ยมบ้านได้โดยอภิสิทธิ์ต่างๆ ชนิดที่เราไม่เห็นเป็นข้อเสียหายใด ๆ ด้วยซ้ำไป
แม้ที่สุดจนเมื่อข้าพเจ้าเติบใหญ่แล้ว ตอนโอนกิจการจากฝรั่งมาเป็นของไทย (ในขั้นบริหารชั้นสูง)และเมื่อให้ไทยยามทำหน้าที่แทนแขก เรายังกลัวความทุจริตต่าง ๆ กันเลย แสดงว่าเราดูถูกคนของเรากันมาอย่างน่าเสียใจยิ่ง
ทางด้านต่อต้านผู้ก่อการนั้น ลูกพี่ลูกน้องของบิดาข้าพเจ้าคนหนึ่งก็ถูกกล่าวหาว่าร่วมอยู่ในขบวนการกบฏบวรเดชด้วย แล้วจะให้พวกเราเป็นมิตรกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าวกระไรได้ ใช่แต่เท่านั้น ประชาธิปไตยที่ว่าย่อมไม่ใช่พาหนะที่จะเกื้อหนุนชนชั้นกลางในเมืองกรุงอย่างพวกเราแต่ประการใด ถึงจะมีงานด้านเทศบาลเกิดขึ้นเป็นของใหม่เราก็เห็นคนเก่า ๆ อันมีชื่อเสียงมาแต่รัชกาลที่ ๖ มาเป็นนายกเทศมนตรีและยังไม่เห็นว่าจะมีอะไรดีขึ้นได้ทันใจเรา
ยิ่งเมื่อคณะรัฐบาลมโนปกรณ์นิติธาดา ขัดกันเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมด้วยแล้ว ฝ่ายหัวหน้ารัฐบาลย่อมใช้วิธีโจมตีเจ้าของสมุดปกเหลืองเล่มนั้น จนท่านผู้นั้นต้องถูกล่าวหาว่าเป็นคอมมูนนิสต์อย่างกลาย ๆ และถูกเนรเทศโดยทางอ้อมให้ไปอยู่ฝรั่งเศสเอาเลย ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นเหตุให้ชนชั้นอย่างเรา ๆ มีความหวาดระแวงในตัวหลวงประดิษฐ์มนูธรรมยิ่งนัก ยิ่งได้อ่านพระราชกระแสในสมุดปกขาวที่ทรงตอบโต้ด้วยแล้ว ศรัทธาปสาทะในพระบารมี ย่อมเป็นเหตุให้เราอยู่ในฝ่ายสถานะเดิมอย่างไม่ต้องสงสัย
เพราะในแวดวงของวัฒนธรรมไทยในหมู่ชนชั้นกลาง วรรณะเวส เขาไมได้ตัดสินกันที่ตัวเนื้อหาสาระทางสติปัญญา แต่เขาดูว่าใครพูดอะไร เขียนอะไร ถ้าคนสูงส่งเขียนหรือพูดย่อมชวนเชื่อชวนฟังยิ่งกว่าขุนนางหรือประชาชนธรรมดา แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นมันสมองของคณะราษฎรจนได้เป็นรัฐมนตรีแล้วก็ตาม
No comments:
Post a Comment