ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร อภิปราย (ต่อ)
ตอนที่ ๓ ท่านปรีดี ช่วยเหลือในการตั้งห้องสมุดกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
อีกเรื่องนะครับ เป็นเรื่องสั้น ๆ พระนิพนธ์ท่านหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล พระธิดาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ ท่านรู้จักหอสมุดดำรงฯใช่ไหมครับ หอสมุดที่รวมงานหนังสือต่าง ๆ ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล ท่านเขียนเรื่องเกี่ยวกับหอสมุดกรมพระยาดำรงฯไว้ดังนี้
“เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ เราได้กลับมาจากปีนัง เพราะเสด็จพ่อไม่ทรงสบายเป็นโรคพระหฤทัยพิการ เสด็จพ่อให้ไปเฝ้า ข้าพเจ้าเดินเข้าไปเฝ้าในห้องหนังสือ ท่านก็ชี้เก้าอี้ข้างพระองค์บอกให้นั่งลงก่อน
แล้วท่านก็มองหนังสือรอบ ๆ ห้อง แล้วก็ก้มลงมองพระบาทของท่านที่กำลังบวมอยู่ ท่านถามว่าจะทำอย่างไรกับหนังสือของพ่อ ข้าพเจ้าทูลว่า จัดเป็นห้องค้นคว้าต่อที่ทรงทำไว้ แต่ยังไม่ทราบว่ารัฐบาลจะรับหรือไม่ และทำอย่างไรถึงจะไม่ให้หายได้ แต่ไม่เป็นไรถ้าที่นี่ยังทำไม่ได้ หม่อมฉันจะให้หอสมุดที่ยุโรปหรืออเมริกาไปก่อน เมื่อคนไทยเห็นคุณค่าเมื่อใดก็ไปจัดการเอามาแล้วกัน
ท่านมองดูข้าพเจ้าแล้วตรัสว่า อย่าลืมซีเราเกิดมาเป็นไทย ข้าพเจ้าทูลว่า ก็ถูกแล้ว แต่ถ้าเขาไม่ต้องการ หม่อมฉันก็จะยัดเยียดให้ไม่ได้ อย่างไรก็ตามหม่อมฉันมีชีวิตอยู่จะทำงานนี้ให้ได้ ท่านก็หันมามองข้าพเจ้า ถามว่า “แน่หรือ” ข้าพเจ้าทูลว่า “แน่” แล้วก็ร้องไห้โฮ
ทีนี้ต่อมาวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๘๖ เสด็จพ่อก็ทรงทิ้งให้ข้าพเจ้านั่งกับพระโกศตลอดวัน เสียงบอมบ์เสียงอพยพกันทั่วกรุงเทพฯ เราก็คอยนั่งยกพระโกศ และคอยดับระเบิดไฟในเวลาจำเป็นอยู่เช่นนั้น ในระยะนั้นเองน้องชายข้าพเจ้ากลับจากทำงานมาบอกว่า มร.มัสซึโมโต คนสถานทูตญี่ปุ่นมาถามว่า เรื่องห้องสมุดของเสด็จพ่อนั้นจะทำอย่างไรกัน เธอได้บอกไปว่าเป็นเรื่องของพี่สาวคนเดียว อีก ๒-๓ วันต่อมาก็มาบอกอีกว่ารัฐบาลญี่ปุ่นต้องการมากทีเดียว และทำท่าว่าจะเรียกเอาเท่าไรก็ได้ ข้าพเจ้าร้องไปว่า “เอ..ถ้าเขาร้องขอซื้อห้องสมุดเซโนเอบ้างจะขายมั๊ยเล่า ?”
น้องชายได้บอกไปแล้วว่า พี่จะทำห้องสมุดดำรงฯ ต่อมาน้องชายก็กลับมาบอกอีกว่าวันนี้เขาพบกับญี่ปุ่น เขาขอโทษว่า เขาเสียใจที่ได้มาพูดห้องสมุดของเสด็จพ่อ เขาไม่มีเจตนาจะดูถูกเลย
ญี่ปุ่นก็มา ท่านก็บอกเขาเถิดว่าฉันจะให้ชาติของฉัน ถ้าญี่ปุ่นต้องการเรียนก็มาเรียนที่นี่ได้ แต่เวลานี้ยังคิดทำอะไรไม่ได้เพราะบอมบ์อึกทึกนัก คุยกันสักครู่เขาก็กลับไป ๒-๓ วันต่อมาท่านปรีดี พนมยงค์ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้คนมาบอกข้าพเจ้าว่า เรื่องห้องสมุดของเสด็จพ่อนั้นท่านปรีดีเห็นว่าควรเป็นของชาติ ขอให้ข้าพเจ้าไตร่ตรองให้ดี และอยากให้ข้าพเจ้าทำเป็นเล่ม ๆ ออกเป็นรายเดือน ข้าพเจ้าตอบขอบคุณแล้วบอกว่าจะเอาไว้บอกกับท่านเองเมื่อได้พบกัน
ครั้นถวายพระเพลิงศพเสด็จพ่อแล้ว ข้าพเจ้าก็ขนหนังสือที่หาไม่ได้แล้วใส่หีบไปไว้ที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ กับพระอังคาร เผอิญท่านปรีดีเชิญสมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้าและพระราชวงศ์ให้อพยพไปประทับที่พระราชวังบางปะอิน และตัวท่านเองก็ออกไปเฝ้าเยี่ยมทุกวันเสาร์
เช้าวันอาทิตย์หนึ่งท่านปรีดีกับท่านผู้หญิงข้ามฝากไปเยี่ยมพระอังคารเสด็จพ่อ และแวะมาเยี่ยมข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าจึงมีโอกาสได้ขอบคุณท่านปรีดีที่ได้แนะนำเรื่องหนังสือของเสด็จพ่อ ตรงกับความตั้งใจของข้าพเจ้าเพราะข้าพเจ้าก็ลำบากใจไม่รู้จะตั้งต้นบอกกับใครดีว่า หนังสือของพ่อฉันก็ควรจะเป็นสมบัติของชาติ ท่านปรีดีรับว่าจะช่วยเมื่อถึงเวลาที่ควรทำ แล้วก็ช่วยจริง ๆ ตั้งแต่บอกกับรัฐบาลจนสำเร็จเป็นรูปขึ้นจนบัดนี้”
No comments:
Post a Comment