Tuesday, June 26, 2007

บทความที่ ๑๖๙. เนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง ตอนที่ ๓

บทความเนื่องในวาระ ๗๕ ปีการอภิวัฒน์การปกครอง
แผนลิดลอนปรีดี พนมยงค์
ตอนที่ ๓. แผนใส่ร้ายว่าเป็นคอมมูนนิสต์

ส่วนเป้าหมายที่จะทำลายคณะราษฎรนั้น ฝ่ายอำนาจเก่าเห็นว่า นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ซึ่งเป็นมันสมองของคณะราษฎรเป็นเป้าหมายหลักที่จ้ะองทำลายลงก่อน

การที่พระยามโนฯ มอบหมายนายปรีดี พนมยงค์ทำโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ จึงมีผู้วิเคราะห์ว่า เป็นแผนเพื่อทำลายคณะราษฎร

“พระยามโนปกรณ์นิติธาดา จึงได้มอบหมายให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)เป็นผู้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ ในการที่จะยกร่างโครงการเศรษฐกิจนั้น พระยามโนฯ พระยาราชวังสัน พระยาศรีวิสารวาจา หลวงประดิษฐ์ฯ ได้ปรึกษาหากรือกันหลายครั้ง โดยหลวงประดิษฐ์ฯ เสนอว่า ในการที่จะบริหารราชการแผ่นดินนั้น จะต้องช่วยราษฎรในทางเครษฐกิจก่อน แต่ราษฎรของเราต้องการให้รัฐบาลเป็นผู้นำ พระยามโนฯ พระยาศรีวิสารวาจาและพระราชวังสัน ไม่ได้โต้แย้ง แสดงความพอใจในหลักการของหลวงประดิษฐ์ที่เสนอให้ทราบนั้น”

“ต่อมา พระยามโนฯ ได้บอกหลวงประดิษฐ์ฯว่า พระปกเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าพร้อมด้วยพระยาพหลฯ พระปกเกล้าฯ ได้รับสั่งถึงเครษฐกิจของบ้านเมือง และถามถึงความเห็นของหลวงประดิษฐ์ หลวงประดิษฐ์ฯ ได้กราบทูลว่าตามแนวที่ได้เคยปรึกษากับพระยามโนฯ พระยาราชวังสัน พระยาศรีวิสารวาจาก่อน พระปกเกล้าฯจึงรับสั่งชมเชยเห็นชอบด้วยและรับสั่งต่อไปว่า พระองค์ชอบแบบโซชะลิสต์ จึงรับสั่งให้หลวงประดิษฐ์ฯ ไปจัดการเขียนโครงการเศรษฐกิจขึ้น ครั้งแรกหลวงประดิษฐ์ฯ ยังมิได้เขียนโครงการเศรษฐกิจ ต่อมาพระยามโนฯได้เร่งเร้าให้หลวงประดิษฐ์ฯ เขียนโดยอ้างว่าพระปกเกล้าฯ พอพระทัยหลวง ประดิษฐ์ฯจึงได้เขียนเค้าโครงเศรษฐกิจขึ้น”

“เมื่อร่างเค้าโครงเศรษฐกิจเสร็จแล้ว หลวงประดิษฐ์ฯ ก็ได้แจกจ่ายในหมู่ผู้ก่อการฯ และคณะกรรมการราษฎร (คณะรัฐมนตรี)เพื่อให้อ่านกันก่อน จะพิจารณาเห็นชอบหรือไม่ ถ้าไม่เห็นชอบหรือมีเหตุผลที่ดีกว่า ก็ยอมตามความเห็นส่วนมากและขอแก้ไขได้ แต่เมื่อได้รับแจกไปแล้ว พระยามโนฯไม่เห็นด้วย” (คำพิพากษาคีดกบฏ พ.ศ.๒๔๘๒)


คณะรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงการเศราฐกิจแห่งชาติขึ้น เรียกว่า “คณะกรรมานุการพิจารณาร่างเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ” มีจำนวน ๑๔ นาย พระยามโนฯเป็นประธาน มีพระยาศรีวิสารวาจา พระยาราชวังสัน นายปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น และพรายมโนฯ ยังได้ขอให้ ม.จ. สกลวรรณากร วรวรรณ ทรงร่วมเป็นกรรมมานุการด้วย

ในที่ประชุมคณะกรรมานุการ มีความเห็นแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายข้างมากซึ่งรวมทั้ง ม.จ. สกลวรรณากร สนับสนุนเค้าโครงเศรษฐกิจฯ ของนายปรีดี พนมยงค์ อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย โดยมีพระยามโนฯ เป็นหัวหน้ามีความเห็นคัดค้าน

แต่พระยามโนฯ นำเค้าโครงเศรษฐกิจไปให้คณะรัฐมนตรีลงมติไม่ยอมรับโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่ผ่านคณะกรรมานุการมาแล้ว

ในเวลาต่อมาก็ปรากฏว่า โครงการเศรษฐกิจฯ ที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้ร่างขึ้น โดยการสนับสนุนของพระยามโนฯกับพวก รวมทั้งพระปกเกล้าฯ ที่เร่งเร้าให้ นายปรีดี พนมยงค์ ร่างขึ้นนั้น ได้ถูกโจมตีอย่างหนัก มีการปลุกข่าวทางหนังสือพิมพ์ ให้ประชาชนเห็นว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจฯนั้นเป็นคอมมิวนิสต์จะชักจูงประเทศไปสู่หายนะ

No comments: