Saturday, June 30, 2007

บทความที่ ๑๗๙.การต่อสู้เพื่อปลดแอกอินเดียของ ดร.เอ็มเบ็ดการ์ ภาค ๒ ตอนที่ ๑

การต่อสู้เพื่อปลดแอกอินเดียของ ดร.เอ็มเบ็ดการ์ ภาค ๒

อ่าน ภาค ๑ ตอนที่ ๑-๙ ได้ที่

ตอนที่ ๑http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_2566.html
ตอนที่ ๒ http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_23.html
ตอนที่ ๕http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_1203.html
ตอนที่ ๖http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_9518.html
ตอนที่ ๗http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_6812.html
ตอนที่ ๘http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_1147.html
ตอนที่ ๙ (จบภาคหนึ่ง)http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_28.html

ภาค ๒ ตอนที่ ๑

จากเด็กชาย พิม สักปาล คนนอกวรรณะที่ถูกรังเกียจชิงชังจากชาวฮินดูเพื่อนร่วมศาสนา เขาต้องทนกล้ำกลืนต่อการดูถูกเหยียบหยามจากเพื่อนร่วมแผ่นดิน แต่ด้วยน้ำเมตตาจากครูผู้ประเสริฐท่านหนึ่ง ได้ทำการเปลี่ยนนามสกุลให้แก่พิม มาใช้นามสกุล “เอ็มเบ็ดก้าร์” ซึ่งเป็นนามสกุลของวรรณะพราหมณ์ จากวันนั้นเขาก็ยังต้องต่อสู้ อดทนกล้ำกลืนเรื่อยมา และด้วยชะตากรรมของวีรบุรุษท่านนี้ที่จะได้กลับมาเกื้อกูลของมวลประชาชนชาวอินเดียทุกชนชั้น วรรณะ เอ็มเบ็ดการ์ได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ เขาพากเพียร ร่ำเรียนจนสามารถคว้าปริญญาเอกจนได้ และบัดนี้ชายอธิศูทร คนนอกวรรณะได้พร้อมแล้วที่จะกลับมาช่วยพี่น้องอธิศูทรของเขาให้ต่อต้านการเหยียดหยามจากคนวรรณะอื่น และเพื่อก้าวไปสู่การเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษในที่สุด.

บัดนี้ เอ็มเบ็ดการ์ได้ตัดสินใจยึดเอาอาชีพเป็นนักกฎหมาด้วยเหตุผลว่า อาชีพนี้จะเป็นโอกาสได้ช่วยเหลือรับใช้ประชาชน โดยเฉพาะพวกอธิศูทรที่ถูกทอดทิ้ง เขาจะได้เป็นปากเสียงแทนบุคคลที่น่าสงสารเหล่านี้ในแง่กฎหมาย แต่เขาก็รู้ว่าการว่าความกฎหมายไม่ได้ราบรื่นนัก เพราะบรรยากาศรอบๆ ศาล ทำให้เขาต้องต่อสู้ทุกลมหายใจ ไม่ว่าจะเป็นเวลาว่าคดีหรือนอกเวลา เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ส่วนมากเป็น พวกพราหมณ์ แต่เขาก็ไม่ได้ท้อแท้ใจ เพราะเขารู้อยู่เสมอว่า งานทุกอย่างจะสำเร็จลงได้ด้วยดีก็ด้วยความานะพยายาม งานทุกอย่างต้องมีอุปสรรค ที่ใดขาดอุปสรรค ที่นั่นก็หาสมรรถภาพไม่ได้

ในตอนนั้น พวกอธิศูทรหรือพวกนอกวรรณะ ได้รับอิทธิพลทั้งภายนอกและแรงผลักดันจากภายใน ทำให้พวกเขาต้องตื่นตัวที่จะพัฒนาตัวเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมเพื่อจะอยู่รอดให้ได้ ทั้งนี้การขยายตัวทางการศึกษาและการพัฒนาด้านการคมนาคม เป็นปัจจัยให้พวกอธิศูทรมีโอกาสเดินทางและศึกษาเรื่องราวในที่ต่าง ๆ ได้มากขึ้น ปัญญาของพวกเขาก็ก้าวหน้าขึ้น ความรู้สึกนึกคิดทางชาตินิยมก็ได้ก่อตัวขึ้นทีละน้อย ๆ

อีกประการหนึ่ง โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้เริ่มสร้างขึ้นในอินเดีย ตั้งแต่ปลายสงครามโลกครั้งที่ ๑ เรื่อยมา โรงงานเหล่านั้นต้องการกรรมกรจำนวนมาก พวกชนชั้นต่ำก็ได้มีโอกาสเข้าทำงานและมีรายได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ช่วยปรับปรุงฐานะของตัวเองให้ดีขึ้นได้ อันสืบเนื่องมาจากผลของสงครามโลกครั้งนั้น

คลื่นกระแสแห่งความนึกคิดในหลักประชาธิปไตยก็ได้กระจายไปทั่วโลก และอิทธิพลความนึกคิดนี้ได้แพร่ไปสู่ประชาชนชาวอินเดียเหมือนกัน พวกเขาได้ตื่นตัวเกี่ยวกับเสรีภาพ เริ่มพากันเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ผู้นำชาวอินเดียทั้งหลายในสมัยนั้นทราบและตระหนักดีว่า

การที่อังกฤษเข้าไปมีอำนาจปกครองอินเดียอันเป็นประเทศใหญ่กว่าและมีพลเมืองมากกว่าตั้งหลายเท่านั้น ก็เพราะประชาชนชาวอินเดียขาดความสามัคคีกัน แยกกันเป็นก๊กเป็นเหล่า อันความแตกสามัคคีกันภายในชาตินั้นเป็นภัยร้ายแรงอย่างนี้

ผู้นำชาวอินเดียจึงเริ่มงานด้วยการปฏิรูปทางสังคม ปลุกใจให้ชาวอินเดียมีความรักชาติความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่งานของนักปฏิรูปสังคมเหล่านั้นดำเนินไปไม่สู้ได้ผลนัก เพราะความเห็นแก่ตัวของพวกวรรณะสูงยังมีมาก บัดนี้พวกอธิศูทรได้รู้แล้วว่า พวกเขามีสภาพเหมือนทาสในสายตาของเพื่อนร่วมชาติในวรรณะอื่น และความเป็นทาสนี้จะหมดไปได้ มิได้ขึ้นอยู่กับการรอคอยนักบุญผู้มีใจปรานีมาช่วยกำจัด แต่ขึ้นอยู่กับการรู้จักรักษาผลประโยชน์และสิทธิของตนเอง ของบุคคลผู้ได้รับทุกข์

อันวิสัยทั่ว ๆ ไปของมนุษย์ ถ้าเห็นผู้อื่นอ่อนข้อให้ก็มักได้ใจและยิ่งรังแกผู้อ่อนกว่า แต่พอผู้นั้นเริ่มต่อสู้ ต่อต้านบ้าง อีกฝ่ายก็จะอ่อนข้อลงไปเอง เอ็มเบ็ดการ์จึงคิดว่า เขาจะต้องปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมอินเดียเสียใหม่ และจะต้องทำให้สำเร็จ ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๔๖๗เขาได้เริ่มงานปฏิรูปสังคมเพื่อยกระดับพวกอธิศูทร โดยได้จัดให้มีการประชุมขึ้นที่เมืองบอมเบย์ในเดือนมีนาคม

แต่การประชุมเพื่อองค์กรช่วยเหลืออธิศูทร ตัวแทนกลับเป็นคนในวรรณะอื่นที่ไม่เข้าใจถึงสิ่งที่ชาวอธิศูทรได้รับจากคนต่างวรรณะ ด้วยเหตุนี้ เอ็มเบ็ดการ์จึงไม่อยากร่วมมือกับขบวนการหรือองค์การอื่นๆ ที่จะดำเนินงานปฏิรูปสังคมของเขา เขาคิดว่าอธิศูทรเท่านั้นย่อมจะรู้จักถึงความระทมทุกข์ของอธิศูทรได้อย่างถูกต้อง ฉะนั้น อธิศูทรเท่านั้นควรทำงานเพื่ออธิศูทร เอ็มเบ็ดการ์ต้องการให้พวกอธิศูทรเกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง และให้เข้าใจกับคำว่า “การช่วยเหลือ” ซึ่งมี ๒ แบบ แบบหนึ่งคือการได้รับการช่วยเหลือจากผู้อื่น อีกแบบหนึ่งช่วยเหลือด้วยตัวเองซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

พิจารณาให้ดีจะพบว่า นักปฏิรูปสังคมทั้งหลายได้ดำเนินงานไปเพื่อต่อต้านการปกครองของต่างด้าวโดยอาศัยการสนับสนุนจากชนชั้นต่ำเป็นเครื่องมือ มากกว่าที่จะทำงานเพื่อชนชั้นต่ำหรือเพื่อปฏิรูปสังคมอย่างจริงจัง

No comments: