Thursday, February 26, 2009

บทความที่๔๔๔.ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?(๓)

ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?
(จากหนังสือของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ปี 2541)


ลัทธิสังคมนิยม (Socialism) คือระบบการจัดระเบียบสังคมระบบหนึ่ง ซึ่งเจ้าของความคิดหรือเจ้าของลัทธิเชื่อว่าเป็นระบบที่ยังความเป็นธรรมให้กับสังคม และยังความผาสุกให้กับสมาชิกแห่งสังคมอย่างถ้วนหน้า

ระบบนี้เกิดจากความทุกข์ยากของคนส่วนใหญ่ในสัคมที่ต้องตรากตรำทำงานหนัก อันเนื่องมาจากถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกกดขี่ขูดรีดจากเจ้าของที่ดินพวกเจ้าศักดินาและวัดในศาสนาคริสต์ รวมทั้งเจ้าของโรงงานหัตถกรรม ซึ่งเป็นคนส่วน้อยในสังคม

จากการเอารัดเอาเปรียบและกดขี่ขูดรีดของคนในสังคมเดียวกัน จึงก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม ระหว่างคนส่วนใหญ่ผู้ทุกข์ยากกับคนส่วนน้อยที่เอารัดเอาเปรียบสังคม ทำให้สังคมไม่ปกติสุข มีการทะเลาะเบาะแว้ง มีการลักขโมย มีการลงโทษ

ด้วยเหตุนี้ นักบุญ นักปราชญ์ และผู้รักความเป็นธรรมมากมายหลายท่าน ได้ศึกษาค้นคว้าหาหนทางที่จะช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ให้ได้รับความเป็นธรรม และเพื่อความเป็นปกติสุขของสังคม

นักบุญ นักปราชญ์และท่านผู้รักสัจจะทั้งหลายเหล่านั้นจึงได้เสนอโลกในฝันหรือในอุดมคติอย่างนามธรรม เพื่อความหวังของมหาชน เช่น โลกพระศรีอารย์ โลกคอมมิวนิสต์ โลกมะฮะดี เป็นต้น

จากโลกในฝันหรือในอุดมคติอย่างนามธรรมของนักบุญ นักปราชญ์ และผู้รักความเป็นธรรมในเบื้องต้น ได้ถูกเสนอออกมาเป็นรูปธรรมในทางทฤษฎี โดยนักบุญ นักปราชญ์และผู้รักความเป็นธรรมในเวลาต่อมาอีก อย่างเช่น ข้อเสนอหรือทฤษฎีของบาเบิฟ(1760)ของบลองกี(1798)ของโรเบิร์ท โอเว่น(1800)และแซงต์ซีมอง(1802)และฟูริเอ(1808)

โดยที่นักบุญ นักปราชญ์ และผู้รักความเป็นธรรมดังกล่าวนี้เป็นผู้มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับนับถือของคนในสังคมและเสนอทฤษฎีออกมาอย่างรูปธรรม สังคมจึงเรียกความรู้หรือทฤษฎีนั้น ตามชื่อของเจ้าของทฤษฎี หรือผู้เสนอความรู้นั้นๆ เช่น ทฤษฎีของบาเบิฟ ทฤษฎีของบลองกี เป็นต้น ในเวลานั้นคำว่า “สังคมนิยม” ยังไม่มีใครรู้จัก

ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้อธิบายถึงการเกิดขึ้นของคำว่า “สังคมนิยม” ไว้ในบทความของท่านเรื่อง “เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร”* มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้

“ต่อมาใน ค.ศ.๑๘๒๖ วารสารของอังกฤษชื่อ “COOPERATION MAGAZINE” ได้เรียกลัทธิเศรษฐกิจจำพวกที่กล่าวนี้เป็นภาษาอังกฤษว่า Socialism ครั้นแล้วใน ค.ศ.๑๘๓๒ วารสารฝรั่งเศสชื่อ GLOBE ได้เรียกลัทธิจำพวกที่กล่าวนี้เป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Socialisme ตั้งแต่นั้นมาก็มีผู้ใช้ศัพท์อังกฤษและฝรั่งเศสดังกล่าวนี้เรียกลัทธิจำพวกดังกล่าวที่เป็นอยู่ในสมัยนั้นและที่จะเป็นไปในสมัยต่อมา(เช่น สังคมนิยมของ ฟรูดอง ขอเออเกน-ดืห์ริง และคาร์ล มาร์กซ์-ผู้เขียน)และได้ใช้ศัพท์นั้นเรียกย้อนหลังไปถึงลัทธิที่มีผู้คิดขึ้นทำนองโซเชียลลิสม์ตั้งแต่สมัยโบราณเป็นต้นมา(อย่างเช่นความคิดของ เซอร์ โธมัส มัวร์ ในบทประพันธ์ชื่อ “ยูโธเปีย”** ในศตวรรษที่๑๖ เป็นต้น-ผู้เขียน)

เดิมในประเทศไทยเรียกลัทธิจำพวกที่กล่าวนี้ โดยทับศัพท์ทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสดังกล่าวนั้น แต่ภายหลัง พ.ศ.๒๔๗๕ จึงมีผู้ถ่ายทอดเป็นคำไทยว่า “สังคมนิยม”

ด้วยเหตุนี้สังคมนิยมจึงมีมากมายหลายชนิด ท่านปรีดีฯ บอกไว้ในบทความที่อ้างถึงข้างต้นว่า มีประมาณ ๘๐ ชนิด(รวมทั้งหลายชนิดในบ้านเรา)แต่อาจแบ่งเป็นจำพวกใหญ่ๆ ได้ดังนี้ คือ

สังคมนิยมศักดินา Feudal Socialism
สังคมนิยมผู้มีทุนนิยม Petti Bourgeois Socialism
สังคมนิยมจารีตนิยม Conservative Socialism
สังคมนิยมเจ้าสมบัติ Bourgeois Socialism
สังคมนิยมเพียงอุดมคติ Utopian Socialism
สังคมนิยมชนชั้นผู้ไร้สมบัติ Proletarian Socialism
สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ Scientifie Socialism
สังคมนิยมคอมมิวนิสต์
Communist Socialism


* หมายเหตุ : โปรดอ่านบทความ "เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร" ได้ที่
http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/03/blog-post_14.html
http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/03/blog-post_19.html
http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/03/blog-post_4955.html
http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/03/blog-post_20.html
http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/03/blog-post_21.html

** หมายเหตุ : โปรดอ่านบทความ "ยูโธเปีย" ได้ที่
http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_2164.html

No comments: