Monday, September 10, 2007

บทความที่ ๒๗๔. ปฏิวัติ ตอนที่ ๑

ปฏิวัติ

ปฏิวัติคือการเปลี่ยนแปลงอย่างขุดรากเหง้าและฉับพลันในวิวัฒนาการของสังคม ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อไปสูสภาพที่ดีกว่า เช่นการค้นพบเครื่องจักรไอน้ำของเจมส์ วัตต์ในปี ค.ศ.๑๗๖๙ ซึ่งเรียกวันว่า “อุตสาหกรรมปฏิวัติ” นั้น นั่นก็เป็นการปฏิวัติทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตทั้งในปริมาณและคุณภาพ จากหน้ามือเป็นหลังมือ เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างขุดรากเหง้าและฉับพลัน จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อปี ๑๗๖๙ แล้วต่อมาได้มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือเมื่อเครื่องจักรไฟฟ้าได้มาแทนที่เครื่องจักรไอน้ำ และต่อไปในอนาคตการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมก็คงเกิดขึ้นอีกเป็นแน่และจะมโหฬารเสียยิ่งกว่าการปฏิวัติโดยเครื่องจักรไอนำและเครื่องจักรไฟฟ้ารวมกัน นั่นคือ เมื่อใดที่มนุษย์ได้ใช้ความพยายามและอุตสาหะจนบรรลุความสำเร็จในอันที่จะนำเอาพลังงานปรมาณูมาใช้ในทางสันติวิธีแล้ว เมื่อนั้นการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจอย่างขนานใหญ่ก็จะอุบัติขึ้น และในยุคนี้เราอาจจะเรียกได้ว่าเป็นยุคปฏิวัติทางปรมาณู

ส่วนในทางการเมืองก็เช่นกัน เช่น การปฏิวัติในอังกฤษเมื่อกลางศตวรรษที่ ๑๗ การปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ.๑๗๘๙ การปฏิวัติในอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.๑๗๗๖ การปฏิวัติในประเทศจีนใน ค.ศ.๑๙๑๑ การปฏิวัติในรัสเซียเมื่อปี ๑๙๑๗ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นการปฏิวัติจากสถานการณ์เดิมไปสู่สภาพที่ดีกว่าทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ

ปฏิบัติการใดที่ทำเพื่อกลับคืนเข้าสู่สภาพเดิมที่ล้าหลัง เราเรียกว่าการ “ปฏิวัติย้อน” (Counter Revolutionary)และพวกที่กระทำการเช่นนี้เราเรียกว่า พวกปฏิกิริยา (Reaction) และในทางตรงข้าม การปฏิวัติใดที่นำไปสู่สภาพที่ดีกว่า เราเรียกว่าการปฏิวัติของฝ่ายก้าวหน้า (Progressive Revolution)

ถึงแม้ว่าเจตจำนงของปฏิวัติ คือการเปลี่ยนแปลงอย่างขุดรากเหง้าและฉับพลันทันทีก็ตาม แต่ทว่าก็หาได้เป็นไปอย่างฉับพลันทันทีต่อสภาพชีวิตโดยทั่วไปไม่ กล่าวคือ เมื่อการปฏิวัติหรือการเปลี่ยนแปลงจากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่งนั้น ใช่ว่าสังคมใหม่จะมีแต่สภาพชีวิตใหม่ๆ ทั้งหมดก็หาไม่ ของเก่าที่ติดค้างมาจากสังคมเก่าก็ย่อมจะตกค้างอยู่ในสังคมใหม่นั้นชั่วระยะหนึ่งจึงจะสูญสิ้นไป เช่น ในสังคมทาสก็ย่อมจะมีสภาพชีวิตบางส่วนของสังคมบุพกาลเหลืออยู่ชั่วระยะหนึ่ง ในสังคมศักดินาก็ย่อมจะมีบางส่วนของสังคมทาสเหลืออยู่ ในสังคมทุนนิยมก็ย่อมมีบางส่วนของสังคมศักดินาเหลืออยู่เช่นกัน

ดังนั้น ในทำนองเดียวกันในสังคม สังคมนิยมที่จะสืบต่อจากสังคมทุนนิยม ก็ย่อมจะมีบางส่วนของสังคมทุนนิยมเหลืออยู่บ้างงชั่วระยะหนึ่ง สภาพบางส่วนของสังคมเก่าที่เหลืออยู่ชั่วระยะหนึ่งในสังคมใหม่แต่ละยุคแต่ละสมัยนั้น เราเรียกว่า “ซากเดนของสังคมเก่า” (Remnant of old Society)

และทำนองเดียวกัน ก่อนที่การเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิวัติจะเกิดขึ้นแต่ละยุคแต่ละสมัยนั้น ได้เกิดมูลธาตุที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขึ้นก่อนแล้ว มูลธาตุที่เกิดขึ้นในตอนปลายของสังคมแต่ละยุค ก่อนหน้าที่จะกระโดดไปสู่สังคมใหม่นั้น เราเรียกว่า “มูลธาตุที่ก้าวหน้า” (Progressive Element)
ระหว่างสิ่งที่แตกต่างกันสองสิ่ง คือมูลธาตุที่ก้าวหน้ากับซากเดนของสังคมเก่านี้ ในทางปรัชญาและในทางตรรกถือว่ามูลธาตุทีก้าวหน้านี้เป็นสิ่งที่ชอบธรรมและเป็นกุศล (Rational) ส่วนซากเดนของสังคมเก่านั้นเป็นสิ่งที่สิ้นความชอบธรรมเสียแล้ว เป็นอกุศล (Irrational)

ดังนั้น มูลธาตุที่ก้าวหน้าจึงเป็นสิ่งที่เราควรสนับสนุนควรส่งเสริม ส่วนซากเดนของสังคมเก่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะสนับสนุนหรือส่งเสริมแต่ประการใด นอกจากจะปล่อยให้มีอยู่บ้างชั่วระยะเวลาหนึ่งเพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

การปฏิวัติในทางการเมืองนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ความรุนแรงเสมอไป หากจะเป็นไปโดยสันติวิธีก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบเงื่อนไขการปกครองในยุคนั้นๆ กล่าวคือในรูปแบบการปกครองที่ประชาชนมีสิทธิ์และเสรีภาพในทางการเมืองอย่างกว้างขวาง และปราศจากเสียซึ่งอิทธิพลของจักรวรรดินิยมต่างประเทศเข้าแทรกแซง การปฏิวัตินั้นอาจจะดำเนินไปได้ตามวิถีทางของประชาธิปไตย และการปฏิวัติตามวิถีทางประชาธิประไตยเช่นนี้ คือหมายถึงการต่อสู้กันตามวิถีทางของพรรคการเมือง แต่หากในรูปแบบการปกครองของเผด็จการ จะโดยราชาธิปไตย คณาธิปไตยหรือ ธนาธิปไตยก็ตาม การปฏิวัตินั้นจะดำเนินไปตามวิถีทางประชาธิปไตยหรือโดยสันติวิธีหาได้ไม่ ทั้งนี้ก็เพราะประชาชนในระบอบดังกล่าว นอกจากจะถูกขูดรีดทางเศรษฐกิจอย่างแสนสาหัสแล้ว ยังถูกกดขี่ และประชาชนยิ่งถูกกดเท่าใดการปฏิวัติก็จะต้องระเบิดตูมออกมาอย่างรุนแรง ถึงเลือดถึงเนื้อ อย่างเช่นการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส เมื่อปี ๑๗๘๙ การปฏิวัติในประเทศจีนโดยการนำของ ดร.ซุนยัดเซ็น เมื่อปี ๑๙๑๑ และการปฏิวัติใหญ่ในรัสเซียเมื่อปี ๑๙๑๗ หรือที่เรียกกันว่า Great October ภายใต้การนำของ เลนิน เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติทางการเมืองโดยสันติวิธีตามวิถีทางประชาธิปไตยนั้น เรายังไม่มีตัวอย่างให้เห็นอย่างเด่นชัด (กรณีเชคโกสโลวาเกียก็ไม่ชัดพอ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกือบจะเรียกว่าไม่เสียเลือดเสียเนื้อเลยก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างสันติตามวิถีทางประชาธิปไตย ทั้งนี้เพราะความจำเป็นในเงื่อนไขบางประการขณะนั้น) ไม่เหมือนการปฏิวัติที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งมีตัวอย่างอยู่มากมาย ทั้งนี้ก็เพราะความตื่นตัวในทางการเมืองของประชาชนยังไม่สูงพอและประกอบกับเงื่อนไขของการปฏิวัติโดยสันติวิธีก็มีไม่พอ ดังนั้นกว่าเงื่อนไขของการปฏิวัติโดยสันติจะมีพอ การปฏิวัติโดยความรุนแรงก็มักจะระเบิดออกมาเสียก่อน แต่อย่างไรก็ดี ขอให้เราตั้งความหวังไว้ก่อนว่าการปฏิวัติทางการเมืองนั้นอาจจะเป็นไปได้โดยสันติวิธี

No comments: